เทศน์เช้า

คมปัญญา

๒๘ ธ.ค. ๒๕๓๙

 

คมปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๙
ณ วันสันติธรรมาราม ต. คลองตาคต อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

ปฏิบัติบูชา เพราะว่าพระว่า “ทำไมผมไม่สอน”

ผมสอนนะ แต่มันเป็นอย่างนี้ ฟังนะ การสอนนี้เพราะมันต้องเป็นประโยชน์ การสอนให้เป็นประโยชน์กับตนเอง คมมีดเห็นไหม คมมีด คมปัญญา มีดคือปัญญาคมใช่ไหม มีดเอาไว้เพื่ออะไร เรานี่เป็นพ่อค้ามีด แต่มีดนี่ถ้าเราเก็บไว้ให้ดี เอาไว้เพื่อเข้าครัวทำอาหารกินใช่ไหม นี่มีดนี้เข้าครัว ถ้ามีดนี้เอาไปฟันเขาล่ะ

แต่ที่ว่าเราไม่สอนเขา เพราะว่าเขาจำคำพูด จำวินัย แล้วเอาไปจับผิดพระ ไปดูพระกันแล้วไปเถียงกันไง ไอ้อย่างนี้เหมือนกับว่าคมปากเที่ยวไปบาดคนอื่น มันไม่มีประโยชน์หรอก ธรรมวินัยนี้เพื่อมากำจัดกิเลสของตนเอง ต้องเอาคมนึ้เข้ามาประหัตประหารใช่ไหม เข้ามาเชือดเฉือนตัวเองไม่ใช่ไปเชือดเฉือนผู้อื่น ให้ไปแล้วไปเชือดเฉือนคนอื่น

เอ้า พวกเรานี้เป็นพ่อค้ามีดหมดเลย ต่างคนต่างเอามีดมานี่จะเป็นพ่อค้ามีดได้ไหม? ไม่ได้ สังคมเรานี่นะมันก็มีอาชีพใครอาชีพมันใช่ไหม แต่ผู้ที่ค้ามีดก็อย่างเรานี่ประดับปัญญาไง ให้คมของปัญญา คมของปัญญานะ คมปัญญานี้ให้ย้อนกลับมา คมปากเห็นไหม คมปาก คมถากถาง คนที่ถากถางกันน่ะ เอาไปถากถางกัน ถากถางคนอื่นกับถากถางใจตัวเอง อันไหนจะประเสริฐกว่า?

พระพุทธเจ้าให้ถากถางตัวเองนะ ให้ถากถางตัวเรา ให้ถากถางกิเลส ถากถางความไม่ดีในใจนี้ เอามีดคมปัญญาไง นี่คือคมปัญญา ธรรมนะ ปัญญาธรรม แต่ถ้าอย่างนี้เราสอน สอนแล้วเก็บไว้เพื่อเป็นประโยชน์ แต่ทำไมเราถึงบอกว่าถากบ่อย เห็นไหม เวลาไม่ให้คนอื่นทำ แต่ทำไมเราทำ ก็เราเป็นพ่อค้ามีด เราเป็นคนค้าขาย เราเป็นคนเอามีดมาให้ใช่ไหม แล้วอย่างพวกเรานี่ตีมีดไม่เป็น ไม่สามารถตีขึ้นมาได้ ไม่สามารถฝึกขึ้นมาจากใจได้ ก็อาศัยจากของครูบาอาจารย์มาแล้วก็ไปฝึกไง

ก็กู้ยืมมานะ การเรียนปริยัติมาก็กู้ยืมมา พอกู้ยืมมาแล้วมาปฏิบัติ มาเห็นผลขึ้นมาจากความเป็นภายในของเรา อ้อ! อันนี้เกิดจากคมปัญญาของเรา ถากเข้ามา ถากเข้ามา อันนี้สอน ถ้าอย่างนี้สอน

แต่ถ้าเอาไปดูคนอื่น เพราะเขาพูดเองนี่ เวลาเขามาหานะ เรื่องผ้าเป็นอย่างนั้น แล้วผมสู้เขาไม่ได้ ก็วิ่งกลับมาหาให้เราสอนอีก สอนไปก็ไปรอบ ๑ รอบ ๒ แต่เราสอนนี้เราไม่ได้สอนให้เขาไปสู้คนอื่น เราสอนให้เขาตัดความกังวลของใจ

