เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เห็นไหม วันพระ วันโกน เราชาวพุทธ ถ้าพุทธที่ทะเบียนบ้าน เราก็ทำดีอยู่แล้ว เราจะต้องไปขวนขวายสิ่งใด.. การขวนขวายนะ เรานั่งสมาธิ ภาวนา ก็เป็นการขวนขวาย การขวนขวายเป็นความเพียรชอบ การขวนขวาย ความวิริยะ ความอุตสาหะ ถ้ามีการขวนขวาย มีความวิริยะ ความอุตสาหะนี่ความเพียรชอบ ถ้าความเพียรไม่ชอบล่ะ การขวนขวาย การวิริยะอุตสาหะในการทำสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเอง

เวลาคนเขาทำไม่ดีกับตัวเอง เขาก็ขยันหมั่นเพียรของเขา ความขยันหมั่นเพียรของเขา เพราะเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ของเขา แต่เราเห็นประโยชน์ของเราไง ถ้าเห็นประโยชน์ของเรานะ ประโยชน์กับโลกนี้เราก็ได้หาไว้แล้ว ผู้ที่เขามีปัญญานี่เขาหาสิ่งใดไว้ เขาก็แบ่งไว้ให้ลูกหลานของเขา ว่าควรได้อย่างนี้เพื่อลูกหลานของเขาจะได้มีปัญญา ลูกหลานของเขาจะได้มีความดำรงชีวิต ลูกหลานของเขาจะได้เติบโตขึ้นมา เขาให้ไว้พอเพื่อให้ลูกหลานของเขาได้พัฒนาตัวเขาเอง สิ่งที่ยึดถือของเขา นี่เขาทำประโยชน์ของเขาเพราะเขามีปัญญาของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เรามีพื้นฐานเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพุทธศาสนา เจอพระก็ยกมือไหว้ทีหนึ่ง เจอพระผ่านหน้าบ้านก็ยกมือไหว้ทีหนึ่ง ก็แค่ยกมือไหว้ ยกมือไหว้ก็คือยกมือไหว้ เป็นการคารวะมันก็เป็นบุญกุศลนะ ในการคารวะ ในการนอบน้อม ในการสวนทางกัน เราหลีกทางให้เขา ให้ทางคนนี่ก็เป็นบุญนะ เราเจอเขามา เราหลีกทางให้เขาไปก่อน อันนี้ก็เป็นบุญ

แต่ของเรานี่ ถ้าจิตใจเราไม่ทำสิ่งใดเลย เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเรา นั่นคือประโยชน์กับเรา แต่เราคิดโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามีใครไม่มีความศรัทธาเชื่อมั่น เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็พยายามเน้นความศรัทธาเชื่อมั่น คนที่มีความศรัทธาเชื่อมั่นนะ เวลาหลวงตาท่านทำโครงการช่วยชาติ ถ้าใครเอาไปให้ท่านมากนะ ท่านจะบอกว่า “ให้อะไรทุกวันๆ มันไม่ใช่แม่น้ำตักเอาที่ไหนก็ได้นะ มันหามาด้วยความยากลำบากนะ เวลาจะให้ก็ต้องมีสติมีปัญญา ควรหรือไม่ควรสิ”

ที่เราพูดอยู่นี้ ท่านบอกเวลาท่านพูดอยู่นี้ ท่านพูดอยู่ว่าควรให้ๆ ต้องให้นี่ ท่านพูดถึงคนที่มันไม่ให้ ในสังคม เห็นไหม คนที่มันไม่ให้ก็มี คนที่มันตระหนี่ถี่เหนียวก็มี ท่านพูดถึงตรงนั้นไง แต่ไอ้คนที่เป็นธรรม โอ้โฮ.. มันแบกรับตายเลยนะ เพราะเราเป็นธรรมอยู่แล้วใช่ไหม พอท่านยิ่งพูดยิ่งกระตุ้นนะ เราก็ยิ่งขวนขวายนะ ท่านก็เตือน เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ความพอดีนี่มันพอดีตรงไหน ถ้ามันพอดีมันก็เป็นมัชฌิมา เป็นความพอดีของคนๆ นั้น

ฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาของเรามันจะสมควรที่ไหนล่ะ ความมัชฌิมาของเรา เห็นไหม เราอ่อนด้อย เวลาใครปฏิบัติขึ้นมาเริ่มต้น โอ้โฮ.. จิตมันละเอียดอย่างนั้น จิตมันละเอียดอย่างนั้น แล้วจิตเมื่อก่อนมันละเอียดอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เห็นมันล่ะ เราไม่เห็นมันเพราะเราอยู่ในสถานที่หยาบๆ แต่พอเราละเอียดขึ้นมานี่ว่าจิตละเอียดอย่างนั้น ละเอียดอย่างนั้น

