ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คติธรรม

๑o ธ.ค. ๒๕๕๓

 

คติธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๒๘๔. อ้อ ๒๘๔. ไม่มี ข้อ ๒๘๕. ข้อ ๒๘๕. คำถามนี้โอ้โฮ.. เอาเรื่องเลยล่ะ

ถาม : ๒๘๕. เรื่อง “เมื่อมีพระอรหันต์มานั่งรวมกัน ท่านจะรู้ได้ทันทีไหมว่าจิตองค์ใดสิ้นกิเลสแล้ว”

หลวงพ่อ : นี่คำถามเขาเนาะ นี้เพียงแต่ว่าคำถามนี้เขาเขียนดี เขาเขียนแบบว่ามันเหมือนเป็นอารัมภบทที่ดีมาก มันก็คือแบบอุดมการณ์ว่าเราตั้งใจอย่างนี้ไง ฟังนะเขาชมมา ความจริงชมมาเราไม่ค่อยอ่านนะ แต่นี้เขาชมมาเขาเข้าหลักไง เขาชมมา ธรรมดาเวลาชมมานี้จะไม่เคยอ่าน แต่อันนี้เดี๋ยวฟังนะ

ถาม : โยมโชคดีมีโอกาสได้ฟังธรรมเทศนาของท่าน (เขาไม่เคยมาเลยนะ) ทำให้ได้รับความรู้กว้างขวาง และเข้าใจในการปฏิบัติภาวนามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันโยมได้ปรับเปลี่ยนวิธีการภาวนาจากการดูลมหายใจเข้าออก มาภาวนาพุทโธตามแบบและวิธีการที่ท่านได้แนะนำไว้ โดยพยายามทำความระลึกอยู่กับพุทโธไม่ว่าทำอะไรอยู่ ทำให้ตัดความคิดความฟุ้งซ่านได้ดีมาก จิตนิ่งสงบอยู่กับอารมณ์เดียวเป็นเวลานานๆ โดยโยมได้ประจักษ์ชัดด้วยจิตตนเองว่า “พุทโธนี่แหละเหมาะกับทุกคนในสังคมโลกปัจจุบัน”

เพราะคนที่ยังวุ่นวายอยู่กับการหาทรัพย์ภายนอก เพื่อดำรงชีพทั้งของตนเองและครอบครัว การจะปลีกตัวเข้าวัดเพื่อการภาวนาเป็นอาชีพเหมือนพระหรือชี ที่บวชเข้ามาเพื่อทำความเพียร มุ่งบำเพ็ญตบะธรรมอย่างเดียวให้ถึงความพ้นทุกข์นั้น เขาอาจจะต้องตายเปล่า และโอกาสที่จะได้เข้าวัดเพื่อรักษาศีลปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแทบไม่มีอยู่ในความคิดคำนึง แต่หากเขาได้ฟังธรรมอย่างใส่ใจ และนำไปปฏิบัติเอาเองในชีวิตประจำวันควบคู่กับงานทางโลก ก็อาจจะทำให้อย่างน้อยก็ได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะไว้ในดวงจิต ไปวันละเล็กละน้อย สร้างเหตุสร้างปัจจัยในทางธรรมสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะไม่เกิดมาสูญเปล่าแน่

โยมยังไม่เคยกราบองค์จริงท่านเลย แต่ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านเป็นประจำ แทบจะเรียกได้ว่าเกือบทุกกัณฑ์ที่อยู่ในเว็บไซต์ บางครั้งก็นำมาฟังย้อนทวน ซึ่งยิ่งฟังยิ่งเข้าใจแจ่มแจ้ง และจะเข้ามาอัพเดท (ของเขานะ) จะเข้ามาอัพเดทธรรมะของท่านเกือบทุกอาทิตย์ สังเกตได้ว่าธรรมเทศนาของท่านกัณฑ์เก่าๆ ก่อนปี ๕๒ ล้วนเป็นธรรมปฏิบัติทั้งหมด ฟังแล้วทำให้เกิดความเพียรพยายาม ความอดทน ความศรัทธาและมีกำลังใจในการต่อสู้กับเวทนาอย่างยิ่ง

แต่ธรรมเทศนาตั้งแต่ปี ๕๒ จนถึงปัจจุบัน ส่วนมากเป็นเรื่องการปกป้องพระพุทธศาสนา แยกแยะ แสดงเหตุผลให้ผู้ฟังได้เห็นความแตกต่างของธรรมะจริงและธรรมะข้างธรรมาสน์ ซึ่งก็ให้ความรู้ความกระจ่างว่าอันไหนเป็นธรรมแท้ นับเป็นบุญของนักปฏิบัติธรรม ที่ท่านพระอาจารย์ได้มาช่วยเปิดตาให้ก่อนจะสายเกินกว่ากู่กลับไม่ทัน ไม่ว่าพระ เณร เถร ชี หรือผู้ฝักใฝ่ในการปฏิบัติธรรม ที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งสัมมามรรคะ ให้เห็นทางที่ถูกต้อง

โดยเฉพาะโยมถือว่าเป็นโชคและบุญอันยิ่งใหญ่ที่จิตเปิดรับฟังธรรมของท่าน ที่วิเคราะห์การสอนของพระอาจารย์องค์หนึ่งอย่างถึงแก่น แม้ว่าโยมจะไม่ได้ฟังธรรมของพระองค์นั้นเลย แต่ก็ทำให้ได้กำไรจากการฟังมหาศาล ได้รับรู้ว่าธรรมที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติจริงนั้นมีข้อสังเกตอย่างใด แตกต่างจากธรรมะด้นเดา และธรรมะจากสัญญาความจำอย่างไร และบอกกับตนเองว่าได้พบครูบาอาจารย์ที่ชี้ทางออก บอกทางตรงในการประพฤติปฏิบัติอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่สงสัยอะไรอีก ตอนนี้โยมเพียรพยายามสะสมอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ตามสติกำลัง เมื่อมีโอกาสโยมจะไปกราบท่าน

หลวงพ่อ : ไม่เคยมาเลยนะเนี่ย อารัมภบทมาซะยาว เขาเขียนเองนะ..

ถาม : ขออนุญาตถามเพื่อความรู้และความกระจ่าง ขอท่านโปรดเมตตาตอบให้คลายสงสัยด้วยค่ะ (แล้วคำถามนี้ไม่ธรรมดาเลยล่ะ)

๑. พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว สามารถกลับมาสอนลูกศิษย์ลูกหาได้อีกหรือไม่ เพราะมีนักปฏิบัติบางท่านชอบพูดอวดภูมิตนเองว่า หลวงปู่มั่นหรือหลวงปู่องค์ที่ท่านมรณะไปแล้วกลับมาสอนธรรมะปฏิบัติ เข้ามาในนิมิตดังนี้เป็นต้น

๒. กรณีที่มีพระอรหันต์หลายองค์ ซึ่งต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน มานั่งรวมกันหรือนั่งใกล้ๆ กัน ท่านจะทราบได้ทันทีหรือไม่ว่าจิตองค์ไหนสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว โดยไม่ได้พูดคุยหรือสนทนาปราศรัยกัน

หลวงพ่อ : ข้อ ๓, ๔, ๕ นี้เป็นเรื่องพระ เดี๋ยวค่อยว่ากันเนาะ ข้อ ๑ กับ ๒ นี้ก่อน ข้อ ๑ กับ ๒ นี้มันเกี่ยวเนื่องกัน

ถาม : ๑. พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว สามารถกลับมาสอนลูกศิษย์ลูกหาได้หรือไม่ เพราะมีนักปฏิบัติบางท่านชอบพูดอวดภูมิตนเองว่า หลวงปู่มั่นหรือหลวงปู่องค์ที่ท่านมรณะไปแล้วกลับมาสอนธรรมะปฏิบัติเขาในนิมิตดังนี้เป็นต้น

หลวงพ่อ : ไอ้นี้นะมันเป็นธรรม.. คำว่าเป็นธรรม การปฏิบัติเรานี่สายกรรมฐาน เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้าเกิดไปเห็นนิมิตเห็นต่างๆ แล้วพูดออกไป หรือพูดออกไปโดยไม่ใช่ความเป็นจริง ทางสังคมโลกเขาถึงไม่ค่อยเห็นด้วยไง สังคมโลกเขาว่าพุทโธนี่เกิดนิมิต พุทโธทำให้หลงทาง ถึงต้องไปใช้อภิธรรม คือใช้ปัญญาอย่างเดียว แต่ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาทางโลกไง ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาแบบโลกียปัญญา แต่ถ้ามันเป็นปัญญาที่จะเข้าสู่การชำระกิเลส มันต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบเข้ามานะมันก็กลับมาอยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่คนเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

