เทศน์เช้า

โลกแค่ฉากหนึ่ง

๒๑ ก.พ. ๒๕๔o

 

โลกแค่ฉากหนึ่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ไม่พูดก่อน หรือไม่พูดให้ฟังบ้างก่อนนี่ ทำแต่สักแต่ว่าทำกันไง เราเห็นใจมากนะ อุตส่าห์มา อุตส่าห์เจียดเวลามา เวลาเป็นของมีค่าทั้งวัน แล้วเรามาทำกันสักแต่ว่านี่ มันจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฉะนั้นก็ต้องพูดไว้ก่อนทีหนึ่ง ให้ตั้งใจปั๊บ แล้วเดี๋ยวเวลาตั้งใจทำ ว่าวันนี้วันมาฆะไง มาฆบูชา เป็นวันสำคัญของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดพระอรหันต์ ลูกศิษย์ มันเป็นการรวม เป็นเหตุการณ์ มันเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุก ๆ องค์ที่จะมีอย่างนี้ต่อละ ๑ ครั้ง

เหมือนกับเราทางบ้าน พ่อแม่ใครก็แล้วแต่ ลูกประสบความสำเร็จแล้วกลับมาหา มาชื่นชมสมบัติ นี่ก็เหมือนกันว่าเอหิภิกขุไง ไม่ใช่พระที่ว่าบวชทั่วไป พระที่พระพุทธเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ เป็นผู้บวชให้ เอหิภิกขุก็เหมือนกับลูกในไส้ นอกนั้นก็เป็นหลาน เป็นอะไรไป ก็เป็นลูกพระพุทธเจ้าทั้งหมด แต่แบบว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้บวช แต่บวชในสังคมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งกติกาไว้ สังคม สังฆะ จตุตถกรรม หมายถึงว่าบวชด้วยญัตติ

แต่เอหิภิกขุนี่แบบว่า บวชกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเลย แล้วบวชเสร็จแล้วออกไปประพฤติปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ แล้วยังมีอีกนะ แต่ชุดนี้ที่กลับมานี่ กลับมาจาตุรงคสันนิบาต วันนี้มายืนยันว่าพระพุทธเจ้าสอนเป็นหลักความจริง ฟังนะ หลักความจริงว่า ผู้ที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไปประพฤติปฏิบัติก็ได้สมบัติ ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นถึงนิพพานนะ มีความสุขในใจจริงไง

มันยืนยันกัน เห็นไหม เห็นว่าเป็นสั่งสอนไป ตัวเองรู้จริงแล้ว พระพุทธเจ้ารู้จริงแล้ว ถ้าไม่สั่งสอนให้คนปฏิบัติตามให้เห็นจริง มันก็ว่าพระพุทธเจ้าพูดองค์เดียว ไม่มีพยาน แต่นี่เป็นผู้บวชให้ด้วย แล้วออกไปปฏิบัติ แล้วปฏิบัติสำเร็จแล้วเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แล้วกลับมากราบพระพุทธเจ้า มาสโมสรสันนิบาตวันนี้ นี่มันยืนยันไงว่าอันนี้เป็นหลักความจริง เป็นความสุขที่แท้จริง

เราเป็นชาวพุทธเราคิดถึงตรงนี้ไง ว่าครูบาอาจารย์ศาสดาของเรานี่ เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว พระสาวกในครั้งพุทธกาลนั้นสิ้นกิเลสแล้ว กิเลสมันคือตัวแย่ง แย่งเอาความสุขในหัวใจของเราไป กิเลสตัวบีบบี้สีไฟใจเราไง หัวใจเราเป็นทุกข์อยู่นี่ก็เพราะว่าไอ้ตัวนี้ แล้วมีผู้ที่ทำเสร็จแล้ว ศาสดา แล้วครูบาอาจารย์เราเป็นผู้ที่พ้นไปแล้ว แล้วเรามานี่ นี่เดี๋ยวมันจะเข้าตรงนี้ ตรงที่ว่าเรามาเวียนเทียนกันเพื่ออะไร?

