เทศน์เช้า

วันมาฆบูชา เช้า-ค่ำ

๑๑ ก.พ. ๒๕๔๑

 

วันมาฆบูชา เช้า-ค่ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทางโลก ศาสนาทำให้สันโดษ ศาสนาให้ถือสันโดษ ศาสนาให้มักน้อย ให้สันโดษไง มันไม่ใช่มักน้อยตรงนั้น ถ้ามักน้อยสันโดษนะ ในศาสนาสอนความดำริชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ เห็นไหม สอนให้ปล่อยวางหรือ? แต่สันโดษ สันโดษตรงนี้ ตรงเป็นหนี้เขานี่แหละ สันโดษในศีล ๕ ในคู่ครองของตัว ให้อยู่ในขอบเขตไง เวลาสันโดษนี่สันโดษในการฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แต่ในการงาน ดูพระพุทธเจ้าสิ พระพุทธเจ้า เห็นไหม เช้าบิณฑบาต บ่ายๆ สอนโยม กลางคืนสอนพระ จากเที่ยงคืนไปสอนเทวดา ตี ๔ เล็งญาณ ๒๔ ชั่วโมงไม่มีเวลาว่างเลย งานทำทั้งวันทั้งคืนเลย แล้วให้ปล่อยวาง ใครปล่อยวาง?

แม้แต่องค์พระศาสดานะ พุทธกิจไง พุทธกิจ ๕ เป็นงานประจำพระพุทธเจ้าทุกๆ องค์ แล้วพระพุทธเจ้าองค์ไหนปล่อยวาง ทำงานขนาดนี้นะ ทำงานทั้งวันเลย นี่ไปเปิดได้ในพระไตรปิฎก พุทธกิจ ๕ เป็นงานประจำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า แล้วสาวกก็ทำกันมาเรื่อย นี่งานทำมาตลอด แล้วอันไหนปล่อยวาง?

นี้เพียงแต่ว่าเราตีค่าศาสนาผิดไง แล้วคนตีค่าผิดว่าการปล่อยวาง เพราะว่าผู้ที่อยู่ต่ำกว่าอยากจะสบายอยู่แล้วใช่ไหม? นี่อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะได้มาโดยเปล่าๆ กู้เงินมาแล้วใช้ไง อยากได้มาเปล่าๆ พอถึงเวลาว่าเราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นให้สันโดษ ไม่ทำงาน สันโดษแล้วจะอยู่สุขสบาย

มันสบายด้วยความเป็นจริงจากหัวใจนะ หัวใจมีที่พึ่ง เห็นไหม ปรัชญาของศาสนา มีสวรรค์ มีนรก มีปัจจุบัน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีที่มาที่ไปไง นี่อันนี้หัวใจเรามีเครื่องดำเนินแล้ว นี่มีที่พึ่ง หัวใจมีศาสนา หัวใจมีที่เกาะเกี่ยว อันนี้มันไม่ว้าเหว่อยู่แล้วในหัวใจ แต่ไอ้งานภายนอก เกิดมามันต้องทำไปสิ นี้ศาสนาถึงว่าไม่ได้ขวางโลก ศาสนาเป็นการส่องไง

เวลาพระพุทธเจ้านิพพาน พระอานนท์รำพึงรำพันเลย

“ดวงตาของโลกดับแล้ว”

ดวงตาของโลก เป็นผู้ส่องนำทางมาตลอด แต่ต่อมาๆ อย่าว่าแต่โยมเลย แม้แต่พระ เห็นไหม พระก็ไปให้ค่ากันผิด ให้ค่าในวัตถุ พระก็ให้ค่าทางวัตถุ พระก็ไปส่งเสริมทางวัตถุ พอพระส่งเสริมวัตถุ โยมก็ไปทางวัตถุ ดึงมาหมดเลย พอดึงมาหมดเลยก็ไปกันไปหมดเลย ฉะนั้น ศาสนาไม่ขวางโลก แต่พอไปเห็นตรงนั้นเข้าเอง ศาสนาไม่มีขวางโลก...

วันนี้วันมาฆะ เมื่อกี้ประเด็นปลีกย่อย ทีนี้เอาเนื้อธรรมไง ความเป็นจริง เอาความเป็นจริง วันนี้วันมาฆบูชา เห็นไหม เวลาปกติเรามีวันขึ้นปีใหม่ มีวันตรุษจีน มีวันนักขัตฤกษ์ พวกเราก็แบบว่ามีความสุข มีความรื่นเริง แต่รื่นเริงในการปกครองไง ในการปกครองทางโลกเขาให้เป็นกาลเป็นเวลา เริ่มต้น จบปี จบเดือน ขึ้นต้นงบประมาณกันใหม่ แต่มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เห็นไหม นักขัตฤกษ์เขาทำบุญโดยปกติ

วันพระก็วันพระ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำ แต่วันนี้วันพระ ๑๕ ค่ำ เป็นวันมาฆบูชา เป็นนักขัตฤกษ์ไง เป็นวันที่สงฆ์จาก ๔ ทิศ ไปหาพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมาย เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าที่บวชให้ เป็นเอหิภิกขุภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้ เหมือนกับลูกออกจากท้องของเราเองเลย แล้วไปประพฤติปฏิบัติ แล้วเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๑,๒๕๐ องค์กลับมา เหมือนกับลูกของเราไปประกอบอาชีพมีความสำเร็จแล้วกลับมาหาพ่อแม่ มันมีความสุขขนาดไหน?

