เทศน์บนศาลา

กิเลสพยศ

๖ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

กิเลสพยศ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม.. เราฟังธรรมนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก ท่านปฏิบัตินี่ท่านฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา เห็นไหม เพราะใจท่านเป็นธรรม แต่ในปัจจุบันนี้ใจของเราเป็นโลก.. ใจของเราเป็นโลกเพราะมันคิดแต่เรื่องของโลกไง คิดแต่ความเป็นไปของโลก แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติเป็นแล้วนะ ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า “เป็นหรือไม่เป็น”

ถ้าภาวนาเป็น นี่มันก้าวเดินต่อไปได้แล้วเพราะภาวนาเป็น.. คนทำงานเป็นนะทำอะไรมันก็ถูกต้องไปหมด คนทำงานไม่เป็นทำสิ่งใดก็ผิดไปหมด ฉะนั้นจิตใจของเราถ้าเป็นโลก เราจะคิดธรรมะตรึกธรรมะขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ เพราะมันเป็นสัญญาไง มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นความคิดออกมาจากใจ มันไม่ใช่ตัวเนื้อหาสาระของใจ

ถ้าเป็นเนื้อหาสาระของใจ เห็นไหม ใจมันต้องสงบเข้ามา.. ถ้าใจสงบเข้ามา นี่เราเคยได้ลิ้มรสของความสงบและความฟุ้งซ่าน คนเรารู้จักความสงบและความฟุ้งซ่าน สิ่งที่มันฟุ้งซ่าน ที่มันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ เป็นเรื่องโลกๆ เราได้สัมผัสมา ไม่ต้องมีใครบอกหรอก เราจะรู้ของเราเอง ทุกคนเกิดมานี่มันมีชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง.. เพราะทุกคนเกิดขึ้นมานี่มันมีสัมผัสของมันมาอยู่แล้ว

สัญชาตญาณของมนุษย์ สัญชาตญาณของเทวดา สัญชาตญาณของอินทร์ ของพรหม มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์.. กำเนิด ๔ ! จิตนี้ต้องกำเนิดอยู่แล้ว จิตมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันต้องมีการเกิดของมันเป็นธรรมดา

เป็นธรรมดานะ ! ธรรมะเป็นธรรมดา การเกิดก็เป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นธรรมดาเพราะเวรกรรมมันพาเกิด.. คนทำดีมา เห็นไหมคนทำดีมาทุกคนมีทั้งดีและชั่ว ไม่มีใครทำความดีมาตลอดโดยไม่เคยทำความผิดพลาดสิ่งใดเลย ทำความชั่วสิ่งใดเลย.. ไม่มี คนจะทำชั่วสิ่งใดขนาดไหนมา มันก็ต้องมีความดีของเขามาเป็นภพเป็นชาติ เป็นครั้งเป็นคราว มีมาเหมือนกัน

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าทำดีทำชั่ว สิ่งนี้วาระมันให้ผลไง นี่เขาถึงไม่ให้ดูถูกกันนะเขาไม่ให้ดูถูกกัน แม้แต่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดูสิพระโพธิสัตว์ เห็นไหม สร้างบุญกุศลมาขนาดไหน เวลาเกิดเป็นเดรัจฉานก็เป็นเดรัจฉาน แต่เป็นเดรัจฉานโพธิสัตว์ แต่เวลาเดรัจฉานนั้นเป็นเดรัจฉาน เป็นเรื่องปกติของเขา

ฉะนั้นสิ่งที่ทำดีและทำชั่วมาในหัวใจ สิ่งนี้มันมีของมัน เห็นไหม นี่เวลาเกิด “ชาติปิทุกขา.. ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ในเมื่อความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความเกิดนี้เป็นโลก สิ่งที่เป็นโลกกับความรู้สึกนี้มันมีอยู่แล้ว.. ความรู้สึก ความทุกข์ความยากนี่มันมีตามธาตุขันธ์มันมีอยู่แล้ว แต่ความสงบร่มเย็นของใจมันยังไม่เกิด

ถ้าความสงบร่มเย็นของใจมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาโดยการประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาเป็นชาวพุทธและพบพุทธศาสนานี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐมากๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาต้องแสวงหา ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติค้นคว้าเอง.. เวลาค้นคว้าเอง เวลาประพฤติปฏิบัติ ขณะที่ค้นคว้าเราไม่ไปรู้ไปเห็นด้วย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาเป็นศาสดาของเรา นี่พุทธกิจ ! พุทธกิจ พุทธจริยาวัตร มันมีความสวยงาม.. ความสวยงาม ความนุ่มนวลอ่อนหวานอย่างนั้นมันเป็นกิริยา เพราะเป็นศาสดาไง ดูสิ เวลาสัตว์ เห็นไหม หัวหน้าสัตว์ ฝูงสัตว์ ถ้าสัตว์ตัวไหนมันมีความองอาจ มันมีความกล้าหาญของมัน มันเป็นหัวหน้าของฝูงของมัน ดูแล้วนี่มันมีอำนาจของมัน

นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ปราบกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่ชำระกิเลสในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นศาสดา เป็นครูเอกของเรา เป็นตัวอย่างของเรา เราเห็นสภาวะแบบนั้น เราก็เห็นว่าเป็นความสวยงามเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่ธรรมดา เราเห็นของเราเราก็ชื่นใจของเรา

นี่เราเห็นโดยอะไร เห็นโดยการที่เราศึกษา เราศึกษาทางทฤษฎี ศึกษาทางตำรับตำรา ศึกษาทางพระไตรปิฎก เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ที่ไหน เทศนาว่าการที่ไหน เทศน์สอนใคร เทศน์เรื่องอะไร ศึกษามานี่เราศึกษาได้ ทีนี้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาจิตสงบเข้าไปล่ะ

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าจิตสงบเข้าไป ความร่มเย็นเป็นสุขของเรา เห็นไหม เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราด้วย เรามาประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมานี่เรายิ่งเชื่อมั่น ! เราเชื่อมั่นของเราขึ้นมา แล้วมันซึ้งบุญซึ้งคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีความเข้มแข็งของเรา มีความจริงจังของเรา ถ้ามีความจริงจังนะ พอความจริงจังกันเราบอกว่าอย่างนี้มันเป็นความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากนะ สิ่งที่ทุกข์ที่ยากเพราะอะไร เพราะเรามีสติมีปัญญาของเรา งานทางโลก.. งานทางโลกนะงานบริหารจัดการ งานต่างๆ เขาไหว้วาน เขาเกื้อกูลกันได้ แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์.. รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยทางใดล่ะ

เวลาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เราจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เราก็พยายามจะเผยแผ่ธรรมกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เผยแผ่ธรรม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพุทธกิจ ๕ ด้วย.. เล็งญาณ เห็นไหม เล็งญาณจะเผยแผ่ นี่คนเขาพร้อม คนเขาเป็นไปได้ คนเขาจะมีความพอใจ คนเขาจะมีอำนาจวาสนา จะรู้ซึ้ง จะเห็นประโยชน์ เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ไหม

แต่นี่เราเห็นเป็นประโยชน์สิ เห็นไหม ไก่ได้พลอย มันเห็นพลอยเห็นค่าเป็นประโยชน์กับมัน เห็นพลอยไม่มีคุณค่า.. นี่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของใคร เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ของคนที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เขาแน่นหนา เขาก็มีประโยชน์ของเขาในทางโลกๆ ของเขา แต่ถ้าประโยชน์ทางธรรมล่ะ เห็นไหม

“เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของใคร”

นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณว่า เขาพร้อมไหม เขามีอำนาจวาสนาจะเข้าใจสิ่งนั้นได้ไหม.. เวลาพูดสะกิดใจนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนกันมา ครูบาอาจารย์ของเรานี่บอกว่า “เวลาแสดงธรรมนี่ต้องทิ่มเข้าไปในหัวใจ ทิ่มเข้าไปที่ใจดำนั้น”

ธรรมะมันสะเทือนหัวใจนะ ! แต่ทางโลกเขาสงวนรักษามารยาทสังคม พูดสิ่งใดให้ถึงเนื้อหาสาระ ว่ามันเป็นการเสียมารยาท แต่เวลาแสดงธรรม เห็นไหม เวลาธรรมนี้มันทิ่มเข้าหัวใจ.. ทิ่มเข้าหัวใจเพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น ถ้ากิเลสอยู่ที่นั่นกิเลสมันก็ตื่นตัวใช่ไหม กิเลสมันก็ตื่นตัว ความองอาจกล้าหาญ ความจริงจังของเรา ความมุมานะของเรามันก็เกิดขึ้นมา.. นี่เราบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นกิเลส มันต้องทำนุ่มนวลอ่อนหวาน เราต้องทำความนุ่มนวล ทำความนิ่มนวลอ่อนหวาน.. สิ่งนั้นเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้นแหละ

คำว่าเป็นกิเลส เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำแล้ว ปฏิบัติแล้ว ฆ่ากิเลสแล้วถึงมานุ่มนวลอ่อนหวาน แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวาน นี่ทำอะไรก็ทำด้วยความสะดวก ทำอะไรก็กลัวจะเสียมารยาท ทำสิ่งใดก็เพื่อการประพฤติปฏิบัติ นี่มันไปคุ้นชินนะ ถ้ามันไปคุ้นชินกับกิเลสของเราใช่ไหม ดูสิเพื่อนเราหรือหมู่คณะของเรา ถ้าเขาคิดร้ายกับเรา แต่เขามาในทางเป็นมิตร เขาเข้ามาแล้วทำความคุ้นเคยกับเรา มาพูดช่วยเหลือเจือจานเรา เสร็จแล้วนี่เขาเป็นพวกเรา เราก็ไว้ใจใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นกิเลส เห็นไหม กิเลสก็เป็นของเรา สิ่งอะไรต่างๆ กิเลสก็ของเรา ทุกข์ก็เป็นของเรา สรรพสิ่งก็เป็นของเรา เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มันเป็นธรรมและวินัย เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอศึกษาขึ้นมาแล้วก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม.. กิเลสมันก็เอาสิ่งนั้นมาอ้างอิงได้ด้วย เวลามันนุ่มนวลอ่อนหวานนะเราก็เชื่อมันไป “อู๋ย.. ปฏิบัติไปนี่ เข้าใจแล้ว รู้แล้ว”

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ ! แต่ลึกๆ นะทุกคนบอกเลยบอกว่า เราปฏิบัติกันเพื่อจะให้มีบุญกุศล เพื่อจะไปชำระกิเลสในภพชาติต่อๆ ไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์.. ลึกๆ เขาอธิษฐานกันอย่างนั้น เขาไม่ได้คิดว่าเขาจะฆ่ากิเลสกันในปัจจุบันนี้ เขาไม่กล้า ! เขาไม่คิดว่าเราจะจริงจัง เราจะชำระกิเลสของเราได้

นี่เราถึงบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ มีคุณค่ามาก ขนาดเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา นี่เรามีบุญกุศลกันขนาดนี้ แล้วเวลาจะปฏิบัติทำไมเราทำไม่ได้ อาหารนี่เราตักใส่ปากได้ เราเคี้ยวกลืนเข้าไปในกระเพาะของเราได้ มันเข้าไปเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเรา เรายังเคี้ยวกลืนเข้าไปได้

จิตใจของเราถ้ามันตั้งสติขึ้นมา แล้วมีคำบริกรรม แล้วมีปัญญาอบรมสมาธิทำให้มันจิตสงบ ทำไมจิตมันสัมผัสไม่ได้ ทำไมจิตใจมันสัมผัสมันเคี้ยวกลืนกิเลสไม่ได้ ถ้าจิตใจมันเคี้ยวกลืนกิเลสได้ มันจะทำให้จิตใจนี้สงบได้ ถ้าจิตใจนี้สงบได้มันจะเห็นความแตกต่าง อย่างที่ว่าเราเกิดมานะ เกิดมาโดยบุญกุศล เกิดมาเป็นมนุษย์สมบัติ เห็นไหม การเกิดมานี้มันเป็นสัญชาตญาณ ความทุกข์ไม่ต้องพูดถึง ความรู้สึกความเศร้าหมอง ความอึดอัดขัดข้องหมองใจนี้มันมีเป็นธรรมดา

ชาติ.. ชาติปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง การเกิด การตาย การสัญญาอารมณ์ สิ่งที่พลัดพรากจากหัวใจ เห็นไหม ความทุกข์เริ่มต้นแล้วก็ความทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ นี่ความทุกข์มันเป็นเรื่องที่มีโดยสัญชาตญาณ มีโดยธรรมชาติ มีโดยสัจจะความจริง อ้าว.. แล้วเกิดมาทำไมล่ะ ไหนว่าเกิดมามีอริยทรัพย์ เกิดมาชีวิตมนุษย์นี้เป็นทรัพย์สมบัติที่มีคุณค่ามาก แล้วเกิดมายังทุกข์อย่างนี้อีกเหรอ

