ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กระแสสังคม

๔ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

กระแสสังคม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันเป็นจดหมาย อันนี้เขาเพิ่งส่งมาไง เพราะเขาฟังเว็บไซต์ เขาฟังเว็บไซต์แล้วเขาว่า

ถาม : หลวงพ่อ หนูฟังเว็บไซต์แล้ว หลวงพ่อให้หนูบริกรรมพุทโธชัดๆ ให้ตั้งสติไว้ แล้วครั้งล่าสุดที่ไปกราบหลวงพ่อก็แนะนำให้พุทโธชัดๆ ไม่ต้องไปสนใจสิ่งที่มาเกาะ หลวงพ่อบอกว่ามันมาหลอกเรา หนูก็กลับมาพุทโธอย่างเดียว พยายามบริกรรมออกเสียงพุทโธชัดๆ ไม่ไปสนใจสิ่งที่มาเกาะ รู้สึกอาการของหนูดีขึ้นมากเจ้าค่ะ

แต่มีอยู่ ๒-๓ คืนที่ผ่านมา ขณะที่หนูล้มตัวลงนอน ในขณะที่นั่งสมาธิเสร็จแล้วหลับไปไม่นาน คืนหนึ่งเห็นมีมือ ๒-๓ ข้างมาเกาะที่ตัวหนู หนูเอามือตัวเองไปจับมือนั้น แล้วก็ตกใจตื่น อีกคืนหนึ่งขณะล้มตัวลงนอน หลับไปไม่นานรู้สึกมีรูปร่างเงาของคนมาทับที่ตัวหนู ปกติหนูชอบนอนตะแคง จึงรู้สึกว่าเงาที่ทับลงด้านหลังพยายามดันจิตหนู แล้วหนูก็ตื่นขึ้น เมื่อคืนขณะหนูหลับไปไม่นาน หนูรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาเกาะติดที่ด้านหลัง หนูพยายามพุทโธออกเสียงก็ออกเสียงไม่ได้ จะนึกอะไรก็ไม่ออก จะนึกใบหน้าครูบาอาจารย์ก็นึกไม่ออก พอเช้ามืดหนูตื่นขึ้นมา รู้สึกทันทีว่า..

(นี่จะตอบปัญหาตรงนี้ล่ะ) รู้สึกทันทีว่าจิตมันเปลี่ยนไป มันมีอาการจิตเยิ้มๆ ถึงจะพุทโธเร็วๆ รู้สึกจิตดึงมาอยู่ที่พุทโธไม่ได้เต็มที่ จึงไปสวดบทพาหุงฯ รู้สึกจิตหนูสงบ รู้ว่ามันออกไปแล้วเจ้าค่ะ หนูอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำอย่างไรไม่ให้วิญญาณที่ออกไปแล้วเข้ามาที่ตัวได้อีกคะ หนูสังเกตว่า เขาจะเข้ามาช่วงที่หนูขาดสติ เช่นเวลาหนูนอนหลับ

หนูอยากเรียนหลวงพ่อว่า ตั้งแต่หนูปฏิบัติพุทโธได้ ๔ เดือน อาการต่างๆ ที่หนูเคยเป็นดีขึ้น และรู้สึกว่า มีวิญญาณตนหนึ่งอยู่ในตัวหนู แต่จิตวิญญาณแสดงอาการออกมาต่างกัน และหนูรู้สึกว่า.. อย่างที่หลวงพ่อเมตตาบอกหนูว่าหนูโดนหลอก หลอกให้หนูโกรธ ให้หงุดหงิด ให้รู้สึกท้อแท้ ให้มันตกต่ำ..

หลวงพ่อ : อันนี้จะเริ่มต้นตรงนี้ก่อน คำถามยังมีอีกเยอะนะ เริ่มต้นตรงที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น.. “จะทำอย่างไรให้วิญญาณที่ออกไปแล้วไม่เข้ามาที่ตัวหนูอีกเจ้าคะ”

วิญญาณนี่นะ มันมีวิญญาณอยู่ มีปฏิสนธิวิญญาณ.. คือเราเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ เห็นไหม เกิดในครรภ์ ในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ.. กำเนิด ๔ พอจิตมันกำเนิดมาแล้ว ทางวิทยาศาสตร์นะ ทางการแพทย์ ในร่างกายของเรานี่มีเซลล์ มีเซลล์ต่างๆ มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในร่างกายเราเหมือนกันใช่ไหม แต่นี้มันเป็นสัตว์ที่อาศัยร่างกายเราอยู่ มันเป็นเนื้อหนังมังสาของเราที่มันเจริญเติบโตขึ้นมา อันนี้จะว่าเป็นจิตวิญญาณไหม

ฉะนั้นถ้าจิตของเราเวลาเกิดมาแล้วนี่มันก็มีจิตหนึ่งล่ะ แล้วจิตอะไรที่มันมาทับ เห็นไหม จิตนั้นมาทับ จิตนั้นมาหลอก... นี่จิต ! จิตคือตัวพลังงาน ความคิดเกิดจากจิต แล้วความคิดมันเกิดบ่อยครั้งเข้า ความคิดครั้งแรกกับความคิดครั้งที่สองมันเป็นความคิดเช่นเดียวกันหรือเปล่า ความคิดครั้งแรกกับความคิดครั้งที่สองมันไม่ใช่ความคิดอันเดียวกัน แต่ความคิดครั้งแรกและครั้งที่สองเกิดจากจิตเหมือนกัน

ถ้าเกิดจากจิตเหมือนกัน.. ความคิดครั้งแรกใช่ไหม แล้วความคิดครั้งแรกเราคิดถึงสิ่งใดก็แล้วแต่ แล้วเรามีปัญญาเกิดความคิดครั้งที่สอง พอความคิดครั้งที่สองบอกว่าความคิดครั้งแรกมันไม่ถูกต้อง แล้วพอความคิดครั้งแรกดับไป เราจะบอกว่าเป็นวิญญาณดวงหนึ่งดับไปได้ไหม

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ว่าจิตวิญญาณจะเข้ามาทับร่างเรา หรือสิ่งต่างๆ นี่สิ่งนี้ให้วางไว้.. ให้วางไว้ก่อน เราตั้งพุทโธของเราไว้ เราเข้มแข็งของเราไว้ เราต้องเชื่อมั่นตัวเราก่อนไง นี่สิ่งใดที่มันฝังใจเรามา สิ่งใดที่เวลามันฝังใจ มันมีปมอยู่ในใจ สิ่งนั้นมันจะหลอกเราตลอดเวลา

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติของเราก่อน.. เราตั้งสติของเรา เราต้องตั้งมั่นเป็นจิตวิทยา เป็นเชิงทางจิตวิทยาทางโลกเลยบอกว่า จิตมีหนึ่งเดียว สิ่งใดที่เข้ามาทับร่าง เข้ามาต่างๆ เห็นไหม

“หนูนอนหลับไป มีมือมาคลำร่างหนู หนูยื่นมือไปจับถึงมือนั้น” มือของเราไปจับมือนั้น.. “แล้วหนูสะดุ้งตื่น แต่มันเป็นความฝันไป”

มันจะเป็นความฝัน มันจะเป็นความจริงสิ่งใดก็แล้วแต่ เรื่องอย่างนี้มันทับซ้อนกันได้ มันมีได้ อย่างเช่นทางโลก เขาประทับทรงกัน เขาทำสิ่งต่างๆ เห็นไหม นี่จิตอ่อนแอ พอจิตอ่อนแอเขาก็ประทับทรงขึ้นมา พอประทับทรงขึ้นมาเขาก็บอกว่าเขามีร่างทรงอย่างนั้น เขารับขันธ์ ๕ อย่างนั้น เขาจะแสดงกิริยาอย่างนั้น พอร่างทรงออกจากร่างเขาไปเขาจะบอกว่าเมื่อกี้นี้ไม่รู้ตัวเลย.. ทำอะไรไปไม่รู้ตัวเลย

สิ่งนี้มันมีได้ไหม.. มันมีได้ เห็นไหม เราจะบอกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ หมายถึงว่าเราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราเป็นพุทธศาสตร์ เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธให้ถือความมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. พุทธคุณ ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ แสดงไว้เป็นสัจธรรม

ธรรม.. ธรรมคือสัจจะความจริง ธรรมเป็นสัจธรรม กรรมดี-กรรมชั่วมันมีของมันใช่ไหม

พระสงฆ์.. พระสงฆ์คือครูบาอาจารย์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของเราได้

