เทศน์พระ

เทศน์พระ ๒๙

๑๑ ต.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ...ชาล้นถ้วยนะ ถ้าชาล้นถ้วยมันไม่เข้า ถ้าเราทำให้ถ้วยเราไม่มีน้ำ น้ำมันจะเข้าในหัวใจเรา ก่อนเข้าพรรษา การมาจำพรรษาเห็นไหม ภิกษุธุดงค์ไป วิเวกไปธุดงค์ไป ก่อนเข้าพรรษาต้องหาที่ปักหลักเพื่อจะได้เร่งความเพียร เพื่อจะเร่งความเพียรนะ

ก่อนที่จะมีธรรมวินัย ภิกษุไม่มีการจำพรรษา ไปตลอดทั้งปี แต่เวลาเข้าหน้าฝนเห็นไหม ขนาดคฤหัสถ์เขายังต้องทำเสบียงเลย เขาต้องทำนาเขาต้องทำไร่ของเขาเพื่อปีหนึ่งเขาจะได้มีข้าวมีอาหารของเขาตลอดปีเห็นไหม

เวลากองทัพนะเขาจะรบกันนะ ไทยรบพม่านะ พม่ารบไทยเห็นไหม ก่อนจะรบกัน เขามาทำนาที่ทุ่งใหญ่นะ ทุ่งใหญ่นเรศวร เขาจะส่งกองทัพมา ส่งคนมาทำเสบียงก่อน ทำเสบียงเสร็จแล้วกองทัพเขาถึงตามมา

นี่เห็นไหมก่อนจำพรรษาเราก็ธุดงค์มา เราก็รักษาของเรามาเห็นไหม เราวิเวกของเรามา ก่อนเข้าพรรษาเราหาที่เพื่อจะทำเห็นไหม “ทำเสบียงของใจ” ถ้าใจมีเสบียงนะ เราจะมีหลักมีเกณฑ์ของเราเห็นไหม ถ้ามีหลักมีเกณฑ์มันมีหลักมีเกณฑ์มาจากไหน? เห็นไหมใจคึกใจคะนอง

การแสดงออกของใจมันแสดงออกมาทางกิริยาภายนอก ถ้ากิริยาจากภายนอกมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากหัวใจนะ ถ้าหัวใจเห็นไหม จะหาเสบียงของมัน ต้องหักแข้งหักขามันนะ คนเรามันดิบ ใจมันดิบมากนะ

“สันดานดิบ” สันดานดิบของมนุษย์นะ มันทำลายตัวเอง เราชนะเขา เรามีศักยภาพขนาดไหน ทางโลกว่าเราชนะเขานะ แต่ในทางธรรมมันแพ้ตัวเองตลอดเห็นไหม เพราะการกระทำต่างๆ มันกลับมาที่เรานะ

“ใช่” การแสดงออกเวลาแสดงออกไป เราคิดว่าเราเป็นฝ่ายข่มขี่เขาได้ แต่ผลของมันที่ตามมาไง ผลของมันที่ตามมานะ “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านได้ยินโยมเขาคุยกันไง ว่าเขาจะไปหาหนองอ้อ เขาเห็น เขาอ่านในประวัติหลวงปู่มั่น แล้วเขาก็ไปหาหนองอ้อนะ แล้วเขาก็มาพูดให้หลวงตาฟัง หลวงตาท่านก็ยิ้มๆ เฉยๆ นะ เพราะหนองอ้อนะมันคือ “อ้อ”อยู่ในหัวใจไง มันไม่ได้อยู่ในหนองอ้อหรอก ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมที่โคนต้นโพธิ์เห็นไหม

โคนต้นโพธิ์เราก็ปลูกต้นโพธิ์กัน มันเป็นสัญลักษณ์นะ แต่จริงๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาในหัวใจของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก แต่ร่างกายนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้นเห็นไหม เราก็ไปหาโคนต้นโพธิ์กัน เราไปหาสัญลักษณ์แต่ภายนอกกันนะ ไปหาหนองอ้อกัน หาหนองอ้อแต่หาไม่เจอเห็นไหม หนองอ้อมันอยู่ที่ไหน หนองอ้อมันอ้อที่ใจนะ อ้อกลับมาที่ใจ ที่ในหัวใจนี้

ถ้าเรารุกรานเขา เราเอาเปรียบเขา เราชนะคะคานเขาเห็นไหม มันว่าเป็นความชนะในเรื่องของกิเลสเห็นไหม แต่ถ้าเรื่องเป็นทางธรรม ถ้าเรื่องเป็นทางธรรมอย่างนี้สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นนะ เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในสมัยพุทธกาลนะ สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร จะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มาถึงกลางคืน จัดที่นอนกัน หาที่นอนกันนะ หาที่นอนกันเห็นไหม คือว่าจัดกุฏิทำความสะอาดกัน ปัดกวาดทำความสะอาดแล้วเสียงดังมาก สมัยนั้นพระนาคิตะเป็นพระอุปัฏฐากอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า

“นาคิตะ ข้างนอกเขาทำอะไรกัน”

“ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรจะมากราบคาราวะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “นาคิตะไล่เขาออกไป เหมือน

ชาวประมงเขามาหาปลากัน” มันหนวกหู เหมือนชาวประมงนะ มันทำเสียงดัง ทั้งๆ ที่มันจะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้พระนาคิตะไล่ออกไป ไล่ออกไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสั่งสอนนะ นี่ไง นี่ธรรมใช่ไหม เวลาผู้ชี้นำมันมีเหตุการณ์ขึ้นมา ไล่ออกไปๆ จนเทวดามาอาราธนานะ ว่า “สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเป็นพระบวชใหม่ ไม่รู้กติกาอะไรหรอก ไม่รู้อะไรควรไม่ควร ไม่รู้ว่าที่สงัดหรือไม่เป็นที่สงัด” แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไล่ออกไปอย่างนี้มันเสียโอกาสของเขานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้พระไปตามกลับมาเห็นไหม แล้วเทศนาว่าการ มีผู้บรรลุธรรมมหาศาลเลย แต่ขณะที่มายังไม่เข้าใจเห็นไหม ไม่เข้าใจว่าข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควร ก็มาดี เจตนาดี จะมาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมาจัดที่กัน ทำความสะอาดเห็นไหม จัดกุฏิกัน แต่เสียงดัง เสียงดังของเขาเขาก็ว่าไม่ดัง ไม่ดังเพราะอะไร? เพราะว่าเขาคนมันหยาบไง คนที่กำลังทำอยู่ คนอยู่ในเสียงว่าไม่ดัง

