เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ ก.พ. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมเนาะ ตั้งใจฟังธรรม แล้วเวลาฟังทางโลกล่ะ เวลาเราคุยกันในบ้านเป็นธรรมไหม เวลาเราคุยกันในบ้านนะถ้ามันมีเกร็ด มันเป็นสิ่งที่เตือนใจนี่เป็นธรรม ธรรมะคือเตือนสติไงให้เรารำลึกถึงชีวิต

ชีวิตนี่มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้ถึงที่สุดแล้วมันต้องพลัดพรากไป พลัดพรากไปนี่ทางวิทยาศาสตร์ว่าจบนะ คนเราเกิดมาดีตามเอ็นเอ ตามพันธุกรรม นี่พูดถึงวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แค่นี้

แต่พุทธศาสนาเวลาสอน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจะตรัสรู้ธรรม เวลาเกิดที่สวนลุมพินีว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

คำว่าชาติสุดท้ายท่านเพิ่งเกิดนะ ท่านยังไม่ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่บุญญาบารมี เห็นไหม นี่เวลาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะรักษาไว้ เพราะพราหมณ์พยากรณ์ว่า “ถ้าได้อยู่เป็นกษัตริย์จะได้เป็นจักรพรรดิ”

สมัยโบราณเป็นแว่นแคว้น ถ้าใครได้รวมเป็นประเทศชาติขึ้นมา เป็นเขตแดนขึ้นมาจะมีศักยภาพมาก เห็นไหม พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะรักษาไว้ด้วยการบำรุงบำเรอ แต่พอเวลาเกิดที่สวนลุมพินีว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

คำว่าชาติสุดท้ายขณะนั้นยังไม่ได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเรานี่แหละ แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมี เห็นไหม นี่มีจุดยืน มีการคัดเลือก มีการคัดเฟ้นว่าสิ่งใดดีและสิ่งใดไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในบ้านของเราเวลาคุยกันเป็นธรรมไหม ถ้าเป็นการที่พ่อแม่สั่งสอน เป็นการเตือนสติ เป็นการพูดสิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม ใครพูดธรรมก็ได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใครพูดก็ได้ สิ่งที่พูดขึ้นมาสิ่งนี้เป็นธรรม

แต่เวลาฟังธรรมขึ้นมา ฟังธรรมจริงๆ ขึ้นมานี้มันมาจากไหนล่ะ ธรรมนี้มาจากใจ.. เวลาเราฟังธรรมกัน เราพูดกันเป็นธรรมะนี่จิตใจของเราคิดสิ่งที่ดี จิตใจเราคิดสิ่งที่ไม่ดี จิตใจเราคิดถึงสิ่งที่เราเตือนว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม แต่ในหัวใจของเรามันเป็นธรรมจริงหรือเปล่า

นี้เวลาฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เห็นไหม สิ่งที่เป็นธรรมเวลาพูดออกมาด้วยอารมณ์ความรุนแรง เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการหลวงตาท่านบอกว่า “เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ เวลาอยู่ถึงกำแพงวัดยังได้ยินเสียงแว่วๆ เลยนะ ได้ยินเสียงเลยแต่จับใจความไม่ได้” นี่กำลังของมันไง กำลังของมัน เวลาเราบอกว่าเวลาแสดงธรรม เป็นธรรมะที่รุนแรง ธรรมะที่เป็นความเข้มข้น สิ่งนั้นเป็นธรรมหรือเปล่า

เรามองด้วยกิริยานี้มันเป็นอารมณ์ความรุนแรง แต่ถ้าจิตใจเป็นธรรม เห็นไหม จิตใจของครูบาอาจารย์ จิตใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะผู้คนว่ามีเมตตามาก แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กับพระนาคิตะ แล้วลูกศิษย์พระสารีบุตรมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาถึงนี่กำลังจัดที่นอนกัน จัดที่อยู่อาศัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่กุฏินะว่า

“เสียงใครนั้นเหมือนชาวประมงเขาหาปลากัน เสียงรบกวนรุนแรงนั้นเป็นเสียงใคร”

พระนาคิตะบอกว่า “เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไล่มันไป ! ไล่มันไป !”

พอไล่ไปเพราะเสียงดัง พระจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ส่งเสียงดังในวัด นี่ท่านบอกว่า “ให้ไล่ออกไป !”

