ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิกับฌาน

๕ ก.ย. ๒๕๕๓

 

สมาธิกับฌาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอานี่ก่อนเลย

ถาม : ๑. ข้าพเจ้าอยากทราบว่าฌาน ๔ อาการเป็นอย่างใด

หลวงพ่อ : ฌาน ๔ เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน คือฌาน ๔ นะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน... ฌาน ๔ ก็เหมือนกับเรากำหนดพุทโธ พุทโธมันก็เข้าฌานได้ ถ้าพุทโธนี่นะ เพียงแต่ว่าถ้าเรามีสติแล้ว.. สมาธิมันต่างกับฌานหน่อยหนึ่ง

สมาธิ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ สมาธิมี ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

คำว่าสมาธินี้มันเหมือนกับว่า เรานี่สงบเสงี่ยมเจียมตน แต่ถ้าเป็นฌานนี่นะ มันเหมือนกับนักเลงโต เพราะนักเลงโตเวลามันออกไปนี่มันจะเที่ยวกร่าง พอจิตมันกำหนดมันเพ่งแล้วมันจะมีกำลังของมัน นี่คือฌาน พอฌานปั๊บมันจะออกไปรับรู้ต่างๆ

แต่ถ้าเป็นสมาธินี่มันเหมือนกับเราเป็นผู้ดีไง พุทโธ พุทโธเป็นสมาธิแล้วมันไม่กร่าง แล้วพอไม่กร่างนี่มันเก็บพลังงานไว้ เวลาออกไปทำประโยชน์แล้วมันจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าเป็นฌานสมาบัตินะ แล้วถ้าไม่มีสติปัญญามันก็....

นี่เราถึงบอกว่าเราเป็นคนภาคกลาง เราไปอีสานใหม่ๆ เราสังเกตตรงนี้ได้ว่าทำไมครูบาอาจารย์สุปฏิปันโนอยู่ที่ภาคอีสาน ทำไมหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์สร้างพระสุปฏิปันโน แต่ภาคกลางนี่สร้างเกจิอาจารย์... เกจิอาจารย์ก็เพราะพวกทำฌานพวกนี้ แล้วมันเพ่งไง

เราเห็นนะ เห็นครูบาอาจารย์ของเราเวลาเพ่งทำตะกรุด ท่านเพ่งนี่นะจนตะกรุดมันวิ่งเลยล่ะ มันหมุนได้นะ ถ้าไม่หมุนได้ก็ไม่ต้องเอาออก เห็นไหม พวกนี้เป็นเกจิอาจารย์ไง

เวลาจิตสงบแล้ว... อย่างถ้าเป็นสุปฏิปันโน อย่างนี้คือสัมมาสมาธิ จิตสงบเข้ามาแล้วมันเก็บไว้ แบบว่ามันสงบเสงี่ยมและอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วความอ่อนน้อมถ่อมตน คนเราอ่อนน้อมถ่อมตนเห็นไหม เรามีพร้อมเลย เงินก็มีทองก็มี ปัญญาก็มี ทุกอย่างมีหมดเลย แต่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคนดี แต่ไอ้นักเลงหัวไม้นี่มันไม่มีอะไรเลยนะ มันกร่างไปก็กร่างมา มันไม่มีอะไรเลย

“นี่ไงฌานกับสมาธิแตกต่างกันอย่างนี้” ฉะนั้นให้เราทำของเราไป เราตั้งสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจิตมันจะสงบ

นี่ปัญหานี้มีเยอะมาก เพราะมันเป็นปัญหาหญ้าปากคอกหมดเลย มีแต่ผู้ภาวนาใหม่ๆ ถามมา เดี๋ยวตอบอันนี้ แล้วเดี๋ยวจะเข้าอันนู้น

 

ถาม : ๒. การที่จะขึ้นไปสู่อรูปฌานขั้นอากาสานัญจายตนะ สภาวะเป็นแบบใด

หลวงพ่อ : เออ.. เดี๋ยวอ่านให้จบก่อน เพราะถ้าตอบเลยเดี๋ยวมันจะยุ่ง

ถาม : ๓. การเดินจงกรมสามารถเข้าถึงฌาน ๔ และอรูปฌานได้ไหม

๔. การซื้อแผ่นซีดีที่ไม่มีเครื่องหมายการขายมาใช้ ถือว่าผิดศีลไหม

หลวงพ่อ : อ๋อ.. เรื่องลิขสิทธิ์เนาะ

ถาม : ๕. สังขารในปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างเดียวกับขันธ์ ๕ ไหม

หลวงพ่อ : ไม่ ! ถ้าปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่แทบไม่ต้องตอบเลย นี่ถ้าเรื่องฌาน ๔ ปัญหาข้อที่ ๑ ถามว่า “อาการของฌาน ๔ เป็นอย่างไร”

ข้อ ๒. “เรื่องการเข้าสู่รูปฌาน-อรูปฌาน”

ถาม : ๒. การที่จะขึ้นสู่อรูปฌาน ขั้นอากาสานัญจายตนะ สภาพเป็นแบบไหน

หลวงพ่อ : นี่มีคนพามาหาเรานะ เมื่อก่อนเขาไปคุยว่าเขาได้สมาบัตินี่แหละ ได้ฌาน ๔ รูปฌาน-อรูปฌาน

“อากาสานัญจายตนะ เขาเรียกว่ารูปฌาน-อรูปฌาน คือฌาน ๔”

พอขึ้นอรูปฌาน เขาก็บอกว่าเขาได้สมาบัติ อู้ฮู.. คนนี่เชื่อถือศรัทธา พอมาหาเรานะเขาก็ว่ากันไป พอเราอธิบายเรื่องฌาน ๔

ปฐมฌานคือทำความสงบของใจเข้ามา ปฐมฌานมันยังรับรู้สิ่งใดได้

ทุติยฌาน.. ตติยฌาน.. จตุตถฌาน

จตุตถฌานนี่มันละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา พอจิตตั้งมั่น “เอกัคคตารมณ์” นี้คือแบบว่า วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์... พอขั้นของปีตินี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ

แล้วปฐมฌานนะ ปฐมฌานคือจิตมันเริ่มสงบแต่มันยังรับรู้สิ่งใดๆ ได้ แล้วถ้ากำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ พอจตุตถฌานนี่มันสงบลึกเข้าไป... รู้ ! มันรู้เพราะอะไร เพราะถ้าเราพุทโธ พุทโธ จนเป็นขณิกสมาธิ แล้วระดับของขณิกสมาธินี้มันจะรู้ของมัน ! มันรู้ของมัน เห็นไหม

มันสงบ พอสงบอย่างนี้แล้วคายออกมา.. สงบแล้วคายออกมา ถ้าพุทโธต่อๆ ไปมันจะเป็นอุปจาระ พอถ้าจิตมันสงบมากเข้าไปแล้ว พออุปจาระนี่มันรอบรู้ของมัน แล้วถ้าเราพุทโธ พุทโธเข้าไปถึงที่สุดจนมันกำหนดพุทโธไม่ได้ นี่เป็นอัปปนา ! อันนี้เป็นสมาธินะ

แต่ถ้าเป็นฌาน.. เป็นฌานนี่พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วสงบเข้ามา พอมันสงบเข้ามา เห็นไหม พุทโธ พุทโธแล้วมันสงบซ้ำเข้าไป จากปฐมฌานเป็นทุติยฌาน แล้วปฐมฌานกับทุติยฌานนี้มันแตกต่างกันอย่างไร… พอมันเข้าฌานแล้วมันเหมือนการขึ้นบันได คือจิตมันยกระดับไง

เราถึงบอกว่าถ้าเป็นฌานนะ... เราพูดอยู่ใน “โง่.. ทำสมาธิไม่ได้” นั่นไงที่บอกว่า ถ้าเป็นสมาธินี่เหมือนกับน้ำบ่อ ! น้ำขังน้ำบ่อใช่ไหม คือพลังงานคงที่ แต่ถ้าเป็นสมาบัติ.. ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่ใช่สมาบัติ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงคิดถึงอานาปานสติ

ตอนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ท่านอาศัยอานาปานสติ แต่ตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ทำไมพระพุทธเจ้าไปเข้าฌานสมาบัติล่ะ... ตอนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม เข้าปฐมฌาน คือรูปฌาน-อรูปฌาน แล้วระหว่างรูปฌาน-อรูปฌานนี่นิพพานอยู่ตรงนั้น

รูปฌาน-อรูปฌานนี่มันเหมือนกับ... ดูสิตอนนี้มันมีท่อน้ำมันท่อก๊าซ เห็นไหม เวลาเขาส่งท่อก๊าซนี่มันมีก๊าซไหลไปตามท่อ มีก๊าซไหลไปตามท่อนี่เพราะมันส่งระหว่างพื้นที่ใช่ไหม แต่ปฐมฌาน ทุติยฌานนี้คือพลังงานสะสม พลังงานคงที่ พลังงานในสัมมาสมาธิ กับพลังงานในฌาน…

คำว่าพลังงานไปตามท่อ นี้คือมันเคลื่อนไหวใช่ไหม มันเคลื่อนไหวคือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้มันเคลื่อนไหว.. พอมันเคลื่อนไหวคือ “อากาสานัญจายตนะ” แล้วพอจิตมันขึ้นอากาสานัญจายตนะนี่มันว่างหมดเลย ว่างเหมือนอากาศ !

