ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตมหัศจรรย์

๖ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

จิตมหัศจรรย์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันคำถามข้อ ๒๘๒. เนาะ

ถาม : ๒๘๒. เรื่อง “จิตทำอะไรอยู่คะ”

หนูเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง (มาอยู่วัดนี่แหละแต่ไม่กล้าพูด นี่เลยขอสอบถามนะ) หนูไปอยู่วัดเฉพาะวันหยุด คนเยอะมากเลยไม่มีโอกาสได้ขอความเมตตาจากหลวงพ่อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติ เลยขออนุญาตสอบถามทางนี้เจ้าค่ะ ขอความเมตตาด้วยค่ะ

๑. ปกติหนูจะภาวนาพุทโธก่อนนอนทุกคืนจนหลับไป แต่ทุกคืนจะรู้สึกตัวตื่นมา มันเหมือนฝันเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่มันเหมือนเรารู้ตัวตื่นอยู่ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ตอนที่เรารู้ตัว เหมือนเรารู้ดีทุกเรื่อง แต่พอหนูตื่นขึ้นมา มันจะคลับคล้ายคลับคลา นึกไม่ค่อยออกเหมือนฝัน มันเป็นการทำงานอย่างหนึ่งของจิตหรือเปล่าคะ (นี่พูดถึงนะ)

๒. เวลาก่อนตื่นนอนตอนเช้า พอหนูรู้สึกตัว ร่างกายเหมือนจะเป็นสมาธิอยู่แต่ไม่ใช่ปกติ หนูจะภาวนาต่ออีกนิดหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ ทำความรู้สึกตัว แล้วค่อยลืมตาตื่น (บางครั้งถ้านึกออก จะแผ่เมตตา) จิตมันทำงานต่อเนื่องใช่หรือเปล่าเจ้าคะ

๓. เมื่อประมาณอาทิตย์กว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง พอหนูล้มตัวลงนอนหลับตา พอเริ่มจะภาวนาพุทโธ มันเหมือนร่างกายเรามี ๒ อัน มันเบากับหนัก อันเบาอยู่ข้างบน มันจะแผ่วๆ มันจะเหลื่อมออกเหลื่อมกันนิดๆ จิตใจมันกึ่งๆ งงๆ และตกใจนิดหนึ่ง มันแว็บขึ้นมาว่าเหมือนวิญญาณจะออกจากร่าง จึงรู้สึกว่าจิตใจมันกระสับกระส่าย หนูเลยค่อยๆ ทำความรู้สึกตัว แล้วค่อยๆ ขยับพลิกตัว พอมาคิดดูตอนเช้าก็ไม่เห็นมันจะเป็นอะไรเลย พออีกวันมันทำท่าจะเป็นอีก คราวนี้ตั้งใจจะดูมัน แล้วมันก็ไม่เป็นเจ้าค่ะ มันเป็นอาการอะไรสักอย่างของจิตหรือคะ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงว่าจิตมันอยู่ที่ไหนไง เขาสงสัยเรื่องจิต เวลาเราจะตอบปัญหาอย่างนี้นะเราจะคิดอยู่ อย่างเมื่อวาน ที่พูดเมื่อวานนี้เขาจะมองว่าการกำหนดพุทโธ การทำสมถะนี่มันจะมีปัญหาไปหมด เวลากระแสสังคมเขาจะบอกว่าในการปฏิบัตินี่ระวังนะเดี๋ยวจะเป็นบ้า ระวังนะเดี๋ยวจะเสียสติ ระวังนะจะเสียหายไปหมดเลย

เวลาพูดเขาพูดอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงนะ เวลาคนที่ทุกข์ที่ยากอยู่ตามโรงพยาบาล เขาโดนกระแสสังคมบีบคั้น เขามีความทุกข์ เขาโดนกระแสสังคม เขาโดนการกระทำกันในทางโลก แล้วคนเสียสติ ในโรงพยาบาลมีเยอะแยะไปหมดเลย แต่เขาไม่พูดถึง แต่เวลาจะปฏิบัตินี่ จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้นนะ แล้วก็ทำให้เรากลัว พอทำให้เรากลัวเราจะไม่กล้าทำสิ่งใดกัน

แต่นี้พอเราทำสิ่งใดไปแล้วมันเจอเหตุการณ์แบบนี้ เห็นไหม มันก็เหมือนแบบที่เขาว่า แต่แบบที่เขาว่านี้ คำว่าแบบที่เขาว่านี่เราจะบอกว่า คนที่เริ่มจะภาวนาถ้าจิตเป็นปกตินะ เราจะรู้สึกตัวอยู่ สิ่งใดนี่เราจะมีสติปัญญาของเรา แล้วจะแก้ไขของเรา แล้วถ้าไม่มีเวรกรรม.. ถ้าไม่มีเวรกรรมนะสิ่งนี้มันเป็นอาการของใจ แล้วใจถ้ามีสติอยู่มันจะแก้ไขสิ่งนี้ มันจะมีสติควบคุม แล้วมันจะแก้ไขสิ่งนั้นไป จนกลับมาเป็นปกติ

คำว่าเป็นปกติ คือกำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้ามันจะลงมันก็จะลงของมัน ถ้ามันไม่ลงมันก็ดื้อกันอยู่อย่างนี้ ดื้อหมายถึงว่า มันก็จะแบบว่าไม่ลง ถ้าดื้อก็คือว่าภาวนาไปแล้วมันเหมือนกับมีอะไรต่อต้านอยู่.. คำว่าถ้าจิตไม่ลงนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เหมือนหัวชนฝาเลย พุทโธแล้วก็ไม่ลง พุทโธแล้วก็ไม่ได้อะไร นี่คือมันไม่ผิดปกติไง คือมันไม่มีอะไรเสียหาย.. แต่ถ้าพุทโธไปแล้วมันตกใจ มันมีอะไรเข้ามา อันนั้นเราก็พยายามแก้ไขให้มันเป็นปกติ

คำว่าปกติ.. ถ้าจิตมันปกติ ทำดีต้องได้ดีสิ เราพยายามจะค้นหาตัวเอง พยายามจะค้นหาอริยทรัพย์ จะค้นหาความรู้สึกของเรา ดูสิเวลาเขาไปวัด เขาไปป่าช้ากัน เขากลัวผี กลัวผีกลัวสาง กลัวต่างๆ แต่เวลาเราตายไป เห็นไหม มันเป็นเรื่องเขาเล่ากันเป็นนิทานเนาะ อย่างเช่นเรานี่เราเป็นคนกลัวผีมากเลย แต่เวลาก่อนตายเราจะสั่งไว้เลยนะ “เวลาตายแล้วอย่าเอาไปป่าช้านะ กลัวผี”

นี่มันยังคิดไปอนาคตนะว่าถ้าไปอยู่ป่าช้าแล้วจะกลัวผี แต่ไม่ได้คิดถึงเลยว่าจิตวิญญาณนี้เวลาออกจากร่างไป.. จิตถ้าดีนะ จิตถ้าดีถ้าทำคุณงามความดีนี่ออกไปเขาเรียกเทพ เพราะให้ผลประโยชน์ ถ้าจิตออกไปนะ ดูสิอย่างเช่นที่ว่าจิตออกไป จิตที่มันมีความอาฆาตมาดร้าย ไปอยู่ในที่ต่างๆ แล้วเที่ยวมารังควานคนนี่เขาก็เรียกว่าผี เห็นไหม มันก็คือวิญญาณนั่นแหละ วิญญาณที่ดีก็เรียกว่าเทพ เรียกว่าสิ่งที่มาเกื้อกูลพวกเรา ถ้าวิญญาณที่รังแกเขา วิญญาณอาฆาตมาดร้ายก็จะไปทำลายคนอื่น แล้ววิญญาณเราล่ะ..

เพราะวิญญาณของเรา จิตของเรา เรามาศึกษาพุทธศาสนา เราถึงพยายามจะทำจิตใจของเราให้เป็นจิตใจที่ดีงาม ถ้าจิตใจที่ดีงาม มันก็เป็นผลของวัฏฏะ คือว่ามันก็เกิดตายในธรรมชาติอยู่อย่างนี้แหละ แต่ถ้าเราจะเริ่มปฏิบัติ เราจะเริ่มทำความสะอาด เริ่มทำให้หัวใจเราผ่องแผ้ว ทำให้จิตใจเราเป็นธรรมขึ้นมา มันก็ต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามา เพื่อจะเข้าไปรักษาใจของเรา ไปทำจิตใจของเราให้เข้มแข็ง แล้วให้มันหัดใช้ปัญญา หัดออกฝึกหัดให้จิตใจเราออกไปใช้ปัญญาเพื่อสอนใจตัวเอง

สอนใจตัวเองให้เห็นว่าความหลงผิดของใจ.. นั่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา เราหลงผิดกันไปหมดเลย เราหลงผิดเพราะอะไร เพราะเรามีความไม่รู้สึกตัวเราเอง คืออวิชชามันครอบคลุมใจเราอยู่ เราถึงพยายามทำจิตของเราให้สงบเข้ามา แล้วใช้โลกุตตรปัญญา คือเอาใจสอนใจ !