ความละเอียดอย่างนั้น คือความดีที่ยังมีกว่านี้ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่นะ ความดีของเราที่จะขวนขวายไปมันมีกว่านี้อีก เราเห็นว่าสมบัติพัสถานเป็นสมบัติของเรา แต่เราเห็นบ้างไหมว่าบุญกุศลนี้เป็นสมบัติของเรา.. บุญคืออะไร? บุญคือความสุขใจนะ ดูสิเราได้แสวงหาเงินทองมาขนาดไหนนะ เราแสวงหามาเราก็มีความสุขระดับหนึ่ง เวลาลูกหลานเรามาเยี่ยมนะ ลูกหลานเรามันมีน้ำใจถึงเรานะ มันมีความสุขกว่านั้นเยอะแยะเลย

เวลาลูกหลานมันมาเยี่ยม ลูกหลานมันมาหาเรา พ่อแม่มีความสุขมาก มันเป็นเงินเป็นทองไหม มันไม่ใช่เงินไม่ใช่ทอง แต่มันเป็นน้ำใจนะ แต่เวลาเราว่าเราแสวงหาเงินหาทองมา เราพยายามทำหน้าที่การงานของเรา มันมีความสุขไหม.. มี! ธรรมดามันมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่เวลาค่าของน้ำใจ เวลาคนมีน้ำใจกับเรา มีความคิดถึงเรา เห็นไหม มันมีความสุขไหม มันก็มีความสุข

นี่ก็เหมือนกัน ทรัพย์สมบัติของเรานี่มันเป็นสมบัติของโลก เห็นไหม “โลกกับธรรม” โลกนี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะมีค่ามาก เวลาบอกมนุษย์มีค่ามาก ทำไมเกิดเป็นมนุษย์แล้วทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงล่ะ เกิดมาทำไมมีแต่ความทุกข์ล่ะ?

เกิดมาเป็นมนุษย์นี่มีค่ามาก มีค่าของโลก สมบัติของโลก เห็นไหม ชีวิตนี่ บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยเอาเงินแลกมานะ เอาเงินซื้อชีวิตไว้นะ นี่เพราะอะไร เพราะเห็นว่าชีวิตมันมีค่า เราเอาเงินซื้อชีวิตของเราตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่มีโรคไม่มีภัยล่ะ

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

คนที่มีโรคมีภัย เขาก็ต้องแสวงหา เขาต้องขวนขวายของเขาไป ไอ้เราไม่มีโรคนี่เป็นลาภอันประเสริฐ ขนาดเกิดเป็นมนุษย์มันก็เป็นอริยทรัพย์อยู่แล้ว แล้วไม่มีโรคไม่มีภัยอีก แล้วยังอาการ ๓๒ สมบูรณ์อีก โอ๋ย.. ยังแข็งแรงอีก แล้วทำไมหัวใจมันอ่อนแอล่ะ ทำไมหัวใจมันทุกข์ล่ะ เวลาคนเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขายังมีความขยันหมั่นเพียร เขายังต้องมีการขวนขวายของเขา เพื่อดำรงชีวิตของเขา เราล่ะ? เราสมบูรณ์นะ เราอาการ ๓๒ สมบูรณ์ หัวใจเราก็สมบูรณ์นะ ทำไมจิตใจเราอ่อนแออย่างนั้น

แล้วถ้าจิตใจอ่อนแอ มันไม่รู้ว่าอะไรเป็นทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เราขวนขวายเอา เขาทำมาหากินกัน เขาได้เงินได้ทองมา เรามานั่งสมาธิ เดินจงกรม เราได้อะไรมา เราได้เหงื่อได้ไคลมา มันเอาอะไรเป็นสมบัติของเราล่ะ แต่ถ้าจิตเราสงบเข้ามานะ เราจะได้สมบัติของเรามา นี่สมบัติเราเกิดแล้ว โอ้โฮ.. ยิ่งจิตสงบนะ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่เห็นเงาของตถาคต ยังไม่เห็นตัวจริงของตถาคต พอจิตมันสงบแล้วเราขวนขวายของเรา เราจับนี่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเห็นใจของเรา เราเห็นพุทธะของเรา เห็นไหม แล้วพุทธะของเราจะทำความสะอาดในหัวใจของเรา พัฒนาของเราขึ้นมา นี่ไงทรัพย์เกิดขึ้นมหาศาลเลย ทรัพย์สมบัติทางโลก