พอขึ้นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วนิโรธสมาบัติเป็นอย่างไร..

มันเพราะจิตดวงเดียวใช่ไหม จิตดวงเดียวนี้มันเคลื่อนไหวไปปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน... จิตดวงเดียวนี้มันเคลื่อนไปขึ้นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วมันถอยกลับ “อย่างนี้คือรูปฌาน-อรูปฌาน”

ฉะนั้นการที่จะขึ้นสู่อากาสานัญจายตนะ...

อันนี้เป็นความสงสัย หรือว่าเป็นการปฏิบัติแล้วมาประสบ.. เป็นความสงสัยเฉยๆ พูดถึงถ้าเป็นความสงสัยเฉยๆ ก็ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติอยู่ พอขึ้นจตุตถฌานแล้วนี่กำหนดอากาศ เพราะจตุตถฌานคือรูปฌาน.. รูปฌานนี่คือรูป เห็นไหม

“รูปฌานนี่มันคือสิ่งที่จับต้องได้ แต่ถ้าเป็นอรูป... อรูปคือความไม่มี”

รูปราคะ-อรูปราคะ คืออรูป คือความไม่มี ถ้าไม่มีแล้วจะจับต้องอย่างไร

“อรูป” มันเป็นสิ่งไม่มีรูปให้จับต้องได้ แต่มีความรู้สึกเพราะมีจิต ! พอมีจิตแล้วจิตกำหนดเลยอากาสานัญจายตนะ คือกำหนดอากาศหมดเลย อากาศ สรรพสิ่งเป็นอากาศ วัตถุไม่มี วัตถุก็เป็นอากาศ เห็นไหม ตัวเราก็เป็นอากาศ ทุกอย่างก็เป็นอากาศ

“อากาสานัญจายตนะนี้มันเป็นอากาศธาตุหมดเลย”

พอเป็นอากาศธาตุนี่จิตมันรู้ไง รู้ว่านี่เป็นอากาสานัญจายตนะ มันรู้ว่านี่ขึ้นอากาสานัญจายตนะ เพราะจิตนี้พลังงานมันไปตามท่อ คำว่าไปตามท่อ คือเราจะให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าพลังงานไปตามท่อ

ทีนี้ตัวพลังงานคือตัวจิตใช่ไหม แล้วนี่มันจะยกสถานะของจิตขึ้นเป็นอากาสานัญจายตนะ พอเป็นอากาสานัญจายตนะแล้ว วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ... มันขึ้นเป็นชั้นๆ ไป เพราะจิตมันมีสติ พอมีสติแล้ว ถ้าคนทำไม่ได้ทำไมอุทกดาบส อาฬารดาบส เห็นไหม คนหนึ่งได้ ๖ คนหนึ่งได้ ๘

ถ้าคนหนึ่งได้ ๖ คนหนึ่งได้ ๘ แล้วเราบอกว่า ถ้ามันขึ้นได้นี่จิตมันต้องขึ้นเป็นอย่างนี้ คือรูปฌาน-อรูปฌาน แล้วทำไมบางคนขึ้นไปได้แค่ ๖ ไป ๗ ไม่ได้ ๘ ไม่ได้ ทำไมถึงไปไม่ได้… เพราะจิตเขาละเอียดไม่ได้ ! วาสนาบางคนมันไปไม่ได้

ฉะนั้น “อากาสานัญจายตนะ” อันนี้พูดถึงกำหนดถึงฌาน ๔ พอฌาน ๔ แล้ว ฌาน ๔ เป็นรูปฌาน คือจับต้องได้ เพราะกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เป็นรูป มันจับต้องได้หมดเลย พอจับต้องได้แล้ว พอถึงฌาน ๔ ยกขึ้นอากาสานัญจายตนะ คือกำหนดจิตกำหนดว่าง กำหนดรู้ว่าว่าง ทุกอย่างให้มันว่างหมด แล้วตัวเองก็ว่าง พอว่างแล้วเหมือนโลกนี้ทั้งหมดเป็นอากาศธาตุหมดเลย

อากาสานัญจายตนะในอากาศนั้น ในอากาศธาตุ ! ในอากาศธาตุใครรู้มัน แล้ววิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะวิญญาณก็ไม่ใช่ ทุกอย่างก็ไม่ใช่ มันยิ่งละเอียดเข้าไป พอละเอียดเข้าไปแล้วถอยกลับ

 

หลวงพ่อ : ทำได้จริงเหรอ..

โยม : (ไม่ได้ยินเสียงผู้ถาม)

หลวงพ่อ : แล้วทำไมถึงมาถามเรื่องรูปฌาน-อรูปฌาน นี้เพราะอะไร

โยม : (ไม่ได้ยินเสียงผู้ถาม)

หลวงพ่อ : ถ้ามันเป็นของมันเอง เราต้องตั้งสตินะ ตั้งสติไว้ เราจะบอกว่า ของที่เป็นเองนี้หมายถึงว่า อย่างเช่นแผ่นดินนี่พอโดนความชื้นมันจะเกิดวัชพืช สิ่งที่เกิดวัชพืชนี้เพราะอะไร เพราะมันมีเชื้อของมันอยู่

จิตก็เหมือนกัน “ถ้ามันเป็นเองนี่เพราะมันมีของเก่ามันอยู่” ถ้ามีของเก่ามันอยู่ ถ้าเป็นเองอย่างนี้ให้ตั้งสติไว้ ! ตั้งสติไว้แล้วต้องควบคุม

ถ้าเป็นเองอย่างนี้นะก็เหมือนวัชพืชเหมือนหญ้า หญ้าขึ้นเยอะรกไปนี่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่หญ้าพวกที่เลี้ยงวัวนี่โอ้โฮ... เขาปรารถนามาก หญ้านี่เขาแย่งชิงกันเลย คนเลี้ยงวัวน่ะ

ฉะนั้นถ้ามันเป็นเองนะ คือเราควบคุมไม่ได้ มันเหมือนกับสิ่งที่ไม่มีคุณค่าไง มันกึ่งดิบกึ่งดีไง เหมือนกับที่เขาเรียกว่าส้มหล่นไง

คำว่าส้มหล่นก็คือเวลาเราปฏิบัติกันส้มหล่น เห็นไหม จะว่ามันไม่จริง มันก็จริง แต่จริงแล้วมันควบคุมไม่ได้ เราบริหารจัดการไม่ได้ มันมาเองไปเอง มันเลยไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเรา มันเป็นวาสนา

แต่ถ้าพอมันจะมีส้มหล่นใช่ไหม แต่เรามีสติพร้อมทุกอย่างพร้อม มันก็เหมือนกับหญ้านี่แหละ หญ้าจะไม่มีประโยชน์กับคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ แต่หญ้าจะมีประโยชน์กับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์มาก

จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันจะเป็นเองเหมือนกับส้มหล่นนี้เราต้องมีสติ คือต้องให้หญ้าเราต้องเลี้ยงปศุสัตว์ แล้วเอาหญ้านี้ให้ปศุสัตว์ได้กิน แล้วเดี๋ยวปศุสัตว์ของเราจะเติบโตขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกันถ้ามันจะเป็นเอง มันจะเป็นเองอย่างไรนี้เราต้องตั้งสติ ! ตั้งสติแล้วกำหนด กำหนดเลยถ้ารูปฌานนะ รูปฌานคือพุทโธ คือจับต้องคือรับรู้ นี่จิตมันรู้ ของมันรู้นี่รูปฌาน เพราะรูปฌานนี่มันก็มีอยู่ ของมันมีอยู่ใช่ไหม อย่างของที่มีอยู่แล้วทุกอย่างมีอยู่ แต่ถ้าเป็นอรูปฌาน..