เพราะว่าเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม พระอรหันต์นี่เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นรัตนะ เป็นแก้วสารพัดนึกเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นแก้วสารพัดนึกของชาวพุทธ แล้วเรามาน้อมนึกถึงแก้วสารพัดนึก เราก็นึกสิ เราต้องน้อมแล้วเราต้องนึก อธิษฐานขอให้เป็นความสมปรารถนาของเราที่ผลบุญผลกรรมของเราสร้างมา เราไม่เคยทำมา เราจะไปนึกไปคิดมันก็ไม่ได้

แต่เรานึกมาไง นึกว่านี่แก้วสารพัดนึกของเราใช่ไหม เรานึกแล้วเราปรารถนา แล้วเราก็ตั้งเป็นเป้าหมาย เห็นไหม อธิษฐานบารมี บารมีของชาวพุทธ บารมี ๑๐ ทัศของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา กว่าจะสำเร็จได้ก็ตั้งปณิธานเอาไว้แล้ว เห็นไหม เป็นพุทธภูมิแล้วก็สร้างสมบุญกุศลมา เราเป็นสาวก เราเป็นผู้เดินตาม เราอยากมีความสุข เราก็ตั้งปรารถนาความสุข ไม่ต้องถึงนิพพาน เอาความสุข เห็นไหม

แล้วเราก็พยายามบังคับตัวเราให้เข้าในกระแส หรือในที่เราต้องการไว้ การบังคับนี่ก็การเบียดเบียนกับกิเลสไง กิเลสคือความเคยใจ มันจะนอนตื่นสาย มันจะนอนเล่น มันจะทำตามใจ มันจะเที่ยว มันจะไม่ยอมทำงาน นี่คือกิเลส อยากเป็นคนดีนี่ เราก็เชื่อ พระพุทธเจ้าบอก “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว” อยากเป็นคนดี เราก็ทำความดีนี่เราก็เบียดเข้าไปแล้ว เห็นไหม เราก็เริ่มเข้าไปขัดเกลา เข้าไปเบียดให้กิเลสมันอ่อนตัวลง หรือว่าไม่ให้มันมีอำนาจเหนืออยู่ตลอดเวลา เราสามารถยับยั้งมันได้ สามารถที่จะแบบว่า ถึงจะสิ้นไม่ได้ก็ยับยั้งมันก่อน

นี่เราปรารถนาอย่างนั้น แล้วปรารถนาเอาอะไรเป็นเป้าหมายล่ะ? ก็พระพุทธเจ้านี่ไง เห็นไหม พระพุทธเจ้า แล้วสาวกที่ปฏิบัติ นี่วันนี้ยืนยันเลย ๑,๒๕๐ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด บริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งหมดเลย เป็นผู้ที่พ้นจากกิเลส มีความสุขในหัวใจเต็มเปี่ยม แต่พวกเรามันชาวทุกข์ ทุกข์เต็มหัวใจเหมือนกัน ท่านเป็นผู้ที่พ้นไปมีความสุขเต็มหัวใจเลย เรามีความทุกข์เต็มหัวใจเลย แต่เราก็ไม่ใช่คนมือเท้าอ่อนไง ไม่ใช่คนนอนจะให้กิเลสมันเหยียบย่ำตลอดไป เราถึงว่าเราต้องต่อสู้ เราต่อสู้ เราไม่มีกำลังใจ เราไม่มีความสามารถ เรายังมืดมนอยู่

นี่มันถึงว่านึกถึงเวียนเทียนไง เรามาเวียนเทียน ดอกไม้ธูปเทียนระลึกถึงไง ระลึกถึงนี่ หัวใจมันเปิดแล้วนะ ถ้าเราไม่เคยนึกเลยก็เหมือนกับในน้ำนี่ น้ำมันโดนจอกแหนบังไว้หมดเลย อยู่ปกติโลกเขานี่บังไว้หมดเลย แต่พอเราออกมานี่เราแหวกจอกแหนออก เราเห็นน้ำ เรานึกถึง ความนึกนี่มันก็เบียดออกมา ความนึกความคิดไง ความนึกออกจาก นึกบุญนึกกุศล นึกถึงพระพุทธเจ้า เห็นไหม มันนึกคนละนึกกับเรานึกอยู่ที่บ้าน อยู่ที่บ้านเรานึก เรานึกอะไร? เรานึกว่างานการของเรา เห็นไหม แต่พอเรานึกออกนี่ มันแหวกออก แหวกออกจากความคิดเดิม

