ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วนอยู่ในโลก

๕ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

วนอยู่ในโลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มัน ๒๗๗. เนาะ ข้อ ๒๗๗. เวลาเขาถามปัญหามาไง ประเดี๋ยวปัญหามันจะแรงวันนี้ แต่มันเป็นข้อต่อไป

ถาม : ทำไมถึงตัวโยกขณะนั่งสมาธิ ทั้งๆ ที่จิตส่งออกตลอดเวลา เมื่อประมาณเกือบเดือน โยมไม่สบายใจก็เลยนั่งสมาธิ พอเริ่มนั่งสมาธิโดยใช้คำบริกรรมพุทโธ แต่จิตไม่ได้อยู่กับคำบริกรรม จิตส่งออกตลอดเวลา คิดถึงแต่เรื่องไม่สบายใจตลอดเวลา พอนั่งไปประมาณ ๓ นาที เกิดอาการแน่นๆ หนักบริเวณกลางอก เกิดอาการตัวโยก โยกซ้ายโยกขวา โยกหน้าโยกหลัง คอหมุนไปมา จิตส่งออกตลอดเวลาไม่ได้อยู่กับพุทโธเลย

เกิดอาการแบบนี้ประมาณ ๓ นาที อาการเหล่านี้ก็หยุด จิตเริ่มนิ่งขึ้น จิตส่งออกน้อยกว่าเดิม เป็นอย่างนี้ประมาณ ๓ นาที ก็เกิดอาการไม่อยากนั่ง ก็เลยออกจากสมาธิ หลังจากออกจากสมาธิ สังเกตจิตตัวเองรู้สึกว่าจิตนิ่งขึ้น มีสติมากขึ้น โยมมีคำถามอยากถามอาจารย์ดังนี้

๑. ทำไมเกิดอาการแน่นๆ หนักๆ บริเวณกลางอก เกิดอาการตัวโยก โยกซ้ายโยกขวา โยกหน้าโยกหลัง คอหมุนไปมา ทั้งๆ ที่จิตส่งออกนอกตลอดเวลาไม่ได้อยู่กับพุทโธเลย

หลวงพ่อ : นี่เวลาภาวนา เห็นไหม เวลาภาวนาจิตมันเป็นไปได้หลายอย่าง จิตนี้เป็นไปได้ทุกอย่าง ฉะนั้นเขาถึงเป็นห่วงใช่ไหม เขาถึงไม่ให้ทำความสงบหรือว่าทำพุทโธ หรือทำสมถะ เพราะเขาอ้างว่าถ้าทำสมถะแล้วจะเกิดนิมิต จะเกิดต่างๆ จะเกิดร้อยแปดพันเก้า เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายทุกๆ อย่างเลย

นี่กระแสสังคมเป็นอย่างนี้ ! กระแสสังคมบอกว่าถ้าเป็นพุทโธ หรือทำความสงบของใจ หรือทำสมาธินี่ผิด ! ต้องใช้ปัญญา.. ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญไปเลยมันถึงจะถูก นี้ถ้าปัญญาใคร่ครวญไปเลย มันก็เป็นปัญญาสามัญสำนึกใช่ไหม มันเป็นปัญญาโลกๆ ใช่ไหม เขาว่าถูก.. เขาว่าถูก.. เขาว่าถูกเพราะว่ามันเป็นการศึกษา แต่ถ้าการปฏิบัติมันต้องผ่านตรงนี้ ! ถ้าเป็นการปฏิบัตินะ การปฏิบัติที่เราจะพ้นจากกิเลส เราจะพ้นจากทุกข์ เราจะเข้าสู่สัจจะความจริง

แต่ถ้าเราจะไม่เข้าสู่สัจจะความจริง.. เขาบอกว่า เห็นว่าหลวงพ่อบอกว่านู้นก็ผิด นี่ก็ผิด ทำไม.. เราอ้าง วันนี้เราอ้างนะ เขาบอกหลวงตาไม่เห็นพูดถึงเลย หลวงตาไม่เคยพูดว่าอะไรผิดเลย หลวงตาไม่เคยบอกว่าผิดเลย ทำไมหลวงพ่อบอกผิดๆๆๆ อยู่คนเดียวเนี่ย

เราบอกว่ามันเป็นมารยาทสังคม หลวงตาเป็นพระผู้ใหญ่ เรายังเป็นพระเด็กๆ เรายังเป็น... แบบว่าเป็นผู้ที่พูดอะไรเพื่อประโยชน์สังคมได้เราก็ยังพูดไปอยู่ ต่อไปถ้ามันโตขึ้นมา มารยาทมันก็ต้องตามมาทีหลัง เราจะบอกว่าหลวงตาท่านก็พูดอยู่ แต่ท่านพูดด้วยมารยาทสังคม พูดด้วยเป็นผู้ใหญ่ ท่านบอกว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธี.. ปฏิบัติพอเป็นพิธีมันไม่มีผลหรอก !”

หลวงตาท่านพูดคำนี้บ่อยว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธี ! คือพิธีเฉยๆ ทำเป็นพิธีกันเฉยๆ” ท่านพูดแค่นี้ ท่านไม่พูดลงลึกไปกว่านี้ ท่านบอกว่าปฏิบัติพอเป็นพิธี.. นั่นล่ะปฏิบัติพอเป็นพิธีคือมันไม่มีผลไง แต่ถ้ามันมีผลมันต้องเป็นอย่างนี้ ! ถ้ามันมีผลใช่ไหม นี้พอมานั่งสมาธิไปมันจะตัวโยก ตัวคลอน ตัวต่างๆ มันเป็นเวรกรรม นี่ไงเวรกรรมถึงเป็นความเสมอภาค !

เวรกรรมเป็นความเสมอภาค.. ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครสร้างเวรกรรมอย่างใดมา มันจะได้ผลเวรกรรมอย่างนั้น ถ้าบางคนนั่งสมาธินะ มีอาจารย์บางองค์นั่งสมาธินี่เลื้อยเป็นงูเลยนะ โยกไปโยกมาแต่จิตสงบได้ ! จิตนี้สงบได้นะ จิตนี้สงบได้ อาการส่วนอาการ จิตนี้สงบได้แต่น้อยคนที่จะเป็น น้อยคนมาก เพราะคนที่พูดอย่างนี้คือหลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้นบอกมีพระองค์หนึ่งนั่งนี่คลอนไปคลอนมา ท่านบอกนั่นล่ะจิตสงบนะ นั่นจิตสงบนะ.. นั่นล่ะมันเป็นอาการข้างนอกแต่จิตมันสงบได้ แต่มันก็เป็นเฉพาะคนไง

ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าเวลาตัวโยกซ้ายโยกขวา แล้วจิตส่งออกตลอดเวลา คำว่าจิตส่งออกตลอดเวลานี่เราคิดออก.. เราคิดออก.. แต่พอมันคิดออกแล้วมันมีสติขึ้นมา ถ้ามันเป็นผล.. เป็นผลคือว่า จิตแน่นๆ จิตหนักๆ

จิตแน่นๆ จิตหนักๆ นั่นคือผล ! แต่ขณะที่จิตส่งออกไปคือจิตส่งออก.. ส่งออกก็คือส่งออก ส่งออกแต่ว่าจิตมันส่งออกด้วยอาการ แต่ถ้ามันมีสติตามหลังมา สติมันตามความรับรู้นั้นมามันก็เป็นได้.. มันเป็นได้ มันอยู่ที่ผลไง เวลาทำงานมันอยู่ที่ผลความสำเร็จของงานนั้น ถึงว่างานนั้นสำเร็จ แต่ถ้าทำงานแล้วไม่มีผลงานเลย มันก็แค่สักแต่ว่าทำ.. นี่ปฏิบัติกันไป ก็ปฏิบัติกันไปแล้วไม่มีผล แต่พอมีผลขึ้นมาก็งง เห็นไหม ว่าทำไมมันตัวโยกตัวคลอน แล้วทำไมมันจิตหนักๆ

จิตหนักๆ นี้มันก็เป็น.. ถ้าจิตหนักๆ จิตหนักๆ นะ แต่ถ้าจิตกดทับ นี่เราภาวนาไม่เป็น เราภาวนาไม่ดีแล้วจิตมันหนักอึ้งไป หนักอึ้งนี่ ทุกอย่างเหรียญมีสองด้านหมด มันมีผิดมีถูกในตัวของมันเอง คำว่าผิดว่าถูกนะ เพราะหลวงตาใช้คำนี้ใช้คำว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

