ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญหาพื้นฐาน

๑๓ ก.พ. ๒๕๕๓

 

ปัญหาพื้นฐานของจิตในการปฏิบัติสมาธิ
ตามแนวสมถกรรมฐาน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาฝากถามปัญหามา อันที่หนึ่งหลายวันแล้วล่ะเราไม่อยู่…

ถาม : กระผมได้ภาวนาระยะหนึ่งครับ แต่ก่อนนี้เวลานั่งจะเริ่มจากพุทโธเลย แต่มาระยะหลังสังเกตตัวเองว่า ถ้าเริ่มจากพุทโธพร้อมตามลมหายใจเข้าออกไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยทิ้งลมหายใจไปอยู่ที่คำบริกรรม จะมีความรู้สึกว่าจิตนิ่งได้ดีกว่า จึงเริ่มยึดแนวทางนี้ การภาวนาของกระผมบางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดีครับ แต่ช่วงที่ดีจะมีความรู้สึกว่าคำภาวนามันเร็วขึ้น ๆ และทุกครั้งที่การภาวนาเป็นอย่างนี้ตัวจะสั่นมาก จะรู้ตัวและพยายามบังคับกลับไปที่พุทโธ แต่ก็ยังสั่นอยู่ครับ ช่วงระหว่างนี้จิตจะนึกว่าให้เกาะพุทโธไว้และบังคับอาการสั่น อาการสั่นก็หยุด แต่สักพักพอเร่งคำภาวนาก็สั่นอีก จนทำให้ผมหยุดนั่งสมาธิ

ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อในเว็บไซต์ เข้าใจว่าเป็นอาการแผ่นเสียงตกร่องใช่ไหมครับ เพราะผมสังเกตว่าทุกครั้งจะเป็นเมื่อนั่งสมาธิไปได้เวลาใกล้เคียงกันครับประมาณ ๔๐ นาที ไม่ทราบว่า แนวทางปฏิบัติของผมถูกต้องหรือเปล่าครับ ควรแก้ไขอย่างไร กระผมจะพยายามปฏิบัติต่อไปและจะหาเวลาไปปฏิบัติที่วัดครับ

หลวงพ่อ : ข้อ ๑. นะ เวลาที่นั่งไปแล้วมันสั่นเห็นไหม มันสั่นมันต่าง ๆ นี่อาการพื้นฐานหมดนะ อันนี้ปัญหามันขัดแย้งกัน ที่แรกอันนี้ว่าจะเอาไว้ตอบที่หลัง แต่ปัญหามันมาแล้วมันจะเห็นความแตกต่าง

อันนี้คือปัญหาเวลานั่งไปแล้วมันแผ่นเสียงตกร่องจริง ๆ เดี๋ยวจะอธิบายแผ่นเสียงตกร่องเห็นไหม เวลามีอะไรเกิดขึ้น ตัวสั่น ตัวใหญ่ ตัวพอง ตัวต่าง ๆ หรือตกจากที่สูง หรือ มีอาการต่าง ๆ นี่อาการตัวสั่นแล้วเป็นบ่อยที่แผ่นเสียงตกร่อง แล้วจะหาว่าว่าทำไมถึงตกร่อง อันนี้มันเป็นแผ่นเสียงตกร่องเหมือนกัน แต่มันตกร่องในทางตรงข้าม

ถาม : ผมนั่งสมาธิดูลมหายใจและภาวนาพุทโธปฏิบัติมานาน คือ นานแบบทำเป็นพัก ๆ ๆ แต่ทำมาตั้งแต่วัยรุ่น ตอนนี้ ๓๕ ปีแล้วครับ มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งสมาธิดูลมแล้วภาวนาไปตามปกติ นั่งไปได้ประมาณไม่เกิน ๕ นาที อยู่ ๆเสียงรถราที่ผมได้ยินก็หายไป หายไปแบบดับสนิท เหมือนหูดับไปเลย แล้วความรู้สึกของกายก็เหมือนลอยอยู่ในที่มืดเคว้งคว้างความรู้สึกนี้เกิดขึ้นไม่กี่วินาที เพราะผมรู้สึกตกใจผมลืมตาออกจากสมาธิ อาการแบบนี้คืออะไรครับ

หลวงพ่อ: เห็นไหมอันหนึ่งพอนั่งไปแล้วมันจะเกิดมีอาการ เห็นไหม ตัวสั่นต่าง ๆ นี่คืออาการพื้นฐาน อาการแผ่นเสียงตกร่อง

ข้อ ๒. นั่งมานานแล้วนั่งพุทโธไปเรื่อย ๆ ดูลมไปเรื่อย ๆ แต่ถึงวันหนึ่งนั่งไปไม่ถึง ๕นาที อยู่ ๆ เสียงดับหมดทุกอย่างดับหมด นี่มันตรงข้ามเห็นไหม อันหนึ่งตกร่องในทางที่ว่าเราไม่พอใจ อันหนึ่งไปในทางที่ดี ถ้าอย่างนี้มันเป็นผลขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ คือเราไม่รู้วิธีการบังคับแต่จิตมันลงได้ พอจิตมาลงได้เราไม่รู้ว่ามันลงอย่างไร แล้วพอลงไปแล้วก็ตกใจอีก มันตกใจของมันเห็นไหม เสียงนี้ดับหมด กายหายไปอยู่ในความมืดที่เคว้งคว้างความรู้สึกนี้เกิดขึ้นไม่กี่วินาที เพราะผมรู้สึกตกใจเลยลืมตา

มันไม่มีเหตุผลตอบนะเวลามันลง มันก็ไม่มีเหตุผลของมันใช่ไหม แต่อันนี้มันไม่มีปัญหาเพราะถ้ารู้ว่ามันเป็นความจริงแล้วอยากได้อีก แต่มาเริ่มต้นอันนี้ เริ่มต้นอันแรกก่อน แต่ทุกครั้ง เห็นไหม แต่ช่วงที่มีความรู้สึกพุทโธเร็วขึ้น ทุกครั้งมีการภาวนาเป็นอย่างนี้ตัวจะสั่นมาก ก็รู้สึกตัวและพยายามบังคับกลับไปที่พุทโธตัวก็ยังสั่นอยู่ ช่วงเวลานี้จิตจะนึกให้เกาะพุทโธเห็นไหม พยายามนึกจะช่วยเหลือตัวเอง เพราะว่าโดยพื้นฐานของคน เช่น เราจมน้ำหรือเราตกลงไปในน้ำ เราก็พยายามกระเสือกกระสนเพื่อจะเอาตัวเราให้พ้นจากการจมน้ำ ระหว่างที่จิตนี้นึกว่าให้เกาะพุทโธไว้และบังคับอาการสั่น อาการสั่นก็หยุด สักพักพอเร่งคำภาวนาก็สั่นอีกจนต้องออกจากสมาธิ

เห็นไหม พอเร่งสักพักก็สั่นอีกตรงนี้เราจะย้อนกลับมาถึงอำนาจวาสนาของคน บอกว่ามันเป็นพื้นฐาน มันเป็นปัญหาของพื้นฐานนะ พื้นฐานของมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ พื้นฐานของจิตมันเป็นอย่างนี้ การปฏิบัติเราคิดว่าทุกคนอยากปฏิบัติให้ดีขึ้นทั้งนั้น ทุกคนต้องการทำความดี ทุกคนบอกปฏิบัติแล้ว ทุกคนทำความดีแล้ว ทุกอย่างอย่าน้อยใจนะ ทำความดีไม่ต้องน้อยใจเลย ความดีแล้วไม่มีใครส่งเสริมเลย ทำความดีแล้วสังคมไม่เห็นยอมรับเลย แหม.. ทำอยู่ตั้งนานไม่มีความดีเลยเห็นไหม

เพราะทำความดีปั๊บเราก็ต้องความดีต้องมีคนรับรู้กับเรา ๆ เป็นความดี แต่มันไม่คิดไง มันคิดในมุมกลับ ๆ ของคน บางคนความรู้สึกหนา ความรู้สึกเบาบาง ความรู้สึกของคนมันแตกต่างกัน พอความรู้สึกของคนมันแตกต่างกัน พอความรู้สึกของคนมันแตกต่างกัน พอไปเห็นอารมณ์บางเรื่อง บางคนมีความกระทบรุนแรงมาก บางคนเห็นเรื่องเป็นปกตินะ บางคนจิตใจอ่อนไหว บางคนต่าง ๆ สิ่งนี้มันเป็นเพราะเหตุใด นี่พื้นฐานของจิตมันมีของมันมาอย่างนี้ ถ้าพื้นฐานของจิตมันมีมาแตกต่างหลากหลายใช่ไหม เวลาประพฤติปฏิบัติพื้นฐานของจิตเรานี้จะเป็นตัวฟ้องตรงนี้ไง สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นพื้นฐานของจิตแต่ละดวงที่จะเป็นไปนี่แหละ นี้พื้นฐานของจิตมันไม่เหมือนกัน พื้นฐานของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำบริกรรมมันหลักตายตัวใช่ไหม