นี่ถึงว่ามันจะเป็นบุญกุศลตรงนี้ไง ตรงที่ว่าให้หัวใจอันนี้เชื่อมต่อไปถึงความสุขของพระพุทธเจ้า เชื่อมต่อไปถึงสาวกไง เชื่อมต่อถึงรัตนตรัย ความที่เป็นประโยชน์ของเรานี่ เราเชื่อมต่อตรงนั้น เอาใจนี่เชื่อมต่อ กระแสของใจ กระแสของบุญ เขาบอกว่า “โลกนี้คือละคร” ฟังนะ โลกนี่คือละคร เขาว่าอย่างนั้น แต่ความจริงถูกส่วนเดียว ไม่ถูกทั้งหมด วัฏวนต่างหากเป็นละคร วัฏฏะไง กามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏวน กามภพ ผู้ใหม่จะงงหน่อยนะ

วัฏฏะหมายถึงว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏวนนี้เป็นละคร ไอ้แค่มนุษย์นี้เป็นฉากหนึ่งของละคร มนุษย์เรานี่ มนุษย์สมบัตินี่เป็นฉากหนึ่งของละครนะ ไม่ใช่โลกนี้คือละคร โลกนี้เป็นฉากหนึ่งของละคร เราเคยทำความดีมาเคยทำความชั่วมา มันถึงส่งผลมาให้มาเป็นปัจจุบันนี้ไง มันต้องมีผลมาให้เรามาเจอสภาพแบบนี้ ไม่ใช่มาเจอโดยบังเอิญ บังเอิญไม่ได้ มันต้องมีการขับเคลื่อนมา แรงขับเคลื่อนส่งมา แล้วเรามาถึงตรงนี้จะมีแรงขับเคลื่อนส่งเราไป เห็นไหม ว่าวัฏฏะเป็นละคร ไม่ใช่โลกละคร บุญกุศลมันถึงจะมีผลตรงนี้ไง

นี่ถ้าเราเวียนเทียน เรานึกถึงให้ใจมันเข้าอยู่ในกระแส การเดินไป การเวียนไป จิตนี้ต้องออกไปนี่มันยังอีกยาวไกล แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันถึงได้เป็นประโยชน์กับเราไง พบพุทธศาสนาด้วย แล้วศาสนาสอนถึงวัฏฏะและวิวัฏฏะ แล้วหักออกจากวัฏสงสารนี้ได้ด้วย นี้มันยังวนไป แล้วถ้ามองแต่ปัจจุบันนี่ทุกข์นะ ทุกข์มาก ทุกข์แล้วไม่มีทางออก

เราต้องมีทางออก ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง พอทุกข์มันดับไป มันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ พอทุกข์ดับความสุขก็เกิดขึ้น ความสุขความพอใจเกิดขึ้น แต่เราไปอยู่กับความทุกข์ ไปจมอยู่กับความทุกข์ แล้วโดยไม่แก้ไขนี่ อันนั้นผิด เพราะอะไร? เพราะทุกข์นี้เป็นความจริง เราต้องสาวไปหาเหตุที่ให้เกิดทุกข์สิ สมุทัยทำให้เกิด เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่ตัวทุกข์นี้ ทุกข์นี้เป็นผล เราสาวไปหาเหตุ เราไปแก้ที่เหตุนั้น

นั่นอริยสัจ ความจริงที่พระพุทธเจ้าสอน ทีนี้ปัจจุบันนี้มันก็เป็นทุกข์ ทีนี้พอเราไม่เข้าใจ เราก็กำอยู่กับปัจจุบันไง เราอยู่กับปัจจุบันนี้แล้วเราไม่ขยับออก มันก็เลยแบบว่าเศร้าหมองกันอยู่อย่างนั้น เศร้าหมองส่วนเศร้าหมองมันเป็นผล ผลอันนี้เพราะเราสร้างมา เราขยับออกไปสิ ขยับออกไป ๆ อย่างเช่นที่ว่านี่ ใจมันนึกออก ๆ เป็นได้ มีมืด มีสว่าง มีทุกข์ต้องมีพ้นทุกข์ มีความเศร้าหมองมันต้องมีผ่องใส มันวนไปตลอด ไม่มีอะไรคงที่ ถึงมันผ่องใสอยู่เดี๋ยวมันก็จะเศร้าหมอง