เรายึดมั่น “แก้วสารพัดนึก.. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” แล้วสิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมา นั่นล่ะมันนอกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม ถ้าเราไปเชื่อสิ่งนั้น เราขาดจากการเป็นพุทธมามกะ.. พุทธมามกะเขาต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ใช่ไหม ถ้าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เราเชื่อมั่นสิ่งนั้น

ฉะนั้นจิตวิญญาณสิ่งใดนี่มันมีอยู่ ในแผ่นดินนี้ไม่มีที่ใดเลยที่ไม่มีคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ในแผ่นดินนี้ทุกที่มีการฝังศพมาทั้งนั้นแหละ ทุกที่มันมีไปหมดแหละ ทีนี้พอทุกที่มีไปหมด ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “จิตหนึ่ง” ของเรานี้ เวลาเกิดตายเกิดตายในวัฏฏะ ถ้าเวลาตาย ๑ ศพ ๑ ศพ นี่ ๑ ชาติ ๑ ชาติมันทับไว้ จิตดวงเดียวนี้มันไม่มีที่เก็บเลยนะ เฉพาะร่างกายของเรา”

ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ มันมีของมันอยู่ เห็นไหม เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับสิ่งนี้ ฉะนั้นเราบอกให้พุทโธของเรา เราจะพูดให้เป็นวิทยาศาสตร์ก่อน เป็นวิทยาศาสตร์เรื่องว่าเราให้เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วสิ่งที่ว่าจิตวิญญาณต่างๆ นี่เราเชื่อมั่นของเรา แล้วเราไม่น้อมเอียง ไม่ให้จิตนี้กังวลไป ไม่ให้จิตมันรำพึง มันคิดถึง.. คือประสาเราว่า จะไปชวนความคิดนั้นมาไง

เราอยู่ของเราโดยปกติ นี่ก่อนนอนเราก็สวดมนต์ เรากำหนดพุทโธจนเรานอนหลับไป แล้วสิ่งใดที่มันเป็นปมในใจ เป็นปมในใจ เห็นไหม กรณีอย่างนี้นะ ถ้าทางจิตวิทยาเขาบอกครอบครัวแตกแยก ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวอะไรนี่ เด็กมันจะมีปัญหา นี่พอมีปัญหาแล้ว ปัญหานั้นมันจะฝังใจนั้นมา แล้วเด็กนี่มันจะต่อต้านสังคม.. จิตของเราก็เหมือนกัน นี่พ่อแม่เราพร้อม ทุกอย่างเราพร้อมหมด แต่จิตของเรามันไปซับสิ่งใด ไปเกาะสิ่งใดมา เห็นไหม สิ่งนั้นเราไม่เอามาเป็นกังวล.. เราไม่เอามาเป็นกังวล

เราพูดถึงพันธุกรรมทางจิตบ่อยมาก.. พันธุกรรมทางจิต เห็นไหม จิตทำคุณงามความดีมา จิตสร้างสมบุญกุศลมา พันธุกรรมนี้มันตัดแต่งมาสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่มันเป็นปมในใจ เห็นไหม มันเป็นปมในใจ.. เกือบทั้งหมดนะ ลูกคนกลางจะบอกว่าแม่ไม่รัก แม่รักคนโตกับคนท้าย ไอ้เด็กคนกลางมันก็เด็กวันพุธ นี่มันก็มีปัญหาของมัน พ่อแม่รักเหมือนกันทั้งนั้นล่ะ ไม่มีรักใครมากกว่ารักใครหรอก

ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นปมที่เราสร้างเอง.. พอเราสร้างเองขึ้นมา อันนี้ถ้าเรามาพุทโธ พอเราโตขึ้นมานะ ประสาเรานะถ้าเรามีลูก ๓ คนเหมือนกัน เรารักเท่ากันไหมนี่มันจะวัดใจเรา ถ้าวัดใจเรามันก็จบ.. มันจะมาปมตรงนี้ไง

ถ้าเราพูดเรื่องนี้ นี่เราเอาสิ่งนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เขาเรียกว่าบุคลาธิษฐาน.. ให้เห็นภาพว่าผู้ถามนี่ถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้ ความกังวลเป็นอย่างนี้ แล้วนี่มันดีขึ้นหรือสิ่งใดก็แล้วแต่ อันนี้เราเชื่อมั่นเพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราเชื่อมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระธรรม.. ธรรมะคือสัจธรรม คือสัจจะความจริง คือความจริง เราเชื่อความจริง ! เราเชื่อความจริง แต่ความจริงอย่างที่มันเป็น มันเป็นความจริงโดยสมมุติไง คำว่าความจริงโดยสมมุติ เห็นไหม อย่างเช่นชีวิตเรานี่จริงไหม.. จริงนะ เรามีชีวิตจริงๆ นะ เขาบอกชีวิตนี้เป็นสมมุติ.. เราเป็นสมมุติ

สมมุตินี่มันจริงตามสมมุติ เพราะความจริงมันมีหลายระดับ จริงตามสมมุติ.. จริงตามบัญญัติ.. จริงตามวิมุติ.. ฉะนั้นคำว่าสมมุติ มือไปจับโดนต่างๆ เราจะบอกความรับรู้มันมี เรารับรู้ได้ แต่เราไม่เอามาทับใจเราสิ เราไม่เอามาเป็นความกังวลสิ เราปล่อย.. เราปล่อย แล้วเราพุทโธชัดๆ ไป เราปล่อยแล้วพุทโธชัดๆ ไป แล้วเราจะไปหาเหตุหาผลอะไร

“เหตุผลมันมีเฉพาะธรรมะ เหตุผลของกิเลสมันไม่มี” เหตุผลของความลังเลสงสัย สงสัยเรื่องนี้ พอแก้จบมันก็มีความสงสัยเรื่องใหม่ พอแก้เรื่องนั้นจบมันก็จะมีเรื่องใหม่.. เรากลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธ.. กลับมาพุทโธชัดๆ เห็นไหม พุทโธแล้วดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น พอดีขึ้นแล้วนี่มันยังหลงเหลืออยู่ มันยังมีสิ่งใดอยู่ เราค่อยๆ แก้ของเราไป

อันนี้อันหนึ่ง.. นี่เริ่มต้นนะ แล้วก็พรรณนามา อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวเราเก็บไว้ก่อน

ถาม : หนูกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ข้อ ๑. (นี่คำถามเพิ่งมาถึง)

๑. หนูเข้าใจว่า หนูโดนทำเสน่ห์ แบบเอาหุ่นขี้ผึ้งมาประกบเหมือนในหนังเจ้าค่ะ อยากทราบว่าพอมีวิธีแก้คุณไสยฯ ชนิดนี้ไหมคะ

หลวงพ่อ : เราบอกตั้งแต่ต้นใช่ไหมว่าพวกเราเป็นชาวพุทธ ให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. เรื่องว่าทำเสน่ห์ เห็นไหม ทำเสน่ห์แบบในหนัง หรือทำอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแบบนั้นเขาเรียกไสยศาสตร์ สิ่งแบบนั้นเขามีไหม เรายอมรับว่ามี แต่ถ้าจะมีสิ่งใดนะ นี่คนที่มีความไม่ชอบกันเขาจะทำเรื่องอย่างนี้ เรื่องใส่ของเหมือนสงครามสมัยโบราณ เห็นไหม เขาจะมีพวกนี้ล่ะ อย่างเช่นขุนช้างขุนแผน เขาเอาใบไม้มาเสกเป็นคนอย่างนี้ สิ่งนั้นนะเป็นเรื่องไสยศาสตร์ มันเป็นเรื่องโลกเขา ถ้าใครศึกษาใครเล่าเรียน มันก็ได้อย่างนั้น

หลวงตาท่านบอกว่า “ใครหาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น” ถ้าเขาหาสิ่งนั้นเขาก็ได้สิ่งนั้น พวกที่เขาทำเรื่องไสยศาสตร์ สุดท้ายแล้วเขาก็สร้างเวรสร้างกรรม เขาต้องได้รับเวรรับกรรม ทั้งๆ ที่คนที่ทำคุณไสยฯ และคนที่เอาคุณไสยฯ นั้นมาใช้ประโยชน์ มันมีกรรมทั้งนั้นล่ะ

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ว่า “เวร.. ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

ฉะนั้นคนที่เขามีปัญหากัน คนที่เขาไม่ชอบกันเขาจะทำสิ่งนั้นไป เห็นไหม แต่ ! แต่เวลาของเรา ถ้าเรามีศีลของเรา ศีลนี้มันสามารถปกป้องเราได้นะ นี่เราดูนิยายธรรมะ ว่าเข้าไปในป่าเขาจะมีคาถามีอะไรเพื่อป้องกันตัว.. เราธุดงค์มาเยอะนะ เราไม่มีอะไรป้องกันตัวเลยแต่เราถือศีลให้บริสุทธิ์ “ศีลของเรานี่จะคุ้มครองเราเอง”