เหมือนรถเนี่ย ดูสิ ทดเกียร์.. เขาเรียกเกียร์ ๑ ๒ ๓ ๔ เกียร์เขาทดมาพอดีของเขาอยู่แล้ว แต่ดูสิรถเก่า ๆ เวลาเข้าเกียร์มันออกรถได้ไหม ยิ่งเครื่องนะสภาพของเครื่องมันชำรุดมาก เข้าเกียร์เนี่ยเครื่องดับเลย เครื่องหมายถึงกำลังไง เกียร์หมายถึงเขาทดไว้ของเขาสมบูรณ์แบบแล้วใช่ไหม เกียร์ ๑ ๒ ๓ ๔ เขาทดไว้ของเขาดีอยู่แล้ว เครื่องรถรุ่นนี้อย่างนี้มันใช้เกียร์เหมือนกันรุ่นเดียวกัน เราจะบอกว่าคำบริกรรมพุทโธ อริยสัจ สัจจะความจริง มันเป็นเหมือนเกียร์รถนี่ไง สัจจะความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่งใช่ไหม แต่เครื่องยนต์มันมีกำลังพอไหมที่จะมาทดเกียร์นี้เพื่อใช้กำลังของมัน เพื่อจะให้เอากำลังของรถเคลื่อนที่ไป

จิตก็เหมือนกัน จิตเห็นไหมดูสิความรับรู้ของเราอารมณ์อ่อนไหว อารมณ์เข้มแข็ง อารมณ์ต่าง ๆ เหมือนกำลังเครื่อง ลูกสูบดี ทุกอย่างดี ๆ ดีหมดเลยนะ กำลังเครื่องดีหมด เกียร์ ๑ ๒ ๓ เกียร์ ๔ ยังออกตัวได้เลย ถ้าเครื่องกำลังดี ๆ นะเกียร์ ๔ ก็ยังออกตัวได้เลย แต่ออกตัวตามปกติเขาก็ออกรถเกียร์ ๑ กันนี่แหละ ถ้าจิตใจมันเข้มแข็ง ๆ เวลาที่เรานั่งพุทโธ ๆ ไป หรือคำบริกรรมต่าง ๆ ไป อาการที่เกิดขึ้นมันจะไม่เกิดสภาวะแบบนี้ แต่สภาวะแบบนี้เห็นไหม ดูสิเครื่องยนต์ของเราไม่มีกำลังเลย ใส่เกียร์ ๑ นะ เลียครัชอย่างดีเลย ออกหน่อยกระตุกปุ๊บดับเลย นี่ไงพุทโธ ๆ ๆ ไปทำไมมันวูบหายไปล่ะ พุทโธ ๆ ๆ ๆ ไม่เห็นมันได้เรื่องอะไรเลยล่ะ

นี่มันเป็นปัญหาพื้นฐานนะถ้าปัญหาพื้นฐาน ถ้าครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัตินะ จะรู้ถึงปัญหาอย่างนี้ ถ้ารู้ถึงปัญหาอย่างนี้แล้ว ถ้าเรายังไม่สมควร เรายังไม่เข้มแข็งเห็นไหม เราเสียสละ เราทำทานของเรา เราเปิดใจของเรา เราถึงบอกพุทธศาสนาเถรวาทเรามันเป็น ๓ เส้า ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม ๓ เส้า นี้เราตั้งหม้อบนเตามันไม่เอียงหรอก ทานไม่จำเป็นนะ.. มหายานเขาก็บอกว่าทำทานไม่ได้ให้ปฏิบัติเลย ปฏิบัติเลย ดูสิ ๒ เส้า ดียังไม่แขวนหม้อไว้นะ แขวนหม้อไว้เดี๋ยวมันตกเลย นี่มันลอยไปเลยไง แต่นี้มัน ๒ เส้าเห็นไหม ปฏิบัติเลย นี่ ศีล แล้ว ภาวนาเลย แล้วมันจะอยู่ได้อย่างไร ไม่เห็นระบบของทาน แต่ระบบของทานมาดูสิ

เวลาครูบาอาจารย์บอกพระพุทธเจ้าเกิดมาจากไหน เกิดมาจากทาน พอเกิดมาจากทาน มันฝึกใช่ไหม การเสียสละ การฝึกนิสัยของเรา พอฝึกนิสัยของเราจิตมันมีพื้นฐานของมัน เนี่ยพื้นฐานของมัน มันเสียสละจนมั่นคงของมัน พอเจออะไรกระทบ เราทำของเรา ๆ มั่นใจของเราอยู่แล้ว เรามั่นใจว่ามือของเราไม่มีแผล สิ่งใดที่เกิดขึ้นเราสามารถที่จะเผชิญได้ทั้งนั้น

อาการอะไรที่มันเกิดขึ้นแล้วกระทบนี่ มันเรื่องของสังคม มันเรื่องของโลก เราก็เกิดมากับโลก เราก็อยู่กับเขานี่แหละ นี่เราอยู่กับเขาเราจะมี...ถ้าเราตื่นเต้นไปกับเขาเราก็เป็นปัญหาไปกับเขาใช่ไหม แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเราใช่ไหม จุดยืนของเราเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะแก้ไขสิ่งนี้อย่างไร นี่ถ้าจิตมันเข้มแข็งมันเห็นจากสภาวะสังคม สภาวะต่าง ๆ สิ่งปัญหาที่เกิดขึ้น มันจะมีจุดยืนของมัน ๆ จะมีสติปัญญาแก้ไขไม่ตื่นตระหนกไปกับเขา

แต่ถ้ามันไม่มีสติ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมามันก็เป็นปัญหาของเราด้วย ตื่นเต้นไปกับเขาหมดเลย จิตของเราถ้าเรากำหนดพุทโธ ๆ ๆ ๆ นี่ เราพยายามจะรักษาตัวเราเองนะ เพราะถ้าเราไม่กำหนดพุทโธ ธรรมชาติของความคิดมันแผ่กระจายออกไปทั่ว เราพยายามให้มันเกาะกับพุทโธไว้ก่อน พุทโธ ๆ ๆ ๆ พอพุทโธไปเห็นไหม กำลังของเครื่อง เครื่องยนต์กำลังมันไม่เข้มแข็ง เห็นไหมมันมีอาการ เห็นไหมเวลารถออกตัว ถ้าเราออกตัวไม่ดี เห็นไหมมันจะไหวทั้งหมดเลย บางทีมันสั่นไปทั้งคันเลย นี่ก็เหมือนกันพอมีอาการตัวตรงตัวสั่น

จะบอกว่าวิธีแก้.. ใช่ มันเป็นแผ่นเสียงตกร่องไหม ตกร่อง ๆ เพราะอะไร ตกร่องเพราะกำลังของเครื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่ได้ซ่อมเครื่องของเรา เครื่องของเรากำลังมันไม่พอ เวลาออกรถถ้ารถออกได้นะ ก็ออกได้แบบเฉียดฉิวเลยนะ โอ้โฮ! ประคองมันอย่างดีเลยกว่ามันจะออกตัวไปได้ นี่ก็เหมือนกันกว่าจะลงสมาธิได้ กว่ามันจะเป็นความสุขของเราได้ โอ้โฮ! เหงื่อไหลไคลย้อยนะ แต่ถ้ากำลังเครื่องของเขาดีก็ใส่เกียร์ ๑ นะเขาออกตัวไปได้สะดวกสบายของขาเลย

อันนี้มันวัดกันไม่ได้ มันวัดกันว่าอำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาที่เราสร้างมาไม่เหมือนกัน มนุษย์เหมือนกัน คนเหมือนกันแต่ความคิดหลากหลาย ความคิดบางทีคนมันคิดอะไรจนเราแปลกใจนะว่าเขาคิดกันได้ขนาดนี้เชียวหรือเนี่ย เขาคิดอะไรเราคิดไม่ถึงนะ ว่าคนจะมีความคิดกันอย่างนั้น นี่ความคิดของมันหลากหลายขนาดนั้น แล้วสิ่งทิ่เกิดขึ้นมาอย่างนั้นมันเป็นสิ่งที่เขาสร้างของเขามา ถ้ากลับมาที่ตั้งสติ เราจะบอกว่าถ้ากำลังเครื่องเราอ่อนแอ การแก้แผ่นเสียงตกร่องมันก็ต้องพยายามสร้างฐาน อย่างเช่น พุทโธ

