ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถือนิสัย

๑๒ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ถือนิสัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนไปวัดไง ไปวัดส่วนใหญ่แล้ว เขาว่าวัดเป็นสัปปายะ สถานที่มันรื่นรมย์ ไปดูความรื่นรมย์จากภายนอก แต่เวลาเอาถึงธรรมะกันจริงๆ แล้ว เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ถ้า ! ถ้ามันเข้าถึงใจ แทงเข้าใจดำ นั่นล่ะ ! อันนั้นล่ะจะเป็นประโยชน์”

นี่เพียงแต่ว่า เราไปมองแต่สภาวะแวดล้อม ว่าไปวัดแล้ววัดจะต้องสัปปายะ คือเป็นที่รื่นรมย์ คือที่รื่นรมย์ของเขา แต่ถ้าฟังธรรมแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้นจะตอบปัญหาเลยนะ

 

ถาม : ๒๑๐. เรื่อง “การพิจารณากายแล้วรู้สึกเบื่อ ไม่มีอะไรน่าสนใจ”

หนูนั่งสมาธิโดยบริกรรมพุทโธค่ะ พอจิตสงบหนูเริ่มพิจารณากาย โดยไปจำภาพอสุภะมาจากในหนังสือ เช่นภาพเขาผ่าสมอง ภาพที่เขาผ่าท้องคน หนูเอาภาพสมองนั้นมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งของสมอง ก็รู้สึกสลดใจ พอพิจารณาซ้ำๆ มันก็รู้สึกเบื่อค่ะ รู้สึกไม่มีอะไรให้น่าสนใจ หนูเปลี่ยนเอาจิตไล่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายไปเรื่อยๆ ว่าตำแหน่งที่เป็นส่วนของอวัยวะอะไรจะซ้ำๆ ไล่จากบนลงล่าง.. ไล่จากล่างขึ้นบน หนูพิจารณาอย่างนี้ ๒-๓ ครั้งค่ะ ก็รู้สึกว่าเบื่อ รู้สึกไม่มีอะไรน่าสนใจเลยค่ะ

ช่วงแรกๆ พิจารณาอย่างนี้ หนูรู้สึกว่ากายนี้ไม่ได้สวยงามจริงๆ อย่างที่เห็นภายนอก ข้างในมันน่าขยะแขยง พอหนูรู้สึกเบื่อก็บริกรรมพุทโธ พอบริกรรมไปสักพักหนูตกภวังค์ หนูจะรู้สึกว่า ถ้าได้คิดพิจารณแล้วจิตจะสงบ ไม่ปวดเมื่อยเท้า เหมือนลืมไปเลยค่ะ และไม่ง่วงนอน แต่หนูจะพิจารณากายซ้ำได้ไม่กี่ครั้ง ก็รู้สึกเบื่อ รู้สึกไม่มีอะไรน่าสนใจ

หนูอยากถามหลวงพ่อว่า.. หนูจะพิจารณากายอย่างไรดีคะ ถึงจะรู้สึกว่าไม่เบื่อ

 

หลวงพ่อ : “ไม่เบื่อ” เห็นไหม นี่คำถามหมายถึงว่า ถ้าพิจารณากายไป รู้สึกว่าจิตสงบง่าย.. จิตสงบแล้วดีด้วย แต่มันเบื่อ ! แต่ถ้าพุทโธ พุทโธไป มันได้ชั่วคราว แต่พอพิจารณากายไปด้วยนี่ดีกว่า คำสอนอย่างนี้...

นี่มันอยู่ที่จริต คำสอนอย่างนี้ไปตรงกับหลวงปู่เจี๊ยะเต็มๆ เลย หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าให้พิจารณาข้อ พิจารณากายอยู่ตลอดเวลา แล้วพิจารณากายอยู่อย่างนี้นะ ให้จิตนี้วนอยู่ในกายได้เป็นชั่วโมงๆ ! ได้เป็นชั่วโมงๆ ถ้ามันไม่ออกจากร่างกาย คือว่าคิดอะไรก็คิดออกในข้อกระดูกในร่างกาย ถ้ามันหมุนได้อย่างนี้ “นั่นล่ะจะเป็นสมาธิ”

นี่เขาบอกว่า “พิจารณากายไปแล้วนี่มันดี แต่มันเบื่อ” แล้วมันเบื่อเพราะอะไรล่ะ “มันเบื่อเพราะมันไม่เป็นสมาธิไง”

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ถ้าพิจารณากายได้เป็นชั่วโมงๆ” ฟังคำนี้สิ ! เพราะถ้ามันอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ นี่คือมันข้ามพ้นความเบื่อ พอข้ามพ้นความเบื่อไป จิตมันมีที่เกาะของมัน เห็นไหม

ถ้ามีที่เกาะของมัน ก็เหมือนกับเราพุทโธดีไง พุทโธ พุทโธ พุทโธดี พุทโธแน่วแน่มันก็เข้าไป แต่พุทโธแล้วเบื่อก็เหมือนกัน พุทโธแล้วเซ็ง พุทโธแล้วเครียด พุทโธแล้วไม่ได้อะไรเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน การกำหนดพิจารณากาย นี่ที่เขาว่า “หนูพิจารณากายได้ ๒-๓ รอบ พอต่อไปแล้วมันก็เบื่อ แล้วไม่มีอะไรเลย”

“มันเบื่อเพราะมันไม่เป็นสมาธิ… แต่ถ้าเป็นสมาธินี่มันจะดูดดื่ม ! มันจะดูดดื่ม มันจะชวนให้เราพิจารณาต่อเนื่องได้”

ฉะนั้น เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็เป็นคำบริกรรมได้ การพิจารณากายนี้มันก็เป็นเหมือนกับคำบริกรรมพุทโธ ถึงบอกว่าถ้าการภาวนาต้องมีคำบริกรรม คือจิตมันต้องเกาะ จิตมันต้องมีที่พึ่ง จิตมันต้องมีที่สร้างตัวมัน ที่มันจะสร้างตัวของมันขึ้นมาให้เป็นสมาธิได้ แต่ถ้าจิตไม่มีอะไรสร้างตัวมาเลย มันไม่มีอะไรเป็นที่เกาะเลย อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก ! เพียงแต่ว่าทำอย่างใดเท่านั้นเอง

ทีนี้คนเรานี่มันเข้าใจผิด.. เข้าใจผิดตรงไหน เข้าใจผิดว่า “ถ้าบริกรรมพุทโธ พุทโธนี่คือสมถะ.. ถ้าพิจารณากายอย่างนี้ เห็นว่าเป็นวิปัสสนา”

แต่เขาบอกว่า “หนูพิจารณากายซ้ำๆ ได้ ๒ รอบ ๓ รอบ... หนูพิจารณาร่างกายนี้ ๒-๓ รอบ รู้สึกว่ามันดีขึ้น”

รู้สึก ! เห็นไหม “รู้สึกว่ามันดีขึ้น พอไล่จิตไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันดีขึ้น ความเจ็บความปวดเมื่อยก็หายไป แต่หนูเบื่อ” คือมันไม่เข้าสมาธิไง นี่มันไม่เข้าสมาธิ มันแฉลบออกมันก็เบื่อ แต่ถ้ามันเข้าสมาธิถ้ามันมีหลักนะมันไม่เบื่อ มันดูดดื่มเพราะมันมีรสชาติ ถ้ามีรสชาติที่ดี สิ่งที่ดีมันจะทำให้เราเกาะเกี่ยวได้

ฉะนั้นที่เขาถามว่า “หนูจะพิจารณาอย่างไรดีคะ จึงจะรู้สึกว่าไม่เบื่อ” นี่มันก็ต้องบังคับไง บังคับให้เห็นโทษ ถ้าพิจารณากายดีนะให้พิจารณากาย

คำว่าพิจารณากาย แล้วคนคิดว่านี่เป็นสติปัฏฐาน เป็นการวิปัสสนา แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดไว้ เราฟังชัดมาก แต่คนอื่นฟังไม่ออก ท่านบอกว่า “การพิจารณากาย กำหนดจิตให้อยู่ในวงของร่างกายนี้ให้เป็นชั่วโมงๆ นี่เป็นสมถะ”

นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเองว่าเป็นสมถะ คือทำจิตสงบ แต่พอจิตมันสงบแล้ว พิจารณากายซ้ำนั่นแหละ มันจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมา เห็นไหม กายนอก กายใน แต่ถ้าคนไม่เคยภาวนาหรือภาวนาไม่เป็น มันอยู่ที่เป็นหรือไม่เป็น ถ้าไม่เป็นนี่มันพูดผิดหมดแหละ ถ้าเป็นนะพูดถูกหมด ถ้าไม่เป็นนะมันก็เข้าใจผิด

นี่มันไปตรงกับที่ว่า “การพิจารณากาย.. กายานุสติปัฏฐาน.. กาย เวทนา จิต ธรรม” พิจารณากายอย่างนี้มันเป็นวิปัสสนา แต่พิจารณากายมันพิจารณาโดยสามัญสำนึก คือจิตมันยังไม่เป็นสมาธิ แต่ถ้ามันเป็นสมาธิแล้วนะ... ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ความเห็นนี่มันสะเทือนหัวใจ

