ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจเป็นกุศล

๓ ต.ค. ๒๕๕๓

 

ใจเป็นกุศล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานี้มันเป็นปัญหาของสังคม เป็นปัญหาพื้นฐานเลย แล้วพื้นฐานนี่เขาเป็นคนจริงด้วย

๒๓๖. เรื่อง “การนั่งสมาธิ”

ถาม : ๒๓๖. ดิฉันเริ่มศึกษาธรรมะมากว่า ๑๕ ปี เพราะในแวดวงการทำงาน เห็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเจริญก้าวหน้าดี ก็เลยสงสัย “เรื่องทำดีได้ดี.. ทำชั่วได้ชั่ว มีจริงหรือ” การศึกษาก็เน้นการอ่าน... อ่านหนังสือธรรมะเยอะมาก หาคำตอบในประเด็นที่สงสัย ในช่วงนั้นยังไม่ปฏิบัติภาวนา เพราะใจมันไม่ลง มันยังดื้อไม่ศรัทธา แต่ส่วนตัวก็เชื่อในความดีไม่คลอนแคลน แต่ไม่ยอมปฏิบัติเรื่องการนั่งสมาธิ

หลวงพ่อ : เขาเขียนของเขามา ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ไง ประเด็นมันอยู่ที่ว่า

“ในแวดวงของคนที่ทำงาน คนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตแต่เจริญก้าวหน้า ก็เลยสงสัยว่าทำดีได้ดี.. ทำชั่วได้ชั่วมีจริงหรือ”

นี่ไง แล้วมันมีจริงหรือเปล่าล่ะ... “ทำดีได้ดี.. ทำชั่วได้ชั่ว”

ยืนยันนะ ! ทำดีได้ดี.. ทำชั่วได้ชั่ว แต่ ! แต่เราต้องแบ่งว่าความดีทางโลกกับความดีทางธรรมมันแตกต่างกัน ความดีทางโลก เห็นไหม ดูสิเดี๋ยวนี้ปัจจุบันเขากำลังรณรงค์ว่าไม่ให้เคารพคนโกงที่มีเงิน แต่เราเห็นคนมีตังค์ปุ๊บเราจะยกมือสวัสดี.. สวัสดีทั้งนั้นแหละ เขาไม่ให้เคารพคนโกง เห็นไหม แต่ทำไมเขาโกงแล้วเขาถึงร่ำรวยล่ะ

มันมีกรรมเก่า-กรรมใหม่นะ เหมือนเราทำการทุจริตนี่ แล้วเรานั่งอยู่บนกองเงินกองทองนี่ล่ะ จริงๆ แล้วเราสบายไหม ไอ้บุญกุศลในทางธรรม คือความสบายหรือไม่สบาย หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า “เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ไปอยู่บนตึกชั้นที่ ๑๐๐ ก็ไปร้องครวญครางอยู่บนชั้นที่ ๑๐๐ นั่นล่ะ มันไม่มีความสุขหรอก มันอยู่บนตึกชั้นที่ ๑๐๐ นะ มันก็ไปนอนเจ็บปวดอยู่บนชั้นที่ ๑๐๐ ”

นี่ก็เหมือนกัน เรามีเงินมีทอง เรามีความทุกข์ ไปอยู่บนกองเงินกองทองมันก็ไปทุกข์อยู่นั่นแหละ แล้วนี่เราไปบอกว่าคนที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่ทำไมเจริญก้าวหน้าดี ? ความเจริญก้าวหน้านี่ คนเรามันก็มีมุมมองแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างของคน ถ้าคนใจหยาบเขาก็จะเอาอย่างนั้นแหละ เขาจะวิ่งเต้นชิงของเขาไป

เราเคยเจอคนหนึ่งเป็นลูกศิษย์นะ เขาบอกว่า “เขาทำงานมานี่ เขาไม่เคยวิ่งเต้นเลย” เราไม่แน่ใจว่าเขาเป็นถึงปลัดกระทรวงหรือเปล่า แต่เขาทำหน้าที่การงานมานะ

เขาบอกว่า “หลวงพ่อผมไม่เคยวิ่งเต้นนะ ผมก็ทำงานของผมไป แต่มันแปลกมาก เวลาเขาวิ่งเต้นกันนะ ตาอินกับตานานะ มาตกเขาทุกทีเลย” เขาไม่ได้ไปวิ่งเต้นนะ แต่พอถึงเวลาที่วิ่งเต้นนี่มันจะมีตาอินกับตานา แล้วพอตาอินกับตานานั้นไม่ได้นะ เขาเป็นคนกลาง เขาทำหน้าที่ของเขาไปเรื่อยๆ เขาก็ได้ของเขาไปเรื่อยๆ นะ ตัวเขาเองนี่เขาพูดให้ฟัง

นี่มันก็มี ! คนที่ไม่วิ่งเต้นนะ แต่เขาทำหน้าที่การงานของเขาไป แล้วบุญกุศลมันให้ผล แต่เราไปมองคนที่วิ่งเต้นแล้วได้ผลประโยชน์เราถึงบอกว่า เอ๊ะ.. แล้วมันทำดีได้ดีมีที่ไหน นี่แล้วคนทำชั่วมันไม่เห็นได้ชั่วเลย

ทำดีไม่ดี.. ทำชั่วไม่ชั่ว.. หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า “ในเมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ สถานะของมนุษย์นี่มันเป็นวิบาก มันเป็นผล” เราทำคุณงามความดีมาแล้วนี่ เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์ พอเป็นมนุษย์แล้ว ถ้ามนุษย์ทำดีทำชั่วนี่มันก็ต้องมีผลต่อไป แต่เพราะผลที่มันเป็นมนุษย์นี่แหละ นี่ท่านบอกว่า...

“ถ้าลมหายใจขาดวันไหน ไอ้ทำดีทำชั่วนี่มันจะตอบสนองทันทีเลย”

แต่นี่ลมหายใจเรายังมีอยู่ใช่ไหม เพราะลมหายใจนี้เรามีอยู่ เราถึงได้สถานะของมนุษย์นี้มา แล้วสถานะของมนุษย์นี่มันเป็นผล มันเป็นวิบาก ผลจากการทำคุณงามความดีมา

ทีนี้ผลจากการทำคุณงามความดีมา พอได้สิ่งนี้มาแล้ว เราจะทำดีหรือทำชั่วต่อไปล่ะ... ถ้ามันทำความชั่ว มันทำความชั่วแต่ความชั่วมันยังไม่ให้ผลมัน เพราะมันยังมีลมหายใจอยู่ มันได้วิบากจากความดีมา วิบากจากความดี เห็นไหม เพราะเราได้สถานะของมนุษย์นี่มันได้วิบากอันนั้นมา วิบากอันนี้มันรองรับอยู่

ฉะนั้นความดีความชั่วมันก็ขุ่นอยู่ในใจนี้ มันไม่มีสบายใจหรอก แต่เพราะสถานะของมนุษย์นี่มันรับสิ่งนี้ไว้ แต่พอลมหายใจขาดตูม ! พอสถานะของมนุษย์หมดไป มันไปตามแรงขับนั่นล่ะ ตอนนั้นแหละที่มันจะให้ผล นี่ไงผลของวัฏฏะไง !

ฉะนั้น บอกว่า “ทำดีได้ดี มันจะจริงหรือ” มันไม่เชื่อ ! นี่สังคมเป็นอย่างนี้มาตลอดนะ

ฉะนั้น นี่มันเป็นประเด็นหนึ่ง... แล้วเขาพูดไปเรื่อย เขาภาวนามา แล้วเขาบอกว่า เขามีชีวิตของเขามา ประสบความสำเร็จทางโลกมาพอสมควร แล้วก็ปฏิบัติมาเยอะ ปฏิบัติตามแนวทางต่างๆ มันก็ไปไม่รอด

แล้วตอนนี้ไม่อ่าน เพราะเหมือนกับอ่านแล้วมันไปกระทบบุคคลอื่น ครูบาอาจารย์องค์อื่นไง นั่นแหละ อู้ฮู... จะอย่างนั้นๆ มาเรื่อย ..

สุดท้ายแล้วนะ เขาไม่เชื่อใครเลย... ดี ! เราถึงบอกว่า “เขามีวาสนา เขาไม่เชื่อใคร ! เขาไม่เชื่อใครนะ” เขาไม่เชื่อเพราะว่าเขาบอกว่า...

 

ถาม : เขาก็ได้ไปปฏิบัติมาหลายที่ แล้วมันก็ไม่เชื่อ เลยค้นหาแนวทางใหม่ ก็ได้อ่านและฟังเทศน์ของหลวงพ่อชา เรื่องกุญแจภาวนา ไปเจอเว็บบอร์ดของหลวงพ่อเข้า เรื่องหลวงตามหาบัว กับแม่ชีแก้ว ก็เกิดตระหนักขึ้นมาว่า...

“ทางธรรมและทางโลกก็คงเหมือนกัน คือถ้าเราไม่ทุ่มเททั้งชีวิต คงเอาดีไม่ได้หรอก ทุ่มเทก็ต้องให้ถูกทาง ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาเปล่า”

ตอนนี้เริ่มปฏิบัติ นั่งสมาธิวันแรกประมาณ ๒๐ นาที ขยับเป็น ๓๐ นาที ๔๐ นาที ๗-๘ วันมาเรื่อย จนถึงปัจจุบันนี้ (นี่มาถึงคำถามแล้ว) คำถามที่จะถามหลวงพ่อคือ..