ที่ครูบาอาจารย์สอน มันก็คือครูบาอาจารย์สอน มันเป็นธรรมะจากข้างนอก แต่ถ้าธรรมะที่เกิดจากใจขึ้นมา มันจะต้องอาศัยจิตเราที่สงบ จิตเราที่ไม่มีกิเลส

กิเลสคือความวิตกกังวล กิเลสคือนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันจะไปกั้นมรรคผล นิวรณธรรมจะไปกั้นสมาธิ จะไปปิดกั้นความเป็นปกติของใจ นี้คือนิวรณธรรม

ความลังเลสงสัยนี่คือนิวรณธรรม ทั้งลังเลสงสัย ทั้งวิตกวิจาร ทุกอย่างมีปัญหาไปหมดเลย นี่มันเป็นเพราะอะไร เพราะตัวเองไม่มั่นใจในตัวเอง ตัวเองไม่เข้าใจตัวเอง เราถึงมาภาวนาพุทโธ พุทโธกันอยู่นี้ ก็เพราะเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้ตัวเองมันมั่นใจตัวมันเอง แล้วธรรมชาติของพลังงานนี้ เห็นไหม ดูสิโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เขาจะต้องพยายามดูแลรักษามหาศาลเลย เพื่อป้องกันกัมมันตภาพรังสีมันจะออกไปทำลายคนอื่น

จิตใจของเรา.. สิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา อวิชชานี่มันออกไป พลังงานนี่มันกระจายตัวออกไป แล้วพุทโธ พุทโธ นี่คือเรารักษา เพื่อรักษาพลังงาน เห็นไหม ถ้านิวเคลียร์นะเขาทำเป็นอาวุธสงคราม เขาทำร้ายถึงชีวิตของคน.. แต่ถ้านิวเคลียร์ทางสันติ เขาใช้พลังงานมันเพื่อมาทำพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม

จิตใจของเรานี่มันเป็นมาร มันเป็นสิ่งที่เป็นอวิชชา ที่ความไม่รู้มันทำลายตัวเราเองมาตลอด ทำลายทุกๆ คนมาตลอดเลย เราถึงพยายามตั้งสติของเราขึ้นมา เพื่อให้เป็นพลังงานทางสันติ ! ถ้ามันเป็นพลังงานทางสันติขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

ทีนี้พอเป็นประโยชน์กับเราแล้ว เวลาทำขึ้นไป คิดดูสิโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี่นะ เวลาจะสร้างแต่ละโรงขึ้นมาเขาต้องทำประชาพิจารณ์นะ ต้องมีการโต้เถียงกันมหาศาลเลย บางคนก็เห็นประโยชน์ บางคนก็ไม่เห็นประโยชน์

ฉะนั้นเวลาเราจะภาวนาของเราขึ้นมา นี่ระหว่างกิเลสกับธรรม.. กิเลสคือความลังเลสงสัย กิเลสคือความวิตกวิจารของเรา กับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันจะประชาวิจารณ์ต่อกัน พอประชาวิจารณ์ต่อกัน มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เห็นไหม พอเกิดปัญหาขึ้นมานี่เราจะตั้งสติของเราอย่างไร เราจะตั้งปัญญาของเราอย่างไร

ฉะนั้นพอเราพุทโธ พุทโธนี่มันเป็นกลาง พุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้จิตใจมันเกาะพุทโธสิ่งนี้ไว้.. แล้วเวลาประชาวิจารณ์ก็คือความคิดไง ความคิดฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ถ้าความคิดฝ่ายดีขึ้นมา เราก็ต้องคิดว่าเราเกิดมาทำไม เราเกิดมาเพื่ออะไร การเกิดและการตายนี่แล้วเราจะไปตื่นเต้นกับอะไร

เราจะตื่นเต้นกับอะไร ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ ชีวิตนี้เวียนตายเวียนเกิดกี่รอบแล้ว เราเคยเป็นเศรษฐีกฎุมพี เราเคยเป็นยาจกเข็ญใจ เราเคยเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เราเคยเป็นมาทั้งนั้น จิตใจดวงนี้เคยเป็นมาทั้งนั้น พอมาเกิดใหม่นะ โอ้โฮ.. สดๆ ร้อนๆ เลย โอ้โฮ.. ยิ่งวัยรุ่นด้วยนะ โอ้โฮ.. ชีวิตนี้ยังอีกยาวไกล แหม..ชีวิตนี้เพริดแพร้ว นี่มันติดไง..มันติด แต่ถ้าสิ่งนี้มันเป็นของเดิมๆ ของเก่าๆ ทั้งนั้นล่ะ

เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดตายอย่างนี้มาตลอดแหละ ทีนี้พอเกิดตายอย่างนี้ เพียงแต่ว่าเราหลงไปกับมันไง เราหลงไปกับมัน หลงไปกับสิ่งนี้ หลงไปกับชีวิตๆ หนึ่ง แล้วชีวิตนี้จริงไหม..จริง จริงตามสมมุตินะ เราก็มีพ่อมีแม่ เราก็มีลูกมีหลาน เราก็มีชาติตระกูล ทุกคนก็ต้องรักต้องสงวนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาแต่มันเป็นของชั่วคราว มันจริงตามสมมุติ

มันมีจริงๆ นี่แหละ แต่ถ้าจริงอย่างนี้ เพราะเราติดอย่างนี้ เห็นไหม นี่เขาเรียกโลก เราถึงไม่เห็นธรรม เราถึงไม่เห็นคุณงามความดีของใจ.. ถ้าเราเห็นคุณงามความดีของใจนะ ถ้าใจมันกำหนดพุทโธ นี่มีความดีของใจเพราะเราศึกษา เราเชื่อมั่นของเรา เรามีศรัทธามีความเชื่อ พอมีความเชื่อเราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทีนี้พอปฏิบัติขึ้นมา มันจะมีอาการอย่างใดเกิดขึ้นมา นี่มันเป็นเวรเป็นกรรมของแต่ละดวงใจ

เรื่องจิตนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ! จิตนี้มหัศจรรย์มาก ดูสิ พลังงานนิวเคลียร์นี่มหัศจรรย์ไหม ถ้าคนใช้มัน คือคนไม่เข้าใจมันหรือเป็นคนบ้าอำนาจใช้มันนะ มันจะทำลายชีวิตคนเป็นแสนเป็นล้าน แต่ถ้าคนเข้าใจมัน พยายามดูแลรักษามันเพื่อเอามาทำประโยชน์ เห็นไหม จิตใจของเรานี่นะ ดูสิเวลามันคิดร้ายคิดทำลายตัวเอง มันคิดนี่มันทำลายเรานะ พอยิ่งทำลายเราแล้วนะ กิเลสมัน ๒ ชั้นไง ชั้นแรกก็ทำลายเราก่อน ว่าเรานี่นะเกิดมาด้อยค่า มันก็เกิดอีโก้ เกิดมานะทิฐิ เกิดอยากจะให้คนยอมรับ.. นี่มันทำลายเราก่อนนะ แล้วมันก็ทำลายข้างนอก ๒ ชั้น ๓ ชั้น

แต่ถ้าเราเป็นธรรมนะ มนุษย์ก็เท่ากับมนุษย์ คนก็เท่ากับคน.. ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ หลวงปู่มั่นท่านไม่ออกมาสังคมเท่าไรเลยนะ ออกมาน้อยมาก หลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขามาตลอดเลย เดี๋ยวนี้นะใครๆ ก็ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นนี้เป็นอาจารย์ใหญ่ ทุกคนคิดถึงหลวงปู่มั่นหมดเลย.. หลวงปู่มั่นออกมาสังคมซักขนาดไหน หลวงปู่มั่นอยู่แต่ในป่าในเขา เห็นไหม อยู่ในป่าในเขาแต่ท่านทำประโยชน์กับตัวของท่านเอง ท่านทำประโยชน์กับความจริงของท่านเอง

ฉะนั้นถ้าจิตมันมหัศจรรย์ ถ้าจิตมันทำดีมันจะได้ดีมหาศาลเลย แต่ถ้ามันทำชั่ว ทำชั่วมันทำลายเรา.. ทำลายเรา เห็นไหม นี่สิ่งนี้ถ้าเราควบคุมมัน เราดูแลมัน แต่ดูแลมันนี่มันก็ไม่ใช่ของง่ายไง จิตนี้มหัศจรรย์นัก แต่จิตนี้กว่าเราจะแก้ไขมัน กว่าเราจะควบคุมมันได้ มันยิ่งยากมาก ! คำว่ายากมาก พระพุทธเจ้าถึงได้สอนเรื่องทำทาน เพราะเรื่องทำทานนี้มันเริ่มฝึกไง การทำทานคือการฝึก ฝึกว่าเราเสียสละ.. เสียสละ

