ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถามตอบปัญหาธรรมะ

๔ ต.ค. ๒๕๔๑

 

ถาม-ตอบปัญหาธรรม เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : กำหนดพุทโธนะ พุทโธ กำหนดเฉยๆ อยู่อย่างนั้น กำหนดอยู่เฉยๆ ทีนี้ถ้าเด็กมันจะไม่เข้าใจตรงนี้ ตรงที่ว่าถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธไว้ ให้มันสงบไป แล้วที่ว่าต้องการสีให้มันเปลี่ยนนี่ ไม่ต้องไปต้องการ ถ้าต้องการแล้วไม่ได้ คำว่าต้องการ หมายถึง สมุทัยคือความอยาก

ปกติของสัญชาตญาณมนุษย์นี้มีกิเลส มีความอยากอยู่แล้วโดยพื้นฐาน เราอยากภาวนาเป็น อยากมี อยากได้ อยากมาทำบุญนี่อยากได้ อยากตัวนี้ มันไม่ใช่อยากในเหตุการณ์ไง

สมมุติเราอยากจะทำงาน เราก็มาทำงานเลย แต่พอเราอยากทำงานปุ๊บ เราก็มาทำงาน พอกำลังทำงานอยู่ มันก็อยากให้งานเสร็จไวๆ อยากในงานแบบนั้น คืออยากให้งานนั้นเสียไง เขาเรียกว่า “สมุทัยซ้อนสมุทัย”

แต่ถ้าอยากทำความดีนี้มันเป็นมรรค หมายถึง มรรคอริยสัจจัง ทำความเพียรชอบ ความวิริยะชอบ ความอยากตัวนี้เป็นความอยากพื้นฐาน กิเลสนี้มันอยากไปตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แต่เราอยากภาวนา แต่เราไม่อยากให้สีเปลี่ยนเห็นไหม ถ้าอยากให้สีเปลี่ยนนี้มันเหมือนกับว่า พอเราไปทำงาน งานยังไม่ทันเสร็จเลย เหมือนอย่างเช่นเราทำทอง หรือทำอะไรนี้ มันต้องค่อยๆ ต่อ เป็นข้อๆ มา ให้เป็นเส้น เป็นสร้อย ทีนี้พอทำทองเสร็จ ก็จะไปทำแหวน ทำอะไรอื่น มันก็จะทำให้ทำสร้อยนี้ได้ไม่ดี

เห็นไหม เราถึงบอกว่า ไม่ใช่อยากไปเปลี่ยนสีนะ ไม่ใช่อยากให้เป็นใดๆทั้งสิ้น กำหนด พุทโธ พุทโธ ไว้ แล้วอยู่เฉยๆ ให้มันเป็นไปเอง.. ให้เป็นไปเอง.. แต่ที่ว่าเวลาเป็นไปเองเห็นไหม อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ เรายังนึกได้ นึกในสมาธินี่นึกได้นิดหน่อย เวลามีแสง มีสีขึ้นมา เราไม่ต้องออกไปดูไง

ให้อยู่เฉยๆ เหมือนกับเราสั่งให้สีมาหาเรา เข้าใจไหม เขาเรียกว่ารำพึง ถ้าคิดนี่ไม่ได้ คิดนี่มันหยาบกว่าสมาธิแล้วไง สมาธิมันเป็นจิตที่สงบ พอคิดขึ้นมานี้เขาเรียกว่าถอนออกมาไง จิตมันกำลังจะละเอียดเข้าไป แต่พอเราไปคิด มันก็ไปปรุงแต่งจริงไหม พอปรุงแต่งมันก็หยาบ ที่เราฟุ้งซ่านกันอยู่นี่เพราะความคิด ทีนี้เราจะทำให้จิตมันสงบ แต่พอเราไปคิดขึ้นมานี่ มันค้านกัน

แต่รำพึงนี้ มันคือคิดอ่อนๆ นึกๆ นิดๆ นึกเอา นึกๆ นิดเดียว อย่าคิด

ถ้าจิตเราสงบเข้าไป จิตเราสงบๆ แล้วเห็นขึ้นมานี้ เราไม่ใช่ว่าอยากจะคิดขึ้นมานะ เรารำพึง เหมือนเกาะไว้.. เกาะไว้.. แต่ถ้าเป็นปกตินะ อย่างเช่น พระในสมัยพุทธกาลที่จะเหาะ “เราจะเหาะ” ก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็เข้าสมาบัติ เห็นไหม การเข้าสมาบัตินี้ก็คือการทำความสงบไง

นี่ก็เหมือนกัน เราตั้งเป้าหมายไว้ มีความอยากไว้ แต่ถ้าเราทำความสงบนี่ มันต้องการให้น้ำนี้ตกตะกอน แต่เราก็ไปเอามือแกว่งน้ำไว้ตลอด แล้วน้ำจะตกตะกอนได้อย่างไร เราตั้งใจให้น้ำตกตะกอน แล้วเราก็วางแก้วไว้เฉยๆ แล้วเราดูให้น้ำตกตะกอน จริงไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องการให้จิตสงบถึงจะเห็นแสง แล้วเราไปคิดให้มันเห็นแสง อยากให้แสงเข้ามา เห็นไหม ก็เหมือนไปกวนให้มันขุ่น

นี่เรากลัวจะสับสนตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจ ให้ทำจิตสงบเข้าไป

“ความคิดกับความรำพึงนี้ต่างกัน”

ความคิด หมายถึง ที่เราคิดปกตินี้ เราเรียกว่าความคิด

แต่ความรำพึง หมายความว่า น้อมหน่อยเดียว เวลาจิตสงบแล้วน้อมเข้ามา.. เข้ามา.. เข้ามา..

เห็นไหม เวลาจิตสงบนี่ไม่ใช่คิด ไม่ใช่นึก ทางภาษาพระ เขาเรียกว่ารำพึง รำพึงนิดเดียว ในสมาธิจะทำได้ อันนั้นล่ะจะทำให้เข้ามา.. เข้ามา.. เข้ามา.. เรียกเข้ามาเลย ทำจิตสงบเข้ามา.. เข้ามา..

แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น ที่เขาพูดให้ฟังว่า เขาพยายามจะจับนี้คือเขาไปทั้งหมดเลย เห็นไหม ไปทั้งหมดเลย ไปทั้งหมด ไปออก ออกไป “ต้องนั่งเฉยๆ สิ แล้วค่อยๆ เข้ามา”

หลวงพ่อ : แล้วเมื่อก่อนตอนที่ว่าดีที่สุด ตอนที่อยู่ป.๔ ตอนที่ยังเล็กกว่านี้นี่เห็นขนาดไหน เห็นกี่สี เห็นพร้อมกันเลยหรือ พร้อมกันเหมือนสายรุ้งใช่ไหม เห็นหลายๆสี เหมือนรุ้งเลยเนอะ

โยม๑ : บางทีก็สีเดียว

หลวงพ่อ : สีเดียว พอสีเดียวแล้วมันใสขึ้น.. ใสขึ้น.. ใสขึ้น.. อย่างสีแดง เห็นไหม แดงนี่ แดงเข้ม แดงนวล แดงอะไรนี่ นี่ก็เหมือนกัน สีนั้น ถ้าจิตเป็นสมาธิดี ความสว่างไสว มันจะสว่างขึ้น.. สว่างขึ้น..

โยม๒ : แต่ถ้ามันแดง แดงแบบสีแดงแช้ดไปเลย จากที่ผมได้สัมผัส แล้วพอวึ้บ.. มันกลายเป็นดำไปเลย พอดำแล้วมันก็หายวั้บ ผมก็กำหนดจิต มันก็เกิดปึ๊บ พอเกิดปึ๊บ มันก็แดง แล้วก็ค่อยกลายเปลี่ยนสีเป็นดำ ถ้าเราจะให้เขียวหรือว่า….

หลวงพ่อ : มันเหมือนกับเราตั้งใจไง พอเราตั้งเจตนาขึ้นมามันก็ชัด พอสติเรามันอ่อนลงมันก็จางลง..จางลง.. เห็นไหม

อันนี้เราพูดถึงนะ ฟังให้ดีอีกนิดนึงนะ อย่าสับสนนะ การทำให้จิตสงบกับการเห็นแสงนี่มันต่างกันนะ การที่เราเห็นแสงนี้มันเป็นบุญบารมีของแต่ละบุคคลนะ เราจะทำจิตสงบ ไม่ใช่ว่าต้องการให้เห็นแสง แต่ที่เราพูดถึงแสงเพราะคนนี้มันเห็นแสง

แต่การเห็นแสงนี้มันเป็นเป้าหมายที่สองไปแล้ว ไม่ใช่จิตสงบนะ จิตสงบนี่เป็นหนึ่ง การเห็นนั้นเรียกว่าเป้าหมายที่สอง เราอยู่เฉยๆ นี้เราไม่มีความคิดเลย เราไม่คิดอะไรเลย เราไม่มีความคิด พอคิดถึงอะไร อารมณ์นั้นก็เป็นอารมณ์ที่สองแล้ว อารมณ์ที่สอง..อันนี้มันเป็นแบบนิมิต เราก็ย้อนนิมิตนี้กลับเข้ามาหาเรา ที่เราบอกย้อนนิมิตกลับเข้ามาหาตัว ให้จากสองนี้มาเป็นหนึ่งไง จากสองนี้ให้รวมเป็นหนึ่งให้ได้ “เอกัคคตารมณ์” พอรวมเป็นหนึ่งขึ้นมา มันจะดีขึ้นไง

การเห็นนี้ มันเป็นปกติที่มันเห็น แต่บางคนก็ไม่เห็นอะไรเลย เห็นไหม ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เป็นประเด็นว่าการทำสมาธิคือการทำให้เห็นสี แต่การได้เห็นสีนี้มันคือการเพ่งกสิณ

กสิณเขียว กสิณแดง เห็นไหม เขาจะวาดวงกลมขึ้นมาเป็นกสิณแล้วเพ่ง พอเพ่งแล้วก็หลับตา สมมุติว่าเหมือนเราดูมือ ดูแล้วหลับตา นึกภาพมือออกไหม ถ้านึกภาพมือออก เขาเรียกว่า กสิณติดแล้ว พอติดขึ้นมา พอติดขึ้นมาก็เป็นภาพสีนั้น เห็นไหม เพราะพวกนี้จะมีฤทธิ์ไง พวกมีกสิณ อย่างเช่น กสิณไฟ เห็นไหม

อันนั้นก็เหมือนกัน นึกภาพจากข้างนอก แล้วก็ให้ภาพเกิดขึ้นจากข้างใน พอภาพเกิดจากข้างในก็กำหนดภาพนั้น แล้วขยายภาพนั้นให้ใหญ่ขึ้น ปฏิภาคะไง นี่คือการฝึกจิตให้มีกำลัง

การพิจารณากายก็เหมือนกัน จากกายส่วนเดียวคือการเพ่งอยู่ การเพ่งอยู่คือการผลักมันไว้ การดันกันไว้ ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องการให้มีการแยกแยะ ปฏิภาคะ คือ แยกกาย ส่วนใดส่วนหนึ่ง เวลาเราพิจารณากาย ให้กายนี้แปรสภาพออก เพื่อให้เห็นความไม่แน่นอน เพราะมันเป็นอนิจจัง

การเพ่งกสิณ เห็นไหม แยกส่วนให้ใหญ่ขึ้น.. ใหญ่ขึ้น.. จนครอบโลกธาตุเลย นี่แยกกสิณ ปฏิภาคะ แยกส่วน ขยายส่วน ให้มีพลังงาน อันนั้นมันเป็นกสิณ

โยม๒ : การเพ่งกสิณนี้ทำให้เกิดพลังจิตได้ไหมครับ เกิดเป็นอภินิหารได้ไหม

หลวงพ่อ : แน่นอน

โยม๒ : อยากถามว่าท่านอาจารย์เคยนำมาใช้ไหม

หลวงพ่อ : เคยทำอยู่… เราเคยทำ หมายถึงว่า เราเคยลองทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนนะ เราพิสูจน์อยู่ เพ่งกสิณไฟ เพ่งมาหมดแล้ว เพ่งตลอด เพ่งจนเหงื่อซก อันนี้ก็ลองทำดูไง ต้องลอง ลองแล้ว เราจะรู้ว่า “อ้อ....อันนี้เป็นอย่างนี้ อย่างนี้เป็นอย่างนี้”

โยม๒ : ผมได้ข่าวมาว่า ท่านอาจารย์สมัยที่ธุดงค์อยู่นี้ พรรษาหนึ่งได้ข่าวว่าไม่นอนเลย นั่งอยู่อย่างนั้น ไม่ทราบว่าทนได้ยังไง