เมื่อประมาณวันที่ ๕ จิตสงบลง เหมือนมีอาการวูบนิดๆ แล้วเกิดมีแสงสว่างขึ้น คล้ายๆ คนเอาไฟมาส่องหน้า ตอนเกิดขึ้นรู้สึกเหมือนใจสั่น เกิดความกลัวก็บอกตัวเองว่าให้ตั้งสติอย่ากลัว ให้ดูเฉยๆ จะอยู่นานเท่าไรก็อยู่ไป จะมาก็มา ไม่มาก็ไม่มา... นั่งต่อมาก็เกิดอีก ความรู้สึกเหมือนมันเกิดนานขึ้นๆ แล้วพอออกจากสมาธิแล้ว ลึกๆ เหมือนกับยังกลัวอยู่

หลวงพ่อ : อันนี้ ! อันนี้สำคัญ นี่ข้อต่อไป นี่คำถามนะ ต่อมาเขาเขียนมาด้วยว่า...

ถาม : วันนี้ได้อ่านบท (ได้อ่านในเว็บไซต์) “บุคคลเป็นสัปปายะ” เมื่ออ่านถึงตอนหลวงปู่มั่นท่านดูแลพระลูกศิษย์ของท่านอย่างไร และหลวงตาบัวท่านรู้สึกอย่างไร เมื่อสิ้นหลวงปู่มั่น ! ก็น้ำตาไหลพราก สะอึกสะอื้น มันไหลออกมาเอง รู้สึกเหมือนเราตัวคนเดียว แล้วจะปฏิบัติไปได้อย่างไร เพราะตอนนี้ก็อายุมากแล้ว ไม่รู้ว่าชาตินี้จะเหลือเวลาให้ปฏิบัติอีกนานแค่ไหน

หลวงพ่อ : นี่เวลาเขาไปอ่าน เห็นไหม เวลาเราพูดถึงระหว่างหลวงปู่มั่นกับหลวงตา ระหว่างครูบาอาจารย์ที่มีความสัมพันธ์กัน

“วันนี้ได้อ่านบท “บุคคลเป็นสัปปายะ” เมื่ออ่านถึงตอนหลวงปู่มั่นท่านดูแลพระลูกศิษย์อย่างไร และหลวงตาท่านรู้สึกอย่างไร เมื่อสิ้นหลวงปู่มั่น ! น้ำตาไหลพราก”

คนถ้าใจเป็นกุศล เวลาเราพูดนี่เราพูดเพื่อเป็นกุศลนะ เวลากุศลหมายถึงว่า จิตที่เป็นกุศลมันจะเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์ไปหมด ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านมีที่พึ่งที่อาศัย..

เราจะบอกว่า ที่เราพยายามเน้นให้เห็นว่า “ถ้าของจริง ! ครูบาอาจารย์ บุคคลที่เป็นสัปปายะ อย่างเช่น หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านจริง แล้วประพฤติปฏิบัติรู้จริงนี่ มันไม่ใช่อามิสสินจ้างไง”

มันไม่มีอามิสสินจ้าง ! มันไม่ต้องการให้ใครยอมรับ ! มันไม่ต้องการสิ่งใดๆ เลย ! แต่ความจริง ความซาบซึ้งใจ.. ความซาบซึ้งใจของลูกศิษย์ เวลาสิ้นหลวงปู่มั่นแล้วหลวงตาท่านมีความรู้สึกอย่างไร เพราะหลวงตาท่านพรรณนาขึ้นมาในใจ แต่ท่านไม่พูดให้ใครฟัง เพิ่งมาพูดให้ฟังตอนหลังๆ นี่แหละ

ดูตอนหลังๆ เห็นไหม ว่าพอหลวงปู่มั่นเสียไปแล้วนี่ พระก็รุมอยู่ทั่ว สุดท้ายแล้วพอจัดศพให้เรียบร้อยแล้ว พระต่างคนต่างกลับที่พัก ท่านถึงแอบมาคนเดียว มานั่งอยู่ปลายเท้าศพไง แล้วนั่งรำพันขึ้นมาในใจ

เพราะคนนั่งรำพันขึ้นมาในใจ นี่ดูสิครูมวย เห็นไหม ครูมวยกับลูกศิษย์ อยู่ในยิมต่างๆ เห็นไหม เวลาโค้ชมันสอนนักกีฬา โค้ชเขาสอนเทคนิคทุกอย่างมาหมดเลย ว่าต้องอย่างนี้ๆ แล้วเราผ่านมาๆ ประสบความสำเร็จมาตลอด มันซาบซึ้งใจมาก !

นี้ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านปฏิบัติมา แล้วหลวงปู่มั่นท่านสอนมาทีละขั้นตอนๆ เห็นไหม

เวลาติดสมาธิ.. ก็บอกว่า “ติดสมาธิ !”

ออกใช้ปัญญามากเกินไป.. ก็บอกว่า “ออกใช้ปัญญามากเกินไป !”

ไอ้คนทำนี่มันก็ทำ ติดสมาธิมันก็ชื่นใจ มันก็จะถลำไปเต็มที่เลย กว่าจะดึงกลับเข้ามาได้ก็ อู้ฮู.. ล่อกันยิมแทบพังเลย

พอดึงกลับมาแล้ว พอไปทำปัญญาก็ไปกันเลยเถิดอีก จะไปดึงกลับมาอีก อู้ฮู... กว่าจะดึงกลับมานะก็เถียงกันอยู่ครึ่งวันค่อนวัน เถียงกันอยู่อย่างนั้นแหละ

อันนี้แหละมันฝังใจ ! ความฝังใจเพราะอะไร เพราะเราผิดพลาดไป ท่านก็ทำให้เราเข้าที่เข้าทางได้ เราจะหลงทางไปทางไหน ท่านก็ดึงเรากลับมาได้ แล้วพอมาสิ้นท่านไป โอ้... ท่านรำพันขึ้นมา ท่านพูดให้พระฟังเอง เวลาท่านเทศน์ท้ายเทปอยู่ที่บ้านตาด

“บัดนี้ ! สิ่งที่จะพึ่งพาอาศัยเราก็ได้ล่วงไปแล้ว แล้วจิตดวงนี้มันไม่ฟังใคร”

ท่านรู้ถึงตัวเอง “จิตดวงนี้มันดื้อ มันไม่ฟังใคร มันไม่มีเหตุผล มันไม่ลงใครหรอก แล้วคนที่ลงก็ล่วงลับไปแล้ว แล้วบัดนี้เราจะพึ่งใคร ! บัดนี้จะพึ่งใคร ! เราจะไม่มีที่พึ่งอีกแล้วนะ” เห็นไหม รำพันมา...

เพราะเวลาได้ประโยชน์ มันก็ได้ประโยชน์มา แต่กว่าที่จะได้ประโยชน์มานะ ตอนที่เถียงกันนี่ เถียงกันหน้าดำหน้าแดงเลย แต่การเถียงนี้เถียงเพราะอะไร เถียงเพราะว่ามันไปประสบไง เหมือนเราไปทำงานอยู่ แล้วคนมาติว่างานของเราผิด.. งานของเราผิด ใครจะยอม เพราะงานมันอยู่กับมือ ก็ยังทำอยู่นี่บอกว่า “ผิดได้อย่างไร.. ผิดได้อย่างไร”

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันรักษาของมันอยู่ แล้วอาจารย์บอกว่า “ผิด ! ผิด !” มันก็ใส่กันเต็มที่เลยน่ะสิ เพราะการเถียงกันนี่เถียงกันตาดำตาแดง แต่เถียงหาเหตุหาผล เถียงกันนี่ไม่ใช่ทิฐิมานะ เถียงไม่ใช่เถียงแบบคนพาล

คนพาลเอาชนะคะคานกัน นี่ไม่ใช่อย่างนั้น เถียงเอาความจริง พอได้ความจริงมานี่แพ้ทุกที ท่านบอกทีไรก็หน้าแตกทุกที พอทีหลังขึ้นไป พอท่านบอกว่า

“อย่างนี้ผิด...” ไม่กล้าเถียงเลยนะ ไม่กล้าเถียง

ท่านบอกว่า “มันน่าจะเป็นอย่างที่เราแพ้มานั่นล่ะ.. มันน่าจะเป็นอย่างนั้น” ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเหตุผลนะ แต่ถ้ามันไม่มีครั้งที่เป็นมานะเถียงหัวชนฝาเลย เพราะเราทำกับมือ แล้วท่านบอกว่า “ไม่ใช่ !”.. ไม่กล้าเถียงเลยนะ

พอเถียงๆ ไปมันคิดได้ พอสติมันคิดได้นะ “มันน่าจะเป็นอย่างครั้งที่แล้วน่ะ” ฉะนั้นไม่กล้าเถียง หลบไปก่อน แล้วไปพิสูจน์เอา แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

เถียงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ! ไม่เถียงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ !

เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านไปแล้ว ท่านประสบความจริงไปแล้ว ท่านล่วงหน้าเราไปแล้ว ท่านรู้จริง ! แต่ไอ้เราไม่จริงนี่มันต้องคัดค้านอยู่แล้ว พอคัดค้านไป เถียงขนาดไหนมันก็สู้ไม่ได้หรอก แต่มันก็จะเถียง นี่มันจะเถียงทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นเวลาสิ้นไป นี่มันถึงเห็นคุณค่ามากไง ไอ้คุณค่าอย่างนี้ ถ้าใจเป็นกุศลนะ...นี่เวลาเราพูดทีไรเราก็กระเทือนใจทุกที แต่มันก็อยากพูด เพราะอะไรรู้ไหม มันอยากพูดเพราะว่ามันเป็นบุคลาธิษฐาน ! มันอยากพูดให้พวกเรานี่ได้คิด เพราะทุกคนมีพ่อมีแม่ ทุกคนมีปู่ย่าตายาย ให้ทุกคนรู้จักบุญคุณของญาติโยมของตัวเอง ให้สังคมรู้จักที่สูงที่ต่ำ

สังคมมันก็มีลูกศิษย์มีอาจารย์กันมาทั้งนั้นแหละ ถ้าลูกศิษย์ครูบาอาจารย์มันเคารพของมันนะ สังคมนี้มันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข นี่เราก็อยากจะพูด เราพูดเพราะว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นตัวอย่าง ท่านเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นคติที่ดีของเรา

ฉะนั้นพูดแล้วนี่พูดให้คนได้สำนึก ! ชอบพูด เราพูดบ่อยๆ พูดให้คนได้สำนึก พูดให้คนได้คิด !

เราก็คิดเรานี่เห็นไหม เป็นวิทยาศาสตร์ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาค ทุกคนมีทุกอย่างเหมือนกัน... มันเหมือนไม่จริงไง มันคนเหมือนคน

แต่คนมันจะโตมามันต้องมีพี่เลี้ยงของมันมา มันมีพ่อมีแม่ของมันมา แล้วพ่อแม่เลี้ยงเวลาเลี้ยงขึ้นมานะ พอโตขึ้นมาทำราชการสูงส่งขึ้นมา พ่อแม่เป็นชาวนาแต่ไม่กล้าบอกนะว่าแม่ฉันเป็นชาวนา จะบอกว่าแม่ฉันเป็นนางฟ้า อวดเขาไปเรื่อย ใจมันไม่ยอมรับไง ยิ่งสูงมันยิ่งไม่ยอมรับ

แต่นี่ถ้ามันยอมรับ มันต้องยอมรับของมัน ถ้ายอมรับอย่างนี้มันถึงเป็นประโยชน์ เห็นไหม

ฉะนั้นย้อนกลับมานี่ ย้อนกลับมา...

ถาม : เมื่อนั่งประมาณวันที่ ๕ จิตเริ่มสงบลง มีอาการวูบนิดๆ แล้วเหมือนมีแสงสว่างขึ้น คล้ายกับใครเอาไฟส่องหน้า ตอนเกิดขึ้นรู้สึกเหมือนว่าใจสั่น เกิดความกลัวก็บอกตนเองว่าให้ตั้งสติ อย่ากลัว ให้ดูเฉยๆ จะอยู่นานเท่าไรก็อยู่ได้ จะมาก็มา จะไปก็ไป ไม่มาก็ไม่มา.. ต่อมานั่งอีกก็เกิดอีก ความรู้สึกเหมือนว่าเกิดนานขึ้นๆ แล้วออกจากสมาธิแล้ว ลึกๆ ก็ยังกลัวอยู่

หลวงพ่อ : นี่เราจะบอกให้ฟังว่า เวลาเรานั่งสมาธิไปนี่นะ “นี่พันธุกรรมทางจิต”

พันธุกรรมของจิตนะ ดูสิ พันธุกรรมทางพืช เมล็ดพันธุ์พืชแต่ละชนิด ถ้าเป็นทุเรียน ปลูกลงไปมันก็เป็นทุเรียน ถ้าเป็นส้ม ปลูกลงไปก็เป็นส้ม เราทำนาลงปลูกข้าวก็เป็นข้าว แม้แต่ข้าวยังมีสายพันธุ์ของข้าว.. ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว แต่ละสายพันธุ์มันก็แต่ละสายพันธุ์

จิตของคนเวลาภาวนาไป มันไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องการันตีบอกว่าจะไม่เจออะไร จะเป็นอย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย ! มันเป็นไปตามพันธุกรรมของมัน

นี้คำว่าพันธุกรรม... นี่จิตดวงนี้ ผู้ที่ปฏิบัติอยู่นี่ดีอย่างหนึ่ง พอเจอสิ่งใด เห็นไหม “นี่ถึงจะกลัวก็รู้ว่ากลัว ถึงจะอย่างไรก็รู้ว่ามันเกิดขึ้น” ทีนี้ในการปฏิบัติ.. ในทางปฏิบัติที่เขาใช้วิปัสสนาเขาบอกว่า..

“นี่ถ้าจิตมันลง เห็นแสงนี่เกิดนิมิต เห็นทุกอย่างนี่มันจะเป็นความเสียหายทั้งหมด”

เป็นความเสียหายทั้งหมด... มันก็เหมือนกับบอกว่าเราติ.. คนเกิดมาแล้วนะต้องเกิดมาได้รูปร่างส่วนสัดเหมือนกันหมด ต้องมีความสูงเท่านั้น ต้องมีรูปร่างเท่านั้น คนที่รูปร่างความสูงไม่ได้เท่านี้คือคนไม่ดี คือคนผิด... มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

คนสูง คนต่ำ คนเกิดมานี่ ลักษณะของคนไม่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เวลาจิตภาวนาไปนี่มันไม่เหมือนกันหรอก ! ไม่มีใครเหมือนกัน !

พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ก็ไม่เหมือนกันซักองค์หนึ่ง ! การปฏิบัติของพระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ องค์ ไม่เหมือนกันเลยซักองค์เดียว ! วิทยานิพนธ์ของใครไม่เหมือนกันเลย ! ทางวิชาการไม่เหมือนกันเลย !

ฉะนั้นเวลาจิตมันลงไปแล้วนี่ ถ้ามันจะเกิดแสงอะไรขึ้นมา เห็นไหม เกิดแสงก็ตั้งสติไว้ ถ้ากำหนดพุทโธ หรือกำหนดอานาปานสติ กำหนดสิ่งใดเป็นคำบริกรรมไว้ ให้กำหนดไว้ชัดๆ !

แสงนั้นถ้าเราเป็นคนที่มีกำลังมาก ถ้าเราเป็นคนที่มีอำนาจวาสนามาก แสงนั้นมันจะแสดงตัวจนถึงระดับของเขา แล้วถ้าเราไม่ตกใจ... เราไม่ตกใจ เราไม่ยึดแสงนั้นเป็นสมบัติของเรา เราตั้งสติของเราไว้ แสงนั้นมันจะหายของมันไปเอง ! หายไปเพื่ออะไร... “หายไปเพื่อจิตเข้าสู่ความสงบ.. ฐานของมันให้มันมั่นคงของมัน”

เพราะจิตปกตินี่เราจะเห็นไม่ได้ แต่พอพุทโธไป พอจิตมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เห็นไหม นี่กึ่งโลกกึ่งธรรม !

ถ้ากึ่งโลก... คือความรู้สึกที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกสามัญสำนึกนี่ล่ะ ความรู้สึกด้วยสายตานี่ล่ะ เราจะเห็นเป็นปกติ เห็นโดยธรรมชาตินี่ล่ะ เห็นโดยวิทยาศาสตร์ เห็นด้วยโลก เห็นอย่างนี้นี่คือมนุษย์ ! นี่คือโลกียะ ! นี่คือสัจธรรม ! แต่พอจิตมันปฏิบัติเข้าไป มันพัฒนาการของมันเข้าไป เห็นไหม

กึ่งโลก ! กึ่งโลก คือความรับรู้สึกของวิทยาศาสตร์ ความรู้สึกของสามัญสำนึก ความรู้สึกของเราธรรมดานี่แหละ... แต่กึ่งธรรม ! กึ่งธรรม พอมันรู้จักตัวมันเองไง

“ธรรมะคือสัจธรรม ! สัจธรรมคือพุทโธ !”

สัจธรรมคือสัจจะ คือตัวรู้... ตัวรู้คือตัวอวิชชาที่มันอยู่กับผู้รู้นั้น.. พอจิตมันเริ่มเข้าสู่ตัวของมันเอง เห็นไหม มันจะเข้าสู่กึ่งธรรม !