แต่ขณะคนที่เขาภาวนานะ ชวนะมันดี ตาดี หูดี จมูกดี ทุกอย่างดีไปหมดเลย เสียงเบาๆ มันก็ได้ยิน ทุกอย่างมันก็ได้ยิน แล้วมันเสียงดังนะ พอเสียงมันกระทบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “นาคิตะ นั่นเขาทำอะไรกัน” พระนาคิตะก็รายงานเห็นไหม ว่า “เขาทำความสะอาด สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรจะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เหมือนชาวประมงเขาหาปลากัน ดูสิเวลาเขาขึ้นปลาที่ท่าปลา มันต้องใช้ความเร็วขนาดไหน เพราะของมันสด เขาจะส่งเสียงอึกทึกครึกโครมมาก เหมือนชาวประมงเขาหาปลากัน เสียงมันดังเห็นไหม มันสะเทือนใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้สั่งสอนเห็นไหม

“แพ้เป็นพระ” หมายถึงรู้ทันตัวเอง รู้ทันความรู้สึกของตัวเอง แต่ผู้นำเห็นไหม ผู้ที่เป็นกรรมการ สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เป็นผู้ที่สั่งสอน เหมือนกับการแข่งกีฬาเลย ถ้ากรรมการลำเอียง การแข่งกีฬานั้นจะดูไม่สนุก การแข่งกีฬานั้นจะไม่เป็นธรรม

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมเห็นไหม สิ่งที่เป็นธรรม “ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก” อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด อะไรถูกก็ต้องว่าไปตามถูก กีฬาถ้าผิดกติกาก็ต้องเป่าฟาวน์ว่าสิ่งนั้นมันเสียหาย นี่ไงเกมส์มันผิดกติกา

สิ่งที่เราไปในที่สงัดหรือที่ไม่สงัดก็เหมือนกัน ที่สงัดเห็นไหม ถ้าผู้ที่เคยอยู่ในที่สงัดจะเข้าใจเรื่องสภาวะแบบนี้ มันจะเกรงใจนะ เพราะอะไร? เพราะเรา ดูสิ เรานั่งทำความสงบของใจ มันทำกันได้ยาก แล้วสิ่งที่เราจะมีความสงบบ้าง เรากำลังจะจิตสงบขึ้นมา มันจะต้องตั้งสติขนาดไหน แล้วเสียงที่มันกระทบกระเทือนออกไป จิตที่มันจะส่งออก อย่างนี้มันทำขึ้นมาแล้วมันสะเทือนใจไหม มันสะเทือนใจนะ

ถ้าใจที่มันนุ่ม ใจที่มันอ่อนควรแก่การงาน มันจะเห็นสิ่งสภาวะแบบนี้ เราจะไปกีดไปขวางเขาไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านว่าเห็นไหม “ทัพพีขวางหม้อ” ทัพพีมันอยู่ในหม้อ มีหน้าที่อย่างเดียว ตักอาหารให้คนอื่นกิน มีหน้าที่อย่างเดียวเห็นไหม ตักจากหม้อนี้ไปหม้อนั้น ตักจากหม้อนั้นไปหม้อนี้

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาว่าการ เทศน์ทั้งนั้น เทศน์ออกไป แล้วผู้ที่ฟังเห็นไหม อาหารไง อาหารนี้ ถ้าเขาศึกษาทางการแพทย์มา เขาไม่กินอาหารทั่วๆ ไปนะ เพราะมันมีสารพิษ ยิ่งเดี๋ยวนี้นะ แช่ฟอร์มาลีนทั้งนั้นเลย อะไรก็มีสารพิษๆ แต่พวกเรามันเลือกไม่ได้เห็นไหม อะไรมาบิณฑบาตตามมีตามได้ ถ้าตามมีตามได้จะพิษไม่พิษมันก็แล้วแต่เวรแต่กรรม

ในสังคมมันเป็นแบบนี้มันก็เป็นแบบนี้ สิ่งอะไรตกบาตรมาก็เท่านั้นแหละ เห็นไหม แต่ถ้าคนมีการศึกษานะ เขาเลือกอาหารของเขา สิ่งนี้เป็นสารพิษเขาไม่กินของเขา เพราะอะไร? เพราะเขาศึกษามาเขารู้

ถ้าใจของเรา เราศึกษาถึงข้อวัตรปฏิบัตินะ เราจะรู้สภาวะแบบนี้ ถ้ารู้สภาวะแบบนี้มันไม่ควรจะไปกระทบคนอื่นเห็นไหม ถ้าทัพพีขวางหม้อ มันก็ลงหม้อ เข้าหม้อนั้นออกหม้อนี้ หม้อนี้หม้อนั้นไปเห็นไหม มันตักอาหารให้เขากิน

เวลาเทศนาว่าการเห็นไหม เทศนาว่าการกันทั้งนั้นแหละ เทศน์กันทั้งนั้น ดูสิ ดูสังคมโลก เขาไม่รู้อย่างนี้ไง เหมือนเลย เวลาพระที่มรณภาพไปเห็นไหม “โอ้โฮ..แม่ทัพธรรม” แม่ทัพธรรมเสียไปแล้วนะ “แม่ทัพธรรม” มันแม่ทัพธรรมอะไร? แม่ทัพธรรมเทศน์ออกมาจากตำรา แต่ความประพฤติของตัวกลับไปอีกอย่างหนึ่งนะ

ความประพฤติของตัวกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนละเรื่องกันเลย แต่ถ้ามันเป็นธรรม หัวใจนะ ธรรมมันแสดงออกมาจากใจ ถ้าแสดงออกจากใจ วิธีที่จะได้ธรรมนี้มา มันได้มาอย่างไร ถ้าวิธีทำที่จะได้ธรรมนี้มา สิ่งที่จะได้มาเห็นไหม เหมือนกับคนเจ็บคนป่วย เริ่มต้นถ้าเราจะดำรงชีวิตอย่างนี้ ผลสุดท้ายบั้นปลายของมันจะเป็นโรคนั้น..โรคนั้น..

ข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความกระทบกระเทือนกันอย่างนี้ ถ้ายังมีสิ่งที่กระทบกระเทือนกัน สิ่งกระทบกระเทือนมันคืออะไร? ถ้ามีสิ่งที่กระทบกระเทือนกัน มันไม่มีฝ่ายใดถูกเลย มันผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย สองฝ่ายเพราะอะไร? เพราะกระทบกระเทือนกันใช่ไหม สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน ถ้าขึ้นต้นมันเป็นอย่างนี้ บั้นปลายมันจะเป็นอย่างไร?