เวลาอารมณ์ความรู้สึกมันโกรธนี่จะเสียสละได้ไหม เวลาไม่พอใจ เวลาทุกข์นี่เสียสละได้ไหม แต่ถ้าเราไม่เคยฝึกมันเลย แล้วจะเอาอะไรมาเสียสละล่ะ ทานนี่แหละเป็นการฝึกมาตั้งแต่เริ่มต้น การเสียสละนี้เห็นไหม ของใครใครไม่รัก ของใครใครไม่หวง หวงทุกคนแหละ แต่เราเสียสละเพราะจิตใจมันคิดไงว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งนี้เป็นบุญกุศลของเรา สิ่งนี้เป็นคุณธรรม สิ่งนี้เป็นคุณงามความดีของเรา

มันเอาคุณงามความดีแลกเปลี่ยน แลกเปลี่ยนกับไอ้ความยึดมั่นถือมั่น แลกเปลี่ยนกับสิ่งที่มันยึดมันตระหนี่ แลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนกันด้วยปัญญา เห็นไหม นี่คือการฝึก.. พอฝึกตั้งแต่นั้นมา พอคนรู้จักทำทานใช่ไหม คนรู้จักรักษาศีลใช่ไหม คนมันก็อยากจะภาวนา เพราะอะไร เพราะมันอยากได้ประโยชน์ที่ดีขึ้น ได้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น ทุกอย่างที่เข้มแข็งขึ้น

“ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง.. ถือศีลร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง.. มีสมาธิร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเกิดโลกุตตรปัญญานะ”

แต่เดี๋ยวนี้เขาบอกว่าไม่ต้อง เดี๋ยวนี้เขามีปัญญากันหมดแล้ว.. เขาบอกว่าปัญญา ปัญญาอย่างนั้นเกิดจากมีสมาธิร้อยหนพันหน แต่ปัญญาอย่างเขานี่ปัญญาอะไร ปัญญาเกิดเอง ปัญญาเกิดจากโลกียะ ปัญญาเกิดจากฐาน ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากอวิชชา เพราะว่าภพนี่ มารมันคุมภพนี้อยู่ พอมันคุมภพนี้อยู่ แล้วจิตใจนี้เกิดจากมาร มันก็เลยอ้างอิงธรรมะพระพุทธเจ้าไง ว่าพุทธพจน์.. พุทธพจน์..

พุทธพจน์เป็นอย่างหนึ่ง แต่พฤติกรรมฉันเป็นอีกอย่างหนึ่ง พุทธพจน์นั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พฤติกรรม การคิดการกระทำมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็บอกว่านี่พุทธพจน์นะ พุทธพจน์อยู่ที่ในพระไตรปิฎกไง พุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แต่จิตใจของฉัน ฉันจะมีทิฐิมานะของฉัน

ฉะนั้นเวลาเราทำขึ้นมา นี่มันจะย้อนกลับมาที่ว่า..

ถาม : ทำไมหนูภาวนาพุทโธ พุทโธก่อนนอนทุกคืนหลับไป แต่ทุกคืนจะรู้สึกตัวตื่นมา มันเหมือนฝันเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่มันเหมือนเรารู้ตัวตื่นอยู่ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนที่ตัวเรารู้ตัวเหมือนเรารู้ดีทุกเรื่อง แต่พอตื่นขึ้นมา มันก็คลับคล้ายคลับคลา นึกไม่ออก เหมือนฝัน มันเป็นการทำงานอย่างหนึ่งของจิตหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : แน่นอน มันเป็นการทำงานของมัน ดูสิ เวลาที่เขาพูดกันนะเขาพูดถึงปัจจยาการ.. พูดถึงธรรมนะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. นี่มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นการทำงานของจิตไง ปัจจยาการ แต่ ! แต่มันยังลึกนัก มันต้องผ่านโสดาบัน ผ่านสกิทาคา ผ่านอนาคาขึ้นไป มันถึงเห็นเป็นปัจจยาการ

เดี๋ยวนี้ปัจจยาการเขาพูดกันปากเปียกปากแฉะเลย มันไม่มีปัจจยาการหรอกมันเป็นวิชาการ มันเป็นทางวิชาการที่เราพูดกันทางทฤษฎีเท่านั้นแหละ ไม่เห็นจริงหรอก ถ้าเห็นจริงนะกว่าจะเห็นนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” จิตเดิมแท้ผ่องใส นั่นล่ะปัจจยาการมันอยู่ที่นั่น อยู่ที่ความผ่องใสนั่นล่ะ.. ความผ่องใส ทำไมมันผ่องใส ความใสสะอาดมันเกิดมาได้อย่างไร พลังงานมันโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร แล้วพลังงานนี้มันจะทำลายกันอย่างไร ปัจจยาการมันอยู่ที่นู้น

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “นี่มันเป็นการทำงานของจิตหรือเปล่า” เป็น ! ถ้าเป็น.. เป็นทำไมหนูไม่รู้ล่ะ เป็นทำไมหนูไม่เข้าใจล่ะ นี่เราถึงบอกว่ามันเป็นความหยาบ-ละเอียดในความนึกคิด ความคิดของคนมันมีหลายซับหลายซ้อนไง แต่ในเมื่อมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา..

แหม.. อธิบายซะยาว อธิบายซะยาวมาเพื่อให้เห็นไง ถ้าไม่อธิบายชักแม่น้ำทั้ง ๕ มา บอกว่ามันเป็นอาการของจิต จิตเป็นอย่างนั้นๆ ไอ้เราก็ว่า มันก็เป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างไรล่ะ.. เพราะอย่างนี้มันก็พูดทางโลกไง ทางโลกพูดทางวิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์มันพูดถึงทางทฤษฎี ให้ค่า.. อุณหภูมิขนาดนั้น จะให้ความร้อนอย่างนั้นๆ นี่มันเป็นทางทฤษฎี แต่ทฤษฎีนี้มันมาจากไหนล่ะ.. ทฤษฎีนี้มันมาจากไหน แล้วคนที่รู้ทฤษฎีนั้นมันคือใคร

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่จะภาวนานี่ จิตนี้มันสร้างกรรมอะไรมา.. มนุษย์คนหนึ่ง การเวียนตายเวียนเกิด สร้างคุณงามความดีมาแต่ละจิตดวงหนึ่ง มันแตกต่างกันมาอย่างไร แล้วมนุษย์ดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งที่แตกต่างกันมานี้ แล้วพอปฏิบัติแล้วจะให้เหมือนกัน จะให้มีคุณค่าเท่ากัน เห็นไหม ดูสิประชาธิปไตยนะ เสียงหนึ่งๆ นี่เงินบาทหนึ่งนะเขาว่ามีค่าเท่ากัน เราว่าไม่จริง

เรามีเหรียญบาทหนึ่งจะเอาไปใช้ อู้ฮู.. อย่างหนึ่ง เวลาคนทุกข์คนยากถือบาทหนึ่งก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเศรษฐีถือเงินบาทหนึ่งมานะ มันเหมือนกับมีค่าพันหนึ่ง เพราะอะไร เพราะทุกคนเกรงใจไง ถ้าเศรษฐีมานะ โอ้โฮ.. เงินบาทหนึ่งเท่ากับมีค่าพันหนึ่ง ไอ้ยาจกนั้นมีบาทหนึ่ง มีค่าเท่ากับสลึงหนึ่ง เขาถือว่าไม่มีค่าไง

ไม่มีค่าในทางมุมมองของโลกนะ แต่ถ้าค่าทางเจ้าของ เห็นไหม ยาจกนี่เงินบาทหนึ่งเท่ากับเงินพันหนึ่ง ไอ้เศรษฐี เงินบาทหนึ่งเท่ากับไม่มีค่าอะไรเลย เพราะว่าเงินเขามีมาก.. นี่ค่าของใจมันไม่เท่ากัน ความรับรู้สึกของใจมันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นถ้าบอกว่าประชาธิปไตยต้องเหมือนกัน นี่วิทยาศาสตร์ไง ค่าต้องเหมือนกันๆ มันจะเหมือนกันต่อเมื่อมันชำระกิเลส ถ้าเป็นโสดาบันนี้โสดาบันเหมือนกัน สกิทาคาก็สกิทาคาเหมือนกัน อนาคาก็อนาคาเหมือนกัน แล้วถ้าเป็นสมาธินี่สมาธิก็แตกต่างกัน สมาธิแตกต่างเพราะเวลาผลประโยชน์ของมัน การกระทำต่างกัน ฉะนั้นพอต่างกัน สิ่งนี้มันถึงว่าเวลาเรากำหนดไปแล้วมันเหมือนรู้..

