ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลอกการบ้าน

๒o พ.ย. ๒๕๕๓

 

ลอกการบ้าน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาปัญหานี้ก่อน เรื่องนี้เอาอันนี้เลยเนาะ

ถาม : ก่อนหน้านี้เคยถามเกี่ยวกับคำภาวนาพุทโธ หรือว่าอานาปานสติ เพราะกังวลและสับสนมาก หลังจากที่หลวงพ่อแนะนำแนวทางว่า “เราต้องรู้จักหัดใช้อุบายอย่างอื่นด้วย”

เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสมาถือศีลที่วัดคืนหนึ่ง กระผมได้ตัดสินใจเปลี่ยนการใช้พุทโธเป็นอานาปานสติ ผสมกับการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ขณะเดินจงกรมโดยยึดลมหายใจที่ปลายจมูกเป็นหลัก เมื่อใดที่รู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ ก็คิดไล่ตามความคิดต่างๆ กลับมาจนถึงจุดเริ่มต้น เริ่มคิดเรื่องอื่นและเริ่มจับลมหายใจใหม่ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๓ ชั่วโมงจิตก็เริ่มสงบลง โดยเริ่มจากความคิดไม่ฟุ้งซ่าน ลมหายใจชัดเจนขึ้น และเวทนาตามร่างกายหายหมด

ร่างกายก้าวเดินไปอย่างนั้น แต่ความรู้สึกชัดเจนอยู่กับลมหายใจ แต่ด้วยความตื่นเต้นและดีใจ จึงทำให้ไม่สามารถประคองสติไว้ได้ สงบได้เพียง ๓ วินาทีก็กลับมาเหมือนปกติ ขณะนั้นมีความสุขมาก เดินยิ้มอยู่คนเดียวได้เป็นครึ่งชั่วโมง เหมือนคนบ้าเลย เพราะจิตเสื่อมมาหลายเดือน และพยายามเร่งเท่าไรก็ไม่ยอมสงบสักที หลังจากวันนั้นมา ยังทำให้จิตสงบไม่ได้อีก เนื่องจากปฏิบัติไม่ต่อเนื่องและพะวงอยู่กับการงาน คำถามของผมคือ

๑.กระผมอยากขอให้หลวงพ่อช่วยแนะนำ แนวทางในการพิจารณาจิตและพิจารณาธรรมว่าควรทำอย่างใด เพื่อเป็นข้อคิดเอาไว้ใช้ในการตรึกธรรมะ เพราะในการตรึกพิจารณากายหรือพิจารณาเวทนา ผมพอจะมีแนวทางอยู่บ้าง แต่สองอย่างแรกนี้ไม่เคยรู้เลยครับ

๒.อยากได้กำลังใจจากหลวงพ่อมากๆ ครับ เพราะคนที่เรารู้จัก เขาไม่ได้ปฏิบัติกัน ใครๆ ก็ชอบพูดว่า “อย่าทำมากเกินไป คนเราต้องเดินสายกลาง” หรือไม่ก็ “ตอนนี้เราอยู่ทางโลก สึกแล้วไม่ได้เป็นพระ ปฏิบัติขนาดนั้น หนักไปไม่ดีหรอก” เป็นต้น กระผมก็เข้าใจว่าคนอื่นเขาเป็นห่วงเรา แต่ว่าฟังบ่อยๆ ก็ทำให้ท้อใจลึกๆ เหมือนกันครับ

หลวงพ่อ : อันนี้นะ ไอ้ที่บอกว่าอยากให้เราช่วยแนะนำพิจารณาจิตและพิจารณาธรรมว่าควรทำอย่างใด เพื่อเป็นข้อคิดในการตรึกธรรมะ เพราะในการตรึกพิจารณากายหรือการพิจารณาเวทนา ผมมีความเข้าใจอยู่แล้ว

ทีนี้เราจะตอบว่า การพิจารณา เห็นไหม การพิจารณาธรรม การตรึกในธรรม.. การพิจารณากาย หรือการพิจารณาเวทนา นี่มันเจาะลึก มันเจาะลึกกว่าพิจารณากายหรือพิจารณาธรรม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราแล้ว ปัญญาอบรมสมาธิ.. ปัญญานี่มันใช้ได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตโลกนะ ชีวิตการทำงาน ชีวิตของเรานี่ ชีวิตปกติเรานี่

ชีวิตปกติเรา ชีวิตที่เราคิดอยู่ ที่เราเกิดที่ความสัมพันธ์นี่ เราจะบอกว่าแม้แต่ธุรกิจก็ได้ แม้แต่การทำธุรกิจการทำกิจการนี่เราก็คิดได้ เพราะคิดนะ ถ้ามีสมาธิมันเป็นธรรมไง ถ้าไม่มีสมาธินะ ถ้าไม่มีสมาธิแบบโลกนี่ อย่างเวลาเขาประชุมบอร์ดกัน เห็นไหม เรื่องธุรกิจของเขานี่เขาประชุมบอร์ด เขาตกลงทางธุรกิจของเขา เขาประชุมกันนั่นน่ะโลกๆ ทั้งนั้นเลย เพราะสิ่งนั้นเขาพิจารณาของเขา เขาทำของเขา เพราะว่าเขาคิดแบบโลก

คิดแบบโลกคือคิดแบบมนุษย์ แบบสามัญสำนึก เห็นไหม แต่เราคิดโดยมีสติ พอมีสติ ถ้าเรามีสมาธิ.. สมาธินี่เวลาพิจารณานะ เวลาจิตสงบแล้ววิปัสสนา วิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม.. สติปัฏฐาน ๔ นี่การพิจารณาธรรม.. ธรรมะนี่ ธรรมะแต่มีสมาธิ นั่นล่ะมันก็เรื่องธรรมะ

เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งรอบกายนี้เป็นธรรมะหมดเลย.. นี่มันเป็นธรรมะ เป็นธรรมะต่อเมื่อจิตที่มันมีสติมีปัญญาขึ้นมา เรามองสภาพเป็นธรรมไง เหมือนเรามองนี่ ดูสิเราดูหนัง เห็นไหม หนังกับเรานี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันนะ หนังนี่เขาสร้างขึ้นมาให้เราดูใช่ไหม เราเป็นคนดูต่างหาก

แต่ถ้าเราแสดงหนังล่ะ เราเป็นผู้เล่นในหนังนั้นล่ะ เราเล่นผิดเล่นถูกนี่เราเป็นผู้แสดงเลย ชีวิตประจำวันเรานี่เป็นผู้แสดงเลย แต่พอเวลาเรามีสติขึ้นมา เห็นไหม เราดูหนัง เราไม่ใช่ผู้แสดง เราดูชีวิตเรา สติเราจิตเรานี่ดูชีวิตเรา พอดูชีวิตเราเพราะมีสติปัญญาใช่ไหม เพราะเรามีสติมีปัญญา นี่ธรรมะ ! เวลาตรึกในธรรม.. ตรึกในธรรม ถ้ามันตรึกในธรรมมันตรึกอย่างนี้

