เทศน์เช้า

ผลของบุญ

๒๙ มี.ค. ๒๕๔o

 

ผลของบุญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนนี้เรายังพูดเลยว่า พอเห็นพระมานี่ ขายก่อนซื้อ สุขก่อนห่าม เพราะความไม่เข้าใจไง ความไม่เข้าใจนี้มันทำให้พูดอะไรไปผิดประเด็น เวลาเราพูดอะไรออกไปครูบาอาจารย์ยังต้องกลับมาแก้เลย แต่อย่างที่เราพูดว่าเวลาชิมอะไรนะรสก็แตกต่างกันออกไป

เราสังเกตเห็นไหม อย่างเช่น ผลไม้ตกลงมาจากต้น หลุดขั้วแล้วตกลงมา มันจะฟาดกับต้นไม้ก่อน เสร็จแล้วมันจะหล่นลงพื้นเลย เห็นไหม มันจะเสียเวลามันหลุดจากขั้วมัน

ความรู้สึกเราก็เหมือนกัน เวลาเราดับไปก็เหมือนกัน เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นหรือ ถ้าเขาไม่เชื่อตามศาสนา หรือว่าทำตามความเห็นของเขา หลุดออกมาก็เหมือนหลุดออกจากขั้ว อะไรก็แล้วแต่เวรแต่กรรม จริงไหม หลุดออกมาจากขั้วมามันก็ฟาดกับกิ่งไม้ก่อนกว่ามันจะลงถึงพื้น

แต่อย่างนี้ ผลไม้อย่างนี้เราเอาตระกร้อขึ้นไปสอยมันมา โอ้โฮ สุกหมดเลย บุญกุศลนี่รองรับ บุญ.. บุญ.. บุญและกุศล เหมือนกับจิตไง เหมือนกับความรู้สึกเรา เรารู้อะไรเป็นอะไรไง

อย่างเช่น อย่างพวกเราเจ็บไข้ได้ป่วยไหม? เจ็บไข้ได้ป่วย หมอเจ็บไข้ได้ป่วยไหม? เจ็บไข้ได้ป่วย คนตายนี่ปกติเห็นไหม ก็เหมือนกับพวกคนไข้ แต่ถ้าพวกหมอตายล่ะ พวกหมอเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะรู้ใช่ไหมว่าเขาเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เขาจะรักษาของเขาได้ เขาจะเข้าใจไง

บุญกุศลเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นสภาพเดียวกัน หลุดออกมาจากขั้วเหมือนกัน แต่หลุดออกมาจากผู้รู้ไง หลุดออกมาจากความเข้าใจไง เห็นไหม เราประคองชีวิตเราไปได้ดีกว่า เราไม่สะเปะสะปะไปตามกิ่งไม้ เราไม่ตกลงถึงดินเห็นไหม เราจะเอาตะกร้อรับ บุญกุศลรับเราลงมา นี่ความรู้ความเข้าใจของบุญกุศล เราทำของเราอย่างนั้นเลย นี่มันถึงมาเข้ากับตรงนี้ แล้วความรู้ รู้อย่างไร ความรู้กลับมาเชือดตัวเองเหรอ

เมื่อก่อนไม่เข้ามาศาสนานะ ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย พระอยู่ไปวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย พอเข้ามานี่เห็นไหม ยุ่งไปหมดเลย เพราะความรู้เกาะตามกิเลส กิเลสมันใช้ความรู้แปรเป็นความยึดติด ความไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจตามหลักความจริง

อย่างเช่น ศีล ๒๒๗ แต่ความจริงศีลนี้มันมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่เวลาศีล ๒๒๗ นี่มันเป็นศีลในปาฏิโมกข์ เป็นธรรมนูญของสงฆ์ไง แต่พระสมัยพุทธกาลเวลาจะสึกบอกว่ายุ่งมาก พระพุทธเจ้าบอกให้รักษาเจตนาเห็นไหม รักษาใจตัวเดียว ศีลหนึ่งได้ไหม รักษาศีลข้อเดียวได้ไหม? ได้ รักษาอะไร? ให้รักษาหัวใจ อยู่ได้

เพราะถ้าผิดแล้วมันมีเจตนาตัวทำผิดไง ถ้าไม่มีเจตนานะ มันก็เป็นความผิดแต่ไม่เป็นอาบัตินะ เพราะเป็นอนาบัติไง ไม่ครบองค์ประกอบของอาบัติก็ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด ต้องมีเจตนา มีการกระทำ มีผู้เสียหาย