อย่างเช่น เราห่มผ้าหรือเราทำวินัยนี่ ไปอยู่ในที่ต่างๆ ไปบอกอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด แล้วมันก็ลังเลใจใช่ไหม เราอ้างที่มาเลยว่าพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ แล้วมีพระทำอย่างนี้แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก ให้ใช้อย่างนี้ ให้ใช้อย่างนี้ อันนี้เพื่อจะแก้ความกังวล

อย่างเช่น เราห่มผ้านี่ เราเป็น! ไปวัดหนึ่ง ผ้าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ผ้าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เอ๊ะ! ก็งง อาจารย์ก็ว่าใช้ได้ แต่นี่ว่าใช้ไม่ได้ แล้วเราก็ไปค้นในพระไตรปิฎก แล้วเราก็แก้ความสงสัยของเรา แล้วเราก็ใช้ของเรามา ใช้ของเรามา

เช่นว่า อย่างเรานี่เราไปซื้อผ้า เขาบอกอธิษฐานไม่ขึ้น เพราะว่าเราไปซื้อมาเอง เอ๊ะ! ซื้อมาเองอธิษฐานไม่ขึ้นได้อย่างไร เราก็ซื้อเองเหมือนกัน แต่เราบอกว่า ในเมื่อโยมเขาถวายปัจจัย ๔ ถวายเงินมานี่ เขาไม่ได้ถวายเป็นตัวเงินถวายพระนี่ ถวายเพื่อเป็นปัจจัย ๔ ใช่ไหม ปัจจัย ๔ ก็มีอะไรบ้างล่ะ มีอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค เครื่องนุ่มห่ม นี่เขาถวายมา จงใจมาให้ เพื่อให้เราเอาปัจจัย ๔ แล้วเราไม่ได้ซื้อเองใช่ไหม เพราะเราหยิบเงินไม่ได้ เราให้โยมไปซื้อมาทำไมเราอธิษฐานไม่ขึ้น

อธิษฐานขึ้น เราว่าอธิษฐานขึ้น เพราะปัจจัย ๔ นี่ พระนั้นไม่ผิด แล้วปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยบริสุทธิ์ มันไม่ผิดตรงไหน เขาว่าอธิษฐานไม่ขึ้น นี่เวลาเถียง เราก็ไปค้นของเราดูอยู่ แล้วเราแก้ไขความคิดของเรา แก้ไขความกังวลใจ แก้ไขได้หมด เพราะมันเข้าได้กับธรรมวินัย แล้วการกระทำของเรา แต่ความคิดเข้าไม่ได้ไง

แล้วเราก็เคยผ่านประสบการณ์มา พอเคยผ่านประสบการณ์มา พอพระมีปัญหามานี่เราจะรู้เลย อ้อ! ว่ามันจะกังวลอย่างไร ทุกข์เลยนะ มี! พระนี่ห่มผ้ามา ผ้านี่ อู้ฮู สวยมากเลย เพราะว่าเขาไม่ตัดให้ขาดใช่ไหม ผ้านี่ต้องตัดให้ขาดนะ ตามวินัยผ้านี่ ถ้าพระเอาไว้ในป่านี่ตอนเช้าผ้ามันจะหายถึงให้ถือครองไง ถือครองเพื่อกันคนขโมยผ้า คนอินเดียเขาเอาไปตัดเสื้อผ้ากัน เขาก็ให้ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วค่อยต่อ ถ้าไม่ตัดนี่อธิษฐานไม่ขึ้น

อธิษฐานไม่ขึ้นหมายถึงว่า ของนั้นเหมือนกับเปล่าประโยชน์ พระเอาผ้านั้นมาห่มเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เขาเรียกอธิษฐานไม่ขึ้น อธิษฐานไม่ขึ้นว่าของนั้นเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าอธิษฐานขึ้นหมายถึงว่าใช้แล้วได้ประโยชน์ ฉะนั้นพระที่ไปกับเรานี่ ไปด้วยกัน ผ้านี้สวยมาก เขาตัดมาให้สวยมาก ก็ไม่รู้ ตัวเองก็ไม่รู้ก็เลยห่มมาตลอด อธิษฐานอยู่ ที่นี้พอไปตากไว้น่ะ พระคนที่ตัดผ้าเป็นเขาเห็นน่ะ เป็นไปไม่ได้หรอกถ้าผ้าตัดแล้วจะเย็บได้สวยขนาดนี้ เพราะว่ามันเป็นรอยขีดแล้วพับเอา ไม่ใช่ตัดแล้วมาต่อ ถ้าตัดแล้วเอามาต่อ มันจะไม่สวยขนาดนี้ เขาบอกว่า “ผ้านี้อธิษฐานไม่ขึ้น”