กึ่งธรรม คือเข้าสู่สัจธรรม พอเข้าสู่สัจธรรมนี่มันจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เพราะจิตของคนแต่ละระดับมันไม่เหมือนกัน ถ้าจิตของแต่ละคนนะ ถ้าจิตมันคึกคะนอง หรือจิตมันได้สร้างอำนาจของมันมา มันจะเห็นเป็นแสง เห็นต่างๆ

เห็น ! เห็นไหม ผู้รู้... สิ่งที่ถูกรู้ แสงนั้นเกิดจากอะไร.. เกิดจากจิตที่มันสงบ มันรู้ ! ถ้าจิตที่มันรู้ ถ้าเราไม่กลัวนี่ถูกต้องแล้ว แล้วไม่กลัวแล้วก็ไม่ต้องไปหวั่นไหว พอไม่ต้องไปหวั่นไหวนะ เรากำหนดพุทโธ เราไม่ต้องการรู้แสงนั้น เราต้องการรู้ความสงบของใจ

เวลาเรามีเงินในกระเป๋าเรา แล้วเราต้องการจำนวนเงินเท่าไรในตัวของเราใช่ไหม เงินที่เป็นสมบัติของเรา แต่เงินสาธารณะ เงินในธนาคารชาตินี่เป็นของชาติไทย แต่ไม่ใช่ของเรา

แสง ! แสงมันเป็นเรื่องปกติของอำนาจวาสนาบารมีของเรา แต่ตัวผู้รู้คือตัวจิต ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือกำหนดอานาปานสติ กำหนดอะไรก็ได้ หรือมีสติกำหนดสิ่งต่างๆ ให้กำหนดสิ่งนั้นชัดๆ พอกำหนดสิ่งนั้นชัดๆ แล้วมันจะเข้ามาสู่เงินของเราเอง เห็นไหม เงินที่หมุนไปในท้องตลาดนี้อันหนึ่ง เงินที่เป็นสมบัติส่วนตนนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง

จิตที่มันสงบเข้ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่นะ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเท่านั้นที่จะเอาใจนี้พ้นจากกิเลส ไม่มีใครสามารถพาใครไปพ้นกิเลสได้ กิเลสเป็นของส่วนบุคคล กิเลสนั้นทำให้จิตดวงนั้นมาเกิด จิตดวงนั้นมาเกิดเพราะว่ามีกิเลสใช่ไหม สัจธรรม.. อริยสัจนี่จะเข้าไปชำระล้างกิเลส

ทีนี้ชำระกิเลสมันต้องเข้าไปสู่ใจนั้น เข้าไปสู่ใจตัวที่ปฏิสนธิจิต เข้าไปสู่ตัวใจที่มาเกิดนั้น ถ้าเข้ามาสู่ตัวใจที่มาเกิดนั้น กำหนด พุทโธ พุทโธ หรือกำหนดอะไรต่างๆ มันจะเข้าไปสู่ตัวใจนั้น ถ้าเข้าไปสู่ตัวใจนั้น... จิตมันสงบ เห็นไหม เงินเราล้นเซฟ ล้นกระเป๋าหมดเลย จนไม่รับรู้สิ่งใดๆ เลย

พุทโธ พุทโธ เข้าไป หรือว่าใช้อานาปานสติเข้าไปอยู่อย่างนี้ แล้วถามว่า “แล้วจะทำอย่างไรต่อไป”

กำหนดที่นั่ง ๕ นาที ๑๐ นาทีนี่ ต้องนั่ง ! ต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม เพราะสมาธิ.. ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเกิดสมาธิ นี่พอจิตมันสงบแล้วให้ออกใคร่ครวญในชีวิตประจำวัน

ชีวิตประจำวัน ! ชีวิตประจำวันคืออะไร นี่ร่างกายที่เกิด ยืน เดิน นั่ง นอน การเป็นอยู่นี่พิจารณา ถ้าพอจิตมันสงบแล้วนี่มันจะสังเวช จิตพอสงบแล้ว ความเป็นไปโดยปกติมันสลดสังเวชมาก แต่จิตไม่สงบนะ การดำรงชีวิตประจำวันนี่มันเป็นเราไง มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่เบื่อนะ ! ทุกคนเบื่อหน่ายภาระรุงรังในใจนี้ เบื่อหน่ายมากเลย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร.. ไม่รู้ ! เบื่อหน่ายมากแต่ก็ไปไม่ได้

แต่ถ้าทำจิตสงบเข้ามา พอจิตสงบนะ พอมันเห็นนี่มันเบื่อหน่าย ! เบื่อหน่ายคลายกำหนัด... เบื่อหน่ายสังเวช.. จิตมันเป็นอิสระขึ้นมา มันเป็นขั้นตอนที่ว่า พอเบื่อหน่ายแล้วมันปล่อยวาง มันมีสถานะที่จิตนี้เป็นอิสรภาพได้

แต่ในปัจจุบันนี้ศึกษาธรรมะมาแล้วนะก็ว่า “กายก็ไม่ใช่เรา... ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่เรา.. เป็นสมมุติทุกอย่างเลย” มันก็เบื่อหน่ายนะ.. เบื่อหน่ายแล้วอึดอัด ! ขัดข้อง ! ไม่รู้จะไปไหน เบื่อหน่ายแต่ไปไม่รอด แล้วก็อัดอั้นตันใจอยู่นั่นแหละ

นี่ศึกษามาแล้วเป็นอย่างนี้ สุตมยปัญญา...

แต่ถ้าภาวนามยปัญญา โลกุตตรปัญญา เห็นไหม มันเห็นจริง มันเบื่อหน่ายแล้วมันสลัด ! เบื่อหน่ายแล้วมันสลัด โอ้โฮ ! โอ้โฮ !

ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดบ่อย ถ้าใครเห็นอย่างนี้นะ จะกลับมาถามตัวเองว่า “ทำไมมึงโง่อย่างนี้ ! ทำไมมึงโง่อย่างนี้ !” ของอยู่กับเรานี่ไม่รู้...

แล้วรู้ไปหมดนะ รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ โอ้โฮ.. นิพพาน.. ปล่อยวาง.. สักแต่ว่า.. แต่หัวใจมันโดนกระทืบอยู่ หัวใจมันโดนกิเลสขี่คออยู่ แต่ธรรมะพระพุทธเจ้านี่ปากเปียกปากแฉะเลย

แต่ถ้าเราทำใจของเราสงบเข้ามา... สงบเข้ามานะ เห็นไหม มันกลับไปสู่ฐีติจิต กลับไปสู่ต้นเหตุ กลับไปสู่ที่มา กลับไปสู่ที่ปฏิสนธิจิต พอปฏิสนธิจิตนี้มาเกิดในครรภ์ ในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ แล้วกลับไปสู่ที่นั่น จะไปชำระล้างกันที่นั่น

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นจริง นี่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริง จะเกิดแสงสว่าง เกิดต่างๆ นี่ มันไม่มีใครเอาไฟฟ้ามาเปิดให้เราดูหรือหลอกเราได้หรอก เพราะเรารู้ของเราเอง เพราะเราอยู่ในที่รโหฐานของเรา ไม่มีใครมาหรอก ถ้ามันมีแสงอะไรเกิดขึ้นมานี่เราก็รับรู้นะ

บางคนไม่มีก็คือไม่มีนะ บางคนบอกมีแสงๆ ใครปฏิบัติต้องมีอย่างนี้ๆ นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ บางคนปฏิบัติไปแล้วไม่มี อย่างเวลาปฏิบัติก็มีบ้างหรือไม่มีบ้าง อย่างเรานี่มีบ้างหรือไม่มีบ้าง บางทีก็มี ! พุ่งเข้ามาใส่เลย ไอ้ตรงนี้เราก็ผ่านไป บางทีมันก็ไม่มี มันสงบไปเฉยๆ มันไม่ใช่มีทุกเที่ยวไป

แต่ถ้าคนที่เป็นจริงนะ ถ้ามันมีของมันนะก็มีอยู่อย่างนั้นเลย แต่ก็วางไว้ไง ไม่ใช่ไม่รับรู้... รู้แล้ววางไว้ คือเหมือนกับของในที่พักเราไง ก็แขวนไว้นะ ก็ไม่เกี่ยวไง ก็ของเราเอง แต่เราก็ไม่ไปสนใจมันไง แต่ของเราเองเดี๋ยวก็มองว่า.. ไอ้นี่ของเรา ! เข้าก็มอง.. ไอ้นี่ของเรา ! ออกก็มอง.. ไอ้นี่ของเรา ! โอ้.. เอ็งจะบ้า ก็แขวนไว้มันไม่หายอยู่แล้ว

นี่ถ้ามันวางแล้วมันก็วางไว้อย่างนั้นแหละ มันวางไว้ก็เป็นของเราอยู่นั่นแหละ แล้วเวลาจิตมันสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา เดี๋ยวมันจะเกิดปัญญาที่ดีขึ้น ! ปัญญาที่ดีขึ้น สรรพสิ่งมันจะดีขึ้นนะ

อันนี้เดี๋ยวจะพูดหลังไมค์ว่าทำไมถึงพูดอย่างนี้ เขาไปพูดถึงชีวิตเขานี่ อื้อฮือ ! แล้วเขาเขียนมาดีมากๆ นี้เพียงแต่พูดให้เขามั่นใจ เพราะเราดูตรงที่ว่าจากที่เขาไปศึกษามา แล้วบอกเห็นไหม “บุคคลเป็นสัปปายะ” เราพูดถึงหลวงปู่มั่น พูดถึงหลวงตา เขาอ่านแล้วน้ำตาไหลพรากเลย มันสะเทือนใจไง

จิตที่เป็นกุศลนะ ! อะไรที่เป็นกุศล เห็นไหม จิตที่เป็นกุศล สิ่งใดเป็นกุศลมันจะเป็นดี... จิตที่เป็นอกุศล เห็นสิ่งใดเป็นคุณงามความดีมันไม่เอานะ มันชอบสิ่งที่มันชอบนั่นแหละ

ถาม : ๒๓๗. ภาวนาแล้วลมหายใจดับ เกิดอึดอัด ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรครับ...

