เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ก.พ. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีคุณค่ามาก มีคุณค่ามากจริงๆ แต่เพราะเราได้สถานะของมนุษย์แล้วเราถึงหลงไปข้างนอกไง เหมือนกับเรามีสถานะของชีวิต เราถึงจะมีทรัพย์สมบัติตามมา ถ้าเราไม่มีชีวิต ไม่มีต่างๆ ทรัพย์สมบัติมันก็เป็นแร่ธาตุเฉยๆ ฉะนั้น เราได้สมบัติความเป็นมนุษย์มาสำคัญที่สุด

ทีนี้ความเป็นมนุษย์มามันมีหัวใจด้วย แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา มีคุณค่ามาก คุณค่าคือเป็นอริยทรัพย์ แต่เรามองกันไม่เห็นไง เรามองแต่ทรัพย์ภายนอก เห็นไหม คนเราถ้ามีสมบัติพัสถาน คนนั้นจะมีบุญกุศล

หลวงตาพูดบ่อย “มีมากมีน้อยมันก็ทุกข์อยู่บนกองเงินกองทองนั่นแหละ”

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไปอยู่บนตึกสูงขนาดไหนก็ไปร้องโอดโอยบนนั้นแหละ แต่ถ้าเรารักษาใจของเราได้ เราอยู่โคนไม้เราก็มีความสุข อยู่ที่ไหนก็มีความสุข

“ถ้าอย่างนั้นศาสนานี้สอนไม่ให้โลกเจริญเลยหรือ โลกนี้ต้องมีการแข่งขัน ศาสนานี้สอนให้ปล่อยวาง ศาสนาสอนให้คนขี้เกียจหรือ”

เข้าใจผิดหมดเลย ถ้าศาสนาสอนให้คนเข้าใจผิด ทำไมมันมีความเพียรชอบ ความวิริยอุตสาหะชอบ ความเพียรชอบ ชอบที่ไหน ความเพียรชอบ เห็นไหม ดูสิ คนเรานะ ทรัพย์สมบัติมันเอาที่ไหนเป็นที่เก็บ แต่คุณงามความดีของใจมันเอาอะไรเก็บ ปัญญาของคนมันมีมากขนาดไหนมันก็อยู่ในสมอง มันอยู่ในตัวเรา มันไม่ไประรานใครหรอก แต่ทรัพย์สมบัติมันต้องไปฝากคนนู้น ซ่อนเร้นไว้ที่นี้ ไปหมกไว้ที่นั่น สมบัติมันต้องทำอย่างนั้นนะ

แต่เรื่องคุณงามความดีมันมหาศาลมาก พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ขี้เกียจนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ขยันหมั่นเพียร แต่ขยันแบบธรรมไง เวลาทำบุญกุศล เห็นไหม ทิ้งเหวๆ ทิ้งเหวหมายถึงว่าเราไม่ยึดติดอย่างนั้น

ดูสิ สมัยพุทธกาลนะ มีพระองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์ด้วย แปลกมาก เวลาเขาใส่บาตร ถ้าไปข้างหน้าเขาก็ไม่เห็น ไปข้างหลังก็หมดเสียก่อน จนร่ำลือนะว่าพระองค์นี้กินข้าวไม่เคยอิ่ม ลองคิดดูสิ ชาติหนึ่งเราเกิดมาเราไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย เราไม่รู้จักคำว่าอิ่ม เราทุกข์ไหม แต่เขาประพฤติปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์นะ แล้วร่ำลือไปใช่ไหม จนพระสารีบุตรได้ยินข่าว พระสารีบุตรไปถามความจริงก่อน

บอกว่า “เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

พระสารีบุตรถึงบอกว่า “อย่างนั้นวันนี้ให้ฉันให้เต็มที่เลยนะ” พระสารีบุตรบิณฑบาตกลับมาแล้วจับบาตรไว้ จับบาตรไว้คือบารมีของพระสารีบุตร วันนั้นพระองค์นั้นได้ฉันอิ่มมื้อเดียว พอฉันอิ่มมื้อเดียวก็ตายเลย คืนนั้นนิพพานเลย