พระที่ไปกับเรานะ เขาไปเห็นอย่างนั้นบอกเลยล่ะคืนนั้นทั้งคืนนอนไม่หลับเลย เห็นไหม ความกังวลนิดเดียวเท่านั้นเอง ผ้านี้อธิษฐานไม่ขึ้น เราก็บอกว่าแล้วก็แล้วกันไป เพราะเราไม่รู้นี่ ถ้าจะแก้ไขเราต้องตัดใหม่ เพราะว่าถ้าเราไม่ตัดผ้าขาดนี่ เราพับนี่ เวลาเราไปเลาะออกมันก็เป็นผ้าผืนเก่า เพราะถ้าเป็นผ้าผืนใหญ่นี่สามารถใช้ประโยชน์ได้

พระพุทธเจ้านี่ให้ซอยเล็กๆๆๆๆ ซอยออกนะ แต่ไม่ซอยทั้งหมด ซอยเป็นขัณฑ์ ๗ ขัณฑ์ ๘ ขัณฑ์ นี่ซอย ผ้านี่เป็นผืนใหญ่ไม่ได้ อธิษฐานไม่ขึ้น ต้องตัด ตัดแล้วเย็บพับ พอพับมานี่มันเป็น ๔ ชั้น มันไม่ประณีตเหมือนพับ นี่ว่าอธิษฐานไม่ขึ้น เห็นไหม เห็นเลยว่ามันทำให้เป็นความกังวล เราก็ต้องการแก้ แก้ภายในไง ก็คมปัญญามันตัดความลังเลสงสัยของตัว

ไม่ใช่เอาคมปากนี้ไปเที่ยวถากถางคนอื่น เที่ยวไปจับผิดแล้วไปเถียงกัน อันนั้นนี่คนโง่ไง ไม่รู้จักประโยชน์ของตัว เห็นประโยชน์ของคนอื่นสำคัญกว่าประโยชน์ของตัวหรือ ตัวต้องเอาประโยชน์ของตัวให้ได้ก่อนแล้วถึงไปสอนผู้อื่น

พระพุทธเจ้าสอนให้ภาวนาก่อน ทองคำ ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นธรรมวินัยนะ อยู่ที่ผู้ประเสริฐทำมรรคนี้เป็นทองคำแท้ ทองคำที่อยู่กับเรา ผู้ที่มีกิเลสนี่ จริงอยู่เราจะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปพูดก็จริงอยู่ แต่ก็เหมือนกับทองคำในเหมือง ทองคำในแผ่นดิน มันก็ยังเลอะดินอยู่ มันต้องเอาความเห็นของเรานี่ผูกเข้าไปด้วย เอาความเห็น เอาการตีความของเราแนบเข้าไปด้วย เห็นไหม มันถึงไม่สะอาดพอ

พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้สอนไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “ต้องสอนตัวเองให้ได้ก่อน ประโยชน์ตนเกิดหรือยัง ถ้าประโยชน์ตนเกิดแล้วถึงจะเกิดประโยชน์กับผู้อื่น ถ้าประโยชน์ตนยังไม่ได้เลย ประโยชน์ของคนอื่นจะได้อย่างไร” ก็กลับมาตรงนี้ ตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าว่านะ ประโยชน์ของเรานี่เรารู้เท่า พอเรารู้เท่า ในธรรมะพระพุทธเจ้านะว่า “อย่าดูถูกความนิ่งเฉยของพระอริยเจ้า”

