ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฝืนธรรมชาติ

๒๕ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ฝืนธรรมชาติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เพราะวันนั้นคุยกันทีหนึ่งแล้ว แล้วมันคุยกันไม่จบ แต่เราจับประเด็นได้แล้วแหละ ถ้าอย่างนั้นเราเอาเลยนะ เราพูดก่อน ไม่อย่างนั้นนี่มันคาใจไง มันคาใจเราว่าเหมือนกับเราเป็นศากยบุตรด้วยกัน

ศากยบุตรนะ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกัน แล้วการปฏิบัตินี้ เวลามันปฏิบัติไปเราก็เคยเป็นใช่ไหม มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ แล้วถ้าเกิดเราลุ่มๆ ดอนๆ นี่ธัมมสากัจฉา เราคุยกันเพื่อความถูกต้องไง ฉะนั้นเพื่อความถูกต้อง คนก็แบบว่าหวังพึ่ง หวังคุยกัน แล้วเราไม่ทำหน้าที่ของเราไง มันก็คาใจ

แล้ววันนั้นไปเจอกันที่บ้านตาด เราได้คุยแล้ว เราจับประเด็นได้แล้ว เราจับประเด็นได้หมายถึงว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว เหมือนกับเรานี่เป็นนายท้ายเรือ มันต้องบังคับเรือไปให้ได้ ทีนี้เราจับประเด็นได้แล้ว เพียงแต่ว่า ในเมื่อเรายังคุยกันไม่ชัดเจน วันนั้นเวลามันน้อย

ฉะนั้นเวลามันน้อยนี่ เราจะบอกว่า เราพูดเลยนะ พูดเอาเนื้อๆ เพราะว่าถ้าพูดถึงเวลาเราปฏิบัติ ปฏิบัติทั้งชีวิตนี่ถ้าจะให้เล่านะ หลวงตาบอกเลยว่า “เล่าทีหนึ่งวันเดียวก็ไม่จบหรอก โอ้โฮ ถ้ามึงจะพรรณนาอย่างนั้นนะ เดี๋ยวกูหลับก่อน”

เอาเนื้อๆ นะ เอาเลย

คณะโยม : ก็พอดีมีเรื่องสงสัยครับ คือ มีครั้งหนึ่งผมเคยพิจารณาสายดูจิตนี่ เขาบอกว่าเขาไม่ต้องละรูป แต่เขาไปดูฝ่ายนามได้เลย แล้วทีนี้มีช่วงหนึ่งประมาณ ๕-๖ ปีแล้วผมเคยพิจารณาเรื่องนี้ แล้วเขาบอกว่า “ฝ่ายที่ละรูปไม่ได้ แต่ว่าพยายามจับนาม จะเข้าไปเป็น___” ประมาณนี้หรือเปล่าครับ เพราะเขาบอกว่า

“มีรูปคงอยู่ แต่ไม่มีสัญญาเป็นสัตว์ที่มีขันธ์ ๑” คือเป็นพวกพรหมลูกฟัก คือไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมได้ แต่ว่าจะเข้าไปแช่อยู่ใน___

หลวงพ่อ : ประสาเรานี่ เห็นไหม เวลาเราพูดถึงเมื่อกี้ตอนเช้า ว่าหลวงปู่มั่นกับหลวงตา หลวงตานี่ท่านศึกษามา เวลาศึกษามาแล้ว นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงรูป ว่า “มีรูปหรือไม่มีรูป ต้องพิจารณารูปหรือไม่พิจารณารูป ทีนี้การพิจารณารูปหรือไม่พิจารณารูป เป็นอะไรนะ เป็นอัตตสัญญา คือสัญญาที่ไม่มีรูป

กูอยากถามว่าสัญญาไหนไม่มีรูปวะ?

คณะโยม : อ๋อ ! ไม่ใช่ ! มีรูปแต่ไม่มีนามครับ เป็นพวกพรหมลูกฟัก

หลวงพ่อ : พรหมลูกฟักนะมันเป็นพวกนี้ พรหมลูกฟักมันเป็นพวกตกภวังค์ไง

คณะโยม : ก็พวกดูจิตที่เขาบอกว่า “มันจะค่อยๆ ซึมไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะหายไป หายไป”

หลวงพ่อ : มันเป็นไปไม่ได้ ! นี่ไง ไอ้นี่มันถึงเป็นนิยายธรรมะไง กูถึงบอกกูถึงค้านว่านิยายธรรมะ ที่ว่าหายไปๆ หายไปแน่นอน

อย่างเรานี่นะ เราอยากปฏิบัติใหม่ๆ เราเป็นคนบ้านนอกคอกนาอยากปฏิบัติ กูก็นึกสัญญาให้หายไป หายไป หายไป คือเราถึงบอกว่านี่มันเป็นสังคมๆ หนึ่ง มันจะหายไปไหน สสารมีอยู่ในโลกมันจะหายไปไหน หายไปอย่างหนึ่ง มันก็ไปเกิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง

คำว่าหายไป นี่อะไรหายไป หายไปนี่เพราะอะไร เพราะมันมีธรรมะของพระพุทธเจ้าใช่ไหม ธรรมะพระพุทธเจ้าว่า นิพพานมันมีอีกระดับหนึ่งใช่ไหม แล้วที่ว่า “มันจะหายไปๆ เป็นพรหมลูกฟัก”

เราจะบอกว่า เขานี่ไม่รู้อะไรเลยนะ คำว่าพรหมลูกฟักนี่นะ ที่เขาว่านั่งสมาธิแล้วจะไปพรหมลูกฟัก

หา ! สมาธิจะเป็นพรหมลูกฟักเหรอ ? สมาธินี่ไม่มีทางไปเป็นพรหมลูกฟักเลย รูปฌาน-อรูปฌาน รูปพรหม-อรูปพรหม แต่เวลาลงภวังค์น่ะ พวกนี้ไม่เคยตกภวังค์ไง

โธ่ ตกภวังค์นี่เวลานั่งนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แว็บไปนี่ ครึ่งวันมันยังนิ่งอยู่เลย มันไม่รู้เรื่องหรอก ! สะดุ้งตื่นขึ้นมา “แหม.. นั่งสมาธิได้สุดยอดเลย”

“นั่นล่ะพรหมลูกฟัก” ลูกฟักเพราะอะไร มันหายไป หายไปที่ไหน หายไปเพราะเราไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้อะไรเลย มันหายไปโดยความไม่รู้สึกตัวของเรา ถ้าพูดว่ามันไม่มี ไม่มีแล้วมันจะเป็นพรหมลูกฟักได้อย่างไร ถ้าว่ามันหายไปแล้วจะไม่มีน่ะ มันมีทั้งนั้นแหละ !

เพียงแต่ว่า ! เพียงแต่ว่าเวลาพูดไง เวลาพูดทางวิชาการก็ว่ามันจะหายไป แล้วที่บอกว่า “ต้องพิจารณารูปก่อน แล้วค่อยมาพิจารณานาม”

“นามก็คือรูป นามนั่นแหละคือรูป ! จิตจับจิต ! รูปทั้งนั้นแหละ !” แต่มันเป็นรูปในเชิงวิญญาณไง รูปในนาม รูปความรู้สึกไง

ไอ้รูปอย่างนี้มันเป็นรูปวัตถุ ดู ! นี่ขวด เห็นขวดไหม นึกรูปขวดเมื่อกี้ออกได้ไหม รูป ! นึกรูปขวด นั่นก็รูป “รูปในนาม” เขาพยายามคิดให้มันเป็นอย่างนี้ไง แล้วไงต่อ

โธ่ ! ถ้าปฏิบัติมามันรู้หมดไง ปริยัติเป็นปริยัติ ! แต่นี่มันเอาปริยัติเป็นตัวตั้ง แล้วก็มาปฏิบัติกันอยู่

ฉะนั้นเวลาพูดนี่ใช่ เวลารูปนะ “มหาภูตรูป” เห็นไหม รูปกับนาม นามนี่เป็นความรู้สึก ถ้าเราบอกว่ารูป เห็นไหม นี่อะไร ขวด ดูนะขวด แล้วบอกว่าขวดไม่มีนะ ไอ้คนที่เป็นสุภาพบุรุษมันก็นึกภาพขวดได้ใช่ไหม แต่ไอ้คนพาลมันบอกว่ามันไม่มีขวด อ้าว ! เถียงกันตายห่าเลย

เพราะว่าเวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติอะไรไว้นี่ เถียงไม่ขึ้นหรอก !

รูป-นาม แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วเราจะรู้ว่า “อ๋อ รูปที่เป็นวัตถุเป็นอย่างนี้ รูปในนามเราก็จะให้เป็นอย่างนี้”

นี่นักปฏิบัติเขาคุยกันรู้เรื่องไง เขาสื่อสารกันได้ไง ถ้าสื่อสารไม่ได้ หลวงปู่มั่นท่านจะเอาอะไรมาสอนเรา แล้วเวลาเรารู้ขึ้นมาในความรู้สึกของเรานี้ หลวงปู่มั่นจะพูดให้ถูก แทงความรู้สึกของเราได้อย่างไร ถ้าคนไม่รู้ไม่เห็น จะแทงเข้ามาในสิ่งที่เรารู้เราเห็น รู้เห็นจากภายในนี่ ท่านทิ่มเข้ามาในหัวใจเรานี่ เรายังงงเลยว่า นี่อะไร.. นี่อะไร.. มันโดนซัดหงายท้องยังไม่รู้เลย ยังว่านี่อะไรอยู่นะ นี่ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ !

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ไอ้อย่างที่เขาพูดนั้น เราต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าประสาเรานะ เราต้องเข้าใจของเราก่อน ถ้าเราเข้าใจปั๊บ

เวลาที่เขาเถียงกัน เห็นไหม ที่เขาเถียงกันที่เขาบอกว่า “ดูจิตจนเป็นสัญญา จนเป็นรูปเป็นนาม” ถ้าเรารู้อย่างนี้ปั๊บนะเราพูดอธิบายได้ แต่การอธิบายของเรานี้เขาไม่ฟังหรอก ! เขาไม่ฟัง ! ไม่ฟังเพราะอะไร

เพราะความรู้ของเขามีแค่นั้น ! แล้วเขาอ้างอิงพระไตรปิฎกไง

เขาอ้างวิชาการ แต่นี่เราอ้างอิงความจริง !