ไปดูประวัติสิ ประวัติอดีตชาติ แม้แต่เขาเป็นเศรษฐีนะ เวลาข้าวสารตกไปเม็ดหนึ่ง มดมันมาขนไป เขาเอาจอบไปขุดเอาเม็ดข้าวนั้นคืนมา บอกว่า “ของกู ไม่ให้” เพราะการทำอย่างนั้น เวลามันมาเกิดเป็นชาตินี้มันถึงเป็นอย่างนั้น คำว่าเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงว่ามันมีเวรมีกรรม คำว่า “เวรกรรม” พันธุกรรมทางจิตมันตัดแต่งของมันมา

ศาสนานี้มีคุณค่ามาก ศาสนานี้หลวงตาเปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า เด็กมันเข้าไปมันก็เอาลูกอมกลับบ้าน มันพอใจมันแล้ว เวลาเราเข้าไปเราจะเอาเพชรนิลจินดา เวลาคนเข้าไปนะ เวลาคนที่มีศักยภาพจะเข้าไปเอาสมบัติสินค้าที่มหาศาล

ในพระพุทธศาสนาสอน เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ถ้าทำไม่ได้ก็ให้เสียสละไปก่อน การที่เสียสละมันฝึกใจไปโดยอัตโนมัติ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่น เราทุกข์เรายากขึ้นมา สมบัติเราหามาทุกข์ยากทั้งนั้นแหละ แล้วจะเสียสละออกไป ทำไมเราต้องเสียสละล่ะ ถ้าเสียสละโดยวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เขาบอกเราเป็นผู้เสียเปรียบ เพราะเราเป็นผู้เสียสละ เราเป็นผู้ที่ของหลุดจากมือไป คนรับมันได้เปรียบ

คนรับนะ กินพลังงานของเรา ใช้พลังงานของเรา ใช้สมบัติของเรา นี่บุญกุศลไง เขาอาศัยสมบัติของเราเพื่อดำรงชีวิต สิ่งที่เราเสียสละออกไปมันดัดแปลงใจของเรา เห็นไหม “ทาน”

“ศีล” ศีลคือความปกติของใจ แล้วการภาวนา ดูสิ เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลบังคับหมดเลย แต่เวลาธุดงควัตรนะ ฉันมื้อเดียว ฉันภาชนะเดียว ฉันอาสนะเดียว อาสนะเดียวคือหนเดียว ภาชนะเดียวคือบาตรใบเดียว ฉันหนเดียว ภาชนะเดียว ถือผ้า ๓ ผืน อยู่ในที่โล่งที่แจ้ง ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส นี่ไง เครื่องขัดเกลากิเลส ศีลในศีลไง

เวลาศีลนี่บังคับนะ แต่เวลาธุดงควัตรนี้ไม่บังคับ เห็นไหม เนสัชชิก ถือไม่นอนตลอดไป แต่เวลาสิ่งนี้เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ วางธรรมวินัยไว้เพื่อจริตนิสัยของมนุษย์ มนุษย์ทุกๆ คนมีความเห็นแตกต่างกัน แต่เวลาเทวทัตเอาข้ออย่างนี้ไปอ้างพระพุทธเจ้าบอกว่า “ต่อไปนี้พระต้องบิณฑบาตหมด พระต้องอยู่โคนไม้หมด ให้ถือธุดงค์หมดเลย แล้วต้องอยู่อย่างนั้นตลอดไป” นี่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตเพราะอะไร

เราจะบอกว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์เวลาสอนมันมีหนักมีเบานะ คนคนนี้ควรทำรุนแรง คนคนนี้ควรทำพอสมควร คนคนนี้ยังไม่ได้อะไรเลย ก็ให้ทำทานไปก่อน ทำทานไปก่อน เพราะคนนี้ถ้าบอกว่าให้ทำอย่างนั้น วิ่งหนีหมดเลย โอ๋ย! ศาสนาพุทธนี้อัตตกิลมถานุโยค บังคับให้ลำบากไปหมดเลย

แต่ถ้าเราเห็นผล เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคนคนนี้เขาเริ่มต้นขึ้นมาก็ให้เขาก่อน เวลาเราบอกว่าเราอดนอนผ่อนอาหาร พระเขาคัดค้าน เขาบอกว่าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีคฤหัสถ์คนหนึ่งไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้กินข้าวก่อน ให้กินข้าว ให้ร่มเย็นเป็นสุข แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะเทศนาว่าการ เขาถึงบอกว่าต้องกินอิ่มนอนอุ่นก่อน ธรรมะมาทีหลัง ถ้ากินอิ่มนอนอุ่นก่อนแล้วธรรมะถึงจะมา

