เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ เม.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติของเรา เวลาเราเข้ามาในพุทธศาสนา เห็นไหม มีคนพูดมาก บอกว่าพุทธศาสนานี่เวลาทำบุญกุศลแล้วจะได้บุญกุศลมาก เราก็ทำมหาศาลแล้วทำไมเราไม่ได้บุญกุศลเลย เพราะเราเข้าใจผิดกัน บุญกุศลเราคิดว่าประสบความสำเร็จทางโลก ทางโลกคือประสบความสำเร็จทางวิชาชีพ ถ้าวิชาชีพนี่ มันมีอำนาจวาสนามา มันจะหนุนเนื่องกันมา

คำว่าหนุนเนื่องคือมีคนช่วยเหลือเจือจาน อันนั้นเราทำบุญกุศลมาอันหนึ่ง อันหนึ่งเรามีคนช่วยเหลือเจือจานมา เวลาเราทุกข์ยาก คนช่วยเหลือเจือจานเรามาทำไมไม่มีล่ะ คำว่าไม่มีเพราะเราทำของเรามาอย่างนั้น ฉะนั้นเวลาเราทำบุญกุศลแล้วต้องร่ำรวยมหาศาล คำว่าร่ำรวยมหาศาลนั้น มันเป็นสายตาที่เรามองกันเรื่องทางโลก แต่ถ้าทางธรรม เวลามีความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม ในครอบครัวของเรามีความเข้าใจกัน มีความร่มเย็นเป็นสุข มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน

ความเอื้ออาทรต่อกัน ความคิดถึงกันระหว่างพ่อแม่ลูก นั่นล่ะมีความสุข! ความสุขอันนั้นคือบุญ ถ้าบุญเป็นอย่างนั้นปั๊บ บุญคือค่าของน้ำใจ เราคาดหมายกันไปนะ เราคาดหมายกันไปโดยสายตาของเรา แล้วเราคาดหมายไปโดยกิเลสตัณหาของเรา โดยความปรารถนาของเรา ให้เป็นอย่างที่เราเข้าใจ แล้วเราไม่ได้ดั่งใจ เราก็เสียใจ พอเราเสียใจเราก็มีความทุกข์ พอมีความทุกข์อันนั้นมันบอกว่า

“ไหนว่าเราทำบุญกุศล เราทำบุญแล้วมันต้องได้บุญ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ต้องมีปัญญา”

เราคิดของเรา.. ใช่! ธรรมะนี่เป็นธรรมะที่สะอาดบริสุทธิ์มหาศาล เห็นไหม เวลาเราพูดกันด้วยโวหาร “ธรรมะไม่เคยเสื่อม ธรรมะไม่เคยเสื่อม” แต่คนมันเสื่อมนะ ธรรมะไม่เคยเสื่อม.. ธรรมะไม่เสื่อม ธรรมะคือสัจธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ยังมีสามเณรราหุลนะ เวลาออกบวชขึ้นมานี่ ๖ ปีนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบากบั่นมา ๖ ปี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว นั่นล่ะสะอาดบริสุทธิ์

คำว่าสะอาดบริสุทธิ์คือหัวใจที่เป็นธรรม แต่คนหัวใจไม่เป็นธรรมมันจะเอาความสะอาดบริสุทธิ์มาจากไหน ในเมื่อเราบวชมา เราบวชมาด้วยการมีกิเลสตัณหามาทั้งนั้นแหละ คนบวชมาก็บวชด้วยกิเลส เพราะอยากบวช อยากพ้นจากทุกข์ อยากพ้นจากทุกข์มันก็เป็นความอยากอันหนึ่ง ความอยากอันหนึ่งก็เข้ามาในพุทธศาสนา เห็นไหม

แล้วครูบาอาจารย์ของเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงที่สุดแห่งทุกข์นั่นน่ะ เราเชื่อใจกัน เรามั่นใจกันว่าครูบาอาจารย์เราสะอาดบริสุทธิ์ เวลาครูบาอาจารย์สะอาดบริสุทธิ์แล้ว คนที่อยู่กับครูบาอาจารย์เราต้องสะอาดบริสุทธิ์ไปด้วย.. มันเป็นไปได้ไหมล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิเทวทัต เห็นไหม เทวทัตก็อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน

อันนี้ก็เหมือนกัน เราปรารถนาว่าหมู่คณะของเรา กรรมฐานของเราต้องสะอาดบริสุทธิ์ ทุกคนก็ปรารถนาอย่างนั้น เราก็ปรารถนาอย่างนั้น ทุกคนก็อยากให้ได้อย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุใดล่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้น เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบอกนะ “เวลาพระมาอยู่กับเรานี่ เขี้ยวเล็บมันซ่อนไว้หมดแหละ เวลาออกจากเราไปมันจะกางเขี้ยวกางเล็บ” แล้วพอเวลากางเขี้ยวกางเล็บขึ้นมาเราก็เสียใจกัน คำว่าเสียใจเพราะอะไร เพราะเราคาดหมาย เห็นไหม

นี่บุญ! เราคาดหมาย เราหวัง ตัณหาความทะยานอยาก นี่ความอยาก ความหวัง ความต่างๆ มันเป็นตัณหา แต่เพราะความเป็นตัณหา เวลาเราอยากปฏิบัติเป็นตัณหาไหมล่ะ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “ความอยากที่เป็นมรรคมันมี” ความอยากที่ขวนขวายทำคุณงามความดี นี่เป็นความอยากของเรา แล้วมันจะถึงเป้าหมายของเราหรือไม่ถึงเป้าหมายของเรา มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดูสิเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราก็ตั้งเป้า ๗ วันนี้จะให้มีความสงบ ๗ วันนี้จะให้เป็นพระโสดาบัน ๗ วันนี้จะสิ้นจากกิเลสไปเลย เห็นไหม เราก็ตั้งเป้าหมายของเรา แล้วเราทำมันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ มันอยู่ที่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยเราทำคุณงามความดีของเรา เราสร้างคุณงามความดีของเรา เราสะสมของเรา

หินก้อนแรก อิฐก้อนแรกลงไปแล้ว เราจะสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา เราจะสร้างหัวใจของเราขึ้นมา เราก็ต้องมีสติของเรา มีปัญญาของเรา เราก็ทำคุณงามความดีของเราเพราะเราเชื่อมั่น! เราเชื่อมั่นในรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายของเราเป็นผู้ฉลาด ถึงได้เลือกนับถือศาสนาพุทธ

ในสมัยโบราณมันอยู่ที่แว่นแคว้น อยู่ที่การยึดครอง หัวหน้านับถือศาสนาใด เขาก็จะบังคับให้ประชาชนเขานับถือศาสนานั้น แต่เพราะว่าปู่ ย่า ตา ยายของเรามีปัญญา เลือกนับถือศาสนาพุทธ ดูสิสมัยพ่อขุนรามคำแหง เห็นไหม พ่อปกครองลูก นี่มีสิ่งใดก็ร้องเรียนได้ มีสิ่งใดนี่พ่อปกครองลูก ดูแลกันมาด้วยพุทธศาสนา นี่ทศพิธราชธรรมของผู้นำ แล้วของผู้ที่จะเดินตามล่ะ ของผู้ที่จะเดินตาม เราก็ต้องขวนขวายของเรา

ฉะนั้นเราขวนขวายของเรา เราตั้งเป้าหมาย.. ใช่ เราตั้งเป้าหมายว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา พุทธศาสนานี้ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แต่คนขณะก้าวเดินมันก็มีร้อยแปดพันเก้า มันก็มีพลิกแพลง มีต่างๆ กันไป แล้วคนที่อ่อนแอโดยวุฒิภาวะก็ไม่เชื่อเรื่องมรรคเรื่องผล ก็คิดว่าปฏิบัติไปนี่พอสร้างอำนาจวาสนาบารมีไป

มันไม่กล้านะ แต่พอเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราต้องมีความกล้า มีความกล้า เห็นไหม สิ่งใดที่จะเผชิญกับเวลาจิตมันเผชิญ เวลาเราพูดกันอย่างนี้ทุกคนเก่งมากนะ เวลาเข้าป่าไป เจอผี เจอสาง เจอเสือ เจอช้าง เจออะไรนี่มันหวั่นไหวไปหมด เวลามันกลัวขึ้นมามันจะรู้ว่าความกลัวเป็นอย่างใด