แต่ถ้าเราหลบหลีกกันเห็นไหม ก็เหมือนกับการแพ้เป็นพระ สิ่งที่เป็นพระ เราเป็นพระ สิ่งที่เป็นพระอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันทันเรานะ แล้วเสร็จสิ้นเหตุการณ์นั้นไปเราจะภูมิใจมาก ภูมิใจเพราะเราได้ฝึกใจเรา

ฝึกใจเรานะ ใจเรามันไม่ยอมใครหรอกเห็นไหม สันดานมันดิบ คนเรานะดิบมาก แล้วสันดานดิบนะ เจอธรรมเข้าไปมันยิ่งต่อยอดกิเลสให้สูงขึ้นไปอีกนะ นี่ไงสันดานดิบ แล้วรู้ธรรมอีกต่างหากนะ ธรรมเป็นข้อวัตรอย่างนี้ สภาวธรรมเห็นไหม แต่ธรรมอย่างนั้น มันคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก แต่ความสันดานดิบของเรามันดิบอย่างนั้นเห็นไหม มันต่อยอดของกิเลสให้มากขึ้นไปนะ

แล้วผู้ที่ทำอย่างนั้นไปเทศนาว่าการเห็นไหม “แม่ทัพธรรมๆ” เวลาเทศนาว่าการออกไป แล้วใครมันจะรู้เล่า ก็หูมันไม่ถึง เวลาพูดกับเด็กเห็นไหม เด็กมันไม่เคยผ่านประสบการณ์มา เราจะบอกว่าที่นั่นมีคิงคองมีอะไร เราพาไปดูเด็กมันก็อยากไปดูทั้งนั้น แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะ สมัยนี้มันมีไหมล่ะ มันสูญพันธุ์ไปแล้ว อย่างไดโนเสาร์ ไปดูไดโนเสาร์มันก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ไม่ได้ไปดูไดโนเสาร์มีชีวิตจริงเห็นไหม

แต่ถ้าเราไปเจอกิเลส นั่นไดโนเสาร์ในชีวิตจริงนะ สิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา มันเหยียบย่ำหัวใจเรา นี่แหละไดโนเสาร์ ไดโนเสาร์มันนอนอยู่ในใจนะ แล้วเราไม่เคยเห็นกาย ถ้าใครเคยเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมจะเห็นไดโนเสาร์ เพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้แสดงออกนะ กิเลสนี้มันแสดงออกด้วยอะไร?

มรรค ผล นิพพาน มันอยู่ในวัตถุไหม ดิน น้ำ ลม ไฟ เห็นไหม ภูเขาเลากาวัตถุต่างๆ แก้วแหวนเงินทอง ดูสิเพชรนะ ธรรมะอยู่ในเพชรไหม ในเพชรมันเป็นแร่ธาตุนะ มันไม่รู้อะไรเลย สิ่งต่างๆ นั้นมันไม่มีชีวิตมันไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แล้วมันมีกิเลสไหมล่ะ มันมีกิเลสไหม รูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นกิเลสไหม มันไม่ใช่กิเลสหรอก แต่นี่มันเป็นบ่วง เห็นไหมมันเป็นบ่วงเป็นเครื่องล่อ เพชรนี่เป็นเครื่องล่อ ถ้าพูดถึงใครก็อยากมีเพชร ใครก็อยากมีแก้วแหวนเงินทอง มันเป็นเครื่องล่อ ล่อให้เราแสวงหา

แต่ถ้าเรามีคุณธรรมในหัวใจนะ ปัจจัยเครื่องอาศัย ข้าวปลาอาหารสำคัญกว่าเพชรนิลจินดานะ เพชรนิลจินดากินไม่ได้ แต่ศักยภาพของมนุษย์เห็นไหม เพชรนิลจินดามันขายเป็นเงินมา แล้วเอาเงินไปแลกข้าวได้มหาศาลเลย กองเท่าจรดขอบฟ้าเพราะเพชรมีราคามาก แต่เพชรมันกินไม่ได้ คนว่าเพชรกินไม่ได้ แต่คนก็ต้องการสิ่งนั้น เพราะต้องการสิ่งที่มีคุณค่า เพราะมันแลกเปลี่ยนมาเป็นอาหารได้มหาศาล

แต่ถ้าปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย อาหารสำคัญกับการดำรงชีวิต ถ้าอาหารสำคัญกับการดำรงชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมันก็ต้องการเท่านี้ ถ้าต้องการเท่านี้เห็นไหม มันก็ย้อนกลับมา ทุกข์สุขมันอยู่ที่ไหน? นิพพานมันอยู่ที่ไหน? นิพพานมันอยู่ที่กิริยามารยาท มันอยู่ที่นั่นเหรอ แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหน?

เวลาแสดงธรรมนะ “แม่ทัพธรรม” โอ้โฮ..เวลาแสดงธรรมนะสุดขอบฟ้าเลยนะ แต่พฤติกรรมล่ะ ที่หลวงตาว่า “โง่ยิ่งกว่าหมาตาย” หมาตายนะ โง่ยิ่งกว่าหมาตายอีก เพราะอะไร? เพราะมันไม่รู้กิริยา หมามันตายน่ะ หมามันตายมันมีชีวิตไหม แล้วยังโง่กว่านั้นอีกนะ

เวลาแสดงธรรม “ที่ว่าเป็นธรรมๆ” คำนี้ใครแสดงออกมา โง่ยิ่งกว่าหมาตาย เพราะมันคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พฤติกรรมของตน พฤติกรรมการกระทำ พูดถึงถ้ามีคุณธรรม พฤติกรรมการกระทำมันต้องรู้เหตุรู้ผล พฤติกรรม ความเป็นไปของเหตุและผลมันเป็นธรรมไปไม่ได้ ถ้าออกมาเป็นสิ่งที่ว่า ขัดขวางกันไป สิ่งที่ไม่เห็นประโยชน์ของความสงบวิเวก

ในความสงัดนะ ในความสงบวิเวก ในหมู่คณะเราต้องการอะไร ต้องการความสงบ ต้องการความสงัดเห็นไหม เรามาบวชกันทำไม สิ่งที่บวชนะ เขาอยู่ทางโลกกันแต่เรามาเสียสละนะ สมบัติสาธารณะ ทุกคนมีคู่ครองได้ สมบัตินี้หาได้ทุกคนนะ สมบัตินี้เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัตินี้เป็นของโลก สมบัตินี้ผลัดกันชม ดูสิ คู่ครองก็เหมือนกัน หญิงกับชายแต่งงานกัน เขาเป็นสาธารณะ แต่งงานไม่ผิดกฎหมาย ถ้ารักกันชอบพอกัน ไปได้ด้วยกันไม่ผิดกฎหมาย

แต่เราเสียสละออกมาเป็นพรหมจรรย์ หนึ่งเดียว ไม่ต้องการสภาวะแบบนั้น เราเสียสละสิ่งนั้นมาแล้ว สิ่งที่เป็นโลกๆ เราเสียสละมา เราเสียสละมาเพื่ออะไร เพื่อพรหมจรรย์จากภายนอกเห็นไหม เพื่อพรหมจรรย์จากภายนอกเราเสียสละกันมา หัวอกเดียวกันนะ เพราะอะไร? เพราะจิตใจมันเร่าร้อน จิตใจมันต้องการ จิตใจมันยังแสวงหาอยู่ แสวงหาโดยที่ว่ามันอยู่ในหัวใจของเรา เราจะพูดหรือไม่พูดก็แล้วแต่ มันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่มันดีดดิ้นในหัวใจ

สิ่งที่ดีดดิ้นในหัวใจ แล้วเราปรึกษากัน เราหาทางกันว่าเราจะทำลายมันอย่างไร เราจะชำระมันอย่างไรเห็นไหม สิ่งที่จะชำระมัน แล้วการชำระเริ่มต้นเราต้องแสวงหา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นั่นน่ะไดโนเสาร์ การเห็นครั้งแรกเพราะผู้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นแล้วมันจะตื่นเต้นมาก