นี่เราจะบอกว่าจิตนี้มหัศจรรย์ สิ่งที่มันเป็น สิ่งที่เวลาเรานอน เห็นไหม คนถามก็เลยงงเนาะ ถามเรื่องหนึ่ง ตอบไปไหนก็ไม่รู้ไกล๊ไกลเลย หนูก็เลยไม่เข้าใจใหญ่เลย.. เราพูดมานี้เราจะพูดให้เห็นตัวอย่างก่อนว่า ก่อนที่จิตมันจะทำงานอย่างใด มันมีที่มาที่ไป ว่าที่มาที่ไปของจิตมันมีคุณสมบัติอย่างใด มันถึงแสดงออกมาเป็นอย่างใด

ฉะนั้นเวลาเราพูดกัน เราพูดถึงทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม มันต้องเป็นอย่างนั้น จิตต้องเป็นอย่างนั้น อาการของจิตต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฎี เป็นปัจจยาการ.. แล้วเป็นปัจจยาการมันเป็นอย่างใด

นี่ก็เหมือนกัน “สิ่งที่มันเป็นนี่มันเป็นการทำงานของจิตหรือเปล่าคะ”

ใช่ ! มันเป็นการทำงาน เราก็ตั้งสติของเราไว้ ตั้งสติของเราไว้นะ.. เวลาฝัน นี่เวลาฝันเวลาเกิดนิมิต เห็นไหม ถ้าฝันนะเราอยู่ในอาการอย่างนั้น เวลาเราเห็นภาพชัดๆ ออกมา เราตื่นมาแล้วเราจำสิ่งใดไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเราเห็นเป็นเลือนรางออกมานี่เราจะชัดเจน มันอยู่ระหว่างไง โลกกับธรรม เห็นไหม ๕๐-๕๐ กึ่ง “กึ่งโลก-กึ่งธรรม” ถ้ากึ่งโลกก็เป็นความจำหมดเลย ถ้ากึ่งธรรมเราจะเข้าใจสิ่งใดไม่ได้

หลวงตาถึงบอกว่า “ฝันดิบ-ฝันสุก” เวลาฝันดิบๆ คือเวลาคิดนี่คือฝันดิบๆ ฝันดิบๆ นั้นล่ะความฝัน เราจินตนาการ ความรู้สึกนี่ คือเหมือนกับความฝันอันหนึ่ง ความคิดก็เป็นความฝันอันหนึ่ง แต่เวลาไปฝันจริงๆ มันหลับไป.. ไม่ใช่หรอก มันฝันดิบ-ฝันสุก

อาการอย่างนี้มันเป็นอาการ เราตั้งสติไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่เริ่มต้นมันก็มีอาการสงสัยกันไปเรื่อยๆ มันเป็นสิ่งที่ว่าเราไม่เข้าใจ มันคลับคล้ายคลับคลา มันนึกไม่ออก มันเหมือนฝัน มันเป็นการทำงานของจิตหรือเปล่าคะ..

จิตมันทำงานอยู่แล้ว จิตมันเป็นธาตุรู้ จิตเป็นธรรมชาติที่รู้ มันรู้ทุกอย่างที่อะไรผ่านเข้ามาในความรู้สึกของมัน มันจะรับรู้ทุกอย่าง ทีนี้ถ้าเรามีสติปัญญานี่มันรับรู้ตลอด พอรับรู้แล้วก็วางไว้ รับรู้แล้วก็วางไว้ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา เราจะให้ตัวมันรู้โดยตัวมันเอง ถ้าเราพุทโธ พุทโธ นี่เราต้องการให้มันรู้ตัวมันเอง ไม่ใช่ไปรู้คนอื่น เห็นไหม

จิตนี้เป็นธาตุรู้ มันต้องรับรู้ทุกๆ อย่าง แต่ตัวมันเองนี่มันส่งออก มันส่งออก แต่ถ้าเราพุทโธ เพื่อจะให้ตัวจิตนี้กลับไปรับรู้ตัวมันเอง ถ้ารับรู้ตัวมันเองนะ มันจะปล่อยวางทุกอย่างเลยกลับมาที่ตัวมันเอง นั้นคือสมาธิ..

สมาธิคือจิตตั้งมั่น สมาธิคือจิตหนึ่ง แต่เวลาเราคิดนี่คือสัญญาอารมณ์ เกิดมาเป็นสอง คือสัญญาอารมณ์กับจิต

สัญญาอารมณ์ กับ พลังงานคือตัวธาตุรู้ แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้น นี่มันเป็นสองมาตลอด แล้วเราพยายามพุทโธ พุทโธ ให้มันกลับไปสู่เป็นหนึ่ง.. พุทโธ พุทโธ จนจิตมันพุทโธไม่ได้มันก็กลับไปเป็นหนึ่ง เห็นไหม ทีนี้มันยังกลับไปเป็นหนึ่งไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันพยศ ! มันมีแรงต้านของมัน มันพยศของมัน เราก็พยายามต่อสู้กับมันด้วยสติปัญญาของเรา.. นี่คือการฝึกไง ที่ว่าลำบากๆ ลำบากเพราะตรงนี้ไง ที่มันจะลำบาก มันจะทุกข์มันจะยากนี่เพราะเราจะฝึกฝนตัวเรา เราจะเอาชนะตัวเราเอง

ฉะนั้นพุทโธไป อาการอย่างนี้มันเป็นอาการ เหมือนกับลมพัดใบไม้ไหว เราไม่ต้องไปใส่ใจนัก คนเรานะไม่เคยสนใจตัวเองเลย มันก็คิดแต่เรื่องอื่นไป พอเกิดจะมาสนใจตัวเองปั๊บ มันจะเกิดปัญหามากมายไปหมดเลย

ฉะนั้นเราพุทโธของเราไว้ พุทโธของเราไว้.. พุทโธของเราไว้ไม่เสียหาย ! นี่ข้อ ๑.

ข้อ ๒. เอ็งอย่าหัวเราะนะ เราก็เหนื่อยนะ..

ถาม : ๒. เวลาก่อนนอนตอนเช้า พอหนูรู้สึกตัวร่างกายเหมือนจะเป็นสมาธิอยู่ แต่ไม่ใช่ ! ไม่ใช่ปกติ หนูจะภาวนาพุทโธต่อนิดหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ ทำความรู้สึกตัว แล้วค่อยลืมตาขึ้น.. จิตมันทำงานต่อเนื่องใช่หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : กรณีจิตทำงานต่อเนื่อง.. พูดถึงเวลาพุทโธ พุทโธนี่มันเป็นพุทธานุสติ พุทโธ พุทโธมันเป็นสมาธิอบรมปัญญา ทีนี้สมาธิอบรมปัญญานี่มันไม่ค่อยคิดอะไร แต่ถ้าพูดถึงการใช้ความคิดอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้สติปัญญาตามความคิด ถ้าจับความคิดเป็นคำๆ จับความคิดไว้ ถ้าสติเราทันนะ พอเราคิดใช่ไหมก็เหมือนกับเราเอามือหยิบสิ่งใด พอมือเราหยิบสิ่งใดไป พอสิ่งที่เราหยิบนี้มันผิดมันไม่ดี มันจะปล่อยออก ถ้ามันคลายออกมานี่เขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ

ฉะนั้นถ้าเราพุทโธนี่เราไม่ต้องใช้ความคิดใดเลย แต่นี้ความคิดสิ่งนี้มันมาคิดตอนหลังไง มันมาคิดตอนหลังคิดว่ามันเป็น ถ้าเราพุทโธ พุทโธอยู่นี่นะมันเป็นสมาธิอบรมปัญญา พอมันเกิดสมาธิแล้วมันเกิดปัญญา คือการฝึกปัญญา แต่ถ้าเราพุทโธแล้วเราสงสัยๆ มันจะติดความสงสัยนี้ไปตลอด ฉะนั้นขณะเวลาที่เราพุทโธนี้เราไม่ต้องคิดสิ่งใดเลย

แต่นี้มันเป็นเรื่องก่อนนอน ตื่นนอน.. นอนแล้วตื่น ตื่นแล้วนอน ขณะที่นอนเราไม่มีสติ เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ เราอย่าไปวิตกวิจารกับการนอนของเรา ขณะที่เรามีสติเราตื่นตัวอยู่นี้ เรากำหนดพุทโธของเราอยู่นี้ เราตั้งสติอยู่นี้เป็นการปฏิบัติ เราฝึกหัดใจเรา

