เทศน์เช้า

คนดี

๓๑ พ.ค. ๒๕๔o

 

คนดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต. คลองตาคต อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

พูดถึงศาสนาเรานะ ทำเพื่อศาสนา นั่นไปแล้ว ถ้ามันมาเร็วหน่อยก็จะได้ฟังด้วย เห็นไหมมาสาย มันไปหมดแล้ว เราจะพูดถึงความดีไง คนเราอ้างว่าความดี ทุกคนทำความดี ความดีๆ ข้างนอก ดีเปลือกๆ นะ ดีประสาโลก เราว่าเป็นความดีๆ ทุกคนว่าเป็นความดีหมด ดีอย่างนี้มันก็ดีด้วยสิ่งแวดล้อม ความดีสิ่งแวดล้อมไง อย่างดีศีลธรรมจริยธรรม เราสอนคนให้เป็นคนดี

อย่างเช่น พวกนี้จะไม่รู้เรื่องเลย อย่างเช่น ภาวนาเข้าไป อย่างกายกับใจคนละอันกัน ถ้าไม่ใช่นักภาวนาไม่รู้นะ กายกับใจ ใครจะรู้ว่ากายกับใจนี้มันเป็นคนละอัน แต่เวลาจิตมันสงบเข้าไปมันถอดจิตได้ จิตนี้ตายออกไปเลย กายส่วนกาย จิตส่วนจิต มันจะมองเห็นเลยทั้งๆ ที่หัวใจก็ยังเต้นอยู่นะ เวลาถอดออกไป เพราะว่าจิตมันสงบ จิตมันถอดออกจากกายไป แต่หัวใจก็ยังเต้นอยู่เพราะกระแสของจิตมันยังยึดต้นของมันอยู่ เห็นไหมนี่จิตออกไป

ยิ่งเวลาภาวนา มันจะถอดจิตได้ กายกับใจมันคนละอันนะ อันนี้ยังไม่แปลกประหลาดเท่าเวลาภาวนาเข้าไป เวลาภาวนาเข้าไปอารมณ์นี้ไม่ใช่เรา แม้แต่ตัวใจกับใจเอง มันยังมีใจเปลือกๆ ใจปลอมๆ กับใจแท้ๆ นะ

นี่พูดถึงความดี ความดีที่ว่าคนนั้นดี คนนี้ดี ดี! เพราะการดีด้วยความกดไว้ไง ความดีอย่างพวกเรา อย่างคนเราอยู่ในสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เรามีลูก ๒ คน เป็นแฝดด้วยกัน อีกคนหนึ่งเราเลี้ยงไว้ อีกคนหนึ่งเอาไปเลี้ยงอยู่กับโจร คนที่อยู่กับโจรก็ต้องเป็นโจรไป เพราะสิ่งแวดล้อมเขาให้เป็นโจร สิ่งแวดล้อมดีก็เป็นคนดี

อารมณ์ก็เหมือนกัน อารมณ์การฝึกฝนไง เราฝึกฝนใจของเรามันก็เป็นความดี ความดีแบบว่าเราเก็บไว้เฉยๆ ความดีแบบว่าฝึกหัดไว้เฉยๆ มันไม่ได้ชำระสะสาง แต่ถ้าความดีของศาสนาเรา อย่างความดีที่ชำระสะสางหมายถึงว่า เวลาภาวนาไปขันธ์นั้นขาดออกไปเห็นไหม

ขันธ์คือขันธ์ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นไหม ขันธ์ ๕ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิไง ขันธ์ ๕ มันผูกมัดด้วยกิเลส แต่พอเวลาขันธ์ ๕ มันขาดออกไป ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตส่วนจิต ขันธ์ ๕ ส่วนขันธ์ ๕ ทุกข์ส่วนทุกข์ หลุดออกจากกันไป นี่เปลือกชั้นแรก นี่ความดี

ความดีที่เริ่มเป็นความดีแท้ไง แล้วก็พิจารณาเข้าไปอีก ระหว่างขันธ์กับใจขาดออกจากกันนะ ขันธ์กับใจนะ ฟังสิ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไง ออกไปนี่สกิทาคามีเห็นไหม นี้ขันธ์ของใจ ขันธ์ภายในนี่พระอนาคามี พระอนาคามีพอหลุดออกไปปั๊บมันก็เหลือแต่ตอของจิต คือตัวจิตล้วนๆ ตัวจิตที่ไม่ใช่ขันธ์นะ ตัวขันธ์นี้คือตัวปรุงแต่ง ตัวขันธ์คือตัวอารมณ์รับรู้ แต่ตัวจิตคือตัวพลังงานเฉยๆ ที่ไม่มีขันธ์ไง

