เทศน์เช้า

ปล่อยว่าง วางเฉย

๒๒ ธ.ค. ๒๕๓๙

 

ปล่อยว่างวางเฉย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปล่อยว่างวางเฉยอย่างไร ถ้าพูดถึงแล้วว่างคือว่าง ว่างไม่ต้องปล่อยวางเฉย ถ้าวางเฉยนี่เราปล่อยว่าง เหมือนปกติเราว่าง เย็นๆ นี่เรานั่งสบายใจ เรานั่งแล้วไม่ให้ว่างเข้ามากวนใช่ไหม ไอ้ว่างนี่มันจะเข้ามากวน ปล่อยว่างแล้วเดี๋ยวคนจะมากวนไง ปล่อยว่างแล้วมันมีอยู่ถึงจะมีคนมากวน ต้องมาวางเฉยอีกทีหนึ่ง แสดงว่ามีต้นตอ มีผู้กวนอยู่ในใจ จริงไหม ปล่อยว่างแล้วต้องวางเฉย ถ้าไม่วางเฉยแล้วเดี๋ยวมันจะไม่ว่างไง

ไอ้อย่างนี้ รู้! ปล่อยว่างแล้วต้องวางเฉยด้วยหรือ ปล่อยว่างแล้วกลัว ก็เหมือนกับพูดประสาเราว่าก็พวกเรานี่แหละ คนสบายใจนี่ก็กลัวคนจะมากวน กิเลสมันเต็มตัวไหม พวกเรากิเลสเต็มตัวไหม? เต็ม! แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วว่างก็คือว่าง จะปล่อยไม่ปล่อย มันว่างโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติว่างมาตลอด ไม่ต้องมาวางเฉยอีกชั้นหนึ่งหรอก ว่างก็คือว่าง! แล้วว่างไม่ควรพูดด้วย

แบบนี้นะที่พูดว่าว่างก็สมมุติกัน พอสมมุติเรายอมรับอยู่ ต้องมีสมมุติมาคุยกัน ว่าง สบายใจ จริงไหม? แต่ปล่อยว่างแล้ววางเฉยอีก มันบอกชัดๆ เลยว่ามีกิเลสอยู่ในใจ พอมันจะคุ้ยเขี่ยให้ขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง นี่คำพูดนะ ถ้าคำพูดเป็นหลักความจริงนะ อีกคำพูดหนึ่งคือว่าพูดแบบกลอนพาไปไง พูดแบบเขาว่ากันนะ แบบว่าเป็นโวหาร แต่ความจริงรู้จริง ก็ไม่ใช่อีกล่ะ

เพราะดูนะ นี่เราเอามือ เราถือนี่ เห็นไหม มันก็มีของอยู่ใช่ไหม เราปล่อยไปแล้ว มันก็ว่างใช่ไหม ว่างแล้วมีอะไร ในมือน่ะ ก็กลัวมันจะไปจับอีกเห็นไหม ตัวมือยังมีอยู่เห็นไหม แล้วพูดถึงละขันธ์ ๕ พูดถึงขันธ์ ๕ ไม่เคยพูดถึงมโนเลย จริงไหม? พูดถึงแต่ขันธ์ ๕ นะ ขันธ์ ๕ ขาด ขันธ์ ๕ ขาด ปล่อยขันธ์ ๕ แต่ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ถูกต้อง! แต่ผู้ปล่อยขันธ์ ๕ คือใครล่ะ ปล่อยแต่ขันธ์ ๕ ๆ มันพูดนะ

ถ้าพูดนะ เอ้า! พูดตามหลักวิชาการนะ ๑ กิโลเมตรนี่ระยะทาง ๑,๐๐๐ เมตรใช่ไหม เราก้าวหนึ่งประมาณ ๕๐ เซน ใช่ไหม เราว่า ๑ เมตรก็เดิน ๒ ก้าว ๑๐๐ เมตรก็ ๒,๐๐๐ ก้าว ๑,๐๐๐ เมตรกี่พันก้าว? ก็ ๒๐,๐๐๐ ก้าว ใช่ไหม นี่เดินมา ๒๐,๐๐๐ ก้าวนี่มันก็เป็น ๑ กิโลเมตรใช่ไหม การทำมานี่ ๑ กิโลเมตรนี่จะรู้ว่า ๑ กิโลเมตรเลย แต่ว่าถ้าคนที่มันไม่เคยเดิน ๑ กิโลเมตรนี้ มันไปมองหลักเขตหลักโค้ง เห็นสั้นๆ มันก็คิดว่านี้ ๑ กิโลเมตร เพราะคนไม่เคยเดินมันก็บอกว่า ๑ กิโลเมตรเหมือนกัน นี่คือโวหารไง