นี่ก็เหมือนกันนะ พระพุทธเจ้า ลูกศิษย์นะเป็นลูกออกจากพระโอษฐ์ ออกจากปาก เอหิภิกขุ ภิกษุเป็นคนบวช เอาปากเป็นคนบวชกลับเข้ามา แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ๑,๒๕๐ องค์ นี่ยังส่วนเดียวนะ ยังมีอีกส่วนที่ยังไม่มา ส่วนเดียวกลับมา แล้วเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนะ เพ็ญ ๑๕ ค่ำไง คืนเพ็ญ ๑๕ ค่ำแล้วนั่งสโมสรสันนิบาตของสงฆ์ ของผู้พ้นกิเลสไง แล้วพระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้โอวาท ฟังนะ!

“ไม่ทำความชั่วเลย ความชั่วต่างๆ จะไม่ทำเลย”

ปาติโมกข์ไง ปาติโมกข์ ไม่ทำความชั่วเลย ทำแต่ความดี เห็นไหม ไม่ทำความชั่วเลย ความชั่วไม่ทำเลย ทำได้อย่างไรพระอรหันต์ จิตไม่มีกิเลสแล้วจะทำความชั่วได้อย่างไร? ไม่มีความชั่วเลย ทำแต่ความดี แล้วทำให้จิตนี้ผ่องแผ้ว แล้วเทศน์ให้พระอรหันต์ฟังหรือ? พระอรหันต์สิ้นจากกิเลสแล้ว ไม่ได้เทศน์บอกพระอรหันต์นะ เทศน์ไว้ บอกไว้เป็นเอหิภิกขุ แล้วเป็นปาติโมกข์บอกพระภิกษุไว้เพื่อเป็นจรรโลงมาไง ให้พวกเราเอาเป็นแบบอย่างไง เทศน์แล้วให้พวกเราปฏิบัติไง

ความชั่วไม่ควรทำเลย ถ้าเรารู้นะ ตั้งสติได้ไม่ควรทำเลย แต่มันเป็นไปไม่ได้ บางอย่างเพราะอะไร? เพราะเวลาโทสัคคินา โมหัคคินา ความไม่รู้เท่า โทสะเวลาโกรธมันเผลอไป ใครจะยับยั้งได้ เห็นไหม ความชั่วไม่ควรทำเลย แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เวลาเราโกรธขึ้นมานี่มันไม่น่าทำ แต่มันทำไปแล้ว พอเวลามันควบคุมตัวเองไม่ได้ นี่ถึงว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงเรารู้เราก็ทำไม่ได้ ต้องเริ่มต้นกลับมาไง

เรารู้อยู่ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ทำไมเราสู้ใจเราไม่ได้เลย เราสู้ใจเราไม่ได้เลย เพราะเราไปดูที่ผลนั้นไง ไปดูที่วิบากไง ผลของว่าอารมณ์นั้น พระพุทธเจ้าให้กลับมา ถ้าไปแก้ตรงนั้นมันก็เหมือนกับว่าทุกข์นี้ควรละ ไม่ใช่ ใช่ไหม? อริยสัจ ๔ ไง เราว่าเบื่อทุกข์ อยากแก้ทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้ละที่สมุทัยไง ทุกข์นี้ควรกำหนด ละที่สมุทัย สมุทัยนี้ควรละ ทุกข์นี้ควรกำหนด ทุกข์นี่เราควรกำหนดเลย ความเป็นทุกข์เราควรตามรู้ทุกข์ แต่ละทุกข์นี่แหละเป็นผล วิบาก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาโกรธเหมือนกัน เวลาทำความผิดเหมือนกัน พระพุทธเจ้าสอนกลับไปเริ่มจากทานไง เริ่มต้นกลับไป เริ่มกลับไปที่ก่อนจะทำความชั่ว ก่อนจะทำความผิดพลาด ก่อนจะทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะหัวใจมันคิด หัวใจมันโกรธ พระพุทธเจ้าสอนให้กลับไปตรงนั้นไง ให้เราไปแก้ที่ผลไง เราไม่ควรทำเลย เราทำไม่ได้ เรายับยั้งไม่ได้ เราสู้ไม่ไหวเพราะมันเป็นผล มันเป็นวิบาก ถึงว่าสมุทัยควรละ สมุทัยควรละ