แบบพลังงานไฟฟ้ามันเป็นพลังงานอยู่ แต่พลังงานตัวนี้มันคือตัวสัญชาตญาณ ถ้าไปแก้ตรงนี้เสร็จ แก้สัญชาตญาณนะ แก้กิเลส ถ้าตรงนี้เสร็จคือว่าเป็นคนดีจริง มันดีด้วยสัญชาตญาณเลย ไม่ใช่ดีด้วยอารมณ์ อารมณ์นั้นไม่ใช่อาการของใจ อารมณ์นี้สามารถตัดทิ้งได้ ฉะนั้นเวลาจิตเราสงบนิ่งเลย มันไม่มีอารมณ์ กิเลสมันไปไหน เวลาจิตมันสงบ

ฉะนั้นเวลามาพูด เราจะพูดว่าใครมันจะมาอ้าง ห้ามอ้างนะ ว่าคนโน้นดี ตรงนี้ต้องดีกว่าเขา ไม่ได้ แต่เวลาเราพูดมุมกลับ เราบอกเองว่าเป็นคนดีๆ เห็นไหม ก็ดีแบบโลกไง ความดีของโลกคือว่าคนดีๆ ในจริยธรรมไง

แต่ไม่มีใครดีหรอก ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น เพราะอะไร เพราะมันต้องเห็นแก่ตัว สัญชาตญาณนี้เห็นแก่ตัวหมด เอาเงินมากองไว้สิ แล้วทุกคนเดินหนีจากเงินไป ไม่มีทาง ใครเห็นเงิน ใครเห็นทอง ใครก็ต้องรีบตะปบ ถ้าสัญชาตญาณของความดีจริงมันไม่ตะปบ เงินนี้ไม่ใช่ของเรา

สัญชาตญาณมันจะเริ่มคิด เริ่มออกมาน่ะ นั่นคือคนดีแท้ ฉะนั้นถึงว่าดีนะ เขาดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ หลวงพี่ต้องเห็นความดีของเขา ไม่ต้องมาพูดอีกเลย ความดีอย่างหยาบๆ นั้น ไอ้ดีก็ว่าดี อย่างนี้ดีนะ อย่างที่เอ็งว่าดีเฉพาะใส่บาตร อย่างอื่นไม่ดี อย่างนี้เรื่องของเขา แต่ความดีมันดีอย่างนั้น ความดีของโลกต้องดีอย่างนั้นหมด

ถ้าดีจริงต้องสิ้นกิเลสเท่านั้นถึงจะดีจริง นอกนั้นดีจอมปลอม เพราะว่าเวลาเหตุการณ์ที่ว่าสัญชาตญาณไง จิตใต้สำนึก สัญชาตญาณมันต้องเห็นแก่ตัว ถึงจุดหนึ่งแล้วมันต้องเข้าข้างตัวเอง อย่างเช่น เรา ๒ คนนี้เอาไฟไปไว้บนหัว เอ็งจะปัดไฟบนหัวของใครก่อน ก็ต้องปัดหัวของตัวเองก่อนใช่ไหม ทุกคนต้องมีสัญชาตญาณเอาตัวรอดไง พอถึงจุดแล้วมันจะเห็นแก่ตัว

ฉะนั้นเวลาเราทำอะไร เรามองถึงตรงนั้นเลย บางอย่างถึงว่า หยาบ กลาง ละเอียดไง เราถึงว่าถ้าว่าเป็นคนดี ว่าอย่างนั้นเป็นคนดี ดี ดีไม่ว่ากัน มันมี ๒ อย่างนะ มันมีแรงขับอีกอย่างหนึ่งนะ

อย่างเช่น ในของเรานี่มีหลายคน เอาเงินมากองไว้แล้วต่างคนต่างปฏิเสธแล้วหนีนะ ไม่ยอมเอาเงิน แล้วเราว่าคนนี้เป็นคนดี ก็ไม่ใช่ เพราะว่าอย่างนี้มันเป็นการผลัก คือว่าการผลักไม่รับผิดชอบไง

แต่ถ้าคนดีจริงมันต้องมัชฌิมาไง มัชฌิมาระหว่างตรงกลางไง ถึงว่ามีเงินตรงนี้เราไม่เอาเงินนั้น แต่เราก็ไม่ผลักเงินนั้นทิ้งไป เงินนั้นควรใช้ให้เป็นประโยชน์ใช่ไหม มัชฌิมาหมายถึงว่าเราจะใช้ประโยชน์สิ่งนั้น วัตถุนั้นอย่างไร

