เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาติดต่อมานานแล้ว เราจะบอกว่า “ไม่ให้สัมภาษณ์หรอก อย่างไรเราก็ไม่ให้” เพราะว่าออกไปมันสะเทือน ! คำว่า “สะเทือน ! ” เราเข้าใจนะ ฉะนั้น แต่มาคิดอีกทีหนึ่ง ถ้ามาคิดอีกทีหนึ่ง ในสังคมของศาสนาเรานี่..

เรายกตัวอย่างถึงหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ ถ้าเราคิดถึงหลวงปู่มั่น คิดถึงหลวงปู่เสาร์ คิดถึงครูบาอาจารย์ แล้วเราจะซาบซึ้งมาก ซาบซึ้งที่ว่าท่านเมตตา ท่านรักพวกเรามาก ท่านอยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านอยากพาพวกเราไปมาก ท่านถึงบอกว่า “ให้เข้ามาปฏิบัติ ให้เข้ามาฝึก ให้เข้ามาหัด ให้คนนั้นมีข้อวัตร มีระเบียบ เพื่อจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของศาสนาไป”

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์.. เช่น เราไปอยู่กับหลวงตา พระมากขนาดไหน ท่านก็รับไว้.. รับไว้.. ท่านบอกว่า “หนักอก ! หนักอกขนาดไหนก็รับไว้” มันเก้งๆ ก้างๆ

เหมือนกับเรานี่ คนทำงานเป็น แล้วก็รับคนทำงานไม่เป็นมาอยู่กับเรานี่ ทำงานแล้วมันขัดแย้งกันไปหมดเลย เราก็ต้องฝืนนะ คนทำงานเป็นและคนทำงานไม่เป็น ที่ทำงานให้ผิดๆ ตลอดไปนี่ เราทำงานกับคนๆ นั้นเราหนักใจไหม ? หนักใจทั้งนั้นล่ะ แต่ก็ทนเอา.. ทนเอา.. ดัดแปลงคนๆ นั้นให้ทำได้

ย้อนมา “วงการปฏิบัติ” ในเมื่อเราปฏิบัติกัน คนที่ปฏิบัติให้ถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้หรอก รับใครเข้ามาคนหนึ่ง มันก็เหมือนขอนซุงทั้งท่อน หลวงตาท่านบอก “ขอนซุงทั้งท่อน” แล้วเอามาเราก็ต้องมาถาก มาถาง มาอะไร ฉะนั้น ไอ้คนทำผิดมันก็มีเป็นธรรมดา

แต่ถ้าทำผิดแล้วนะ ทำผิดแล้วแก้ไข คือทำผิดแล้วเขาเห็นว่าตัวเองยอมรับว่าผิด มันก็น่าให้อภัย นี่มันต้องให้อภัยกัน ถ้าเราไม่ให้อภัยกัน ไม่ให้โอกาสกัน คนเราจะสร้างคนขึ้นมาได้อย่างไร การสร้างคนขึ้นมา เราจะฝึกฝนขึ้นมา มันก็ต้องมีการผิดมาเป็นธรรมดาทุกๆ คน

แต่ถ้าผิดแล้วยอมรับ ผิดแล้วแก้ไข ไอ้นี่มันผิดแล้วมันไม่ยอมแก้ไข มันเพียงแต่อ้างนะ ผิดแล้วก็หาคนโน้นมารับประกัน หาคนนี้มาค้ำประกัน มันไม่ได้แก้ไข มันดึงกันผิดไปทั้งยวงไง “อาจารย์องค์โน้นก็ชมว่าถูก.. อาจารย์องค์นี้ก็ชมว่าถูก..” แล้วตัวเองทำไมถึงไม่แก้ไขล่ะ ถ้าเราผิด แล้วเราแก้ไข อันนี้น่ะ เออ !

ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่นะ เรามองเด็กๆ สิ เด็กๆ ที่มันหัดปฏิบัตินะ เด็กๆ ที่มันหัดฝึกงาน มันไม่ผิดที่ไหนมันมี มันผิดทั้งนั้น ! ในวงสังคมของพระปฏิบัติ มันก็เป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์นะ โอ...