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์ สิ่งที่ว่าเราจะโดนเสน่ห์ต่างๆ ถ้าเขาทำมาแล้วก็คือเขาทำมาแล้ว สิ่งที่เราจะแก้ไขของเรา เห็นไหม สิ่งที่เราจะแก้ไขของเรานี่เราตั้งสติของเรา.. แต่มันมีนะมันมีผู้ที่สร้าง แบบว่าเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบุญญาธิการนี่เขาจะมีแก้

อันนั้นไว้พูดกันทีหลัง นี้เราพูดกันเรื่องธรรมะก่อน.. เราเป็นพระ เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นเราเชื่อเรื่องธรรม ถ้าเชื่อเรื่องธรรมนะ เรามีเมตตา มีความกรุณา สิ่งนี้เราแผ่ส่วนกุศลเข้าไป แล้วเราพุทโธของเรา

ถ้าเราคิดว่า.. นี่เห็นไหม “หนูเข้าใจว่า” พอหนูเข้าใจว่า นี่ชีวิตหนูจะโดนความเข้าใจว่านี้ครอบงำชีวิตหนู แต่ถ้าหนูเข้าใจว่าหนูเป็นชาวพุทธ หนูไม่เชื่อสิ่งนี้ ถึงเขาจะทำมาหรือเขาไม่ทำมาก็แล้วแต่ เราจะใช้ชีวิตของเราไปตามปกติ เป็นความดีงามของเรา.. เราทำคุณงามความดี เราเกิดมานี่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาแล้วได้พบพุทธศาสนา เราเชื่อในมรรคผล เราเชื่อในการกระทำของเรา

ฉะนั้นถ้าหนูเข้าใจว่า หนูก็ยอมจำนนกับความคิดของหนู.. ถ้าหนูบอกว่าเข้าใจว่า หนูเข้าใจว่าเป็นชาวพุทธ หนูมีศีล หนูมีธรรม

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง !” เห็นไหม

เราปฏิบัติธรรม เรามีศีล ศีลต้องคุ้มครองเรา.. คุ้มครองเราเพราะอะไร เพราะ ! เพราะเราไม่ปาณาติปาตา เราไม่ลักของเขา เราไม่ผิดในครอบครัวใคร เราไม่โกหกมดเท็จใคร เราไม่ดื่มน้ำดำของเมา.. นี่มันจะคุ้มครองเราอยู่แล้ว เพราะไปที่ไหนเราก็ไม่มีความผิดพลาด

ฉะนั้น “เพราะหนูเข้าใจว่าหนูโดนทำเสน่ห์แบบหุ่นขี้ผึ้งที่ประกบในหนัง”

ความจริงมันก็มี แต่นิยายธรรมะมันก็เยอะ.. แม้แต่บุคคลคนเดียวกันนั่นแหละ เวลาจิตเขาดี เวลาเขาทำคุณไสยฯ ทำเสน่ห์มันก็มีคุณภาพ แต่ถ้าจิตใจ ถ้าสมาธิเขาไม่ดี เขาทำไม่มีคุณภาพหรอก ไม่มีคุณภาพ

ฉะนั้นสิ่งที่เราใช้ชีวิตเรามาขนาดนี้แล้ว เห็นไหม นี่เราเชื่อมั่นในตัวเรา ตั้งสตินะแล้วพุทโธ พุทโธ แล้วเราอย่าเอาจิตใจไปหมกมุ่นกับเรื่องสิ่งนี้

เวลาคนภาวนานะ เวลาจิตตกภวังค์หรือจิตมันซับสิ่งใด เราจะแก้นี่เราต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตนี้ถมคอสะพาน ให้คอสะพานมันเต็ม รถมันจะข้ามจากคอสะพานนั้นเข้าสู่สัมมาสมาธิ ฉะนั้นเวลาถ้าเราเข้าใจว่าอย่างนั้น คือจิตใจเราไปหมกมุ่นกับสิ่งนั้น ฉะนั้นเราต้องถมคอสะพานนี้

หนูเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! หนูเป็นชาวพุทธ ! หนูเชื่อมั่นในพุทธคุณ หนูเชื่อมั่นในธรรมคุณ สังฆคุณ ! หนูเชื่อมั่นอย่างนั้น ! หนูมีหลักยึด แล้วหนูจะไม่เป็นอะไรเลย... นี่ข้อ ๑ นะ !

ถาม : ๒. หนูรู้สึกว่ามีวิญญาณหลายตนอยู่ในตัวหนู (ไม่จบเนาะ) แต่หนูก็รู้สึกว่าวิญญาณเหล่านั้นค่อยๆ หายไปตั้งแต่หนูเริ่มบริกรรมพุทโธ สังเกตจากที่หนูรู้สึกดีมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่แทบหากายตัวเองไม่เจอ มันว่างไปหมด จนปัจจุบันปฏิบัติมา ๔ เดือน กายชัดเจนขึ้นมาก มีน้ำหนัก แต่ยังไม่ชัดเจนเต็มกายทีเดียว รู้สึกมีอะไรหนักๆ เกาะอยู่ ทำให้เหนื่อยๆ เพลียๆ เล็กน้อย จากที่สมัยก่อนรู้สึกเหนื่อยและเพลียมากเจ้าค่ะ

ปัจจุบันหนูนั่งสมาธิทุกคืน คืนละ ๑ ชั่วโมงบ้าง ๑ ชั่วโมงครึ่งบ้างเจ้าค่ะ และตักบาตรตอนเช้าทุกวัน.. นั่งสมาธิหรือทำบุญหรือตักบาตร ก็จะอุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวรอยู่เสมอ หนูควรเพิ่มเติมอะไรอีกบ้างเจ้าคะ หนูอยากหายเป็นปกติค่ะ ปลายเดือนธันวาฯ นี้จะครบรอบวันเกิดหนู

หลวงพ่อ : ปลายเดือนธันวาฯ นะ ถ้าครบรอบวันเกิด เห็นไหม เราก็ทำบุญให้ตัวเองเนาะ ครบรอบวันเกิดหนู.. เราทำอย่างนี้ถูกต้องแล้วล่ะ ทำดีแล้ว

ทีนี้คำว่าทำดีแล้วนี่เราตั้งสติของเรา.. สติสำคัญมากนะ ถ้าเราตั้งสติของเรา เราอยู่ของเรา เรายอมรับความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริงว่าชีวิตมันเป็นแบบนี้ แล้วเราทำของเราให้ดีที่สุด เห็นไหม พุทโธชัดๆ นี้เราภาวนาของเราไปเรื่อยๆ เราทำของเราไป

หนักๆ ใช่ไหม ถ้ากายหนักๆ จะชัดเจนมาก พวกเรานี่เวลาบอกว่ามันเป็นสมาธิ.. มันหายไปเลยนี่มันเบาๆ เห็นไหม ถ้าเป็นสมาธินะเรารู้สึกตัวเราเอง มันไม่หนักและมันไม่เบา มันมีสติตัวมันเอง มันรู้สึกตัวมันเอง.. เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันเข้าเป็นสมาธินะ จิตของเรานี่ มือของเรานี่กำสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นจะมีน้ำหนักมาก ถ้าเราปล่อยสิ่งนั้นให้หมดมือนี้ก็เป็นอิสระหมด เห็นไหม

จิตเวลาพุทโธ พุทโธ สิ่งที่พุทโธนี้ก็กำพุทโธเหมือนกัน เวลามันคิดมันก็กำความคิดเหมือนกัน ถ้าเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เพราะถ้าเรากำเรื่องอื่นๆ นี่มันกำแล้วมันมีรสชาติ.. พุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ เป็นคำบริกรรม เป็นสิ่งให้จิตเกาะพุทโธไว้

พุทธานุสติ.. พุทโธ พุทโธนี่เราทำของเราไว้ ถ้ามันดีขึ้นมานี่มันจะดีของมันไปเรื่อยๆ คำว่าดีของมันไปเรื่อยๆ คือมันจะหาย.. หายไปเรื่อยๆ เพราะจิตเรานี้เป็นพันธุกรรม สิ่งต่างๆ จิตใต้สำนึกนี่มันแก้ยาก แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะไม่เป็นเหยื่อใครเลย เราจะแก้ไขตัวเราเอง เราจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง

แล้วถ้าปลายเดือนธันวาฯ นี้เป็นวันเกิดของหนู ก็ให้หนูหายเป็นปกติ ให้หนูมีความสุขความเจริญ ให้หนูภาวนาของหนู แล้วแต่สติปัญญาที่หนูจะทำได้.. นี่ครบรอบวันเกิดของหนูนะ

ถาม : ๓. การปฏิบัติธรรมในนอกบ้าน เช่นไปปฏิบัติธรรมที่วัด จะโดนวิญญาณเข้าตัวได้ง่ายกว่าปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : อันนี้นะ.. ที่ปฏิบัติธรรมนี่ปฏิบัติธรรมที่บ้านก็ได้ ปฏิบัติธรรมที่วัดก็ได้ มันอยู่ที่จังหวะและโอกาสของคน เวลานี่นะถ้าปฏิบัติธรรมที่วัด เวลาพระบวชแล้วอยู่ในวัด แต่เวลาพระธุดงค์เข้าไปในป่าล่ะ.. ถ้าอยู่ในวัด นี่มันอยู่ในวัด

นี้เราว่าวิญญาณจะเข้าตัวได้ง่ายกว่าไหม.. มันอยู่ที่เวรกรรมของคนล่ะเนาะ เวลาไปอยู่ที่ไหนเขาเคารพ เห็นไหม การเคารพสถานที่เคารพต่างๆ อันนี้เราปฏิบัติที่บ้านของเราก็ได้ แต่ถ้าปฏิบัติที่วัด.. คำว่าที่วัด นี่เราบอกว่าพระเวลาอยู่วัดก็ออกธุดงค์ เห็นไหม เขาก็ออกนอกวัดเหมือนกัน ในวัดมันก็เป็นอาวาส เป็นอาราม เป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่มีเรือน ฉะนั้นเรามาวัดมาวาเราก็ทิ้งเรือนไว้ที่บ้าน เห็นไหม ทิ้งเรือนไว้ที่บ้าน แต่เวลานั่งอยู่ที่วัดมันก็คิดถึงที่บ้าน

ฉะนั้นเราพยายามทำใจให้อยู่กับตัวเอง ถ้าเราทำของเราได้ จะเป็นที่วัดหรือที่บ้าน มันอยู่ที่เรามีสติ เราจะทำของเราได้.. นี้ถ้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดมันก็ดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งหมายถึงว่ามันมีหมู่คณะ มีการชักนำกัน แต่อยู่ที่บ้านนี่อะไรที่มันคุ้นเคยแล้วมันก็ทำได้แบบว่า.. ดูพระเรา เห็นไหม เวลาธุดงค์ก็เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อ ! เพื่อไม่ให้คุ้นชิน ถ้าคุ้นชินนี่กิเลสมันแอบตรงนั้นล่ะ

ฉะนั้นปฏิบัติที่บ้านกับปฏิบัติที่วัด..นี้ มันอยู่ที่ความเหมาะสม ฉะนั้นไอ้วิญญาณจะเข้าหรือไม่เข้ามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย แล้วแต่สถานที่นะ สถานที่นี่เขาบอกสถานที่แรง เวลาครูบาอาจารย์ปฏิบัติสถานที่แรง นี่เขาอยู่ของเขาอย่างนั้นเราไปหาเขาเอง แล้วสถานที่แรงมันอยู่ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติ สถานที่แรงทำให้เราไม่นอนใจ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์เราท่านก็หาเหมือนกันนะ แต่ของเรานี่เราไม่ต้องการ

คำว่าสถานที่แรง.. สิ่งนั้นเขาจะทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา จะทำให้กลัวหรือมันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเขา.. นี่ในสังคมของคนมีคนดีและคนชั่ว ในสังคมของผี ในสังคมของจิตวิญญาณ ก็มีทั้งดีและชั่ว ถ้าสังคมที่ดีเขาจะส่งเสริมทำให้เป็นสิ่งที่ดี ถ้าสังคมที่ไม่ดี..

เช่น ! เช่นหลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านไปอยู่ที่ถ้ำยาว เวลาเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมนะก็เดินไป นี่ท่านบอกว่ามันมีเทพอยู่ที่นั่น คือผีนั่นแหละ ผีดีเรียกเทพ นี่บอกเลยว่า “โอ้.. พระอะไรมาเดินจงกรมอยู่ที่นี่ ไม่สำรวมระวังเลย เดินจงกรมอย่างกับควบม้า” ท่านว่าเดินเสียงดัง นี่หลวงปู่มั่นท่านรู้วาระจิตนะ พอรู้วาระจิตท่านก็เดินสำรวมระวังขึ้น

นี่ในจิตวิญญาณมีทั้งดีและชั่ว เวลาเดินเร็วเขาว่าเดินแบบม้าแข่ง เดินส่งเสียงดัง นี่จิตวิญญาณ ดูเทพเขาจะอยู่นี่เขาว่าสะเทือนเขาหนวกหูเขา ก็เดินให้เบาๆ หน่อย พอเดินเบาหน่อยนะก็ว่า “ฮื้อ.. พระอะไรไม่รู้ เดินเหมือนคนป่วย เดินเหมือนคนไม่มีแรง” นี่มันติไปหมดนะ ถ้ามันไม่ดี เห็นไหม ถ้าอย่างนั้นเราเอาเขามาเป็นเกณฑ์ไม่ได้

แต่ถ้าจิตวิญญาณที่ดีนะ หลวงตาท่านจะสอนประจำนะ “ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก” เราบอกคนโง่มาก.. ถ้าคนโง่มาก คนโง่ติเตียน คนโง่คอยแนะนำ นี่เราไม่ต้องไปนึกเดือดร้อนกับเขา แต่ถ้าคนฉลาด คนมีหลักมีเกณฑ์ เขาพูดคำเดียวต้องฟังนะ คนฉลาด ! คนฉลาดเขาพูดด้วยเหตุด้วยผล มันจะเป็นประโยชน์กับเรา คนโง่หรือคนฉลาด..

จิตวิญญาณก็เหมือนกัน ! ไม่ใช่ว่าจิตวิญญาณนี่เราจะต้องกลัวเขาไปหมด เราจะต้องไปเซ่นไหว้เขาไปหมด.. ไม่ใช่ แต่จิตวิญญาณที่ดี เขาจะคุ้มครองดูแล นี่เราก็เห็นด้วย เพราะจิตวิญญาณเขาก็ต้องการบุญกุศลของเขาเหมือนกัน นี้จิตวิญญาณที่ดีเขาก็ส่งเสริมเรา เขาก็ป้องกันเรา เขาก็ดูแลรักษาเรา แต่จิตวิญญาณที่เขาจะหาผลประโยชน์ จิตวิญญาณที่เขาทำลายเรา.. นี่จิตวิญญาณข้างนอกนะ

แต่จิตวิญญาณของเรา ใจของเราถ้ามันคิดดีคิดงาม.. จิตวิญญาณตรงนี้สำคัญมากนะ ! ถ้าจิตวิญญาณดวงนี้ จิตวิญญาณในหัวใจของเรา ถ้ามันมีหลักเกณฑ์ มีความเข้มแข็ง เราพูดแบบครั้งแรกที่จิตวิทยานี่ล่ะ.. เป็นจิตวิทยาก็จิตของเรา เรารักษาจิตของเราเป็นปกติ เป็นพื้นฐานของเราก่อน จิตดวงอื่นนี่ไร้สาระเลย

อย่างเช่นเรานี่ เราเป็นปกติ เราปิดหูปิดตาหมดเลย ใครจะเอาความทุกข์มาใส่ในหัวใจเรา แต่ใครพูดใครทำอะไร นี่เปิดหูเปิดตาจะไปเอามาหมดเลย เขากระทำอยู่ข้างนอก ก็ไปดึงมาเป็นทุกข์หมดเลย.. ถ้าจิตวิญญาณตัวนี้มันดี เห็นไหม มันเป็นปกติ

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ แล้วเรารักษาจิตของเราก่อน ให้เป็นวิทยาศาสตร์ พอเป็นวิทยาศาสตร์เป็นปกติแล้ว เราค่อยมาปฏิบัติ เรากำหนดพุทโธมันจะเป็นความดีของเราขึ้นมาเอง

“โลกกับธรรม” พื้นฐานของโลกแน่น พื้นฐานของโลกดี เวลาปฏิบัติธรรมมันจะดีมาก ถ้าพื้นฐานของโลกง่อนแง่น เวลาปฏิบัติธรรมมันรับสิ่งใดไม่ได้หรอก เหมือนร่างกายคนเรา นี่คนร่างกายไม่แข็งแรงยกสิ่งใดไม่ได้ ถ้าคนร่างกายแข็งแรงจะยกสิ่งใด เป็นประโยชน์กับผู้นั้นตลอดไป

จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเราเข้มแข็ง จิตของเราดีขึ้นมา แล้วเราปฏิบัติขึ้นไป มันดีขึ้นไปนี่เราจะไม่วินิจฉัย.. ไม่วินิจฉัย ไม่ทำสิ่งใดให้มันนอกเหนือเกินไปจากความเป็นจริง นี่มันวินิจฉัยหรือทำสิ่งใดเกินจากความเป็นจริงไป มันจะไม่เป็นประโยชน์กับเรานะ

อันนี้ ต้องตอบอันนี้หน่อยหนึ่ง.. จบแล้ว เขาให้ตอบอันนั้นก็ได้

ถาม : ๒๗๖. เรื่อง “หาที่พึ่ง”

เริ่มแรกปฏิบัตินั่งสมาธิเอง คือดูลมหายใจควบคู่กับบริกรรม สัมมาอะระหัง นั่งประมาณ ๓๐ นาทีทุกวัน รู้สึกนิ่งๆ เฉยๆ บางวันโล่งๆ เบาๆ มีครั้งหนึ่งรู้สึกมีความสุขอยู่ข้างใน นั่งยิ้มอยู่ข้างใน แต่ก็เป็นแค่ครั้งเดียว บางครั้งดูลมหายใจอย่างเดียว แล้วลมหายใจไม่มี ก็ไม่รู้จะดูอะไร เลยไปดูความคิดแทน แต่พอดูความคิดก็ทำให้ติดไปกับเรื่องที่คิด จนลืมเนื้อลืมตัวอยู่กับเรื่องที่คิดทั้งหมด พอรู้สึกตัวก็ทำความรู้สึกตัวที่นั่งอยู่ใหม่ สักพักก็ไปอีก บางครั้งไปจับความรู้สึกว่างๆ แล้วเพ่งไปจนทำให้รู้สึกว่าร่างกายหายไป และความรู้สึกในการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป คือรู้สึกทื่อๆ สามารถนั่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย และชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบยุ่งกับใคร ความรู้สึกมันนิ่งๆ เฉยๆ

เนื่องจากไม่เคยสอบถามวิธีปฏิบัติจากใครเลย จึงอยากทราบว่า เพราะการนั่งสมาธิหรือเปล่าทำให้รู้สึกนิ่งๆ ทื่อๆ ไป และการปฏิบัติที่ถูกควรทำอย่างใด

หลวงพ่อ : นี่คำถามนะ.. แล้วเขาตอบมาเสร็จ

ถาม : ซึ่งตอนนี้ได้ย้ายไปปฏิบัติอยู่กับอาจารย์สอนปฏิบัติท่านหนึ่ง เป็นฆราวาส โดยไม่ต้องนั่งสมาธิ ให้มีสติรู้เฉยๆ ทุกอิริยาบถ ประกอบกับมีการอ่านจิตว่าปฏิบัติเป็นอย่างไรๆ (แล้วเขาก็ยกตัวอย่างมาให้ดูด้วย)

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติธรรมนี่นะ เราปฏิบัติธรรมโดยกำปั้นทุบดิน เราปฏิบัติธรรมโดยความเห็นของเรา นี่เราปฏิบัติธรรมนะ แล้วพอปฏิบัติธรรมนี่มันเป็นเรื่องโลก เป็นความเห็นของเรา

เราจะบอกว่าการปฏิบัติธรรมมันต้องมีความเตรียมพร้อม อย่างเช่น ! อย่างเช่นการบวชพระเรา ในกรรมฐาน เห็นไหม เขาให้เป็นปะขาวก่อน สมัยหลวงปู่มั่นนะ จะต้องมาเป็นปะขาว แล้วหัดท่องขานนาค.. หัดท่องขานนาคจนตัดผ้าเย็บผ้าได้ จนรู้เรื่องธรรมวินัย เข้ามาแล้วถึงให้บวช พอให้บวชเข้ามามันก็พร้อมใช่ไหม นี่พอพร้อมขึ้นมา การปฏิบัติมันก็จะก้าวหน้าไป แต่ในปัจจุบันนี้ทุกคนจะลัดสั้น ทุกคนจะเข้าใจว่าทุกคนรู้หมดแล้ว ฉะนั้นเวลามาปฏิบัติ ก็ปฏิบัติไปด้วยความไม่รู้ เห็นไหม

เราจะบอกว่าทางโลกเขาพูดกันอย่างนี้แหละ บอกว่าถ้ากำหนดพุทโธมันจะทื่อๆ มันจะอยู่เฉยๆ มันจะอยู่คนเดียว มันจะไม่รู้อะไร มันจะนิ่งๆ ซื่อๆ มันไม่มีประโยชน์อะไร..

นี่เงิน ! เงินนี่นะ ใครมีเงิน แล้วใช้นะ.. มันมีเศรษฐี เศรษฐีระดับโลกเลย เขามีเงินนี่เขาไม่ให้ลูกเขา เขาให้ลูกเขาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเขาทำเป็นมูลนิธิ แล้วเขาพูดเองว่าไม่ต้องการให้โรครวยทำลายลูกฉัน.. โรครวย ถ้าโรครวย ถ้าเขามีเงินมากแล้วเขาให้ลูกเขา ลูกเขาจะใช้เงินทองโดยที่ว่าจะเสียผู้เสียคนไปก็ได้ คำว่าโรครวย.. แล้วเขาตั้งมูลนิธิของเขาเลย ๖๐,๐๐๐ ล้านเหรียญ เขาไม่ให้ลูกเขานะ เขาให้ลูกเขาส่วนหนึ่ง เขาบอกว่าเขากลัวลูกเขาเป็นโรครวย

นี่ก็เหมือนกัน แม้แต่เงิน.. ถ้าคนใช้ไม่เป็นมันยังใช้เป็นโทษกับตัวเอง แต่ถ้าคนใช้เงินเป็นนะมันจะเป็นประโยชน์มาก แล้วนี่ปฏิบัติไป ว่ามันทื่อๆ ทื่อๆ ทื่อๆ นี้เป็นสมาธิเหรอ.. มันทื่อๆ นิ่งๆ เฉยๆ นี่เป็นสมาธิเหรอ.. ถ้ามันเป็นสมาธิ ขอนไม้วางอยู่มันก็เป็นสมาธิ อะไรมันก็เป็นสมาธิทั้งนั้นแหละ

คำว่าสมาธิ.. เราเข้าใจว่าสมาธิมันคืออะไร นี่ไงเราจะบอกว่าคำพูดอย่างนี้ เขาบอกว่า เริ่มต้นนะคนปฏิบัติอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่า นี่ทำอย่างนี้ผิด ! ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะว่ามันไม่ใช้ปัญญา มันต้องใช้ปัญญา.. ว่าสมาธิไม่มีประโยชน์ พุทโธไม่มีประโยชน์ ทุกอย่างไม่มีประโยชน์หมดเลย ไอ้ปัญญาอย่างที่คิดนี้มันเป็นปัญญาอะไร แล้วไอ้นิ่งๆ เฉยๆ มันเป็นสมาธิแล้วเหรอ มันเป็นสมาธิหรือเปล่า เห็นไหม

“นี่กำหนดพุทโธ พุทโธ มีอยู่ครั้งหนึ่งสุขมาก นั่งยิ้มอยู่คนเดียว มันโล่งมันเบา”

มันโล่งมันเบาแค่ไหนก็แล้วแต่นะ เวลาทำนี่มันมีการต่อเนื่องการปฏิบัตินี่ ถ้ามันขณิกสมาธิ.. อุปจารสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ.. คำว่าสมาธิของเรานี่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก.. ตามลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่ใครเป็นคนกำหนดลม

ถ้าลมนะ เห็นไหม ลมก็พัดอยู่นี่ลม แล้วลมของใคร ลมนั้นลมของใคร แล้วใครไปรู้ แต่ขณะที่กำหนดลม นี่เขาเอาจิตกำหนด พอจิตกำหนด จิตมันกำหนดลมเข้าไป ถ้าลมมันละเอียด จิตมันละเอียดขึ้นมา ตัวจิตมันละเอียดขึ้นมา มันไม่ทื่อๆ หรอก มันรู้ของมัน มันชัดเจนของมัน

สิ่งที่คมกล้าที่สุดมันคืออะไร ทางโลกเขาว่าคือน้ำนะ.. น้ำ เห็นไหม น้ำนี่เวลามันรวมตัวกันมันทำลายทุกอย่าง นี่สิ่งที่คมกล้า สิ่งที่อ่อนที่สุด แต่ว่าเวลามารวมตัวกันมันจะมีกำลัง มีพลังงานที่สุด