ถ้าเป็นประโยชน์แล้วนี่ เวลาธรรมเกิด.. เราใช้คำว่า “ธรรมเกิด” เพราะ ! เพราะสิ่งที่ครูบาอาจารย์มาสอนนี้เป็นไปได้ เป็นไปได้สำหรับผู้ที่เป็นจริง แต่ถ้าผู้ที่เป็นความไม่จริง มันเป็นความฝัน มันเป็นความเพ้อเจ้อไปเลย ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟังประจำ เพราะหลวงปู่ขาวนะ ขนาดว่าบิณฑบาตมา ฉันเสร็จแล้วเอาบาตรไปเก็บแล้วไม่เก็บเข้าที่เข้าทาง พอท่านนั่งภาวนาปั๊บนะหลวงปู่มั่นมาเลย “ทำไมท่านทำอย่างนั้น.. ทำไมท่านทำอย่างนั้น”

เพราะหลวงตาท่านเขียนประวัติหลวงปู่มั่น ท่านจะไปหาครูบาอาจารย์แล้วคุยกันได้เยอะมาก หลวงปู่ขาวท่านบอกว่าท่านทำอะไรผิดนิดหนึ่งไม่ได้เลย ถ้าการดำรงชีวิตของท่านมีสิ่งใดผิดพลาดปั๊บนะ คืนนั้นหลวงปู่มั่นมาทันทีเลย นี่หลวงปู่ขาวพูดเอง หลวงปู่ขาวเล่าให้หลวงตาฟัง แล้วหลวงตาท่านก็มาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาพวกเราฟังเป็นวงใน แต่วันนี้พูดออกเว็บไซต์คงไม่เป็นวงในแล้วล่ะ

คำว่าเป็นวงใน เป็นวงในหมายถึงว่า เราจะบอกว่าเขาถามว่า ถ้าหลวงปู่มั่นหรือครูบาอาจารย์มาสอนมีจริงไหม.. จริง ! มี มีจริง ! แต่มีจริง ผู้ที่รับต้องมีวุฒิภาวะ มีภูมิคุณธรรมพอสมจะรับสิ่งนั้นได้จริงด้วย ! ถ้ามีจริง อย่างพวกเรานี่นะคิดแต่เรื่องการพนัน คิดแต่เรื่องทางโลก แล้วบอกคืนนี้ให้หลวงปู่มั่นมาสอน หลวงปู่มั่นบอกว่าให้แทงเลขให้ ๒ ตัว เลขนั้นเลย แทงเยอะๆ แทงให้หมดเนื้อหมดตัวไปเลย

วุฒิภาวะของเรามันรับครูบาอาจารย์อย่างนั้นไม่ได้หรอก ฉะนั้นเวลาหลวงปู่มั่นท่านจะมาสอน มาสิ่งต่างๆ นี่มีจริงไหม.. มีจริงเพราะหลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง ว่าท่านทำอะไรผิดพลาดนะหลวงปู่มั่นมาเลย

หลวงปู่มั่นมาเลยว่า “ท่านทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ท่านทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้” เพราะ ! เพราะหลวงปู่มั่นท่านอนาคตังสญาณจริงๆ

หลวงปู่มั่นท่านจะดู ดูว่าพระองค์ไหนจะเป็นหลักเป็นชัย เป็นหลักเป็นชัยในพุทธศาสนา เพราะหลวงปู่มั่นท่านก็จะมารื้อฟื้น ท่านพยายามสร้างความรู้จริงของท่านขึ้นมาให้ได้ก่อน เพราะท่านพยายามทดสอบ ท่านตรวจสอบ ท่านธุดงค์มาทั่ว เพื่อจะให้เป็นความจริงของท่านขึ้นมา พอเป็นความจริงของท่านขึ้นมาแล้ว ท่านก็มาสอนลูกศิษย์ วางศาสนทายาทเพื่อประโยชน์กับศาสนา

ฉะนั้นท่านทุ่มเททั้งชีวิตของท่าน ท่านทุ่มเทด้วยความจริงของท่าน ท่านทุ่มเทมาตั้งแต่.. ในประวัติของหลวงปู่มั่นว่า ท่านปรารถนาพุทธภูมิมาเหมือนกัน ท่านได้สร้างบุญญาธิการของท่านมามหาศาล แล้วท่านทุ่มเทมาเพื่อความพ้นทุกข์ของท่าน แล้วเพื่อแบบรื้อสัตว์ขนสัตว์ คือเพื่อชาวพุทธด้วย

ฉะนั้นเวลาพูดถึงหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำ ว่าหลวงปู่มั่นจะบอกว่า “หมู่คณะอย่าลืมหลวงปู่ขาวนะ ! อย่าลืมหลวงปู่ขาวนะ เพราะหลวงปู่ขาวท่านได้..” แต่องค์อื่นท่านไม่ค่อยได้พูดถึง เห็นไหม แล้วพออีกทีหนึ่งก็หลวงตา ก็บอกว่า “หมู่คณะต่อไปจะพึ่งใคร ให้พึ่งหลวงตานะ ให้พึ่งหลวงตา หลวงตาท่านดีทั้งนอกทั้งใน”

นี่เราพูดถึงหลวงปู่ขาวก่อน ทีนี้มาพูดถึงหลวงตา พอพูดถึงหลวงตา นี่หลวงตาไปอยู่.. หลวงปู่เจี๊ยะสร้างวัดที่น้ำตกพลิ้วให้หลวงตาอยู่ หลวงตาไปอยู่นี่มีพระไป ๑๐ กว่าองค์ แล้วต่างองค์ก็ต่างบิณฑบาตอยู่.. หลวงตาเล่าเอง ทีนี้เมื่อก่อนบ้านนอกนะ ในทางสวนเวลาถ้าลำธารเขาจะพาดด้วยไม้ไผ่กระบอกเดียวไง ไม้ลำเดียว แล้วพระที่อยู่ที่นั่นเดินบิณฑบาตกลับมา บิณฑบาตกลับมาข้าวมันเต็มบาตรไง แล้วเดินพลาดตกน้ำ พอตกน้ำกลับมาก็เปียกหมดเลย เปียกหมดเลยหมู่คณะก็ดูแลกัน

หลวงตาท่านเล่า คืนนั้นหลวงปู่มั่นมาเลย มาอัดหลวงตาเลย นี่หลวงตาเล่าเองนะบอกว่า “เห็นไหม นี่เอาเปรียบให้คนอื่นเขาไปไกลๆ ตัวเองบิณฑบาตใกล้ๆ” นี่หลวงตาท่านบอกตั้งแต่วันนั้นมาท่านสับเปลี่ยนหมด คือว่าพระในวัดให้ผลัดเปลี่ยนกัน สายใกล้ สายไกล สายต่างๆ นี้ให้ผลัดเปลี่ยนกัน หมุนเวียนกัน ให้ทุกคนได้เสมอภาคกัน

นี่ไงเราถึงบอก สิ่งที่ว่าหลวงปู่มั่นมาสอนเป็นไปได้จริงไหม เป็นไปได้จริง.. แต่เป็นไปได้จริงนี้ ส่วนใหญ่ที่เป็นไปได้เขาจะเก็บไว้ข้างใน เขาจะเก็บไว้ภายใน เพราะเรื่องอย่างนี้มันเป็นดาบสองคม คมหนึ่งใช้เพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ อีกคมหนึ่งใช้เตือนจิตใจเรา แต่ถ้าพูดออกไป คมนี้มันจะบาดเสียหายไปหมดเลย

ฉะนั้น ดูสิทรัพย์สมบัติก็เหมือนกัน เรามีเงินทองในกระเป๋าเรานี่นะ เวลาเราใช้จ่ายเราจะควักออกมาอวดเขา จะใช้เงินสักบาทหนึ่ง เอา ๒๐ ล้านมานั่งนับแล้วจ่ายบาทหนึ่งนี่ไม่ใช่คนมีสติหรอก คนเขาจะใช้จ่ายเงินบาท ๒ บาท เขาก็ควักมาบาท ๒ บาท ไอ้เงิน ๒๐, ๓๐ ล้านเขาก็เก็บของเขาไว้ เขาไม่มานับโชว์หรอก จะจ่ายเงินบาทหนึ่งก็เอาเงิน ๒๐ ล้านมานั่งนับนะจะใช้บาทหนึ่ง ไม่มีใครเขาทำหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นมาติมาบอกกล่าวในนิมิต ในต่างๆ นี่มี !เป็นไปได้ แต่ว่าเป็นไปได้นี้เขาไม่มาพูดอวดกัน.. คำว่าพูดอวด เห็นไหม นี่เขาเขียนว่า

“มีนักปฏิบัติบางท่านชอบพูดอวดภูมิตนเองว่าหลวงปู่มั่นมาสอน”

หลวงปู่มั่นเราก็เคารพนะ นี้เราจะบอก เห็นไหมอย่างเด็กๆ เรานี่ เวลาเราคิดเราเห็นมันก็เป็นไปได้ อุปาทานมันก็มี สิ่งต่างๆ ในหัวใจทุกคนมันมี ถ้าแบบว่าจิตใจเราหยาบยังรับสิ่งนั้นไม่ได้.. บอกว่าความจริง นี่ความจริงมีมากมีน้อย อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์พูด

“เห็นจริงไหม.. จริง !”