ทีนี้พออ้างอิงความจริง เราจะเอาใครเป็นพยาน ? เราถึงไม่ค่อยพูดไง คือถ้าเราไปพูดปั๊บนะ เขาจะเอากุญแจมือมาใส่เลย “แล้วพยานล่ะ? แล้วใครเป็นคนบอกล่ะ?” แล้วเรื่องอะไรกูต้องเอามือกูไปใส่กุญแจล่ะ

ฉะนั้นเวลาเราจะพูด เราจะพูดต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์ไง โธ่ หลวงตาท่านถึงไม่พูด พวกเราพูดไม่ได้หรอก เราพูดแล้วนี่อะไรเป็นพยาน อะไรเป็นหลักฐาน ถ้าหลักฐาน คือความรู้จริง แล้วความรู้จริงอยู่ที่ไหน พูดไปพูดมาก็กลายเป็นวัวพันหลัก

แต่คนรู้จริงไม่พันหรอก พูดอย่างไรก็ได้ แต่พูดออกไปแล้ว ประสาเรานะอย่างที่ว่า มันเหมือนกับลงไปสีซอนี่แหละ อยู่ดีๆ กูจะมานั่งสีซอ “โอ้ กูรู้” ก็ว่าแหมเพราะฉิบหายเลย ! แต่ไอ้พวกนั้นมันไม่รู้เรื่อง

ถ้าเถียงกันแล้วจะเป็นอย่างนี้ ! ถ้าเถียงกันแล้วจะเป็นอย่างนี้ ! แล้วเถียงกันแล้วนะ พอเถียงไปปั๊บ พออย่างนี้ปั๊บนะ เขาก็เอาทางวิชาการมาใช่ไหม เอาพระไตรปิฎกมาหมดเลยใช่ไหม แล้วสังคมพวกที่เป็นปัญญาชนเขาศึกษาได้ใช่ไหม เขาท่องได้ทุกตัวอักษร แล้วพอเขาพูดปั๊บนี่ เหตุผลมันเข้ากันหมดเลย แต่เข้ากันอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ เข้ากันแบบปริยัติ

ปริยัติเขาศึกษาไว้เพื่อเป็นทฤษฏี เพื่อจะเข้ามาปฏิบัติ แล้วถ้าเขายังไม่ปฏิบัติ นี่เขารู้ไม่ได้หรอก ! เขารู้ไม่ได้ ! เหมือนเราจบปริญญาตรีกันมานี้ จบมาแล้วทำงานเป็นหรือเปล่า จบมานี่ได้กระดาษมาคนละใบ แต่ทำงานไม่เป็น มันต้องมาฝึกงานก่อน

เพราะเรานี่ลูกศิษย์เยอะนะ ลูกศิษย์บอกว่า “หลวงพ่อ ตอนนี้นะนักศึกษาจบมาแล้วทำงานไม่เป็น” พวกเถ้าแก่เขาบ่น

“ปริญญาตรีทำงานไม่เป็น ฝึกอย่างไรก็ไม่เป็น” พวกเถ้าแก่เขามาบ่นนะ เวลารับนักศึกษาใหม่เข้ามาไง “หลวงพ่อ เดี๋ยวนี้คนจบแล้วทำงานไม่เป็น ทำงานไม่ได้ สู้ลูกน้องผมไม่ได้ ใครๆ ก็ว่า ทำงานไม่เป็น ทำงานไม่เป็น”

นี่เวลาพูดถึงปริยัติ มึงก็เข้าไปแล้ว ทางวิชาการ แล้วออกมาก็ทำงานไม่เป็น

กรณีนี้นะ เรามีความรู้สึกอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แต่พูดออกไปมันก็ไม่ชัดเจนไง แต่ตอนหลังนี่มันชัดเจน ขณะที่เราพูดตอนแรก เรายังไม่ได้หนังสือนะ แล้วพอได้หนังสือมา เห็นไหม เปิดหน้าไหนนะ แหม.. ชี้ได้หมดเลย พอชี้ได้หมดนะ มันก็มีหลักฐานแล้ว แต่เมื่อก่อนมันพูดแล้วไม่มีหลักฐานไง พอไม่มีหลักฐานเราก็เหมือนแบบว่าเต๊าข่าวเองไง คิดเอง เออเอง

เขาจะคิดอย่างนั้นว่าเราคิดเอง เออเองหมดเลยนะ แต่เขาไม่คิดหรอกว่าความรู้จริงเป็นแบบนี้ ความรู้จริง เห็นไหม หลวงตาบอกว่า “ความรู้จริงมันเหมือนมีดอันหนึ่ง” อย่าเข้ามานะ เดี๋ยวสับหมดเลยนะ แต่ความรู้จำนะมันอยู่ในครัว อย่างเรานั่งอยู่นี่ เวลาพูดอะไรปั๊บ เดี๋ยวก่อนกูเข้าครัวก่อน ไปเปิดหนังสือไง ไปในครัวไปเอามีดมา

แต่ความรู้จริงนะ นี่ไงมันถึงพูดได้ตลอดเวลา ความรู้จริงก็ถือมีดไว้อย่างนี้ มาก็สับ มาสิ มาสิ สับได้ตลอดเวลา มาก็สับ มาก็สับ

แต่ถ้าเป็นความรู้จำนะ พอมาปั๊บนะก็ว่า “รอก่อน รอก่อน ไปครัวก่อน เดี๋ยวเอ็งรอกู จะกลับมาสับมึง” ไปค้นหามีดยังไม่เจอ พอกลับมาปัญหาเรื่องอะไรก็ลืมไปแล้ว สับไม่ถูก

นี่คือปริยัติ ! ทีนี้ปฏิบัติคือความรู้จริง แต่เขามองกลับ มองว่าไม่มีการศึกษา ! ไม่มีใบประกาศ ! ไม่มีสังคมยอมรับ ! ไม่มีกิเลสคอยอุ้ม ! แต่เราเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นความจริง !

อันนี้พูดถึงเรื่องรูปสัญญาไง ถ้ารูปสัญญามันผ่านไปแล้ว ที่พูดนี้มันก็เป็นเรื่องของสังคม แล้วเรื่องความเห็น เรื่องในหัวใจล่ะ

คณะโยม : ก็ได้แค่แอบดูอยู่ห่างๆ ครับ ได้เคยเข้าไปเล่นในเว็บแอนตี้วิมุตติเล็กน้อย

หลวงพ่อ : ถ้าผู้ที่ปฏิบัติ เราตอบไปในเว็บไซต์ แล้วลูกศิษย์มันตีกลับมาไง บอกว่านี่กูตอบกระดาษทุกวันเลย เขาถามในเว็บไซต์มา แล้วเขาก็ปริ้นท์มาให้เราอ่าน แล้วเราก็ตอบ

เราบอกว่า “แก้คนผ่านกระดาษนี่ มันจะแก้ได้หรือเปล่า”

มันเขียนกลับมาเลยนะว่า “หลวงพ่อ อย่างไรก็แล้วแต่นะ ถึงสายเว็บไซต์นี่มันแก้กิเลสไม่ได้ แต่มันก็ซึ้งใจ อะไรของมันไง”

อันนี้เราจะบอกว่า ถ้าเราพูดถึงในแอนตี้วิมุตติ ในเว็บไซต์ มันเป็นเรื่องของสังคม แต่สังคมมันมีความรับรู้สึกที่จะกระเทือนหัวใจเราได้บ้าง ทีนี้มันต้องเอาที่นี่ไง ! เอาที่นี่

“การแก้กิเลสมันต้องแก้ที่ใจเรา”

การแก้ที่ใจเรา มันต้องกลับมาที่นี่

คณะโยม : กลับมาที่พุทโธใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ :ใช่ ! ย้อนกลับมาที่ใจเรา แล้วดูใจเรา ฉะนั้นสู้ที่ใจเรา ใจเราถ้ามันเป็น มันจะย้อนกลับมาที่นี่ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น ความเป็นไปไง

ถ้าพูดถึงจริงๆ แล้วต้องพุทโธให้ได้ก่อน คำว่าพุทโธให้ได้ เห็นไหม

พุทโธ พุทโธนี่ แหม.. ไม่ได้เอามา ที่มาจากเมืองจันทร์ ตอนนี้กลับมาแล้ว จากเมืองจันทร์ ไอ้พุทโธไง เมื่อวานตีกลับมาแล้ว

เขาถามปัญหาว่า “เขาภาวนาแล้วเห็นไปร้อยแปดพันเก้า”

เราบอกว่า “พุทโธอย่างเดียว กลับมาที่พุทโธ ! กลับมาที่พุทโธ !”

เราตอบไปว่า “กลับมาที่พุทโธ แล้วสรรพสิ่งทุกอย่างมันจะดับไปหมด เพราะสิ่งที่เราออกไปรู้ ออกไปจากเรา ถ้าพุทโธเรามั่นคงแล้ว เราไม่ออกไปรับรู้ สิ่งนั้นจะดับไป”

จดหมายมาแล้วว่า “หลวงพ่อ สุดยอดเลย” แล้วต่อว่า “หลวงพ่อมีอะไรแนะนำต่อไป” พอปฏิบัติมาเต็มที่เลย

เพราะคนเราพอปฏิบัติแล้วนี่มันลังเล มันไม่มั่นใจ ทีนี้พอมันไม่มั่นใจนี่มันเห็นแล้ว อย่างที่พูดเห็นไหม ที่ว่าจิตมันลง จิตมันจะเป็น แต่มันไม่มั่นใจ เราก็บอกว่า “พุทโธ อย่างเดียวเลย ! พุทโธอย่างเดียวเลย !”

เขากลับไปแล้วด้วยความมั่นใจ ก็พุทโธอย่างเดียวเลย สิ่งที่เห็นนะ เขาเห็นภูตผีปีศาจ เห็นทุกอย่างที่จะเข้ามาทำร้ายเขา ตอนนี้ดับหมด จิตเด่นมาก ! น้ำตาไหลร้องไห้

เพียงแต่มั่นใจ ! พวกเรานี่ทำด้วยความไม่มั่นใจ ลูบๆ คลำๆ ส่วนใหญ่แล้วกิเลสบอกว่า “กูรู้แล้ว กูแน่แล้ว กูเข้าใจแล้ว” คืองานบ้านไม่ทำ อย่างผู้หญิงน่ะ งานบ้านไม่ทำ อยากไปทำงานข้างนอก แต่งานบ้านไม่เอา บ้านมึงนี่ทำให้สะอาด ในครัวน่ะ ในบ้านน่ะ รักษาให้สะอาด “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ถ้าบ้านเราสะอาดแล้วนะ อะไรก็เรียบร้อยหมด แต่ไม่มั่นใจ ! “งานบ้านของเรานี่ไม่มีใครเห็น สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างก็ไม่เป็นไร สะอาดพออยู่ได้ก็พอ ไอ้ข้างนอกมันได้เงินได้ทองไง” มันจะไปเอาข้างนอกน่ะ แต่งานบ้านเอาไว้ก่อน เมื่อไรก็ได้ “พุทโธกึ่งๆ ไง”

งานบ้านคือจิต งานบ้านคือฐีตีจิต งานบ้านคือเจ้าของ งานบ้านคือพื้นฐาน งานบ้านคือตัวเรา ถ้าตัวนี้ไม่มั่นคง งานข้างนอกนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง !

ทีนี้พอพุทโธ พุทโธ นี่คือทำพื้นฐานนี้ให้แน่น พุทโธอย่างเดียว !

ทีนี้เพียงแต่ว่าเราพุทโธแล้วมันห่วงหน้าพะวงหลังไง “พุทโธแล้วเมื่อไรจะได้วิปัสสนา พุทโธแล้วเมื่อไรจะรวย พุทโธแล้วเมื่อไรจะรู้วาระจิต พุทโธแล้วมันจะเห็นเทวดา”

มันพุทโธแต่ปาก ! นี่มันเหมือนเด็ก เห็นไหม พุทโธแล้วตามองไปนู้นไง มันจะเอาทางนู้นไง มันก็เลยทำอะไรไม่ได้ผลเลย

พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ ! พุทโธชัดๆ !

จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ให้เราเป็นก่อน จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ให้เราดีก่อน เป็นอะไรก็แล้วแต่ ให้เรามั่นคงก่อน เดี๋ยวทุกอย่างได้มาหมดแหละ ! ได้มาหมด เกลียดตัวกินไข่ มองข้ามกันหมด

กลับมาที่นี่ ! กลับมาที่นี่ ถ้าที่นี่ไม่มีพื้นฐาน อย่างที่ว่านี้ เห็นไหม คำพูดเมื่อกี้ที่ว่า “แอบมองๆ อยู่” แอบมองๆ อยู่ ก็มองข้างนอกไง ! มองข้างนอกนะ มองข้างนอกมันก็เหมือนเราทำงานข้างนอก มันไม่จบหรอก ! ไม่จบ

ถ้ามองข้างนอกมันก็เหมือนกับทั่วไปไง เวลาเรากำหนดพุทโธ เราเห็นนิมิต เห็นต่างๆ มันเห็นข้างนอก แต่ถ้าพอมันสงบเข้ามานะ มันเห็นจากข้างในนะ

“อริยสัจมีหนึ่งเดียว !”

เวลาพูดนี่พูดอย่างนี้ แล้วพูดแล้วนี่ประสาเรานะ พูดด้วยมั่นคง พูดด้วยความมั่นใจมาก แล้วพอมีความมั่นใจมาก พอสำนักปฏิบัติทั่วๆ ไป เห็นไหม มันเอาทางนี้ไปเปรียบเทียบได้

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนทุกคนจะกลัวหลวงตามาก แต่เดิมนะการสอนในประเทศไทยนี้ไม่ค่อยกล้าออกมาล้ำหน้าเท่าไร ไม่ค่อยกล้าล้ำเส้นนะ แต่พอหลวงตาออกมาทำโครงการช่วยชาติ แล้วหลวงตานี่ผ่อน ท่านผ่อน ! ท่านเห็นแก่สังคม เพราะสังคมนี้

มันเหมือนกับหมอ ห้องผ่าตัดนี่ห้ามคนอื่นเข้า แล้วเมื่อก่อนท่านก็รักษาของท่าน ห้องผ่าตัดคือห้องชำระกิเลสในใจของท่าน อยู่ในปฏิปทาของกรรมฐาน ไม่ให้ใครมายุ่งเลย รักษาอย่างดีเลย แต่พอสุดท้ายแล้ว ท่านออกมาทำโครงการช่วยชาติไง แต่เขาไม่ต้องการผ่าตัด เขาแค่ไม่สบายใจ เขาอยากหาจิตแพทย์ หาเพื่อนคุย ท่านก็ออกมาเพื่อสังคม

ทีนี้พอออกมาเพื่อสังคม ทางนั้นเขาก็เข้ามาสัมผัสท่านได้ เห็นไหม

เพราะเราเห็นนะ เรารู้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ พระที่เข้าไปสัมผัสใกล้ๆ หลวงตานี่ เข้าใกล้หลวงตาไม่ได้เลย พวกที่อยู่ใกล้ๆ หลวงตานี่ เพราะหลวงตารู้ถึงพฤติกรรม พอรู้ถึงพฤติกรรม แล้วถ้าพระองค์ไหนไม่ดีนะ ท่านจะไม่ให้เข้าใกล้ท่านเลย แต่พอออกมาโครงการช่วยชาติแล้วนะ พวกนี้เข้ามาได้หมดเลย พอเข้ามาได้หมดเลย การเทศนาว่าการ การพูดออกไปนี่ธรรมะไม่เหมือนกันแล้ว

เพราะว่าในห้องผ่าตัดมันห้ามติดเชื้อ ! แต่บริเวณโรงพยาบาล บริเวณห้องภายนอก มันไม่ต้องการอย่างนั้น มันไม่ต้องการขนาดนั้น

“เพราะอันนี้ไง ! ธรรมะที่พระป่าสอนๆ กันมา มันเลยคลาดเคลื่อนไง !” มันก็เลยคลาดเคลื่อนไปใช่ไหม เพราะมันไม่จำเป็นจะต้องขาวสะอาดบริสุทธิ์เหมือนห้องผ่าตัด

แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ การแก้ไขกิเลส การชำระกิเลสนะ มันต้องเสร็จสิ้นกันในห้องผ่าตัด ทีนี้ถ้ามันเสร็จสิ้นในห้องผ่าตัดแล้ว การที่จะเข้าห้องผ่าตัดได้มันต้องสะอาดบริสุทธิ์มา ต้องมีความพร้อมของคนไข้มา ถ้าคนไข้ไม่พร้อมก็เข้าห้องผ่าตัดไม่ได้ ตายห่าหมด ! ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ

ฉะนั้นเราจะบอกว่า พอกรณีอย่างนี้ปั๊บ พอมาตอนหลังนี่มันกระจายไป มันเป็นวงกว้างใช่ไหม แล้วพอเป็นวงกว้าง ธรรมะมันก็เลยหลากหลาย เลยถูลู่ถูกังกันอยู่อย่างนี้

ฉะนั้นที่เราพูด คำว่าพูดด้วยความมั่นใจ! มั่นใจ ! นี่สะเทือนหมดแหละ ! สะเทือนหมด !

ฉะนั้นเราถึงบอกว่า “อริยสัจมีหนึ่งเดียว ! อริยสัจมีหนึ่งเดียว”

กลับมาที่พุทโธนี่ ! พุทโธคือการฆ่าเชื้อ ! พุทโธคือการเตรียมความพร้อม

สมาธิมันฆ่ากิเลสไม่ได้ ถ้าสมาธิฆ่ากิเลสได้นะ ฤๅษีชีไพรมันก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว แต่ถ้าไม่กลับมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เราไม่ได้เริ่มต้นก้าวเดินไปด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เริ่มต้นเข้าไปสู่ความจริง มันก็ปลอมตั้งแต่ต้น

“ต้นคด ! ต้นคดเลยแหละ” ถ้าต้นมันคดน่ะ

ฉะนั้นไอ้พุทโธ พุทโธนี่ คือการรักษาต้นให้มันตรง ! เริ่มต้นขบวนการ ถ้าต้นมันตรงนี่มันไปได้ ทีนี้เราไม่ทำกันไง เราเห็นว่ามันเป็นความลำบากไง เราเห็นว่าเป็นความลำบากก็ว่า “ต้นจะเอียงก็ไม่เป็นไร ขอให้มันขึ้นก็แล้วกัน อะไรก็ได้ขอให้มันมีกินก็แล้วกัน”

ก็เลยบอกว่า “อย่างนั้นก็ไปเป็นเรื่องทางโลกที่เขาไม่ต้องการขนาดนี้ไง”

แต่ถ้าเรามีเป้าหมายใช่ไหม ถ้าเรามีเป้าหมาย ต้นนี่เราต้องเล็งเข้าสู่เป้าหมายเลย ถ้าเล็งเข้าสู่เป้าหมายนะ การปฏิบัติเริ่มต้นนะ มันจะไปได้

เหมือนการศึกษา อนุบาล เห็นไหม ตอนนี้ลูกใครจะเข้าอนุบาลนี่เขาต้องส่งสาธิตทั้งนั้น เพื่อจะวางรากฐานให้มันดี ถ้าวางรากฐานได้ดี การศึกษามันก็จะไปได้ไกล พุทโธ พุทโธนี่คือรากฐาน ถ้าสิ่งที่เป็นรากฐาน เราวางรากฐานที่ดี ทำสิ่งที่ดี มันก็จะไปได้

ถ้าเราคิดอย่างนี้นะ คิดแต่ทางโลก ทางการศึกษานะ เราเห็นดีเห็นงามด้วย แต่เวลาปฏิบัติ เรื่องของเรานี่ ทุกข์เราไม่เอาไง พุทโธก็ไม่เอา รากฐานก็ไม่เอา อะไรก็ขอสะดวก จะรากฐานหรือไม่รากฐาน แต่กูขอไปก่อน จบกัน ! ทีนี้พอจบกันอย่างนี้ มันถึงอยู่ที่ครูบาอาจารย์คอยเคาะแล้ว

ไม่มีอะไรเลยหรือ ? แล้วที่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ไปรู้ไปเห็นล่ะ

คณะโยม : ก็หลังจากที่บอกเมื่อคราวที่แล้วครับ หลวงพ่อ มันก็ไม่มีเวลาเข้าไปที่จุดเดิม มีเวลาก็แค่ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงอย่างนี้ครับ แล้วมันก็เข้าไปไม่ถึง ที่เคยบอกว่าที่เคยไปฝึก ตอนแรกก็พิจารณา ตอนนั้นเริ่มเดินจงกรม เราก็ “เฮ้ย ทำไมมันทุกข์อย่างนี้ กินก็เป็นทุกข์ ทำไมร่างกายต้องพักผ่อน ต้องกิน ต้องทำสารพัด…..”