เพราะคุณค่าของสมถะ คุณค่าของวิปัสสนานี่มันแตกต่างกัน ! มันแตกต่างกัน เห็นไหม คุณค่าของสมถะ ความสงบร่มเย็นนี่คือสมถะ มีความสงบมาก มีความร่มเย็นมาก... แต่ถ้าคุณค่าของวิปัสสนา นี่มันถอดถอนไง มันเบานะ มันถอดออกถอดออก มันถอดความฝังใจนั้นออกหลายๆ อย่าง

ฉะนั้นให้ทำซ้ำไป ถ้ารู้สึกเบื่อ.. เบื่อเราก็ใช้ปัญญาคิดสิ เบื่อก็จะมาเกิดอีกไหม เวลาเบื่อนะเพราะเราไม่เห็นผลงานไง ถ้าคนเห็นผลงานจะไม่เบื่อ แล้วมันจะมีการขวนขวาย มีความพยายาม

นี่อันนี้อันหนึ่ง แล้วมันต้องใช้อุบาย นี่ไงเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะกระตุ้นตรงนี้ เราพูดบ่อย เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม เหมือนนักมวยนี่นะมันต่อสู้กับคู่ชก แล้วมันโดนรุมมาตลอดเลย แต่มันมีหลังพิงเชือกอยู่ มันสามารถจะหลบหลีกได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์นี่มันเหมือนกับมีหลังอิงไง มีที่พิง มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ แล้วเวลามีอะไร เวลาคอตกหรือเวลาทำอะไรไม่ได้ ก็วิ่งขึ้นไปหาอาจารย์ไง มันเป็นอย่างนี้.. มันเป็นอย่างนี้ คือรายงานผลไง ทางนั้นก็โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. ใหญ่เลย ต้องทำอย่างนี้.. ต้องทำอย่างนี้

นี่ก็เหมือนกัน เรามีครูบาอาจารย์ใช่ไหม แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างไรต่อไป แล้วเวลาอยู่ในหมู่คณะ นี่เห็นสัตว์ฝูงไหมเวลามันกินหญ้า ดูเขาต้อนฝูงแกะฝูงแพะมันกินหญ้ากันเป็นหน้าเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน “เราอยู่ในหมู่คณะ บุคคลเป็นสัปปายะ” เห็นไหม ถ้าอยู่ในวงปฏิบัติ มองไปทางไหนนะมีแต่ตะเกียงแขวนไว้ มีแต่โคมแขวนไว้ โอ้โฮ.. เขาเดินจงกรมกันหมดเลย เราจะมานั่งขี้เกียจอยู่นี่มันอายเขานะ นี่ถ้ามีสัปปายะอย่างนี้ มันมีแรงกระตุ้น มันมีแรงให้เราอยากทำ

ฉะนั้นมันก็ต้องอาศัยหมู่คณะช่วยกัน อาศัยหมู่คณะ อาศัยให้มันดึงดูดหัวใจให้มันอยากทำ มันเบื่อก็ฝืนมัน เพราะมันเห็นผลอยู่แล้ว มันเห็นผลอยู่ เห็นไหม

“การพิจารณากายจนรู้สึกว่าเบื่อ” นี่ให้มีความตั้งใจ ! มีความตั้งใจแล้วพยายามเอา เพราะกิเลสมันอยู่กับเราอยู่แล้ว แต่ธรรมะเราต้องพยายามรื้อขึ้นมา

 

ข้อ ๒๑๑. นี่เขาขอซีดีเฉยๆ ข้อ ๒๑๑. พระขอมา.. พระขอมาอยากได้เว็บ พระขอมาแล้วก็ถามปัญหาด้วยเนาะ ส่วนคำถามมีดังนี้ ถ้ามีความกรุณา.. แบบว่าถ้ามีความกรุณาจะส่งนะ ให้ส่งที่วัดของเขา เขาเป็นพระ อยู่ที่ปราจีนบุรี

ส่วนคำถาม...

ถาม : ๑. จะสามารถประยุกต์ศาสนพิธี กับกรรมฐาน ๔๐ ห้องได้ไหมครับ โดยเน้นทางอนุสติ เพื่อที่จะได้ปูพื้นฐานเบื้องต้นให้แก่ญาติโยม

หลวงพ่อ : ต้องปูพื้นฐานให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปปูพื้นฐานให้ญาติโยมเนาะ...

ศาสนพิธี ก็คือศาสนพิธี การเคลื่อนไหวของเขานี่มันก็ได้อยู่ คำว่าได้อยู่ เห็นไหม มันก็ได้อยู่แบบเขา อย่างเช่นเราบอกว่าการปฏิบัตินี้ถูกไหม... ถูก ! ถูกแบบว่าถ้าเรายังสะกดตัวอักษรไม่ได้ เราจะผสมคำไม่ได้ ถ้าเราสะกดตัวอักษรถูก ก็ถูกแล้วแหละ แต่การผสมคำ การต่างๆ มันต้องไปข้างหน้าอีก ทีนี้ศาสนพิธี พิธีกรรมต่างๆ แต่นั่นเขาสอนของเขา นี่มันเป็นเรื่องของโยมเนาะ

ถาม : ๒. หลวงพ่อมีคำแนะนำเกี่ยวกับพระบวชใหม่ ที่มีความต้องการครูบาอาจารย์เป็นที่พักพิง จึงต้องออกแสวงหา แต่ตามหลักธรรมวินัยนั้น พระนวกะต้องถือนิสัยอย่างน้อย ๕ ปี แต่ครูบาอาจารย์หรืออุปัชฌายะที่อยู่ด้วยนั้น มีปฏิปทาที่ไม่ลงใจ การฝึกหลักธรรมวินัยโดยไม่อยู่ในนิสัยให้ครบ แต่กลับเลือกที่จะแสวงหาครูบาอาจารย์เองนั้น ในความเห็นของหลวงพ่อมีความเห็นอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : ความเห็นของเรานะ.. ความเห็นของเรา เพราะเราบวชมาตั้งแต่พรรษาแรก พอบวชพรรษาแรกแล้วเราออกธุดงค์เลย เราบวชพรรษาแรก พอออกพรรษาออกปีแล้วจะข้ามไปพม่าเลย สุดท้ายแล้วไปไม่รอด เพราะไปกับพระ ๒ องค์ พระที่ไปด้วยกันเขาไม่ยอมไปด้วย เขาทิ้ง พอเขาทิ้งเราก็เลยเคว้งคว้างอยู่แถวนั้นแหละ สุดท้ายแล้วเราก็ขึ้นอีสาน

สุดท้ายตอนนี้ ขณะที่เราเป็นพระบวชใหม่พรรษาแรก บวชพรรษาแรกนะออกธุดงค์เลย แล้วก็ศึกษาอยู่ ก็อยู่กับครูบาอาจารย์นี่แหละ แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็แบบว่า... คือเราแข็งไง พอเราแข็งแล้วท่านพูดอะไรไม่ได้

ฉะนั้นมันก็มีความฝังใจอยู่เหมือนกันว่าสิ่งที่เราทำนี้มันถูกหรือผิด สุดท้ายแล้วพอเข้าไปในหมู่คณะ หมู่คณะเขาก็พูดกันอย่างนี้บอกว่าต้องได้นิสัย ต้องขอนิสัย ต้อง ๕ พรรษาขึ้น ต้องถือนิสัย ถ้าไม่ถือนิสัยจะภาวนาไม่ได้

แต่เราพรรษา ๑ พรรษา ๒ เราภาวนาล้มลุกคลุกคลานมากแต่ภาวนาได้.. คือภาวนาได้แต่ไม่เข้าเป้า มันเจริญแล้วเสื่อม.. เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนั้นแหละแต่ภาวนาได้ สุดท้ายแล้วพอมีการโต้เถียงกัน... มีการโต้เถียงหมายถึงว่า พระเราเวลาเข้าหมู่คณะกัน เราจะคุยกันเรื่องธรรมวินัย

สุดท้ายแล้วเราไปเปิดในบุพพสิกขา.. (อยู่ในบุพพสิกขา หรืออยู่ในวินัยมุขเล่ม ๓ นี่เราจำไม่ได้) บอกไว้ว่า “ถ้าพระจะปฏิบัติออกธุดงค์พรรษา ถ้ายังไม่ได้นิสัย ถ้าไปที่ไหนปฏิบัติแล้วดี สมาธิดีปัญญาดี ให้จำพรรษาที่นั่น พรรษาเดียวก็จำพรรษาได้” แล้วให้ตั้งไว้ในใจว่า ถ้ามีพระที่ให้นิสัยไม่ได้ เราจะขอนิสัยทันทีเลย แต่เพราะไม่มีใครขอนิสัยได้ แต่เราภาวนาดี

เราจะบอกว่า ธรรมวินัยเน้นเรื่องการภาวนาดีหรือไม่ดี แต่นี้หมู่พระ เป็นชนกลุ่มใหญ่ ชนกลุ่มใหญ่.. ธรรมดานะมนุษย์มีทั้งดีและเลว พระก็มีทั้งดีและเลว ในกลุ่มชนนั้น ต้องมีพระดีและพระเลว ฉะนั้นมีทั้งพระดีหรือพระเลว ถึงต้องมีวินัยนี้ไว้บังคับ มีกฎไว้บังคับ ฉะนั้นกฎหมายนี้บังคับพระทั้งหมดให้ต้องถือนิสัย.. ถือนิสัย