ฉะนั้นเขาบอกว่าพิจารณากายแล้วพิจารณาเวทนานี่ผมพอเข้าใจ แต่การตรึกในธรรม.. การพิจารณาจิต การพิจารณาธรรม

การพิจารณาจิต พิจารณาธรรมนี่ ถ้าวันไหนมีสตินะ วันไหนเรามีสติ เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาแล้ววันนั้นเป็นธรรมนะ โอ้โฮ.. มีความสุขมาก แต่ถ้าวันไหนเป็นโลกนะ มันไม่ลงไง โอ๋ย.. มันเดือดร้อนไปหมด มันเดือดร้อนมันอึดอัดไปหมดนะ นั่นล่ะโลกๆ เลย เพราะเราขาดสติ ขาดสมาธิ

ฉะนั้นถ้ามีสติ เห็นไหม ถ้าเรามีสติปั๊บ มันจะคิดสิ่งใดมันเป็นปัจจุบันไง แม้แต่เราคิดนะ บางทีคิดถึงตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราเป็นเด็กเรามีการศึกษาเรื่องไหนนี่ เราจะคิดตั้งแต่นุ่งขาสั้นมาเลย แล้วช่วงไหนชีวิตเราเป็นอย่างไร สิ่งใดมันจะฝังใจ เวลาเรามาคิดนะ พอเอาสิ่งนั้นมาตั้งมีสติ นี่เราใช้สติพิจารณาไป

พิจารณาไปนะ.. สิ่งนั้น ถ้าจิตมีสติมีสมาธินะสิ่งนั้นจะจืด เห็นไหม เป็นเหมือนลมพัดผ่านไป แต่ถ้าสติ สมาธิเราอ่อนนะ มันมีอารมณ์ความรู้สึก มันทุกข์ มันยึดมั่น มันมีรสชาติ แต่ถ้าเรามีสติ มีปัญญานะ มันจะไม่มีรสชาติไง

ความคิดมีไหม.. มี มีเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันแสดงออก เห็นไหม พอจิตมันแสดงออกขึ้นมา มันแสดงออกแล้วนี่มันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็เป็นอิสระใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่มีสตินะ มันมีรสชาติ มันยึด เหมือนกับเราเป็นผู้แสดงเราเป็นผู้เล่น แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เหมือนเราดูหนัง เราดูความคิดเล่นแต่จิตมันไม่เล่นด้วย จิตมันไม่เล่นด้วย เห็นไหม พอจิตมันไม่เล่นด้วยมันก็ปล่อยมา.. ปล่อยเข้ามา.. ถ้ามีสตินะ

นี่พูดถึงว่าถ้าการพิจารณาไง ให้แนะนำการพิจารณาจิตและการพิจารณาธรรม.. การพิจารณาจิตนี่ การพิจารณาจิตมันต้องจิตสงบนะ ฉะนั้นอย่างที่ว่า ถ้าจิตยังไม่สงบเราก็พิจารณาของเราอยู่ พิจารณาอารมณ์.. พิจารณาอารมณ์เพราะมันพิจารณาไม่ถึงจิต แต่ ! แต่ก็เป็นการกระทำเพราะผลไม้มันมีเปลือก เราจะกินผลไม้เราต้องปอกเปลือก

จิตมันมีขันธ์.. มันมีความรู้สึก ความคิดนี่มันคุมจิตอยู่ ฉะนั้นความคิดมันคุมจิตอยู่ ถ้าเราพิจารณาจนมันปล่อยขันธ์ เห็นไหม มันปล่อยขันธ์ก็เข้าสู่สมาธิ ถ้ามันปล่อยขันธ์ก็คือเปลือก พอปล่อยเปลือกไปแล้วนะ จิตเห็นอาการของจิต

ผลไม้มีเปลือก เปลือกคือความคิด คือขันธ์ ๕ ตัวเนื้อผลไม้คือจิต เห็นไหม จิตกับเปลือกมันอยู่ด้วยกัน นี่ผลไม้เวลาปอกเปลือกเสร็จแล้วนะ เปลือกมันก็ไม่มี ถ้าไม่กินมันก็เน่าเสีย แต่ถ้าเป็นจิตนะมันเป็นนามธรรม เกิดดับ.. เกิดดับ.. เกิดดับ.. จะปอกร้อยหน พันหน แสนหน ล้านหน มันก็กลับมาเหมือนเดิม แต่การปอกนี้คือการฝึกจิต.. การฝึกจิต การฝึกพิจารณาของมันขึ้นไป

ฉะนั้นการพิจารณาจิต เห็นไหม ถ้าจิตสงบขึ้นมา คือเราปอกเปลือกแล้วนี่มันถึงจิต นี้ถ้ามันยังไม่ได้ปอกเปลือกนี่มันอยู่ที่เปลือก เราใช้ความคิด คิดพิจารณาต่างๆ นี่มันพิจารณาที่เปลือก แต่ก็ต้องพิจารณา ถ้าเราไม่พิจารณาที่เปลือกมันก็เข้าสู่จิตไม่ได้ เข้าสู่จิตนี่มันเกี่ยวเนื่องกัน ของมันมีอยู่ เห็นไหม กายกับใจมันมีอยู่

เขาบอกว่าทุกอย่างนี่ก็เป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของความรู้สึก เรื่องของจิตใจทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าไม่มีร่างกาย.. ไม่มีร่างกายจิตจะอยู่ได้อย่างไร

กำเนิด ๔ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดในโอปปาติกะ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดในธรรมดา.. การเกิด จิตมันเกิด จิตมันมี ถ้าจิตมันเกิด การเกิดนี่เกิดบนสถานะอะไร สถานะนั้น มันมีสิ่งนั้นรองรับสถานะนั้นอยู่

ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ เราต้องไปพิจารณาจากสิ่งนั้น นี่เราเป็นมนุษย์ เห็นไหม มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันต้องพิจารณาจากสิ่งนี้ ถ้าไม่พิจารณาจากสิ่งนี้มันเข้าสู่จิตไม่ได้ เพราะจิต.. นี่จิตกำเนิด ๔ จิตมันเวียนตายเวียนเกิดมันเป็นอย่างไร

นี้ถ้ามันเป็นอย่างไร ทีนี้พอเราเกิดเป็นมนุษย์ พอสถานะของมนุษย์ เวรกรรมนี่สถานะของมนุษย์มันรับไว้ พอตายไปแล้วมันจะรู้ว่าใครทำดีทำชั่ว มันจะไปตามเวรตามกรรมนั่นล่ะ แต่ขณะที่วาระของความเป็นมนุษย์ วาระความดีที่สร้างมาเป็นมนุษย์นี่มันรองรับสิ่งนี้อยู่ ฉะนั้นมันรองรับสิ่งนี้อยู่เราถึงเข้าไม่ถึงตัวจิต ฉะนั้นการพิจารณาจิตมันต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามา.. นี่พูดถึงการพิจารณาจิตนะ