หลวงพ่อ : ยิ่งกว่านั้นอีก หลวงปู่เปลื้องไม่นอนตลอดชีวิตนะ

โยม๒ : แล้วไม่ง่วงหรือครับ

หลวงพ่อ : ง่วง ! แสนง่วง อดนอนนี่มันต้องง่วงโดยธรรมชาติ ง่วงแสนง่วง ใครว่าไม่ง่วงนั่นโกหก ใหม่ๆ พอง่วงมันก็ต้องต่อสู้ โอ้โฮ..ทรมานมาก ทรมานเพื่ออะไร ทรมานเพื่อดัดกิเลสไง ไอ้นี่มันเป็นวิธีการดัดกิเลสใช่ไหม อย่างเช่น ไม่กินข้าวนี้ ไม่กินข้าวอยู่ตั้ง ๒-๓ ปี

โยม๒ : แล้วท่านไม่เจ็บป่วยหรือครับ

หลวงพ่อ : อย่างที่เขาถามว่า ท่านอาจารย์เป็นอะไรไหม ? ก็อันนี้ที่มันมาให้ผลนี่ไง แต่เพราะมัน ไม่ได้กินข้าวหลายปีนะ ๕-๖ วันทีก็มากินข้าวมื้อสองมื้อ กินสัก ๒-๓ วัน แล้วก็หยุดไปอีก ๕-๗วัน ทำอย่างนั้นมาเป็นปีๆ เพราะทำมาเป็นปีๆ ตอนอยู่ที่บ้านตาด เขาเรียกว่าทำต่อเนื่องไง เหมือนตีเหล็ก ก็ตีต่อเนื่องเลย แล้วมันจะเสร็จ บางคนเผาซะดีเลย เห็นเขาตีกันใหญ่เลย พอเหล็กมันเริ่มดำก็เลิก เห็นไหม อดทีหนึ่งยาวเลยนะ ๒๐-๕๐วัน แต่แค่หนเดียวมันก็ไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่อันนี้มันต่อเนื่อง

อดอาหาร อดนอนนี่ทำมามาก ทำมาจนแบบชำรุดหมด เหมือนกับอาจารย์ท่านว่า คล้ายๆกันเลย อดอาหารอยู่ที่บ้านตาด กินอะไรไม่ได้เลยนะ พอออกมาฉันโกโก้ตอนบ่าย พอฉันเสร็จเดินเข้าห้องน้ำนะมันไหลตลอด พอเข้าแล้วมันก็ออกเลย ไหลเลอะหมด เลอะหมดเลย นั่นทำขนาดนั้น

เราอดอาหาร ท้องมันก็ร้อง มันหิวมาก ท้องมันร้องจ๊อก....จ๊อก.... จนเจ็บกระเพาะหมดเลย จนคิดว่า “มึงตายแล้ว...มึงตายแล้ว” นี่กิเลสมันหลอกนะ จะให้เราเลิกไง ความคิดมันคิดขึ้นมาไง “มึงตายแล้ว...มึงตายแล้ว ....มึงตายแล้วเด็ดขาด คราวนี้มึงตายแล้วแน่ๆ”

โยม๒ : แล้วจะไม่ตายเหรอ พระปฏิบัตินี้จะไม่มี.. ถ้าตายนี่ไม่มี ?

หลวงพ่อ : ไม่จริงหรอก ! มันคือความคิดของเรา เราคิดตามหลักวิทยาศาสตร์กันไงว่า คนไม่กินข้าวนี้มันจะต้องตายโดยธรรมชาติ ทีนี้เราไม่กินข้าวแต่เรากินน้ำ เอาน้ำหล่อเลี้ยงไว้อยู่ ทีนี้มันหิว มันหิวมาก พอหิวมากก็เหมือนคนจนตรอกไง เหมือนเราต้อนนักมวยเข้าไปจนมุม มันก็ต้องหาทางต่อสู้ เหมือนหมาไง หมาจนตรอกแล้วมันต้องหาทางต่อสู้ นี่ก็เหมือนกัน มันจนตรอกว่า “แหม ! มันหิว มันอะไรทุกอย่างนี้” จิตมันก็ต้องหมุนเต็มที่เลย พอจิตมันหมุน มันก็หา

เราต้องการให้ความคิดเรา ให้เราเข้าไปจนตรอก ให้จนตรอกเพื่อหาทางออกไง ไอ้อย่างนี้มันเพลิน ทุกข์กันทุกคนนั่นแหละ ทุกคนบ่นว่าทุกข์นะ แต่ทุกข์อย่างไรก็แล้วแต่ มันก็ยังพอไปได้

โยม๒ : ในขณะที่เรากำลังอดอาหารอยู่นี้ ร่างกายมันจะหวิว เบา พอนั่งปุ๊บจิตมันจะตรง ทิ้งดิ่งเลย

หลวงพ่อ : ทิ้งดิ่งส่วนทิ้งดิ่ง ไอ้ทิ้งดิ่งนี้มันเป็นสมาธิไง เวลาจิตจะเป็นสมาธิมันลง....วืด.....วืด…วืดลงไป แต่มันก็เป็นแค่บางทีนะ สมมุติว่าถ้าหิวจัด มันก็ไม่ลงหรอก มันกังวลแต่ว่าหิวๆ อยู่นี่

โยม๒ : แต่ก็พิจารณาดีนะ ตอนหิวนี้

หลวงพ่อ : เอ้อ .... มันร้องจ๊อก.. จ๊อก.. จ๊อกเลย กระเพาะนี่ร้องหมด น้ำนี่ปั่นป่วน โอ้โฮ ! ปั่นป่วนหมดเลย แต่มันมีประเด็นอยู่ ๒ อย่าง จะเลิกหรือจะทำ เพราะมันเป็นสิทธิของเรา เราบังคับตัวเราเอง เราจะล้มเลิกก็ได้ อันนี้อาจารย์มหาบัวถึงได้ตั้งกติกาที่วัดของท่านว่าต้องให้ถือธุดงค์ไง

ส่วนใหญ่ทุกคนตั้งใจ ตั้งปรารถนาจะทำความดี แต่พอทำไปได้สักพักแล้วก็เลิก นี่มันอยู่ที่จิตใจคนเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง การประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าจิตใจเข้มแข็งจะได้ประโยชน์

โยม๑ : ถ้าภาวนาไปแล้วเห็นเป็นพระพุทธรูป ?