เราขอนิสัยกันทำไม ? เราขอนิสัยเพราะเรามันฟืนดิบๆ ไง เราเป็นคนขวางโลกไง เราเป็นคนไม่เอาไหนไง “ขอนิสัย” คือว่าเปิดโอกาสให้อาจารย์คอยติ คอยบอกไง เรารู้ตัวเราเองไม่ได้หรอก กิเลสมันเข้าข้างตัวเองทั้งนั้นนะ

นี่พูดถึงว่า การผิดพลาด แล้วเราบอกว่า ถ้าผิดแล้วมันต้องฆ่ากันตาย มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าต้องให้มันรู้ถูก รู้ผิด ถ้ารู้ถูก รู้ผิดนะ เราแก้ไขไป ถ้ามันรู้ถูก รู้ผิด มันจะแก้ที่เรา ไอ้นี่มันไม่แก้ที่เรา มันไปแก้ที่สังคม สังคมต้องยอมรับเรา ไปแก้ที่คนนอกไง

ทุกคนก็ว่า “เราถูก ! เราถูก !” เหมือนเรานี่แตะต้องไม่ได้เลย แตะต้องไม่ได้แล้วเอาอะไรล่ะ ก็อ้างธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้น นี่พูดถึงสังคมนะ ประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีของเรา ครูบาอาจารย์ ธรรมวินัยเขาเคารพกันด้วย อาวุโส ภันเต นี่อาวุโส ภันเต เราก็เคารพกันอยู่แล้ว ด้วยความเคารพบูชา

ฉะนั้น ความผิดพลาดถ้าเป็นความจริง เขาต้องไม่พูดแบบนินทา นินทาคือพูดกันลับหลัง ต้องพูดกันต่อหน้า ถ้าพูดต่อหน้า เข้าไปถึงตัวเลย ถ้าเป็นสุภาพบุรุษนะ พอพูดด้วยเหตุด้วยผล มันก็เป็นประโยชน์ไป

แต่ถ้าเข้าไปถึงตัวเลยนะ เข้าไปแล้วเขาก็กลืนเลย “นี่คนนั้นก็รับรองเรา.. คนนั้นก็รับรองเรา..”

เรามองมาตลอด เรื่องอย่างนี้เรามองมาตลอด แล้วมันเห็นผิดมาตั้งแต่ต้นนะ ! ก็อย่างที่ว่า ถ้ามันผิด มันถึงเวลาแล้วนี่..

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธเรา ใครผิดใครถูก.. กรรมมันจะให้ผล ! ทำสิ่งใด แล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย เพราะขณะทำไม่มีสติ ถ้ามีสติเราจะทำสิ่งนั้นไหม เว้นไว้แต่กิเลสมันปิดตา ไม่มีสติแล้วกิเลสมันปิดตาด้วย เข้าใจว่าทำแล้ว ใครจะรู้ทันเราไม่ได้ สิ่งนี้มันเป็นนามธรรม ใครก็ทำไม่ได้

เราเองนะรู้ ความลับไม่มีในโลกหรอก ! คนพูด คนทำนะ รู้เต็มหัวใจ คนทำน่ะรู้ เพราะการปฏิบัติ ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่น ท่านแก้หลวงตา สูงส่งขนาดไหนนะ เราไม่ทันหรอก ท่านชี้จุดบกพร่องของเราได้หมดเลย “ตรงนั้นยังผิด.. ตรงนี้ยังผิด.. ตรงนี้ยังผิด.. ” ไอ้เราปิดหมดแล้วนะ เราว่าทำดีที่สุดแล้วนะ ทุกคนอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เป็นอย่างนั้น อยู่กับครูบาอาจารย์ก็อยากจะทำอะไรให้มันถูกต้องที่สุด

แต่ด้วยความไม่รู้ ผิดด้วยความไม่รู้นี่ เราไม่รู้หรอกว่าเราผิดตรงไหน ผิดด้วยความไม่รู้ว่าจะปิดอย่างไร ..เราปิดไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่ามันผิดตรงไหน.. คนไม่รู้ว่าผิดตรงไหน จะปิดอย่างไร? แต่คนรู้มันเห็น มันเปิดโล่งหมดเลย นี่มันผิดอย่างนั้น ! มันผิดอย่างนั้น ! แต่ไอ้คนไม่รู้มันนึกว่าปิดหมดนะ ไม่มีใครรู้กับเรานะ ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่แล้ว

อันนี้พูดถึงสังคม สังคมเป็นอย่างนั้น นี่เวลาบอกว่าทำด้วยความมีสตินะ ไม่ใช่ทำด้วยอยากออกไปสังคม.. ไม่อยากออกไปสังคมเลย สังคมเป็นเรื่องของสังคม

เขาบอกว่า “อยากดัง ! อยากใหญ่ !”