นี้การพิจารณาจิต ถ้ามันสงบเข้ามา แต่ยังเป็นการพิจารณาอยู่อย่างนี้ล่ะ อย่างนี้ถือว่า เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ.. ปัญญาอบรมสมาธิคือปัญญาอบรมให้เข้าถึงจิต ถ้าเข้าถึงจิตแล้ว เราค่อยมีสติปัญญา

สิ่งที่ทำมานี่ สิ่งที่ทำมา เห็นไหม อานาปานสติก็ได้ เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ไม่ใช่กำหนดพุทโธ แต่นี้คำว่าพุทโธ พุทโธนี่.. เราพูดหลายทีแล้วนะ คำว่าพุทโธนี่หลวงตาท่านยังพูดขนาดนี้นะ “เราชอบพุทโธ เราถึงสอนพุทโธ”

โดยความจริง ครูบาอาจารย์เราจะไม่เอาสิ่งใดเหนือสิ่งใด คือไม่เหยียบย่ำไง ไม่มีเอาสิ่งใดเหนือสิ่งใด สิ่งใดต่ำต้อยกว่าสิ่งใด คือเสมอเหมือนกันหมดกรรมฐาน ๔๐ ห้อง แล้วหลวงตาท่านบอกว่า “เราชอบพุทโธ” ไปฟังเทศน์หลวงตาทุกม้วนเลยท่านจะบอกว่า “เราชอบพุทโธ เราถึงสอนพุทโธ” ไม่ใช่เอาพุทโธนี้ไปเหยียบย่ำใคร

แต่ที่มันมีปัญหานี่เพราะก่อนหน้านี้เขาบอกว่า พุทโธนี้ไม่มีปัญญา.. พุทโธนี้เป็นสมถะ.. เขาติเตียนพุทโธก่อน เราถึงได้บอกว่า “ต้องกำหนดพุทโธ ! กำหนดพุทโธ” แต่กรรมฐาน ๔๐ ห้องนี่พุทโธก็ได้ อานาปานสตินี้มันก็เหมือนพุทโธ อานาปานสติก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิ.. คำว่าปัญญาอบรมสมาธิคือพิจารณาในธรรม เห็นไหม นี่มันแทนกันได้

เพียงแต่ที่เราบอกว่า ต้องพุทโธ.. ต้องพุทโธ.. เพราะถ้าไม่มีใครดูถูกเหยียดหยาม หรือไม่มีใครเอาไปเหยียบย่ำ เราก็ไม่พูดถึงขนาดนั้น แต่เพราะเขาเหยียดหยาม เหยียดหยามขนาดนั้น เราถึงออกมาปกป้อง

นี้คำว่าปกป้องคือเหมือนกับมีแต่พุทโธอย่างเดียวไง พุทโธก็ได้.. ธัมโมก็ได้.. สังโฆก็ได้.. มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย.. ตายๆๆๆ คิดถึงความตายนี่มันก็เหมือนกับพุทโธ... พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ คิดว่าตาย คิดว่าตาย คิดว่าตาย เห็นไหม นี้มันเป็นกรรมฐานเหมือนกัน มันใช้แทนกันได้

ฉะนั้นพอบอกว่าพุทโธ ถ้าอย่างอื่นจะผิดหมด.. ไม่ใช่ ไม่ได้พูดว่าอย่างนั้น เพียงแต่ว่า ถ้าใครทำสิ่งใดไม่ได้ เราให้ระลึกถึงพุทโธ พุทโธเรากอดไว้ เราพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ เหมือนคนจมน้ำ เราว่ายน้ำไม่เป็นแล้วตกลงไปในน้ำ มีพุทโธ พุทโธเหมือนขอนไม้อันหนึ่ง เราจะกอดขอนไม้ไว้เพื่อให้ชีวิตนี้รอด

นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาไม่เป็น เหมือนเราตกอยู่ในกามโอฆะ ตกอยู่ในวัฏฏะ เราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธของเรานี่ คือพยายามจะว่ายเข้าฝั่ง คือว่ายเข้าสู่ความสงบนี่ ถ้าทำได้ก็เป็นประโยชน์

ฉะนั้นถ้าเป็นอานาปานสติหรือสิ่งใดก็ได้.. แล้วอย่างการกระทำ เห็นไหม พอถ้าจิตสงบมันจะรู้ของมัน นี่เวลาปฏิบัติมันจะมีของมัน คำว่ามีนะคือว่าปัจจัตตังไง คือจิตนี้สัมผัส จิตนี้รับรู้ มันมีสัมผัส เหมือนเราเลย เรามีเงินเป็นของเรานี่ เราจะรู้ว่าเป็นเงินของเรา ถ้าเราไม่มีเงินเป็นของเราเลย มันก็เป็นเงินของคนอื่น

ทีนี้เงินของคนอื่นนะ เราเกิดในตระกูล ในครอบครัว เห็นไหม พ่อแม่ให้ คนนั้นให้ คนนี้ให้ มันก็คือเงินใช้ได้เหมือนกัน นี่ช่วยกัน มันก็ใช้ในการดำรงชีวิตเหมือนกัน แต่เราไม่ได้หาได้ขึ้นมาเอง เราไม่ได้ทำขึ้นมาเอง แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธ หรือเวลาเราภาวนาของเรานี่มันเป็นขึ้นมาเอง มันจะเป็นของมันขึ้นมาเอง

 

ถาม : ๒. อยากได้กำลังใจจากหลวงพ่อมากๆ คนที่รู้จักนี่เขาไม่ได้ปฏิบัติกัน ใครก็ชอบพูดว่า “อย่าทำมากเกินไป เราต้องเดินสายกลาง” หรือไม่ก็ “ตอนนี้เราอยู่ทางโลกแล้ว ไม่ได้เป็นพระแล้ว ปฏิบัติขนาดนั้นหนักไปไม่ดีหรอก”

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นเรื่องของงานนะ ถ้าเป็นเรื่องของงานเราก็ทำงานของเรา ถ้าเราปฏิบัติได้เราก็ปฏิบัติของเรา การปฏิบัตินี้ก็เหมือนทำงาน แต่ทำงานทางจิตใจ ดูสิเวลาป่าไม้ เห็นไหม เขารุกป่า เขาทำลายป่ากัน นี่มันทำลายสภาวะแวดล้อมทั้งหมดเลย แล้วเขาก็พยายามมาฟื้นฟูกัน การฟื้นฟูนี่นะลงทุนมากกว่าการทำลาย สภาวะแวดล้อม ดูแม่น้ำแหล่งน้ำนี่โรงงานอุตสาหกรรมทำน้ำเสีย ทำน้ำเสียเพื่อประโยชน์กับเขา แต่เวลาตั้งงบประมาณมาฟื้นฟูแหล่งน้ำนี่นะ ต้องเสียเงินมหาศาลเลย

