ข้ามโอฆะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันเป็นข้อ ๒๗๓.
ถาม : ๒๗๓. เรื่อง หนีทุกขเวทนาทางกาย
ผมปฏิบัติธรรมมานานพอสมควร โดยทดลองนั่งมาหลายแนวทาง จนกระทั่งมาพบหลวงพ่อ ผมก้าวหน้ารวดเร็วมากจนแปลกใจ ได้ปัญญาหลายอย่างจากคำสอนของหลวงพ่อ ผมนั่งสมาธิจนเข้าใจเรื่องจิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ส่วนขันธ์ จิตส่วนจิต มาถึงจุดนี้มันดับหมด แต่ชั่วคราวเท่านั้น และมันจะเกิดเฉพาะขณะที่นั่งสมาธิเท่านั้น ไม่จำกัดท่านั่ง ผมใช้ประโยชน์ตรงนี้เมื่อเวลาที่ผมเกิดป่วยและเกิดทุกขเวทนา ผมจะนั่งสมาธิภาวนาพุทโธ และพิจารณากายและจิต แยกขันธ์ออกมาเป็น ๕ ส่วน และพิจารณาเป็นอนัตตาทั้งหมด จนถึงจุดนี้จิตจะดิ่งและดับหมด ทุกขเวทนาจากการเจ็บป่วยมันหายไปหมดครับ
ผมเคยปวดท้องมาก จากอาหารเป็นพิษ ผมก็ใช้การนั่งสมาธิ ปรากฏว่าผ่านไป ๑ ชั่วโมง หายจนน่าอัศจรรย์ เหลือเพียงอาการเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น หลายครั้งที่ป่วยและปวดศีรษะ ทุกขเวทนามากๆ ก็จะใช้วิธีนี้ ผมรู้สึกเหมือนได้สมบัติทิพย์ครับ หากแต่ว่าเคยได้อ่านคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
อริยสัจ ๔ ประกอบไปด้วยทุกข์ เป็นขั้นต้น
และหากพระองค์จะสอนให้สุขเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่พระองค์ไม่สอน ทรงสอนให้รู้ทุกข์ ผมจึงสงสัยมากว่า
๑.ในขณะนี้ผมกำลังหนีทุกข์อยู่หรือเปล่า คือพอเวทนาทางกายเกิด ผมก็จะหนีด้วยการนั่งสมาธิ หรือว่าผมต้องไม่นั่งสมาธิเพื่อหลบเวทนา โดยยอมรับทุกขเวทนาด้วยตัวเองให้เต็มที่
๒.ถ้าหากว่าหลวงพ่อให้ผมรับทุกขเวทนาโดยไม่ต้องหลบด้วยการนั่งสมาธิ ผมจะต้องพิจารณาอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตามแนวทางอริยสัจ ๔
๓.ทุกขเวทนาทางกายผมใช้วิธีนี้ แต่ถ้าทุกขเวทนาทางจิต เช่นเสียใจ ทุกข์ใจพอสู้ได้ แต่ถ้ากรณีอกหัก รักคุด อันนี้ไม่สามารถใช้วิธีนี้ครับ พอจะออกจากสมาธิก็กลับมาทุกข์ใจเหมือนเดิม บางทีก็นั่งสมาธิไม่ได้เลยครับ สำหรับกรณีนี้หลวงพ่อมีแนวทางแนะนำอย่างไรครับ
ถาม : ข้อ ๑. ในขณะนี้ผมกำลังหนีทุกข์หรือเปล่าครับ คือพอเวทนาทางกายเกิดขึ้น ผมก็หนีด้วยการนั่งสมาธิ หรือว่าผมต้องไม่นั่งสมาธิเพื่อหลบเวทนา โดยยอมรับทุกขเวทนาด้วยตัวเองให้เต็มที่
หลวงพ่อ : ข้อ ๑ ผมนั่งสมาธิหนีทุกขเวทนาหรือเปล่า เราต้องทำความเข้าใจก่อน เราต้องทำความเข้าใจอริยสัจ ว่า อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์.. ต้องสู้กับทุกข์ ต้องเข้าใจเรื่องทุกข์ เห็นไหม ถ้าเข้าใจเรื่องทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด.. สมุทัยควรละ ฉะนั้นไปหาทุกข์ๆ นี่ หาทุกข์ที่ไหน คนที่หาทุกข์ๆ นี่ หาทุกข์ไม่เจอ
แต่ถ้าหาทุกข์ เห็นไหม ทุกข์มันเป็นวิบาก มันเป็นผล มันเกิดเป็นทุกข์แล้วเราถึงได้ทุกข์ แต่เวลาว่าทุกข์ควรกำหนดนี่กำหนดอะไร กำหนดเหตุแห่งทุกข์ไง อะไรที่มันสร้างแล้วเป็นทุกข์ ถ้าเราไปเจอตรงนั้นเราจะแก้ไขได้ ฉะนั้นเหตุแห่งทุกข์มันคืออะไรล่ะ.. เหตุแห่งทุกข์ เห็นไหม เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ เวลาจิตเราสงบเข้าไปแล้วนี่เราเห็นหรือเปล่า
เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่เวทนาเกิดขึ้นผมหลบ.. หลบอย่างนี้นะมันเป็นการทำสมาธิ ถ้าจิตมันเข้าสมาธิได้มันก็เบาได้ เข้าสมาธิได้แล้วนี่มันต้องออกไปหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม
การหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม ถ้ามันหาเจอนะ จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตมันเห็นเวทนา.. ถ้าจิตมันไม่เห็นเวทนาใช่ไหม แต่นี่เวทนาเกิดขึ้น มันเป็นเวทนาสามัญสำนึก มันปวด เห็นไหม มันเข้าสมาธิไม่ได้มันก็เป็นเวทนา นี้พอเข้าสมาธิได้แล้ว สมาธินี่จะออกใช้หรือเปล่า
ถ้าออกใช้นะ เราบอกว่าถ้าให้เผชิญกับทุกข์โดยไม่เข้าสมาธิ โดยไม่เข้าสมาธินี่มันก็ไม่มีความสุข มันก็สู้กับเวทนาไม่ไหวใช่ไหม ถ้าว่าหนีทุกข์ๆ คำว่าหนีทุกข์มันก็หนี มันต้องหนีไปก่อน เหมือนกับคนเรานี่ เช่น ต้นไม้ ถ้าต้นไม้มันต่ำๆ ใช่ไหม ถ้ามันออกผลเราก็เก็บได้ แต่สมมุติว่ามันประมาณสัก อย่างทุเรียนต้นละไม่เกินเมตรหนึ่งมันไม่มีหรอก ทุเรียนมันก็ต้องขึ้นสูง ๔ เมตร ๕ เมตรใช่ไหม เขาต้องปีนขึ้นไป เขาต้องเก็บผลจากมัน ถ้าเก็บผลจากมันมันก็จะได้ผล