“การเกิดมีคุณค่ามาก มีคุณค่าในวัฏฏะ” ในวัฏฏะ เห็นไหม เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็เพลิดเพลินไป เสวยทิพย์สมบัติไป เกิดในนรกอเวจีก็ทุกข์ๆ ยากๆ นี่จะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์มันก็ทุกข์ ทุกข์โดยความจริงของมัน แต่ถ้าคนหยาบนะ นี่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็เสวยสุข จะเสพแต่ความสุขความพอใจของตัว

ถ้ามันพอใจ มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข มันพอใจมันก็เป็นความสุขของมัน ความสุขอันหยาบๆ ของโลกเขา นี่เขาคิดกันอย่างนั้น เห็นไหม เขาคิดว่าสิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้เป็นมนุษย์สมบัติไง แต่ถ้าธรรมะล่ะ.. ธรรมะเกิดมาเป็นมนุษย์เพราะมนุษย์มีธาตุมีขันธ์ มนุษย์มีความพร้อม มีความรู้สึก มีความนึกคิด มีปัญญา มีศักยภาพ มีสิ่งที่จะบรรลุธรรมได้

ธรรมะคืออะไร.. ธรรมะคือสัจธรรม ! ธรรมะคืออริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. มรรคญาณ มรรคที่เกิดขึ้นมาจากสัจจะความเป็นจริง ที่จะกลับมาเคี้ยวกลืน ทำลายกิเลส สิ่งนี้ต่างหากที่ว่ามนุษย์มีสิทธิทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ ! แต่มนุษย์นี่ มนุษย์ไม่ใช่เพลิดเพลินไปกับโลกเขา เกิดมาเราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยนี้เป็นเรื่องธรรมดานะ

การประกอบสัมมาอาชีวะ สิ่งนี้ไม่เป็นกิเลสหรอก แต่สิ่งที่เรายึดติดมัน ติดพันกับมัน เราจะพลัดพรากจากมันไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นกิเลส.. นี้ถ้ามันไม่เป็นกิเลส แต่มันเป็นของเราจริงหรือเปล่าล่ะ

เห็นไหมเราใช้ธรรมะ เราใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไตร่ตรองใคร่ครวญนี่เราก็เข้าใจได้.. เข้าใจได้นี่ก็ว่ามีความเข้าใจ มีความปล่อยวาง แล้วก็ว่านี่สัจธรรม.. อย่างนี้เป็นสัจธรรม.. นิ่มนวลอ่อนหวาน มีความคุ้นเคย ปฏิบัติให้มันเข้มงวดเกินไป เข้มข้นเกินไป สิ่งนั้นมันก็เป็นความทุกข์ความยาก นี่ว่าเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เกิดในพุทธศาสนาแล้ว ปฏิบัติแล้วก็สมควรว่าเราเป็นชาวพุทธแล้ว.. นี่กิเลสก็เป็นเรา เราก็เป็นกิเลสไป เห็นไหม เขาปฏิบัติไม่จริง

ถ้าปฏิบัติจริง ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติจริง สิ่งที่เป็นทุกข์มันก็มีของมัน สิ่งที่เป็นความพอใจ ศึกษาธรรม.. ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีคุณค่ามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรนะ แสดงธรรมจักรเพราะประกาศธรรม ประกาศว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว แล้วจะสั่งสอนใคร อาฬารดาบสก็ตายเสียแล้ว จะมาสอนปัญจวัคคีย์

ขนาดเทศน์ปัญจวัคคีย์นี่เทวดาก็ได้ยินได้ฟังด้วย เทวดาส่งข่าวต่อๆ กันไป เพราะเทวดาเขาเป็นทิพย์ ทิพย์จักษุของเขา เขาเข้าใจได้ดีกว่าเรา แต่นี่มนุษย์ฟังแล้วยังงงๆ นะ ปัญจวัคคีย์ฟัง เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะฟังไปไตร่ตรองไป เพราะปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี ทำความสงบของใจ มีฐานของใจพอสมควร แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีใครชี้ทางออกให้ได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะนี่ใช้ปัญญาไตร่ตรองตามไป

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา”

นี่เห็นตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานเลย.. เพราะปฏิบัติมามันเป็นความลึกซึ้ง แล้วใครจะรู้ได้ แต่นี้มีพยานแล้วนะ

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ! อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ !”

นี่พูดถึงเวลาสอนมนุษย์.. เทวดา อินทร์ พรหมก็ส่งข่าวต่อๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ เลยนะ ว่า “นี่ธรรมจักร.. สัจธรรม.. มรรคญาณ เห็นไหม นี่อริยสัจมันเคลื่อนแล้ว ! มันมีแล้ว ! มันเกิดขึ้นแล้วในโลก มันจะย้อนกลับไม่ได้เลย” เขาดีใจเขาส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เราฟังกันแล้วเป็นอย่างไรล่ะ.. เราฟังกันแล้ว เราศึกษาแล้ว พอเราเข้าใจ นี่ไงเป็นธรรมๆ

นี่ไงว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมนี่.. พุทธศาสนานี่.. อริยสัจนี่สุดยอด ! มันเป็นธรรมโอสถ สิ่งที่จะชำระกิเลสของเรา ที่เราเกิดมาทุกข์ๆ ยากๆ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ การเกิดเป็นมนุษย์มีคุณค่ามาก การเกิดเป็นมนุษย์นี้เพราะสร้างบุญกุศลมา ถ้าไม่สร้างบุญกุศลมา มันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ผลของวัฏฏะนี้ เห็นไหม ดูสิในบ้านของเรา เราสร้างบ้านไว้หลังหนึ่ง มันมีปลวก มีตุ๊กแก มีจิ้งจก มีแมลงสาบ มีทุกอย่างเลยอาศัยในบ้านของเราไปด้วย !

นี่ก็เหมือนกัน จิตหนึ่งทั้งนั้น ! แมลงตัวหนึ่งก็จิตหนึ่ง เวลามันเกิดขึ้นมา มันก็เวียนตายเวียนเกิดของมัน นี่ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เราเป็นเจ้าของบ้าน ในบ้านเราก็มีสัตว์ มีสิ่งที่พึ่งพาอาศัยมากมายมหาศาลเลย.. นี่มันก็เป็นผลของวัฏฏะ เห็นไหม แล้วเราเป็นมนุษย์ เราเป็นเจ้าของบ้าน ดูสิเจ้าของบ้าน จิ้งจกมันก็ว่ามันเป็นเจ้าของบ้าน ปลวกมันก็ว่ามันเป็นเจ้าของบ้าน มันก็ว่าบ้านของมัน แล้วสิทธิมันเป็นของใครล่ะ สิทธิมันเป็นของใคร ..

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีอำนาจวาสนาของเรา เรามีปัญญามากกว่าเขา เรามีโอกาสมากกว่าเขา สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของโลกๆ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เราทำของเราจริงๆ ถ้าเราทำของเราจริงๆ จิตมันสงบไปแล้วนะ.. ถ้าทำพุทโธ พุทโธนี่จิตมันไม่สงบ

จิตมันไม่สงบ เห็นไหม เพราะสิ่งที่ว่าสงบนะ ในปาราชิก ๔ นี่อวดอุตริมนุสธรรม แม้แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์เป็นฆราวาส เขาไม่มีตรงนี้ เขาถือศีล ๕ นี่ศีล ๕ ต่างๆ เขาไม่ได้ถือเหมือนพระ ถ้าพระ เห็นไหม เวลาอวดอุตริมนุสธรรม.. ฌานสมาบัติ ทำสมาธินี่ถ้าไม่มีในตน พูดอวดไปก็เป็นปาราชิก เหมือนเราอวดอุตริมนุสธรรม คำว่าอุตริมนุสธรรม คือธรรมเหนือมนุษย์ไง

ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม นี่ธรรมที่เหนือมนุษย์ ! มนุษย์เรานี่มีสมาธิอยู่แล้ว มนุษย์เราเกิดมา คนนี่มีสมาธิอยู่แล้วแต่เป็นสมาธิของปุถุชน ถ้าเราไม่มีสมาธิเราก็เป็นคนใบ้บ้าไปแล้ว แต่ความเป็นสมาธิ นี่เป็นสมาธิได้แค่นี้ สมาธิสั้น สมาธิยาว.. คนที่เขาสมาธิดี ทำสิ่งใดเขาก็ประสบความสำเร็จของเขา เพราะเขามีสมาธิของเขา การทำของเขา เขาก็มีปัญญาได้ดี

ฉะนั้น แต่เราต้องการจะบรรลุธรรม เราต้องการสัจธรรม เราต้องการอริยสัจ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะถ้ามีสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่เวลามรรค.. เขาบอกว่ามรรคองค์แรกคือความดำริชอบ คือต้องมีปัญญาก่อน.. นี่ปัญญาก่อน ใช่ ! มันมีปัญญาก่อน แต่ปัญญาก่อนนี้มันเป็นปัญญาที่เราจะใช้ในแง่มุมของอะไรล่ะ เพราะปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“ปัญญา ๓ ! สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา”

เวลาเราพิจารณากัน เราใช้ปัญญาของเรานี่เราจินตนาการได้ จินตนาการธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่จินตนาการ จินตมยปัญญา.. จินตมยปัญญามันไม่เข้าสู่อริยสัจ มันไม่เข้าสู่ความจริงเลย มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

ฉะนั้นพอเราใช้ปัญญาอย่างนี้ขึ้นไป เห็นไหม นี่กิเลสมันก็นุ่มนวล กิเลสมันก็เข้าร่วมด้วย ถ้ากิเลสเข้าร่วมด้วย กิเลสก็เป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเรา ปฏิบัติก็นุ่มนวลอ่อนหวาน โอ้โฮ.. มีความละมุนละไมไปหมดเลย แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงนี่เป็นจริงเพราะอะไร เป็นจริงเพราะกิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน

กิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน.. อวิชชาอันเดียวกัน ! แต่กิเลสของคนไม่เหมือนกัน ! มันหยาบละเอียดแตกต่างกัน ในเมื่อมันหยาบละเอียดแตกต่างกัน คนกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ โดยความตั้งใจ ศรัทธาจริต ผู้ที่ศรัทธาจริต เขามีศรัทธาความจริง เขาเชื่อมั่นของเขาจริงๆ เขาทำของเขาด้วยความมุ่งมั่นของเขา แล้วเขามีอำนาจวาสนาของเขา เขาพุทโธ พุทโธ พุทโธไปนี่จิตมันได้มีคำบริกรรม

คำว่าจิตได้มีคำบริกรรม เห็นไหม เวลาทำงานทางโลกกัน ผู้บริหารเขาใช้ปัญญาของเขา เขาใช้สมองของเขา เราเป็นชาวไร่ชาวนา เราต้องอาบเหงื่อต่างน้ำของเรา นี่งานที่ทำโดยสัมมาอาชีวะ งานโดยหาปัจจัยเครื่องอาศัยของโลก แต่เวลาปฏิบัตินี่งานของใจ ! ถ้างานของใจ จิตถ้ามันมีคำบริกรรม มันต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานมันก็เถลไถล มันก็ไม่เอาไหน มันก็ไม่เป็นเอกภาพ มันไม่เป็นตัวของมันขึ้นมา

ฉะนั้นเราถึงต้องมีคำบริกรรม.. บริกรรมเพื่อไม่ให้จิตของเราเหลวไหล ถ้าไม่ให้จิตของเราเหลวไหลนี่บริกรรมพุทโธ พุทโธ แต่ถ้าคนที่เป็นพุทธจริต พุทธจริตนี้คือผู้ที่มีปัญญา มีปัญญาก็ว่า “พุทโธนี่มันโง่ พุทโธไม่มีอะไร พุทโธ พุทโธนี้มันก็เป็นการท่องบ่น...” เห็นไหม คำว่าท่องบ่นนะ คำบริกรรมนี่เราระลึกขึ้นมา นี่วิตกวิจาร !

