ขุยไผ่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ปัญหาข้อที่ ๒๗๔.
ถาม : ๒๗๔. เรื่อง เข้าใจผิดว่าตนบรรลุ ทั้งที่ยังไม่บรรลุ แล้วแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่าตนบรรลุแล้ว ผิดหรือไม่
หากคนๆ หนึ่ง เข้าใจว่าตนเองบรรลุพระอรหันต์ ทั้งที่ตนไม่บรรลุ หากแต่ภาวนาไปถึงระดับจิตระดับหนึ่ง เกิดหลงเข้าใจผิดว่าตนบรรลุ แล้วไปกราบเรียนภาวนากับอาจารย์ที่ไม่รู้เรื่อง แล้วบอกส่งเดชว่าเราบรรลุแล้ว ด้วยความเข้าใจเอาเอง ประกอบกับคำรับรองของอาจารย์ที่ตนเชื่อถือ ทำให้มั่นใจมากว่าตนบรรลุแล้ว แล้วได้แสดงธรรมหรือพูดจาให้คนอื่นเข้าใจว่าตนบรรลุแล้ว ทั้งที่จริงยังไม่บรรลุ เป็นการเข้าใจผิดในคุณธรรมของตน แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อใคร อย่างนี้ผิดไหมครับ บาปไหมครับ หากคนๆ นั้นเป็นฆราวาสจะมีความผิดอย่างใด หากคนๆ นั้นเป็นพระ จะมีความผิดอย่างใด
หลวงพ่อ : คำถามนี้นะ พูดถึงถ้าโดยปกติมันไม่ต้องตอบหรอก ไม่ต้องตอบเพราะอะไร เพราะว่าคนๆ หนึ่งเข้าใจว่าตนบรรลุ แล้วตนยังไม่บรรลุ คือว่ามันไม่ใช่เรื่องของคนถาม คนถามรู้ได้อย่างไร.. ถ้าคนถามเข้าใจว่าตนบรรลุอรหันต์นี่จะไม่ถามใคร ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของคนอื่นไง ไปเห็นภาพคนอื่นแล้วเอามาถามไง คือเอาเรื่องคนอื่นมาถาม ไม่ใช่เอาเรื่องของเรามาถาม ถ้าเอาเรื่องของเรามาถาม แล้วเราบรรลุจริงหรือเปล่าล่ะ นี้ถ้าบรรลุจริงหรือไม่จริง..
นี่ไงที่บอกว่าครูบาอาจารย์สำคัญ ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ไง สำคัญที่ว่าเวลาเราผิดพลาด เรามีความหลงไป การปฏิบัติ คนทำงานมันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แต่เวลามีความผิดพลาดเป็นธรรมดาแล้วนี่ ถ้าครูบาอาจารย์เป็นความจริงนะ แม้แต่ผิดพลาดแล้วนี่ จะบอกว่าเขาผิดครูบาอาจารย์ท่านยังไม่บอกเลย เพราะบอกแล้วมันเกิดการทิฐิมานะ
ฉะนั้นวิธีการบอกว่าคนนั้นจะภาวนาถูกหรือจะภาวนาผิด ครูบาอาจารย์ท่านจะมีเทคนิคของท่าน รอระยะเวลาของท่าน ให้เห็นว่าสมควรและไม่สมควร แล้วจะบอกอย่างใด จะเตือนอย่างใด ให้คนๆ นั้นเข้าใจ มันเหมือนกับอาจารย์สอนเด็ก เห็นไหม ว่าเด็กมันหลงผิดไปแล้ว เราจะทำให้เด็กเข้าใจถูกได้อย่างไร แต่ถ้าไปบอกว่าเด็กนี้ผิด ถ้ามันสอนโดยอาจารย์ที่ไม่เข้าใจนะ ก็บอกว่าผิดแล้วเอาเด็กมาลงโทษเลย อย่างนี้เด็กมันก็เกิดแอนตี้ ในจิตเขาเกิดการพยาบาทผูกฝังไปในหัวใจของเขาเลย
นั้นพูดถึงว่าเวลาอาจารย์ที่ไม่เป็นอาจารย์จริง คือไม่มีวุฒิภาวะควรจะสอนเด็กได้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่จะสอนเด็กได้เขาต้องมีจิตวิทยาว่าจะสอนอย่างไร จะบอกอย่างไร ว่าเด็กมันมีความผิดอย่างใด ควรทำอย่างไรให้มันรู้ตัวเองว่ามันผิดหรือไม่ผิดอย่างใด แล้วให้มันมีการเปรียบเทียบ แล้วมันจะรู้ถูกหรือรู้ผิดของมันเอง มันจะเข้าใจของมัน แล้วมันจะกลับเข้ามา
ฉะนั้นคำถามนี่นะ มันถามมา เห็นไหม บุคคลคนหนึ่งเข้าใจว่าบรรลุ แต่ไม่บรรลุ แต่ภาวนาได้ระดับหนึ่ง แล้วไปกราบเรียนอาจารย์ที่ไม่รู้เรื่อง แล้วบอกส่งเดชไป ว่าบรรลุ
นี่มันก็เหมือนอาจารย์กับลูกศิษย์พอกัน ลูกศิษย์ก็ไม่รู้ อาจารย์ก็ไม่รู้ แล้วปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะว่านี่มันถึงว่า ธรรมเหนือโลก.. ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกนี้มันลึกซึ้งมากนัก แล้วพวกปฏิบัตินี่วุฒิภาวะอ่อนด้อยมาก แล้วพอปฏิบัติไปแล้วบอกบรรลุธรรมๆ แล้วทำกันอย่างไร ว่างๆ ว่างๆ นั่นน่ะ มันไม่ใช่หรอก !
นี่พูดถึงนะ.. ผลของมันล่ะ คนๆ นั้นบาปไหม เพราะคนๆ นั้นไม่เข้าใจใช่ไหม ตัวเองว่าไม่ได้ผิด ตัวเองไม่มีเจตนา เขาบอกว่า ตัวเองไม่มีเจตนา เพราะเข้าใจว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว ด้วยความเข้าใจผิดในคุณธรรม ไม่มีเจตนาร้ายต่อใคร อย่างนี้ผิดไหมอย่างนี้ผิดไหม.. ก็เหมือนตัวเองนี่ไปถามอาจารย์ อาจารย์ไม่รู้ก็บอกส่งเดชไป
ไปกราบเรียนอาจารย์ อาจารย์ไม่รู้เรื่องก็บอกส่งเดชไปว่าบรรลุแล้ว
แล้วเราไม่มีเจตนาร้าย เห็นไหม แล้วก็สอนเขาไป มันก็เหมือนกับคนที่ไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็บอกส่งเดชไป ไม่มีเจตนาร้ายก็บอกส่งเดชไป พอบอกส่งเดชไปนี่มันผิดไหมล่ะ..
