เทศน์เช้า

ดูกาย

๗ ก.พ. ๒๕๔o

 

ดูกาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมะดีหมด แม้แต่จริตนิสัย ความเห็นไง ไม่อย่างนั้นเวลาเราพูดนะ เราพูดอย่างหนึ่ง แล้วมันเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ด้วย ถ้าพระพุทธเจ้าพูด เวลาที่พระพุทธเจ้าว่า “เข้ากันด้วยธาตุไง” อย่างเช่น ลูกศิษย์พระสารีบุตรจะเป็นปัญญาหมดเลย ลูกศิษย์พระโมคคัลลานะจะมีฤทธิ์หมดเลย แล้วลูกศิษย์เทวทัตก็เป็นเหมือนเทวทัตหมดเลยเหมือนกัน

“เข้ากันด้วยธาตุไง เข้ากันด้วยธาตุ”

คำว่าเข้ากันด้วยธาตุคือความชอบไง เพราะฉะนั้นอันนี้มันถึงว่าไม่ว่ากัน ทางใครทางของคนนั้นนะ เข้ากันด้วยความชอบ

ฉะนั้นเวลาเราฟังเทศน์ เช่น เมื่อก่อนเราฟังเองนะ เราเข้าใจ พอหมู่คณะพูดกันว่า ในหลวงฟังเทศน์ของหลวงปู่ฝั้นแล้วชอบมากเลย หลวงปู่ฝั้นเทศน์นิ่มนวลมาก เห็นไหม “พุทโธ... พุทโธสว่างไสว” แล้วเราไปอยู่ที่นั่น แม้แต่พวกเชียงใหม่มา พวกอะไรมา พอได้ยินเสียงท่านเท่านั้น มันเย็นนะ มันชื่นใจ ไม่ต้องไปเอาเนื้อความหรอก เอาแค่น้ำเสียงนี่ โอ้โฮ!! ชื่นใจมากนะหลวงปู่ฝั้นนี่นะ พูดออกมา โอ้โฮ!! คนนี่จะชื่นใจหมดเลย “พุทโธสว่างไสว... พุทโธผ่องใส...” พูดช้ามาก แต่พูดเอื้อน คนฟังแล้วมันจะชื่นใจ

แต่พอเรามาฟังของอาจารย์มหาบัว โอ้โฮ!! มันจะมีเนื้อหาสาระ แล้วก็พั้บๆๆ ไป แล้วเราก็มาคิดไง มาดู อ้อ... อ้อ...มันเป็นจริต ๖ สัทธาจริต พุทธจริต โทสจริต กามจริต ใช่ไหม กามวิตกพวกนี้ เอาอะไรแก้ แล้วอย่างเช่น ที่เราว่านักศึกษาเรียนกันอยู่นี่ “พุทธจริต” ต้องเอาเหตุผลมาว่ากัน ถ้าไม่เอาเหตุผลมาว่ากันแล้วไม่ยอม ถ้าเหตุผลก็ต้องเทศน์เหตุผลไง พอเทศน์เหตุผลมา เราก็อ๋อๆ มาไง

พุทธจริตต้องเหตุผลอย่างเดียว แต่เหตุผลของโลกก็เป็นเหตุผลของโลกนะ เพียงแต่พยายามจะเทียบมาให้ดูก่อน ถึงบอกว่า ไอ้นี่มันเป็นจริต ไม่ว่ากัน เพราะถ้าอ่านกันมามากแล้วก็ต้องมาพิจารณาเอา

ธรรมะ ก็อย่างที่ว่า ธรรมะเหมือนกับใบไม้ในป่าและใบไม้ในกำมือ ทีนี้เวลาความเห็นถึงจะปล่อย ความเห็นของคนที่เกิดมานี้มันปล่อย อย่างเช่น บางอย่างพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกแล้วยังไม่มีใครสามารถทำได้ แล้วพระมาทำได้อย่างนี้ มันก็มายืนยันกับธรรมะว่า ธรรมะอันนี้ยอด เห็นไหมของแท้ไง ผู้ที่ทำได้

“ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะเห็นธรรมตลอด”

ธรรมของพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว แต่บางทีเราไปปฏิบัติแล้วอันนั้นไม่มีจะทำอย่างไร มาถึงตรงนี้ ตรงที่แบบว่า ไม่มีก็ไม่เป็นไร เหตุการณ์คือว่าความเป็นไปของจิตเป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นประโยชน์ไหม ธรรมะตรวจสอบได้นิดเดียว ง่ายๆ เลย มักน้อยสันโดษเป็นไปตามธรรม มักมากนะ เป็นการคลุกคลี ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! เป็นทางเลือก