คำว่าท่องบ่น.. เราไปดูถูกเหยียดหยามกันเอง เราไปให้ค่ามันต่ำเอง กิเลสเห็นไหม กิเลสมันนุ่มนวลอ่อนหวาน แต่ทำลายนะ มันทำลายโอกาส ทำลายจิตใจของเรา ทำลายสิ่งที่ควรจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่มันพุทโธ พุทโธมันก็ท่องบ่น แต่ถ้าเป็นสัจธรรมเป็นความจริงนะ ระลึก ! นี่ตรึก เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธมันวิตกวิจาร.. วิตกขึ้นมา ถ้าเราไม่นึกพุทโธใครจะเป็นคนนึก ถ้าจิตใจไม่นึกพุทโธมันก็เหลวไหล มันนึกพุทโธไว้ไกลๆ แต่ตัวมันเองมันบังของมันไว้ แล้วบอกว่าทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ ไม่ได้ไปหมดเลย

นี่ไงเพราะกิเลสมันขวางหมดเลย แต่เราไม่เคยเห็นไง แต่ถ้าพอมันทำตามใจมันนะ “เออ.. ทำอย่างนี้ ทำเบาๆ เนาะ ทำแล้วมันก็มีความร่มเย็นเนาะ..” นี่กิเลสกับการปฏิบัติมันร่วมมือกัน มันรู้เห็นกัน แล้วปฏิบัติไปนะ นี่ไงปฏิบัติธรรมโดยกิเลส ! ก็เลยไม่เห็นว่ากิเลสมันเป็นโทษอย่างใด ไม่รู้จักกิเลส ไม่เห็นกิเลส แล้วจะไปฆ่ากิเลสได้อย่างใด

นี่ไงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ชำระกิเลส ฆ่ากิเลส ทำลายกิเลส ทำลายอย่างใด.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำลายกิเลส เห็นไหม

“มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา บัดนี้เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดในใจของเราไม่ได้อีกแล้ว”

เยาะเย้ยมาร มารนี่คอตกนะ จนลูกสาว พญามารว่า “พ่อเป็นอะไร พ่อเป็นอะไร..” บอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดจากมือเราไปแล้ว” นี่ตัวพญามารนะ.. เวลาลูกมาร นางตัณหากับนางอรดี นี่เราจะไปเอาคืนให้ จะไปเอาพระพุทธเจ้าคืนมา จะไปยั่วไปยวน เห็นไหม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำลาย พอทำลายมารคอตกเลยนะ แต่ของเรานี่เราไปร่วมมือกับมัน เราเอามารกับความรู้สึกของเราแล้วมาศึกษาธรรม แล้วเรามาปฏิบัติธรรม

เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักมันเลย แล้วบอกพระพุทธเจ้านุ่มนวลอ่อนหวาน เราพระป่าปฏิบัติธรรมจะมาเข้มแข็ง จะมาเป็นรุนแรง จะมาเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะเขาไม่รู้จัก คนไม่รู้จักว่านี้เป็นเพชฌฆาต แล้วเพชฌฆาตเขาจะฆ่าทำลายอยู่แล้ว มันยังบอกว่า “นี้เป็นพวกเรา นี้เป็นเพื่อนเรา นี้เกิดมาร่วมกัน เราเกิดมาร่วมกัน เราอาศัยด้วยกันมา เราไว้เนื้อเชื่อใจ” เห็นไหม นี่กิเลสมันนุ่มนวลอ่อนหวาน ไม่มีสิ่งใดจะเป็นการทำเพื่อเป็นประโยชน์ เป็นสัจธรรมขึ้นมาในหัวใจเลย

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมาก่อน ไอ้เรานี่มันก็มืดบอดมาทั้งนั้นแหละ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ออกปฏิบัติใหม่มันก็มืดบอด มันก็ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมา แต่เพราะเราเกิดมา เรามีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาเพราะเรามีครูมีอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์ของเราคือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้บุกเบิก ท่านเป็นผู้ค้นคว้า ท่านเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยอำนาจวาสนาด้วยบารมีของท่าน ทั้งๆ ที่มีธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้วแหละ แต่เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติไป เพราะไม่มีใครชี้นำมันต้องเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมดา

กิเลสกับเรา ความรู้สึกกับเรา ปฏิบัติกับเรา มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม.. ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่ด้วยอำนาจวาสนาของท่าน อำนาจวาสนาของท่านล้มลุกคลุกคลานมาก็ตรวจสอบกัน เพื่อพยายามแก้ไขกัน นี่แก้ไขกันมา เทียบเคียงกับพระไตรปิฎก เทียบเคียงทุกๆ อย่าง พยายามเอาตัวรอดมาให้ได้ แล้วเอาตัวรอดมาให้ได้นี่ จนกระทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้.. ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้เพราะอะไร ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้เพราะว่าเวลาท่านสั่งสอนออกมานี่ เวลาครูบาอาจารย์เราฟังเทศน์ของท่าน ท่านเทศน์ออกมานี้เราคาดไม่ถึง เราคาดไม่ได้

เจ้าคุณอุบาลีท่านเป็นผู้ที่วางการศึกษา ท่านเป็นนักปราชญ์ เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เห็นไหม “อู้ฮู.. หลวงปู่มั่นนี้ท่านฉลาด ท่านมีปัญญา” ยังชื่นชมว่าสิ่งที่ทำนี่ออกมาจากหัวใจ ยังชื่นชมยังเห็นด้วย.. นี่ไงเพราะอะไร เพราะว่าเวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ขึ้นมาตามความเป็นจริงของท่านแล้ว ท่านแสดงธรรมออกมา ท่านสั่งสอนลูกศิษย์มา มันไม่มีที่ใดจะคัดค้าน ไม่มีสิ่งใดที่เราโต้แย้งได้เลย เพราะอะไร เพราะเราจะเอาปัญญาของเราโต้แย้งสิ่งใด มันก็ไม่มีทางโต้แย้งได้

แต่ขณะนี้เราเกิดมาร่วมภพร่วมสมัย เราเกิดมาแล้วพบครูบาอาจารย์ นี่มันเป็นโอกาสของเรา มันเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติ นี่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาอย่างนี้ ท่านชี้นำอย่างนี้ แต่เวลาเราปฏิบัติของเราเอง เราก็จะไปนุ่มนวลอ่อนหวานกับมัน ถ้านุ่มนวลอ่อนหวานกับมัน กิเลสก็เป็นเรา เราก็เป็นกิเลส ก็อยู่กับมันอย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าเราพุทโธของเรา เราทำด้วยความจริงจังของเรา เห็นไหม ด้วยความระลึกขึ้นมา !

การระลึกคำบริกรรม จิตมันระลึกขึ้นมานี่ตัวมันทำ.. ถ้าตัวมันทำ ตัวมันกำหนดคำบริกรรม แล้วถ้ามันจะคิด นี่ที่ว่าพุทโธชัดๆ ถ้ามันบริกรรมของมันโดยเต็มตามสภาพของมัน มันจะคิดออกไปไหนได้อีกล่ะ ถ้ามันคิดไปได้แสดงว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มันสักแต่ว่า แล้วจิตมันแฉลบออกไปคิด นี่ไงเพราะสิ่งนั้นแฉลบออกไปคิด แต่ว่าถ้าเราตั้งใจของเราแล้วว่าไม่ให้มันออกไปเลย ไม่ให้ออกไปเลยนี่เราก็ทำไม่ถึงที่สุดของมัน

ถ้าถึงที่สุดของมันนะ โดยข้อเท็จจริง เหมือนวิทยาศาสตร์เลย นี่ดูสิเวลาไฟจุดขึ้นมามันก็สว่าง ถ้าจิตของเรามันบริกรรมเต็มที่ของมัน ถึงที่สุดของมัน แต่ ! แต่ที่มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราทำไม่ถึงที่สุดของมัน แล้วก็ละล้าละลังไง ละล้าละลังเพราะอะไร เพราะเราเกิดความลังเลสงสัยว่าเราก็ทำแล้ว

คำว่าทำแล้วใช่ไหม นี่ไงกิเลสเป็นเราแล้ว จะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ ดูสิเวลาพระโพธิสัตว์ เห็นไหม นี่ขนาดว่าเวลาเป็นกระรอกอยู่ชายทะเล แล้วเวลาลมพัดมา รังกระรอกนั้นมันตกไปในน้ำทะเล ด้วยความรักลูกนะ เอาหางจุ่มน้ำไปในทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด เอาหางจุ่มน้ำในทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด จนเทวดานะแปลงกายมาเลย

“กระรอกทำอะไร นี่ทำอะไร”

“จะเอาลูกคืน”

“ลูกอยู่ไหนล่ะ”

“ลูกอยู่บนต้นมะพร้าว แล้วลมพัดรังตกไปในทะเล”

แล้วเอาหางจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัด.. สะบัดเพื่ออะไร เพื่อให้น้ำทะเลนั้นแห้ง สะบัดให้น้ำทะเลแห้งเพื่อลูกจะได้ขึ้นมาจากน้ำทะเลนั้น ดูสิความรู้สึก ความนึกคิด แล้วทำอยู่อย่างนั้น จนเทวดาทนไม่ไหว เทวดาต้องเอาลูกขึ้นมาคืนให้ ดูสิ นี่เอาหางกระรอกไปชุบน้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัดจนกว่าน้ำทะเลจะแห้ง !

นี่ดูความมั่นใจ ดูการกระทำนะ จนเทวดาก็สู้น้ำใจไม่ได้ จนเทวดาจะต้องเอากระรอกขึ้นมาคืนให้.. นี่พระโพธิสัตว์นะ ขณะที่เป็นสัตว์นะแต่ก็มีความเข้มแข็ง มีความจริงจัง ทำต่อเนื่องอย่างนั้น ไอ้เราทำต่อเนื่อง ต่อเนื่องในความรู้สึกของเราไง ถ้ามันต่อเนื่องแล้วมันต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีการกระทำของมัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา

นี่เวลาปัญญาอบรมสมาธิ.. เวลาจิตมันสงบบ้างแล้วหัดใช้ปัญญา หัดใช้ปัญญาเพราะอะไร หัดใช้ปัญญาเพื่อให้จิตมันสงบเข้ามามากขึ้น ให้ฐานมันมั่นคงมากขึ้น เพื่อให้จิตสงบได้ระดับของมัน

ถ้าจิตสงบได้ระดับของมันนะจิตออกรู้ ! จิตออกรู้ในอะไร.. จิตออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เพราะกิเลสมันอาศัยอยู่ที่นี่ เราไปหากิเลสกัน หากิเลสแต่ไปค้นกิเลสที่ไหน ดูสิดูมนุษย์ เห็นไหม เรายืนอยู่ที่กลางแดดมันก็มีเงา เราขยับเงาก็ขยับด้วย แล้วถ้าจิตเราไม่สงบขึ้นมา เงากับเรามันเป็นอันเดียวกัน เราขยับตะครุบเงาไม่มีทางทันเงาของเราเลย ยิ่งช่วงตะวันบ่ายนะ เงามันจะไปไกลเลย แล้วเราจะไปตะครุบเงาที่ไหน

ฉะนั้นเวลาจิตเราเริ่มสงบเข้ามา เราหัดใช้ปัญญาของเราให้เงามันสั้นเข้ามา ให้ความชำนาญมันมากขึ้น พอความชำนาญมากขึ้นนะ พอจิตมันสงบถึงระดับของมัน แล้วถ้ามันออกเห็นนะ ออกเห็นกาย ออกเห็นเวทนา ออกเห็นจิต เห็นธรรม.. เวลามันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยสัจธรรม ไม่ใช่โดยสัญญาอารมณ์ ไม่ใช่ด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวาน

เห็นกายทุกคนก็เห็น ! ทุกคนก็เข้าใจได้ ทุกคนเห็นนะ ยิ่งฟังเทศน์ทุกวันนี่โอ้โฮ.. เห็นกายตลอดเวลาเลย แต่เห็นโดยอะไรล่ะ… เห็นโดยสัญญาอารมณ์ เห็นโดยเป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ มันไม่ได้เห็นด้วยความเป็นจริงของเรา ถ้ามันเห็นด้วยความเป็นจริงของเรานะ มันจะสะดุ้งสะเทือน ! ถ้ามันสะดุ้งสะเทือนนี่ความรู้ความเห็นนะ ดูสิดูความเห็นของเรา แล้วเราใช้ปัญญาของเราพิจารณาของเราไป

ถ้าเราจะจับสัตว์ เราจะจับสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งก็แล้วแต่ที่เป็นสัตว์เล็กๆ น้อยๆ จะทำลายชีวิตมัน มันจะยอมให้เราจับไหม.. กิเลสมันอยู่กับเรา ! มันเกิดมากับใจเรา มันอยู่กับใจเรามาตลอด เราจะเคลื่อนไหวสิ่งใด มันจะรู้ทันเราตลอดเลย แล้วเราไปจับมัน เราจับเราใช้ปัญญา..

