เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ก.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำไมถึงเรียกว่าธรรม ธรรมคือสัจจะ คือความจริง พูดอีกกี่พันปีมันก็เป็นอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการมา ๒,๐๐๐ กว่าปี อริยสัจก็เป็นอันเดียว ต่อไปอนาคตกาล พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้อันนี้

สัจธรรมเห็นไหม สัจธรรมมันเป็นสัจจะ อริยสัจจะ เพราะอะไร เพราะความรู้สึกของเรา ธาตุรู้ สสารที่มีชีวิต ที่เป็นจิต ที่เกิดตาย.. เกิดตาย.. สิ่งนี้มันยิ่งกว่าคงที่ สิ่งที่จะเข้าไปถึงตัวมันได้คือต้องเป็นอริยสัจ สัจจะความจริงจะเข้าไปกลั่นกรอง

ความกลั่นกรองเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ทุกข์เห็นไหม เราทุกข์กันไป พูดแต่ปาก พูดแต่สิ่งที่มันเป็นกาก มันเป็นกากนะ พวกเรานี่เป็นกากของทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์จริง

กากของทุกข์ หมายถึงว่า มันแสดงตนแล้ว มันเรียบร้อยแล้ว ผลตอบสนองเราถึงน้ำตาไหล เราน้ำตาไหล เราเจ็บช้ำน้ำใจเพราะเหตุใด เพราะว่าทุกข์มันขยี้หัวใจเรา นี่มันเป็นเศษของทุกข์

แต่ทุกข์ควรกำหนดเห็นไหม ทุกข์อยู่ที่ไหน หลวงตาท่านบอกเลยนะ “เวลากิเลสมันตื่นขึ้นมานะ มันขี้ใส่หัวใจ แล้วมันก็ไปแล้ว”

คือเริ่มต้นของความคิด ก่อนที่เราจะคิด ก่อนที่เราจะเจ็บช้ำน้ำใจ มันมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราเสียใจ เหตุผลอะไรที่มันทำให้เราทุกข์ นี่ไง ทุกข์ควรกำหนด แต่เรากำหนดไม่ได้ เรารู้เหตุไม่ได้ เราไม่เห็นต้นเหตุที่เกิดของมัน เราถึงเห็นแต่กาก กากคือความเสียใจ คืออารมณ์ไง กากคืออารมณ์ที่เสวยแล้วไง

ดูสิ ของมันร้อนถ้ามือไม่จับมันจะร้อนไหม มือมันไปจับเข้ามันก็ร้อนใช่ไหม ของมันร้อนมันวางอยู่นี่ มือไม่ไปจับมันจะร้อนไหม ความคิดเห็นไหม ถ้าจิตมันไม่เสวยอารมณ์ ถ้ามันไม่จับนี่มันจะร้อนไหม นี่ไง สัจจะมันเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่นี่

แต่ในปัจจุบัน คนเรามันอ่อนแอไง พออ่อนแอขึ้นมาเห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “เวลาจะเทศนาว่าการต้องขออนุญาตกิเลสก่อนนะ” ขออนุญาตการพูดให้พอใจไง พูดแล้วไม่ให้เจ็บช้ำน้ำใจ พูดแล้วไม่ให้กระเทือนใจไง คือการลูบหน้าปะจมูกไง แล้วก็บอกว่าง่ายๆ นี่รัดสั้น ตรัสรู้ง่าย ทุกอย่างง่ายไปหมดเลย

นี่ไง ขออนุญาตกิเลส เพราะกิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้น พอขออนุญาตกิเลสแล้ว ก็พูดเอาอกเอาใจกัน เยินยอกัน มันก็เลยเป็น “ธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ” วันหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง วันเดียวเทศน์ ๓ รอบ ก็พูดไม่เหมือนกันสักรอบหนึ่ง มันเป็นธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ เพราะมันไม่ออกมาจากสัจจะความจริง

ธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ ! เอาใจไง ชุมชนนี้มาก็พูดเอาใจทำนองหนึ่ง กลางวันก็พูดอีกทำนองหนึ่ง ตอนเย็นก็พูดอีกทำนองหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นสัจธรรมมันเป็นหนึ่งเดียว ถ้าหนึ่งเดียว ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนะ “ต้องเป็นอย่างนี้.. ต้องเป็นอย่างนี้..” เราก็ใช้เหตุนี้เป็นตัวฐานเห็นไหม ถ้าใครกำหนดพุทโธ ใครใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบเป็นสากล

ฤๅษีชีไพรก่อนสมัยพุทธกาล เวลาเขาทำฌานสมาธิของเขา แต่เขาไม่มีปัญญาของเขา เป็นสากลไหม.. เป็นสากล แต่ทุกคนยังไม่รู้จักค่าของมัน ไม่รู้จักค่าของการเอามาใช้สอยประโยชน์ ฤๅษีชีไพรเขาทำสมาธิของเขา แล้วเขาเหาะเหินเดินฟ้า เขารู้วาระจิต เขารู้อดีตอนาคต เขาระลึกอดีตชาติได้ สิ่งนี้มีมาก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม นี่ไง มันเป็นสากลไหมล่ะ.. มันเป็นสากลเพราะมันมีอยู่ แต่มันไม่เป็นสัมมา

หลวงตาท่านติดสมาธิอยู่ ๕ ปี เวลาไปโต้กับหลวงปู่มั่น นี่ลูกศิษย์กับอาจารย์โต้กันด้วยเหตุด้วยผลเห็นไหม นี่ธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ลูบหน้าปะจมูก

ในเมื่อเรามีความเห็นอย่างนี้ เราบอกว่า “ไอ้ว่างๆ อยู่นี่ มันใช้ไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง”

“ อ้าว ! ถ้าว่างๆ ไม่ถูกต้อง แล้วสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไรล่ะ”

“อ้าว !! สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งโว้ย! สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีตัณหา มันไม่มีสมุทัยโว้ย ! ของท่านนะมันมีสมุทัยอยู่เห็นไหม มันมีสมุทัย มันมีตัณหาอยู่นะ นี่มันไม่ใช่สัมมาสมาธิโว้ย ! ”

ดูสิ ดูปัญญาชน นักปราชญ์เวลาเขาโต้แย้งกันเรื่องธรรมะเห็นไหม แม้แต่เป็นสมาธิๆ นี่ ติดสมาธิ สมาธิแท้ๆ นี่ติดอยู่ ๕ ปี พอติด ๕ ปีนี่ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเคาะให้ออกจากสมาธิ ออกไปเพื่ออะไร เพื่อจะแก้ปัญญา ก็ใช้ปัญญาไปนี่ อ้าว ! ถ้าอย่างนี้มันไม่ใช้สัมมาสมาธิ ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิมันก็ไม่ติด ติดนี่ติดเพราะเป็นตัณหา ติดเพราะเป็นสมุทัย ติดเพราะมันเป็นกิเลส อ้าว.. แล้วเป็นกิเลส แล้วบอก ถ้าไม่เป็นสัมมาสมาธิ ตำราบอกสัมมาสมาธิไง ตำรา ! ตำรา ! ตำรา !

ตำราบอกสัมมาสมาธิ แต่เวลาจิตมันสงบแล้วนี่ ตัวเราก็มีสมุทัยใช่ไหม มีความเข้าข้างตัวเองใช่ไหม ก็บอกนี่สัมมาสมาธิไง แล้วก็ไปโต้เถียงอาจารย์ว่า อ้าว ! นี่คือสัมมาสมาธิ เพราะเราให้คะแนนตัวเองไง หลวงปู่มั่นท่านแก้เห็นไหม สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีสมุทัย ไม่มีตัณหาบวก

“ตัณหา” คือ เข้าข้างตัวเองไง ให้คะแนนตัวเองไง ความชอบของตัวเองไง ความพอใจของตัวเองไง ถ้าอะไรไม่พอใจก็ไม่เอาใช่ไหม ถ้าไม่พอใจ ผิดหมด ถ้าพอใจ ถูกหมด แล้วมันเป็นธรรมไหม