จิตใจของเรา.. จิตใจของเรานี่ถ้าเรากำหนด เห็นไหม เรากำหนดว่าปฏิบัติอย่าทำมากเกินไป เราอยู่ทางโลกแล้วให้เดินสายกลาง จิตใจที่ดี เหมือนกับสิ่งสภาวะแวดล้อมที่ดีมากมันจะมีคุณค่า ป่าไม้นี่มีคุณค่ามาก มันแบบว่าดูดคาร์บอนไดออกไซด์ มันให้ออกซิเจน มันให้ความร่มเย็นเป็นสุข มันคลายออกซิเจนออกมา แล้วมันยังดูดซับน้ำ นี่ดินสไลด์ต่างๆ เพราะอะไร เพราะขาดต้นไม้ เห็นไหม แล้วมันยังเป็นแหล่งอาหาร มันเป็นแหล่งที่พักอาศัยของสัตว์ป่า มันเป็นแหล่งที่พักพาอาศัยของมนุษย์ มนุษย์ต้องการอากาศบริสุทธิ์ โอ้โฮ.. มันมีประโยชน์มหาศาลเลย

ถ้าคนภาวนานะ ว่าภาวนาแล้วนี่ทำจิตใจให้ดี มันมีคุณค่าที่วัดไม่ได้เลย แต่โลกเขาไม่เห็นกัน โลกเห็นแต่ว่าทำงานแล้วมีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีความประสบความสำเร็จ เขาว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ไง แต่เวลาลูกเราหรือเวลาสิ่งใดเสียหายไป อู้ฮู.. พ่อแม่นี่เสียใจมาก แต่ถ้า.. ถ้าลูกเราดี ความดีนี่สิ่งนี้จะมีค่ามาก

เพียงแต่ว่า.. เพียงแต่ว่าถ้าเราทำ เห็นไหม เขาบอกว่าต้องทางสายกลาง.. ทางสายกลางนั้นมันเป็นทางสายกลางของใครล่ะ ถ้าทางสายกลางของเด็กๆ นะ มันก็จะเล่นจะหวงของมันเป็นธรรมดา ทางสายกลางของวัยทำงานใช่ไหม กับทางสายกลางของคนเฒ่าคนแก่ คนที่อายุขัยจะสิ้นไป มันเป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะความเห็นมันแตกต่างกัน

ฉะนั้นถ้าจิตใจยังมั่นคงอยู่มันก็ดี.. แต่โดยธรรมชาติ อารมณ์คนมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำของเราได้ เรามีประสบการณ์นะ ถ้าจิตมันสงบบ้างมีสิ่งใดบ้างนี่มันจะฝังใจ การฝังใจอันนั้นมันจะตอกย้ำให้เราขยันหมั่นเพียร แล้วเราทำความดีของเรา

คนเราเกิดมานี่มันมีชีวิต มันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา แต่ถ้าเรามีเวลาปฏิบัตินะ เราก็ปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำของเราได้ นี้คนรอบข้างเขาไม่ปฏิบัติ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขนาดเป็นพระนะ เวลาเป็นพระเขาจะบอกว่า นี่สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ

หมู่คณะเป็นสัปปายะ คือว่าผู้ปฏิบัติด้วยกัน ประสาเราเรียกว่าแข่งกันทำความดี แข่งกันนั่งสมาธิภาวนา ถ้าไม่เป็นสัปปายะนะ คนหนึ่งภาวนา คนหนึ่งทำเสียงดังหรือคนหนึ่งทำอะไรนี่ มันก็ขัดแย้งกัน กรณีอย่างนี้หาได้ยากมาก.. สัปปายะ ๔

ฉะนั้นถ้าเราอยู่กับผู้ที่เขาไม่ได้ปฏิบัติกัน เราก็รู้อยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ได้ปฏิบัติกันมันก็เรื่องของเขา ฉะนั้นถ้าพูดถึงเวลามีสิ่งใดแล้วมันทำให้ท้อใจเหมือนกัน คำว่าท้อใจนะ.. เราปฏิบัติอยู่นี่ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ผลมันก็ท้อใจ แต่คำว่าท้อใจนี่เราต้องปลุกปลอบของเรา แม้แต่ครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม ทุกองค์ท่านก็มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็น ถึงเวลานะถ้ายังไม่ถึงสิ้นกิเลส มันจะมีสิ่งใดๆ เข้ามาตัดทอนตลอด

แต่ถ้าเรามี นี่เขาเรียกว่ามีบารมี มีบุญกุศล สิ่งนี้มันจะมีเหตุผล แล้วเหตุผลของเรานี่ อธิบายให้ใครฟังเขาเข้าใจได้ยาก เราก็อธิบายกับตัวเราเอง แล้วเราพยายามยึดหลักของเราเอง เพื่อประโยชน์กับเรานะ เราจะพอไปของเราได้

อันนี้พูดถึงกำลังใจ.. กำลังใจของเราเราก็ต้องแสวงหาด้วย !

 

อันนี้คำถามในเว็บไซต์นะ.. ข้อ ๒๖๗. นี่ไม่ใช่คำถาม เขายกเลิกไปเลย

ถาม : ข้อ ๒๖๘. เรื่อง “ร่างกายหนักเสมือนผ้าห่มนวมอุ้มน้ำ จิตรู้แต่ว่ามันหนักแหวกออกไปไม่ได้”

ผมนั่งสมาธิทีไร พอสักพักจิตก็จะรับรู้แต่ร่างกายนี้ ทุกสัดส่วนหนักเหมือนผ้านวมที่อุ้มน้ำ และจิตที่ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ถูกผ้านวมอุ้มน้ำผืนหนักหุ้มห่อเอาไว้โดยไม่มีทางออก ทุกครั้งจะพิจารณาเพียงว่า มันหนักหนอ.. มันต้องแบกต้องหาม ต้องอุ้มร่างกายนี้ไปถึงวันไหนหนอ.. แต่จิตตัวรู้นี้สว่างสงบภายในอยู่เสมอ รู้เพียงว่า นี้เหมือนถูกร่างกายที่เป็นดังห่อผ้าหนาหนักมัดเอาไว้ไม่มีทางออก จะหาทางสลัดผ้าห่มผืนนี้ที่หุ้มห่อไม่ออกเท่านั้นครับ เลยทำใจว่าขอสงบอยู่ภายในแค่นี้พอก่อน พอถอนสมาธิออกมา มันก็กลายเป็นเนื้อหนังมังสา เป็นตัวตนร่างกายเสมือนเดิม

ผมพิจารณาอย่างนี้ถูกไหมครับ จะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ขอโอกาสกราบเรียนถามอุบายพิจารณาตามแต่อาจารย์จะเห็นเมตตา

 

หลวงพ่อ : อยู่ที่การกำหนดเนาะ.. อยู่ที่เรา “ผมนั่งสมาธิทีไร” นั่งสมาธินี่เราเอาอะไรเป็นที่พึ่ง ถ้าเราใช้อานาปานสติ ถ้าบอกว่าถ้าหนอ.. ทุกอย่างนี้หนักหนอ ต้องแบกหาม.. นี่เราก็ต้องอยู่ตรงนั้น