เราทำสิ่งใดเริ่มต้นถูกต้อง แล้วเรายึดมั่นความถูกต้องอันนั้น.. จบ ! คือเราพัฒนาขึ้นไปไม่ได้.. ถ้าเราทำความถูกต้อง เราจะพัฒนาต่อไป ความถูกต้องนั้นถ้ามันเป็นความละเอียดขึ้นไป ความถูกต้องนั้นผิดแล้ว.. ความถูกต้องนั้นผิด ! เพราะความถูกต้องนั้นมันเป็นเรื่องหยาบๆ ใช่ไหม ถ้าละเอียดมันต้องวาง วางความถูกต้องนั้น แล้วพัฒนาจิตนั้นให้มันสูงขึ้นไป

“นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง”

เราทำงานพื้นฐานได้ เราทำงานโดยอาบเหงื่อต่างน้ำได้ แต่พอเราจะไปบริหารเราทำไม่ได้ เพราะใจเราไม่พัฒนาขึ้นไป ทีนี้ความถูกต้อง.. ความถูกต้องอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ความถูกต้องมันละเอียดไปกว่านั้น

ฉะนั้น.. มันออกแรงเพราะว่าคำถามต่อไปมันแรง ฉะนั้นบอกว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น บอกว่าจิตส่งออก เขาสงสัยไงว่าจิตส่งออกหมด บริกรรมพุทโธแต่ไม่ได้พุทโธเลย ขณะที่ตัวโยกตัวคลอนไปหมด

ตัวโยกตัวคลอนต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องจริตนิสัย เรื่องของคนนะ เรื่องของคนจะให้เหมือนกันไม่มีหรอก ฉะนั้นถ้ามันจะโยกมันจะคลอนอย่างไรมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราจะแก้ใช่ไหมเราก็ฝืน บางคนนั่งนี่เอียงซ้ายเอียงขวา เอียงไปเรื่อยๆ พอถึงเวลารู้สึกตัวก็พยายามดึงกลับมา แล้วก็เอียงอีก แล้วก็ดึงกลับมา.. เราอยู่กับตัวเรา เพราะการนั่งสมาธิ.. นี่ฟังนะ !

การนั่งสมาธิ การปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อใจ ไม่ปฏิบัติเพื่อนั่งสวยงาม การนั่งสวยงาม นั่งสวยงามนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจิตสงบ นั่งไม่สวยงามจิตสงบ.. เอา ! นั่งสวยงามแต่จิตไม่ลง.. ไม่เอา ! ไม่เอา.. แต่นี้เราเอามาตรฐานตรงนี้ว่าตรงนี้ต้องเป็นอย่างนั้น ให้วัดกันที่ใจ

ทีนี้วัดกันที่ใจ คำว่าจิตหนักๆ นี่นะ.. เขาบอกว่าคนภาวนานี่มันจะเสียสติ มันจะเป็นใบ้บ้าต่างๆ เมื่อก่อนเราค้านมากเลยเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อว่าคนทำดีจะได้ชั่ว คนทำดีต้องได้ดี นี้เพียงแต่ว่าพอปฏิบัติไปๆ แล้วมีคนติดมีปัญหามาถาม บางคนปฏิบัติไปแล้วมันหลุดไง เราจะดูว่าหลุดเพราะอะไร มันหลุดเพราะว่าจิตมันไม่ปกติมาตั้งแต่ต้น ถ้าจิตของเราไม่ปกติ แล้วเรามาปฏิบัตินี่นะมันจะมีปัญหา ฉะนั้นจิตเราต้องปกติก่อน แล้วพอปฏิบัติแล้วมันจะดีขึ้น

ฉะนั้นมันต้องย้อนกลับไปดูว่าถ้าจิตหนักๆ นี่จิตหนักๆ ถ้ามันเป็นมาตั้งแต่ต้น มันเป็นเพราะคุณภาพของจิต แต่ถ้ามันหนักๆ เพราะการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วได้ผล เราจะบอกว่าหนักๆ สมาธินี่นะมันรู้ของมัน ตอนที่เป็นสมาธินี่ทุกคนไม่รู้ว่าเป็นสมาธิเป็นอย่างไร ก็ว่าว่างๆ ว่างๆ นี่มันลอยลมไง.. คำว่าหนักๆ คือมันมีหลักเกณฑ์ แต่คำว่าลอยลมนะ ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีอะไรเลยอย่างนี้ มันว่างๆ ไปทำไม

ว่างๆ อวกาศมันก็ว่าง ลมมันก็ว่าง ในสุญญากาศมันก็ว่าง แล้วใครได้อะไร แต่ถ้ามันมีสมาธินี่มันรู้ตัวของมัน มันมีหลักเกณฑ์ของมัน.. ถ้าหนักๆ อย่างนี้ มีหลักเกณฑ์นี่ถูก ! ทีนี้เพียงแต่ว่ามันเริ่มภาวนามามากน้อยแค่ไหน ถ้ามันภาวนาขึ้นมา พอมากน้อยแค่ไหนนี่มันแก้ไขตัวเองได้ อย่างเช่นเด็กจะแก้ไขตัวเองไม่ได้เลย ผิดถูกเด็กจะไม่เข้าใจตัวเองเลย แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาจะเข้าใจตัวเองว่าตัวเองผิดถูกแล้ว มันมีความอายแล้ว นี้พอเป็นผู้ใหญ่จะรู้เลย มองปั๊บนี่ผิดถูกเป็นอย่างไร ภาวนาไปนี่ถ้าจิตมันหนักอย่างไร มันมีหลักเกณฑ์อย่างไร มันจะรู้ของมัน มันจะพัฒนาของมันได้

อันนี้พูดถึงว่าทำไมมันเป็น.. ทำไมมันเป็นคือว่าคุณสมบัติมันเป็น แต่เพราะเราไม่เข้าใจ เราเลยงงไงว่าพุทโธเฉยๆ พุทโธไม่ได้อะไรเลย แล้วจิตทำไมมันนิ่งล่ะ ทำไมมันนิ่ง.. เวลามันนิ่งนะมันนิ่งด้วยคุณภาพของจิต แต่เราไม่รู้ แต่เวลาเราอยากได้ ว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะเราอยากได้ แต่ความจริงมันไม่นิ่ง ไม่มีเลย แต่ตัวเองไปบอกว่ามี แต่เวลามีขึ้นมา เห็นไหม เราจะบอกว่ามันเหนือการคาดหมาย.. เหนือความคาดหมาย เหนือทุกอย่าง ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง

ถาม : ๒. ทั้งๆ ที่จิตส่งออกตลอดเวลา ไม่ได้พุทโธเลย แต่ทำไมจิตจึงเริ่มนิ่งได้

หลวงพ่อ : พุทโธก็ส่วนพุทโธนะ แต่ถ้าจิต.. นี่เราพุทโธอยู่แล้ว เริ่มต้นบอกว่านั่งภาวนาพุทโธ นี่เห็นไหม เริ่มต้นบอกว่าทำงานอยู่ พอเริ่มนั่งก็ใช้คำบริกรรมพุทโธ พุทโธไป พอพุทโธแล้วจิตมันส่งออก.. คือว่ามันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่ง พวกเราพุทโธ พุทโธกันแล้วมันแว็บไง มันแว็บคิดนู้นคิดนี่ เห็นไหม พุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วออก ไอ้นี่พุทโธ พุทโธเสร็จแล้วมันแว็บนี่จิตส่งออก มันแว็บมันคิดของมันไป

แต่นี้มันก็เหมือนที่ว่า บางคนต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา.. บางคนมีศีลดีมาก แต่ทำสมาธิไม่ได้ บางคนถูลู่ถูกัง แต่สติเขาดีสมาธิเขาดี แต่มันเป็นมิจฉานะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคุณภาพของจิต เราบอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีลดี เรามีการควบคุมที่ดี ถ้าจิตมันลงสมาธิแล้วนี่พื้นฐานที่ดี เห็นไหม มันปาณาติปาตา เราจะไม่รังแกกัน เราจะไม่เบียดเบียนใคร จิตดีแล้วนี่ผู้วิเศษ... จิตเป็นสมาธิเป็นผู้วิเศษไม่ใช่คุณธรรม ผู้วิเศษคือว่าจิตมันเหนือเขา ถ้าทำคุณไสยฯ ทำต่างๆ มันเพ่งจิตอะไรต่างๆ มันทำของมันได้ แต่ถ้ามีสมาธิเราจะไม่ทำลายใคร