อย่างนี้ถูกต้อง ! อันนี้ไม่เถียงนะ แต่ ! แต่มันมีกรณีว่าถ้าพระองค์ใด หรือผู้ที่ปฏิบัติองค์ใด ปฏิบัติแล้วมีหลักเกณฑ์ ปฏิบัติแล้วสามารถที่จะเข้าถึงธรรมได้ ธรรมและวินัยที่บัญญัติขึ้นมานี้ ก็เพื่อให้เราเข้าถึงธรรม ถ้าใครนั่งสมาธิภาวนาแล้วได้ดี วินัยเปิดโอกาส

เหมือนอดอาหารเลย อดอาหารนี่พระพุทธเจ้าห้ามอดอาหารนะ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ให้อดอาหาร แต่ ! แต่ถ้าผู้ใดมีปัญญา แล้วเอาการอดอาหารนี้มาเป็นอุบายพิธีการ เราตถาคตอนุญาต” อนุญาตไว้แต่บุคคลผู้ที่ฉลาด เอาการอดอาหารนั้นมาเป็นวิธีการ เพื่อจะชำระกิเลสของตัว แต่ถ้าคนโง่มันอดอาหารนะ มันอดอาหารตายเลย มันบอกอดอาหารนี้ดี

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่ถือนิสัย.. ถือนิสัย พระส่วนใหญ่ พระที่เป็นฝ่ายปกครองจะพูดอย่างนี้หมด บอกว่าต้องถือนิสัย ๕ ปี พ้น ๕ ปีแล้วค่อยออกธุดงค์ พอพ้น ๕ ปีไปแล้ว มันก็เหมือนกับมันหมดไฟแล้ว ออกไปก็ไปนอนอยู่กลางป่านั่นล่ะ ออกไปก็ไปนอนเล่นกับสัตว์ไง แต่ถ้าไฟยังมีอยู่นะ พรรษา ๑ นี่เราออกมาแล้ว เรานี่พรรษาแรกเราบวชแล้วออกไปธุดงค์เลย

แล้วอยู่ป่าก็เหมือนกัน อยู่ป่าแล้วถ้าเป็นอาบัติจะทำอย่างไร.. เป็นอาบัติทำอย่างไร นี่มันอยู่ที่ประสบการณ์ ตอนเมื่อก่อนบวชใหม่ๆ นะ เราไปเจอพระในป่า หรือเจออะไรนี่มันต้องคุยกัน เหมือนอย่างเช่นหลวงปู่มั่นไง หลวงปู่มั่นท่านคุยกับหลวงปู่เจี๊ยะไว้ คุยกับหลวงปู่เจี๊ยะนะ แล้วเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ

พอบอกว่าหลวงปู่เภา.. หลวงปู่เภาอยู่ที่ลพบุรี หลวงปู่เจี๊ยะจะไปหาเลยนะ เอ๊ะ.. เราแปลกใจแล้ว พอเราแปลกใจแล้วเราถามหลวงปู่เจี๊ยะ ว่าทำไมหลวงปู่เจี๊ยะอยากไปหาล่ะ หลวงปู่มั่นบอกไว้ บอกไปเจอหลวงปู่เภาอยู่ในป่าที่ลพบุรี สมัยที่ท่านออกธุดงค์อยู่ แล้วไปคุยกันอยู่ในป่า เห็นไหม

นี่ไปคุยกัน แล้วเราก็ไปดูในหนังสือประวัติของหลวงปู่เภา หลวงปู่เภาบอกว่าท่านจบนักธรรมเอก แล้วธุดงค์ไปในป่า ไปเจอพระองค์หนึ่ง แต่ในประวัติหลวงปู่เภาท่านไม่ได้เขียนชื่อว่าเป็นใคร แต่หลวงปู่มั่นท่านเล่าให้หลวงปู่เจี๊ยะฟัง แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้เราฟัง แต่หลวงปู่มั่นไม่ได้เล่ารายละเอียดอย่างนี้

แต่นี่หลวงปู่เภาท่านเขียนเอง ท่านบอกท่านเขียนประวัติของท่านเอง เพราะท่านไปทำผิดพลาดในป่ากับหลวงปู่มั่น แล้วท่านเสียใจไง ท่านไปเจอหลวงปู่มั่น ท่านก็คุยธรรมะกับหลวงปู่มั่น พอคุยธรรมะกับหลวงปู่มั่นแล้ว โอ้โฮ.. ชื่นชมมาก อยากจะไปธุดงค์กับหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นบอกว่าไปด้วยกันก็ได้ แต่พอดูบริขารขาดธมกรก.. ธมกรกเวลาบวชไอ้ที่เหลืองๆ ไง ไอ้ที่เราใช้กรองน้ำนั่นไง หลวงปู่มั่นบอกว่าขาดธมกรกนี่เป็นอาบัติ

อันนี้อยู่ในประวัติของหลวงปู่เภาท่านเขียนเองนะ ท่านบอกว่า ท่านก็อ้างใหญ่เลยนะว่าท่านใช้ผ้าอังสะ ใช้ผ้าจีวรนี่แหละกดลงไปในน้ำ เหมือนกรองไง แล้วก็ใช้น้ำตรงนี้ คือจะแก้ตัวเอาตัวรอดให้ได้ แล้วหลวงปู่มั่นท่านไม่ยอม หลวงปู่มั่นบอกว่าเป็นอาบัติ พอเป็นอาบัติแล้วหลวงปู่มั่นไม่ให้ไปด้วย พอไม่ให้ไปด้วยนี่ท่านเสียใจ แล้วหลวงปู่เภาท่านเขียนในประวัติของหลวงปู่เภานะ

นี่เราอ่านจากหนังสือประวัติของหลวงปู่เภา ท่านลงในหนังสือไง หลวงปู่เภาท่านบอกว่าท่านรำพึงในใจไง “เราเป็นพระในเมือง ศึกษาจบนักธรรมเอก” มาอยู่ในป่า มาเจอหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่ได้ศึกษาธรรมะ

แม้แต่มีการศึกษามาขนาดนี้ เราเป็นคนเมือง.. คนเมืองคนว่าคนที่เจริญแล้ว พอไปเจอหลวงปู่มั่นอยู่ในป่า แล้วหลวงปู่มั่นไม่มีนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ไม่มีอะไรเลย แล้วท่านบอกว่าท่านศึกษามาจบนักธรรมเอก แล้วท่านมาพูดธรรมะกับหลวงปู่มั่น แต่เสียท่าหลวงปู่มั่นไง ท่านบอกว่าท่านเสียใจมาก เสียใจมากจนออกจากป่า กลับเข้าไปในเมืองไปศึกษาต่อนะ แล้วก็กลับมาปฏิบัติต่อ

นี่เวลาพระไปในป่า พอมาเจอกันแล้วจะมาคุยกัน เราธุดงค์มาเราก็เจออย่างนี้ เวลาเจอพระจะคุยธรรมะกัน คุยธรรมะกันนี่เขาจะเถียงกันไอ้เรื่องวินัยเรื่องต่างๆ เรื่องนิสัยๆ นี่แหละ เราก็คาใจอยู่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ยังขืน.. ยังขืนหมายถึงว่า เราก็ยังธุดงค์ของเรา เราก็ยังปฏิบัติของเราอยู่

แต่นิสัยเรานะ จะมีอะไรที่มันยังไม่ลง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่แต่เรายังไม่ทิ้ง เราไม่ทิ้ง เราจะทำของเราสุดกำลังตลอดเวลา ไม่เคยทิ้งเลย แล้วศึกษาไปเรื่อยๆ พอศึกษาไปถึงที่สุดนะ พอไปเจอบุพพสิกขา ในบุพพสิกขาบอกว่า...

พระถ้าออกไปธุดงค์ พระที่ออกไปปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมและส่งเสริมมาก แล้วถ้าออกไปธุดงค์แล้ว ถ้าจิตดี..

“ถ้าเธอภาวนาอยู่ที่ไหนแล้วจิตเป็นสมาธิ มีหลักมีเกณฑ์ดี ให้เธออยู่ที่นั่น ! แม้จะพรรษาเดียวก็อยู่ที่นั่น ! แล้วตั้งไว้ในใจว่า ถ้ามีพระเกิน ๕ พรรษาที่ให้นิสัยเราได้มา เราจะขอนิสัยทันที ถ้ายังไม่มีมา เราถือไว้ในใจว่าเราจะขอ เราจะขอนิสัยอยู่ ให้ปฏิบัติที่นั่นไป !”

