เทศน์บนศาลา

ธรรมะออกแบบ

๒๑ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

ธรรมะออกแบบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราแสวงหากันนะ เราได้ชีวิตนี้มาด้วยบุญกุศล เราเกิดจากพ่อจากแม่ เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพุทธศาสนา ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก.. เพราะมีชีวิต ทรัพย์สมบัติ หน้าที่การงานถึงมีตามมา เราเกษียณจากราชการ เห็นไหม เราตายจากชีวิตนี้ไป เราก็จะทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ที่นี่ แต่คุณงามความดีของเรา สิ่งที่จะติดไปในหัวใจ สิ่งนี้ต่างหากที่จะไปกับเรา

ใครจะเชื่อหรือใครจะไม่เชื่อนั้นเป็นความเชื่อของเขา ความจริงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เวลาทุกข์ขึ้นมาทุกคนรู้ได้ว่าทุกข์ เวลาสุขขึ้นมานี่อยากอยู่กับมัน มันก็อยู่กับเราชั่วครั้งชั่วคราว แต่ความทุกข์เป็นความจริง ความทุกข์เกิดขึ้นกับหัวใจนี้ตลอดไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนว่าอริยสัจ ! ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ไม่ใช่บอกว่าสุข บอกว่าทุกข์ ! ทุกข์เป็นความจริง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเจอสัทธิวิหาริก ลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกราบไหว้บูชาท่าน ท่านจะถามว่า “พอทนอยู่ได้หรือ.. จะยังพอทนอยู่ได้หรือ” เพราะโลกนี้มันเป็นความจริงอย่างนี้... นี่พูดถึงสัจธรรม พูดถึงความจริงอันประเสริฐ แต่เวลาพูดถึงบุญกุศล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มนุษย์สมบัตินี้เป็นอริยทรัพย์”

มนุษย์สมบัตินี้มีคุณค่ามาก มนุษย์สมบัตินี้เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เราถึงมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ เพราะมนุษย์นี้มีความบีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจ ความบีบคั้นนี้จะทำให้เราแสวงหาหาทางออก เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เจอแต่ความสุข ความสุขของเขาคือสุขโดยทิพย์ ความทิพย์อันนั้นเพราะเกิดจากบุญกุศลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ให้เราก้าวเดินนี่แหละ เพราะเราได้ทำคุณงามความดีสร้างบุญกุศล เสียสละทานเพื่อบำรุงในพุทธศาสนา

ศาสนานี้บอกว่า “มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย.. อย่ามีสิ่งใดๆ เป็นที่พึ่ง ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” แล้วธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ..

ธรรมมันอยู่ที่ไหน ธรรมมันเป็นอย่างใด อะไรเป็นธรรม..

กิเลสทั้งนั้น ! ความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น มีแต่ความดิ้นรนในหัวใจทั้งนั้น แล้วก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม.. ถ้าพอใจก็เป็นธรรม ถ้าไม่พอใจก็เป็นกิเลส แล้วเวลามันพอใจขึ้นมา สิ่งที่มันพอใจว่าเป็นธรรมๆ มันธรรมของใคร มันก็ธรรมของกิเลสไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมนี้ขึ้นมาได้นะ สร้างสมบุญญาธิการมา เป็นพระโพธิสัตว์มา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

คำว่าอสงไขยๆ นี่ท่านทำคุณงามความดีแบบพวกเรานี่ล่ะ อย่างพวกเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เพราะเราชาวพุทธ เราเชื่อมั่นในรัตนตรัย เราเป็นพุทธมามกะ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เรามีพ่อแม่มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งของเรานั้นถูกต้อง ในชีวิตประจำวันของเรา เราเกิดมาไม่มีพ่อไม่มีแม่เลี้ยงดูมานี่มันจะโตมาได้อย่างไร สัตว์นะเวลามันโตขึ้นมา เวลาคลอดมานี่มันเลี้ยงตัวมันเองได้ บางชนิดเลี้ยงตัวเองได้เลย.. มนุษย์ ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยง ไม่มีคนรับเลี้ยงมา เป็นคนมาไม่ได้ ตายหมด !

สิ่งที่เราจะโตขึ้นมานี้ต้องมีคนเลี้ยงมา เราจะประพฤติปฏิบัติในพุทธศาสนา เราไม่มีครูมีอาจารย์คอยสั่งสอนเรา คอยแนะนำเรา มันเข้าข้างตัวเองหมดล่ะ.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นพระโพธิสัตว์เห็นไหม จะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านสร้างคุณงามความดีขึ้นมาสะสมมา พระโพธิสัตว์นี่เสียสละทานมา พันธุกรรมทางจิตมันได้สะสม มันได้เปลี่ยนแปลง มันได้กระทำมาตลอด เพราะทำมาอย่างนั้นถึงมีเชาว์มีปัญญา ไอ้เราก็เกิดเราก็ทำของเรามา แต่เราไม่ทำถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สาวก สาวกะ เห็นไหม ผู้ที่ทำบุญกุศลมา ในอภิธรรมบอกว่า “จะเป็นพระอรหันต์ต้องแสนกัป ! จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย !” ทุกคนพอฟังแล้วก็มือเท้าอ่อนเลย เราจะทำอย่างไรแสนกัป.. แสนกัป ถ้าเราไม่ได้ทำมาเราจะมีความสนใจอย่างนี้ไหม นี่ที่เราขวนขวายกันมานี้ ขวนขวายกันมาประพฤติปฏิบัติ ขวนขวายกันมาเพื่อจะฟังธรรม ขวนขวายกันมาเพื่อจะรื้อค้นอริยทรัพย์ขึ้นมาในหัวใจ

สิ่งที่อยู่ในหัวใจนี้มันมีคุณค่ามันมีอริยทรัพย์อยู่ แต่มันมีมาร.. มันมีความไม่รู้เป็นอวิชชาครอบงำมันอยู่ แล้วครอบงำมันอยู่เราก็ศึกษาแล้วศึกษาเล่า ศึกษาแล้วศึกษาเล่า.. ศึกษามาเพื่ออะไรล่ะ ศึกษามาเพื่อเข้าข้างตัวเองไง

ปริยัติ.. เขาให้เรียนปริยัติมาแล้วปฏิบัตินะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เวลาไปสอนปัญจวัคคีย์ นี่ได้ท่านออกแบบ ! ออกแบบสิ่งที่ท่านรู้จริง เพราะท่านรู้ของท่าน ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน พอเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ “มันจะสอนใครได้หนอ..” จนทอดธุระ

คำว่าทอดธุระมันต้องมหัศจรรย์ใช่ไหม มันจะทอดธุระนี่มันต้องเหนือโลก มันต้องเหนือการคาดหมาย มันเหนือทุกสิ่งทุกอย่างท่านถึงบอกว่า “แล้วจะสอนใครได้หนอ.. ใครมันจะรู้ได้อย่างนี้ ใครจะสามารถทำได้..”

นี่พูดถึงว่ามันมีคุณค่าขนาดนั้น แล้วถึงสุดท้ายแล้วเพราะว่าโดยสัจธรรม.. กรรม เห็นไหม “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย.. เวลาทำมานี่ก็มีคู่ มีนางพิมพา มีกัณหาชาลี นี่สิ่งที่สร้างสมบุญญาธิการกันมานี้มันสร้างมา คำว่าสร้างมานี่มันต้องมีมา ฉะนั้นสิ่งที่ว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์มันต้องเป็นไป !

มันต้องเป็นไปเพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดสหชาติ ผู้ที่เกิดร่วมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ทำบุญกุศลกันมา ส่งเสริมกันมา เกื้อกูลกันมานี่มันมีอยู่ ฉะนั้นมันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่นี้ก็มีวุฒิภาวะ พันธุกรรมที่เขาสร้างสมมาก็มีโอกาสที่จะรับรู้อันนี้ได้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงว่าจะสอนใครก่อน เห็นไหม จะสอนอาฬารดาบสก็ตายไปเสียแล้ว

คนตายไปเสียแล้ว.. ตายไปเสียแล้วนี่แล้วจะเอาใครล่ะ ก็มาเอาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เพราะอะไร ปัญจวัคคีย์เพราะว่าพระปัญจวัคคีย์นี้ได้อุปัฏฐากอุปถัมภ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คำว่าอุปัฏฐากอุปถัมภ์คือการประพฤติปฏิบัติมาพร้อมด้วย.. พร้อมด้วยนี่ปฏิบัติมา เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ก็ทำความสงบของใจมา

๖ ปี ! ๖ ปี มีวุฒิภาวะถึงจะมีความรู้สิ่งนี้ได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “จะสอนใครได้หนอ มันเป็นความลึกลับแล้วใครจะรู้ได้ ใครจะรู้ได้” ปัญจวัคคีย์นี่เพราะมีพื้นฐาน มีพื้นฐานที่จะรู้สิ่งนี้ได้ ! ถ้ามีพื้นฐานรู้สิ่งนี้ได้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้ออกแบบ.. ธรรมะออกแบบ ! ออกแบบแบบผู้รู้ธรรมจริง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของธรรม เป็นผู้รู้จริง พอรู้จริงนี่จะออกแบบธรรมะ เห็นไหม นี่เทศน์ธรรมจักร ! ธรรมจักรเทศน์ปัญจวัคคีย์

“ทเวเม ภิกขเว...” ทเวนี่สอง ! ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ

กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยคคือความลำบากเปล่า แล้วกามสุขัลลิกานุโยคล่ะ.. กามสุขัลลิกานุโยคคือเสวยสุขไง

นี่ไงบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของธรรมะ ออกแบบธรรมนี้ไว้เองแล้วว่ากามสุขัลลิกานุโยค ความสะดวกสบาย ความลัดสั้น ความเอาแต่ใจตัว ไม่มีทางเป็นไปได้ ! ไม่มีทางที่จะเข้ามาถึงธรรมะได้

“ทเวเม ภิกขเว.. ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ”

เรามองแต่ว่าอัตตกิลมถานุโยคเท่านั้นที่ว่ามันเป็นทางสูญเปล่า แต่กามสุขัลลิกานุโยคล่ะมันก็เข้าไม่ได้เหมือนกัน ความที่จะเอาสะดวกสบาย ความที่จะเอาลัดสั้น ความที่จะเอาเห็นแก่ตัว ความที่จะคิดว่าธรรมะนี่จะหยิบฉวยเอาตามใจตัวเอง ไม่มี ! เป็นไปไม่ได้ ! เป็นไปไม่ได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของออกแบบไว้แล้ว กามสุขัลลิกานุโยค.. กามสุขัลลิกานุโยค เห็นไหม สุข.. ความสุขความพอใจนี่มันเป็นไปไม่ได้

มัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบวางเป็นธรรมและวินัยไว้.. นี่ออกแบบแบบผู้รู้นะ ออกแบบแบบผู้ที่รู้จริงเห็นจริงนะ แล้วรู้จริงเห็นจริงเพราะอะไร เพราะมันต้องมีสื่อ สื่อถึงความรู้สึกอันนั้นได้ สื่อถึงหัวใจ สื่อถึงสิ่งที่ปฏิสนธิจิต.. ปฏิสนธิจิตมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่ผลของวัฏฏะ เกิดตายนี้เป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือทำดีทำชั่วมา นี่กรรมดีกรรมชั่วมันผลักดันมา มีแรงขับของความดีและความชั่วขับดันมา ถ้าขับดันมา ขับดันมาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ขับดันมาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เห็นไหม นี่สิ่งที่ขับดันมานี้ ถ้าพูดถึงเวลาทำความสงบของใจเข้ามามันจะเข้าถึงจุดนี้.. กิเลสมันอยู่ที่นี่ กิเลสมันอยู่ที่กลางหัวใจ กิเลสไม่ได้อยู่ที่ความคิด กิเลสไม่ได้อยู่ที่ความรับรู้สึกต่างๆ ออกมาเลย สิ่งนี้มันเป็นอาการของใจ มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นความจริงของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แต่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันปกคลุมไปด้วยอะไร ปกคลุมไปด้วยอวิชชา ปกคลุมด้วยความไม่รู้ ! ความไม่รู้แล้วไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษาด้วยความไม่รู้ เวลาออกแบบธรรมมามันยิ่งไปกันใหญ่เลย