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาจิตสงบมันมีอาการอย่างไรขึ้นมา มันทำให้เราตกจากที่สูง มันทำให้เราหวั่นไหว มันทำให้เราคลางแคลงใจ มันทำทั้งนั้นเลย.. แล้วใครล่ะ ก็ใจเราทั้งนั้น กิเลสเราทั้งนั้น แล้วอย่างนี้เราไม่กล้าเผชิญ เวลาเราจะเผชิญกับความจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา เราไม่กล้าเผชิญ เวลาว่านี่ครูบาอาจารย์ต้องเรียบร้อยไปหมดเลย ครูบาอาจารย์ต้องทำแล้วให้เราพอใจทั้งหมดเลย

ความพอใจนะ ความพอใจ จริตนิสัยนี่แก้ไม่ได้ เห็นไหม ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสด้วย แก้จริตนิสัยได้ด้วย ตั้งแต่พระสารีบุตรลงมาแก้กิเลสได้ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก สันดานในหัวใจนั่นล่ะ แต่นิสัยก็คือนิสัย นิสัยคือความชอบ อย่างเช่นภูมิภาคต่างๆ อาหารพื้นถิ่นของเขา ใครอยู่ที่ถิ่นไหน เขาก็คุ้นชินกับอาหารพื้นถิ่นของเขา เขาได้อาหารพื้นถิ่นของเขา เขาก็มีความสุข อาหารต่างพื้นถิ่นมาเขาก็กินได้ แต่มันไม่ซึ้งใจ ไม่ถึงใจแบบอาหารพื้นถิ่นเรา

นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยมันเป็นแบบนั้น เวลามันเป็นแบบนั้นเพราะเราสร้างสมขึ้นมา ฉะนั้นเราฟังธรรมสิ เราเอาเนื้อหาสาระ เราฟังธรรมนี่ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อๆ เราฟังธรรมสิเอาเนื้อหาสาระ แล้วไม่ให้เชื่อได้อย่างไรล่ะ.. ไม่ให้เชื่อ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เวลาฟังธรรมมันจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วแต่เรามองข้ามๆ ตลอดเลย เวลาครูบาอาจารย์บอก เวลาเทศน์ขึ้นมานี่ แหม.. มันซึ้งใจๆ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์อยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนะ เวลาท่านเทศน์จบแล้ว เห็นไหม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านพูด หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เรื่องมุตโตทัย ท่านเทศน์เรื่องชีวิตเรา เรื่องความเห็นของเรานี่แหละ ท่านเทศน์เรื่องความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ เรามองข้ามกันไปเอง แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านมาชี้ให้เรา ชี้ให้เรานะ อู๋ย.. ซึ้ง อู๋ย.. ซึ้งมาก!

นี่ไงท่านชี้เรื่องเรานี่แหละ เรื่องความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ เรื่องความเห็นของเรานี่แหละ นี่ไงเพราะเรามองข้ามๆ คำว่ามองข้ามของเรา เห็นไหม เรามองข้ามของเราเพราะอะไร เพราะเรามองแต่สิ่งที่ว่าเรามองข้างนอกทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรามองเข้ามาที่เราล่ะ.. ถ้าเรามองเข้ามาที่เรา เวลาฟังธรรมสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ถ้าได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์พูดนี่ อืม.. มันน่าคิดนะ แต่ถ้าเราคิดเองล่ะ เราคิดเองมันไม่เชื่อ ไม่เชื่อ

ฉะนั้นเวลาสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ ถ้าตอกย้ำๆ นี่เราไปวัดกันทุกวัน แล้วก็ฟังเทศน์ทุกวัน เวลาฟังเทศน์ขึ้นมานี่ตอกย้ำๆ มันแก้ความลังเลสงสัยนะ มันแก้ความเห็นผิด พอมันแก้ความเห็นผิด เห็นไหม เวลาเราไปภาวนา มันแก้ความเห็นผิดใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราแก้ความเห็นผิดขึ้นมา ถ้ามันเป็นความเห็นถูกนะมันก็สงบลง มันปล่อยวางได้ มันปล่อยวางได้เพราะอะไรล่ะ เพราะความเห็นถูกต้อง

นี่มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ทิฐิที่ถูกต้องและทิฐิที่ไม่ถูกต้อง.. ทิฐิที่ไม่ถูกต้องเราก็บอกว่า ธรรมะเป็นอย่างนั้นเราคาดเลยสะอาดบริสุทธิ์ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมะไม่เคยเสื่อม สัจธรรมอันนั้นไม่เคยเสื่อม แต่หัวใจพวกเรานี่เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย นี่ภาวนาไปเดี๋ยวมันก็ทำลายตัวเอง