แล้วเราเคยทำมาก่อนไง แล้วพอมาเจอในบุพพสิกขาหรือวินัยมุขนี่แหละ จำไม่ได้ แหม.. ทำไมมันถูกต้องไปหมดวะ แล้วเราก็ทำอยู่แล้ว เราถึงบอกว่าทำดีนี่มีคนส่งเสริม

แล้วทีนี้พอทำดีปั๊บแต่กฎหมายไง กฎหมายขีดไว้บอกว่าต้อง ๕ พรรษา ต้องเป็นพระนวกะอยู่ในวัด ๕ พรรษา อู้ฮู.. อยากธุดงค์มากเลยนะ พอครบ ๕ พรรษาแล้วจะออก “อื๊อ.. ไปดีไม่ไปดีหนอ โอ้โฮ.. มันลำบากเนาะ” ถึงตอนนั้นหมดไฟแล้ว ! หมดไฟกันพอดี

เราถึงบอกว่าธรรมและวินัยนี้ กฎหมายนี้ไม่ออกมาทำลายหรอก มันจะออกมาส่งเสริม แต่ ! แต่ในสังคมพระ มันก็มีพระดีและพระเลว สังคมคนส่วนใหญ่ ต้องมีทั้งคนดีและคนเลว

ฉะนั้นกฎหมายนี่เราต้องมีไว้บังคับสังคมส่วนใหญ่ แต่ถ้าเรามีจิตใจที่มั่นคง มีจิตใจที่แสวงหาความจริง เราทำได้ ! แล้วประสาเรานะ เราทำมาแล้ว พรรษาเดียว ! พรรษาเดียวนี่ร่อนไปทั่วประเทศ พรรษาเดียว ! ไปมาทั่ว

แล้วมาเจอวินัย ในวินัยบอกว่าคนนั้นต้อง ๕ พรรษา ๕ พรรษา นี่เราไม่เชื่อ ! แต่วินัยเขียนไว้อย่างนั้นจริงไหม.. จริง ! วินัยเขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ เพียงแต่ว่าเขียนเอาไว้เพื่อบังคับคนส่วนใหญ่

“แต่ผู้ที่มุมานะ ผู้ที่มีหลักเกณฑ์ ผู้ที่มีความจงใจจริง นี่ไปได้ !”

วินัยเปิดโอกาสให้ ถ้าคนทำดีแล้วกฎหมายไม่บังคับ กฎหมายจะส่งเสริมให้คนทำดี กฎหมายจะเชิดชูให้คนทำดี แต่ถ้าคนมันชั่ว อ้างกฎหมายแล้วทำชั่วนะ นี่ไงถึงมีกฎหมายบังคับ

เวลาคนชั่วนี่มันหลีกเลี่ยงกฎหมายนะ หลีกเลี่ยงธรรมวินัย แต่พอเวลาบอกว่าต้องถือนิสัย.. ใช่ ! ที่เขียนมานี่ถูกต้องหมดแหละ ที่ว่า “พระบวชใหม่ที่ต้องการครูบาอาจารย์ที่พักพิง จึงต้องแสวงหา แต่ตามหลักธรรมวินัยนั้น” เห็นไหม

ฉะนั้นธรรมวินัยนี้ก็มาฆ่าพระ เหมือนที่หลวงตาพูดไง “เป็นพระอรหันต์นี่ ๗ วันต้องตาย” นี่อย่างนี้ธรรมะจะทำร้ายคนเหรอ.. ธรรมะจะทำลายคนเหรอ..

นี่ก็เหมือนกัน จะแสวงหา.. จะแสวงหาแต่ตามหลักธรรมวินัยนี่ก็ไปไม่ได้ ไปไม่ได้ แล้วมันจะมาทำลายเราเหรอ กฎหมายเขาจะเขียนไว้ทำลายคนดีเหรอ กฎหมายที่เขียนไว้นี่ไม่ทำลายหรอก เพียงแต่ว่าเราทำออกไปแล้วต้องทำอย่าให้ผิดพลาด แต่นี่เขาบอกว่า “พรรษาเดียวก็ไม่รู้อะไร.. ออกไปก็จะผิด”

ผิดมันก็มีผิดไง ผิดอาบัติก็ปลงเอาไง ถ้าเป็นอาบัติใช่ไหม แล้วจะปลงอาบัติกับใคร อยู่องค์เดียวนี่ในวินัยสอนไว้หมดแหละ ถ้าอยู่องค์เดียวแล้วเป็นอาบัติ พอรู้ว่าเป็นอาบัติปั๊บ “ข้าพเจ้าเป็นอาบัติ… ถ้ามีพระที่มา ข้าพเจ้าจะปลงอาบัติ” เห็นไหม นี่มันทันทีเลย

ก็เหมือนกับเราตั้งใจจะปลงอาบัติแล้ว เรารู้ว่าผิด.. รู้ว่าผิดแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะปลงอาบัติได้ด้วย ให้ตั้งใจไว้ นี่เป็นอาบัติข้อที่ ๑ แล้วถ้ามีพระมาจะปลงทันที ! อย่างนี้มันภาวนาได้นะ ถ้าบอกว่าเราเป็นอาบัติ แล้วเรายังไม่ปลงอาบัติ พอนั่งพุทโธ “พุทโธนะ อาบัติมึงนะ... พุทโธ อาบัติ” นี่มันลังเลใจ

นี่เราปฏิบัติมา แล้วเรามาศึกษาทีหลัง นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัตินะ เรื่องนิสัย ๕ ปี... เพราะเราทำอย่างนี้ พระเราบวชกับเรานะ พรรษาเดียวนี่เราส่งไปหมดแหละ ใครจะไปไหนเราส่งหมด เราไม่เคยบอกพระที่บวชกับเราว่าต้อง ๕ ปีแล้วค่อยออกไปเที่ยวนะ วัดนี้ไม่เคยเลย เพราะ ! เพราะเราเคยทำอย่างนี้มาก่อน เราเป็นพระบวชปีแรก แล้วเราสมบุกสมบั่นมาพอสมควร

ฉะนั้นที่วัดนี้ ถ้าใครอยู่ที่นี่กับเราจะรู้ พอบวชเสร็จ พอบวชเดี๋ยวนี้ จะไปเดี๋ยวนี้ ก็จะส่งให้เลย จะไปอยู่ไหนบอกมา ส่งให้ทันที.. ก่อนเข้าพรรษา นี่เราส่งพระไป ๒ องค์ เพิ่งบวชแท้ๆ แล้วเราส่งไปเลย เขาอยากไปอยู่ที่อื่น เราส่งทันที ! ทันทีเลย เราให้ทันทีเลย เราให้เสรีภาพเต็มที่ ไม่เคยบังคับใครเลย นี้เพียงแต่ว่ามันเป็นวาสนาของเขา อันนี้พูดถึงธรรมวินัยนะ

นี่เพียงแต่ธรรมวินัยนี้ ถ้าอ้างมาหรือเอามาเป็นหลักที่ดี มันก็ดีไป แต่ถ้าอ้างมาเพื่อจะดึงคนไว้ เพื่อจะต้องการบริษัท บริวาร นี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง

เอาแค่นี้พอเนาะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราจะพาพระเดินขบวน ไม่ใช่.. เราไม่ได้พาพระเดินขบวนนะมึง แต่เราทำกับตัวเรามาก่อน เดี๋ยวจะหาว่าพาพระแข็งข้อ.. ไม่ใช่ !

 

ถาม : ๒๑๒. “เดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้วปวดหลัง”

ดิฉันเพิ่งจะหัดภาวนาเบื้องต้นได้ ๑ หรือ ๒ ปี เนื่องจากบิดาดิฉันเสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ดิฉันสนใจในการภาวนา โดยที่ปรารถนาจะภาวนาเพื่อช่วยอุทิศส่วนกุศลให้บิดาบ้าง โดยมีความตั้งใจมากค่ะ ดิฉันพยายามกำหนดพุทโธขณะที่ทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน เช่นขับรถ จะตั้งใจมาก จนเมื่อจะเข้านอนก็พุทโธอยู่ ทุกครั้งที่ตื่นนอนก็พุทโธต่อไป บางครั้งตื่นมาหลายครั้งก็พุทโธต่อแต่ละครั้ง

แต่ก็มีบางทีลืมคำบริกรรมค่ะ แล้วมาสวดมนต์แล้วก็นึกถึงพระรัตนตรัย เมื่อสวดมนต์เสร็จก็นั่งสมาธิ บางครั้งก็เดินจงกรม การเดินจงกรมของดิฉันบางครั้งสงบบ้างไม่สงบบ้าง บางครั้งก็เผลอคิดออกไป ลืมการบริกรรม ดิฉันกำหนดอยู่ที่เท้าเวลายกย่างก้าวแล้วถูกที่พื้น โดยที่รู้ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธไปพร้อมกัน แต่ก็ยังมีอาการเผลอไปคิดเรื่องอื่นๆ อีกจนได้ ต้องมีสติใหม่อีกครั้ง

บางครั้งก็สงบดีมาก ไม่คิดนอกลู่นอกทาง แต่จะปวดหลังมากเวลาเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ปวดจนนั่งต่อไปไม่ได้ พยายามกำหนดความปวดไว้ที่หลัง บางครั้งทนไม่ไหวก็ต้องเลิกนั่งค่ะ เวลานั่งสมาธิแล้ว บางครั้งสงบได้นานมาก แต่บางวันก็ไม่สงบ

ดิฉันกำหนดลมหายใจเข้าที่ท้องแล้วพุท ท้องออกโธ ท้องจะแฟ่บ แต่อย่างนี้จนใจสงบมาก ถ้าใจสงบมาก จะมีเสียงดังเกิดขึ้นจนตกใจ และจากนั้นก็จะเกิดอาการโยกไปโยกมามากค่ะ และเกิดอาการง่วงนอนมาก ก็กำหนดพุทโธให้เร็วขึ้น อาการโยกก็หายไป กำหนดลมที่ท้อง บางครั้งเมื่อโยกแล้ว ก็เหมือนตัวเองนอนหลับไปเฉยๆ โดยที่ยังนั่งอยู่และรู้สึกตัวขึ้นมา