สมบัตินะเราเอาแก้วแหวนเงินทองไปแลกเปลี่ยนได้มาทั้งนั้นแหละ แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีใครซื้อขายได้ ใครเกิดมามีเชาว์ มีปัญญา มันจะแสวงหาของมัน ใครเกิดมาไม่มีเชาว์ ไม่มีปัญญานะ ทำอะไรกัน ทำไมมันหัดขี้เกียจ ไม่ทำการทำงานเลย ทำการทำงาน นี่งานอันหยาบๆ นะ ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เวลานั่งเฉยๆ นั่งสมาธิเฉยๆ งานอันละเอียดว่าไม่ทำ เวลาคนสงบนั่งอยู่นิ่งเลย ไอ้เรานั่งอยู่ โอ้โฮ.. ใจร้อนน่าดูเลย แล้วมันทำให้เราฟุ้งซ่าน มันทำให้เรานั่งไม่ได้นะ ตบะแตกเลย นี่ทำไมเอาไม่อยู่ล่ะ

ถ้าเราเอาอยู่นะ ทุกคนบอกว่ารักตน ทุกคนรักตนที่สุด เห็นไหม ความรักตนนี่ รักสิ่งอื่นเท่ากับรักตนไม่มี เรารักตนของเรา เราจะทำสมบัติของเรา แล้วเราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม..เชื่อ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” นี่เชื่อไหม เราก็เชื่อ แต่ถ้าเราทำขึ้นมาเราก็บอกว่าว่างๆ ว่างๆ อันนั้นมันสงบจริงหรือ? มันสร้างอารมณ์ว่าง นี่เวลามันฟุ้งซ่านมันก็ฟุ้งซ่านไป มันคิดให้ว่างมันก็ว่างที่ความคิด แต่มันไม่เป็นว่างความจริง มันก็ไม่ได้ดื่มรสอมตธรรมที่ตามความเป็นจริง

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

เวลาใครทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบตามความเป็นจริงนะมันจะฝังใจมาก มันจะฝังใจมาก เวลาครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วนะ ท่านจะลุกขึ้นมากราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า นั้นกราบอะไรล่ะ กราบคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณธรรมที่ท่านรื้อค้นมา แล้ววางธรรมและวินัยไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนเราเข้าไปสู่ความจริงของเราได้

มันกราบบุญกราบคุณอันนั้นล่ะ กราบบุญกราบคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ขวนขวาย แสวงหาสิ่งนี้มาแล้วบอกทางไว้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง แล้วเราไปประสบนี่ ทำไมกราบแล้วกราบเล่า.. ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่ใช่คนเสียสตินะ ท่านมีสติสมบูรณ์ แล้วมีสติ มหาสติ เป็นสติอัตโนมัติด้วย ท่านถึงได้เห็นบุญคุณขนาดนั้นใช่ไหม

นี้เราจะบอกว่า ถ้าคนหยาบมันก็จะมองไม่เห็นว่าอะไรที่เป็นสมบัติความเป็นจริง มันก็เห็นสมบัติหยาบๆ ถ้าเราเอาสมบัติที่ละเอียดเข้าไป แล้วมันทุกข์ยากอย่างนี้มันจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างไรล่ะ? ทุกข์ยากอย่างนี้ก็เพราะหัวใจเรามันยึดมั่นถือมั่น ถ้าหัวใจเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เราใช้ปัญญานะ หันไปมองคนที่ทุกข์ยากมากกว่าเรา

เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาสัตว์มันจะตาย พอสัตว์มันจะตายนะมันมาเข้าในนิมิตของครูบาอาจารย์ในสมัยพุทธกาลนะ นี่เกิดเป็นคน เขามีสิทธิเสรีภาพ เกิดเป็นสัตว์แสนทุกข์แสนยาก เวลาจะทำหน้าที่สิ่งใด เวลาเขาเอาไปไถนา เอาไปทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ก็ต้องพยายามเอาใจเขา ทำให้ถูกใจเขา ถ้าไม่ถูกใจเขาก็เฆี่ยนเขาก็ตีเอา เวลาหิวกระหายจะกินน้ำ เวลาเขาไม่ผ่อนเชือกก็ไม่ได้กิน แล้วเวลาทำงานให้เขาขนาดนี้ เขาก็ยังทำร้าย เขาก็ยังฆ่า เขาฆ่าแล้วนะ ถ้าเขาเอาเนื้อมาถวายนี่ขอให้ฉันบ้าง