อันนี้ก็เหมือนกัน เริ่มจากมีทาน มีศีล มีภาวนา ไปแก้กันจุดเริ่มต้น จุดที่หัวใจที่ออกมาเป็นผลนี่ไง เห็นไหม ทุกข์นี้ควรกำหนด เราไปละเลย ทุกข์นี้อยากละ ทุกข์อยากละ แล้วไปละที่ทุกข์ เลยไปละที่ผิดไง พระพุทธเจ้าว่า “ทุกข์นี้ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ละด้วยอะไร? ละด้วยอริยมรรค อริยมรรค

นี่ก็เหมือนกัน ให้เกิดกับศีล สมาธิ ปัญญา แล้วไอ้สิ่งที่เราแก้ไม่ได้ เราสู้ไม่ได้จะไม่มี จะไม่เกิดขึ้น เพราะเราไปแก้ที่ฐานไง เราไปแก้ที่ว่าความดำริ ความคิดเริ่มต้นจากก่อนโกรธ ก่อนโกรธ ก่อนจะคิดอะไรเราย้อนกลับไปที่นั่น ต้องไปแก้ตรงนั้นไง พระพุทธเจ้าถึงย้อนกลับไปแก้ที่หัวใจไง ไปแก้จากมโนปุพพังคมา ธัมมา สิ่งใดเกิด เกิดที่ใจเป็นเหตุ ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ เพราะมีหัวใจถึงมีโลก สามโลกธาตุมีเพราะเราไปรับรู้ สามโลกธาตุนี้เราไม่รู้ สามโลกธาตุนี้จะมีไหม?

การปฏิบัติก็เหมือนกัน เรากำหนดใจไง เรากำหนดใจ สักแต่ว่ากำหนดรู้อยู่ โลกนี้เหมือนไม่มี ไม่รับรู้อะไรเลย แต่เราไปแก้โลกไง เราอยากไปแก้สิ่งแวดล้อมข้างนอกเข้ามาก่อน จะไปแก้ผลของมันไง พระพุทธเจ้าถึงย้อนกลับไง ย้อนกลับมาแก้ที่เราก่อน บุคคลนั่งในศาลานี้ทุกคนดีหมดเลย ในประเทศไทยทุกคนดีหมดเลย เห็นไหม บุคคลคนนั้นดีหมดเลย แต่เราแก้สังคมให้ดีก่อน ตัวเรายกเว้น สังคมต้องดีก่อนตัวเรายกเว้น

ทุกคนเป็นอย่างนั้นหมดนะ แก้สังคมก่อน แก้คนอื่นก่อน ตัวเองยกเว้น ตัวเองยกเว้นไง พระพุทธเจ้าถึงว่า “แก้เราก่อน! แก้เราก่อน!” แก้ที่บุคคลคนนั้นก่อน เราดีคนหนึ่ง ทุกคนดีหมด ดีหมดๆ สังคมนั้นดีเอง แต่ถ้าไปแก้สังคมก่อน เราไปแก้ข้างนอก เห็นไหม

ย้อนกลับมาตรงนี้ ถึงว่าบริหารกัน บริหารผิดออกไป บริหารวัตถุนะ อยากให้โลกนี้เจริญ โลกนี้เจริญ พอเจริญขึ้นไปแล้ว ความเจริญใดๆ ก็แล้วแต่มันต้องมีสิ่งเกื้อหนุนขึ้นไปไง ต้องมีปัจจัย ต้องมีความเกื้อหนุนขึ้นไป ถึงจุดหนึ่งแล้วมันอยู่ได้ไหม? มันอยู่ไม่ได้ มันอยู่ไม่ได้ มันต้องมีส่งเสริมตลอด ส่งเสริมจนมันเป็นไปไม่ได้ไง มันถึงมีคราวขึ้นมีคราวลง นั่นเป็นโลกไง

แต่ถ้าหัวใจมันสงบ หัวใจมันเย็นนะ สิ่งใดจะมีหรือจะไม่มีนั้นมันเป็นกาล มีมืด มีสว่าง มีฝนตก มีแห้งแล้ง มันมีอยู่ทุกๆ อย่าง ถ้าหัวใจพอยอมรับสภาพ ยอมรับรู้แล้ว สิ่งที่มีก็มีเป็นสภาพนั้น หัวใจนี้ไม่ทุกข์ด้วยไง หัวใจไม่ออกไปรับรู้ด้วยไง นี่อยู่ในทุกข์โดยไม่ทุกข์ไง พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ รวมพระพุทธเจ้าด้วยเป็น ๑,๒๕๐ นะ ยังมีอีกหนึ่ง นี่หัวใจที่พ้นหมดเลย โลกจะถล่มถลายไป หัวใจนั้นก็ไม่คลอนแคลนตาม

โลกจะถล่มถลายนะ จักรวาลจะมีหรือไม่มี หัวใจนั้นไม่มาตาม จิตนี้มั่นคง แต่ของพวกเรานี้จิตไม่มั่นคง หวังเกาะ ความหวังเกาะ หวังพึ่ง หวังส่งออก มันไม่กลับมาเกาะหัวใจไง หวังเกาะสิ่งใดสิ่งนั้นเสื่อมสภาพทั้งหมด หวังเกาะสิ่งภายนอก สิ่งใดมันคงที่? โลกนี้ทุกอย่างมันเป็นอนิจจังทั้งหมด แม้แต่ความคิดเราด้วย เห็นไหม แม้แต่ความคิดเรา เพราะความคิดนี้มันโดนกิเลสหลอกใช้ไง