หลวงพ่อ : พระพุทธเจ้ามาเยี่ยมก็ดี พระอรหันต์มาเยี่ยมก็ดี นี่ก็เหมือนกันนะ เห็นพระอรหันต์หนึ่ง เห็นพระพุทธรูปหนึ่ง เห็นพระพุทธรูปนี้เปรียบเหมือนเห็นพระพุทธเจ้า เปรียบได้เลย ส่วนใหญ่เขาจะอยากเห็นพระพุทธรูปกัน เป็นพระพุทธรูปนะเราก็เคยเห็นบ่อย ตอนที่ภาวนาจัดๆ จะเห็นพระพุทธรูปเลย พระพุทธรูปเป็นทองคำ พระพุทธรูปเป็นแก้ว เห็นไหม จิตสงบอย่างที่ว่า จิตดีขนาดไหน แล้วถ้าวันไหนเห็นพระพุทธรูปเป็นแก้วอย่างนี้ วันนั้นอาจารย์มหาบัวมา

โยม๑ : อันนี้ตัวเราจะหนาว จะขนลุกหมดเลยทั้งตัว และตัวจะตั้งโดยอัตโนมัติเลยคะ

หลวงพ่อ : เขาเรียกว่าปิติ ปิติ ได้แก่ น้ำตาร่วง ตัวใหญ่ ตัวพอง สั่นไหว คำว่าปิติไง วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตารมณ์ ปฐมฌาน เห็นไหม เกิดปิติสุข การเห็นพระพุทธรูปนี้มันก็ปิติ ความปิติอันนี้เขาเรียกว่า ปิติภายใน

ปิตินี้มันเป็นการลิ้มรสของธรรมอันหนึ่ง ปิติธรรมไง อย่างที่เขาว่า ความปิติสุข ที่เขาพูดกันโบราณว่า มีปิติมาก อิ่มใจ ว่างั้น มีความอิ่มใจ มีความสุขมีความปิติ แต่ที่เขาพูดกันนั้น เขาเปรียบเทียบ เอาธรรมะมาตั้ง แล้วเปรียบเทียบว่า เป็นปิติ มีความอิ่มใจ มีความสุข

แต่อันที่เราไปเห็นแล้วเราตัวพอง นี่เนื้อหาของปิติไง เนื้อหาเลย เราสัมผัสเองเลย เราเสพในหัวใจเลย มันจะพองใหญ่ เห็นพระพุทธรูปนี่ก็หนึ่ง ถ้าเห็นพระพุทธรูปถึงไม่ปิติก็ยอดแล้ว นี่เห็นพระพุทธรูปแล้วยังขนพองสยองเกล้า ขนลุกขนพองเลย อันนั้นเป็นประโยชน์

โยม๒ : แปลว่ามีความตั้งใจสูง ตั้งใจปฏิบัติ

หลวงพ่อ : ดีมากเลย ยอดอยู่แล้ว แต่อันนั้นมันก็เป็นอดีตไปแล้ว เห็นไหม เราก็ต้องสร้างสมไปเรื่อยๆ เพียงแต่ก็เป็นการบอกว่า เราได้ระดับหนึ่งไง อย่างที่เขาบอกว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าจิตสงบ เหมือนกับเข้าปฐมฌาน เข้าไปถึงสมาธิธรรม

สมาธิธรรม ความสงบ มีความรู้สึกอย่างไร นั่นล่ะก็อันที่ว่าขนพองขนลุก นั่นล่ะความสุขอันหนึ่ง ปิติสุข

เราได้ตัว แต่เราไม่ได้ชื่อ เราไม่รู้ว่าใครไง เราไม่รู้ว่านี่เขาเรียกชื่ออะไร เขาเรียกว่าชื่อปิติ ได้ตัวแต่ยังไม่ได้ชื่อ

โยม๑ : ประมาณสักอาทิตย์ที่แล้วค่ะ องค์ใหญ่ ทีแรกก็เป็นองค์เล็ก พอมาถึงก็องค์ใหญ่เต็มเลย

หลวงพ่อ : ขยายใหญ่

โยม๑ : ขยายใหญ่เลย

หลวงพ่อ : พูดถึงนี่เป็นพระพุทธรูป แต่หลวงปู่มั่นนี้จิตท่านสงบมาก มาเป็นแบบพูดคุยเลย มาเหมือนร่างมนุษย์เลย มาในร่างของมนุษย์เลย สัมผัสกันได้ หลวงปู่มั่นท่านก็สงสัยว่า พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว มาได้อย่างไร แล้วก็บอกว่า อ้าว..ก็มาในสมมุติ มาในขันธ์ไง มาในธาตุ มาในขันธ์

แต่เราไม่มีความสามารถขนาดนั้น เราเห็นเป็นพระพุทธรูปเฉยๆ นี่ไงถึงบอกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธก็คือพระพุทธเจ้า อันนี้เท่ากับโยมได้เฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วรอบหนึ่ง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ได้เฝ้าพระพุทธเจ้ารอบหนึ่ง

ดี เห็นพระพุทธรูปนี้เป็นของยอดเลย เพราะว่าบางที่บางแห่ง เขาจะให้นึกถึงพระพุทธรูปก่อนเลย อย่างเช่น นึกพุทโธ พุทโธ แล้วก็ให้นึกพระพุทธรูปด้วย เห็นไหม แต่นี่เห็นเลย เห็นเอง แล้วเห็นลอยมา อันนี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เกิดขึ้นได้หมายถึง นิมิต ความสัมผัส เกิดขึ้นได้และมันเป็นที่บุญของเราด้วย

โยม๒ : หลวงปู่มั่นท่านนั่งสมาธิ แล้วจิตท่านสามารถขึ้นไปถามพระพุทธเจ้าได้เลย ?