นี่ไง สมาธิของท่านมันมีสมุทัยอยู่ มีการเข้าข้างตัวเองอยู่ มันถึงไม่เป็นสัมมาสมาธิไง

ถ้าสัมมาสมาธิที่ว่าพุทโธๆ จิตเป็นสากล ธรรมะที่เป็นสากลนี่ มันรู้ของมัน สมาธิคือสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นความคิดของเรา มันเข้าข้างตัวเอง นี่ว่างๆ นี่นิพพาน โอ๊ย.. ถ้านิพพานเป็นอย่างนี้นะ ถ้านิพพานเป็นอย่างนี้นะ ใครๆ ก็ทำได้ ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาลเขาทำเข้มข้นกว่าเราเยอะมาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดสอบมาแล้ว ไม่มีทาง ! มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ ! เราพูดตรงนี้ เราพูดว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ บริษัท ๔ นี่เป็นเจ้าของศาสนา แล้วเวลาเราถกกันเรื่องศาสนา เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของศาสนานี่ มันผิดไปไหนล่ะ

เราจะคุยกันเรื่องศาสนานะ ศาสนาคืออะไร ศาสนาคือตอบโจทย์ว่าเราเกิดมาจากไหน เรามาจากไหน เรามาเกิดเป็นมนุษย์นี่ แล้วเกิดเป็นมนุษย์นี่ อะไรคือเป็นมนุษย์ เราก็ว่านาย ก. นาย ข. นาย ง. เป็นมนุษย์

เวลาเข้าโรงพยาบาล เขาเปลี่ยนหัวใจนะ หัวใจยังไม่ใช่ของเราเลย หัวใจเขาก็เปลี่ยนทิ้งนะ แขน ขา เขาตัดทิ้งหมดล่ะ เวลาเราเปลี่ยนอวัยวะไม่เห็นมีอะไรเป็นของเราเลย อะไรเป็นของเรา นี่เห็นไหม ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้ตอบสนอง ศาสนาไม่ใช่ลัทธิ ! ลัทธิความเชื่อ ลัทธิคือมีหัวหน้าชี้นำ หัวหน้าบอกเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้เป็นสัจธรรม ให้เป็นสันทิฏฐิโก ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดา ความจริงเป็นศาสดา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบธรรม กราบความจริงเลย

แล้วเราคุยกัน เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เราพูดถึงธรรมะ พูดถึงสัจจะความจริง สัจจะความจริงเป็นอย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างไร สมาธินั้นเป็นอย่างไร สมาธิมันจะเกิดเอง ทุกอย่างจะเกิดเอง

ถ้ามันเกิดเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา ๖ ปีทำไม ทำไมพระพุทธเจ้าต้องรื้อค้นขึ้นมา ๖ ปี แล้วมาพิสูจน์เอง มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่ไง ถ้ามันเกิดเอง มันมีวิธีการใช่ไหม มันมีระหว่างใช่ไหม แต่นี้ธรรมมันลอยมาจากฟ้า แต่ไม่พูดถึงเหตุ

แล้วเหตุมาอย่างไร ? เหตุไม่มี.. เหตุเป็นอัตโนมัติ.. ทุกอย่างจะเกิดเอง ดูไปเฉยๆ เอาหัวทิ่มดินนี่เดี๋ยวมันจะเป็นเศรษฐี ! มันเป็นไปไม่ได้ไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนเรามันต้องขยันหมั่นเพียร จะทำสิ่งใดต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีความวิริยะอุตสาหะ ความอุตสาหะเห็นไหม ความเพียรชอบ แม้แต่มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