นี่สัมมาสมาธิ เพราะมันมีศีลเป็นตัวตั้ง.. แต่ถ้าไม่มีศีล คือว่าคนเรามันอยากทำตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่มันทำสมาธิก็ได้ นี้คุณภาพของจิต เห็นไหม พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธเป็นคำบริกรรม พุทโธเป็นคำบริกรรมเพื่อให้จิตสงบ แต่ถ้ามันพุทโธแล้วพอจิตมันสงบได้ มันคือคุณภาพของจิต ไอ้พวกนี้มันหลากหลาย มันไม่มีบรรทัดฐานแน่นอนตายตัว มันอยู่ที่คุณภาพของจิต คุณภาพของจิตนะ ดูสิคุณภาพของจิตหมายถึงคนที่คิดแต่ดีๆ นี่คุณภาพของมัน

อันนี้พูดถึงว่า “ทำไมตัวถึงโยกขณะนั่งสมาธิ ทั้งๆ ที่จิตส่งออกตลอดเวลา” อันนี้มันเป็นตามจริตนิสัย เราไม่มีความสามารถที่จะไปบังคับได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นไอ้นี่มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมของคน เรื่องเวรเรื่องกรรมของจิตแต่ละดวง มันเอามาเทียบเคียงกันไม่ได้

ถาม : ๒๘๑. กราบนมัสการถามเรื่อง “สติปัฏฐานแบบพองหนอยุบหนอครับ”

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นคำถามที่เขาถามมาเนาะ เราเองเราก็ไม่อยากยุ่ง แต่คำถามนี้เพราะเราเป็นคนพูดเอง แล้วดูคำถามเนาะ

ถาม : ไม่ทราบว่าพระอาจารย์สงบเคยได้สนทนาธรรมกับท่าน.... (อาจารย์ของเขา) หรือยังครับ เนื่องจากผมเป็นคนเชียงใหม่ ปฏิบัติธรรมสายยุบหนอ พองหนอมา ผมไม่สบายใจที่พระอาจารย์สงบกล่าวถึงการปฏิบัติยุบหนอ พองหนอว่าผิด ! ในเมื่อพระอาจารย์สายยุบหนอ พองหนอยังมีชีวิตอยู่ กระผมจึงกราบนมัสการถามพระอาจารย์สงบว่าเคยสนทนาธรรมกับ... (พระอาจารย์ของเขา) ที่มีแนวทางปฏิบัติสายยุบหนอ พองหนอบ้างหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ไม่พูด ! ...เราไม่พูด เพราะว่าสายใครก็สายใคร มันเป็นแนวทาง ถ้าแนวทางส่วนแนวทาง ส่วนตัวบุคคลไม่พูดถึง ตัวบุคคลไม่พูดถึง..

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “พระอาจารย์สงบกล่าวถึงการปฏิบัติแบบยุบหนอ พองหนอผิด ผมไม่สบายใจนี่นะ..” ให้สบายใจได้ ให้เห็นว่าการกล่าวของพระสงบนี้เป็นเสียงนกเสียงกา ไม่ต้องไปใส่ใจ เพราะเราปฏิบัติยุบหนอ พองหนอ ก็ปฏิบัติยุบหนอ พองหนอไป จะให้เราไปกล่าวต่างๆ นี่เราไม่กล่าว เราไม่ไปพูดกับใคร

เพราะว่าศาสนาพุทธนี้มีมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปี ตามแนวทางตามความเชื่อ พุทธศาสนาเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ เป็นศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจะได้เข้าสู่ความจริง แต่ความเชื่อมา แม้แต่มหายานเขาก็แบ่งไปเป็นนิกายมหาศาล เวลาแตกมาเป็นนิกายแล้วถึง ๑๘ นิกาย แตกกันออกไป แตกออกไปเพราะเป็นความคิด ความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล อาจริยวาท เชื่อตามครูบาอาจารย์กันมา เขาก็เชื่อตามๆ กันไป

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ในการปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์ของเรา.. นี่เราเชื่อของเรา แต่ความเชื่อเป็นกาลามสูตร ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ทุกอย่างแก้ไม่ได้ ความเชื่อของเรา เราเชื่อเพราะมีศรัทธา เราศรัทธาสายครูบาอาจารย์ของเรา คือหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์มา แล้วเราปฏิบัติของเรามา เราปฏิบัติของเราด้วยการกำหนดคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธมา

นี้สายพุทโธ.. เขาเรียกว่าสายพุทโธ แต่ไม่ใช่.. เพราะคนภาวนาพุทโธขนาดไหนมันพุทโธอย่างเดียวไม่ได้ พอพุทโธแล้วนี่ คำว่าพุทโธอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีอุบายไง ถ้าพุทโธ พุทโธอยู่เนี่ย กิเลสมันหัวเราะเลย กิเลสมันเข้ามาเอาพุทโธนี้เป็นเครื่องมือกลับมาทำลายเราเลย.. เราพุทโธ พุทโธนะ บางทีเราใช้ปัญญา มันต้องมีอุบาย กินอาหารมันมีหลากหลายทั้งนั้น

ฉะนั้นถ้าบอกว่าไม่สบายใจ นี่ให้สบายใจได้เลย พระสงบพูดก็เสียงนกเสียงกาเท่านั้นล่ะ มันไม่มีค่าอะไรหรอก ! มันจะมีค่าสิ่งใด.. แต่เราปฏิบัติไป ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ก็เป็นความจริงไป ความสบายใจหรือไม่สบายใจ ในสายคือว่าทฤษฎี หรือแนวทางปฏิบัติในสาย มันมีเป็นหมู่เป็นคณะ

อย่างเช่น ! อย่างเช่นพุทโธ พุทโธของเรานี้ หลวงตาท่านบอกว่า “ครอบครัวกรรมฐาน” ครอบครัวกรรมฐาน ครอบครัวสายหลวงปู่มั่นนี่เขาพูดธัมมสากัจฉา จะถึงกัน จะกล่าวจะสนทนาธรรมกัน จะรู้ว่าใครอยู่ตรงไหน.. ในครอบครัวเรา พ่อแม่เลี้ยงลูกมานี่จะรู้ว่าลูกของเรามีวุฒิภาวะแค่ไหน ลูกของเราคนนี้ฉลาด ลูกของเราคนนี้ปานกลาง ลูกของเราคนนี้จะมี… ในครอบครัวกรรมฐานนี่เขารู้กัน

ในครอบครัว เห็นไหม นี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว ฉะนั้นสายหนึ่งก็ครอบครัวใหญ่ๆ ครอบครัวใหญ่ก็ยิ่งมาก แล้วตัวบุคคลจะไปพูดกับใคร.. ไม่ต้องพูด ! นี้ความเชื่อเป็นความเชื่อ ฉะนั้นเราว่าเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะว่าสติปัฏฐาน เห็นไหม เวลาในสังคมเขาบอกว่า “ถ้ากำหนดพุทโธ สมถะ.. นี่มันเป็นสมถะ มันไม่เป็นปัญญา ต้องสติปัฏฐาน”

สติปัฏฐาน ! ฐานที่ตั้งแห่งการงานนั้นมี.. ที่เขาบอก เราพูดว่าผิด คำว่าผิดนี่เราพูดเพราะมีเหตุผล มีเหตุผลเพราะอะไร เพราะเวลาผู้ที่ปฏิบัตินี่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล แล้วจะมาคุยกับเรา เราบอกให้กลับมาทำความสงบก่อน เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราบอกต้องทำความสงบขึ้นมาก่อน ถ้าจิตใจเราไม่สงบ ความคิดของเรามันก็เป็นสามัญสำนึก ความคิดนี้เป็นโลกียปัญญาเป็นปัญญาของโลก

ฉะนั้นเวลาผู้ที่ปฏิบัติสายนั้นมา มาหาเราแล้วเราไปพูด ทีนี้พอเขามาหาเราแล้วด้วยการยืนยัน.. ด้วยการยืนยันเพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนเรานี้มันจะเปลี่ยนวิธีการเปลี่ยนต่างๆ ต้องการความมั่นใจ เพราะเราต้องการความมั่นใจ เราต้องการให้คนๆ นั้นมีความมั่นใจเราถึงบอกว่าผิด !