มันผิดนะ.. ผิดมากด้วย.. คำว่าผิดมากนะ มันมีคติธรรมของในวงกรรมฐานเรานี่ เอามาพูดเป็นคติกันตลอดเวลาว่าหลวงปู่ตื้อ.. หลวงปู่ตื้อนี่นะท่านไปเทศน์อยู่บนเขา เทศน์สอนลูกศิษย์นี่ แล้วท่านก็เดินลงจากเขามา พอสุดท้ายท่านระลึกได้ว่ามีคำพูดผิดอยู่คำหนึ่ง ท่านขึ้นเขาไปใหม่ ไปบอกลูกศิษย์ว่า
คำนั้นผิดนะ.. คำนี้ผิด คำนี้ไม่ถูกต้อง
โอ้โฮ.. อาจารย์ กราบหลวงปู่ตื้อเลย
โอ้โฮ.. อาจารย์จะขึ้นมาทำไม เมื่อไหร่มาบอกก็ได้
หลวงปู่ตื้อบอก ไม่ได้ ! เดี๋ยวท่านไปบอกคนอื่นต่อ พอบอกคนอื่นต่อมันก็ผิดต่อๆ ไป
นี่หลวงปู่ตื้อนะ.. นี่คติธรรมของพวกเรามันมี ถ้ามันผิด เห็นไหม ท่านบอกว่าเรานี่หลงผิด คนๆ หนึ่งหลงผิดชีวิตนี้เสียไปนะ.. เราหลงผิดไป ชีวิตเรานี่เหมือนขุยไผ่เลย
ขุยไผ่นะ ถ้าไผ่นี่เวลาเราปลูกไผ่ เวลามันออกขุยไผ่ เห็นไหม นั่นล่ะมันจะทำลายตัวมันเอง คือมันหมดอายุ ไผ่นั้นตายหมดเลย.. ถ้าความเข้าใจผิดของเรานี้ มันเหมือนขุยไผ่ คือทำลายตัวเราเองหมดไง ทำลายสิ่งที่เราควรจะได้ดิบได้ดี มันจะทำลายหัวใจเราเอง จนหัวใจเราหมดคุณค่าไปเลย
ฉะนั้นถ้าตัวเองไม่บรรลุแล้วไปสอนคนอื่น เห็นไหม ตัวเองทำลายตัวเอง ตัวเองผิดต่อตัวเอง นั่นก็เฉพาะกรรมของตัวเอง มันเสียโอกาสไป แต่ถ้าไปบอกคนอื่น ทำร้ายคนอื่น บอกคนอื่นนี่กรรม ถ้าบอกคนอื่นนะ.. แต่ถ้าไม่รู้ล่ะ
นี้ในปัจจุบันนี้นะ อาชีพการเป็นครูสอน โทษนะ ครูสอนทางโลกนั้นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นอาชีพแบบครูบาอาจารย์ที่มันถูกต้อง แต่ครูสอนภาวนา ถ้าเราไม่รู้จริงแล้วเราไปสอนเขานี่ ตอนนี้มันเป็นอาชีพอย่างนี้เยอะมาก อาชีพเป็นการสอน แล้วสอนไปนี่มันเป็นอาชีพๆ หนึ่ง แล้วพระนี้เป็นอาชีพหรือเปล่า
พระอาชีพ.. อาชีพพระ แต่พระบวชแล้วมันเป็นพระโดยเนื้อหาสาระ นี้ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ นี่ตัวเองเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจผิดแล้วสอนคนอื่นมันก็ผิดหมดล่ะ พอผิด มันผิดแล้วบาปไหม.. บาป ทำให้คนอื่นผิดทำไมมันจะไม่บาป แล้วถ้าเป็นพระล่ะ ถ้าเป็นพระก็แล้วไปใหญ่เลย
ถ้าคนๆ นั้นเป็นพระจะมีความผิดอย่างใด
ความผิดของพระนี่นะ ถ้าพูดถึงพระ ถ้าพระเข้าใจผิด เห็นไหม เวลาปฏิบัติถ้าวุฒิภาวะอ่อน คนภาวนานี่ภาวนาไม่ได้เลยก็มี.. คนภาวนาไปติดก็มี.. แล้วคนภาวนาไปนี่ไม่ได้ติดนะ แต่เข้าใจว่าตัวเองบรรลุแล้ว หรือตัวเองสิ้นกิเลสแล้ว อันนั้นพอมันถึงเวลานี่นะ มันแบบว่าถ้าเราซื่อสัตย์นี่ อวดอุตริมนุสสธรรม
ถ้าเราเข้าใจ เรารู้แล้วว่าอันนี้ไม่ใช่ ถ้าเราพูดนี่อวดอุตริ ถ้าเรารู้ว่าไม่ใช่แล้วนะ แต่ถ้าตอนที่เราหลงผิด.. เพราะการปฏิบัติมันเหมือนทางที่เราไม่เคยเดินนี่ มันมีความผิดพลาดได้ ถ้าความผิดพลาด ถ้าความหลงผิด...
แต่ความหลงผิดนี่ในครูบาอาจารย์ของเรานะ มันมีแตกต่างกัน เราอยู่กับสายพระกรรมฐาน หลวงปู่มั่นท่านจะบอกว่า ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน คือตัวเองต้องให้รู้จริงก่อนถึงให้ไปสอนคนอื่น
แต่ในทางโลกนี่นะ เขาจะบอกลูกศิษย์เขา บอกพระทั่วไปว่า เราเป็นพระ เราดำรงชีวิตของพระนี่ เรารู้สิ่งใดเราควรจะสอนเขา คือแทนคุณเขา นี่เขาคิดกันอย่างนั้นนะ ทางพระทั่วไปเขาคิดกันอย่างนั้น
แต่ในสายกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้พูดอย่างนั้น ท่านบอกว่า ต้องให้รู้จริงก่อน ฉะนั้นพอให้รู้จริงก่อน เห็นไหม พวกเราถึงได้เข้าป่า ถึงหลีกเร้น ถึงพยายามเคี่ยวตัวเอง เอาตัวเองให้รอดให้ได้ ถ้าเอาตัวเองให้รอดให้ได้แล้ว เราถึงมาบอกคนอื่น
แต่ในทางโลก หมายถึงพระทั่วไปในทางโลก เพราะเราอยู่ในสังคมพระ พระพูดกันมากว่า เรากินข้าวเขา เราก็ต้องสอนเขา เรากินข้าวเขา เราก็ต้องบอกเขา เรากินข้าวเขา แล้วเรากินไม่ถูก เรากินไม่เป็น แล้วเราไปบอกเขามันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ แต่มันก็ได้ประสาโลกๆ นั่นนะ
ฉะนั้นถ้าหากเป็นพระหลงผิด.. ในการปฏิบัติ เวลามันหลง เวลามันติดนี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาปั๊บ ถ้ามันบอกไปมันก็เสียหายไปหมด แล้วไปตามแก้ทีหลัง ถ้าไปตามแก้ทีหลังนะ แต่ถ้า ! ถ้าตัวเองรู้ว่าผิดแล้วไง ตัวเองรู้ว่าผิดแล้วพูดอีก เห็นไหม หากคนๆ นั้นเป็นพระจะมีความผิดอย่างใด
ถ้าตัวเองรู้แล้ว ประสาเรานะเราชักคนให้คนหลงทางนะ ไอ้นี่มันด้วยใจที่เป็นธรรม แต่ถ้าใจที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นโมฆะบุรุษ เห็นไหม โมฆะบุรุษตายเพราะลาภ ด้วยลาภ ด้วยสักการะ ด้วยการต้องการให้เขานับหน้าถือตา ก็พูดไป นี่ด้วยลาภสักการะ.. โมฆะบุรุษตายด้วยลาภ เพราะมันอยากได้ลาภก็พูดออกไป สอนเขาไป ผิดถูกก็ไม่ว่าบอกว่าสอน แล้วบอกอะไรก็ว่าตามพระไตรปิฎกไง อ้างพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกนะมันเป็นสัจธรรม แต่เวลาเราอ้างพระไตรปิฎก เราอ้างถูกหรืออ้างผิด เราอ้างได้อย่างไร เราอ้างแล้วเราอธิบายไม่ถูกหรอก เราแก้ไขเหตุการณ์ตามความเป็นจริงไม่ได้ ถ้าแก้เหตุการณ์ตามความเป็นจริง นี่อาการของใจเป็นอย่างไร เวลาคนปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วเริ่มต้นเป็นอย่างไร
ในปัจจุบันนี้ เวลาปฏิบัติไปถ้าจิตเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ แล้วเราใช้ปัญญาของเราไปนี่เราจินตนาการได้ อย่างเช่น ที่บอกว่า มีคนๆ หนึ่งเข้าใจว่าตัวเองบรรลุพระอรหันต์ ทั้งที่ตัวเองไม่บรรลุ
ทั้งที่ตัวเองไม่บรรลุ เห็นไหม แต่เราเคยศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วเราปฏิบัติไปนี่มันสร้างภาพได้
หากแต่ภาวนาไปถึงระดับจิตระดับหนึ่ง เกิดหลงเข้าใจว่า