อรูปฌานนี้ ในเมื่อมันจะไป.. มันจะไปในอากาศ นี่อากาสานัญจายตนะคือมันเป็นอากาศธาตุ คือความว่าง ! คือความว่าง เห็นไหม

แล้วความว่างนี่พูดถึงโดยวิทยาศาสตร์ว่างไม่ได้เพราะอะไร เพราะคนเพราะมนุษย์นั่งอยู่ วัตถุมันมีอยู่ แล้วมันจะว่างได้อย่างไร นี่พูดถึงวิทยาศาสตร์ คือมันเป็นวัตถุ แต่ถ้าอากาสานัญจายตนะนี้มันไม่ใช่เป็นที่วัตถุ มันเป็นที่ใจเรา

พอเป็นที่ใจเรา แล้วใจเรากำหนดอากาสานัญจายตนะ นี่กำหนดหมดเลย พอใจเรามันปล่อยหมด มันไม่มีอะไรเป็นสิ่งกีดขวางใช่ไหม มันเป็นอากาศ อากาสานัญจายตนะ แล้วพออากาสานัญจายตนะ มันมีใครล่ะทีนี้ มันก็มีกูนั่งขวางอยู่นี่ไง ตัวกูก็ต้องเป็นอากาศ อากาสานัญจายตนะ เป็นอากาศไปหมดเลย !

แล้วจิตมันรู้อยู่ พอจิตรู้อยู่กำหนด นี่อากาสานัญจายตนะ...

แล้ววิญญาณัญจายตนะ วิญญาณ ! วิญญาณรับรู้อากาศ... พอวิญญาณรับรู้ไปทั่วเลย อากิญจัญญายตนะ ! แล้วอากิญจัญญายตนะเป็นอย่างไร.. เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดจิตขึ้นไป

กำหนดจิตขึ้นไปแล้วพอมันเป็นนะ มันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระดับ ระดับอย่างนี้เป็นอย่างนี้... ระดับอย่างนี้เป็นอย่างนี้ เห็นไหม มันถึงมีระดับ

นี่ที่ว่าครูบาอาจารย์ของเรานะที่เข้าสมาบัติ เหาะ ! ไปเลย... มี ! ครูบาอาจารย์เราทำได้เยอะมาก แต่ครูบาอาจารย์ของเราทำไว้นี้เพื่อพิสูจน์ว่า ทฤษฏีนี้ หรือสิ่งนี้มีจริง แล้วผู้ปฏิบัติได้จริง แต่ถ้าเอามาทางโลก...

อย่างครูบาอาจารย์ของเราทำแล้วเก็บไว้ข้างใน คือใครก็แล้วแต่อยากจะทดสอบว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า มันมีจริงหรือเปล่า แล้วพอมันมีจริงแล้ว ผู้ที่ทำได้จริง เห็นไหม จะอ่อนน้อมถ่อมตน เก็บเอาไว้ในใจดวงนั้น เพราะอะไร เพราะไม่มีใครรู้อะไรกับเราหรอก ใครจะรู้อะไรกับเราไปไม่ได้ วุฒิภาวะของเรามันแตกต่างกันมาก

มันเหมือนกับว่า เดี๋ยวนี้สิ่งใช้สอยระหว่างคนละมิติเลย เทวดาใช้สอยสิ่งอะไรอย่างนี้ แล้วมนุษย์จะเอาสิ่งนั้นมาใช้สอยกับมนุษย์นี่มันไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันเป็นไปอย่างนั้นแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้ให้กำหนดอย่างนี้ ถ้าเป็นจากฌาน ๔ ขึ้นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญา... แต่อย่างนี้ฌานก็คือฌาน มันต้องพอทำความสงบของใจแล้วเราต้องใช้ปัญญา พูดถึงถ้าเป็นชาวพุทธนะ

อันนี้พูดถึงฌาน ๔ เนาะ

 

ถาม : ๓. การเดินจงกรมสามารถเข้าถึงฌาน ๔ ได้ไหม

หลวงพ่อ : “การเดินจงกรมนี้จิตสงบได้” แต่เวลาเข้าเป็นฌาน ๔ แล้วยังจะไปได้อยู่ แต่ฌาน ๔ ได้ เพราะเดินจงกรมไปนี่มันเป็นข้างใน แต่ข้างนอกมันหมุนได้ แต่ถ้าอย่างนี้มันอัปปนาสมาธิไม่ได้

“เพราะว่าฌาน ๔ นะ รูปฌาน-อรูปฌานกับสมาธิแตกต่างกันนิดหนึ่ง”

ถ้าเป็นสมาธิ อย่างเช่นอุปจาระ ถ้าเดินจงกรมนี่อุปจาระยังใช้ได้ แต่ถ้าเป็นอัปปนานี่ไม่ได้ ต้องนั่งลงเลย เพราะ ! เพราะมันนั่งลงในทางจงกรมนั่นเลย เพราะเวลานั่งในทางจงกรมแล้วมันจะดับหมดไง

เวลาเข้าไปแล้วนี่มันจะสักแต่ว่ารู้ มันตัดความรับรู้หมดเลย จิตเด่นอยู่คนเดียว จิตเด่นอยู่เฉพาะจิต พอจิตเด่นอยู่เฉพาะจิตนี่มันปล่อยร่างกาย แม้แต่จิตอยู่ในร่างกายนี้ มันก็ปล่อยร่างกายนะ

จิตนี้ จิตกับกายอยู่ด้วยกันนี่แหละ พอเวลาจิตมันรวมตัวเป็นอิสรภาพ มันปล่อยความรู้สึกในความรู้สึกของกายหมดเลย รูป รส กลิ่น เสียงไม่ได้ยิน ศูนย์ประสาทต่างๆ ดับหมด จิตรู้หนึ่งเดียว ! เพราะอย่างนั้นถึงเดินจงกรมไม่ได้

เดินจงกรมได้ เดินจงกรมไปเรื่อยๆ เพราะการเดินจงกรมขึ้นมา ถ้าเราจะนั่งเลยมันจะไม่ได้เป็นผลอย่างนั้น ต้องเดินจงกรมก่อน เดินจงกรมจน ! จนว่าจิตมันละเอียด เราจะย่างก้าวไม่ได้ คำว่าย่างก้าวไม่ได้ คือจิตมันจะไม่ออกรับรู้ ถ้าจิตไม่ออกรับรู้แล้ว จิตมันจะหมุนอยู่ในตัวของมันเอง ถ้าอยู่อย่างนี้มันก็จะขืนอยู่

ฉะนั้นเราถึงต้องนั่งลง ! นั่งลงเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่มีการเคลื่อนไหวจากร่างกายแล้ว พอจิตไม่มีการเคลื่อนไหวจากร่างกาย จิตมันไม่ต้องบริหารอะไรมันแล้ว มันจะหดตัวมันเข้ามา ถ้ามีสติพร้อมนะ ! มันจะหดตัวมันเข้ามา ต้องนั่งลงเลย

นี่พูดถึงว่าการเดินจงกรม... ขอให้ทำได้จริง ! ขอให้ทำได้จริง ! ถ้าทำได้จริงมันจะรู้ได้ไง

 

ข้อต่อไปเรื่องลิขสิทธิ์นี่มันคิดอย่างนี้นะ แบบว่ามันเป็นสังคม อย่างเช่นเราพูดกับพระบ่อยเวลาคุยกับพระ

พระนี่นะศีล ๒๒๗ ฉะนั้นศีล ๘ นี่เขาห้ามฟังเพลง ห้ามดูมหรสพใช่ไหม ฉะนั้นเวลาเราไปบิณฑบาต ทุกบ้านนี่เปิดเพลงหมดเลย อย่างนี้เราผิดศีลไหม... ไม่ผิด ! ไม่ผิดเพราะว่าเราไม่ได้เปิด แต่เขาเปิดใช่ไหม คือสังคมเขาเป็นอย่างนั้น

ไอ้พวกลิขสิทธิ์พวกภาษีนี้ “ภิกษุข้ามด่านขนอน” คือสมมุติว่าเราข้ามระหว่างเขต แล้วเราเอาเข้ามาเอง อย่างนี้ผิด เพราะเขตนั้นมันเป็นเขตระหว่างว่าภาษีใช่ไหม แต่นี้มันอยู่ในพื้นที่

ที่เราพูดนี่เราไม่มีเจตนา เพราะธุรกิจก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าถ้าเราละอายใจ อย่างนั้นเราไม่ไปยุ่งก็ได้ ถ้าเราไม่ไปยุ่งมันก็จบไป อันนี้เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของสังคม แต่เรื่องศีลนี้มันเป็นเรื่องของตัวเรา

เรื่องของตัวเราคือว่าถ้าเราเห็นว่ามันผิด แล้วเราไม่ทำมันก็จบ เราไม่ไปยุ่งกับเขา

 

ถาม : ๕. สังขารในปฏิจจสมุปบาท คืออย่างเดียวกับขันธ์ ๕ ไหม

หลวงพ่อ : ไม่หรอก สังขารอย่างหยาบ สังขารอย่างกลาง สังขารอย่างละเอียด และอย่างละเอียดสุด “สังขารในขันธ์ ๕ คือความคิดปกติ สามัญสำนึกเรานี่แหละ”

ฉะนั้นพอจิตมันสงบเข้าไปแล้วนี่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เราถึงแบ่งแยกวิญญาณเป็น ๒ ชั้นไง เราแบ่งแยกวิญญาณไว้ ๒ ระดับ

“ระดับหนึ่งคือวิญญาณรับรู้” วิญญาณรับรู้คือวิญญาณในขันธ์ ๕ อย่างเช่นเรารับรู้เสียง สื่อความหมายนี่คือวิญญาณของโลก แต่พอจิตมันสงบแล้ว จิตมันสู่ฐีติจิตแล้ว “นั่นล่ะวิญญาณในปฏิสนธิ วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท”

อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง… วิญญานัง เห็นไหม

“วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทกับวิญญาณในขันธ์ ๕ แตกต่างกันมาก !”