นี้เราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราถึงพาชีวิตเราไปได้ไง พาชีวิตเราไปจนไม่ถึงกับจนตรอกนัก ชีวิตปัจจุบันนี้ไม่ให้จนตรอกนัก ชีวิตนี้ให้มันเป็นไปได้ไง ชีวิตนี้ให้มันเคลื่อนไปได้ เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาอยู่ท่ามกลางของความทุกข์ มันเป็นความจริง มันเป็นความจริงอยู่ แต่เราจะทำอย่างไรให้อยู่ในทุกข์ด้วย แล้วพ้นทุกข์ไปได้ด้วย แล้วเราเอาอะไรเป็นที่พึ่ง

ทีนี้เรามันคนมืดไง คนมืด คนตาบอด คนตาบอดต้องเชื่อคนตาดี พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว เข้าใจหมด ทำดีต้องได้ดี แล้วเราทำความดีนี่ทำไมมันไม่ได้ดี ทำความดีทุกข์ขนาดนี้ ทำความดีอยู่แล้วนี่ ต้องได้ดี ต้องได้ดีเด็ดขาด ที่มันยังไม่ได้ดีอยู่นี่เพราะมันยังให้ผลไม่ถึงจังหวะของมัน จังหวะยังไม่มาถึงเราก็ต้องยอมรับก่อน ยอมรับนะ ยอมรับแต่ไม่ใช่ยอมรับแบบยอมจำนน ยอมจำนนอย่างหนึ่ง ยอมรับอย่างหนึ่ง ยอมรับที่ว่าจะออกไปให้ได้ จะเอาตัวเราออกไปให้ได้ มีวิธีออก เดี๋ยวจะพูดอีกรอบหนึ่ง เอาง่าย ๆ ก่อน กลัวถ้าพูดไปมันมากเกินไปแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ

เราว่าวิวัฏฏะ วัฏฏะนี่งงแล้วล่ะ มันเป็นศัพท์พระ มันต้องเป็นศัพท์พระตลอด ศัพท์โลกมันไม่มี ศัพท์โลกถ้าเกิดเราไปใช้ศัพท์โลกนะ แล้วพอมันเคลื่อนไป ศัพท์โลกนี่ความหมายมันเปลี่ยนทุกวัน แล้วเดี๋ยวอันนี้ก็เลยกลายเป็นว่าคนคุยธรรมะจะตีกันเอง ฉะนั้นเวลากลับมา เวลาพูดถึงหลักเกณฑ์แล้วต้องกลับมาตรงนี้ ตรงภาษาบาลีนี้ ภาษาพระนี้ไม่ให้เคลื่อนออก เป็นบัญญัติไง โลกนี้เป็นสมมุติ ทุกอย่างสมมุติขึ้นมาหมด ศัพท์ก็สมมุติ สมมุติขึ้นมา แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติมาให้ทับสมมุติไง

อย่างเช่นนี่ คน พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกว่า มันเป็นที่รวมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชี้มาตรงไหนเป็นคน ชี้มาสิ แขนมันไม่ใช่คน หัวไม่ใช่คน สมอง...อะไรเป็นคน แต่รวมเราแล้วเป็นคนนี่คือสมมุติ รวมลงทั้งหมดแล้วชี้ลงไปตรงนี้เป็นคน นี่สมมุติ เห็นไหม พระพุทธเจ้าบัญญัติมาให้ทับสมมุติไง ไม่ให้ติดในสมมุติ บัญญัติทับไปอีกทีหนึ่ง แล้วว่าสมมุติบัญญัติ เพราะอย่างนั้นเวลาพูดถึงคำพระคือคำที่บัญญัติขึ้นมา บัญญัติขึ้นมาให้มันแคบเข้ามาไง ให้มันสื่อกันเข้าใจ ให้มันง่ายขึ้น ไม่ให้มันมากเกินไปนัก ถ้ามันเป็นพูดภาษาโลกไปมันก็จะออกไปสมมุติหมดเลย สมมุติซ้อนสมมุติ แล้วเราก็อยู่ในสมมุติ แล้วเราก็หลงไปเลย