เวลาไล่ออกไปแล้วตกเย็นเทวดามาเลย เห็นไหม พระพุทธเจ้ามีพุทธกิจ ๕ เทวดาบอกว่า “ภิกษุผู้บวชใหม่ เขาไม่รู้เรื่องรู้ราว เขาไม่รู้ความ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไล่ออกไปอย่างนี้เขาจะไม่ได้ประโยชน์” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้ไปตามกลับมา พอตามกลับมาแล้วเทศนาว่าการ สำเร็จเป็นพระอรหันต์มากมายเลย

เราเข้าใจกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเมตตามาก.. ใช่ มีเมตตามาก ก็เมตตาเหมือนพ่อแม่เรานี่แหละ ถ้าเมตตาเหมือนพ่อแม่เรา เวลาลูกเราทำผิด ลูกเรามีความผิดพลาดพ่อแม่จะสั่งสอนไหม พ่อแม่จะเอ็ดไหม.. เหมือนกัน ! แต่ในความรู้สึกเราว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดุไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่กล่าวติเตียนใคร.. ไม่กล่าวติเตียนใคร แต่ไล่พระออกจากวัดเลย

แต่นี้ในความรู้สึกของเรา เห็นไหม นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเข้มข้นก็เข้มข้นด้วยคุณธรรม เพราะใจของท่านเป็นธรรม พูดมาสิ่งใดก็เป็นความปรารถนาดี นี่พูดถึงฟังธรรมไง สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เราจะได้ยินได้ฟังสิ่งนั้น สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ตอกย้ำไป ตอกย้ำไป พอตอกย้ำไปมันจะไปแก้ไขความลังเลสงสัยของเรา แก้ไขความเห็นผิดของเรา ถึงที่สุดแล้วการฟังธรรมนี่จิตใจจะผ่องแผ้ว

การผ่องแผ้ว เห็นไหม เพราะอะไร เพราะความลังเลสงสัย ความไม่เข้าใจของเรานั่นแหละมันทำให้เราขุ่นมัว สิ่งที่ขุ่นมัวขุ่นมัวมาจากอะไรล่ะ เวลามันฟุ้งซ่าน มันมีความวิตกกังวลในหัวใจนี่มันเกิดมาลอยๆ เหรอ มันมีเหตุของมันนะ.. ดูสิ เวลาความคิดของเรา เห็นไหม ความคิดว่าความถูกความผิดพลาดความต่างๆ นี้เป็นความคิดนะ ความคิดนี่มันมีแรงเสริมไง แรงเสริมจากอวิชชา

ความคิดของคน.. เราคิดเหมือนกันนี่แหละ ความคิดเริ่มต้นนะ ดูสิเวลาเราศึกษาธรรมะหรือเราเรียนหนังสือมา หนังสือเล่มเดียวกันนี่แหละ เวลาคิดออกไปแล้วทำไมมันคิดแตกแขนงออกไปล่ะ ทำไมความคิดของคนมันแตกต่างกันไป ทั้งๆ ที่เริ่มต้นมาจากประเด็นเดียวกันเนี่ย ประเด็นเดียวกันทำไมความคิดของคนมันแตกต่างกันไป มันแตกต่างกันไปเพราะมันเป็นอวิชชาความไม่รู้ เห็นไหม ความไม่รู้ก็จินตนาการ มันก็มีตัณหา มีความต้องการ มีความให้เป็นไปจากความคิดของเรา

นี่ความคิดมันเป็นขันธ์.. รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เป็นสื่อ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีนี่แหละ แต่เวลามันมีอวิชชา จิตมันมีอวิชชา จิตมันมีตัณหาความทะยานอยากของมัน มันอาศัยสื่อนี่แหละ สื่อให้ผิดก็ได้ สื่อให้ถูกก็ได้ ถ้าสื่อให้ถูก ถ้าจิตมันเป็นธรรมมันสื่ออย่างไรก็ถูก.. จิตที่เป็นธรรมนี่เป็นจิตที่ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก พูดอย่างไรก็ถูก พูดให้ผิดมันก็ถูก

พ่อแม่นี่เวลาเราโกรธ เราเอ็ดลูกเรานี่มันก็ถูก ถูกเพราะต้องการให้ลูกเป็นคนดี นี่พูดผิดอย่างไรมันก็ถูกถ้าใจเป็นธรรมนะ ดูสิ เวลาพ่อแม่นี่ด้วยความรักที่บริสุทธิ์เราสอนลูกของเรา แต่ถ้าใจไม่เป็นธรรม ถ้าเวลาคนอื่น คนที่เขามีผลประโยชน์ซับซ้อนในใจของเขา เวลาเขาพูดด้วยเล่ห์ด้วยกลเขาไม่รักหรอก เขาไม่ใช่สายเลือด เขาไม่ใช่พ่อแม่ เขาไม่ใช่มีเมตตาธรรม เขาหวังผลประโยชน์ของเขา เขาซับซ้อนของเขา แต่เขาก็พูดเหมือนกันนั่นล่ะ