ถ้าเราไปโรงพยาบาลนะ แล้วหมอตรวจพบว่าเราเป็นมะเร็ง แล้วบอกว่า “คุณเป็นมะเร็ง” เราจะตกใจไหม?? ต้องตกใจ ทุกคนต้องตกใจถ้าบอกว่า เราเป็นมะเร็ง แล้วอีก ๖ เดือนต้องตาย ทุกคนจะตกใจหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม คือมันไปเห็นกิเลส ถ้าเรามีโอกาส ถ้าเรารักษามัน มันต้องตายเห็นไหม เหมือนกัน! ถ้าเราไปหาหมอ แล้วหมอบอกว่า เราเป็นมะเร็ง ทุกคนจะตกใจไหม โดยธรรมชาติเลยทุกคนต้องตกใจ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงเราไปเห็นกาย เห็นไดโนเสาร์ เห็นกิเลส ทุกคนมันต้องสะเทือนใจ แล้วเป็นมะเร็งแล้ว จะรักษามะเร็งหายหรือไม่หาย มีโอกาสรักษาไหม

เป็นมะเร็งขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ถ้าขั้นที่รุนแรงจะยังรักษาได้ไหม ขั้นที่ ๑ รักษาทันยังรักษาได้เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นกายขึ้นมา เรารักษาได้ไหม ถ้าเรารักษาขึ้นมาเห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม คือเห็นไดโนเสาร์ เห็นตัวกิเลส แล้วเราจะสู้มันไหวไหม ถ้าเราจะสู้มัน เราจะต่อสู้กับมันอย่างไร เวลาหมอเขารักษา เขาต้องให้คีโมนะ จะรักษาทางธรรมชาติรักษาทางชีวจิตก็ได้ จะรักษาทางสมุนไพร หรือจะรักษาทางไหนก็รักษาทางนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา จิต ธรรมเราจะต่อสู้ทางไหน ถ้าจะต่อสู้เห็นไหม ถ้าไดโนเสาร์ที่นี่ เราจะมาปลุกเร้ากันที่นี่ เราจะมาทำกันที่นี่ สิ่งต่างๆ ที่มันผ่านมาแล้วให้มันผ่านกันไป สิ่งที่ผ่านมาเห็นไหม

“อริยวินัย” ผู้ที่ทำความผิด แล้วรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นความผิด สิ่งนั้นประเสริฐที่สุดเห็นไหม สิ่งที่ได้ผ่านมาแล้ว ทุกคนควรให้อภัยต่อกัน เป็นอริยประเพณี

นี่อุโบสถนะ ถ้าคราวนี้เป็นวันปวารณาเห็นไหม “ถ้าข้าพเจ้ามีความผิดให้เตือนด้วย ถ้าข้าพเจ้ามีความผิดให้เตือนด้วย” ทุกคนเปิดโอกาสให้เตือนต่อกัน เตือนกันถ้ามีความผิดพลาดให้เตือนต่อกัน เพราะอะไร? เพราะนี่คือสังฆะไง ศากยบุตรพุทธชิโนรสไง ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ภิกษุ ๖๑ องค์ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยที่เป็นพระอรหันต์ “เธอพ้นทั้งจากบ่วงที่เป็นพิษและบ่วงที่เป็นโลก” เห็นไหม “ให้ไปอย่าซ้ำทางกัน” เพราะอะไร? เพราะประชาชนเขาเดือดร้อนมาก ประชาชนเขาต้องการธรรมะมาก

ถ้าให้เผยแผ่ธรรมนะ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้กว่ามันจะได้มา กว่ามันจะแสวงหา แล้วนี่ก็เหมือนกัน เราเป็นสังฆะ เราเป็นพระด้วยกันเห็นไหม ถ้าเป็นพระด้วยกันเราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร อย่างน้อยก็เอาตัวรอดให้ได้ก่อน ถ้าเราเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

ดูสิ การแสดงธรรมกับการประพฤติปฏิบัติ การแสดงธรรมกับการประพฤตินะ ถ้ามันเป็นธรรมจริงในหัวใจนะ อย่างพระสารีบุตรเห็นไหมเป็นพระอรหันต์ ยังกระโดดข้ามคลอง นั่นเป็นกิริยาจากภายนอก

แต่เรื่องการทำความผิดพลาดมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไร? เพราะการจะทำความผิดนี้มันเป็นอกุศล อกุศลมันออกมาจากใจนะ เราจะกินดื่ม จะเข้าห้องขับถ่ายต่างๆ มันมาจากไหน มันมาจากใจจากความรู้สึกทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีใจรู้สึกนะ คนตายนะ มันไม่มีหรอก มันไม่ขับถ่ายอยู่แล้ว มันไม่ต้องกินก็ไม่ต้องแสวงหาอะไรทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสะอาดขึ้นมา มันจะทำอกุศลได้อย่างไร มันจะทำอกุศลไม่ได้ สิ่งที่ทำอกุศลไม่ได้เพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นจิตมันเสวยอารมณ์เห็นไหม ดูสิเวลาเขาเทศนาว่าการ “ไม่มี อะไรก็ไม่มี” มรรคผลที่ได้คือความไม่มี ความไม่มีคือธรรม โลกคือมี ธรรมคือไม่มี แล้วไม่มีก็คือไม่มี แล้วไม่มีอะไรมันไม่มีล่ะ? มันไม่มีคืออย่างไร?

มันมี ! นิพพานมันมีนะ จิตนี้มันมี ธรรมธาตุมันมี

แล้วธรรมธาตุเวลามันเสวยอารมณ์ มันกระเพื่อมออกมารับรู้ ถ้ามันไม่ออกมารับรู้ มันก็เข้าไปอยู่ในตัวมันเอง นี่คือนิพพาน “สอุปาทิเสสนิพพาน” พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่นะ ใจนะ พระอรหันต์นะมนุษย์ที่เดินอยู่นี้ ใจที่เป็นนิพพานนี่ มันเดินอยู่นี่นะ แต่ใจเป็นนิพพาน

แล้วมันอยู่ในใจของมันนะ ใจที่มันอยู่ทรงตัวของมัน นี่คือนิพพาน แล้วถ้ามันออกมารับรู้นะ นี่คือมันเสวยอารมณ์ มันก็กระเพื่อมออกมา กระเพื่อมออกมานี้อะไรมันกระเพื่อมออกมา แล้วอะไรมันไม่มี? มันมีชัดๆ อยู่นี่ แล้วมันจะไม่มีได้อย่างไร มันเสวยอารมณ์ มันกระเพื่อมออกมา พอมันรับรู้ออกมา นี่คือสติเป็นอัตโนมัติไง

สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต สติไม่ใช่จิต !