ผมได้ภาวนาก่อนนอน บริกรรมประกอบลมหายใจไปเรื่อยๆ เกิดอาการค่อยๆ ลมหายใจสั้นลงเรื่อยๆ จนกระทั่งคล้ายกับถูกดูด บีบให้ลมหายใจค่อยๆ ดับ แต่ขณะนั้นรู้สึกขบวนการของลมและร่างกายตลอดต่อเนื่องนะครับ ก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นแบบนี้หลายครั้งแล้ว ผมก็ทำต่อเนื่องไม่ได้หยุด มันดับไปเป็นช่วงสั้นๆ ปล่อยให้มันดับ พยายามบริกรรมต่อเนื่อง แต่รู้สึกอึดอัด เกิดกลัวขึ้นมาก็พยายามเค้นตัวเอง กลับมาที่หายใจให้เป็นปกติ แต่พอตกกลางคืนหลับไป รู้สึกว่ากายทิพย์หลุดออกไปข้างนอก แล้วก็ออกไปหมุนๆๆ เหมือนพายุอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับเข้ามา

ก่อนหน้านี้เคยหลุดตอนนอนไปประมาณ ๒ ครั้ง แต่ไม่เคยออกไปหมุนแบบนี้ จึงเรียนถามว่า...

๑. ถ้าเกิดว่ากรณีลมหายใจค่อยๆ สั้นลง แล้วถูกบีบให้ดับ เป็นแบบนี้อีก เพราะอยู่ๆ ก็เกิดความอึดอัดและกลัวขึ้นมา และไม่เคยผ่านตรงนี้ไปได้สักที กลัวจนต้องพยายามเค้นลมให้เหมือนเดิม ถ้าเจอแบบนี้อีกครั้ง ควรจะทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเรากำหนดนะ.. เรากำหนดพุทโธ อะไรต่างๆ กำหนดลมหายใจ นี่กรณีเขาลมหายใจค่อยๆ สั้นลง ถ้ากำหนดลมหายใจอานาปานสติ

กำหนดลมชัดๆ ! กำหนดลมไว้ชัดๆ !

สิ่งใดจะเกิดขึ้นนะ เกาะลมไว้ ถ้าเกาะลมไว้นะ ถ้าจิตเราไม่สงบ จิตเราไม่ลงนะ เราจะเกาะลมไว้ เห็นลมนี่ชัดเจนมาก แล้วลมชัดเจนมาก ลมจะใส เห็นเป็นท่อลมต่างๆ นี่ ให้เราชัดเจนไว้กับลม สละชีวิตเลย เกาะกับลมไว้ไม่ตายหรอก ! แต่ถ้าเราไม่มีสติ เรามีความเผลอนั่นแหละตาย !

ฉะนั้น พอถ้าเราเกาะลมไว้นะ.. เกาะลมไว้นะ อาการต่างๆ.. คนเรานะ ดูอย่างคนเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายของคนนี่แบบว่าความแข็งแรงของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เราต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งของร่างกาย

จิตใจก็เหมือนกัน ! จิตใจที่เกาะลมหายใจอยู่นี่ ถ้ามันไม่สงบ คือว่ามันยังสงบไม่ได้ แต่ความเข้มแข็งของใจนี่มันจะทำให้เราไม่ไขว้เขว แต่ถ้าคนอ่อนแอ เกาะลมอยู่เหมือนกัน พอเกาะลมอยู่เหมือนมันแบกลมบ้าง มันเกาะลมบ้าง ลมจะมีน้ำหนักเกินไปบ้าง เห็นไหม เพราะร่างกายมันไม่เข้มแข็ง พอร่างกายไม่เข้มแข็งนะ เราเกาะลมไปเรื่อยๆ เกาะลมไปเรื่อยๆ พัฒนาไปอย่างนี้ ร่างกายมันจะเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ

ฉะนั้น ! เวลามันจะบีบให้ดับ.. ให้ดับนี่ อาการของคนมันแตกต่าง “อาการของใจไม่ใช่ใจ !” อาการที่มันบีบคั้นเข้ามานี้คือพันธุกรรมทางจิต ! นี่มันไม่พ้นกลับไปที่พันธุกรรมทางจิต ทำไมเราบีบแต่คนอื่นไม่บีบ.. แล้วบางทีก็บีบ บางทีก็ไม่บีบ.. มันเป็นอะไรทำไมถึงบีบ ทำไมถึงไม่บีบ... อาการมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้าเราตั้งสติของเราไว้นะ.. อยู่กับลม ! เกาะลมไว้เลย ตายให้ตาย ตายกับลมนี่แหละ ไม่มีตายหรอก ! มันไม่ตาย แต่กลัวตายไง เพราะมันเอาความตาย เอาการบีบ เอาสิ่งที่หายไปนี่ กิเลสมันเอามาต้านไง กิเลสเอามาเบี่ยงเบนให้เราไม่มีโอกาสได้ทำงาน

คนทำงานบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า งานต้องสำเร็จใช่ไหม นี่ทำครึ่งๆ กลางๆ ทำได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มันก็เอาเหตุผลนี้มาต่อรอง พอมาต่อรองแล้วเราก็เชื่อมัน เห็นไหม

นี่ไง “ธรรมะฟากตาย” เอาตายเข้าใส่เลย ! เอาตายเข้าใส่เลย ! ถ้ามันจะเอาให้ตาย นี่อะไรตายขอดูก่อน มันหายไปเอง

ไอ้นี่มันอยู่ที่เวรกรรมของคน มันมีมากน้อยแตกต่างกันไป นี่ไม่เคยผ่านสิ่งนี้ไปเลย ถ้าไม่เคยผ่านไปนะ เวลามันขาด ลมหายใจขาดนี่คือตกภวังค์หลับ พอมันขาดไปเลย ถ้าอยู่กับลมมันไม่ขาด ! ถ้ามันไม่รู้จักลมเราก็ต้องว่าไม่รู้ ไม่ใช่ขาดหายไป ขาดหายไปนี่คือสติขาด แต่ถ้ามีสติอยู่นะมันจะไม่ขาด

แล้วอย่างถ้าลมชัดๆ ! พุทโธชัดๆ ! ทุกอย่างชัดๆ ! ถ้าชัดๆ คือสมบูรณ์... สติสมบูรณ์ คำบริกรรมสมบูรณ์ นี่ความเพียรสมบูรณ์ ถ้ามีความสมบูรณ์.. ลมหายใจชัดๆ !

ลมหายใจชัดๆ นี่มันความเพียรสมบูรณ์ พอความเพียรสมบูรณ์ เหมือนนักกีฬาเลย เริ่มต้นการเป่านกหวีด เริ่มการแข่งขัน นี่เวลามันสมบูรณ์ใช่ไหม บอลก็ ๔๕ นาที มวยก็กี่นาทีต่อยกล่ะ พอเป้ง ! สมบูรณ์ ! พอสมบูรณ์ไปนะ พอ ๒-๓ นาทีหลับแล้ว...บอลเริ่มเล่นก็จบแล้ว..

นี่ถ้าสมบูรณ์คือความสมบูรณ์ของมัน ถ้ากำหนดลมชัดๆ ! กำหนดลมชัดๆ ! “ชัดๆ” คือสติสมบูรณ์ ลมหายใจสมบูรณ์ ลมหายใจก็เหมือนกับคำบริกรรม เพราะจิตเราไปเกาะอยู่ที่ลมหายใจ ! ลมหายใจสมบูรณ์... สติสมบูรณ์.. นี่จิตใจสมบูรณ์ แล้วเวลา ๔๕ นาทีนี่แข่งขันไปใครจะได้ประโยชน์

นี่กำหนดลมชัดๆ ชัดๆ ไป แล้วพอแข่งขันไปนะมันทั้งอ่อนล้า ทั้งคู่ต่อสู้ใช้เทคนิคเพื่อจะเอาชนะเรา กิเลสมันต้องการเอาชนะ ต้องการต่างๆ เราก็ต้องมีสติปัญญาของเรา เพื่อจะให้ผ่านอย่างนี้ไปให้ได้ ถ้าผ่านอย่างนี้ไปให้ได้ก็จบ !

ถาม : ๒. กรณีกายทิพย์หลุดออกไปทำนู้นทำนี่ แต่ขณะนั้นมีสติรู้แบบกึ่งๆ ถ้าเจอสภาพแบบนี้อีก ควรจะระมัดระวังอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : นี่ถ้ามันหลุดนะ คนหลุดนี่มี ! มีบ้าง และมีผู้มาถามเรื่องหลุดออกไป บางคนหลุดออกไปจนย้อนกลับมาเห็นตัวเอง แล้วหลุดออกไปหลายๆ อย่าง ความหลุดออกไปอย่างนี้ มันก็เหมือนของเดิมของตัวเองไง ตัวเองทำสิ่งใดไว้ เวลาผลมันตอบมา มันตอบมาอย่างนี้ เวลาเราปฏิบัติแล้วนี่ เราจะให้ราบรื่นดีงาม นี่ดูสิเวลาคนฉ้อโกง คนทำสิ่งต่างๆ เห็นไหม เขาทำของเขานี่ผลมันเกิดแล้ว แล้วอีกคนหนึ่งไม่เคยทำสิ่งใดเลย แล้วจะให้ผลมันเหมือนกันได้อย่างไร

จิตก็เหมือนกัน จิตเวลามันมีของมันอย่างนี้ เวลาถ้ามันหลุด เห็นไหม เราต้องระวังรักษาตั้งแต่ยังไม่หลุด นี่พุทโธ พุทโธ หรือมีสติตลอด มันไม่หลุดหรอก คนเราจะหลุด.. วูบ ! วูบ ! หายไปเลย ! วูบ ! หลุดไปเลย !