กิเลสกลัวสิ่งใด กิเลสกลัวธรรมที่สุดนะ กิเลสไม่เคยกลัวอะไรเลย เพราะกิเลสกับเรา นี่มันหลอกเรา ความคิดเรา เราเชื่อความคิดเราล้านเปอร์เซ็นต์ กิเลสกับเรามันอยู่มาด้วยกัน แล้วมันอาศัยอยู่ในหัวใจเรา แล้วมันหลอกเรามาทุกภพทุกชาติ แล้วเราจะไปต่อต้านมันนี่มันเป็นไปไม่ได้เลย.. แต่นี้เป็นเพราะมีบุญวาสนา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาในพุทธศาสนา แล้วเราประพฤติปฏิบัติมาด้วยคุณธรรม

ด้วยสัจจะคุณธรรม เห็นไหม ด้วยสัจจะ ด้วยคุณธรรม เพราะอะไร เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญาไง ถ้ามันเกิดศีล สมาธิ ปัญญา เราเข้าไปจนจิตสงบจนออกรู้ได้.. มันออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วเราพิจารณาไปเราจับได้ จับสัตว์ได้ แต่จับสัตว์แล้ว สัตว์ชนิดใดก็แล้วแต่ เราจับได้แล้วเราเลี้ยงดูด้วยความเอ็นดูนะ ด้วยความเมตตาของเรานะ มันจะไม่ทำร้ายเราเลย แต่ถ้าเราจะทำร้ายมันนะ มันต้องพยศ เพราะอะไร เพราะทุกคนต้องรักษาชีวิต ไม่มีสิ่งใดเลยที่เขาจะยอมให้เราทำลายเขาได้ง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเขาไม่เคยกระทำ เขาจะไม่เห็นว่ากิเลสเวลามันพยศนี้มันรุนแรงแค่ไหน

สัตว์นี่นะเวลาเราจะทำร้ายมัน เราจะฆ่ามัน เราจะจับมัน ถ้ามันรู้นะมันจะทำร้ายเราก่อน มันจะพยศ มันจะพยายามต่อต้าน แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา กิเลสมันร้ายกว่านั้น กิเลสมันร้ายกว่านั้น เวลาปฏิบัติไปมันมีสิ่งใดบ้างที่มันพยศกับเรา นี่เราไม่เคยเห็น.. ถ้าเราไม่เคยเห็น

๑. กิเลสเราไม่เคยเห็นตัวมัน

๒. มันไม่มีการต่อสู้

ระหว่างธรรมกับกิเลสที่มันสู้กันในหัวใจ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาในใจนะ มันจะชำระล้างนี่มันต่อสู้กันอย่างใด ถ้าไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการกระทำ กิเลสมันมุดมอดไปตรงไหน กิเลสมันมีการกระทำสิ่งใด นี่ไงมันถึงบอกว่าถ้าเราทำจริงจังกัน ด้วยการกระทำของเรา เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาท่านปฏิบัติขึ้นมามีหลักมีเกณฑ์ ท่านบอกว่า “อยู่กับหมู่คณะไม่ได้เลย” เพราะอะไร เพราะว่าปัญญามันเคลื่อน ปัญญามันหมุน จักรมันหมุน มันมีการกระทำตลอด

งานของใจ ภวาสวะ ภพ.. ตัวภพนี้มันปฏิสนธิ มันเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ นี่มันเกิดมาเป็นเรา เห็นไหม แล้วเราพิจารณาของเรา เรามีสัจธรรมของเรา มันเกิดมรรคญาณเกิดปัญญาของเราขึ้นมา แล้วมันจับกิเลส ไอ้สัตว์ตัวร้ายๆ ไอ้เสือสางต่างๆ ที่มันอยู่ในหัวใจเรานี่ ถ้าเราจับขึ้นมา เราจะต่อสู้จะทำลายมัน ให้เห็นโทษของมัน มันตะปบเอาเลือดสาดนะ

สิ่งที่มันตะปบเรา มันทำร้ายเรานี่เราก็ต้องมีการต่อสู้มีการกระทำ นี่ ! ถ้ามันมีการปฏิบัติตามความเป็นจริง มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลของมัน เราจะไม่นุ่มนวลอ่อนหวาน เป็นพรรคพวกกัน กิเลสเป็นเราเราเป็นกิเลส ทุกอย่างเป็นอยู่ร่วมกัน แล้วก็จะตายไปร่วมกัน ปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมเอาบุญไง ปฏิบัติพอเป็นพิธี เอาบุญไปข้างหน้าว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วมันจะเกิดปัญญามากขึ้นๆ แล้วเวลาเกิดอีกชาติหนึ่งมันจะเป็นอย่างนั้นไหม มีสิ่งใดรับประกันว่าเราปฏิบัติชาตินี้แล้วชาติหน้าเราจะปฏิบัติต่อไป

แต่ถ้าเราปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ แล้วเรามีการกระทำสิ่งใดให้มันรู้มันเห็นตามความเป็นจริง เพราะเรามีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านทดสอบตรวจสอบของท่านมา ท่านทำมาจนเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของพวกเรา.. นี้คำว่าไว้เนื้อเชื่อใจนะ ไว้เนื้อเชื่อใจนี้เป็นศรัทธา เห็นไหม แต่เวลาปฏิบัติไป ดูสิถ้าเราปฏิบัติไป เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ขึ้นมานะ “ต้องเป็นอย่างนั้น ! ต้องเป็นอย่างนั้น !” พัฒนาการของจิตมันจะเป็นอย่างนั้นของมันไป ถ้าปฏิบัติไม่ได้ผลมันก็พัฒนาของมันไป

อย่างที่ว่าปฏิบัติไปแล้วว่างๆ สบายๆ มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมันนิ่มนวลอ่อนหวานเข้ากับกิเลสได้ มันเอากิเลสกับธรรมเยียวยากันไป ให้จิตมันเยียวยากันไปอย่างนั้น มันไม่มีการกระทำ ไม่มีการใช้ปัญญาแยกแยะ ถ้ามันไม่มีการแยกแยะมันจะไปแยกแยะอะไร ถ้ามันไม่เห็นกิเลสมันจะไปแยกแยะอะไร

นี่เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาอบรมสมาธิเป็นอย่างหนึ่ง.. คำบริกรรมพุทโธ พุทโธให้จิตสงบเป็นอย่างหนึ่ง.. เวลาจิตที่มันมีฐานของความสงบแล้ว แล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยสัจธรรม มันใช้ปัญญาใคร่ครวญของมันออกไปนี่มันเริ่มถอดถอน มันเริ่มมีการทำลายกิเลส มันเริ่มสำรอกคลายออก

ความรับรู้ ความรู้สึกของคนปฏิบัตินี่รู้ได้หมด ! รู้ได้หมด เพราะเวลามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันจะรู้ของมันเลย เวลามันดีขึ้นมา มันพัฒนาแล้ว เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันมีความสุขในหัวใจ ความสุขอย่างนี้มันเป็นความสุขไม่ใช่เจือด้วยอามิส.. ความสุขของโลกเขา ความสุขของโลกเขานะ เขาต้องได้ตอบแทนสิ่งใดมาโดยความพอใจของเขา เขาจึงมีความสุขของเขาขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วเขาก็พยายามจะหาความสุขอย่างนั้นมากขึ้น.. มากขึ้น แล้วไม่เคยเจอความสุขจริง

แต่ของเรานี่นะ เราเห็น เราเชื่อมั่นในพุทธศาสนา เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา เราเชื่อมั่นในหัวใจของเรา เห็นไหม เราพยายามมีสติปัญญาใคร่ครวญในใจของเรา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็สงบเข้ามา ความสุขโดยไม่เจือด้วยอามิสไง

“ความสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตสงบเข้ามา บริกรรมพุทโธจิตจนสงบเข้ามา ความสุขอย่างนี้รู้ได้ ! ความสุขอย่างนี้ พอจิตมันสัมผัสมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง ! รู้จำเพาะตน ตนนั้นล่ะรู้.. เวลาทุกข์นี่ทุกคนรู้ได้ เวลาทุกข์นี่ทุกคนพร่ำบ่นได้ แต่เวลาความสุข เห็นไหม เวลาความสุขที่เกิดขึ้น.. ความสุขความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นมาที่ไหนล่ะ มันก็เกิดขึ้นมาจากคำบริกรรม เกิดมาจากปัญญาอบรมสมาธิ เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา ถ้ามันทำของเราขึ้นมามันมีฐาน

นี่ไงกรรมฐาน.. กิเลสมันอยู่ที่นี่ ! กิเลสมันอยู่ที่หัวใจนี้ หัวใจนี้มันลุ่มๆ ดอนๆ มันทุกข์ๆ ยากๆ ขึ้นมานี่ แล้วเวลาออกไปทางโลกมันเป็นเรื่องโลกๆ เลย แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญาของเรา เรามีอำนาจวาสนาของเรา เราทำงานละเอียดทำงานของใจ เห็นไหม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ทางโลกเขาบอกว่าพวกนี้เวลาว่างเกินไปนะ งานการไม่ทำ งานการเพื่อแสวงหาประโยชน์ปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา แต่นี้สิ่งนั้นก็ทำแล้ว เพราะเราทำงานสิ่งนั้นแล้ว โลกธรรม..

แต่สิ่งที่เราจะชำระกิเลส.. สิ่งที่ชำระกิเลสนะ เราเกิดมานี่เกิดมาโดยเวรโดยกรรม เกิดจากพ่อจากแม่ก็แล้วแต่นี่เราเกิดมาโดยเวรโดยกรรม แล้วถ้าเราจะมาชำระล้างนี้เพราะมันเป็นโอกาสของเรา มันเป็นโอกาสของเราเพราะอะไร โอกาสของเราเพราะเรามีบุญเราถึงมีความเชื่อมั่นนะ เพราะเรามีโอกาสเราถึงมีความเชื่อ ถ้าคนไม่เชื่อ พูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ถ้าคนเขาไม่เชื่อนี่เขาไม่ใส่ใจ เขาไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นคุณค่า สิ่งนี้มีความสำคัญ

แต่เพราะเราเชื่อ อันนี้คือบุญมาก.. เพราะเราเชื่อ พอเราเชื่อแล้วเราปฏิบัติ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา จากความเชื่อจะเป็นความจริง แต่ถ้าเราเชื่อแล้วเราปฏิบัติของเราขึ้นมา เราพยายามของเรา มันต้องเป็นไปได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้นะ ถ้าเราปฏิบัติโดยถูกต้องตามศีลตามธรรม นี่ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างมาก ๗ ปี

คำว่า ๗ ปีนี่เราระลึกของเรา เราตั้งสติของเรา เราใคร่ครวญของเรา เราใช้ปัญญาแยกแยะของเรา ๗ ปีนี่อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคา แล้วเราบอกเวลาเราปฏิบัติกัน คนนู้นก็ว่าลำบาก คนนี้ก็ว่าไม่ได้ แล้วเราปฏิบัติไปมันจะลำบากแค่ไหนถ้า ๗ ปี

เพราะคำว่าลำบากนะ แล้วมันไม่ลงนี่นะ แต่เราใช้สติปัญญาของเราใคร่ครวญต่อไป ใคร่ครวญต่อไป.. นี่มันจะลำบากแค่ไหนเราก็ใคร่ครวญต่อไป เห็นไหม คนถ้ามีอำนาจวาสนาบารมี นี่เขามีสัจจะตรงนี้ ทำต่อเนื่อง.. ทำต่อเนื่อง.. การปฏิบัติของเราที่มันไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติของเราไม่ต่อเนื่องไม่สม่ำเสมอ

“ความเสมอต้นเสมอปลาย” เห็นไหม ความเสมอต้นเสมอปลายนี่มันหาได้น้อยมาก “ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง” คือมันไม่มีสิ่งใดที่แน่นอนเลย จะทำอะไรให้มันนิ่ง ความเสถียรของโลก ความเสถียรของสิ่งต่างๆ เราจะหาจากที่ไหน แล้วความเสถียรของใจล่ะ แต่สิ่งที่มันเสถียรมันคงที่สม่ำเสมอ เราสามารถทำได้ เราสามารถทำได้ “เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้ามันสงบขึ้นมาด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยคำบริกรรมขนาดไหน มันสงบเพราะเหตุนั้น ฉะนั้นเราต้องอยู่ที่เหตุ ไปรักษาเหตุ ไม่ใช่ว่าไปรักษาสมาธิ พอจิตมันสงบเข้ามา เราอยากรักษาความสงบ ความสงบนี้เกิดจากอะไร ความสงบนี้เกิดจากคำบริกรรม ความสงบนี้เกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ เวลาจิตมันสงบเข้ามาแล้ว พอมันสงบเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราน้อมไป