เรานี่ต่างคนต่างเอามีดฟันกัน ต่างคนเอาปากถากกัน มีอะไรก็อยากจะพูดออกไป มีอะไรก็อยากจะพูดออกไป แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าพระอริยเจ้านี่จะรู้นะ รู้ถึงว่าคนนั้นโกรธควรแก้อย่างไร คนนี้โกรธควรแก้อย่างไร พอเหตุเกิด สมมุติว่าจะเฉยอยู่เพื่อให้เหตุการณ์นี้... เหมือนกับผู้บริหารนะ จะมีอะไรเกิดขึ้นจะมีความอดทน เพื่อให้งานนี้ผ่านไป ผ่านไป เอาประโยชน์ของงานไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาปากกับปากไปเถียงกัน มันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ถ้าคนนั้นผิด เราถูก เราพูดแล้วเขาไม่ฟังหรอก เพราะบางทีครูบาอาจารย์ต่างกัน ความเชื่อถือน้ำหนักมันจะต่างกันมา เขาจะยึดอันนั้นมาใช่ไหม ถ้าเราพูดออกไปนี่อันนี้ไม่เป็นประโยชน์เลย นิ่งเสียเห็นไหม หนึ่ง รู้ว่าอันนั้นผิดด้วย ผู้ที่จำมานั้นผิด เราพูดออกไปแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าผู้ที่จำมานะ เริ่มลังเลสงสัย เริ่มคลายตัว ชักจะหาความจริงนี่ ผู้ที่รู้เท่านี้พูดได้ พูดปั๊บอันนั้นมันจะเข้าใจไง ถึงบอกว่ารู้ถึงผู้ที่ควรแก้ด้วย รู้ถึงว่าเรานี่สมควรพูดหรือยัง สมควรจะแก้หรือยัง คือว่าถ้าไม่สมควรจะนิ่งเฉย

พอเราเห็นว่านิ่งเฉยก็ว่าคนนั้นไม่รู้ นี่ประเพณีไทยเป็นแบบนั้น เป็นประเพณีพุทธ ส่วนใหญ่น่ะ เห็นไหมพวกผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์โลกมามาก เขาจะไม่ค่อยพูด แล้วเราก็จะมองว่าพวกนี้เป็นไดโนเสาร์ไง เด็กมันจะดูพ่อแม่ ดูปู่ ย่า ตา ยาย ว่าเป็นไดโนเสาร์ แต่ไม่รู้หรอกว่า ๘๐ ปีนี้ผ่านประสบการณ์มาเท่าไหร่ อายุ ๗๐ - ๘๐ ปีนี้ผ่านประสบการณ์มาขนาดไหน แต่พอดีว่ามันผ่านมาจนชินชาไง ความชินชา ความสะสมมาเลย แบบว่าเห็นแล้วไม่อยากพูด ก็เฉยไว้ พอเฉยไว้เห็นไหม เหมือนกับว่า “อย่าดูถูกความเฉยไว้ของพระอริยเจ้า” เฉยไว้ เพราะพูดไปแล้วมันจะเกิดโทษ มันไม่มีประโยชน์หรอก แต่ถ้าเป็นประโยชน์เมื่อไหร่นะ นี่พ่อค้ามีด คมปัญญาไง

เหตุที่พูดเพราะเมื่อวานนี้ เอ๊ะ ว่าทำไมเราไม่สอนเขา มาเรียกร้องเลย “ทำไมไม่สอนผม ทำไมไม่สอนผม”

สอน ถ้าเราเอาไว้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าสอนเพื่อต้องการแบบว่ามาเก็บหลักอย่างนี้แล้วไปทำคนอื่น มันไม่เกิดประโยชน์เลย ทำให้สังคมพระเราปั่นป่วนเปล่าๆ สังคมพระจะปั่นป่วนนะ

การตีความไง ทิฏฐิความเห็น ธรรมะนี้เป็นกลางนะ แต่ทิฏฐิความเห็น เห็นไหม พระถ้าทิฏฐิความเห็นไม่เสมอกันอยู่ด้วยกันมันก็ลำบาก ธรรมวินัยเหมือนกัน ทิฏฐิ ความเห็น เห็นไหม สังคมเหมือนกัน สังคมเรามันแตกกระจายออกไป แล้วหลายสังคมขึ้นมาล่ะ นี่คมปัญญา ให้เอาคมเข้ามาข้างใน สอน! สอนเด็ดขาด แต่ถ้ามันเอาไปบาดกันนะมันก็ไม่ควร