ความที่ทำมานั้นผิด ผิดเพื่อให้เขาวาง เพราะคำว่าผิด นี่ไงที่ว่า ทำไมพระสงบบอกว่ายุบหนอ พองหนอผิดๆๆ ผิดเพราะว่า เราพูดถึงว่าเวลาคนที่เขามาหานะ เขาทำสติปัฏฐาน เขาบอกทำอย่างนี้มานาน แล้วเขาบอกว่ามีแค่นั้นไง ว่างๆ ว่างๆ.. แล้วเราก็บอกให้เขาพยายามกำหนดพุทโธ เขาสะดุ้งเฮือกเลย

“อู้ฮู ! อู้ฮู ! อู้ฮู ! มันเป็นสมถะน่ะ.. มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี.. มันเป็นสิ่งที่ติด มันจะปฏิบัติไปไม่ได้ มันจะติดข้องไปหมดน่ะ” นี่เขาไม่กล้าทำ เขาไม่กล้าทำ พอเราบอกว่าลองหน่อย.. ลองหน่อย ลองให้พุทโธไป พอพุทโธ พุทโธไป พอจิตเขาสงบนี่เขาจะรู้เลย.. เพราะสิ่งที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ นี้เขาบอกว่า “การใช้ปัญญานี้เป็นสติปัฏฐาน ๔” นี้สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดบนอะไร ฐานที่ตั้งบนอะไร

รถ ! รถยนต์นี่นะ รถยนต์ รถบรรทุก รถบรรทุกยังแบ่งออกไปเป็นรถบรรทุกสินค้า รถบรรทุกสารพิษ รถบรรทุกเล็ก รถบรรทุกใหญ่ แล้วมันก็ยังจะมีรถส่วนตัว เห็นไหม รถมันก็มีตั้งหลายชนิดใช่ไหม

นี้คำว่าสติปัฏฐาน ๔ มันสติปัฏฐาน ๔ บนอะไร.. ผิดถูกนี่เราพูดตรงนี้ ! แล้วสติปัฏฐาน ๔ อย่างเช่นรถบรรทุก เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯ เขาไม่ให้เข้านะ เข้าไม่ได้หรอก ถ้าเราจะไปกรุงเทพฯ เรานั่งแท็กซี่ก็ได้ โบกแท็กซี่นะจะไปไหนก็ได้ แท็กซี่มันพาไปส่งถึงที่หมดล่ะ.. ทีนี้คำว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ นี่มันรถอะไร แล้วมันจะไปไหน แล้วใครเป็นคนจัดการ

สติปัฏฐาน ๔.. นี่ไงที่เราพูดนี้คือเราจะให้เห็นว่า ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เขาพูดกัน มันเป็นคำพูดไง มันเป็นคำพูดเหมือนรถมันก็มีหลากหลาย แล้วสติปัฏฐาน ๔ มันสติปัฏฐาน ๔ ตรงไหน เราถึงพูดไว้ในเว็บไซด์มีมาก ว่าสติปัฏฐาน ๔ ทั้งหมดนี้ปลอมหมด ! ผิดหมด ! สติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันจะถูก เห็นไหม ถ้ามันจะถูกจิตมันต้องสงบเข้ามา แล้วจิตออกเห็น รถ.. รถชนิดใด รถอะไร รถเพื่ออะไร

ฉะนั้นในการปฏิบัตินะเราจะบอกว่าอย่างนี้ เวลาพูดกันนี่นะโดยสังคมมันเข้าใจกันได้ง่าย แต่โดยข้อเท็จจริงมันเข้าได้ยาก อย่างเช่นบอกว่ากินข้าว เราพูดเปรียบเทียบให้เห็นนะ คำว่ากินข้าว ทุกคนก็เปิดหม้อตักข้าว ข้าวสุก ทุกคนก็ต้องกินข้าวสุก แล้วบอกใครว่ากินข้าวนะ ไปกินข้าวที่ไหนก็ได้ จะข้าวอะไรก็ได้ มันมีข้าวอยู่แล้วในท้องตลาด ข้าวไหนก็ได้.. แล้วเขาพูดว่า นี่กินข้าวคือข้าวอย่างนั้นแต่เขาปฏิเสธข้าวสาร

ข้าวสุกมันจะมาไม่ได้เลยถ้ามันไม่มีข้าวสาร ข้าวสารคือข้าวดิบที่กินไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีข้าวสาร.. ข้าวสุกในท้องตลาดไม่มี ไม่มี ! ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีความสงบของใจ.. ถ้าความสงบของใจมันต้องมีความสงบอันนั้น มันถึงจะเกิดปัญญา.. นี้บอกว่าเกิดปัญญา ปัญญาคือข้าวสุก เขาบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ นี่ใช้ปัญญาคือข้าวสุกหมดเลย เห็นไหม จะข้าวมันไก่ จะข้าวกล้องข้าวโพด จะข้าวอะไรก็คืออาหารทั้งนั้นแหละ แต่มันต้องมีที่มา.. มันต้องมีที่มา

ฉะนั้นที่เราบอกว่าผิด เราว่าผิดตรงนี้.. ผิดตรงที่ว่าใช้ปัญญาๆ กันนี่ ปัญญาว่างนี่สติปัฏฐาน ๔ ไอ้พวกที่ยุบหนอ พองหนอ นามรูปต่างๆ มาหาเราเยอะแยะเลย นี่ได้อารมณ์ ๑๘ อารมณ์ ๒๐ อารมณ์ ๓๐ อารมณ์ ๕๐๐ นั่นน่ะ แล้วให้ทำอย่างไรต่อไป เราบอก “พิจารณากาย.. ต้องกลับมาพิจารณากาย”

“โอ๋ย.. พิจารณากายมันตั้งแต่อารมณ์ที่ ๗ ที่ ๘ นี่มันผ่านมาหมดแล้ว.. แล้วผ่านมาแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป”

“ต้องกลับไปทบทวน.. ต้องกลับไปทบทวน”

“ก็ผ่านไปแล้วกลับไปทบทวนอย่างไร”

การสอนมันก็เหมือนกับกินข้าวสุก.. ข้าวสุกนี้เก็บไว้ไม่ได้นะ หุงสุกแล้วไม่กินเน่าหมดนะ ข้าวสารนี่เก็บได้ ข้าวสารนี่เก็บได้.. ถ้าเราย้อนกลับมาที่จิต ถ้ามันไม่มีจิต มันไม่มีข้าวสาร มันจะเป็นข้าวสุกมาไม่ได้ ! มันต้องมีข้าวสารถึงจะมีข้าวสุก

จิต ! จิตถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้ เกิดบนจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตไม่เป็นสัมมาสมาธิ.. อย่างมากอย่างสูงที่เขาใช้ปัญญาที่ว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ อย่างมากนะ เราไม่ให้ค่าด้วย อย่างมาก ! อย่างมากที่ทำกันนี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ.. ผลของมันคือสงบ ผลของมันคือว่างๆ นั่นแหละ

แต่ ! แต่มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะว่าเข้าใจว่ามันเป็นมรรคผล มันเลยไม่ยอมรับความเป็นสมาธิ.. แต่ถ้ายอมรับสมาธิว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ใคร่ครวญอยู่นั่นล่ะ ที่ว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ นั่นล่ะ เวลาหลวงตาท่านสอนปัญญาอบรมสมาธิก็นี่แหละ

ปัญญาอบรมสมาธิ ก็คือปัญญาที่ใคร่ครวญในธรรม ปัญญาใคร่ครวญในสิ่งต่างๆ ปัญญาใคร่ครวญต่างๆ พอใคร่ครวญแล้วมันจะหดเข้ามา แต่เพราะมีสติ เรารู้อยู่ว่าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สติกับจิตมันแนบมาด้วยกัน พอมันสงบเข้ามามันก็สงบสู่จิต พอจิตมันตั้งมั่น จิตมันก็เป็นสัมมาสมาธิ พอเป็นสัมมาสมาธิก็ อู้ฮู ! จิตตั้งมั่น จิตมันมั่นคง

แต่ถ้าเป็นมิจฉา ! มิจฉาก็เข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นมรรคผล เป็นการปล่อยวาง เป็นมรรคเป็นผลใช่ไหม.. เป็นมรรคผลมันปล่อยวางหมด มันไม่มีฐานเลย มันไร้จุดหมายปลายทาง พอไร้จุดหมายปลายทางนะ การภาวนาอย่างนี้ทุกคนจะบอกว่า “ว่างๆ มีความสุขมาก.. นี่พิสูจน์ได้ เมื่อก่อนทุกข์มากเลย โอ๋ย.. เดี๋ยวนี้มีความสุข อู้ฮู..”