“เห็นจริงไหม.. ความเห็นนี้เห็นจริงๆ”

“เห็นจริงไหม.. จริงๆ ! เห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง” นี่อย่างนี้ก็มี..

แล้วถ้าจิตเรามีคุณภาพระดับนั้น “เห็นจริงไหม.. จริง ! แล้วความเห็นนั้นก็จริงด้วย”

นี่มันมีหลายระดับ ฉะนั้นเราจะบอกว่าสิ่งนี้มันต้องแบบว่า มันเป็น “คันถธุระ-วิปัสสนาธุระ” ถ้าวิปัสสนาธุระ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้แล้วท่านฟังทีเดียวก็รู้ คนพูดนี้จริงหรือไม่จริง อย่างเช่นการมาพูดอวดมันไม่มีหรอก นี้เพียงแต่ว่าถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราอย่างเช่นหลวงตาท่านพูด ท่านไม่ได้พูดอวด เวลาท่านพูด นี่ท่านพูดเพื่อความศรัทธา ความมั่นคงของพวกเราในการประพฤติปฏิบัติ เพราะมันพูดไปแล้วมันไม่มีใครมีได้มีเสียไง ท่านพูดเพื่อคนฟัง แต่ถ้าพูดอวดเราก็รู้ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้วจะกลับมาสอนลูกศิษย์” นี่มันค้านกันไง มันค้านกันในความเชื่อ ในความเชื่อว่าพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้วกลับมาได้อย่างไร คำโต้แย้งนี้จะมีประจำ พระอรหันต์กลับมาได้อย่างไร ถ้ายังกลับมาก็แสดงว่าพระอรหันต์ยังอยู่ใช่ไหม มันก็ต้องมาเชื่อกันตรงนี้ก่อนว่า “นิพพานมีหรือเปล่า” อ้าว.. นิพพานมี ถ้านิพพานมี เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว อีก ๔๕ พรรษานั้นพระพุทธเจ้าสอนอะไร

ฉะนั้นสิ่งนี้คำว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร.. พระพุทธเจ้าเอาอะไรมาสอนต่างหาก เอาอะไรมาสอน ก็เอาธรรมธาตุในหัวใจนั้นมาสอน ฉะนั้นสิ่งนั้นมีอยู่ ถ้าเข้าถึงกันนี่มันเป็นไปได้ มันรู้ได้ ฉะนั้นมันจะตัดสินไปบอกว่าไม่มีหรือมี มันก็สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง เห็นไหม

“มัชฌิมาปฏิปทา ! นี่กามสุขัลลิกานุโยค.. อัตถกิลมถานุโยค”

นี่ถ้าบอกว่าไม่มีเลยมันก็มีอยู่ บอกว่ามี ทุกคนว่ามี เป็นไปไม่ได้.. มีแบบไม่มี ไม่มีแบบมีอย่างนี้ทำอย่างไร เข้าใจไหม “มีแบบไม่มี ไม่มีแบบมี” ไอ้ที่ไม่มีแบบมีคือว่าถ้าเราทำไม่ได้เลยนี่มันมีของมันอยู่ ไอ้ว่าจะมีตลอดไป มีมั่นคง มันก็ไม่ใช่ เพราะจิตของคนมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เห็นไหม

มันมี ! นี่ยกตัวอย่างเช่นหลวงปู่มั่นเลย พวกเรานี่นะ พวกเรานี้เป็นเพราะว่าหลวงปู่มั่นเป็นที่เชื่อถือของสังคมใช่ไหม เราก็เอาหลวงปู่มั่นมาสอน หลวงปู่มั่นมาสอน แล้วเวลาหลวงปู่มั่นนี่ใครมาสอนหลวงปู่มั่นล่ะ ไปดูประวัติหลวงปู่มั่นสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านภาวนาไป จะมีครูบาอาจารย์สมัยพุทธกาลมาอนุโมทนา เห็นไหม ในประวัติหลวงปู่มั่น.. แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน เรารู้ว่าใครเป็นใครไหม อย่างเช่นพระธาตุ เดี๋ยวนี้ว่าพระธาตุๆ พระธาตุมานี่เหมือนกันหมดเลย แล้วพระธาตุขององค์ไหนล่ะ.. แล้วพระธาตุของใครล่ะ..

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงปู่มั่นท่านได้ประสบการณ์อย่างนี้มา แล้วสมัยเหนือหลวงปู่มั่นขึ้นไปใครมาสอนหลวงปู่มั่น แล้วอย่างพวกเรา นี่หลวงปู่มั่น.. หลวงปู่มั่น.. แต่ถ้าเราเคารพนะ เราเคารพ แบบว่าเคารพด้วยหัวใจ พูดออกมานี่มันเป็นการเชิดชู เป็นการไม่ใช่เอามา ถ้าไม่เคารพนะเอามาเป็นสินค้า เอามาเป็นการดึงผลประโยชน์ อันนั้นไม่ถูกต้อง.. จะบอกว่าไม่มีเลยนี่มันก็มี แต่นี้บอกว่ามีแล้วเราเอาอะไรมาวัดล่ะ

วัดก็นี่ไง “วิปัสสนาธุระ-คันถธุระ”

วิปัสสนากับวิปัสสนาเขาปกครองกัน วิปัสสนาคนเป็นเท่านั้นล่ะ คนไม่เป็นจะมาพูด พอพูดออกมานี่คนเป็นรู้ทันทีเลย.. แต่นี้ถ้าเป็นคันถธุระ เห็นไหม เดี๋ยวนี้พูดกัน คันถธุระมันก็สัญญา คันถธุระก็คือการศึกษาพระไตรปิฎก แล้วเวลาพูดออกมาอย่างนี้งงนะ อ้าว.. พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว นิพพานไปแล้วก็วิมุตติไปแล้วก็จบ แล้วพอบอกว่า อ้าว.. นิพพานไปแล้วกลับมาสอนอีกแล้ว อ้าว.. แล้วกลับมาได้อย่างไรมันก็ขัดแย้งกัน พอเป็นคันถธุระนี่จะขัดแย้งเลย แต่ถ้าวิปัสสนาธุระนะ..

จิต ! จิตของคน วุฒิภาวะของจิตที่มันสูงต่ำขนาดไหน มันจะมีภูมิของจิต เห็นไหม หลวงตาใช้คำว่า “ภูมิของจิตสูงต่ำแค่ไหน” ถ้าภูมิของจิตสูงต่ำแค่ไหน ความสูงต่ำอันนั้นมันวัดได้รู้ได้ แล้วพูดก็พูดได้.. อย่างเรานี่เราเรียนมาแค่ไหนเราก็พูดจากความรู้สึกเรานั่นล่ะ แต่ถ้าคนที่เขามีความรู้สึกมากกว่านั้น ลึกกว่านั้น เขาจะมีอีกชั้นหนึ่ง นี้พอเวลาแสดงธรรมจะรู้ได้เลยว่าคนที่พูดธรรมะมีภูมิแค่ไหน

พูดได้แค่ไหน รู้ได้แค่ไหน แล้วออกมาแค่ไหน ก็ออกมาด้วยความรู้ของตัวทั้งหมดนั่นล่ะ แล้วความรู้ของตัวทั้งหมดมันก็ นี่ความว่างของพระโสดาบัน ความว่างของพระสกิทาคา ความว่างของพระอนาคา ความว่างของพระอรหันต์ มันว่างอย่างไร อ้าว.. ว่างอย่างไร แล้วทำไมถึงว่าง ทำอะไรมาแล้วมันว่างมาอย่างนี้ แล้วว่างอย่างนี้ว่างระดับมันแค่ไหน พอพูดนี่รู้เลย

