เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ พ.ย. ๒๕๓๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนมันจะเกิดนะ คนเรามันต้องเกิด เกิดมาเอาอะไรมาเกิด คนเอาอะไรมาเกิด คนจะเกิดเพราะจิตมันมีกรรมมันต้องมาเกิด จิตมันยังไม่สิ้นยางเหนียว ยังมีตัณหาความทะยานอยากอยู่ต้องมาเกิดอยู่แล้ว แต่เวลาคนมันมาเกิด มาเกิดเป็นอะไร ถ้ามันไม่เกิดมาเป็นคนก็เกิดเป็นอย่างอื่นนะ

แล้วเกิดเป็นคนน่ะเหมือนกับเราเช่าบ้าน เราเช่าบ้านหลังไหนอยู่ เราก็ได้บ้านหลังนั้น ฟังนะ ! เราเช่าบ้านหลังไหนอยู่ เราเช่าบ้านไม่ใช่บ้านเรานะ ถ้าบ้านของเรา เวลาสมบัติ ฟังให้ดี เราเช่าบ้านอยู่ เราไปตกแต่งบ้านเท่าไรก็แล้วแต่ เราทาสีบ้านซะสวยเลย แล้วเราเช่าอยู่หรือเปล่า เราหามาให้คนอื่นใช่ไหม

เงินก็เหมือนกัน เราหาสมบัติมานี่หามาเพื่อเรา ไม่ใช่นะมึง หาเงินมาให้นาย ก. ให้นาย ก. ให้นาย ก. แล้วมันเป็นของนาย ก. หรือเปล่า เพราะนาย ก. ตายไปก็ไม่ใช่นาย ก. นาย ก. ตายไปก็เหลือแต่จิต จิตนั้นไม่ใช่นาย ก. แล้ว นาย ก. เป็นอย่างไร มันก็เป็นสมมุติไง คือว่าหลงกันไง ถึงว่าให้ภาวนา

ภาวนานี่ คือภาวนาไปพอภาวนาปั๊บนี่ หา ! หาสมบัติให้บ้านเช่า คือหาสมบัติให้เปลือกไง หาสมบัติให้กายไง ถ้าเรายังมีกายกับใจพร้อมกันอยู่นี่ เราก็เป็นนาย ก. พอตายตูมนี่ นาย ก. ตาย ใบมรณบัตรออกมาว่านาย ก. ตาย แต่จิตนาย ก. ไม่ได้ตาย แต่จิตนาย ก. นั้นก็ไม่ใช่นาย ก. อีกแล้ว เพราะจิตของนาย ก. ต้องไปเสวยภพใหม่

บุญกุศลอย่างนี้มันไม่สามารถไปกับดวงใจได้ แต่ถ้าภาวนานี่สมบัติอันนี้มันแนบไปอยู่ในดวงจิตนั้น อยู่ในดวงใจนั้น มันไปพร้อมกันไง จิตนั้นตายก็ตายไปพร้อมกับคุณงามความดีที่แนบไปกับใจนั้นถึงการทำบุญนะ เวลาเราไปสร้างบุญกุศลกัน ไปทอดกฐินกัน นี่บุญ !

แต่บุญอย่างนี้เป็นบุญที่ขับเคลื่อนได้ ขับเคลื่อนอย่างไร รถต้องไปด้วยน้ำมันใช่ไหม บุญอย่างนี้มันส่ง ทำความดีมากเลยก็ไปเกิดบนสวรรค์ พอใช้บุญนั้นหมดแล้วมันก็หมดเห็นไหม นี่คือว่าพลังงานที่ขับเคลื่อนที่ใช้หมด บุญภายนอกไง

แต่บุญจากการภาวนานี่ เวลาภาวนาขึ้นมา พอจิตมันเสวยอารมณ์ใดๆ เสวยสมาธิธรรม เสวยธรรมทั้งหลาย มันเสวยคือว่ามันแนบเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับใจ พอใจตายไปนี่สมบัติอันนี้ถึงเป็นสมบัติแท้ไง

สมบัติของนาย ก. ถ้านาย ก. ภาวนาเป็นสมาธิ จนมีปัญญารู้ความเป็นสภาวธรรมทั้งหมด พอนาย ก. ตายไปแล้วแต่จิตนาย ก. ก็ไปเสวยธรรมอันนั้นน่ะ นาย ก. มาปฏิบัติธรรมแล้วนาย ก. รู้เพราะมันซับอยู่ที่ใจ นาย ก. ตายไป สมมุติตัวนั้นขาดจากนาย ก. ถ้านาย ก. ตายไป แต่ไอ้ตัวรู้สภาวธรรมนั้นมันแนบกับจิตนาย ก. ไป มันไม่มีอะไรมากั้นไง