ถ้าคนมีอำนาจวาสนา.. อำนาจวาสนามาจากไหน มาจากการทำดีทำชั่วของใจดวงนั้น ถ้าอำนาจวาสนามันมีมันจะเกิดภาพของกายให้เห็นเลย พอเกิดภาพของกายให้เห็น โดยเห็นตามข้อเท็จจริงนี่ขนพองสยองเกล้า การเห็นหน้ากิเลส การเห็นหน้าโจร การเห็นหน้าสิ่งที่มันหลอกลวงในหัวใจ เหมือนคนเรานี่นะ เราไม่คิดเลยว่าคนๆ นี้จะเป็นศัตรูกับเรา แต่เวลาจิตสงบเข้าไปแล้ว เห็นชัดเจนว่าเขาเป็นศัตรูกับเรา เราจะคิดอย่างใด

นี่ก็เหมือนกัน นี่ขุดคุ้ยนะ การขุดคุ้ยการหากิเลส พอเห็นกิเลสแล้วนี่เราจะใช้ปัญญาแยกแยะ ใช้ปัญญา.. เพราะสัจธรรมมันเป็นของมันอยู่แล้ว สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง “สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” นี่สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง เรารู้เห็นโดยสัญญาอารมณ์ เรารู้เห็นโดยการศึกษา เรารู้เห็นโดยฟังจากครูบาอาจารย์

ฟังครูบาอาจารย์มานี่เป็นหลักเกณฑ์ เห็นไหม ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ฟังเทศน์กรรมฐานนี้มันเป็นการออกมาจากใจ ออกมาจากประสบการณ์ของจิตนั้น ถ้าจิตนั้นมีประสบการณ์อย่างนั้น จิตนั้นกระทำอย่างนั้น.. เรายังไม่มีประสบการณ์อย่างนั้น เราฟังขึ้นมา ถ้าจิตของเรานะเราใคร่ครวญ ดูสิเวลาพระอัญญาโกณฑัญญะฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา” เพราะคำพูดอย่างนี้มันไม่เคยมี แล้วหัวใจของเราก็ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น พอเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไป แล้วไตร่ตรองตามไป.. มันเป็นไปได้ !

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ เห็นไหม ฟังเทศน์ขึ้นมาแล้วเราไตร่ตรองตาม นี่ถึงมันจะเป็นสัญญา ถึงจะเป็นเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเราใคร่ครวญ จิตใจเรามีการกระทำขึ้นมา มันเกิดจากธรรมของเราขึ้นมา

ฟังธรรมขึ้นมานี้เพื่อดัดแปลงหัวใจ เพื่อให้เข้าสู่หลักเกณฑ์ พอเวลาเป็นจริงขึ้นมานี่ภาวนาเป็น พอภาวนาเป็นขึ้นมา เราแยกถูกแยกผิดได้ พอแยกถูกแยกผิดได้ เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า.. นี่มันตทังคปหาน

ถ้าปัญญา.. ปัญญามีสมาธิรองรับนะ เวลาพิจารณาสิ่งต่างๆ ไปมันจะเป็นความจริงนะ มันปล่อย เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ.. เพราะโดยสัญชาตญาณ ความรู้สึกของจิตเหมือนยางเหนียวมันติดไปหมด พอเราใช้ปัญญาตะล่อมเข้าไปจนมันเห็นโทษ มันปล่อยเป็นตัวของมันเอง เป็นอิสระ เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ ปล่อยเข้ามาเป็นเอกเทศ เป็นเอกภาพของตัวเอง

แต่เวลาจิตเราเป็นสัมมาสมาธิแล้วออกพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม โดยมีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน เวลาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม พิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยนี่มันสำรอกความเห็นผิด พอสำรอกความเห็นผิดออกไปบ่อยครั้งเข้า นี่ความรับรู้นี้มันรู้ได้ พอรู้ได้ นี่พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ มันต่อต้าน

คำว่าพยศคือมันต่อต้านไง ความต่อต้านนี่มันเจริญแล้วเสื่อม มันหลอกมันลวงนะ ว่าสักกายทิฏฐิความเห็นถูกต้องแล้ว สิ่งนี้เป็นความจริงแล้ว.. พอจิตมันปล่อย มันปล่อยแต่ละครั้งกิเลสมันจะสวมรอยทันที.. กิเลสมันสวมรอยทันที สวมรอยว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ดูสิคราวนี้ละเอียดกว่าคราวที่แล้ว คราวนี้อู้ฮู.. มันว่างหมดเลยนะ มันลึกซึ้งมาก เห็นไหม มันสวมรอยทันที มันสวมรอยตลอด นี่มันพยศ !

มันพยศคือมันจะทำให้การกระทำของเรานี้ไม่สมความปรารถนา มันจะทำให้การกระทำของเราล้มลุกคลุกคลาน ถ้าล้มลุกคลุกคลานนะ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้าเมื่อใดมันเสื่อมนะ.. คำว่าเสื่อมคือเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม ปัญญานี้ถ้ามีสัมมาสมาธิ ปัญญามันพิจารณาแล้วมันจะปล่อยมันจะวาง มันจะถอดมันจะถอน แต่ถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธิ สมาธินี้อ่อนนะ ใช้ปัญญานี่มันฟั่นมันเฟือน พิจารณาเหมือนกัน คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันแต่ไม่มีผล !

แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิมาเป็นพื้นฐาน เวลาพิจารณาไปเหมือนมีดที่คมกล้า มันฟันสิ่งใดนี่ขาด ! ขาด ! เวลาขาดคือพิจารณาแล้วมันปล่อยวางหมด มันชำระล้างหมด เห็นไหม สิ่งนี้ถ้ามันสำรอกออกมันก็สงบเข้ามา สงบเข้ามา.. พอสงบเข้ามามันก็ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น แต่ถ้าเวลาจิตมันเสื่อม เวลามันใช้บ่อยครั้งเข้ามันใช้ทำงานมากขึ้น พลังงานนี้มากขึ้น มันใช้มากขึ้น มีดมันก็ทื่อ ความคมมันก็อ่อนลง ฟันเท่าไหร่มันก็ไม่ออก

นี่ไงคำว่าเจริญแล้วเสื่อม ขณะที่ทำสัมมาสมาธิมันก็มีเจริญแล้วเสื่อม นี่ถ้าเจริญแล้วเสื่อม แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติเป็น คนที่ทำเป็น เห็นไหม คนที่รู้เหตุรู้ผลนี่ภาวนาเป็น.. กลับมาที่พุทโธ กลับมารักษาใจของตัว สมาธิก็เข้มแข็งขึ้นมา พอสมาธิเข้มแข็งขึ้นมาเราออกใช้ปัญญา มันจะพยศขนาดไหน มันจะต่อต้านขนาดไหน แต่เรามีสัจธรรม

นี่กิเลสกลัวธรรม ! กิเลสกลัวธรรม.. กลัวสิ่งการกระทำของเรา กลัวความจริงจังของเรา กลัวความมั่นคงของเรา กลัวความมุมานะ กลัวการกระทำด้วยสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงามของเรา.. ถ้าความถูกต้องดีงามของเรานี่มันต้องสงบลง ใช้ปัญญาไปมันก็ชำระล้างออกไป บ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุด.. นี่กระบวนการของมัน มันจะเป็นของมัน เห็นไหม

เวลามรรคสามัคคี.. ภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำ เวลามันรวมตัว มรรคสามัคคีมันรวมตัว สมุจเฉทปหาน ! ถ้าพิจารณากาย.. กายจะทำลายหมด พอทำลายหมดไปนี่จิตรวมลง จิตรวมลงพิจารณากายจนปล่อยกายหมด.. จิตรวมลง รวมลงไป เห็นไหม จิตมันพิจารณาอยู่แล้ว เวลามันปล่อยแล้วมันรวมลงไป

“กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย.. กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย”

ถ้าพิจารณาโดยปัญญา พิจารณาโดยขันธ์ ๕ พิจารณาโดยสัจธรรม “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” นี้เราก็พูดกันปากเปียกปากแฉะว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ อะไรก็ไม่ใช่เรา.. ไม่ใช่เรา..” มันใช่มาก่อนนะ มันเป็นเราจริงๆ แต่มันเป็นเรา เพราะเราเกิดมานี้เป็นเราแน่นอน นี่ดูสิลูกเกิดจากพ่อแม่ เห็นไหม ลูกเกิดจากพ่อแม่ ลูกคนนั้นเป็นลูกใครล่ะ ก็เป็นลูกมีพ่อมีแม่มาทั้งนั้นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมานี้เราเกิดมาโดยอวิชชา ! อวิชชา ความเห็นผิดในหัวใจเรามันมากับเราแน่นอน นี้ถ้าว่าไม่ใช่เราๆ มันไม่ใช่เราแต่ปาก ไม่ใช่เราแต่เป็นความนึกคิด แต่มันเป็นเราโดยสัจธรรม มันเป็นเราโดยกรรม มันเป็นเราโดยแน่นอน.. ถ้าแน่นอน ถ้ามันยังไม่ได้ถอดไม่ได้ถอน มันไม่มีการกระทำ เห็นไหม มันยังไม่เห็นหรอกว่ากิเลสมันจะพยศขนาดไหน กิเลสมันจะมีแรงต้านขนาดไหน แต่ถ้ามันพิจารณาถึงที่สุดของมันแล้ว เวลามันขาดไป..

นี่ไง มันจะพยศขนาดไหน แต่มันก็ทนมรรคญาณ ทนสัจธรรมความจริงไปไม่ได้ ! ถ้าทนสัจธรรมความจริงไปไม่ได้ ถ้ามันเห็นโดยความเป็นจริงนะมันทำลาย ทำลายจนถึงที่สุด เห็นไหม นี่มันขาดออกไป.. พอมันขาดออกไป เราปฏิบัติมาแล้วนี่ภาวนาเป็น มีหลักมีฐาน มีหลักมีฐานเพราะว่าสิ่งที่ทำขึ้นมานี้มันเป็นความจริงในหัวใจแล้ว ถ้าความจริงในหัวใจนั้นเกิดขึ้นมา เราทำความสงบในหัวใจให้มากขึ้น ถ้าความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วออกรู้ออกไปในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่มันจะละเอียดมากขึ้น

เพราะกิเลสมันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดสุด.. การต่อต้าน การพยศของมันแตกต่างกันไป พิจารณากาย.. พิจารณากายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ไม่ใช่อสุภะ ! อสุภะนี่มันเป็นขั้นของอนาคานู้นน่ะ เพราะอสุภะมันจะไปฆ่ากามราคะ สิ่งที่มันติดแน่นมากับใจโดยสัญชาตญาณ โอฆะ.. จิตนี้กว่าจะข้ามโอฆะได้ เพราะการข้ามโอฆะนี้จะไม่เกิดบนกามภพ เป็นพรหมอย่างเดียว

ฉะนั้นสิ่งที่ทำไป.. ความพยศของมันนะ สัตว์เล็กสัตว์น้อยมันก็พยศ มันรักษาชีวิตมัน แต่ถ้ามันตายไปแล้ว การที่ว่ามันตายไปแล้วหมายถึงว่าอกุปปธรรม

นี่กุปปธรรม ! กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา.. สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา ที่ว่าเป็นอนัตตาๆ จากความศึกษาของเรา เป็นทฤษฎีของเราไป แต่เวลาเราพิจารณาของเราไป เราใช้ปัญญาของเราไป โดยความเป็นจริงของเราขึ้นมา เวลามันสมุจเฉทปหานนี่เป็นอกุปปธรรม

อกุปปธรรมคือธรรมะมั่นคง ธรรมะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธรรมะที่เป็นเนื้อเดียวกับจิต เนื้อเดียวกับจิต คือจิตนี้มันเป็นโสดาบัน มันจะไม่เวียนตายเวียนเกิดในผลของวัฏฏะ มันจะเกิดอีก ๗ ชาติ เกิดอีก ๗ ชาติแล้วพาดกระแสเข้าสู่นิพพาน เข้าสู่ความดับทุกข์ แต่ถ้ามันเป็นปุถุชนมันจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีกำหนด เหมือนที่ว่าสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็แปรปรวน มันจะแปรปรวนไปกับธรรมชาติ ธรรมชาติจะแปรปรวนอย่างนี้ โลกนี้เป็นอจินไตย แล้วอจินไตยมันจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป

มันเป็นอจินไตย ! โลกนี้เป็นอจินไตย ใครคาดหมายไม่ได้ว่ามันจะเป็นสภาวะแบบใด แต่มันเป็นอนิจจัง อนิจจังคือว่ามันเปลี่ยนตลอดเวลา เห็นไหม จิตมันเป็นกุปปธรรม.. แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมเพราะใช้ปัญญาของมัน ใคร่ครวญของมัน ทำลายของมันแล้ว มันเป็นอกุปปธรรม