ถ้าสติมันเป็นจิต สติอยู่กับเรา เราต้องไม่เผลอ เรามีความเคลื่อนไหวเรามีสตินะ เราเดินอยู่เหยียบแก้วเหยียบหนามนะ มันยังเผลอตลอดเวลา แล้วสติมันอยู่ไหนละ ถ้าจิตมันมีอยู่เห็นไหม

ขณะที่ฝึกนี้เป็นสติโดยสมมุติ โดยปุถุชน นี่เป็นสติของมนุษย์เขา แล้วสติของกัลยาณปุถุชน สติของพระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผลเห็นไหม

การอรหัตตมรรค อรหัตตผลนะ อรหัตตมรรคนะมันยังมีช่องว่าง ขนาดว่าสติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ อรหัตตมรรคน่ะ แล้วมัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำไมมันไม่ฆ่ากิเลสล่ะ ทำไมมันถึงมี อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑ นะ

พอนิพพาน ๑ พอสิ้นสุดกระบวนการ สอุปาทิเสสนิพพานนะ นี่ละสติกับจิตมันอันเดียวกัน จากที่สติมันเป็นสมมุติที่จะต้องสร้างขึ้นมา แล้วสติกับจิตเป็นอันเดียวกัน สติมันพร้อมตลอดเวลา พร้อมในอริยสัจ พร้อมในความรู้นะ แต่ไม่ได้พร้อมในขันธ์

ขณะที่จิตมันกระเพื่อมออกมา แล้วมันรับรู้ในขันธ์เห็นไหม ขันธ์ คือ สัญญาสังขาร ความปรุงแต่ง เห็นไหม นี่คือขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ เป็น “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์นี้เป็นภาระ ความคิดนี้เป็นภาระ สิ่งต่างๆ เป็นภาระของจิต ถ้าจิตออกมาเป็นภาระเห็นไหม จะทำงานต่างๆ จิตจะต้องคิดต้องแสวงหาต้องสื่อสารกัน สิ่งที่สื่อสารออกมานี้ มันสื่อสารออกมาด้วยขันธ์ สมมุติไง

ขันธ์ ๕ นี้เป็นสมมุติ ร่างกายนี้เป็นสมมุติ แต่จิตมันเป็นพระอรหันต์ “มี” พระอรหันต์มี จิตมันเป็นอย่างนี้แล้วจิตมันเป็นอัตโนมัติด้วย อัตโนมัติในอะไร? ในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ถ้ามันเป็นทุกข์ จิตนี้มันรับรู้ตลอดเวลา แล้วมันจะทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อจิตมันรับรู้ตลอดเวลา แต่ขณะที่เราเป็นครูบาอาจารย์เห็นไหม เราจะต้องแสดงธรรม สื่อออกมา ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม “ธรรมที่เราแสดงอยู่นี้มันก็แค่ใบไม้ในกำมือนะ แต่ความรู้จริงมันเหมือนใบไม้ในป่านะ” ถ้าเหมือนใบไม้ในป่า จิตที่เป็นพระอรหันต์ ใบไม้ในป่าที่มันจะแสดงออกมาได้อีกมีมหาศาลเลยเห็นไหม

แต่เวลาที่เราศึกษากัน ศึกษาในพระไตรปิฎก การศึกษาการแสดงธรรมต้องแสดงในกรอบนี้เท่านั้น เห็นไหม แต่เวลาที่ครูบาอาจารย์ของเรา แสดงธรรมออกมา มันไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรอก

ในพระไตรปิฎกบอกแต่เหตุไว้ทั้งหมดนะ แล้วผลของมันเกิดจากไหน ผลของมันเกิดขึ้นมาจากใจ ใจนี้มันเป็นผลขึ้นมา ถ้าเป็นผลขึ้นมา การที่เกิดมีผลขึ้นมาในหัวใจแล้ว ทำไมมันจะเทียบเคียงออกมาเป็นสิ่งที่เราสอนลูกศิษย์ไม่ได้ มันเทียบเคียงออกมาได้ทั้งนั้น

สิ่งที่ออกมาเห็นไหม ออกมาเป็นภาษาสมมุตินะ แล้วภาษาสมมุติเห็นไหม ถ้ามันมีจริงขึ้นมา ออกมาเป็นสมมุติ สมมุติมันต้องรู้จริง

สมมุตินี้เป็นสมมุติ แต่มันออกมาจากการเทียบเคียงของการรู้จริงของใจดวงนั้น

เพื่อให้เราตีความขึ้นไป ถ้าจิตมันถึงอันเดียวกัน มันจะรู้จริงเหมือนกันอันนั้นเห็นไหม

มันถึงมีอยู่ แล้วมีอยู่แบบอัตโนมัติด้วย จิตกับสติทุกอย่างเป็นอัตโนมัติกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นในอริยสัจนะ ไม่ใช่อัตโนมัติโดยทั่วไปนะ ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ไปหาหมอ ยังต้องให้หมอรักษาเลย หมอเขาจะรักษาเขาจะดูแลของเขาไป ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ เจ็บไข้ได้ป่วย จะมีหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้รักษาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัยนะ มีปัญญามหาศาล รับรู้ได้ไปหมดเลย แต่ทำไมหมอชีวกโกมารภัจจ์ยังจะต้องมารักษาพระพุทธเจ้าล่ะ สิ่งที่หมอชีวกโกมารภัจจ์มารักษา เพราะว่าเขาเรียนหมอมา เขาชำนาญของเขา มันเป็นวิชาชีพสายตรงของเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เข้าใจได้หมด

ถ้าพูดถึงนะ จิตมันปล่อยวาง “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ธาตุขันธ์มันเจ็บไข้ได้ป่วย มันชั่วคราว มันเป็นอนิจจัง ทุกสรรพสิ่งเป็นอนิจจังนะ

สิ่งที่รักษานี้ “มรรคญาณ” นะ มันเหมือนอริสัจ อริยสัจคือเรื่องของมรรค แล้วเรื่องของมรรคมันเป็นเครื่องดำเนินไป สิ่งที่ดำเนินไป มันดำเนินไปจากไหน มันดำเนินไปจากข้อวัตรปฏิบัตินะ

จะย้อนกลับมาที่ผู้ที่จิตมันเป็นธรรม มันจะเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องความจริง เรื่องความจำเป็น

เรื่องความจำเป็นคือว่า ทุกคนให้มีช่องทาง ทุกคนให้สะดวกสบายในการประพฤติปฏิบัติ เพราะอะไร? เพราะแต่ละสายแต่ละแนวทางเห็นไหม ดูสิดูคนที่เขามาทางน้ำ บางคนมาทางน้ำ บางคนมาทางบก บางคนมาทางอากาศ จริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน ถ้าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน

ธาตุขันธ์ เห็นไหม ธาตุขันธ์อย่างนี้เราไม่สะดวก ถ้าเราสะดวกอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้ ถ้าจะทำอย่างนี้ก็บอกหมู่กัน บอกว่า “อย่าทำอย่างนี้ให้เขา อย่าทำอย่างนี้” แล้วให้เขาเปิดช่องทางให้ไง แต่ถ้าไม่บอกเห็นไหม ทำไปแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็บอก “สิ่งนี้มันจะขัดแย้ง” ต้องให้ได้เหมือนกันเห็นไหม