ก็เหมือนเราเช่าบ้านใช่ไหม บ้านเช่านี่มันกั้น หาเพชรหาพลอยมาตกแต่งบ้าน ทาสีซะสวยเลย ทาสีนี่มันก็เป็นบ้านเช่า ไม่ใช่ของเรา เราออกจากบ้านเช่านั้นไปแล้วมันก็คาอยู่ที่บ้านเช่านั้นเห็นไหม สภาวะมิติมันกั้นไว้

แต่การปฏิบัตินี่มันผ่านมิติได้ ประสาเรานะมันแนบกับใจ มันผ่านมิติอันนั้นไปเสวยต่างภพต่างชาติไปเรื่อยๆ เลย ถึงว่าทำบุญมาๆ ทำบุญส่วนทำบุญมา แต่ปฏิบัติส่วนปฏิบัตินะ เราต้องปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ทำบุญแล้ว โอ้โฮ ! อิ่มใจนะนี่ ไปทำบุญกฐินมา โอ๊ย อิ่มใจ อันนั้นเป็นประโยชน์แน่นอนเลย “ทาน ศีล ภาวนา” เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ๓ เส้าไง

หม้อข้าวตั้งอยู่บนเตานี่ เออ มันก็มั่นคง ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันจะมี ๒ เส้า หม้อข้าวนี่มันจะตั้งอย่างไร ร่างกายนี้หัวใจเราตั้งอยู่ หัวใจเราเหมือนกับหม้อข้าว หัวใจเราเป็นภาชนะที่ใส่ผักตั้งอยู่บน ๓ เส้า ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม

ทานๆ ก็ติดในทาน คุยกันแต่เรื่องทาน แต่เรื่องอย่างนี้มันก็ไม่ภาวนาต่อ มันต้องให้วงรอบ ต้องภาวนา แล้วพอภาวนาเข้าตรงนี้เห็นผลของมันไง เห็นผลตามความเป็นจริงว่า ถ้า อย่างเราไปทำบุญทำทานมันก็เป็นบุญกิริยาวัตถุข้างนอก ให้ผลเด็ดขาด มันให้ผลไปเหมือนกับชาติหน้าเหมือนกัน แต่มันไม่แนบสนิทมันใช้หมดเลย แต่ไอ้ที่ว่าแนบลงที่ใจนี่เป็นสภาวธรรม ที่เห็นสภาวธรรมมันไม่มีวันหมด ! มันเป็นเนื้อเดียวกันมันไม่มีวันหมด และสิ่งที่ไม่มีวันหมดนี่ตอนนี้มันทำได้

ทำได้หมายถึงว่าเครื่องมือพร้อมไง ลองแปรสภาพนี้ไปสิ พอเริ่มใจมันถอดใจมันถอยสิ มันก็จะไม่ยอมทำ ถึงต้องทำไง แล้วต้องทำด้วย แล้วเห็น เข้าใจๆ ว่าอันนี้เป็นประโยชน์แท้ ประโยชน์นอก ประโยชน์ใน เราก็หามาเป็นคนฉลาดไง ถึงว่าศาสนานี้ไม่ว่างเปล่าไง

ศาสนานี้อาจารย์บอกว่า “เหมือนห้างสรรพสินค้า” เราเข้าไปห้างใครมันจะไปเอาของเล็กน้อยใช่ไหม ทุกคนก็ต้องแบบว่าไปเอาของที่มีค่าที่สุด ที่นี้เวลาทำมันถึงว่าทำยากที่สุด พอทำยากที่สุดมันก็จะไม่เอานะสิ เอาแต่ข้างนอกกันน่ะ ได้บุญ.. เข้าใจเรื่องบุญไง บุญนอกบุญใน “ต้องตั้งใจนะ ต้องทำ ”

เราอธิบายให้เขาฟังว่า หลวงปู่มั่นอยู่ป่าแล้วเข้ามาหาหมู่ พระผู้ใหญ่ถามว่า

“ท่านอยู่ป่าอยู่คนเดียวแล้วอยู่อย่างไร”

“เอ้า ! เวลาผมอยู่ป่าคนเดียวผมก็ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลานะ เกล้ากระผมอยู่ป่าผมก็ฟังธรรมตลอดเวลา”

นี่ภาวนาไปจิตมันเริ่มสงบลง ความรู้มันเกิดขึ้น ความซึ้งใจเกิดขึ้น ความดูดดื่มเกิดขึ้น อู้ย อยากจะกราบ อยากจะกราบ ไอ้อยากจะกราบนี่ คือว่าคำพูดของเราตอนเข้ามาครั้งก่อนเราพูดอะไรไว้มากมายไง แล้วก็แบบว่าฟังแล้วนี่ใจมันไม่ทัน คือรับได้แต่เป็นปริยัตินะ