หลวงพ่อ : อารัมภบท.. อารัมภบท

คณะโยม : ก็คือมันหักไม่ลงครับ มันติดอยู่แค่นี้แหละครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : อารัมภบท ทีแรกเข้าใจไง ที่เราพูดวันนั้นมาแล้ว แล้วพวกนั้นตามมา เวลาพูดธรรมะ เห็นไหม เวลาพูดธรรมะเป็นธรรมะ แต่เวลาข้อเท็จจริงนี่มันอีกเรื่องหนึ่ง เวลาพูดธรรมะในหมู่สังคมที่เสมอกัน ในสังคมที่เป็นไปด้วยกันได้ มันก็ไหลลื่นเลย แต่พอเราฟังแล้วนี่ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“สมมุติบัญญัติ–วิมุตติ ,สมมุติบัญญัติ-สมมุติโลก”

บัญญัติคือธรรมะพระพุทธเจ้า บัญญัตินี่ก็คือสมมุติ แต่พระพุทธเจ้าเอาสมมุตินี้มาขมวดให้มันเป็นหมวดหมู่

ถ้าสมมุติ ประสาโลก เห็นไหม ภาษาสมมุติ ดูสิภาษาทุกภาษา ภาษาท้องถิ่นต่างๆ เขาก็สมมุติหลากหลายกันไป ทีนี้พระพุทธเจ้าบัญญัติ บัญญัติคือเอาสมมุติทั้งหมดให้มันเป็นหมวดหมู่ พอเป็นหมวดหมู่ แล้วเราคุยกันด้วยบัญญัติ ด้วยสมมุติอันนี้

“ธรรมะพระพุทธเจ้านี่แหละบัญญัติ สมมุติบัญญัติ”

แล้วเราก็ใคร่ครวญกันอยู่ตรงนี้ แต่ถ้ามันเข้ามา เห็นไหม สมมุติบัญญัติ แล้ววิมุตติมันออกไปจากสมมุติทั้งหมดเลย ออกไปจากบัญญัติของพระพุทธเจ้าด้วย ออกจากสมมุติ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อย่างนี้ๆ นะ เกลือเป็นอย่างนี้ เกลือเป็นอย่างนี้” แต่พอเวลาเราได้ไปลิ้มรสนะ อ๋อ !

นี่มันพ้นจากบัญญัติเลย เพราะพระพุทธเจ้าบอก เค็ม หวานเป็นอย่างนั้น นี่คือบัญญัติ คือสมมุติอันหนึ่ง แต่เราได้สัมผัสไง ได้สัมผัสคือพ้นออกไป รับรู้จริงไง แล้วเราเอาไปอธิบายมันก็อีกอย่างหนึ่ง

วันนั้นเราจับประเด็นได้แล้ว เพียงแต่ว่าวันนั้นเวลาเราไม่มี เราถึงขมวดไปประมาณซักครึ่งชั่วโมงกว่าเนาะ แล้วนี่วันนี้มาเจออย่างนี้ก็อยากให้เคลียร์ คือประสาเรา เรานี่เป็นสุภาพบุรุษ คือวันนั้นเราพูดแล้วเรากระชับ

ทีนี้วันนี้เราต้องการแบบว่าให้เขาได้เคลียร์ได้เต็มที่เลย ไม่อย่างนั้นมันจะคาใจว่า เหมือนกับว่าเรานี่ แบบว่ากระชับเกินไป ไม่ให้โอกาส ไม่ให้เวลาในการบรรยาย วันนี้จะให้พูด แต่ ! แต่ก็ต้องพูดในกรอบนะ ถ้าอารัมภบทไม่ฟัง เบื่อ

คณะโยม : อย่างนั้นมันก็สั้นๆ อย่างเมื่อกี้ครับ มันก็ติดอยู่แค่นี้

หลวงพ่อ : อ้าว แล้วถ้าอารัมภบทล่ะ ลองอารัมภบทดู

คณะโยม : มันก็ไม่มีอะไรครับ มันก็แค่พิจารณาไป เจออะไรมันก็ทุกข์ ทำไมต้องเกิด ทำไมต้องกิน ทำไมต้องขับถ่าย ทำไมต้องนอน ก็เจอแต่ทำไม มันก็ทุกข์ๆ แต่มันหักไม่ลง

หลวงพ่อ : ไม่ลง ถ้าอย่างนั้นนะ หมอดีกว่า ! ตอนนี้มีโรคเกิดใหม่ ทางการวิจัยเขากำลังวิจัยหาวัคซีนไข้หวัด เขากำลังหากันใหญ่เลย ไข้หวัดไง วัคซีนกำลังป้องกันใหญ่เลย มันจะกลายพันธุ์ เขาวิจัยไง

“ก็ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น” มันเป็นวิชาการหมดไง แต่ก็ทำได้ เราต้องทำอย่างนั้นแหละ นี่พูดถึงว่า ทำไม ! ทำไม ! มันเสียอย่างเดียวเท่านั้นแหละ คนไม่รู้ว่าทำไม ทำไม แล้วเราไป ทำไม ทำไมอยู่ มันเสียเวลา

กลับมาพุทโธ ! พอกำลังพอนะ ไม่ต้องทำไมเลย พุ่งผลั้วะ ! ทะลุเลย

ไปทำไมๆ นะ เหมือนกับเรานี่ทำงานมาล้าแล้ว แล้วเราก็ทำงานต่อไปเรื่อยๆ มันไม่ได้พักไง ถ้าทำไม ก็จะทำไมต่อไป ถ้ากลับมาพุทโธ หรือกลับมาปัญญาอบรมสมาธิให้มีหลักขึ้นมานะ มันไม่ทำไมเลย “อ๋อ มึงโง่ ก็เรื่องของโลกเขา” ไข้หวัดอยู่นู่นไง ถ้ากูรักษาตัวกูดี ไข้หวัดก็ทำอะไรกูไม่ได้

แต่นี่ “อู้ฮู ไข้หวัดนะ นี่เป็นไข้นะ ดูสิ อากาศเปลี่ยนแปลงนะ ดูสิ อากาศเย็นนะ นี่เชื้อโรคมันหยุดงานนะ” มันเดือดร้อนกับโลกไปหมดเลยนะ มันเดือดร้อนถึงขั้วโลกเหนือนั่นนะ ว่าหวัดมันจะอยู่นาน เดี๋ยวเชื้อมันจะแพร่มาถึงเมืองไทย มันวิตกวิจารไปครอบจักรวาลเลย

แต่พอมันมีสมาธิขึ้นมานะ “มันเป็นสายบุญสายกรรม มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องของกาลเวลา มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเกิดมาอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ แล้วเราจะพ้นจากโลกนี้ไปอย่างไร” เราเกิดจากโลก แต่เราไม่ติดโลก

แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ มันไม่มีเราไง พอไม่มีเรา มันก็ไม่มีการจุดประเด็นใช่ไหม มันก็ “โอ้โฮ จักรวาลเลย อ๋อ มาจากดวงอาทิตย์ มันเกิดพายุสุริยะ มันก็เลยเคลื่อนมาสู่โลก โอ้โฮ มันไปนู้นเลย” ถ้าไม่มีสมาธิตัวเดียวนี่

สมาธิคืออะไร ? สมาธิคือความพร้อมของจิต จิตมันพร้อม จิตมันรวมตัวของมัน จิตมันหาเหตุหาผลในแกนของจักรวาลนะ ไม่ใช่แกนของโลกนะ ใจนี่มันเกิดในสามโลกธาตุ มันไม่ใช่แกนของโลกนะ มันแกนของจักรวาล กามภพ-อรูปภพ

หลวงตาบอกว่า “เวลาจิตมันพ้นไปจากกิเลส เหมือนมังกรนี่ มันครอบคลุมสามโลกธาตุ” เพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเคยเกิดเป็นพรหม แล้วพรหมก็อรูปภพ ภพ-อรูปภพ เห็นไหม มันเคยเกิดเป็นพรหม มันเคยเกิดเป็นเทวดา มันเคยเกิด นี่มันเคยเกิดในนรกอเวจี จิตมันเคยเกิด พอมันเข้าใจหมดปั๊บนี่มันปล่อยวางหมด มันครอบคลุมหมด นี่แล้วกลับมาที่นี่ นี่แกนของใจ ! พุทโธเนี่ย !

ทีนี้เวลาหลวงตาบอกว่า “พุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ”

ทางโลกเขาบอกว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

พุทโธนี่มันสะเทือนเลย “แกนของจักรวาล”

ถ้าจะให้เราพรรณนาถึงพุทโธนี่นะ โอ้โฮ.. กูพูดได้ทั้งวันเลยนะมึง แต่กรรมฐานเราบอก ฮึ ! พุทโธคำเดียว หลวงพ่อตอบแค่นี้เบื๊อ ! เบื่อ ใครมาก็พุทโธ ใครมาก็พุทโธ โคตรเบื่อเลย

ก็กูพรรณนามาจนเซ็ง กูพรรณนาทุกวันเลย

คณะโยม : หลวงพ่อคะ ช่วยอธิบายวิธีแก้การตกภวังค์ในการภาวนาให้หน่อยคะ

หลวงพ่อ : พุทโธชัดๆ ! เดี๋ยวนะ อีกแล้ว พุทโธชัดๆ นี่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตกภวังค์นี้พุทโธมันไม่ชัด พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะไม่ชัด

คณะโยม : มันเงียบๆ ค่ะ

หลวงพ่อ : ก็ตัวเงียบหายนี่ไง เพราะตัวเงียบหายไป มันก็จะหายไปเลย พอหายไปเลย เห็นไหม

พุทโธนี่นะเกิดจากสัญญา ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันคลุมอยู่เห็นไหม สามัญสำนึก ความคิดไม่ใช่จิต ! ไม่ใช่จิต ! จิตเป็นตัวนี้นะ แต่อารมณ์ความรู้สึก ขันธ์ ๕ นี่มันคลุมจิตอยู่

เหมือนกับปอกเปลือกผลไม้ เหมือนกับผลไม้กับเปลือกผลไม้ ผลไม้มันต้องมีเปลือก สามัญสำนึก ความคิดเรานี้มันเป็นเปลือก มันหุ้มใจนี้อยู่ ทีนี้พอหุ้มใจนี้อยู่ สามัญสำนึก เห็นไหม เวลาจิตสงบ จะเห็นอาการของจิต คือเห็นเปลือก นี่มันกระทบกัน