มักน้อยสันโดษเพราะอะไร ? เพราะว่าเป็นปัจจัตตังใช่ไหม รู้จำเพาะตนใช่ไหม ? แล้วตนมันรู้อยู่ว่าอะไรเป็นโทษอะไรเป็นคุณไง ข้างนอกทุกอย่างเป็นโทษใช่ไหม เอาออกไปมันเป็นโทษ แต่ถ้าหันกลับมามันก็เป็นคุณ

สิ่งที่ว่าแก้วแหวนเงินทอง ทุกอย่างมันไม่ใช่โทษนะ ตามหลักแล้วมันก็เป็นก้อนอิฐก้อนทรายอันหนึ่ง แต่เราให้ค่ามันต่างหาก เราถึงไปแย่งกัน แล้วก้อนอิฐก้อนหิน แก้วแหวนเงินทองนี้มันไปสวรรค์หรือเปล่า ? มันไปหรือเปล่า ? ไม่ได้ไป มันไม่ได้ไป มนุษย์ต่างหากที่ไป จิตใจที่ไปเกาะเกี่ยวมันต่างหากไป เห็นไหม

ถึงบอกว่า วัตถุนี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีโทษหรอก คือว่ารูป รส กลิ่น เสียง มันเก้อๆ เขินๆ ของมันอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าจิตเราดีแล้วล้วนเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แต่ถ้าจิตยังไม่ดี แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองไง ต้องให้เป็นแผ่นดินธรรมก่อน ถ้าเป็นแผ่นดินทองแล้วมันจะแบ่งทองกันเสมอภาคไหม

ถ้าเป็นแผ่นดินทองก่อนนะ ยังไม่เป็นแผ่นดินธรรม มันฆ่ากันก่อน มันแย่งทอง เขาถึงว่า “ต้องเป็นแผ่นดินธรรมก่อนหรือเป็นแผ่นดินทองก่อน”

บางคนบอกว่า “ต้องเป็นแผ่นดินทองก่อน” พยายามทำให้มันเจริญก่อนไง ต้องให้มันเจริญเป็นแผ่นดินทองก่อน แล้วจึงจะเป็นแผ่นดินธรรม เพราะคนมีกินมีใช้แล้วคนจะเมตตากัน

แต่ถ้าทางธรรมบอกว่า “ต้องเป็นแผ่นดินธรรมก่อน” แผ่นดินธรรมเกิดมาแล้วพอมีทอง มันจะได้แบ่งกันพอสมควร ไม่อย่างนั้นมันจะแย่งกันนะ มันไม่พอหรอก ทรัพยากรมันไม่พอ พวกวัตถุจริงๆ แล้วมันไม่ได้ให้โทษให้คุณกับเราเท่าไหร่หรอก มันให้แต่ความสะดวกสบายไง

ความสะดวกสบายไม่ใช่ความสุขแท้ ความสะดวกสบายกับความสุขใจต่างกัน บางคนอยู่บนความสะดวกสบาย เช่น อย่างเครื่องบิน มันไปได้ตลอดเลยเห็นไหม เรานั่งเครื่องบินจะไปไหนสะดวกหมดเลย แต่คนมันนั่งบนเครื่องบินมันทุกข์ไหม ? คนอยู่ในเครื่องบินก็มีความทุกข์จริงไหม ?

ความสะดวกสบายกับบุญกุศลคนละอันกัน แต่วัตถุให้ได้แค่ความสะดวกสบาย กับศีลธรรมเห็นไหม จริยธรรมศีลธรรมให้อะไรได้ ให้ทำคุณงามความดี แต่คุณงามความดี

“ติดดีไหม”

“ติด”

“ติดดีแล้วแย่งกันไหม”

“แย่ง” เห็นไหม อย่างเช่น ตำแหน่งมีตำแหน่งเดียวนี่

“เบียดขึ้นไปไหม”

“เบียด”

ฉะนั้นถึงบอกว่า”ติดดี” ข้ามพ้นดีและชั่วไง ดีก็เห็นด้วย เห็นว่าดีไง มันถึงว่า พอเรามีพรหมวิหาร๔ เห็นผู้อื่นเจริญงอกงามต้องเห็นดีเห็นงามกับเขาไปด้วยไง แต่พอมันมีความขัดใจมันก็เห็นไปไม่ได้ เห็นไหม