ถ้าหนอก็ต้องหนอชัดๆ ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธชัดๆ เพราะสิ่งที่เวลาเรานั่งสมาธิแล้วนี่ พอร่างกายทุกส่วนเหมือนผ้านวมอุ้มน้ำห่อไว้ นี่มันเป็นอาการของความรู้สึก อาการของจิต.. เหมือนคนเวลาระลึกถึง เวลากลืนน้ำลาย เห็นไหม แล้วพอปกติ ก็นั่งปกติไม่มีสิ่งใด แต่พอกำหนดภาวนานี่จะกลืนน้ำลาย.. กลืนน้ำลายตลอดเลย

การกลืนน้ำลาย กับความหนักเหมือนผ้าห่มนวมนี่มันอันเดียวกัน นี่หลักคืออันเดียวกัน แต่ความรู้สึกมันแตกต่างกัน ถ้าพูดถึงนะ เรานั่งแล้วตัวเอียง เรานั่งแล้วตัวคลอน พอนั่งขึ้นมาแล้วนะเหมือนผ้านวมมันห่มตัวเราไว้ เหมือนผ้านวมมันห่มไว้นี้มันเป็นความรู้สึก เห็นไหม ความรู้สึกนี้เกิดจากจิต

ฉะนั้นเรากำหนดพุทโธนี่นะ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บมันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ถ้าคนกลืนน้ำลาย พอนั่งสมาธิปั๊บก็จะกลืนน้ำลาย อึก.. อึก.. อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเรากำหนดพุทโธชัดๆ หรือกำหนดอานาปานสติชัดๆ สิ่งใดๆ ก็ได้ ให้ชัดๆ ให้จิตมันเกาะคำบริกรรมนั้นไว้ สิ่งที่มันเป็นผ้าห่มนวมนี่มันเริ่มเบาลง.. เบาลง

เบาลงหมายถึงว่า ความรู้สึกมันจะปล่อยจากอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้น มาอยู่กับคำบริกรรม มาอยู่กับอานาปานสติ มาอยู่กับตัวจิต อันนั้นจะค่อยๆ จางลง.. จางลง ไม่ปุ๊บปั๊บหาย ไม่ปุ๊บปั๊บหายนะ.. แต่หาย ! แต่ถ้าเราอยู่กับผ้าห่มนวม เห็นไหม ถ้าเรากลืนน้ำลาย อึก.. อึก.. อยู่อย่างนี้นะ แล้วเราก็รู้สึกกลืนน้ำลายตลอดไป มันจะไม่จบ มันจะกลืนไปตลอด

เอาจิตไปอยู่กับความรับรู้ ไปอยู่กับผ้าห่มนวม.. ผ้าห่มนวมนี่มันเหมือนกับความหนักไง จิตมันมีอาการรับรู้หนักเหมือนกับผ้าห่มนวม เห็นไหม นี่จิตมันรับรู้ ถ้าเราให้จิตนี้อยู่กับคำบริกรรมชัดๆ ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ลมหายใจชัดๆ ! ลมหายใจชัดๆ !

นี่เรากำหนดลมหายใจ พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามามันจะมีอาการอย่างนี้ มันจะมีอาการหนักหน่วงอย่างนี้ พอมีอาการหนักหน่วง นั่นแสดงว่าจิตมันเริ่มเปลี่ยนจากจิตปกติ ถ้าเราเป็นจิตปกติธรรมดา เป็นสามัญสำนึกปกตินี่ สิ่งที่เป็นอาการหนักหน่วงอย่างนี้ไม่มี เพราะจิตมันส่งออกหมด พอเรากำหนดอานาปานสติปั๊บ พอจิตมันเริ่มจะสงบ เห็นไหม พอเริ่มจะสงบ มันจะมีอาการหนักหน่วงอย่างนี้

นี่แผ่นเสียงตกร่อง.. มันมีอาการอย่างนี้ พอมีอาการอย่างนี้ปั๊บเราก็ชัดเจน ชัดเจนอยู่กับลมหายใจ กำหนดลมหายใจให้ชัดเจน พอชัดเจนอยู่กับลมหายใจ นี่จิตมันอยู่ที่ลมหายใจ อาการหนักหน่วงนี้มันจะเริ่มเบาลง.. เบาลง.. เบาลงเพราะอะไร เพราะจิตมันเคยไง จิตมันเคยมันบีบอยู่ที่ฝังใจ มันไปรับรู้สิ่งนี้ พอเราพยายามดึงกลับมาด้วยสติ

สติบังคับ เห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกสติต้องบังคับ บังคับอยู่กับพุทโธ บังคับอยู่กับลมหายใจ บังคับมันต้องบังคับ ถ้าไม่บังคับเราเอาจิตเราไม่อยู่หรอก ทีนี้พอมันเริ่มจากปกติ เห็นไหม ขณิกสมาธิ.. ขณิกะนี่ พอจิตมันเริ่มรับรู้ มันเริ่มสงบตัว มันมีอาการอย่างนี้ อาการที่รับรู้นี่ แล้วรับรู้แตกต่างกันหลากหลาย

ฉะนั้นเราจะต้องกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมให้ชัดๆ แล้วให้จิตอยู่กับลมให้ชัดๆ สิ่งนั้นจะค่อยเบาลง.. เบาลง.. เบาลง แล้วหายไป แล้วพอจิตมันอยู่กับลมชัดเจน จิตมันเป็นสมาธิชัดเจนนี่สิ่งนั้นจะหายไป

เพราะจิตเป็นสมาธิ จิตเอกัคคตารมณ์.. จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่งคือจิตเป็นสมาธิ ถ้าจิตไปรับรู้นี่จิตเป็นสอง ตัวจิตคือตัวธาตุรู้ แต่ความหนักหน่วง ความรับรู้ เห็นไหม ความหนักหน่วงนี่มันออกไปรับรู้ นี่มันเป็นอาการของจิต มันรับรู้สองอย่าง ฉะนั้นพยายามมีสติ แล้วกำหนดชัดๆ ขึ้นมามันจะกลับมาสู่ตัวมันเอง... นี้พูดถึงการทำสมถะ !