เราก็พูดว่า “เพราะมันอยากดัง อยากใหญ่ เพราะโมฆะบุรุษ โมฆะตายเพราะลาภ ตายเพราะสักการะ ตายเพราะความมีชื่อเสียง”

แล้วชื่อเสียงมันมีอะไร ? ลาภสักการะมันมีอะไร ? มันมีแค่ไหน ?

แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น อันนั้นมันเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจวาสนา ด้วยบารมีของท่าน ด้วยคุณงามความดีของท่าน สังคมเขายอมรับนับถือของเขาเอง ในเมื่อสังคมยอมรับนับถือของเขาเอง เราจะไปปฏิเสธได้ไหม

สิ่งที่สังคมเขายอมรับนับถือของเขาเอง เขาเห็นคุณประโยชน์ของเขาเอง เขาแสวงหาของเขาเอง อย่างนี้มันปิดกั้นไม่ได้หรอก อย่างนี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราจะปิดกั้น แต่ถ้าด้วยความอยาก ความอยากก็คือกิเลส

ความอยาก ! อยากอะไร ? อยากให้เขาฟังเรา อยากให้เขาเชื่อถือเรา แล้วพูดไปด้วยความไม่รู้เขาก็เชื่อถือเราไป แต่เวลามันรู้ขึ้นมานะ ความที่ไปสอนเขาด้วยความไม่รู้นี่ มันจะเสียหายไปหมดเลย เพราะเราไม่รู้ แล้วเราไปสอนเขา

นี่ไง เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราหลง ! ยังไม่เท่ากับเราไปชักชวนให้คนอื่นหลงนะ เราหลงก็เป็นความผิดอันหนึ่ง”

นี่ทางโลกกลับกัน เวลาฆ่าคนอื่นตาย การฆ่าคนอื่นตาย โลกเขาตัดสิน ติดคุก ๒๐ ปี เวลาฆ่าตัวตาย ทางโลกไม่มีความผิดนะ แต่ในทางธรรม .. ฆ่าคนอื่นตาย หลอกลวงเขา ทำให้เขาหลง กับเราหลง ถ้าเราหลงเห็นไหม การฆ่าตัวตายในธรรม นี่ต้องฆ่าตัวเองอีก ๕๐๐ ชาติ

นี่เหมือนกัน เราหลงก็ส่วนเราหลงนะ เราหลงแล้วก็ชักชวนให้คนอื่นเขาหลงไปอีก แต่ถ้าเราไม่หลงล่ะ ดูสิ ในมุมกลับนะ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าเราไม่มีสติปัญญานะ เวลาเขาพูดนะ เวลาคนไม่รู้ มันไม่รู้ว่าผิด ไม่รู้ว่าถูก ใช่ไหม เวลาพูดไปพูดด้วยความไม่รู้ ทั้งๆ ที่เขารู้นะ

อย่างพุทโธ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อย่างกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พระพุทธเจ้าวางไว้ถูกต้อง นี่ความถูกต้อง !!

เขาเสียดสีซะ ! “ไม่มีความหมาย.. มันทำให้เสียเวลา.. ใช้ปัญญาตัดไปเลย..” เห็นไหม เขาเอาความไม่รู้ของเขามาเสียดสี มาทำให้สังคมอ่อนแอ สังคมถ้าเขาเก็บหอมรอมลิบ เขาตั้งสติปัญญาขึ้นมา เขาพยายามตั้งเนื้อตั้งตัวขึ้นมา เขาจะเป็นคนเข้มแข็ง เขาจะอยู่ในสังคมด้วยความเข้มแข็ง ก็ไปเสียดสีเขา สิ่งนั้นไม่ดี.. สิ่งนี้ไม่ดี..

แต่เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น หรือครูบาอาจารย์ เวลาเห็นลูกศิษย์ที่ไม่มีสติ เดินเถ่อเนี่ย ท่านบอกว่า “รับไม่ได้เลย ! เหมือนซากศพเดินได้ ” แล้วท่านจะพูดให้เราได้สติ นี่คนๆ นี้มันไม่มีจิตแล้ว เดินมาเหมือนซากศพ ดูทำอะไรทำไมไม่มีสติเลย เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนี่คือท่านพูดเตือน พูดเหมือนเสียดสี แต่เสียดสีให้เราได้คิดนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมนะ ท่านพูดให้เราได้คิด พูดให้เราเข้าสู่สัจธรรม ให้เราเข้าสู่ความจริง

แต่คนไม่รู้นะ เราจะเข้าสู่ความจริง เขาเสียดสีให้เราเป็นคนอ่อนแอ เสียดสีให้คนเราเป็นคนไม่เอาไหน เสียดสีให้คนเราไม่รับผิดชอบอะไรเลย แล้วอย่างนี้เป็นธรรมไหม ?