แล้วไปไหนต่อ ไปไหนต่อ.. ก็อยู่ในโลกนี่แหละ ! มันอยู่ในโลกนี้มันไม่ไปไหนหรอก ! มันไม่ไปไหน.. แต่ถ้ามันมีสัมมาสมาธินะ แล้วจิตมันออกวิปัสสนานะ เวลามันพิจารณาเข้าไปมันจะปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา นี่ที่ว่ามรรคหยาบ-มรรคละเอียดไง

ฉะนั้นมันมี ! มันมีของมันอยู่นะ.. ที่ว่าผิด คำว่าผิดของเรานี้ เราว่าผิด เรายืนยันกับผู้ที่เขาจะเปลี่ยนแนวทางที่จะมาพุทโธ แล้วพอเปลี่ยนมาพุทโธแล้วนะ ถ้าจิตสงบได้นะ.. น้ำหูน้ำตาร่วงเลยล่ะ เขาจะซึ้งถึงผลกระทบของเขา.. เวลามาหาเรา เวลาคุยกันมันมีตรงนั้น มีตรงที่ว่าพอเวลาเขาทำประสบความจริงขึ้นมา เพราะความจริงมันจะไปลบล้างความจอมปลอมในใจของตัวเอง แต่เดิมเรามีความเข้าใจ มีความเห็นของเรา มั่นใจของเราอยู่อย่างนั้น แต่ใครพูดมันก็เป็นคำพูดจากข้างนอก

นี่ไงปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน แต่พอเขากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วเขาตั้งใจทำด้วยความเป็นจริง แล้วเราเป็นคนยืนยันกับเขา เขาทำถึงที่สุดของเขา พอจิตมันเข้าไปสัมผัสความสงบนะ เขาน้ำตาไหลเลยนะ น้ำตาไหล.. แต่เดิมนะบอกให้พุทโธสิ เขาผงะเลยนะ “อู้ฮู.. สมถะ !” เพราะอะไรรู้ไหม เพราะด้วยความเชื่อ ความเชื่อมั่นของเขา ว่าสติปัฏฐาน ๔ โดยความรู้สึกของเขาอันนั้นเท่านั้นที่จะเป็นการชำระกิเลส

ทั้งๆ ที่ชื่อเป็นสติปัฏฐาน ๔ แบบพระไตรปิฎกนั่นแหละ แต่พฤติกรรม เนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริง มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ที่เราว่าผิด.. ตรงนี้ ! ตรงนี้ ! ตรงนี้ ! การกระทำนั้นมันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ โดยเนื้อหาสาระ มันเป็นความเข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ด้วยชื่อ ด้วยการศึกษา ด้วยโลกียปัญญา ด้วยความเห็นของเราของมนุษย์ ความรู้สึกของเรา มีความรู้สึกหรือประพฤติปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วลอกเลียนแบบมาได้เท่านี้ พอได้เท่านี้ จิตของมันจึงไม่ลงสู่ข้อเท็จจริงโดยความเป็นจริง แต่ถ้าจิตของมันจะลงสู่ข้อเท็จจริงตามความเป็นจริง เราถึงมาทำความสงบของใจกันอยู่นี้ไง

ที่เรามาทำความสงบของใจกันอยู่นี้ เพราะเรามีครูมีอาจารย์ ครอบครัวกรรมฐาน ครอบครัวที่หลวงปู่มั่นท่านสั่งท่านสอน ท่านบอกกล่าวกันมา แล้วครอบครัวของเรา ในครอบครัวนี้มันมีความเชื่อมั่นเชื่อใจกัน เขาเรียกว่าลงใจ ถ้าจิตใจมันลงใจกัน เราจะทำของเราด้วยน้ำพักน้ำแรง ทำของเราด้วยความมั่นคง แต่คนเขาประพฤติปฏิบัติกันโดยความสักแต่ว่า

โดยความสักแต่ว่าเพราะทำความเป็นจริงขึ้นไปแล้วมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค การกระทำอะไรที่มันเป็นความจริงจังนั้นมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือความลำบากเปล่า คือไม่เป็นความเป็นจริง ด้วยความเห็นของเขา เขาตีค่าว่าความทุกข์ความยากนั้นเป็นกิเลส แต่ในครูบาอาจารย์ของเรา ความทุกข์ความยากคือการต่อสู้ การคัดง้างกับความเคยใจของเรา

ถ้าจิตใจมันเคยใจ มันเคยคิดของมันโดยความเป็นจริงของมัน โดยส่วนตัวของมัน โดยความข้องตัวของมันอยู่ แล้วโดยความข้องตัวของมัน เพราะมันเกิดมาจากอวิชชา เพราะเราเกิดมาจากอวิชชา จิตนี้โดนครอบงำโดยอวิชชา ความคิดสิ่งใดมันต้องปนเปื้อนอวิชชาไปเป็นเรื่องธรรมดา

ในเมื่อเราเอาวิชา เราเอาความรู้ของเรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม.. สิ่งนั้นเป็นธรรมก็เป็นธรรมเปื้อนไปด้วยอวิชชา เปื้อนไปด้วยความไม่รู้ความไม่จริง ถ้าเปื้อนด้วยความไม่รู้ไม่จริงมันก็เป็นความว่าง ว่างๆ ก็ว่างๆ อย่างนั้น แล้วว่างต่อไป เพราะมันขัดแย้งกันในข้อเท็จจริง

ในข้อเท็จจริงของเขา เขาบอกว่าให้ประพฤติปฏิบัติไป สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นเรื่องการชำระกิเลส แต่ ! แต่ปัจจุบันนี้กึ่งพุทธกาลพระอรหันต์ไม่มี พระอรหันต์ไม่มีทุกอย่างเลยทำไม่ได้ พูดถึงมรรคผล..ไม่ต้องมาพูดกัน ห้ามพูดห้ามซักกันเรื่องมรรคผล ให้ปฏิบัติกันไป แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาหลวงปู่มั่นท่านสั่งสอนลูกศิษย์ของท่าน “จิตเป็นอย่างไร” คนไหนก็แล้วแต่ “จิตเป็นอย่างไร.. จิตเข้ามาอยู่ภูมิไหน”

ภูมิของสมาธิ.. ภูมิของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล.. หลวงปู่มั่นท่านบอกกับพระไว้ทั้งหมดเลย

“หมู่คณะจำชื่อหลวงปู่ขาวไว้ เพราะหลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกับเราแล้ว”

หลวงปู่ขาว เห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะท่านถึงบอก พอท่านออกจากหลวงปู่มั่นมาท่านถึงไปหาหลวงปู่ขาว เพราะว่าคำพูดของหลวงปู่มั่นอย่างนี้หมายความว่า หลวงปู่มั่นท่านได้วัดภูมิธรรมของหลวงปู่ขาวแล้ว ว่าหลวงปู่ขาวนี่พ้นจากอวิชชา พ้นจากการครอบงำของอวิชชาในหัวใจ

นี่มรรคผลมันมี ! ในวงกรรมฐาน ในวงของครูบาอาจารย์ของเรามันมีมรรคมีผล มีการกระทำ แต่นี่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ แต่พูดถึงมรรคผลไม่ได้ ! มรรคผลไม่มี ! ถ้าพูดถึงมรรคผลนะ.. นี่คำพูดอย่างนี้มันขัดแย้งกันในตัวมันเองอยู่แล้ว ในตัวของมันเอง... นี่เราสั่งสอนประพฤติปฏิบัติกัน แต่ไม่มีมรรคไม่มีผล พวกโยมนี่ทำงานหมดเลยแล้วไม่เอาผลตอบแทน เงินเดือนไม่เอา.. ทุกอย่างไม่เอา.. มันเป็นไปได้อย่างใด

นี่ไม่ต้องมาพูดถึงการปฏิบัติหรอก ! พูดถึงความเชื่อ พูดถึงจุดหมาย พูดถึงโลกทัศน์ เขายังขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเอง ในตัวของมันเองคือการปฏิบัติแล้ว มรรคผลไม่ต้องพูดกัน ไม่มี แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราพูดมาจนสังคมเขาเชื่อถือศรัทธา บอกว่ามรรคผลมันมี พอมรรคผลมันมี การปฏิบัติมันเลยฟื้นฟูขึ้นมา คนปฏิบัติแล้วมันได้มรรคได้ผล ปฏิบัติแล้วมันมีคุณธรรม มันถึงมีความเชื่อถือ มีความเชื่อมั่น พอมีความเชื่อถือ มีความเชื่อมั่นก็มาประพฤติปฏิบัติกัน

นี้พอปฏิบัติกัน.. พอพูดออกไปแล้ว เวลาปฏิบัติไปนี่มันก็ย้อนกลับมาอันแรกนั่นล่ะ ตัวโยกตัวคลอน มันเป็นนิมิต ไอ้เรื่องอย่างนี้ถ้าเป็นวงกรรมฐาน เป็นครูบาอาจารย์ของเรานี้มันเป็นเรื่องพื้นฐาน ! เหมือนกับเวลาคนป่วยไปโรงพยาบาล เขาเรียกว่าอะไรนะ หมอประจำบ้าน.. เวลาคนป่วยเข้าไปโรงพยาบาลนะ หมอประจำบ้านเป็นประตูแรกที่รับ รับมาตรวจไข้ ตรวจว่าเป็นโรคสิ่งใด