นั่นถึงว่าบางทีไม่เข้าใจ ต้องพยายามทำความเข้าใจ เพราะอันนี้เป็นสมบัติประเสริฐ สมบัติที่เข้าถึงหัวใจ สมบัติที่ทำให้เรามีความสุขแท้ ไม่ใช่สมบัติที่ว่าสมมุติสมบัติ สมบัติที่สมมุติเราหามาเท่าไรก็แล้วแต่มันก็อยู่ที่โลกนี่ ไม่ได้ไปเลย พระพุทธเจ้าสอนนะ บ้านนี้ไฟไหม้อยู่ ใครขนของออกจากบ้านได้เท่าไร ทรัพย์สมบัติที่ขนออกได้นั่นคือสมบัติของเรา ถ้าบ้าน (เทปขัดข้อง) แล้วเราได้อะไรขึ้นไปล่ะ

นี่ที่ว่าขนออกก็ขนออกอย่างนี้ ใครจะขนออกทางไหน ขนออกได้หมด จะให้ใครก็ได้ ขนออกไป ๆ ขนออกไปแล้วมันถึงเป็นสมบัติของเราไง พอขนออกไปนี่มันเป็นวัตถุ วัตถุให้กันไป แต่หัวใจเราเป็นผู้ที่สละออก คนที่สละออกมันเห็น มันเห็นมันก็พอใจสิ การเห็นนั้นคือว่ามันซับลงที่ใจ การเห็นนั้นมันเป็นทิพย์ มันจะแปรสภาพเป็นทิพย์ไง เป็นทิพย์หมายถึงว่ามันฝังลงที่ใจ

นี่ถึงว่าใจมันกินตรงนี้ กินความรู้สึกอันนี้ มันไม่กินวัตถุ ไม่กินสมบัติสมมุติ มันกินสมบัติแท้ สมบัติแท้มันลงที่ใจ ฝังลงที่ใจ ไอ้สมบัติข้างนอกนั่นเป็นสมบัติสมมุติ แล้วเราจะเอาอะไรเท่านั้นน่ะ นี่ชาวพุทธสอนอย่างนั้น เราจะปล่อยให้มันไหม้ไปหมดเหรอ? ถึงว่าพบสิ่งที่ประเสริฐน่ะประเสริฐจริง ๆ ประเสริฐถ้าเราเข้าใจ มันประเสริฐมาก มันสูงมาก มันละเอียดมากจนเราจับต้องกันไม่ได้ เราไม่ชอบ เราชอบจับต้องของที่เป็นวัตถุไง

ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร เวลาทุกข์ขึ้นมานี่ แก้วแหวนเงินทองเอามาถมที่ตัวเลย เราทุกข์ขนาดไหนนะ เอาเพชรนิลจินดามาถมที่ตัวเราเลย แล้วถามสิเราสุขไหม? เราก็ว่าเราทุกข์ เพราะหัวใจมันทุกข์ เวลามันทุกข์มันสุขจริง ๆ มันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่แก้วแหวนเงินทองอันนั้นหรอก แต่มันแสวงหาไปนั้นมันเป็นปกติ เพียงแต่ว่าไม่ให้หลงจนลืมตัวเอง หลงจนมองข้ามตัวตนของตัวเองไง ตัวตนของตัวนี่มีค่าที่สุดไม่ได้มอง ไปมองเงินในบัญชี ไปมองเงินในธนาคารว่ามีค่า เราดับปุ๊บ เงินในบัญชีนั่นเป็นของใคร? เงินในบัญชีจะมีค่าเพราะมีเรา เราเป็นเจ้าของมัน เราตายตูม ต้องไปฟ้องก่อนนะ ต้องไปฟ้องศาลขอเป็นทายาทรับมรดก แล้วเป็นของใคร? มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ของเราหรอก มันเป็นของเราชั่วคราว