ลม เห็นไหม นี่ลมที่มันพัดอยู่ มันพัดมันทำลายไปทุกๆ อย่างเลย แต่ขณะจิต.. จิตที่มันอ่อน จิตที่มันละเอียดอ่อนกว่าลม แล้วมันก็อาศัยเกาะลมอยู่ แล้วถ้ามันสงบขึ้นมา มันจะชัดเจน มันจะไม่ทื่อๆ หรอก ความสุขอย่างนั้นจะเป็นอย่างนั้น

ทีนี้ไอ้คำว่าทื่อๆ.. นี่มันต้องมีสมาธิก่อน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา นี่ตัวพลังงานตัวนั้นขึ้นมา แล้วเกิดมีปัญญาขึ้นมา ทีนี้พอปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เห็นไหม คนเรานี่นะ เวลาเด็กๆ มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ ผู้ใหญ่จะชักนำได้ ดูสิสมัยนี้นะ เด็กนี่คนเอาขนมมาล่อมัน เอาสิ่งใดมาล่อเด็กนะ เวลาเขาจะลักเด็กขโมยเด็ก เขาชวนไปซื้อขนม เขาชวนไปนี่มันไปหมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจเวลาเขาบอกว่าสิ่งนี้ผิดนะ มันทื่อๆ มันไม่ได้ใช้ปัญญา มันต้องใช้ปัญญาไปเลย.. ปัญญาอะไร ! ปัญญาที่ใช้ปัญญาอะไร เวลาเขาโกงกันเขาใช้ปัญญามากกว่านี้อีก ปัญญาขี้โกงนะ มันฉ้อโกงได้หมดเลย แล้วปัญญาโดยที่ไม่มีสมาธิ นี่มันฉ้อโกงตัวเอง มันฉ้อโกงด้วยธรรมที่มันเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นปัญญาๆๆ สิ่งนี้เป็นปัญญานี่กิเลสมันหลอก มันหลอกว่าคิดอย่างนี้เป็นปัญญา แล้วปัญญานั้นมันทำอะไรล่ะ ปัญญามันอยู่ข้างนอกไง

แต่ถ้าเป็นสมาธิเข้ามานี่มันสะเทือนใจก่อน ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่นะ อย่างที่ว่านี่จิตมันนั่งแล้วไม่มีความสงบ.. ไอ้สงบอย่างนี้มันก็พูดมาเป็นเกณฑ์ก่อนว่าเรามีความสงบ แล้วสงบแล้วมันก็ทื่อๆ ไอ้สงบนี้มันก็นึกเอา ไอ้ทื่อๆ นี่ก็นึกเอา ว่าทื่อๆ

ไม่มีทื่อๆ หรอก ! สมาธิไม่มีทื่อๆ ไอ้ทื่อๆ นี่มันมิจฉาสมาธิ ! มันเป็นมิจฉา มันเป็นความผิดของเราเอง คนปฏิบัติมันปฏิบัติผิดเอง แล้วมันก็ไปโทษว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด ไปโทษว่าสมาธินี้ไม่ดี

เงินที่ไหนไม่ดีบ้าง.. เงินนี่นะเขาใช้เพื่อการลงทุน เขาใช้เพื่อกิจการต่างๆ บริหารประเทศชาติเขาใช้เงินทั้งนั้นล่ะ ถ้าเงินคนใช้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่เงินจะเป็นประโยชน์มาก สัมมาสมาธินะ ถ้าเราเป็นเจ้าของมันนะ เรามีทุนเรามีทุกอย่างนี่เราจะทำสิ่งใดก็ได้ ไอ้นี่อยากจะมีรถอะไรนะ เดี๋ยวนี้เขามีรถไฟฟ้า จะมีรถ ๔-๕๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเขาเรียกรถอะไร.. รถไฟความเร็วสูง อยากมีรถไฟความเร็วสูง ๕ สาย ลงทุนกี่ล้านล้าน ไม่มีตังค์สักสลึงหนึ่ง ต้องไปกู้เมืองจีนมาไง ให้เขามาลงทุนให้ก่อน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อทื่อๆ ทื่อๆ นี่มันเป็นสมาธิเหรอ มันเป็นอะไร.. ตัวเองทำไม่ถูก ตัวเองทำไม่เป็นแล้วทำผิดพลาด แล้วนี่ ๑.ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ๒.ผิดพลาดซ้ำเข้าไปอีก.. ไม่ต้องนั่งสมาธิ ให้มีสติรู้อยู่เฉยๆ ทุกอิริยาบถ

ไม่ต้องมีสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรเลย มันก็หุ่นยนต์ไง เอาหุ่นยนต์มาทำ นี่โรงงานประกอบรถยนต์ หุ่นยนต์มันทำงานนะ รถยนต์ออกมาเป็นคันๆ ดีกว่าเราอีก มันไม่มีจิตวิญญาณไง ถ้ามันมีจิตวิญญาณขึ้นมา นี่มันมีความรู้สึก มันมีความสุขความทุกข์ ไอ้หุ่นยนต์ไม่มีความสุขความทุกข์นะ หุ่นยนต์นี่ หุ่นยนต์มันยังทำประโยชน์ขึ้นมามหาศาลเลย

ไม่ต้องทำสมาธิ ให้มีสติรู้อยู่เฉยๆ มีสติรู้ทุกอิริยาบถ.. ไอ้เรื่องความคิดมันก็เป็นความคิดนั่นล่ะ รู้ไปเถอะ ธรรมะพระพุทธเจ้าใครก็จำได้ จำเข้ามาแล้วนี่ไม่รู้จักตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง สมาธิมันเป็นสมาธิ ปัญญาเป็นปัญญา

สมาธิไม่ใช่ปัญญา ปัญญาก็ไม่ใช่สมาธิ แต่ ! แต่มรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ.. มันมีความดำริชอบ คือปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ.. สิ่งที่เป็นความชอบในมรรค ๘ สิ่งที่มันเป็นขบวนการการฝึกหัด พอจิตมันฝึกหัด เห็นไหม นี่เวลาจักรมันเคลื่อน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาเทศน์ธรรมจักร เทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ว่าสวรรค์ไม่มี นรกไม่มี ธรรมจักรบอกเลยนะ เทวดานี่ส่งข่าวขึ้นไปเป็นชั้นๆ เลย ว่าจักรได้เคลื่อนแล้ว

จักรได้เคลื่อนแล้ว.. เวลามันเคลื่อนในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ มันเป็นสัจธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดาไม่รู้เรื่องนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักรนี่เทวดาได้ฟังนะ พอเทวดาได้ฟังบอกเลยว่าจักรมันได้เคลื่อนแล้วนะ ย้อนกลับไม่ได้

มันย้อนกลับไม่ได้ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนู้นแล้ว แล้วเวลาแสดงธรรมออกมานี่แสดงธรรมออกมาเป็นทางวิชาการ เราก็เทศน์ธรรมจักรใช่ไหม เราก็ไปจำเอาทางวิชาการมา แล้วความจริงที่มันอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ.. นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาๆ นี่มันปัญญาอะไร ปัญญานะมันมีปัญญา ๓

ปัญญา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา” แล้วปัญญาที่ทำนี้มันเป็นปัญญาอะไร ปัญญาเนี่ย อ้าว... ปัญญามึงมันก็นิยายธรรมะไง โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรก็จำได้หมดเลยไง

ชื่อใครก็จำได้.. สิ่งที่จำได้นะ เหมือนชื่อนี่เรารู้จักชื่อ แต่ถ้าคนของเราในครอบครัวของเรา นี่ชื่อสิ่งนั้น คนๆ นั้น บุคคลคนๆ นั้น นิสัยใจคอเป็นอย่างไรรู้หมดนะ แต่ถ้าชื่อมันก็ชื่อเหมือนกันนั่นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พอบอกว่าธรรมะ เห็นไหม ก็บอกว่าว่างๆ บอกว่านิพพาน แล้วนิพพานเป็นอย่างไรล่ะ นิพพานเขาเอาไว้ใส่ดอกไม้ เขาเอาไว้บูชาพระ.. เฮ้ย ! มันคนละอันนะ นิพพานของเรามันในหัวใจนะ เขาบอกนิพพานก็คือพานพุ่มไง พานดอกไม้ไง เขาเอาไว้ประกอบดอกไม้ มันไปไหนมาสามวาสองศอกไง