คำพูดว่า “๑ กิโลเมตร” หรือคำพูดว่า “ว่าง” แต่เนื้อหาความว่างมันต่างกับการกระทำใช่ไหม นี่พูดถึงว่าจะชักเข้ามาที่ว่าถ้าพูดตามทฤษฎี เราก็บอกว่า ๓ ขั้น ถ้าตามทฤษฎีที่ว่าความว่างนะ แต่มันว่างด้วยอะไรล่ะ เราถึงบอกว่าเราตอบเป็น ๒ ประเด็นไง

ประเด็น ๑ คือว่าถ้าเป็นความจริงก็ อ้าว ตีให้อย่างที่ว่านี่ ให้พระอนาคามี แต่ถ้าเป็นความว่างแบบโลกเขา ความว่างธรรมดานี่ก็ปุถุชนนั่นแหละ ความว่างแบบสมาธิไง ความว่างในฌาน แล้วชักมาแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมดเลย เพราะว่าปล่อยว่างวางเฉย ไอ้คำนี้มันจะฟ้องถึงว่าตัวเองไม่เคยวิปัสสนาเลย ถึงได้วางไว้เฉยๆ ไง ถ้าวิปัสสนาแล้วจะไม่ใช้คำว่าวางเฉย ต้องต่อสู้ ต้องสมุจเฉทปหานนะ

แต่เขาก็ใช้กันอยู่เพราะเป็นตำรา ถึงว่ามันเอามาใช้ตรงไหน เวลาที่มันขาดนี่ อย่างเช่น กินข้าวนี่ ช่วงไหนที่ตักขึ้นมามันจะรู้ตลอดเวลาใช่ไหม แต่นี่มันไม่เคยพูดถึงกิริยาการกินข้าวเลย แต่เดินมาก็ ฉันอิ่ม ๆ นี่แล้วก็พูดกันว่า ฉันอิ่ม แล้วข้าวกินตรงไหนล่ะ โอ๋! กินก็เข้าดั้งจมูกสิ

นี่พูดถึงทางนั้นนะ ถึงบอกว่า ฮื่อ..ฮื่อ..เลย แต่ไอ้กลอนก็ส่วนกลอนนะ ส่วนที่ว่าเป็นธรรมะนี่กลอนพามา ไม่ได้พูดถึงตรงนี้เลยนะ เพราะว่าไอ้อย่างนี้มันถึงว่าไอ้ที่ว่าวางเฉยๆ นี่ มันยังมีอีกตัวหนึ่งไง

มันจะชักกลับมาตรงที่บอกว่า ทำไมถึงว่าสังขารมันปรุงแต่ง? ไม่เห็นสัญญาไง ถ้าเห็นสัญญาแล้วก็ต่อนะ มันพูดถึงว่าสัญญานี่เป็นตัวจุดประกาย ตัวสัญญานี่เป็นตัวจุดประกายเฉยๆ ตัวสัญญานี่ถ้าเทียบแล้วก็คือตอจิตไง คือตัวจิต ตัวพลังงานเฉยๆ เลย แต่ตัวสังขารคือตัวปรุงไป ถ้าไม่ได้กลับมาตรงนี้จะไม่ซึ้งใจเรื่องตรงนี้นะ ถ้าจะซึ้งใจเรื่องตรงนี้ต้องมาเห็นภพไง สัญญามันก็ภวาสวะ ภพไง อวิชชาสวะ ภวาสวะ อะไรนะ ภวาสวะ ภพใช่ไหม อวิชชาสวะ กามาสวะ อาสวะ ๓ อนุสัยไง อันนี้ถึงว่าลงอนุสัย ตัวนี้เป็นตัวจุดประกาย ตัวสัญญานี่มันรับรู้เฉยๆ เลยนะ แล้วมันค่อยแบ่งออกไป แล้วสังขารค่อยปรุงออกไป เห็นไหม

มันต้องมาตรงนี้ๆๆ เป็นผู้ละขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั้นขาดออกไป ที่ว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ฟังๆ ดูนะ ฟังดูแล้วมันจะเป็นแบบอันนี้หมดเลย เป็นอะไร? เป็นวิชาการ แล้วตัวเองก็ไปกดไว้ไง ถึงว่าปล่อยว่างวางเฉยไง วางเฉยไว้ ถ้าไม่วางเฉยเดี๋ยวมันเกิด