ขนาดพระพุทธเจ้าว่าไว้ในธรรมะไง มนุษย์เกิดมานี้มี ๓ คนมาเล่น ก็ปากไง เที่ยวมาถากกัน ถากกัน ก็เลยกลายเป็นโลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา ถึงว่ามองในฐานะของการเป็นอาจารย์ มองว่าสอนแล้วจะเป็นประโยชน์ไหม สอนแล้วถ้าเป็นประโยชน์จะสอนนะ แต่ดูนิสัยด้วย นิสัยอย่างนั้นเลยเฉย เฉย จนเรียกร้องนะ เรียกร้องเลยว่าทำไมไม่สอนผม เพราะถ้าสอนปั๊บนี่ มันจะได้แบบว่าอาวุธไปอันหนึ่งเลย ธรรมาวุธไง ได้อาวุธมาอันหนึ่งแล้วก็ไปถากเขา แต่อาวุธอันนี้มันเป็นอาวุธความจำ แบบเด็กใช้มีดไม่เป็นมันจะบาดมือของตัวเอง

ถ้าคนมันมีธรรมในหัวใจนะ อาจารย์เปรียบบอกว่า เหมือนกับหมอวิทยาศาสตร์น่ะ หมอนี่พอเป็นโรคมานี่ โรคนี้จะใช้ยาอะไร เขาใช้ยาขนานเดียว แต่ถ้าเป็นหมอเถื่อน แบบว่าหมอประสบการณ์ หมอจำมานี่ อะไรมาก็แล้วแต่จะครอบจักรวาลๆ เพราะว่ามันวิเคราะห์โรคไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจำไปแขนงเดียว จำไปแง่เดียว เวลาไปเถียงกับใครก็แล้วแต่หรือไปพูดนี่ เขาก็พลิกไง พลิกขยับหน่อยเดียวนี่ตอบไม่ได้แล้ว แต่ถ้ามันเป็นปัญญาของตัวนะ เรามีหลักอยู่ เรารู้หลักต้องอยู่ตรงนี้ พลิกอย่างไรนะ เราแก้ได้ เราจะยกเหตุผลใหม่ขึ้นมาเปรียบเทียบ เปรียบเทียบ เปรียบเทียบ เห็นไหม

นี่คือว่าปัญญาเกิดขึ้นจากภายใน ปัญญาของเราเองนะยอด! ปัญญาของเรานะ ใหม่ๆ ก็จำมาด้วยเป็นภาคปริยัติ อย่างครูบาอาจารย์ยื่นไง อาจารย์สอน บอกว่ายื่นให้กับมือยังทำตกไปเลยล่ะ เอานะๆ อย่างเช่น เราจะยื่นไปเอาความผิด ตบมือไว้ อย่า! อย่า! นั่นก็ว่าบังคับ แต่ถ้าตั้งขึ้นมาได้ ตั้งศรัทธา ตั้งความเพียรของเรา ตั้งความเห็นชอบของพระขึ้นมา ตั้งขึ้นมาแล้วพยายามทำ อันนั้นยื่นให้ แต่รับไม่ไหว

ดูเราตั้งขึ้นมาสิ สติเราตั้งขึ้นมา พอตั้งขึ้นมามันก็จะล้มเพ่ะ ล้มเพ่ะ ยืนอยู่ได้ ไม่ได้หนัก ความจงใจทำความดีอันนี้สำคัญ ถึงว่าต้องส่งเสริมอันนี้ คือว่าสอนๆ อันนี้ สอนอันเกิดประโยชน์กับของเราไง ประโยชน์ของตน ประโยชน์ของบุคคลนั้น ตนใดก็แล้วแต่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องเอาตนให้พ้นจากความดูดดื่มของกิเลสที่มันแทรกอยู่ในใจนั้นน่ะ เพราะพอคิดปั๊บกิเลสมันตามมาเลย ตามมาเลย เพราะกิเลสกับใจนี่มันอยู่ที่เดียวกัน ถึงว่าต้องเอาตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วชำระให้มันสะอาด ทองคำนี้เป็นของแท้ ธรรมะเป็นของแท้