เวลาเป็นมนุษย์เขามีผลงานของเขา เขาทำบุญกุศลของเขา เขาจะได้ผลงานของเขา เป็นสัตว์ เกิดเป็นสัตว์ขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดจะได้ทำเป็นบุญกุศล บัดนี้ตายแล้ว เนื้อหนังมังสาก็ควรจะได้บุญกุศล ขอให้ได้ฉันเนื้อให้เป็นบุญกุศลให้บ้างเถอะ ขอให้ชาติหน้าได้เกิดเป็นมนุษย์เพื่อจะไม่ให้มนุษย์มันข่มเหง.. นี่ในนิมิตของครูบาอาจารย์มันมีอย่างนี้ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็บอกว่าเราทุกข์ๆ เรามองไปที่มนุษย์สิ มองไปที่สัตว์ที่มันมีความคิด สัตว์มันมีความคิดของมันนะ แต่มันพูดสื่อสารกับเราไม่ได้ แต่เรามีความคิดอย่างนี้ ทำไมเราไม่คิดของเราล่ะ

ถ้าเราคิดของเราชีวิตจะมีค่า ถ้าชีวิตมีค่า เห็นไหม เราทำบุญกุศลนี่เป็นอามิส สิ่งนี้ทำได้ง่ายๆ คือเสียสละขึ้นไปมันเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติคือว่าเราเสียสละออกไป สิ่งนั้นจะเป็นของเรา เราหว่านพืชไปในเนื้อนาใด ถ้าเนื้อนาที่ดี ผลนั้นมันจะเกิดมากับเรา

บุญกุศลที่อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการอุทิศ แต่ใจของเรา บุญมันก็พาเกิดในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม มันก็เวียนตายเวียนเกิดใช่ไหม แล้วพอเวียนตายเวียนเกิดนี่เราประมาทในชีวิตเราไม่ได้ เพราะเวลาเราไปเกิดในสถานะไหนแล้ว เราจะมีความรู้สึกนึกคิด ยังจะยึดมั่นถือมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม นี่มันหยาบมันละเอียดแตกต่างกัน

ฉะนั้นในชาติปัจจุบันนี้ ถ้าเรามีปัญญา มีการรื้อค้น เราพยายามจะพิสูจน์ตรวจสอบ ให้จิตใจเราพัฒนา เห็นไหม ผู้ใดต้องการมีปัญญามาก ปัญญาจะเกิดจากการนั่งสมาธิ ภาวนานี่แหละ ปัญญาเกิดจากตรงนี้จริงๆ เพราะถ้าจิตเราสงบ จิตเรามันปล่อยวางเข้ามา คนที่มีการเรียนหนังสือ เรียนแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ศึกษาแล้วไม่ค่อยเข้าใจนี่ ให้วางไว้แล้วมาทำความสงบของใจ มาทำสมาธิให้ดีก่อน แล้วกลับไปศึกษาใหม่มันจะศึกษาได้ดีมาก แต่เวลาเรากำลังศึกษาแล้วไม่เข้าใจ แล้วพยายามอยู่ พยายามแบบโลกๆ พยายามแล้วมันยิ่งเครียด ปัญญามันไม่เกิด

นักปฏิบัติ เวลาเราทำความสงบของใจขึ้นมา เวลาโลกุตตรธรรมขึ้นมา โลกุตตรปัญญาเกิด เวลาปัญญาที่เกิดจากสมาธินี่ทำไมมันชำระกิเลสล่ะ ทำไมมันถอดถอนใจของตัวเองได้ล่ะ เห็นไหม ปัญญาที่มันละเอียดเข้าไป มันถึงเข้าไปถอดถอนฐีติจิต จิตของเรา จิตเดิมแท้ของเรา ภพของเรานี่มันกรองอย่างไร มันทำอย่างไร มันถอดถอนอย่างไรให้จิตนี้สะอาดขึ้นมา บริสุทธิ์ขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

ถ้าปัญญามันจะเกิดเกิดจากศีล สมาธิเรานี่แหละเป็นพื้นฐาน แล้วปัญญามันเกิดจากโลกุตตรปัญญา ปัญญาเหนือจากโลกนะ ปัญญาที่เกิดจากเราอยู่นี้ ที่เราใช้กันอยู่นี้ มันเป็นวิชาชีพ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากการศึกษา ปัญญาเกิดจากจินตนาการ มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