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่เข้มแข็ง มันก็เหมือนต้นทุเรียน มันยังไม่โตขึ้นมามันจะออกผลไหมล่ะ มันออกผลไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราบอกว่าหนีทุกข์หรือเปล่า.. มันไม่ใช่หนีทุกข์ ต้นไม้มันต้องเติบโตต้องแข็งแรงขึ้นมาก่อน แล้วเราบำรุงต้นมัน แล้วถ้ามันออกผลเราจะได้ผลของมัน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทุกข์ขึ้นมา เราจะไปสู้มัน ใหม่ๆ มันก็สู้ไม่ได้หรอก ทุกข์นี้มันเป็นพื้นฐาน ต้นไม้มันยังไม่เกิดเลย เราก็จินตนาการไปก่อนว่าต้นไม้มันจะเป็นอย่างนั้น.. ต้องเป็นอย่างนั้น.. ต้องเป็นอย่างนั้น.. ทุเรียนมันจะออกลูกมาเป็นอย่างนั้น แต่มันยังไม่มีต้นเลยผลมันจะออกมาจากไหนล่ะ
แต่ถ้ามันมีต้น.. ต้นคืออะไรล่ะ ต้นคือสัมมาสมาธิ ต้นคือจิตมันสงบเข้ามา อย่างนี้เขาเรียกว่าหนีทุกข์ไหม ถ้าเราบำรุงต้นไม้ให้ต้นไม้มันโตขึ้นมา ต้นไม้มันมีลูกไหม.. ไม่มีหรอก ต้นไม้นี้มันต้องสมบูรณ์ของมัน มันต้องแก่ของมันพอสมควรมันถึงจะออกผลของมัน จิต.. ถ้ามันจะรู้จักทุกข์ มันจะเห็นจากทุกข์ มันก็ต้องเข้มแข็งของมันก่อน
ฉะนั้นสิ่งที่ว่าหนีทุกข์ๆ เราไม่คิดว่าหนีทุกข์ แต่ต้องให้มันเข้มแข็ง เห็นไหม พอเราเข้มแข็ง จิตมันเข้มแข็ง จิตมันมีกำลังอยู่แล้วนี่ จิตมันค่อยออกหาไง จิตมันต้องเป็นสัมมาสมาธิก่อน ถ้าจิตไม่เป็นสัมมาสมาธิก่อน เหมือนต้นไม้นี่ ต้นทุเรียน คือต้นไม้ทุกชนิดมันต้องโตขึ้นมาก่อนแล้วมันถึงจะออกผล ต้นไม้มันโตขึ้นมาแล้วนะมันไม่ออกผล ต้นไม้ เห็นไหม ดูสิที่เขาบอกว่ายางพันธุ์ดูใบมันมีแต่ใบมันไม่มีผล ปาล์มพันธุ์ดูใบ มันมีแต่ใบไม่มีผลเลย ไอ้นั่นเพราะอะไร เพราะมันเป็นพันธุ์อย่างนั้น
ถ้าจิตมันสงบแล้วไม่รู้จักออกหา มันก็เป็นต้นไม้ที่ไม่ออกผล สมาธิคือสมาธิไง สมาธิคือต้นไม้ สมาธิคือพืชพันธุ์นั้น แต่มันจะออกผลหรือไม่ออกผลนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าไม่มีต้นไม้เลยนี่ ผลมันจะไปออกที่ตรงไหน เราไม่มีต้นไม้ ไม่มีผลไม้ชนิดนั้นเลย ไม่มีต้นไม้ที่มันจะออกผลเลย แล้วเราจะไปเก็บผลมันนี่ เก็บผลที่ไหน แต่ถ้าต้นไม้ที่เราบำรุงต้นไม้ขึ้นมา จนเป็นต้นไม้ที่มันแข็งแรงขึ้นมาแล้ว นี่มันจะออกผลหรือไม่ออกผลนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้นที่ว่าหนีทุกข์ๆ นี้ มันเหมือนกับเราบำรุงต้นไม้ ถ้าต้นไม้มันโตขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ต้นไม้มันโตขึ้นมาแล้ว เราบำรุงดูแลให้อย่างดีแล้วมันจะออกผล ถ้ามันแข็งแรง ถ้าพืชพันธุ์มันดี มันก็จะออกดอกออกผลของมัน ถ้าออกดอกออกผลของมัน นั้นล่ะคือเราดูทุกข์
เราบอกทุกข์ๆ แล้วทุกข์มันคืออะไรล่ะ.. นี่ทุกข์มันคืออะไร ไอ้ที่ว่าหนีทุกข์ ทุกข์นี้มันทุกข์เพราะเราเสียใจ เราเป็นอะไรต่างๆ นี่ มันเป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ แต่ไอ้สังโยชน์ที่ร้อยรัดอยู่ในจิตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ที่มันร้อยรัดอยู่ในจิตนี้เราจะเข้าไปดูมันอย่างไร เราจะแก้ไขมันอย่างไร จิตใต้สำนึกนี่.. ถ้าจิตมันไม่สงบมันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาไม่ได้
ฉะนั้นเขาบอกว่า ถ้าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอริยสัจ ๔ เขาบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้สุขก็ได้แต่ทำไมไม่สอน แต่สอนให้รู้จักทุกข์
มันเป็นความจริง ทุกข์มันเป็นจริง สุขนี่นะมันเป็นแค่ความพอใจเท่านั้นแหละ มันก็เป็นสมุทัยอันหนึ่งนั่นแหละ.. สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็เป็นสมุทัยทั้งนั้นแหละ มันเป็นตัณหาทั้งนั้นแหละ มันเป็นแต่ความพอใจหรือไม่พอใจ สุขทุกข์ของคนมันไม่เหมือนกันหรอก สุขทุกข์ของคนนี่รู้แต่ว่าบ้า ๕๐๐ จำพวกไง ใครบ้าชนิดไหน ได้สมบัติชนิดนั้นมันก็มีความสุขของมัน
แล้วความสุขของคนนี่ คนหนึ่งได้ชนิดนี้เป็นความสุข อีกคนหนึ่งได้เหมือนกัน ไม่เห็นเป็นความสุขเหมือนกันเลย เพราะความพอใจ เห็นไหม ความพอใจ ความรัก ความสุขใจของเขา เขาก็มีความสุขของเขา แล้วความสุขมันมีไหมล่ะ ความสุขมันมี มันมีเพราะมันพอใจไง มันพอใจมันก็มีความสุขใจ มันมีความสุขใจมันก็สุขเวทนา มันก็เวทนาอีก มันก็ไม่เข้าถึงทุกข์หรอก ไม่เข้าถึงสัจจะความจริง ไม่เข้าถึงอริยสัจ
แต่ถ้ามันทำความสงบเข้ามา.. เขาว่า ขณะนี้ผมกำลังหนีทุกข์หรือเปล่า นี่ถ้าเขานั่งสมาธิได้ ฉะนั้น ถ้าต้องให้ผมพบกับเวทนา ให้ผมสู้กับเวทนา ให้ยอมรับว่าทุกข์
ไม่ใช่ว่ายอมรับนะ ถ้ายอมรับว่าทุกข์นี่เราไม่มีปัญญาอะไรเลยเหรอ พอเราจิตสงบแล้วเราออกรู้ออกหา.. สักกายทิฏฐิ เห็นไหม มันต้องเป็นระดับไง สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด จิตใจมันเห็นผิด เห็นผิดมันยึดว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา ถ้าเราพิจารณาตรงนั้นไป ถ้าทิฐิมันถูกนี่สัมมาทิฏฐิ