นี่ตรงนี้ ! เกิดหลงเข้าใจผิดว่าตนบรรลุ ตรงนี้ ตรงที่ว่าปริยัติกับปฏิบัติ ที่มันยุ่ง มันยุ่งตรงนี้ เพราะว่า เพราะเราเข้าใจอยู่แล้วใช่ไหม นี่ศาสนาพุทธสอนให้ปล่อยวาง ในศาสนาพุทธนี่ความว่าง ว่างๆ นี้ความว่างนี่มันไม่เข้าใจว่าอะไรว่างเป็นอย่างไร เวลาว่างนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิ.. ทุกคนไม่เคยเข้าอัปปนาสมาธิ แม้แต่ขั้นของสมาธินี่ยังพูดไม่เป็นเลย ยังพูดผิดเลย เราเปรียบเทียบเหมือนในห้องๆ หนึ่งเห็นไหม ถ้าเจ้าของห้องเขาอยู่ในห้องนั้น เขาจะรู้หมดเลยว่าในห้องนั้นมีอะไรบ้าง แต่ถ้าเราไม่เคยเข้าไปห้องนั้นเลย เราจะจินตนาการว่าในห้องนั้นมีอะไรบ้าง
เวลาจิตเข้าไปในสมาธิ นี่มันก็เข้าไปอยู่ในระดับหนึ่ง ระดับของขณิกสมาธิก็ห้องหนึ่ง อุปจารสมาธิก็ห้องหนึ่ง อัปปนาสมาธิก็ห้องหนึ่ง ถ้าคนเข้าไปอยู่ในห้องทั้ง ๓ ห้องนี้ เขาก็จะรู้ว่าใน ๓ ห้องนี่มันมีอะไรอยู่ในห้องนั้นบ้าง เขาจะออกมาพูดได้หมดเลยว่าในห้องนั้นเป็นอย่างไร.. เป็นอย่างไร แต่คนเคยเข้าห้องหนึ่ง แต่ไม่เคยเข้าอีก ๒ ห้อง ก็พูดได้ห้องหนึ่ง ห้องที่หนึ่งนี่ถูก ห้อง ๒ ห้อง ๓ นี้จินตนาการเอา ว่าคงจะเหมือนห้องที่เราเคยเข้านี่แหละ
ฉะนั้นเวลาบอกว่าอัปปนาสมาธิเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น.. ถ้าบอกเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นนะผิดหมดเลย ผิดหมด ! อัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่า แล้วสักแต่ว่าอย่างไร คำว่าสักแต่ว่า.. สักแต่ว่าก็นึกเอา
ฉะนั้นบอกว่า แต่ภาวนาไปถึงจิตระดับหนึ่ง เกิดหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองบรรลุ
หลงเข้าใจผิดเพราะมันมีหลักเกณฑ์ มันมีสิ่งที่เราจินตนาการได้ มีขอบเขตได้ ฉะนั้นพอเรามีขอบเขตได้มันก็จินตนาการไป.. จินตนาการไปเพราะนี่ปริยัติ เห็นไหม เวลาเราบอกว่าปริยัติ นี่เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลยนะ
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เทิดใส่ศีรษะเอาไว้ เทิดใส่หัวไว้นะ ธรรมวินัยนี่เทิดใส่หัวไว้... แล้ววางไว้ก่อน
วางไว้ก่อน เห็นไหม มันถึงบอกว่า ภาวนาไปถึงจิตระดับหนึ่งแล้วเกิดหลงไป พอเราเทิดใส่ศีรษะไว้แล้ววางไว้ก่อน ใส่ลิ้นชักไว้ ปิดไว้อย่าให้ออกมา แล้วเราปฏิบัติไป นี่พอเวลามันเกิดสิ่งใด เวลาจิตมันเป็นระดับไหนนี่เหมือนกับเทียบเอาๆ เทียบเอาแล้วมันมีสติ ไม่เชื่อๆๆ
แต่ถ้าเราอยากได้ผลเกินไป หรือเราเอาปริยัติหรือเอาสิ่งที่เราศึกษามานี่มาเป็นฐานรองรับ ก็ว่า อ้าว.. มันก็เข้ากันได้ มันก็เหมือนกัน.. มันเข้ากันได้แน่นอน เพราะเราเป็นคนให้คะแนนเอง เราเป็นคนคิดเอง คนเออเอง นี่เข้ากันได้ทั้งนั้นล่ะ เพราะเราอยากได้ผล แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงล่ะ
ฉะนั้นปริยัติ ปฏิบัติ เห็นไหม ทำไมพระพุทธเจ้าแบ่งแยกเด็ดขาด ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ ! ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ ไม่ให้มาคลุกเคล้ากัน เวลาเรียนปริยัตินี่เรียนแผนที่เครื่องดำเนิน เหมือนทหารเลยเวลาฝึกก็ฝึก เวลารบก็รบนะ เวลาฝึกก็ฝึก ฝึกเขาไม่ใส่กระสุนนะ แต่เวลารบแล้วนี่ถึงเอากระสุนมาให้ใส่... เดี๋ยวมันลั่นขึ้นมา แล้วเดี๋ยวไปโดนคนอื่น แล้วจะไปสู้กับข้าศึกได้อย่างไร.. ฝึกก็ฝึก แต่เวลารบก็คือรบ รบนี่ต้องเตรียมพร้อมหมดทุกอย่าง เพราะพลาดก็ตาย ถ้าพลาดข้าศึกยิงตายหมด
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ เห็นไหม นี่เวลาพลาดขึ้นไปกิเลสมันก็ฆ่าตาย พอฆ่าตาย ฆ่าตายจากสติไง ฆ่าตายจากสมาธิไง ฆ่าตายแบบปัญญาที่เกิดจากโลกุตตรปัญญาไง แต่มันเกิดโลกียปัญญา ปัญญาที่ศึกษามานี้มันไม่ตาย ดูสิ เวลามีหนังสือ มีกระดาษอย่างนี้ ใครจะพูดอย่างไรหนังสือมันไม่หนีไปไหนหรอก แต่เวลาเทศน์นี่นะ เวลาเทศน์โดยใจมันขึ้นมาเป็นชั้นๆ ขึ้นมา เวลาเสียงมากระทบนี่มันหายหมดแล้ว เวลาเทศน์ปฏิบัติมันไม่มีตัวอักษร มันไม่มีขอบเขต พูดออกไปโดยความรู้สึกเลย โดยความเป็นจริงออกมาเลย แล้วอะไรมันมาขัดปั๊บนี่มันจบแล้ว
ฉะนั้นถ้าเอากระดาษมาถือไว้ เสียงฟ้าผ่าก็ผ่าไปเถอะ เดี๋ยวอ่านใหม่ได้มันไม่ไปไหนหรอก นี่ก็เหมือนกัน เวลาจำมา เห็นไหม ปริยัติจำมา จำมาคือสัญญา สัญญาคือพระไตรปิฎกมันมีอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความรู้สึกของเรานี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติไป ถ้าเป็นพระถ้าหลงผิด.. เวลาปฏิบัติมันมีนะ มันมีเวลาติด เพราะว่าเวลาทำสมาธินี่เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แล้วยิ่งขั้นของปัญญา ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน แต่ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เป็นหลังอิง ครูบาอาจารย์จะคอยแนะคอยบอก โดยให้คนที่โดนแนะโดนบอกไม่รู้ตัว
ถ้าคนที่โดนแนะโดนบอกรู้ตัวนี่เกิดทิฐิมานะ เกิดการอหังการว่าอันนั้นเป็นจริง อันนั้นเป็นจริง เกิดการโต้แย้ง มันจะเกิดทิฐิ สิ่งที่เราจะแก้ไขให้มันง่ายมันกลับยากขึ้น ของสิ่งนั้นถ้าเขารู้ว่าผิดเขาจะทิ้งเอง แต่ของสิ่งนั้นเขาเข้าใจว่าจะผิดหรือยังไม่ผิดอยู่ เราไปบอกว่าผิดนี่ เขาเกิดทิฐิมานะจะเอาชนะคะคาน เขาบอกว่าถูกเขากลับยึดเพิ่มเข้าไปอีก ยึดเข้าไปอีกมันก็เป็นการเสียหายอีก
ฉะนั้นสิ่งนี้ครูบาอาจารย์ต้องมีเทคนิคเยอะมาก ต้องเสนอสิ่งใดไปให้เขาเข้าใจได้ อันนี้เขาบอกว่า ผิดหรือไม่ผิด ไง เอาใหม่อีกรอบหนึ่งเนาะ ชัดๆ
ถาม : หากคนๆ หนึ่งเข้าใจตนเองว่าบรรลุอรหันต์ ทั้งที่ตนยังไม่บรรลุ หากแต่ภาวนาไปถึงระดับจิตระดับหนึ่ง เกิดหลงเข้าใจผิดว่าตนบรรลุ แล้วไปกราบเรียนภาวนากับอาจารย์ที่ไม่รู้เรื่อง แล้วบอกส่งเดชว่าเราบรรลุแล้ว.. ด้วยความเข้าใจเอาเอง ประกอบกับคำรับรองของอาจารย์ที่ตนเชื่อถือ ทำให้มั่นใจมากว่าตนบรรลุแล้ว แล้วได้แสดงธรรม หรือพูดจาให้คนอื่นเข้าใจว่าตนบรรลุแล้ว ทั้งที่จริงยังไม่บรรลุ เป็นการเข้าใจผิดในคุณธรรมของตน แต่ไม่ได้มีเจตนาร้าย
หลวงพ่อ : อันนี้ ! ถ้าไม่มีอันนี้ เห็นไหม ข้างบนเนี่ย.. แต่มันมีตรงนี้มาติ่งไว้หน่อย
ถาม : แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อใคร อย่างนี้ผิดไหมครับ บาปไหมครับ.. หากคนๆ นั้นเป็นฆราวาสจะมีความผิดอย่างใด หากคนๆ นั้นเป็นพระจะมีความผิดอย่างใด