แต่ถ้าผู้รู้จริงล่ะ.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของธรรมใช่ไหม เป็นผู้รู้จริงใช่ไหม เวลาออกแบบมา เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ.. มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร

นี่สิ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา.. สัจจญาณ กิจจญาณ เห็นไหม มันมีสัจจะ มันมีความจริง มันมีการกระทำ ถ้ามีสัจจะมีความจริงมีการกระทำ กระทำอย่างใด.. กระทำอย่างใด สิ่งใดที่กระทำ ทำอย่างใด นี่ทำด้วยมรรค ๘ สิ่งที่เป็นมรรค ๘ เห็นไหม สิ่งนี้คือความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สิ่งที่เป็นกระบวนการการกระทำของมันมันจะเกิดสิ่งใด เกิดญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ.. เกิดญาณ เกิดความหยั่งรู้ เกิดปัญญา มันเกิดอย่างไร นี่สิ่งที่ว่าเวลาผู้รู้จริงออกแบบ ความเป็นจริงมันต้องเป็นจริงมาอย่างนั้น

นี่พูดถึงในการประพฤติปฏิบัติ พูดถึงสัจธรรม พูดถึงอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. นี่เราไม่กล้าเผชิญความทุกข์กันไง แล้วว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ ทุกชีวิตเราก็ทุกข์พอแล้ว.. ชีวิตเราก็ทุกข์แสนทุกข์อยู่แล้ว.. สิ่งต่างๆ จะต้องมาศึกษาความทุกข์อะไรอีก..

ไอ้ที่ว่าความทุกข์นี้มันเป็นอาการของทุกข์ ! มันไม่ใช่ความทุกข์ !

ความทุกข์นี้มันเกิดจากไหนล่ะถ้าไม่มีตัวภวาสวะ ไม่มีตัวรับรู้ ไม่มีจำเลย ไม่มีผู้กระทำผิดเราจะลงโทษใคร นี่เราจะเอาใครมาเป็นผู้เสียหาย เราจะเอาใครมาเป็นผู้ที่ใช้หนี้เวรหนี้กรรม

มันไม่มี เห็นไหม สิ่งที่มันไม่มี.. มันไม่มีเพราะเหตุใด มันไม่มีเพราะว่ามันเข้าไม่ถึง มันไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่ถึงตัวปฏิสนธิวิญญาณ ไม่ถึงตัวปฏิสนธิจิต มันไม่เข้าถึง.. สิ่งที่เข้าถึงเข้าถึงได้อย่างไร ถ้าเข้าถึงมันมีอาการของมัน มันมีการกระทำของมัน มันเข้าถึงมาได้ เห็นไหม ถ้ามันเข้ามาถึงได้มันก็มีญาณัง อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ...

มันมีของมัน มันมีอาการของมัน มันมีสัจจะความจริงของมัน ถ้าสัจจะความจริงของมัน นี่ไงมันถึงเป็นสัจจะ มันถึงเป็นอริยสัจจะ มันถึงเป็นความจริง.. ความจริงอันประเสริฐ ประเสริฐที่ไหนล่ะ.. ประเสริฐที่มีการกระทำ ประเสริฐจากหัวใจของเรา ถ้าหัวใจเรามีความประเสริฐ มีการกระทำขึ้นมา เห็นไหม มันจะเข้าสู่ความจริงตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไงเวลาปฏิบัติไปรู้จริงนะ ทำจริงต้องเป็นความจริง.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เห็นไหม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” นี่เราก็รู้ ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้หมดเลย สิ่งใดมันเป็นอนิจจังหมดเลย ไม่มีสิ่งใดคงที่ ในโลกนี้ทุกอย่างแปรสภาพหมด ไม่มีอะไรคงที่หมดเลย นี่มันต้องเป็นไปธรรมชาติของมัน แม้แต่โลกก็เหมือนกัน อากาศก็เหมือนกัน ทุกอย่างก็เหมือนกัน แล้วรู้แล้วได้อะไรขึ้นมา ! รู้แล้วได้อะไรขึ้นมา.. รู้แล้วก็คือรู้ เพราะมันรู้จากวัตถุจากภายนอก มันไม่ได้รู้อาการของใจ

ผู้ที่ไปรับรู้เขาล่ะ ผู้ที่ศึกษาล่ะ มันมีอะไร มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรฝังอยู่ที่ใจบ้าง นี่ไง สิ่งต่างๆ ที่มันรับรู้มันรับรู้ไป ศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่ออะไร.. นี่ถ้าการกระทำโดยสัจจะ อริยสัจจะ มันจะเข้าสู่ใจของเรา ถ้าเข้าสู่ใจ.. เข้าสู่ใจเพราะเหตุใด เข้าสู่ใจเพราะว่าเราซื่อสัตย์ เราทำด้วยความสุภาพบุรุษ ด้วยสิ่งใดเป็นจริงและไม่เป็นจริงโดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่เราโน้มเอียงไปประสาของเรา เราทำของเราด้วยความพอใจของเรา เราทำของเราไปด้วยความมักง่าย ความสุขเอาเผากินของเรา ถ้าความสุขเอาเผากินของเรา เห็นไหม มันไม่ใช่เสียที่ธรรมะนะ มันเสียที่เรา

ดูสิเวลาการเกิดเป็นมนุษย์นี่นะ มนุษย์เป็นอริยทรัพย์ แล้วมีศรัทธาความเชื่อ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า “ศรัทธานี้สำคัญมาก” เห็นไหม เวลากาลามสูตรไม่ให้เชื่อต่างๆ เลย ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้นถ้ากาลามสูตร.. นี่พูดถึงเวลาผู้ปฏิบัติไปเข้าถึงความจริง ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ให้เชื่อความจริง ให้เชื่ออริยสัจ ให้เชื่อมรรคญาณที่เกิดขึ้น แต่ขณะที่เราเกิดขึ้นมานี่สิ่งนั้นยังไม่มี

ศรัทธานี่เป็นอริยทรัพย์ เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นอริยทรัพย์ ถ้ามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึกของเรา.. ถ้ามีศรัทธาความเชื่อมันจะทำให้เกิดการพิสูจน์ตรวจสอบ เกิดการกระทำ เขาว่าอย่างนั้นจริงหรือ เขาว่า ! เขาว่านี่จริงหรือ แล้วเราว่าอย่างไร เขาว่านั่นเขาว่าอย่างนั้น แต่เราว่านี่เราว่าอะไร เราต้องการอะไร เราเกิดมาทำไม เราเกิดมานี่สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม ดูสิบุญกุศลที่เราทำอยู่นี้ สิ่งที่เราทำนี่ก็พื้นฐานไง พื้นฐานของเราถ้าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเรามีทานของเรา มีศีลของเรา มีสมาธิของเรา มันก็จะเข้าสู่ความจริง ถ้าเข้าสู่ความจริงจะเข้าได้อย่างไร นี่สิ่งต่างๆ ที่เป็นจริงมันเป็นจริงของมัน แต่กาลเวลาไง สิ่งที่เป็นกาลเวลา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ทำได้จริง แล้วกาลเวลานี่กลืนกินทุกๆ อย่าง กลืนกินจนถึงการกระทำนี้มันแปรสภาพของมันไป

นี่ความเชื่อ สิ่งที่ว่าเป็นมรรคผลแทบจะไม่มีเลยนะ แต่พอเวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมารื้อค้นของท่าน.. ถ้าท่านรื้อค้นของท่าน นี่ไงเพราะครูบาอาจารย์ของเราทำตามความเป็นจริง ถ้าทำตามความเป็นจริงนี่มันพิสูจน์ตรวจสอบด้วยความเป็นจริง ถ้าทำตามความเป็นจริงนี่พูดทำจริง ออกแบบเห็นไหม ออกแบบแบบที่ผู้รู้จริงทำจริง มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา

แต่ถ้าไม่รู้จริงนี่เรามีแบบอย่างนั้นมา เห็นไหม เรามีแบบ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเจริญใช่ไหม ปัญญาชนใช่ไหม เราจะสร้างสิ่งใดนะ “อันนี้สิ้นเปลือง.. โครงสร้างนี้เหล็กมากเกินไป.. ทุกอย่างไม่ดีซักอย่างหนึ่งเลย !” แต่ถ้าทำอะไรแล้วมันได้ผลกำไร มันได้ผลตามความพอใจก็ว่าสิ่งนั้นดีไปหมดเลย ทั้งๆ ที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านออกแบบไว้แล้ว

ออกแบบ เห็นไหม ธรรมะผู้ที่ออกแบบด้วยความเป็นจริงนี่มันเป็นจริงของมัน แต่เรานี่เราไม่จริงแล้วเราไม่รู้ แต่เราไปแก้แบบไง เราไปแก้ตามความพอใจของเรา ว่าสิ่งนั้นมันเป็นการประหยัด สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี ไปรื้อโครงสร้างหมดเลย แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม.. ผู้ปฎิบัติอย่างนี้ โดยการสุกเอาเผากิน โดยหวังแต่ผลประโยชน์ตั้งแต่ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะไม่ได้สิ่งใดตกค้างในหัวใจนั้นเลย !

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ผู้รู้ออกแบบไว้ตามความเป็นจริง เป็นธรรมและวินัย.. เป็นธรรมและวินัยนี่ แต่เพราะกาลเวลา เพราะสิ่งที่เป็นความเชื่อถือของสังคมของเรา เราไม่มีความเชื่อถือ ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความเป็นจริงขึ้นมา เราก็ละล้าละลัง มีแต่แบบไม่มีผู้ชี้นำ

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้ที่รื้อค้นขึ้นมาจนท่านรู้จริง ความจริงนะ ดูสิผู้ที่ทำได้จริงเวลาเขาออกแบบเขาคำนวณของเขา มันถูกต้องแล้วมันเป็นโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อจะให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมา แต่เวลาอย่างเรานี่เราจะทำอะไรด้วยความสะดวกสบายของเรา เราต้องการตามความพอใจของเรา เราทำสิ่งใดเราก็ทำเพื่อเราเท่านั้นล่ะ ถ้าทำเพื่อเรา เห็นไหม เราไม่ได้ทำเพื่อความมั่นคงแข็งแรงอย่างนั้น

คำว่าทำเพื่อเรา.. เพื่อเราคือใคร เพื่อเราคือกิเลสไง เพื่อเราคือความมักง่ายความเห็นแก่ตัว นี่เพื่อเรา คำว่าเพื่อเรามันจะได้กับเรา.. กลับไม่ได้ ได้แต่ความผิดพลาด ได้แต่ความเศร้าหมอง ได้แต่ความทำลายตน มันกลับทำลายตนนะ ธรรมะไม่มีใครทำให้บุบสลาย ย่อยสลาย หรือทำให้มันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้.. แต่เราต่างหาก เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

นี่พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “เมื่อไหร่จะหมดยุคหมดคราวเรื่องมรรคผล”

