เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาไปวัดไปวา เราก็ว่าไปวัดไปวาต้องสะดวกสบาย นุ่มนวลอ่อนหวาน แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน เวลาพระนี่ให้ฝึกสติ เวลาอยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าให้ก้นเบา ให้ลุกไว แล้วไม่ให้ติดที่ เพราะว่ากิเลสนะมันเฉื่อยชา ความเฉื่อยชานี้คือการฝึกสติ แต่พอทำไปแล้วเป็นเถรส่องบาตร
ถ้าเถรส่องบาตร เราต้องทำอย่างนั้น หลวงตาท่านพูดอยู่นะ เวลาสมัยอยู่กับท่าน ถ้าใครรวดเร็วเกินไป เวลาบิณฑบาตท่านบอกว่าเหมือนกับหมา หมามันวิ่งไง แต่ถ้าไม่มีสติเลย เห็นไหม มันก็บิณฑบาตแบบคนป่วย ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกสติ
การมีสติ การฝึกสติ.. การฝึก เวลาขึ้นมาบนศาลานี่มันเป็นการฝึกทั้งหมด นี้การฝึก เวลามีสติตั้งแต่ที่นี่ เห็นไหม มันตื่นตัว พอตื่นตัวนี่ พอเราเริ่มฝึก เราเริ่มขยับ นี้เราเคยชินกับอารมณ์เดิมๆ ของเรา อารมณ์ความคิดแบบเก่าๆ แล้วความคิดนี้มันเหมือนร่องน้ำ มันจะลงสู่ร่องน้ำนั้นหมดเลย ฉะนั้นเวลาเราเปลี่ยนแปลง พอเราเปลี่ยนแปลงมันขัดแย้งกับความรู้สึกของเรา
ความรู้สึกของเรา.. นี่ไงการฝึกฝน การทวนกระแส เพื่อจะเอาเราให้ออกจากความคิดเดิมของเรา เพราะถ้าเราออกจากความคิดเดิมของเราไม่ได้นะ กำหนดพุทโธ พุทโธ ก็พยายามจะให้หัวใจเรานี้ออกจากความคิดเดิมของเรา ถ้าออกจากความคิดเดิมของเรา เห็นไหม นี่ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เวลามันสงบขึ้นมา หรือมันเป็นสิ่งใดขึ้นมา เราจะรู้จะเห็นของเรา นี่คือปัจจัตตัง
การฝึกปฏิบัติมันฝึกปฏิบัติอย่างนี้ไง แต่เวลาจะฝึกปฏิบัติ เราบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นการเข้มข้นเกินไป มันเป็นสิ่งที่ว่ามันไม่มีความจำเป็น ความจำเป็นของเราก็คือความจำเป็น ความคิดเดิมไง.. ความคิดเดิม ความเห็นเดิม ความต่างๆ นี้ เพียงแต่เราเปลี่ยนความคิดไปคิดในเรื่องพุทธศาสนา ไปคิดไปตรึกเรื่องธรรมะว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม
ใช่ ! เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้ที่เราเถียงกัน เราโต้แย้งกัน เราโต้แย้งกันแต่รูปแบบ รูปแบบวิธีการปฏิบัติไง แต่สิ่งเนื้อหาสาระตามความเป็นจริงล่ะ ภาชนะเห็นไหม ดูสิเวลาเราไปกินอาหารนะ อาหารจีนก็อย่างหนึ่ง อาหารไทยก็อย่างหนึ่ง อาหารฝรั่งก็อย่างหนึ่ง ภาชนะการบรรจุเขาก็แตกต่างกันไป เราไปโต้แย้งกันเรื่องภาชนะ แต่เราไม่คิดว่าในภาชนะนั้นมันมีอาหารหรือเปล่า
ในการประพฤติปฏิบัติ ในการกระทำของเรามันมีผลหรือเปล่า ผลของมันคือความรู้สึกที่มันเหนือโลก แต่ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ร่องน้ำเดิม.. ความคิดเดิม เวลาเราคิดความฟุ้งซ่าน เราคิดของเรา เรามีความทุกข์ทรมานในหัวใจ แล้วพอเราไปประพฤติปฏิบัติ เราไปจัดระเบียบความคิด อู้ฮู.. มันสบาย มันสบาย..