ขณะที่นอน คือคนหลับแล้วนี่ไม่มีสติ พอคนหลับไปแล้วเราแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก พอคนหลับไปแล้ว ทีนี้มันก็เป็นธรรมชาติของจิตแล้ว อยู่ที่มันจะแสดงออกมาไง บางคนนอนแล้วฝันบ่อย บางคนนอนอย่างไรก็ไม่ฝันนะ บางคนนอนแล้วไม่ฝันนี้เขาจะแปลกใจว่า เอ๊ะ.. ไอ้คนที่พูดฝันๆ นี้มันโกหกหรือเปล่า เพราะเขาไม่เคยฝัน คนไม่เคยฝันก็มีนะ เขาไม่เคยฝันเลย เขาไม่เคยสิ่งใดเลย นี่จิตของเขาเป็นอย่างนั้น เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น เขาฟังคนที่บอก คนนู้นก็ฝันอย่างนี้ คนนี้ก็ฝันอย่างนี้ เขาคงคิดว่าคนที่ฝันนี่คงจะขาดสติ คนไม่เคยเขาจะไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างใด

ฉะนั้นเวลาเรานอนไปแล้วนี่เราไม่ต้องวิตกวิจาร แต่เวลาเราตื่นมาหรือว่าเราฝันมาแล้ว ถ้าตื่นแล้วนี่เป็นกังวล ตื่นแล้วเป็นทุกข์ ตื่นแล้วเก็บอารมณ์อันนั้นมา นี่เราแก้ไขตรงนี้ แก้ไขว่าสิ่งนั้นมันเป็นความสุดวิสัย เราทำสิ่งใดไม่ได้ แล้วสิ่งนั้นมันจะเป็นการพิสูจน์ว่า “จิตใจเรานี่ทำดีทำชั่วมามากน้อยแค่ไหน”

ถ้าสิ่งที่ทำดีมา มันต้องส่งผลมาเป็นทางบวก เป็นสิ่งที่ดีๆ มาทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่ฝันแล้วมันมาให้โทษกับเรา สิ่งนั้นคือเราเคยทำกรรมมา แต่กรรมสิ่งที่ทำมาสิ่งนี้ กรรมที่ทำมานี้ไม่รู้ว่าชาติใด เมื่อใดที่ได้ทำสิ่งนี้มา เราก็ทำบุญกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลไป เพราะ ! เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นอดีต เราไปแก้ไขที่อดีตไม่ได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้แก้ที่อดีตเลย แต่ ! แต่ที่พูดนี้อดีตหรือเปล่า.. อดีต ! อดีตเพราะอะไร อดีตเพราะจะชี้ให้เห็นว่าที่มา ก่อนที่จะทำเราต้องรู้ที่มา แล้วเราถึงแก้

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเราไม่รู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร แล้วเราจะไปแก้อะไรล่ะ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งนี้มันเกิดมาจากกรรมใช่ไหม เราก็ทำบุญกุศลกัน แล้วอุทิศส่วนกุศลไป.. นี่ไงบอกว่าทำบุญแล้วไม่ได้บุญ ทำบุญแล้วไม่ได้ผลประโยชน์ นี่อุทิศส่วนกุศลไป แล้วพอนอนไปความฝันนั้นเริ่มจางลง ความฝันนั้นเริ่มเบาลง ความฝันนั้นไม่ค่อยมาทำลายเรา

นี่ไงที่เราว่าทำบุญแล้วไม่ได้บุญไง ที่ว่าทำบุญแล้วไม่ได้ประโยชน์ไง ทำบุญแล้วก็ไปคิดแต่ว่าทำบุญแล้วจะต้องรวย ทำบุญแล้วเงินนี่อยู่ในยุ้งในฉาง แต่ไม่ได้คิดว่าทำบุญแล้วจะมีความสุข ไม่ได้คิดว่าทำบุญแล้วเป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้นสิ่งที่มันนอนไปแล้วนะมันควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็เป็นของเราล่ะ เป็นของเรา บางคนนอนไม่ฝัน นี่พอพูดอย่างนี้แล้วนะมันก็พูดอย่างที่ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ หลวงตา ! ไปไหนไม่รอดต้องกลับมาหลวงตาทุกทีเลยเนาะ หลวงตาท่านจะออกปฏิบัติ ท่านกังวลอยู่ว่ามรรคผลจะมีหรือเปล่า ท่านถึงบอก ท่านอธิษฐานว่า “ถ้าจะออกปฏิบัตินี้ ถ้าประสบความสำเร็จขอให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบอกเหตุมา บอกมาทางนิมิตก็ได้ บอกมาทางฝันก็ได้”

แล้วท่านก็จำวัดไง จำวัตรแล้วพอหลับไปหลับสนิทเลย ฝันว่าตัวเองเหาะขึ้นไปบนเมืองหลวง แล้ววนอยู่ในเมืองหลวงนั้น ๓ รอบ เห็นไหม นี่พอท่านฝันอย่างนั้นปั๊บท่านมั่นใจเลยว่า.. เพราะท่านอธิษฐานก่อนจะฝันไง ว่าถ้าออกไปปฏิบัติ มันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าประสบความสำเร็จขอให้มีสิ่งใดบอกเหตุมา จะเป็นความฝันก็ได้ จะเป็นทางนิมิตก็ได้ แล้วท่านก็นอน

พอนอนแล้วมันก็ฝันไงฝันว่าตัวเองเหาะขึ้นไปบนอากาศ ไปวนรอบเมืองหลวง ๓ รอบ พอวน ๓ รอบเสร็จแล้วก็กลับมาที่เก่า แล้วท่านก็ตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาแล้วมันมีความมั่นใจ เห็นไหม “อื้อ ! ออกไปคราวนี้ต้องประสบความสำเร็จ” ขนาดออกไปประสบความสำเร็จนะ เวลาออกไปปฏิบัติ นี่จากนั้นมาก็ออกปฏิบัติ ไปอยู่จักราช ๑ พรรษา แล้วก็ไปหาหลวงปู่มั่น แล้วก็ไปจิตเสื่อมที่หลวงปู่มั่น ไปสู้กันที่นั่น นี่ขนาดประสบความสำเร็จนะ

นี่ฝัน เห็นไหม จะบอกว่า คนที่ไม่เคยฝันเลย หรือจะฝันเป็นอะไรนี่ แต่เรามีสติปัญญาเราใช้ ไม่ต้องไปตื่นเต้นอย่างนั้น เวลาหลวงตาท่านฝัน ฝันว่าเหาะลอย ๓ รอบ มันเป็นความมั่นใจนะ คนเรานี่นะเหมือนเราออกไปโดยเรารู้ว่าจะประสบความสำเร็จ เราจะมีความมั่นใจ การทำนี่มันทำด้วยความมั่นใจนะ แต่ถ้าเราออกไปสะเปะสะปะนะ โฮ้.. เห็นเขาไปก็จะไปด้วยล่ะ เห็นเขาปฏิบัติก็จะปฏิบัติด้วยล่ะ มันไม่มั่นใจไง

ทีนี้ถ้าจะประสบความสำเร็จ ให้มีสิ่งบอกเหตุ อะไรก็ได้ แล้วก็บอกเหตุมา.. นี่เพราะท่านเป็นคนอธิษฐานเอง แล้วผลมันก็เกิดกับใจท่านเอง นี่คนใดทำเองแล้วรู้เอง มั่นคงเอง การปฏิบัติมันจะมั่นคงของท่านเอง.. ฉะนั้นเราฝันนี่มันสะเปะสะปะ นี่ขนาดเอาฝันหลวงตามาเทียบนะ นี่ก็ฝันอยู่เรื่อยล่ะ

ฉะนั้น “มันเป็นการทำงานของจิตหรือเปล่า.. มันทำงานต่อเนื่องไหม”

มันทำงานต่อเนื่อง แม้แต่เราไม่นอนมันก็ทำงานอยู่ เวลานอนมันก็ทำงานอยู่ เห็นไหม หลวงตาถึงบอกว่า จิตเรานี่ปฏิสนธิในครรภ์ ตั้งแต่วันนั้นล่ะ คือติดเครื่อง จนกว่าเราจะตายไม่เคยพักเครื่องเลย แล้วเครื่องยนต์ที่ไม่เคยดับเครื่องเลย เครื่องยนต์นั้นมันได้ใช้งาน มันจะคงทนแค่ไหน แล้วเรามาพุทโธ พุทโธนี้เพื่อดับเครื่อง