มันเหมือนกับ.. ดูสิเรารับรู้ถึงร่างกายของเรา เวลาเราจับเราก็รับรู้สึกได้ใช่ไหม เรารับรู้สึกได้ เรารู้สึกผ่านผิวหนังใช่ไหม แต่ความคิดความรู้สึกเราคิดถึงผิวหนังเราสิ อันนั้นมันเป็นความรู้สึกของจิต เป็นความรู้สึกจากภายใน

อันนี้ก็เหมือนกัน “สังขารในปฏิจจสมุปบาทกับสังขารในขันธ์ ๕” สังขารในปฏิจจสมุปบาท คือสังขาร ความรู้สึกปรุงอันละเอียดลึกๆ ในตัวมันเอง แต่สังขารในวิญญาณในขันธ์ ๕ อย่างเช่นสีเขียว สีเหลือง สีแดงนี่เห็นไหม เรารับรู้สีนี่คือสังขาร คือความแยกแยะของความคิด

ทีนี้สังขารในปฏิจจสมุปบาทกับสังขารในขันธ์ ๕ คนละอัน คนละชั้น แล้วแตกต่างกันมากด้วย มันเหมือน ๑ บาทกับ ๑,๐๐๐ บาท ค่าของ ๑ บาทกับค่าของ ๑,๐๐๐ บาท ราคามันแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ กับสังขาร สังขารในปฏิจจสมุปบาท... ไอ้กรณีอย่างนี้นะมันจะเหมือนกับเมื่อวานเลย เหมือนกับเมื่อวานที่เราพูดถึงเรื่องอวิชชา

โยมนี่..เราไม่เชื่อว่าโยมเห็น ! เราไม่เชื่อว่าโยมเห็นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่มันเป็นจินตนาการ มันเป็นจินตนาการ มันแค่สงสัยใช่ไหม มันยังไม่เห็นหรอก

เพราะถ้าเห็นนี่มันก็เหมือนกับหมอนี่แหละ ตอนนี้หัวใจอยู่ไหน.. อยู่ข้างซ้าย นี่เรารับรู้ได้นะ แต่ถ้าจริงๆ แล้วมันต้องผ่า ผ่าแล้วแหวกอกเข้าไป เห็นหัวใจเต้นตุ้บๆๆ ไอ้ผ่านี่คนนั้นเกือบตายนะ ต้องวางยาสลบหมดเพราะผ่าเลย จริงไหม

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะผ่าสังขาร ! ผ่าสังขารคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นชั้นๆ เข้าไป.. เป็นชั้นๆ เข้าไป จนเห็นสังขารจากภายใน มันผ่าด้วยวิถีจิตไง มันผ่าด้วยจิต ด้วยความเห็น ด้วยปัญญาที่ผ่าเข้าไปหลายชั้น ถ้าเป็นความจริงนะ เป็นข้อเท็จจริง

ฉะนั้นเพียงแต่ตอบว่า “สังขารในปฏิจจสมุปบาท คืออย่างเดียวกับขันธ์ ๕ ไหม”

ไม่ ! ไม่ ! ตรงนี้แหละที่ในปริยัติกับปฏิบัติมันแตกต่างกัน คำว่าวิญญาณ ก็วิญญาณเหมือนกัน แต่วิญญาณนี่วิญญาณอะไร

ทีนี้พอวิญญาณอะไร แล้วผู้ปฏิบัตินี่เขาพูดถึงวิญญาณ คือวิญญาณในอายตนะ วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณในจิตว่าอย่างนั้นเลย นี่มันเลยมีความแตกต่างกัน เวลาพูดอะไรมันถึงจะขัดแย้งกันไง เพราะอะไร เพราะในพระไตรปิฎก ตัวอักษรมันบัญญัติไว้อย่างนั้น แต่พอปฏิบัติไปแล้ว ตักอักษรในพระไตรปิฎกนั้นจริง แต่เรารับรู้ได้นี่มันละเอียดลึกซึ้งเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ฉะนั้นถึงบอกว่าไม่เหมือนกันเนาะ จบ !

เข้าข้อนี้แล้ว

ถาม : ๒๐๐. พุทโธบางครั้ง...

หลวงพ่อ : อันนี้ปฏิบัติเริ่มต้นมา แล้วเขามีปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เป็นการปฏิบัติเริ่มต้น

ถาม : หลังจากลูกได้ฟังธรรมของหลวงพ่อแล้ว ลูกก็ลองพุทโธอย่างเดียว โดยไม่สนใจลมหายใจ ลูกรู้สึกว่าใจเหมือนอยู่กับรอบนอก ไม่เข้าข้างใน แต่ถ้าลูกไม่บริกรรมอะไร แต่ดูเข้ามาที่ตัวเรา ไม่ว่าจะมองที่ขา ท่านั่ง หรือท้องที่พองยุบ หรือบริเวณลมเข้าออกที่จมูก แต่ไม่เห็นว่าเป็นจมูก ดูอยู่นิ่งๆ อย่างนี้ลูกจะถนัดมากกว่า

บางครั้งลูกไม่ได้มองเข้ามาที่ตัวเอง ลูกก็รู้อยู่ที่ว่ากำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก รู้อยู่นิ่งๆ พอความคิดแว็บขึ้นมา ลูกก็รู้ว่าเกิดความคิด บางครั้งก็คิดไปเรื่อยๆ พอสติทันก็หยุด บางครั้งก็คิดพิจารณาว่า

“ความคิดเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไร.. มีอะไรเป็นส่วนประกอบ”

หลวงพ่อ : นี่เขาใช้ปัญญาเริ่มไตร่ตรอง

ถาม : ทำไมอยู่ๆ ความคิดก็แว็บขึ้นมา เพราะลูกก็ดูอยู่ แล้วอยู่ๆ มันก็แว็บขึ้นมา มันจึงชวนให้สงสัย บางครั้งก็คิดได้ว่าเกิดจากความจำเก่าๆ บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เคยเจอมาก่อน แต่คือการคิดเพิ่มเติมจากปัจจุบัน บางครั้งที่ความคิดปนเปไปจนจับต้นชนปลายไม่ถูก ลูกจึงกลับมาบริกรรมพุทโธเพื่อตั้งหลักใหม่ แต่ถ้าจะเริ่มต้นจากพุทโธเลย ลูกรู้สึกว่าอึดอัด พยายามที่จะฝืนแต่ใจมันรู้สึกว่ามันไม่เข้าข้างใน พุทโธอยู่ข้างนอก... วิธีการที่ลูกทำอยู่นี้ พอจะทำต่อได้ไหมคะ ขอช่วยชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : ได้ ! คำว่าได้นะ คือให้เราพุทโธไปก่อน พุทโธนี่มันเหมือนกับการทำงานไง เหมือนกับนักกีฬา เห็นไหม เวลานักกีฬาจะลงแข่งขัน เขาจะต้องอบอุ่นร่างกายก่อน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะคิดไปเลย นี่เราก็คิดเป็นโลกๆ ให้เราพุทโธไปก่อน.. พุทโธไปก่อน พุทโธมันเหมือนกับเราอบอุ่นร่างกายไปก่อน แต่เวลาอบอุ่นร่างกายไปแล้ว พอร่างกายนี้มันได้รับความอบอุ่นแล้ว พอลงไปเล่นกีฬามันจะต่อเนื่องไปเลย

ฉะนั้นเวลาเราใช้ความคิด ถ้าความคิดมันคอยสังเกตมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเรามีสติปัญญาแล้วดูความคิด ดูว่าความคิดมันเกิดจากอะไร แล้วหาคำตอบมัน

นี่มันหมุนไป แล้วถ้าอย่างนั้นกลับมาที่พุทโธได้ เพราะมันทำแล้วมันเข้าข้างใน เห็นไหม คือเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราต้องมีผลตอบสนองไง เราทำขึ้นมาเพื่อความสงบ แล้วมันสงบขึ้นมาอย่างไรได้คือมันมีผล