สักกายทิฏฐิ ! สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.. สักกายทิฏฐิ เห็นไหม เราใช้ปัญญาแก้ไขจนมันเห็นเป็นความจริงขึ้นมา เห็นเป็นอริยสัจขึ้นมา
สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา
ถ้าดับเป็นธรรมดา ก็นี่เวทนาเกิดดับๆ มันธรรมดาๆ.. มันธรรมดาอย่างไรล่ะ อะไรมันเป็นธรรมดา แล้วมันเกิดที่ไหนล่ะ ถ้ามันเห็นจริงขึ้นมานะ นี่สังโยชน์มันขาดตรงนั้น ถ้าสังโยชน์ขาดตรงนั้น นี่ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕
เราไปหาทุกข์ๆ นี่หาไม่เจอทุกข์หรอก เราหาทุกข์ไม่เจอนะ หาทุกข์คือตะครุบเงา ร้องไห้.. เจ็บปวดแสบร้อนเราก็ร้องไห้ ทุกข์ๆๆ อยากจะแก้ แก้ตรงไหน เรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว ดีใจเสียใจเรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วก็ค่อยมาร้องไห้ พอร้องไห้ก็ไม่อยากจะทุกข์ไม่อยากจะร้องไห้แต่มันสัมผัสมาแล้ว มันสัมผัสมาแล้ว แต่ถ้ามันแก้ไขที่ใจแล้ว ถ้าใจมันจบ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา
สรรเสริญคู่กับนินทา สิ่งนี้มันรู้ทันหมดนะ มันรู้ทันหมดว่าทุกข์จะเกิดได้อย่างไร ! ทุกข์จะเกิดได้อย่างไร.. ฉะนั้นว่าทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ไหน ทุกข์มันมีหยาบมีละเอียดนะ ไอ้ที่ว่าเราเจ็บปวดแสบร้อนนี้มันทุกข์ข้างนอก เราทุกข์ข้างนอกนี่มันเป็นทุกข์อย่างเริ่มต้น
ฉะนั้นจะบอกว่าหนีทุกข์ไหม.. ไม่ได้หนี ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้เราให้งอกงาม ถ้าต้นไม้เรางอกงาม ต้นไม้เราดีขึ้นมาแล้วนี่ดูแลให้ออกผล ถ้าออกผล.. ถ้าผลจะออกจากต้นไม้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เราพิจารณาของเรา เราทำความสงบของเรา ถ้าจิตมันออกรับรู้ จิตมันออกเห็นถ้ามันเห็นจริง.. ถ้าเห็นไม่จริงต้นไม้ไม่ออกผล
จิตไม่สงบขึ้นมา วิปัสสนาขนาดไหน พิจารณาขนาดไหนมันก็เป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด มันเป็นสัญญา... อันนี้ข้อหนึ่ง
ถาม : ๒. ถ้าหากว่าหลวงพ่อให้ผมรับทุกขเวทนาโดยไม่ต้องหลบด้วยการนั่งสมาธิ ผมจะต้องพิจารณาอย่างไรครับ เพื่อให้ถูกต้องตามแนวทางแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามแนวอริยสัจ ๔
หลวงพ่อ : ตามแนวอริยสัจ ๔ เราบอกว่าอริยสัจ ๔ ที่เขาบอกว่า สิ่งนั้นเป็นอริยสัจ ๔ สิ่งนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ อะไรของเขาที่เขาว่าไปนั่นนะ.. สติปัฏฐาน ๔ เราถึงบอกว่าไม่มี ถ้าจิตไม่สงบไม่มีสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบของมันเข้ามา แล้วจิตมันออกรู้นะ มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะสะเทือนหัวใจ
นี่สติปัฏฐาน ๔ มันอยู่ที่นี่ ! อยู่ที่จิตมันออกรู้ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นทุกข์ จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม.. นั่นล่ะมันสะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจ นั่นล่ะมันจะคลาย มันจะสำรอก นั่นสติปัฏฐาน ๔ อยู่ที่ตรงนั้น ! ฉะนั้นตามแนวอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันจะสมดุลของมัน
ทุกข์.. สมุทัยตือตัณหาความทะยานอยาก อยากทุกอย่างนี่มันเป็นสมุทัย.. นิโรธ นิโรธมันจะดับนะ มันดับกิเลสตัณหานะไม่ใช่นิโรธสมาบัติ เห็นไหม นิโรธสมาบัตินั้นมันเป็นการเข้าสมาธิ แต่นิโรธในอริยสัจมันต่างกันกับนิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติคือมันเข้าสมาธิแล้วมันดับสัญญาอารมณ์ แต่นิโรธนี้มันดับกิเลส มันดับทุกข์ ถ้านิโรธในอริยสัจมันอีกเรื่องหนึ่ง แล้วถ้านิโรธในอริยสัจมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากมรรค ถ้าเกิดจากมรรคนี่เข้าอริยสัจ ๔
ถ้าเข้าอริยสัจ ๔ นี่พอจิตสงบแล้วนะ พอจิตสงบที่เรามีความร่มเย็นเป็นสุข ออกมาเราใช้ปัญญาพิจารณาเลย เราพิจารณาของเรา ใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าปัญญาพิจารณานะ พิจารณาเวทนา พิจารณาถึงชีวิต พิจารณาถึงรักคุดไม่รักคุดนี่ พิจารณาเข้าไปแล้วมันจะปล่อยของมัน.. ปล่อยของมัน มันพิจารณาได้ มันปล่อยของมัน.. มันปล่อยของมัน นั้นคือหัดฝึกปัญญา