ฉะนั้นถ้ามันจะหลุด เราต้องมีสติไว้.. มีสติไว้ มีสติพร้อม ค่อยๆ ดึงไว้ๆ จนมันไม่หลุด เวลาภาวนาไปนะ จิตที่มันคึกคะนองเวลาจิตมันลงปั๊บนี่ เห็นตัวเองไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ เห็นตัวเองไปนั่งสมาธิอยู่บนก้อนเมฆอย่างนี้ นี่มันไปแล้ว ! มันไปแล้ว ! แต่มันไปแบบนี้ถ้าไปใหม่ๆ เราก็ตกใจ

แต่ถ้ามันมีสติปัญญา มันรั้งไว้.. มันรั้งไว้ เราจะเอาความสงบที่นี่ เราไม่ต้องเอาความสงบจากข้างนอก เราไม่ต้องการฤทธิ์เดชอย่างนั้น แต่มันเป็นของมันไป

กรณีอย่างนี้ มีคนมาถามเราอยู่หลายคน แล้วเขาทำได้จริง เราก็พยายามให้ตั้งสติไว้ อย่างเช่น ถ้านอน.. นี่ยังดีมันเป็นตอนนอน หลับไปแล้วนี่เราช่วยอะไรไม่ได้เลย ทีนี้ก่อนหลับให้พุทโธ ถ้ามีลมหายใจก็ให้มีลมหายใจพร้อมกับหลับไป พอมันหลับไปแล้วนี่มันค่อยๆ แก้ไป.. แก้ไป.. แก้ไป แล้วมันจะหาย

ทุกอย่างแก้ไขได้ ! ถ้าแก้ไขไม่ได้ การภาวนาทำไปไม่ได้ ! มันทำของมันได้ สิ่งนี้แก้ไขได้ ! กายทิพย์ไง “กายทิพย์” ก็คือจิตวิญญาณหลุดออกไปนั่นแหละ

แต่เวลาฝัน.. เวลาคนเราบอกว่าไม่เคยหลุดเลย เวลานอนอยู่ฝันว่าไปเที่ยวกรุงเทพฯ นะ บางคนฝันว่าไปสวรรค์นู้นเลย นี่มันไปแล้ว ไปด้วยความรู้สึก เห็นไหม อันนั้นเราดึงของเราได้ เราแก้ไขของเราได้

ฉะนั้น เรื่องนี้มันต้องแก้ไขตั้งแต่ยังไม่หลับ แล้วถ้านั่งสมาธิแล้วมันจะหลุด รั้งได้ ! รั้งได้ ถ้าคนมีสติสมบูรณ์นะ เวลาทำสมาธิ.. ทำสมาธินี่ อู้ฮู.. ลำบากลำบนไปหมดเลยนะ แต่พอทำสมาธิแล้วนะ ในสมาธิคิดได้... ในสมาธิคิดได้เขาเรียกว่ารำพึง !

ถ้าในสมาธิคิดไม่ได้ เกิดปัญญาไม่ได้ ในสมาธินี่คิดได้ ! ในสมาธินี่คิดได้ แต่คิดเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ เรื่องโลกๆ เลย พอทำสมาธิแล้วนี่มันรำพึงไป มันคิดในสมาธิกึ่งๆ

ฉะนั้น เวลาถ้าเรากำหนดลมหายใจจนชัดเจน จนควบคุมได้หมดนะ ไอ้กายหลุดนี่เราควบคุมได้หมดเลย มันควบคุมได้หมด ! เหมือนขับรถนี่แหละ เราบังคับพวงมาลัยนี่เราควบคุมรถทั้งคันได้หมดเลย

จิตใจถ้ามีสมาธิพร้อม มีสติพร้อมนะ เราควบคุมใจเราได้หมดเลย ถ้าไม่ควบคุมใจได้ เราจะออกวิปัสสนาได้อย่างไร เราออกวิปัสสนา พอวิปัสสนาไปแล้วมันทำงานมาก แล้วมันบังคับให้จิตเข้ามาพักอย่างไร

โอ้โฮ.. เวลาปฏิบัติไปพอชำนาญแล้วนะ มันควบคุมได้หมดแหละ แต่ถ้ายังไม่ชำนาญนะ นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ พอไม่ได้แล้วเราก็ไม่ได้ด้วย เพราะอะไร เพราะเราพูดไปแล้ว คนฟังมันไม่รู้เรื่อง เออ.. ไม่ได้ก็ไม่ได้

แต่ถ้าคนจริงๆ แล้วมันได้ ! แต่มันได้ต่อเมื่อระดับจิตของมันพัฒนาเป็นชั้น.. ชั้น.. ชั้นขึ้นมา จิตมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราขยันหมั่นเพียรนี่จิตมันจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราทำงานจนชำนาญ พอเราชำนาญแล้วเราควบคุมงานได้หมดเลย มันจะดีขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แล้วพอจิตมันไปสงบแล้วนี่ รำพึงได้ ! ถ้ารำพึงไม่ได้นะ เวลาจิตสงบแล้วพิจารณากายนี่มันรำพึงไปหากายได้อย่างไร

แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ มันจะเห็นกายขึ้นมาเลย แต่ถ้ามันไม่เห็นนี่เราต้องรำพึง ! “รำพึง” ก็คือการคิดในสมาธินั่นแหละ แต่มันคิดในสมาธิ มันคิดออกไป สมาธิมันไม่คิดฟุ้งซ่าน มันคิดออกไปที่เป้าหมาย เป้าหมายอยู่ที่ไหน ซัดเข้าไปที่เป้าหมายนั้นเลย ถ้ามันมีกำลังปั๊บ สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาให้เห็นทันทีเลย เกิดวิปัสสนาต่อไปทันทีเลย อย่างนี้เพียรชอบ ! งานชอบ !

เพียรชอบ... ชอบในอะไร ชอบในความเพียร..

งาน.. งานคือวิปัสสนา งานในอะไร งานในจิต งานในเวทนา งานในกาย งานในสติปัฏฐาน ๔ งานอะไร.. นี่ไง งานชอบ ! เพียรชอบ ! โอ้.. เวลามรรคมันเดินไปแล้วจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้

ฉะนั้นให้ตั้งใจ อย่าไปตื่นเต้น เวลาเราพูดนี่นะ แบบว่าเขาถามหลักไมล์แรก แต่เราไปตอบถึงนู้น หมื่นกิโลเมตรนู้นเลย ไอ้คนฟังก็งง หลวงพ่อไปไกลเกินไปแล้ว ตามไม่ทัน

ฉะนั้น ถ้าเอาหลักกิโลเมตรแรกก็กำหนดลมชัดๆ ! กำหนดลมชัดๆ ! อ้าว.. ก็เต่ากับกระต่ายจะออกจากหลักแข่งด้วยกัน ก็ต้องหลักกิโลเมตรแรก ถ้าหลักกิโลเมตรแรก คือพุทโธชัดๆ ! ลมชัดๆ ! สติชัดๆ ! หลักกิโลเมตรแรก ออกเดินด้วยกัน เดี๋ยวไปด้วยกัน แล้วจะไปถึงปลายทางด้วยกัน

ชัดๆ ! มันสมบูรณ์ในตัวมันเอง สติพร้อมชัดๆ ! สติพร้อม คำบริกรรมพร้อม หัวใจพร้อม ทุกอย่างพร้อม มันชัดเจนหมดเลย !

สติเผลอ ! ทำงานที่อื่น พุทโธอยู่ที่นี่ แต่หัวใจมันไปอยู่กรุงเทพฯ นู้นเลย มันเลยไม่ชัดไง ก็พุทโธอยู่ พุทโธตั้ง ๒ วันแล้วมันไม่ลงเลย... ก็มึงพุทโธอยู่นี่ แต่หัวใจมึงไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วมึงจะลงได้อย่างไรล่ะ

มันไม่ชัดเจนเห็นไหม พุทโธชัดๆ สมบูรณ์มาก ! มันสมบูรณ์ด้วยสติ สมบูรณ์ด้วยคำบริกรรม สมบูรณ์ด้วยการกระทำ สมบูรณ์หมดเลย ชัดๆ !

อันนี้สิไม่อยากจะตอบ แต่มันเขียนมาแล้ว ตอบพอเป็นพิธีไปเฉยๆ ไม่อยากจะมีปัญหาอีกแล้ว

ถาม : ๒๓๘. ไม่มั่นใจในคำสอนของครูบาอาจารย์ แล้วไปสอบถามท่านอื่น จะทำให้สงฆ์แตกแยกไหม เรื่องมีอยู่ว่าโยมและเพื่อนๆ หลายคนไม่มั่นใจในคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง (ไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่เอ่ยอะไรทั้งสิ้น) สาเหตุที่ไม่มั่นใจก็เนื่องจากว่า ท่านเทศน์ชักชวนให้คนไปบวชกับท่าน และมีการพยากรณ์เต็มไปหมด และก็มีพระอริยเจ้า

หลวงพ่อ : เขาเขียนมาเยอะมาก นี่ผ่านไปก่อนนะ.. ผ่าน ! เราจะตอบเฉพาะเรื่องว่า “สงฆ์แตกแยกหรือเปล่า”

ถาม : โยมจึงกราบเรียนถามอาจารย์ว่า..