นี่ไงถ้าเราเกิดมีปัญญา เรามีเชาว์มีปัญญา เป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี นี่ทำความสงบของใจ “เพราะใจทำความสงบนี้แสนยาก” ถ้าใจมันหยาบ มันไม่เห็นมันทำได้ยาก ถ้าใจละเอียด เพราะสติ เห็นไหม สติถ้ามันดีนี่มันกรองเข้ามาเรื่อยๆ บ่อยครั้งเข้า จิตมันละเอียดเข้ามา เพราะจิตมันต้องละเอียดเข้ามา จนจิตมันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา มันจะเกิดปัญญาที่ดีขึ้นมา ทีนี้พื้นฐานของความสงบ ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา ทำความสงบก็ทำยาก แต่ทำความสงบยากขนาดไหนเราก็ควรทำ เพราะมันเป็นสมบัติของเรา มันเป็นความเห็นของเรา เพราะเรารักตัวเรา เราต้องทำตัวเราให้เป็นคนดีขึ้นมา

นี่พูดถึงทาน ศีล ภาวนา.. ทานคือการเสียสละเพื่อให้หัวใจมันเปิดกว้าง จะทำสิ่งใดเพื่อตัวเองมันจะเต็มใจทำ นี้จะทำสิ่งใดเพื่อตัวเองมันไม่เต็มใจทำ มันจะทำแต่สมบัติสาธารณะ เห็นไหม นี่ถ้ามันเปิดกว้าง ทำทานให้ถือว่าใจมันเสียสละ ให้สิ่งที่มันขัดแย้งในใจให้มันเสียสละออกไป ให้มันเปิดกว้างขึ้นมาเพื่อจะเป็นสมบัติส่วนตนของมัน เกิดเป็นความปกติของใจ

นี่ทาน ศีล ภาวนา พอมีความปกติ มีความเป็นศีลเพราะเราได้ฟังธรรม เราจะเห็นการมีคุณค่าของชีวิตของเรา ถ้าเห็นคุณค่าของชีวิตของเราขึ้นมา เห็นไหม เราทำหน้าที่การงานก็คือทำหน้าที่การงานด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ แต่ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของชีวิตของเรา เราเอางานเป็นใหญ่ เอางานเหยียบย่ำชีวิตของเรา แล้วชีวิตของเรามันก็แบกงานนั้นไว้เครียดไปหมดเลย แต่ถ้าชีวิตของเรามีคุณค่ากว่างาน ชีวิตของเรานี่มีคุณค่ามาก เพราะเราเห็นคุณค่าของชีวิตนี้ เราจะทำหน้าที่การงานนี้ เพื่อให้ชีวิตนี้มีปัจจัยเครื่องอาศัยในการดำรงชีวิต

ชีวิตเรามีค่ากว่างาน พอชีวิตมีค่าเราก็ทำงานไปด้วย นี่งานเพื่อชีวิต เพราะอะไร เพราะมันไม่เครียด พอจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันมีคุณค่าขึ้นมาแล้ว เวลาภาวนาขึ้นมามันจะเกิดปัญญาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

นี้คือสมบัติในพุทธศาสนานะ เราทำบุญกุศลของเราเพื่อสมบัติของเรา สมบัติของเรา ทำเพื่อเรา ผู้ใดรักตน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. เวลาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เกิดด้วยสายบุญสายกรรม เกิดจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกมา ถ้าเกิดมานี่ เราคลอดมันมา แล้วถ้าไม่เลี้ยงมันจะโตมาได้อย่างไร เราให้ชีวิตเขามาตลอดนะ ฉะนั้นลูกถึงเห็นคุณค่าของพ่อแม่มาก

ในพุทธศาสนาสอนเรื่องบุญเรื่องคุณของพ่อของแม่ ของครูของอาจารย์ ให้กตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี เราต้องแสดงออกนะ นี่แล้วถ้าคนยังไม่เคยมีมันก็ไม่มี เวลาคนไปมีลูกมีเต้าขึ้นมา ดูความผูกพันมันจะขนาดไหน ดูสิอชาตศัตรูเวลาอยากได้สมบัติ ไปฆ่าพ่อคือพระเจ้าพิมพิสาร เวลาลูกตัวเองเกิดมานี่ “ปล่อยพ่อ! ปล่อยพ่อ!” สายไปแล้ว พ่อตายเสียแล้ว

เวลาคนเรามันมืดบอด ทำอะไรไปโดยไม่มีสติยั้งคิด ถ้ามีสติยั้งคิดนี่เราจะเห็นคุณค่า แล้วชีวิตเรานะมันจะทุกข์จะยาก มันก็สร้างมาอย่างนี้ ทำไปอย่างนี้ แล้วเราจะอยู่ในหลักในเกณฑ์เพื่อชีวิตของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา เพื่อความปรารถนาของเรา สมความปรารถนา เอวัง