นี่ถ้าจะพูดถึงการอย่างนั้นนะ พูดถึงที่ว่าว่างโดยสมาธิไง แต่ถ้าว่างด้วยทฤษฏีที่ว่าว่าง เออ ยกให้ ตีเป็น ๒ ประเด็น เพราะว่ามันไม่ได้คุยกันอยู่แล้ว เพราะว่าเขาตายแล้วทั้งคู่ ไม่ได้พูดกัน

แล้วฟังนะ ถ้าสมมุตินะ สมมุติเลย นี่เราคุยกับพระ หรือคุยกับใครก็แล้วแต่ ใครมาคุยกับเราแล้วไม่ต้องคุยอะไรซ้ำ ไม่ต้องคุยซ้ำ แค่ไหนแค่นั้น รู้ตลอด ก้าวเดินมาต้องรู้

ฆ่าเหลนเป็นโสดาบัน ขาด! ฆ่าหลานเป็นสกิทาคามีนะ เพราะฆ่าทีเดียวใช่ไหม ฆ่าเหลนเป็นโสดาบัน ฆ่าหลานเป็นสกิทาคามี ฆ่าลูกเป็นอนาคามี ฆ่าพ่อเจ้าวัฏจักรไง แล้วพอฆ่าแล้วนี่ต้องฆ่าบ่อยๆ ไหม คนตายไปกี่หน

ถ้ากิเลสตายแล้วนะ ฆ่าไปสมุจเฉทแต่ละครั้งแล้วไม่ต้องกลับไปถามว่า เฮ้ย! กิเลสมึงอยู่ไหน ไม่ต้อง ไม่ต้อง ตายหนเดียว! สมุจเฉทปหานหนเดียว นี่ถามซ้ำถามซาก ถามซับถามซ้อน ตายแล้วเขาก็ไปปลุกศพขึ้นมา เอ๊ะ ตายหรือยัง ตายแล้วก็เป็นศพ ตายหรือยัง ตายแล้วก็ไปเอาศพมา ว่าตายหรือยัง บ้าหรือ?

ถ้าอาจารย์ยังเป็นอย่างนี้นะ แสดงว่าอาจารย์นี้โลเลมากเลย อาจารย์นี้ใช้ไม่ได้! เราได้ซักใครไปแล้วนี่ ไอ้เม้งหรือใครก็แล้วแต่นี่ เอ่ยชื่อเลยนะ ตรงไหนตรงนั้น ไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนไม่มีสติ ไม่ใช่คนจำไม่ได้เลย เพราะอย่างนี้มันก็เหมือนกับว่า เอ็งมีเงินอยู่เท่าไหร่ เอ็งมีเงินอยู่เท่าไหร่ก็มีอยู่เท่านั้นล่ะ มันจะเพิ่มมาจากไหน เป็นไปไม่ได้ นี่พูดถึงมีเงินนะ

แต่อันนี้คือการฆ่าน่ะ การฆ่าคือการสมุจเฉทปหานแต่ละขั้นตอน ฆ่าเหลนเป็นโสดาบัน เป็นอกุปปธรรมไม่เสื่อมจากตรงนี้เด็ดขาด ไม่ต้องไปถาม กิริยาจะเป็นอย่างไรเรื่องของมัน แต่ใจมันต้องเป็นตรงนี้เด็ดขาด! เป็นสกิทาคามีแล้วก็เป็นสกิทาคามีเด็ดขาด ได้เป็นอกุปปธรรม ไม่เสื่อมจากนี้เด็ดขาด

แต่ถ้าเดินขึ้นไปแล้วเสื่อม เพราะเดินขึ้นไปนี่ไม่รู้ ไม่รู้แล้วงง พองงแล้วมันปล่อยวาง เข้าใจว่าเพราะมันไม่เคย แต่พอขึ้นไปถึงแล้วมันขาดจริงๆ แล้วก็ขาด ขาดแล้วคือตาย กิเลสตายแล้วต้องไปถามอีกหรือ อยู่ไหม? อยู่ไหม?