หลวงตาบอกว่า ปัญญาจะเกิดเองไม่มี ถ้าปัญญามันจะเกิดเอง เห็นไหม ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว สมัยก่อนพุทธกาลนี่เขาเข้านิโรธสมาบัติ เข้าไปอย่างนั้น ปัญญาต้องฝึกต้องหัด.. ต้องฝึกต้องหัดนะ แล้วพอฝึกหัดไปแล้วมันจะฉลาด มันจะลึกซึ้งไปเรื่อยๆ ปัญญาถ้ามันฝึกฝนบ่อยๆ มันลึกซึ้งเข้าไป มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน มันมหัศจรรย์มากนั่นน่ะ แล้วถ้าคนใช้ปัญญาอย่างนี้ นี่ปัญญาที่เกิดจากภาวนามยปัญญา
ภาวนามยปัญญาคือปัญญาเกิดจากการภาวนาล้วนๆ ปัญญาเกิดจากจิตล้วนๆ จิตมันได้ฝึกฝนของมันล้วนๆ ขึ้นมา มันจะไม่ใช่ปัญญาที่เราศึกษามา เราศึกษามานี่เป็นปริยัติ ศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาต่างๆ มา ศึกษามาขนาดไหนนี่มันเป็นสุตมยปัญญา แล้วก็เกิดจินตนาการเป็นจินตมยปัญญา แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญานี่มันจะรู้ซึ้ง แล้วคนปฏิบัตินี่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง มันจะรู้ของมัน ถ้ารู้ของมันนะ อื้อฮือ ! มันจะอื้อฮือ ! เลยนะ เราถึงบอกว่ามันคนละมิติ
มิติโลกกับมิติธรรม มิติโลกคือความคิดแบบโลกๆ ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ความคิดแบบนี้คือมิติโลก.. มิติโลกมันเกิดขึ้นมานี่มันเป็นที่โลก ทุกคนมีหมด โลกทุกคนรู้หมด โลกทุกคนสื่อสารได้หมด แล้วเข้าใจได้เหมือนกันหมด มิติโลกเพราะเราเกิดในโลก เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วนี่มันเป็นมิติโลก
มิติธรรม.. ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามาแล้วมันออกเห็นสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรม.. อันนั้นล่ะมิติธรรม ! มิติธรรมเพราะอะไร มิติธรรมเพราะถ้าจิตมันสงบ พอมันสงบขึ้นมาแล้วมันพิจารณาของมันไป มันจะกลับเข้ามาถอดถอน พอถอดถอนแล้วมันรู้นะ
นี่รสของธรรม รสของสมาธิ รสของมิติโลก เวลามันสงบเข้ามานี่ อย่างมากเลย.. การกระทำทุกๆ อย่าง ใครจะบอกสติปัฏฐาน ๔ ใช้วิปัสสนาหรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นคือคำพูด นั่นคือความเข้าใจผิด นั่นคือความเข้าใจของตัวแต่มันไม่มีผล ผลยังไม่เกิด.. แต่ถ้าผลมันเกิดขึ้นมานะ คือถ้าจิตเราสงบเข้ามา เราวิปัสสนาเข้ามา เราใช้ปัญญาเข้ามา นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเกิด !
มันเกิดสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้ของมัน พอรู้ของมัน มันจะเห็นเลยว่าคนละมิตินี่คนละมิติอย่างไร.. คนละมิติอย่างไร ! ถ้ามันคนละมิติ นี่ไงโลกกับธรรมมันถึงไม่เหมือนกัน ไม่มีเหมือนกันหรอก ธรรมมันคือธรรม แล้วธรรมคือความจริงมันเกิดขึ้น
นี่พูดถึงข้อที่ ๒ ไง ข้อที่ ๒ ว่า เราจะทำอย่างไรให้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นแนวทางอย่างไรนะ มันก็ต้องฝึกมาจากข้อที่ ๑ ฝึกมาจากเริ่มต้นเลย เริ่มต้นจากปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันดีขึ้นมาไง นี่จิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาของเรา เราหลบของเรา อันนี้คือธรรมโอสถนะ ! อันนี้คือธรรม
เราเกิดมานี่ เราเกิดมามีร่างกาย แม้แต่คนสติไม่ดี จิตไม่ดี เขาก็ไปหาจิตแพทย์ นี่ก็เป็นโลกๆ นะไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์เขาก็รักษาทางโรค รักษาทางยา แล้วรักษาทางจิตวิทยา เห็นไหม รักษาทางจิตมันพิจารณาของมัน นี่ก็ยังเป็นโลกอยู่ เพราะการรักษาของทางจิตแพทย์ เขารักษาจิตที่มันผิดปกติให้มันกลับมาเป็นปกติเท่านั้น
แต่เรารักษาด้วยธรรมโอสถ คือเรารักษาจิตของเราให้สงบร่มเย็น จิตสงบร่มเย็นมันเป็นบาทฐานของตัวมันเอง เป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานที่จะเกิดขึ้น งานที่จะมีการชำระล้าง งานที่อยู่ในมิติของธรรม.. พอเกิดในมิติของธรรมขึ้นมานี่ แล้วเราใช้จิตนี้ออกพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ที่พิจารณาอยากหาทุกข์ รู้จักทุกข์ ค้นทุกข์นี่ ทุกข์เพราะมันหลงในกาย ทุกข์เพราะมันหลงในจิต มันไม่ได้ทุกข์เพราะอย่างอื่นเลย.. ที่มันทุกข์อยู่นี่เพราะมันหลงตัวมันเอง ! เพราะมันหลงตัวมันเองมันถึงทุกข์ไง
ฉะนั้นเราย้อนกลับมาที่นี่ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วนี่ย้อนกลับมา ให้จิตนี้มันออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ก็คือกายกับจิตนี่แหละ พอเห็นกายกับจิตนี่มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา นี่ไงปัญญาตามอริยสัจ ปัญญาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ถ้าปัญญาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มิติแห่งธรรมมันเกิดขึ้นนี่เกิดขึ้นเพราะจิตมันสงบ จิตมันสงบเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ มันไม่ใช่มิติของโลก ถ้ามิติของโลกนะก็ว่า อ้าว.. ก็รู้กันอยู่แล้ว เวทนาก็เกิดดับ ทุกข์ก็คือทุกข์ ทุกคนรู้หมดแหละ นี่มิติโลก เห็นไหม เป็นมิติโลกเพราะมันเป็นความคิด เพราะมันเป็นพลังงานใช่ไหม มันเป็นความคิด