โดยธรรมชาติของจิต สามัญสำนึกของมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ มันมีพลังงานอย่างนี้ แต่เราไม่เคยเห็นเพราะมันเร็ว เพราะมันเป็นนามธรรม พอเป็นนามธรรมนะ ทีนี้พอเราศึกษาศาสนา พระพุทธเจ้าบอกให้พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธก็เกิดจากนี่ เกิดจากสัญญา เกิดจากสัญญาอารมณ์

พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม ธรรมดามันคิดเรื่องร้อยแปด นี่คือมันส่งออก จิตส่งออก ! ส่งออกจากพลังงาน ส่งออกจากเนื้อสู่เปลือก สู่เปลือกแล้วสู่จักรวาล สู่จักรวาลคือความคิดไง

ทีนี้เราศรัทธาในพุทธศาสนาใช่ไหม เราไปนึกพุทโธ สิ่งที่มันส่งออกก็ให้มาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือมันไม่ส่งออก พลังงานมันไม่กระจายออกไปสู่ภายนอก

พุทโธ พุทโธ พยายาม พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้ว พุทโธ พุทโธ แล้วก็เงียบหายหมดเลย นี่เพราะมันไปไม่รอดไง พุทโธ พุทโธ นี่มันไม่จริงจัง เห็นไหม

คำว่าไม่จริงจังเพราะอะไร น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ พลังงานส่งออกทั้งหมด แล้วพลังงานที่ย้อนกลับ จะเอาที่ไหน ทีนี้พอพลังงานย้อนกลับนี่มันต้องทวนกระแส พอมันทวนกระแสนี่มันผิดธรรมชาติ ! พอมันผิดธรรมชาติ เราก็เลยต้องมีสติ มีพลังงานให้มันคืนสู่ตัวมัน ทีนี้พอมันคืนสู่ตัวมันไม่ได้ มันก็หายไป เห็นไหม คือมันไม่เป็น

พุทโธ พุทโธ พุทโธอย่างนี้จิต แต่นี่ตัวขันธ์ ๕

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ห่าว หลับ !

พุทโธ พุทโธ หลับนะ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปเดี๋ยวเดียวหลับ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เห็นไหม

หลวงตาถึงบอกว่า มนุษย์เป็นสอง “จิต” กับ “สัญญาอารมณ์”

สัญญาคือขันธ์ ๕ สัญญาอารมณ์ ! สัญญาอารมณ์ที่มันส่งออกอยู่นี่ แล้วเราพุทโธ พุทโธ สัญญาอารมณ์นี่มันส่งออก จนสัญญาอารมณ์กับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน เห็นไหม

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเป็นอันเดียวกันนะ จนมันพุทโธไม่ได้ ! เพราะมันไม่มีอะไรกระทบ มันเป็นหนึ่ง แล้วเป็นหนึ่งมันจะพุทโธได้อย่างไร หนึ่งจะพุทโธกับอะไร “นี่คือสมาธิ !”

ไม่มีใครรู้จักสมาธินะ รู้จักแต่ “ว่างๆ”

พุทโธ พุทโธ เกิดจากขันธ์ ๕

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้ว ว่าง ! จิตมันก็คาอยู่นี่ สมาธิไม่มีหรอก ! ที่ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” มันว่างๆ ที่นี่ มันยังเป็นสองอยู่ เพราะว่างมันยังไม่ใช่เราไง เพราะเราอยู่นี่ใช่ไหม แต่ไม่รู้สึกตัวมันเลยหลับไง มันหลับไปแล้วด้วย พอมัน “ว่างๆ ว่างๆ” นี่คือว่างที่ไม่มีไง มันว่างที่ไม่มี ทั้งๆ ที่จิตมีอยู่นี่นะ ทั้งๆ ที่จิตนี่คาอยู่นะ แต่มันว่างไม่มี มันว่างไม่มี

แต่ถ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่หลับ มันไปไม่ได้หรอก !

แต่ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันจะเข้านี่มันไหว อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เห็นไหม มันจะเจียนอยู่เจียนตาย กลัวตายฟรีนั่นน่ะ นี่มันมีการกระทบมาแล้ว เพราะมันจะมารวมกัน แต่ถ้ามันมารวมกันได้นะ

สมาธิมันเป็นอย่างนี้นะ ในมหายาน เห็นไหม นิพพานคืออะไร แล้วถ้าใครพูดถึงนิพพานนะ คนนั้นผิดหมดเลย นิพพานคือ (ทำท่าเม้มปาก)

ตัวจิตมันจะพูดได้อย่างไร !!! ตัวนิพพานพูดได้อย่างไร ! ถ้าพูดก็ผิดหมด !

แต่โดยสามัญสำนึกในการสอนนะ ขอให้พูดนิดหนึ่ง ก็พูดอธิบายออกมา แต่พูดนี่ผิดหมดนะ ! พูดนี่ผิดหมด แต่ผู้รู้พูดไง

ฉะนั้นเราถึงบอกว่า ทำไมมันหลับใช่ไหม มันรู้ได้ไง หลับเพราะเหตุนี้ไง หลับเพราะมัน “ฝืนธรรมชาติ !”

ธรรมชาติน้ำมันไหลออก แต่เราไปบังคับให้น้ำมันไหลขึ้น มันทวนไม่ไหว มันก็หลับ พอมันหลับนี่เราถึงต้องทำอย่างนี้ไง เราต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร ต้องสู้กันด้วยความจริงจัง ด้วยความตั้งใจ เพราะมันมีค่ามากไง !

แต่ ! แต่เพราะมันทำไม่ได้ไง เราก็เลยตามน้ำกันไป อ้างธรรมะพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอก “ว่างๆ ว่างๆ” นะ เดี๋ยวนี้ทุกคนคิดให้ว่างหมดเลย “ว่าง ” คิดสิ ว่าง ! ต้องว่าง ! ไม่ว่างกูไม่ยอม กูต้องคิดให้ว่าง “ว่าง”

เราคิดเอาน่ะ หลวงตาถึงบอกว่า “สัญญาอารมณ์ มันเป็นสัญญาอารมณ์”

สัญญาคือข้อมูล อารมณ์คือบังคับให้มันเป็น สัญญาอารมณ์ว่าเป็นธรรม สัญญาให้เป็นอย่างนั้น เพราะมีต้นแบบคือธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีต้นแบบธรรมะของพระพุทธเจ้า มึงจะเอาอะไรมาคิด

คณะโยม : หลวงพ่อคะ มีช่วงหนึ่งประมาณ ๒-๓ ปีก่อน โยมปฏิบัติ คือนั่งไป จนจิต…ไม่มีอาการง่วงไม่มีอะไรเลย มันหยุดนิ่ง นิ่งเสร็จแล้วมันเหมือนมีอะไรมาอยู่ข้างๆ เหมือนจิตเรามันออกมาอยู่ข้างๆ มันก็กลัวค่ะว่า “อุ๊ย ตัวเราออกมา” คือตัวหายไปเลยนะคะ แต่จิตก็อยู่ตรงเนี้ย เหมือนเราดูกันอยู่น่ะค่ะ “มึงจะไปไหนวะเนี่ย” อะไรอย่างนี้ค่ะ คือแบบว่าออกมาแล้วนิ่ง สงบ แบบดูมันอยู่ “จะทำอย่างไรต่อวะเนี่ย ที่เขาว่าตาย มันเป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่านี่” คือมันจะเริ่มกลัวไงคะ แต่มันก็อยู่กันอยู่อย่างนี้ แล้วโยมก็นั่งนานๆ แล้วก็อยู่ตรงเนี้ยค่ะ จน “เอ๊ะ ถ้าเกิดเราตาย จะทำยังไงวะเนี่ย”

หลวงพ่อ : ขาดพุทโธ เห็นไหม

คณะโยม : อ๋อ.. เหรอคะ

หลวงพ่อ : คำว่าขาดพุทโธตอนไหนรู้ไหม พอพูดคำว่าขาดพุทโธ พุทโธนี่นะคือพุทธานุสติ คำว่าขาดพุทโธเพราะอะไร เพราะว่า “พุทโธ พุทโธ จนมันนิ่งๆ แล้วมันอยู่อย่างนี้”

ถ้าพุทโธต่อไปล่ะ พุทโธต่อไป คุณภาพของจิตมันจะดีกว่านี้ สิ่งที่มันคากัน มันจะรวมมาเป็นหนึ่งไง ไอ้นี่มันลง แต่มันลงกึ่งๆ ไง เห็นไหม ว่าง.. สบาย.. รู้ตัว.. แต่มันยังไปได้อีกไง

คำว่าไปได้อีก คือมันจะสักแต่ว่า คือมันรู้ไม่ได้ไง มันไม่รู้อะไรเลย นี่มันลงแล้วแต่มันรู้เขาใช่ไหม รู้ตัว รู้ว่ามี มันมีสอง เห็นไหม แต่มันก็ลงส่วนหนึ่ง ลงระดับหนึ่ง แต่ถ้าโยมตั้งใจพุทโธ…. นึกพุทโธได้ ! ตอนนั้นก็นึกพุทโธได้ ตอนนั้นนึกพุทโธได้

เอ้า…ลองเถียงมา

คณะโยม : มันรู้แต่ว่ามันเหมือนไม่แน่ใจว่ามี

หลวงพ่อ : ไม่ได้ ! เขาจะบอกว่านึกไม่ได้ ! เราจะบอกเลย เราให้เถียงก่อน

เราบอกว่า “นึกพุทโธได้”

“ไม่ได้ค่ะ ! ไม่ได้”

ถ้าไม่ได้ มันจะเห็นเขาไม่ได้ไง

เห็น.. รูปที่เห็น.. เราเห็นเขานี่มันนึกได้ ! ถ้าเรานึกไม่ได้ เราเห็นไม่ได้ ! ถ้าเรายังเห็นคนนั่งข้างๆ นั่นล่ะมันส่งออกไปรู้ มันนึกพุทโธได้ !

ถ้านึกพุทโธไม่ได้ มันจะไม่เห็นอะไรเลย มันจะเป็นตัวของมันเอง

แต่นี่ยังเห็น มันนึกพุทโธได้ ! แต่จิตมันละเอียด เพียงแต่ว่ามันลึกลับ ตัวเองไม่กล้านึก กลัวมันสะเทือน กลัวมันจะฟู แต่ความจริงมันนึกได้ ! มันนึกได้โดยละเอียดไง เพราะพุทโธ พุทโธ มันหยาบ

พุทโธ พุทโธ เห็นไหม พุทโธอย่างหยาบ พุทโธอย่างกลาง พุทโธอย่างละเอียด พุทโธมีตั้งหลายระดับ แล้วพอถึงนั่นนี่มันนึกได้ ถึงละเอียดอย่างไรก็

“จนกว่าคำบริกรรมมันจะรวมเป็นหนึ่ง”

เนี่ยจิตมันเป็น สมาธินี่ถ้าคนภาวนาไม่เป็น ไม่เคยผ่าน ไม่รู้หรอก !