“อานนท์เธอถามอย่างนั้นไม่ได้.. ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ฉะนั้นกาลเวลา จะบอกว่ากาลเวลาสมัยนั้นแล้วมรรคผลจะไม่มี นั่นเป็นความเชื่อ.. เป็นความเชื่อ.. ถ้ากาลเวลามันทำลายได้ ทำลายมรรคผล ทำลายสัจธรรมได้ พระศรีอริยเมตไตรย อนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์นู่นน่ะ นี่พูดถึงในยุคนี้ก็ ๕ องค์ ต่อไปยังมี ๑๐ องค์ พระพุทธเจ้าจะมาเกิดต่อๆ ไป แล้วถ้ากาลเวลามันปิดกั้น มันก็หมุนไปแล้ว ๒,๐๐๐- ๕,๐๐๐ อยู่แล้ว แล้วไปอีก แล้วมันจะมาตรัสรู้ได้อย่างไรล่ะ

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

คำว่าสมควรนี่สมควรเพราะหัวใจเรามันมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน หัวใจของเรามีความจริงจังแค่ไหน ถ้ามีความจริงจังแค่ไหนนะ เราต้องพิสูจน์ในหัวใจของเรา เราจะไม่ทำให้ชีวิตของเรา จิตใจของเรา สิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้สูญเปล่า สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่มีชีวิตนี้ สิ่งที่มีการกระทำนี้มีค่า มีค่ากว่าทุกๆ อย่าง แก้วแหวนเงินทอง หน้าที่การงาน แม้แต่ชีวิตที่หายใจอยู่นี่ ชีวิตที่หายใจอยู่นี้มันก็หายใจ วันเวลามันกลืนกินไปใช่ไหม มันได้มาเพราะมันมีบุญกุศลมาถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนาด้วย แล้วพุทธศาสนานี้พุทธศาสนาที่แก่นด้วย ไม่ใช่พุทธศาสนาที่ความเชื่อเฉยๆ ไง

ถ้าความเชื่อเฉยๆ เห็นไหม ความเชื่อเฉยๆ นี่ศรัทธาเป็นความเชื่อ ศรัทธาเข้ามาเพื่อพิสูจน์ มีความเชื่ออย่างนั้นแล้วมีการกระทำไหมล่ะ ถ้ามีการกระทำแล้วทำไม่ได้มรรคผลอย่างนั้น เราคาดหมายไป เราก็ออกแบบของเราไปอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว กรรมฐาน ๔๐ ห้อง.. นี่ทางสองส่วนไม่ควรเสพ ทางสะดวกสบายก็ไม่ควรเสพ !

ความลำบากจนทำให้ตัวเองไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดก็ไม่ควรเสพ ! ทางสองส่วนไปไม่รอด ความสุขสบายก็ไปไม่รอด ความทุกข์เกินไปก็ไปไม่รอด แต่มีการกระทำนี้ทุกข์ไหมล่ะ อดนอนผ่อนอาหารทุกข์ไหม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาทุกข์ไหม มันเป็นความทุกข์ ดูนะเด็กมันก็ทำงานด้วยประสาเด็กๆ พอโตขึ้นมาเขาก็ทำงานได้มากขึ้น เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานนี่นะมันยิ่งทำงานได้เต็มไม้เต็มมือ พอชราภาพขึ้นมานี่มีแต่ประสบการณ์ นี่ทำงานด้วยการรับผิดชอบ

จิตใจของคนที่จะประพฤติปฏิบัติ.. เริ่มต้นนี่เด็ก เห็นไหม เด็กที่มันยังทำสิ่งใดไม่เป็น มันก็ต้องมีความพากเพียร แล้วพอพากเพียรขึ้นมา เห็นไหม ดูสิถึงว่าอัตตกิลมถานุโยคๆ มันอัตตกิลมถานุโยคตรงไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของทฤษฎีมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง... แต่กลางในธรรมไง ไอ้ของเรานี่สายกลาง กลางในกิเลสไง กลางในกิเลสมันก็ลงกามสุขัลลิกานุโยคหมดล่ะ มันไปปรารถนาไปหวัง..

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถ้าจิตสงบมีความสุข “สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” นี่มันสร้างหมดเลย มันออกแบบของมันต่างหาก มันออกแบบนะ นี่ว่านิพพานเป็นความว่าง ความสุขเป็นความว่าง ก็สร้างความว่างขึ้นมา.. นี่สร้างมา เห็นไหม หาแพะ ! เวลาความจริงตัวเองนี่มีความทุกข์ เวลาทำความสงบของใจ ใจมันไม่สงบ ไปหาแพะให้สงบไง เวลาจะจับผู้ที่ทำความผิดนะ ผู้ที่ทำความผิดเขารู้ตัวเขาหนีหมดล่ะ เขาไม่ให้เราจับได้หรอก พอจับไม่ได้ก็ไปจับแพะมันมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสัมมาสมาธินี่ สมาธิจริงๆ ก็ไม่ได้ ไปได้สมาธิแพะ ! ว่างๆ ว่างๆ แล้วพอบอกว่าปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ว่าเป็นธรรมๆ ธรรมแพะอีกแหละ ! มันออกแบบเป็นเรื่องไร้สาระไปหมดเลย ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของหัวใจของตัว แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้ไหม

มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้.. แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เราไม่ไปหาแพะ เราจะหาผู้กระทำผิด เราจะหามาร เราจะหาอวิชชา เราจะหาสิ่งที่มันอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่มันครอบงำใจเรานี่.. แล้วครอบงำใจของเรา เห็นไหม

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดจากใจของเราไม่ได้เลย”

นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เกิดจากความคิดของเรา ! เกิดจากภพของเรา !” ความดำริ เห็นไหม ความเริ่มต้นจากความคิดมันจะเกิดนะ ดำริแล้วก็คิด ดำริแล้วก็ส่งออก

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกเลย”

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมาร แล้วกำจัดมารจนมารออกไปจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. แต่เวลาเราคิดไง เห็นไหม มารอยู่ไหนล่ะ เวลาเราคิดมันก็ขี่คอมาด้วยไง เวลาเราปฏิบัติมันก็ขี่คอมาด้วยไง เราจะทำอะไรมารมันขี่คอมาทุกอย่างที่กระทำเลย แล้วเราจะไปเจอมารที่ไหน เราจะไปสู้กับใคร แล้วมันก็ออกแบบใหม่ไงว่า “ไม่ต้องทำอะไรเลยรู้เท่าก็จบ.. รู้เท่าก็เท่านั้นแหละ ทำอะไรให้มันลำบากลำบนไป พวกที่ทำลำบากพวกนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากอยู่นั้นนะ มันไม่มีประโยชน์อะไร..” ดูสิ ดูกิเลสมันออกแบบมัน มันออกแบบธรรมใหม่ ออกแบบว่าไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วมันจะเป็นไปได้

มันเป็นไปไม่ได้หรอก.. นี่เวลาศึกษามา.. ศึกษามา ยิ่งศึกษายิ่งงงนะ เพราะเราศึกษาด้วยกิเลสไง แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ทฤษฎีนี่ภาคปริยัติ ปริยัติคือการศึกษา ศึกษาแล้วต้องวาง แล้วเวลาปฏิบัตินะ เราศึกษามาแล้วแล้วเราก็ออกแบบมา พอออกแบบมานี่ไปออกแบบใหม่ ยิ่งกรรมฐานของเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเรานี่ให้กำหนดพุทโธ พุทโธ ทำความสงบของใจให้ได้

สิ่งใดก็แล้วแต่ถ้าจิตมันสงบมาไม่ได้ ปัญญาที่เกิดมาเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด ปัญญาที่แฝงมา กิเลสมันขี่คอมา นี่ความคิดกิเลสมันขี่ความคิดนั้นมา ตรึกในธรรมมันก็สงสัย ตรึกในธรรมนี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้ แต่เวลาเราตรึกแล้วกิเลสมันก็ขี่คอมาด้วย “มันจะมีจริงหรือ.. มันจะเป็นไปได้จริงหรือ แล้วทำอย่างนั้นนี่หมดยุคหมดคราว..” นี่กิเลสมันขี่คอมา

ถ้ามันขี่คอมาอย่างนั้นนะ แล้วเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม แล้วเวลาทำนี่สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว นี่ไปออกแบบใหม่ว่า “สมถะไม่จำเป็น สิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นทั้งนั้นล่ะ ใช้ปัญญาไปเลย..” นี่ก็ออกแบบอีกอย่างหนึ่ง พอออกแบบไป เพราะออกแบบไปแล้วใช่ไหม นี่ว่า “เราต้องใช้ปัญญาต้องเป็นสติปัฏฐาน ๔.. สติปัฏฐาน ๔ มันจะเกิดขึ้นมากับเรา ถ้าใช้ปัญญาไปเลยนี่ปัญญามันเกิดแล้ว” เห็นไหม

นี่มันคนละเรื่องเลย ! เรื่องหนึ่งคือเรื่องความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจักร.. “ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ” แล้วถ้าเป็นความจริงล่ะ.. ความจริงมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ทำไมในธรรมจักรไม่บอกให้ทำสมาธิล่ะ ในธรรมจักรเพราะว่าปัญจวัคคีย์ทำสมาธิมา ๖ ปีอยู่แล้ว !

นี่ผู้ที่มีสมาธิมั่นคงแล้วก็สอนด้วยปัญญาไปเลย แล้วของเรานี่เราไม่มีสิ่งใดเลย เราก็ออกแบบเลยเพราะสมาธิไม่มี เราไม่มีต้นทุนเลย เราไม่มีสิ่งใดเลย เราคำนวณเลยต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น.. แล้วก็ว่าเลย “สมาธิไม่ต้องทำ.. สมถะไม่ต้องทำ สมถะมันเสียเวลา ใช้ปัญญาไปเลยต้องเป็นสติปัฏฐาน ๔ สมถะนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่พิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม...” ออกแบบแล้วนะ.. ออกแบบไปเลย แล้วพอปฏิบัติไปนี่เพราะอะไร เพราะพื้นฐานมันไม่มี พอพื้นฐานไม่มีนี่มันเป็นไปไม่ได้ พอเป็นไปไม่ได้นะก็ว่า “มรรคผลหมดกาลหมดเวลา.. กึ่งพุทธกาลแล้วมันจะเป็นไปไม่ได้..”

มันขัดแย้งกันไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะออกแบบเข้าข้างตัวเองไง ! พอเข้าข้างตัวเองถึงที่สุดแล้วผลมันไม่มี ! ผลมันไม่มีเพราะเริ่มต้นมันไม่มีผลตั้งแต่ต้น เพราะอะไร เพราะการออกแบบออกแบบโดยกิเลสไง มันไม่ได้ออกแบบโดยธรรมไง เอาธรรมมา เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เอาแบรนด์มา เอาแบรนด์ว่านี่เป็นอริยสัจ นี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันมีแต่ชื่อ ! มันไม่มีความจริงขึ้นมาเลย

แต่ถ้ามีความจริง เห็นไหม เราเชื่อ เราจะไม่ให้กิเลสมันมาออกแบบธรรม เราจะต้องทำของเราตามความเป็นจริง ถ้าเราทำตามความเป็นจริงนี่เรามีโอกาสแล้ว.. เรามีศรัทธา เรามีศรัทธาแล้วเรามีการประพฤติปฏิบัติ เราเห็นโทษนะ เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราเห็นโทษอยู่ ทุกคนก็รู้อยู่ แต่ ! แต่ยอมจำนน

โลกเรานี่ เห็นไหม ทุกคนว่าธรรมะเป็นอย่างนั้น เกิดมาแล้วก็ต้องตาย แต่ไม่ทำ แต่ไม่ขวนขวาย.. ไม่ทำไม่ขวนขวาย ทั้งๆ ที่ทำได้ ! เพราะอะไรมันทำได้ ดีใจเสียใจก็มีกับเราใช่ไหม แล้วถ้าเรามีสติปัญญาทันความดีใจเสียใจกับเรามันคืออะไรล่ะ นี่ถ้ามันทันขึ้นมามันก็เข้าสู่ความจริง นี่ไงเราไปแสวงหาทรัพย์กันแต่ภายนอก เราไปแสวงแต่ปัจจัยเครื่องอาศัย แต่เราไม่แสวงหาธรรม ! เราไม่แสวงหาความจริง ! เราต้องแสวงหาต้องมีการกระทำ ถ้ามีการกระทำขึ้นมาแล้วไม่ต้องไปออกแบบมัน !