ฉะนั้นเขาบอกว่า “ผมพิจารณาร่างกาย เห็นไหม นี้เขาบอกว่าเขาพิจารณาด้วย พอถอนจากสมาธิมา ก็พิจารณาเนื้อหนังมังสาในตัวตนร่างกายก็เสมือนเดิม ผมพิจารณาอย่างนี้ถูกไหมครับ”

การพิจารณาอย่างนี้ ก็พิจารณาต่อเมื่อมันออกมาจากอาการอย่างนั้น ถ้าออกมาจากอาการอย่างนั้นมันพิจารณาได้ ! ถ้ามันพิจารณาอย่างนี้ไปบ่อยๆ เข้า มันมีปัญญาขึ้นมา มันก็ปล่อยวางอาการอย่างนี้.. นี่คืออาการของมัน

เวลาองค์ของสมาธิ องค์ของฌาน เห็นไหม คำว่าองค์ของฌาน องค์ของสมาธิ.. วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่มันอยู่ในอาการอย่างนั้น แต่ถ้ามันปฏิบัติแบบสัมมาสมาธิ อานาปานสติของกรรมฐาน พุทโธ พุทโธของกรรมฐาน นี่เรื่องวิตกวิจาร ปีติ สุข มันเป็นทฤษฎี เป็นปริยัติ แต่เวลาเราสงบมากหรือสงบน้อย นี่สงบกับสงบจะรู้กัน จิตที่ภาวนาแล้วเขาจะรู้กัน ถ้าจิตไม่ภาวนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ ถ้าจิตเข้าใจได้แล้ว มันก็จะเข้าใจได้ของมัน ตามความเป็นจริงของมันนะ

อันนั้นพูดถึงว่า “ร่างกายหนักเสมือนผ้าห่มนวม.. ร่างกายเสมือนผ้าห่มนวมอุ้มน้ำ จิตรู้แต่ว่ามันหนักแหวกออกไปไม่ได้”

จิตมันออกไปอยู่ที่ร่างกาย จิตมันออกไปรับรู้ที่ร่างกาย ถ้าจิตมันรับรู้ที่ตัวจิต มันรับรู้ที่ตัวมัน แล้วมันจะทำความสงบเข้ามา.. อันนี้พูดถึงปฏิบัติเบื้องต้นเนาะ

 

อันนี้ข้อ ๒๖๘. นะ ข้อ ๒๖๙. มันซ้ำ ไม่มี

ถาม : ๒๗๐. เรื่อง “การทำสมาธิครับ”

กราบเรียนพระอาจารย์ คือผมได้ทำสมาธิแล้ว ตานี้มันรู้สึกว่าตัวมันหายไป.. กายมันหายไป.. ลมหายใจมันหายไป.. แต่ตัวผมรู้ตัวอยู่ตลอดนะครับ มีสติดำรงมันอยู่ตลอด ลมหายใจเข้าออกก็ยังคงเป็นพุทโธ รู้ตัวตลอดเลย

อยากทราบว่าอาการแบบนี้ใช่อานาปานสติหรือเปล่าครับ หรือว่ามันเป็นแค่ภวังค์ อีกข้อ.. และถ้าอาการนั้นมันเป็นอัปปนาสมาธิ ผมจะต้องทำอย่างไรครับ ถึงจะถอนจากอัปปนาสมาธิมาที่อุปจารสมาธิ เป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่โปรดชี้ทางสว่างในธรรมให้ด้วยครับ

หลวงพ่อ : อ่านอย่างนี้แล้วนี่ มันเหมือนกับไอ้นี่มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องที่แบบว่ามันขัดแย้งกัน ถ้านักปฏิบัตินะ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินะไม่พูดอย่างนี้เลย

นี่ไง “คือการทำสมาธิแล้วตานี้มันรู้สึกว่าตัวมันหายไป.. กายมันหายไป.. ลมหายใจมันหายไป.. แต่ตัวผมรู้ตัวอยู่ตลอดนะครับ” นี่มันขัดแย้งกัน.. ตัวมันหายไป กายมันหายไป ลมหายใจหายไป.. แต่ผมรู้ตัวอยู่ตลอดเวลานี่รู้อย่างไร

เวลามันหายไปนี่ มันหายไปนะ นี่เวลาพุทโธนะ เวลาพุทโธนี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอสติเริ่มดีขึ้น ปัญญาเริ่มดีขึ้น พอมันเริ่มดีขึ้น ลมหายใจนี่ กายมันจะหายไปมันก็ตกใจแล้ว ตัวหายไป กายหายไป ยิ่งลมหายใจหายไปนี่ตกใจ.. ตกใจมาก แล้วถ้าลมหายใจหายไปนี่ เราแก้ไขอย่างไรถึงลมหายใจหายไป

ลมหายใจหายไป.. ถ้าพูดถึงตัวหายไปนี่ทำให้คนหวั่นไหวแล้ว คนที่ภาวนานะ ตัวหายไป กายหายไปนี่ มันจะเกิดความวูบวาบ จิตนี้มันจะไหว พอจิตมันจะไหวนี่มันจะเข้าสมาธิไม่ได้.. ยิ่งถ้าลมหายใจหายไปนี่มันจะตกใจ มันตกใจนะมันจะพุ่งออกมาเลย มันจะวูบวาบเลย

นี่กายหายไป ตัวหายไป ลมหายใจหายไป แต่ผมรู้ตัวอยู่ มันก็เหมือนกับว่าเราเทน้ำใส่ตุ่ม ผมเทน้ำใส่ตุ่ม เทน้ำใส่ตุ่มจนน้ำมันเต็มตุ่มครับ.. น้ำเต็มตุ่มนี่มันไม่ใช่จิต จิตมันมีอาการหวั่นไหว แต่น้ำมันเป็นธาตุมันไม่หวั่นไหวหรอก

ฉะนั้นที่พูดนี่ เราคุยกันเป็นธรรมะนะ ไม่ใช่ว่าเราเหมือนแบบว่าดูถูก เราไม่ใช่ดูถูก ฉะนั้นถ้าตัวหายไป กายหายไป ลมหายใจหายไปนี่มันหายไปอย่างใด ถ้ามันหายไปนะ.. นี้เพราะการปฏิบัติโดยพื้นฐาน ทุกคนบอกเลยว่าพุทโธจะต้องหาย ลมหายใจจะต้องหาย เราบอกว่าห้ามหาย ! ห้ามหาย ! ห้ามหาย ! ถ้าหายนี่เหมือนกับเรารู้ข้อสอบแล้วไง ไอ้พวกนี้พวกลอกตำรา พวกลอกการบ้านไง อ้าว.. มาถึงลอกการบ้านๆ

นี่อย่างนี้ลอกการบ้านมา ลมหายใจหายแล้ว กายหายแล้ว ต้องลมหายใจหายแล้ว แต่ถ้าเราทำการบ้านนะหัวแทบแตกเลยล่ะ ทำการบ้านนะต้องหาว่าโจทย์มันตอบอย่างไร คิดอย่างไร คำนวณอย่างไร ทำการบ้านจนกว่าการบ้านจบ พอการบ้านทำเสร็จแล้วต้องส่งครู ให้ครูบอกว่าสิ่งนั้นถูกต้องไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้แล้วนี่มันลอกเขามา เห็นไหม ตัวหายไป กายหายไป ลมหายใจหายไป.. แล้วหายไปอย่างไรล่ะ อ้าว.. ก็เสร็จแล้วนี่ เขียนเสร็จหมดแล้ว แล้วหายไปก็อยู่ในกระดาษนี่ไง อ้าว.. เราตอบมาสิ ให้คะแนนมาว่าได้กี่คะแนน แต่ถ้ามันทำเองมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้นถ้าเป็นอัปปนาสมาธินี่เราจะบอกว่า.. “คำว่าอัปปนาสมาธินี่ จำเป็นจะต้องทำอัปปนาสมาธิหรือ” กรรมฐานเรานี่ อานาปานสติกำหนดลมหายใจ.. สัมมาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิได้ก็ดี แต่ถ้าการเป็นอัปปนาสมาธินี่มันรวมใหญ่