แต่บางคนอยากได้ เห็นไหม ตัณหาไง อยากได้ ความอยากก็พยายามจะเอามา โดยถ้าลับหลังคนสัญชาตญาณมันจะคิดว่าใครอาจจะไม่รู้ แต่กรรมมันเกิดจากมโนกรรม เริ่มคิดแล้ว เริ่มคิดกรรมมันเกิดแล้วนะ นั่นนะอันนั้นใครปิดไม่อยู่ เพราะมันเป็นกรรม ถ้าทำไม่ดีไปแล้วมันจะผูกอยู่กับใจไป ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ มันจะเป็นอยู่กับใจไป นั่นก็เป็นกรรม กรรมของฝ่ายเห็นแก่ตัว ฝ่ายเอาเปรียบ

แต่ถ้าไม่เอาโดยการผลัก ผลักคือว่าสิ่งนั้นควรเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นประโยชน์ไง ต่างคนต่างปฏิเสธหนี อันนี้ก็มีนะ ฉะนั้นเราเห็นว่าบางคนเห็นไหม อย่างที่ว่าบางคนบอกว่าทุกคนกลัวตายหมด แต่มีนักเลงไม่กลัวตายก็มี บางคนไม่เคยกลัวตายหรอก เดินเข้าหาความตายเลย เยอะแยะไปนะ

คนกล้าหาญจนบ้าบิ่นจนไม่รู้จักความตาย อันนั้นเป็นความถูกต้องหรือ เพราะเป็นคนไม่กลัวตาย ไม่ใช่ อันนั้นเป็นคนโง่ โง่เพราะไม่รู้จักรักษาสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ควรใช้ประโยชน์ไง ชีวิตนี้มันมีประโยชน์ บางคนพอสิ้นไร้ไม้ตอก อัดเลย คือว่าฆ่าตัวตายไป อันนั้นเป็นกรรม ๒ ชั้น ที่ว่าการผลักไง

การผลักคือว่าการปฏิเสธสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด คือว่าคนโง่ คนเบาปัญญา คนไม่รู้จักอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นกิริยาของการผลัก เพราะถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ เป็นแง่เดียวนี้ พอไปเจอคนอย่างนั้นจะหาว่าคนนั้นเป็นคนดีไง

คนดีต้องรู้จักใช้กาลเทศะ ความเป็นประโยชน์ แต่ละขณะที่เกิดเหตุนั้นเป็นประโยชน์อย่างไร นั่นคือคนดีแท้ไง ไม่ตื่นไง ไม่กล้าและไม่กลัว ฟังสิ ความกลัวคือการปฏิเสธ การผลัก เพราะมันกลัวความรับผิดชอบ ความกล้า ความเข้าไปผูกมัดเกินไป มันเข้าไปอีก เห็นไหม มันต้องดีจากตรงสัญชาตญาณ สัญชาตญาณนะ สันดาน

สัญชาตญาณคือต้นขั้วของรากเหง้าของหัวใจ ฐานของจิต ฐีติจิตถือว่าใครทำฐีติจิตตรงนี้บริสุทธิ์แล้วอันนั้นถึงเป็นยอดคน อันนั้นถึงไว้ใจได้ อันนั้นถึงเป็นดีแท้ไง จะไม่มีทางผิดพลาดไปได้เด็ดขาด

แต่ไอ้อย่างที่ว่า คนนั้นคนดี คนนี้คนดี ดีแบบเก็บไว้ แบบกดไว้ พอถึงจุดหนึ่งแล้วพอเก็บกดถึงเหตุผลของสัญชาตญาณแล้วมันต้องเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย ถึงว่าไม่เอา ไม่เอาไง อยู่ที่เราจะพิจารณาของเราเอง เราจะตัดสินใจเองว่าควรหรือไม่ควร ต้องเราตัดสินใจของเราเอง เรามองเอง ว่าอะไรควรหรือไม่ควร

จะพูดอย่างนี้ เพราะเบื่อเหลือเกิน มากเลย เบื่อมากๆ เวลาบอกว่าคนนั้นเป็นคนดีนะ หลวงพี่ต้องเห็นกับเขา ต้องทำกับเขานะ เบื่อๆๆ เบื่อหลายเบื่อแล้ว ดีอย่างไรมันก็ดีอย่างนั้น ดีแบบโลกๆ ไม่ว่ากัน ดีอย่างเด็กๆ เห็นไหม โอ้โฮ! ถ้ามันนั่งเรียบร้อยอย่างนั้น นั่นมันดีแล้ว วันนี้นั่งเรียบร้อย วันนี้ไม่ซนเลย เงียบเดี๋ยว ยกนิ้วโป้งให้ ๒ โป้ง ๒ โป้งอะไร มันทำงานไม่ได้ มันมีแต่ไถอยู่นี่ นี่เห็นไหมดีแบบเด็กๆ แต่ก็ว่าดี