คือว่าการฟังครูบาอาจารย์พูด พอไปภาวนาเข้ามันไปเหมือนกันน่ะ ถึงบอกว่าถึงบางอ้อไงว่าอยากจะกราบร้อยครั้งพันครั้งเหมือนกัน มันฝังใจมากเลย พูดเรื่องพระป่านี่ เวลาพูดมันก็ฟัง ฟังนี่มันก็เป็นภาคปฏิบัติเหมือนกัน แต่เพราะฟังจากนี้ใช่ไหม แต่พูดจริงๆ แล้วมันก็เหมือนปริยัติ ก็เหมือนที่ฟังมา ก็เหมือนกับศึกษาเล่าเรียนปริยัติ

แต่พอไปทำเข้า พอจิตมันไปรู้เข้าอยากจะกราบร้อยครั้งพันครั้ง เราบอกว่านี่ธรรมมันเกิด สภาวธรรมมันเกิด ความรู้ความสงสัยต่างๆ ในใจจะผุดขึ้นมาๆ มันก็ผุดขึ้นมา แต่พอสมาธิเราไม่ดี พอมันผุดขึ้นมามันก็ดีใจแล้ว มันจะผุดบ่อย ถ้าผุดบ่อยนะ ผิดแล้ว

ธรรมนี่มันจะเกิดต้องจิตเป็นสมาธิจิตลงเต็มที่เลย มันจะผุดขึ้นมาเลย มันเป็นคำพูดไง เหมือนกับเรา ถ้าพูดประสาว่าพวกความคิดของกวีไง นักกวีมันไหลเห็นไหม ไอ้พวกแต่งกลอนเวลาไปไหนเวลามันจะออกมานี่ต้องรีบจดไว้ เดี๋ยวลืมเห็นไหม นั่งรถไปไหนพอความคิดแวบขึ้นมาต้องรีบจดไว้เลย

แต่เราไม่ใช่ขนาดนั้น เราลึกกว่านั้น เพราะมีฐานของใจ มีฐานของการทำใจสงบ แล้วเราเดินมรรคเข้ามา นี่คือว่าสัมมาอยู่ตรงนี้นะ สัมมาคือการม้วนกลับเข้ามา

แต่อย่างไอ้พวกนั้นมันส่งออกไง อย่างกวีนิพนธ์ต่างๆ มันเป็นการส่งออกใช่ไหม เป็นการเลือกของโลกไป แต่ถ้าเราวกกลับมานี่ นี่ธรรม นี่สัมมา

สัมมาคือสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งใดก็แล้วแต่เป็นการให้มักน้อย ให้สันโดษ ให้มักน้อยนะ ให้ขัดเกลา พออย่างนี้มันซึ้งใจเห็นไหม พออารมณ์เกิดขึ้นมานี่ อื้อหือ ! มันเหมือนโล่งหมดเลย มันขัดเกลาหรือไม่ขัดเกลา ใจนี้ปล่อยวางหมดเลย โอ๊ย.. ดูดดื่ม เห็นไหม มันก็เข้ามาหาหัวใจ โอ้ ! สุขไง ความสงบแท้จริงอยู่ที่ใจ มันสงบอย่างนี้เอง นี่โลกของธรรม

แต่อย่างที่ว่ากวีนิพนธ์เขาพูดกันออกไปแล้ว แหม ! อ่านแล้วก็ซึ้งใจน้ำตาไหลนะ น้ำตาไหลมันก็อยากจะไป มันออกไปข้างนอก มันไม่เกี่ยวกับทางนี้ ไอ้ทางนี้มันเข้ามา นี่สัมมากับมิจฉา การปฏิบัติที่ถูกต้อง และการปฏิบัติที่มันเนิ่นช้า อย่างน้อยเนินช้า อย่างมากหลง แต่ถ้าวกกลับมานี่อย่างไรก็แล้วแต่ไม่หลง อย่างไรก็แล้วแต่มันจะขัดเกลาๆๆๆ ขัดเกลาใจของเรา

นี่ขัดเกลานะ เพราะว่ามันไม่ใช่มรรคอริยสัจจังว่าอย่างนั้นเลย มันไม่ใช่การภาวนาจนเป็นภาวนามยปัญญา ธรรมมันผุดนี่ คำว่าธรรมมันผุดมันขึ้นมาโดยที่ว่าจิตมันสงบแล้วแต่บารมีของหัวใจดวงนั้นนะ