ความคิดนี้เกิดจากพลังงาน พลังงานนั้นคืออวิชชา.. พอมันเกิดพลังงานเป็นอวิชชานี่มันเกิดความคิด ความคิดคือมิติโลก มิติโลกเพราะมันเกิดจากโลกทัศน์ เกิดจากจริตนิสัยเกิดจากเรา นี่มันเป็นโลก ! โลกกับโลกพูดกันได้หมด เราเข้าใจได้หมด เข้าใจได้หมดแล้วมันถอดถอนกิเลสได้ไหม.. เข้าใจได้หมดแล้วมันเป็นธรรมไหม
นี่มันคนละมิติ เห็นไหม มันเป็นคนละความคิด มันถึงเป็นโลกียปัญญา เป็นความคิดโลกๆ แต่ถ้าเป็นความคิดทางธรรม พอจิตมันสงบแล้วพอปัญญามันเกิดขึ้น มันจะย้อนกลับเข้ามา นี่เป็นมิติแห่งธรรม คือภาวนามยปัญญา.. ธรรมที่เกิดจากการภาวนา
นี้พอธรรมที่เกิดจากการภาวนา นี่เราก็ทำกันอยู่ ทุกคนเราก็ทำกันอยู่แล้วทำไมมันไม่เป็นตามนั้นล่ะ ก็คิดตามนั้น คิดตามนั้นเพราะจิตมันไม่เป็นสมาธิไง จิตมันไม่เป็นสากล จิตมันไม่เป็นสัมมาสมาธิ จิตมันไม่เข้าสู่อริยสัจ.. จิตมันเป็นเราไง จิตมันเป็นเราเพราะเรารู้มิติแห่งโลก โลกคือเรา โลกคือความผูกพัน โลกคือต่างๆ นี่มันก็หมุนของมันไป นั้นมันถึงเข้ามาสัมมาสมาธินี่ เห็นไหม นี่พูดถึงว่าเข้าสู่อริยสัจ ๔ ถ้าภาวนามันจะรู้ของมันตามความเป็นจริงนะ
ทีนี้ย้อนกลับมาที่นี่ เขาบอกว่า ถ้าหากหลวงพ่อให้ผมรับทุกขเวทนาโดยไม่ต้องหลบด้วยการนั่งสมาธิ ผมจะต้องพิจารณาอย่างไรครับ เพื่อให้ถูกต้องตามแนวทางขององค์พระพุทธเจ้า และตามแนวอริยสัจ ๔
นี้คำว่าทุกขเวทนาหรือไม่ทุกขเวทนา หลวงพ่อให้ผมนี่มันไม่ใช่นะ ถ้าเราไปพูดอะไรนี่เราเป็นคนนอก เราเป็นคนนอก เราไม่ใช่เป็นความสุขความทุกข์ในใจของผู้ปฏิบัติ ฉะนั้นในใจของผู้ปฏิบัติ ต้องเผชิญกับความจริงของผู้ปฏิบัติเอง ฉะนั้นครูบาอาจารย์เป็นผู้บอกทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น
นี่ก็เป็นการชี้ทาง ไม่ใช่ว่าเราบอกอย่างไรแล้วจะต้องทำแบบนั้น เราบอกเป็นแนวทาง แต่ต้องทำตามความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นมากับเรา แล้วเราเอาประสบการณ์ตามความเป็นจริงอันนั้น อันที่ตามความเป็นจริงนั่นล่ะปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก อันนั้นน่ะของจริง ! ถ้าของจริงอันนั้น มันจะเข้าใจ มันจะรู้ของมัน
ฉะนั้นสิ่งที่ว่าถ้าให้ผมรับทุกขเวทนา.. ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! ไม่ใช่รับทุกขเวทนา ทำจิตให้สงบ เหมือนข้อที่ ๑ พอสงบแล้ว มันสงบแล้วออกจากสมาธิค่อยวิปัสสนา ไม่ใช่ว่าไปเผชิญกับทุกข์แล้ววิปัสสนา จิตสงบเข้ามาใช่ไหม มันก็มีบาทมีฐาน มีกำลังใช่ไหม แล้วออกไง นี่สติปัฏฐาน ๔ อยู่ตรงนี้ !
จิตออกรู้.. จิตออกรู้นี่ แต่ถ้าจิตไม่มีกำลังออกรู้อย่างไรก็ไม่ใช่ เหมือนกับเราไม่มีตังค์นะ แล้วเราทำเสนอโครงการไป ทางธนาคารเขาให้มาพันล้าน เราจ่ายสบายเลยนะ แต่ไม่ใช่เงินของเรานะ เงินของธนาคารพันล้าน แต่ถ้าเรารื้อค้นของเรา เราเก็บเงินของเรา เรามีเงินของเรา เราใช้จ่ายเงินของเรา
ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าทุกขเวทนา.. ทุกขเวทนา นี่มันเงินธนาคาร คือมันอยู่ที่ความคิด มันอยู่ที่จิต แต่ถ้าพอจิตมันสงบเข้ามานี่เงินของเรา เราไม่ต้องเขียนโครงการให้ใคร เรามีเงินสดๆ เงินเย็นๆ เงินที่ไม่มีดอกเบี้ย เงินที่ทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม อันนี้ต่างหากมันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔
ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าให้เผชิญกับทุกข์ไหม.. ใช่ ! ให้ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้วออกใช้ปัญญา.. ออกใช้ปัญญา.. การออกใช้ปัญญานั้นถึงจะเป็นอริยสัจ ออกใช้ปัญญาแล้วปัญญานั้นมันจะเป็นมิติแห่งธรรม แล้วพอเป็นมิติแห่งธรรมนี่ลองเทียบดูสิ มันจะรู้ แล้วมันจะเข้าใจ แล้วมันจะเห็นเลย ถ้าคนฝึกหัดภาวนานะ
ภาวนาเริ่มต้นต้องพยายามทำให้สงบ คือหลบทุกข์เข้ามานั่นแหละไม่ใช่เผชิญกับทุกข์ เพราะถ้าเผชิญกับทุกข์ เหมือนเรานี่นะหนี้สินเต็มตัวเลย แล้วทำโครงการอะไรก็มีแต่ความล้มเหลวเลยนี่เราจะมีความสุขไหม นั่นเผชิญกับทุกข์ ฉะนั้นเราปลดหนี้ปลดสินให้หมดเลย เราจะไม่มีความทุกข์เลย เราเข้าสู่ความสงบ เราเข้าสู่สัมมาสมาธิแล้วเราก็ออกทำงาน นั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง.. นี่วิปัสสนา !