นี่ไงมันแตกต่างกันตรงนี้ไง นี่การฟังธรรม เห็นไหม สิ่งที่ได้ยินได้ฟังธรรมนี้แสนยาก สมัยพุทธกาลนะ การได้ยินได้ฟังธรรมนี้แสนยาก แต่พอเวลาเราคุยกัน นี่สื่อความหมายกันมันคุยกันทุกวันเลย มันมีโดยธรรมชาติของมัน แต่การฟังธรรมนี้แสนยาก แสนยากเพราะอะไร เพราะใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ แล้วสมัยโบราณฟังจากปากทั้งนั้นเพราะมันไม่มีสื่อ นี่ฟังจากปาก ฉะนั้นการได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องแสนยาก

แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาในพุทธศาสนา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เห็นไหม การฟังธรรมเราก็ฟังเตือนใจของเรา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญานะ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีคุณธรรมมาก เพราะศาสนาพุทธไม่บังคับนะ ไม่บังคับให้คนเชื่อ แต่เวลาใครมีความเชื่อในพุทธศาสนาแล้วต้องบังคับตัวเองด้วยศีล.. ศีลคือความปกติของใจ เราเห็นคุณงามความดี เรามีเป้าหมายว่านี่เราต้องการเป็นคนดี เราต้องการพ้นจากทุกข์ เราต้องการมีความสุขในหัวใจ

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้นั้น”

ผู้ใดที่มีศีล ๕ เราปฏิบัติโดยมีศีลของเรา เราไม่เบียดเบียนใคร เรารักษาตัวเราเอง นี่เป็นคนดีใครๆ เขาก็คุ้มครองดูแลทั้งนั้นแหละ เว้นไว้แต่กรรม เช่น เราเดินทาง ทำไมคนมันประสบอุบัติเหตุล่ะ อุบัติเหตุนั่นล่ะคือกรรม นี่ทำไมมันต้องมาประสบอุบัติเหตุกับเราล่ะ เวลามันประสบอุบัติเหตุขึ้นมาแล้ว นี้มันกรรมสิ่งใด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การกระทำมาเป็นอสงไขยๆ นี่สร้างบุญญาธิการมา การเกิดของจิตทุกๆ ดวง ของเรามันก็เกิดเป็นอสงไขยๆ แต่มันไม่สืบทอดต่อกัน เห็นไหม เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวเลว นี่มันขัดแย้งกัน มันตัดตอนกัน แต่เวลาเป็นพระโพธิสัตว์แล้วจะทำคุณงามความดีอย่างเดียว พันธุกรรมทางจิตมันได้ตัดแต่งพฤติกรรมของมัน มันได้อบรมของมัน มันสร้างสมบารมีของมัน เห็นไหม

นี่เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ เวลาพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วด้วยนะยิ่งทำความดีอย่างเดียวเลย ทำความดีนะเป็นพระโพธิสัตว์ จะเป็นหัวหน้าสัตว์ จะเสียสละชีวิต จะเสียสละเพื่อหมู่คณะ จะเสียสละมาตลอด.. เสียสละอย่างนี้พันธุกรรมอย่างนี้มันตัดแต่งมาตัดแต่งมา มันทำขึ้นมาจนถึงชาติสุดท้าย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่สวนลุมพินี

“เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

เราเน้นย้ำคำนี้ เพราะคำว่าเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายก็ปุถุชนนี่แหละ เด็กเพิ่งเกิดน่ะจะเป็นพระพุทธเจ้าที่ไหน.. ยังไม่ได้เป็น ทำไมกล้าพูดอย่างนั้น ! ทำไมกล้าพูดอย่างนั้น ! ทำไมกล้าพูดอย่างนั้น

เพราะมันได้ตัดแต่งมา มันพร้อมมา เห็นไหม ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่ได้เป็น แต่ด้วยความพร้อมอันนี้มันปฏิญาณเลยว่าเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แล้วจนอายุ ๒๙ ถึงได้ออกบวช จนถึงสุดท้ายแล้วประพฤติปฏิบัติอยู่อีก ๖ ปี พอเวลาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นล่ะชาติสุดท้ายเพราะกิเลสมันตาย