หัวใจดวงนั้นหมายถึงว่าเคยสร้างมา เคยศึกษามาแล้วมันสะสมไว้ อย่างเช่น บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติแล้วผ่านตรงนี้ ผ่านจากสัญญาเดิมเข้าไปนี่ นี่ก็เหมือนกัน ในชาติต่างๆ ได้ทำบุญกุศลไว้ อย่างศึกษาเล่าเรียนมามาก จุลปันถกเห็นไหม

แล้วอย่างที่ว่าปลาตะเพียนทองคำ เดิมเป็นครูสอนปริยัติ แล้วมีลูกศิษย์ลูกหามากมายเลย เป็น ๕๐๐-๖๐๐ สอนธรรมะพระพุทธเจ้า สอนไปสอนมาแล้วตัวเองชักใหญ่ ก็เลยเอาความเห็นของตัวใส่เข้าไปด้วย เห็นไหม พอตายไปก็ไปตกนรก เพราะกล่าวตู่พุทธพจน์

ตายไปตกนรกเลย เพราะเศษของกรรม สุดท้ายมาเกิดเป็นปลาทองคำ อยู่ในเมืองชื่อเมืองอะไรอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วพรานเข้าไปทอดแหได้มา อู้ย ! คนบ้านนอก ไม่ได้ ! ถ้าอย่างนี่ เราคนบ้านนอกกลัวโดนกฎของกษัตริย์ อย่างนี้ต้องเอาไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เอาไปถวาย บนท้องพระโรงพอปลาอ้าปากเหม็นหมดเลย

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถ้าเอาไปถามพระพุทธเจ้าก็จะรู้ ก็เลยให้เอาไปหาพระพุทธเจ้า ก็เอาไปวางไว้ พอไปถึงพระพุทธเจ้า พอปลาอ้าปากนี่เหม็นหมดเลย พระเจ้าปเสนทิโกศลถามว่า

“เป็นเพราะอะไร”

“ไอ้ที่เหม็นอย่างนี้นะ เพราะกล่าวตู่พระพุทธพจน์”

ปากเหม็น ! แต่ที่เป็นปลาทองคำนี่เพราะว่าได้เคยบวชในศาสนาเห็นไหม แล้วทำบุญกุศลนี่ ผ้าเหลืองนี่ เกร็ดที่เป็นปลาตะเพียนนี่เป็นเนื้อทองหมดเลย นี่ขนาดตกนรกขึ้นมานะ

อันนี้เหมือนกัน ถ้าเราศึกษาเราเล่าเรียนมานี่ เราจะพูดเรื่องศึกษา นี่เม็ดในของใจไง พอจิตมันสงบไอ้พวกนี้มันจะโผล่ขึ้นมา นี่ธรรมมันผุด เป็นเฉพาะบุคคลไม่มีทั่วไป คนไหนที่มีบุญญาบารมีเท่านั้นมันจะเป็นของมันเอง มันเป็นของดวงใจดวงนั้นไม่เป็นสาธารณะนะ ของใครของมันนะ ไอ้ธรรมผุดหรือไม่ผุดนี่

พอเขาว่าธรรมผุด เราก็ผุดบ้าง ไม่มีจะผุดนะสิ นี่ ! สัญญาล้วนๆ นะ มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ว่าเขาได้สร้างกุศลของเขามา เขาได้ทำของเขามามันถึงจะมี ถ้าคนไม่ทำมาก็แห้งแล้งว่าอย่างนั้นเลยนะ ทุกข์ยาก ขี้ทุกข์ มันต้องขี้ทุกข์ไปก่อน นี่ธรรมมันผุด

ครูบาอาจารย์ระดับนี้ทำไมจะไม่สร้างบุญญาบารมีมาขนาดนั้น แล้วอยู่ในป่ามันก็ผุด ขึ้นๆๆๆๆ ขึ้นมามันก็สอนนะสิ ก็สอนตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีครูอาจารย์นะ เอาธรรมข้างในขึ้นมาสอนตัวเอง สอนตนเองมันก็ไม่เหลิง

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนสอนตน โอ้ ! ทำไม ? มันก็ยอดเยี่ยมนะสิ แล้วยิ่งเข้าใจไปด้วย เข้าใจไปด้วย ก็จะรู้เลย อ๋อ ! ธรรมะเป็นอย่างนี้ นี่คือธรรมแท้ ธรรมแท้สอนเราเอง พระธรรมสอนเลย กราบพระธรรมเลย นี่พระธรรมสั่งสอนเลย ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์สั่งสอน พระธรรมแท้ๆ สั่งสอนตัวเองเลย (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)