สมถกรรมฐานคือจิตสงบที่จะออกใช้สมถกรรมฐาน แล้วพอใช้แล้วมันจะเป็นประโยชน์ อันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน
นี่พูดถึงการปฏิบัติข้อที่ ๒... ต่อไปข้อที่ ๓ นี่แหละ
ถาม : ๓. ทุกขเวทนาทางกายผมใช้วิธีนี้ แต่ถ้าทุกขเวทนาทางจิต เช่นเสียใจ ทุกข์ใจพอสู้ได้ แต่ถ้ากรณีอกหัก รักคุด อันนี้ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ครับ พอออกจากสมาธิก็กลับมาทุกข์ใจเหมือนเดิม บางทีนั่งสมาธิไม่ได้เลยครับ สำหรับกรณีนี้หลวงพ่อมีวิธีแนะนำอย่างใด
หลวงพ่อ : กรณีนี้นะ โอฆะ.. การข้ามโอฆะ การข้ามโอฆะนี่ต้องพระอนาคา สิ่งที่จะถึงพระอนาคานะ แม้แต่พระโสดาบันอย่างเช่นนางวิสาขา เห็นไหม เป็นพระโสดาบันก็ยังมีครอบครัว นี้การมีครอบครัว การมีครอบครัวนี่จะมีความรักไหม ไม่มีความรักจะมีลูกมีเต้าไหม.. มันก็มี
ฉะนั้นกรณีอย่างนี้นะ เวลาเราปฏิบัติกัน เวลาถึงที่สุดผ่านพ้นจากโอฆะนี่ เห็นไหม บ้านนี้มันเป็นเรือนร้างเป็นบ้านว่าง นี่เรือนร้างมีคนอยู่ บ้านว่างแต่มีคนอยู่ คำว่ามีคนอยู่นี่มันเข้าใจตัวของมันเอง ฉะนั้นอย่างที่เราปฏิบัติอยู่นี้เรายังไม่ถึงระดับนั้น
พระเรานะเวลาปฏิบัติขึ้นมานี่ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้น ปี ๒๔๗๕ ท่านเป็นคนอุปัฏฐากบาตรของหลวงปู่สิงห์กับพระมหาปิ่น พี่ชายกับน้องชาย มางานฉลองกรุง มาพักที่วัดบวรฯ นี่ท่านล้างๆ บาตรอยู่ ล้างบาตรอยู่ไม่รู้จักผู้หญิงเลยนะ เดินผ่านกันทีเดียว ผู้หญิงก็เดินผ่านไปพอกลับไปบ้านเขาก็ไม่รู้เรื่องเลย แต่ท่านปิ๊งเขา
นี่อกหักรักคุดต้องทำอย่างไร ฉะนั้นหลวงปู่ฝั้นก็ไปปรึกษาหลวงปู่สิงห์กับหลวงปู่มหาปิ่น พี่ชายกับน้องชายนี่บอกให้เข้าโบสถ์วัดบวรฯ ให้มาพักที่วัดบวรฯ แล้วปิดโบสถ์เลย อดข้าว รักไหม.. รัก ไม่กินข้าว วันที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยังรักไหม.. รัก ไม่กินข้าว พอวันที่ ๕ รักไหม อืม.. ชักหิวนะ ชักไม่ไหวแล้วแต่มันก็ยังรักอยู่นะ ยังตัดไม่ได้ วันที่ ๗ รักไหม.. ไม่รัก ไม่รักมันจะตายน่ะ แล้วมันจะตายนี่ท่านออกมาฉันข้าว มันไม่รักมันจะตาย
นี้เราบอก ขนาดที่ว่านี่ประสบการณ์ เห็นไหม เราจะบอกว่านี่ทางออก.. หลวงปู่มั่น พระที่ว่าในประวัติหลวงปู่มั่นที่อยู่ที่มูเซอ นี่มันเป็นผลของกรรม บิณฑบาตอยู่ ธรรมดาพวกมูเซอเขาจะแอบ เขาจะไม่ให้คนเข้ามาใกล้ใช่ไหม ทีนี้เขาอาบน้ำ.. พระนี่เดินจงกรมอยู่ก็เห็นเขาอาบน้ำ ไม่เคยรู้จักเขาเลยนะ พอเห็นเขาอาบน้ำมันก็เกิดความผูกพัน พอเกิดความผูกพันนี่จิตปฏิพัทธ์แล้ว หลวงปู่มั่นเดินจงกรมอยู่นะ โอ้โฮ.. บอกว่าพรุ่งนี้เช้าไม่ต้องไปบิณฑบาตนะ เพราะกลัวไปเจอกันในหมู่บ้าน พรุ่งนี้เช้าไม่ต้องบิณฑบาตนะ ให้เดินจงกรมจะบิณฑบาตมาเลี้ยงเอง
ฉะนั้นหลวงปู่มั่นไม่เคยทำกับใคร พอหลวงปู่มั่นไม่เคยทำกับใคร พระทั้งหมดก็บอกว่าพระองค์นี้ต้องภาวนาดีมากเลย ขนาดหลวงปู่มั่นบอกว่าจะบิณฑบาตมาเลี้ยง ก็ไปถามพระองค์นี้ว่าภาวนาดีขนาดไหน โอ้โฮ.. มันจะดีขนาดไหนมันจะตายอยู่แล้ว นี่หลวงปู่มั่นท่านเมตตา ท่านถึงว่าไม่ให้ไป
อันนี้เราจะบอกว่ากรรม เห็นไหม พอเสร็จแล้วหลวงปู่มั่นบิณฑบาตกลับมาแล้วฉัน แล้วก็พระองค์นี้ฉันด้วย เสร็จแล้วหลวงปู่มั่นท่านเห็นว่ามันรุนแรงไง พอรุนแรงท่านก็บอกว่าให้หนีไปซะ คือให้เก็บบริขารหนีจากที่นี่ไป คือไม่ให้เห็นกัน ไม่ให้พบกัน ก็เก็บของแล้วก็ธุดงค์ออกไป
นี่ด้วยกรรมนะ ธรรมดาแล้วชาวเขานี่ผู้หญิงเขาไม่ค่อยได้ไปไหน ชาวเขาผู้หญิงคนนั้นก็บังเอิญจากหมู่บ้านนี้ เดินออกไปบ้านญาติอีกหมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านข้างล่าง พระองค์นี้ก็ธุดงค์ไป ไปเจอกัน ก็สึก
นั่นแก้ไม่ได้ เห็นไหม เราจะบอกว่าหลวงปู่ฝั้นท่านแก้ได้ก็ด้วยกำลังของท่าน ด้วยสติของท่าน ด้วยความมุ่งมั่นของท่าน พระองค์นั้นหลวงปู่มั่นท่านก็ประคองเต็มที่ แต่สุดท้ายแล้วด้วยกำลังที่ท่านทนไม่ไหว นี่แล้วด้วยกรรม.. เพราะมันไม่เคยมีนะ ให้ออกไป ออกไปก็ธุดงค์ไปไงให้หนีไปซะ ผู้หญิงคนนั้นก็พอดีไปเยี่ยมญาติก็ออกจากหมู่บ้านนั้นไป ไปเจอกันข้างหน้า พระองค์นั้นก็สึก สึกแล้วก็มีครอบครัวไปเลย
นี้เขาบอกว่าอกหัก รักคุดนี่แก้ไม่ได้.. อกหัก รักคุดนี่นะ มันจะไปแก้ที่ความรัก นี่โอฆะนี้แก้ได้ยากมาก แต่ ! แต่เราใช้ปัญญาสิ เราใช้ปัญญา เห็นไหม นี่นะพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมี บารมีสิบทัศ นี่อธิษฐานบารมี อธิษฐานคือตั้งเป้าหมาย.. ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ถ้าเนกขัมมบารมีคือถือพรหมจรรย์ คือไม่มีครอบครัว
คนที่ไม่มีคู่นี่ถือเนกขัมมบารมี เราต้องมีบารมีของเรา เราต้องมีความเข้มแข็งของเรา ถ้ามีความเข้มแข็งของเรานี่เราใช้ปัญญา ปัญญาของเรานี่นะ การมีคู่ การมีครอบครัว.. ใครมีครอบครัวก็สาธุนะ เดี๋ยวถ้าบอกไปว่าคนมีครอบครัวผิดอีก ใครมีครอบครัวก็สาธุ มันก็เป็นปกติของเรา เราก็ต้องใช้ปัญญาของเราใช่ไหม การมีครอบครัวนะมันมีความทุกข์อย่างนี้.. มีความทุกข์อย่างนี้.. ถ้าเราเกิดขึ้นมาเราต้องรับผิดชอบอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้มันจะมาแก้ไง.. นี่บารมีสิบทัศ