นี่เราตั้งสติของเราขึ้นมา มันเป็นจริงขึ้นมาตามความเป็นจริง ! ธรรมะไม่ต้องไปออกแบบ ! ธรรมะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนไว้แล้ว ออกแบบไว้แล้วว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามา เราไม่ต้องไปขืน ไปดื้อดึงทำตามความพอใจของเรา !

เราจะทำตามความพอใจของเรานะ ปฏิบัติมาจนป่านนี้ ดูสิปฏิบัติมาตั้งแต่เด็กจนแก่แล้วยังไม่เห็นได้อะไรเลย จะได้หรือไม่ได้ การกระทำอันนี้เรารู้ของเรา เรารู้ของเรานะ ชีวิตนี้เราเปรียบเทียบถึงทางโลกดูสิ เขาเพลินทางชีวิตของเขา เขาทำเขาอยู่กับโลกมา สุดท้ายแล้วเขาก็ตายเหมือนกัน เขาได้อะไร..

เราเสียสละชีวิตของเรามา เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ เหมือนกัน ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน พระก็ ๒๔ ชั่วโมง โยมก็ ๒๔ ชั่วโมง แต่ ๒๔ ชั่วโมงใช้ประโยชน์อะไร ทำประโยชน์อะไรให้กับจิตของเรา แต่ถ้าเราบริหารจัดการด้วยทางโลก เราก็ใช้ ๒๔ ชั่วโมงด้วยนโยบาย ด้วยความรู้สึก ด้วยการบริหารจัดการ บริหารจัดการแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันก็ได้สมบัติสาธารณะขึ้นมา มันได้สิ่งที่เป็นสมบัติมรดกของโลกไง

ถ้าเรามีชีวิตอยู่เราได้ใช้มัน แต่ถ้าเราตายไปมันก็เป็นสมบัติของโลก ! ไม่ใช่สมบัติของเรา ! แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราตั้งสติของเรา เราภาวนาของเรา มันจะเป็นสมบัติของเรา นี่เรามีสติปัญญารู้ของเรา มันดีก็รู้ว่ามันดี มันไม่ดีก็รู้ว่ามันไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะว่าเราขาดสติไหม ไม่ดีเพราะว่าเราหวังผลไหม เราเกิดมาเราหวังผล เราออกแบบมา เราคาดการณ์มา เราจินตนาการมาว่ามรรคผลจะเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติมาแล้วเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมาแล้วเป็นพระอรหันต์ ออกแบบความคิดความนึก ไม่ใช่มีการกระทำ เรามีการกระทำของเราไม่ต้องออกแบบ เราเผชิญกับความจริง

ปริยัติคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว เราเรียนมาแล้วเราต้องวางไว้ เราจะเอาแบรนด์อันนั้น เอาความมุ่งหมายอันนั้น สติปัฏฐาน ๔ ! มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นปัญญา มันไม่ใช่เป็นสมถะ มันไม่ใช่ฤๅษีชีไพร นี่ไงยังไม่ได้ปฏิบัติเลย เอาสิ่งนี้มากดถ่วงหัวใจไว้แล้ว สิ่งต่างๆ เราเอามากดถ่วงหัวใจเราเองทำไม เราจะเอามาปิดกั้นทางเดินของเราทำไม

เราจะเริ่มสะสมบุญญาธิการ เราเริ่มสะสมหัวใจของเรา หัวใจมันเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว แล้วเกิดเป็นมนุษย์นะเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา มีการประพฤติปฏิบัติแล้ว บวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาด้วย.. สิ่งที่การกระทำนี่ เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมานี้ก็ฝึกหัวใจ สิ่งที่ทำนี้ก็ฝึกตัวตน ฝึกตัวตนนี้ให้มันเบาบางลง ตัวตนนะ.. สมาธิ เพราะทำให้ทิฐิมานะสงบลงถึงเป็นสมาธิได้ สิ่งที่ไม่เป็นสมาธิเพราะตัวตน เพราะว่าทิฐิมานะมันกล้าเกินไป สิ่งที่กล้าเกินไปมันไม่เป็นประโยชน์

ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาของเรา เราใช้สติปัญญาของเรา มันทำให้ตัวตนนี้ยุบยอบลง ถ้าตัวตนนี้ยุบยอบลง เห็นไหม จิตของมันโดยธรรมชาติ จิตที่เป็นธรรมชาติ จิตที่เป็นสากลนี่มันสงบลงได้ ถ้ามันสงบลงได้ ความที่สงบอันนี้.. นี่ไงทำงานอย่างนี้ เราทำอย่างนี้มันเป็นประสบการณ์ของจิต ไม่ต้องไปออกแบบมัน มันเป็นความจริง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันเดินเข้าไปชนมัน

สติ.. จิตมันก็ชนกับสติ เวลาถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันชนกับสมาธิ สมาธิกับจิตเป็นอันเดียวกัน นี่เวลาเราฟังเรื่องของคนอื่น เราฟังข่าวคนอื่น เราก็ฟังแต่เขาพูดเท่านั้นล่ะ แต่เวลาเราไปสัมผัส มันไปสัมผัสเอง มันเป็นของมันเอง จิตมีสติ จิตเป็นสมาธิ จิตเกิดปัญญาแล้วมันไม่รู้ได้อย่างไร แล้วเราไม่รู้ถึงว่าความเป็นไปจริงนี้มาได้อย่างไร มันจะเป็นสันทิฏฐิโกได้อย่างไร มันจะเป็นปัจจัตตังขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเป็นขึ้นมา เห็นไหม นี่เราถึงต้องทำตามความเป็นจริง

การศึกษานั้นมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว แต่เราไปลิขสิทธิ์ เราไปทำสินค้าเทียมเลียนแบบ เอาแบบนั้นมาด้วยความต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม..

ข้าว.. ถ้าไม่มีข้าวสารเราจะมีข้าวสุกไหม ข้าวสุกมันมาจากไหน ข้าวสุกเพราะเรามีข้าวสารเราถึงหุงมันเป็นข้าวสุกขึ้นมา ข้าวนี่ เราไปก๊อบปี้ข้าวสารมามันก็เป็นข้าวสาร มันจะเป็นข้าวสุกไปได้อย่างไร เพราะมันไม่มีการกระทำ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างเป็นข้าวสารมาเป็นข้าวสุก

ถ้าเราไม่มีหัวใจ นี่หัวใจของเราเรามีสัมมาสมาธิใช่ไหม เรามีจิตใช่ไหม จิตของเรามีอวิชชาใช่ไหม จิตของเราโดนกิเลสครอบงำใช่ไหม ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงจิตของเรา ไม่ได้มีการกระทำของเราขึ้นมา มันจะมีธรรมขึ้นมาได้อย่างไร.. นี่ไงถ้าเราไปเอาแบรนด์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ไปศึกษามาด้วยภาคปริยัติ แล้วบอกต้องเป็นอย่างนี้ ! ต้องเป็นอย่างนี้ ! ต้องเป็นอย่างนี้ ! แล้วมันจะเป็นอย่างไรล่ะ.. มันจะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าเราปลูกต้นไม้ ปลูกโพธิ์เห็นไหม เราปลูกโพธิ์ของเราใช่ไหม นี่เรามีเมล็ดใช่ไหมเราก็เพาะเมล็ด มันโตขึ้นมามันแตกขึ้นมา เราบำรุงรักษามันขึ้นมาใช่ไหม ต้นโพธิ์มันก็ขึ้นมา.. นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ เราจะไปลอกเลียนธรรม แบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางแบบนั้นไว้แล้วว่าเป็นของเรา เป็นไปไม่ได้ !

แต่ถ้าเราสร้างของเรา เราปฏิบัติของเรา คำว่าสร้างเขาหาว่ากิเลสอีก กิเลสมันจะสร้างขึ้นมา สร้างเทียมเลียนแบบขึ้นมาอีก.. ไม่ใช่สร้างเทียมเลียนแบบ มันจะสร้างสัมมาสมาธิ สร้างปัญญาธรรม สมาธิธรรม สร้างสิ่งต่างๆ นี่เริ่มต้นต้องมีการสร้าง.. เริ่มต้นถ้าไม่มีการก่อการสร้างขึ้นมา มันจะเป็นขึ้นมาได้อย่างไร การก่อการสร้างขึ้นมาจนเป็นมรรค เห็นไหม อาโลโก อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ.. นี่มันสร้างขึ้นมา แล้วมันมีการกระทำ มีความเป็นไป นี่ปฏิบัติ !

เวลาปริยัตินี่ศึกษามา ศึกษามาแล้วเพื่อเป็นทางวิชาการ ศึกษามาเพื่อให้รู้เหนือรู้ใต้ รู้ที่มาที่ไป แต่ถ้าเราทำตามนั้นมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ข้าวสารเอามากองไว้ มันก็จะเป็นข้าวสารอยู่วันยังค่ำ ข้าวสุกถ้ามันสุกแล้ว มันจะสุกมาจากไหนถ้ามันไม่มีข้าวสาร..

ถ้ามันไม่มีจิตที่มีอวิชชา ถ้ามันไม่มีจิตที่เกิดมาด้วยทุกข์ด้วยยาก ถ้ามันไม่มีจิตไม่มีเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันจะเอาอะไรมากระทำ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนปัญจวัคคีย์ ไม่ไปสอนอาฬารดาบส เพราะอาฬารดาบสตายไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกันเรามีจิตมีวิญญาณ เรามีความรับรู้สึกอยู่ ธรรมะนี้มันเป็นอาหารของใจ ธรรมะนี้มันเป็นสิ่งที่ซักฟอกหัวใจ แล้วเราพยายามหาสิ่งนี้.. นี่พุทธศาสนาสำคัญอย่างนี้ สำคัญที่ว่ามันมีการกระทำ มันมีมรรคญาณ มีการกระทำในหัวใจขึ้นมาเพื่อจะชำระให้มันมีความสะอาด

อย่างเรานี่นะเราเป็นปุถุชนกัน เรามีกิเลสในหัวใจ เราก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้นะ เกิดมาจากไหน รู้แต่เกิดมาจากพ่อจากแม่แต่ไม่รู้ว่าเกิดมาจากกรรม ทำกรรมอะไรไว้ถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเวลาตายไปแล้วก็ไปไหน มันก็มืดแปดด้าน แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ปฏิบัติขึ้นมาถ้าจิตมันสงบขึ้นมานี่มันรู้ได้นะ มันรู้ได้เพราะอะไร.. กาฬเทวิล นี่ปฏิบัติอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นอนอยู่บนพรหม ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ

นี่ไงไม่มีธรรมะเขาก็ระลึกได้ ! ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา จิตเราสงบเราก็ระลึกได้ เราก็รู้ของเราได้ว่าจิตนี้มันมาจากไหน นี่ที่มาเป็นมนุษย์นี้เราทำสิ่งใดมา เมื่อชาติที่แล้วทำอะไรมา แล้วชาติต่อๆ ไปทำอะไรมามันถึงจับพลัดจับพลูมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่เนี่ย.. นี่มันเห็นของมัน มันรู้ของมันได้ เพราะมันรู้จากข้อมูลจากภายในจิตของเราเอง รู้จากข้อมูลภายในจิตที่มันเป็นมา เห็นไหม มันถึงรู้ว่ามาจากไหน จิตนี้มันมาจากไหน มันมาเพราะเหตุใด