พวกเราชาวพุทธเวลาพูดถึงธรรมะนี่ จะพูดแต่ว่าปล่อยวาง ปล่อยว่าง ด้วยความขี้เกียจไง ว่างแล้ว สบายแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้นเลย สวดมนต์เห็นไหม ความดีที่ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ นี่ไอ้ ๑๐ ข้อนั้นน่ะ ความดีที่ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ เห็นไหม ความดีไม่มีวันที่สิ้นสุด ไม่มีวันจบ ไม่มี มีไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ความดีน่ะมีสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็บอกว่าปล่อยวาง ปล่อยว่าง ปล่อยวาง เราชาวพุทธไม่ทำอะไรเลย หาว่าเห็นแก่ตัว

ไม่ได้เห็นแก่ตัวหรอก ไอ้อย่างนี้กิเลสมันพูด กิเลสมันพูดอย่างนั้นเอง แล้วเราก็เชื่อ แต่ถ้าเราจะทำเพื่อประโยชน์เรานี่ เราทำกันไม่ได้ เราต้องพยายามทำอย่างนั้น นั้นเป็นพุทธไง พุทธเจ้าสอนมาอย่างนี้ ศาสนธรรมคำสั่งสอน ศาสนธรรมของชาวพุทธ ไอ้นั้นมันคำอ้างของกิเลส แต่เราไปสวมว่าเป็นพุทธ ว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น แต่ความจริงกิเลสมันสอน กิเลสมันบอกมาเอง ไม่ใช่พระพุทธเจ้าสอนนะ แต่กิเลสสอน

พระพุทธเจ้าสอนให้บากบั่น ให้วิริยะ มรรคองค์ ๘ เห็นไหม ความเพียรชอบ การงานชอบ ความดำริคือปัญญาตัวแรก ความดำริชอบ ความเห็นชอบ แล้วการงานน่ะ งานของโยม งานอาชีวะ สัมมาอาชีวะ งานของพระเลี้ยงหัวใจ เพราะว่าใจมันสำคัญกว่าร่างกาย ร่างกายนี้ก็อยู่ไป เราเป็นโยมนี่เราหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พระก็หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตมาเสร็จแล้วนี่ต้องชำระหัวใจ

การเลี้ยงอารมณ์ไง อารมณ์ของใจ ใจมันกินอารมณ์เป็นอาหาร ใจมันกินความรู้สึกเป็นอาหาร แล้วจะเอาสัมมาอาชีวะอะไรให้มันกินล่ะ คิดดี คิดถูก ปัญญาถูก ปัญญาชอบ ก็ทำให้พระเป็นคนดี คิดไม่ดี คิดไม่ชอบ หรืออยู่นานไป นานไป นั่นล่ะอาหารที่ผิด เพราะเริ่มจากความคิด คิดๆๆๆ คิดหาทางออกก่อน เสร็จแล้วมันก็จะทำขึ้นมาเป็นทีหลัง เห็นไหม การเลี้ยงจิตผิดออกมาเดี๋ยวมันก็ออกมาที่กาย ถ้ากายเลี้ยงหัวใจถูกแล้ว ร่างกายนี้อย่างไรมันก็ปฏิบัติไปถูกจนได้

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น ศาสนาสอนอย่างนั้น แต่กิเลสมันสอนคนละฝั่ง กิเลสสอนตรงข้ามเลยล่ะ นี่ถึงบอกว่าอย่าไปเชื่อมัน ต้องให้เชื่อธรรมะ ถึงบอกว่าเมื่อวานพูดแบบว่าเราไม่สอนเขา เราไม่สอนเขา ไม่สอนเพราะว่า สอนไปเท่ากับเพิ่มกิเลสไง เพิ่มให้ ไปหาความเร่าร้อนมาใส่ใจ ยิ่งรู้เท่าไหร่ ยิ่งว่าตัวเองรู้นี่ ที่ว่าเหนือเขานี่มันก็จะเที่ยวไประรานเขา เที่ยวไปรังแกเขา เที่ยวไปข่มขู่เขา แล้วคนที่ไปทำใครได้โทษล่ะ มันก็คิดนะเนอะ โอ้! ฉันมีอาจารย์อยู่ข้างหลังเนอะ ฉันมีแบล็กอยู่ดีเนอะ มันเลยเสียทั้งเขา เสียทั้งเราเลย

ใครสอนมา ใครว่ามา เออ! พระสงบ ว่าอย่างนั้นนะ เออ! อยู่ถึงวัดนั้นนะ มันก็เสียไปทั่ว เพราะคนพาไปเสีย ถึงว่าเฉย เฉย เฉย ไม่ค่อยพูด (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)