สิ่งที่กิเลสมันตายนี่พันธุกรรมทางจิตมันตัดแต่งของมันมา ทำของเขามา ทีนี้ของเราล่ะ ของเราก็เหมือนกัน.. จิตเหมือนจิต ! จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับจิตพวกเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาย้อนบุพเพนิวาสานุสติญาณไปไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด เห็นไหม

จิตเราก็เหมือนกันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดมายาวไกลนัก แล้วไม่มีวันที่สิ้นสุด ผลของวัฏฏะ เวลามันหมุนไปตามวัฏฏะ เห็นไหม เกิดตายๆ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าเวลาเกิดมาก็เป็นมนุษย์ ตายแล้วก็สูญ นี่พิสูจน์ได้แค่นี้ไง แต่เวลาทำนะ เวลาใครจิตสงบ ฤๅษีชีไพร นี่กาลเทวิลเขายังระลึกอดีตชาติของเขาได้เลย เขาระลึกอดีตชาติที่แล้วได้ ระลึกสิ่งที่มีมาได้

ฉะนั้นใจของเรา เวลาคำว่าตัดตอน.. ตัดตอนหมายถึงว่าความดีความชั่วนี่มันตัดกัน มันไม่สืบต่อไง แต่เวลาถ้าเราทำคุณงามความดีของเรามามาก ความคิดความเห็นของเรา เห็นไหม ดูสิ เวลาความคิดของเราที่มันคิดพฤติกรรมแปลกๆ ถ้าเรามีสติคิดอย่างนี้ได้อย่างไร ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหรอ.. ถ้ามีสติมันยับยั้ง ถ้าบารมีดี พันธุกรรมมันดี ความคิดที่มันออกนอกลู่นอกทางมันมีสติยับยั้งตั้งแต่แรกเลย

ถ้ามีสติยับยั้งตั้งแต่แรก ถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะฝืนขนาดไหนเราต้องฝืน มันฝืนเพราะอะไร เพราะตัณหานี่มันต้องการตามอำนาจของมัน มันไม่มีเหตุไม่มีผล.. กิเลสไม่มีเหตุไม่มีผล ธรรมะมีเหตุมีผล แต่เพราะเรามีธรรมะ เรามีสติปัญญา เหตุผลปัญญาของเราจะไปต่อรองกับกิเลสของเรา ต่อรองกับความรู้สึกของเรา

อย่างนี้ผิด อย่างนี้ผิด อย่างนี้ผิด อย่างนี้ให้ผลเป็นโทษๆ จะทำไหม ! ทำไหม.. มันต่อรองอย่างนี้ มันต่อรองอย่างนี้ มันทำให้ใจเราดีขึ้นๆ ถ้าเรามีธรรมขึ้นมาในหัวใจนี่มันจะต่อรองกัน มันต้องฝืน หัดฝืนๆ ขึ้นมา นี่พันธุกรรมมันได้ตัดแต่งแล้ว จิตนี้มันได้ตัดแต่ง มันสร้างบารมีของมัน เห็นไหม มันสร้างของมันขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างขึ้นไปเรื่อยๆ

ถึงที่สุดเวลาทำสมาธิมันก็เป็นสมาธิได้ดี เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาไม่ใช่ปัญญาการจำอย่างนี้ ปัญญาการจำ ปัญญาที่เรากำลังคิดอยู่นี่มันแก้กิเลสไม่ได้ ถ้าปัญญาที่เราคิดอยู่นี้ว่าเราจะฝืนมัน นี่เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดจากกิเลส ปัญญาที่เกิดจากภพ

ถ้าเกิดจากภพนี่โลกียปัญญา อย่างคุณภาพของมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันมีสติปัญญามันยับยั้งได้มันก็เป็นความสงบร่มเย็น เวลามันสงบร่มเย็นนี่มันเป็นเนื้อของใจแล้ว มันเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ เข้าไปสู่ถึงจิต เวลาจิตนี่อวิชชามันอยู่ที่นั่น ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นอนุสัย มันมากับจิต พอมากับจิตเวลาภาวนามยปัญญาขึ้นมามันจะไปฟอกตัวนี้ มันเกิดเป็นภาวนามยปัญญา

โลกียปัญญา ปัญญาจากโลก ปัญญาจากกิเลส ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าก็ไปศึกษาโดยกิเลส ศึกษาด้วยความเห็นของเรา ศึกษาด้วยมุมมองของเรา ศึกษาด้วยความชอบของเรา แต่เวลาพิจารณาเข้าไปแล้ว พอมันสงบเข้าไปแล้วมันเป็นเนื้อของจิต มันเป็นภวาสวะ มันเป็นภพ แล้วเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ปัญญาเข้าไปฟอกขึ้นมา นี่มันถึงแตกต่าง.. ความแตกต่างภาวนามยปัญญากับโลกียปัญญา ปัญญาโลกกับปัญญาธรรมแตกต่างกัน !