หลวงพ่อ : หากคนๆ นั้นเป็นฆราวาส เพราะฆราวาสนี่ศีล ๕ เพราะฆราวาส.. ธรรมและวินัยนี้มันไม่เหมือนกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายทางโลก ผิดมันต้องมีเจ้าหน้าที่จับ แต่ธรรมและวินัยนี้มันอยู่ที่ความละอาย คนๆ นั้นมีความละอายใจ คนๆ นั้นรู้ถูกรู้ผิด สำนึกชั่วดี
นี่พูดถึงการปกครองนะ แต่ ! แต่กรรมมันให้ผลจริงๆ นะ ทำผิดทำถูกนี่กรรมมันให้ผล พอกรรมให้ผลไปปั๊บ นี่ที่เราเกิดกันมา ที่เราทุกข์เรายากอยู่นี้ นี่ผลของกรรม แต่ทางโลก เห็นไหม กฎหมายทางโลกนี่จับแล้วต้องตัดสินเลยว่าถูกหรือผิด ปล่อยไว้ไม่ได้ มันละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่ ! แต่คนทำผิดมหาศาลเลย ที่กฎหมายไปเอาความผิดไม่ได้ เพราะเขาหลบหลีก เขาหลบหลีกไป
นี่ว่ากฎหมายตัดสินเด็ดขาด นี่เราจะให้เห็น ทีนี้ย้อนกลับมาที่ว่าเวลาธรรมวินัยว่าชัดเจนมาก ทำไมไม่ตัดสินเรื่องอย่างนี้ ตัดสินเรื่องอย่างนี้มันก็ออกไปนอกลู่นอกทางทั้งนั้นล่ะ
ฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้าเราทำไม่ถูกต้องมันก็จะเป็นขุยไผ่ ขุยไผ่ทำลายตัวเขาเอง.. นี้เพียงแต่ว่าคำถามนี้มันดูได้หลายนัยมากเลย จะดูเป็นนัยในก็ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งเราถึงว่าไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะว่ามันไม่ได้ถามเรื่องของตัวเอง ไปถามเรื่องของคนอื่น เพียงแต่ว่าสังคมมันเป็นอย่างนี้ เราก็พูดเพื่อสังคมเท่านั้นล่ะ
ฉะนั้นเราพูดเพื่อสังคม.. หรือในปัจจุบันนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านเผยแผ่ธรรมขึ้นมา นี่มีคนเชื่อมากว่ามรรคผลนี้ไม่มี ถ้ามรรคผลไม่มีนี่ สิ่งอันใดที่มันมีมรรคมีผล ก็ว่าจริงหรือ.. นี่บอกส่งเดชกันไป เห็นไหม อาจารย์ก็บอกส่งเดช คนปฏิบัติก็ปฏิบัติมาส่งเดช แล้วก็ว่าบรรลุกันไป แล้วก็เข้าใจกันไปเอง ถ้าคนไม่เข้าใจถามอย่างนี้มาก็ได้ คนไม่เชื่อว่ามันมีจริงไง แต่ถ้าคนมีจริง แล้วนี่สังคมก็เป็นอย่างนี้ อย่างนี้จริงๆ
สังคมหมายถึงว่า สังคมปฏิบัติมันออกนอกลู่นอกทางกันไปพอสมควร แต่ถ้าสังคมเราปฏิบัติตามความเป็นจริง เพราะตามความเป็นจริงอย่างน้อยมันก็ลงครูบาอาจารย์ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดออกมานี่มันเป็น ธรรมที่เหนือโลก
ธรรมเหนือโลกหมายถึงว่า เราคิดไม่ถึงเลย แต่ทำไมเราไม่เปรียบเทียบใจของเราล่ะ เวลาเราปฏิบัติ ทำไมเราไม่เปรียบเทียบดูว่ามันไปได้จริงหรือไม่เป็นไปได้จริงล่ะ แต่ถ้าเราเป็นโลก เห็นไหม เดี๋ยวนี้เป็นโลกด้วย แล้วเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย อะไรก็แล้วแต่จะชักเข้าวิทยาศาสตร์เลย
วิทยาศาสตร์มันเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นสิ่งนั้น แต่มันไม่ได้แก้กิเลสหรอก แต่เวลาถ้ามันปฏิบัติไปนี่มันเหนือวิทยาศาสตร์ เหนือโลก เหนือทุกอย่างเลย แล้วมันเหนืออย่างไร มันเหนืออย่างไร ฉะนั้นอย่างที่สอนๆ กันนี่ทางโลกเขาสอนดีกว่า ทางโลกเขาสอนดีกว่าเยอะเลย ทางโรงเรียนเขาจะสอนดีกว่าเลย ฉะนั้นการสอนแบบนั้นมันสอนแบบโลกๆ
เราจะบอกว่าผลของมันนะ ถ้าไม่มีเจตนาเลย ไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งใดเลย มันก็เหมือนขุยไผ่ มันทำลายตัวมันเอง ทำลายโอกาสของเราเอง ถ้าเราปฏิบัติผิดหรือถูกอย่างใด เราตรวจสอบ เรามีครูบาอาจารย์คอยพิสูจน์ แล้วถ้าเราผิดเราแก้ไขไป เราจะไม่เป็นขุยไผ่ เราจะเป็นไผ่ที่ไม่มีขุย เห็นไหม มันจะมีหน่อ มีต่างๆ เกิดขึ้น มันจะแข็งแรง มันจะเป็นประโยชน์ เขาเอาไปใช้สอยได้ กินก็ได้ จักรสานก็ได้ เอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าขุยไผ่มันเกิดขึ้นมา มันจะทำลายตัวมันเอง
นี่เฉพาะตัวมันเองนะ แต่ถ้าเป็นพระมันก็อีกกรณีหนึ่ง กรณีที่ว่าติดได้อย่างไร หลงได้อย่างไร ถ้าหลงก็ไม่เป็นไร.. คำว่าหลงไม่เป็นไรนี่นะมันไม่ผิดวินัย แต่ตัวเองขณะเราหลงขึ้นมา มันก็เป็นขุยไผ่อยู่แล้ว แล้วหลงนี่นะโดยธรรมชาติ เราป่วยไข้ เราก็รู้ว่าเราป่วยไข้ เราหายจากป่วยไข้ เราก็รู้ว่าหายจากป่วยไข้
คนหลง.. เวลามันหลงเหมือนป่วยไข้ แล้วเวลามันได้สติขึ้นมานี่สติมันจะรู้ เพียงแต่จะเป็นสุภาพบุรุษยอมรับหรือไม่ยอมรับ
ถ้าเป็นคนที่ดี ถ้าไม่ทำตัวเองให้เป็นขุยไผ่ คือจะทำตัวเองให้เป็นคนดี เวลาเราหลงนี่เราก็รู้เหมือนคนป่วยไข้ แต่ถ้าเราหายจากการป่วยไข้แล้ว เราก็รู้ว่าหายจากการป่วยไข้ ฉะนั้นจิตมันเข้าใจว่ามันบรรลุพระอรหันต์ มันก็เคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์เรานั่นล่ะ อือ... นี่อย่างนี้อรหันต์ อย่างนี้จะหันลงนรกอยู่ กำลังจะหันอยู่เนี่ย แต่พอเวลามันมีสติขึ้นมาปั๊บ มันไม่หันไปลงนรกแล้วนะ เพราะขุยไผ่มันจะทำลายตัวมันเองใช่ไหม มันจะรู้ตัว
เราจะบอกว่าคนหลงนี่นะ ถึงเวลาแล้วมันต้องเอะใจไง มันมีความเอะใจ มันมีความต่างๆ อยู่ แต่เพราะกิเลส เพราะความอยากได้ เพราะทิฐิมานะมันจะสร้างว่า อันนี้ใช่.. อันนี้ใช่ แล้วจะหาเหตุหาผลมารองรับอารมณ์เรา ถ้าอารมณ์เราเป็นอย่างนี้ มันจะหาเหตุหาผลเลย พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น.. พระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น หาเหตุหาผลมารองรับ ฮื่อ.. อันนี้ใช่ ! อันนี้จะหัน.. หันไปขุยไผ่ไง หันทำลายตัวมันเองไง
แต่ถ้ามันมีสติสตังนะ ๑. ฟังเทศน์ก็รู้ หลวงตาท่านบอกว่าแม้แต่เทปของท่านนะ นี่เวลาท่านเทศน์ถึงที่สุดมันเป็นสเต็ปนะ เวลาเกาะติด.. ท่านบอกเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม.. เกาะติดนี่โสดาบัน ! พิจารณาไปกายเป็นกาย.. ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟมันแยกออกไป เห็นไหม นี่อุปาทานหมดเลย โลกนี้ราบเลย นี่ติดอยู่ ๕ ปี.. ติดอยู่ ๕ ปี พอไปหาหลวงปู่มั่น นี่หลวงปู่มั่นเคาะออกมา ออกมาอสุภะ