นี่จะพูดว่า นี่เป็นการพิจารณาแบบโลกไง กายนอกกายในไง การเห็นกายนอก การพิจารณาภายนอกเพื่อให้ใจมันสงบ ใจไม่สงบเพราะว่ามันฟุ้งซ่านไปเอาวัตถุ อยากได้วัตถุนะ เสียงก็เป็นวัตถุ รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นวัตถุหมด เสียงเป็นวัตถุนะ แม้แต่จิตก็เป็นวัตถุ จิตนี้เป็นรูปของจิต มันออกไปเอาตรงนั้นหมดเลย ถึงว่ามันเป็นกายนอกไง

การพิจารณากายนอกหรือการพิจารณาต่างๆ เริ่มต้นเราพิจารณากันอยู่อย่างนี้ เราเข้าใจว่าเราพิจารณา แต่อันนี้เป็นการพิจารณาเพื่อให้จิตมันสงบเข้ามาเป็นจิตสงบไง พอจิตสงบแล้วมันถึงจะเห็นกายใน การพิจารณาการใคร่ครวญ กิเลสมันอยู่ที่กายใน คือว่ากิเลสอยู่ที่ใจ ทำไมอยู่ที่กายใน ? อยู่ที่กายในเพราะใจนี้มันติดที่กาย พอเห็นกายในได้ต้องปรับจิตนี้ให้เห็น หักเข้ามาไง เห็นกายในคือดวงตาเห็นกาย ตาในคือตาธรรม

แต่ถ้าพิจารณาภายนอก มันเป็นการพิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอก ต้องพิจารณาก่อน ถ้าไม่พิจารณามันก็เหมือนกับเราติดไปหมดเลย เช่น เราจะถือศีลหรือว่าเราไปเที่ยวทางประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร แถวสุโขทัย วัดโบราณ ก่อนเข้าโบสถ์เขาจะมีห้องน้ำ ต้องอาบน้ำชำระร่างกายก่อน

นี่ก็เหมือนกัน เราชำระร่างกายขึ้นมาก็ชำระสิ่งแวดล้อมภายนอกก่อน ให้จิตมันสงบ ให้สมควรแก่งานภายในไง ต้องทำจิตให้สงบ เพราะจิตสงบแล้วมันถึงจะเห็นกายภายใน

ถ้าเห็นกายนอก มันก็เพียงแต่ว่า ละรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก ต้องละรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกก่อน ถ้าไม่ละรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก เห็นกายนอกมันก็เหมือนกับที่เราเห็นๆ กันอยู่อย่างนี้ เห็นกันอยู่ข้างนอก เห็นกายนอกไง เวลาเห็นกายนอก ก็เราไปโรงพยาบาล เห็นไหม เห็นกายนอกมันเห็นความเจ็บไข้ได้ป่วยมันปล่อยเลยกายนอก

กายนอกหมายถึงกายคนอื่น กายนอกหมายถึงว่าพ้นจากกายเราไป เพราะธรรมชาติมันส่งออกหมด แล้วทำให้มันสงบ แล้วหันกลับเข้ามามันถึงจะเห็นกายใน ถ้าไม่อย่างนั้นเห็นไม่ได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น

มันเหมือนแง่เดียวเลย จิตนี้รับอารมณ์ได้หนึ่งเดียว ขณะที่มันรับอารมณ์เสพอารมณ์อยู่ข้างนอก มันเสพมันกินอารมณ์อยู่ข้างนอก มันจะไม่กินอารมณ์ภายใน มันจะหันกลับมากินอารมณ์ภายในไม่ได้ เหมือนเรา โทษนะ เรากินข้าวอยู่ ข้าวเต็มปากอยู่เราจะไปกินข้าวอีกคำได้ไหม ต้องกลืนข้าวนี้ให้ปากนี้ว่าง เราจึงจะได้กินข้าวคำที่ ๒ เข้าไป ใช่ไหม

ถ้าจิตนี้กำลังพิจารณาอยู่ภายนอก มันก็เหมือนกับจิตมันเสวยเต็มที่ของมันอยู่แล้ว เราต้องทำจิตให้สงบไง สงบแล้วค่อยมาดูกายภายในไง สงบแล้วถึงจะเห็นกายภายในไง เพราะมันสงบ พอมันสงบมันก็กว้างใช่ไหม ในปากกว้าง ถ้าพ้นจากอาหารคำนั้นจะมีคำต่อไป คำต่อไป จะเกิดหรือไม่เกิด (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)