นี่มันพื้นฐาน ! มันหมอประจำบ้าน ! มันพื้นฐานว่าจิตของคน จิตของแต่ละบุคคล จิตของผู้ที่ปฏิบัติมันแตกต่างหลากหลาย มันมีสิ่งใดฝังมาในจิต มันเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไร แล้วก็ต้องแยกออกไปใช่ไหม พอเข้ามาแล้วเป็นโรคอะไร ก็แยกไปตามสายเฉพาะทาง พอเฉพาะทางขึ้นไปมันก็เป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป

โดยพื้นฐานของจิตมันก็เป็นเหมือนมนุษย์นี่แหละ แต่มนุษย์เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็เข้าโรงพยาบาลไปแล้ว หมอประจำบ้านก็แรกรับ พอแรกรับเสร็จแล้วก็มาวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร แล้วก็แยกสายกันไปตามนั้น

นี้ในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นของจิตมันจะเป็นหมอประจำบ้าน เริ่มทำใจให้สงบเข้ามา ถ้าใจของใครสงบเข้ามา พอมันเป็นพื้นฐานเข้ามาแล้ว มันก็จะแยกไปตามจริตนิสัย แม้แต่พิจารณากายเหมือนกัน คนนี่เป็นไข้เหมือนกัน แต่ไข้คนละชนิด ไข้ไม่เหมือนกัน คนพิจารณากายเหมือนกัน.. แต่พิจารณากายไม่เคยเหมือนกัน.. ไม่มี !

นี่หลวงตาบอกว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธี” ทุกคนเข้ามาแล้วนะหมอประจำบ้านรักษาได้ทุกโรค ! อะไรก็หาย ตรงนี้หมอประจำบ้าน ผ่าตัดสมอง หมอประจำบ้านก็ผ่าตัดสมองได้ ผ่าตัดทุกอย่างได้หมดเลย ! เป็นไปได้ไหม.. นี่ปฏิบัติพอเป็นพิธี

หลวงตาท่านพูดประจำว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธี” แต่ด้วยมารยาทของพระผู้ใหญ่ท่านไม่พูดออกมาหรอก ท่านไม่พูดออกมาว่ามันผิด แต่คำที่เราพูดว่าผิด เพราะวันนี้คำถามมันมาว่าทำไมพระสงบ.. ผมไม่สบายใจเลยนะ พระสงบพูดนี่ผมไม่สบายใจเลย

สบายใจเถอะ สบายใจตามสบาย พระสงบก็เสียงนกเสียงกา มันไม่มีน้ำหนักหรอก ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก แล้วเราก็รู้ด้วยไม่มีน้ำหนักหรอก แล้วพูดออกไปนี่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสังคม ! คำว่าสังคมคือกระแส ในเมื่อกระแสพูดทางวิชาการ ถ้าเขาเชื่อสิ่งใดแล้ว เขาเชื่อแล้วเขาเอาเหตุผลของเขารองรับความรู้สึกของเขา เขาพยายามทางวิชาการ เอาความรู้ของเขาเข้ามารองรับความคิดของเขา ถ้ารองรับความคิดของเขา เราจะแก้คนแต่ละบุคคล เราต้องไปแก้ที่ความคิดของเขา ไปแก้ที่มุมมอง ให้เขาเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนโปรแกรมของเขา

ฉะนั้นการแก้แต่ละบุคคล ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา ท่านแก้ลูกศิษย์มาแต่ละองค์ ท่านจะรู้ ว่าแก้จิตนี้มันแก้ยาก ! เรารู้ว่าแก้จิตนี้.. โทษนะ โคตรยากเลย.. ฉะนั้นสังคมทั้งสังคม นี่คนกี่สิบล้าน กี่ร้อยล้าน ไอ้เราไม่เที่ยวจะไปแก้ใครหรอก เราไม่ใช่คนโง่.. เราไม่ใช่คนโง่หรอก เราไม่ไปยุ่งกับใครหรอก ไม่มีทาง.. ไม่มีทาง แต่ ! แต่ในเมื่อเราเป็นศากยบุตร เราก็เป็นพระองค์หนึ่ง เราก็อยู่ในวงผู้ปฏิบัติ เราก็จะพูดความจริงของเรา ! เรามีความจริงสิ่งใดเราก็พูดความจริงสิ่งนั้น ด้วยพื้นฐานรองรับของครอบครัวกรรมฐาน !

ครอบครัวกรรมฐานท่านประพฤติปฏิบัติมา แล้วมีเนื้อหาสาระ มีข้อเท็จจริง ตามความเป็นจริงตามข้อเท็จจริงนั้น ไม่ใช่วนไปเวียนมาแบบสัญญาอารมณ์อย่างนี้ นี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันวนอยู่ในโลก มันวนอยู่ในความคิด วนอยู่ในความรู้สึก มันไม่ลงสู่ใจ ! มันไม่ลงสู่สัมมาสมาธิ แล้วบอกว่า “สัมมาสมาธิ สมถะนี้มันน่ารังเกียจ ไอ้พวกพุทโธมันเป็นสมถะ มันน่ารังเกียจ มันไม่มีปัญญา มันไม่เกิดสิ่งใด” นั่นเพราะคนปฏิบัติไม่เป็น

แต่ถ้าคนปฏิบัติเป็น.. คนที่เป็นพ่อค้านะ พ่อค้าที่เขาขายอาหาร เขารู้เลยว่าข้าวสุกของเขามาจากไหน เขาไม่กล้าปฏิเสธข้าวสารหรอก ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครกล้าปฏิเสธสัมมาสมาธิ !

พวกเรานี่นะ อย่างเช่นยุทธปัจจัยเรื่องเกลือ เกลือนี่เอามาทำถนอมอาหารได้ เกลือนี้ทำทุกอย่างได้ ใครจะปฏิเสธว่าเกลือไม่มีคุณค่า เดี๋ยวนี้เด็กมันบอกว่าเกลือไม่มีคุณค่า แต่มันกินอยู่ทุกวันนะ เพราะในอาหาร ในขนมขบเคี้ยวมันมีส่วนผสมอยู่ ทุกอย่างแหละ แต่เด็กมันกินอยู่ โดยไม่รู้เลยว่ามันกินเกลืออยู่ แต่มันบอกว่าเกลือนี้ไม่มีค่าเลย ขนมอร่อย แต่เกลือไม่เอา แต่ในขนมนั้นมีส่วนผสมของเกลืออยู่ด้วย !

ปัญญาที่เกิดในโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค.. มันต้องมีสัมมาสมาธิเจือมาตลอด ! ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิเป็นตัวหนุน เป็นตัวพื้นฐาน เป็นตัวสมถกรรมฐาน เพื่อให้ฐานเกิดสติปัฏฐานตามความเป็นจริง..

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ ไม่มี ! ไม่มี !

แต่นี้สติปัฏฐาน ๔ มันจะมีขึ้นมาได้มันต้องมีพื้นฐานของมันขึ้นมา มันต้องมีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน นี้สัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน มันถึงจะวนออกจากโลก วนออกจากทิฐิมานะ วนออกจากกิเลสของตัว แล้วนี่ถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธิ เพราะเขาไปปฏิเสธกันเอง

ของอย่างนี้เราไม่ได้ว่าใคร เราไม่ได้ว่าใคร.. แต่ที่เราบอกว่าผิดต่างๆ นี้เพราะว่าเราจะแก้ไขคน เราจะแก้ไขผู้ปฏิบัติ เราก็พูดตามความเป็นจริง นี้ตามความเป็นจริง เวลาพูดตามความเป็นจริงแล้ว วันนี้เราก็ต้องยืนยันความจริง แต่เราไม่ได้ว่าใคร.. นี่เขาบอกว่าเขาไม่สบายใจมากเลย

เราจะบอกว่า โยม.. ถ้าโยมปฏิบัติยุบหนอ พองหนอ เราก็สาธุ.. โยมก็ปฏิบัติไป มันจะเป็นอะไรไป ก็ของมันดีอยู่แล้วก็ปฏิบัติไปเถอะ ให้พระสงบ เสียงนกเสียงกาบ้าบอคอแตก มันพุทโธของมันไปเถอะ มันก็ไม่เห็นเสียหายอะไร

เราจะพูดอย่างนี้นะ เพราะถ้าเป็นยุบหนอ พองหนอ หรือเป็นสิ่งต่างๆ ถ้ามันเป็นสมถะ.. เราถึงบอกว่าการปฏิบัติ เราพูดมาบ่อยนะแต่คนไม่ทัน…

เราบอกว่า “การปฏิบัติในโลกนี้ ทุกอย่างลงสู่สมถะหมด”

แม้แต่ฤๅษีชีไพร เพราะมันสู่ความจิตสงบ ใครจะบอกว่าเป็นวิปัสสนา เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นการชำระกิเลส นี่พูดแต่ปาก