ฉะนั้นคำว่าอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่ว่าต้องไปอัปปนาสมาธิแล้วถึงจะใช้ปัญญาได้ แม้แต่ไม่มีสมาธิ เราใช้ปัญญาของเราอยู่นี้ ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาของเราได้ แต่ถ้ามีสมาธิขึ้นมาปัญญานี่มันจะชัดเจน ปัญญามันจะชำแรกเข้าไปในกิเลส มันจะชำแรกเข้าไปในจิต มันจะไปชำระกิเลส อันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์

ฉะนั้นถ้าเราทำความสงบต้องเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วเป็นอัปปนาสมาธิมันเป็นอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอัปปนาสมาธินะ กว่าจะเข้าอัปปนาสมาธิได้ ตัวมันหายไปนี่มันเป็นไปไม่ได้เลย.. ตัวมันหายไป กายมันหายไป มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าลมหายใจมันจะหายไปนี่ มันจะหายไปได้อย่างไร

ถ้ามันหายไปนี่ เห็นไหม เขาบอกว่า “ลมหายใจต้องขาด ทุกอย่างต้องหายไปหมดเลยถึงเป็นอัปปนาสมาธิ” มันหายไปในความรู้สึกของเรา แต่ไม่มีอะไรหายไปเลย ! มันหายไปโดยความรู้สึกของเรา เพราะจิตมันหดตัวเข้ามาเป็นอิสรภาพนี่มันไม่รับรู้.. ไม่รับรู้เรื่องกาย ไม่รับรู้เรื่องต่างๆ เลย สักแต่ว่ารู้นี่เป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้ามันหายไปอย่างนั้น อะไรมันหายไป สิ่งที่มันออกมารับรู้นั้นมันหายไป มันรับรู้เรื่องกาย มันรับรู้เรื่องความรู้สึกนี่มันหายไป แล้วจิตมันละเอียดเข้ามา.. ละเอียดเข้ามา.. ละเอียดเข้ามา ไม่มีสิ่งใดๆ หายไปเลย

เขาบอกลมหายใจต้องหาย ร่างกายต้องหาย.. เราบอกเลยนะ ห้ามหาย ! ถ้าหายคือการลอกการบ้าน เราจะลอกการบ้านกัน เวลาทำขึ้นมานี่ลอกการบ้านกันนะ อู้ฮู.. นู้นเป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้น แต่ไม่มีความรู้จริงขึ้นมาเลย เพราะไม่ได้ทำจริง ถ้าทำจริงขึ้นมานี่มันหายอย่างไร

คำว่าหายไป เพราะว่าเขาจะสื่อกับโลกไง เพราะเวลาจิตมันสงบเข้าไปนี่ มันปล่อยวางเข้ามาหมดใช่ไหม มันเลยเหมือนกับพูดกับโลกไม่เข้าใจใช่ไหม ก็บอกว่าทุกอย่างขาดหมด หายหมด แต่สักแต่ว่ารู้.. อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ จิตมันรู้อยู่แต่สักแต่ว่ารู้

เพราะถ้ามันรู้ตัวมันเอง.. รู้ตัวมันเองก็เหมือนพลังงาน เห็นไหม ถ้ามันมีพลังงานปั๊บมันก็ต้องออกรับรู้ใช่ไหม แล้วมันรู้ตัวมันเองนี่ พลังงานที่มันไม่ออกเป็นอย่างไร เขาเรียกว่าสักแต่ว่ารู้... ถ้าสักแต่ว่ารู้ แล้วสักแต่ว่ารู้มันเป็นอย่างไร ถ้าสักแต่ว่ารู้นั่นล่ะอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี่มันเข้าไปถึงฐีติจิต เข้าไปถึงจิตเดิมแท้ แล้วเข้าไปดูว่า เรามีอำนาจวาสนาอย่างไร เราจะทำประโยชน์อย่างไร

ถ้าพูดถึงเวลาคนบอก พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ต้องทำอะไร พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิตนี่จะพิจารณาอย่างไร.. ถ้าพิจารณากายแล้วพิจารณาไม่ได้ เวลาคนทำสมาธิแล้วพิจารณาไม่ได้ ทุกคนทำสมาธิแล้วพิจารณาไม่ได้ ก็ทำสมาธิเข้าไปจนถึงข้อมูลเดิม ไปรื้อข้อมูล ไปรื้อต้นขั้วเลย ว่าเราควรทำอย่างใด ไปดูที่ต้นขั้วบัญชีเลยว่าชีวิตนี่ บุญกรรมของเราทำสิ่งใดมา

นี่ถ้าถึงที่นั่นนะ ถ้าออกมานี่ ถ้ามันสู่การกระทำเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็ดีไป ถ้าไม่ได้ก็ต้องแก้อย่างไร.. นี่พูดถึงการแก้นะ การแก้

ฉะนั้น “ถ้าตัวหายไป ลมหายใจหายไป แต่ผมรู้ตัวตลอดนะครับ มีสติดำรงอยู่ ลมหายใจเข้าออกก็ยังพุทโธรู้ตัวตลอด อยากทราบว่าอาการแบบนี้เป็นอัปปนาสมาธิหรือเปล่า”

เราว่า.. นี่เราพูดไปเราก็กลัวคนปฏิบัติมันจะน้อยใจ แต่อันนี้เราว่ามันไม่ใช่อัปปนาสมาธิ แต่ถ้าจิตมันปล่อยอย่างไรนี่.. แต่ถ้าถามว่ามันเป็นภวังค์ใช่ไหม เราว่าใช่ หรือว่ามันเป็นภวังค์ เราบอกว่าใช่ ! เราจะคิดว่าเป็นภวังค์แน่นอน เพราะอะไร เพราะมันหายไป ตัวหายไปนี่มันเหมือนการบ้านไง การบ้านเราลอกเขามา

นี่การบ้านเราลอกเขามานะ เราเห็นว่าเราลอก แต่เวลาตัวหายไป กายหายไปนี่ไม่ใช่ลอก มันเป็นจริงๆ มันเป็นจริงๆ เพราะภวังค์มันเป็นอย่างนั้น นี่แว็บ ! หายเลย แล้วพอรู้สึกตัวมันสะดุ้งตื่นเลย รู้ตัวอยู่.. รู้สิเพราะมันตื่นแล้วถึงรู้ ถ้ายังไม่ตื่นมันก็ยังไม่รู้