มันความคิดเดิม มันความเห็นเดิม มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาโดยสัญชาตญาณ ปัญญาอันนี้มันปัญญาออกมาจากอวิชชา ปัญญาออกมาจากภพ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องกระฉับกระเฉง เราต้องมีสติ เราต้องมีการเคลื่อนไหวด้วยความพร้อมเพรียง การเคลื่อนไหวของเราต้องมีสติพร้อม นี่การฝึก
หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เวลาท่านกำหนดพุทโธ พุทโธนี่ตลอดเวลา เห็นไหม พุทโธ พุทโธตลอดเวลา คือไม่ให้ความคิดเดิม เพราะความคิดเดิมเรามันคิดอยู่อย่างนี้ใช่ไหม เราพุทโธ พุทโธนี่โต้แย้งกับมัน โต้แย้งกับมัน หลวงตาท่านบอกท่านกำหนดจิตไว้เฉยๆ กำหนดไว้เฉยๆ นะ เวลามันดีก็ดีขึ้นมา เวลามันเสื่อมมันเสื่อมหมดไป สุดท้ายมันทำอย่างไรได้ ก็ต้องดูว่าเราขาดคำบริกรรม
ไปบริกรรม ๓ วันแรก บริกรรมตลอดวัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หลวงตาบอก อกแทบระเบิด คำว่าอกแทบระเบิดนะ คือความคิดเดิม.. ความร่องเดิม ความคิดมันเป็นของเดิมอยู่ตลอดเวลา พอมันกำหนดไว้เฉยๆ ดูจิตนั่นแหละกำหนดไว้เฉยๆ ดูจิตๆ ดูจิตไปมันก็ความคิดเดิม.. ความคิดเดิม แต่ถ้าความคิดเดิมนะ แต่ถ้ามันจะพ้นจากความคิดเดิมนั้นไป พ้นจากความคิดเดิมคือมันเปลี่ยนแปลงกันไป เห็นไหม ภาชนะมันจะมีอาหารของมันขึ้นมา ภาชนะมันมีแต่อากาศ ภาชนะมันก็สวยงาม
นี่รูปแบบ.. เราเถียงกันด้วยรูปแบบ ทีนี้การรูปแบบก็คือ นี่กำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ หรือว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก นี่รูปแบบทั้งนั้นแหละ แต่เนื้อหาสาระที่มันจะเป็นไปไง ถ้ามันจะเป็นไป เรากำหนดพุทโธ พุทโธนี่ ถ้าคนมันเปลี่ยนความคิดมันเปลี่ยนหมดเลย เหมือนกับเราเคยมีความรู้สึกอย่างนี้ เรามีความเคยชินอย่างนี้เราเปลี่ยนแปลงไปเลย พอเปลี่ยนแปลงไปเลย เห็นไหม ท่านบอกว่า ๓ วันแรกอกแทบแตก
อกแทบแตกเพราะมันเคยไง มันกำหนดไว้เฉยๆ มันดูไว้เฉยๆ แล้วทำแล้วมันสบายๆ มันสบายชั่วคราว มันสบายเพราะว่ามันเป็นความคิดเดิม มันเป็นการจัดระบบความคิดของตัวเอง ถ้าระบบความคิดของตัวเอง เราคิดแต่เรื่องโลกใช่ไหม เรื่องตัณหาความทะยานอยากใช่ไหม พอเราไปคิดเรื่องธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ระบบความคิดเดิม
ระบบความคิดเดิม.. โลกียะคือความคิดของหัวใจ แต่ธรรมดาเราคิดด้วยตัณหาความทะยานอยาก คิดด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็อยู่ในความทุกข์ เราไปคิดเรื่องธรรม คิดเรื่องธรรม ตรึกในธรรม ฮื่อ.. พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นเอง มันก็เป็นเช่นนั้นเอง นี่มันไม่ได้แก้ไขอะไรเลย มันไม่ได้ทำอะไรเลย
นี่เราเถียงกันตรงนี้ไง เราเถียงกันที่รูปแบบอย่างเดียวเลย แต่มันไม่มีเนื้อหาสาระ ถ้ามีเนื้อหาสาระขึ้นมานะ มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา.. เป็นความจริงของมัน เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง มันไม่ต้องไปให้ใครบอก เห็นไหม มันไม่มีใครบอก ไม่มีใครสอนหรอก มันแจ่มแจ้งขึ้นมาในหัวใจ ถ้ามันแจ่มแจ้งขึ้นมาในหัวใจ สิ่งที่ว่ามันจะเป็นไปเอง มันเป็นไปเอง
คำว่ามันเป็นไปเองนะ.. มันเป็นไปเองหมายถึงว่าธรรมะมันจะเป็นโดยสัจธรรม เราคาดหมายไม่ได้ เราบังคับเอาไม่ได้ แต่ถ้าเหตุผลนะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราเปลี่ยนระบบความคิด เราเปลี่ยนทุกอย่างเลย เราย้ายความคิดเราไปอยู่ที่อื่นเลย เราให้อวิชชามันตามไม่ทันเลย ถ้ามันเกิดขึ้น เห็นไหม เกิดขึ้นเอง คำว่าเกิดขึ้นเอง สมาธิมันจะเป็นของมัน ถ้าสมดุลแล้วมันจะเป็นของมัน