พูดบ่อยเห็นไหม เราขับไปบนถนน ส่วนใหญ่เราไปบนถนนมันจะมีสะพานเห็นไหม เขาทำสะพานคอสะพานเพื่อต่อข้ามสะพานไปถนนอีกฝั่งหนึ่ง มันก็จะเดินทางต่อไปได้ แต่ของเราพอถึงคอสะพาน ๆ มันขาด รถเราวิ่งคอสะพานขาดมันไปได้ไหม มันก็ตกคอสะพานนั้น พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ถึงเวลามันก็ตกคอสะพาน เราเปรียบคำว่า แผ่นเสียงตกร่อง แผ่นเสียงตกร่องคอสะพาน รถวิ่งมามันก็ตกตรงนั้นแหละ นี่พอตกตรงนั้นบ่อยครั้งเข้า ๆ ธรรมดาเราเห็นรถคนอื่นเขาวิ่งไปเขาก็ข้ามไปได้ เอ๊ะ.. เราก็วิ่งเหมือนเขา ทำไมเราไปไม่ได้ เราตกร่องตรงนี้ล่ะ ๆ ไอ้รถโดยทั่วไปมันเป็นวัตถุ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เราเห็นได้ว่ารถมันข้ามสะพานไป ๆ อยู่อีกฝั่งหนึ่ง

ทีนี้ทุก ๆ คันก็วิ่งถนนเส้นเดียวกันใช่ไหม แต่นี้เวลาเราปฏิบัติถนน “เอโกธัมโม ทางอันเอก” ทางของเราจิตของเรา สิ่งต่าง ๆ มันเกิดขึ้นมาจากเรา เวลาเราตกคอสะพานเราตกของเราอยู่คนเดียว ไอ้คนอื่นทำไมมันผ่านไปได้ล่ะ แล้วมันก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมเขาก็ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติ เราปฏิบัติมาก่อนเขาด้วย เราเป็นคนชักชวนเขามาปฏิบัติเอง แต่เดิมเขาไม่เคยปฏิบัติเลย เราไปชวนเขามาทำไมรถเขาวิ่งไปโน้นแล้ว ไอ้เรายังอยู่ข้างหลังเขาอยู่เลยล่ะ มันเสียใจนะ เห็นไหมทั้ง ๆ ที่ผลอันนี้มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากอำนาจวาสนาของเราเอง อำนาจวาสนามันแข่งขันกันไม่ได้ แล้วมันแข่งขันกันไม่ได้ เราก็ดูแลของเราสิ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ปัญหาพื้นฐานไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องไปเสียใจ มันแข่งกันไม่ได้ ทีนี้การแข่งกันไม่ได้เราก็มาสร้างกำลังของเราไง

นี่คอสะพานนั้นเราต้องถมพุทโธ ๆ ๆ ๆ ถมคอสะพานนั้นให้เต็ม พุทโธ ๆ ๆ ๆ เหมือนกับเอาดินถม พุทโธ ๆ ๆ ๆ แล้วอยู่กับพุทโธไว้มันจะเกิดอะไร อาการอย่างไรช่างหัวมัน ๆ นะ เพราะคำว่า “ช่างหัวมัน” มันเป็นการแบบว่า กิเลสมันไม่มีเหตุมีผล เวลาเราคุยเหตุผลกัน แหม! เหตุผลร้อยแปดเลยนะ เพื่อจะแก้กิเลสไง กิเลสไม่ฟังหรอก มันมีเหตุผลดีกว่าด้วย เหตุผลที่เราสร้างมาขนาดนั้นนะ มันทิ่มทีเดียวเหตุผลนั้นล้มเลย นี่คำว่า พุทโธ พุทโธ เราไม่ฟังเหตุผลกิเลสไง

เราไม่ต้องหาเหตุผลทำไมเป็นอย่างนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ไปเนี่ย นี่คือเหตุแล้วล่ะ นี่คือข้อเท็จจริงที่เราจะถมคอสะพานของเรา พุทโธ ๆ ๆ ๆ แล้วรักษา... ถ้าจิตของเราอยู่กับพุทโธเห็นไหม ถ้าจิตของเราอยู่กับพุทโธไม่ออกไปรับรู้อำนาจวาสนา รับรู้สิ่งที่เป็นไป เครื่องยนต์เรากำลังไม่ดี เห็นเขาดูรถไหม ของเขานี่โอ้โฮ! รถของเขากำลังดี รถเขาถอยใหม่ป้ายแดงหมดเลย ไอ้รถของเรานะเครื่องจะพังอยู่แล้วนะ เห็นเขาวิ่งมาแล้วไปนั่งเสียใจ ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร ถมพุทโธ ๆ ๆ ๆ รถเรากำลังไม่ดี เราก็ทำถนนให้มันดี ถนนทำให้มันเรียบร้อย รถเราจะได้ผ่านอันนี้เข้าไปได้

ทีนี้อาการตัวสั่น อาการต่าง ๆ มันพยายามจะดึงความรู้สึกของเราไปอยู่ที่ตัวสั่นนั้น เพราะอาการตัวสั่น อาการต่าง ๆ อาการแผ่นเสียงตกร่อง ประสาเราจะบอกว่าเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ เป็นสิ่งที่เราสร้างมาเป็นจริตนิสัย เช่น โยมทานข้าวกันโยมชอบกินอะไร โยมก็ชอบกินอยู่วันยังค่ำ เราจะเปลี่ยนอาหารมาให้โยมกินโยมชอบไหม โยมก็ไม่ชอบวันยังค่ำ

จิตที่มันได้สร้างบุญสร้างกรรมของมันมา อาการตัวสั่นอาการรับรู้ มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นกรรม มันเป็นสิ่งที่จิตต้องรับรู้ แล้วเราเอาพุทโธ ๆ ๆ ๆ เอาทุกอย่างไปเปลี่ยนแปลงมัน เราเคยชอบกินอาหารอะไรล่ะ อันนี้อาหารกินแล้วอร่อยใช่ไหม แต่จิตมันไปรับรู้อาการสั่น อาการตกใจ มันไม่ใช่ของอร่อยเลย แต่มันก็ชอบ เห็นไหม เราบอกนี่คือเหตุผลแล้ว กำหนดพุทโธ ๆ ๆ ๆ คือเหตุผลแล้ว คือพยายามดึงพลังงาน ดึงกำลังของเครื่องทั้งหมด ให้มันมารวมตัวของมัน แล้วเราพยายามสร้างทางของเราขึ้นมา

ถ้า พุทโธ ๆ ๆ ๆ จนมันมีสติปัญญา มันควบคุม มันบริหารจัดการของมันได้ บริหารจัดการความรู้สึกของเราได้ รถนั่นจะผ่านไป ความรู้สึกนี้จะลงสู่สมาธิ ถ้าความรู้สึกนี้ลงสู่สมาธิเห็นไหม อ๋อ.. เราก็แก้ไขเหตุการณ์นั้นได้ นี่การแก้ไขไง พอครั้งที่หนึ่งทำได้ สองทำได้ สามทำได้ มันก็จะไปเทียบย้อนกลับไป เทียบกับตัวสั่นคราวนั้น ๆ คือเราขับรถมาถึงคอสะพาน แล้วเคยเห็นคอสะพานนี่ลึกมาก นั่งตัวสั่นเลย กลัวรถจะตกคอสะพานเห็นไหม เราถมจนเต็มแล้วอาการตัวสั่นมันไม่มี อาการตัวสั่น อาการตกใจ อาการต่าง ๆ มันจะหายไปเอง มันจะหายไปเองต่อเมื่อเราแก้ไขเหตุการณ์นั้นจนเป็นสิ่งที่ไม่น่าตกใจกลัว แล้วมันจะผ่านของมันไปเองเห็นไหม

นี่การแก้แผ่นเสียงตกร่อง ทีนี้การแก้แผ่นเสียงตกร่องแล้ว การแก้แผ่นเสียงตกร่อง การที่เป็นตัวสั่น อาการที่โยกเยก โยกคลอน เนี่ยอาการเหงื่อไหลไคลย้อย อาการกลืนน้ำลาย อาการคิดต่าง ๆ มันเกิดเหมือนกันมันเป็นจริตนิสัยของคน นี้คือปัญหาพื้นฐาน พื้นฐานของจิตเป็นอย่างนี้

แต่เมื่อก่อนที่โยมไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้หรือไม่ได้ทำอย่างนี้ ทำไมมันไม่เกิด ทำไมมันไม่เป็น มันไม่เกิดไม่เป็นเพราะเราไม่ได้เข้าไปเผชิญกับความจริง เราอยู่กับความจอมปลอม พระพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวาง พุทธศาสนาคือความว่าง ว่าง ๆ ๆ ว่างแบบขี้ลอยน้ำไง ว่างแบบไม่มีอะไรเลย จับต้นชนปลายไม่ได้ไง นี่เลยมันก็เลยไม่เกิดปัญหา เราจะแก้ตรงนี้ ถ้าไม่แก้ตรงนี้เขาจะบอกว่า ภาวนาพุทโธมันลำบาก พุทโธลำบากมาก ทำสมาธิไม่มีประโยชน์อะไรเลย ใช้ปัญญาแล้วมันจะมีปัญญา ๆ จะแก้กิเลสได้ ไม่จริง!

จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราจะแก้ไขสิ่งใดก็แล้วแต่ เราจะต้องไปสู่บ้านของเรา เราเกิดจากบ้านเราอยู่ในบ้าน เราเจริญเติบโตในบ้าน เราออกไปทำหน้าที่การงานเพื่อหาเงินกลับมาสู่บ้านของเรา ให้บ้านของเรา ให้ตระกูลของเรา ให้ครอบครัวของเรามั่นคงแข็งแรงขึ้นมา ถ้าตระกูลมั่นคงแข็งแรงขึ้นมา หน้าที่การงานของเราอาจจะพลาดพลั้งได้ เราอาจจะเปลี่ยนงานได้ เราจะเปลี่ยนอะไรได้ทั้งนั้น แต่ในบ้านของเรามันต้องอบอุ่น ในบ้านของเราอยู่ด้วยความมั่นคง

จิตก็เหมือนกัน อาการความคิด อาการต่าง ๆ ที่คิดออกมาที่ว่าเป็นการทำงาน เราออกไปทำงานเห็นไหม แล้วบ้านเรามีแต่ความทุกข์ บ้านเรามีแต่ปัญหา ในบ้านของเรามีแต่เชื้อโรค ในบ้านของเรามีแต่ความบกพร่องทั้งหมดเลย เราไปหาเงินจากข้างนอกมาขนาดไหน เราจะมาเลี้ยงครอบครัวในบ้านเราจะมีความสุขจริงไหม มันไม่มี ฉะนั้นสิ่งที่ไม่มีบอกเลยว่า ว่าง ๆ ๆ ๆ ๆ เราไปหาความว่างกันนอกบ้านไง เราไปหาความว่าง ในบ้านเรามีปัญหาใช่ไหม เราก็ไปเที่ยวเตร็ดเตร่ มีความสุขมีความเพลิดเพลินอยู่กับข้างนอกใช่ไหม เราได้แก้ปัญหาไหม เราไม่ได้แก้ปัญหาใด ๆ เลย การจะแก้ปัญหาเราต้องแก้ปัญหาในบ้านของเราให้ได้

ฉะนั้นการแก้ปัญหาในบ้านของเราได้ มันจะต้องมาสู่ฐีติจิต กลับมาสู่สมาธิ กลับมาสู่พื้นฐานของเรา ถ้ากลับมาสู่พื้นฐานของเรา ก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ฉะนั้นการทำความสงบของใจเข้ามา พุทโธ ๆ ๆ หรือว่าการทำปัญญาอบรมสมาธิ มันไม่มีประโยชน์ มันทำไปก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ถ้าคนไม่มีพื้นฐานไม่มีกำลังเลย ไม่รู้จักว่าบ้านของเราอยู่ที่ไหนเลย ไม่รู้จักสิ่งใด

เหมือนคนไม่มีบ้าน ไปนอนตามสนามหลวงเดี๋ยวนี้ไล่แล้วนะ สนามหลวงห้ามนอน แล้วจะไปนอนที่ไหนกัน สนามหลวงก็นอนไม่ได้ไม่มีที่นอนแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ จะไปอยู่กันที่ไหน เร่ร่อนกันไปอย่างนั้นเหรอ ฉะนั้นถ้าพุทโธ ๆ ๆ ๆ กลับมาที่พุทโธ ๆ ๆ กลับมา นี่พอกลับมาพุทโธ ๆ ๆ ๆ เราจะเข้าบ้านของเรา บ้านใครบ้านมัน หลังเล็กหลังใหญ่ก็บ้านใครบ้านมัน ต้องเข้าบ้านของตัวเอง

ทีนี้การเข้าบ้านของตัวเอง มันก็อยู่ที่การสร้างมา การสร้างอำนาจวาสนามา การได้สร้างสิ่งต่าง ๆ มา จริตนิสัยคนแตกต่างหลากหลาย แต่โดยพื้นฐานมันจะเป็นอย่างนี้ เพราะคนเราเห็นไหม ถึงย้อนกลับมา.. พุทธศาสนาสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งที่ทำมาเราทำของเราทั้งนั้น เราทำมา สิ่งต่าง ๆ พอเราจะเข้าไปสู่บ้านเรา เราเข้าไปสู่ปัญหาเดิมของเรา เข้าไปสู่ฐีติจิตของเรา เราเข้าไปสู่ต้นขั้วของเรา มันเข้าเผชิญกับความจริง เราจะบอกว่าเราต้องเผชิญกับความจริงกันนะ เราก็ต้องเผชิญกับความจริง และแก้ไขตามความเป็นจริง

สิ่งใดที่เป็นข้อเท็จจริงเราต้องเข้าไปแก้ไขตรงนั้น ไม่ใช่หนีความเป็นจริงของเราแล้วไปแก้ไขที่คนอื่น ปัญหาคนอื่นแก้ได้ง่ายมาก ปัญหาคนอื่น ๆ ใคร ๆ ก็แก้ไขได้ แต่ปัญหาของตัวเองทุกคนแก้ไม่ได้ แล้วการภาวนาจะกลับมาสู่การแก้ปัญหาของตัวเอง ถ้าต้องการแก้ไขตัวเองต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อน ฉะนั้นเราต้องพุทโธ ๆ ๆ ๆ แล้วทำความสงบของใจ เพื่อกลับไปสู่ข้อเท็จจริง กลับไปสู่ฐีติจิต กลับไปสู่ข้อมูลเดิม กลับไปสู่ปฏิสนธิวิญญาณที่พาเกิดพาตาย ที่ทำให้เราเกิดเราตายอยู่เนี่ย การภาวนาของเรา ๆ ภาวนาเพื่อไปชำระกิเลส ไม่ใช่ภาวนา…

พระพุทธศาสนามีอยู่ซึ่ง ๆ หน้าเลย เราอยู่กับพุทธศาสนา แต่เราปฏิบัติกัน แต่ปฏิบัติไปเร่ร่อนอยู่ข้างนอก ไปเร่ร่อนไม่มีสิ่งใดเลย ว่าง ๆ ว่าง ๆ อู๋! สบายมาก สุขมาก ไม่รู้ไปสุขกันอยู่ที่ไหน หาความสุขยังหาความสุขไม่เจอเลย แล้วก็มีความสุขมาก ๆ แล้วทำตามข้อเท็จจริงเห็นไหม มันจะเกิดอาการอย่างนี้ทุกคน นี่คือเรื่องพื้นฐานนะ ทุกคนจะเจอมากหรือน้อย เรากินอาหาร เราทำอาหารกินกัน เราไม่เคยเก็บล้างเลยเหรอ ทุกคนกินอาหาร อาหารจะสมบูรณ์ทุกวันเลยเหรอ มีเงินมหาศาลเลย อาหารบางที่เขายังส่งไม่ทันยังไม่ได้กินเลย

พื้นฐานของกรรม พื้นฐานของจิตมันมี… ทุกคน ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น ท่านถึงเป็นห่วงตรงนี้มาก แล้วท่าน...เห็นไหม หลวงตาท่านจะบอกว่า...หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาอยู่กับหลวงปู่มั่น ๘ ปีเห็นไหม เก็บเล็กผสมน้อย เป็นพระอรหันต์นะแต่ไม่ยอมทำผิดอะไรจากศีลเลย ไม่ยอมทำผิดเลย แม้จะแก่ชราภาพเป็นวัณโรคกินอาหารตอนเช้านี่กินไม่ได้ คนอายุ ๘๐ ปี แล้วเป็นวัณโรคกินอะไรไม่ได้เลย หลวงตาท่านพยายามเอาน้ำมะพร้าว ๆ ในเพลไปให้ท่านดื่มเพื่อประทังโรคภัยไข้เจ็บ ท่านบอกว่ากินไม่ได้ฉันไม่ได้ ทำไม.. ไอ้ตาดำ ๆ มันมองอยู่เห็นไหม ท่านเอาชีวิตท่านเป็นแบบอย่างเห็นไหม ไม่ยอมทำอะไรถือธุดงควัตร ฉันมื้อเดียว ฉันหนเดียว ฉันได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่จำเป็นทั้ง ๆ ที่คนป่วยนะ เห็นไหม