ดิฉันรู้สึกว่าการภาวนาของดิฉันจะติดขัดตรงที่โยกไปโยกมา ไม่ทราบว่าดิฉันภาวนาผิดหรือเปล่า และกราบขอแนวทางแก้ไขด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ : นี่มันอยู่ตรงนี้เลย ชัดๆ เลยนะ ที่เขาว่า “ถ้าใจสงบมาก ดิฉันจะมีเสียงดังเกิดขึ้น และจากนั้นจะมีการโยกไปโยกมามาก และเกิดการง่วงนอน ก็กำหนดพุทโธให้เร็วขึ้น อาการโยกก็หายไป”

นี่เวลานั่งไปแล้วเกิดอาการโงกง่วง มันก็โยกไปโยกมา เห็นไหม “ก็กำหนดพุทโธให้เร็วขึ้น.. ให้ชัดขึ้น.. อาการโยกก็หายไป”

“อาการโยกหายไป เพราะขาดสติเห็นไหม !” เพราะเวลาพุทโธ จะพร้อมลมก็แล้วแต่ พอเราพุทโธหรือทำอะไรพร้อมต่างๆ จิตใจมันสงบบ้าง.. มันสงบบ้างเหมือนกึ่งไง พอมันสงบบ้าง แต่มันไม่สงบ มันไม่เข้าถึงจิต เห็นไหม เพราะสติมันเริ่มจางลง พอจางลงมันก็เกิดอาการโยกอาการคลอน

“อาการต่างๆ นี้เป็นหญ้าปากคอก” จิตเวลามันเข้าสู่สมาธิ มันจะมีหญ้าปากคอกของมัน ถ้ามีหญ้าปากคอกของมัน เห็นไหม นี่แล้วจิตมันกึ่ง คือมันโยกไปโยกมาเพราะมันไม่ลง.. มันไม่ลงเต็มฐานของมัน ถ้าไม่ลงเต็มฐานของมัน พอสติเราชัดขึ้นมา ทุกอย่างชัดขึ้น อาการโยกก็หายไปเพราะอะไร เพราะสติมันดี สติมันดีมันก็รับรู้ไง

นี่เรานั่งอยู่ปกติเรารู้ตัวเรานะ แต่ถ้าเราโยกไป คือเราขาดสตินี่มันจะโยกไปโดยไม่รู้ตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมาปั๊บ เราก็ตั้งสติให้มันตรงอยู่ นี่มันควบคุมให้ได้ตรงหมดเลย พอควบคุมให้มันตรงแล้วมันก็หายไป

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเวลานั่งไปแล้วปวดหลัง อาการปวดต่างๆ นี้ ๑. ปวดเพราะร่างกาย ถ้าร่างกายของคนปวดนี่เช่นกระดูกทับเส้น หรือหมอนรองกระดูกต่างๆ นี่ถ้าปวดหลังมากๆ คือการปวดนี้เราต้องแก้ไขก่อนว่า โดยสุขภาพเราไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเรารักษาจนอาการนั้นหาย แล้วถึงมานั่งภาวนา ถ้าอาการปวดนั้นยังเกิดขึ้น มันเป็นอาการปวดของจิตหมดเลย

แต่ถ้าคนเรานี่นะบอกว่าเวลานั่งไปแล้วมันเจ็บปวดหลัง หรือมีอาการเจ็บปวด ถ้ามีความเจ็บป่วย เราต้องไปหาหมอก่อน คือต้องให้หมอเช็คร่างกายด้วย คือเราไม่เจ็บป่วยจริงๆ นะ ถ้าเราไม่มีอาการเจ็บป่วยจริงๆ นะ ทีนี้มันเจ็บทางอาการของใจแล้ว

ฉะนั้นจะบอกว่ามันต้องรักษาก่อนไง รักษาอาการนั้นให้ดีก่อน ถ้ารักษาดีแล้วนะ เรามาเอาจริงเอาจังกันเลย กับพุทโธกับการนั่งภาวนา

 

คำถามมันอยู่นี่...

ถาม : ๑. การเดินจงกรมโดยกำหนดรู้ที่เท้า และการย่างเท้าไปพร้อมกับคำบริกรรมพุทโธ ถูกหรือผิดเจ้าคะ

หลวงพ่อ : มันแล้วแต่นานาทัศนะ ถ้าพูดถึงทำได้ดีมันก็ถูก เห็นไหม

นี่เขาว่า “การเดินจงกรมโดยกำหนดรู้ที่เท้า และย่างเท้าไปพร้อมกับคำบริกรรมพุทโธ.. พุทโธที่ลมหายใจ”

เราจะบอกว่าเริ่มต้นช่างปั้นหม้อ ! เริ่มต้นช่างปั้นหม้อเลย.. เวลาปั้นหม้อนี่ถูกหรือผิดคะ เริ่มต้นช่างปั้นหม้อ มันก็มีเทคนิคของมันเยอะแยะไปหมด นายช่างที่เขาปั้นหม้อดินเผา ปั้นโอ่งปั้นไห นี่เขาต้องเตรียมอะไรล่ะ แล้วเราจะปั้นเป็นรูปอะไรล่ะ

นี้นิสัยของคนก็เหมือนกัน การเดินจงกรมของคน เหมือนเราจะปั้นโอ่งปั้นไห หรือจะปั้นอะไรก็แล้วแต่... ช่างปั้นหม้อจะปั้นอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่รูปแบบนั้น

การเดินจงกรมของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน การนั่งสมาธิของคนไม่เหมือนกัน ถ้าช่างปั้นหม้อ ปั้นสำเร็จเป็นหม้อแล้วมันก็จบ ช่างปั้นไห ทำสำเร็จเป็นไหก็จบ ช่างปั้นโอ่ง ทำสำเร็จเป็นโอ่งมันก็จบ ใครปั้นภาชนะใดแล้วภาชนะนั้นสำเร็จก็จบ

“การเดินจงกรม การนั่งสมาธิภาวนา ถ้าจิตสงบก็จบ”

ถ้าจิตของใครทำแล้วมีประโยชน์ก็จบ ! นี่ไงถูกหรือผิดล่ะ

นี่เพราะเราปั้นอะไรล่ะ ถ้าเขาบอกว่าจะปั้นโอ่ง แล้วบอกว่าโอ่งรูปร่างแบบหม้อ.. หม้อรูปร่างแบบแจกัน.. อย่างนี้มันไม่ใช่หรอก ! โอ่งก็คือโอ่ง แจกันก็คือแจกัน หม้อก็คือหม้อ ไหก็คือไห

นี่ก็เหมือนกัน จริตของคนแตกต่างหลากหลาย การเดินจงกรมนั่งสมาธิมันก็แตกต่างกันไป คำว่าแตกต่าง คือเดินเร็วเดินช้า เดินทั้งวันทั้งคืน บางคนเดินสลับกับนั่ง นั่งสลับกับเดิน มันร้อยแปดพันเก้าเลย มันเป็นอุบายของคน

นี่แล้วเขาบอกว่า “ย่างเท้าก้าวไปพร้อมกับคำบริกรรมพุทโธอย่างนี้ถูกไหม” อย่างที่ทำมา แล้วถ้ามันดีก็ถูก ! แล้วถ้าลองแบบอื่น ถ้าแบบอื่นมันดีกว่า อันนั้นดีกว่านี้อีก

นี่อันนี้อันหนึ่ง…

 

ถาม : ๒. ขอทราบการแก้ไขอาการโยก และอาการแก้ไขอาการสัปหงก และอาการง่วงนอน และอาการปวดหลังเวลาเดินภาวนา

หลวงพ่อ : อาการโยกตัวต่างๆ นี่นะ หรืออาการสัปหงก อันนี้เราจะบอกว่า

“การสัปหงกตัวพ่อกับการสัปหงกตัวลูก” ไอ้คำว่าตัวพ่อ...

นี้มันมีคนเป็นอย่างนี้แล้วถามมาในเว็บไซด์ นี่มันมีอยู่แล้ว แล้วพอเราตอบไปนะเขาบอกว่า ที่หลวงพ่อตอบมานะว่าให้ผ่อนอาหาร.. เรื่องอาหาร เรื่องสตินี่ทำทุกอย่างหมดแล้ว แต่มันก็ยังง่วงอยู่ ไอ้นั่นมันเป็นสัปหงกตัวพ่อ

คือเขาถามมาแล้วเราก็ตอบไปแล้ว พอตอบไปแล้วเขาก็ถามกลับมาอีก บอกว่าที่หลวงพ่อบอกมานั้นทำทุกอย่างครบหมดแล้ว แต่มันก็ไม่หาย... มันไม่หายหรอก ! มันไม่หายเพราะอะไร มันไม่หายเพราะว่าเราทำแล้ว เราทำให้มันจบขบวนการเฉยๆ แล้วก็เลิกกันไป

เหมือนกับเรานับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ เราก็นั่งสัปหงกอยู่นั่นแหละ เพราะว่าเรานับอยู่ข้างนอกไง แต่ถ้า ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ นี่ง่วงนับ ๑ ง่วงนับ ๒ ง่วงนับ ๓ อย่างนี้มันก็จะแก้ไขที่นี่ การอดนอนผ่อนอาหารก็เหมือนกัน อดนอนผ่อนอาหารแล้วบอกว่ามันหายง่วง.. อดนอนผ่อนอาหารมันเป็นแค่อุบายใช่ไหม พออุบายแล้วเราก็ตั้งสติ แล้วเราก็สู้กับมัน เห็นไหม

เราตอบไปอย่างนี้ แล้วมีอยู่อันหนึ่งเขาก็อีเมล์กลับมา “ว่าไอ้ที่หลวงพ่อตอบทุกอย่างนี้ ผมทำทุกอย่างหมดแล้ว ให้ตอบอย่างอื่นนะ อย่างนี้ห้ามตอบ” โอ้โฮ.. เขียนมาอย่างนี้ก็มี ไอ้นั่นมันเป็นสัปหงกตัวพ่อ.. ไอ้นี่สัปหงกตัวลูก..