ถ้ามันเป็นจริตนิสัย คำว่า “จริตนิสัย” นี้มันต้องคุยกันนะ เราอยู่ด้วยกันเห็นไหม เราอยู่บ้านตาดนะ รู้หมดว่าองค์ไหนฉันอะไรได้ องค์ไหนฉันอะไรไม่ได้ ถ้าฉันไม่ได้นะ ฉันไปแล้วมันแพ้นะ ดูสิดูอย่างตอนอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ พอฉันเข้าไป จะบวมหมด เจ็บๆ เห็นไหม มันไม่ได้แกล้งนะ คนแพ้นี่ไม่ได้แกล้ง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง สิ่งที่ท่านฉันไม่ได้ เราก็เอาออกสิ เราก็ไม่ให้ท่านฉันสิ แล้วเราเสียสละสิ ถ้าเราฉันอย่างนี้ได้ เราเอาอย่างนี้ สิ่งที่ท่านฉันได้เราก็เอาแลกกันสิ มันมีน้ำใจต่อกัน ถ้ามันมีน้ำใจต่อกัน นี่ไงใจที่เป็นธรรมไง

แล้วมันรู้กัน มันเข้าใจกัน มันเห็นใจกันนะ แล้วครูบาอาจารย์ตั้งแต่เริ่มต้นมา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติมา ไม่มีใครเขาเห็นดีด้วยหรอก เพราะอะไร? เพราะสังคมมันเป็นอย่างนั้น สังคมเขาว่า ศึกษาธรรม ศึกษากันอย่างนี้มันเป็นประโยชน์แล้ว ศึกษาธรรมโลกเขานับหน้าถือตาแล้วเห็นไหม เวลาเขาเทศนาว่าการไป

มันหูไม่ถึงไง พูดธรรมะทุกคนก็ยอมรับ แล้วธรรมะอย่างนี้มันเป็นธรรมะจำมาทั้งนั้น แล้วธรรมะจำมา ดูสิเวลาแสดงธรรมก็แสดงธรรมนะ แต่พฤติกรรมของตัวก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าพฤติกรรมของตัวอีกเรื่องหนึ่งอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ เพราะมือเห็นไหม มือถ้ามันมีแผล มันเป็นโรค มันกล้าจับสิ่งใดบ้าง หยิบไปมันก็มีแต่สิ่งที่ทำให้เชื้อโรคเข้าทั้งนั้น แต่ถ้ามือไม่มีแผล มันกล้าหยิบไปทั้งหมดล่ะ

แล้วมือไม่มีแผลทำไมมันไม่มีแผลล่ะ ดูสิ ถ้าเราไปโรงพยาบาลแล้วหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งแล้วรักษาอย่างไร? วิธีการรักษานะ ถ้าเรารักษามะเร็งหายนะ แล้วถ้าคนอื่นเป็นมะเร็ง ก็รักษาสิ บอกวิธีรักษานะ แล้วทำใจนะ เวลาฉีดคีโมเข้าไปแล้ว มันจะแพ้นะ มันจะแพ้มาก เพราะว่าทุกอย่างในร่างกายมันจะสูญเสียพลังงานทั้งหมด แล้วเราจะดูแลร่างกายเราอย่างไร เราจะกินอาหารเสริมอย่างไร แล้วเราจะสร้างกำลังใจเราอย่างไรให้กำลังใจเรากลับขึ้นมา เห็นไหม ถ้ากำลังใจกลับมาก็ทำได้

แต่ถ้าคนไม่มีกำลังใจเห็นไหม อะไรก็หยิบจับจดไปหมด ต่อสู้ไปหมดยุบยับไปหมด สู้ไม่ได้ พอสู้ไม่ได้ยิ่งไปเจอการให้คีโมมันยิ่งทรุดๆ เห็นไหม

ไปรักษาโรคนะ ยังไม่ทันรักษาเลย แต่มันจะช็อกตายไปก่อนนะ แต่ถ้าเราทำกันมา เรามีกำลังของเราขึ้นมา มันรักษาของมันได้

นี่ก็เหมือนกัน การงานภายในนะ งานภายใน พูดอย่างนี้ไปมันเหมือนกับว่า พูดเข้าข้างตัวเอง ก็เป็นพระนี่ พระก็ต้องว่าอะไรก็ลำบาก ปฏิบัติก็ลำบากหมด แต่หาบเหงื่อต่างน้ำ ตากแดดตากฝนนี่ลำบากกว่า

ลำบากกว่านะ งานก็ทำแบบพื้นๆ แต่ของเหล่านี้ มันจะอยู่ในที่ร่มหรือในที่แจ้งก็แล้วแต่ เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มันจะต่อสู้กับตัวเอง มันทำมาก่อนนะ ทำมาก่อนอดนอนอดอาหารนะ หิวนอนนี่มันทุกข์กว่าหิวข้าวไม่รู้ว่ากี่ร้อยเท่า

หิวนอน หิวข้าว อดอาหาร ๗ วัน ๘ วัน อดมาทั้งนั้น อดเป็นปีๆ ก็อดมาแล้ว อดนอนก็อดมาแล้วทั้งหมด อดอาหารด้วยอดนอนด้วย เวลามันหิวนอนมันทรมานแค่ไหน แล้วหิวนอนมันจะแก้ความง่วงได้อย่างไร แก้ความง่วงได้ หิวนอนขนาดไหนสู้มันไป สู้มันถึงที่สุด ๓ วัน ๔ วันแล้วไม่มีเลย หายหมด

เราเดินจงกรมนั่งสมาธิไปจนนอนไม่ได้เลย มันต่อสู้มาอย่างไร นี่ไง การต่อสู้กับมะเร็งไง การรักษาโรคมะเร็งจากหัวใจมันขึ้นมา แล้วรักษาโรคมะเร็งเราทำอย่างนี้ดูสิ คนทำเขาทุกข์ขนาดไหน ทุกข์ยากขนาดไหน แล้วหมู่คณะ เราจะเห็นใจกันขนาดไหน ถ้าหมู่คณะเห็นใจกัน มีการประพฤติปฏิบัติกัน สังคมเราก็จะมั่นคงเห็นไหม

สังคมในการประพฤติปฏิบัตินะ พระปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติแต่ปากกัน พระปฏิบัติมันก็ปฏิบัติไปอย่างนั้นล่ะ แต่พฤติกรรมความเป็นอยู่เห็นไหม พฤติกรรมความเป็นอยู่มันยิ่งกว่าวัดบ้านอีก วัดบ้านเขาไม่ออกไปยุ่งกับใครเห็นไหม กว้านไปหมดเลยเห็นไหม แต่บอกไม่ต้องกว้านไปหมด เราดูแลรักษาได้หมด เพราะอะไร? เพราะเราต้องการให้เกียรติของกรรมฐาน ให้เขาเคารพศรัทธาไง