ถ้าปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาจะเกิดขึ้นโดยเป็นโลกุตตรธรรม.. ถ้าโลกุตตรธรรม ดูสิเวลาเขาฝัน ถ้าฝันนี่ อู้ฮู.. ชัดเจนมากเลย พอออกมาแล้วนะมันจำอะไรไม่ได้เลย แต่ฝันนั้นเบลอไปหมดเลย เห็นไหม ออกมาเป็นอย่างไร
นี่เวลาจิตเราเข้าไปสัมผัส จิตเรามันรู้ เวลาฝันก็เหมือนเรานั่งกับปัจจุบันที่เราคิดนี่แหละ.. ความคิดคือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เวลาฝันก็สังขารนั่นแหละแต่มันขาดสติ พอเวลาเราคิดอยู่นี่เรารู้สึกตัว เห็นไหม เราคิดอยู่ ถ้ามันเผลอมันก็คือเผลอไป ฝันก็เหมือนกัน ฝันมันก็เป็นสังขาร สังขารคืออาการของจิต จิตมันออกมานี่มันก็ออกรับรู้ไปนั่นล่ะ นั่นก็คือความฝันแต่มันนอนหลับ มันไม่มีสติ
นี้มันเป็นเรื่องของจิตนะ แต่ถ้าเราตั้งใจทำของเรา เห็นไหม เรามีสติเราก็พุทโธ พุทโธ นี่เราตั้งสติของเราตลอดไป เรามีสติตามความรู้ของเราไป.. ตามความรู้ของเราไป เห็นไหม นี่มันความคิดเดิมเหมือนกัน แต่ความคิดนี้เรามีสติ เรามีการตั้งใจ มีการเจตนา มีการควบคุม ถ้ามีการควบคุมนี่เราบังคับจิตเรา แล้วมันไม่ยอมทำ มันขี้เกียของมันเพราะมันเคยสะดวกสบายเคยตัวของมัน เราก็บังคับเอา ฉะนั้นการปฏิบัติเบื้องต้นมันก็ต้องมีการขัดแย้ง มีต่างๆ เห็นไหม
นี่เราคิดของเรา.. เวลาเราเสียสละทาน ทานนี้ทำได้ง่าย นี่ขนาดว่าทำได้ง่ายนะ คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็ทำของเขาไม่ได้ นี่ทำทำได้ง่าย เวลาความปกติของใจมีศีลขึ้นมา ศีลนี่มีความปกติของใจขึ้นมา นี่ความปกติของมันเราก็ไม่รู้.. มันปกติ ถ้ามันขาดสตินะมันก็เผอเรอ แต่ถ้ามีสติขึ้นมามันก็ชัดเจนของมันขึ้นมา มันชัดเจนของมันขึ้นมา เห็นไหม นี่เราจะรู้ได้ของเรา บังคับของเราขึ้นมา
ถ้าเราจะให้มันออกฝึกปัญญาล่ะ นี่ออกฝึกปัญญา เห็นไหม ออกฝึกปัญญา.. ปัญญาถ้าจิตมันสงบพอสมควรเราใช้ปัญญาได้แล้ว เวลาเราใช้ความคิดเดิม เราตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรม เราตรึกในธรรม อื้อฮือ.. ระบบความคิดดีมาก มีความว่างๆๆ นั่นความคิดเดิม
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ เวลากำหนดพุทโธนี่จิตมันสงบเข้ามาบ้าง มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันบ้าง เราออกใช้ปัญญาสิ มันไม่ใช่ความคิดเดิม มันเป็นความคิดของเรา มันเป็นธรรมะของเรา แต่ถ้าเราเป็นสัญญา มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ามันเกิดจากเรา มันเป็นธรรมะของเรา รสชาติมันต่างกัน เงินของเรากับเงินที่เราขอจากพ่อแม่เรามานี่แตกต่างกัน เงินขอพ่อแม่ แบมือขอมันง่าย แต่เงินเราแสวงหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา เราทำหน้าที่การงานของเรา เราได้เงินมานี่แสนยาก
นี้พอได้เงินมาแสนยาก เห็นไหม ถ้าเราขอพ่อแม่มาเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมา พอเรามีเงินของเราขึ้นมาเองนี่เราจะเห็นคุณค่าของเงินไง เราเห็นคุณค่าของสติ เราเห็นคุณค่าของสมาธิ เราเห็นคุณค่าของปัญญา ถ้าเราเห็นคุณค่าของมันเราจะรักษา พอรักษาขึ้นมา ก็ย้อนกลับมาลงชีวิตประจำวันไง