อกุปปธรรมไม่ใช่อนัตตา อกุปปธรรมคือคงที่ของมัน แต่คงที่แบบใดล่ะ คงที่แบบผู้ที่ทำผู้ที่รู้ได้มันจะรู้ได้ของมัน ถ้ารู้ได้ของมัน นี่อันนี้เป็นพื้นฐาน.. ถ้ามันเจริญ มันเจริญขึ้นไปคือสิ่งดีงามขึ้นมา ถ้าจะเสื่อมมา เสื่อมมาก็มีพื้นฐานของโสดาบันรองรับ ถ้าโสดาบันรองรับมันไม่ถอยกรูดๆ เข้าไปจนทุกข์ยากเหมือนเราไง

ถ้าเรานี่เป็นปุถุชน เวลามันถอยกรูดๆ ขึ้นมา มันก็เป็นกิเลสเต็มตัว แต่ถ้าเราภาวนาเป็นแล้ว มันมีพื้นฐานอย่างนี้รองรับ เราจะทำให้ได้มากขึ้น.. ให้ได้มากขึ้น เราทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจ กำหนดพุทโธเข้าไป เพราะผลมันเห็นมาตั้งแต่การปฏิบัติเริ่มต้นนี้ เพราะมันพยศมันทำลายเรา

ที่มันปฏิบัติยากนี่ยากตรงนี้.. ยากตรงเริ่มต้นนี้ เพราะเริ่มต้นคนภาวนาไม่เป็น ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยัน ละล้าละลังนะ อาจารย์ก็บอกว่าใช่ ครูบาอาจารย์ก็บอกว่าต้องทำอย่างนี้ ! เราก็พยายามทำของเรา ทฤษฎีมันก็ใช่ ! แต่เวลาทำจริงขึ้นมามันใช่จริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันใช่จริงทำไมมันไม่สมความปรารถนา

ถ้ามันสมความปรารถนาเราก็ตั้งใจของเรา.. เราตั้งใจของเรา แล้วพยายามทำของเรา จะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน คนทำงาน โลกเขายังทำงานเขายังทุกข์เลย แล้วนี่เราทำงานเพื่อจะล้างภพล้างชาตินะ สังคมเขาหัวเราะเยาะ แล้วเวลาทำไป เห็นไหม ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาคนเขาไปเที่ยวเขามีงานรื่นเริงกัน เวลาเราไปเที่ยวกันเขามีความสนุกสนาน ไอ้เรานี่มาอยู่ป่าอยู่เขา ไอ้เรามีแต่ความทุกข์ความยาก กิเลสมันก็เหยียบเราอยู่แล้วนะ เวลามันได้ยินได้ฟังขึ้นมา นี่มันคิดสร้างอารมณ์ขึ้นมาเหยียบเราซ้ำเข้าไปอีก มันมีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ

ดูสิดูพระนาคิตะ เห็นไหม ลาพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ แล้วก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่เพราะพระนาคิตะได้สร้างบุญกุศลมา เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย.. “สิ่งที่เขาไปเที่ยวไปสนุกคึกครื้นกัน นั่นน่ะเขาวนในวัฏฏะ เขาจะเกิดจะตายต่อไป มันก็เหมือนตัวหนอนตัวหนึ่ง ท่านต่างหาก.. ท่านต่างหากพระนาคิตะต่างหาก ภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนานี้ท่านต่างหากที่จะพ้นจากทุกข์ ท่านต่างหากเป็นคนดี ไอ้คนที่เขาสนุกเพลิดเพลินกันไป เห็นไหม เขาก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ท่านต่างหากที่จะพ้นออกจากการเวียนว่ายตายเกิด..” นี่พอเทวดามาเตือนสติพระนาคิตะ พอเตือนสติแล้วพระนาคิตะตั้งสติขึ้นมา แล้วพยายามมุมานะของเราขึ้นมา จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสมันเหยียบย่ำเรา เห็นไหม ถ้าเราไม่เห็นตัวมัน มันไม่พยศกับเราหรอก แต่ถ้าเรารู้เราเห็น เราจะทำมัน มันถึงพยศกับเรา พยศมาก ! กิเลสนี่มันจะอาศัยจิตใจเราเป็นที่อยู่อาศัยของมัน มันจะหลอกจะล่อ แต่เพราะเรามีสติมีปัญญานะ เวลาเราจะต่อสู้กับกิเลส เราจะปฏิบัติธรรมของเราขึ้นมา

เวลาเราเป็นหมู่คณะกัน เราจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เราจะช่วยเหลือเจือจานกัน เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติมุ่งมั่นสู่ที่สุดแห่งทุกข์.. เราพยายามช่วยเหลือเจือจานกันนะ แล้วกิเลสมันจะช่วยเหลือเจือจานเราไหมล่ะ.. กิเลสมันจะมีล่อ มีหลอก มีลวง มีทำให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา

ฉะนั้นเราต้องตั้งสติ.. ตั้งสติแล้วทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบ เห็นไหม มันยับยั้งมันได้ ถ้าสตินะเราทำให้มันสงบได้ มันยับยั้งไม่ให้มันกวนเรามากเกินไป พอไม่ให้กวนเรามากเกินไป เราตั้งกำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไปจนสงบมากขึ้น แล้วออกรู้.. ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

“สักกายทิฏฐิ.. ความเห็นผิดในกาย” ถ้าเราพิจารณาของเรา ใคร่ครวญของเรา จนถึงที่สุดทำลายมัน ฆ่ามัน พอฆ่ามันแล้วมันมีอุปาทาน อุปาทานการฝัง อุปาทานยึดมั่นว่าสิ่งที่ธาตุ ๔ หรือว่าร่างกายนี้ยังเป็นของเรา นี่อุปาทานอย่างนี้มันเป็นระดับชั้นของมัน ถ้าระดับชั้นของมัน พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราใคร่ครวญของเราไป เราจับเข้าไป พิจารณาซ้ำไป นี่ถ้ามันเป็นความจริงพิจารณาซ้ำเข้าไป

พอซ้ำเข้าไปถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตมันสงบแล้วเห็นกาย พิจารณาแล้วมันจะคืนสู่สถานะของเขา นี่ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ.. พิจารณากายนะ พิจารณาสักกายทิฏฐิความเห็นผิดของกาย เวลาพิจารณากายมันจะเยิ้มขนาดไหน มันจะทำลายขนาดไหน มันลงไปสู่.. ลงไปสู่สถานะความจริงของมัน

นี่เห็นจริง พิจารณากายบ่อยครั้งเข้าๆ เห็นไหม พอมันยิ่งละเอียดเข้าไป มันยิ่งพยศ มันยิ่งมีความกระเพื่อม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา มันจะกระเพื่อมขนาดไหนเราใช้ความนิ่งของเรา ใช้สติปัญญาที่มั่นคงของเรา พิจารณาบ่อยๆ ไปมันจะคืนสู่สถานะเดิม จนถึงที่สุดมันขาดได้ !

เราพิจารณากาย พิจารณาความเป็นอุปาทาน พิจารณาความเป็นอุปาทาน เห็นไหม พอพิจารณาของเราไป นี่มันสู่สถานะเดิมของเขา สถานะของความเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันปล่อยวางขนาดไหน พอพิจารณาไปแล้วมันว่างเปล่า พอว่างเปล่าจิตมันก็สงบ สงบมันก็มีหลักมีเกณฑ์เพราะมันถอดมันถอน มันคลายออกไปเรื่อยๆ

พิจารณาซ้ำ.. พิจารณาซ้ำกลับมาสู่ความสงบอีก ถ้ามันทำแล้วทำเล่า พิจารณาพอสงบแล้วก็ออกทำงาน เวลาทำงานถ้าเหนื่อยหนักเราก็กลับมาสู่ความสงบ พอสู่ความสงบแล้วก็ออกไปทำงาน.. บ่อยครั้งเข้านะ ดูความพยศของมัน ! ดูความหลอกลวงของมัน มันจะหลอกลวงให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอดไป แต่ด้วยความมั่นคง ด้วยสิ่งที่มีหลักค้ำยันในหัวใจของเราว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม สิ่งนี้คือมีการกระทำของเราอยู่แล้ว พิจารณาซ้ำๆๆๆ ให้พิจารณาซ้ำนะ

ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงของเรา ท่านบอกว่าเราภาวนามานี่ถูกไหม.. ถูก ถูกแล้วต้องทำซ้ำต่อไป แต่พวกเราโดยความเห็นของกิเลสที่มันพยศ ที่มันหลอกลวงเรา พอเราไปถามครูบาอาจารย์ว่าอย่างนี้ทำถูกไหม.. ถูก พอถูกก็อยู่แค่นั้นไง ถูกก็ว่าถูกแล้ว ถูกแล้วก็จบแล้ว

แต่ความจริงถูก.. ถูกแล้วต้องซ้ำ คำว่าซ้ำคือทำซ้ำ ! ทำซ้ำ ! คือการปฏิบัติซ้ำเพื่อทดสอบ ทดสอบให้มันเห็นให้มันมั่นคงขึ้นมา.. นี่ปฏิบัติทดสอบตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบให้จิตใจมันพัฒนาของมันขึ้นไป

นี่ทำมาถูกไหม.. ถูก ถูกแล้วมันต้องมีคำตอบสิ ! ถูกแล้วนี่กิเลสที่มันพยศกับเรา มันทำลายเราให้เราเชื่อมัน ให้มีอุปาทานฝังอยู่ในใจ เราต้องทำลายมันสิ มันต้องมีคำตอบสิ ถ้าคำตอบของมัน เวลามันตอบขึ้นมา เห็นไหม พิจารณาเข้าไปบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดแล้วมันขาดนะโลกนี้ราบหมดเลย โลกนี้ราบหมดเพราะสิ่งที่เป็นอุปาทานในหัวใจมันจะขาดของมันออกไป มันราบไปนี่มันไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใดขึ้นวางไว้บนพื้นฐานของใจนี้ได้เลย

นี่สิ่งที่เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานมันฝังอยู่ที่ใจ พอมันหลุดออกไป นี่สิ่งที่ขาดอย่างนี้ได้ทำลายกิเลส พอทำลายกิเลสแล้วมันก็มีความสุข.. เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามีแต่ความทุกข์ความยากนะ เวลาเริ่มต้นปฏิบัติขึ้นมานี่ทุกข์ๆ ยากๆ ไปหมดเลย แต่เวลาปฏิบัติของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนี่ความสุข สุขเพราะจิตสงบ แล้วความสุขเพราะจิตพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง ความปล่อยวางนี้เป็นความสงบที่ลึกซึ้งกว่า แต่เวลามันขาด.. เวลามันขาด เห็นไหม สังโยชน์มันขาดไป มันมีความสุขที่มันเป็นวิมุตติสุข

คำว่าวิมุตติสุขคือสุขเหนือโลก.. สุขเหนือโลก สุขที่โลกนี้เขาไม่มี สุขที่โลกเขาเป็นไปไม่ได้ แต่จิตใจนี้มันได้สัมผัส จิตใจนี้มันได้ความสุขอย่างนี้มันจะฝังใจขนาดไหน มันจะมีความดูดดื่มขนาดไหน นี่เป็นสมบัติของเรานะ ! สมบัติของจิตดวงนั้นที่ประพฤติปฏิบัติได้

จิตดวงนั้นปฏิบัติได้ขึ้นมานี่มันจะมีความสุขของมัน แล้วมีความสุขอย่างนี้ เพราะความอ่อนด้อย ความที่จิตใจมันไม่รอบคอบ มันว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ก็ติดกันไป พอมันติดขึ้นไป ติดมันก็เสียเวลา ถ้ามีครูบาอาจารย์นะท่านจะพาออก สิ่งที่พาออกนะ จะต้องการความสงบมากกว่านี้ ถ้าความสงบมากกว่านี้มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญาแล้ว

จากสติปัญญา.. การที่ว่าสติปัญญานี่มันจะแก้ไขของมัน สติปัญญานี่นะมันเป็นสติปัญญาในอริยมรรค มันเป็นสติปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี่นะสติปัฏฐาน ๔ นี่สิ่งที่มันเป็นความจริงเพราะมันมีสัมมาสมาธิ.. สัมมาสมาธิ นี่กระบวนการของมันเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นใจกับอาการของใจ แล้วถ้ามันละเอียดเข้าไปล่ะ ความที่มันละเอียดเข้าไปนี่มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา

มหาสติ มหาปัญญาเพราะเหตุใด เพราะสิ่งที่ความคิดมันละเอียดเข้าไป สิ่งที่ละเอียดเข้าไปนะ ความละเอียดเข้าไปนี้มันเป็นกามฉันทะ คือภวาสวะคือภพ เรามีความคิดขึ้นมาในตัวมัน นี่มันเป็นกามฉันทะ.. เพราะคำว่ามีกามฉันทะ เห็นไหม “โลกนี้มีเพราะมีเรา” เพราะมีเราเราถึงมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมา นี่ถ้าเราทำให้สงบเข้าไป กว่าจะจับสิ่งนี้ได้จิตมันต้องละเอียดมากกว่านั้น

ฉะนั้นจะต้องทำความสงบมากกว่านั้น.. ทำความสงบมากกว่านั้นแล้วออกขุดคุ้ยหา ออกหานะ ถ้าเราหากิเลสไม่เจอเราก็ว่างๆ อยู่เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติมา มันชำระอุปาทานในหัวใจออกไป ทีนี้ในเมื่ออุปาทานมันไม่มี ไม่มีสิ่งใดพาให้หลงในอารมณ์หยาบๆ มันก็ไปอุ่นกินในอารมณ์อันละเอียดของมัน ไปอุ่นกินความรู้สึกจากภายใน ไปไฟสุมขอนอยู่ในใจอยู่อย่างนั้นล่ะ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราทำความสงบของใจเข้ามานะ การหากิเลส การขุดคุ้ยหากิเลสที่มันอยู่กับใจของเรา ทั้งๆ ที่มันเกิดกับเรานี่แหละ ! ดูสิเวลาพญามาร เห็นไหม ลูกพญามาร หลานพญามาร เหลนพญามาร นี่มันกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันมหาศาลเลย แต่นี้พอเรามีคุณธรรมในหัวใจ เราปฏิบัติขึ้นมาจนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม พอปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ สติปัญญาตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง พอมันเริ่มเข้าไปมันจะเริ่มเป็นมหาสติ มหาปัญญา

พอเป็นมหาสติ มหาปัญญามันก็ใคร่ครวญหา พอใคร่ครวญหา หาอะไร.. ในเมื่อกายที่ว่ากายที่พิจารณาไปแล้วมันปล่อยแล้ว มันจะมีกายที่ไหน กายนอก กายใน กายในกาย ถ้ามันจับได้ พอมันจับได้มันสะเทือนเลื่อนลั่น สะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจเลย

สะเทือนเลื่อนลั่นเพราะสิ่งใด มันสะเทือนเลื่อนลั่นเพราะสิ่งนี้มันเยิ้มอยู่ข้างใน เยิ้มอยู่ในหัวใจที่มันอุ่นกินอยู่นี่ แต่เราไม่รู้ไม่เห็น มันหาได้ยากมาก พอหาได้ยากมาก เวลาเจอความเป็นจริงขึ้นมานะ สัตว์ใหญ่มันจะมีความพยศแรง ความพยศนั้นมันจะต่อต้านแรง เวลาพิจารณาไป พอพิจารณาไปมันจะว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ มันจะชักนำให้เราหลงไป ให้เราผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา ถ้าความผิดพลาดคือมันรักษาชีวิตของมันไว้

ถ้าเราจะฆ่ากิเลส เราจะทำลายชีวิตมัน มันจะมีแรงต้านของมัน มันจะมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน อย่างเช่นสัตว์ใหญ่.. สัตว์ใหญ่ความเล่ห์เหลี่ยมของมันก็ต้องแนบเนียน ต้องมีเล่ห์กลที่ทำให้เราผิดพลาดตลอดเวลา ฉะนั้นถึงต้องเป็นมหาสติ

มันมีเล่ห์เหลี่ยมขนาดไหน ถ้ามีมหาสตินี่สติเรามันลึกซึ้งกว่า สติของเราจะต้องปิดกั้นว่าสิ่งนั้นถ้ามันแสดงออกมาอย่างไร นี่เอาผลงานมานะ ถ้าว่างอย่างนี้ ถ้าปล่อยอย่างนี้ เห็นไหม นี่สิ่งนี้คือนิพพาน ถ้าปล่อยหนหนึ่ง อารมณ์เวลาพิจารณา ถ้าจับได้แล้วพิจารณานะ เวลาปล่อยหนหนึ่ง เห็นไหม มันก็ใช้ทำงานครั้งหนึ่ง ทำงานเราใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ มีมหาสติ มหาปัญญาด้วยเต็มที่แล้วพิจารณาของเราไป

เวลามันปล่อยวาง.. คำว่าปล่อยวาง มันตทังคะคือมันปล่อยชั่วคราว มันไม่ได้ปล่อยจริง แต่กิเลสมันก็บอก “นี่ ! นี่ ! ได้ปล่อยหนึ่งหนแล้ว การปล่อยหนึ่งหนแล้ว ปล่อยหนนี้ก็เป็นสิ่งที่ว่ากามราคะขาดไป ปล่อยอีกหนหนึ่งมันก็บอกว่าสิ้นกิเลสไป” มันวนอยู่ที่เดิม.. มันซอยเท้าอยู่ในที่เดิมโดยให้กิเลสมันหลอกลวง

นี่ความพยศของสัตว์ใหญ่.. สัตว์ใหญ่มันพยศ มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน นี่เราจะเข้าไปต่อสู้กับมัน เราจะต่อสู้ จะทำลายสัตว์ใหญ่ แต่สัตว์ใหญ่มันขวิดเอา มันทำลายเอา จนการปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน การล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม

นี่การภาวนา.. การภาวนานะถ้าจิตมันสงบ จิตมันพิจารณาของมันนี่มีความสุข แต่คำว่าความสุข.. ความสุขคือผลงาน แต่ผลงานถึงที่สุดไง ถ้าผลงานที่มันยังไม่ถึงที่สุด มันจบกระบวนการงานนั้นไม่ได้ ถ้ามันจบกระบวนการนั้นไม่ได้นะ มันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนี้

การปฏิบัติ เห็นไหม ผู้ที่ปฏิบัติเข้าไปชำระกิเลส จะกำหนดว่ากิเลสจะตายเมื่อนั้น กิเลสจะตายเมื่อนั้นเลย กำหนดว่าเราอยากได้ๆ คำว่าอยากได้.. นี่ด้วยความอยากได้ ด่วนได้ ด้วยความไม่รอบคอบ สิ่งต่างๆ มันมีแรงต้านของมัน ถ้ามีแรงต้าน มีความหลอกความลวง มีการขุดหลุมพราง มันมีทุกเล่ห์เหลี่ยม !

กิเลสนี้เล่ห์เหลี่ยมมาก ! กิเลสนี้พลิกแพลงมาก ! เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษามาหมดแล้ว มรรคญาณเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เอาไปใช้กับกิเลส กิเลสมันเคี้ยวกินหมดเลย ! มันเคี้ยวกินธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราจำมาจะสู้กับมัน มันเคี้ยวกินหมดเลย ! แล้วมันบอกว่า “นี่เป็นธรรม..”

ดูความพยศของมันสิ ทำลายทุกๆ อย่างเลย ทำลายในการกระทำเลย นี่เวลาปฏิบัติไป ผู้ที่ปฏิบัติไป ที่ใช้ปัญญานี่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้หมดเลย ถ้ามันเข้าใจเรื่องนี้เพราะเหตุใด เข้าใจเรื่องนี้เพราะตัวเองได้ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน แต่เวลาปฏิบัติไปเราไม่เคยล้มลุกคลุกคลานมาใช่ไหม เวลามันปล่อยหนหนึ่งปล่อยครั้งหนึ่งเราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เรากระทำนี้เราทำมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เราทำมาด้วยเนื้องานของเรา

แต่ ! แต่เพราะเป็นความลึก.. เป็นความลึกลับ คุณธรรมของจิตใจมันสูงส่งขึ้น พอสูงส่งขึ้น แต่พวกเราไม่เคยรู้เคยเห็น เราไม่เคยได้สัมผัสสภาวะแบบนี้ ถ้าสภาวะแบบนี้ พอมันว่างหน่อยมันก็ว่า “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม..” แต่ความจริงกิเลสมันหัวเราะเยาะเพราะเราเข้าไปไม่ถึงมัน เห็นไหม นี่มันพยศมันทำลายเรา ถ้าทำลายเราก็ล้มลุกคลุกคลาน เวลาล้มลุกคลุกคลานนะเราก็ต้องวาง วางแล้วกลับมาทำความสงบของใจ

นี่มหาสติ มหาปัญญา ทำความสงบของใจแล้วออกใคร่ครวญ จับพลิกแพลงต่อไป บ่อยครั้งเข้านะ ถ้าพิจารณาเป็นเจโตวิมุตติ มันจะเห็นพิจารณากายที่ว่ามันเยิ้มขนาดไหน แล้วเยิ้มอย่างนี้นะ ขนาดที่ว่ามันพิจารณาแล้วนี่มันจะทำลายเป็นอสุภะ ถ้าเป็นอสุภะนะ พิจารณาของเราแล้ว บางทีอสุภะมันพิจารณาจนเป็นสูตรสำเร็จ มันตั้งอสุภะให้ขึ้นมาพิจารณา พิจารณาเสร็จแล้วมันบอกพิจารณาแล้ว ปล่อยวางแล้ว แต่มันหลบอยู่ เราไม่รู้หรอก !

นี่มันพิจารณาจนเป็นสูตรสำเร็จไปเลย แต่เวลาเป็นสูตรสำเร็จแล้วเราต้องพลิกกลับ พลิกกลับว่า อ้าว.. เป็นอสุภะ อ้าว.. เป็นสุภะ ถ้าสุภะนี่มันมีความเคลื่อนไหว มันทำให้หัวใจนี้กระเพื่อมไหม.. ถ้ามันเป็นอสุภะ คือสิ่งที่มันเป็นอสุภะนี้มันเป็นสิ่งที่กิเลสมันไม่ชอบอยู่แล้ว มันเป็นธรรม

อสุภะเป็นธรรม.. เป็นธรรมเพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริงอย่างนั้น มันไม่มีมีอะไรเป็นสุภะหรอกมันเป็นอสุภะหมด แต่เป็นอสุภะเพราะอะไร เพราะโลกนี้มันเป็นอนิจจัง โลกนี้มันเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้ามันเป็นอสุภะ.. พอเป็นอสุภะขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นสูตรสำเร็จ สูตรสำเร็จจนมันสงบตัวนี่มันพยศ มันบังเงาจนเข้าไปอยู่ในหัวใจบอกว่าไม่มี ไม่มี

ถ้าไม่มี.. ถ้าไม่มีนี่พลิกกลับเป็นสุภะ เป็นสุภะคือว่าความงดงาม ความอ่อนช้อย ความพอใจ พอเป็นอสุภะเข้าไปนี่บอกไม่มีนะ แต่พอเป็นสุภะขึ้นมานี่มันพอใจ มันพอใจมันก็สั่นไหว พอสั่นไหวนี่เราพิจารณาได้ เห็นไหม

การพิจารณา.. ถ้ากิเลสมันพยศ มันขุดหลุมพราง มันทั้งล่อทั้งลวง เวลามันพิจารณาไปมันจะรู้ของมันนะ รู้จากประสบการณ์ รู้จากครูบาอาจารย์แนะนำ เราพิจารณาแล้วมันจะล้มลุกคลุกคลานเพราะ ! เพราะถ้าเรายังฆ่ามันไม่ได้ มันยังมีชีวิตอยู่นี่มันตีกลับตลอด ฉะนั้นเราจะต้องตั้งสติ แล้วเราจะต้องมีความเข้มแข็ง

ฉะนั้นเวลานักปฏิบัติเรานี่จะบอกว่า อู้ฮู.. จิตนี้มันละเอียดมาก ความคิดละเอียดมาก.. เรายังไม่เคยเห็นหรอก เรายังไม่เคยเห็นระดับของความที่เราปฏิบัติขึ้นมา เวลาละเอียดขึ้นมานี่ละเอียดอย่างใด แล้วสักกายทิฏฐิมันถอนอย่างไร อุปาทานมันถอนอย่างไร แล้วถ้าไปเจออสุภะ..