แล้วมันมาเพราะเหตุใดนี่ แล้วเกิดเป็นมนุษย์นี้มาเพราะเหตุใด.. มาเพราะเหตุใดมันเป็นอดีตนะ แก้กิเลสไม่ได้นะ แต่มันมาเพราะเหตุใดนี่มันรู้ได้ คำว่ารู้ได้ไม่ใช่อริยสัจ คำว่ารู้ได้.. รู้ได้แล้วเราได้อะไรขึ้นมา รู้ขึ้นมาแล้วก็เกิดทิฐิมานะว่าฉันรู้นู้นรู้นี่ แล้วรู้แล้วได้อะไร รู้แล้วแก้อะไร รู้แล้วเป็นสมบัติอะไร

มันเพียงแต่บอกว่าจิตนี้มาจากไหนนี่มันมีที่มา ! แล้วถ้ามันยังประพฤติปฏิบัติไม่ได้มันก็มีที่ไป ! เพราะจุตูปปาตญาณ อนาคตมันยังมีไป จิตต้องไปแน่นอนถ้ายังไม่ได้แก้ไขมัน นี่แต่เราเป็นปุถุชนเราไม่รู้.. เราไม่รู้เราก็สงสัยว่ามันมาจากไหนแล้วไปอย่างไร ยิ่งงงไปใหญ่นะ ยิ่งถ้าไปทางโลกเดี๋ยวนี้ยิ่งทฤษฎีมากมายมหาศาล

ทฤษฎีโดยความออกแบบของเขานี่มันเชื่อถือไม่ได้.. ความน่าเชื่อถือของเรา เราต้องเชื่อถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึกใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยเป็นแบบไว้แล้ว ฉะนั้นเพียงแต่ว่าแบบนี่เป็นปริยัติ เวลาศึกษามาแล้วต้องวาง เห็นไหม ไม่ได้เอาแบบนั้นมา.. ศึกษามา ศึกษาโครงสร้างนั้น แบบไม่ใช้ตัวบ้าน แบบไม่ใช่โครงสร้าง แบบไม่ใช่สัจธรรมที่จะเกิดขึ้นมากับเรา.. แบบคือแบบ ความจริงโครงสร้างที่จะทำขึ้นมาจริง มันก็จะขึ้นมาจริงตามพื้นฐาน ตามที่จิตมันทำ

มันคนละเรื่องกัน ! มันคนละเรื่องระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ ปริยัติเรียนอย่างไร ศึกษาอย่างไร ท่องอย่างไร กระทำอย่างไร มันเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ แล้วเวลาท่องแล้วปฏิบัติแล้ว เวลาท่องจำแล้วต้องให้เป็นตามนั้น ยิ่งมาปฏิบัติด้วยนี่มันก็จะให้ข้าวสารเป็นข้าวสุกด้วยการนั่งมองน่ะ ข้าวสารนี่ดูแล้วเดี๋ยวข้าวสารจะสุกจะใส่จานมาให้กิน มันเป็นไปไม่ได้หรอก.. แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาเราต้องทำของเราขึ้นมา ข้าวสารนี้ต้องตั้งแต่ไถนาเลยแหละ ไถนา หว่านข้าว ดูแลข้าวเป็นต้นข้าว ต้นข้าวเสร็จแล้วก็เก็บข้าว เก็บข้าวแล้วต้องเป็นข้าวเปลือก ข้าวเปลือกต้องไปสีเป็นข้าวสาร มีข้าวสารแล้วเราถึงได้เอามาหุงกิน

นี่เวลาปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น ! เวลาปฏิบัติของเรานี่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่เป็นแบบ.. แบบที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วโดยทั่วไปที่เขาออกแบบนี่ออกแบบเป็นแฟชั่นเลย ! ใครจะออกแบบอย่างไรก็ได้ ว่าตามกันไป ธรรมะออกแบบ ! แล้วก็บอกไปตามความพอใจของเขา ไอ้เราถ้าเป็นความชอบใจของเราตรงไหนเราก็เชื่อเขาไป ความเชื่อ.. ความเชื่อ.. ไม่ใช่ความจริง !

ความจริง.. นี่กาลามสูตร เห็นไหม ลงกาลามสูตรแล้ว ไม่ให้เชื่อ ! ไม่ให้เชื่อแม้แต่อนุมานแล้วเป็นอย่างนั้นได้ เพราะถึงอนุมานแล้วเป็นได้ก็เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ให้เชื่อสิ่งนั้นเพราะเขาทำตามๆ กันมา เราไม่ให้เชื่อเพราะว่าสิ่งนั้นสังคมเขาเชื่อถือ มันเป็นเรื่องของเขาทั้งนั้นล่ะ มันไม่ใช่เรื่องชีวิตเราเลย มันไม่ใช่เรื่องความจริงในหัวใจเราเลย ถ้าเป็นความจริงในหัวใจของเรานี่นะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว เราต้องพิสูจน์ !

คำว่าพิสูจน์คือภาคปฏิบัติ ฉะนั้นศึกษาเป็นปริยัติแล้วต้องวางไว้.. ฉะนั้นถึงวางไว้ พอวางไว้ นี่ไงครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติแล้ว ท่านเป็นผู้ค้ำประกัน เป็นผู้ยืนยัน ผู้ยืนยันว่าต้องทำความสงบของใจ เพราะทำความสงบของใจแล้วนี่มันจะเปลี่ยนแนวคิด แต่เปลี่ยนแนวคิด เห็นไหม ดูสิข้าวสารมันเป็นข้าวสุก แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามีสัมมาสมาธินี่มันจะเป็นโลกุตตรธรรม

คำว่าโลกุตตรธรรม เห็นไหม ดูสิข้าวสารเป็นข้าวสุกใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้เขามีอาหารสำเร็จรูป ! อาหารสำเร็จรูปนะ นี่ไงถ้ามีสัมมาสมาธิ ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมานี่ปัญญามันเกิดอย่างไร.. ถ้าปัญญามันเกิด มรรคญาณมันเกิดนี่นะ ญาณมันเกิด วิชามันเกิด ความสว่างมันเกิด ความรู้แจ้งมันเกิด มันเกิดอย่างไร ! มันเกิดอย่างไร แล้วความเกิดอย่างนี้ใครออกแบบ

นี่มันจะเป็นความจริงกับสัจธรรม สัจธรรมนั้นเป็นผู้ให้ค่า ถ้าจิตนั้นทำตามความเป็นจริงที่เป็นสัจธรรมขึ้นมาแล้ว สัจธรรมอันนี้มันจะเป็นความจริง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องให้ใครค้ำประกัน ไม่ต้องให้ใครมาเยินยอ ไม่ต้องทั้งนั้น ! แต่มันอยู่ที่ไหนล่ะ ก็มันอยู่จากในที่สกปรกโสมมของเรานี่แหละ

เพราะใจของเราสกปรกโสมม เราจะทำความสะอาดได้แต่ร่างกาย เราจะทำความสะอาดตรงไหนก็แล้วแต่ทำความสะอาดไป แต่ไม่มีใครทำความสะอาดหัวใจได้ เพราะหัวใจมันหมักหมมด้วยความขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง.. ขี้ในอารมณ์ทั้ง ๓ นี้มันเป็นนามธรรม ไม่มีสิ่งใดจะไปทำความสะอาดได้ จะผู้ดีขนาดไหน นิ่มนวลขนาดไหนมันก็สกปรก !

จิตมันสกปรกโดยตัณหาความทะยานอยาก มันสกปรกโดยอวิชชา ในเมื่อมีกิเลสอยู่มันสกปรกในหัวใจ ถึงบอกว่าไม่มีสิ่งใดที่จะไปชำระทำความสะอาดได้ เว้นไว้แต่เราตั้งสติแล้วมีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิจะไปทำความสะอาดชั่วคราว ถ้าจิตมันสะอาดมันไม่มีกิเลสบวกเข้ามา ถ้ามันเกิดปัญญา.. ปัญญานี้เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญามันเกิด มันเกิดอย่างไร

นี่ไงสิ่งที่เป็นความจริง เห็นไหม เป็นความจริง เป็นสัจธรรมที่มันเป็นความจริง ความจริงมันก็คือความจริง มันจะอยู่ที่ไหน อยู่บนฟ้า อยู่บนแดด อยู่ในเหวหรืออยู่ที่ไหน ความจริงก็คือความจริง ถ้ามันเกิดมากับใจ ใจของเรานี้เราจะเป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก เราจะเป็นคนที่ไม่มีอำนาจวาสนาบารมี เราจะเป็นคนทุกข์คนเข็ญใจ เราจะเป็นพระเป็นเจ้าอยู่โคนไม้ที่ไหนล่ะ ถ้ามันเกิดก็คือมันเกิด ! ถ้ามันไม่เกิดไปอยู่ที่ไหนมันก็ไม่เกิด !

มันไม่เป็นความจริง มันเป็นการเข้าข้างตัวเอง ออกแบบเป็นแฟชั่นของตัวเอง แล้วตัวเองก็เชื่อตามๆ กันไป มันไม่เป็นความจริงเลย.. ถ้าความจริงนะ ความจริงมันเกิดขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงมันเกิดขึ้นมานี่มันมีผล จิตสงบนะ ถ้าจิตมันสงบนะมันจะไม่มีทิฐิมานะ ความเป็นมานะอหังการนี่ทำให้จิตของเราลงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความจริงมันมีการอ่อนน้อมถ่อมตน “ความอ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรม” เห็นไหม ใจมันลง ถ้าใจลงธรรมมันจะได้สัมผัสธรรม

ใจของเรานี่มันไม่ลงธรรม มันลงกิเลส มันออกแบบธรรมะด้วย บอกว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครึล้าสมัยไม่เป็นความจริง แต่ธรรมของฉัน.. เห็นไหม มันออกแบบเอง มันออกแบบเป็นแฟชั่นเลย แฟชั่นที่ว่ายิ่งโลกเขาเจริญยิ่งไปใหญ่ นี่มันไปตามโลกเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นความเห็นของโลก มันไม่เป็นความเห็นของธรรม

ถ้าความเห็นของโลก เห็นไหม จิตส่งออก จิตเป็นโลก เขาลงธรรมไม่ได้.. แต่ถ้าจิตเป็นธรรมนี่มันลง จิตนี้ลงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าจิตไม่ลงพระรัตนตรัย จิตไม่ลงแก้วสารพัดนึก มันไม่เห็นคุณค่าของแก้วสารพัดนึก ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของแก้วสารพัดนึก เราไปเห็นคุณค่าของปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นสังคม.. โลกธรรม ๘ เขาให้ค่ามันถึงมีค่า ถ้าโลกเขาไม่ให้ค่ามันก็ไม่มีค่า เราไปให้ค่าสิ่งนั้นกันแล้วติด ติดด้วยสัญชาตญาณ ด้วยการเกิดและการตายทุกภพทุกชาติมันได้สะสมมาในหัวใจ คนกลัวผี คนกล้าหาญชาญชัย เพราะมันได้พัฒนาการของจิตนี้มา จิตที่อ่อนแอ จิตที่เข้มแข็ง จิตที่ต่างๆ นี้มันมีกระบวนการของมันมาทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้นสิ่งที่ไปติดๆ นี่เพราะสิ่งนี้มันสะสมมาที่ใจ มันมีเชื้ออยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แต่พอเรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะให้ค่ากับเรื่องของคุณสมบัติทางโลก มันไม่ให้คุณค่าของธรรม เพราะธรรมมันละเอียดลึกซึ้งเกินไป “ธรรมละเอียดลึกซึ้งเกินไปจนใจที่มีกิเลสอยู่มันไม่เห็นคุณค่า” เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาเพื่อให้ความสงบของใจมันก็ไม่เคยสงบซักที แต่มันก็ไปหาสมาธิแพะมา ปัญญาแพะมา

ปัญญาคืออาการของใจไม่ใช่ใจ ในเมื่ออาการของใจ ในเมื่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นของใจมันเป็นแพะ ! มันไม่ใช่ใจ ! มันเป็นสิ่งที่สะดวกสบายที่มันจะอ้างอิงได้ มันอ้างอิงไป สมาธิแพะ ปัญญาแพะ ไม่ใช่ปัญญาจริง ถ้าปัญญาจริงขึ้นมา เห็นไหม เรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา เพราะมันละเอียดเกินไปไง มันละเอียดจนจิตหยาบๆ มันรู้สิ่งนี้ไม่ได้ เราถึงต้องทำ..