นี่แล้วเราพยายามเทียบความเป็นไปว่ามันจริงไหม เหมือนกับสิ่งที่มันเป็นความเป็นจริง ถ้าเราปฏิบัติเราจะเข้าใจหมดเลย เหมือนกับป่าหรือเหมือนกับที่ชุมชนหนึ่ง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านเอาเรื่องชุมชนนั้นมาอธิบายให้เราฟัง ถ้าเราเคยไปชุมชนนั้นนะเราเข้าใจหมดเลย ตรอกซอกซอย บ้านกี่หลัง เราจะรู้หมดเลยเพราะเราก็เคยเห็นภาพนั้น เราเคยเข้าไปในชุมชนนั้น เวลาถ้าพูดถึงชุมชนนั้นนะ เปี๊ยะ ! เปี๊ยะ ! เปี๊ยะเลย แต่เวลาท่านพูดถึงชุมชนนั้นนะ เราก็นั่งจินตนาการนะ อ้อ.. ตรอกนั้นเนาะ อ้อ.. ซอยนั้นนะ มันมีบ้าน ๕ หลังเนาะ.. อันนี้ไม่เหมือนแล้ว ไม่เป็นความจริงแล้ว
ฉะนั้นเวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นี่มันเทียบได้ มันจับได้ ฉะนั้นถ้ามันพูดความจริง มันจะเป็นความจริงตลอด ฉะนั้นเราถึงบอกว่าถ้าพระหลงนี่นะ เพียงแต่หลง.. ไม่ใช่ว่าหลงหรอก ตั้งใจเลยล่ะ ตั้งใจจะเป็นขุยไผ่เลย ตั้งใจว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วสอนไปอย่างนั้นเลย แล้วผิด ! ผิด ! ตัวเองก็รู้ว่าผิด
จะพูดอย่างนี้นะ.. เราเชื่อของเราว่าผู้ที่หลงผิด เขารู้ว่าเขาหลงผิด เขารู้.. แต่ด้วยสถานะทางสังคม หรือขี่หลังเสือ เขาจะพูดของเขาไปอย่างนั้นล่ะ ถ้าเป็นความผิดของส่วนตัวก็ขุยไผ่ทำลายตัวเอง แต่ถ้าเป็นความผิดนะ เราไปชักนำให้เขาไปทางอื่น อันนี้เสียหายเยอะมาก
อันนี้มันก็เรื่องของเวรของกรรม สายบุญสายกรรม คือคนที่สร้างบุญสร้างกรรมด้วยกันมานี่ พูดผิดอย่างไรเขาก็เชื่อ ไอ้คนพูดถูก ดีขนาดไหนนะ มันไม่ได้มีเวรมีกรรมต่อกันนะ มันขัดหูไปหมดเลยเนาะ มันขวางไปหมดเลย มันไม่เห็นถูกซักอย่างเลยนะ แต่ถ้าเป็นสายบุญสายกรรมนะ เขาจะพูดผิดขนาดไหนนะ มันลื่นหู แหม.. มันฟังดี อื้อฮือ.. มันเข้าใจนะ.. นี่มันสายบุญสายกรรม มันก็พูดยากอยู่ มันเป็นเวรกรรม
ฉะนั้นเวลาเราบอกผิดหรือถูก เราก็เห็นมันชัดเจนนี่แหละ แต่เขาสร้างบุญสร้างกรรมกันมา มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ
ถาม : ปัญหาที่ ๒๗๕. ความสุขจากการปฏิบัติธรรมนั้น.. เราดื่มกินความสุขนั้น ต้องมีขอบเขตไหมครับ
หลวงพ่อครับ วันหนึ่งผมนั่งสมาธิ จะเอาลมหายใจชัดๆ อย่างเดียว โดยจะไม่พิจารณาใดๆ ลมหายใจจะแผ่วจะไกล ก็เอาลมหายใจนั้นให้มันชัดๆ สักพักจิตมันดิ่งลง แล้วชะลอ กระเพื่อมขึ้นลงๆ จากนั้นร่างกายหายไปเลย ลมหายใจก็หายไป ไม่มีภาพ ไม่มีแสง ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เหลือแต่ความโปร่ง โล่ง เบา สักพักจิตคายออกมา ก็มาเจอลมหายใจ รู้ว่ามีกายอยู่ มีก็กำหนดลมชัดๆ อีก แล้วก็เกิดอาการแบบเดิมอีก คือเหลือแต่ความโปร่ง โล่ง เบา และจิตแสนสบายจริงๆ ไม่มีสัญญาอารมณ์อะไรมารบกวนเลย
แต่วันนี้ชักจะติดใจในจิตที่เป็นอิสระ จิตที่มันอยู่เฉยๆ ของมัน ไม่ปรุงสัญญาอารมณ์ให้วุ่นวาย กลายเป็นวันๆ พอใจกับการอยู่กับลมหายใจ ให้จิตนิ่งไม่ปรุงสัญญาอารมณ์ ขนาดในตอนนี้การงานค่อนข้างลำบาก แต่ไม่เครียด มีความสุขได้ งานก็แก้ปัญหาไป แต่ในใจสุขกับจิตที่ไม่ปรุงสัญญาอารมณ์
ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า ผมดื่มกินความสุขจากการที่จิตไม่ปรุงสัญญาอารมณ์มากไปหรือเปล่า แล้วความสุขจากการปฏิบัติธรรมนั้น เราดื่มกินความสุขนั้นต้องมีขอบเขตไหมครับ หลวงพ่อโปรดเมตตาด้วย
หลวงพ่อ : ถ้ามีความสุข ถ้ามันเป็นความจริงนะ.. มันเป็นความจริง นี่จิตมันมีกำลังของมัน เวลาเราน้อมไป คนถ้ามีอำนาจวาสนานะ เพราะว่าการทำความสงบของใจ เห็นไหม นี่ดื่มกินจิตที่เป็นอิสระ เวลาเป็นสมาธินี้เป็นอิสระจริงๆ แต่การเป็นอิสระอยู่ คนเราเกิดมาแล้ว เราจะเป็นอิสระโดยที่เราไม่ตายได้ไหม เรามีพญามัจจุราชอยู่นะ คนเรานี่จะใหญ่โตขนาดไหนก็เล็กกว่าโลงศพ คือทุกคนต้องไปนอนในโลงหมด
ฉะนั้นมันอิสระแค่ไหน มันอิสระจากโลงศพหรือเปล่า มันไม่อิสระจากโลงศพนะ คำว่าอิสระ จิตอิสระนี่เราคิดของเราเอง จิตอิสระ เห็นไหม เอกัคคตารมณ์คือจิตตั้งมั่น.. มันไม่เป็นอิสระหรอก มันตั้งมั่น มันตั้งมั่นเพราะอะไร เพราะมันมีสติปัญญา มันถึงทำให้จิตนี้ตั้งมั่นได้ แต่เดิมจิตนี้โลเล จิตนี้ไม่ตั้งมั่น จิตนี้อ่อนแอ สัญญาอารมณ์สิ่งใดมาก็ดื่มกินไปกับเขา
หลวงตาบอกว่า จิตนี้หิวกระหาย สิ่งใดมามันก็คิด มันก็ปรุงแต่งไปกับเขา เราพุทโธ พุทโธ หรือกำหนดลมหายใจ จนมันตั้งมั่น จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มันไม่เป็นอิสระหรอก มันตั้งมั่น พอมันตั้งมั่น นี่สุขในสมาธิไง
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
ถ้าผู้ใดเห็นธรรม เห็นไหม โสดาบันก็เห็น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ นี่เห็นพระพุทธเจ้าหมด แล้วจิตตั้งมั่นล่ะ ตั้งมั่นนี่เห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาสมาธินะเห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สัมมาสมาธิไง
สมาธิธรรม.. สติธรรม.. ปัญญาธรรม หลวงตาสอนประจำ ถ้าเรามีสมาธิธรรม จิตเราตั้งมั่นได้ มันก็มีความสุข มันก็ทำให้เราไม่ทุกข์ไปกับหน้าที่การงาน ทำให้เราไม่ทุกข์ไปกับโลก เพราะมันตั้งมั่น คนตั้งมั่นก็มีหลัก มีอิสรภาพใช่ไหม แต่มันยังไม่อิสระในธรรมจริงไง
ถ้ามีอิสระในธรรมจริงมันต้องออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาคือออกไปดูการเกิดและการตายเรานี่แหละ ถ้าออกไปดูการเกิดและการตายนะ พอออกไปใช้งานปั๊บ ไอ้อิสระๆ นี้มันจะไม่อิสระทันทีเลย เพราะ ! เพราะจิตตั้งมั่น พอไปทำงานขึ้นมาแล้ว มันก็บกพร่องไป เงินมี ๑๐๐ บาท เราใช้ไป ๒๕ บาท ๕๐ บาท ๗๕ บาท เงินต้องพร่องเป็นธรรมดา จิตอิสระขนาดไหน ถ้ามันออกไปทำงานแล้วนี่ มันออกไปทำงานมันจะพร่องลง.. พร่องลง มันจะไม่อิสระอย่างนี้
อิสระ.. อิสระเพื่อทำงานไง ไม่ใช่อิสระมาเพื่ออยู่อิสระไง ถ้าอิสระมาเพื่ออิสระ นี่มันไม่อิสระหรอก เพราะมันจะต้องตาย มันจะต้องตายแล้วก็ตายเปล่า ตายไปกับความรับรู้สึก ตายไปกับความทุกข์ ตายไปกับอารมณ์เศร้าหมอง ตายไปกับอารมณ์เป็นอิสระ อิสระตรงไหนล่ะ..