“นี่คันถธุระ-วิปัสสนาธุระ”

ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติกันมันเป็นวิปัสสนาธุระ แต่เวลาจะตรวจสอบกันก็คันถธุระ คือว่าพระอรหันต์นิพพานไปแล้วมาไม่ได้ ถ้ามาได้นี่โอ้โฮ.. ปฏิบัติให้โง่หรือปฏิบัติให้ฉลาด เขาว่าอย่างนั้นเลยนะ แต่ขณะปฏิบัติจะรู้ว่าจะมีอะไรของมันบ้าง.. ไอ้นี่ข้อที่ ๑

ถาม : ๒. กรณีที่มีพระอรหันต์หลายองค์ ซึ่งต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน มานั่งรวมกันหรือนั่งใกล้ๆ กัน ท่านจะทราบกันได้ทันทีหรือไม่ว่าจิตองค์ไหนสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว โดยไม่ต้องพูดคุยหรือสนทนากัน

หลวงพ่อ : กรณีที่พระอรหันต์หลายองค์รู้ได้ไหม.. มันมี พระอรหันต์นี่เห็นไหม ดูสิพระอรหันต์ในตำราก็มี ๔ ประเภทใช่ไหม เตวิชโช ฉฬภิญโญ แต่ละประเภท ฉะนั้นพระอรหันต์ที่มีวุฒิภาวะที่สูงรู้ได้ อย่างเช่นพระอนุรุทธะ พระพุทธเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน นี่เข้าฌานสมาบัติเวลาจะรูปฌาน อรูปฌาน แล้วจะนิพพานระหว่างรูปฌาน อรูปฌาน นี่เวลาพระอนุรุทธะรู้ตาม รู้วาระจิตตลอดเวลา พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เห็นพระพุทธเจ้านอนอยู่นาน ถามว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่นิพพานแล้วเหรอ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เห็นไหม พระอุบาลีเป็นคนถามขึ้นมา แล้วพระอนุรุทธะบอกยัง ตอนนี้จิตพระพุทธเจ้ากำลังเข้าสมาบัติอยู่

นี่เรายกให้เห็นว่าเอตทัคคะ.. เอตทัคคะ ๘๐ องค์ยังไม่เท่ากันเลย พระอุบาลีเป็นเอตทัคคะในทางวินัยนะ ในทางวินัย พระอานนท์เป็นพหูสูต เป็นเอตทัคคะ ๔ ประเภท พระอานนท์นี่มากกว่า ฉะนั้นอย่างพระอนุรุทธะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เห็นไหม เอตทัคคะคือความถนัด นี้ความถนัดของพระอนุรุทธะนี่รู้ แต่พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกันนี่ไม่รู้ แต่ถ้าลองไปพูดคุย พอพระอนุรุทธะบอกปั๊บพระอุบาลีรู้ทันทีเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน บอกว่าพระอรหันต์ที่มานั่งรวมกัน นั่งใกล้กันนี่รู้ไหม หลวงปู่มั่นรู้ทันที..(หัวเราะ) เราเวลาพูดอะไรเราพูดต้องมีหลักฐาน เวลาหลวงตาท่านเล่าว่าหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนท่านไปวิเวกแล้วกลับมา จะไปหาหลวงปู่มั่นไง เดินมาถึงกลางทางเหนื่อยมากก็คุยกันนะว่าหลวงปู่มั่นท่านจะรู้จิตเราหรือเปล่าน้อ.. จะรู้จิตเราหรือเปล่าน้อ.. พอไปถึงแล้วหลวงปู่มั่นใส่เลย

จิตของเราก็ต้องรู้เองสิ จะให้คนอื่นรู้ได้อย่างไร จิตของเราเราไม่ดู แล้วบอกว่านี่หลวงปู่มั่นจะรู้จิตเราหรือเปล่าน้อ ไอ้ตัวเองก็ไม่รู้จักดูจิตตัวเองเลย ไปห่วงแต่หลวงปู่มั่นจะรู้ไม่รู้ ทำไมท่านไม่ดูของท่านเอง โอ้โฮ.. หลวงปู่มั่นใส่เลย

นี่ผู้ที่รู้ เห็นไหม รู้ ! หลวงปู่มั่นรู้ แต่ถ้าผู้ที่สร้างบารมีมาต่างกัน แต่ถ้าได้พูดคุยได้สนทนานี่รู้ทันที เพราะเวลาพูดคุยสนทนา มันก็เหมือนกับยกขึ้นมาว่าสีแดง นี่สีขาวหรือสีดำใช่ไหม แล้วสีนี้ ถ้าคนเห็นสีเดียวกัน พูดเหมือนกันมันก็ถูกต้อง ไอ้คนนี้บอกสีดำ ไอ้คนนั้นบอกสีเทา ไอ้คนนั้นบอกสีขาว ไอ้คนนั้นบอกสีเหลือง โอ๋ย.. มันมีปัญหาแล้ว มีปัญหาแน่นอน

นี่ถ้าพูดคุยจะรู้ได้อย่างนี้ เวลาพูดคุยสนทนามันเป็นอริยสัจ มันเข้าสู่สัจจะ ถ้าเข้าสู่สัจจะนี่ก็ถูกต้องหมด ฉะนั้นมันพูดได้.. แล้วอย่างถ้าเข้าสู่สัจจะ เห็นไหม ดูสิเหมือนกับเราวัดความเร็ว ความเร็วบนหลักไมล์ บนถนนวัดความเร็วด้วยหลักไมล์หลักกิโลฯ นี่ความเร็วทางเรือเขาวัดระดับด้วยนอต ความเร็วทางอากาศ ความเร็วก็แตกต่างกัน นี้คนถนัดทางไหน แต่พูดออกมานี่รู้ได้ รู้ทันที

ฉะนั้น “กรณีที่มีพระอรหันต์หลายองค์ ซึ่งต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อนมานั่งรวมกัน ใกล้ๆ กัน ท่านจะทราบได้ทันทีหรือไม่”

ส่วนใหญ่แล้วนี่นะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นของจริงท่านจะทราบทันทีเลยแต่ท่านไม่พูด ทีนี้กรณีนี้ถ้าพูดออกไป บอกว่าท่านทราบทันทีเลย เพราะมันมีอยู่ ตอนนี้เขามีอยู่ที่ว่าต่างคนต่างให้ เหมือนที่ในพระไตรปิฎกพูดไว้นะ พระพุทธเจ้าบอกว่า “มหาโจร” ไง

มันมีพระ.. พระในสมัยพุทธกาลออกไปวิเวกแล้วกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีพระกลุ่มหนึ่งกลับมานี่อู้ฮู.. มีแต่หนังหุ้มกระดูกเลย พระอีกกลุ่มหนึ่งกลับมานี่แหม.. ผิวพรรณดีมากเลย พระพุทธเจ้าถามพระที่มีหนังหุ้มกระดูกว่าอยู่กันได้อย่างไร เพราะเขาอยู่กันด้วยหลักวินัย เขาอยู่กันด้วยธรรมวินัย แล้วไปเจออีกกลุ่มหนึ่งมา อู้ฮู.. ผิวพรรณดีมากเลย

“เธออยู่กันได้อย่างไร ทำไมอู้ฮู.. ดูผิวพรรณดีมาก ทำไมอยู่ได้สุขสบาย”

“โอ้โฮ.. ข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันนะ องค์นั้นก็บอกว่าองค์นี้ได้อนาคา ไอ้องค์อนาคาก็บอกว่าองค์นี้ได้สกิทาคา ไอ้องค์สกิทาคาก็บอกว่าองค์นี้ได้พระอรหันต์ ไอ้องค์พระอรหันต์ก็บอกว่าองค์นี้ได้โสดาบัน.. ชาวบ้านเขาศรัทธาเขาเชื่อถือ เขามาทำบุญกุศล พวกกระผมอยู่สุขสบาย อิ่มหนำสำราญ ผิวพรรณผ่องใส”