ชีวิตประจำวัน.. พระปฏิบัติเขาจะมีสติของเขา เขาจะพยายามหลีกเร้นของเขา เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า เวลาปัญญามันหมุนแล้วอยู่กับใครไม่ได้เลย คำว่าอยู่กับใครไม่ได้เลย มันไม่มีเวลาที่เราจะปฏิสันถารกับใคร ขนาดเรามีสติเราควบคุมใจของเรา มันก็ทำงานไม่ทันอยู่แล้ว งานมันล้นเหลือ งานมันมีมาตลอดเวลา มันผุดขึ้นมาตลอดเวลา แล้วเราจะคุมมันอย่างไร เราจะดูแลของเราอย่างไร
ถ้าเราภาวนาเริ่มเคลื่อนไหว พอจิตมันเริ่มก้าวเดินออกไป นี่มันจะย้อนกลับมาถึงจริตนิสัยของตัว ถึงบอกว่าจะหลีกเร้น จะไม่คลุกคลี เพราะการคลุกคลีนั้นเพราะอะไร เพราะคลุกคลีนี่มันเสียเวลาเปล่า เหมือนเราเวลาเราพักผ่อน เราคุยกันเพื่อความสุขความสบาย แต่เวลาภาวนาขึ้นมานะ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเห็นกันว่าเวลามีคุณค่ามาก ถ้าเวลามีคุณค่าจะย้อนกลับมา ถ้าจิตมันเป็น เห็นไหม นี่ภาวนาเป็น หลักการมันเป็นขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมากับหัวใจของเรา
นี่ธรรมะ.. สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือความรู้สึก คือหัวใจที่มันทุกข์ เวลามันทุกข์นี่มันทุกข์ยากมาก แต่เวลามันปล่อยนี่ โอ้โฮ.. มีความสุข มันว่างขนาดนี้ มันปล่อยวางได้ขนาดนี้ นี่ปล่อยเฉยๆ นะ.. เกิดดับ ! นี่ความทุกข์เกิดความทุกข์ก็ดับ ความสุขเกิดความสุขก็ดับ แต่เวลามันใช้ปัญญาขึ้นมา มันสะสางขึ้นมา สิ่งนี้ที่มันพ้นจากการเกิดดับ มันพ้นจากสิ่งที่เป็นอนิจจัง มันพ้นจากสิ่งที่เป็นอนัตตา มันเป็นอย่างไร มันจะเกิดดับอย่างไร มันดูแลของมันอย่างไร
หัวใจทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่นี่นะ เพราะเราศรัทธา เราเชื่อในพุทธศาสนา.. เราเชื่อในพุทธศาสนา เห็นไหม เราเชื่อในประเพณีวัฒนธรรม มันก็มีความสุขความร่มเย็นกันในสังคม สังคมถ้าจิตใจคนเป็นสาธารณะ จิตใจคนเสียสละ จิตใจคนไม่เห็นแก่ตัว เราเห็นแก่ความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม เราจะเสียสละกัน สังคมมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข
นี้พูดถึงวัฒนธรรม.. นี่ชาวพุทธเขาก็ได้ประโยชน์แล้ว แล้วสิ่งนั้นมันก็ยังเกิดตายโดยธรรมชาติของมัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เราได้อยู่ในสังคมที่มีความเสียสละเจือจานต่อกัน แต่มันก็เกิดตาย เห็นไหม แล้วเกิดตายก็จะมาเกิดรอบแล้วรอบเล่า รอบแล้วรอบเล่า เราก็จะพยายามจะหาสติ เราพยายามจะเอาสติปัญญาควบคุมใจของเรา เราจะแก้ไขของเรา ปฏิสนธิวิญญาณ.. ปฏิสนธิวิญญาณมันเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ จิตดวงนี้จะไปเกิดอีก
จิตนี้เป็นของเรา จิตนี้เป็นความรู้สึกของเรา สมบัติของเราเรามาหานี้เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย เพื่อดำรงชีวิตของเรา แต่อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่ว่าเราจะถมให้ความพร่องของใจนี้มันเต็มขึ้นมา เต็มขึ้นมาด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา เห็นไหม ทรัพย์อย่างนี้เราหาขึ้นมา ถ้าเราพุทโธ พุทโธ จนมันอิ่มเต็มขึ้นมานี่จิตมันไม่พร่อง มันเป็นความปกติ
ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติแล้ว แล้วออกใช้ปัญญา ปัญญาที่แบบว่าเราตรึกในธรรม เราใช้ความคิดเดิมนี่มันเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจิตมันสมบูรณ์แล้ว ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา.. นี่ปัญญาของเราแล้วนะ มันได้เคลื่อนไหวแล้วนะ มันได้พิจารณาแยกแยะแล้วนะ สิ่งนี้อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์มันตั้งบนอะไร อะไรเป็นอนิจจัง อะไรเป็นอนัตตา อะไรเป็นธรรมะ อะไรเป็นอธรรม อะไรเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันจะเห็นโทษเห็นคุณของมัน เราเห็นถูกเห็นผิด เราจะรู้ว่าอันนั้นเป็นความถูกอันนั้นเป็นความผิดแล้วแก้ไข
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว ข้ามพ้นทั้งความถูกและความผิด แต่ ! แต่ต้องอาศัยความถูกต้องดีงามนั้นเป็นเครื่องดำเนินต่อไป อาศัยความดี.. ความดีของเรานี้เป็นเครื่องดำเนิน แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ไม่ติดความดี เราไม่ติดอะไรทั้งสิ้น จิตนี้มันต้องพ้นออกไป แต่มันจะไม่ยอมพ้นออกไปเพราะมันละล้าละลัง มันห่วง มันอาลัยอาวรณ์ทั้งนั้นล่ะ แต่การแก้ไขการกระทำ มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ
ในการปฏิบัติมันเป็นชั้นเป็นตอน มันมีหนักมีเบา มีเริ่มต้น มีปานกลาง มีถึงที่สุด แล้วเราแก้ไขของเรา เราทำของเรา มันเป็นอำนาจวาสนาของเรา เราทำมาอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นมาเพราะมันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นการกระทำของเรา.. กรรมของคนไม่เหมือนกัน ทำสมาธิได้ง่าย ทำสมาธิได้ยาก ธรรมะมันจะเกิดได้ง่าย ธรรมะมันจะเกิดได้ยาก นี่มันเป็นเพราะเราทำมาทั้งนั้น
ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เห็นไหม เราเป็นพุทธศาสนา เราเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยมีคุณค่าเท่ากัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน.. ใช่ ! ในชาติปัจจุบัน แต่การทำมานี้ต้นทุนไม่เหมือนกันมันก็ไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันนั้นเป็นความรู้สึก เป็นความนึกคิด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในหัวใจ เราเก็บของเราไว้ อำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้ เพราะการกระทำนั้นมันแตกต่างกันมา แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธเหมือนกัน เรามีศักยภาพเหมือนกัน ตรงนี้เราทำได้ เราพยายามแก้ไขของเรา
ฉะนั้นถ้าเราคิดอย่างนี้แล้ว เราถึงจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจ การน้อยเนื้อต่ำใจมันบั่นทอนกำลังใจของเรานะ.. ขวัญกำลังใจนี้ เห็นไหม กองทัพถ้าขวัญดี รบก็ชนะ ขวัญกำลังใจของเรามั่นคง นี่มันเป็นการกระทำของเราทั้งนั้น ถ้าเรารักตัวเรา เราทำเพื่อความดีของเรา เราก็ทำเพื่อเรา ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว มันจะเป็นผลหรือไม่เป็นผลมันอยู่ที่สัจธรรม สัจธรรมเป็นผู้ให้ผลนั้นเอง ไม่ใช่เราไปคาดหมาย เราต้องการ เราจะเปรียบเทียบกับคนอื่น คนนั้นทำได้ คนนี้ทำได้
เราเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อกำลังใจ เพื่อเป็นตัวอย่าง หลวงตาท่านสอนประจำ ให้เอาศาสดาเป็นตัวอย่าง ให้เอาชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เอาประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เอาตัวอย่างนั้นเพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อมีการกระทำ เพื่อให้เรามีความมั่นคง มั่นคงในคุณงามความดี
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี้เป็นผลของเรานะ เอวัง