นี่มันรับไม่ได้เลย ทำไมลังเลกันขนาดนั้น ทำไมไม่เด็ดขาด ธรรมะไม่เด็ดขาดไม่มีล่ะ จะนุ่มนวล คนจะนิ่งขนาดไหนนะ คนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่นะ แต่ถ้าขาดแล้ว มันพูดได้นะ อาจารย์พูดว่า “อาจหาญมาก”

พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์บนเขาคิชฌกูฎ ในถ้ำสุกรขาตา เห็นไหม ทำไมรู้ว่า ตายตรงนั้น ขาดตรงนั้น แล้วจากตรงนั้นมาพระสารีบุตรจะทำตัวอย่างไรก็ไม่เกี่ยว มันเป็นกิริยาของขันธ์เฉยๆ แต่กิเลสมันขาดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ไม่มี! ทำไมถึงต้องมาถามกันตลอด

คนถามนี่มันก็น่าสงสัยแล้ว คนตอบก็สงสัย คนถามก็สงสัย มันถึงบอก อืม อือ ถ้าอาจารย์สงสัยมันจะไปไหนว่ะ ถ้าให้กำลังใจไม่ใช่พูดอย่างนี้ ให้กำลังใจก็ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่ให้กำลังใจอย่างเดียวนะ เรามองในฐานะที่ว่าเอาคนป่วยมาขายเลยนะ คนเจ็บขนาดนี้ทำไมไปซักไปถาม

ครูบาอาจารย์เรานะ เวลาจะเสียนี่ ออกไปให้หมด ออกไปให้หมด ออกไปไกลๆ นะ ให้ท่านอยู่ของท่าน ให้ท่านบริหารจิตของท่านเอง อันนี้เอาคนโน้นเข้าไปยุ่ง เอาคนนี้เข้าไปเทศน์ให้คนป่วย คนนั้นเทศน์ออกมา คนโน้นเทศน์กลับไป อู้! รับไม่ได้ จนลูกเขาพูด เห็นไหม ลูกเขารับไม่ได้เลย ลูกบอกว่าออกมาสิ แต่แม่ไม่ยอม ลูกบอกว่ามีแต่โครงกระดูก มีแต่ซี่โครง เห็นอะไรไหม? เห็นอะไรไหม? เห็นซี่โครงไง เห็นแต่ผอมแห้งไง ลูกตอบเลย เห็นไหม

ไอ้อย่างนี้ยิ่งออกไปยุ่งข้างนอกมันยิ่งยุ่งใช่ไหม ไปสิ ให้กำหนดอยู่ในใจนั้นน่ะ ไอ้ข้างนอกอยู่ข้างนอก อย่าไปกวนสิ นี่กวนกันนะ โอ้โฮ! อ่านแล้วมันทั้งโลกทั้งธรรมเลย ไปกวนขนาดนั้นหรือ

คนเรามันป่วยขนาดนั้นมันก็ต้องบริหารขันธ์ใช่ไหม แล้วขันธ์มันบีบรัดมาเห็นไหม ที่พูดเลยล่ะ ขันธ์ไม่มีหรือ? มีสิ ทำไมจะไม่รัด ทำไมจะไม่บีบ ขันธ์บีบ ขันธ์รัด แต่รู้เท่ามันก็ปล่อยวาง ขันธ์นี้มันก็ธรรมดา

เริ่มต้นแบบว่าในทฤษฎีก็มี แต่ทำไมเอาออกมาวนอยู่ตลอด วนอยู่ตลอด ความไม่แน่ใจ ความลังเลสงสัยเป็นธรรมไหม? เป็นนิวรณธรรมนะสิ ไม่ใช่ธรรมนะสิ เป็นนิวรณ์น่ะ ความลังเลสงสัย แล้วผู้ปฏิบัติเป็นครูบาอาจารย์ยังลังเลสงสัยได้อย่างไร เพราะมันยังลังเลสงสัย ให้กำลังใจจะไม่พูดอย่างนี้หรอก ให้กำลังใจน่ะมี

อาจารย์ถวิลน่ะ ตอนใกล้จะเสียนะ ท่านเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว อยากฟังเทศน์มาก ขอฟังเทศน์อาจารย์มหาบัว ขอฟังเทศน์เลย เอาเทปไปให้อาจารย์ท่านเทศน์แล้วอัดเทปมาเปิดฟังเลย นอนฟังเทศน์..พระพุทธเจ้าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะให้พระสวดโพชฌงค์ มันพูดถึงกิริยาของจิตมันหัก มันหลุดอย่างไร นอนฟังนะ ฟังแล้วมีกำลังใจไง ไม่ใช่ให้มาเทศน์ ให้ฟัง ให้ฟัง