จิตเป็นสมาธิคือจิตสงบ คือมันดับเครื่อง ดับเครื่องได้ ๕ นาที ๑๐ นาที เครื่องของคนไม่เคยดับเลย กับเครื่องของคนได้เคยดับ เคยพักเคยผ่อน เครื่องใครจะดีกว่ากัน.. ทีนี้เรามาทำความสงบเพื่อพักเครื่อง เห็นไหม อันนี้เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ถาม : ๓. เมื่อประมาณอาทิตย์หนึ่งมีเหตุการณ์หนึ่ง พอหนูล้มตัวลงนอนหลับตา พอเริ่มจะภาวนาพุทโธ เหมือนร่างกายเรามี ๒ อัน อันเบากับอันหนัก อันเบาลอยอยู่ข้างบน มันแผ่วๆ และมันจะเลื่อนออกเหลื่อมๆ กันนิดหนึ่ง จิตใจก็กึ่งๆ งงๆ และตกใจนิดหนึ่ง มันแว็บคิดขึ้นมาว่า นี้เป็นวิญญาณออกจากร่าง รู้สึกว่ากระสับกระส่าย หนูเลยค่อยๆ ทำความรู้สึกตัว และค่อยๆ ขยับตัวพลิกดู พอมาตอนเช้าไม่เห็นเป็นอะไรเลย พออีกวันหนึ่งทำท่าจะเป็นอีก คราวนี้จะตั้งใจดูมัน (อีกวันจะตั้งใจดูกลับไม่เห็นไง) มันเป็นอาการสักอย่างของจิตใช่หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : เป็นอาการของจิตทั้งหมด ๓ ข้อนี้มันเป็นเหมือนๆ กัน แต่ ! แต่ความสงสัยมันสงสัยแบบ.. นี่ถ้าเราตอบไม่เคลียร์นะ กลับไปจะมีข้อที่ ๔ ข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖ มา นี้มีมา ๓ ข้อนะ เดี๋ยวจะมีข้อที่ ๔ มา เพราะมันปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน.. ใครสงสัย แล้วพิจารณาแก้ไขโดยตัวของจิตเองนี่มันจะชัดเจนมาก แต่เวลาฟังเขาว่าฟังเขาบอก หรือครูบาอาจารย์บอกมันก็ยังมีความสงสัยอยู่ ถ้ามีความสงสัยอยู่ มันก็จะยังมีความสงสัย.. สงสัย เห็นไหม ถ้าเราพิจารณาของเรา แก้ไขของเราไปแล้วมันจะเป็นไปได้ตามความเป็นจริงนั้น

ฉะนั้นเราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดว่าเวลาภาวนาไป เห็นไหม พอจิตมันเบา ถ้ามีการพุทโธคือมีการกระทำ.. เหมือนน้ำนี่ น้ำโดยปกติมันก็อยู่ของมันนิ่งๆ นั่นล่ะ ถ้าเรามีอะไรเข้าไปทำความสะอาดมัน หรือไปทำอะไรนี่มันต้องมีอาการเคลื่อนไหว

จิตนี้พุทโธ พุทโธอยู่.. พอจิตนี่มันรู้สึกมันเบา มันมีเบามีอันหนึ่งอยู่ข้างบน อันหนึ่งอยู่ข้างล่าง พอร่างกายมันเบาจิตใจมันเบา พอจิตใจมันเบามันเหมือนกับเรากำของสิ่งใดอยู่ เรากำด้วยความแน่นหมดเลย มั่นใจหมดเลย แต่พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ มันเริ่มคลายออก เห็นไหม ในมือของเรา มันมีวัตถุที่เรากำอยู่

อาการของจิตคือขันธ์ ๕ คือความรู้สึก ความนึกคิด.. จิตนี่ พลังงานนี่มันกำอยู่ ฉะนั้นพอเราพุทโธไปพอมันปล่อย.. มันปล่อยนี่มันมีความรู้สึกได้ พอมีความรู้สึกได้ นี่ความรู้สึกว่าธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้ปั๊บ สิ่งที่ว่ามันเหลื่อมกัน มีอันหนึ่งหนักอันหนึ่งเบา

ถ้าสิ่งอะไรเกิดขึ้นกับจิต แล้วเรามีความสงสัย มีความยึดมันไปหมด เราจะต้องแก้ไขอย่างนี้ไปตลอดเลย แต่ถ้าเราจับหลักมัน เราพิจารณาว่า “จิต-อาการของจิต”

จิตคือตัวพลังงาน.. ความรู้สึกความนึกคิด ความหนักความเบานี้เป็นอาการทั้งหมด ถ้าเป็นอาการทั้งหมดนะ แล้วอาการมันมีร้อยแปดพันเก้า ถ้ามีสิ่งใดๆ ปั๊บ ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญอันหนึ่งจนมันเข้าใจแล้วนี่ อะไรที่เกิดขึ้นมามันจะไม่ไปสงสัยอีกไง พอไม่สงสัยอีก อะไรเกิดขึ้นนี่มันก็วางๆๆ มันก็มีโอกาสที่จะสงบได้มากขึ้น เพราะมันจะกลับมาสู่ที่จิตนั้น

ฉะนั้นถ้ามันตื่นนอนตั้งแต่ข้อที่ ๑ เห็นไหม ข้อที่ ๑ มันคลับคล้ายคลับคลา..

ข้อที่ ๒ มันเริ่มภาวนาไป มันมีความรู้สึกว่าเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ..

ข้อที่ ๓ มันมีอาการหนักอาการเบา..

นี่มันจะมี ถ้ามันหยาบมันก็จะหยาบ ละเอียดก็ละเอียด ละเอียดคือความรู้สึกมันจะละเอียดเข้าไป มันจะมีอะไรชัดเจนมากขึ้น พอชัดเจนมากขึ้น เราก็พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ มันเกิดขึ้นได้ มันเป็นไปได้ ความเป็นไปนี้มันเป็นผลงานของเรา

ฉะนั้นอย่าสงสัยไง.. ทีนี้พอคำว่าอย่าสงสัย แต่เราไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดา คือว่าอย่าสงสัยในการกระทำของเรา แล้วถ้าเวลาปฏิบัติแล้ว เราออกมาใคร่ครวญของเรา เวลาบอกว่าการปฏิบัติมันยาก คือมันยากอย่างนี้.. มันยากคือว่า ยากเพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่ถ้าเป็นเรื่องของทางโลกนะ เรารู้เราเห็น เราเข้าใจหมดแหละ

เรื่องโลกๆ นี่รู้เห็นกันทั้งนั้นล่ะ ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้หมดล่ะ อะไรก็พิสูจน์ได้หมดล่ะ เวลาเรื่องของคนอื่นนี่รู้หมดเลย เวลาใครเป็นทุกข์เป็นยากมาปรึกษานะ แนะนำเขาได้หมดเลย ใครมีปัญหามานี่อู้ฮู.. แนะนำเขาได้หมดเลย แต่เวลาตัวเองเจอเข้า งงนะ.. เวลาตัวเองเจอนี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เห็นไหม เรื่องคนอื่นแก้เขาได้หมด ใครมานี่โอ้โฮ.. ทุกข์ขนาดไหนมา โอ้โฮ.. จะช่วยเหลือเจือจานได้หมดเลย แต่เวลาตัวเองทุกข์นี่ โอ้โฮ.. หัวทิ่มบ่อเลย

ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา ถึงเข้ามาถึงใจของเรา เราแก้ไขใจของเรา อย่าสงสัย.. อย่าสงสัยในความเป็นของเรา ในขณะที่ทำ

เวลาหลวงตาท่านสอนนะ “พุทโธ พุทโธนี่เหมือนโลกนี้ไม่มี เหมือนมีเรากับพุทโธเท่านั้น” ทีนี้เราไม่อย่างนั้นนี่ พอเราพุทโธนะ อู้ฮู.. เรื่องนั้นก็ยังไม่ได้ทำ พรุ่งนี้จะต้องไปทำงาน โอ้โฮ.. พุทโธแล้วมันก็แว็บตลอดเลย

เวลาพุทโธแล้วเหมือนไม่มีอะไรเลย เหมือนมีเรากับพุทโธเท่านั้น พุทโธ ! พุทโธ ! พุทโธ ! อะไรจะเกิดช่างหัวมัน นี่มันจะสงบเข้ามาได้.. แต่นี้พอพุทโธแล้วแว็บตลอด แว็บตลอดไง ถ้าพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ก็ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธินี่ใช้ปัญญาใช้ความคิด แล้วสติตามไป ตามความรู้สึกไป ตามไปนี่มันต้องหยุดได้ !

ความคิดเกิดขึ้นต้องหยุดได้ ! เพียงแต่เรา.. เวลามันกำลังจะหยุดๆ ก็ไปใส่ไฟซักที พอจะหยุดๆ ก็เติมไฟซักที เฮ้ย.. จะหยุดแล้วเว้ย ! ฮู๋ย.. มาถึงครึ่งหนึ่งแล้วเว้ย ! อู๋ย.. เติมไฟซักที มันจะหยุดๆ มันก็ใส่ไฟเข้าไปซักที มันก็ลุกขึ้นทีหนึ่ง ไม่เคยหยุดเลย.. ไม่เคยหยุดเลย

แต่ถ้ามีสติตามไปนะ มันหยุดได้ ! มันทำได้ ! แต่พวกเราเพราะกิเลสมันเป็นเจ้านายอยู่ นี่มันถึงทำไม่ได้ซักอย่างหนึ่ง แล้วก็บอกว่า อู้ฮู.. ภาวนาลำบากเนาะ อู้ฮู.. ของจริงนี่เพชร ! เพชรมันก็ต้องมีราคา พลาสติกมันไม่มีราคาหรอก พลาสติกไม่มีราคาแล้วก็มีเกลื่อนไปหมด แต่มันเหมือนกัน นี่เด็กๆ เห็นไหม ดูสิมันใส่เครื่องประดับเต็มตัวเลย แล้วมันหามาจากไหนล่ะ ใครๆ ก็ให้มันได้ แล้วก็ว่ามันง่าย.. มันง่าย..