๑. เมื่อพวกเราที่เป็นฆราวาส และสนใจปฏิบัติธรรม เมื่อเกิดความสงสัยในข้อวัตร และคำสอนของอาจารย์ที่สอน เราจะไปขอคำแนะนำและสอบถามจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่เรามั่นใจได้หรือไม่ ว่าคำสอนและข้อวัตรเรานั้นถูกต้องหรือไม่ เพื่อจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติของเราต่อไป และถ้าเราทำเช่นนั้นจะเป็นการทำให้สงฆ์แตกแยกไหมครับ

หลวงพ่อ : นี่สงฆ์แตกแยก ! คำก็สงฆ์แตกแยก สองคำก็สงฆ์แตกแยก... ถ้าสงฆ์มันแตกแยก แล้วเราทำให้สงฆ์สมานกันนี่ เราเป็นกรรมหรือเปล่า... คำว่าสงฆ์แตกแยก นี่มันแตกแยกตรงไหนล่ะ แล้วก็ว่าสงฆ์แตกแยกๆ ความจริงอย่างกรณีที่เราพูดอยู่นี้

เขาบอกว่า “นี่พระทะเลาะกัน ว่าสงฆ์แตกแยก”

เราบอกว่า “ไม่ใช่ ! เป็นบุคคลทะเลาะกัน”

พระองค์หนึ่งคือสมมุติสงฆ์ พระหนึ่งองค์กับพระหนึ่งองค์คุยกัน หรือพระหนึ่งองค์เถียงกันหน้าดำหน้าแดง ไม่ใช่สงฆ์ !

สงฆ์ ! ต้องในสังคมสงฆ์นั้น เช่น สงฆ์อย่างน้อย ๔ องค์ขึ้นไป พอ ๔ องค์ขึ้นไป แล้วสงฆ์นั้นต้องเป็นสงฆ์ที่มีสัมมาทิฏฐิ รักใคร่กลมเกลียว ทำงานร่วมกันด้วยความรักใคร่สามัคคี แล้วมีพระองค์ใดองค์หนึ่งไปยุแหย่ให้ความสามัคคี ความดีงามในสงฆ์นั้นแตกแยกจากกัน นั้นถึงเรียกว่า “สงฆ์แตกแยก !”

แต่ในเมื่อมีการปฏิบัติต่อสงฆ์นี่ ในการปฏิบัติกัน ยังค้นคว้ากันอยู่นี่ แล้วมันเป็นบุคคล คือว่าเราถามจากอาจารย์กับอาจารย์.. อาจารย์คือคนเดียวกันใช่ไหม แล้วคนเดียวกันนี่มันจะแตกแยกกันตรงไหนล่ะ

คำว่า “แตกแยก” คือ เขาสมานสามัคคี เขามีความดีงามของเขา แล้วเราไปยุแหย่ให้แตกแยก

แต่นี่ความจริงเราก็เห็นอยู่แล้วใช่ไหม ว่าเข้าไปนี่สงสัยในคำสอน เราสงสัยในข้อวัตร... ไอ้นี่มันก็ไม่สามัคคีแล้ว เพราะเราสงสัยใช่ไหม

อย่างเช่น วัดเรานี่เขาก็สงสัยนะ พอเข้ามาในวัดนี่ โอ้ย.. วัดทำไมเป็นอย่างนั้น วัดเป็นอย่างนี้ ความสงสัยอย่างนี้ สงสัยจากความไม่รู้ของเขา เพราะเขาเคยอยู่วัดบ้านมา เขาไม่เคยเห็นนะ นี่ใครมาถึงก็ไม่กล้าเข้ามาหรอก เขาบอกไปหาวัดนี้ ขี่รถวนอยู่นั่นแหละ... วนอยู่นั่นแหละ หาวัดที่นี่ไม่เจอนะ แล้วพอเข้ามา โอ่.. นี่วัดเหรอ โอ้.. ไม่เคยเห็นนะ นึกว่าสวนบ้านคน

นี่ไง นี่เพราะความไม่เข้าใจของเขา เห็นไหม ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ เขาเข้ามาแล้วเขาก็สงสัย ไอ้ความสงสัยอย่างนี้ คือสงสัยเพราะว่าเขาไม่มีพื้นฐาน แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรากำหนดพุทโธ เรามีครูบาอาจารย์ เราก็ปฏิบัติตามแนวทางของเรามาแล้ว แล้วถ้าเราสงสัยในข้อวัตร ไอ้สงสัยอย่างนี้มันสงสัยแบบมีเหตุมีผลนะ..

ไอ้สงสัยที่เราไม่รู้นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะมันไม่เคยเห็น ไปวัดเขาก็นึกว่ามีโบสถ์ มีวิหารเนาะ เขาก็วนอยู่นั่นแหละ วนแล้ววนอีกนะ ไม่เห็นโบสถ์ซักหลัง ไม่เห็นทรงไทย ไม่เห็นอะไรเลย แล้ววัดมันจะอยู่ไหนล่ะ ไม่กล้าเข้ามาหรอก นึกว่าสวน นึกว่าไร่ของใคร ก็ไม่กล้าเข้ามานะ เวียนไปเวียนมา พอเข้ามาแล้วก็เกิดความสงสัย

นี่ก็เหมือนกัน ความสงสัยนะ ! ความสงสัย ถ้าในการปฏิบัติ เห็นไหม “สงสัยคือเกิดนิวรณธรรม” แต่นี้ไอ้ที่ว่าสิ่งที่เราสงสัยในข้อวัตร เราสงสัยในคำสอน แล้วเราไปถามพระองค์อื่น ทำให้สงฆ์แตกแยก... ไม่แตกแยกหรอก ! ทำให้สมานสามัคคี

โอ้.. ถ้าสงฆ์แตกแยกนะ ไม่อยากจะพูดนะ แต่เราเปรียบเทียบไง ถ้าแตกแยกนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพยายามแก้หลวงตา เห็นไหม อู้.. เถียงกันหน้าดำหน้าแดงเลย แล้วอย่างนั้นแตกแยกไหม

หลวงปู่มั่นน่ะ เวลาหลวงตาท่านติดสมาธิ ๕ ปี แล้วเราบอกว่า “นั่นน่ะ สัมมาสมาธิมันไม่มีสมุทัยในจิตเว้ย สมาธิของท่านมีสมุทัยมันไม่สัมมาหรอก มันมีสมุทัยปนอยู่ด้วย” อย่างนี้แตกแยกไหม...?

นี่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงเลย ระหว่างหลวงตากับหลวงปู่มั่นนี่ซัดกัน อู้ฮู... วัดแทบแตก พอเถียงกันจนจบแล้วหลวงตาท่านลงมานะ “เราไม่น่าเลย... เราก็มามอบตัวเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ทำไมถึงดื้อดึง ต้องเถียงท่านขนาดนั้นล่ะ”

แต่พอจิตมันก็คิดนะ “อ้าว... ก็เถียงด้วยความเคารพ เราก็มีความสงสัยในใจของเราอยู่เหมือนกัน ก็เราประพฤติปฏิบัติมานี่ เราก็ได้สัมผัสของเรา เป็นปัจจัตตังของเราเหมือนกัน”

ฉะนั้นความที่เป็นปัจจัตตังนี้ มันทำให้เรารับรู้ของเราเองไง อันนี้เราก็ยึดของเราไง ทีนี้พอยึดของเรา นี่เราก็สงสัยของเรา ทีนี้ท่านบอกว่าเราผิด พอบอกว่าผิดแล้วเราก็มีเหตุผลไง เหตุผลว่าของเราเป็นอย่างนี้ ก็สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า เราก็เป็นสัมมาสมาธิไง อ้าว.. สัมมาสมาธิมันจะเป็นอย่างไร สัมมาสมาธิก็เรียนกันมาด้วยกัน นี่ไม่เป็นสัมมาสมาธิเหรอ... โอ้.. โดนโป้งเลย !

“สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัยเว้ย ! แต่สัมมาสมาธิของท่านนี่สมุทัยทั้งตัวเลย”

โอ๋ย.. สงฆ์แตกแยกไหม ! สงฆ์แตกแยกหรือเปล่า !

นี้มันไปถามครูบาอาจารย์มานี่มันไม่แตกแยกหรอก แต่คำว่าแตกแยกต้องฟังคำนี้ ! “สมานสามัคคี.. เขาอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แล้วเราไปยุแหย่ให้เขาแตกแยกกัน อย่างนั้นคือสงฆ์แตกแยก” แล้วต้องเป็นคณะสงฆ์

อันนี้เรากำลังแสวงหากันนี่หูดำหูแดงเลยนะ กำลังดำผุดดำว่ายกันอยู่นี่ จะหาทางออกไง แล้วเวลาไปพูดธรรมะกันบอกว่าสงฆ์แตกแยก มันจะไม่มีสงฆ์ขึ้นมาให้แตกแยกน่ะซิ มันต้องมีพระที่ดีๆ ขึ้นมาก่อน

ถาม : ๒. การที่ท่านบอกว่าเราไม่ควรยุ่งเรื่องภายนอก ควรจะหันมาพิจารณาภายในนั้น โยมอยากถามว่า การที่ครูบาอาจารย์บอกว่า การดูใจตัวเองหรือการพิจารณานั้น เราควรจะอยู่อย่างไร เราควรจะพิจารณาข้างในอย่างเดียวหรือคะ แต่ถ้ามีเรื่องที่มาเกี่ยวข้อง และมีผลกระทบต่อเรา และอาจจะมีผลเสียต่อเรา และคนอื่นในแนวทางของการปฏิบัติ เราควรจะพิจารณาไหม

หลวงพ่อ : ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่ใช่คนน่ะสิ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “กาลามสูตร.. ไม่ให้เชื่อแม้แต่คนบอก” ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้แต่มันจะเข้ากับความคิดของเราได้ ไม่ให้เชื่อ !