สัปหงกมันมีเป็นไปได้หมดนะ มันอยู่ที่เราค่อยๆ ทำ ค่อยทำของเรานะ หาทางออกไง เพราะบัว ๔ เหล่า เราอย่าคิดว่า “คนเหมือนคน แล้วคนจะมีโอกาสปฏิบัติได้ทุกคน” แต่คนปฏิบัตินะ... เพราะในทางแพทย์แผนไทยเขาจะบอกว่ามนุษย์นี่นะมันมีธาตุ ๔

คนธาตุดิน คือคนที่หยาบ.. แล้วคนธาตุน้ำ... คนธาตุไฟ..

คนธาตุไฟเป็นธาตุที่มีปัญญา คนธาตุไฟนะไฟมันจะเผาตลอด คือคนที่จะโมโหร้าย คนที่ฉุนเฉียว คนที่ขี้โมโหนี่นะ ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้จะหัวไว จะไบรท์ แต่เพราะธาตุไฟนี่มันจะเผาตัวเองมาก

แม้แต่ทางการแพทย์แผนไทย เขายังมองว่ามนุษย์นี้เป็นธาตุ ๔ ถ้าธาตุดินนะ คนนั้นจะมีร่างกายที่แข็งแรงมาก สุขภาพทุกอย่างนี่ดีมากเลย แต่เขาบอกว่าสมองไม่ค่อยดี เห็นไหม นี่สมองทึบ แต่ร่างกายจะแข็งแรง นี่ธาตุดิน

คนธาตุดิน คนธาตุน้ำ คนธาตุลม คนธาตุไฟ.. เขาบอกว่าคนธาตุไฟนี่ดีที่สุด คือว่าคนธาตุไฟเป็นคนที่ฉลาด แต่ ! แต่ธาตุไฟนั้นจะเผาร่างกาย คนนั้นจะเจ็บไข้ได้ป่วย กระเสาะกระแสะ ออดแอด แต่หัวดี

นี้พูดถึงทางแพทย์แผนไทยนะ แพทย์แผนไทยนี่รักษาสุขภาพ ไม่ใช่รักษาใจ ! ไม่ใช่ธรรมะรักษาหัวใจ แต่เป็นยารักษาสุขภาพร่างกาย นี้แพทย์แผนไทยยังแบ่งมนุษย์เราตามธาตุของมนุษย์ เป็นธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบ่งมนุษย์เป็นบัว ๔ เหล่า แบ่งในเรื่องของวุฒิภาวะทางปัญญาทางความรู้ ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพอแบ่งวุฒิภาวะทางความรู้ แล้วไอ้อาการอย่างนี้ อาการที่เราพูดกันอยู่ มันก็ต้องมีสติปัญญา

ฉะนั้นเราบอกว่า “คนเหมือนคน คนปฏิบัติได้ทุกคน” นี่ใช่ ! ปฏิบัติได้ทุกคน คนมีสิทธิทุกคน คนมีสิทธิกินข้าว มีสิทธิหายใจ มีสิทธิเหมือนกันหมดเลย แต่ปัญญาของคนไม่เหมือนกัน นี้การภาวนามันอยู่ตรงนี้ไง

ถ้าคนเหมือนคน ทุกคนมีสิทธิเท่ากันนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพระอรหันต์หมดเลย ! มนุษย์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ! มนุษย์เกิดมาแล้วพลิกเป็นพระอรหันต์หมดเลย... อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ !

พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทอดอาลัยเลยนะ เวลาจะเอาใครนี่ต้องเล็งญาณนะ อู้ฮู.. ใครมีความพร้อม จิตใจใครนุ่มนวลพอจะทำ พระพุทธเจ้าเล็งญาณเสร็จแล้วก็ไปเอาคนๆ นั้นไง

นี่ ! ธรรมะมันเข้ากับตรงนี้ ฉะนั้นพอมันเข้ากับตรงนี้ปั๊บ สิ่งที่เรากระทำนี่เห็นไหม แล้วที่เขาว่า “หลวงพ่ออย่าตอบนะ ว่าผ่อนอาหาร หลวงพ่ออย่าตอบนะ ผมทำครบทุกอย่างแล้ว ผมก็ยังนั่งสัปหงกอยู่เลย”

มันจะให้ตอบเรื่องอื่น เราก็ไม่รู้จะไปตอบตรงไหน ไม่รู้จะไปเอาอะไรมาตอบ ถามแล้วปิด ห้ามตอบอย่างนี้ด้วยนะ โอ้โฮ.. เขาถามมา ก็ตอบเขาอยู่ ก็ตอบว่าไอ้นั่นมันเป็นอาการ มันเป็นการกระทำ แต่เชาว์ปัญญา พลิกแพลงใช้แล้วมันจะเป็นประโยชน์กว่านี้อีก

 

ถาม : ๓. การกำหนดลมหายใจพุทโธทุกอิริยาบถการทำงาน ทำให้มีสติมากขึ้น แต่ว่า กราบขอคำแนะนำในการที่จะไม่ให้ลืมในการกำหนดลมหายใจพุทโธ เวลาพูดกับบุคคลอื่น จิตมักจะคิดไปตามที่เขาพูด

หลวงพ่อ : นี่เวลาคนทำงาน.. คนทำงานนะ เวลาได้ผลแล้วก็อยากได้ เรากำหนดพุทโธของเรา เวลาคุยกับเขาเราก็คุยกับเขาด้วยสติ เราคุยกับเขาด้วยแล้วพุทโธด้วย เขาพูดอะไรมาเดี๋ยวก็ฟังไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้อีกนะ

ไม่ใช่ว่าเวลาเราจะพูดกับใครเราก็ต้องพุทโธชัด ไอ้คำว่าพุทโธชัด บางคนจะพูดบ่อย ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ จะพูดอย่างนี้นะว่า “นี่เวลาคุยกับหลวงพ่อนะ พุทโธยังชัดๆ อยู่เลยนะ” เห็นไหม นี่เขาพยายามจะบอกว่าเขาสติดี เขาปัญญาดี

แต่ทีนี้ว่าถ้าอย่างนั้นนี่เขาพูดผิด เขาพูดผิดเพราะว่า “ขณะฟังหลวงพ่อพูดอยู่ พุทโธยังชัดๆ อยู่เลยนะ” อย่างนี้แสดงว่าพุทโธเอ็งชัดนะ แต่เอ็งฟังกูพูดไม่รู้เรื่องไง เพราะอะไร เพราะมันพุทโธอยู่ แล้วจิตมึงอยู่ที่พุทโธ แต่มึงจะฟังหลวงพ่อพูดด้วย

นี่เวลาคนพูดนะ เวลาจะพูดสื่อให้เขาเห็นว่าตัวเองภาวนาถูกต้อง ตัวเองภาวนาดี แต่มันพูดเกินหลักความจริง... มันพูดเกินความจริง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่า “เวลาพุทโธอยู่ แล้วพูดกับคนอื่นนี่พุทโธมันหายไป แล้วจะทำอย่างไร” เราต้องคุยกับเขาด้วย แล้วต้องพุทโธอยู่ด้วย ก็เอา ๒ คนมาผูกไว้ด้วยกันสิ อีกคนหนึ่งพุทโธ อีกคนหนึ่งฟังเขาพูด

แต่นี่มันเป็นคนๆ เดียว อะไรที่มันเป็นข้อเท็จจริง อย่างเช่นพุทโธอยู่กับงาน เราทำงานอยู่ก็พุทโธ ถ้างานหยาบๆ นี่พอได้ แต่ถ้างานละเอียดนะไม่ได้ เราต้องอยู่กับงาน.. อยู่กับงานเลยแล้วตั้งสติ ตั้งสติแล้วเอางานนั้นเป็นพุทโธแทน เวลาคุยกับเขา ก็เอาคำคุยเอาเนื้อหาสาระนั้น แล้วมีสติพร้อม.. มีสติพร้อมพอคุยจบแล้วเราค่อยกลับมาพุทโธต่อ มันต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะถูก ไม่ใช่คุยกับเขาอยู่ก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอเขาบอกกลับบ้านก็พุทโธ พุทโธ กลับบ้านพุทโธ พุทโธ อย่างนี้เดี๋ยวตีกันเลย

คุยกับเขาก็ต้องคุยกับเขาให้เป็นเรื่องราวสาระ พอจบแล้วค่อยมาพุทโธใหม่ เวลาคุยกับใคร เราต้องคุยกับเขาด้วยสติปัญญาไง เราพร้อมที่จะทำอะไร คือเราทำด้วยความพร้อม เห็นไหม พอเสร็จจากความพร้อมนั้นแล้วเราก็มาพุทโธต่อ

“เพราะพุทโธคือไม่ให้ใจวอกแวก ไม่ให้ใจออก”

แต่คุยกับเขาด้วย พุทโธด้วย.. มีหลายคนพูดอย่างนั้น แต่ ! แต่มันเป็นอย่างนี้ได้บ้าง มันเป็นอย่างนี้ได้จริงๆ นะ เวลาจิตที่มันดีจริงๆ กิริยานี้มันเป็นแค่กิริยา แต่จิตมันไม่ออก กิริยานี่มันเป็นสัญชาตญาณ การเคลื่อนไหวเป็นกิริยา แต่จิตมันอยู่ของมันเฉย.. อย่างนี้ก็มี แต่อย่างนี้มันต้องภาวนาจนมีหลักมีเกณฑ์แล้ว จิตมันมั่นคงแล้ว มันถึงจะเป็นอย่างนี้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้นี่มันจะเข้าใจได้

ฉะนั้นให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง !

 

ถาม : ๔. ทำไมเวลานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจแล้วมีความสงบมาก มักจะมีเสียงดังปัง ! ทำให้ตกใจ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าเป็นเวลากลางวันมักจะมีคนมาเรียกเจ้าค่ะ กำหนดพุทโธไว้ ใครมาเรียกก็ตั้งสติไว้ แล้วมีคนมาเรียกครั้งที่ ๑ เรารู้แล้วว่ามีเสียงเรียกอย่างนี้ ครั้งที่ ๒ เราก็พุทโธ พุทโธ ถ้ามีเสียงขึ้นมาอีก เราก็พุทโธไว้ชัดๆ พอพุทโธชัดๆ แล้ว จิตมันจะลงสมาธิลึกไปกว่านี้

หลวงพ่อ : ถ้ามีเสียงเรียก หรือมีสิ่งใดเกิดขึ้น นี่มันบอกถึง... เราพูดถึงนะ อย่างเช่นรถเวลาจอด เข็มไมล์มันจะไม่ขึ้นหรอก แต่พอรถขยับล้อหมุนเท่านั้นแหละ เข็มไมล์มันจะขึ้น

จิตของคนปกตินั่งอยู่นี่ไม่มีอะไรหรอก ก็ปกตินี่แหละ แต่ถ้าจิตเริ่มสงบ จิตมันเริ่มมีปัญหาขึ้น เสียงหรืออะไรที่จะมานี่มันได้โอกาสนี้ ถ้ามันได้โอกาสนี้ แล้วพอเราพุทโธต่อไปมันจะลึกเข้าไปอีก จิตจะสงบเข้าไปอีก

ฉะนั้นเสียงส่วนเสียงไม่เป็นไร เสียงที่เกิดขึ้น เสียงก็คือเสียง เวลาลมพัดมามีเสียงข้างบ้าน นี่ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ถ้ามันมีเสียงในความรู้สึกแล้วมันจะเป็นอะไรไป ให้พุทโธไปเรื่อยๆ ไม่มีปัญหา แล้วพอจิตมันดีขึ้นไป เดี๋ยวมันจะดีมากไปกว่านี้

เสียงก็คือเสียง ! ถ้าพูดถึงเวลาพุทโธ พุทโธแล้วมีเสียงนี่เราตกใจ แล้วเวลาเราได้ยินเสียงข้างบ้าน เสียงที่มันส่วนใหญ่ ทำไมเราไม่ตกใจล่ะ เสียงก็คือเสียงเท่ากัน แต่ทำไมเวลาไปได้ยินในกำหนดพุทโธ ทำไมถึงได้มีการตกใจนัก เวลาเสียงที่พ่อแม่เรียก เสียงที่เพื่อนฝูงเรียกกันอยู่นี่ทำไมไม่ตกใจ

นี่ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ เราเตรียมใจเราไว้อย่างนี้ก่อน เห็นไหม พอมีเสียงใดมา มันก็ปกติ คือไม่ตื่นเต้นไง แต่นี้พอจิตมันเป็นไปปั๊บ พอมีเสียงแล้วเราไปตื่นเต้น พอไปตื่นเต้นปั๊บก็เห็นว่ามันมีค่าสูงกว่า แล้วอะไรที่มีค่าสูงกว่ามันก็ยึดไว้ เวลาสิ่งนั้นมามันก็ตื่นเต้นไปกับเขา คือเราไปให้ความสำคัญมันไง !

ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญ เราตั้งสติพุทโธไว้ อะไรจะมาก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่เกี่ยวเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธนี้มันก็เหมือนกับเรานับตังค์ไง เวลานับตังค์ๆ ใครจะมาเรียกก็นับตังค์ไง กูจะเอา ๕ ล้าน ก็นับ ๑ บาท ๒ บาท ก็นับตังค์ตลอดก็... พุทโธ พุทโธ พุทโธตลอด เดี๋ยวมันครบ ๕ ล้านแล้วเดี๋ยวมันรู้เอง

แต่นี่พอนับตังค์แล้วเขามาเรียก เราก็จะไปกับเขา เงินที่นับนี่จะลืมนะ เวลานับตังค์ แล้วมีเสียงมานี่เอ้อะ ! เอ๊อะ ! ไม่ได้นะ ต้องนับตังค์ต่อ

นี่ก็เหมือนกัน เสียงอะไรมาก็ให้พุทโธต่อไป ! พุทโธนี่ก็เหมือนกับนับตังค์ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่นับเงินเลย มีเท่าไรๆ นับๆๆ พุทโธไปเรื่อยๆ !

นี่เราเปรียบเทียบไง…

 

ถาม : ๕. การทำบุญกุศลด้วยการภาวนา จะอุทิศบุญกุศลให้บิดาหรือไม่เจ้าคะ แล้วจะต้องอุทิศด้วยกำหนดแผ่เมตตาส่วนกุศลให้ หรือกรวดน้ำ

หลวงพ่อ : อุทิศตอนเราภาวนานี่แหละ หรือออกจากภาวนานี่อุทิศได้หมดเลย การอุทิศนี้ มันเหมือนกับความระลึกถึงกันอยู่ จิตใจเราดี จิตใจเรามีความสุข เราก็ระลึกถึงพวกญาติพี่น้องให้มีความสุขแบบเรา

“เวลาจิตเราพุทโธ เวลาจิตเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วนี่ อุทิศตอนนั้นแหละมันจะดีที่สุด” คุณภาพของใจนะ ถ้าใจมีคุณภาพมันจะมีประโยชน์มาก ถ้าใจไม่มีคุณภาพ อุทิศไปมันก็ไม่ได้อะไรหรอก

อันนี้อันหนึ่งนะ จะตอบอันนี้ให้หมด

 

ถาม : ๒๑๓. เรื่อง “ละความสุขนั้นต้องทำอย่างไร”

คือกระผมมีความคิดว่า คนเราในปัจจุบันนั้นรู้จักแต่ความสุขและความทุกข์ แต่ไม่รู้จักแยกแยะความสุขและความทุกข์ ไม่รู้จักความสุขและความทุกข์เลย ตามความคิดของกระผมคิดว่า “ตราบใดที่เรายังมีความสุข เราก็ยังคงมีความทุกข์ เพราะความสุขและความทุกข์เป็นของคู่กัน”

ในปัจจุบันเราคิดแต่เพียงว่า ในสิ่งที่เราต้องการคือสุข แต่สิ่งที่ว่านี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไป เมื่อเราพลัดพรากจากสิ่งที่เราต้องการ จึงทำให้เราเป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดจากความสุขนั่นเอง แต่ก่อนเราไม่มีสิ่งที่ว่านี้เราก็ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พอเราพลัดพรากจากมันแล้วเราก็จะเป็นทุกข์ โดยไม่เคยคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดและดับไปตามธรรมชาติ เพราะเรานั้นรู้จักแต่ความสุขและความทุกข์ แต่เราไม่รู้จักความไม่สุขไม่ทุกข์ หากเราไม่รู้จักความไม่สุขไม่ทุกข์เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก สังคมเราคงไม่ต้องวุ่นวายขนาดนี้

ความทุกข์นั้นเรารู้ และอยากละกันทุกคน แต่ถ้าเรารู้จักละความสุข เราก็จะเป็นทุกข์น้อยกว่าที่เป็นอยู่ ขอหลวงพ่อโปรดแนะนำการละความสุขแก่กระผม และเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่กำลังทุกข์จากการแสวงหาความสุขในปัจจุบันนี้ด้วยเถอะครับ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ... แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ ละสุขละทุกข์มันเป็นอุบาย เป็นมุมมองของคนนะ ถ้าคนมีอุบาย มีมุมมอง..