ถ้ามีผล เพราะพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเหมือนกับ.. เราจะพูดบ่อยว่าในสังคม อย่างอาหารในเมืองไทย ถ้าเขามีน้ำพริกถ้วยเดียวใช่ไหม มีชนิดเดียวแล้วขายทั่วประเทศนี่มันไม่มีใครกินหรอก อาหารแต่ละภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่ภูมิภาคเดียวกัน คนก็ชอบไม่เหมือนกัน

นี่คำว่าพุทโธ พุทโธนี้โดยหลักก็เหมือนข้าว ทุกคนต้องกินข้าว แต่จะกินกับอะไรล่ะ ข้าวเรามีแล้วเราจะกินข้าวกับอะไร เราจะเอาอาหารอะไรมากินกับข้าวนั้น

พุทโธ พุทโธ พุทโธไปก่อน.. พุทโธไปก่อน แล้วถ้าเราจะกินกับอาหารอะไร นี่คือมันต้องมีอุบายไง ถ้าไม่มีอุบายเราจะปฏิบัติไปได้อย่างไร แต่เริ่มต้นนี้ ทุกคนถ้าเราไม่มีอาหารจะกิน เราขอมีข้าวเป็นหลักไว้ก่อน ถ้ามีข้าวเราจะกินกับอะไรก็ได้ใช่ไหม

นี่ทำอะไรไม่ได้ก็พุทโธ พุทโธไปก่อน ระลึกถึงพระพุทธเจ้าไว้ก่อน แล้วเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ เราเปลี่ยนแปลงก็ได้ คำว่าเปลี่ยนแปลงคือมีสติ ต้องมีคำบริกรรม มีการกระทำอยู่ จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้

การอยู่เฉยๆ แล้วจะมีเนื้องานขึ้นมา...ไม่มี ! การอยู่เฉยๆ แล้วมันเป็นเอง ไม่มี !

ฉะนั้นมันต้องมีคำบริกรรมอย่างเดียว คำบริกรรมนี่สำคัญมาก เพราะคำบริกรรมนี้คือให้จิตมันได้ขยับเขยื้อน เห็นไหม

“จิตเป็นนามธรรม” แล้วเราไม่มีอะไรให้มันเกาะ ก็ให้มันเกาะพุทโธ หรือเกาะอะไรก็ได้ ถ้าพอมันเกาะแล้วมันมีกำลัง มันเริ่มเป็นอิสระของมัน มันเริ่มสบายของมัน อย่างนั้นจะคิดอะไรก็ได้ถ้าคิดแล้วมีสติ แต่ถ้าพอมันไม่มีสติหรือว่ามันขาดช่วง ก็ให้กลับมาพุทโธต่อ เห็นไหม

“พุทโธคือข้าว.. ไม่มีอะไรกินก็มีข้าวกิน” ไม่มีอะไรเลยก็มีข้าว เปิดหม้อก็ยังมีข้าว

พุทโธ พุทโธ พุทโธ... ทำอะไรไม่ได้ให้กลับมาพุทโธ ไปไหนไม่ถูกให้กลับมาพุทโธ ไปไหนไม่ได้ให้กลับมาพุทโธ ถ้ามันไปไหนได้ให้มันไปก่อน ถ้าไปแล้ว เออ.. กินข้าวแล้วเบื่อไปกินอย่างอื่นก่อน พอกินอย่างอื่นแล้วท้องเสีย โอ๋ย... ไม่ดีเลย กินนู้นแล้วไม่สบายไม่ดีเลย พอไปทำอย่างอื่นแล้วผิดพลาด ไปทำอะไรแล้วไม่สมประโยชน์ กลับมากินข้าวเราดีกว่า ! นี่เอาข้าวเป็นตัวหลัก พุทโธไว้ พุทโธ เห็นไหม

พุทโธเป็นบางครั้ง บางครั้งก็ใช้ความคิด... อย่างนี้ได้ !

 

ถาม : ๒๐๑. “พุทโธ ! แต่ไม่ได้นั่งสมาธิ”

หลวงพ่อ : พุทโธทั้งนั้นเลยนะ พุทโธเป็นแผงเลยวันนี้

ถาม : ผมได้ภาวนาพุทโธทุกเวลาที่นึกได้ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นเวลาระหว่างหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้นั่งสมาธิเลย

หลวงพ่อ : เห็นไหม เขาใช้ยืน เดิน นั่ง นอน คือไม่ได้นั่งสมาธิไง แต่กำหนดพุทโธอยู่

ถาม : เป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้นั่งสมาธิเลย เพราะที่บ้านมีคนอยู่เยอะไม่สะดวก ผมก็มีบางสิ่งที่เปลี่ยนไปในตัวผม เช่น จากที่เคยโมโหยาก แต่ถ้าโมโหก็โมโหแบบขาดไปเลย ตอนนี้กลายเป็นโมโหง่ายๆ พออะไรมานิดหนึ่งก็โมโหเลย แต่พอจบเรื่องก็หายตอนนั้นเหมือนกัน แล้วจึงกลายเป็นคนเงียบๆ อยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยได้คิดอะไร คล้ายๆ อาการโรคซึมเศร้า แต่ไม่ใช่ !

หลวงพ่อ : นี่เขาบอกเองว่า... แต่ไม่ใช่ !

ถาม : ผมขอถามว่ามันเป็นอะไรครับหลวงพ่อ มันดีหรือไม่ดีที่เป็นอยู่อย่างนี้ แต่มันก็สงบดี ไม่ได้เกิดความเบื่ออะไร

หลวงพ่อ : มันดี ! มันดี ! คำว่ามันดีหมายถึงว่า คนเรานี่นะ รู้สึกสำนึกตัวเองคือคนดี ! คนเรานี่นะ เราจะผิดพลาดต่อเมื่อเราเผลอ เราเรอ เราเผอเรอคือเราไม่มีสติกับตัวเอง

การกำหนดพุทโธ พุทโธนี้ ยืน เดิน นั่ง นอนได้หมด ใครทำอะไรก็ได้ หลวงปู่ฝั้นท่านสอนไว้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนี้ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ นั่งรถเมล์ก็ทำได้ จะทำอะไรก็ทำได้ เรามีสติกับเรา

คนมีสติสามัญสำนึกนี้ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดหรอก ที่มันไม่ดี.. ไม่ดีเพราะเราปล่อยตัวตามสบายใช่ไหม ปล่อยตามสะดวกสบายเลยนะ มันก็ไปตามอำนาจของมัน

ฉะนั้นพอเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม พอเราพุทโธนี่จากโมโหยาก มันก็โมโหง่ายขึ้น คำว่าโมโหง่ายคือว่ามันทันไง โมโหขึ้นมาแล้วก็หยุดเดี๋ยวนั้น แต่เมื่อก่อนถ้าโมโหแล้วคือมันขาดเลย พอโมโหแล้วมันควบคุมไม่ได้ พอมันเติมเชื้อเติมฟืน พอฟืนมันพอแล้ว มันจุดไฟติดแล้วนะ มันเผาไหม้หมดเลย

แต่นี่พอเห็นจุดไฟแล้ว มันก็ดับ.. จุดไฟแล้วมันก็ดับ.. แต่มันเห็นจุดไฟได้ง่ายดับไฟได้ง่าย เหมือนกับมันเป็นเรื่องปกติ พอเป็นเรื่องปกติแล้ว เราก็ดูของเราไปเรื่อยๆ มันมีสติไปเรื่อยๆ อย่างนี้เพราะจิตเรารับรู้เองว่ามันดีขึ้นใช่ไหม แต่เหมือนซึมเศร้า !

คำว่าซึมเศร้าคือมันขาดสติ เหมือนเราเข้าโรงพยาบาลคนไม่มีสติ พอเข้าไปแล้วพวกนั้นเขาบอกว่าเราบ้านะ มันจะบอกว่า นู้น.. คนบ้ามาแล้ว เราก็ว่ามันเป็นคนบ้า เพราะอะไร เพราะเขาไม่เข้าใจตัวเขา

ไอ้นี่ก็เหมือนกันโรคซึมเศร้า.. มันเหมือนโรคซึมเศร้า แต่เรามีสตินี่มันไม่ซึมเศร้า ! โรคซึมเศร้าคือเขาขาดสติ เขาจะซึมเศร้า แต่นี่มันเหมือนกับซึมเศร้าไง เราก็ตั้งสติไว้ สติมันจะดีขึ้นมา... ดีขึ้นมาถ้าทำไปเรื่อยๆ นะ ทำไปเรื่อยๆ มีสติไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราออกกำลังทุกวันร่างกายมันจะแข็งแรงขึ้นมา

เราพุทโธเรื่อยๆ ยืน เดิน นั่ง นอนเราพุทโธอยู่เรื่อยๆ จิตใจมันจะแข็งแรงขึ้นมา.. ถ้าจิตใจมันแข็งแรงขึ้นมา แต่ถ้าจิตใจอ่อนแอ เห็นไหม หลงก็ง่าย ลืมก็ง่าย คนอื่นหลอกก็ง่าย ใครชักนำก็ง่าย เพราะมันอ่อนแอ !