การฟังธรรม เห็นไหม เวลาฟังธรรมขึ้นมาธรรมนี้มันจะเข้าไปถึงเรา มันจะเตือนเราไปเรื่อยๆ ถ้าใครฟังธรรม จิตใจผ่องแผ้ว นี่มันแก้ความลังเลสงสัย เราสงสัยไหมว่าทำไมเดี๋ยวคิดดีคิดชั่ว เราสงสัยไหมว่าทำไมเรายับยั้งตัวเราไม่ได้ เราสงสัยไหมว่าทำไมคนเราเกิดแล้วมันต้องตาย แล้วตายแล้วมันไปไหน เราสงสัยไหม มีความสงสัยไปหมดแหละ ความสงสัยนี่เป็นตัวกระตุ้นให้มันฟุ้งซ่านขึ้นมา ให้มันมีแรงขับของมัน ยิ่งสงสัยนะ ยิ่งคิดมากยิ่งไปมาก แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธจนสงบเข้ามา..

เขาบอกว่า “สงบไม่มีปัญญา สงบไม่มีดีเลย”

ถ้าไม่สงบกิเลสทั้งนั้น ! คิดขนาดไหน อย่างมากเป็นปัญญาอบรมสมาธิ อย่างมากหมายถึงว่ามันสงบตัวได้เท่านั้นเอง แต่ถ้ามีภาวนามยปัญญาขึ้นมาจากจิตสงบขึ้นมามันจะพลิกแพลงของมัน มันจะแก้ไขของมัน มันเป็นมรรคญาณ

เวลาพระอรหันต์ ๕ องค์ที่เวลาคุยกันว่าสิ่งใดดีที่สุดแล้วตกลงกันไม่ได้ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“อาสวักขยญาณดีที่สุด ! อาสวักขยญาณทำให้พวกเธอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา”

จบเลยนะ เพราะเป็นจริตเป็นนิสัย.. พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ว่าฤทธิ์ดี ปัญญาดี วินัยดี กติกาดี นี่ก็ว่ากันไป ดีเพราะเป็นจริตนิสัย ดีเพราะเป็นพันธุกรรม ดีเพราะได้สร้างสมอย่างนั้นมา

แต่ถ้าไม่มีการชำระกิเลส ความดีอย่างนั้นดีเดี๋ยวก็เลว มันเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เหมือนกับเวลาเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม ถ้าบอกว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แต่ยังไม่ได้ชำระกิเลสมันจะชาติสุดท้ายไหมล่ะ

มันจะดีต่อเมื่ออาสวักขยญาณได้ฟอกใจแล้ว ทำใจนั้นให้สะอาดบริสุทธิ์แล้วเป็นธรรมธาตุ ถ้าฟอกใจแล้วจิตพระอรหันต์เป็นอย่างไร จิตพระอรหันต์ไม่มี เพราะที่ไหนมีจิตที่นั่นมีภพ.. ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายทุกอย่างหมด แล้วมีอย่างใด ! มีอย่างใด ! ที่มีอยู่นี่มีอย่างใด

นี่พูดถึงฟังธรรม แล้วผู้ใดจะรู้จริงรู้ได้ต่อเมื่อถึงที่สุด แล้วไม่ต้องไปเถียงกับใครเพราะเรารู้ของเราเอง เราเข้าใจของเราเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี้คือสัจธรรม นี้คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ชำระกิเลสของเรา สอนเรา สอนบุคคลคนนั้น

เพราะบุคคลรวมกันเป็นสังคม สังคมคือกระแสสังคมเราไปแก้อะไรไม่ได้หรอก เราบอกเขาได้ กระแสสังคม เห็นไหม กระแสสังคมมันรุนแรง แต่ถ้าจิตใจเรามั่นคงแล้วเราอยู่กับสังคมด้วยความไม่เป็นทุกข์ เอวัง