โดนกิเลสหลอกใช้นะ จะย้อนกลับไปถึงตัวต้นของกิเลส ความคิดนี้เป็นประโยชน์หมดเลย ไปชำระตรงกิเลสนั้นหมดแล้ว ตัวพลังงานขับเคลื่อนนั้นเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ กับพลังงานขับเคลื่อนนี้เป็นพลังงานของกิเลสไง มันไปแก้ที่ตรงพลังงานนั้นถึงได้จบทั้งหมดไง โลกนี้จบทั้งหมด พระอรหันต์เกิดขึ้นตรงนั้น จนพระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร เห็นไหม

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ฟังสิ! เกิดจากเริ่มต้นของความคิด ก่อนเราจะคิดเราต้องมีดำริก่อนใช่ไหม? ความคิดนี่ พอเริ่มต้นคิดมารมันก็อาศัยตามไปด้วย

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา ต่อไปนี้เธอจะเกิดอีกไม่ได้แล้ว”

เพราะเราเห็นเธอแล้ว เราเห็นเริ่มต้นของมันว่ากิเลสมันจะเกิดตรงไหนไง แล้วมันดับกิเลสนั้นหมดแล้ว การดำรินั้นกลายเป็นดำริชอบไง ดำริที่ดีทั้งหมดไง ความดำริออกมาถึงว่าเป็นความคิดที่สะอาด ความคิดที่บริสุทธิ์ คิดออกมาแล้วเป็นความบริสุทธิ์ทั้งหมด แก้ไขตรงนั้นไง

นี่วันมาฆบูชา เป็นการยืนยันไง เป็นการยืนยันผลของการประพฤติปฏิบัติ ผลของศาสนาไง ผลของศาสนานะ ศาสนธรรม แก้วสารพัดนึก! พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก นึกตรงไหนล่ะ? แก้วสารพัดนึก เรานึกว่ามันเหมือนกับแก้วเรานึกเอาใช่ไหม? นึกให้เหมือนโลกเป็นวัตถุออกมา แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยนี้เป็นแก้วสารพัดนึก

พระพุทธ! พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สยมภู เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมะอันเยี่ยมอันนี้ สารพัดนึก นึกออกมาจากพระธรรมไง เราบังคับตัวเราเข้าอยู่ในศีลในธรรม เราจะนึกอะไรออกมาก็ได้ จะไม่มีความทุกข์เลย จะไม่มีความทุกข์เลย จะมีแต่ความสุข แต่เริ่มต้นจะเข้ามันไม่ยอมเข้า เหมือนเด็ก เด็กไม่เคยเห็นผลงาน มันจะไม่ยอมทำงาน แต่ผู้ใหญ่นี่เห็นผลงาน ผลงานคือทำงาน คนที่อยู่ในศีลในธรรมจะเห็นอบายมุข เห็นสิ่งที่ว่าผลาญเงินของเราออกไป มันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลย

เราอยู่ในวงของศีลของธรรม นี่แก้วสารพัดนึก นึกแต่ความสุข นึกแต่ความดี ไม่มีทางออกไปข้างนอก เห็นไหม นี่ศีลธรรม แก้วสารพัดนึก นึกตรงนี้ไง เราไม่นึกนี่ เราไม่นึกในแก้วสารพัดนึก เราไปนึกเรื่องของโลก แล้วเราบอกแก้วสารพัดนึก แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมสอนว่าอย่างไร?

ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ เห็นไหม ศีล ๒๑,๐๐๐ ศีลในปาติโมกข์ ศีลในพระไตรปิฎกไง ไม่ใช่ศีล ๒๒๗ หรอก จนเป็นอธิศีล จนจิตนั้นไม่คลอนแคลน จิตนี้ถึงสิ้นไง นี่แก้วสารพัดนึก นึกจนหลุดพ้นออกไปจากวัฏฏะเลย นี่วัฏฏะเกิดจากนี่ไง มันเป็นผล วันมาฆบูชา วันมาฆบูชานะ ทำบุญกุศลจะได้บุญกุศลมาก เป็นบุญกุศลต่างออกไป อย่างเช่นวันปกติเป็นวันปกติ เป็นวันนักขัตฤกษ์ของจะมีราคามาก

นี่ก็เหมือนกัน เราจงใจทำวันนี้ไง เราจงใจทำอย่างนี้ เพราะว่ามันจะตรงกันหมดในจิต ในโลกของวิญญาณ เขาก็หวังพึ่งกุศลของเรา นี่เขาเห็นเลยนะ เราอุทิศส่วนกุศลที่เราทำแล้ว อุทิศส่วนกุศลออกไป ผู้ที่รอส่วนกุศลเขาจะบอกว่า อ๋อ สายเลือดเราไง เปรตญาติ เห็นไหม คำว่าเปรตญาติ เรานี่เป็นลูกหลานของเขา เราได้อุทิศส่วนกุศลถึงเปรตญาติไง