เกียรติของกรรมฐานนะ เราไม่ต้องการให้ใครเขาดูถูกไง ครูบาอาจารย์ท่านไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกพระ พระเราเห็นไหมเป็นผู้ขอ พระเราเป็นผู้เห็นภัยในวัฎสงสาร เป็นผู้ขอแต่ข้าวเท่านั้น ให้เขาใส่บาตรมาเพราะอะไร? เพราะเป็นข้อวัตร

ภิกษุทำอาหารให้สุกเองไม่ได้ ในเมื่อภิกษุทำอาหารให้สุกเองไม่ได้ เขาก็ใส่บาตรให้เพราะถ้าเราไปทำอาหารให้สุกเอง มันจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์

สิ่งนี้เราทำไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าของทำได้ เราก็ทำเองทั้งนั้น นี่มันของทำไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะศาสนามันเสื่อม ถ้าภิกษุหุงหาอาหารกินกันเอง ชาวบ้านเขาก็ไม่มาดูแล แล้วบริษัท ๔ มันจะเป็นอย่างไร แล้วใครจะมาตรวจสอบศาสนา แล้วคนที่มันเป็นตัวหนอนเห็นไหม เป็นเพลี้ยนะ เป็นเพลี้ยเหลืองมันก็ทำไปตามประสามันน่ะสิ “คุณเล่นทำนากินกันเอง” ภิกษุทำเองมันก็เป็นสังคมของสงฆ์

ดูสิ สงฆ์เป็นแสนๆ องค์เห็นไหม แล้วสงฆ์ตั้งโรงสีเอง สงฆ์ทำมาหากินกันเองเห็นไหม แล้วปฏิบัติกันเอง แล้วสงฆ์ไปอยู่กับสงฆ์อย่างนี้ แล้วสงฆ์เอาข้าวไปขายให้ใคร แล้วสงฆ์เอาน้ำมันที่ไหนมาใช้

แต่ถ้าเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เขาใช่ไหม เขาอยู่ทางโลก เขาทำธุรกิจของเขา เขาทำบุญกุศลของเขา เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา แล้วเขาทำบุญกุศลขึ้นมาให้เทวดา อินทร์ พรหม ช่วยดูแลคุ้มครองเขา

สิ่งที่มันเป็นบริษัท ๔ “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา” อุบาสก อุบาสิกาเขาได้ทำบุญของเขา เขาได้แสวงหาของเขา เพราะเขาไม่มีวินัยเหมือนเรา เขาถือศีล ๕ เห็นไหม เขาถือศีล ๕ ศีล ๘ ของเขา เขาทำธุรกิจการค้าของเขาได้ เขาทำบุญกุศลของเขาได้ ทางคฤหัสถ์เขาก็เจริญงอกงามของเขา

“ภิกษุ” ภิกษุเป็นผู้ขอ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภิกษุต้องบิณฑบาต เพื่อจะไม่ให้ผิดธรรมวินัย ไม่ให้ผิดข้อวัตร ต้องมีวัตรปฏิบัติเห็นไหม บิณฑบาตเป็นวัตร ถ้าภิกษุเราประพฤติปฏิบัติไม่ดี ชาวบ้านเขาก็ไม่ใส่บาตรให้กิน เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ใส่บาตรให้กิน ต่างคนต่างเป็นไม้ค้ำยันกัน

ดูสิ ไม้สามเส้าไม้สามขา เห็นไหม ลูกเสือเขาตั้งไม้ยังทำซุ้มทำกระโจมได้ อันนี้มันสี่เส้านะ มันค้ำยันยิ่งกว่าอีกนะ ค้ำยันศาสนา แต่ที่เราทำกันอยู่นี้ ไม่ใช่ว่าเรางอมืองอเท้า เราไม่ทำ เราทำเพียงแต่ว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง เราทำเพื่อบริษัท ๔ เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของเจ้าลัทธิต่างๆได้ ยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่รับรู้สิ่งต่างๆ เราจะยังไม่ยอมปรินิพพาน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงต่างๆ ได้ ภิกษุ ภิกษุณี สามารถเข้มแข็ง” อยู่ด้วยกัน สังคมศาสนามันจะเจริญงอกงามไป นี่ไง “อีกสามเดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน”

เราไม่ใช่งอมืองอตีนนะ เราทำอยู่ในวัตรปฏิบัติเพื่อบริษัท ๔ เพื่อเราด้วย เพื่อบริษัท ๔ ด้วย ถ้าเพื่อเราอย่างเดียวนะ มันก็ไปโลดสิ เห็นไหม อยากทำอย่างไรก็ได้ ถ้าเพื่อเรา เราก็ธุดงค์ของเราสิ ธุดงค์อยู่ในป่าในเขา เราไปองค์เดียวเห็นไหม เราก็ทำของเราสิ ๒๔ ชั่วโมงจะทำอย่างไรก็ได้ จะตีแปลงขนาดไหนก็ได้ จะภาวนาไม่ภาวนาจะปีนป่ายยอดไม้ก็ได้ จะลงไปในถ้ำในเหวไหนเราก็ทำได้ทั้งนั้น ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียว

แต่ถ้ามันอยู่ในสังฆะ อยู่ในสังคม อยู่ในบริษัท อยู่ในโลกเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยนะ วางธรรมวินัยไว้เพื่อความเจริญงอกงามในศาสนา แล้วเราเป็นหนึ่งในบริษัท ๔ เราต้องรักษาของเรา รักษาของเรามันเท่ากับรักษาบริษัททั้ง ๔ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นหน้าที่ของเขา เราไม่สามารถไปบอกเขาได้หรอก ว่าไปทำอย่างไรๆ เพราะว่าศรัทธาไทย ต้องไม่ให้ตกร่วง แล้วเรารักษาของเรา เขาก็รักษาของเขา

ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมนะ ดูสิ ดูที่พระบิณฑบาตแล้วไม่ได้กินเลยเ เพราะเขาไม่เคยใส่บาตรเลย เพราะอะไร? เพราะทำกรรมมา ถ้าเราทำกรรมของเราดีนะ เห็นไหม สอนโดยไม่ต้องสอน ความเป็นอยู่ของเรา เขาเห็นของเขาเอง แล้วเขาดูแลรักษาเราทั้งนั้นนะ แต่ถ้าเราจะเรียกร้องนะ เขาไม่ให้หรอก เพราะอะไร? เพราะเขาเบื่อนะ

ในพระไตรปิฎกเห็นไหม เห็นวัว โคสีกัก มันเดินมา โอ้ย..วิ่งหนีกันหมดเลย กลัวภิกษุไปขอ “กลัวมาก” เพราะอะไร? เพราะเราไปกวนเขาเกินไป ถ้าเราไม่กวนเขาเลย เราอยู่ประสาเรา ถ้าเขาเข้าใจ ถ้ามีครูบาอาจารย์เคยผ่านมา เขาเคยอุปัฏฐากครูบาอาจารย์มานะ เขาจะอุปัฏฐากเรา ถ้าเขาไม่เคยมีครูบาอาจารย์ผ่านมา เขาจะไม่อุปัฏฐาก เราก็ฉันข้าวเปล่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรหรอก ถ้าไม่เป็นไรเราทำของเราได้นะ