นี่เรื่องของเขานะ.. เพียงแต่ถามมา เราถามมา ที่พูดนะเราไม่ได้พูดประชดประชันใครนะ เราไม่ได้พูดประชดประชันผู้ถามด้วย.. ผู้อยากพ้นทุกข์นี่ ผู้ถามคือผู้อยากพ้นทุกข์ หาที่พึ่ง เราก็ไม่ได้ว่าใครทั้งสิ้น แต่เราพูดถึงกระแสสังคม

กระแสสังคม.. นี่มันเป็นกระแสสังคม แล้วเราอยู่ในสังคม เวลานี่โลกธรรม ๘ สิ่งใดอื้ออึงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ เราก็เป็นเหยื่อสังคม เชื่อตามกระแสนั้นไป พอเชื่อตามกระแสนั้นไป การประพฤติปฏิบัติของเรามันจะได้ความจริงไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มงคล ๓๘ ประการ เห็นไหม นี่เกิดในประเทศอันสมควร.. ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นี่มันเป็นมงคลชีวิตทั้งนั้น การได้เห็นสมณะ.. สมณะแท้นี่ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันเป็นมงคลชีวิตทั้งนั้นล่ะ

ฉะนั้นเราต้องหาเหตุหาผล เราไม่เชื่อสิ่งใดไปโดยที่ว่าเราจะเชื่อเขา กระแสสังคม เวลาพูดกันไป เพราะกระแสสังคม คนวุฒิภาวะมันอ่อนด้อย พออ่อนด้อยนะ นี่เขาว่าใช้ปัญญาๆ “เอ็งนึกสิเป็นปัญญา” นี่เป็นปัญญาแล้ว เราก็นึกว่าเป็นปัญญา “เออ ใช่ !” เชื่อแล้วนะ แล้วปัญญาอย่างนี้ ก่อนที่เขาจะแนะนำ เอ็งก็นึกไม่เป็นเหรอ... ก็นึกเป็น แต่ไม่เคยนึก พอเขาบอกก็นึกตามเขา พอตามเขาเสร็จ แล้วเขาบอกว่านี่ปัญญา.. ก็บอก เออ.. นี่ปัญญา !

มันก็มีอยู่แล้วทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันเกิดสมาธินะให้นึกอย่างไรก็นึกไม่ได้ มันเป็นโดยข้อเท็จจริง มันมีสมาธิเป็นฐานรองรับ “สมถกรรมฐาน.. ฐานที่ตั้งแห่งการงาน” นักกีฬามันต้องมีสนามซ้อม นักฟุตบอลเขาเล่นในสนามฟุตบอล เห็นไหม เทนนิสเขาเล่นในสนามเทนนิส นี่เวลาออกกำลังกายเขาก็มีสนามของเขา แล้วเวลาสมถกรรมฐาน.. ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นี่เอ็งทำอะไร เอ็งจะทำอะไรกันนี่..

“ถ้าเอ็งจะภาวนา ใจเอ็งอยู่ไหน สถานที่ทำงานอยู่ไหน”

“ก็ว่างๆ นี่.. ก็ว่างๆ ตรึกมันไปนั่นล่ะ.. ใช้ปัญญานี่รู้หมด.. ธรรมะนี่”

“แล้วมันอยู่ตรงไหนล่ะ”

“ก็นึกเอา ก็ตามมันไปนี่ รู้เฉยๆ”

กระแสสังคมมันว่าไปนะ.. ที่เราพูดนี่ไม่ได้ประชดประชันใครทั้งสิ้น แต่พูดถึงข้อเท็จจริงไง ถ้าข้อเท็จจริงนะ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านสอนนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำ “ตั้งสติ ! ทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ยังเริ่มต้นไม่ได้ ! ถ้าเริ่มต้นนะ.. พอตั้งสติแล้ว กำหนดพุทโธแล้วคือจิตสงบแล้วนี่ให้ออกรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม.. นั่นสติปัฏฐาน ๔ !”

เวลาสติปัฏฐาน ๔ มันเกิดเกิดตรงนั้น เกิดตรงจิตสงบแล้วออกรู้.. จิตสงบแล้วออกรู้ ถ้าจิตมันสงบแล้วไม่ออกรู้ เห็นไหม ไม่ออกรู้มันก็อยู่เต็มอิ่มในตัวของมัน แต่มันเป็นอนิจจังเพราะเดี๋ยวมันจะเสื่อม นี่เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ คนปฏิบัติไปนี่มันเจริญแล้วเสื่อม อย่างพวกเรากินข้าวแล้วนี่เดี๋ยวหิวอีกไหม มันหิวแน่นอน คนกินข้าวมื้อเดียวแล้วอิ่มตลอดชาติไม่มี คนกินข้าวแล้วเดี๋ยวก็ต้องกินข้าวมื้อต่อๆ ไป

จิตเดี๋ยวดีเดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวเสื่อมเดี๋ยวดี มันต้องพัฒนาการของมันอย่างนั้นล่ะ จนมันเข้มแข็ง จนมันแข็งแรงขึ้นมา จนมันพัฒนาการของมันไป มันจะเป็นชั้นเป็นตอนไป นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่นสอนต้องเป็นอย่างนั้น ! ต้องเป็นอย่างนั้น ! ต้องเป็นอย่างนั้นเลย ! เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงของมันไป

ไอ้นี่ว่าทื่อๆ สมาธิก็ทื่อๆ สมาธิทื่อๆ มันไม่ใช่สมาธิแล้ว สมาธินะมันแจ่มชัดมาก ! มีความสุขมาก ! สมาธิไม่มีทื่อๆ สมาธิไม่มีการอยากอยู่คนเดียว ความอยากอยู่คนเดียวนี่เขาเรียกว่าอยู่กับความสงบสงัด เห็นไหม เวลาที่ว่าในสมัยพุทธกาล พระนี่คนจะไปทำบุญที่วัด ไปถึงไม่มีพระเลย ไปหาโยมโยมบอกว่า พระที่นี่เขาต่างคนต่างอยู่ ถ้าอยากจะเจอพระให้เคาะระฆัง ก็เคาะ เป้งๆๆ เห็นพระเดินมา ต่างคนต่างเดินมา อู้ฮู.. หน้าเคร่งขรึม โอ้โฮ.. พระนี่ทะเลาะกัน ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการอย่างนี้

คือว่าเขาสงบสงัด เขาสงัดในหัวใจของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เวลาเขามาก็ต่างคนต่างนั่ง พอโยมทำบุญ สังฆทานเขาก็รับพร้อมกัน เขาก็ทำพร้อมกัน เสร็จแล้วโยมก็กลับ แต่วุฒิภาวะของโยมมันไม่ถึงพระ มันไม่ถึงผู้ปฏิบัติไง เห็นเขามาเขาไม่พูดกัน.. นี่เราก็คุยกัน พูดกันทุกวัน พูดจนทะเลาะกัน เดี๋ยวคนนู้นก็พูดคนนี้ คนนี้ก็นินทาคนนั้น คนนั้นก็นินทาคนนี้ อู้ฮู.. ดีมาก มีความสุขหมดเลย แต่ถ้าต่างคนต่างอยู่ โอ๋ย.. พวกนี้ทะเลาะกัน พวกนี้ไม่รักกัน พวกนี้ไม่สามัคคีกัน พวกนี้เป็นคนไม่ดีหมดเลย.. แต่เขามีสติปัญญาในตัวของเขา เห็นไหม

นี่วุฒิภาวะของสังคมมันไม่รู้เท่า พอมันไม่รู้เท่ามันก็ไม่เข้าใจของมัน นี้หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่าต้องจิตสงบก่อน ! พอจิตสงบแล้ว.. เพราะจิตสงบแล้ว คนรักษาความสงบของใจนี่มันจะเจริญแล้วเสื่อม พอเจริญแล้วเสื่อม มันก็ไม่หาฟืนหาไฟมาใส่ตัวเอง เห็นไหม