นี่คำว่าสมมุติเป็นแบบนั้น เป็นของเราชั่วคราวในขณะที่เรายังสืบต่อลมหายใจอยู่ ลมหายใจขาดปั๊บ มันก็เป็นสมบัติของคนอื่นให้เขาได้สืบต่อไป เป็นมรดกตกทอดกันไป แต่เวลาเราไปรับกรรมนี่สิ เราเป็นคนแสวงหามาดี เราทำคุณงามความดี เราไปแล้วเราก็ไปดี เราแสวงหามาด้วยความผิด ความไม่ถูกต้อง สมบัตินั้นคนอยู่เขาเสวยบุญ เขาเสวยสมบัติของเรา เราต่างหากต้องไปแบกทุกข์อยู่คนเดียว ไม่ใช่คนนั้นไปแบกทุกข์หรอก เราต่างหากเป็นคนไปแบกทุกข์ เพราะเราเป็นคนทำ เห็นไหม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จะให้ผลเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ให้ผลเด็ดขาดนะ ถ้าไม่ให้เด็ดขาดนี่ มันชำระลงที่ใจไม่ได้ หลอกคนอื่นหลอกได้ หลอกใคร ๆ ก็หลอกได้หมด หลอกตัวเองไม่ได้หรอก ตัวเองนี่หลอกตัวเองไม่ได้

ถ้าหัวใจมันทุกข์อยู่นี่มันจะเอาความสุขมาจากไหน ถ้าหัวใจเราสุขเราถึงจะรู้ว่าเราสุข แล้วถ้าเราทำความผิด ถ้าเราทำความไม่ดี แล้วเราจะไปหลอกใคร ก็ตัวมันรู้อยู่จะไปหลอกใคร เอาว่าตายตูมขึ้นมานี่ ถึงว่าโลกนี้ทุจริตได้ กรรมทุจริตไม่ได้ ตายตูมไปนี่หัวใจที่ทำเท่านั้นมันไปเสวยบุญ หัวใจมันเร่าร้อน หัวใจมันร้อน หัวใจมันหนัก หัวใจมันเป็นบาป มันเอาบุญที่ไหนมาเสวย มันไม่มีในใจมันนี่เอาอะไรมาเสวย มันก็ต้องไปประสาของมันนั่นล่ะ มันคิดไม่ออกหรอก

อย่างเช่นเราไม่เคยไปเมืองนอก เราจะคิดภาพเมืองนอกไม่ออกเลย เราลองไปเมืองนอกสิ เราคิดภาพเมืองนอกออกหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน ใจมันไม่เคยบริจาค ใจมันไม่เคยทำไว้เลย จะไปนึกได้อย่างไร นึกเข้าไปก็ไม่มีวันออก ธรรมะด้นเดาไม่มี ธรรมะต้องเป็นสัจจะ เป็นความจริง ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไง ทำความจริงเท่านั้นมันซับลงที่ใจ ธรรมด้นเดาก็นั่นแหละ เราอ่านหนังสือนั่นแหละ เราดูข่าวนั่นแหละ ข่าวบางทีมันก็เต้าข่าวขึ้นมาให้เราอ่าน

นั่นน่ะเราถึงว่า อันนี้มันเป็นวัฏฏะวิวัฏฏะ เป็นโรงละครใหญ่ แต่เราเป็นฉากหนึ่ง มนุษย์นี่เป็นฉากหนึ่งของวิวัฏฏะ ไม่ใช่โลกนี้คือละคร โลกนี้เป็นฉากหนึ่งของละครเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องสืบไป เราต้องหมุนไป ต้องเวียนไป ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วเราจะพอใจในสถานะที่เราเกิดมา พอใจในสถานะใดสถานะหนึ่ง แต่ต้องเข้าใจว่า เราต้องไปข้างหน้า ต้องไปเด็ดขาด ปัจจุบันอยู่ก็มีความสุข แล้วไปก็ไปให้มีความสุข ไปให้เข้าใจว่าจะไปอย่างไร นั่นน่ะพูดให้ฟังก่อนรอบหนึ่ง