หลวงพ่อ : พระพุทธเจ้าสอน พระอรหันต์สอน อย่างในประวัติหลวงปู่มั่น แล้วพอไปในพระไตรปิฎก เขาก็ว่าเป็นไปไม่ได้ ก็อาจารย์มหาบัวบอกไง “ใบไม้ในกำมือ” ในพระไตรปิฎกมันก็ขีดวงไว้แค่นี้ไง แต่ความจริงนี่คือ “ใบไม้ในป่า” พระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติไว้

ทีนี้พอหลวงปู่มั่นไปเจอสิ่งที่นอกเหนือจากพระไตรปิฎกเข้าหน่อย ก็ไม่ยอมเชื่อนะ เขาขัดกัน เขาว่ากัน นั่นมันก็เรื่องของเขา แต่มันเป็นอย่างนี้

โยม๑ : อาจารย์คะ แล้วหนูจะทำจิตอย่างไรถึงจะได้สงบมากขึ้น

หลวงพ่อ : กำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดพุทโธนี้เขาเรียกว่าเป็นคำบริกรรม คำบริกรรมคือกำหนดพุทโธขึ้นในหัวใจ นึกเอา พุทโธ พุทโธ แต่ถ้าจะสงบหรือไม่สงบนี้มันอยู่ที่สติ

จำให้ดี สติคือ ความระลึกรู้อยู่ เรานึกถึงตัวเองตอนนี้ นึกถึงตัวเองนี่คือสติ สติคือความระลึกขึ้นมา สติสำคัญที่สุด ถ้ามีสติอยู่ หมายถึงว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นความเพียรไง ฟังนะ แต่โยมเวลากำหนดพุทโธ พุทโธ ก็กำหนดแต่ชื่อน่ะสิ พอกำหนดปั๊บ มันก็คิดไปที่อื่น เห็นไหม สติมันไม่สืบต่อ

ถ้าสติสืบต่อ มันเหมือนกับดิน เราปั้นดิน เรานวดดิน เรานวดอยู่ตลอดเวลา ดินมันต้องนิ่มใช่ไหมกว่าจะปั้นหม้อได้ ทีนี้เราเอาดินมากองไว้ เอาน้ำใส่ แล้วดินก็เป็นก้อนอยู่อย่างนั้น เพราะเราไม่ได้นวด ต้องนวดอยู่ตลอดเวลา

คำว่านวดอยู่ตลอดเวลา คือ สติมันคุมอยู่ตลอดเวลา เราระลึกรู้อยู่ ไม่ใช่กำหนดพุทโธเฉยๆ นะ กำหนดพุทโธแล้วเราก็คิดไปโน้น แล้วกลับมา พุทโธ “แหม! ….พุทโธ ทั้งวันเลย” เขาว่านะ แต่คิดไปถึงไหนมาไม่รู้กี่รอบ แล้วก็บอกว่า “ฉันนึกพุทโธ ตลอดเวลาเลย” ก็นึกอยู่ พุทโธ แล้วก็ไปคิดว่า “นั่นมันยังไม่ทำงานเลย โน่นก็ยังไม่เสร็จ นี่ก็ยังไม่เสร็จ” โอ้....พุทโธ..ไปอีกแล้ว มันไม่ต่อเนื่อง มันขาดช่วงไปเห็นไหม เขาเรียกว่าขาดสติ พอพุทโธแล้วนึกไป นั่นสติมันปล่อยแล้ว พอสติมันปล่อยมันก็ไปทำงานอย่างอื่นแล้ว

อย่างที่เมื่อกี้บอกว่า ให้อยากทำงาน ให้อยากภาวนา แต่ไม่ให้อยากในงานนั้น เห็นไหม นึกพุทโธนี่มันคุมอยู่ แล้วพอคิดต่อไปสติมันก็ขาด สติมันขาดจิตนี้มันก็แกว่งออกไป พอแกว่งออกไปมันก็ฟาดไปที่อารมณ์อื่นก่อน แล้วพอนึกได้ว่าเรากำลังภาวนาอยู่ เราก็มานึกพุทโธใหม่ นี่คือสติดึงกลับมา

ช่วงที่ว่างนี้ มันเหมือนเราจะเติมน้ำใส่แก้ว ให้เต็มแก้ว แต่แก้วมันแตกอยู่ข้างล่าง น้ำไหลออก มันไม่เต็มแก้วหรอก สมาธิก็ไม่เกิด เหมือนเราใส่น้ำลงไป..ใส่น้ำลงไป.. แต่แก้วมันแตก นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธ แล้วก็คิดไปโน้นแล้วกลับมา นี่มันแตก ไปรอบหนึ่งแล้วก็มาพุทโธ แล้วก็บอกว่า “แหม! นั่งพุทโธทั้งวันเลย ไม่เห็นจะเป็นสมาธิ”

เห็นไหม ถ้ามีสติอยู่ หมายถึงว่า การทำความเพียรอันนั้นยังเป็นความเพียร อาจารย์มหาบัวสอนประจำ ถ้าขาดสติเหมือนสักแต่ว่าทำ เหมือนกับเด็กทำงาน มันก็เล่นขายของ สักแต่ว่า แล้วไม่ได้ประโยชน์ ถ้ามีสติเหมือนผู้ใหญ่ทำงาน ผู้ใหญ่ทำงานแล้ว มันค้าขายแล้วมันได้เงิน ได้ทอง สติสำคัญที่สุด

ต่อไปนี้ พุทโธต้องมีสติกำกับ แล้วถ้าขาดสติตัวนั้น ถ้ามันเผลอไปนี่คือขาดสติ แล้วดูสิว่า เวลานั่งภาวนา วันหนึ่งมันขาดกี่ครั้ง สติในวันนี้ขาดกี่ครั้ง ก็จดไว้เลย แล้วคราวหน้าต่อไป กำหนดอีก ขาดกี่ครั้ง เราจดจ่อ

โยม๓ : แล้วเราต้องกำหนดเวลามากหรือน้อยแค่ไหน

หลวงพ่อ : ไม่จำเป็น

โยม๓ : ๕ นาที ๑๐นาที

หลวงพ่อ : ได้ทั้งนั้น ถ้าเริ่มต้น แต่ถ้ามันยิ่งมากยิ่งดี ถ้ายิ่งมากนะ การนั่งมากขึ้นๆ ไปแสดงว่าสติมันเพิ่มขึ้นๆ การนั่งมากนี้คำว่านั่งมากหรือนั่งน้อย ไม่จำเป็น เพราะอะไร คำว่าไม่จำเป็นนี้หมายถึงว่า ถ้านั่งมากแล้วมันไม่ดี นั่งน้อยยังดีกว่า ใช่ไหม มันไม่จำกัดว่า การนั่งมากหรือนั่งน้อยอะไรจะดีกว่ากัน การนั่งเพื่อให้จิตสงบ เพื่อความสงบของใจ ถ้าจิตสงบนั่นคือดี บางวันนั่งปุ๊บ สงบเลย บางวันนั่งตั้ง ๒-๓ รอบ ก็ยังไม่สงบสักทีเห็นไหม นั่งน้อยหรือนั่งมากนี้มันไม่แน่นอน

โยม๓ : แล้วการสวดมนต์นี้ ถ้าเรายังจำไม่ได้ แต่เราอ่านเอาตามเสียงสวดนี่จะมีค่าเท่ากันไหม

โยม๒ : มีอานิสงส์เหมือนกัน ?