พระพุทธเจ้าเอ็ดเอานะบอก “มหาโจร” เธออยู่กันแบบมหาโจร โมฆะบุรุษอยู่แบบมหาโจร ในสมัยพุทธกาลมันก็มีอยู่แล้ว แต่เวลาพระเขาอยู่ด้วยธรรมและวินัย เวลามาเฝ้าพระพุทธเจ้านะมีแต่หนังหุ้มกระดูกมาเลยนะ มีแต่หนังหุ้มกระดูก มากันด้วย แบบว่ามาด้วยธรรมชาติ มาด้วยบารมีธรรมของตัว นี่อยู่กันอย่างนั้น.. ผู้ที่มีคุณธรรมเขาอยู่กันด้วยหนังหุ้มกระดูก เขาอยู่กันด้วยข้อเท็จจริง แต่อยู่กันแบบโลกๆ อยู่แบบมหาโจร อยู่แบบโมฆะบุรุษ เห็นไหม ว่าองค์นั้นได้สกิทาคา ไอ้สกิทาคาว่านี่ได้อนาคา ต่างคนต่างยกยอปอปั้นต่อกันเพื่อให้ศรัทธาญาติโยมเขาเชื่อถือ พอเชื่อถือขึ้นมา เขาก็เชื่อถือเพราะเขาฟังธรรมพระพุทธเจ้าเขาก็มีหลักเกณฑ์ว่าโสดาบัน สกิทาคา อนาคาทำแล้วจะได้บุญมาก แล้วคราวนี้ก็ไปพูดกันไง

นี้เราจะกลับมากรณีข้อที่ ๒. ว่า “กรณีที่พระอรหันต์หลายองค์ที่ต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน มานั่งรวมกันมานั่งใกล้ๆ กัน ท่านจะทราบได้เลยทันทีไหม”

ทีนี้ทราบได้ นี่ทราบได้จริงๆ แต่นี้กรณีอย่างนี้ กรณีพอพูดว่าทราบหรือไม่ทราบ แล้วพวกเราเป็นคฤหัสถ์ หรือพวกเราเป็นนักบวช หรือพวกเราปฏิบัติ เราจะรู้ได้เลยว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าเกิดไปเจอโมฆะบุรุษที่เขาบอกว่าอนาคา ไอ้อนาคาบอกว่าสกิทาคาอะไรอย่างนี้.. เพราะตอนนี้สังคมไทยมีอย่างนี้เยอะ แล้วถ้าบอกว่าองค์นั้นเป็นอย่างนี้ องค์นี้เป็นอย่างนั้น องค์นั้นเป็นอย่างนั้น โดยรับประกันกันไปเอง พอรับประกันกันไปเองมันก็จะเข้าสู่การตลาด พอเข้าสู่การตลาดแล้วก็เลยกลายเป็นธรรมะธุรกิจ พอมันสร้างธุรกิจขึ้นมาได้แล้ว ตอนนี้ก็ฮือฮากันใหญ่เลย แล้วพอฮือฮากันใหญ่เลย พอถามเรามาพอเราพูดอย่างนี้ปั๊บนะ นี่เราถึงเป็นคนที่ทุกสังคมรังเกียจ สังคมจะรังเกียจมาก พอถามมาแล้วเราจะพูดแต่ความจริง

ฉะนั้นบอกว่ามีจริงหรือไม่มีจริง รู้ได้หรือรู้ไม่ได้.. รู้ได้ ! แต่รู้ได้แล้วเราเอาอะไรไปวัดว่าเขารู้จริงหรือเปล่าล่ะ แต่ถ้ารู้ได้อย่างนี้.. รู้ได้อย่างนี้ เห็นไหม นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดถึงหลวงปู่ขาว “หมู่คณะจำหลวงปู่ขาวไว้นะ หลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้วนะ” แล้วนี่หลวงปู่ขาวก็เล่าให้หลวงตาฟัง เพราะอะไร เพราะหลวงปู่ขาวท่านเป็นหลักเป็นชัย ท่านอยู่ในป่าในเขา พวกลูกศิษย์ลูกหาไปอาศัยท่านอะไรอย่างนี้ มันก็จะสร้างศาสนทายาทกันขึ้นมา

ถ้าใจที่เป็นธรรม นี่มันอยู่กันด้วยธรรมะ มันมีความละอาย.. ธรรมะความละอายนะ มีหิริโอตัปปะ แต่ถ้าเป็นกิเลสนะมันจะหนังหนา พอหนังมันหนาขึ้นมาอะไรก็ไม่เจ็บ แล้วมันจะอย่างนั้นตลอดไป เพราะพูดไปแล้วมันจะเป็นดาบสองคมไง ถ้าเราตอบไปแล้วว่าเป็นอย่างนั้นๆ นะ “นี่ไงไอ้เสือหงบมันยังว่าเลย” เขาจะเอาเราไปอ้างอิงตลอดไง อันนี้ถึงบอกว่า..

นี่เราพูดเป็นวิชาการเนาะ.. รู้ได้ก็มี รู้ได้โดยที่ไม่ต้องพูดก็มี แต่ส่วนที่บารมีต่ำลงมา ก็รู้ได้ด้วยการพูดคุยและสนทนา ต้องมีพูดคุยและสนทนา เพราะการพูดคุยและสนทนามันตรวจสอบกันด้วยธรรมะอันนั้น.. แต่รู้ได้หมด เพียงแต่รู้ได้ระดับที่เข้มข้นก็รู้ได้โดยรู้เลย ไม่ต้องสนทนารู้เลย แต่ระดับที่ต่ำลงมาหน่อยก็ต้องสนทนานิดหนึ่ง แต่นี่รู้ได้ !

ธรรมะ.. พระอรหันต์กับพระอรหันต์ต้องรู้กัน ไม่ใช่คนหนึ่งเป็นพระอรหันต์ แล้วอีกคนบอกว่ามึงกับกูไม่เหมือนกัน คนละหันกัน เออ.. ก็หันซ้ายกับหันขวา ถ้าหันซ้ายหันขวาก็เดินแยกกันไป นั่นก็อีกหันหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นความจริงต้องเหมือนกันนะเพราะอริยสัจมีหนึ่งเดียว เพราะครูบาอาจารย์เราปฏิบัติมามั่นใจมาก มั่นใจว่าเป็นอย่างนั้น.. แต่นี้พออย่างนี้เป็นเรื่องธรรมะแล้ว เรื่องพระนะ เรื่องปฏิบัติในเนื้อหาสาระ ไอ้นี่เป็นเพราะคำถามมา แล้วจะตอบเพื่อประโยชน์บ้าง

ถาม : ๓. เพื่อนนักปฏิบัติฝากคำถามเพื่อคำตอบที่ชัดเจนจากครูบาอาจารย์ว่า ในขณะฟังธรรม เราควรบริกรรมพุทโธในใจตลอดเวลา หรือว่ากำหนดจิตระลึกรู้สึกตัวอย่างเดียว เพื่อให้กระแสเสียงธรรมผ่านเข้าสัมผัสจิต หรือทำความรู้สึกอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว อันไหนดีกว่ากัน โยมมีคำตอบจากประสบการณ์ตรงแล้ว แต่เพื่อให้เพื่อนได้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าถูกต้อง จึงอยากกราบขอคำตอบจากพระอาจารย์ให้ชัดๆ

หลวงพ่อ : ให้ชัดๆ หลวงตาท่านสอนประจำนะ หลวงตาหรือว่าผู้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติครบวงจร คือตั้งแต่เริ่มต้นจนจะจบแล้ว มันจะมาเห็นความชัดเจนว่า ควรเริ่มต้นอย่างใด แล้วเดินอย่างใด หลวงตาจะพูดประจำ บอกเวลาฟังธรรมให้กำหนดจิตไว้เฉยๆ อย่ากำหนดพุทโธ ไม่ต้องกำหนดอะไรทั้งสิ้น กำหนดจิตไว้เฉยๆ เสียงจะมากระทบเอง ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธด้วยนะ คิดดูสิ เรานึกพุทโธแล้วเสียงมากระทบหูนี่มันเป็นสองหรือยัง ที่เราปฏิบัติกันนี้เราต้องการความเป็นหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าเรากำหนดพุทโธ.. กำหนดพุทโธเราก็มีคำบริกรรมนี่หนึ่ง ฟังเอาเนื้อหาสาระนี่สอง เห็นไหม ถ้าเราวางคำบริกรรมก่อน วางสิ่งใดๆ ก่อน ฉะนั้นถ้าโยมอยู่บ้าน เวลาฟังเทปหรือเวลาฟังเสียงธรรมเพื่อประชาชนของหลวงตานี่ ให้กำหนดจิตไว้ แล้วเสียงนั้นมันจะมาเอง ถ้าสมมุติว่าเรากำหนดพุทโธ พุทโธไว้ ตัวเราเองเราก็ยึดมั่นในตัวเราเต็มที่แล้ว แล้วเสียงที่เข้ามานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นเราจะกำหนดจิตไว้เฉยๆ คือเปิดตัวให้ว่างให้หมด เปิดให้มือเรานี้เปิดให้ว่างให้หมด อะไรมาเราก็จับได้ แล้วไม่ต้อง อู้ฮู.. อะไรมาจะตะครุบๆ นะ ถ้าตะครุบๆ ก็ไม่ได้อะไรอีก คืออยากรู้อยากเห็น หลวงตาจะพูดอะไรจะจับให้หมดเลยนะไม่รู้เรื่องหรอก.. ตั้งจิตไว้เฉยๆ เพราะเทศน์หลวงตาทั้งกัณฑ์ เห็นไหม มันจะมีคำใดคำหนึ่งคำเดียวพอ คำใดคำหนึ่งเวลามากระเทือนหัวใจ โอ้โฮ.. มันจะไหวมาก แล้วมันจะจับชิ้นนั้นเลย แล้วมันจะซึ้งมาก.. นี่เวลาซึ้งมาก ไอ้ความซึ้งอันนั้นธรรมมันเกิดไง