เพราะอะไรเพราะท่านทำไว้เป็นแบบอย่าง เพราะท่านได้สมบุกสมบั่นมา เพราะท่านได้ผ่านวิกฤตในการประพฤติปฏิบัติมา ท่านรู้ว่ากำลังใจขนาดไหนมันถึงจะทำให้เราเอาชนะตัวเราเองได้ ถ้ากำลังใจอ่อนแอเราจะสู้ตัวเราเองอะไรไม่ได้เลย ทีนี้เราจะประพฤติปฏิบัติกันเพื่อเอาความจริงขึ้นมาเนี่ย พอเกิดอาการ อาการนี่มันแค่พื้นฐานมันหญ้าปากคอก เพียงแต่เริ่มต้นขึ้นมามันจะมีอาการ แต่หญ้าปากคอก มันทำให้พวกเราไม่มีกำลังใจแล้วล้มเหลวไปเลย

แต่ถ้าเรามีกำลังใจของเรา ๆ พยายามต่อสู้ของเรา ถ้าเราผ่านขั้นตอนอย่างนี้ไป พอมันเคยตัวสั่น มันเคยทำให้เราแผ่นเสียงตกร่อง คำว่า แผ่นเสียงตกร่องนะ มันก็ตกร่องวนอยู่ที่เก่า การปฏิบัติของเราก็วนอยู่นี้ ๑๐ ปี ๒๐ ปี มันไม่ไปสักที ๆ เป็นไหม คือ อาการแผ่นเสียงตกร่อง เราก็พยายามทำของเรา ดูสิเห็นไหม เมื่อก่อนไม่มีรถไฟฟ้า เราขึ้นรถเมล์เกือบเป็นเกือบตาย เดี๋ยวนี้มีรถไฟฟ้าลืมรถเมล์หมดแล้ว นี่ก็เหมือนกัน พอมันแผ่นเสียงตกร่องพอมันพ้นไปก็ขึ้นรถไฟฟ้าพรวดไปพรวดมา นี่ก็เหมือนกันถ้ามันแก้ตรงนี้จบมันก็ไปได้ ไม่ต้องไปห่วง รถไฟฟ้าไม่มีแต่รถเมล์เราก็นั่งรถเมล์กันเมื่อก่อนเราทำไมนั่งได้ล่ะ พอมีรถไฟฟ้ารถเมล์มองข้าม กูจะนั่งรถไฟฟ้า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันหมุนอยู่ มันแผ่นเสียงตกร่องอยู่ มันก็เหมือนเรานั่งรถเมล์อยู่เราก็พยายามของเรา เพราะมันยังไม่มีรถไฟฟ้า แต่ถ้ามันพ้นจากตกร่องไปมันก็จะไปรถไฟฟ้า มันก็จะไปได้ มันเป็นปัญหาพื้นฐานนะ แล้วปัญหาพื้นฐานไม่ต้องไปคิดมาก คำว่าคิดมาก เราจะเปรียบเทียบกับคนโน้น เปรียบเทียบกับคนนี้ การเปรียบเทียบนี้มันเปรียบเทียบเพื่อเป็นกำลังใจนะ เปรียบเทียบว่า ดูสิ ทำไมเขาทำได้ เวลาเราปฏิบัติอยู่เราก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็คน หลวงปู่มั่นก็คน เราก็คน ท่านเป็นคนทำไมท่านทำได้ เราก็เป็นคนทำไมจะทำไม่ได้ ก็พยายามมุมานะ

แต่เวลามันท้อใจนะ เวลามันท้อใจ มันทุกข์ลำบากมาก ท่านก็บอกว่าความลำบากของเราสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก สู้หลวงปู่มั่นไม่ได้หรอก สู้ครูบาอาจารย์ของเราไม่ได้หรอก เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านลำบากมากกว่าเรา เพราะสังคมยังไม่ยอมรับ สังคมเขาไม่เชื่อถือศรัทธา สังคมเขาไม่เห็นด้วยกับการประพฤติปฏิบัติ สังคมเขาเห็นด้วยในทฤษฎีในการศึกษา ในการว่ามีปัญญา ๆ ทางโลก เขาไม่คิดหรอกปัญญาที่มันลึกซึ้งขึ้นมา ปัญญาในการภาวนา ปัญญาการถอดถอนกิเลสมันเป็นอย่างไร

เนี่ยครูบาอาจารย์ของเราท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตเลย หลวงปู่มั่นท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตเลย หลวงตาคิดถึงหลวงปู่มั่นทีไรนั่งร้องไห้ทุกทีว่าหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมาจนท่านนิพพานไป ท่านไม่เคยอยู่ในเมืองเลย ท่านอยู่ในป่าในเขามาตลอด ท่านอยู่ในป่าในเขาท่านทำชีวิตท่านเป็นแบบอย่างมาตลอด ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่าน ท่านต่อสู้กับอุปสรรคจากสังคมที่บีบคั้น ต่อสู้มาทุก ๆ อย่างเลย ท่านทำของท่านมาเป็นคติแบบอย่างให้เราประพฤติปฏิบัติ

แล้วเรามาประพฤติเนี่ย ดูสิ มาเนี่ยทางสังคมเขามีให้พร้อม ทุกอย่างมีให้พร้อมแล้วเราทำอะไรกัน นี่ถ้าเราจริงของเรา เราดูแบบอย่างนั้น พอดูแบบอย่าง อย่างนั้นปั๊บ มันก็ย้อนกลับมานะ ท่านก็คน เราก็คน แต่เวลาทุกข์ท่านทุกข์กว่าเรามากเยอะแยะเลย มันก็สร้างกำลังใจให้เราขึ้นมาเห็นไหม สร้างกำลังใจของเราขึ้นมา เนี่ยถ้าเราไม่สร้างกำลังของเราเลย เราจะรอแต่.. นักมวยบอกให้พี่เลี้ยงต่อยแทนมันไม่มีนะ พี่เลี้ยงให้น้ำนักมวยได้ แต่เวลาต่อยนักมวยต้องเข้าไปต่อยเอง นี่นักมวยจะให้พี่เลี้ยงต่อยให้ พี่เลี้ยงต่อยให้ที มันจะนั่งอยู่ในมุมไง

จิตมันเวลาภาวนาเห็นไหม มันไม่ทำ โน้นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ไม่มีใครช่วยกูเลย ทุกข์นะ คิดย้อนกลับนะปัญหาอย่างนี้เราคิดย้อนกลับมาแล้วมันจะมีกำลังใจ กำลังใจมันจะเกิดขึ้นมา แล้วเกิดขึ้นมาเราจะสู้ได้ ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีใครทำให้เราได้หรอก ไม่มีใครจะมาเกื้อกูลเราได้ขนาดนี้ ครูบาอาจารย์เรานี้เกื้อกูลเรามาก คำว่า เกื้อกูล คือเกื้อกูลจากความรู้สึกนะ เกื้อกูลจากความเป็นห่วง อาลัยอาวรณ์ เกื้อกูลจากความถนอมรักษา ถนอมรักษาอะไร ไม่ได้ถนอมรักษาเรานะ ถนอมรักษาข้อวัตรปฏิบัติไง กติกาข้อปฏิบัติถนอมรักษาไว้ ให้พวกเรามาก้าวเดินไง

นี่ทางอันเอก ไม่ถนอมรักษาก็อุ้มหนูไปทีสิ หนูยังภาวนาไม่ได้เลย นักมวยต่อยเอง ไม่มีให้พี่เลี้ยงมาต่อยแทนหรอก นักมวยต้องออกต่อยเอง ครูบาอาจารย์ท่านดูแลขนาดนั้นนะ อันนี้ ใช่! แผ่นเสียงตกร่อง แต่แผ่นเสียงตกร่องอันนี้มันเป็นศัพท์ของเราเอง เพราะเราก็เป็นไง เราเป็นปัญหาอย่างนี้มาเยอะ แล้วเราก็พยายามมาเทียบเคียง คำว่าเทียบเคียงคือศัพท์ของเรา คือพยายามพูดกับตัวเอง นี้คืออาการอย่างใด อาการอย่างนี้มันเปรียบเหมือนอะไร แล้วพอเราบอกนี่มันแผ่นเสียงตกร่อง เพราะมันวนมาที่เก่าทุกทีเลย มันวนกลับมาที่เดิม จนแผ่นเสียงตกร่องนี้ตกภวังค์ ตกภวังค์จิตหายไป จิตไม่รับรู้ นี้แผ่นเสียงตกร่องทั้งนั้น แล้วเราพยายามแก้ของเราไง เราแก้ของเรามา เราแก้ของเรามาแล้ว