ถึงบอกว่าได้บุญมาก ได้บุญอย่างนี้ด้วย ได้บุญมากเพราะว่าแผ่ออกไป พวกจิตวิญญาณคุ้มครองเรา เพราะเขาได้บุญได้กุศล ได้พึ่งอาศัยเรา เขาจะให้เราเป็นคนดีไง ปกป้อง เหมือนกับมีคนมาช่วยเหลือเรา มีคนมาคอยคุ้มครองเรา เราก็ต้องอยากให้คนๆ นั้นอยู่กับเรานานๆ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำบุญกุศล แล้วเราแผ่ส่วนบุญกุศลถึงเขาออกไป เขาได้อยู่ได้กิน ได้ใช้ของๆ เรา เขาจะไม่คุ้มครองเราหรือ? นี่บุญกุศลมันเกิด ๒ ต่อ ๓ ต่อนะ

๑. เกิดจากเรานี่ได้บุญกุศลก่อนเพื่อน เราทำออกจากใจเราทำก่อนเพื่อน

๒. ได้ฟังธรรมนี้ไง

๓. ได้อุทิศส่วนกุศลย้อนกลับมาไง

นี่ถึงบอกว่ามันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ทั้งหมดเลย นี่รัตนตรัยแก้วสารพัดนึก เรานึกให้ถูก นึกให้เป็น นึกได้ออกหมด เรานึกไม่ถูก เรากดไม่ถูก เรากดเอทีเอ็มกดไม่ถูก บุญมันไม่ออกมาไง กดไม่ถึงปุ่มมัน เรากดตามรหัสออกๆๆ หมดเลย ออกจนเราพ้นได้เลย อันนั้นมันเป็นประโยชน์ของชาวพุทธนะ วันมาฆะนี่ให้ได้ประโยชน์อย่างนั้น

วันนี้วันมาฆบูชา เรามาเวียนเทียน เวียนเทียนเพื่ออะไรล่ะ? เวียนเทียนเพราะว่าวันมาฆบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเทศน์ปาติโมกข์ให้ลูกศิษย์นะ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เป็นลูกศิษย์ที่ว่าท่านบวชให้ด้วย เป็นเอหิภิกขุ ท่านบวชจากปากของท่าน บวชสมัยเมื่อก่อน

“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด”

เป็นได้เลย เพราะสมัยก่อนนั้นสงฆ์ยังไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกไง บวชให้อย่างนั้น บวชให้ด้วยโอษฐ์ไง โอรสเกิดจากโอษฐ์ไง แล้วออกประพฤติปฏิบัติเป็นพระอรหันต์ กลับมาวันนี้ไง คืนนี้เพ็ญ ๑๕ ค่ำ มารวม ๑,๒๕๐ องค์ พระพุทธเจ้าแสดงปาติโมกข์ ไม่ทำความชั่วทั้งสิ้น ทำความดีทั้งหมดไง แล้วทำจิตใจให้ผ่องใส

นี่เป็นแค่นั้นแหละ เพราะบอกผู้ที่ทำเสร็จแล้วไง แต่พวกเราเป็นลูกศิษย์ใช่ไหม? ทำไมเราเคารพพ่อแม่ พวกเรานี่ทำไมเคารพพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ทำอะไรให้เราบ้าง สอนอะไรเราบ้าง เหมือนกัน! เหมือนกันไง พ่อแม่สอนเราใช่ไหม? เรารักพ่อแม่ พ่อแม่รักเราไหม? มีความเมตตาไหม? เมตตานี้เป็นศีลธรรม พ่อแม่สอนเราได้ สอนเป็นวิชาการใช่ไหม? สอนให้เราเป็นคนดี สอนให้เราเพราะสอนเป็นทางโลก แล้วพ่อแม่ทำไมต้องกราบพระด้วยล่ะ?

ดูสิพ่อแม่ต้องกราบพระ พ่อแม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร? เพราะเราพึ่งพาอาศัยกันในโลกนี้ แล้วเวลาเราดับขันธ์ไปจะเอาอะไรเป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยต่อไปโลกนี้และโลกหน้า คนเกิด เกิดมาจากไหน? คนตาย ตายแล้วไปไหน? เห็นไหม คนไม่ใช่มีเฉพาะปัจจุบันนี้ แต่ถ้าโลกสอนกันเฉพาะปัจจุบันนี้ เพราะพิสูจน์ได้ในปัจจุบันนี้ เราไม่เชื่อหรอกว่าตายไปแล้วต้องไปเกิดอีก เมื่อก่อนคนมี ๑๘ ล้านคน ถ้าคนตายแล้วเกิด หนึ่งจิตดวงหนึ่งแล้ว ๑๘ ล้านคนกับ ๖๐ ล้านคนนี้มาจากไหน? ๖๐ ล้านคนนะ