แต่ถ้าเราฝึกของเรา แล้วพอมันเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม ใครจะชักนำไปไหนเราก็มีสติปัญญาใคร่ครวญ คือมันดีไปหมดเลย ! ถ้าจิตมันดี ทุกอย่างมันดีไปหมดเลย แต่ถ้าไม่ดี มันไม่มีสติ มันก็โดนหลอกหมดแหละ

ฉะนั้นสิ่งที่ทำมานี้ถูกต้อง ! ทีนี้ไอ้เรื่องโรคซึมเศร้าไม่ซึมเศร้านั้น มันเป็นประโยชน์กับเรา แล้วถ้าเรามีสติมันจะดีของมันไปเอง

 

ข้อ ๒๐๒ เนาะ อันนี้ก็เรื่อง “จิตคืออวิชชา” อีกแล้ว แต่ไอ้นี่มันถามมาด้วยความสงสัยของตัวเอง

ถาม : ๒๐๒. ผมปฏิบัติทำสมาธิภาวนามานานหลายปี แต่เพิ่งจะรู้เห็นธรรมเป็นลำดับขั้นตอนไล่เข้ามา ตั้งแต่หยาบๆ จนถึงตอนนี้เกิดความรู้สึกว่า “จิตเป็นตัวโง่ เป็นตัวน่ารำคาญ เพราะความเป็นนักรู้ของจิต” ไม่ว่าเราจะอยากรู้หรือไม่อยากรู้ จะอยากปรุงแต่งหรือไม่อยากปรุงแต่งนามรูปทั้งหลาย แต่จิตมันก็ยังไปรู้ไปปรุงแต่งนามรูปทั้งหลายอยู่ดี

ผมเคยมั่นใจว่าจิตรู้ในขันธ์ ๕ จนจิตปล่อยวางไม่ปรุงแต่งรูปนามทั้งหลายได้ในระดับหนึ่ง จนคาดหมายไปว่า ถ้าปฏิบัติและพิจารณาขันธ์ ๕ ต่อไปอย่างเดิมเรื่อยๆ จิตก็จะค่อยๆ ปล่อยวางนามรูปไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะจิตไปยึดเอานามรูปปรุงแต่งอีกต่อไป แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่า “เห็นว่าจิตคือตัวโง่ คือตัวอวิชชา น่ารำคาญที่ต้องปล่อยวางมากที่สุด”

ที่มาที่ไปของคำถามกระผมคงเล่าได้อย่างย่อๆ สั้นๆ มาก เพราะถึงอย่างไร เล่าตรงนี้ก็เล่าไม่ครบถ้วน จึงขอโอกาสถามอาจารย์ว่า

๑. จิตคือตัวอวิชชาใช่หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : “จิตคือตัวอวิชชาใช่หรือไม่ครับ” นี่ข้อ ๑ นะ เดี๋ยวยังมีข้อ ๒

ไอ้การปฏิบัติ การขยายความนี่นะ.. การขยายความว่าจิตคือจิต อวิชชาคืออวิชชานี้ พระพุทธเจ้าก็พูดเหมือนกับอภิธรรมนี่แหละ อภิธรรมนี้เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต คือพระพุทธเจ้าทดสอบตรวจสอบเสร็จหมดแล้ว แล้ววางทฤษฏี วางระบบของมัน

ทีนี้ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะรู้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นอวิชชา นี่มันรวมตัวกันมาก่อน... มันรวมตัวกันมาก่อนคือว่า เพราะมันมีอวิชชา มันไม่มีต้นไม่มีปลาย คำว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย คือจิตนี้มันเกิดตายเกิดตาย ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด จิตนี้มันมาของมันตลอด ทีนี้พอมันเกิดมาเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว มันก็มีอวิชชาในตัว เพราะถ้ามันไม่มีอวิชชาแล้วมันจะมาเกิดได้อย่างไรล่ะ

เริ่มต้นขบวนการของการเกิดนี้ คือในตัวจิตมันมีอวิชชาอยู่แล้ว พอจิตมีอวิชชาอยู่แล้ว แล้วเพราะมันมีอวิชชามันถึงเกิด พอเกิดมานี่คือมันมีของมันอยู่แล้วไง

ฉะนั้นเวลาขบวนการในอภิธรรมนี่เขาว่า “จิตเป็นอย่างนั้น... อวิชชาคืออย่างนั้น” ขบวนการอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์

“แต่มันเป็นอย่างนั้นเพราะพระพุทธเจ้าพุทธวิสัย”

เพราะปัญญาของพระพุทธเจ้า... พระพุทธเจ้าเห็นชัดเจน แล้วเห็นตามความเป็นจริง แล้วแยกแยะไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่อย่างพวกเรานี้เป็นคนดิบ ! คนดิบนี่มันยังไม่ได้แยกแยะ มันยังไม่ได้แยกแยะออกมาเป็นขบวนการอย่างนั้น แล้วเราจะเห็นเป็นขบวนการอย่างนั้นไหม... เราไม่เห็นหรอก !

ทีนี้พอเราไม่เห็นปั๊บมันถึงว่า “จิตเป็นอวิชชาหรือเปล่าล่ะ” เราถึงบอกว่า “ใช่ ! จิตเป็นอวิชชา” แต่จริงๆ นี่พอขบวนการแยกแยะแล้วจิตเป็นอวิชชาหรือเปล่าล่ะ....

“จิตไม่เป็นอวิชชา ! จิตเป็นจิต อวิชชาเป็นอวิชชา” จริง ! ตามขบวนการของพระพุทธเจ้านี่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันขบวนการอย่างนั้นของเรายังไม่เกิด ขบวนการอย่างนั้นเรายังไม่เห็น เพราะเราไม่รู้จักขบวนการอย่างนั้น เราไม่เห็นขบวนการอย่างนั้นมันถึงเป็นอันเดียวกันไง จิตถึงเป็นอวิชชา

คำว่าจิตเป็นอวิชชา นี่เพราะจิตมันมีอวิชชาอยู่มันถึงมาเกิด แต่ถ้าบอกว่าจิตเป็นอวิชชา นี่เขาจะพูดเป็นทฤษฏีไง ว่าถ้าจิตเป็นอวิชชานี่มันก็ต้องแยกกันไม่ได้ไง

ถ้าจิตเป็นอวิชชา ถ้าอวิชชาเป็นจิต อย่างนั้นคนพูดก็บ้าสิ ! คนพูดไม่ได้บ้า คนพูดจะพาเข้าไปดูความจริง เข้าไปดูว่าอะไรเป็นจิตอะไรเป็นอวิชชาต่างหาก นี่พูดถึงภาคปฏิบัตินะ

แล้วที่เขาถามว่า “จิตคือตัวอวิชชาใช่หรือไม่ครับ” ถ้าเราบอกว่าใช่ เดี๋ยวพรุ่งนี้ในเว็บไซต์มันจะถามเข้ามาเลยว่าหลวงพ่อนี่ต้องจับส่งโรงพยาบาลแล้ว สติสมบูรณ์ไหม ตอบผิดๆ อย่างนี้ แหม.. จิตเป็นอวิชชาได้อย่างไร เขาจะเอาโซ่มาล่าม แล้วเอาเราไปส่งโรงพยาบาล

ขบวนการของมันนี่ใช่ ! ในพระไตรปิฎกพูดอย่างนั้นจริงๆ ว่า “จิตเป็นจิต จิตไม่ใช่อวิชชา อวิชชาไม่ใช่จิต” ก็ว่ากันไป แต่นี่เขาถามว่า “จิตเป็นอวิชชาใช่ไหม” นี่เป็นขบวนการที่เขาเห็นของเขามา ถ้าเขาเห็นนะ ! ถ้าเขาไม่เห็นนี่ก็ตอบกระดาษก็แล้วกัน กระดาษมันถามมา แล้วเราก็ตอบให้กระดาษมันรับรู้


ถาม :
๒. ถ้าผมปฏิบัติ แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมจะปล่อยวางจิตได้หรือไม่ครับ ผมต้องกราบขออภัยอาจารย์ด้วย เพราะผมไม่ได้เล่าวิธีพิจารณาขันธ์ ๕

หลวงพ่อ :
ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ แล้วมันปล่อยไปเรื่อยๆ คำว่าปล่อยไปเรื่อยๆ นี่มันไม่ปล่อยหรอก ! มันไม่ปล่อยเพราะอะไร มันไม่ปล่อยเพราะว่ามันไม่มีจิต ไม่มีจิตคือสมาธิ

ถ้าสมาธิเป็นสมาธิแล้ว จิตกับสมาธินี้ คือสมาธินี่เกิดจากจิต พอจิตมีกำลัง จิตมีสมาธิขึ้นมา พอพิจารณาขันธ์ ๕ มันพิจารณาความจริงนี่มันจะปล่อยขันธ์ ๕ มา