มีครูบาอาจารย์เวลาจะเสียนี่อยากฟังเทศน์อาจารย์ อยากฟังเทศน์อาจารย์ อยากฟังเทศน์ไง เพราะฟังเทศน์นี่เราก็กำลังกำหนดอยู่ ถ้ามีเทศน์อยู่นะมันก็เหมือนว่า ถ้าพูดประสาเรานะ การดูหนังนี่มันก็มีหนังใบ้ แต่ถ้าเราดูหนังด้วยแล้วเปิดเทปด้วย หนังมีเสียง เห็นไหม อู้! มันก็สนุกนะสิ หนังใบ้หมายถึงว่าเรากำหนดจิตของเราอยู่ เราบริหารจิตของเราอยู่ แต่มันก็ต้องบริหารของเราเอง ถ้ามีธรรมะครูบาอาจารย์มาเป็นเสียงนะ มันเข้ากันผลัวะผละ ผลัวะผละ มันก็สนุกนะสิ มันก็ทำให้เพลิดเพลิน จริงไหม? โอ้โฮ โอ้โฮ เลยนะ เพราะไม่เคย เราไม่ว่ากันหรอก

แต่พูดถึงนะ ไอ้เรื่องการที่เป็นประโยชน์ของเขา เราใช้ให้เป็นประโยชน์ เราก็ไม่ได้พูดว่าเขาไม่มีอะไรเลย แต่นี่พูดถึงว่านี่มันเป็นอย่างนี้ การเดินมาผิด แล้วพูดถึงนะใครอ่านก็แล้วแต่ ตำราแบบนี้ก็ต้องหลายๆ โป้งเลย ไม่ใช่โป้งเดียว

อันนี้ถ้าอย่างนี้ปั๊บนี่ แล้วถ้าตำราผิด เข็มทิศผิด แล้วการปฏิบัติมันจะไปจบที่ไหน เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเขาไม่เป็น เขาน่ะเป็นหลักการได้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ก็เหมือนที่ว่าพวกนี้พาเพื่อนๆ มา เห็นไหม ที่เขาพากันไปภาวนาเนาะ เราก็ไม่ได้ว่าเขาผิดนะ สมาธิได้ใช่ไหม แต่วิปัสสนาไหม ยกขึ้นไหม มันจะเสีย เสียช่วงนั้น

ไอ้นี้ก็เหมือนกัน ลองอันนี้ผิด อย่างนี้ถูกนะ คำว่า “ปล่อยวางเฉยๆ” ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนั้น ขี้เกียจ จิตเป็นสมาธิแล้วไม่ออกวิปัสสนาหรอก ปล่อยวางๆ มันเป็นมาอย่างนั้นตลอด มันปกติอยู่แล้ว เพราะจิตมันก็อยากจะเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วถ้ามันมาอ้างตำราอย่างนี้ เหมือนมันเข้ากันเลยนะ

ก็นี่ไง ปล่อยวาง วางเฉย สบาย โล่งไง โล่งสิ มันอย่างนี้ พอมันตีกลับปั๊บก็ เฮ้ย! ไม่ไหวแล้ว มาแบบน้ำป่าแล้ว เพราะมันชะล่าใจไง มันพลิกไป

แล้วอาการแบบนี้นะ เราอยู่ในวงการพระเราเห็นมาเยอะ พระเป็นอย่างนี้เยอะเลย ขนาดที่ว่าเพื่อนเราน่ะ ปุ๊บรวมหมดเลย ประกาศเลย “เป็นอนาคามี” เขาก็แหย่กันอยู่พักใหญ่ มันรวมไง มันสงบ พอสุดท้ายแล้วนี่นักเลง พอมันเสื่อมบอกเลย “ที่ผมพูดไปนี่ ขอโทษนะ มันหลงผิด มันเสื่อม” เดี๋ยวนี้มันเสื่อมหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นปุถุชนธรรมดา