ท้าวโฆสกเป็นเทวดา ฟังนะ! อยู่ในพระไตรปิฎก ท้าวโฆสกเป็นเทวดา ก่อนที่จะเป็นเทวดานี่เป็นสุนัข แต่ในครั้งพุทธกาล เป็นเพราะพระปัจเจกพุทธเจ้า... ให้ไปนิมนต์พระมาฉันข้าวไง แล้วให้สุนัขตัวนี้ไปเป็นผู้ชักนำมา กุศลของสุนัขตัวนั้นไง ตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นท้าวโฆสก เห็นไหม นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ตายจากสุนัขนะ เกิดเป็นเทวดา ไปเกิดเป็นเทวดาเลย

นี่ถึงว่าตายแล้วยังไปอีกไง ไม่ใช่ปัจจุบันชาตินี้ ไม่ใช่ชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ไปแล้วไปอีก นี่จิตดวงหนึ่ง จากสุนัขไปเกิดเป็นเทวดา จากสัตว์ในโลกนี้ตายแล้วเกิดเป็นอะไร? ถึงว่ามนุษย์เมื่อก่อนมี ๑๖ ล้านคน ทำไมเดี๋ยวนี้มี ๖๐ ล้านคน แล้วจิตนี้มาจากไหน? จิตนี้มาจากไหน? จิตนี้ตายๆ เกิดๆ ตายๆ เกิดๆ มาตลอดไง เราปฏิเสธกันว่าคนตายแล้วเกิดเป็นคนไง เห็นไหม

เป็นสุนัขตายแล้วยังเกิดเป็นเทวดาได้ เป็นถึงสุนัขนะ นี่มนุษย์ จากสัตว์เกิดเป็นคนได้ จากคนกลับไปเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ ถ้าทำความไม่ดี เราถึงว่าศีลธรรมความละอายไง ความละอายของใจจะทำให้เราเป็นคนดี มีศีลธรรม

ทีนี้มาถึงว่าเรามาเวียนเทียนเพราะอะไร? เพราะพระพุทธเจ้าสอนไง สอนพระสาวกจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เราไม่มีเป้าหมายถึงว่าสำเร็จพระอรหันต์ แต่เราต้องการให้เรามีที่พึ่งที่อาศัย ใจมันเร่าร้อน เห็นไหม พ่อแม่มีความสุข มีความชื่นบานในบ้าน พ่อแม่สั่งสอนเรา ลูกเห็นพ่อแม่มีความสุขในบ้าน ลูกก็มีความชุ่มเย็นไปด้วย

นี่ความชุ่มเย็นจากหัวใจไง พ่อแม่มีความชุ่มเย็นก็สอนให้ลูกมีความชุ่มเย็น ลูกอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ก็ทำให้หัวใจมีความอบอุ่น จากศีลธรรม เห็นไหม ศีลธรรมมาจากไหนล่ะ? ศีลธรรม.. ไม่มีศาสนา ศาสนาไม่ต้องมีก็ได้ แต่คนเรามีความเมตตา อันนั้นก็มีศีลธรรม แต่นี่มีศาสนาไง ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก่อน ถึงได้บัญญัติธรรมไว้เป็นเครื่องดำเนิน

บัญญัติธรรมไว้นะ ศีล ๕ ให้ปุถุชนเราเป็นคนปฏิบัติ ไม่ให้ไปก้าวก่ายสิทธิของคนอื่น ศีล ๕ ในคู่ของตัวอยู่ได้ แต่คนอื่นไม่ได้ผิดศีล ๕ เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะให้โลกนี้ไม่ยุ่งกัน คนเรามีกิเลสมันต้องเกี่ยวดอง ต้องยุ่งกัน แต่ให้อยู่ในขอบเขตของศีลไง ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ สิ่งที่เป็นสุดวิสัย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ศีลของโยมก็เป็นศีลของโยม คฤหัสถ์เป็นคฤหัสถ์ พรหมจรรย์เป็นพรหมจรรย์ ถึงที่สุดจนหัวใจนี้พ้นจากสิ่งที่มันทุกข์ๆ อยู่ในหัวใจทุกๆ ดวง

ถ้าเราว่ามรรค ผล ไม่มีไง การประพฤติปฏิบัติไม่ดี ในหัวใจเราที่มันทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่นี้ มันทุกข์ร้อนมาจากไหน? เวลามันดับ มันดับได้อย่างไร? วิธีการดับทุกข์ในหัวใจอันนั้น แต่อันนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติต่อไปไง ถึงว่ามีทาน มีศีล แล้วก็มีภาวนา ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่กว้างขวาง สอนตั้งแต่มีทาน ทานการเสียสละ เห็นไหม เสียสละต่อกัน พ่อแม่เสียสละให้ลูก

บอกว่าสิทธิเราเกิดเป็นลูกแล้วพ่อแม่ต้องเลี้ยงเรา ไม่ใช่ ไม่เลี้ยงก็ได้ แต่ทำไมต้องเลี้ยงล่ะ? พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงลูกก็ได้นะ แต่เลี้ยงเพราะท่านรักลูกต่างหาก ท่านรัก ท่านเมตตาลูก ท่านถึงเลี้ยงลูกใช่ไหม? นั่นน่ะเราอ้างไง เวลาเราอ้างกันอ้างว่าต้องเลี้ยงเรา เวลาเรียกร้องสิทธิส่วนตัวเราเรียกร้อง แต่เราไม่เคยเห็นว่าเราต้องทำอะไรให้พ่อแม่ชื่นใจบ้าง เราทำอะไรให้พ่อแม่ชื่นใจบ้าง?