เวลาเราทำความสงบ ทำจิตตั้งมั่นนี่นะ เวลาทำสมาธินี่ อย่างไรก็แล้วแต่ทำสมาธิได้ ถ้าตายแล้วเกิดเป็นพรหม เพราะมันขันธ์เดียวไง มันตั้งมั่น มันก็เกิดบนพรหม มันก็เกิดในวัฏฏะ มันไม่ไปไหนหรอก พอไปเกิดบนพรหมนะ.. ถ้าทำสมาธิโดยข้อเท็จจริง แล้วทำได้ดีมาก เวลาตายไปแล้วนี่ไปเกิดบนพรหม ก็นึกว่าพรหมนี้เป็นนิพพานนะ นึกว่านี่ โอ้โฮ.. นิพพาน นิพพาน มันไปนอนนิพพานอยู่พักหนึ่งนะ ว่านิพพานเป็นอย่างนี้นะ เดี๋ยวมันจะรู้
มันไม่อิสระหรอก ถ้าทำนี่ฤๅษีชีไพรไปเกิดบนพรหม เพราะทำสมาธินี่ไปเกิดบนพรหม เพราะเวลาทำบุญกุศลไปเกิดเป็นเทวดา.. เหตุอย่างใดมันจะให้ผลอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมอยู่ที่การกระทำ ฉะนั้นจิตมันเป็นอิสระ.. ถ้าเป็นอิสระเราก็เกิดบนพรหม
มันดีปัจจุบันนี้.. ปัจจุบันนี้หมายถึงว่า แต่เดิมมีทุกข์ใช่ไหม แต่เดิมฟุ้งซ่าน แต่เดิมแบกแต่โลกใช่ไหม เดี๋ยวนี้พอเราทำอย่างนี้ได้ มันก็ทำให้จิตเรานี้มีความตั้งมั่น จิตมีกำลัง หน้าที่การงานมันจะเบียดเบียนขนาดไหน มันก็ยังมีความสุขได้ มันยิ้มได้ แต่ยิ้มได้นี่เหมือนมีเงิน คนมีเงินนะ แล้วไม่เอาเงินมาบริหารจัดการ เงินจะเสื่อมค่า
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเป็นอิสระ จิตมันมีสัมมาสมาธิแล้ว ถึงเวลาแล้วเราต้องออกพิจารณาในชีวิตเรานี่แหละ หน้าที่การงานมันเป็นชีวิตในปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นชีวิตโลก แต่ชีวิตเรา.. ชีวิตคือจิต
จิตนี้มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาทำไม มนุษย์เกิดมาจากไหน มนุษย์เกิดมาทำไม มนุษย์ตายแล้วจะไปไหน มนุษย์มาจากไหน นั่งกันอยู่นี่มาจากไหน แล้วเดี๋ยวเวลาตายไปแล้ว เห็นแต่ซากศพเผา แล้ววิญญาณมันไปไหน
นี่ทำไมไม่มาคิดล่ะ.. ธรรมะมาสอนเรื่องนี้ ธรรมะมาสอนเรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องจิตเรา เรื่องสมบัติตามความเป็นจริงนั้น พอออกมาทำงาน เดี๋ยวงานมันจะเยอะแยะ
นี้ไปดื่มกินกับความสุขนั้น.. เราจะบอกว่าความสุขเราก็ยอมรับ เรายอมรับ ไม่อย่างนั้นอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่าติดๆ เห็นไหม ถ้าว่าติดก็ติดในสมาธิ ถ้าว่าติดนะติดในสมาธิ ถ้าติดในสมาธิ สมาธินี้มันเป็นอนิจจังนะ ตอนนี้มันยังทำได้ มันก็ยังมั่นใจว่าตัวเองทำได้นะ แต่เวลามันเสื่อม เวลามันถอยร่นไปแล้วนะ เวลาเสื่อมนี่มันมีเหตุของมัน
เวลาเป็นสมาธิมันก็มีเหตุ.. เหตุเพราะเราตั้งสติ เหตุเพราะเรากำหนดลมหายใจ หรือกำหนดต่างๆ นี่กำหนดลมหายใจให้ชัดๆ ลมหายใจให้ชัดๆ มันก็มาได้.. ชัดๆ พอชัดๆ นี่มันปล่อยสิ่งข้างเคียงหมด มันมาอยู่กับลม เห็นไหม มันเป็นหนึ่ง แล้วมันเข้ามาสงบได้ พอสงบแล้วเราออกไปใช้ปัญญาสิ ออกไปใช้ปัญญา
งานก็ส่วนงาน เราก็พิจารณางานนั้นแหละ งานนี่เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็มีอุปสรรค เดี๋ยวมันก็.. นี่แล้วคนเรานะมันก็เหมือนวัวงาน แอกต้องไถอยู่อย่างนี้ เกิดมามีงานอยู่ตลอดชีวิต แม้แต่กินข้าวก็เป็นงานอันหนึ่ง อาบน้ำชำระร่างกายก็เป็นงานอันหนึ่ง ถ้าไม่ทำนะ เราไม่ทำความสะอาดร่างกายเรามันก็สกปรก เราไม่กินข้าวเราก็ตาย
อันนี้ก็งาน.. นี่แล้วยังอย่างนี้ไหม แล้วเทวดาเขาอิ่มทิพย์ มันเป็นทิพย์มันเป็นอย่างไร นี่ผลของวัฏฏะมันมีของมันนะ
ฉะนั้นให้แนะนำด้วย.. ถ้าให้แนะนำเราจะบอกว่า สิ่งที่ทำความสงบได้นี่เราสาธุนะ เราสาธุ.. เพราะอะไรรู้ไหม เราสาธุเพราะว่าเขามีที่พึ่ง ถ้าไม่มีสมาธินะ ไม่มีหลักนะ แล้วจิตใจ นี่ธรรมชาติชีวิตเราเราก็ทุกข์อยู่แล้วใช่ไหม แล้วหน้าที่การงาน เห็นไหม หน้าที่การงานของเราก็ลำบากด้วย หน้าที่การงานก็เครียดด้วย ความเครียดความลำบากมันเป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์
อวิชชานี้ทำให้จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส นี่เป็นทุกข์อันละเอียด แล้วความคิดความอ่านนี่นะ ถ้ามันบีบคั้นเรา ก็เป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ แล้วพอออกมาทำหน้าที่การงาน ก็ทุกข์เพราะหน้าที่การงาน ทุกข์เพราะโลก ทุกข์นี้มันซับๆ ซับๆ กันเป็นชั้นๆๆ แต่ถ้าจิตเราพิจารณาแล้ว มันก็ปล่อยมาเป็นชั้นๆๆๆ ปล่อยจากโลกเข้ามา
ดูสิ พระเห็นไหม ออกจากคฤหัสถ์มา คฤหัสถ์ต้องมีหน้าที่การงานมาบวชพระ พอบวชพระก็มีหน้าที่ นี่งานของพระ แล้วถ้าพระปฏิบัติไป นี่ปฏิบัติต่อสู้กับความคิดของตัว เอาความคิดมันสงบได้มันก็เข้ามาสมาธิ มันก็ได้พัก พอมันได้พักขึ้นมา ถ้ามันออกทำงานมันก็เกิดโลกุตตรปัญญา เกิดโลกุตตรธรรม มันจะเกิดให้จิตนี้มันรู้ว่า อ้อ.. มันเกิดมาจากอะไร เกิดเพราะความเห็นผิด ถ้ามันเห็นถูกขึ้นมาแล้ว ทำให้จิตนี้เข้าพาดกระแส พอพาดกระแสแล้วมันก็เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันจะพาดเข้าสู่นิพพาน จะพาดเข้าไปสู่การสิ้น งานมันมีหลายชั้นหลายระดับนะ ถ้างานอย่างนี้มีขึ้นมา
นี่เขาบอกว่าจะดื่มกินแต่ความสุข ดื่มกินแต่ความสุข.. ขอเงินพ่อมาร้อยหนึ่ง แล้วก็บอกว่าจะใช้ไม่ให้มีวันจบ เวลามันจบแล้วหางานทำไม่เป็นนะ นี่ก็เหมือนกัน พอจิตเป็นสมาธิ แล้วใช้สมาธิไปเดี๋ยวมันก็เสื่อม เสื่อมแน่นอน ! ไม่มีอะไรคงที่
สัพเพ ธัมมา อนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา.. สมาธิก็เป็นอนัตตา เดี๋ยวจะรู้ ! นี่ไงคำว่าเดี๋ยวจะรู้หมายถึงว่า ยกไปที่ข้อที่ ๑ เห็นไหม ถ้าพระติดจะทำอย่างไร
พอเดี๋ยวมันเสื่อมมันจะรู้ ไม่มีอะไรคงที่หรอก ของคงที่ในโลกนี้ไม่มี เว้นไว้แต่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ..นี่คงที่ ! เพราะมันเป็นอกุปปธรรม ไม่ใช่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ของคงที่มีเท่านี้ ! มีโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์.. คงที่ ! คงที่ในตัวของมัน
เพราะโสดาบันมันคงที่ เกิดอีก ๗ ชาตินี่คงที่ในตัวของมัน ไม่เสื่อม ! แต่มันเจริญได้โสดาบันเจริญได้.. สกิทาคามีเจริญได้.. อนาคามีเจริญได้.. แต่อรหันต์ไม่มีเจริญไม่มีเสื่อมเลย.. อรหันต์คงที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย คงที่แบบอิ่มเต็มเลย
โสดาบันคงที่โดยไม่เสื่อม แต่เจริญได้ คงที่แบบไม่เสื่อม ไม่ตกลงมาไม่เป็นปุถุชน..