อย่างเช่น โยมจะมาที่นี่ โยมต้องผ่านนครปฐมกันทุกคนใช่ไหม ไม่ผ่านนครปฐมมาโพธารามไม่ได้

“จิต ไม่ผ่านความละเอียดอย่างกลาง มันจะมาสู่ความละเอียดอย่างละเอียดไม่ได้”

คือมันมาถึงนครปฐม มันยังไม่มาถึงโพธาราม นี่ก็เหมือนกัน จิตมันละเอียดเข้าไป แต่มันยังไม่ถึงอัปปนา เป็นสมาธิไหม เป็น ! เพราะสมาธิมีตั้งหลายระดับ

คณะโยม : แล้วหลังจากนั้นโยมก็ไม่กล้าทำต่อเลย เพราะว่าไม่แน่ใจ กลัวตาย

หลวงพ่อ : นี่ไง ก็อันตอนเช้านั่นแหละ ตอนเช้าก็เหมือนกัน “กลัวตายฟรี”

คณะโยม : เมื่อกี้ที่พระอาจารย์พูด หนูยอมรับว่าหนูก็เป็นมาก่อนด้วย ลมหายใจมันหายไป หายใจเข้า หายใจออกนี่ค่ะ

หลวงพ่อ : ที่เราพูด วันนี้เราพูดอย่างนี้เราพอใจเพราะอะไร เพราะเขาได้สัมผัสไง เพราะสัมผัส เพราะการกระทำนี่มันต้องมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อเป็นเนื้อเป็นหนังกับเราบ้าง เราเป็นชาวพุทธ เราปฏิบัติกันนี่ไม่เคยจับต้องอะไรเลย นี่มันเกินไปว่ะ !

เออ.. เราปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิบ้าง ได้ปัญญากันบ้างนะ มันก็ว่าเออ.. มันมีมรรคมีผลเนาะ มีเหตุมีผลในศาสนา ที่พูดนี่เพราะมันมีเหตุมีผลในศาสนา เราก็เออ.. ดีใจ แต่ก็ทำกันไป

คณะโยม : อย่างนี้เขาเรียกปฏิภาคหรือเปล่า

หลวงพ่อ : ไม่ ! ไม่ใช่ !! “อุคคหนิมิต” ปฏิภาคะ คือขยายส่วน

ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกไง ความชำนาญไง ทำให้มาก ทำให้มากนั่นอีกอย่างหนึ่ง อีกคำหนึ่ง

“อุคคหะคือการเห็น ปฏิภาคคือการแยกส่วน”

อุคคหนิมิต ปฏิภาคคือการขยาย ถ้าไม่มีการขยายส่วน มันไม่ขยับไง “เราจะบอกว่านี่คือไตรลักษณ์ไง” ไตรลักษณ์คือการเปลี่ยนแปลง ภาพ ! แล้วภาพนั้นมีการขยาย ภาพนั้นเปลี่ยน เห็นไหม ภาพนี่คืออุคคหนิมิต ปฏิภาคะ คือ ความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว เป็นไตรลักษณ์ไหม แบบมันจะฝึกให้รู้ไง แล้วพอมันปฏิภาค มันทำลายจนตัวมันเองหมดเลย

นี่ ! ไตรลักษณ์ ! เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป การกระจายตัว

แต่มันต้องเห็นจริงนะ โอ้โฮ.. มหัศจรรย์กว่านี้ เห็นจริงนะ อื้อฮือ.. มันมหัศจรรย์

“นี่ธรรมะมันเป็นอย่างนั้น ! นั่นคือเนื้อแท้ คือข้อเท็จจริง”

แต่ในเว็บไซต์นี่ขี้โม้ ! จำขี้ปากเขามาเถียงกัน !

คณะโยม : อยากจะขอเรียนถามค่ะ ตอน ๔ ปีที่แล้วที่___

หลวงพ่อ : เดี๋ยว ! เอาแต่เรื่องเก่าๆ มาถาม

คณะโยม : เรื่องของการปฏิบัติน่ะค่ะ คือโยมเคยปฏิบัติ แล้วก็แบบว่านอนน้อยมากค่ะ แล้วก็พอปฏิบัติไป นั่งสมาธิไปแล้ว คือมันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าวิญญาณจะออกจากร่าง เหมือนมีอะไรที่จะออกจากตัวเราไป แล้วเราก็กลัวมากเลยค่ะ แล้วเราก็พยายามจะนั่งภาวนาให้มันกลับมา อย่างนี้ค่ะ แล้วก็พอเราสวดมนต์ก็เป็นอาการนี้ค่ะ เหมือนกับว่าจะตายอย่างนั้นเลยค่ะ คือเหมือนกับว่าวิญญาณจะออกจากร่างเรา

หลวงพ่อ : เอ้อ สรุป !

คณะโยม : สรุปก็คือว่ากลัวตายมากค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าเราพูดนะ เวลาปฏิบัตินี่นะ ตอนนี้ถ้าเราปฏิบัติแล้ว มันก็อยู่ที่บุญกุศลล่ะ ใครสร้างเวรสร้างกรรมมาอย่างใด ก็จะออกมาตามนั้น

หลวงตาบอกว่า “การทำบุญของเรานี้ มีบุญกุศลมากขนาดไหน มันเหมือนกับทำนบปิดเขื่อน น้ำไง น้ำในทำนบนั้น แต่ถึงที่สุด ในการพ้นทุกข์จะต้องการการภาวนา”

ทีนี้เวลาพูดถึงทำนบ คือว่าน้ำมันสะสมใช่ไหม ในเขื่อนน่ะ เราทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน มันก็สะสมมาในใจของเรา ทีนี้พอปฏิบัติมันก็จะออกมานี่แหละ ทีนี้เวลาปฏิบัติออกมานี่เหมือน “บัว ๔ เหล่า” แล้ว

ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยาก

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไป เวลามีเหตุการณ์อย่างนี้ นี่มันเป็นเวรเป็นกรรมที่มันดึง มันจะยื้อ มันจะดึงมันจะยื้อขนาดไหนนะ ถ้าเข้มแข็งนะ เราต้องตั้งสติ ! ตั้งสตินะ สิ่งใดเกิดขึ้นนะไม่พ้นตาย มึงจะตายนี่ให้ตายเลย สมมุติว่ามันจะยื้อใช่ไหม เราบอกว่ามึงไม่ต้องยื้อกูหรอก กูสละตายให้มึงเลยนะ มันก็ไม่เอาแล้ว !

แต่นี่พอมันยื้อนะ ก็กลัวมัน ต่อรองกับมันนะ มันก็เล่นกับเราตลอดไป

นี่เรื่องเวรกรรมนะ เห็นไหม โทษนะ ! คู่ทุกข์คู่ยากนี่เวรกรรม ! แหม รักกันมากเลย พ้นจากกันไปไม่ได้เลย แต่ถ้ามันหมดกรรมนะ เฮ้อ ! พอกันที จบ !

เหมือนกัน ถ้ายังไปต่อรองกับมันนะ ยื้ออยู่อย่างนั้นแหละ ยื้ออยู่อย่างนี้ ไม่จบซักที แต่ถ้าวันไหนนะ มึงจะเอาไงเอากัน เอาไงเอากัน อย่างนั้นใช้กันจบนะ แต่ถ้าเวรกรรมไม่จบนี่แหละ ยื้อกันไปก็ยื้อกันมา ออเซาะฉอเลาะ อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็อยู่อย่างนี้

เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติมันมีตรงนี้เป็นผลด้วย ถ้ามีตรงนี้เป็นผลนะ ในการปฏิบัติของเราทุกๆ คนมันถึงไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเหมือนใครหรอก

เราบอกว่า วิทยานิพนธ์มีอันเดียว วิทยานิพนธ์ของแต่ละองค์นะ เราฟังมาหมด ขณะจิตที่เป็นพระอรหันต์

ของหลวงตาคือ “จุดและต่อม” แล้วเวลาเข้าไป เวลาจุดและต่อมมันขยายตัวออกมาเป็นมะพร้าว ๒ ขั้ว เวลาหัก ๒ ขั้วนี้หมดเลย เห็นไหม

ของหลวงปู่ขาวนะ “จิตนี้เปรียบเหมือนเมล็ดข้าว !” คำว่าเปรียบเหมือนนี้คือปัญญามันเกิด มันจับต้องได้หมดแล้วนะ คือมันต้องจับโจทย์ จับจำเลยได้หมด แล้วขึ้นศาล แล้วศาลวินิจฉัย ตอนศาลวินิจฉัยนี่เขาเรียก “ขณะจิต”

ขณะจิตคือเวลาวินิจฉัย วินิจฉัยว่าข้าวนี้ถ้ามันตกสู่พื้นนา มันก็งอกอีก

ข้าวนี้ถ้ามันโดนหุงโดนต้มจนสุกแล้วข้าวก็เกิดไม่ได้

จิตนี้ถ้ามันโดนตบะธรรมแผดเผาจนถึงสุกแล้ว นี่ !