เข้ามาอย่างนี้ยังว่าดี ดีกว่าว่าออกไปอีลุ้ยฉุยแฉก ดีกว่าไม่เป็นอย่างนั้น ออกไปเลย นี้ยังเข้ามา ยังรู้จักว่า เอ่อ เริ่มมีหลักมีเกณฑ์ไง ดีแบบมีหลักมีเกณฑ์ สัญชาตญาณ ไอ้ดีแบบนี้ แล้วก็ดีแบบภายใน อย่างนี้เราไม่อยากจะใช้คำว่าเจ้าเล่ห์ด้วย แต่เล่ห์เหลี่ยมบังเงา

โอ้โฮ! ร้ายกาจมากกิเลสนี่ กิเลสมันจะบังเงา เพราะว่าเวลาเราจนตรอก มันจะคิดเลยว่าคนอื่นจะไม่รู้เท่าเรา มันจะปลิ้นออกแล้ว เวลากิเลสมันหลอก เวลาที่เราพูดกับพวกนี้เห็นไหม บอกมันหลอก เขาก็ดีใจมากนะ เราบอกเลยเวลาที่นั่งภาวนา มันก็ว่าเวลาจะนั่งภาวนาไง มันอยากนั่งภาวนา แต่มันก็อยากทำบุญ เห็นไหม

มันคิดว่า มันอยากทำบุญหมายความว่าตอนเช้า เพราะว่าเขาฝันอยู่ว่า เขาจะไปทำบุญ แล้วพอไปทำบุญแล้วมันน้อยเกินไป เขาเลยจะมาเอาให้เยอะๆ เลยไม่ทันเราเลย เราบอกนั่นแหละจะไม่เชื่อกัน เพราะเขาฝัน เราบอกนั่นไม่ใช่ไม่เชื่อกัน เราก็เลยบอกอย่างนี้ บอกมันหลอก หลอกทั้ง ๒ อย่างเลย

หนึ่งเวลาจะภาวนา นั่งสัก ๔-๕ ชั่วโมงไม่เห็นจะมีอะไรเลย ไม่อยากจะนั่ง พอเวลาใกล้จะเลิกแล้ว แหม ไม่อยากจะเลิก เราตั้งกติกาไว้ไง ขนาดนั่นจะไปทำงานต่อไป พอถึงจะไปทำงานต่อ แหม จิตมันจะสงบ จิตมันจะลง อือหือ มันจะเยี่ยม มันจะยอด มันจะหลอกเห็นไหม มันหลอกเป็น ๒ ทางนะ จะทำทีแรกมันก็หลอก เวลาจะไปทำงานต่อไปนะ มันจะให้ปฏิเสธงานข้างหน้าเลย เพื่อจะดึงให้เราอยู่ตรงนั้น

นี่ขนาดว่าเป็นเรื่องภายในของเรานะ เราคนเดียวกันเองนะ ยังไม่มีผู้ข้างนอกเป็นผู้สอนที่เข้ามายุ่งกับเรานะ แล้วว่ากิเลสมันจะดีกับเราได้อย่างไร ฉะนั้นมันถึงต้องต่อสู้กัน แล้วเข้าไปคัดง้างกันจนจะได้ประโยชน์ ต้องต่อสู้ไง

ต้องถึงว่ากิเลสนี้ไม่ใช่เรา ถ้ากิเลสนี้เป็นเรานั่งภาวนาก็ไม่ได้ นอนตื่นเช้าหน่อยก็ไม่ได้ เดี๋ยวร่างกายมันจะไม่แข็งแรง ต้องนอนให้ตื่นสายๆ หน่อยหนึ่งร่างกายได้สดชื่น เดี๋ยวกลางวันจะได้ไม่ง่วง เห็นไหม นั่นก็เพราะว่าเป็นเรา

ถ้าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเลย อันนี้ไม่ใช่เรา ลุกขึ้นมันก็หาย ถ้าไม่ลุกมันก็ซ้ำอยู่อย่างนั้น ต้องพลิกๆๆๆ พอพลิกไป พลิกขึ้นไป ฝึกจนเป็นนิสัย ดูคนที่ภาวนาเป็นกันสิเห็นไหม อย่างที่ว่าคนที่เชียงใหม่เขาภาวนาเป็น เขาฝึกจนเป็นนิสัยนะ เขามีงานรัดตัวขนาดนั้น เขายังฝึกเป็นนิสัย เราพยายามฝึกให้เป็นนิสัย