สกิทาคามีนี่คงที่.. สกิทาคามี ไม่ลงมาเป็นโสดาบัน ไม่ลงเด็ดขาด..
อนาคามีนี่ไม่ลงเด็ดขาด ! แต่ขึ้นได้ เห็นไหม แต่เปลี่ยนแปลงในทางสูงขึ้นได้
แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วคงที่ทั้งการเปลี่ยนแปลง คงที่ทั้งเจริญ ไม่มีอะไรเจริญอีกเลย อันนั้นคงที่ !
จะบอกว่ามันเสื่อมแน่นอนๆ ถ้าเสื่อมแน่นอน เดี๋ยวว่าธรรมะจะเสื่อมด้วยไง แต่สมาธินี่เสื่อมแน่นอน ความเป็นไปเสื่อมแน่นอน คำว่าเสื่อมแน่นอน เพียงแต่ว่าทำได้ขนาดนี้เราเห็นด้วยนะ เราสาธุมาก
นี้คำแนะนำ.. คำแนะนำก็ทำอีก เพราะคำแนะนำอย่างที่พูดตั้งแต่ทีแรก ว่าอาจารย์จะแก้ลูกศิษย์อย่างไร ถ้าบอกว่าผิดปั๊บเดี๋ยวจะสั่นไหวไง นี่พอทำสมาธิได้นะ บอกว่าเดี๋ยวมันจะเสื่อมนะ.. มันไม่เดี๋ยวเสื่อมหรอก มันเสื่อมแล้ว ! เพราะตกใจไง พอตกใจก็เสื่อมแล้ว
ถ้าเราไม่รู้เราก็อยู่ได้นะ พอคนบอกว่าอันนี้ผิดนะ.. หายเลย.. วิบ ! วิบเดียว.. สมาธิเกลี้ยงเลย แต่ทีแรกมันมั่นใจว่าจะไม่เสื่อม โอ้โฮ.. สุดยอด สุดยอด ใครจะเอาอะไรมาทำมันก็ไม่มีวันเสื่อมหรอก ไม่มี ! ไม่เสื่อมหรอก ! ด้วยความมั่นใจ แต่พออาจารย์บอกว่านี่มันเสื่อมนะ ด้วยความใจมันพลิกทีเดียวนะ ว่ามันจะเสื่อมเท่านั้นล่ะ.. หายเลย.. จิตมันมหัศจรรย์มาก ! ใครไม่เคยภาวนาไม่รู้ !
ฉะนั้นเวลาพูดนี่ เวลาพูดเลยห่วงไง เห็นไหม เราจะบอกว่านี่ เมตตาหลวงพ่อให้บอกด้วย ให้สอนด้วย ให้แนะด้วย ถ้าให้แนะด้วยก็กำหนดลมชัดๆ นี่แหละ แล้วพอลมชัดๆ แล้วนี่..
เพราะว่ามันจะเสื่อมหรือไม่เสื่อมมันอยู่ที่ลม ถ้าเรากำหนดลมชัดๆ มา จิตมันเกาะที่ลมชัดๆ ถ้ามันเสื่อมไป มันเสื่อมไปหมายถึงมันเสื่อมที่ผล แต่เหตุเพราะจิตเราเกาะลมไว้ใช่ไหม เราเกาะลมไปเรื่อยๆ พอมันเสื่อมไปนี่ เสื่อมก็ให้มันเสื่อมไป แต่เราเกาะลมไว้ เดี๋ยวพอเกาะลมถึงที่สุดนะ จิตมันก็สงบอย่างเดิมอีก
มันสงบเพราะกำหนดลมหายใจ นี่กำหนดลมหายใจ ก็อยู่ที่ลมหายใจชัดๆ มันเป็นสมาธิเพราะเหตุนี้.. ฉะนั้นใครจะบอกว่าเจริญ ใครจะบอกว่าเสื่อม นี่มันเป็นโลกธรรม มันเป็นครูบาอาจารย์คอยบอก ถ้าเรารับฟังแล้วเราตกใจเองมันก็เสื่อม แต่ถ้าเราไม่ตกใจใช่ไหม ท่านบอกเสื่อม เออ.. จริง ถึงที่สุดมันก็ต้องเสื่อม แต่พอเวลาเสื่อมแล้วมันมาจากไหน มันมาจากลม เราก็ไปเกาะที่ลมอีกมันก็หายเสื่อม.. มันก็แค่นั้นล่ะ ! แต่ถ้าคนมันตกใจแล้วมันสับสนไง พอมันสับสนนะหมดเลย
ฉะนั้นพอมันมีลมหายใจ พอมันจิตสงบแล้ว จิตสงบนี้เป็นมรรค เป็นสัมมาสมาธิ เป็นองค์หนึ่งในมรรค ๘ เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ.. มันยังมีงานชอบ งานชอบนี่งานในวิปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมนี้งานชอบ.. ความเพียรชอบ ความเพียรชอบในกาย ในสติปัฏฐาน ๔
นี่ความระลึกชอบ สติกำหนดให้จิตทำงานตรงไหน.. โดยปัญญาชอบ ปัญญาชอบมันแก้ไขอะไร มรรค ๘ เห็นไหม สัมมาสมาธินี้เป็นหนึ่งในมรรค ๘ ยังมีมรรคอีก ๗ องค์ที่เราจะต้องฝึกหัด หัดมีการกระทำ พอมีการกระทำ พอมรรคสามัคคี มรรคมันเริ่มหมุน ธรรมจักรมันหมุน
ธรรมดามันเป็นกงจักรมันหมุนอยู่ พอมีสัมมาสมาธิ นี่จิตเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เวลามันหมุนไปมันจะเป็นธรรมจักร พอธรรมจักรมันเคลื่อน เห็นไหม ปัญญามันเคลื่อน มันเคลื่อนไปทำอะไร มันเคลื่อนไปทำลายทิฐิมานะในหัวใจของเรา.. ถ้ามันเคลื่อนไปทำลายทิฐิมานะของเรา นี่โลกุตตรปัญญา ! ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาเกิดขึ้นมา อันนี้มันถึงจะเป็นความมั่นใจ เป็นความจริงไง
ฉะนั้นบอกว่า เราดื่มกินความสุข นี้เขาบอกว่าดื่มกินความสุข เราจะพูดว่า นี่คนพูดอย่างนี้คือแบบว่าอิ่มเต็ม คือพอใจไง แหม.. มีความสุขแล้ว มีความพอใจแล้ว
นี้ถามว่าให้แนะนำอย่างไร.. ก็แนะนำอย่างนี้ นี่เวลาลูกศิษย์กับอาจารย์นะ เวลาจะสอนกันนี่ เพราะว่าครูบาอาจารย์แต่ละองค์ที่ท่านพ้นไป ท่านสมบุกสมบั่นมา แล้วเวลาพูดถึงลมหายใจชัดๆ นี่ มันเป็นพื้นฐาน เบสิกสำคัญมาก ! เบสิก ของใครดี.. แน่น.. คนๆ นั้นภาวนาไปได้ดี พื้นฐานทำตัวเองไว้ไม่มั่นคง พื้นฐานนี่ไม่ดี เวลาไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน
ฉะนั้นนี่คือพื้นฐาน.. กำหนดลมชัดๆ พุทโธชัดๆ ทุกอย่างชัดๆ นี่คือพื้นฐาน ! ถ้าพื้นฐานดี ถ้าเด็กหาเงินเป็น เด็กหาทำอะไรเป็นหมดนะ ทุกอย่างนี่เวลาไปประกอบอาชีพอาจจะติดขัดบ้าง แต่ ! แต่พื้นฐานดี ล้มลุกคลุกคลานอย่างไร เขาก็จะไปของเขาดี
ฉะนั้นเวลาพื้นฐาน เวลาปฏิบัติ.. นี่แค่เรื่องของพื้นฐาน เรื่องของการปฏิบัติ มันเป็นชั้นเป็นตอน นี้ครูบาอาจารย์จะต้องวาง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไปรื้อพื้นฐานเลย ไปรื้อเบสิกเลยว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ นี่ไม่ได้.. ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วลองผิดลองถูก ทำตัวเองให้ชำนาญ พอชำนาญขึ้นมาปั๊บ พอเกิดขึ้นมาแล้ว พอเกิดโลกุตตรปัญญา มันจะไปของมัน พอไปของมันปั๊บ มันจะมีการต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรม
กิเลสคือว่าทิฐิความเห็นผิด ธรรมะคือสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่เกิดกับเรา แต่เพราะเรามีสัมมาสมาธิ เราใช้ปัญญาด้วยมรรค เรามาฝึกฝนใจของเรา พอใจของเรานี่มันใช้ปัญญา.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ แต่มันเกิดจากใจของเรา
พอใจของเรามันเห็นนะ มันเหมือนกับการวัดค่าของสารเคมี วัดค่าว่าสิ่งใดค่าอันไหนมันมีมากกว่ากัน แล้วค่าสิ่งใดมีความสะอาดบริสุทธิ์กว่า มันจะไปทำลายค่าสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำลายค่าสิ่งที่เป็นความผูกพันในหัวใจ มันทำลายค่าบ่อยครั้งเข้าๆ มันก็สะอาดบ่อยครั้งเข้าๆ เป็นตทังคปหานบ่อยครั้งเข้า
จนถึงที่สุดพอมันรวมตัว มรรคสามัคคีรวมตัว ค่ามันรวมตัว สมุจเฉทปหานขาดพั่บ ! ขันธ์ขาด ! ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตหลุดรวมลง.. นี่โสดาบัน
นี่ไงมันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา ทำจริงๆ เห็นจริงๆ รู้ได้จริงๆ ไม่เป็นขุยไผ่.. ถ้าเป็นขุยไผ่ตัวเองก็ไม่รู้ตัวเอง แล้วก็ไปวิจงวิจารณ์คนอื่น เพราะตัวเองไม่มั่นใจตัวเอง แล้วก็วิจารณ์เขาไปทั่ว
แล้วพูดถึงถ้ามันมีครูบาอาจารย์ที่ไม่รู้ ไปถามครูบาอาจารย์ที่ไม่รู้ แล้วเราก็ไปถามครูบาอาจารย์ที่ไม่รู้ทำไม.. ทำไมไม่ไปถามครูบาอาจารย์ที่รู้ล่ะ ครูบาอาจารย์ที่รู้ก็มี ถ้าไปถามครูบาอาจารย์ที่ไม่รู้ กับไปถามครูบาอาจารย์ที่รู้ แล้วเราก็มาเทียบกันสิ เพราะครูบาอาจารย์ที่รู้ก็มี
แล้วเวลาคำสอนนี่ ธรรมะมีหนึ่งเดียวนะ เวลาเราฟังธรรมๆ ถ้าธรรมที่มาในมรรค ๘ มาในทางเดียวกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีขัดแย้งกัน จะไม่มีโต้แย้งกัน มันจะไปในทางเดียวกัน
อริยสัจมีหนึ่งเดียว
จะมาทางไหนจะลงอันเดียวกัน แล้วถ้ามันลงอันเดียวนั้นนะ วิธีการการกระทำมา ไอ้นี่มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย ไม่สำคัญเลย.. สำคัญว่าเวลาลงผลนี่ ลงผลอันเดียวกันนี่ถูกต้องดีงามหมด อันนั้นถึงจะเป็นความจริง มันถึงจะเป็นการปฏิบัติ
นี่พูดถึงว่าเขาให้แนะนำก็แนะนำแล้ว นี้จะแนะนำ เพราะว่าในเว็บไซต์แต่ละคนถามมา นี่ถามมาบางคนทุกข์มามาก แล้วถามไปถามมามันเริ่มดีขึ้นๆ เราก็คิดว่านี่เขาปฏิบัติอยู่ เขาทำของเขา เห็นไหม ถามมาครั้งนี้เป็นอย่างนี้ พอถามมาครั้งนี้บอก โอ้โฮ.. สุขมาก สุขมาก แล้วทำอย่างไรต่อไป
นี่แสดงว่าทำมาใช้ได้ แล้วพอมันใช้ได้แล้ว พอมาถึงตรงนี้ปั๊บแล้วทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไรต่อไป.. สมาธิจะเป็นขาเท้าซ้าย ปัญญาเป็นเท้าขวา เรามาจากเท้าซ้ายมีเท้าเดียว เราจะเดินไปไม่ได้ เราจะต้องมีเท้าซ้ายและเท้าขวาก้าวเดินไปพร้อมกัน เท้าซ้ายและเท้าขวา
สมาธิกับปัญญา จะต้องไปพร้อมกัน
แต่ถ้าเริ่มต้นยังไม่มีเท้าเลย ยืนขึ้นมายังไม่ได้ ต้องมีเท้าซ้ายยืนขึ้นมาให้ได้ก่อน ถ้ายืนขึ้นมาคือมีสัมมาสมาธิยืนขึ้นมาให้ได้ ถ้าไม่มีเท้ายืนขึ้นมาเลย ก็เอาตัวเราที่ไม่มีเท้านี่กลิ้งไป นอนแล้วกลิ้งไป
อู๋ย.. ใช้ปัญญา อู้ฮู.. ตรึกในธรรมะ อู้ฮู.. ธรรมะนี่เข้าใจหมดเลย มันไม่มีขา มันใช้ตัวมันหมุนกลิ้งไป แต่ถ้าวันไหนมันทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วยืนขึ้นมาด้วยเท้าของตัวเอง พอยืนขึ้นมาด้วยเท้าของตัวเองได้แล้วนี่ ตั้งตัวให้ดีแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา หาเท้าขวาให้เจอ แล้วเดินเข้าไป แล้วเอาเท้าซ้ายและเท้าขวา สองเท้าก้าวไปด้วยกัน
สมถะ กับ วิปัสสนา จะต้องก้าวไปพร้อมกัน !
ฉะนั้นบอกว่าไม่ต้องใช้สมถะ มีแต่ปัญญาไปเลย มันก็ไม่ได้ แล้วถ้าพอมีสมาธิขึ้นมาแล้วนี่ แล้วทำอย่างไรต่อไป.. เพราะว่าถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาเกิดไม่ได้.. ถ้ามีสมาธิแล้วไม่หัดใช้ปัญญา ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน
นี่เทคนิคมันมี ครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะฝึก พยายามจะบอก พยายามจะให้เราก้าวเดิน ถ้าใครก้าวเดินไปได้นะ ครูบาอาจารย์จะบอกว่าคนๆ นี้ภาวนาเป็นแล้ว คือมีสองเท้า มีซ้ายและขวา แล้วเขาจะเดินไปข้างหน้า ถ้าใครมีสองเท้า เดินเท้าซ้ายและเท้าขวา คนนี้ภาวนาเป็น เขาเรียกว่าภาวนาเป็น
ภาวนาเป็นหมายถึงว่าสมบูรณ์แล้ว แล้วจะก้าวเดินไป แล้วพอก้าวเดินไปถึงที่สุดแล้ว เขาจะเป็นโสดาบัน.. ถ้าเขาเดินไปถึงจุดนะ แต่ถ้าเขาเดินไปถึงกึ่งทางแล้วเขานั่งลง หรือเขาไม่เดินต่อ อันนั้นเขาก็จะไม่ถึง แต่ถ้าเขาเดินไป แล้วพยายามเดินของเขาไป เขาจะถึงเป้าหมาย เขาจะไปถึงโสดาบันเด็ดขาด
แต่เริ่มต้นอย่างนี้ นี่สเต็ปของมัน เห็นไหม ตั้งแต่ปุถุชน ทำสมถะให้เกิดกัลยาณปุถุชน.. พอกัลยาณปุถุชน พอจิตสงบแล้ว นี่พอได้อีกเท้า.. เท้าขวาขึ้นมาก็โสดาปัตติมรรค.. นี่ซ้ายขวาแล้ว โสดาปัตติมรรค ถ้าถึงที่สุดก็จะเป็นโสดาปัตติผล.. สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล.. อนาคามิมรรค อนาคามิผล.. อรหัตตมรรค อรหัตตผล
ถึงที่สุดแล้วนะ ธรรมะมี ! ของนี้มีอยู่ ถ้าเราทำตัวของเราให้เป็นประโยชน์ จะเป็นประโยชน์กับพวกเราเองเนาะ เอวัง