แต่พอเราเริ่มศรัทธา เวลาเราทำอะไรเราก็กลัวผิดไปหมดเลย เพราะเรากลัวผิดไง แต่ความจริงยังไม่ผิด พวกนักศึกษาปริยัติถึงว่าทำแล้วไม่ค่อยผิด เหมือนนักกฎหมายมันจะเลี่ยงได้ เขาเลี่ยงบาลี อันนี้พอเลี่ยงบาลีมันก็ไปได้ แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องคิดอย่างนี้

พระพุทธเจ้าสอนไง “แก้วน้ำมีน้ำเต็มแก้วเลยแล้วเราเทน้ำออกหมดเลย แล้วตั้งแก้วขึ้นมา”

ท่านถามว่า “แก้วมีน้ำไหม?” เราบอกว่า “ไม่มี เพราะเทเราน้ำออกหมด”

แต่ความจริงมันมี มันต้องมีติดแก้วอยู่ใช่ไหม กิเลสของมนุษย์มันเป็นอย่างนั้น ความลังเลสงสัยมันต้องมีอยู่ในใจตลอดเวลา

ถ้าเราไม่มีเจตนา เราไม่ตั้งใจถือว่าแก้วน้ำไม่มี มันไม่มีน้ำ แต่มันมีความสงสัย เราต้องตัดตรงนี้ให้ได้ไง พอเราตัดตรงนี้ได้ก็เป็นความสุขของเรานะ ตัดความลังเลสงสัย ตัดนิวรณธรรมอันนี้ออกไปแล้วเราทำความดีของเราไป ผิดถูกเราไปแก้ไข มันแก้ไขไป รวบรวมไปเป็นปัญญา

ถ้าปัญญาของศาสนานะ ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิดไง ปัญญาที่รู้ความคิดอีกทีหนึ่ง อันนี้ปัญญาชาวพุทธ ปัญญาของพระพุทธเจ้า ปัญญาที่แบบควบคุมตัวเองได้ไง

อย่างเช่น เราอยากทำอะไรโดยผิดพลาดหรืออยากทำอะไรที่เราคึกคะนองไป แล้วมีปัญญาอีกตัวหนึ่งมาควบคุมตัวนี้ได้ นี่ปัญญาคือการควบคุมตัวเอง โลกียะ โลกุตตระไง เริ่มเป็นโลกียะ เริ่มเป็นโลกุตตระ

โลกียะเหมือนกับคิดแบบโลกไง คิดแบบที่เราประกอบอาชีพ คนมีปัญญามาก เห็นไหมนี่โลกียะ คิด พอคิดแล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิด พอเราเป็นส่วนหนึ่งของความคิด เราต้องเป็นตัวจักรหมุนไป ความคิดมันเป็นไปใช่ไหม แต่โลกุตตระคิดเพื่อให้หยุดไง มันหมุนแบบลูกข่าง คิดแล้วหยุด ปัญญานี้เป็นปัญญาชาวพุทธ พอนั่งคิดแล้วเอ็งก็หมุนไปเลยว่าเราต้องแก้อย่างนั้นๆ ต้องการอย่างนั้นๆ เราคิดเห็นไหม นี่ความคิดแบบโลกียะ แล้วโลกุตตระล่ะ ความคิดมาต้อนความคิดอันนี้ให้หยุด

อย่างเช่นที่พูดเมื่อวาน ถ้าพูดอย่างเวลาตายแล้วต้องมากำหนด อันนั้นผิดนะ ผิดเลย เพราะอะไร ความจริงนะ ถ้าเป็นคำว่าผิดนะเป็น ๒ ประเด็น ผิดหมายถึงว่า ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้นนะ โยมคนนั้นมันจะตายไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีอย่างนี้เลย จริงไหม ถ้าคุณไม่มีจะทำอย่างไร

แต่ถ้ามันเป็นนิสัยของเขา เป็นไป อย่างเช่นว่าคนถนัดทางนี้นะ แต่ถ้าพูดถึงหลักความจริง มันจะสิ้นตั้งแต่วันที่สมุจเฉทปหาน วันที่สำเร็จไง พอวันที่สำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้นจะตายอย่างไรได้ตลอดเวลาเลย เพราะอันนั้นมันแน่นอนอยู่แล้ว

ก็อย่างเช่น เราห่วงเครื่องประดับ แก้วแหวนเงินทองนี้ เราเป็นห่วงมากเลย ถ้าเราปกติ แต่เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจนตรอก เราจะห่วงอะไรล่ะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาพวกที่ว่าจะเข้าฌาน พวกนี้มันเป็นเหมือนแก้วแหวนเงินทอง เพราะมันไม่ใช่จิต