เราจะทำอะไรบ้างให้มันอยู่ในขอบเขตไง เพราะว่าความเร่าร้อน ความเรียกร้องของหัวใจ หัวใจไม่มีขอบเขต เห็นไหม ขอบเขตหัวใจถึงต้องมีศีลมาครอบไว้ให้มีขอบเขตของศีล ไม่ให้มันเรียกร้องจนเกินควรไง บางอย่างมันสุดวิสัย กรรมมันมีอยู่

กรรม! กรรมเกิดจากการกระทำตั้งแต่เก่ามา ตั้งแต่ปัจจุบัน แล้วอนาคตต่อไป กรรมคือการปฏิบัติ กรรมคือการประพฤติไง ถ้าเราแบ่งแยก เรามีความพร้อม มีสติอยู่ เราจะไม่ทำความไม่ดี สิ่งใดทำไปแล้วเสียใจภายหลัง พระพุทธเจ้าบอกไม่ดีเลย สิ่งใดที่คิดแล้วเราน้ำตาไหล สิ่งนั้นไม่ควรทำเลย แต่เราทำไปเพราะว่าเราไม่มีความยับยั้งชั่งใจได้ ความยับยั้งชั่งใจเพราะเราไม่เข้ามา... (เทปขัดข้อง)

แต่เวลาถ้าเราว่าเราทุกข์ มองผู้ปฏิบัติ มองพระสิ พระฉันมื้อเดียว ไม่ได้เรียกร้องว่าพระให้เหนือกว่าเขานะ เพียงแต่เปรียบเทียบให้ดูไง เปรียบเทียบว่าเวลาเรากิน ๓ มื้อ เราทำตามใจตัวทั้งหมด เราว่าเรายังทุกข์อยู่ไง แต่พระฉันมื้อเดียวทำไมอยู่ได้ สิทธิการจะทำแบบโลกเขาก็ไม่มี ทำไมอยู่ได้ แล้วทำไมเลือกทำล่ะ? เพราะเขามีเป้าหมายที่สูงกว่านั้นไง เป้าหมายที่สูงกว่านั้นว่าเพราะศีล ก่อนจะเข้าไปหาธรรมมันต้องมีพื้นฐาน มีภาชนะใช่ไหม? เราจะใส่อะไรเราต้องมีภาชนะ ถ้าเราไม่มีภาชนะเราจะตักสิ่งนั้นไม่ได้เลย

ศาสนาก็เหมือนกัน มีธรรมะมากมายเลย แต่เราไม่มีภาชนะไง คือเราไม่มีหัวใจไง เราไม่มีความรู้ว่าเราจะทำอย่างไร เอาภาชนะนี้ไปตักตวงได้ไง นี่ถึงว่าเข้ามาใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก แก้วสารพัดนึก ฟังสิ! พระพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วถึงมีพระธรรม แล้วมีพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้าที่ปฏิบัติจนว่าวันนี้ ๑,๒๕๐ องค์เป็นพยาน เป็นแก้วสารพัดนึกตรงไหนล่ะ เห็นไหม

เพราะพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นตัวอย่างของโลกไง เป็นตัวอย่างว่าชีวิตนี้ ความเป็นอยู่ของชีวิตนี้ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมแบบที่เราทำกันไง ชีวิตนี้ ความเป็นอยู่ ปัจจัย ๔ พออยู่ได้ พอมีพอกิน อยู่ได้ ปัจจัยสิ่งนี้อยู่ได้ไง นั่นน่ะเราเลี้ยงชีวิตตามความเป็นจริง อันนี้เป็นตัวอย่าง นี่แก้วสารพัดนึก ถึงว่าเป็นแก้วสารพัดนึกว่าเราเห็นได้ไง

พระธรรม! พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. พระธรรมเราจะทำอย่างไรถึงว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเรา แก้วสารพัดนึกตรงไหนล่ะ? ศีล ๕ เห็นไหม ไม่กินเหล้าวันนี้เงินก็เต็มบ้าน ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมวันนี้เงินก็เต็มบ้าน สีเลนะโภคะสัมปะทาไง ศีลนี้ทำให้มีโภคะสมบัติ ศีลนี้เป็นขอบเขตให้เราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มันก็เกิดขึ้นแล้ว แต่เราเข้าใจว่าเราจะไปได้ลาภจากทางอื่นไง เราถึงว่าเป็นแก้วสารพัดนึกที่เรากดออกมาได้ไง