นี่เรามองมาตลอด เวลาพูดนะ มันพูดเสียดสี “ ถ้าคนตั้งใจ คนจงใจ ดูสิ นั่งตลอดรุ่งก็นั่งเอาไว้อวดกัน.. ทำอะไรก็เอาไว้อวดกัน.. มันเกร็ง มันเคร่ง มันอะไร...”

มันเกร็ง มันเคร่ง... คนตั้งใจทำคุณงามความดีนะ ถ้าเขาตั้งใจของเขา ความตั้งใจใหม่ๆนั้นมันก็เกร็ง ก็เคร่งเป็นธรรมดา แต่ถ้าพอเขารู้ว่าผิด เวลาเราเกร็งของเรานะ เวลาเราเคร่ง เคร่งธรรมวินัยก็ดี แต่ถ้าเราเกร็งมันทำอะไรไม่เป็นธรรมชาติหรอก

จิตถ้ามันเกร็งมันลงสมาธิไม่ได้หรอก

ถ้ามันรู้ว่านั่งเกร็ง แล้วเราลงสมาธิไม่ได้นะ เดี๋ยวมันก็ผ่อนเอง เพราะมันเกร็งแล้วทำให้ตัวเราทุกข์ไง ถ้ามันทำให้ตัวเราทุกข์ เราก็ต้องแก้ไขของเรา เราก็ต้องดัดแปลงของเราไป จากเกร็ง มันก็ทำให้เป็นธรรมชาติ ทำให้เป็นปรกติธรรมดา พอเป็นปรกติธรรมดา จิตมันก็เริ่มเข้าที่ มันก็ลงของมันไป แต่ถ้าอ่อนแอเลยน่ะ มันไม่ได้เลยนะ

เหมือนกับเราปีนบันได เราไม่ขึ้นบันไดเลย เราอยู่ที่ตีนบันได เราไม่ขึ้นบันไดเลย เราจะปีนบันไดไม่ได้ แต่เราจับบันไดแล้วมันเกร็ง มันขาสั่นนะ แต่ถ้ามึงพยายามฝึกนะ เดี๋ยวมึงจะขึ้นบันไดได้

นี่ไง โอกาสมันมี.. โอกาสที่คนเกร็ง คนเคร่ง มันมีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่เอาไหน แล้วบอกว่า คนเกร็ง คนเคร่ง มันผิดไปหมด มันไม่เอาไหนเลย นอนตีแปลงเลย อยู่เฉยๆ มันจะหล่นมาจากฟ้าหมดเลย แล้วอย่างนั้นถึงจะเป็นความจริงหมดเลย

นี่มันเป็นมุมกลับ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านติท่านเตือน มันเหมือนกับ “นักปราชญ์” นักปราชญ์คอยชี้ขุมทรัพย์ให้เราน่ะ อันนั้นเป็นประโยชน์มาก แต่คนโง่ ! คนโง่ ! คนไม่เอาไหน คนไม่รู้จักตัวเอง แล้วที่ไปเสียดสีน่ะ เสียดสีธรรมของพระพุทธเจ้านะ เวลาเสียดสีนี่เสียดสีพุทโธ “พุทโธ ไม่ดีไปหมด อะไรก็ไม่ดีไปหมด สติก็ไม่ดีไปหมด ถ้าสติตั้ง สติฝึกหัด นี่เป็นสติปลอม ถ้าเผลอปั๊บสติมาเอง ความเผลอความไม่เอาไหนน่ะมันดีไปหมดเลย เป็นธรรมหมดเลย เวลาเรากำหนดดูจิตไป พอถึงที่สุดแล้วจิตมันจะลงสู่สมาธิ เวลาลงสู่สมาธิมันจะลงสู่ที่ไหน.. มันก็ต้องลงสู่จิต เพราะเรามีจิตอยู่ ” นี้พูดโดยที่เขาคิดเอาเองนะ

นี่เขาไม่คิด เขาไม่รู้ถึงความมหัศจรรย์ของจิต เวลาครูบาอาจารย์ ความมหัศจรรย์ของจิตนี้ จิตมันสร้างภาพได้ จิตมันมีสัญญาของมันได้ จิตมันเก็บอำนาจวาสนาบารมีของเราได้ จิตนี้มันมหัศจรรย์มาก ! ดูสิ พระโพธิสัตว์เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย มันเก็บลงอยู่ที่จิตหมดเลย