เพราะฉะนั้นอาการอย่างนี้พอแก้.. การปฏิบัติส่วนใหญ่จะเจอหมดนะ และเวลาคนที่เขาเจอแล้ว พอเขาไปเจอปัญหาที่ใหญ่กว่า คือเวลาปัญญาออกไปพิจารณา หรือเกิดปัญหาสิ่งใด ปัญหาอย่างนี้เลยกลายเป็นปัญหาเล็กน้อย เขามองข้ามกันหมดไง แต่ปัญหาอย่างนี้มันจะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ พอเจอปัญหาแบบนี้ไปก็น้อยใจไง พอเจอปัญหาอย่างนี้ไป โอ๊ะ! ปฏิบัติทำไมไม่มีความสุขวะ ปฏิบัติแล้วต้องร่มเย็นสิ ทำไมยิ่งปฏิบัติยิ่งร้อน ยิ่งปฏิบัติยิ่งทุกข์ เอ้า.. ก็ความจริงน่ะ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ สู้นะเดี๋ยวจะรู้ สุขหรือทุกข์ไง ที่สุดแห่งทุกข์ พอที่สุดแห่งทุกข์ทำลายหมดแล้วนะจบกันที กับเจอความทุกข์แล้วหลบหลีกมัน แล้วไม่จบสักที แล้วจะไปเจอข้างหน้าอีกนะ ข้างหน้าจะไปเจอมันอีกจะสู้ไม่สู้ นี่คิดถึงกับเรานะ นี่สู้มันนะ อันนี้พูดถึงแผ่นเสียงตกร่อง

ฉะนี้ไอ้ที่ว่านั่งดูสมาธิ ๒.มีวันหนึ่งนั่งสมาธิดูลมภาวนาไปตามปกติ นั่งไปถึงประมาณ ๕ นาที อยู่ ๆเสียงรถราที่ได้ยินก็หายไป ดับสนิทหูดับเลย ความรู้สึกมีกายเลื่อนลอยอยู่ในมุมมืดเคว้งคว้าง ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นไม่กี่นาที ผมรู้สึกตกใจมากอาการแบบนี้ คืออะไรครับ

หลวงพ่อ : อาการแบบนี้ ตอนนี้นะให้เป็นบวกไว้ ให้เป็นบวกหมายถึงว่ามันลง แต่ลงแล้วมันตกใจ ตกใจเห็นไหม หลวงตาท่านสอนมากเวลาพุทโธ ๆ ๆ ๆ แล้วเวลาจิตมันวูบลงเรากลัวตายกันอะ พอเรากลัวตายเราเนี่ย เราก็บอกว่าถ้ามันวูบไปมันจะหายใช่ไหม เราก็พยายามเหมือนกับคนทะลึ่งจากน้ำ ทะลึ่งจากน้ำขึ้นมาให้รับรู้ไง ไอ้นี่ก็มันจะลงสมาธิ ไปขวางมันไม่ลงสมาธิมันก็กลับมาอีกเห็นไหม ถ้ามันกลับมา อาการหูดับ

อาการต่าง ๆ มันมี ๒ อย่าง ถ้าดับเลย อาการหูดับ ถ้างั้นมันไม่ดับไปเลย เพราะรู้สึกตกใจ มีความรู้สึกอยู่ เพราะความรู้สึกตกใจมีสติอยู่ มีความรับรู้อยู่ แต่ถ้ามันเป็นตกภวังค์นะ มันวูบแล้วก็หายไปเลย ความรู้สึกอะไร ๆ ไม่มี เวลามันจะออกจากภวังค์ เหมือนคนตกใจตื่น เหมือนคนสะดุ้งจากตื่น อย่างนั้นคือมันหายไปเลย คำว่าหายไปเลยมันตัดช่วงไง ขณะที่ไปภวังค์มันไม่มีสติมันหายไปเลย แต่เพราะมีสติ ๆ รับรู้ตัวเองก็เหมือนกับรู้สึกตัวขึ้นมา อันนั้นขึ้นมาจากความรู้สึก อันนั้นขึ้นมาจากภวังค์แต่อันนี้มันมีความรู้สึกอยู่ เพียงแต่มีอาการตกใจ

ให้กลับไปกำหนดพุทโธ ๆ ๆ ๆ อย่างเดิม แล้วพอกำหนดพุทโธ ๆ ๆ ไปอย่างเดิมน่ะ นี่คือรู้แล้วอาการลงสู่สมาธิ มันก็อยากได้อาการอย่างนั้น พออยากได้อาการอย่างนั้นก็จะไม่ได้อีกเลย เนี่ย โดยปกตินั่งสมาธิมานานทำเป็นพัก ๆ ๆ ตั้งแต่วัยรุ่นตอนนี้อายุ ๓๕ ปีแล้วครับ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง ๓๕ ปี สิบกว่าปี ยี่สิบปี เห็นไหมมันไม่เคยเกิดอาการอย่างนี้เลย จิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราจะชี้ให้เห็นว่าสมาธิไม่ใช่จิตปกติไง ว่าง ๆ ๆ เราสร้างได้เวลาเราคิดสิ่งใดต่าง ๆ คิดอะไรที่มันกวนใจเห็นไหม คิดให้ว่างมันก็ว่างแต่ไม่ใช่สมาธิ

แต่สมาธิเห็นไหม ว่าง ๆ มันเป็นว่าง ๆ ของสามัญสำนึกใช่ไหม สมาธิมันลึกกว่านั้น มันลึกกว่านั่น เพราะอะไร เพราะมีสติเห็นไหม วู้บ…ลงจนสะดุ้งเลยเห็นไหม เออจิตจะลงสมาธิมันแตกต่างจากจิตปกตินี้ไหม แตกต่างไหม ถ้ามันแตกต่าง มันแตกต่างอย่างไร เนี่ยถ้ามันมีความแตกต่างมันจะรู้เลยว่า ขณิกสมาธิเป็นอย่างไร อุปจารสมาธิเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิเป็นอย่างไร แล้วอัปปนาสมาธิมันรู้อย่างไร ก็ว่าสักแต่รู้ สักแต่รู้มันเป็นอย่างไร เนี่ยแค่ขั้นของสมาธิมันจะรับรู้อาการต่าง ๆ อย่างนี้หมดเลย

ฉะนั้นสิ่งที่ภาวนาตั้งแต่วัยรุ่นถึง ๓๕ ปี ฉะนั้นกำหนดพุทโธ ๆ ๆ ทำมาเป็นพัก ๆ ๆ คราวนี้ทำเป็นพัก ๆ ๆ มันเป็นเครื่องอยู่นะ เนี่ยศีล สมาธิ ปัญญา ทำทานร้อยหนพันหนได้บุญไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนได้บุญไม่เท่ากับเกิดสมาธิหนหนึ่งเห็นไหม การเกิดสมาธิหนหนึ่ง การเกิดสมาธิอย่างนี้แค่ ๕ นาที แล้วมันลงขนาดไหน นั้นล่ะความรู้สึกอันนั้นจะฝังใจมาก...เนี่ยธรรมารส รสของธรรมชนะรสทั้งปวงเห็นไหม จิตได้สัมผัส มันได้รับรสของสมาธิ มันได้รับรสไง รสหวาน รสเปรี้ยวต่าง ๆ ลิ้นได้รับรส มันจะจำรสนั้นได้ เวลาเขาเขียน เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เขาเขียนเป็นตัวอักษรเราก็อ่าน นักเรียนศึกษากันหมด เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม แต่ลิ้นไม่เคยลิ้มรสเลย ก็ไม่รู้จักรสเลย แต่พอลิ้นได้ลิ้มรส มันก็อ๋อ.. เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม แต่ลิ้นได้รับรส อ๋อ.. มันเป็นอย่างนี้