“ไอ้นี่แค่ความเชื่อ.. ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ! มันต้องเป็นความจริง” แล้วอาศัยความเชื่อขึ้นมานี่ อาศัยความเชื่อกดความจริงของเราไว้ไง

อาศัยความเชื่อ เห็นไหม ว่าถ้าพิจารณาจากภายในนี่มันเป็นความเชื่อ แล้วพอเป็นความเชื่อแล้วเราต้องพิจารณา

แม้แต่เวลาธรรมะเขาสอนกัน แม้แต่เรื่องของศีลยังต้องมีปัญญา เรื่องของทานยังต้องมีปัญญา... เรื่องของทานยังต้องมีปัญญาใคร่ครวญว่าควรทำที่ใด ไม่ควรทำที่ใด... แล้วนี่เราปฏิบัติขึ้นมา เราก็ต้องมีจิตใจของเรา เราใคร่ครวญของเราว่าควรทำที่ใด ควรปฏิบัติอย่างใด

ทีนี้พอปฏิบัติอย่างใด เห็นไหม นี่เวลาพระสารีบุตรบอกว่า “ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า !”

จนพระไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยว่า “พระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า !”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิมนต์พระสารีบุตรมาเลย พอพระสารีบุตรมา

“สารีบุตร ! เธอไม่เชื่อเราเหรอ”

“ไม่เชื่อ ! ไม่เคยเชื่อเลย !”

“ทำไมถึงไม่เชื่อเราล่ะ”

“อ้าว.. ก็ผมปฏิบัติของผมน่ะ ! มันเกิดมรรคญาณขึ้นมาตามความเป็นจริงน่ะ ! มันฆ่ากิเลสต่อหน้าผมน่ะ ! มันทำลายกิเลสในหัวใจผมหมดเลย ! การกระทำอันนี้ ผมเชื่ออันนี้ต่างหากล่ะ”

แหม... พระพุทธเจ้าสาธุ ! สาธุนะ ! พระพุทธเจ้าสาธุเลยล่ะ !

นี่ไง ไม่เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! พระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า !

แต่เวลาพระสารีบุตรท่านพูดนะว่า “เมื่อก่อนเชื่อ... เมื่อก่อนยังภาวนาไม่เป็นก็แหม.. ไม่มีคนสอนก็ต้องเชื่อ แต่พอทำความจริงขึ้นมา แล้วมันเกิดขึ้นมา”

อันนี้ก็เหมือนกัน “พิจารณาข้างใน... พิจารณาข้างใน” พิจารณาข้างในเอาอะไรพิจารณา...

เพราะมันมีพระมาถามเราบ่อย เวลามาแก้ปัญหานะ เวลามาหานี่... มาถามปัญหาว่า “จิตเป็นอย่างนั้นๆ”

เราบอกว่า “พิจารณากาย”

“นี่อาจารย์ที่วัดก็บอกว่า พิจารณากายๆๆ”

เราถามกลับว่า “พิจารณากายนี่พิจารณาอย่างไรล่ะ.. เขาให้พิจารณาอย่างไร..”

เขาก็บอกว่า “พอจิตสงบแล้วให้พิจารณากาย”

แล้วก็ตอบเป็นสูตรสำเร็จเลย ใครมาก็พิจารณากายๆ

“แล้วพิจารณาอย่างไร”

“ ไม่รู้ !”

อย่างเรานี่นะไม่รู้ว่าเงินมีค่าเท่าไรนะ แล้วบอกว่าให้นับเงินอย่างนั้นๆ นะ เราจะสอนเขาได้ไหม เรายังไม่รู้ว่าค่าของเงินนี่ ๕ บาท ๑๐ บาท เรายังไม่รู้จักเลย แล้วใครมาบอกว่า นี่เอาเงินไปซื้อของ แล้วเงินมีค่าเท่าไรล่ะ

คำว่าพิจารณากาย นี่เขาให้พิจารณาภายใน พิจารณาไปเลย นี่เอาอะไรพิจารณา.. แล้วพิจารณาตรงไหน.. พิจารณาอย่างใด..

ของที่เราไปซื้อนี่นะ ของมีคุณค่ามาก อย่างเพชรนิลจินดานี่มันต้องใช้เงินมาก ของที่ไม่มีคุณค่านี่เขาก็ใช้เงินส่วนน้อย เงินนี่มันใช้ระดับไหนถึงจะได้คุณค่าแค่ไหน

อันนี้ก็เหมือนกัน พิจารณา.. พิจารณาตรงใด มันพิจารณากาย เราถามกลับเลย “แล้วพิจารณากายอย่างไร”

เขาก็บอกว่า “พิจารณากายสิ !”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ”

“ก็พิจารณากายสิ !”

“แล้วให้พิจารณาอย่างไรล่ะ”

“ก็พิจารณากายสิ !” ไอ้นี่มันเป็นสูตรสำเร็จจำมาไง

การพิจารณากายนะ.. ถ้าใจมันสงบ แล้วมันเห็นกาย ! เห็นกาย เห็นอะไร บางคนเห็นกระดูก บางคนเห็นเส้นผม ขน ฟัน หนัง เขาเห็นอะไร การเห็นนั้นนะ เห็นขึ้นมาแล้วนี่เราจับสิ่งใดได้หรือไม่ได้ เห็นแล้วขยายส่วนแยกส่วนอย่างใด

แล้วการเห็นมันเห็นแตกต่างหลากหลาย บางคนเห็นอวัยวะเป็นชิ้นๆ บางคนพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย ! โดยไม่เห็นกายคือใช้ปัญญาใคร่ครวญ โดยใช้ปัญญาแยกแยะ

ถ้าการพิจารณา มีครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า “นี่พันธุกรรมทางจิตไง” แล้วแต่ว่าคนมันจะเป็นมากเป็นน้อยก็ว่ากันไป

เหมือนคนเป็นโรคภัยไข้เจ็บ คนเป็นโรคมากโรคน้อย โรคควรรักษาด้วยยาชนิดใด ถ้าโรคร้ายแรง ก็รักษาด้วยยาที่มีคุณภาพ ถ้าโรคพอประมาณก็รักษากันไป ถ้าเป็นไข้หวัดไม่ต้องรักษามันหายเอง ถ้าเป็นไข้หวัดนะ ไปนอนห่มผ้าให้อบอุ่นหน่อยเดียว แล้วดื่มแต่น้ำอุ่นๆ จบ !

นี่ก็เหมือนกัน การพิจารณาอย่างนี้มันเป็นสูตรสำเร็จ ! สูตรสำเร็จอย่างนี้ในวงกรรมฐานเราไม่ค่อยเชื่อนะ เพราะธรรมดาไม่ต้องถามคนหรอก ถามคอมพิวเตอร์ก็ได้ ไปกดคอมพิวเตอร์สิ พระไตรปิฎกนี่กดผั๊วะ ! ออกมาเลย ถ้าพูดถึงสูตรสำเร็จนี่ไม่ต้องถามคนหรอก ถามคอมพิวเตอร์ก็ได้ คอมพิวเตอร์ตอบพระไตรปิฎกดีด้วย

นี่พูดถึงเขาบอกว่าสงสัยไง...

ฉะนั้นเราถึงบอกว่า ถ้าคนมีอำนาจวาสนาบารมี มันจะมีจุดยืน จิตใจจะมีหลักมีเกณฑ์ แล้วเลือกสรร คัดเลือกแยกแยะว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก การประพฤติปฏิบัติมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ มันไม่ใช่แบบว่าทำสิ่งใด ใครทำแล้วต้องทำให้เหมือนกัน ไม่มีหรอก !

นี่เป็นหรือไม่เป็นตรงนี้ ถ้าเป็นนะ... เป็นนะ เวลาเข้าโรงพยาบาลไปนี่ หมอเขารักษาคนไข้แต่ละคน โรคแตกต่างหลากหลาย ให้ยาไม่เหมือนกันซักคนหนึ่ง เพราะโรคของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การภาวนานี่ ภาวนาเหมือนกัน พุทโธนี่แหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป พุทโธนี่มันเหมือนเข้าโรงพยาบาลมาแล้วนะ วัดความดัน พอวัดความดันแล้วขึ้นเท่าไร อ้าว.. ดูชีพจร เสร็จแล้วก็ตรวจโรค

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอพุทโธไป พอจิตมันเริ่มสงบนะ เอาละ... เห็นแสง ไม่เห็นแสง.. เห็นนิมิต.. นี่เริ่มแล้ว ! เริ่มคัดแยกแล้ว คัดแยกว่าควรจะรักษาอย่างไรแล้ว มันจะเริ่มเข้ามาแล้ว แล้วพอคัดแยกไปแล้ว มันจะพัฒนาไปอย่างไร โรคอย่างไรมันจะแสดงตัวออกมาแล้ว

นี่คนเป็น.! เขาภาวนาเป็นนะ เขาสอนเป็น !

ถ้าคนไม่เป็นนี่ก็ว่า “ทำใจให้สงบนะ แล้วพิจารณากาย…”

แล้วกายไหนล่ะ.. ก็กายที่แขวนไว้ในตู้ไง อาจารย์ใหญ่ที่แขวนไว้น่ะ เอ็งก็นั่งเพ่งมันสิ เอ็งมองมันนะ แล้วเดี๋ยวเอ็งจะบรรลุธรรม... ชาติหน้า ! เอวัง