จิตนี้เหมือนเมล็ดพันธุ์พืช ดูสิ เพียงเมล็ดเดียว เวลาเราไปปลูก ดูสิ อย่างต้นยางต้นหนึ่ง ๕ คนโอบ ๑๐ คนโอบ มันเกิดจากเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว จิตของเรานี้ จิตมันมีคุณสมบัติของมันเห็นไหม

แล้วบอกว่า “ ไม่ต้องทำอะไรเลย มันจะเกิดเอง ”

มันก็เกิดจากกิเลสไง เกิดแบบหญ้ารกชัฏ เกิดจากสิ่งที่ไม่เอาไหนไง แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมาน่ะ ผิดหมดเลย ! ผิดหมดเลย !

พูดมาตลอด เวลาเราบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านพูดเอาไว้แล้ว “ ต่อไปอนาคตมันจะเอาแต่เยี่ยง ” คือจะเอาแต่กิตติศัพท์ กิตติคุณของสายพระป่า สายพระป่าขึ้นมาตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ตั้งแต่ทำลงมา ๓ ชั่วอายุคนนี่ “ จะเอาเยี่ยง ” เอาเยี่ยงก็คือขอเป็นพวก ขอเป็นพระป่า ขอให้มีศักยภาพ แต่ไม่เอาอย่าง !

จะเอาอย่างก็ต้องทำให้เหมือนสิ ! ทำให้ได้สิ ! เวลาครูบาอาจารย์ อย่างเช่น หลวงปู่ตื้อ เวลาพระเรานะ บอกว่าหลวงปู่ตื้อท่านทำอย่างนั้นๆ มันจะทำตาม ไอ้นั่นมันเป็นจริตนิสัย ท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา หลวงปู่มั่นชมมาก ท่านมีอำนาจวาสนาเพราะท่านมีอภิญญา ท่านรู้ของท่านไปหมดล่ะ

หลวงปู่มั่น อยู่ที่ถ้ำเชียงดาว เห็นไหม เวลาเห็นในถ้ำมันยาวขนาดไหน ให้หลวงปู่ตื้อพิสูจน์ ท่านเห็นโดยของท่านอยู่แล้ว เห็นจากภายใน แต่ต้องการพิสูจน์ ให้ตรวจสอบ ให้ลูกศิษย์กับอาจารย์ยอมรับกันด้วยความเป็นจริง ให้หลวงปู่ตื้อนี่ท่านดำน้ำไปในถ้ำเชียงดาว ๗ วัน ๘ วันไม่มีทะลุ เห็นไหม ขึ้นไปบนยอดเขา พิสูจน์กัน นี่เวลาของจริงกับของจริงอยู่ด้วยกันเห็นไหม

แต่เวลาพวกเรานะ หลวงปู่ตื้อทำอย่างนั้น หลวงปู่ตื้อทำตามสบาย หลวงปู่ตื้อไม่ทำอะไรเลย..

หลวงปู่ตื้อนั่ง ๗ วัน ๘ วัน ทำไมไม่พูดบ้างล่ะ ! นี่เอาอย่าง

จะเอาเยี่ยงไง เอาเยี่ยงที่หลวงปู่ตื้อท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คือท่านพ้นจากสมมุติบัญญัติไปแล้ว มันก็เป็นกิริยาเฉยๆ เป็นกิริยาของพระอรหันต์ แต่จริตนิสัยของท่าน ท่านมีคุณสมบัติ

คุณสมบัติที่อภิญญา ๖ นี่สุดยอดมากเลย ท่านจะรู้ของท่านไปหมดล่ะ แต่ท่านไม่เอามาพูด ไม่เอามาโม้ แต่หลวงปู่มั่นน่ะเป็นคนค้ำประกันว่า หลวงปู่ตื้อท่านสุดยอด! สุดยอด! แล้วเวลาไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเห็นไหม เวลาที่แจกอาหาร เราจะไปเยี่ยมครูบาอาจารย์กัน เราจะระลึกนึกถึง เราจะมีความเคารพนบนอบ

เวลาไปที่หนองผือเห็นไหม เวลาที่แจกอาหารอยู่ หลวงปู่ตื้อท่านฉันเลย นี่หลวงปู่มั่นก็อยู่ที่นั่นนะ

“ อ้าว.. ท่านตื้อ ท่านฉันทำไมล่ะ ”