โฮ้ ! ไอ้ที่พูดนี่นะไม่ได้อิจฉาตาร้อนใครหรอก แต่มันอยากจะบอกให้เห็นว่า ความจริงกับความไม่จริงมันอยู่คู่กัน ของจริงกับของไม่จริงอยู่คู่กัน ก็พยายามบอกของจริงไว้ให้คนมันได้หันมามอง ได้หันมาสนใจบ้าง ไม่ใช่เฮโลกันไปเอาแต่พลาสติก แล้วเพชรเยอะแยะก็เอาให้คนอื่นเขาไปหมด

ตอบอีกข้อหนึ่ง ข้อ ๒๘๓. นะ มันใกล้ๆ กัน พุทโธเหมือนกัน

ถาม : ๒๘๓. เรื่อง “พุทโธอยู่ที่ไหนกันแน่ครับ” (อื้อฮือ.. อันนี้ก็อีกประเด็นหนึ่ง )

พระอาจารย์ให้กำหนดพุทโธที่ปลายจมูก ซึ่งขณะที่ภาวนาพุทโธ ลมก็กระทบปลายจมูกด้วย ถือเป็นอารมณ์สองหรือเปล่าครับ ทั้งๆ ที่แปลกใจและสงสัยอยู่ แต่ก็ไม่สนใจ ขอทำตามที่พระอาจารย์สอนครับ คือภาวนาพุทโธ กำหนดที่ปลายจมูก (โดยที่ยังมีความลังเลสงสัยในใจอยู่) พอจิตเริ่มสงบ (ความฟุ้งซ่านต่างๆ ในหัวใจหายไป) พุทโธกลับไม่ได้อยู่ที่ปลายจมูก กลับไปอยู่ที่ความรู้สึก ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้นึกถึงลมเลย

แปลกใจมากครับตอนแรก หรือนั่นก็หมายความว่าเราสามารถกำหนดพุทโธที่ใดก็ได้ในร่างกาย แต่สุดท้ายพุทโธก็จะกลับมาอยู่ที่ความรู้สึกของเราใช่ไหมครับ ซึ่งต่อๆ มา เวลาภาวนาผมก็ไม่ได้กำหนดพุทโธที่ปลายจมูกแล้ว แต่ผมกำหนดไว้ที่ความรู้สึกเลยครับ แล้วก็แปลกอีกครับ จิตมันสามารถสงบได้ดีและเร็วขึ้นมาก ที่เล่ามาทั้งหมดถูกต้องไหมครับ ถ้าถูกต้อง ผมจะภาวนาแบบนี้ต่อๆ ไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลัวกิเลสตัวเองจะชักนำให้ผิดทางครับ

หลวงพ่อ : ใช่.. ใช่.. ใช่.. พอเราพุทโธ พุทโธนี่นะ เราพุทโธที่ลมที่ปลายจมูก นี่คือการสอนผู้ปฏิบัติที่เริ่มต้น เพราะเวลาปฏิบัติเริ่มต้นเราจะสับสน เพราะจิตใจนี้เป็นนามธรรม แล้วเราจะทำสิ่งใดไม่ได้เลยใช่ไหม เราก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าพุท.. ลมหายใจออกโธ..

ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ เริ่มต้น มันเป็นรูปธรรม.. รูปธรรมแต่จริงๆ แล้วพุทโธ พุทโธ นี่พอบอกพุทโธต้องหาย พุทโธต้องหาย.. มันจะหายต่อเมื่อ ต่อเมื่อจิตมันสงบจริงๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่หายจริง แต่เราไปสร้างภาพว่ามันหาย มันก็เลยไม่เป็นสมาธิ ฉะนั้นเราบอกพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันละเอียดเข้าไปนี่ จากปลายจมูกมันเริ่มหายไป

คำว่าหายไปคือมันรับรู้ละเอียดขึ้น.. ละเอียดขึ้น.. ละเอียดขึ้น แต่สติกับผู้รู้นี้เด่นชัดมาก แล้วถ้ามันขยับไปที่ตัวรู้ เห็นไหม สุดท้ายแล้วมันกลับไปอยู่ที่ความรู้สึก.. ที่ตัวรู้สึก ไอ้ตัวรู้สึกนั่นแหละคือจิต ถ้ามันอยู่ที่ตัวรู้สึก ถ้ามันยังพุทโธอยู่ได้นะมันยังไม่เป็นความจริง.. พุทโธ พุทโธจนมันนึกพุทโธไม่ได้ มันนึกพุทโธไม่ได้ นี่มันนึกพุทโธได้นะ

ที่เราพูดนี้.. ถ้ามันเป็นอย่างที่พูดนี่จริง ถ้าเป็นอย่างที่พูดจริงนี่ใช้ได้ คือการฝึกมันจากหยาบมันไปหาละเอียด จริงๆ จากหยาบไปหาละเอียดนี้ถูกต้อง

แต่ ! แต่พูดถึงว่าถ้ามันเข้าไปอยู่ที่ความรู้สึก แล้วมันเลื่อน.. เพราะหลวงตาท่านใช้คำนี้ ท่านบอกว่า เรานี่เป็นเหมือนเจ้าของบ้าน ถ้าเรานั่งเฝ้าอยู่ที่ประตูบ้าน แขกไปใครมาเข้าออกนี่เราจะเห็นหมด แต่ถ้าพูดถึงเราเป็นเจ้าของบ้าน เวลาแขกคนแรกมาเยี่ยมบ้าน แขกคนแรกเขาเดินมาในบ้านเรา แล้วเราก็ตามแขกคนนั้นไป ประตูบ้านเราก็ถูกทิ้งนะ พอเราทิ้งปั๊บ นี่คนมาคนที่ ๒ ที่ ๓ เราจะไม่รู้ว่าใครมาเลย

ฉะนั้นถ้าเราตามเข้าตามออกมันจะสงบได้ยาก แต่ถ้าเราอยู่เฝ้าที่ประตูบ้าน ใครจะเข้าใครจะออกนี่เราจะรู้หมด เราจะปล่อยใครจะเข้าใครจะออกนะ คือไม่ตามไง คือไม่ตามว่า สมาธิสั้นก็รู้ว่าสั้น ยาวก็รู้ว่ายาว ในตำราจะบอกอย่างนั้น ลมเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น ลมเข้ากลางก็รู้ว่ากลาง ลมเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว ก็ว่ากันไป..

แต่ถ้ามันเข้าอยู่อย่างนั้นนะ มันก็เหมือนกับเราก็จะอยู่กับลมหายใจอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ไม่ละเอียดก็รู้ว่าไม่ละเอียด นี่เรารู้ของเราเอง นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้ามันละเอียดเข้า.. ละเอียดเข้า มันก็เข้ามาอยู่ที่ความรู้สึก ก็ตัวรู้สึกนั่นแหละคือตัวธาตุรู้

ถ้าตัวธาตุรู้ เห็นไหม “พุทโธ.. ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ถ้ามันเข้าไปถึงตัวมัน มันจะชัดเจน มันจะรู้สึกตัวอยู่ มันจะตื่น มันจะเบิกบาน มันจะสว่างของมัน มันจะมีความสงบสงัดของมัน นี่คือตัวจริง ถ้าตัวจริงมันเกิดขึ้น แต่นี้ถ้ามันเข้าไปอยู่ที่ความรู้สึก ถ้ากำหนดได้จริง.. พูดไปนี้มันเหมือนเราพูดดักหน้าเนาะ ไปดักปลาดักไซก่อนมันไม่ดี

เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธที่ปลายจมูกนะ นี่คืออารมณ์สอง.. จะอารมณ์สองหรือไม่สองนี่ มันก็ต้องทำให้ละเอียดขึ้นมา พอละเอียดเข้ามาก็อยู่ที่ความรู้สึก คำว่าความรู้สึกมันยังไม่ใช่ธาตุรู้ เพราะความรู้สึกกับพุทโธมันยังมีอยู่

เราจะบอกว่ากิเลสนี้มันละเอียดไง มันละเอียดคือว่า ถ้าเราทำแล้วนี่มันจะสร้าง เหมือนกับเขาพยายามสร้างผลงานให้เราตามอันนั้นไปไง แต่ผลงานนั้นถ้าเราตามไปแล้ว ถ้าพื้นฐานเราไม่ดีนี่มันจะไหว แต่ถ้าพื้นฐานเราดีนะ มันจะสร้างผลงานมาอย่างไรเราก็ทันตลอดนะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา.. มันนิดเดียวไง ถ้าพื้นฐานดี ทุกอย่างดี แล้วเราทำไปนะมันจะดีไปหมดเลย แต่พื้นฐานไม่ดีใช่ไหม มันสร้างให้เราตามความรู้สึกนั้นไป พอเราขยับตามนะ เดี๋ยวจะเสื่อมหมดเลย.. หายหมดเลย !