หลวงปู่บัว หลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ทุกองค์ ไม่เหมือนกันทั้งหมดเลย ! หลวงปู่เจี๊ยะก็ไม่เหมือนใคร ของใครของมัน ถ้าใครไปจำขี้ปากเขามาพูดนะ วิทยานิพนธ์นี่ไปลอกเขามา จบ ! นี่วงการปฏิบัติ

คณะโยม : ถามต่อค่ะ ตอนนั้นคือโยมแบบว่าตอนไปปฏิบัติค่ะ แล้วโยมตั้งใจไว้ว่าจะไม่นอน คือหลังจะไม่แตะพื้น หลังจากนั้นเรานั่งๆ ไป แล้วแบบว่าเหนื่อยมาก ทรมานมาก แล้วก็นั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ค่ะ แล้วก็คือเห็นตัวเองเหมือนชั่วแว็บเดียวค่ะ ตัวเราลงไปนอนกับพื้น แล้วเราก็ “อ้าว เราลงไปนอนกับพื้น” แต่ตัวเรายังอยู่อย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : แค่เนี่ย? นอนแล้วลุกขึ้นมา

คณะโยม : มันแว็บเดียว คือเห็นตัวเองลงไปนอน

หลวงพ่อ : แว็บเดียว นอนนี่มันมี ๒ อย่าง

คณะโยม : แต่ไม่ได้นอนนะคะ

หลวงพ่อ : เดี๋ยวก่อน ! นอนนี่มันมี ๒ อย่างนะ ถ้าเรานอนอยู่กับพื้น เราเคยเห็นตัวเราเอง เราเคยเห็นเลย เห็นตัวเรานอนอยู่ข้างหน้านี่ แล้วเรากำหนดให้พลิกอย่างนี้ เหมือนซากศพ ทีแรกก็งงเว้ย “เฮ้ย ใครวะนอนอยู่ตรงนี้ ตายอยู่ตรงนี้” ก็ไปถามอาจารย์นะ

“อาจารย์ โอ้โฮ เห็นศพมันนอนอยู่นี่”

อาจารย์บอกว่า “มึงไง”

เถียงในใจ “ก็เราได้อย่างไร ก็กูนั่งอยู่นี่ แล้วศพมันอยู่นั่น”

ตอนนั้นเถียงอยู่นะ แต่ตอนหลัง อืม จริงๆ เห็นอสุภะไง เห็นกาย

นั่งอยู่อย่างนี้ ! นั่งอยู่อย่างนี้หลับตานะ แต่ในนิมิตมันเห็นไง เห็นซากศพนอนอยู่ตรงนี้ นอนตรงหน้าตรงๆ นี่แหละ แล้วบอกให้พลิก มันก็พลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป

ตอนใหม่ๆ งงกันทุกคนแหละ ใหม่ๆ เราจะงง จะไม่รู้ ก็ไปถามอาจารย์ว่า

“นี่เห็นซากศพ !”

ท่านบอกว่า “เห็นกาย เห็นตัวเอง”

“เห็นได้อย่างไร ก็เห็นซากศพ”

แหม.. เถียงในใจไง ตอนนั้นยังเถียงอยู่ แต่พอภาวนาเป็นแล้ว จริงๆ

นี่เห็นนะ แต่ถ้าเห็นแว็บ เห็นแว็บๆๆ นี่มันเหมือนเห็นกายไง เห็นแว็บเดียว แว็บเดียว คือจิตเรานี้ อย่างที่ว่าพุทโธ ฐานมันไม่พอ ถ้าฐานมันพอนะ ถ้าเราเห็น มันจะมานอนให้เราเห็นชัดๆ อย่างนี้เลย สมมุติถ้าฐานเรามีนะ มันจะนอนอยู่อย่างนี้นะ แต่ยังไม่พอนะมันสั่งพลิกไม่ได้

ถ้าจิตเริ่มดี มันเห็นแว็บๆ แว็บๆ ถ้าจิตพัฒนาขึ้นไปจะเห็นคงที่ ถ้าจิตดีขึ้นไป จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นความเปลี่ยนแปลง

โอ้.. สมาธิมีหลายระดับ ! กำลังไม่มี เหมือนเงินไม่พอซื้อเบนซ์ไม่ได้ เงินไม่พอ ต้องไปซื้อโตโยต้า จะซื้อเบนซ์ต้องมีเงิน ๓ ล้าน

หลวงพ่อ : เออ ! ไปซื้อโตโยต้า

คณะโยม : เขาตอบอย่างนี้ก็ได้ค่ะพระอาจารย์ มันก็มีคนตอบอย่างนี้ว่า “เพราะว่าจิตมันเร็วมาก จนตัวเราไม่เห็นมัน” คือแบบจิตเราแว็บไปตรงนั้น นั่นแหละคือคำตอบว่า “เพราะจิตเราเร็ว แต่เรามองไม่เห็นจิต”

หลวงพ่อ : ใครตอบ ?

คณะโยม : คนที่เรารู้จักตอบ

หลวงพ่อ : นั่นแหละ ภาวนาไม่เป็น ! อ้าว จริงๆ !! เรานี่ฟังคนตอบ แล้วให้ตอบมา แล้วพอตอบมาเราจะจับเองว่าคนนี้เป็นหรือไม่เป็น เพราะจิตเราเร็วมาก ! จิตเราเร็วมาก ตอนนี้จิตเราเร็วอยู่แล้ว

“ความคิดของมนุษย์เร็วกว่าแสง !”

ถ้าจิตเร็วมาก จิตปกติมันเร็วอยู่แล้ว แล้วจิตเร็วมากทำไมมันไม่เห็น แล้วเห็นนี่เห็นเพราะอะไร เห็นเพราะสิ่งที่เร็วมันหยุดนิ่ง มันถึงเห็น แต่ความหยุดนิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ มันถึงเห็นแค่แว็บเดียว แต่ถ้าความหยุดนิ่งนี้หยุดได้มากกว่า มากขึ้น

จิตเร็วมาก ! จิตเร็วมาก ! จิตเร็วมากเห็นไม่ได้ ! จิตต้องนิ่ง ! จิตต้องนิ่งต้องเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ การเห็น เห็นแว็บเดียว เพราะมันเริ่มนิ่ง นิ่งเฉยๆ แล้วเห็น เหมือนกับนั่งรถไง รถมันเร็ว ปุ๊บ !ปุ๊บ ! ปุ๊บ !ปุ๊บ ! ปุ๊บ ! แต่ถ้านั่งรถปิดหน้าต่างหมดก็ไม่เห็น พอนั่งรถแล้วรถมันเร็วใช่ไหม พอรถช้าลง รถช้าลง รถหยุดนิ่ง

ความจริงอยู่ตรงนี้ ตอบมา โธ่ ! ยิ่งตอบนะ ยิ่งเปิดใจให้กูดู

คณะโยม : ขอถามต่อไปเลยค่ะ โยมเพิ่งกลับมาจากปฏิบัติ คือ ๔-๕ วันจิตเรากำลังดี ออกมาจากที่ปฏิบัติ แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ ระหว่างนั่งรถตู้ไปบนถนนนี่ค่ะ โยมก็เห็นหมาวิ่งตัดถนน แต่ไม่มีนะคะ วิ่งไปๆ เอ๊ะ ทำไมเหมือนหมาจะมาตัดถนน แต่มันไม่มี ซักพักหนึ่งพอไป ๒๐ นาทีต่อมา มีหมาวิ่งมาจริงๆ แล้วหนูก็ถามแม่ชีว่า“เอ๊ะ ทำไมเป็นอย่างนี้” เขาก็บอกว่า คือจิตมันเร็ว มันไปรับรู้ล่วงหน้า

ถ้าเกิดพระอาจารย์ตอบ พระอาจารย์จะตอบว่าอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : ตอบอย่างนี้ไง ! “เรารู้ล่วงหน้า จิตเร็ว”

ที่เราพูดนะ เราพูดตั้งแต่เช้าเห็นไหม ที่เราพูดออกทีวีไป มันสะเทือนวงการกรรมฐานหมดไง วงการกรรมฐานเอาสิ่งนี้มาหลอกแดกกัน ! พูดอะไรก็ได้ ลูกศิษย์เชื่อหมด โดยไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร แล้วพูดต่อเมื่อมึงมาถามกู

สิ่งที่รับรู้ ก็คือสิ่งที่รับรู้ สิ่งที่ว่ารับรู้ล่วงหน้า แล้วหมามันมาจริงๆ หมามาจริงๆ ก็คือหมามันมา แต่สิ่งที่รับรู้นี้ เห็นไหม เวลาจิตเราที่มันนั่งรถมา แล้วมันเห็นหมา อย่างนั้นมันเป็นนิมิตได้ไหม เป็นนิมิตคือความรู้จากข้างใน แล้วสิ่งที่มันมาจริงๆ ก็คือมันมาจริงๆ ของมัน

คณะโยม : แล้วมันเกิดจากการปฏิบัติหรือคะ

หลวงพ่อ : คำตอบที่ถูกต้อง

จิตของคนนี่นะมันมหัศจรรย์อยู่แล้ว มันดีอยู่แล้ว แต่โดยสามัญสำนึกของปุถุชน ของคนทั่วไปเขาไม่รักษาดูแล พอเขาไม่รักษาดูแล เขาก็ปล่อยจิตของเขา ปล่อยความคิดของเขา ปล่อยจิตของเขาไปตามธรรมชาติใช่ไหม โดยที่ไม่ได้ถนอมดูแลเลย แต่พอเรามากำหนดพุทโธ คือเรามารักษาดูแล พอเรามารักษาดูแลของเรา แล้วเราทำของเรา ให้มันสร้างคุณสมบัติของเขา สร้างคุณสมบัติของจิตไง อย่างเช่น จิตหยุดนิ่ง สมาธิคือจิตหยุดนิ่งนะ

เขาถึงบอกว่า “จิตนี้คิดไม่ได้ จิตหยุดไม่ได้อะไรนี่” บ้าทั้งนั้นแหละ !

“จิตหยุดไม่ได้ก็เป็นสมาธิไม่ได้” สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด แล้วหยุดนิ่ง

สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดคือจิต ! แล้วมันหยุดของมันได้ มันถึงมีพลังงานที่สุด

บางคนบอกว่า “จิตหยุดนิ่งไม่ได้ จิตต้องเคลื่อนที่ จิตหยุดคิดไม่ได้”

คนพวกนี้ภาวนาไม่เป็น ! การทำสมาธิยังไม่รู้จัก เพราะถ้ารู้จักมันจะรู้ของมันไง เพราะการหยุดนิ่งนี้มันวัดได้

ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ หยุดนิ่งมากน้อยแค่ไหน หยุดนิ่งมากน้อยแค่ไหนมันเปรียบเทียบได้ไง มันพิสูจน์ได้

ขณิกสมาธินี่มันสบายๆ นี่จิตสบายๆ แค่นี้เอง !