ฉะนั้นเรากำหนดไว้เฉยๆ แล้วฟัง เว้นไว้แต่ถ้าเราไม่ได้ฟัง เราไม่ได้ฟัง เห็นไหม เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนบอกว่า “การปฏิบัติของพระกรรมฐาน การปฏิบัติสำคัญที่สุดคือการฟังเทศน์”

เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ เทวดาสำเร็จเป็นแสนเป็นล้านนะ เวลาเทศน์นี่คนนั้นสำเร็จ คนนี้สำเร็จก็ตรงนี้ไง ตรงที่เวลาเทศน์ เวลาเทศน์แสดงธรรมเพราะมันออกมาจากใจผู้ที่แสดง เพราะใจดวงนั้นท่านมีธรรมจริง มันออกมาจากความรู้สึกอันนั้น แล้วเราวางจิตของเราไว้ให้ว่างเปล่า วางจิตของเราให้พร้อมที่จะรับมัน มันจะเข้ามาทันทีเลย แล้วพอเข้ามาทันที นี่ถ้าเราอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม เรากำหนดจิตไว้เฉยๆ เสียงนั้นเป็นเสียงคำบริกรรมแทน เสียงนั้น ถ้าคนกำหนดลมหายใจก็กำหนดเสียงนั้นแทน กำหนดเสียงนั้นแทน

แล้วเสียงนั้นจะฟังได้มากไม่ได้มาก เพราะว่า มันอยู่ที่จริตนิสัยไง จริตนิสัยเวลาพูดอย่างนั้น อู้ฮู.. เผ็ดร้อนเกินไปไม่ชอบ ไอ้ที่นิ่มนวลก็ชอบนิ่มนวลใช่ไหม เวลาพูดเผ็ดร้อนมาจิตมันก็ไม่รับ เวลาพูดนิ่มนวลมาอู้ฮู.. อันนี้พอใจ เห็นไหม

กัณฑ์หนึ่งมันมีขึ้นๆ ลงๆ คือว่าเริ่มต้น การเทศน์ของครูบาอาจารย์เหมือนเครื่องบิน พอเครื่องบินมันจะแท๊กซี่ขึ้น เห็นไหม พอขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับของสมาธิ ระดับของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค มันจะเหินขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจิตของคนมันอยู่ระดับไหน มันจะคอยเอาประโยชน์ตรงนั้น

ฉะนั้นกำหนดจิตไว้เฉยๆ กำหนดจิตไว้เฉยๆ ขณะฟังเทศน์ แต่ขณะที่ไม่ได้ฟังต้องกำหนดบริกรรมหรือกำหนดลมหายใจ เพราะจิตนี้ปล่อยไม่ได้ เวลาฟังเทศน์ก็ฟังเทศน์เป็นคำบริกรรม แต่ถ้าพอฟังเทศน์ใช่ไหม เราไม่กำหนดฟังเทศน์ จิตมันเกาะที่นั่น พอไม่ได้ฟังเทศน์ เราไม่ได้บริกรรม มันเร่ร่อนแล้ว มันเรรวนแล้ว เพราะมันไม่มีที่เกาะ มันเรรวนเดี๋ยวมันก็เหลวไหล ฉะนั้นถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ต้องมีคำบริกรรม

ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ต้องมีคำบริกรรมไม่อย่างนั้นก็กำหนดลมหายใจให้ชัดๆ คือมันต้องมีที่เกาะไว้ แต่ขณะฟังเทศน์ เพราะเราจะเกาะคำเทศน์ เราจะเกาะครูบาอาจารย์ เราจะเกาะอันนั้น อันนี้เราถึงวางไม่ต้องเกาะ ฉะนั้นอันนี้มันเป็นหลักใช่ไหม แต่อุบายของคน คนชอบคนถนัดนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ อันนี้ยกไว้ให้แต่คนชอบคนถนัด.. แต่นี้เขาบอกว่าให้ตอบชัดๆ เพราะเถียงกัน ๒ คน ให้กรรมการตัดสิน

ถาม : ๔. เมื่อบวชเป็นพระแล้ว แต่มักจะโทรศัพท์พูดคุยกับอดีตภรรยาที่ปฏิบัติธรรมอยู่ต่างสำนักกันเป็นเวลานานๆ วันละหลายๆ ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงเทศนาอบรมอยู่เกือบทุกวัน แต่ก็ยังโทรคุยธรรมะกับสีกา แสดงว่าธรรมะของครูบาอาจารย์ไม่ได้เข้าไปสัมผัสจิตผู้เป็นสมมุติสงฆ์เลย ยังเรียกร้องหาอธรรมสีกาอยู่ แถมบวชมาหลายพรรษาแต่ย้ายสำนักเกือบทุกพรรษา เช่นนี้เหมาะสมกับการเป็นพระหรือไม่

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงคำถามเนาะ แล้วมันก็มากระเทือนพระหมดเลย เราก็เป็นพระด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าพระกินพระ คำถามนี้มันตอบในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะว่าดีหรือไม่ดีเราก็รู้อยู่ แต่เวลาพระผู้บวช เมื่อบวชแล้วสิ่งใดที่รู้หรือไม่รู้

กรณีนี้นะเราจะยกกลับไปที่ว่าหลวงปู่มั่นอยู่ที่ถ้ำสาริกา ท่านนั่งภาวนาของท่านอยู่ แล้วมีหลวงตาอยู่ข้างล่างอยู่ที่วัดตีนเขา นี่ท่านเป็นหลวงตา ท่านมีครอบครัวมาแล้ว ทีนี้ท่านมีครอบครัว ท่านบวชเป็นพระ ทีนี้บวชเป็นพระขึ้นมา กลางคืนก็คิดถึงไง คิดถึงทั้งวันทั้งคืนเลย หลวงปู่มั่นตั้งแต่หัวค่ำส่งจิตมาดู โอ้.. กำลังคิดถึงครอบครัว ก็ดึงจิตกลับมาพุทโธต่อจิตก็สงบ พอถึงเที่ยงคืนก็ส่งจิตมาดูอีกทีหนึ่งก็ยังคิดถึงครอบครัว ก็ดึงกลับ ดึงกลับก็บริกรรมพุทโธ เพราะจิตนี้ถ้ามีสติมันจะดึงกลับได้หรือปล่อยให้พุ่งออกไปก็ได้

ฉะนั้นพอถึงใกล้สว่าง หลวงปู่มั่นกำหนดจิตไปดูก็ยังคิดถึงครอบครัว ก็ดึงจิตกลับมา พอเช้าขึ้นมาท่านออกจากภาวนาแล้วท่านก็ทำกิจใช่ไหมแล้วก็ออกบิณฑบาต ทีนี้บิณฑบาตมันต้องผ่านวัดนั้น ท่านบอกว่าท่านจะเตือนเพื่อจะเป็นประโยชน์ไง “หลวงตา.. เมื่อคืนแต่งงานกับสีกาคนเก่าทั้งคืนเลยนี่เป็นอย่างไรไหม”

ท่านอยากจะเตือนอยากจะบอก แต่พระองค์นั้นกลับตกใจเพราะไปรู้เข้า เห็นไหม นี่กรณีนี้หลวงปู่มั่นท่านเอามาเป็นคติ ตั้งแต่นั้นมาท่านถึงไม่ค่อยพูดเรื่องวาระจิตกับคนอื่นมากนัก เพราะว่าท่านพูดนี้.. พระพูดกับพระ พระก็ต้องคิดว่าสิ่งที่พระพูดกับพระนี้มันเป็นวงใน เหมือนกับนักปฏิบัติด้วยกันเตือนนักปฏิบัติด้วยกัน นักปฏิบัติต้องได้สตินะ แต่นักปฏิบัติด้วยกัน เวลาพระมาเตือนด้วยกันกลับอาย กลับตัวสั่นงันงกว่ารู้ถึงความรู้สึกของเรา รู้ถึงความนึกคิดของเรา กลัวมาก เก็บของหนีไปเลย เลยเสียประโยชน์ เห็นไหม

นี่หลวงปู่มั่นท่านยังบอก ขนาดไม่มีโทรศัพท์นะหลวงปู่มั่นท่านยังบอกเลย “แต่งงานกับสีกาคนเก่าทุกคื๊น ทุกคืน.. แล้วมีความสุขแค่ไหน” แล้วนี่โทรศัพท์ไปนี่เรารู้ตัวเองเลยล่ะ มันสมควรหรือไม่สมควรมันก็รู้กันอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งว่าเขาทำอย่างนั้นมันก็ต้องคิดนะ

เดี๋ยวดูคำถามต่อไป มันยังไม่จบ..