เวลาไปอยู่กับอาจารย์ เพราะว่า ๕ ปีไง ขอนิสัย ไม่พ้นพรรษา ๕ ขึ้นไป ยังไปไหนก็เป็นนวกะ พอพ้น ๕ พรรษาไปถือว่าได้นิสัย ไม่ต้องขอนิสัยแล้วไง ตัวเองมีนิสัยแล้ว ตัวเองบรรลุนิติภาวะ เห็นไหม ถ้าพระอยู่กับอาจารย์ ๕ ปีถือว่าได้นิสัย

การได้นิสัยหมายถึงว่าฝึกกันจนชินไง ต้องทำอย่างนั้นๆ จนชิน จนเข้าใจ จนได้นิสัย เขาเรียกว่าได้นิสัย ได้นิสัยอาจารย์มาไหม อยากได้นิสัยมาไหม อยู่บ้านตาดได้นิสัยมาไหม ได้นิสัยอย่างไร ก็ได้นิสัยแบบเข้มแข็ง ไปไหนไว ลุกไว คือไม่จมอยู่นั่น

ถ้าเราฝึกจนจมนะ มันก็มาขัดกับความเป็นอยู่ของโลก โอ้โฮ ถ้าพระเรียบร้อย พระดี อยู่กับอาจารย์ อาจารย์เอ็ดทั้ง ๒ ฝ่าย เคยมีมา พระพอใส่บาตรเสร็จรีบพรวดพราดไปเลย ท่านบอกว่าอันนี้ผิด ด่าด้วยนะ ท่านด่าแรงเลย หมา ไอ้พวกหมา พวกหมามันกินเสร็จมันวิ่งเลยไง มันกกๆ แล้วมันวิ่งเลย พวกหมา

พระมาจากกรุงเทพบางทีเรียบร้อยเกินไป ท่านก็ว่านะ อายุยังหนุ่มๆ เลย เดินอย่างกับคนแก่ เดินอย่างกับคนขี้โรค เดินอย่างกับคนไม่มีแรงไง แบบว่าสำรวมไง สำรวม ระวัง

การสำรวมระวังจนเกินไป ก็ไม่ใช่กิริยาของนักปฏิบัติ

การพรวดพราดจนเกินไป ก็ไม่ใช่นิสัยของนักปฏิบัติ

นักปฏิบัติมันต้องเข้มแข็ง แต่เข้มแข็งอยู่ในธรรมวินัย ไม่ใช่ว่าสำรวมจนแบบว่าอย่างของเขานะ อย่างสำรวมไปนะ อย่างเช่น นิสัยนี้ รู้เรื่องกิเลสนี้ ตำราบอก ชอบ เสียงเพราะหนึ่ง ความเศร้าหมองหนึ่ง เห็นไหม ติด ๔ อย่างไง เราจำไม่ได้อีก ๒ อย่าง

เสียง ฉาก อย่างนี้ ความเศร้าหมอง ก็รู้นี่ ก็ต้องให้มันเศร้าหมอง พระผ้าปะๆ ผ้าขาดๆ นี่ชอบ ศรัทธามาก พระเขาก็เอามาหากินกันเห็นไหม เขารู้สิ เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วว่ากิเลสนี้มันชอบอะไรบ้าง ถ้าศึกษาธรรมะนี่นะ แล้วเอามาหลอกกินได้หมด

ฉะนั้นถึงว่าถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อสัตย์กับการปฏิบัติ มันต้องซื่อสัตย์กับตรงนี้ ซื่อสัตย์คือว่าต้องชำระกิเลสของตัวเองให้ได้ แล้วไม่ให้กิเลสของตัวเองไปเล่นกับกิเลสของคนอื่นด้วย มันเป็นสอง

ฉะนั้นเราถึงว่า กิเลสก็ยังไม่ใช่เรา อารมณ์ยังไม่ใช่เรา จิตนี้ไม่ใช่เรา ทำลายได้หมด ทำลายหมดคือทำลายกิเลส พอกิเลสหมดนั้นคนนั้นดีแท้ แล้วค่อยมาพูดกันว่าคนดี แล้วเราจะฟังว่า เออ คนนี้ดี แล้วจะให้ว่า เออ ดี ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นไม่ต้องมาบอกว่าดีนะ ห้ามพูด! (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)