หลวงพ่อ : เท่ากัน เพราะเราตั้งใจ เพราะเรายังจำไม่ได้ แต่ถ้าเราจำได้แล้วมันก็มีดีอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราจำได้แล้ว เห็นไหม เราสวดมนต์นี้มันก็เหมือนภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าเราเผลอ เราก็นึกไปที่อื่นใช่ไหม สวดมนต์ก็เหมือนกัน นะโมตัสสะ ภะคะวะโต ถ้าเราสติพร้อม นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ถ้าเราไม่มีสติ นะโมตัสสะ อะไรวะ ลืมแล้ว นึกใหญ่เลย นี่คือขาดสติ คล้ายๆ กับคำบริกรรมไง คล้ายๆ กับคำว่าพุทโธ พุทโธนี้ไง

โยม๒ : ถ้าเราสวดเป็นแล้ว เราก็ต้องสวดปากเปล่าก่อนใช่ไหม

หลวงพ่อ : ใช่ การสวดปากเปล่านี้มันเหมือนกับเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง มันเหมือนกับการทำพุทโธอย่างหนึ่ง เพราะถ้าวันไหนเราสติดี คำสวดจะไม่ผิดเลย เห็นไหม มันเหมือนกัน แต่ที่กางหนังสือนี้เพราะเรายังสวดไม่ได้ แต่เราตั้งใจอยากจะทำความดี มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จริงไหม ขนาดสวดมนต์ไม่ได้ ยังกางหนังสือสวด แล้วมันจะไม่ดีได้อย่างไร

โยม๒ : บางทีกว่าจะจบบทหนึ่งยังว่าตั้ง ๓-๔ ครั้ง

หลวงพ่อ : นั่นละเห็นไหมสติมันขาด การสวดมนต์มันดีตรงนี้ไง ๑.ได้บุญกุศล เพราะว่าสรรเสริญพระพุทธคุณ เราสรรเสริญคำพูดของพระพุทธเจ้าหนึ่ง พุทธคุณด้วย สรรเสริญด้วย แล้วเป็นภาษาบาลี เทวดาในบ้านนะ ภูตผีที่อยู่ในบ้าน ถ้าเขาได้ยิน เขาอนุโมทนานะ

โยม๒ : แล้วเราควรสวดในใจหรือส่งเสียง

หลวงพ่อ : จะในใจหรือส่งเสียงส่งเสียงเขาก็ได้ยินหมด จะข้างนอกหรือข้างใน เขาจะรู้ทันที แล้วมันจะเกิดความเจริญรุ่งเรืองในครอบครัว เพราะว่าการสวดมนต์สวดพร เทพเขามี เทพพวกนี้ เขาจะอยู่ในบ้านเรา

โยม๒ : เขาจะรับรู้ด้วยหรือ ?

หลวงพ่อ : รับรู้ด้วย

โยม๓ : เขาจะฟังเราออกหรือ ?

หลวงพ่อ : ฟัง ภาษาบาลีมันเป็นภาษากลาง

โยม๓ : แล้วถ้าพูดถึงว่าเขาฟังเรา เราตั้งใจสวดให้เขา แล้วเราแผ่เมตตาให้เขา เขาจะได้รับไหม ให้เขามาอนุโมทนากับส่วนบุญของเรา

หลวงพ่อ : แค่เขาได้ยินเขาก็ชื่นใจแล้ว ในสมัยพุทธกาล ค้างคาวมันเกาะอยู่บนถ้ำ แล้วเวลาพระสวดมนต์ ค้างคาวมันฟังเสียงสวดมนต์ มันชื่นใจมากนะ มันเผลอมันเลยปล่อยขา หัวโหม่งพื้นตาย ก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์หมดเลย

โยม๓ : อ้าว.. ไปสวรรค์เลย ?

หลวงพ่อ : ไปสวรรค์เลย ! มีอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะอะไร เพราะชื่นใจกับเสียงสวดมนต์นั้น เป็นบุญไหม ! แล้วทำไมจะต้องไปอุทิศส่วนกุศลอีก แต่อุทิศมันก็ถูกต้องอยู่ นี่ไม่อุทิศก็ยังได้ขนาดนี้แล้ว

สวดมนต์นี้มีมากเลย มีอยู่ในพระไตรปิฎก ค้างคาวเอย อะไรเอยที่ว่าเป็นสัตว์ มันฟังแล้วมันเพลิน โภชฌงค์ เห็นไหม มีสติ ธัมมวิจัย ก็คิดตาม มันก็มันนะพอเผลอก็ปล่อยตีน ตกมาหัวโหม่งพื้นถ้ำตาย ก็ไปเกิดบนสวรรค์

โยม๓ : เป็นอานิสงส์ผลบุญอันนั้นใช่ไหม

หลวงพ่อ : แน่นอน อานิสงส์ผลบุญที่เขาชื่นใจไง อย่างอนุโมทนามัย ทานมัยคือให้ทาน อย่างคนที่มาด้วยกันนะ โยมให้นะ แล้วเขาก็คิดขอให้มีส่วนบุญส่วนกุศลด้วย คิดไง อนุโมทนาไปกับเขา เห็นไหมแค่อนุโมทนาไปกับเขาก็ได้บุญแล้ว แล้วที่พระสวดมนต์ล่ะ แล้วฟังนี่เหมือนอนุโมทนาไหม ใจมันน้อมไปไง.. ใจมันน้อมไป..

โยม๓ : แล้วอย่างของที่ใส่บาตรมา แต่ท่านไม่ได้ฉัน แล้วเจ้าของเขาจะได้บุญไหม

หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าได้บุญ เพราะตอนเขาใส่บาตรมา ตอนนั้นที่มันเป็นบุญกุศล เขาใส่บาตรมา เรารับมาแล้ว เนื้อนาบุญของโลก ใช่ไหม เราหว่านข้าวลงไปในนา หว่านไปหมดเลย ทีนี้ข้าวในนามันงอกขึ้นมา เราหว่านไปเม็ดหนึ่งแล้วเกิดขึ้นมา จะให้ต้นข้าวนั้นเกิดข้าวแค่เม็ดเดียวได้หรือเปล่า ทำไมข้าวมันออกมาเป็นรวงล่ะ ข้าวเม็ดหนึ่ง ก็มาเป็นข้าวต้นหนึ่งใช่ไหม แล้วทำไมมันออกข้าวมาอีกเยอะแยะเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ใส่บาตรไปแล้ว ใส่บาตรไปก็เป็นเนื้อนาบุญแล้ว ธรรมดาที่ทั่วไปนะ ถ้าเป็นเถรตรงนี่เขาจะแกะ แล้วตักทุกถุงใช่ไหม เขาทำอย่างนั้นเพื่อเป็นสมมุติโลก แต่อันนี้เรารับมา รับปั๊บนี่ใจมันได้แล้ว