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ ขันธ์ ๕... ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕”

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕... แล้วใครรู้ ใครรู้ใครเห็น ใครปล่อย

นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ทุกคนรู้หมดแหละ ทุกคนเอากระดาษคนละแผ่นแล้วตอบมาเลย ทุกคนเขียนถูกหมดแหละ แล้วตัวเองได้อะไร ตัวเองไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าตัวจิตมันไม่รู้จริง

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม เวลาจิตสงบมันพิจารณาขันธ์ ๕ พอพิจารณาขันธ์ ๕ แล้วมันปล่อย พอตทังคปหาน มันปล่อยเข้ามาบ่อยครั้งเข้า... บ่อยครั้งเข้าจนสมุจเฉทปหาน

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕... ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

แล้วใครรู้... จิตดวงไหนรู้... ไอ้จิตดวงที่รู้นั่นล่ะโสดาบัน แต่ไอ้จิตดวงที่ไม่รู้ ก็โง่อยู่อย่างเรานี่แหละ กูก็อ่านทุกวัน กูก็เขียนทุกวัน กูเขียนได้เป็นเล่มๆ เลย

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕... ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” นี่กูจะเขียนไงให้เป็นรถสิบล้อเลย แต่กูไม่รู้อะไร กูเขียนได้

นี่ก็เหมือนกัน เขาถามมาไง เพราะเราจะตอบที่เขาถามมาว่า “ถ้าเขาพิจารณาขันธ์ ๕ ไปเรื่อยๆ แล้วก็ปล่อยวางจิตไปเรื่อยๆ มันจะปล่อยวางจิตไปเรื่อยๆ ได้ไหม”

ถ้าเขาพิจารณาขันธ์ไปเรื่อยๆ มันต้องพิจารณาถูก !

พิจารณานี่ “จิตลงสมาธิแล้ว” จิตเป็นสมาธิ นี่เอาจิตพิจารณา... เอาจิต ! เอาจิตคือเอาผู้ป่วย เอาผู้ไม่รับรู้ เอาผู้ไม่รู้นี่ออกใคร่ครวญ พอใคร่ครวญแล้วมันไปรู้ไปเห็นของมันตามความเป็นจริง พอเห็นแล้วมันสลดสังเวช มันคายตัวของมัน มันทิ้งของมันเอง ถ้ามันทิ้งของมันเอง อย่างนั้นมันถึงจะเป็นไปได้

ฉะนั้นถึงว่ามันต้องมีสัมมาสมาธิไง มันต้องปฏิบัติตามความเป็นจริง !

แล้วที่เขาถามว่า “ผมปฏิบัติได้ไหม” ไอ้ตรงนี้ไง ประเด็นนี้นะที่มันเป็นปัญหาเพราะอะไร เป็นปัญหาเพราะว่า คำสอนมันหลากหลายทฤษฏี แล้วตอนนี้จะเอามายำกันไง จะยำทฤษฏีให้ลงกัน ถามว่า “พิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วมันจะปล่อยไหม” กูจะดูซิว่ามึงจะยำลงได้หรือเปล่า อ้าว... ยำลงได้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นอย่างนี้คือต้องจิตสงบก่อน ต้องทำความสงบ จิตเป็นผู้พิจารณา คือจิตมีสมาธิไง จิตเป็นผู้ที่มีสมาธิ แต่นี่จิตยังไม่รู้ว่าจิตมันคืออะไร สมาธิคืออะไร แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างนี้ก็ขันตักน้ำไง เอาขันตักน้ำ ๕ ใบมารวมกัน เดี๋ยวมันก็รู้ว่าขันตักน้ำหรือจะเป็นขันตักอะไรเนาะ

 

ต่อไปข้อ ๒๐๓ จะตอบให้จบนี่

ถาม : ๒๐๓. เรื่อง “ภาพตัวหนังสือพุทโธเกิดขึ้นในความคิด”

ผมภาวนาพุทโธๆ ตามที่หลวงพ่อสอนครับ และต่อมาผมนึกและเห็นคำว่าพุทโธเป็นภาพตัวหนังสืออยู่ในหัวหรือความคิดเกือบตลอดเวลาที่ตื่น (แต่ก็มีเผลอหลายครั้งต่อวันครับ และก็กลับมานึกถึงภาพตัวหนังสือพุทโธ มีสติรู้ตัวกลับมา) แล้วเวลาที่คุยกับคนอื่น ก็เห็นภาพตัวหนังสือพุทโธขึ้นในความคิดครับ และใช้สติแนบไปกับภาพตัวหนังสือพุทโธนั้นครับ อยากทราบว่าปฏิบัติแบบนี้ถูกไหม

หลวงพ่อ : ถูก ! ถูกไปเรื่อยๆ แหละ ถูกทั้งนั้นแหละ

คำว่าถูก นี่เขาถามว่าถูกไหม... ถูก ! แต่เวลาเราพูดกับคนทั่วไป เห็นไหม ว่าการปฏิบัติเริ่มต้นผิดหมด เวลาเราเทศน์ ในเทศน์จะมีบ่อยมากว่า “การปฏิบัติเริ่มต้นนี่ผิดเกือบทั้งนั้นเลย” คำว่าผิด... คือมันก็มีถูกมีผิดในตัวมันเอง

แต่นี่เขาถามว่า “อย่างนี้ถูกไหม” ก็ถูก ! ถูกหมายถึงให้กำลังใจ ถูกหมายถึงว่า คนเริ่มต้น.. อย่างเช่นคนจะทำไร่ทำสวน พอจับจอบขึ้นมานี่ถูกไหม... ถูก ก็มึงจับจอบนี่มันถูกแน่นอนเลย แล้วถ้ามึงขุดดินนะ มึงพรวนดินนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

แต่ถ้ามึงจับจอบขึ้นมานี่ถูกไหม... ถูก ! กำหนดพุทโธถูกไหม... ถูก ! แล้วมึงจะพรวนดินได้ไหม มึงพรวนให้กูดูก่อน ถ้ามึงพรวนดินถูก ก็คือจะถูก แต่ถ้ามึงพรวนดินมึงถางหญ้าไม่ถูก มึงไปพรวนกันที่ไหน

นี่เขาบอกว่าพุทโธ พุทโธแล้วมันมีตัวหนังสือแนบขึ้นมานี่เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อก่อนคนกำหนดพุทโธแล้วนึกภาพพระพุทธรูปด้วย อันนี้พอเราพุทโธ พุทโธแล้วมันเกิดภาพหนังสือขึ้นมานี่ไม่เป็นไร เห็นภาพพุทโธยิ่งดี

อย่างเช่นพระเรานะ พระเราเวลาสวดปาติโมกข์นี่จะเห็นตัวอักษรเวลาสวด ถ้าใครคล่องมากจะเห็นตัวอักษรเลย เพราะตัวอักษร ณ.เณร กับ น.หนู เห็นไหม นะ นะ นะ.. นะ เณาะ นะ เณาะ... นะ คือ น.หนู เณาะ คือ ณ.เณร ขึ้นนาสิก เห็นไหม แล้ว ถ.ถุง กับ ฐ.ฐาน พูดถึงถ้ามันเป็นการออกเสียงตามอักขระเลย

นี่พูดถึงเวลาสวดปาติโมกข์ตัวอักษรยังขึ้นเลย ถ้าคนชำนาญจะขึ้นมาเลยนะ สวดไปนี่มีตัวอักษรขึ้นมาเลย แล้วตัวไหนออกเสียงอย่างไร ตัวไหนออกเสียงอย่างไร ให้มันถูกต้องตามอักขระฐานก่อน

อันนี้ก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธ พุทโธนี้ถ้ามันมีตัวอักษรขึ้นมา มันก็ไม่เสียหาย ถูกหมดแหละ แล้วทำต่อไปข้างหน้า มันจะรู้เองว่ามันมีประโยชน์ หรือมันจะถูกต้องอย่างไรแล้วไม่ถูกต้องอย่างไร



ถาม :
๒๐๔. เรื่อง “มีพระอรหันต์ที่พิจารณากาย แล้วเห็นตับ ไต ไส้หรือไม่ครับ”

ผมนั่งสมาธิเดินจงกรม แต่พอจิตสงบก็มาพิจารณากายคตาสติ บางครั้งได้แค่พิจารณาแบบปัญญาชาวโลกทั่วไปครับ อวัยวะอยู่ตรงไหน ถ้าผ่าแล้วมันจะเป็นอย่างไร เช่นผ่าลำไส้ใหญ่ก็จะมีอุจจาระเหม็นๆ หรือถ้าเข้าข้างในตัวเรา ก็มีอวัยวะเยอะแยะรวมกันอยู่มันก็สลด จิตไม่ฟุ้งออกไปข้างนอกดี

และบางทีก็รู้สึกว่า การเป็นคนนี้ ชื่อ หน้าที่การงาน มันก็แค่เรื่องสมมุติ ของจริงคืออวัยวะ ๓๒ ที่เละๆ มันก็แค่นั้นเอง แต่สักพักพอจิตมันไปเจอกับกิเลส ผมชอบค้นหาว่า “ทำไมหนอจึงมีกิเลสได้” ก็เสาะหาสาเหตุไปวันๆ วิธีปฏิบัติก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ! ทำได้แค่นี้เองครับ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. มีพระอรหันต์ที่พิจารณากาย แล้วเห็นตับ ไต ไส้ หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : มี ! มี !