พูดคำหนึ่งออกไปปั๊บ เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไปวิตกวิจาร มันก็ทำให้จิตเกิดกระเพื่อม ถ้าจิตมันไม่พูดเลยจิตมันก็ไม่กระเพื่อม ถ้าจิตมันพูดไปแล้ว.. นี่พูดไปแล้วเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ พูดไปแล้วเขาจะว่าเราโกหกเขา หรือเขาโกหกเรา มันก็ไปคิดเพิ่มเติมต่อไป มันก็ไปหาแต่ฟืนแต่ไฟเผาตัวเอง เขาก็อยู่สงบของเขา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ว่าชอบอยู่คนเดียว ไม่ยุ่งกับใครอะไรนี่ ชอบอยู่คนเดียวไม่ยุ่งกับใคร.. ชอบอยู่คนเดียวเพื่อรักษาใจของตัว แต่มันไม่ใช่นิ่งๆ เฉยๆ มันนิ่งของมัน มันเข้าใจของมัน มันเห็นโทษของมันไง.. เห็นโทษ เห็นไหม ดูสิเรารักษาบ้านรักษาเรือนของเรา เราทำความสะอาดบ้านของเรา เราต้องรักษาไม่ให้ความสกปรกมันเข้ามา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราอยู่คนเดียวเพื่อดูแลรักษาใจของเรา.. นี่เวลาคนทำเป็นมันพูดไปอีกอย่างหนึ่ง การอยู่คนเดียว.. การอยู่คนเดียวในการปฏิบัติ แต่ถ้าหน้าที่การงานของเรา เราทำงานต้องสัมพันธ์กับคนอื่นนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เขาเรียก “โลกกับธรรม” เห็นไหม

นี่ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบคือว่าเราจะต้องทำหน้าที่การงานของเรา แล้วเราหาเวลาของเราเพื่อประพฤติปฏิบัติ.. ทางของสมณะ ทางของนักบวชนี่มี ๒๔ ชั่วโมง ทางกว้างขวาง ถ้ากว้างขวางขึ้นมา นี่กว้างขวางก็อยากจะไปยุ่งกับโยม กว้างขวางก็อยู่ก็เหงา ไม่มีเพื่อน ก็จะวิ่งไปหาเขาอีก ไอ้กว้างขวางมันไม่กว้างขวางรักษาใจของตัว ไอ้กว้างขวางจะไปดึงให้เขามายุ่งกับตัว นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

นี่พูดถึง พูดถึงว่าความสงบความสงัดไง ไอ้ความสงบมันจะเกิดขึ้นมา แล้วพอจิตมันสงบแล้ว มันออกรู้แล้ว เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมานะมันจะซึ้งมาก.. เราจะเห็นครูบาอาจารย์ของเราเวลากราบพระ นี่เวลากราบพระทำไมท่านถึงกราบมาจากหัวใจ คนที่กราบมาจากหัวใจ มันเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ สาวก-สาวกะถ้าไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำ ก็เหมือนคนตาบอด มันจะคลำไปเรื่อยแหละ.. ไอ้นี่คนตาบอด แต่มันมีพระไตรปิฎกชี้ทางอยู่ คนตาบอดแต่เปิดไฟสว่างไว้ คนตาบอดแต่มีเครื่องหมายป้ายบอกเรายังคลำไปได้ ถ้าคนตาบอดแล้วไม่มีอะไรบอกทางไว้เลยนะ

ฉะนั้นเวลาถ้าคนตาบอด แล้วพอตาสว่างขึ้นมา จะเคารพบูชา จะไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะกราบพระด้วยความซึ้งใจมาก ! ฉะนั้นซึ้งใจมากนี่มันจะเป็นความจริง.. ไอ้นี่มันเป็นกระแสสังคม ฉะนั้นเขาถามมาเฉยๆ “หลวงพ่อมีคำแนะนำชี้แจงอย่างใด”

เราไม่ชี้แจง เราเปรียบเทียบให้เห็นกระแสสังคม “จริงและไม่จริง” แล้วผู้ที่ปฏิบัตินี่จริง.. แต่วุฒิภาวะของเราไม่ถึง ไก่มันได้พลอย ไก่มันจะเอาข้าวสารมันไม่เอาพลอย เราบอกว่าพลอยมันดีกว่าข้าวสาร พลอยเม็ดหนึ่งกับข้าวสารเม็ดหนึ่ง เราว่าพลอยมีค่ามากกว่า แต่สังคมบอกว่าข้าวดีกว่า ข้าวกินได้ พลอยไม่เอา.. อันนี้มันก็ช่วยเหลือไม่ได้ เห็นไหม ถ้าให้หลวงพ่อแนะนำ.. แนะนำไปแล้วเขาก็ไม่ฟัง เพราะเขาจะกินข้าว เขาไม่เอาพลอย ฉะนั้นถ้าเขาจะเอาข้าวก็เรื่องของเขา

นี่ตอนนี้มีความรู้สึกอย่างนี้ คือไม่อยากแนะนำใครแล้วล่ะ แนะนำใครก็หาว่าด่าทุกทีเลย แนะนำไปแล้วกูก็เสีย แนะนำไป.. นี่เขาบอกว่าในครอบครัวเขาทะเลาะกัน บุคคลที่ ๓ อย่าไปยุ่ง เดี๋ยวเขาดีกันแล้วนะ บุคคลที่ ๓ นั้นเสียเลย.. แนะนำไปแนะนำมา ไอ้คนแนะนำนี่เสียอยู่คนเดียว โอ้โฮ.. เป็นคนที่ติฉินนินทาเขาทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นคนที่ใช้ไม่ได้.. แล้วถามมาทำไมล่ะ แล้วถามมาทำไม แล้วให้แนะนำด้วย พอแนะนำไปแล้วก็ว่าเป็นคนไม่ดีสักที

นี่เราบอกไม่ได้พูดประชดประชันใครนะ นี่พูดถึงกระแสสังคม แล้วเราเป็นหน่วยของสังคมๆ หนึ่ง เราจะมีจุดยืนของเราไหม เราจะรักษาชีวิตของเราไหม เราจะไปฝืนเขาไม่ได้หรอก กระแสสังคม.. หลวงตาสอนมาประจำ “คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เห็นไหม ไปหาสัญชัย เราจะเอาสัญชัยมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัญชัยถามพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ

“โลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

“มีคนโง่มาก คนฉลาดน้อย”

“ฉะนั้นเธอไปซะ ไปอยู่กับคนกลุ่มน้อย”

สัญชัยบอกพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะอย่างนั้นนะ ไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ชนกลุ่มน้อย คือพวกที่ฉลาดจะเข้าถึงธรรมได้มันมีเล็กน้อยมาก ฉันจะอยู่กับคนโง่ คนโง่มันหลอกง่าย แต่ก็ด้วยความเสียใจ พอพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปนี่กระอักเลือดเลย เพราะความที่มันพูดออกมาด้วยความไม่ใช่จริงใจไง พูดออกมาแบบประชดประชัน แต่มันก็เป็นความจริงเรื่องโลกเป็นแบบนั้น

นั่นสมัยพุทธกาลนะ.. แล้วเรามาสมัยสังคมปัจจุบันนี้โยมก็ดูเอาว่าคนโง่หรือคนฉลาดมากล่ะ.. เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ นี่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ ทำไมเขาไม่พิสูจน์ ไม่ตรวจสอบกัน ทำไมเชื่ออะไรกันไปง่ายๆ แล้วบอกว่าว่างๆ ว่างๆ ที่ว่าทื่อๆ นี่

ไอ้ทื่อๆ ไอ้พวกอย่างนี้มันเป็นไปได้เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึก แต่เวลาเป็นสมาธิ นี่เพราะเขาไม่เคยเป็นสมาธิจริงๆ เขาถึงเทียบไม่ได้ว่าอะไรเป็นสมาธิและไม่เป็นสมาธิ แล้วพอเป็นสมาธิแล้ว พอผลที่เกิดจากปัญญา ผลที่เกิดจากสมาธินี่มันเป็นอย่างไรก็ไม่เคยรู้เคยเห็นกัน แต่พอมัน..

นี่เห็นไหม ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ดูอิริยาบถแล้วมันรู้ไปหมดเลย.. นี่มันรู้อะไร ก็รู้อิริยาบถเรานี่ไง ก็รู้ความรู้สึกเรานี่ไง ก็รู้สามัญสำนึกไง ก็รู้จิตธรรมดานี่แหละ มันไปแก้กิเลสตรงไหน แต่มันสบายไง มันสบายเพราะอะไร เพราะมันหลอกตัวเองไง ว่าฉันได้ปฏิบัติแล้วนะ.. ฉันปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นะ.. ฉันรู้ตัวทั่วพร้อมหมดเลยนะ.. ฉันเป็นชาวพุทธนะ มันสบายใจว่า ฉันก็ได้เป็นชาวพุทธแล้วได้ปฏิบัติแล้วคนหนึ่งนะ.. ฉันเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ.. มันสบายแค่นี้ไง แค่นี้จริงๆ แต่ไม่ลึกไปกว่านี้.. แต่ถ้าลึกไปกว่านี้ มันจะเป็นความจริงไปกว่านี้

นี้พูดมาเพื่อเป็นคติ.. แล้วเขาจะบอกว่าสงบปากจัด นั่นก็เรื่องของเขาเนาะ เอวัง