โยม๓ : คือว่าเด็กเขาสงสัย เขาบอกว่าเมื่อเช้าน้องบ๊วยเอามาถวายพระ เขาบอกว่าพระไม่ได้ฉันแล้วแจกไปแล้ว

หลวงพ่อ : ฉัน.. ฉันหมดเลย มีคนมาให้นะ เขาถวายเราเลย อย่างตอนนี้กำลังถือธุดงค์อยู่ สิ่งที่เขาเอามาถวายเราก็รับเลย โยมเอามาถวายพระนี่เป็นของใคร เป็นของพระหรือของโยม ถวายพระไปแล้วก็เป็นของพระ ฉะนั้นถ้าเป็นของพระ แล้วพระถือธุดงค์ พระไม่ได้ฉัน ใช่ไหม เพราะพระถือธุดงค์ จะฉันเฉพาะที่ตกบาตร ฉะนั้นอันนี้ถ้าเอาไว้มันก็ไม่ได้ประโยชน์ เราก็บอกว่าอันนี้ของพระ ของโยมไม่มีนะ เพราะโยมถวายพระไปหมดแล้ว ของโยมไม่มีหรอก แต่อันนี้ของพระ แล้วพระให้ลูกศิษย์

โยม๓ : แล้วลูกศิษย์เอาไปกินก็ไม่บาปใช่ไหม

หลวงพ่อ : ไม่บาปสิก็พระให้ ขโมยหรือเปล่า

โยม๓ : ไม่ได้ขโมย

หลวงพ่อ : พระเป็นคนให้ พระให้เอาไป เพราะอันนี้เป็นของพระ กินแล้วยังได้บุญอีกด้วย เพราะอะไร เพราะของพระ พูดประสาเราว่าพระให้

ทีนี้คนมันมองตรงนี้ไม่ออก ถ้าเด็กหรือคนทั่วไปนี้เขาจะมองตรงนี้ไม่ออก พอมองตรงนี้ไม่ออก มีนะข้างนอกนี่เขาคิดแบบนี้เหมือนกันเลย ข้างนอกพอเขาใส่บาตร แล้วเราเอาขนมไปแจกเด็ก เขาบอกว่านี่คือแลกกัน ไม่ได้แลกหรอก คือว่าโยมใส่บาตรมา ใช่ไหม แล้วเราไปถึง เราก็เอาขนมนี้ให้เด็กไปอย่างนี้ มุมกลับนะ วินัยเขาบอกว่าทานมันตกร่วง ต้องเอามาก่อนใช่ไหม ต้องให้พระรับก่อน แล้วพระอนุโมทนาเสร็จแล้วถึงจะให้โยมได้ใช่ไหม แต่นี่ยังไม่อนุโมทนา เขาก็บอกว่าเป็นทานตกร่วง

ไม่ ! ให้มาแล้ว รับแล้ว บุญได้ไปแล้ว แต่ที่เราให้เด็ก พอเด็กมันได้ขนม มันดีใจ แล้วมันจะคิดถึงศาสนา พอเด็กคนนี้มันคิดถึงศาสนา ใจมันเป็นบุญกุศล เห็นไหม ธรรมและวินัยไง ถ้าเราไปติดในข้อกฎหมายนี้เราจะทำอะไรไม่ได้เลย อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทุกอย่างมา เขาต้องตักทั้งหมดเลย เราถึงบอกว่าพระองค์นั้น พูดง่ายๆ อย่างนี้ ยังไม่แน่ ยังลังเล ยังทำไม่ได้ ยังติดใจ ถึงต้องทำอย่างนั้น เพื่อให้โยมเขาเห็น

แต่สำหรับเรานี่ พอใส่บาตรตูม บุญเต็มหัวใจ ผลก็เอาไปแล้ว เพราะใส่บาตรมาแล้วก็เป็นของพระทั้งหมด พระเอามาแล้ว พระฉันแค่หนึ่งกระเพาะ ยังไงก็กินไม่หมดหรอก เพราะเต็มบาตรนี่พระฉันไม่หมด ทีนี้พอพระฉันไม่หมดแล้วพระเก็บของนี้ เพื่อจะเอาไปแจกโยมอีก เช่น ตอนนี้ถ้าทำบุญกับอาจารย์มหาบัว ทอดกฐินนี่ได้บุญ ๒ ต่อ ๑.ทำบุญกับอาจารย์มหาบัวซึ่งเป็นพระอรหันต์ แล้วอาจารย์มหาบัวก็เอาเงินทองที่ทำบุญนี้ไปช่วยชาติ สองไหม นี่ก็เหมือนกัน ให้พระแล้ว พระช่วยคนอื่น เท่ากับได้บุญ ๒ ต่อ

โยม๓ : แล้วพวกดอกไม้ล่ะคะ

หลวงพ่อ : เหมือนกัน

โยม๓ : ดอกไม้นี่เราให้ท่าน แล้วท่านไม่ได้เอาไปไหน แล้วเราเก็บเอาไปบูชาพระที่บ้าน ได้ผลประโยชน์ตรงไหน แล้วเราบาปไหมถ้าเราเอาไปบูชา

หลวงพ่อ : ต้องขอ.. ต้องขอ อย่างนี้ให้ไว้บูชาพระ “ของที่พระให้ กับของที่พระไม่ได้ให้” ฟังให้ดีนะ อย่างของที่พระให้นี้เราให้อยู่แล้ว อย่างดอกไม้นี้ จริงอยู่..ถ้าเราเอาไปให้พระ พระก็บูชาเท่าที่จำเป็น ที่เหลือเขาก็โยนทิ้ง แต่ถ้าเราไปเก็บนะ อย่างนั้นมันเป็นของในวัด เป็นของของสงฆ์

บางคนจะไม่เข้าใจตรงนี้ มีนะคนเขาบอกว่า “อย่าไปรับของพระนะ จะเป็นเปรต” เราบอกว่า “พระองค์ไหนเป็นคนพูด” เราถามพวกโยมนี่แหละว่า “พระองค์ไหนเป็นคนพูด ที่ว่าพระให้ขนมเด็ก แล้วเด็กจะเป็นเปรต”