แต่ถ้ามันถึงจุดๆ หนึ่งแล้วมันกระเทือนความรู้สึกไง ความรู้สึกอันนี้เหมือนกับเช่น เรารักอะไรล่ะ อันนั้นมันเป็นอาการของจิตทั้งหมด แต่ถ้าเราไม่ปล่อยทั้งหมดเลย มันมีความรู้สึกใช่ไหม นั่นล่ะตัวมัน ฉะนั้นถ้ามันจะตายมันต้องวิ่งไปตรงนั้นหมด คนเราจะตายนะมันจะวิ่งเข้าตรงนี้ ตรงนี้เป็นจิตตัวจิตปฏิสนธิ ไม่ใช่อารมณ์รูปภายนอกนี่ไง

อย่างเช่น พวกเราพวกประมาท จะคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ พอมันบีบรัดเข้ามาๆๆ มันคิดถึงตัวเราล่ะ ถ้าบีบรัดถึงตัวเรานี้มันไม่คิดถึงตัวเราแล้ว มันคิดถึงความรู้สึก เพราะมันเจ็บไข้ได้ป่วยไง มันจะบีบเข้าไปภายใน แล้วตัวนี้มันรอบอยู่แล้ว มันจะไม่ตกใจอะไรเลย มันพร้อมที่จะไปเลย ฉะนั้นถึงว่าไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ ทุกวินาทีพออันโน้นขยับมันเข้านี่ล่ะ

แต่ของพวกเราไม่อย่างนั้นเพราะปุถุชนนะ พอเวลานี้มันขยับ มันออกไปข้างนอกก่อนใหม่ๆ เห็นไหมจะเป็นห่วงเขาไปหมดเลย ไม่เคยห่วงตัวเองเลยนะ แต่ความจริงมันห่วง มันแบบว่ากิเลสมันบังเงา แต่ถ้ามันสิ้นแล้ว มันไม่มีอะไรจะห่วง

สมมุติว่าข้างนอกนี้ว่าง พุ่งออกมามันทะลุไปเลย คือมันไม่มีภพ ไม่มีภวาสวะตัวนี้เป็นตัวรองรับไว้ เห็นไหม เหมือนกับว่าไม่มีตัวใจรองรับไว้ มันหมดแล้ว ถ้ามันย้อนกลับมาๆๆ ย้อนกลับตรงนี้ปั๊บ ไม่มีอะไรเลย โลกมันสบาย ไม่มีการหลอกในหัวใจว่าอย่างนั้นเลย หัวใจนี้มันหลอกตลอด หัวใจมันจะหลอกตลอดนะ กลัวไปหมดแล้วจินตนาการไปหมดเลย ถึงบอกว่ามะม่วงหลุดออกจากขั้วไง มันฟาดไปทั่วล่ะ

ถ้าเราห่วง เราจินตนาการ ไอ้ตัวนี้มันจะคิดไปหมดเลย แล้วอันนี้เป็นโทษนะ อย่างที่ว่านี้ มันเป็นโทษหมายถึงว่ามันกังวลใช่ไหม มันก็คิดไปเรื่อยเปื่อย เหมือนกับคนไม่เอาตะกร้อสอยลงมาไง ไม่มี ไม่รองรับ แต่ถ้ามันมีบุญกุศลมันรองรับลงมาจนถึงกับที่ว่าถึงที่สุดแล้ว

อย่างเทวดาในพระไตรปิฎก สวรรค์ ๖ ชั้น มีรถ ๖ ชั้นมารับหมดเลยจะไปชั้นไหนก็ได้ถ้าบุญเราพอนะ รถมารับเลยไปชั้นไหนก็ได้ให้เราเลือกเอา แต่ถ้าเราบุญครึ่งๆ กลางๆ ก็ต้องไปผ่านตรงนี้ ไอ้ที่ว่าต้องไปตัดสินกัน แต่ถ้านั่นก็ไปเลยๆ ถ้าจะลงต่ำก็ต่ำไปเลย นั่นพูดถึงว่าถ้ามันไม่พอ