ดูสิ เราทำสัมมาอาชีวะกันนี้ ทุกคนก็มีวิริยะ มีอุตสาหะ แต่มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ เห็นไหม มันก็เป็นผลจากกรรม ผลจากวัฏฏะ ผลจากการกระทำ จริตนิสัยของคนก็เหมือนกัน ความชอบของคนก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยก็ไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนก็ไม่เหมือนกัน เราเกิดมาในโอกาสของวาระของโลก เห็นไหม

ดูสิ ความเปลี่ยนแปลงของโลก ขาขึ้น ขาลง เราเข้าทันหรือเราออกทันหรือไม่ทัน นี่มันเป็นอำนาจวาสนา เป็นการวินิจฉัย เป็นปฏิภาณไหวพริบ มันแตกต่างกันมาทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่มันแตกต่างกันมา ทีนี้มันการกระทำ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน แต่ถ้าไม่มีเหตุ นี้เพราะอะไร ที่จนตรอกอยู่นี้เพราะมันไม่มีเหตุ

แล้วเวลาเขาพูดถึงเหตุ เขาก็พูดถึงเหตุไม่ได้ พูดถึงเหตุก็นู่น... พระไตรปิฎก พูดพุทธพจน์เลย เวลาพูดถึงเหตุก็อ้างธรรมะพระพุทธเจ้าหมด นิพพานของพระพุทธเจ้า แต่เราไม่มีอะไร ...แล้วก็บอกว่า เนี่ย ปฏิบัติแล้วรู้ง่าย เห็นง่าย...

ง่ายอะไร... ง่ายก็คือ “ก๊อบปี้” มา ง่ายก็ไปเอามาจากพระไตรปิฎก มันก็ไม่ผิดหรอก เวลาเทียบกับพระไตรปิฎก ไม่ผิด! วิชาการมันไม่ผิดหรอก ใครก็พูดวิชาการได้ ดูสิ ทุกคนก็เข้าใจได้นะ ๑ ล้าน ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้าน ผู้คนนับได้หมดน่ะ เงินกี่สิบล้านทุกคนก็นับได้หมด ...แต่มีเงินหรือเปล่า ? …มีหรือเปล่า ?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดพุทธพจน์ๆ พูดได้เหมือนกันหมดน่ะ ตัวเลขใครก็พูดได้ ตัวเลขทุกคนพูดได้นะ แต่ข้อเท็จจริงเรามีแบงก์ตามตัวเลขนั้นหรือเปล่า มีหรือเปล่า ?

นี่ก็พุทธพจน์ๆ ... อ้างพุทธพจน์ อ้างตัวเลขไง อ้าว.. ตัวเลข ๑ ล้าน ก็คือ ๑ ล้าน มันผิดตรงไหน อ้าว คนพูดกัน ๑ ล้านก็คือ ๑ ล้าน จริงไหม ๒ ล้านก็คือ ๒ ล้าน อ้าว ก็ถูกหมดน่ะ แต่มีหรือเปล่า

ไอ้คนมี ๑ ล้านก็มี ๑ ล้าน มี ๒ ล้านก็มี ๒ ล้าน มีร้อยล้านก็คือมีร้อยล้าน ...นั่นของจริง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ.. สมาธิมีหรือเปล่า ? สติมีหรือเปล่า ปัญญาเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า นี่ ! ข้อเท็จจริงมันอยู่ที่นี่ ! แล้วเราต้องเคลียร์กันที่นี่ แต่ถ้ามันเคลียร์กันที่นี่ไม่ได้ “ยืนกระต่ายขาเดียวนะ” มันก็เลยกลายเป็นธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ

นี่พูดถึงโลกนะ แล้วที่เขาบอกว่า อิจฉาๆ เนี่ย.. ไม่อิจฉาหรอก มันเป็นเรื่อง... เห็นไหมดูสิ หลวงตาท่านบอกอย่างนี้เลยนะ ท่านบอกว่า “ส้วม ก็ขี้ทั้งนั้นล่ะ ไปคลุกขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เรื่องของโลก ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นเรื่องของขี้ทั้งนั้น แล้วถ้าเราอาบน้ำชำระล้างตัวสะอาดแล้ว จะลงไปคลุกขี้ไหมล่ะ ?”