ผลของมันคือว่างไง ผลของมันคือการปล่อยวางไง แต่ ! แต่มันมีมิจฉากับสัมมา.. ถ้ามิจฉาก็ผิดไม่ถูกต้อง ถ้าสัมมาก็ถูกต้อง.. ถ้าถูกต้องขึ้นมาแล้ว มันจะเป็นพื้นฐานขึ้นมาแล้วมันถึงจะออกมาตรงนั้น

ฉะนั้น.. เราขายบ่อยนะ แต่ขายเพราะเหตุผลมันต้องมารองรับกัน หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง ตอนที่ท่านอยู่วัดอโศฯ แล้วมันก็มีพระทั่วไป เพราะเขาไม่มีการศึกษา เขาบอกว่าหลวงปู่ลี หลวงปู่ลีวัดอโศการามนี่สอนไม่มีปัญญาเลย สอนแต่พุทโธ พุทโธ.. โทษนะ ภาษาที่เขาพูดกันว่าสอนโง่ฉิบหาย ทีนี้หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ฟังไว้ ท่านก็ฟังไว้ในใจ ท่านเล่าให้เราฟังเอง เพราะอยู่ด้วยกันก็รู้ว่าใครเป็นใครหมดล่ะ พวกนี้เขาจบมหากันมา วันหนึ่งท่านก็นิมนต์มาฉันน้ำร้อน ท่านก็รินน้ำร้อนให้ฉัน พอรินน้ำร้อนให้ฉันก็คุยสัพเพเหระ คุยกันปฏิสันถารกัน พอคุ้นเคยกันให้คุยเนื้อหาสาระได้ พอเสร็จแล้วท่านก็บอกว่า

ผมมีปัญหาข้อหนึ่งนะ อยากจะถาม เพราะว่าท่านมีการศึกษากัน ถ้าถามนี้แล้วมันจะมีประโยชน์ไหม..

“สมมุติว่ามีบุคคลคนหนึ่ง อยากปฏิบัติมาก แต่ไม่มีปัญญาเลย จะพูดสิ่งใดก็ไม่ได้ จะคิดสิ่งใดก็ไม่ได้ ก็คิดได้แต่ว่า ขี้ ! ขี้ ! ขี้ ! ระลึกถึงขี้อยู่นี่ ถามว่าจิตนั้นจะสงบได้ไหม

พวกนั้นบอกว่า “ได้ครับ..”

“ถ้าได้ครับนี่ พุทโธมันโง่ตรงไหน ที่ว่าสอนพุทโธ พุทโธ นี่มันสอนแล้วมันยิ่งโง่ มันไม่มีปัญญานี่มันโง่ตรงไหน”

เพราะคำว่า ขี้ ขี้ ขี้ มันยังเป็นคำบริกรรมให้จิตสงบได้ นี้คำว่าจิตสงบนี่มันบริกรรมอะไรก็ได้ มรณานุสติก็ได้ อะไรก็ได้ แต่นี้เพียงแต่พวกเรามันเป็นแบบอย่าง มันเป็นมาตรฐานใช่ไหม อย่างเช่นการนั่งสมาธิ ท่ามาตรฐานคือนั่งสมาธิ เพราะเป็นท่าที่นั่งแล้วนั่งได้นานที่สุด

ฉะนั้นเวลาคำบริกรรม.. พวกเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา พุทโธคือชื่อพุทธะ พุทธะคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เอามาระลึกกัน เพื่อระลึกถึงคำว่าพุทโธ แล้วเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

ฉะนั้นพุทโธ พุทโธนี้มันก็เป็นแค่คำบริกรรม อย่างเช่นที่ว่านี่ ขี้ ! ขี้ ! ขี้ ! มันยังสงบได้ แล้วถ้าอย่างอื่น อย่างเช่นจะคิดอะไรก็ได้ ไม่อยากเอ่ยชื่อเดี๋ยวจะหาว่าดูถูกกัน แล้วสงบได้ไหม ก็สงบได้.. แต่ ! สงบได้เพราะตัวเองเข้าใจว่ามันเป็นสมถะนะ ตัวเองเข้าใจว่าจะทำความสงบนะ มันสงบได้ แต่เพราะตัวเองไม่เข้าใจ ตัวเองคิดว่าความคิดนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนา เป็นความคิดไป มันก็คิดไปเหมือนว่าวไม่มีเชือกน่ะ

ว่าวมีเชือกนี่ เวลาว่าวขึ้นไปเชือกนั้นจะบังคับว่าวให้ไปตามที่เราปรารถนา แต่ถ้าว่าวมันไม่มีเชือกนี่มันไปไหน มันก็ลอยไปตามลม.. นี้ความคิดโดยที่ไม่มีพื้นฐาน ความคิดโดยที่ไม่มีความสงบของใจ มันก็เหมือนว่าวเชือกขาด ! ถ้าว่าวเชือกขาดแล้วมันจะไปตามเป้าหมายของใคร แล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนา สิ่งนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔.. ก็ว่ากันไป เราก็สาธุ.. สาธุ ! ทำไปเถอะ

ฉะนั้นใครมีความเชื่อมั่นในสิ่งใดก็ทำไป เพียงแต่คำว่าผิดของเรานี้ เราเป็นหมอ เราแก้ไขคนไข้ คนไข้มาหาเรา แล้วคนไข้นี่เขาต้องการความมั่นใจว่าคนไข้นี้ได้เปลี่ยนวิธีการรักษาแล้ว คนไข้นั้นจะมีความมั่นคงขึ้น เพื่อความมั่นใจเราก็บอกว่าผิด ! แล้วเขาก็ปฏิบัติตามที่เราพูดนี่ ถ้าเป็นกรณีที่จะต้องพิสูจน์กัน เรามีตัวตนนะ เรามีตัวตนที่แบบว่าจากการทำอย่างนั้นแล้วมาใช้พุทโธ พุทโธ แล้วมาร้องไห้น้ำตาไหล นี่เรามีตัวตนหลายคนนะ.. หลายคน.. เอามายืนยันได้ แต่ ! แต่ไม่ทำ..

ไม่ทำเพราะว่า หลวงตาท่านบอกว่า ทุกคนมีศักยภาพเนาะ มนุษย์ไม่ดูถูกมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์จะไม่เอามนุษย์มาขายกัน ฉะนั้นเราไม่พูดอย่างนั้น เพียงแต่ว่ามันมีตัวตนนะ มันมีตัวตน เพราะไม่ได้พูดแบบว่าไม่มีที่มาที่ไป

ฉะนั้น วันนี้พูดออกมาเต็มที่ให้เห็นเหตุเห็นผล แล้วถ้ามีคำถามอย่างนี้มาอีก จะไม่ตอบแล้ว คำถามที่คนละความเห็น คนละความเห็นนี่แล้วก็ถามมา จะไม่ตอบ ถ้าจะตอบมันก็จะตอบแต่พอนั้น.. อันนี้มันแบบว่า.. จริงๆ แล้วเราสงสารเขา เพราะ “ผมปฏิบัติยุบหนอ พองหนออยู่ แล้วพระสงบมากล่าวหาว่าผิด ทั้งๆ ที่อาจารย์ผมก็ยังมีตัวตน ทำไมไม่พูดกัน ยังมีชีวิตอยู่”

มันไม่จบหรอก มันจบไม่ได้.. เพราะว่าหมู่คณะใหญ่ เขาไม่ใช่มีตัวคนเดียว สังคมมันแต่ละสังคม แต่ละความเห็น อันนี้มันเป็นเรื่องของกระแสสังคม แต่เวลาปฏิบัติเป็นเรื่องส่วนตน บุคคลคนๆ นั้น เอาตัวใจคนนั้นรอดเอง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง ถ้าใจดวงนั้นประพฤติปฏิบัติ แล้วใจดวงนั้นรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา ใจดวงนั้นแหละ.. อย่าว่าแต่ร้องไห้เลย มันสะอื้นมาตั้งแต่ใจ พอมันสะอื้นขึ้นมาจากใจ น้ำตามันจะไหลพรากเลย

นี่เพราะเขารู้จริงเห็นจริงของเขา อันนั้นไม่ต้องบอกไม่ต้องสอนเลย มันออกมา มันเป็นปัจจัตตังเลย แต่เวลาเราพูดกันอย่างนี้นะมันเป็นกระแส พูดจากปากไปลมหูนี่ มันเป็นโลกธรรมไง พูดไปนี่เขาไม่เชื่อ ก็เหมือนบอกว่าพูดมาสิผมอยากฟัง แต่ใจมันปิดไว้.. พูดมาสิ แต่ใจมันบังไว้เลย ไม่เชื่อ ของฉันมีของฉันแล้ว.. พูดมาสิฉันอยากฟัง แต่ใจมันปิดน่ะ มันไม่มีประโยชน์หรอก