แต่บุญกุศลไง ถึงมาเพื่ออะไร มาเพื่อตรงนี้แหละ ความเข้าใจเป็นโทษตรงนี้ มันลังเลสงสัยไง อารมณ์มันออกไป มันเสวยอารมณ์ตรงนั้นก่อน เขาถึงให้คิดถึงอารมณ์ของเรา ถ้าบุญมันพอแล้ว มันไม่สงสัย มันไม่กลัวอะไร พอไม่กลัวอะไรมันก็เสวยอารมณ์นั้นเพราะอย่างที่ว่าเห็นไหม เสวยอารมณ์นั้น

ฟังสิ คำว่าเสวยอารมณ์นั้นไปตามภพนั้น มันมีเครื่องหมายบอก แต่เวลาที่ว่าสิ้นแล้วมันไม่มีอารมณ์ให้เสวย มันว่างหมด นิพพานมันเป็นอย่างนั้น พอมันว่างหมดมันก็ไปประสามัน แล้วต้องมาเข้าอะไรอีก ถ้าเข้าก็เสวยอารมณ์ พระพุทธเจ้าไม่ได้เข้า พระพุทธเจ้ามาผ่านตรงนี้ก่อน

ฟังนะ ในพระไตรปิฎกนะ พระพุทธเจ้ามาเข้า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ขึ้นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยกลับมา แล้วก็ถอยลงมา แล้วผ่านมาถึงระหว่างนั้น พอถึงระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน ถึงระหว่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานตรงนั้น ถึงระหว่างนั้นแล้วออก ไม่ใช่นิพพานในฌานนั้น จริงไหม

ถ้านิพพานในฌานนั้น อันนั้นเป็นรูปแล้ว ฌานสมาบัตินะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่งนะ เป็นการติด ฌานนี้เป็นวัตถุ จิตนี้มาเข้ารูปฌานกับอรูปฌานก็ถือว่าเป็นสังโยชน์ เพราะรูปฌานไง รูปฌาน อรูปฌาน รูปราคะ อรูปราคะ ฌานนี้เป็นราคะ เป็นความติดเนื่อง

ฉะนั้นพูดถึงไม่เข้าอันนี้ เพราะอันนี้มันเป็นสังโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ที่มาเข้านี่ เพราะจะยืนยันไง จะเป็นตัวอย่างแบบอย่างให้เราชาวพุทธว่านิพพานมีไง ถ้าไม่มีจิตนี้มันจะสูญไป จิตนี้มันจะมาเข้าอะไร ตัวจิต ตัวนิพพาน มันจะมาเข้าอะไร ตัวที่จิตเป็นนิพพานจะมาเข้าอะไร มาเข้าไปยืนยันว่านี่มันมีความรู้สึก มันมีผู้รับผล เหตุผลมันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าต้องมาเข้า ไม่ใช่! ไม่ใช่เลย เพราะอันนี้มันเป็นตัวติดอยู่แล้ว เป็นตัวสังโยชน์อยู่แล้ว

แล้วก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเกิด มันก็มีอยู่แล้ว สมาบัติมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าไปเรียนกับ อาฬารดาบส อุทกดาบส นั่นเห็นไหม พระพุทธเจ้าไปเรียนมาก่อนแล้ว แล้วพูดถึงมาสำเร็จจนนิพพานแล้วจะกลับไปเข้าตรงนั้นอีกหรือ เพียงแต่ยืนยันกันเท่านั้นเอง นี่พูดถึงจิตไง บุญกุศลไง เราสร้างไป เราทำของเราไป เราเชื่อของเรานี่ชาวพุทธเป็นผู้มีปัญญา

อาจารย์มหาบัวถึงได้บอก “ศาสนาพุทธเราเปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้า” มีตั้งแต่ว่าทำบุญตักบาตรหน้าบ้านได้บุญที่สุด กับไปถึงก็รูปฌาน อรูปฌานเห็นไหม มันมีตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน มีทุกอย่าง มีขายพร้อมหมด แล้วแต่เขาจะเอาอะไร เราอย่าไปติดตรงนั้นสิ เราสูงกว่าเขาแล้วไง

อย่างเช่น คนเขาถามเรา “หลวงพี่ ตักบาตรต้องกรวดน้ำไหม?”