“ อ้าว.. ก็ผมหิวน่ะ ผมหิว ผมก็จะฉันน่ะ”

ท่านก็ไม่เอ็ดไม่ว่า เพราะว่ามันพ้นจากสมมุติบัญญัติไปแล้ว ท่านก็พ้นแล้ว ทุกคนในสังคมที่พ้นแล้ว แต่ท่านห่วงพระเห็นไหม “ หมู่คณะ ! จำไว้นะ.. ใครอย่าเอาอย่างท่านตื้อนะ จะเอาอย่างนี้ไม่ได้ จะฉันเอง ทำเอง อย่างนี้ไม่ได้ ”

เห็นไหม ฟังสิ ในอันหนึ่ง ผู้ที่พ้นไปแล้วท่านทำของท่านก็ถูกต้องดีงาม แต่ไอ้ผู้ที่ไม่รู้เรื่อง มันก็จะเอาแบบอย่าง เอาแต่สิ่งที่สะดวกสบาย แต่เวลาท่านภาวนาของท่าน นั่ง ๗ วัน ๘ วันท่านทำของท่าน ท่านใช้ปัญญาของท่าน ไม่มีใครพูดถึงเลย !! ไม่มีใครพูดเยี่ยงอย่างที่หลวงปู่ตื้อท่านทำ ไม่มีใครพูดถึงเยี่ยงอย่างที่ครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมาเลย ! แต่เวลาท่านอยู่ด้วยความสุขสบายของท่าน ท่านพ้นของท่านไปแล้ว

นี่อู้ย.. ไปเอาเป็นตัวอย่าง ไปเอาแต่อย่างนี้มาอวดกัน ไปเอามาพูดกันว่า “ทำไมครูบาอาจารย์ทำได้.. ทำไมครูบาอาจารย์ทำได้..”

นี่พูดถึงเห็นไหม เวลาโลกเขามองกัน เราก็มองนะ จริงๆ น่ะ เรื่องของโลกก็คือเรื่องของโลก วันนั้นเขามาขอแล้ว เราบอกว่าไม่ได้หรอก เรามีพ่อมีแม่ ต้องพ่อแม่อนุญาต เราถึงจะพูดได้ ก็คุยกันอยู่พักใหญ่ เขาบอกมันเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริง ...ข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่เอาอะไรเลย เอาข้อเท็จจริงเท่านั้น

พอเอาข้อเท็จจริง ในเว็บไซต์ก็มีอยู่แล้ว ในเว็บไซต์เขาก็ตัดไปลงที่อื่นหมดแล้ว เขาจะเอาสดๆ ... คือเขาจะเอารูปนั่นแหละ แต่เสร็จแล้วเขาก็ทำไปแล้ว นี่พูดถึง…

เราก็พูดไง พูดแบบว่ามันเป็นอย่างนี้ หลักเป็นอย่างนี้ ในหมู่กรรมฐานเป็นอย่างนี้ พูดเป็นอย่างนี้ แล้วผิดถูกนั้นให้สังคมตัดสินกันไปเอง

แล้วนี่พูดถึงนะ มันพูดด้วยหลัก แต่ถ้าไม่มีหลัก มีก็คลอนแคลนกันไป แล้วก็ถูลู่ถูกังกันไปอีก แต่ทีนี้มันเป็นหลักอย่างนี้ แล้วยืนในหลัก เพราะพูดอยู่แล้ว “อริยภูมิ ใครจะตรวจสอบ” เที่ยวแจก เที่ยวแถม.. อริยภูมินี่ แถมเค้าไปทั่วนี่ใครจะตรวจสอบ

ทีนี้พอบอกว่า มีคนตรวจสอบ ก็ตกใจ ดูสิ ...ใครตรวจสอบ แล้วคนตรวจสอบ เขาตรวจสอบกันได้อย่างไร เกลือก็คือเกลือ น้ำตาลก็คือน้ำตาล เกลือกับน้ำตาลเอามาอยู่ด้วยกัน เกลือก็คือเกลือ นี่ก็เหมือนกัน คุณธรรมก็คือคุณธรรม ผู้รู้จริงก็คือผู้รู้จริง ถ้าไม่จริงมันก็คือไม่จริง แล้วพูดออกไป พูดเฉยๆ พูดอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ตอนนี้มันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว มันก็เดือนร้อนแล้ว

“ สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย ”

สิ่งนั้นไม่ดีเลย... มันก็ให้ผลตามความเป็นจริง เอวัง