ผู้ที่ปฏิบัติ ที่มันกระเสือกกระสน ที่มันทุกข์มันยากอยู่ก็เพราะเหตุนี้แหละ เหตุเพราะว่าสิ่งใดนี่มันเป็นสมมุติทั้งนั้น สมมุติก็จริงตามสมมุติ สมมุติบัญญัติมันก็เป็นสมมุติบัญญัติ แต่เวลาเป็นความจริงเป็นธรรม ! ไม่ใช่สมมุติและไม่ใช่บัญญัติ มันเป็นสัจธรรม.. สัจธรรม ทำไมถึงว่าไม่ใช่สมมุติไม่ใช่บัญญัติ เพราะข้อเท็จจริงมันไม่ใช่สมมุติไม่ใช่บัญญัติ แต่ชื่อของมันเป็น

สมาธิ.. ตัวสมาธิคืออะไร ตัวสมาธิมันก็คือสมาธิ แต่ชื่อของมันเป็นสมมุติ สมมุติว่าเป็นสมาธิ แต่ความจริงสมาธิเป็นอย่างไร สมมุติชื่อมันแล้วตัวมันเป็นอย่างไร เวลาปัญญาขึ้นมานี่เราว่าปัญญา ปัญญาแพะ.. อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น… แล้วหัวใจเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่สะเทือนหัวใจเป็นอย่างไร อ้าว.. หัวใจไม่รู้เรื่อง แต่รู้ถึงปัญญาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ รู้ถึงพุทธพจน์นะ แต่ตัวเองไม่รู้จักตัวเอง แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาล่ะ มันเป็นปัญญาที่ชำระกิเลสล่ะ

ปัญญานี้มันเกิดบนอะไร ปัญญานี้มันจะเข้ามาฆ่าอะไร ปัญญานี้มันจะถอดถอนอะไร นี่มันรู้จริงของมันเพราะอะไร เพราะมันมีสัมมาสมาธิไง เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิเพราะมันมีจิตไง สัมมาสมาธิคือภพ สัมมาสมาธิคือจิตเดิมแท้.. สิ่งที่เข้ามาภพ ดูสิอัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี่มันแตกต่างกันอย่างไร แล้วถ้าอัปปนาสมาธินี่เวลาเข้าถึงความสงบร่มเย็น ถึงฐานของจิตนี่ มันทำงานไม่ได้นี่มันทำงานไม่ได้อย่างไร แล้วที่เวลามันออกทำงานนี่มันออกทำงานอย่างไร.. ถ้ามันเกิดปัญญานี่มันรู้ของมัน มันรู้มันเห็นของมัน เห็นไหม แล้วปัญญานี่ปัญญาเกิดจากโลกุตตรปัญญา

ปัญญาอย่างนี้ใครออกแบบ ! พระพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าออกแบบเพราะพระพุทธเจ้ารู้จริงแล้วออกแบบไว้ ถ้าเราทำความจริง เห็นไหม เราทำความจริงเป็นความจริง ไม่ใช่สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่แบรนด์ มันเป็นจริงๆ มันเป็นจริงๆ นี่ไงสมมุติบัญญัตินี้มันเป็นสมมุติ แต่ตัวจริงที่เกิดล่ะเกิดสติอย่างไร เกิดสมาธิอย่างไร แล้วเกิดปัญญาอย่างไร แล้วเกิดที่มันเกิดนี้เกิดใครเป็นคนทำ

นี่มันพูดได้ชัดเจน พอชัดเจนขึ้นมาจิตมันมีกำลังใช่ไหม จิตมันมีสัมมาสมาธิ จิตมันมีกำลังแล้วพอปัญญามันเคลื่อนไปนะ ปัญญามันเคลื่อน เห็นไหม เวลาเราภาวนากันไม่เป็น เวลาจิตมันสงบแล้วนี่สมาธินี้เป็นอนิจจัง เพราะมันเป็นสมมุติ ชื่อมันสมมุติแต่ตัวมันจริงนะ ตัวมันจริงแต่มันก็เป็นอนิจจัง สมาธิคือสมาธิจริงๆ นี่แหละ เจริญแล้วเสื่อมเสื่อมแล้วเจริญ พอมันเจริญขึ้นมานี่คนไม่เข้าใจ เห็นไหม

นี่สมาธิจริงๆ ไม่ใช่แพะ มันเป็นสมาธิจริงๆ แต่ถ้าคนไปติด ติดว่านี้เป็นสมาธิ พอเข้าสมาธิแล้วมันว่าง มันมีความสุข ...นี่คือนิพพาน แม้แต่สมาธิเขาก็เข้าใจว่าเป็นนิพพานได้ แต่ผู้ที่สมาธิแพะ เขาไม่เข้าถึงสมาธิเลย เขาบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ..” นั่นสมาธิแพะ ! นี่ไงมันไม่ใช่สมาธิจริง แต่ถ้าเป็นสมาธิจริง สมาธิจริงก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังนะมันอนิจจังเพราะมันแปรปรวนมันแปรสภาพ เวลามันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีกำลังของมัน มันมีความสุขของมัน ก็เข้าใจว่าเป็นนิพพาน

“เข้าใจว่า” เห็นไหม เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะมันต่ำ.. วุฒิภาวะมันต่ำ มันต่ำเพราะอะไร มันต่ำเพราะว่ามันไม่เคยสัมผัส ไม่เคยมีทรัพย์สมบัติ พอมีทรัพย์สมบัติขึ้นมา พอมีสัมมาสมาธิขึ้นมา พอสิ่งนี้เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิถึงรู้ว่าเป็นสมาธิ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธินั่นเป็นสมาธิแพะ เพราะจิตไม่ได้เป็น มันเป็นสมาธิที่เป็นสมาธิแพะที่ไปตั้งไว้ แต่ตัวจิตนี้มันไม่เป็น ไม่เป็นมันก็ไม่รู้ตัวมัน ไม่เห็นตัวมัน ก็ไม่รู้ว่าสมาธิหรือไม่สมาธิเป็นอย่างไร

นี่แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ตัวมันจริงมันเป็นสมาธิขึ้นมา ถึงเป็นสมาธิมันก็เป็นอนิจจังเพราะมันเจริญแล้วเสื่อม.. พอเวลาเจริญแล้วเสื่อมมานี่นิพพานหายไปไหน เวลาเสื่อมไปทำไมนิพพานหายไปด้วยล่ะ นี่ไง แต่เราก็ตั้งสติขึ้นมา เรามีการกระทำของเราขึ้นมา เห็นไหม นี่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าข้อเท็จจริงอย่างนี้นะมันไม่ใช่ธรรมะ

นี่ธรรมจริงๆ อย่างนี้มันเป็นความจริง แต่ที่เขาออกแบบกัน ออกแบบกันให้สะดวกสบาย มักง่าย สุกเอาเผากิน แล้วเราเองปฏิบัติธรรมแค่รูปแบบ พอแค่รูปแบบมาก็เชื่อถือศรัทธาเขาไป แล้วก็บอกว่านี่มันทำแล้วมันดี มันสบายๆ มันมีความสุข.. เรานะ นี่เวลาทุกข์ขนาดไหนเราช่วยปลอบประโลมมันก็สบาย จิตนี่มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอนิจจังมันเกิดดับ ความคิดมีเกิดมีดับ ความทุกข์มีเกิดมีดับ มันก็เกิดดับอย่างนั้นแหละ มันอยู่คงที่ไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดคงที่ แม้แต่อารมณ์ก็ไม่คงที่ ไม่มีอะไรคงที่เลย

จิตก็เหมือนกัน จิตนี่มันไม่มีอะไรคงที่ของมันแต่มันมีสันตติ คำว่าสันตติเขาว่าเป็นดวงๆๆ ไม่มี ! มันเร็วต่างหากเล่า ไอ้ที่ว่าดวงๆๆ นี่มันออกแบบกันไปเรื่อยๆ ธรรมะออกแบบแล้วก็ออกแบบอีก แต่แบบที่แท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นแบบที่แท้จริง แต่เราไปออกแบบซ้อน ออกแบบตามกิเลส ตามความพอใจ ตามความเห็น ตามแต่สังคมเขาเชื่อถือ มันก็เลยเป็นแต่ใครจะออกแบบอย่างไรก็ได้ตามสิทธิเสรีภาพ

ทุกคนก็มีสิทธิมีเสรีภาพ เกิดมาเป็นประชาธิปไตย ก็ว่ากันไปไง.. แต่ทำลายตัวเอง ทำลายโอกาสตัวเอง ทำลายจิตใจตัวเอง เพราะจิตใจตัวเองอ่อนด้อย พออ่อนด้อยนี่ เห็นสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ที่สะดวกสบาย มันก็ไปติด ไปเชื่อ ไปถือ แล้วสิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ จิตนี้มันมหัศจรรย์ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม ถ้าใจเราลง เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นแก้วสารพัดนึก ครูบาอาจารย์เราท่านผ่านมาแล้ว ท่านจะชี้นำ ท่านจะคอยบอก ถ้าเราบอกนะ สิ่งใดถ้าเราลงครูบาอาจารย์ นี่สิ่งนั้นเราปรึกษาได้ เราทดสอบได้ ถ้ามันทดสอบได้นะมันจะมีโอกาส มันจะมีความเป็นจริงได้

นี่ธรรมมันเหนือโลกนะ ไม่เป็นอย่างที่คิดกันหรอก ! ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงนะ ท่านบอกเลยถ้าปฏิบัติแล้วนี่เราจะมีความสุข เราก็คิดใช่ไหม นี่เราทุกข์เรายาก เราอยากมีทรัพย์สมบัติ ถ้าเรามีทรัพย์สมบัติแล้วเราจะมีความสุข พอมีทรัพย์สมบัติแล้วนี่บอกแค่นี้มันน้อยไป มันต้องมีมากกว่านี้ถึงจะมีความสุข แล้วก็บอกว่ามีต่อไปจะมีความสุข แล้วก็ว่าจะมีความสุข.. มันไปเรื่อยเลยไม่มีวันจบ !