“ต้อง!” ต้องเลย เพราะอะไร เพราะเขาใหม่ๆ เขาฟั่นเฟือน ต้องให้เขาแบบว่า ให้เขาเป็นวัตถุก่อน เห็นไหม

พอเขาทำคล่องแล้ว “หลวงพี่ต้องกรวดน้ำไหม”

“กรวดน้ำใจสิ น้ำนั้นหยาบเกินไปแล้ว” นี่เราจะสอนคนไง

ฉะนั้นไอ้ตรงนั้น เขายังอยู่ชั้นนั้น เราขึ้นมาสูงกว่าเขาแล้วเราจะลงกลับไปตรงนั้นทำไม เราอยู่ที่เหนือกว่าใช่ไหม เราเข้าใจได้เหนือกว่า เราต้องเหนือออกมาเรื่อยๆ สิ แต่บอกอันนั้นไม่ใช่ ก็ไม่ใช่นะ อันนั้นเป็นการเริ่มต้น

ศาสนาเรามันถึงว่ามีมากมายเลย เราจะเอาตรงไหน แล้วเราจะพัฒนาใจเราขึ้นมาแค่ไหน เห็นไหมเพราะว่าเขาเถียงกันตรงนั้น เราจะลดตัวเราเข้าไปเถียงตรงนั้นเลย ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ได้ คือว่าเราผ่านตรงนั้นมาแล้ว

แต่ของเขาใช่ ต้องเป็นอย่างนั้นเลย ใช่! ทำเลย พอมันทำมากเข้าๆ เขาจะละเอียดขึ้นมาๆ มันก็ขึ้นมาเป็นเราไง จริงไหม เราถึงบอกว่าใช่! ใช่ระดับหนึ่ง ใช่ของเขา เพราะในห้างสรรพสินค้านี้ แบบว่าอันนั้นมันต่ำกว่า จะบอกว่าไม่ใช่ไม่ได้นะ อันนั้นหมายถึงว่า มันไม่มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด

แม้แต่มรรคอย่างที่ว่าโลกียะ โลกุตตระ พิจารณาใหม่ๆ มันก็จะเป็นโลกียะทั้งหมด แล้วถ้าไม่พิจารณาเลย แล้วจะเอาอะไรมาพิจารณา ต้องพิจารณารูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก มันต้องอิงกันไง จากหยาบๆ แล้วมันละเอียดเข้าไปเป็นกลางๆ จนละเอียดสุด เห็นไหม มรรคมันต้องมันสับกันอยู่อย่างนั้น แล้วเราใช้แง่ใดแง่หนึ่งไม่ได้ มันไม่พอ ไว้ต้องดูไป ดูเขาๆ

แล้วอย่างการพิจารณาก็เหมือนกัน จริตนิสัย ความไม่เหมือนกัน แต่เหตุผลโครงสร้างต้องเหมือนกัน อาจารย์มหาบัวอีกแหละพูด ท่านเทศน์ร้อยแปด แต่สุดท้ายท่านผ่านตรงนี้ ผ่านประตูไง ต้องผ่านประตู ถ้าเราไม่ผ่านประตูนี้ถือว่าไม่ใช่นะ จะมาทางไหนก็แล้วแต่ต้องผ่านตรงนี้ ต้องผ่านตรงนี้ๆๆ ถ้าผ่านตรงนี้ก็ถือว่าสิ้นสุดไง

แล้วอย่างที่เขาเข้าใจกัน พวกปริยัติเข้าใจ ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้จะเข้าใจอย่างนี้หมดเลย เข้าใจว่าภาวนาไปให้จิตว่าง ให้จิตสบายๆ เรายกตัวอย่างว่าพระไง ว่าเอ็งสร้างตึก ๑๐๐ ชั้นเลย แล้วไม่มีประตูเข้าออกเลย เอ็งสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร สร้างขึ้นมาไม่มีประโยชน์ให้ใครได้อยู่อาศัยแล้ว เพราะเราสร้างตึกขึ้นมาเลย แล้วเราไม่มีประตูไม่มีหน้าต่างอย่างนี้ มันจะไปมีประโยชน์อะไร มันมีแต่วันล่มสลายไป วัตถุนั้นมันเสื่อมสภาพแล้วมันต้องล่มสลายไป แล้วใครได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย

ทำใจให้ว่างๆๆ ไว้อย่างนั้น มันก็เหมือนอย่างนั้นล่ะ เหมือนกับเราสร้างโดมขึ้นมาแล้วไม่มีทางเข้าออก จิตนี้มันก็คร่อมอยู่อย่างนั้น ถึงเวลาแล้วมันก็เสื่อมสลายไป สัพเพนี้ทำมาต้องเป็นอนัตตาทั้งหมด แล้วเอ็งได้อะไรขึ้นมา แต่ด้วยความเข้าใจผิดของเขานะ เขาว่า “ผมจะทำไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนเป็นนิพพาน” โอ้โฮ มันแทบตายเลยนะ มานั่งล่อๆ อย่างนี้