ฉะนั้นถ้าเราพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ จะบอกว่า ถ้ามันอยู่ความรู้สึก หรือมันจะมาอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องกำหนดพุทโธไว้ เราถึงบอกพุทโธชัดๆ คำว่าชัดๆ เพื่อป้องกันตรงนี้ไง เพราะถ้าไม่ชัดนะ พุทโธ พุทโธละเอียดไปเรื่อยๆ แล้วก็แว็บหายเลย มันจะแว็บหายเลย พอแว็บหายไปเลยนะ โอ๋ย.. พุทโธหาย อู้ฮู.. พุทโธไม่มีแล้ว อู๋ย.. มันว่างๆ

มันภวังค์หรือมันว่าง ?

มันหลับหรือมันตื่น ?

มันว่างนี่ว่างของใคร ? ว่างของธรรมะหรือว่างของกิเลส ถ้าว่างของกิเลสคือว่างหายไปเลย ตรงนี้.. ตรงนี้หลวงตาท่านบอกว่า

“การภาวนานี้มันมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคือคราวสุดท้าย”

คราวเริ่มต้นเหมือนคนฝึกงานยังไม่เป็นงาน แต่ถ้าใครฝึกงาน หัดงานจนทำงานได้แล้วนะ เหมือนเรานี่ เรากำหนดพุทโธจนจิตสงบเหมือนเรามีทุน มีทุนแล้วเราออกทำธุรกิจ ฉะนั้นถ้าเราพุทโธ พุทโธนี่คือเราฝึกงานเราหัดงาน ถ้าเราทำของเราได้นะ.. เริ่มต้นนี่มันยาก แต่ถ้าเริ่มต้นมีพื้นฐาน มีสิ่งที่ดีขึ้นมา การกระทำของเราต่อไปภาคหน้า มันจะมั่นคงแข็งแรง แล้วทำไปได้ดี

ฉะนั้นพื้นฐาน ที่เราพูดปากเปียกปากแฉะ มันก็ตรงนี้ ตรงนี้เพราะอะไรรู้ไหม ตรงนี้เพราะกระแสสังคมมันแรงมาก.. แรงมากว่าพุทโธนี่ไม่มีประโยชน์ พุทโธมันเป็นสมถะ พุทโธนี่ทำแล้วมันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔

ไอ้พวกเราก็อยากได้ผลงานกัน ก็ทิ้งฐานกันหมดไง แล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็ทำกันไป.. แล้วอย่างที่ว่า นี่ทำไปทำมาก็ไปสปากันนั่นล่ะ ไปสบายๆ อยู่แล้วมันก็ไม่ไปไหนหรอก มันเลยไม่เป็นธรรมะนะ

มันเป็นสัญญาอารมณ์ ! มันเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาธรรมะ สัญญาจากธรรมะของพระพุทธเจ้า สัญญาเป็นโลก แต่ถ้าทำจริงมันต้องหัวหกก้นขวิดอย่างนี้.. มันจะลงจริง ทำจริง ได้ผลจริงแต่มันจะยาก มันจะยากเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่จะทำให้เราพ้นจากกิเลส ทรัพย์ที่จะทำให้เราไม่ต้องมาเกิดมาตาย

เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ไม่พ้นจากการเกิดและการตาย แต่ถ้าเราทำของเราจริงขึ้นมา มันจะเป็นสิ่งที่มาทำความสะอาด มันเป็นธรรมเหนือโลก

“ธรรมะเหนือธรรมชาติ.. เหนือทุกอย่าง”

ทีนี้การที่ว่า สิ่งที่มันเหนือ สิ่งที่มันมีค่าคิดเป็นราคาไม่ได้เลย แล้วเราจะทำกันแบบว่าง่ายๆ แล้วได้มา นี่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้นมันจะยากมันจะง่าย มันก็อยู่ที่วาสนาของคน อยู่ที่การกระทำของคน เราจะเอาของจริง เราไม่ใช่เอาของจอมปลอม เอาของสิ่งที่โลกเขาสร้างภาพกันขึ้นมา

ฉะนั้นเราทำจริงเห็นจริงขึ้นมา แล้วเรามาคุยกัน.. มันดีนะที่เรามีครูมีอาจารย์ มีครูมีอาจารย์เพราะเราปฏิบัติแล้ว แล้วเราก็ไปหาครูบาอาจารย์ เราไปปรึกษาท่านไปอธิบายให้ท่านฟัง ผิดถูกท่านจัดการเรา ท่านบอกเรา นี่มันเป็นประโยชน์กับเรามหาศาลเลย.. ดีกว่าเราทำเองนึกเอง ให้ค่าตัวเอง แล้วก็เป็นพระอรหันต์บ้าอยู่คนเดียวนั่นล่ะ ฉันเป็นพระอรหันต์บ้าๆ ! บ้าๆ อยู่นั่นล่ะ มันก็บ้าอยู่คนเดียว ไม่มีประโยชน์หรอก.. เราต้องทำให้เป็นตามเนื้อหาสาระ ให้เป็นตามความเป็นจริง มันจะทุกข์จะยากก็ให้ทำไป

ฉะนั้นที่เขาบอก “พุทโธมันอยู่ที่ไหนกันแน่ครับ”

“พุทโธเป็นพุทธานุสติ แต่ธาตุรู้นี้เป็นเนื้อของพุทโธ”

จากคำบริกรรมพุทโธ พุทโธจนมันอยู่ แต่เริ่มต้นพุทโธ.. ใช่ อยู่ที่ปลายจมูก ไว้ที่อย่างนั้นก่อน.. นี่เราจะบอกว่าถ้าภาวนาพุทโธอยู่ที่ความรู้สึกได้ ให้พุทโธไป แล้วจำคำนี้ไว้ ! “ถ้าพุทโธมันเลื่อนลอย พุทโธมันจับต้นชนปลายไม่ได้ ให้กลับไปอยู่ที่ปลายจมูกอีก เพราะสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา มันเกิดขึ้นจากปลายจมูก”

เพราะเรากำหนดที่ปลายจมูกใช่ไหม แล้วมันพัฒนาขึ้นมา มันดีขึ้นมา จนมันอยู่ที่ความรู้สึกนี้ถูกต้องไหม.. ถูก ! ถูก ! แต่ถ้าพูดถึง ถ้าเราเข้าไปสู่สิ่งใดโดยทิ้งพื้นฐาน เราจะยืนด้วยตัวเอง เราจะพัฒนาการ นี่มันลืมพื้นฐานมันทิ้งพื้นฐานไป เวลามันเสื่อมแล้วมันจะไม่มี มันจะสร้างตัวขึ้นมาเองไม่ได้

ฉะนั้นเริ่มต้นอยู่ที่ปลายจมูก แล้วถ้ามันกลับมาอยู่ที่ความรู้สึก แล้วถ้ามันภาวนาได้ง่ายให้ภาวนาไปเลย เพราะเราภาวนาขึ้นมาเพื่อต้องการผล ถ้าผลมันออกมา..

“สุดท้ายแล้วพุทโธก็กลับมาอยู่ที่ความรู้สึกครับ ต่อมาเวลาภาวนาผมก็ไม่ได้กำหนดพุทโธที่ปลายจมูกอีกเลย แล้วผมกำหนดไว้ที่ความรู้สึกเลยครับ.. แล้วก็แปลกอีกครับ มันสามารถสงบได้ดีและเร็วขึ้นมาก”

แหม.. คำนี้ถูกใจมาก “มันสงบได้ดีและเร็วขึ้นมาก” ถ้าทำได้จริงทำไปเลย ! ถ้าทำได้จริงนะ.. ทำได้จริงนี่เพราะว่ามันมาจากปลายจมูก มันถึงมีผลอันนี้ แล้วถ้ามาอยู่ที่นี่ปั๊บ พอมันเสื่อม พอตรงนี้ก็เสื่อม ปลายจมูกก็ไม่ได้จับไว้นะ ก็เลยอยู่สุญญากาศไง ตั้งตัวเองไม่ได้.. แต่ถ้ามันตั้งตัวเองได้ เวลามาถึงที่ความรู้สึกก็อยู่ที่ความรู้สึก ถ้าพอมันเสื่อมก็ไปอยู่ที่ปลายจมูก คือเหมือนกับปลายจมูกนี้มันเป็นฐานรองรับไว้ แล้วพุทโธกลับมาอีกมันก็จะดำเนินงานไปได้

นี่พูดถึงว่าเราตอบอย่างนี้เนาะ.. เอวัง