ถ้าวันไหนเขารู้ขึ้นมาเห็นไหม ดูสิ เวลาพระแสดงธรรมนะ “โง่ยังกับหมาตาย” เวลาประพฤติปฏิบัติก็อวดเขาทั้งนั้น แล้วเวลาเขาไม่รู้ของเขา ก็นั่นไง ก็เขาไม่รู้ของเขา เขาไม่รู้ว่าภิกษุต้องอุปัฏฐากอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร

แต่ถ้าวันไหนเขารู้ขึ้นมา เขาจะคิดถึงเลยล่ะ เขาจะย้อนใจเลยว่า “แหม...พระองค์นั้นทนอยู่ได้อย่างไร เราไม่รู้เลย เราไม่เคยทำอะไรให้เลย ทำไมท่านอยู่ท่านก็ไม่บอกเรา” เห็นไหม ค่าน้ำใจมันจะเกิดทันทีถ้าเขารู้ นี่คือวุฒิภาวะเขาตามทัน แต่ถ้าเขาตามไม่ทันมันก็กรรมของสัตว์ เราก็อยู่ในคุณงามความดีของเรา เราก็จะไม่เอนเอียงไปกับเขา แต่ถ้าเราไปตามเขา เราจะไปบอกเขาเราจะไปจ้ำจี้จ้ำไช “ภิกษุต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้นนะ” เขาก็เบื่อหน่าย เห็นไหม นี่มันทำลายกัน

พูดถึงถ้าเป็นบริษัท ๔ เราอยู่ของเรา เรารักษาของเรา เราทำตามธรรมวินัย หน้าที่ของเราเราทำแล้ว หน้าที่ของคฤหัสถ์ หน้าที่ของฆราวาส เขาจะทำหรือไม่ทำ ถ้าเขาทำมันก็บุญกุศลของเขา ถ้าเขาไม่ทำเขาก็ไม่ได้อะไรในศาสนานี้ ถ้าเขาไม่ได้อะไรในศาสนานี้ มันก็เรื่องกรรมของสัตว์นะ

ถ้าเราได้ของเราเห็นไหม เราได้ของเรา เราได้รักษาโรคมะเร็งเราก่อน เพราะโรคมะเร็งมันเจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยนะ มันเรียกร้องมันต้องการมันต้องแสวงหา

โลกของกิเลสนะ โลกของสันดานดิบนะ หัวใจนี้มันดิบ ดิบๆ ในหัวใจเรา มันเตะถีบในหัวใจเรา มันดิ้นรนในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ “กิเลสตัณหาทะยานอยาก มันอยู่ในหัวใจ กำลังของมันยิ่งกว่าช้างสารตกมัน” เห็นไหม แล้วมันดิ้นอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราจะเอาอะไรไปควบคุมมันได้

มันก็ “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วถ้าควบคุมได้ ถ้ารักษาได้เห็นไหม ก่อนธุดงค์มาเราก็แสวงหาที่จะประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติเราเอาสิ่งนี้มาวัดใจเรา ถ้าวัดใจเรานะ มันเป็นสมบัติของเรา เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องสมบัติของเขา

สมบัติของเขานะ ใครทำดี ใครทำเลว มันเป็นของใจดวงนั้น กรรมมันเกิดแล้ว เราปลงอาบัติกันนี้ สิ่งที่เป็นอาบัติเห็นไหม ปลงไว้เพื่อจะไม่ให้มุสาในเวลาแสดงอุโบสถ ถ้าแสดงอุโบสถนะ เพราะเราไม่รู้ คำบาลีบางคนก็ฟังออกบางคนก็ฟังไม่ออก ถึงได้ปลงอาบัติ สิ่งที่ปลงได้เราก็ปลงกันก่อน เพื่ออะไร? เพื่อจะไม่ให้มุสา เห็นไหม ถ้าเขามุสา เขาทำเรื่องของเขา นั่นเป็นกรรมของเขา นั่นเป็นใจของเขา มันสุดวิสัยนะ กรรมของสัตว์

เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า “เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว เราได้แสดงธรรมแล้ว เราได้พยายามแล้ว” แล้วเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเขาทำของเขาได้เป็นหน้าที่ของเขา กรรมของสัตว์ไง เวลาเราประพฤติปฏิบัติด้วยกันทั้งหมดเห็นไหม

ในสมัยพุทธกาลนะ วัดทั้งวัดมีแต่พระอรหันต์หมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติกัน มรรคผลใครมีบ้าง? แล้วทุกคนจะให้มีเหมือนกันเหรอ? เป็นไปได้ไหม? มันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ใครมีมรรคมีผล เราก็สาธุ สาธุนะ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นทุกคนแสวงหา สิ่งนั้นทุกคนต้องการ

เห็นไหม ถ้าใจมันเป็นธรรมนะ มันจะมองโลกไปอีกแง่หนึ่ง มองโลกไปในแง่ความเป็นธรรม มันจะสลดสังเวช มันเป็นการปลงธรรมสังเวชนะ

ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ดูชีวิตสัตว์สิ พระโพธิสัตว์เคยเป็นสัตว์ก็มี เวลาเกิดเป็นสัตว์เห็นไหม มันอยู่ในภพชาติอย่างนั้นโดยสัญชาตญาณ สัตว์มันแสดงโดยสัญชาตญาณของมัน แต่พระโพธิสัตว์อยู่ในสัญชาตญาณของสัตว์เห็นไหม ก็เป็นหัวหน้าสัตว์ แต่ไม่แสดงพฤติกรรมเป็นอย่างนั้น คืออยู่ในภพชาติหนึ่งเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง เป็นหัวหน้า พาหลบพาหลีก พาดำรงฝูง พาดำรงสิ่งที่ให้มีความสุขเห็นไหม ในอีกภพชาติหนึ่ง ในสถานะอย่างนั้น

แล้วเราในสถานะของเรา ถ้าเราปวดของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา หัวใจของเราเป็นธรรม มันมองไปทั้งโลกสิ มันสลดสังเวชนะ โลกเขาเป็นอย่างนั้น แล้วทุกคนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ไม่ต้องห่วงหรอก ไม่ต้องห่วงไม่ต้องมีสิ่งใดมาเป็นสิ่งที่เป็นปมในหัวใจ เพราะมันต้องพลัดพรากหมด ทุกคนต้องตายหมด จะดีขนาดไหนจะเป็นผู้วิเศษขนาดไหน ก็ตายทั้งนั้น

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว แล้วฝากไว้ด้วย “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” คำสั่งสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ได้พูดอะไรเรื่องอื่นเลย “จงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากเราไว้ เป็นคำสั่งสุดท้ายเลย สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป นี่พูดถึงมนุษย์นะ พูดถึงสิ่งที่สื่อกันได้ด้วยสมมุติ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วเห็นไหม ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนานี้ มันมาอย่างไร? ถ้าเราพูดไปก็สงสัย ต้องปฏิบัติแล้วรู้เอง แล้วจะไม่สงสัยสิ่งอย่างนี้เลย...เอวัง