แต่ของเรา ถ้าจิตใจคนที่เขาทุกข์ยากมา ต้องกินอิ่มนอนอุ่นก่อน มาแล้วเราไปปฏิสันถารต้อนรับเขา ให้จิตใจเขาเปิดก่อน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการอนุปุพพิกถา เรื่องของทาน เรื่องของสวรรค์ เรื่องของเนกขัมมะ พอจิตใจเขาควรแก่การงานแล้วถึงเทศน์อริยสัจ

แต่ถ้าคนที่เทศน์อริยสัจ อย่างคนเรา เห็นไหม พาหิยะเขาคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เพราะขึ้นมาจากทะเล นี่เพราะทำบุญกุศลไว้ เพื่อนเก่าบอกว่า “เธอไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตอยู่นะ ไปขอฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราบิณฑบาตอยู่ เราบิณฑบาตอยู่” เห็นไหม เขาขอฟังเทศน์เลย คนแบบนี้ก็มี คนที่เขาพร้อม เขาฟังเทศน์หนเดียวเขาเป็นพระอรหันต์เลย ถ้าเขาฟังเทศน์หนเดียวเป็นพระอรหันต์ เพราะจิตใจเขาพร้อมมา เห็นไหม

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ ท่านจะเปิดกว้าง หลวงปู่มั่นไม่เคยบังคับใครเลย ทุกคนแล้วแต่สิทธิ์

หลวงตาท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าพระองค์ไหนภาวนาเป็น พระองค์ไหนมีหลักนะ ท่านจะจี้เลย “จิตเป็นอย่างไร เริ่มต้นเป็นอย่างไร ต่อเนื่องเป็นอย่างไร” แต่พระองค์ไหนภาวนาไม่เป็นท่านก็ให้อยู่เป็นหมู่คณะ เพราะให้เขาสร้างบารมีของเขา

คนที่ทำงานไม่เป็นมา ถามว่าเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร ก็กลับบ้านน่ะสิ เพราะมันอายไง เราคนทำงานไม่เป็น ทำงานไม่ได้ อย่างไรก็ไม่ได้ ถ้าอย่างไรก็ไม่ได้จะให้มันได้ก็ฆ่ามันทิ้งสิ ก็มันไม่ได้น่ะ แต่ถ้ามันไม่ได้ เราจะดูแลกันเพื่อให้เขาพัฒนาของเขาขึ้นมา ให้เขามีโอกาสของเขาขึ้นมา

มันไม่มีหรอก สูตรสำเร็จไม่มี สูตรสำเร็จไม่มี มันต้องมีพัฒนาการของมัน

ทีนี้การพัฒนาการของมัน มันได้พัฒนาการอย่างไรของจิต เห็นไหม

ถึงว่า ทาน ศีล ภาวนา เริ่มต้น ทาน ถ้าเราไม่ได้ เราก็เสียสละของเรา เราทำของเราเพื่อบุญกุศลของเรา ถ้าจิตมันเริ่มปกติขึ้นมามันจะเห็นคุณค่าของมันเอง เวลาเห็นคุณค่าของมันเอง เห็นไหม ทำไมเราเสียสละกัน เวลาคนทุกข์คนยาก เขาทุกข์ยากเพราะไม่มีจะกิน เวลาพระเรานะ บิณฑบาตมาถือธุดงค์ อะไรดีมาไม่กิน อะไรดีมา ใจอยากกิน ไม่กิน กินที่มึงไม่อยาก นี่ดัดแปลงกัน

เวลาคนมีสติเขาทำกันอย่างนี้ อะไรที่กินแล้ว มันเคยกินแล้วมันพอใจ ไม่กิน กินที่มึงไม่อยากกิน ให้มึงกิน นี่คือการแก้กิเลสไง ถ้าเรามีสติมีปัญญาอย่างนี้ เราคุมตัวเราได้แล้ว เราแก้กิเลสเราได้แล้ว เราแก้ของเราไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เห็นไหม

แต่ถ้าเราไม่แก้ของเรานะ มี ๑ มี ๒ มี ๓ ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ แล้วพอกินเสร็จแล้วนะ อาหารเป็นสัปปายะ ไปก็นั่งสัปหงกโงกง่วง นั่งหัวทิ่มหัวตำเลย แล้วทำไมไม่ย้อนกลับมาว่าธาตุของเรามันเข้มแข็งแค่ไหน

เวลาเราถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วธุงควัตร ๑๓ ข้อ ไม่ใช่ศีล มันลึกกว่าศีล เพราะพระพุทธเจ้าไม่ปรับอาบัติ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าใครเห็นคุณงามความดี หลวงปู่มั่นท่านพาทำ

หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าไปเยี่ยมวัดไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่ถือธุดงค์นะ ท่านพูดเลย “เราจะไม่มาเหยียบวัดนี้อีกเลย”

ลูกศิษย์ของท่านเวลาเข้าพรรษาต้องถือธุดงค์หมดเลย ถือธุดงค์เพราะอะไร เพราะมันขัดเกลาไง “ถ้าไม่ทำ จะไม่มาเหยียบวัดนี้เลย” แล้วเราก็รักครูบาอาจารย์ใช่ไหม เราก็ต้องทำ ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำก็ต้องทำ

แต่หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าไม่ทำ ต่อไปมันจะมีแต่ตัวอักษร มันจะมีอยู่แต่ในตำรา แต่คนไม่เคยพาทำ แล้วก็ทำผิดทำถูกกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันมีอยู่ในตำรา แต่เราทำกัน เราทำแล้วมันก็ดูแบบดูอย่าง ดูตามกันไป ข้อวัตรปฏิบัติจะส่งต่อๆ กันมา ส่งต่อๆ กันมา”

“ธุดงควัตร” ถ้าเราเข้มแข็ง เราจะถือธุดงค์ตลอดไปก็ได้ แต่ถ้าบางข้อ เห็นไหม อย่างเช่นอยู่ในที่โล่งแจ้ง พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตพระเทวทัตเพราะอะไร เพราะมันเป็นหน้าฝน มันไม่ได้ เวลาจำพรรษานะ ต้องอยู่ในเรือนว่าง เวลาจำพรรษาใน ๓ เดือน ห้ามจำพรรษาในโพรงไม้ ห้ามจำพรรษาในตุ่ม

อ้าว! แล้วบอกว่าไม่มีหรือ

มีนะ คนทำมี สมัยก่อนเวลาถือธุดงควัตร ภิกษุเอากะโหลกศีรษะของมนุษย์ไปเป็นบาตร ไปบิณฑบาตแล้วชาวบ้านก็ตกใจ พอชาวบ้านตกใจ พระพุทธเจ้าก็ห้าม ห้ามทุกอย่าง ห้ามจนเหลือแต่บาตรเหล็กกับบาตรดิน นอกนั้นห้ามหมด

ถ้าไม่ห้ามเรื่องบาตรนะ จะมีพระดังๆ มีบาตรทองคำ นี่พระพุทธเจ้าห้ามไว้หมดแล้ว บาตรใช้ได้เฉพาะบาตรเหล็กกับบาตรดินเท่านั้น เพราะว่าพระแผลงมาตลอด พระทำมาตลอด พระพุทธเจ้าห้ามมาตลอด

ทีนี้การห้ามอย่างนั้นห้ามเพื่อ...ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา นี้พูดถึงว่าความกว้างขวางของธรรมนะ

หลวงตาบอกว่า ขั้นของสมาธิ นี่น้ำเต็มแก้ว ขั้นของสมาธิ ทุกคนทำความสงบของใจแล้วกลับมาสู่ที่ใจ ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ถ้ามีขอบเขต มีขอบเขตแค่ไหนกิเลสมันจะไปหลบซ่อนนอกขอบเขตนั้นแหละ แล้วเราไม่มีทางสามารถแก้กิเลสได้ นี่เวลากิเลสนะ

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความคิดความดำริในใจของเรามันคิดจินตนาการไปร้อยแปด แล้วปัญญาเราก็อยู่ในตุ่มในไห กิเลสมันก็ไปอยู่นอกขอบเขตนั้นมันก็ขี่คอเราตลอด

ปัญญามันไม่มีขอบเขต ปัญญาชำระล้างได้ถึงที่สุด ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตเลย

แล้วปัญญาเราจะใช้อย่างไร ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาอย่างไร