แต่ทีนี้คนที่อยู่ในหลุมขี้นี้มันตีกัน มันเถียงกัน ผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นขี้ อะไรไม่เป็นขี้ ก็จะชี้แนะเท่านั้นล่ะ จะชี้แนะ จะบอกเขาว่านั่นน่ะมันเป็นขี้ ก่อนจะพ้นจากขี้ มันต้องก้าวพ้นขึ้นมาจากหลุมขี้ พอก้าวพ้นขึ้นมาจากหลุมขี้แล้วค่อยมาชำระล้างทำความสะอาดของตัวเอง อยู่ในหลุมขี้ แล้วก็ทำความสะอาดในหลุมขี้ มันก็ยิ่งสกปรกไปใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติกัน เราทำความสงบของใจเราแล้วหรือยัง เราได้ทำความสะอาดร่างกายของเราแล้วหรือยัง ถ้าทำความสะอาดร่างกายของเราแล้ว เราจะได้ประกอบสัมมาอาชีวะ หรือหาอยู่หากินเพื่อการดำรงชีพหรือยัง นี่ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุมีผล มันมีที่มาที่ไป

ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล ไม่มีที่มาที่ไป ธรรมะเด็กเลี้ยงแกะ แล้วก็อ้างพุทธพจน์ เพราะว่าเราเกิดมาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส พุทธบริษัท ๔ มันเหมือนกับเราเกิดในครอบครัวหนึ่ง เราก็มีสิทธิในมรดกนั้น มรดกที่ต้องได้ แล้วเราก็ต้องได้อยู่แล้ว นี่คือเราคิดว่าเราจะต้องได้อยู่แล้ว แต่เราทำตัวเพื่อกองมรดก เพื่อคุณงามความดีไหมล่ะ เราคิดว่าเราจะได้มรดกนั้น แต่เราทำลายทั้งหมด เราเอารัดเอาเปรียบอยู่คนเดียว มันจะเป็นอย่างไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน พุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คุยกันด้วยเหตุผล เราคุยกันด้วยเหตุข้อเท็จจริง จะว่าอิจฉาตาร้อน... ข้อเท็จจริงมันพูดกันได้ใช่ไหม อะไรผิดอะไรถูกนี้พูดกันได้ พูดที่เหตุที่ผลนี้สิ

เวลาเราพูดเราพูดที่เหตุที่ผล เพราะอะไร เพราะเราต้องการหลักธรรม ธรรมคืออย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบที่นี่ กราบอริยสัจ กราบสัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องกราบ แล้วเราเกิดมาในปัจจุบันนี้ เราว่าเราเป็นปัญญาชน มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เห็นไหม แล้วยิ่งปัจจุบันนี้ทุกคนบอกว่ามีปัญญามาก

มีปัญญามากน่ะ ...อย่าเห็นแก่ตัว อย่าคิดเข้าข้างตัว คิดให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คิดให้มันเป็นสัจธรรม คิดด้วยความเป็นจริงขึ้นมาก่อน เราไม่ต้องเข้าข้างใครทั้งสิ้นน่ะ ความจริงก็คือความจริง ความเท็จก็คือความเท็จ

ถ้าเป็นความเท็จ ทำออกไปขนาดไหนนะ... มันเหมือนเราไปซื้อยา ยานี้เป็นยาปลอม ยาเลียนแบบ ยาที่ไม่มีคุณภาพ เราไปกินแล้วเราจะรักษาโรคเราหายไหม เราเจ็บไข้ได้ป่วยนะ แล้วเราก็ไปหายามา แล้วยานั้นก็ยาปลอม ก็กินกันอยู่นั่น รักษากันอยู่นั่น แล้วมันจะเป็นอย่างไรล่ะพอกินเข้าไปด้วยความปลื้มใจใช่ไหม เรากินยาแล้ว เรารักษาตัวเราแล้ว มันดีขึ้นแล้ว... มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้นล่ะ มันเป็นอุปาทาน... อุปาทานว่าได้กินยา