ถาม : ๕. นักปฏิบัติธรรมที่ชอบพูดชอบคุย เวลาในแต่ละวันส่วนใหญ่หมดไปกับการพูดการคุย ไม่ว่าคุยกับเพื่อนนักปฏิบัติธรรมด้วยกัน หรือพูดโทรศัพท์กับอดีตสามีที่บวชเป็นพระ เช่นนี้ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่เข้ากระแสแล้วหรือยัง เพราะเวลาในการทำความเพียรมีน้อย ทำให้เพื่อนๆ เป็นห่วง และเกรงว่าผ้าเหลืองจะเป็นมลทิน และทำให้ศาสนามัวหมอง

หลวงพ่อ : แล้วทำอย่างไรล่ะ มันก็มีมากเยอะแยะไปหมด เห็นไหม ถ้ามีสตินะมีสติมีสตังมันก็คิดได้ ไอ้นี่มันเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติชอบพูดชอบคุย อยู่กับหลวงตาท่านจะบอกเลยว่า “ศาลานี่ห้ามลงมานะ” สมัยเรานะ แล้วโยมมานี่หลวงตาท่านพูดนะ “อย่ามาคุ้นชินกับญาติโยมนะ” เพราะคุ้นชินกับญาติโยมนี้มันแบบว่าคำว่าลื่นกับญาติโยม คำว่าสนิทคุ้นชินนี้มันไม่ถูกต้อง ท่านบอกท่านรับไม่ได้ ถ้าเจอ.. ไล่ออก เจอ.. ไล่ออกเลยนะ ถ้ารู้ถ้าเห็นนี่ไล่ออกเลย

กติกาของท่านคือห้ามมายุ่ง เพราะการมายุ่งมาพูดมาคุย ประสาเราว่า “ศาลาโกหก” พอเข้าศาลาโกหกก็มีแต่เรื่องโกหกใช่ไหม ถ้าเข้าศาลาโกหกคุยทั้งวัน.. นี่ก็เหมือนกัน พอคุยทั้งวันมันก็มีแต่เรื่องโกหก ถึงจะเป็นจริงมันก็ผ่านมาแล้ว มันไม่ใช่เรื่องจริงเลย มันก็เป็นศาลาโกหกไปหมด

ฉะนั้นถ้าเขาทำมันก็เป็น.. มันอยู่ที่เจตนา อันนี้นะ กรณีนี้เราคิดเปรียบเทียบบ่อย เราคิดเปรียบเทียบถึงที่ว่าพันธุกรรมทางจิต ถ้าจิตของคนมีกำลัง จิตของคนมีวุฒิภาวะนี่นะ เขาจะอยู่ของเขา เขาจะหลบหลีก การหลีกเร้นการอยู่ในที่สงัดมันต้องมีบารมีนะ แต่ถ้าคนไม่มีบารมี มันไปอยู่ที่ไหนมันจะเหงา มันจะหาที่เกาะที่พิง

ฉะนั้นไอ้นี่ที่บอกว่า ๔ อสงไขย.. พระพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระอรหันต์.. ใครจะเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างน้อยๆ ต้องหนึ่งแสนกัป คำว่าหนึ่งแสนกัปนี้คือมันได้สร้างสมไง ได้สร้างสมให้จิตนี้มั่นคง พอจิตนี้มั่นคง มันจะอยู่ที่ไหน มันจะอยู่ในที่วิเวกหรือในที่ต่างๆ มันอยู่ของมัน แล้วยิ่งอยู่วิเวกยิ่งมีความสุข เห็นไหม เด็กๆ ก็ชอบเล่นชอบคุยกัน ผู้ใหญ่ชอบอยู่คนเดียวเฉยๆ ผู้ใหญ่รำคาญเนาะ หนวกหูรำคาญ ถ้าพอคนแก่คนเฒ่านี่อยากจะอยู่นิ่งๆ แต่ไอ้เด็กๆ อู้ฮู.. มันวิ่งทั้งวันเลย

จิต.. วุฒิภาวะของจิตที่มันสร้างมาน้อยมันเหมือนทารก มันเหมือนเด็กอ่อน มันจะวิ่งเล่นของมันตลอด แต่ถ้าเราสร้างสมบุญญาธิการขึ้นมา จนจิตนี้เริ่มมั่นคงก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมามันก็มีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม ยิ่งสร้างมากขึ้นมา นี่ถึงว่าแสนกัปนี่ไง เพราะพระอรหันต์ต้องอย่างน้อยแสนกัป นี่อยู่ในอภิธรรมนะ

ฉะนั้นไอ้ตรงนี้เรามาจับวัด.. วัดภูมิจิตภูมิใจของครูบาอาจารย์เรา แล้วกับความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเราว่าจิตนี่ จิตเราดวงอย่างนี้ จิตระดับนี้มันมีโอกาสไหม มันจะภาวนาได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจิตมันไม่มีภูมิ หรือจิตมันแบบว่าบารมีมันไม่ถึงไง ถ้าบารมีมันไม่ถึง.. โทรศัพท์คุยกันทั้งวัน แสวงหาแต่ธรรมะของสีกา นั่นถ้าจิตมันไม่ถึง เห็นไหม เพราะถ้าแสวงหาธรรมะ มันแสวงหาธรรมะจากโทรศัพท์ มันจะวิ่งเข้าไปหานั่นน่ะเพราะจิตมันไม่มีหลัก

อันนี้นี่พูดถึงเราวัด เราพิจารณาของเราเองนะ เวลาเดินจงกรมเราพิจารณาของเรา.. นี่จิตของคนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตของคนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม สังเกตได้ นักภาวนาเรานี้ถ้าใครมีวุฒิภาวะนะ ในกุฏิจะปิดประตูเงียบ แต่ถ้าไม่มีวุฒิภาวะนะ ในกุฏินี้เขียนเลย “ศาลาโกหกเชิญทางนี้.. ศาลาโกหกเชิญทางนี้” มันจะไปสุมกันอยู่นั่นล่ะ แล้วมันอยู่กันไม่ได้ เห็นไหม นี้อันนี้เป็นบารมีนะ

สัจจะ ! ถ้าคนมีบารมีจะตั้งสัจจะได้ เวลาทำอะไรมันจะ.. ประสาเราว่ามันมีแววมาตั้งแต่ตรงนั้น คนภาวนาหรือไม่ภาวนา มันมีแววมาตั้งแต่ตรงนั้น ถ้ามันมีแววตรงนี้ปั๊บ อันนั้นล่ะอันนั้น จิตดวงนี้จะมีโอกาส

ถาม : ๖. หากท่านอาจารย์มีลูกศิษย์ที่เป็นสมมุติสงฆ์ เป็นนักปฏิบัติธรรมเช่นนี้ ท่านจะพิจารณาหรือเทศนาอบรมอย่างใด จึงจะทำให้ทั้งคู่เห็นและเอาชนะกามกิเลสนี้ได้

หลวงพ่อ : สาธุ ! มันไม่ได้เป็นอาจารย์ไม่ได้เป็นลูกศิษย์กันนั่นล่ะดีแล้ว.. มันเป็นหมดนะ เราจะพูดอย่างนี้ ต้นไม้นี่มันก็ปลูกมาจากกล้าไม้ทั้งนั้นแหละ เราจะบอกว่าสิ่งนี้ พอพูดอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราจะไม่มีสิ่งนี้เลยมันเป็นไปไม่ได้หรอก ต้นไม้จะต้นไม้ใหญ่โตขนาดไหน มันก็เกิดจากเมล็ดพันธุ์ เกิดจากกล้าไม้ทั้งนั้น.. จิตใจของคน ถ้าเราใฝ่ดี เรามีความเข้มแข็ง เรามีการพยายามดัดตนของเรา มันมีโอกาสทั้งนั้นล่ะ