นี่ตัณหาความทะยานอยากถมไม่มีวันเต็มหรอก แต่ในการประพฤติปฏิบัตินะ เวลาจิตมันพัฒนาขึ้นไปนี่มันว่าจะมีความสุข เพราะกิเลสมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด เวลากิเลสที่มันละเอียดขึ้นไปนี่ อู๋ย.. มันยิ่งหลอกยิ่งล่อ ยิ่งทำให้เราหัวปั่น นี่ไงขนาดแค่พื้นๆ แค่ว่าสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ แค่ว่าแพะหรือไม่แพะนี่เราแยกกันไม่ถูกเลย ขนาดว่ามันเป็นแพะหรือไม่แพะนี่เรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นแพะ อะไรมันไม่เป็นแพะเลย แล้วมันจะมีปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามีปัญญาขึ้นมา.. นี่ความละเอียด เห็นไหม เราจะบอกว่าในเมื่อถ้ามันหยาบ เพราะจิตใจเราหยาบ พอจิตใจเราหยาบ เดี๋ยวนี้คนมักง่าย.. นี่ในทางโลก เราจะบอกว่าเด็กสมัยนี้นะไม่เหมือนสมัยเรา สมัยเรานะเราต้องพึ่งตัวเอง เราทำอะไรนะเราต้องช่วยเหลือตัวเอง สมัยนี้อู้ฮู.. มันเจริญ ทุกอย่างเจริญ นี่ไงเหมือนกับหัวใจผู้ประพฤติปฏิบัติ สมัยก่อนมันทำกันจริงทำจัง ทำด้วยมีครูมีอาจารย์ ทำด้วยสติปัญญา ทำด้วยวุฒิภาวะหัวใจที่เข้มแข็ง สมัยนี้จะชุบมือเปิบ จะเอากันง่ายๆ จะเอาง่ายๆ แล้วก็ออกแบบธรรมะกันนะ ออกแบบมา ออกแบบมาจนเราก็จำไม่ได้ว่ามันเป็นอะไรต่ออะไรบ้าง มันร้อยแปดพันเก้า !

แต่ในการปฏิบัติเรานะ นี่ความรู้สึกของเรา ความจริงในใจของเรา ความเห็นของเรา.. ถ้าความเห็นของเรานี่มันเป็นความจริงหรือยัง ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงนี้มันเกิดจากอะไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะเทศน์ปัญจวัคคีย์ เห็นไหม เวลาปัญจวัคคีย์นี่เทศน์ธรรมจักร แล้วเทศน์อนันตลักขณสูตร พระอัสสชินี่ธุดงค์ไป เวลาธุดงค์ไปนะ

“เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน”

๖๑ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แยกกันไป ถ้าซ้อนกันไปคือว่าไป ๒ องค์นี่มันเสียโอกาส นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นภัย เห็นภัยของคนที่ไม่มีธรรม เห็นภัยของคนทุกข์ขนาดนั้นนะ นี่พระอัสสชิท่านก็ธุดงค์ของท่านไป ไปเจอพระสารีบุตร พระสารีบุตรเห็นการเคลื่อนการไหวนี่มันมองออกนะ คนที่มีปัญญาเขามองของเขาออกว่าสิ่งนี้มันแปลกโลก นี่ตามไป เห็นไหม ตามไปขอถามธรรมะเพราะอยากจะพ้นทุกข์เหมือนกัน

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ย้อนกลับไปทำที่เหตุนั้น เห็นไหม มันมีเหตุมีผลของมัน.. “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเราจะทำสมาธิมันก็ต้องมีเหตุนี้มา นี่เราจะมีปัญญามันก็ต้องมีเหตุให้เกิดปัญญา แล้วปัญญานี่มันจะเผาไหม้อะไร

ถ้าเราทำสมาธิ เราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม เขาว่าสิ่งนี้มันเป็นปัญญาๆ สิ่งนี้มันเป็นโลกียะหมด มันเป็นแค่ปัญญาอบรมสมาธิไง เพราะมันไม่ได้เผาไหม้อะไรไง มันไม่ได้เผาไหม้ ไม่ได้ทำลายกิเลส มันไม่ใช่ตบะธรรม เราทำความสงบของใจขึ้นมานี่ต้องการตบะธรรม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

พระสารีบุตรฟังแล้วเป็นพระโสดาบันเลย เพราะมันซึ้งใจไง เหตุ.. เหตุคืออะไรล่ะ แล้วเหตุหยาบ เหตุละเอียดล่ะ นี่เหตุของเราเหตุทางโลกไง เหตุเพราะเรามีร่างกาย เหตุเพราะเรามีจิตใจเราเลยทุกข์ แล้วไม่บอกว่าจิตใจนี้มันอยู่บนอะไร ใครครอบงำมันอยู่ แล้วใครสงวนรักษามันอยู่ ใครขี่คอมันอยู่ แล้วก็บอกว่า โลกนี้มีเพราะมีเรา.. ถ้าไม่มีเราแล้วก็ฆ่าตัวตายกันหมดเลย มันจะได้ไม่มี...

มันฆ่าตัวตายมันไม่ได้ฆ่าจิตนะ ทำร้ายตัวเอง ทำทุกๆ อย่างนี่ ดูสิแม้แต่ความคิดผิดมันยังทำลายตนเลย ไอ้นี่ขนาดความเห็นผิดจนทำร้ายตัวเอง บอกว่านี่เพราะมีเราๆ แล้วฆ่ากิเลสได้ไหมล่ะ แล้วทำลายตัวเองแล้วมันทำลายใครล่ะ มันยิ่งเกิดโทษนะ เกิดโทษในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ฆ่าคนอื่นเป็นโทษอย่างหนึ่ง ฆ่าตัวเองมีโทษมากกว่าฆ่าคนอื่น”

เพราะตัวเองมีคุณค่าไง นี่เพราะความเห็นผิด เพราะอะไร เพราะกิเลสมันฆ่า กิเลสมันทำลาย มันถึงมีโทษมากกว่าฆ่าคนอื่นนะ ! นี่แล้วมันฆ่าตัวเองเพราะอะไรล่ะ เพราะเห็นว่า.. เวลาฆ่าตัวเองนี่ฆ่าตัวเองเพราะโลกนี้มีเพราะมีเราไง โลกนี้มีเพราะมีเรา ทำลายเราแล้วโลกมันไม่มี.. แล้วมันมีไหมล่ะ เอ็งตายไปแล้วนี่กิเลสมันหัวเราะเยาะด้วย แหม.. ตายแล้วนะ อยู่ในอำนาจของเรานะ ไอ้จิตดวงนี้มันโง่มากเลยนะ หลอกแค่นี้มันก็เชื่อ

นี่ไง นี่กิเลสมันออกแบบ ! กิเลสมันออกแบบธรรมะมา โลกนี้มีเพราะมีเรา ทำลายเราซะโลกนี้ก็ไม่มี แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติพุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่มีเรากับโลกเท่านั้นล่ะ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันทิ้งโลกหมดเลย มันกลับมาที่ใจ เงียบ ว่างหมดเลย.. นี่สักแต่ว่ารู้ สนิทหมดเลย นี่ทำไมมันไม่รับรู้โลกล่ะ

มันไม่ใช่ไม่รับรู้โลกอย่างเดียวนะ มันปล่อยโลกมาแล้วไม่พอ มันปล่อยร่างกายด้วย เวลาจิตเข้าอัปปนาสมาธินี่มันดับหมด แม้แต่ร่างกายก็ไม่รับรู้ แต่ถ้าเป็นอุปจาระนี่มันรู้ ถ้าเป็นขณิกะก็รู้ นี่จิตสงบแล้วมันก็ยังรู้ว่าร่างกายมีอยู่ ทุกอย่างมีอยู่ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธต่อไปนะ ถ้ามันเข้าถึงอัปปนาสมาธินะมันทิ้งร่างกายหมดเลย ทั้งๆ ที่มันอยู่ในร่างกายเรานี่แหละ ทั้งๆ ที่จิตมันอยู่กับเรานี่แหละ แต่เวลามันสงบตัวเข้าไปนะมันปล่อยหมดเลย อย่าว่าแต่ปล่อยโลก !

นี่ว่าโลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีเรามันถึงได้ทุกข์ไง แค่ทำสมาธิมันยังรู้เลยว่ามันปล่อยโลกมาแล้ว พอปล่อยโลกมาแล้วมันยังปล่อยตัวมันด้วย พอปล่อยตัวมันด้วยแล้วเป็นอะไรล่ะ ก็เป็นสมาธิไง ไม่ได้ฆ่ากิเลสเลย...

นี่ไง นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา.. แต่ถ้ามีสมาธิ เพราะมีสมาธิ เพราะจิตนี้มันสงบมันถึงไม่คิดเรื่องโลกๆ เวลามันใช้ปัญญา ปัญญานี่ถ้ามันจะเกิดเอง ถ้าเป็นสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเอง ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว ! เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบสได้สมาบัติ ๘ นี่สมาบัติ ๘ เชียวนะ.. อาฬารดาบสบอก “เธอมีความรู้เสมอเรา สอนเหมือนเราได้” พระพุทธเจ้าไม่เชื่อเลย เห็นไหม

นี่จิตมันสงบขนาดไหน สงบก็คือสงบ มันไม่ได้ใช้ปัญญา แล้วปัญญาที่มันจะเกิดมันเกิดมาอย่างไรล่ะ ปัญญานี่เขาว่าสติปัฏฐาน ๔ นะ นี่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม.. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน.. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน.. เป็นสติปัฏฐาน ๔... ไอ้พุทโธ พุทโธมันโง่เง่า

พระพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้วนะ ธรรมจักรก็บอกไว้แล้ว พระพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว.. ความถูกต้อง ! ความถูกต้อง ศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีล สมาธิก็คือมรรค ๘ มรรค ๘ รวมลงนั้นคือศีล สมาธิ ปัญญา..

แล้วมาถึงก็.. ข้าวสารไม่เอา จะเอาข้าวสุกเลย โลกนี้มีแต่ข้าวสุกข้าวสารไม่มี อ้าว.. เขาพูดของเขาอย่างนั้นนะ เขาออกแบบของเขาเอง เขาบอกข้าวสารไม่จำเป็น มีข้าวสุกอยู่ในหม้อตลอดไป.. มันเป็นไปได้ไหมล่ะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ! ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นความจริงมันต้องเป็นความจริง ถ้าเราไม่ทำความเป็นจริงเราจะไม่ได้ความจริง

ฉะนั้นถ้าจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม ถ้าจิตสงบ เวลาออกไง.. จิตสงบเวลาออกรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นี่ไงมันถึงไม่มีกิเลสขี่คอมาด้วย มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้.. แต่นี้เราเอาความโลกๆ มือของเรานี่เลอะไปด้วยขี้ ! ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง แล้วก็จะเปิบข้าวสุกใส่ปากกินทั้งขี้ด้วยไง

กินข้าวพร้อมกับขี้ ! เพราะมือเราเลอะขี้ แล้วก็เปิบข้าวใส่ปาก บอกว่านี่ข้าวบริสุทธิ์ ข้าวนี้มีคุณภาพมาก นี่ไง แต่ถ้าเราล้างมือ ล้างมือแล้วเปิบข้าวใส่ปาก.. นี่ไงล้างมือคือทำสมาธิ ทำสัมมาสมาธิ เพราะความขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงมันอยู่ที่มือนี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงมันอยู่ที่ใจนี้ เพราะขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงมันเป็นขี้ ! แล้วก็เอาขี้นี้กินกับข้าว เอามือเปิบข้าว “สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม..” เอาขี้ไปจับมัน ! แล้วก็เอาข้าวใส่ปากพร้อมขี้ ! แล้วบอกสติปัฏฐาน ๔

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ออกแบบไว้ เห็นไหม “ทเวเม ภิกขเว” ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ.. มัชฌิมาปฏิปทา ทำให้สะอาด ล้างมือก่อน ! ล้างมือก่อน พอมือมันสะอาดแล้ว.. ล้างมือแล้วจิตมันสงบแล้ว นี่กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม มือที่สะอาดแล้วนี่เราเปิบได้ สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ ! ปัญญาเกิดตรงนี้ !