นี่อสุภะ กามราคะ สิ่งที่กามฉันทะ สิ่งที่เป็นเรา สิ่งที่เป็นโอฆะ.. จิตนี้เคยเกิดตายในวัฏฏะ จิตนี้เคยเวียนว่ายตายเกิดจากโอฆะนี้มาไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วอยู่ๆ วันใดวันหนึ่งเราจะมาทำลายให้สิ่งนี้มันพ้นออกไปจากภวาสวะ จากภพในหัวใจของเรา

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันถูกต้อง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านสัจธรรม.. มรรคญาณ.. ท่านจะทำลายกิเลสแล้ว นั่นวางเป็นแบบอย่าง แต่การกระทำของเรา การกระทำของจิตดวงนี้ การกระทำการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้มันมีมากน้อยขนาดไหน

ฉะนั้นสิ่งที่ทำว่าเรียบง่ายนุ่มนวลอ่อนหวาน นี่มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ! มันเป็นเรื่องกิเลสกับธรรม กิเลสเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเคี้ยวกิน แล้วบอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ แต่เราปฏิบัติขึ้นมานี่เราไม่ได้เคี้ยวกิน เราปฏิบัติขึ้นมาเป็นสัจธรรม กับปฏิบัติขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา เป็นโลกุตตรธรรม

สิ่งที่เป็นปัญญาเหนือโลก ! ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากใจ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากมหาสติ.. มหาสติ มหาปัญญา แล้วมันเข้าไปทำลายกัน ทำลายสิ่งที่ละเอียดอ่อน สิ่งที่ลึกซึ้ง ! ลึกซึ้งขนาดไหนแต่มันเห็น มีปัญญากระทำขึ้นมาโดยชัดเจน.. นี่กระทำในหัวใจของเราบ่อยครั้งเข้า ละเอียดบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดมันเข้ามารวมสู่หัวใจ แล้วมันทำลายลง ครืน ! พอทำลายลง.. กามราคะ.. ปฏิฆะขาด ! พอขาดออกไป

นี่ไงสิ่งนี้มันรู้มันเห็นชัดเจน มันเป็นของมัน.. มันขาดมันขาดที่ไหน มันทำลายอย่างไรถึงว่าขาด แล้วมันทำลายอย่างไรถึงข้ามโอฆะ ถ้าข้ามโอฆะ.. นี่ไงความพยศของสัตว์ใหญ่ ความเป็นไปของมันรุนแรงมาก สิ่งที่รุนแรง เพราะสิ่งนี้เท่านั้นที่ทำให้เราเกิดในวัฏฏะกันอยู่นี้ เพราะถ้าทำลายตรงนี้แล้วจะไปเกิดเป็นพรหม เห็นไหม เกิดเป็นพรหมแล้วจะสำเร็จไปข้างหน้า แต่นี้ถ้าเราพิจารณาซ้ำ พิจารณาซ้ำไป

พรหม ๕ ชั้น.. พิจารณาซ้ำๆๆ นี่สิ่งที่พิจารณาซ้ำนี้มันมีเศษส่วน มันมีความรู้สึกลึกซึ้งในหัวใจ พิจารณาซ้ำจนถึงที่สุด หมดสิ้น ! หมดสิ้นกันไปนี่หมดสิ้นในอะไร หมดสิ้นในกามภพ หมดสิ้นนี้แต่หัวใจยังมีอยู่ หัวใจมีอยู่เพราะเหตุใด

สิ่งที่หัวใจมีอยู่.. นี่ไงแม่ทัพ แม่ทัพที่ออกทำลายกันด้วยกองทัพ แต่ผู้ที่เป็นจักรพรรดิ ผู้ที่เป็นกษัตริย์ล่ะ.. นี่เป็นกษัตริย์เขาคุมนโยบาย จิตที่มันเป็นจิตเดิมแท้ที่ผ่องใส ที่ทำลายทุกๆ อย่างทำลายเพราะอะไร เพราะเราต้องมีภพ มันต้องมีเครื่องมือใช่ไหม มันต้องมีพลังงานใช่ไหม มันต้องมีหัวใจใช่ไหมถึงจะเข้ามาทำลายได้ พอทำลายถึงที่สุดแล้วมันหมดเกลี้ยง มันทำลายความสะอาดเข้ามาถึงที่สุดของมันแล้ว

“จิตเดิมนี้ผ่องใส” ใสนั้นคืออะไร.. ความนุ่มนวลอ่อนหวาน ถึงที่สุดนี่ที่ว่าเป็นปัจจยาการ.. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ.. ปัจจยาการมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” มันเป็นความเศร้าหมอง-ผ่องใสอยู่ในหัวใจ อยู่ในตัวใจนั่นล่ะ แต่พอมันถึงที่สุด ถ้ามันเป็นอรหัตตมรรคนี่มันเป็นปัญญาญาณ

เพราะเป็นปัญญาญาณ เพราะจิตจับจิต นี่เพราะว่าในวัตถุนั้นจับต้องในวัตถุนั้น มันจะย้อนกลับเข้ามาที่ตัวมัน ถ้าย้อนกลับเข้ามาที่ตัวมันได้ เห็นไหม แล้วจะใช้ปัญญาอย่างใด ปัญญาอย่างที่ใช้กันอยู่นี้ ปัญญาโดยสังขาร ปัญญาโดยความคิดนี่สิ่งนี้มันหยาบเกินไป สิ่งนี้จะเข้าไปทำลายอวิชชาไม่ได้ !

สิ่งที่จะเข้าไปทำลายอวิชชาจะต้องเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เพราะตัวมันละเอียดอ่อน ตัวมันเองมันเป็นความผ่องใส เพราะมันไม่มีตัวตน ! มันเป็นความผ่องใส มันเป็นความว่าง มันเป็นสิ่งต่างๆ แล้วเอาอาวุธไปจะทำลายอะไรมันได้ มันจับต้องมันไม่ได้ เห็นตัวมันไม่ได้ !

แต่ถ้ามันเป็นมรรคญาณล่ะ เป็นมรรคญาณ เห็นไหม นี่สิ่งที่มันจะมีปัญญาที่เหนือกว่า.. สิ่งที่มีปัญญาที่เหนือกว่ามันจะจับตัวมันได้ พอจับตัวมันได้ สิ่งที่จับตัวมันได้ แล้วปัญญาที่จะเกิดขึ้น ปัญญาที่เป็นมรรคญาณ สิ่งที่มันซึมซับกัน สิ่งที่มันเป็นความละเอียดอ่อนกัน นี่มันทำอย่างใด ถ้ามันทำโดยสัญญาอารมณ์ ทำโดยตำรับตำรานี่ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ! สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้เลย

๑. กิเลสก็ไม่เคยเห็นมัน แล้วเวลาจะทำร้ายกัน.. คนเรา เห็นไหม ดูสินักโทษประหาร เวลาเอาเข้าหลักประหารเขายังดิ้นรนเลย เขายังพยศ เขายังพยายามอยากรักษาชีวิตเขารอด แล้วไอ้อย่างนี้เรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่มันอยู่ในหัวใจ มันเป็นที่อยู่อาศัยของเขามันก็เหมือนชีวิตหนึ่ง แล้วถ้ามันมีปัญญาเข้าไปทำลายมัน จะฆ่ามันทำลายมัน มันไม่มีแรงต้าน มันไม่รักษาตัวมันเลยเหรอ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้นความนุ่มนวลอ่อนหวานมันเป็นเรื่องที่เราจินตนาการกันไปเอง แต่ในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง จิตใจนี่เราจะเป็นคนอ่อนโยน เราจะเป็นคนนิ่มนวลอ่อนหวาน แต่ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมามันเป็นน้ำป่า มันเป็นน้ำไหลไฟดับ มันเป็นการต่อสู้กันโดยสัจจะความจริง.. ไม่มีหรอก ! นุ่มนวลอ่อนหวานนี่กิเลสมันเอาไปกินหมดล่ะ !

แต่เวลาจิตมันละเอียดขึ้นไปนี่มันต้องเป็นความสมดุลกัน ความสมดุลของความหยาบ ความสมดุลของแม่ทัพ แม่ทัพก็ต้องสู้กันด้วยแม่ทัพ.. แม่ทัพ เห็นไหม ดูสิมหาสติ มหาปัญญามันเป็นกองทัพใหญ่ มันเป็นที่ว่าเราสร้างขึ้นมา เราปฏิบัติขึ้นมา เราสะสมขึ้นมา จนมีกำลังขึ้นมา จนทำลายกามราคะ กามโอฆะต่างๆ จนสิ้นไป.. พรหม เห็นไหม พรหมมีผัสสะ พรหมเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว จิตใจที่มันเป็นหนึ่งนี่ภวาสวะ !

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”

แล้วจะข้ามอย่างใด การกระทำของความละเอียดอ่อนขึ้นมานี้มันจะจับของมัน ความพยศขนาดไหน สิ่งที่แนบเนียนขนาดไหน เขาไม่แสดงสิ่งใดๆ เลย เขาตีหน้าตาย เขาไม่สนใจกับสิ่งใด เขาว่าเขาไม่รู้เรื่องเขาไม่ได้ทำสิ่งใดๆ เลย แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำสิ่งใดแต่เขามีหรือเปล่า เขาอยู่ที่ไหน.. ถ้ามันจับได้ มีหรือไม่มีนี่มันก็กระทำกัน

ดีและชั่ว ! ถ้ามันพลิกความดีและชั่วออกไป ถึงที่สุดดีก็ไม่มีชั่วก็ไม่มี ทำลายกันทั้งหมด เห็นไหม นี่มันทำลายที่หัวใจนี้ ถ้าทำลายที่หัวใจนี้ นี่ธรรมทั้งหมดถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้.. ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี่ไงมันจะพยศกับใครอีกล่ะ เพราะถึงสมมุติบัญญัติ.. วิมุตติ.. วิมุตติมันข้ามจากสมมุติบัญญัติไปทั้งหมด

ถ้ามีสมมุติอย่างหยาบ สมมุติอย่างกลาง สมมุติอย่างละเอียด สมมุติอย่างละเอียดสุด จิตที่ผ่องใสมันเป็นสมมุติอันละเอียดสุด มันเป็นสมมุติ.. สมมุติเพราะอะไร เพราะมันสื่อสาร มันจับต้องได้ มันมีสิ่งกระทบได้ แต่ทำลายสมมุติบัญญัติทั้งหมด !

พ้นออกไปจากสมมุติบัญญัติ มันเป็นอะไร สิ่งที่ว่าวิมุตติๆ นี่วิมุตติอย่างไร ธรรมะเป็นธรรมชาตินี่ธรรมชาติอย่างใด มันเหนือหมด ! มันเหนือธรรมชาติ เหนือสรรพสิ่ง เหนือทุกอย่าง เหนือจนเป็นเอกเทศของมัน ถ้าเหนือเอกเทศของมันแล้วเอกเทศมันมาจากไหนล่ะ.. มันมาจากที่จิตใจเราทุกข์ๆ ยากๆ นี่แหละ มันมาจากหัวใจ สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือความรู้สึก คือใจ

ปฏิสนธิวิญญาณสำคัญ.. “จิตไม่เคยตาย ความรู้สึกนี้ไม่เคยตาย” เวลาคนตายความรู้สึกนี้ออกจากร่างไป ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เห็นไหม ท่านบอกว่า “ถ้าใครฆ่ามันก็ฆ่าได้แต่ซากกากเมือง” มันจะฆ่าได้แต่ซากธาตุ ๔ เท่านั้น เขาจะฆ่าใจดวงนี้ไม่ได้ เขาจะฆ่าความรู้สึกอันนี้ไม่ได้ ความรู้สึกนี้มันทิ้งมาตั้งแต่ว่าทำลายอวิชชา ทำลายภพ ทำลายทุกอย่างมันไม่มีแล้ว

มันไม่มีเพราะอะไร ทำอย่างไรถึงไม่มี ทำอย่างไรถึงทำลายมันได้แล้วพ้นจากการเกิดการตายเพราะมันไม่มีอวิชชา.. ทำถึงความสะอาดบริสุทธิ์ในการปฏิบัติของเรา เห็นไหม นี่ถ้าปฏิบัติจริง จะทำลายกิเลส กิเลสมันจะพยศเอา มันพยศมันต่อต้าน แต่ถ้าเราไม่ได้ทำลายมันเลย มันเป็นความนุ่มนวลอ่อนหวาน มันอยู่กับเรา มันเป็นเพื่อนสหายกับจิตเรา มันจะพาจิตนี้เกิดตายไปตลอด

แต่เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ.. พบพระพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ถ้าเราปฏิบัติถึงที่สุด เราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราจะฆ่ามัน มันจะพยศขนาดไหนเรามีวิชา เรามีการกระทำ มีความรอบคอบ เราสามารถทำได้ มนุษย์ทุกคนสามารถทำได้เพราะมนุษย์มีหัวใจ ทุกข์เกิดที่ใจ

เวลาภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากใจ.. ใจดวงนั้น ปัญญาที่เกิดจากใจดวงนั้นจะทำลายอวิชชาในใจดวงนั้น ให้ใจดวงนั้นประสบความสำเร็จ ประสบสุขในชีวิตนี้ เอวัง