ฉะนั้นถ้าเป็นลูกศิษย์เราก็ยึดโทรศัพท์เลย ไปอยู่กับหลวงปู่จันทร์เรียน หลวงปู่จันทร์เรียนยึดโทรศัพท์.. ยึดโทรศัพท์.. ยึดโทรศัพท์เลย หลวงปู่จันทร์เรียนไม่มีโทรศัพท์เลย แล้วเวลาพระไปกราบนี่ “มาภาวนาอะไร.. มาภาวนาหาคลื่นใช่ไหม คลื่นมีหรือไม่มี นี่มาภาวนาหาคลื่นหรือภาวนาหาธรรมะ ถ้าภาวนาหาคลื่นไม่ต้องเข้ามานะ” หลวงปู่จันทร์เรียนนี่ยึดเลย โทรศัพท์นี้ยึดหมดเลย แล้วเวลาจะออกท่านถึงจะคืนให้ ถ้ามาปั๊บยึดหมดเลย

นี่ครูบาอาจารย์ท่านมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม ท่านทำได้.. แต่ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราก็เกรงใจเขาไปหมดล่ะ ถ้าเราเกรงใจเขาเราจะเป็นอาจารย์เขาได้อย่างไรล่ะ แต่ถ้ามาอยู่กับเรา ส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ให้มี แต่พระนี่มันก็มีมากัน มีมาเพราะว่าเขาได้มาแล้ว เราก็ด้วยสัญญาลูกผู้ชาย ลูกผู้ชายนะให้เก็บไว้ เพราะโทรศัพท์ของเรานี้ส่วนกลางมีอยู่เครื่องหนึ่ง เอาไว้ติดต่อสื่อสารกัน ส่วนกลางมีอยู่เครื่องหนึ่ง ฉะนั้นใครโทรศัพท์เข้าออกก็มาใช้เครื่องนี้ แล้วจะคุยโม้ด้วยว่าเครื่องนี้คลื่นดีที่สุดเลย พิเศษ ถ้าใครเอามา เห็นไหม เดินรอบวัดยังไม่มีคลื่นเลย แต่ของฉันนี่คลื่นดีที่สุด แต่เป็นของส่วนกลาง ให้พระถือไว้เพื่อติดต่อสื่อสารเท่านั้นเอง

ฉะนั้นถ้ามาแล้วเราก็จะพูดอย่างนั้น แล้วตอนนี้มันก็อยู่ที่ความมั่นคงของเรา แล้วเวลาเราเทศน์ก็เทศน์สอนนี่แหละว่าอะไรควร อะไรไม่ควร.. ถ้าอะไรควรอะไรไม่ควร เวลาเราตั้งใจ ทุกคนอยากปฏิบัติธรรม ทุกคนอยากจะพ้นทุกข์ ทุกคนอยากจะเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาทำไมไม่เอาศีล สมาธิ ปัญญา

นี่นะเวลาคุยโทรศัพท์กัน บางทีนี่อนิยต ๒ ลับหูลับตานี่นะ ลับหูลับตามันจะพูดอะไรกันก็ได้ มันไม่ควร เพราะลับหูลับตานี่มันควรหรือไม่ควรล่ะ เห็นไหม การคุยกันมันต้องมีบุคคลที่ ๓ นั่งอยู่เป็นพยานด้วย แล้วเราไปคุยกันส่วนตัว เราจะพูดอะไรก็ได้ ยิ่งเราคุ้นเคยกันมันก็ไม่เหลือ

ฉะนั้นไม่มีดีที่สุด ! ไม่มีดีที่สุด แล้วถ้ามีถ้าจำเป็นนะ จำเป็นโทรเลขก็ได้ เดี๋ยวนี้เขาเลิกใช้แล้วเนาะ เมื่อก่อนใช้ต็อกๆๆๆ โทรเลขเขายังโทรเลขได้เลย แล้วมันจะจำเป็นแค่ไหน โทรเลขเอาก็ได้ถ้ามันมีความจำเป็น นี้มันไม่จำเป็นน่ะสิ.. อันนี้เราพูดถึงว่าเวลาเราปฏิบัติเราอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติเรามีเป้าหมายของเรา ไอ้สิ่งนี้มันเป็นของเล็กน้อย มันเป็นของข้างเคียง มันไม่ใช่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่เนื้อจริง

ดูนะพระกัสสปะ.. พระกัสสปะนี่เกิดจากครอบครัวที่ร่ำรวยมาก แล้วมีลูกชายคนเดียว พ่อแม่อยากให้แต่งงานมากก็ไม่ยอม ก็ไม่ยอม แต่ด้วยความเคารพพ่อแม่ก็เลยไปมีครอบครัว แล้วครอบครัวนั้นก็มีลูกสาวคนเดียวเหมือนกัน เศรษฐีเหมือนกัน ก็เลยสัญญากัน สองคนนี้หากันก่อน สัญญากันว่าเราจะแต่งงานเพื่อพ่อแม่ แล้วจะอยู่กันด้วยพรหมจรรย์ แล้วอยู่ด้วยกันนี่เอาดอกไม้ไว้บนเตียง แล้วอยู่ด้วยกันนะ จนพ่อแม่ทั้งสองฝั่งตายหมด พอตายหมดก็แจกทรัพย์สมบัติทั้งหมดเลยแล้วออกบวช ออกบวชด้วยกัน

พระกัสสปะไปทางหนึ่ง พอถึงทางแยกก็แยกกัน พระกัสสปะไปบวชทางหนึ่ง ภรรยาไปบวชอีกทางหนึ่ง พระกัสสปะบวชเสร็จแล้ว บวชเมื่อแก่แล้วมาอยู่กับพระพุทธเจ้า จนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เห็นไหม พระกัสสปะนี้แยกกันเลยนะ แล้วได้ประโยชน์หมด นี่พระกัสสปะก็ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย อดีตภรรยาก็ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย.. นี่เพราะมันแยกกันไป จริงจัง แล้วทำกันจริงจังทำเพื่อผลประโยชน์ ไม่ใช่บวชไปแล้วนะก็ยังโทรศัพท์คุยกันอยู่อย่างนี้ เขาแยกเพื่อจะไปเอาธรรมะ ไอ้นี่มารวมกันคุยกันเพื่อจะเอาธรรมะ

นี่พูดถึงมันมีแบบอย่าง มันมีคติที่จะให้เราเป็นแบบอย่าง เรายึดโดยครูบาอาจารย์เรานี่แหละ ถ้าใจเราเป็นธรรม มีแบบอย่างเป็นสิ่งคติธรรมที่ดีๆ ให้เราเลือกเยอะแยะเลย ทีนี้เพียงแต่ถ้าเราไม่เลือก แล้วเราทำด้วยความรู้สึกของเรา ทำด้วยตัวของเราเองใช่ไหม มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ถ้าเราเตือนเราก็เตือนด้วยธรรมะ เราเตือนแล้วเราก็บอก

ถ้าอยู่กับเรานะ ถ้าสิ่งใดไม่ถูกต้องไม่ดีงามเราก็พยายามแยกแยะ แล้วถ้าถึงที่สุด.. ถึงที่สุดถ้ามันคุยกันไม่ได้ ถ้าเก็บไว้หรืออยู่ไปแล้วมันจะเสียระเบียบ คนอื่นจะเอาตาม เราก็บอกว่าอย่างนั้นเราก็ต้องอะไรนะ ตีแตกน่ะ ต้องแยกจากกัน ก็ต้องไปทางใครทางมัน เพราะว่าเพื่อรักษาสิ่งดีๆ ไว้ ถ้าอยู่แล้วทำไม่ได้เราก็ให้ไป เราไม่ให้อยู่หรอก แต่ถ้าอยู่แล้วต้องทำสิ่งนี้ได้.. เพราะเรามาเพื่ออะไร เราก็รู้อยู่แล้วเรามาเพื่ออะไร เราจะปฏิบัติเพื่ออะไรกัน เราจะมาเพื่อความดีงาม

ฉะนั้นสิ่งนี้มันก็อยู่ที่ว่า.. เห็นไหม เวลาไปหาครูบาอาจารย์นี่เขาจะขอนิสัย เขาต้องดูนิสัยกัน ว่าจะได้หรือไม่ได้ เขาจะรับกันได้หรือไม่ได้ ถ้ารับกันได้มันก็อยู่กันได้ ถ้ารับกันไม่ได้มันก็ต้องแยกกันไปเนาะ เอวัง