จิตลงสู่วูบ…เนี่ย มันก็ได้รับรู้ของมันแล้วเนี่ย รับรู้ของมัน ทฤษฎี คำสอนเป็นคำสอน แต่จิตได้สัมผัสอันนี้มันจะฝังใจอันนี้ตลอดไป ถ้ามันฝังใจตลอดไปเห็นไหม ถ้าปฏิบัติอีกไม่ได้หรืออย่างไรก็แล้วถ้าจิตมันมีกรรมมันต้องตายหรืออะไรก็แล้วแต่.... ถ้าจิตมันเกาะตรงนี้ไป เกาะอาการอย่างนี้ อาการอย่างนี้คือจิตหนึ่ง จิตหนึ่งจะไปเกิดเป็นพรหม ถ้าทำสมาธินะ ฤาษีชีไพรไปเกิดเป็นพรหมเพราะเหตุนี้ เพราะจิตเขาลงเป็นสมาธิได้ง่าย นี่สมาธิอย่างนี้มันได้สัมผัส

อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเลย ข้อเท็จจริงที่จิตได้สัมผัสเองเลย เพราะจิตได้สัมผัสเองมันรู้ของมันโดยสัจจะความจริงอันนั้น ทั้งที่ตัวเองสัมผัส ตัวเองรู้เองนะ แต่เวลาออกจากสมาธิไป อาการแบบนั้นคืออะไรครับ ทั้งที่สัมผัสเองนะ เพราะเราสัมผัสใหม่ เรายังเข้าใจสิ่งใดไม่ได้เพราะสมาธิมันมีหลากหลาย พอจิตเรามีหลากหลาย เราฝึกได้ไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

ปีติเห็นไหมพอจิตมันลงสมาธิมันมีความรับรู้อะไรต่าง ๆ มันมีเกิดปีติของมัน เกิดความสุขของมัน เกิดเอกัคคตารมณ์ของมัน เพราะเกิดเอกัคคตารมณ์ การเข้าการออกการฝึกฝนบ่อย ๆ เข้า พอเอกัคคตารมณ์ผลของสมาธิเนี่ย เราจะมั่นคงกับมันเราจะมีอาการกับมัน เราจะรับรู้สิ่งนั้นได้ พอมีสมาธิแล้ว อันนี้มันชัดเจนมากนะ ชัดเจนที่มันวูบ..ลงอะไรต่าง ๆ มันตกใจขนาดไหน เราจะบอกว่าจิตปกติกับจิตที่เป็นสมาธิ พอจิตที่เป็นสมาธิถ้ามันเกิดปัญญา ๆ อันนั้นเป็นโลกุตรปัญญา และปัญญาอันนี้มันจะถอดถอนกิเลสอย่างไร

แต่ปัญญาโดยปกติที่เราเกิดขึ้นมามันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากสมองเกิดจากสามัญสำนึกมันเป็นอย่างหนึ่ง แล้วถ้าปัญญาที่เกิดจากสมาธิมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันมีความแตกต่างทั้งนั้นน่ะ มันจะมีความรู้ความเห็นของมัน แม้แต่สมาธิกับไม่เป็นสมาธิอย่างนี้ชัด ๆ มากเลย แล้วสมาธิจะมีความจำเป็นอีกไหม แล้วทำไมต้องทำสมาธิ ทำไมต้องทำความสงบของใจ แล้วทำไมต้องทำสมาธิ คำว่าสมาธิ… ถ้ามันยังไม่เกิดสมาธิเราก็ใช้ปัญญาได้ เพราะปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ฉะนั้นถ้าสมาธิเรายังเกิดได้ยาก สมาธิมันไม่มีความเข้มแข็งของเรา เราก็ใช้ปัญญาของเราไปเรื่อย ๆ เพราะปัญญาอย่างนี้มันก็อบรมให้เกิดสมาธินั่นแหละ แล้วเกิดสมาธิแล้วมันก็คุ้มค่า

ถ้าเป็นสมาธิมันจะมีความสุขมาก หลวงตาท่านพูดเองนะ เราติดสมาธิ ๕ ปี เราเชื่อกันว่าตอนนี้ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านติดสมาธิมาไหม ติด ท่านติดสมาธิตั้ง ๕ ปี ท่านพูดเอง ผมติดสมาธิ ๕ ปี และคำว่าติดสมาธิ… เราจะบอกว่าสมาธินี้มันมีคุณค่ามาก จนเราชื่นใจ เราพอใจกับผลอันนั้นเลย ว่าเป็นนิพพาน ฉะนั้นทำไมถึงต้องทำสมาธิไง ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิมันก็มีความสุขใช่ไหม คนที่ติดสมาธินั้นคิดว่าสมาธิเป็นนิพพานเลย

ฉะนั้นถ้าเรากำหนดทำสมาธิของเราเข้ามาได้ มันก็เป็นความสุข มันก็มีคุณค่าเหลือล้นอยู่แล้ว แล้วสมาธินี้ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราหรือมีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าให้ออกใช้ปัญญาไป ปัญญาที่เกิดจากสมาธิ เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ ไม่มีอีโก้ อีโก้หรือตัวตนทำให้เกิดสมาธิไม่ได้หรอก เพราะสิ่งต่าง ๆ มันจะต้องยุบลง คำว่า หินทับหญ้า คำว่า ฝุ่นใต้พรม เห็นไหม ฝุ่นมันอยู่ใต้พรม พรมมันอยู่ข้างบนฝุ่น โอ้ มันสวยงามมาก หินทับหญ้า โอ้โฮ ก้อนหินเขาประดับสวน โอ้โฮหินสวยงามนะหินเป็นรูปต่าง ๆ เห็นไหม หินทับหญ้า หินทับหญ้า สมาธิมันทับกิเลสไว้ ถึงจะหินทับหญ้าก็ขอให้มีหินเถอะ ไปดูสวนญี่ปุ่นสิ หินสวย ๆ ทั้งนั้นเลย ก้อนละหลายตังค์นะ เขาว่าหินทับหญ้าไม่มีค่า ไม่มีค่า โธ่! หินก้อนละเป็นแสนนะ

จะบอกว่าแค่เป็นสมาธิมันก็มีความสุขแล้ว แล้วอย่างนี้เราปฏิบัติกันโดยตามข้อเท็จจริง ศีล สมาธิ ปัญญา เราทำจิตเราให้สงบ ถ้าจิตเราสงบจะเกิดปัญญาขึ้นไปตามข้อเท็จจริง นี่มันจะทุกข์จะยากขนาดไหนเราก็ต้องสู้ ฉะนั้นนี่กรณีหนึ่ง กรณีนี้เวลาภาวนาไปจิตของเรามีความเห็นแตกต่าง ความเห็นแปลก ๆ ความเห็นต่าง ๆ กรณีนี้เป็นกรณีเล็กน้อยมากนะ เรานี่เป็นพระแล้วมีพระมาปรึกษาเราเยอะมาก เวลาจิตสงบแล้วจะตั้งครูบาอาจารย์องค์ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราขึ้นมา แล้วก็เพ่งโทษพยายามกล่าวโทษ หลายองค์มาก มาหานะหลวงพ่อทำไมเป็นอย่างนั้น

บางองค์นะ ถ้าจิตสงบหรือจิตมันมีหลักขึ้น จะตั้งพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้วก็เพ่งโทษ คอยเพ่งโทษ เนี่ยอย่างนี้มันมี.. ถ้ามีอย่างนี้ทำไมพระพุทธเจ้ามีพระเทวทัต พระพุทธเจ้านี่นะ ถ้าไม่มีพระเทวทัต พระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ได้สร้างบุญกุศล เพราะพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัตเป็นคู่เวรคู่กรรมกันมา เนี่ยก็เกิดมาร่วมภพร่วมชาติกันตลอด แม้แต่ชาติสุดท้ายนะเกิดเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นพี่เป็นน้องกันเพราะอะไร เพราะพระเจ้าสุปปพุทธะเป็นพ่อของพระเทวทัต เพราะเจ้าสุทโธทนะเป็นพ่อของพระพุทธเจ้า เป็นลูกพี่ลูกน้องกันนะ เวลามาเกิดในชาติสุดท้ายเกิดเป็นพี่น้องกัน เกิดเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แล้วพระพุทธเจ้าออกบวชแล้วพระเทวทัตก็ออกบวชพร้อมกับพระนันทะ พระอานนท์ไง ๕-๖ องค์ออกบวชพร้อมกัน เห็นไหมเวลาเกิด ๆ ร่วมกัน แต่เวลามีความเห็น ทำไมมีความเห็นมันแตกต่างไป นี่เพราะเวร เพราะกรรม

ทีนี้ย้อนกลับมาที่จิตเรา เวลาเกิดขึ้นมา มันสร้างเวรสร้างกรรมอะไรมานั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาเราก็รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นอกุศล สิ่งนั้นไม่ดีเลย ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีเลย เราก็พยายามตั้งสติ ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นเรื่องสุดวิสัย คำว่าสุดวิสัย มันเกิดมาจากจิตใต้สำนึก ความคิดเห็นไหม มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าก็เกิดกับจิตเราไม่ได้อีกเลย ความคิดเวลามันเกิดขึ้นมาเห็นไหม มารเอยเธอเกิดจากจิตของเรา พอความคิดเกิดมามันก็เกิดตาม สติปัญญาเราไม่ทัน พอมันไม่ทัน เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัย

แต่เราเป็นชาวพุทธและเราได้ศึกษาธรรม พอศึกษาธรรมสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีต้องแก้ไข เราก็พยายามตั้งสติสิ สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา ที่มันเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะว่าเราเป็นปุถุชน สิ่งใดเกิดขึ้นเรายังควบคุมใจเราไม่ได้ ความคิดมันเกิดขึ้นมา เราก็ตั้งสติไว้ ขอโทษขอขมา เราแนะนำนะให้ขอขมา ขอขมาเวลาเราอยู่ในบ้านนะ ห้องพระเรานะ ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม คือ สัจธรรม พระสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากับใจเรา ขอขมามันไม่เกิดเวรเกิดกรรม แก้วสารพัดนึก รัตนตรัยคือแก้วสารพัดนึกเป็นรัตนตรัยของเรา แก้วสารพัดนึกเหมือนนิวเคลียร์ ถ้าใช้ทางที่บวกก็จะเห็นผลบวกกับเรามาก ถ้าใช้ในทางที่ลบก็จะลบมากเห็นไหม

ดูสิ เห็นไหมในธรรมของพระพุทธเจ้า ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นกรรม คำว่า ติเตียน เขาบอกว่าศาสนาพุทธยุ่งมากเลย ถ้าไม่เชื่อก็เป็นบาป ไม่บาป ไม่เชื่อไม่บาป แต่ติเตียนเพราะเหตุใด พอไม่เชื่อมันก็หาเหตุผล หาเหตุผลมาติเตียน ติเตียนพระพุทธเจ้ามันเป็นกรรม มันเป็นกรรมกับใจของเรา ถ้าเป็นกรรมกับใจของเรา เราก็ขอขมาซะ เราขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลาทำวัตร ขอขมา พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอขมาเพราะว่าเราควบคุมใจไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้ แต่เราก็รู้ว่ามันผิดเห็นไหม เราขอขมาเพื่อให้มันเจือจางลง เบาลง เพราะรู้ว่าผิดไง

อย่างเช่นไฟ เรารู้ว่าไฟ เราก็ไม่อยากหยิบหรอก มันร้อน มือพองหมดเลย ทีนี้มันเผลอไปแตะเข้าทุกทีเลย ก็พยายามตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ อย่าให้มันเกิดขึ้นมา นี่เวลามันเกิดอกุศลไง อกุศลอย่างนี้มีนะ มันเกิดมาเอง นี่ไงกิเลส มันเกิดมาโดยที่เราก็ไม่ต้องการเราก็ไม่ตั้งใจ แต่มันก็เกิดมันมาอย่างไร แต่ถ้าพยายามต่อสู้เข้าไป มันแก้ไขได้ แก้ไขสิ่งนี้ได้ เพียงแต่ว่าหนาหรือบาง ถ้าหนามันหนักหนาสากรรจ์ มันก็ โอ้โฮ ต้องต่อสู้เต็มที่ ถ้าบาง ๆ นะโดยใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันไม่ดีแล้วคิดทำไมล่ะ เห็นไหม พอคิดทำไมก็ไม่ได้ตั้งใจมันคิดเอง เอ้า..คราวหน้าจะตั้งสติให้ดี ๆ ถ้ามันคิดขึ้นมาพยายามละมันก่อน

มันเหมือนเรา เราปฏิบัติใหม่ ๆ นะ นิมิตนี่โคตรมาเลย นิมิตต่อภาค ๑ ภาค ๒ ได้ตลอด แต่พอไปอ่านประวัติหลวงปู่เทสก์ กับหลวงปู่หลุย องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๗ ปี องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๑ ปี ไปอ่านเข้านะ กลัวมาก ตั้งแต่บัดนั้นมา นิมิตไม่เอา ถ้าเกิดนิมิต ไม่เอาเลย เวลานั่งสมาธินะตั้งใจเลย ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น เอาความสงบไม่เอาอะไรเลย แล้วพอนั่งไปมันเคยเป็นใช่ไหม เมื่อก่อนปฏิบัติใหม่มันจะเข้าภาค ๑ ภาค ๒ เพราะมันนั่งสมาธิบ่อยครั้ง ครั้งแรกก็มารอบหนึ่ง พอครั้งสอง ภาค ๒ ภาค ๓ ภาค ๔ มันต่อกันได้หมดเลย พอตอนหลังไม่เอา ไม่เอามันก็มานะ เพราะมันเคย

มันเคยแล้วนะ พอมันไม่เอา ๆ ๆ พอไม่เอา พอสติมันมาพร้อม เพราะฝึกไม่เอาจากข้างนอก พอมันมีสติข้างในนะ พอนี่มันจะมานะ มันบอกไป ไม่เอา ๆ ดับหมดนะ เราทำมากับเราเอง เรื่องนิมิตเราทำกับเราเอง แล้วปฏิเสธมันตลอด ตั้งแต่อ่านประวัติหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่หลุย ตั้งแต่วันนั้นมามันปฏิญาณขึ้นมาในจิต ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา เอาแต่ความสงบ อะไรก็ไม่เอา แล้วพอมาก็ปฏิเสธได้

ฉะนั้นเวลาใครมาถามปัญหาเรา จะบอกเลยไม่เอาแก้ได้ เขาเชื่อหรือไม่ก็เรื่องของเขานะ แต่เราทำมาแล้ว เราทำกับตัวเราเอง เราทำของเรามาแล้ว แล้วเราทำได้ผล ไม่ได้ผลเราจะเอาความผิดของเรา เอาอุปสรรคของเรามาเล่าให้โยมฟังได้อย่างไร ผิดเราก็ผิดมาก่อนโยม แล้วเราก็แก้ไขของเรามาแล้ว อ้าว ถ้าไม่แก้ไขจะรู้ผิดได้อย่างไรจะรู้ถูกได้อย่างไร ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก อ้าว..แล้วก็แก้ไขมาแล้ว สิ่งที่เอามาสอนมันจะผิดไปไหนนะ เพียงแต่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ เราทำถึงหรือไม่ถึง

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่เกิดขึ้นมาเนี่ย เราแก้ไขได้ แต่อย่างที่ว่าต้องเริ่มต้นเลยกำลังเครื่องเรามันทรุดโทรมมาก ลูกสูบก็แทบจะหลุดอยู่แล้ว แรงอัดก็ไม่มีเลย เครื่องมันเลยไม่มีกำลังเลย ใส่เกียร์ ๑ เกียร์ ๑ ก็ดับ ฉะนั้นเราไปตั้งสติกัน พยายามมาฟื้นฟูผ่าเครื่องเปลี่ยนลูกสูบให้มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราจะทำของเราได้ การภาวนาจะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นแผ่นเสียงตกร่อง ใช่ไหม ใช่! ก็ต้องแก้ไขแบบนี้ สิ่งที่มันลงสมาธิวูบ.. ไปอย่างนี้มันก็เป็นอาการที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เป็นอดีตผ่านไปแล้วมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เพียงว่าเอามายืนยันว่าเราได้สัมผัสใช่ไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เราได้สัมผัสสติ เราได้สัมผัสสมาธิ เราได้สัมผัสปัญญา เราได้สัมผัสหมดเลย “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้เห็นตถาคต” เราได้สัมผัสเท่ากับเราได้จับต้องชายจีวรพระพุทธเจ้าเลย แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป เพื่อประโยชน์ของเรานะ ให้มีกำลังใจ สิ่งนี้มันเป็นปัญหาพื้นฐานนี่แหละ ปัญหาพื้นฐาน ปัญหาหญ้าปากคอก แต่กว่าจะแก้กันได้พยายามหน่อย แล้วเราจะผ่านปัญหาปากคอกไป แล้วเหมือนคนฝึกงานเห็นไหม นักกีฬากว่าเขาจะคัดเข้าทีม ถ้าได้ทีมแล้วมีโอกาสที่จะแข่งขันตลอดไป เราประพฤติปฏิบัติของเราไป ผ่านปัญหาปากคอกนี้เข้าไป แล้วมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะปฏิบัติของเราได้ เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง

มูลนิธิพระสงบ มนสฺสนฺโต

032-240-666, 083-038-2477

© 2020-2024 สงวนลิขสิทธิ์โดย www.sa-ngob.com. All rights reserved.