บารมีของเนกขัมมบารมี ! เนกขัมมบารมี.. ในเมื่อเราสร้างบารมีอยู่นี่กิเลสเต็มตัว มันแก้รักคุดนี้ไม่ได้หรอกมันก็รัก รักแน่นอน เพราะจิตใต้สำนึก โอฆะ.. ความเป็นไปของใจนี่มันมีของมัน มันมีข้อมูลของมัน มันต้องมีผลของมัน แต่เราสร้างบารมีของเรา เห็นไหม พอเราสร้างบารมีของเรา เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่ ใช้ปัญญาของเราให้เห็นโทษไง ว่าสิ่งที่มีครอบครัวมันจะมีความรับผิดชอบมากขนาดไหน
มันจะต้องมีความรับผิดชอบ มันมีความทุกข์ ดูสิพ่อแม่กับลูกนี่ร้องไห้กันแล้วก็ร้องไห้กันอีก ไอ้ตีลูก ลูกก็ร้องไห้ไป ไอ้แม่ก็เข้าบ้านก็ไปนั่งร้องไห้อยู่ เสียใจเพราะตีลูก เห็นไหม มันก็ร้องไห้เหมือนกันนั่นล่ะ เวลาตีลูก ลูกก็ร้องไห้ต่อหน้านะ ไอ้แม่ต่อหน้าก็ไม่กล้าร้องไห้กับลูกเนาะ ทำใจแข็ง เข้าบ้านไปก็ไปนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวเนาะ เพราะตีไปแล้วก็เสียใจ นี่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ.. มันเป็นเพราะอะไร
ถ้าเราคิดของเราอย่างนี้ เห็นไหม อกหัก รักคุดนี่มันจะเบาลง.. เบาลง.. เบาลง เราต้องใช้ปัญญาไง เราใช้ปัญญาเราแก้ไข แก้ไขว่าความเป็นไปของโลก ความเป็นไปนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการครองเรือน การครองเรือนนะท่านบอกว่า เหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเลยเอาปลาตัวหนึ่ง.. เอาปลาตัวหนึ่งตัวเล็กๆ
ความสุขในการครองเรือนนี่มันก็มีความสุข ความสุขคือปลาตัวนั้น แต่ทะเลทั้งทะเลนี่เอ็งต้องวิดนะ เอ็งต้องวิดน้ำทะเลทั้งทะเลเลยเพื่อจะเอาปลาตัวนั้น เรามีครอบครัวเราก็ตั้งเป้ากันทุกคนแหละ เราจะมีครอบครัวเพื่อเหตุนั้น.. เพื่อเหตุนั้น.. เพื่อเหตุนั้น แต่ขณะที่มีครอบครัวไปนะ..
คนที่มีครอบครัวนี่รู้ ! เราไม่รู้.. ไม่รู้แล้วอธิบายใหญ่เลยนะ อธิบายเพราะเขาถามปัญหาไง เราพูดนี่นะเพราะเราอ่านพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องนี้นะ โอ้โฮ.. ซึ้งมาก พระพุทธเจ้านี้สุดยอดจริงๆ เวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติถึงศีลของนางภิกษุณี นี่รู้ความรู้สึกของผู้หญิงได้อย่างไรว่าผู้หญิงมีความรู้สึกอย่างนี้.. อย่างนี้.. อย่างนี้ อย่างเช่นสังฆาทิเสสกับปาราชิก นี่พระปาราชิก ๔ ภิกษุณีปาราชิก ๘
ใช่ไหม.. ตัวเลขจะผิด ตัวเลขนี่คลาดเคลื่อนตลอด เขาแย้งมาบ่อยว่าพูดอะไรก็ผิด ผิดเรื่อยเลย ผิดประจำ พูดผิดๆ เรื่อยเลย.. อรรถพยัญชนะ พยัญชนะนี่ผิดได้
สังฆาทิเสสนี่ของเรามัน ๑๓ ภิกษุณี ๒๐ เศษๆ หรืออย่างไรนี่แหละ แล้วนะปาราชิกของภิกษุณีนี่.. ภิกษุณีเห็นภิกษุณีทำผิดแล้วไม่บอกนะเป็นปาราชิกเลยล่ะ ต้องบอกเลยนะ บอกว่าภิกษุณีคนนั้นผิดอย่างไร.. ผิดอย่างไร
ฉะนั้นเราถึงบอกว่าความคิดของผู้หญิงนี่นะ ผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ผู้หญิงนี่แรงเสียดทานเยอะมากผู้หญิงกับผู้หญิงนี่ ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยนี่ไปอ่านศีลของภิกษุณีสิ ถ้าศีลของภิกษุณีนี่มันเกิดจากความรู้สึกของผู้หญิงไง แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นวินัยๆ ออกมานี่ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติเพื่อใคร พระพุทธเจ้าบัญญัติเพื่อนางภิกษุณีนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติเพื่อพระพุทธเจ้านะ
พระพุทธเจ้าบัญญัติเพื่อภิกษุณี นี่บัญญติเพื่อความสงบสุขในความเป็นอยู่ของภิกษุณี ของผู้หญิงที่ปฏิบัติร่วมกัน ฉะนั้นเวลาบัญญัติศีลของนางภิกษุณี เห็นไหม บัญญัติขึ้นมานี่ด้วยความรู้อย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ว่าพระพุทธเจ้านี้ฉลาดมาก
ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความรู้สึกอย่างนี้ เราจะบอกว่าถ้ามันจะละได้นะมันไปละได้ที่อนาคา คือกามราคะ.. ปฏิฆะ ฉะนั้นถ้าเรายังปฏิบัติอย่างนี้เรายังละไม่ได้ ถ้าเราละไม่ได้ นี่วิธีการมันก็ต้องละขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา
ถ้าวิธีการ เห็นไหม เรามีคำแนะนำอย่างไร.. แนะนำว่าถ้าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ เราใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาของเรานี่ล้อมรอบใจของเราไว้ไม่ให้ออกไป ถ้าไม่เอาใจเราล้อมรอบออกไปอย่างนั้น เราจะตกลงไปในโอฆะ คือเราก็ต้องมีครอบครัวมีอะไรไปตามแต่โลกเขา แต่ถ้าเราจะสร้างบารมีของเรา เรามีความเป็นไปของเรา เราต้องใช้ปัญญาอย่างนี้
ถ้าปัญญาอย่างนี้แล้วนี่.. เราเกิดมาในครอบครัวเนาะ ในตระกูลก็ต้องการให้ตระกูลนั้นมั่นคง ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าบอกว่าให้ถือพรหมจรรย์ ให้บวช โลกนี้จะปราศจากมนุษย์นะ นี่เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าทำลายโลก คือโลกนี้จะไม่มีคนไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี้เวลาคิดเราก็คิดกันไปอย่างนั้น