ถ้าปัญญามันเกิดตรงนี้ขึ้นมา อาโลโก อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ นี่มันจะเกิดสมาธิมันจะเกิดปัญญา มันจะเกิดของมัน แล้วเกิดอย่างไร.. นี่เวลาออกปัญญา เห็นไหม เวลาออกปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น

ฉะนั้นสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แต่ไม่มีสมาธิมันเลอะไปด้วยขี้ นี่มันเปิบ มันกินข้าวพร้อมกับขี้ ! แต่ถ้ามีสมาธิคือมันล้างมือแล้ว มันกินข้าวพร้อมกับข้าว แล้วข้าวหอมหวาน หอมหวานเพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกุตตธรรม มันเป็นธรรมเหนือโลก

มันไม่ใช่ความคิดที่ว่าพิจารณากาย พิจารณา.. ไม่มี ! พิจารณากายนั่นน่ะวิปัสสนึก ! นึกกันเอาเอง พิจารณากันเอาเอง แล้วนึกเสร็จแล้วนะมันไม่มีผล พอไม่มีผลนะก็ว่ากึ่งพุทธกาลไม่มีพระอรหันต์.. กึ่งพุทธกาลแล้วไม่มี.. การปฏิบัตินี้ทุกข์ยากมาก การปฏิบัติ การบรรลุธรรมนี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเกินไป เราปฏิบัติกันเพื่อสร้างบารมีกัน.. นี่เพราะออกแบบกันมา ! ออกแบบมาเริ่มต้นนี่มันผิดมา แล้วพอผลมันไม่เกิดขึ้น ออกแบบมาก็ผิด ปฏิบัติอยู่ก็ผิด แล้วพอถึงที่สุดแล้วบอกว่ามันไม่มีมรรคไม่มีผล.. ก็มันผิดมาตั้งแต่ต้น !

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติมาท่านรู้จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จริง แล้วออกแบบธรรมไว้ตามความเป็นจริง แต่พวกเรานี่ปฏิบัติกัน ออกแบบกันด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านรู้ของท่านจริงตามความเป็นจริง แล้วท่านสอนพวกเรา กรรมฐานสอนกรรมฐาน นี่ต้องมีความสงบของใจเข้ามา แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ปัญญามันจะเกิด.. ถ้าปัญญามันเกิด มันจะเกิดต้องจิตสงบก่อน ถ้าจิตสงบก่อนคือมันล้างขี้ก่อน ล้างมือก่อน ล้างมือให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อน ล้างจิตใจ จิตใจมันมีทิฐิมานะ จิตใจมันมีความรู้ความเห็น จิตใจมันจะก๊อบปี้ จิตใจมันจะเอาความสำเร็จตามแต่ใจของมัน พอทำความสงบของใจแล้วนะสงบจนมันคิดไม่เป็น ถ้าสงบมันคิดเป็นนะมันก็เกิดปัญญาเอง

สมาธิเกิดปัญญาเองไม่ได้ เพราะสมาธิก็คือสมาธิ จิตใจของคน ดูสิเด็กเรานี่ไม่มีการศึกษา แล้วพอโตขึ้นมาบอกให้มันทำงานนี่มันจะทำงานอะไร เด็กเรานี่ เด็กเราไม่มีการศึกษาไม่มีทางวิชาการมันไม่มีความรู้สิ่งใด ให้มันทำงานโดยอัตโนมัติมันทำได้ไหม.. สมาธินี่มันเป็นสมาธิ มันก็เหมือนเด็ก มันไม่มีปัญญา แล้วมันจะทำงานอย่างไรล่ะ มันจะออกไปทำงานอย่างไร ในเมื่อมันไม่มีการศึกษามันจะทำงานอย่างไร

นี่ไงมันต้องฝึกมัน แต่ฝึกมัน ฝึกด้วยสิ่งนี้ ในเมื่อมันสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม มันสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์มาจากขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงมันถึงเป็นสัมมาสมาธิได้ พอเป็นสัมมาสมาธิได้แล้วออกฝึกงาน ออกฝึกงานให้มันรู้มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน เพราะมันไม่มีกิเลสขี่คอมันแล้ว มันไม่เลอะขี้มาแล้ว ฉะนั้นถ้ามันออกฝึกงานนั่นล่ะมันเป็นโลกุตตระ

นี่โลกุตตรธรรม ! กับโลกียะ.. โลกียะเพราะมันเลอะขี้ เพราะกิเลสมันขี่คอ แต่พอเวลาทำความสงบใจแล้วนี่มันพ้นจากขี้ มันพ้นจากขี้เป็นสัมมาสมาธินะไม่ใช่มรรคไม่ใช่ผล ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าฝึกหัดออกไป.. ฝึกหัดออกไป เห็นไหม

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์นี่ไง เพราะปัญจวัคคีย์นี่พ้นจากขี้ เพราะล้างมือมา ๖ ปี นี่เวลาออกไปมันก็ได้ผล

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ! อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ !”

เพราะว่าสิ่งที่เป็นธรรมะนี้มันเหนือโลก มันเหนือความคาดความหมาย นี่แล้วใครจะรู้ได้กับเรา ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ห่วงว่าใครจะทำได้ แต่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ เห็นไหม นี่ด้วยความปลื้มใจ ด้วยความสุขใจ

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ! สงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นแล้วหนอ !”

พระรัตนตรัยสมบูรณ์แล้ว มีพระพุทธองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มีรัตนะสอง มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรม “แล้วจะสอนใครได้หนอ จะสอนได้ใครหนอ..” เพราะมันเหนือ มันเหนือกว่าโลก โลกจินตนาการไม่ได้ โลกทำอะไรไม่ได้ แต่พระปัญจวัคคีย์ได้สร้างบุญญาธิการมา พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา ก็ได้สร้างบุญญาธิการมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร เห็นไหม เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมากเพราะมีพยาน มีคนรู้คนเห็น มีคนทำได้

นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบมาโดยความสะอาดบริสุทธิ์ ถูกต้องดีงาม เราทำของเราขึ้นมานี่เราทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม เราไม่ได้ทำด้วยธรรมะออกแบบโดยที่พวก ๑๘ มงกุฎมันออกแบบกัน พวก ๑๘ มงกุฎมันออกแบบกัน มันก็ออกแบบกันด้วยความลัดความสั้น ความสะดวกความสบาย ความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว ความฉ้อฉล !

แต่เราทำของเรานะให้ย้อนกลับมาเรื่องชีวิตของเรา ให้ย้อนกลับมาเพื่อประโยชน์กับเรา.. ประโยชน์กับเรานะ ชีวิตของเรา ครูบาอาจารย์ท่านทำชีวิตของท่าน ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระที่ประเสริฐ นี่พ่อแม่ครูจารย์ท่านห่วง ท่านดูแล ท่านปรารถนา ท่านเป็นยิ่งกว่าพ่อแม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เขาออกแบบด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาไม่ได้ห่วง เขาเห็นว่าเราเป็นเหยื่อ เขาเห็นเราเป็นฐาน เป็นบาทเป็นฐานให้เขาเหยียบขึ้นไป เป็นบาทเป็นฐานให้เขาหาผลประโยชน์ แต่เราต่างหากเสียโอกาส เสียโอกาสเพราะเราปฏิบัติโดยธรรมะที่เขาออกแบบกันโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแบบไว้แล้ว แล้วออกแบบด้วยผู้รู้จริง ด้วยความเป็นจริง แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านก็รู้จริงของท่าน ท่านปฏิบัติของท่าน แล้วท่านสอนเรา ท่านเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาพ่อแม่ของเรา เห็นไหม จะสอนลูกก็ไม่ให้ลูกรู้เท่ารู้ทัน เพราะกลัวลูกมันจะเอารัดเอาเปรียบ กลัวลูกจะเป็นความเคยชิน จะสอนลูกก็ต้องทำเสียงดัง จะต้องมีอุบาย จะต้องกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู

อาจารย์ของเราก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เราไปยึดติด แล้วท่านบอกว่าอันนี้ผิด เราจะยึดมากขึ้น เราจะมีทิฐิมานะมากขึ้น กิเลสมันจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าท่านใช้อุบายของท่านให้ลองผิดลองถูก นี่เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ของเรา.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ ครูบาอาจารย์ของเราก็ต้องลองผิดลองถูกมา ความผิดความถูกนั่นน่ะ อันนั้นล่ะ

เวลาครูบาอาจารย์เราสอนก็สอนจากประสบการณ์ของจิตนี่แหละ จิตมันล้มลุกคลุกคลาน จิตเวลามันเสื่อมนี่หัวชนฝาเลย ทุกข์มาก่อน.. พ่อแม่เรานะ เวลาทุกข์ยากมานะไม่อยากให้ลูกเราทุกข์เลย แต่ถ้าเราไม่สอนไม่ฝึกมัน มันไม่มีวิชาการ มันไม่มีความรู้จริงนี่มันจะดำรงชีวิตได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันไม่ชำระกิเลสของมัน มันจะดำรงตัวมันได้อย่างไร เพราะกิเลสก็จะขี่หัวมันไป เห็นไหม นี่ความเห็นของครูบาอาจารย์ ลึกซึ้งละเอียดกว่าพ่อแม่ของเราอีก แต่เราจะหาคนจริงอย่างนั้นได้ที่ไหน เราถึงต้องมีหลักมีเกณฑ์

มันอยู่ที่อำนาจวาสนา มันเป็นสายบุญสายกรรมนะ ถ้าสร้างบุญสร้างกรรมมา ฟังแล้วมันมีเหตุมีผล ถ้าไม่สร้างบุญสร้างกรรมมานะ ฟังแล้วนะมันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เวลาไปฟังเรื่องไร้สาระมันกลับเห็นคุณค่าไง เพราะวุฒิภาวะของใจ..อ่อนด้อย วุฒิภาวะของใจนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ สร้างบุญสร้างกรรมมาอย่างนั้น แต่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ แล้วเรามีความปรารถนา เรามีความปรารถนานะ ยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ไม่มีอะไรสายเกินไป ถ้ายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำไมถึงหายใจเข้าและหายใจออกล่ะ เพราะมันมีจิต เพราะมันยังมีชีวิตอยู่

ลมนะ ถ้าลมพายุนี่มันพัดแรงกว่านี้อีก แต่ลมมันไม่มีประโยชน์กับใคร มันเป็นประโยชน์กับธรรมชาติ มันได้เอาเกสรดอกไม้ มันได้พัดฝุ่นไป มันได้สร้างสมดุลทางธรรมชาติ อันนั้นมันเป็นเรื่องของลม แต่ลมหายใจของเรานี่มันมีจิต ถ้าเรามีจิตเราไม่ระลึกรู้ มันก็หายใจทิ้งเปล่าๆ

จิตก็คือจิต ลมหายใจก็คือลมหายใจ เพราะลมหายใจนี่มันเป็นออกซิเจนเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นเอง แต่ถ้าเรามีจิต เห็นไหม มันมีลมหายใจอยู่แล้ว แล้วจิตมันเกาะเกาะลมหายใจ.. ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เรามีสตินั่นล่ะจิตมันแสดงตัวแล้ว จิตมันเป็นจิตขึ้นมาโดยสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ถ้าเราอยู่โดยชีวิตประจำวัน จิตมันอยู่กับเราแต่มันไม่แสดงตัว มันแสดงแต่ความคิด แสดงแต่อารมณ์ แสดงแต่ความทุกข์ยาก แสดงแต่ความทุกข์ความลำบากในหัวใจ นี้มันเป็นธรรมชาติของมัน

เราถึงจะต้องมีสติ ไม่มีอะไรสายเกินไป ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้ เราทำได้ ทำแล้วผลการปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ในพระไตรปิฎก.. ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรามีความมุมานะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคา ! เอวัง