เวลาภาวนาไปมันมีขอบเขตของมัน ความว่างของพระโสดาบันมันมีระดับไหน ความว่างของพระโสดาบันกับความว่างของสกิทาคามีมันแตกต่างกันอย่างไร ความว่างของสกิทาคามีกับอนาคามีแตกต่างกันอย่างไร ความว่างของพระอรหันต์มันเป็นอย่างใด

ถ้าพูดผิดมันก็คือไม่รู้ไง ถ้าพูดผิดมันก็คือไม่รู้ของมัน ถ้ามันรู้ของมัน มันจะรู้ของมัน แล้วพูดออกมารู้หมดแหละ ผู้รู้เขามี เขาจับได้ เขารู้ได้ นี่ไง พูดถึงถ้ารู้ได้ รู้ได้อย่างไร

ถ้ารู้ได้ปั๊บ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบรรลุธรรมนะ ท่านบอก “โอ้โฮ! จะสอนได้อย่างไร” แต่สุดท้ายแล้ว มันมาได้อย่างไร? มาด้วยข้อวัตรปฏิบัติ มาได้กับปฏิปทา เครื่องปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติทำให้ใจมา

ทีนี้ข้อวัตรปฏิบัติมันมาอย่างไร มันเดินทางมาอย่างไร ใช้ยานพาหนะอะไรมา มาทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ มาอย่างไร บอกมา! บอกมา!

เขาบอกว่า “อ้าว! ก็มันว่างๆ ก็มันว่างๆ”

นี่บอกไม่ได้ พอบอกไม่ได้ก็ไปเอาสูตรสำเร็จมา แล้วก็บังคับกัน ทำตามนั้น ทำให้ครบสูตร แล้วก็ทำอย่างไรต่อไป ก็ว่างๆ...นี่พูดถึงถ้าผู้ไม่เป็นทำแล้วมันก็เสียหายกันไปหมด

แต่ถ้าผู้เป็นนะ เหมือนหมอ เขาเจ็บไข้ได้ป่วยมากน้อยแตกต่างกัน ไม่ใช่ใครมาก็ทายาแดงๆ ไอ้หมออีกคนมาถึงก็ผ่าตัดๆๆ ก็ไม่สบาย จะผ่าตัดอะไร นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้ามันไม่เป็นมันใช้ผิดอย่างนั้นล่ะ แต่ถ้ามันใช้ถูกนะ รักษาตามอาการ เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็รักษาตามอาการ

แล้วคนมันไม่เหมือนกัน จิตก็ไม่เหมือนกัน กิเลสก็ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ไม่เคยเหมือนกันเลย เอตทัคคะ ๘๐ องค์ กี่องค์ก็ไม่เหมือนกัน พิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน มันจะมีมรรคญาณ มีอริยสัจของใจดวงนั้น แล้วทำการฆ่ากิเลสเฉพาะใจดวงนั้นเท่านั้น จะไปฆ่ากิเลสของคนอื่นไม่ได้

ในกิเลสของเรา เราก็ต้องฆ่าของเรา เราต้องทำศีล สมาธิ ปัญญาของเรา คนอื่นทำแทนเราไม่ได้ เราจะไปทำแทนใครก็ไม่ได้ เราจะไปหาครูบาอาจารย์ให้ช่วยทำแทนให้เราก็ไม่ได้ ไม่มีทั้งนั้น! เราต้องทำของเราเอง ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาอย่างนี้มันถึงจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงหลักศาสนามันกว้างขวางมาก กว้างขวางจนไม่มีขอบเขตนะ ถ้าขั้นของปัญญา แต่เริ่มต้นมีขอบเขต ศีล สมาธิ ปัญญา ขอบเขตของศีลคือความปกติของใจ ถ้าปัญญา ปัญญามันพัฒนาจากสุตมยปัญญา ทุกคนต้องผ่านจากสุตมยปัญญาคือจำมาก่อน แล้วค่อยมาจินตนาการ จินตนาการที่เป็นสมาธิรองรับ มันจินตนาการเพริศแพร้วมาก

แต่ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่! ไม่ใช่! เป็นสัจจะ เป็นอริยสัจจะ แล้วมันจะทำลายกิเลสของมัน กิเลสของใจดวงนั้น แล้วพอเรารู้จริงขึ้นมาแล้วนะ เราจะรู้เลยว่าใครโกหกและไม่โกหก เอวัง