แต่โรคมันหายไหมล่ะ โรคไม่หายหรอก นี่อุปาทานนะ โอ๋ย รักษาแล้ว กินยาแล้ว ทำตัวดีหมดแล้ว... แต่ถ้าเราได้ยาที่มีคุณภาพล่ะ ยาที่เขาวิเคราะห์วิจัยมาถูกต้องตามกฎหมาย ตาม อ.ย. ที่เขารับรองคุณภาพมา พอกินเข้าไปแล้วนะ เราก็พอใจ เพราะอุปาทานว่าอยากหายเราก็มีอยู่แล้วใช่ไหม ได้กินยาแล้วเราก็ว่าดี แล้วยานั้นมันก็ให้ผลตามข้อเท็จจริงนั้น ตามสารเคมีนั้น ว่ามันจะกำจัดเชื้อโรคอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติธรรม ศีลก็เป็นศีล สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา ให้มันเป็นข้อเท็จจริงสิ ! ไม่ใช่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ...แล้วก็ก๊อบปี้มาเลย มันก็เลยเป็นยาเทียม ยาปลอม โอ๋ย.. อุปาทานนะ กินแล้ว “ ว่างๆ.. ว่างๆ.. ”

โธ่... ไปรักษานะ หมอต้องทำความสะอาด หมอต้องผ่าตัด เจ็บน่าดูเลย ! แต่ถ้าเราคิดเอาเองนะ โอ้ย หายหมดเลย แล้วก็สบายมาก.. สบายมาก...

เราเห็นอย่างนี้ เราถึงพูดออกมา ที่พูดๆ เพราะเหตุนี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอิจฉาตาร้อน เพียงแต่ต้องการให้สังคมได้ข้อเท็จจริง ได้คุณงามความดี นี่พูดถึงศีลธรรมนะ พูดถึงสัจธรรม

แล้วถ้าพูดถึงโอกาสล่ะ โอกาสของมนุษย์ล่ะ โอกาสในการเกิดมา ถ้าพูดถึงโอกาสนะ ก็สายบุญสายกรรม ถ้าเขาเห็นดีเห็นงามต่อกัน มันก็เป็นเวรกรรมของเขา เพราะเขามีความผูกพันกันมา ฉะนั้นเขาจะเชื่อกันนั้น เขาจะศรัทธากันนั้น เราไม่ตื่นเต้น เราไม่มีสิ่งใดที่จะเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับเขา เราถึงได้พูดออกมาเป็นสัจจะ พูดเป็นสัจจะเท่านั้น

นี่เห็นไหม ทุกสังคมมีคนดีและคนชั่ว ถ้าคนที่เขามีเหตุมีผลของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เขาคัดเลือกของเขา เขาจะได้ประโยชน์กับเขา แต่ถ้าคนที่เขาไม่มีเหตุมีผลของเขา แล้วเขาเชื่อมั่นของเขา โดยไม่มีเหตุมีผล เขาก็ว่าอิจฉาๆ เพราะไปทำร้ายจิตใจเขาหวั่นไหว เพราะอะไร เพราะเขามีอุปาทาน เขามีความยึดมั่นของเขา เขามีความเชื่อมั่นของเขา ด้วยอุปาทาน ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ฉะนั้นใครจะพูดสิ่งใด ก็ว่า อิจฉาๆ เพราะเขาไม่ใช้เหตุผลอยู่แล้ว เขาถึงได้ว่าอิจฉาๆ ไง

เราไม่เคยอิจฉาใคร ! ไม่อิจฉาชีวิตของใคร เพราะชีวิตเราชีวิตเดียว เราก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว แค่ชีวิตเราชีวิตเดียวเนี่ย เราจะเอาชีวิตเรารอด แล้วเราเกิดมานี้เราก็จะตายไปข้างหน้า แล้วจะอิจฉาชีวิตของใคร... ไม่อิจฉาชีวิตของใคร เราจะดูแลชีวิตของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเท่านั้น ! เอวัง