เด็กนี้มันมาลักของสงฆ์หรือเปล่า เห็นไหม เวลาโยมถวายสังฆทาน ที่อื่นเขาถวายสังฆทาน ต้องให้รับศีล ต้องถวายสังฆัสสะ แต่เราไม่กล่าวคำถวายเพราะอะไร

นี่ไง ถ้าสังฆัสสะนี่ก็คือของสงฆ์ ภิกษุน้อมลาภของสงฆ์มาเป็นส่วนตัว เป็นอาบัติ ปาจิตตีย์ เห็นไหม

แล้วพอเป็นของสงฆ์ใช่ไหม แต่ถ้าจะให้ถูกกฎหมาย ถูกวินัย ถวายสังฆทาน เป็นสังฆัสสะ ก็เป็นของสงฆ์ สงฆ์ต้องทำการอุปโลกน์ไง อุปโลกน์ว่าของนี้ต้องแจกให้ในสงฆ์ก่อน ในเถระใช่ไหม ในนวกะ ในสามเณรรัสสะ ในคฤหัสถ์ ของนี้ก็แจกกันได้ มันต้องมีพิธีกรรม กับพิธีกรรมไง

ทีนี้เราไม่มีพิธีกรรม ถวายมานี้คือถวายสังฆทาน ใช่อยู่เป็นของของสงฆ์ ถ้าให้อย่างนั้นจะเป็นสังฆทานเลย แต่ไม่กล่าวคำสังฆัสสะ ให้มันเป็นในแง่ของกฎหมายใช่ไหม ให้เราแล้วเราก็รับไว้ แล้วเดี๋ยวเราก็แกะ เราก็ใส่ตู้ไว้ เพราะฉะนั้นองค์ไหนก็ใช้ได้หมด

โยม๒ : ผู้ถวายนี้ถึงไม่ได้กล่าว อิมานิ ก็ยังได้บุญเหมือนกัน ?

หลวงพ่อ : มันอยู่ที่เจตนานู่น เจตนาว่าอยากจะถวายอะไร

โยม๒ : อย่างถ้าผมไม่ได้กล่าวคำว่า อิมานิ มะยังภันเต ผมไม่ได้กล่าว ก็ไม่เป็นไร ?

หลวงพ่อ : เด็กๆ นี่ไงมันมามันจะถวาย มันก็ “เอ้.. เสียดายนะ” ตั้งใจมาจะถวายสังฆทานนะ “เอ๊..จะให้พระดี ไม่ให้พระดี” ต้องตัดใจไง อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ เพื่อจะให้มันตัดขาดตรงนี้ นี่ทำบุญแบบเด็กๆ แต่ถ้าทำบุญแบบผู้ใหญ่นะ เรามาถึง เราตั้งใจเอามาถวาย แล้วเราก็วางไว้

เจตนาตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน พอใครมาเราถึงบอกว่าอนุโมทนานะ อันนี้ถวายสังฆทาน ทำบุญแบบผู้ใหญ่ไง อิมานิ นั่นมันคือทำบุญแบบเด็กๆ มันลังเลใจ มันยังข้องใจ

ผู้ให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วไม่เสียดาย ผู้ให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ตั้งใจมาเลย เวลาให้ก็ “เอ๊... พระองค์นี้ไม่ค่อยดี พระองค์นี้ไม่อยากจะให้เลย” เห็นไหม ชักลังเลใจแล้วนะ อิมานิ เลยเพื่อตัดใจ ให้เถอะ.. ให้เถอะ.. ชักลังเลแล้ว นี่ทำบุญแบบเด็กๆ อันนี้ถึงบอกว่าพอเข้ามาวัดแล้วจะเลอะ

คนมาถามอยู่ว่าทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำไหม ..ต้อง เพราะอะไร เพราะเขายังเด็กอยู่ เพราะเขาถาม แสดงว่าเขาลังเลแล้ว กรวดน้ำ เห็นไหม พอเอาน้ำลง เขาก็ตั้งใจกรวดน้ำ เพราะเห็นน้ำลง เขาก็แผ่ส่วนกุศลไปที่น้ำนั่น เขาก็ตั้งใจใช่ไหม

พอนานๆ เข้า “อาจารย์ต้องกรวดน้ำไหม”

“กรวดน้ำใจนะ น้ำนั้นไม่ต้องหรอก” เราคิดเอาสิ อุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำไมต้องเอาน้ำนั้นมาเป็นที่หมายล่ะ เราอ่อนแอจนต้องเอาน้ำนั้นเป็นเจ้านายหรือ น้ำใจมันสำคัญกว่าน้ำข้างนอกไหม การอุทิศส่วนกุศล คืออุทิศน้ำใจนี้ บุญกุศลเกิดขึ้นที่ใจ

โยม๓ : สมมุติ ถ้าอย่างเราไปทำบุญที่ไหนมา เราไปที่รูป แล้วเราไปแผ่เมตตาให้เขา เขาจะได้รับไหม

หลวงพ่อ : ได้ตลอด เราแผ่เลย สวดมนต์เสร็จนี่ก็ต้องแผ่เมตตาแล้ว แล้วทำไมที่เวลาพระเขา ทำวัตรเสร็จ เขาก็อิมินาเหมือนกัน เขาไม่เห็นต้องกรวดน้ำด้วยเลย อันนี้มันเป็นพิธีกรรมที่เขาคิดกันมา เพื่อจะให้คนที่ลังเลสงสัยนี้ ให้มันจงใจ ตั้งใจ โดยเอาน้ำนี่เป็นจุดหมายไง

ถ้าเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยน้ำนั้น

โยม๓ : แล้วถ้าพูดถึง เวลาเราสวดมนต์หมดแล้วทุกบท สรุปท้ายเราก็ อิมินา ด้วย เหมือนกับเป็นการกล่าวคำถวายทาน

หลวงพ่อ : ถูกต้อง พระเขาก็สวดอย่างนั้นทุกวัน พระเขายังต้องเอา อิมินา ตบท้าย เพราะถ้าแปลมาก็คือ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ ลงมาเรื่อย จนถึงปู่ ย่า ตา ยาย ลองแปลออกมาสิ อิมินา แปลว่าอะไร เหมือนกัน แต่เป็นภาษาบาลี เป็นภาษากลาง เหมือนภาษาอังกฤษไง ทั่วไปเขาจะรู้กันหมด