แก้จิตไม่ใช่แก้ง่ายๆ นะ แล้วคนภาวนานี่เขาแก้กันมาแล้ว ฉะนั้นถ้าปฏิบัติอยู่มันก็วนอยู่ในโลก แต่นี้ที่เราพูดเพราะเราจะวนสู่นอกโลก ปัญญามันปัญญา ๓ นะ.. สุตมยปัญญา ปัญญาการศึกษาเล่าเรียน.. จินตมยปัญญา มันไม่มีภาวนามยปัญญาหรอก.. ภาวนามยปัญญาขึ้นมานี่ พูดออกมาภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร

ไอ้นี่สติปัฏฐาน ๔ นะ แล้วก็ต้องบอกว่า กาย เวทนา จิต ธรรมนี่ฐานมันเป็นอย่างนั้น พูดอยู่อย่างนั้นล่ะแต่ความรู้จริงไม่มี ถ้าความรู้จริงมีนะ.. เกลือนี่มันเป็นอย่างไร เกลือนี่.. ไม่ใช่ผสมมาเป็นอาหารมาแล้ว มาบอกนี่เป็นเกลือๆ เกลือในส่วนผสมของอาหารก็เป็นอย่างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน จิตมันเป็นอย่างไร.. ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร..

ฉะนั้นนี่ตอบปัญหาเขาแล้ว อ่านอีกทีหนึ่งเนาะ

ถาม : กราบนมัสการถามเรื่อง “สติปัฏฐานแบบพองหนอ ยุบหนอครับ”

ไม่ทราบว่าพระสงบเคยสนทนาธรรมกับอาจารย์องค์หนึ่งหรือยัง เนื่องจากผมเป็นคนเชียงใหม่ ปฏิบัติธรรมสายยุบหนอ พองหนอมา ผมไม่สบายใจที่พระอาจารย์สงบกล่าวถึงการปฏิบัติแบบยุบหนอ พองหนอว่าผิด ! ในเมื่อพระอาจารย์สายยุบหนอ พองหนอยังมีชีวิตอยู่ กระผมจึงกราบนมัสการถามพระสงบว่า เคยสนทนาธรรมกับพระอาจารย์...

หลวงพ่อ : ไม่เคย !

ถาม : ถึงแนวทางปฏิบัติในสายปฏิบัติสายยุบหนอ พองหนอหรือไม่

หลวงพ่อ : พระอาจารย์องค์นี้ไม่เคย แต่ในสายปฏิบัตินี้คุยกันมามาก.. ในสายยุบหนอ พองหนอ ในสายอภิธรรมนี่เราคุยมาเยอะ เราคุยมาเยอะ.. ต่อนิดหนึ่ง เราคุยมาเยอะด้วยความสงสัย

แต่เดิมเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ อยู่กับหลวงตา อยู่กับครูบาอาจารย์ เราก็คิดว่าธรรมดาคนปฏิบัติมันก็มาจากเด็กมาจากพื้นฐานทุกคน เราก็คิดว่าในเมื่อสังคมมีความขัดแย้ง สังคมมีความเห็นอย่างนี้ ทำไมครูบาอาจารย์เราไม่เคลียร์ ไม่พยายามพูดให้เห็นเป็นความถูกต้อง.. ถามท่านท่านก็เล่าให้ฟังบ้างเล็กๆ น้อยๆ มันก็เก็บไว้ แต่พอเรามาสร้างวัด เรามีสังคมมากขึ้น เราก็เคยคุยกับพวกนี้ แล้วไม่คุยธรรมดานะ คุยกับผู้บริหารหลักๆ เขาเลย

โอ้โฮ ! โอ้โฮ ! ขนาดนั้นเนาะ.. มันเลยเห็นว่า “ทิฐิพระ มานะกษัตริย์” เห็นชัดๆ เลยล่ะ ไปคุยกับเขา อู้ฮู.. เวลาเขาให้เราถาม เราก็ถามนะ มันอยู่หน้าไหน อยู่บรรทัดไหน ปริเฉทไหน โอ้โฮ.. ใส่ใหญ่เลยนะ เราก็ตอบของเราไปเรื่อย แต่พอเราถามกลับตอบไม่ได้.. มือไม้สั่นหมดเลย แต่เราก็เฉยนะ เพราะการถามกลับนี่มันถามว่า

“จิตมันเป็นอย่างไร”

เขาบอกว่า “อยากทำไม่ได้”

“ไม่อยากอย่างไร”

ในเมื่อคนเราเกิดมามีอวิชชา มีตัณหาความทะยานอยากโดยพื้นฐานของใจ แล้วจะไม่ให้มีความอยากเลยมันเป็นอย่างไร ฉะนั้นอยากอย่างนี้มันเป็นอยากอย่างที่หลวงตาว่า “อยากที่เป็นมรรค” แต่อยากผล นี่พวกเราอยากได้มรรคได้ผล อันนั้นอยากอย่างนั้นเขาให้ระงับ แต่อยากปฏิบัติ อยากอย่างนี้มันเป็นฉันทะ.. ฉันทะคือความพอใจ ถ้าบอกไม่พอใจเลยนี่เราจะปฏิบัติกันไม่ได้เลย แต่ฉันทะความอยาก.. ความอยากโดยสามัญสำนึกนี่มันแก้ไม่ได้ แต่ความอยากได้มรรคได้ผลอันนี้เป็นโทษ.. แล้วปฏิบัติไปนี่ปฏิบัติอย่างไร

ทีนี้พอปฏิบัติแบบไม่อยากนี่ไม่มีอะไรเลย เราเหมือนกับปฏิเสธบัญชี ปฏิเสธต้นขั้วเลย นี้ผลตอบเข้ามานี่มันไม่เข้า อย่างโปรแกรม เราอยากจะเขียนโปรแกรมแต่ไปเขียนที่อื่น เราจะเปลี่ยนโปรแกรมในคอมพิวเตอร์เราได้ไหม.. โปรแกรมคือความคิดไง เราจะเปลี่ยนความคิดความเห็นของใจ แต่เราไปเปลี่ยนที่อื่น แล้วบอกจะให้มันเข้ามาที่หัวใจ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบเข้าไป นี่มันเข้าสู่ใจนั้น มันถึงเป็นอย่างนั้น.. นี่เราไปคุยมาแล้ว เราไปคุยมาแล้ว ...ไม่อยากเอ่ยชื่อ เราไปคุยมาหมดแล้วพวกนี้ คุยแล้วถึงเข้าใจว่า.. เพราะทำแล้วไง แต่เดิมเราเป็นพระเด็กๆ ไม่ได้ตินะ ก็คิดถึงว่าทำไมพระผู้ใหญ่ไม่รับผิดชอบ ครูบาอาจารย์เราทำไมไม่เคลียร์ปัญหานี้ พอมันปีกกล้าขาแข็ง มันบินไปหาเขาเหมือนกัน แล้วพอคุยแล้วเขาถึงบอกว่า “พระสงบเป็นเสียงนกเสียงกา ไม่ต้องฟังหรอก..”

วันนี้พูดแล้วผู้ถามปัญหานี้อย่าเอาไปรกใจนะ อย่าเอาไปซีเรียส อย่าเอาไปเครียด อย่าเอาไปเป็นปัญหาหนักใจ แต่ในเมื่อมันมีเหตุมีผล เราก็พูดเหตุผลเท่านั้น ไม่ต้องหนักใจหรอก ความเห็นความชอบของแต่ละบุคคล อันนี้เป็นความเห็นความชอบ แต่เราพูดถึงเหตุถึงผลถึงความจริง เราถึงบอกว่าผิด ผิดเพราะมันไม่มีเหตุไม่มีผล ว่าอย่างนั้นเลย.. ไม่มีผลหรอก ว่างๆ อย่างนั้นแหละ ว่างๆ กันไป.. แล้วเราจะรอฟังผลอยู่

แต่ของเรานี่นะ.. บอกครูบาอาจารย์ของเรานี่ใช้สมถะ ไม่มีปัญญา.. แต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์ของเรา จะบอกเป็นพระธาตุ..เขาก็ดูถูกว่าพระธาตุนี่ เอาขวดใส่เข้าไปก็เป็นพระธาตุ เขาก็ดูถูกกันไปทั้งนั้นแหละ

นี้มันเป็นความเชื่อ ความลงใจของพวกเรา ที่เรามีครูมีอาจารย์ แล้วเราปฏิบัติตามกันมา แล้วคนอื่นเขามีความเห็นอย่างไรนะก็สาธุ.. เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของโลก เอวัง