ถาม : ๒. อยากเห็นตับ ไต หัวใจ ปอด พังผืดในกายของจริง ต้องทำอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : เห็นไหม ข้อ ๑ กับข้อ ๒ มันขัดกันแล้ว

ข้อ ๑ เขาถามว่า “มีพระอรหันต์ที่พิจารณากาย แล้วไม่เห็นตับ ไต ไส้ ปอดหรือไม่ครับ” ไม่เห็น... มี !

ข้อ ๒ ว่า “อยากเห็นตับ ไต ไส้ ปอด พังผืดในกายแบบของจริงต้องทำอย่างไร” เห็นไหม “แบบของจริง” แสดงว่าที่เห็นมานี่ก็ไม่แน่ใจว่าจริงไง เพราะเขาไม่แน่ใจเขาถึงบอกว่า ถ้าเห็นจริงกับเห็นไม่จริงมันแตกต่างกันอย่างไร

พระอรหันต์ที่พิจารณาไม่เห็นกายนี่มี เพราะการพิจารณากายนี้ พอพิจารณาเวทนามันก็ไม่เห็นกาย พิจารณาเวทนามันก็ไม่เห็นกาย

“ฉะนั้นพระอรหันต์ที่พิจารณาไม่เห็นกายก็มี ! แต่ที่พิจารณาเห็นกายก็มี !”


ถาม : ๓. แล้วถ้าเห็นอวัยวะภายในด้วยจิตไม่ได้ มีโอกาสจะหลุดพ้นด้วยการพิจารณากายโดยใช้ปัญญาแบบชาวโลกหรือไม่ครับ และต้องทำอย่างไร

หลวงพ่อ : ไม่มี ! มันเป็นไปไม่ได้ที่พิจารณากายแล้วใช้ปัญญาแบบชาวโลก อย่างนั้นมันไม่มีหรอก ชาวโลกก็คือสมองไง ชาวโลกก็คือความคิดสามัญสำนึกนี่แหละ มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันจะแก้ได้จริง พระอรหันต์พิจารณากายและไม่พิจารณากาย

พระอรหันต์พิจารณากายจะเห็นกายตามความเป็นจริง แล้วมันจะเห็นอย่างนี้ ถ้าเห็นกายนี่จิตมันเห็น “ถ้าเห็นกายนี่มันอุคคหนิมิต วิภาคะ” เห็นนิมิตนะ เห็นกระดูก อย่างเช่นที่ว่าหลวงปู่กิมท่านเห็นเส้นผมเส้นเดียว แล้วท่านจับเส้นผมแยกออกเป็นท่องซุงไง

เส้นผมนี่นะ เส้นผมใช่ไหม แล้วเราจับเส้นผมได้ แล้วเราแยกส่วนเส้นผมขยายออก พอเส้นผมขยายออก มันก็เหมือนกับท่อน้ำไง พอระหว่างของท่อน้ำนั้นมันก็เหมือนอาหารที่มันกินจากรากผม นี่มันเห็นหมดแหละ !

มันขยายเส้นผมได้เลย รูขุมขน หรือเส้นขนนี้มันขยายส่วนได้ ขยายส่วนโดยตาของจิตนะ ไม่ใช่กล้องจุลทรรศน์ มันจะไปเห็นด้วยตาเลย เพราะเราเห็นเอง เราพิจารณาเอง นั่นคือเวลาพิจารณา

นี่เวลาพิจารณากาย การพิจารณากายเห็นตับ เห็นไต เห็นปอดต่างๆ มันพิจารณาได้หมดแหละ เห็นกระดูก เห็นอะไร นี่การพิจารณานะ

ทีนี้การพิจารณาอย่างนั้นมันต้องมีสัมมาสมาธิ แต่นี้ทำไป พิจารณาไปแบบชาวโลก แบบชาวโลกนี่เขาเรียกกายนอก

เราจะบอกว่าการพิจารณากายแบบชาวโลกมันไม่ผิดหรอก มันไม่ผิดเพราะแบบว่าเริ่มต้นพิจารณา เห็นไหม อย่างเช่นคนเรานี่เราเดินไปเห็นรถประสบอุบัติเหตุ หรือเราเห็นซากอวัยวะ พอเราเห็นแล้วเรากินอาหารไม่ลงเลยล่ะ นี่กายนอก มันขย้อนเลย เห็นไหม นี่เราเห็นแล้วเรายังสลดสังเวชเลย

ทีนี้เราพิจารณาถึงร่างกาย เวลาเราพิจารณากัน เห็นไหม อย่างเช่นร่างกายเราไม่ได้อาบน้ำ ๗ วัน มันก็ทนไม่ได้แล้ว ไม่อาบน้ำ ๗ วัน แล้วคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนี่สารของเสียมันขับออกมาเยอะแยะไปหมดเลย

นี่ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ เราก็รู้ว่าร่างกายนี้มันสกปรก เราพิจารณาด้วยสติปัญญา เราก็รู้ได้ว่าร่างกายนี้สกปรก ถ้าร่างกายนี้สกปรก เห็นไหม นี่มันก็สลดสังเวช พอสลดสังเวชขึ้นมาแล้วจิตมันเริ่มสงบ พอสลดสังเวชขึ้นมา แล้วจิตมันจะเริ่มผ่อน พอผ่อนขึ้นมาแล้วมันสงบบ่อยครั้งเข้า... บ่อยครั้งเข้า พอจิตมันดีขึ้นมาแล้วพิจารณาไปนี่เดี๋ยวมันจะเห็นโดยจิต มันจะเป็นขั้นตอนของมันไปไง

แต่ถ้าบอกว่าพิจารณากายโดยสามัญสำนึกตลอดเวลา อย่างนี้คือมันไม่พัฒนาไง ถ้ามันไม่พัฒนา คือมันอยู่คงที่ตายตัว นี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็อยู่แค่นั้นแหละ

มันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป พัฒนาของมันขึ้นไปแล้วมันดีของมันขึ้นไป แล้วมันจะเข้าไปสู่ใจ แล้วมันจะไปถอนกันที่ใจ อย่างนั้นถึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ !

นี่อยากเป็นพระอรหันต์ไง แต่สงสัยน่าดูเลย สงสัยเยอะมาก ค่อยๆ ปฏิบัติไป เริ่มต้นนะ พระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย แล้วเราเกิดมานี่เรามีสติมีปัญญา แค่เราเป็นชาวพุทธนะ เราสนใจพุทธศาสนา แล้วเรารื้อค้นนี่ คือมันก็เหมือนกับคนป่วยแล้วมียา แต่เราไม่ชอบใจ เราไม่พอใจยาของพระพุทธเจ้าเลย

“ธรรมะโอสถนี้” ไม่มีใครสนใจธรรมะโอสถเลย เกิดมาพบธรรมะโอสถแล้วไม่รู้จักมัน ไม่รู้จักใช้มัน โอ๋ย.. น่าเสียใจนะ

ฉะนั้นเราเกิดมาแล้วเราพบแล้วนี่ เราใช้เราพยายามค้นคว้าของเรา ได้มากได้น้อย อยู่ที่นิสัยของคน อยู่ที่วาสนาของคน

ฉะนั้นการปฏิบัตินี่ถูกต้องแล้วล่ะ ชีวิตโลกเป็นเท่านั้นเอง ชีวิตนี้ก็คือชีวิตนี้ จะเศรษฐีขนาดไหน ทุกคนต้องพลัดพรากจากโลกนี้ไปทั้งนั้นแหละ เราก็เหมือนกัน ฉะนั้นเรามาศึกษาของเรา ศึกษาธรรมะโอสถ เพื่อเป็นยา เพื่อเป็นเครื่องปลอบประโลมใจเรา เพื่อปฏิบัติของเรา เพื่อที่สุดแห่งทุกข์ของเรา เห็นไหม

ถ้าอยากเป็นพระอรหันต์ต้องพยายามขยันหมั่นเพียร แล้วทำเข้าไปนี่มันจะลึกซึ้งเข้าไป แล้วมันจะเป็นความจริงของเราเพื่อในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เกิดมาไม่เสียชาติเกิด ! เอวัง