เขาบอกว่า “ก็ทำไปเรื่อยๆ” แล้วพระพุทธเจ้าสอน สมถะกรรมฐาน วิปัสสนาฐานเพื่ออะไร แล้ววิปัสสนากรรมฐานนี้ มันปัญญาฆ่ากิเลสนะ สมถะมันฆ่ากิเลสได้ที่ไหน สมถะมันก็เหมือนกับเราสร้างตึกขึ้นมาหลังหนึ่ง เขามีความสุขนะ สมาธินี้ โอ้โฮ สมาธิ จิตสงบ ว่างอยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วก็จะรอให้มันละเอียดลงๆ ให้มันเป็นนิพพานไง ไม่มีทาง! ไม่มีทางเลย นี่ความไม่เข้าใจนี้ มรรคหยาบๆ เห็นไหม

แล้วว่าไม่ใช่มรรคหรือ? ใช่! แล้วมรรคมันหยาบ ถ้าไม่ละเอียดเข้าไปมันก็เป็นมรรค มันก็คาอยู่อย่างนั้น มันมรรคหยาบ ต้องมามรรคกลาง แล้วมรรคละเอียดเข้าไปเห็นไหม ต้องมีอย่างนี้เพิ่มขึ้นมา พอเข้าไปเสวยมันตื่นเต้นมาก มีความสุขมาก โอ้โฮ อารมณ์นี้แหละอารมณ์นิพพาน ว่าง สบาย โล่ง แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลิ้ง เพราะเดี๋ยวตึกนั้นมันก็จะพังไป

ตึก ความมั่นคงของใจไง ใจนี้ตั้งมั่น เป็นสมาธินี้ตั้งมั่นมาก ใจนี้มั่นคง แต่มั่นคงขนาดไหนก็แล้วแต่มันก็ต้องเสื่อมสภาพ ไม่มีสิ่งไหนคงที่เลย โลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด แม้แต่เรื่องของใจ กิเลสมันละเอียดขนาดไหน มันยึดขนาดไหน มันยังพังทลายเลย ถ้ามรรคเราเดินเข้าไปถูกต้อง แต่มรรคนี้สร้างขึ้นมาแล้วกิเลสมันหลอกใช้อีกทีหนึ่ง

อาจารย์ใช้คำว่าบังเงาไง กิเลสบังเงาอยู่หลังการประพฤติปฏิบัติของเรา มันใช้กิริยาที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ล่อ ใช้มาฆ่าเราอีกทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้เราพ้นจากมือของมัน นี่ขายก่อนซื้อ สุกก่อนห่ามไง พอเข้าไปแล้วก็เข้าใจว่ามันไปจินตนาการธรรมะพระพุทธเจ้าก่อนไง จินตนาการของครูบาอาจารย์ไง แล้วพยายามทำใจให้เป็นอย่างนั้นไง

การจินตนาการนี้พออารมณ์เป็นอย่างนั้นมันบอกว่าว่างอย่างนั้นๆ แล้วก็ว่างจริงๆ แต่ว่างด้วยการเก็บไว้ใต้พรมไง ไม่ได้ว่างด้วยการสมุจเฉทปหานด้วยที่ว่าเดินเข้าประตูไง ต้องเข้าประตูตรงนี้อย่างเดียว จะไปไหนก็แล้วแต่ตามสบายเลย

โครงสร้างต้องกลับมาผ่านตรงนี้ ผ่านการสมุจเฉทกัน ต้องเข้าประตูนี้ ต้องรู้ขณะเปิดประตู เข้าไง วิปปยุตเข้าไปเลย กลั่นเข้าไปเหมือนเรากลั่นเหล้าหรือกลั่นกิเลสเข้าไป กลั่นเข้าไปเลย พอมันคลายตัวมันความบริสุทธิ์ก็โผล่ออกมาเห็นไหม

ความบริสุทธิ์ ไอจากการกลั่นนั้นมันออกมา อันนั้นเป็นความบริสุทธิ์ นี่วิปปยุตเข้าไปเลยขณะที่มันเดือด ขณะที่มันกลั่นแล้วมันคลายตัวออกมา พอมันเย็นตัวลงอันนั้นถึงเป็นผลของมัน นี่คือวิปัสสนา ปัญญาไง ปัญญาที่ว่านี้ปัญญา ปัญญา ปัญญานี้มันก็ต้องใคร่ครวญ ศาสนาพุทธ พุทธะคือปัญญา พุทธะคือเอาตัวรอดให้ได้ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)