ถ้าอย่างนี้นี่มันเป็นเหมือนปัญญาอบรมสมาธิไง เวลาเราเกิดปัญญาขึ้นมา พอปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญามันเข้าใจตามความคิดของตัวแล้วมันปล่อย ถ้าเรามีความคิดอย่างนี้แล้วเราไล่เข้าไป อย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิได้

เห็นความสุขเห็นความทุกข์.. ความสุข อะไรเป็นความสุข.. ความทุกข์ อะไรเป็นความทุกข์.. แล้วเราละ ละความสุขความทุกข์... นี่พูดถึงไง

ฉะนั้นเรามีมุมมองอย่างนี้ แล้วจะให้ทุกคนมีมุมมองอย่างเราได้อย่างไร นี่ไงเวลาปฏิบัติทุกคนคิดว่า “หนทางมีทางเดียวไง” แต่หนทางนี้มันมีแตกต่างหลากหลาย แล้วหนทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นพอหนทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าใช้ปัญญาไล่เข้ามา นี่เขาเรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ ! ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะถ้าปัญญามันทันหมดแล้ว มันก็ปล่อยวางหมด มันก็เป็นความสุข เห็นไหม

“สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ขอให้ทำความสงบ ขอให้ทำความจริงได้ มันจะเป็นความสงบ

 

ถาม : ๒๑๔. “สอบถามเรื่องการภาวนาครับ”

เรียนถามว่า ผมใช้ภาวนาพุทโธ ตอนแรกที่จิตเริ่มสงบ จึงมาจับลมหายใจ ทำจนเกิดความเบาใจ เย็นใจขึ้นครับ แล้วความรู้สึกที่ปากหายไป มือหายไป ตัวหายไป ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่หายหมด ผมถึงตรงนี้ครับ ขออาจารย์แนะนำด้วย

 

หลวงพ่อ : พุทโธไปเรื่อยๆ ! พุทโธไปเรื่อยๆ !

นี่หายไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์.. หายมีอยู่ ๒ อย่าง

๑.หายเพราะขาดสติ

๒.หายตามข้อเท็จจริง... ถ้าหายตามข้อเท็จจริงนะ พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !

พุทโธชัดๆ นี่แหละ.. มันมีคำถามต่อมาข้างหน้า ทุกคนเอาตรงนี้มา แล้วเขาก็ว่า “แหม.. พุทโธชัดๆ หลวงพ่อนี่สุดยอดเลย” พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ ! นี่เราย้ำไง

คำว่าสุดยอดเพราะอะไร คำว่าสุดยอดเพราะว่าเขาพุทโธอยู่ พอเขาทำแล้วนี่มันจับพลัดจับพลูอยู่ คือมันครึ่งๆ กลางๆ อยู่ แล้วเราย้ำ “พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !”

“เพราะพุทโธชัดๆ นี้ มันจะเข้าไปสู่ความสงบได้”

ไอ้ครึ่งๆ กลางๆ นี่นะ มันจะทำให้เราเข้าก็เข้าไม่ได้ ออกก็ออกไม่ได้ แล้วก็คาอยู่อย่างนั้น แล้วนี่พอระหว่างที่จับพลัดจับพลูอยู่ ครึ่งๆ กลางๆ ๕๐-๕๐ แล้วถ้าเราพุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ ! นะ จากที่ลังเลสงสัย จากที่เรายังไม่แน่ใจ มันจะชัดๆ ! ชัดๆ ! ชัดๆ ! ชัดเข้าจนเงียบเลย... เงียบแล้วมีสติ “นั่นแหละสมาธิจริง”

นี่ก็เหมือนกัน เขาว่า “ผมกำหนดพุทโธ พุทโธ จนมีความเบาใจเย็นใจ มือหายทุกอย่างหาย ๕๐-๕๐” นี่เห็นไหม “๕๐-๕๐” เขาเขียนเลยว่า “๕๐-๕๐” คือหายไป ๕๐ ยังอยู่ ๕๐ นี่ครึ่งๆ กลางๆ แล้ว แล้วถ้าอยู่เฉยๆ นะ มันก็จะหายไปเลย แล้วตกภวังค์ไปเลย

“ให้พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !”

ทีนี้โดยสามัญสำนึกของคนนี่อยากได้ สามัญสำนึกของคนบอกว่า “เวลาจิตสงบ พุทโธจะหายไป ทุกอย่างจะหายไป ตัวจะหายหมดเลย”

หายไปเลยก็คือว่าหายเกลี้ยงไปเลย แต่ความจริงสัญญาอารมณ์มันหายไป จิตมันเด่นขึ้นมา สติมันพร้อม ชัดๆ เลย ! ความรู้สึกนี้ชัดเจนมาก แต่สัญญาอารมณ์มันได้กระทำจนเป็นหนึ่งเดียว “อันนั้นต่างหากถึงเป็นสัมมาสมาธิ”

ฉะนั้นที่ว่าพุทโธหายเนาะ เขาสอบถามการภาวนา.. ถ้าพุทโธชัดๆ ขึ้น ถ้ามันเริ่มเบาขึ้นมา.. พูดถึงถ้ามันขาดสติมันก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้ามันเป็นบริกรรมโดยคำบริกรรม แล้วจิตมันเริ่มเข้าสู่ความสงบนะ มันก็จะเป็นอย่างนี้แหละคือครึ่งหนึ่ง มันจะหดเข้ามาสั้นๆ ไง มันจะหดเข้ามา จิตมันจะเป็นตัวจิตเอง

จิตกับสัญญาอารมณ์.. จิตกับความคิด.. จิตกับความรับรู้สึก.. พอมันรับรู้สึก พุทโธ พุทโธนี่มันรับรู้สึก เพราะมันส่งออก พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้ามาเรื่อยๆ หรือว่าใช้ปัญญาเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงตัวของมันเอง จนเริ่มเป็นอิสรภาพคือเป็นหนึ่งไง

“เอกัคคตารมณ์.. จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่งเดียว จิตมันจะเข้ามาเป็นตัวของมันเอง”

แต่นี่เขาบอก ๕๐-๕๐ หมายความว่าเราหดเข้ามา.. พอหดเข้ามาแล้ว แต่เราไม่บริกรรมต่อไป คือไม่มีการส่งต่อ ไม่มีการกระทำให้มันแนบชิดเข้ามา แต่ถ้าพุทโธเข้ามาชัดๆ จาก ๕๐-๕๐ เดี๋ยวมันจะเป็นหนึ่งเลย แล้วรู้ชัดมาก.. สมาธิจะรู้ชัดมาก “อย่างนั้นคือสมาธิแท้”

“พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !”

 

ถาม : ๒๑๕. เรื่อง “ต่ออายุ” เนาะ

คนเราสามารถต่ออายุยืนยาวได้หรือไม่คะ การต่ออายุต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : การต่ออายุมันเป็นเรื่องอายุขัย นี่มันเป็นอายุขัย จะบอกว่าไม่ได้ นี่มันก็ได้อยู่ ได้อยู่เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์เองว่า

“อานนท์.. ถ้าเธอนิมนต์เราถึงครั้งที่ ๓ เราจะปฏิเสธเธอ.. ถ้าเธอนิมนต์มาครั้งที่ ๑ เราจะปฏิเสธเธอ.. ครั้งที่ ๒ เราจะปฏิเสธเธอ.. เธอจะนิมนต์ครั้งที่ ๓ เราจะรับอาราธนาของเธอ ถ้ารับอาราธนาของเธอ เราจะอยู่อีกกัปหนึ่งเราก็อยู่ได้”

พระอรหันต์นี่ต่อได้ อยู่ได้ เพราะว่าพระอรหันต์ไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆ อยู่ที่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่เท่านั้นเอง การต่ออายุนี่ต่อได้.. ต่อได้ แต่ต่อได้อย่างนั้น

แต่ที่เราต่อๆ กันอยู่นี้มันเป็นการอ้อนวอนขอ ถ้าอย่างนี้เราไม่เชื่อ ! เราไม่เชื่อหรอก แล้วอยู่ที่เรานะ อยู่ที่เราว่าถ้าเรามีสติปัญญา เรามีสติดีนี่ไม่ตายหรอก คนเราจะตายเพราะขาดสติ คนเรามีสตินี่ไม่ตาย

ถ้าคนมีสติพร้อมแล้วบอกว่า “จะตายแล้ว โอ้โฮ.. จะตาย” คนนั้นไม่ตายหรอก แต่ไอ้คนบอก “โอ้โฮ.. ฉันจะอยู่อีก ๑๐๐ ปี” นี่เดี๋ยวพรุ่งนี้มันจะตาย เพราะว่ามันเผลอ มันลืมตัว แต่คนบอกว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ตาย” แต่พรุ่งนี้มันไม่ตายหรอก เพราะสติมันพร้อม สติมันอยู่กับตัวเองตลอด ไม่ตาย..

นี่ไงว่าการต่ออายุไง การต่ออายุนี้ เพราะว่าอยู่อีกกี่กัปก็อยู่ได้...

การต่ออายุนี้ ใช่ ! สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อ้าว.. ถ้ากรรมมันถึงเวลาแล้วมันต้องตายเหรอ.. ใช่ ! มันเป็นไปตามกรรม แต่กรรมนี่เห็นไหม มีกรรมดีและกรรมชั่ว กรรมมันต่อเนื่องกันไปได้ ฉะนั้นเรื่องต่ออายุ เพียงแต่ว่าให้มันเป็นไปตามความจริง คือว่าไม่ให้ไปตื่นเต้นกับมัน

“ความจริงคือสัจธรรม คือทำสัจธรรมให้เกิดขึ้นให้เห็นตามความเป็นจริง อันนี้เป็นคุณธรรมอันนี้ดีกว่า” แล้วต่ออายุหรือไม่ต่ออายุนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นอย่างนี้มันเป็นเรื่องของทางโลกเขาเนาะ ตอบเท่านี้แหละเนาะ เอวัง