ถ้าใครจะมีครอบครัวนี่ก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะถือพรหมจรรย์ของเรา เราจะออกจากโลกให้ได้ เราก็ปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติของเราไปนะ จิตมันสงบเข้ามาแล้วออกใช้ปัญญาพิจารณาไป พิจารณาไปอย่างเริ่มต้นนี่ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม.. ถ้ามันละกาย เวทนา จิต ธรรมได้แล้ว
กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย.. กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย นี่เป็นโสดาบัน เห็นไหม เป็นโสดาบันแล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป.. พิจารณากายนี่ กายมันจะคืนสู่สภาพเดิมของมัน เป็นสกิทาคา.. แล้วมันจะเข้ามาสู่กามโอฆะ ถ้ามันเข้าสู่กามโอฆะนี่มันจะเผชิญกับในกามราคะ ถ้ามันเผชิญกับกามราคะ แล้วมันพิจารณากันไป จนถึงที่สุดนะถ้ามันขาดนี่สะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจ
นี่เรือนว่าง ! แล้วมันเป็นเรือนว่าง เห็นไหม นี่แม่ทัพ.. แม่ทัพคืออวิชชา แม่ทัพคือตัวจิต นี่แม่ทัพนะ.. แล้วขุนพล ขุนพลที่ออก นี่กามราคะ.. ปฏิฆะคือขุนพล สิ่งที่เป็นขุนพลคือสิ่งที่ออกรับรู้ นี่สิ่งนี้หนักแน่นมาก
เราจะบอกว่าจิตนี้คือจอมทัพ.. ไอ้กามราคะ ปฏิฆะคือแม่ทัพ ถ้าคือแม่ทัพขึ้นมานี่มันเป็นสิ่งที่รุนแรงมาก ฉะนั้นเวลาปฏิบัติเข้าไปนี่ เวลาปฏิบัติเข้าไปกามราคะมันถึงรุนแรง ทีนี้เวลาเราปฏิบัติกันเราใช้พิจารณาอสุภะเป็นกามราคะ อย่างนี้คือการพิจารณากาย
การพิจารณากายอย่างหนึ่ง พิจารณากายเห็นเป็นไตรลักษณ์นี้อย่างหนึ่ง พิจารณากายสู่ธาตุ ๔ อย่างหนึ่ง.. นี่พิจารณากาย พิจารณาจิตนี้ เป็นอสุภะเป็นกามราคะมันจะเข้ามาล้างกันตรงนี้ มันจะเข้ามาล้างอกหัก รักคุดเนี่ย ! ถ้ามันล้างตรงนี้หมดนะมันเป็นโดยสัจธรรมเลย มันจะเป็นของมันโดยธรรมชาติเลย
แต่ในเมื่อเรายังไม่ถึงจุดนี้.. ในการแก้ไขใช่ไหม ในการแก้ไข ในการต่อสู้ของเรา เราก็พยายามใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเรานี่แหละ ปัญญาของเรานี่รักษาใจเราไว้ได้ !
ถ้าปัญญาเรารักษาใจเราได้.. นี่มันมีความรู้สึก มันมีความรู้สึกเพราะมันมีกรรม มีความรู้สึก มีความรักความผูกพันเนี่ยมี แต่เราเปลี่ยนให้เป็นเมตตา.. เปลี่ยนให้มันเป็นเมตตานะ เปลี่ยนให้มันเป็นสัตว์โลก เห็นไหม
นี่ผู้เกิดแก่ร่วมตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น.. จงเป็นสุขๆ เถิด
เราเกิดร่วมภพร่วมชาติ เราเกิดมาร่วมกัน สิ่งนี้มันมีความผูกพันของมัน ถ้าความผูกพันของมัน แต่เราไม่ครอบครองครองเรือน ไม่เกิดความผูกพันกันต่อไป นี่ถ้ามันแก้ไขตรงนั้น ถ้ามันแก้ไขใจเราได้ มันจะแก้ทุกๆ อย่างได้เลย
ถ้ามันแก้ไขใจเราไม่ได้ เห็นไหม อกหัก รักคุดนี่เขาไม่รู้กับเรานะ เพราะรักคุดคือว่าฝ่ายตรงข้ามไม่รู้กับเราใช่ไหม เราทุกข์อยู่คนเดียวนะ แต่ถ้าเราแก้ไขของเรา เราจะแก้ไขของเราได้ ถ้าแก้ไขของเรา.. เราจบ ถ้าเราจบที่นี่ เห็นไหม
นี่ไง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนแก้ไขใจของตน ตนจะแก้ไขให้หัวใจนี้พ้นจากสิ่งนั้นไป
นี้เราจะบอกว่า การแก้ไขโดยความเป็นนักปฏิบัติ.. เริ่มต้นของเราคือปุถุชน ยังไม่ได้มรรคได้ผล เราต้องใช้ปัญญารักษาใจเราไปก่อน แต่ถ้าโดยเนื้อหาสาระ โดยข้อเท็จจริงนี่เราจะพิจารณาไป เราจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา พอเป็นอนาคานั่นล่ะ สิ่งนั้นจะหมดไปโดยธรรม.. หมดไปโดยธรรมเลย มันจะเป็นสัจธรรม
นี่ผลของธรรม ! ธรรมที่เหนือธรรมชาติ.. ธรรมที่เหนือโลก
มันเหนือโลก เหนือกามราคะ เหนือโอฆะ เหนือความเป็นไป แล้วเกิดถ้ามันกลับมาทำลายตัวมันเอง นี่จิตนี้เป็นเรือนร้าง บ้านว่างแต่มีคนอยู่ คนคือจิตตัวนั้น.. จิตผ่องใสๆ เห็นไหม กลับมาทำลายจิตตัวนี้สิ้นจากอวิชชา สิ้นจากโอฆะ สิ้นจากภพ สิ้นจากต่างๆ นี้มันเป็นการข้ามโอฆะ
ฉะนั้นนี่พูดถึงโลกนะ แต่ ! แต่เริ่มต้น เห็นไหม เริ่มต้นนี่เขาว่า ผมปฏิบัติธรรมมานาน แล้วทดลองมาหลายแนวทาง พอมาเจอหลวงพ่อ ผมก้าวหน้ารวดเร็วมากจนแปลกใจ อันนี้จะเป็นผลมาก.. ถ้าพูดถึงเราปฏิบัติจนก้าวหน้าจนมีผลขึ้นมา อันนี้เห็นด้วย อันนี้สาธุนะ
ฉะนั้นเพียงแต่ว่าเราปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม จากที่ว่ามีผลก้าวหน้า นี่พิจารณาจนปล่อยทุกข์ได้ วางทุกข์ได้แต่ยังไม่ได้ต่อสู้ อย่างนี้ให้พิจารณาซ้ำ พอจิตสงบแล้วออกมาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถึงที่สุดแล้วมันขาดนะจะรู้เป็นปัจจัตตัง แล้วจะเข้าไปสู่กามราคะ แล้วสิ่งที่ว่าเป็นไฟสุมขอนในใจนี่เราจะรักษาของเราได้ ไฟสุมขอนในใจเราจะแก้ไขได้ แล้วเราจะเข้าใจตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตังในหัวใจของผู้ปฏิบัตินั้น เอวัง..