อุปจาระมันลึกกว่า พอลึกกว่าแล้วก็ออกรู้ ออกเห็น นี่เขาเรียกอุปจาระ

อัปปนาออกรู้ไม่ได้ มันหนึ่งเดียว มันไม่มีอะไรกระทบ

อุปจาระ คือความรอบรู้ของจิต หยุดนิ่งแล้วรู้ได้

ขณิกะ หยุดนิ่ง แต่ไม่มีความสามารถรู้อะไรได้ พักเฉยๆ

แล้วสิ่งที่รู้ที่เห็นนี้ เราฟังอย่างนี้นะ แต่มันเป็นการสั่งสอนของโลก คืออยากแอ็คว่าเป็นอาจารย์กัน มีอะไรกูก็ตอบได้ ตอบมั่วๆ ประสากูนั่นแหละ ยิ่งตอนนี้นะ สังคมผู้หญิงเป็นอย่างนี้หมดเลย เราไม่อยากจะพูดว่า แม่ชีๆ นี่ เพราะมันมาเข้าหูเยอะตอนนี้

คณะโยม : ถามต่อค่ะ

หลวงพ่อ : ให้อีกทีเดียว จะปิดแล้ว

คณะโยม : คือว่าโยมนั่งประชุมไป แล้วก็คือมันยังไม่เลิกประชุมก็นั่งภาวนาไป พุทโธ พุทโธ นับลูกประคำค่ะ พุทโธ พุทโธไป เสร็จแล้วมันเหมือนกับเคลิ้มจะหลับค่ะ แล้วพอจะหลับ อยู่ๆ มันมีความรู้สึก มันพุ่งขึ้นมาเอง แป๊บเดียว แล้วก็ตกใจ คือมันมีความรู้สึกว่ามีความเกลียดชัง มันขึ้นมา แต่เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เกลียดใคร เราไม่ได้อะไร แล้วความเกลียดนี้ เราไม่คิดว่าเราจะเกลียดใครได้มากขนาดนี้ เราก็เลยไปถามแม่ชีว่า “นี่ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้”

หลวงพ่อ : คำตอบ !

คณะโยม : ขออาจารย์ก่อน

หลวงพ่อ : ต้องเราก่อนเหรอ กลัวจะเย้ยหยันเขาใช่ไหม (หัวเราะ)

คำตอบของเรานะ ความดันออกมาของอวิชชาของเรา ตัณหาความทะยานอยาก สิ่งสกปรกในหัวใจของเรานี่มันมหาศาล แต่มันไม่เคยดันออกมา ไม่เคยโผล่ออกมา คนที่ปฏิบัติเขาจะเห็นความชั่วของตัว ความดีความชั่วของคนอื่นเขาไม่สนใจเลย แล้วเวลาเราเห็นความชั่วของเราขึ้นมา เวลามันดันขึ้นออกมานี่มันว่า โอ้โฮ กูชั่วได้ขนาดนี้เชียวเหรอวะ แต่เราไม่รู้ไม่เคยเห็นไง

สิ่งที่รู้เห็นได้เพราะจิตมันเริ่มมีพลังเข้ามา มันจะไม่ส่งออก พลังงานของเรามันจะดูตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราจับได้นะ !

ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ มันเห็นพลังงาน เห็นขันธ์ เห็นอย่างนี้ ไอ้ความชั่วอันนี้นะ มันจะอาศัยขันธ์ อาศัยสัญญา อาศัยข้อมูล ออกไปหาผลประโยชน์ของมัน ทีนี้เราก็เห็นมันไม่ได้ พอเราเห็นมันไม่ได้ พอจิตเราสงบ เราจะเห็นมันอาศัยขันธ์ออกหาเหยื่อ เห็นมันอาศัยขันธ์ไปยึดกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราจับตรงนั้น เราถึงจับกิเลสได้ไง !

ทีนี้พอบอกว่าเห็นพลังมันดันขึ้นมา นี่คือภพ คือภวาสวะ คืออนุสัยที่มันดันออกมาจากจิต แต่ ! แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเป็นอะไรแต่มันดันออกมา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรนะ เพราะอะไร เพราะเรายังไม่มีพื้นฐาน เรายังไม่มีหลักพอ

บางคนไม่ใช่อย่างนั้นนะ บางคนเห็นว่ามันดันออกมาแล้ว ก็ว่า อู้ฮู นี่คือนิพพาน อู้ฮู กอดมันเลยนะ บางคนเข้าใจผิดได้ บางคนเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ผิดๆ ก็เยอะ แต่อารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ มันไม่มีค่าให้ เพราะมันไม่มีชื่อ

๑. ไม่มีชื่อ

๒. ยังไม่เสวย ยังไม่เข้ากับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันยังไม่ได้อาศัยขันธ์ ๕ ออกหาเหยื่อ เพียงแต่เป็นพลังงานเพรียวๆ ที่มันดันออกมา แต่ไม่มีใครรู้ได้ !

แล้วเรารู้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา คนอื่นรู้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา นี่มันเป็นปัจจุบัน

“ปัจจุบันคือต้องให้จิตนั้น ! บุคคลนั้น เห็นความชั่วของตัวเอง !”

นี่เราตอบ อ้าว เขาตอบว่าอย่างไร

คณะโยม : (ไม่สามารถได้ยินเสียง) …มันก็เลยบวกไป คือมันมากกว่า

หลวงพ่อ : ประสาเรา คือ มันออกมาโดยยังไม่เสวย นี่ไงที่ว่าจิตเสวยอารมณ์ !

จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต มันเหมือนกับเครื่องยนต์ไง เราสามารถถอดมาบำรุงรักษาได้ แต่ถ้าเราไม่เห็นเครื่องยนต์นะ เครื่องยนต์เป็นเครื่องยนต์สำเร็จรูป เราก็แกะเครื่องยนต์ไม่ได้

จิต ความคิดที่เกิดขึ้น มันสมบูรณ์โดยอารมณ์ มันเป็นรูป สมบูรณ์โดยอารมณ์ โดยขันธ์ ๕ ถ้าเราจับได้ปั๊บเราแยกส่วน แยกส่วนเราก็แยกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ขยายส่วน คือเราขยายเครื่องยนต์ เราแกะ เราถอดส่วนประกอบมันออก

ถ้าเราถอดส่วนประกอบมันออกมาได้ เราจะเห็นเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราจะเห็นขันธ์ ๕ เลย แต่ถ้ายังไม่เห็นนะ มันก็เป็นอย่างนี้ จับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันเหมือนกับพลังงานที่เกิดจากเครื่องยนต์ไง กำลังที่มันออกมา มันดันออกมา แต่มันยังไม่เสวย

“ต้องเห็น ต้องรู้” ถ้าจิตสงบ ทำไป ขยันไป ประสาเราเลย เราชอบเปรียบเรื่องหมอ ประสาเราว่าเหมือนหมอเลย หมอเขาวินิจฉัยโรคไงว่าเป็นโรคอะไร แต่เราไม่รู้เพราะว่ามันไม่แสดงตัว

จบแล้ว อ้าว.. มีอะไรล่ะ

คณะโยม : ก็ที่เคยถามกันไว้ หลวงพ่อจะให้ตอบหรือเปล่าครับ ที่หลวงพ่อถาม

หลวงพ่อ : ตอบสิ อ้าว ว่ามา

คณะโยม : มันยาวนะ

หลวงพ่อ : เอาเลย ให้มันจบ ถ้ามันไม่จบมันก็คากันอยู่อย่างนี้

คณะโยม : ก็อันนี้ตามความเข้าใจผมนะครับไม่ใช่ว่า คือกลัวเดี๋ยวเขาจะหาว่าเอาไปพยากรณ์

จริงๆ แล้วโสดาบันนี่ ถ้าสงเคราะห์ลงไป มันจะเป็นสังโยชน์ ๓ เบื้องต่ำ สังโยชน์เบื้องต่ำ ถ้าเราเกิดอยากดูความต่างของโสดาบันกับปุถุชน นี่เราต้องปฏิโลม คือดูความต่าง คือถอยกลับไป สีลัพพตปรามาส ก็คือเราไม่ได้ถือศีลแบบลูบคลำ โอเค อันนี้ทุกคนเข้าใจ ไม่มีความลังเลสงสัย แล้วก็ละอัตตาตัวตนได้ แล้วทีนี้มันจะต่างกันตรงที่ว่า โสดาบันนี่สามารถจะรับฟังทั้ง ๒ ฝ่ายได้ คือแบบเข้าใจกันง่ายๆ รับฟังกันทั้ง ๒ ฝ่ายได้เข้าใจ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เขาไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่า ไอ้นี่หรือเปล่า

หลวงพ่อ : จบแล้ว ไม่ใช่ ! อันนี้เป็นอารัมภบท เป็นผลของมัน มันสรุปตรงที่ขาดตรงไหนเลย จิตมันขาดอย่างไร จบตรงนั้น !

มันเหมือนกับเราปิดก๊อกน้ำไง ถ้าเราปิดก๊อกน้ำแล้วน้ำก็ไม่ไหล แต่นี่เราเปิดก๊อกน้ำไว้ แล้วเราก็บอกว่าน้ำไปถึงอเมริกา แล้วก็ไล่เข้ามา โอ้โฮ กูปวดหัว

ไอ้น้ำมันไหลไปไหนนี่ช่างมัน แต่ไอ้ก๊อกนี่มันเปิด-ปิดอย่างไร

คณะโยม : ไม่รู้ว่าอะไร แต่มันรู้แค่ว่า “เออ เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว” ไม่รู้ว่าอะไร รู้แค่นั้นแหละ

หลวงพ่อ : นี่จบแล้ว เพราะว่าไอ้จบหมายถึงว่า เพราะว่าเขาบอกว่ามันเป็นผลใช่ไหม ทีนี้ผลนี่มันต้องมีเหตุผลรองรับ มีเหตุผลรองรับนะ มันเป็นอย่างนี้ก็เหตุผลรองรับทางวิชาการ เหตุผลรองรับในอะไรนะ เนาะ ใช่ไหม แล้วเหตุผลมันเป็นอย่างนี้ใช่ไหม

ที่เราคุยกันนี่เราจะดูว่ามันมีค่ามากน้อย จริงแค่ไหน ฉะนั้นถ้าเหตุผลอย่างนี้ปั๊บ ก็เป็นเหตุผลทางเทียบเคียงมา ก็เป็นแบบว่า ถ้าพูดถึงทางปัญญาก็ตทังคปหาน คือพิจารณาของจิตนั้นไป ทีนี้เพียงแต่ว่าเราจะเซ็ทเลย เซ็ทระบบเลยว่า “โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี” จบแค่ไหน ตรงไหน ! ตรงไหน ! ถ้าเราเซ็ทระบบตรงนี้ไม่ได้ จบ !

เพียงแต่ว่าอธิบายอย่างไรก็ว่ากันไป เพียงแต่ว่าเราพยายามจะสร้างฐาน แล้วเราพยายามจะทำตัวให้เราดีขึ้นมาเนาะ จบ !