นี่พระพูดอย่างนี้เลยนะ พระพวกเรานี่แหละ เวลามันรวมนี่มันว่างหมดน่ะ ก็ว่าเป็นอนาคามี ประกาศตนเลยว่าเป็นอนาคามีอยู่กลางศาลา พระนี่รับฟังกันหมด แล้วพอมันเสื่อมก็มาประกาศตนอีกเหมือนกันว่า “ไอ้ที่ผมพูดไป ขอโทษครับ ผมเข้าใจผิด ผมหลงไป” เพราะมันมีวินัยบังคับใช่ไหม ผู้ที่หลง ผู้ที่ลุ่มหลงไปนี้ไม่ถือว่าเป็นอาบัติไง พอมาเข้าใจถูกต้องแล้วก็มาบอกเลยว่า “ไอ้ที่เข้าใจนั้นพลาดไปแล้ว” นี่เพราะมันอยู่ในวงไง แล้วเขามีของจริงไง ก็ปล่อยให้พลาดกันไป

ไอ้นี่มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วมาเจออย่างนี้มันชี้ตรงนั้นเลย มันเป็นทางเดียวกันเลย ถึงได้พูดไง ถึงได้เป็นห่วงไง มันเป็นธรรมชาติที่ว่าจิตจะเป็นอย่างนี้ ใครปฏิบัติก็จะเป็นอย่างนี้ มันจะลงๆ อย่างนี้ แล้วก็ปล่อยไปเลย แบบกดไง พยายามกดๆๆ ไม่ให้หญ้ามันเกิดได้ไง จะว่าไม่ได้พิจารณานะพวกโยมก็ถือว่าพิจารณา เอ้า ก็ขันธ์ ๕ มันไม่ได้เป็นอนิจจังไง ขันธ์ ๕ มันไม่ได้เที่ยงไง ก็ไม่เที่ยง กินอยู่เดี๋ยวก็หิว ไม่ต้องมีใครบอก ไอ้ว่านมันก็รู้ ไม่มีนมเดี๋ยวมันร้องตายเลย

มันเป็นธรรมชาติที่มันไม่เที่ยง ก็รู้ๆ กันอยู่ แต่ไม่เที่ยงอย่างไรล่ะ ทำยังไงถึงจะเห็นความไม่เที่ยงของมันน่ะ มันสมุจเฉทตรงไหน เพราะมันไม่มีสมุจเฉทตรงไหน มันถึงได้พูดไปไง มันถึงได้ลังเลสงสัย มันถึงได้ถามแล้วถามเล่าไง อย่างที่พระสารีบุตรเห็นไหม ตรงนั้น ตรงนั้น เหมือนครูบาอาจารย์เรานะ ที่นั่น วันที่เท่านั้น ขาดตรงนั้น มันต้องรู้ขนาดนั้นนะ ไม่อย่างนั้นขณะจิตที่มันเป็นอย่างนั้นเป็นได้อย่างไร ใช่ไหม

แล้วขณะอย่างนี้ รู้ขนาดนี้ แล้วเราก็เป็นอาจารย์เราไปถามนี่ ถ้าขณะมันเกิดตรงนั้นต้องรู้ตรงนั้นสิ นี่เดี๋ยวก็ชม โอ้โฮ! ยกย่องเลย เดี๋ยวพรุ่งนี้มันหายไปอีกแล้ว แล้วขณะที่ฟังทีแรกขณะนั้นก็ผิดสิ มันฟ้องทั้งอาจารย์ ทั้งลูกศิษย์จริงๆ อันนี้ฟ้องหมดเลย

ถ้าถามครั้งแรกมันยังไม่ขาดก็ต้องบอกว่าไม่ขาด แล้วมาถามวันหลังสิ นี่วันแรกก็ขาด ยกย่องประเสริฐ วันที่ ๒ ก็ขาด วันที่ ๓ ก็ขาด โอ๊ย ไอ้นี้มันตายหลายหนเว้ย กิเลสตายแล้วตายเล่า ตายแล้วตายเล่า ตายอยู่นั่น แล้วตายไม่ตายจริง ถ้าขาดต้องทีเดียว ทีเดียวเลย สมุจเฉททีเดียว แล้วไม่มีฟื้น ตายแล้วตายเลย หนเดียว มรรค ๔ ผล ๔ ไม่ใช่มรรคพร่ำเพรื่อ นี่มรรคพร่ำเพรื่อ มรรคเละ มรรคอย่างนี้มรรคพร่ำเพรื่อ

สรุปเลย เพราะอย่างนั้น เรานั้นก็ไม่ได้ มันไม่พูดถึง แต่ธรรมะเราก็ค่อยๆ รื้อดู อย่างที่เอ็งว่าจะรื้อดูอีกทีหนึ่ง ลงอันนี้แล้ว (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)