แก้วสารพัดนึก ถ้าเราอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม การใช้จ่าย ความเป็นอยู่ของเราจะไม่เดือดร้อน เราก็จะมีธรรม เห็นไหม นี่แก้วสารพัดนึก นึกออกมาจากศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ไง แต่เราเข้าใจ เวลาเราพูดกันว่าประชาชนมีศีล ๕ จะไม่ต้องมีกฎหมายเลย มีศีล ๕ จะไม่โกหกกัน จะไม่เบียดเบียนกัน จะไม่รังแกกัน แต่ทุกคนไม่สามารถทำใจของตัวเองได้ ทุกคนถึงต้องเบียดเบียนกัน ทุกคนเบียดเบียนกัน แล้วก็ไปอ้างว่าแก้วสารพัดนึกไม่ให้ประโยชน์กับเราไง ศาสนาพุทธไม่เคยให้ประโยชน์กับเรา ศาสนาพุทธทำให้พวกเราทุกข์ยากไง

ถ้าทุกข์ยากทำไมประเทศชาติมันถึงอยู่มาได้ ยิ้มสยามๆ ยิ้มออกมาจากใจ ยิ้มสยาม ยิ้มออกมาจากความรู้สึก ไม่ใช่ยิ้มแบบเขาที่ว่ายิ้มออกมาจากปาก พยายามจงใจจะยิ้มมา ยิ้มสยามมันยิ้มออกจากหัวใจ การแสดงออกจากใจ

ศาสนาพุทธเราเกิดขึ้นมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วไง แล้วเราเข้าใจศาสนาแล้ว การแสดงออกของเราออกจากหัวใจไง ยิ้มจากใจ ความแสดงออกจากใจ ถ้าใจนั้นบริสุทธิ์ ถ้าใจนั้นเป็นจริง เห็นไหม ความเป็นจริงจากแก้วสารพัดนึก แต่เราไม่รู้ว่าแก้วสารพัดนึกคืออะไรไง เราไปหากันข้างนอก เราไม่หาตามความเป็นจริงว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน? พระพุทธเจ้าตรัสรู้จากโคนไม้ โคนต้นโพธิ์ แต่จริงๆ แล้วตรัสรู้กลางหัวใจ หัวใจนี้บานออกมาเป็นพุทธะไง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในใจ ชำระกิเลสที่หัวใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ การชนะตนไง ชนะตนแล้วชนะเยี่ยมที่สุด ชนะตนแล้วดีกว่าชนะทุกๆ คน ชนะตนนี่ชนะหมดเลย ชนะคนอื่นมีแต่การเบียดเบียนกัน นี่เราถึงว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งไง เราถึงได้มาเวียนเทียน เรามาเคารพ มาบูชารัตนตรัย การเวียนเทียนนะ เวียนรอบแรกเรานึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม การเวียนเทียนนี่การเคารพ

สมัยพุทธกาล การเวียนเทียน การเดินเวียนออกไปทางขวา อันนี้เป็นการเคารพกันทางหนึ่ง รอบแรกเราคิดพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราเคารพพระพุทธเจ้า รอบที่ ๒ เราคิดธัมโม ธัมโม ธัมโม รอบที่ ๓ เราคิดถึงสังโฆ สังโฆ สังโฆ คิดขึ้นที่ใจ คิดถึงพุทโธก็พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจเรา พุทธะคือหัวใจ คือผู้รู้

คิดถึงพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เราก็ถึงแก้วดวงหนึ่ง คิดถึงธัมโม ธัมโม ธัมโมก็ถึงแก้วอีกดวงหนึ่ง คิดถึงสังโฆ สังโฆก็แก้วอีกดวงหนึ่ง แก้วสารพัดนึก เราจะเข้าไม่ได้ เราก็เข้าด้วยกิริยา เข้าด้วยการนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การเวียนเทียนในวันมาฆบูชาจะเกิดเป็นบุญกุศลของเราไง

เราเป็นชาวพุทธ เราเข้าให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าถึงหัวใจ มันถึงเป็นบุญกุศลของเราที่มาเวียนเทียน สมกับการมาเวียนเทียนไง การมามันเสียทั้งเวลา เสียทุกๆ อย่างใช่ไหม? ควรจะได้ประโยชน์ไป ประโยชน์จากหัวใจที่ซาบซึ้งในศาสนาของเรา ซาบซึ้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไง

นี่การเวียนเทียนต้องเวียนอย่างนั้นนะ ตั้งใจให้ดี ตั้งใจเวียนเทียน เราจะพาทำวัตรก่อนนะ เราจะพาทำวัตรหน่อยหนึ่ง แล้วก็จะให้เวียนเทียน เวียนเทียนเสร็จแล้วก็อีกชุดหนึ่ง เห็นไหม วันนี้ถึงว่ามีทาน มีศีล มีภาวนา ทานชุดหนึ่งนี้เป็นเรื่องของศีลนะ ก็ขอบเขตจำกัด เดี๋ยวภาวนาต่อไปทีหลัง