ฉะนั้นอย่างนี้เป็นภวังค์ไหม เราว่าเป็น อันนี้ยังเป็นภวังค์อยู่ เพราะว่าคำถามนี้มันฟ้องตัวมันเองว่ามันไม่ใช่เป็นแบบนั้น

 

ถาม : อีกข้อหนึ่ง อาการที่มันเป็นอัปปนาสมาธิ ผมจะต้องทำอย่างไรครับถึงจะถอนจากอัปปนาสมาธิมาที่อุปจารสมาธิ (เห็นไหม อันนี้มันก็เป็นการบ้าน) จากอัปปนาสมาธิเป็นอุปจาระ เป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา กราบขอบคุณครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตมันเข้าไปสักแต่ว่านี่ มันอยู่ที่มันเป็นรวมแต่ละครั้ง บางที ๓-๔ ชั่วโมง บางทีชั่วโมงหนึ่ง ชั่วโมงเศษๆ พอชั่วโมงกว่ามันก็จะคลายตัวออกมา.. มันจะคลายตัวออกมา พอเข้าอัปปนานี่สักแต่ว่ารู้เลย

นี่จำได้ไหมที่หลวงตามา ที่บอกว่าอาจารย์เนตร อาจารย์เนตรที่ว่าให้เสือมากัดคอ ตั้งแต่ตี ๒ นี่วูบลง พอลืมตาขึ้นมานะ ๑๐ โมงเช้า ตี ๒ นะ ตี ๓ ตี ๔ ตี ๕ ๖ โมง ๗ โมง ๘ โมง ๙ โมง ๑๐โมง

๘ ชั่วโมง เวลามันลงทีหนึ่งนี่ ลงทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมงก็มี ลงทีหนึ่ง ๒-๓ ชั่วโมงก็มี พอลงเสร็จแล้วมันจะคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาปั๊บท่านไปดูว่ามีรอยเสือมาจริงๆ หรือเปล่า.. มาจริงๆ ไปเห็นรอยเสือจริงๆ นี่เวลาลงนะ

ฉะนั้นพอเวลาลง เห็นไหม อัปปนาสมาธินี่จะออกมาอุปจารสมาธิอย่างไร นี่เวลาจิตมันลงไป จิตมันลงไปนี่มันเป็นอัปปนา โอ้โฮ.. มีความสุขมาก มันเป็นสักแต่ว่า นี่คนถึงติดได้ไง พอออกมา นี่ถ้าส่วนใหญ่พอออกมาแล้วมันจะสดชื่นมาก

ถ้าเราพิจารณาอยู่มันจะพิจารณาเลย ถ้าพิจารณาเลยนะ เวลาคลายตัวออกมา นี่เวลาคลายตัวออกมานะเราเปรียบเหมือนน้ำ น้ำนี่มีตะกอนในแก้ว เห็นไหม เวลาถ้าตะกอนมันนอนอยู่ก้นแก้วหมดเลย น้ำนี่ใส เวลาแก้วขยับ ตะกอนนั้นจะออกมา จะกระเพื่อมขึ้นมา

จิตเวลามันออกรับรู้มันเป็นอย่างนั้นนะ มันมีกำลังของมันขึ้นมา นี่พอออกมามันรู้ เห็นไหม เหมือนน้ำกับตะกอน จิตมันเป็นเอกเทศเลย จิตมันเป็นอัปปนาสมาธิเลย มันทำสิ่งใดไม่ได้ พอมันคลายตัวออกมานี่ มันมีความรับรู้ เหมือนมันมีตะกอนนั่นล่ะ

นั่นล่ะอุปจาระ เพราะมันรู้แล้ว มันออกใช้งานได้แล้ว ถ้าออกใช้งานนี่เราจะวิปัสสนาตรงนั้น ถ้าจิตมันออกมา เห็นไหม ออกมาที่กาย ออกมาที่เวทนา ออกมาที่จิต ออกมาที่ธรรม.. มันออกมาที่ตรงไหนล่ะ ก็พิจารณาตรงนั้น ถ้าพิจารณาได้ก็พิจารณาเลย ถ้าพิจารณาได้จริงนะ

ฉะนั้นคำถามนี้ เราบอกว่าให้ทำอีก.. ให้ทำอีกให้ชัดเจน แล้วพอทำไปแล้วนี่ มันทำไปนะผิดถูกนี่เรารู้ของเราเอง แล้วรู้เอง พอจิตถ้ามันเป็นอัปปนา ถ้าจิตมันลงมันมีสติพอ มันไม่เป็นแบบนี้.. มันไม่เป็นแบบนี้หรอก มันตื่นเต้นมาก มันตื่นเต้น แล้วมหัศจรรย์กว่านี้เยอะ ลมหายใจขาดนี่ลมหายใจขาดอย่างไร กายมันจะหายไปนี่ อู้ฮู.. มันจะหวั่นไหวไปหมดเลย

นี่ใครก็รู้ ใครก็บอกว่าเราไม่ตาย.. เราไม่ตาย.. แต่พอไปนั่งจริงๆ แล้ว จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกที่ควบคุมไม่ได้ แล้วเวลามันแสดงตัวออกมา เราเองก็คุมไม่ได้ ว่าไม่กลัวๆ นี่คนบอกไม่กลัวผีๆ พอไปเจอผีวิ่งหนีทุกทีเลย

นี่ก็เหมือนกัน อู๋ย.. นี่กายมันจะหาย ตัวมันจะหาย ไม่กลัว.. ไม่กลัว.. ไม่กลัว มันจะไหวไปหมดเลย แต่ไอ้นี่มันเหมือนการบ้าน ลอกเขามามันไม่ได้มีความรู้สึกไง ถ้าความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง

หลวงตาท่านบอกท่านทำสมาธิมาเยอะ ใครจะมาหลอกท่านเรื่องสมาธิไม่ได้นะ นี่ก็เหมือนกัน นี่มันแตกต่างกัน แต่สมาธิมีความสำคัญ.. มีความสำคัญคือว่าได้พักจิต ได้พักจิตแล้วจิตออกมาใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสมาธิจะมีประโยชน์มาก

อันนี้ให้ปฏิบัติซ้ำ ให้ปฏิบัติตามไปก่อน ให้พิสูจน์ตัวเองก่อน.. ให้พิสูจน์ตัวเองก่อน ให้ทำตามให้เราเข้าใจไปก่อน

 

ข้อ ๒๗๑. ไม่มีเนาะ.. อันนี้ข้อ ๒๗๒. โยมได้รับเมตตาธรรมจากหลวงพ่อ ได้คติธรรม เรื่อง “โลกธรรม ๘” ที่ยกเลิกคำถามไปแล้ว โยมกราบขอบคุณอย่างสูงค่ะ ที่จริงโยมมีคำถาม.. อันนี้มันเป็นคำถามไม่มีคำตอบเนาะ คำถามเพื่อจะบอกข่าวเฉยๆ ฉะนั้นวันนี้จบเนาะ เอวัง