มันทำลายตัวเอง เห็นไหม เราไม่มีอำนาจวาสนา เราทำไปไม่ได้ เราทำไปไม่ได้ แล้วทำไปไม่ได้เราเป็นมนุษย์หรือเปล่า ก็เป็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ ครูบาอาจารย์เราก็เป็นมนุษย์ แต่ท่านบากบั่นของท่าน ท่านจริงจังของท่าน เวลาท่านจริงจังของท่านเราก็จริงจังของเรา พอจริงจังของเราก็จริงจังอยู่ ๒-๓วัน เดี๋ยวก็นอนแผ่แล้ว

ในพระไตรปิฎกท่านพูดไว้อย่างนี้นะ “การปฏิบัติที่ไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลาย ไม่สม่ำเสมอ”

นี่ไงในพระไตรปิฎกไปอ่านได้ทุกข้อเลย วินัยที่บัญญัติขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อแก้คนหน้าด้าน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นี่สั่งสม แก้คนที่ข่มขี่ คนที่แบบว่าไม่เห็นคุณงามความดี ข่มขี่อย่างนั้น แล้วถึงที่สุดนะมาเรื่อย เพื่อคนที่ศรัทธาแล้วให้เจริญศรัทธามากขึ้น ผู้ที่ไม่ศรัทธาให้เขามาศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วการประพฤติปฏิบัตินะ การปฏิบัติที่ไม่ประสบความสำเร็จนี้ เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ คือไม่เสมอต้นเสมอปลาย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาเราเข้มข้นนะ เราเข้มข้นของเราเสมอต้นเสมอปลาย ความปฏิบัติสืบต่อนี้สำคัญมาก ความสืบต่อของมันไป เห็นไหม ดูสิมันจะได้ๆ จะได้อยู่นั่นล่ะ มันไม่สืบต่อ พอจะได้ๆๆ นะพรุ่งนี้เอาใหม่ จะได้ๆ มะรืนเอาใหม่ จะได้อยู่อย่างนั้นล่ะมันไม่สืบต่อ ถ้ามันจะได้ๆ ก็เอากันจนเต็มที่เลย จะได้อยู่ที่ตรงไหน จะตามกันไปเต็มที่ ตามกันไปเต็มที่ จะได้ที่ไหนก็ไล่กันไปจนถึงที่สุดของมันเลย แล้วไปถึงที่สุดของมัน มันได้เพราะเหตุใด มันได้เพราะปัจจัย เห็นไหม

เราตั้งสติไว้ดี เราตั้งอารมณ์ไว้ดี อารมณ์อย่างนี้ทำให้จิตลงสภาวะแบบนี้ เราจำสิ่งนั้นไว้ได้ เราจำเหตุอันนั้นไว้ แล้วเวลาทำต่อไปนะเราก็ใช้เหตุอันนั้น ถ้าเหตุอันนั้นมันแบบคุ้นชิน นี่กิเลสมันรู้ทันแล้ว กิเลสมันรู้ทัน เราก็ต้องพลิกแพลงหาอุบายของเราไป มันต้องมีอุบายตลอดไป

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

เราดำริ เราจะทำ เราจะคิด มารมันอยู่ข้างหลังทั้งหมดเลย เราจะปฏิบัติ มารมันก็ขี่หัวก่อนแล้ว แต่ถ้าเราใช้อุบายพลิกแพลงไป มารมันตามไม่ทัน พอมารตามไม่ทันบางทีมันก็ลง เห็นไหม มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าได้สัมผัสธรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” จิตได้สงบเราก็ได้ร่มเงาในพุทธศาสนา

“ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” พอจิตสงบเข้ามานี่มันฝังใจมากนะ เงินทองซื้อไม่ได้ ครูบาอาจารย์ทำให้เราไม่ได้ ไม่มีใครจะทำให้เราได้ แต่เพราะการกระทำของเราเอง เราตั้งใจของเราเอง เห็นไหม แล้วถ้าตั้งใจของเราเองนี่เงินทองซื้อไม่ได้นะ ถ้าเงินทองซื้อได้นะ เศรษฐีมหาเศรษฐีเขาซื้อมรรคผลนิพพานไปหมดแล้ว

ใครๆ ก็อยากได้มรรคผลนิพพาน ใครๆ ก็อยากได้ความสุข เขามีเงินมีทองเขาซื้อไปแล้ว แต่เขาซื้อไม่ได้ เขาทำไม่ได้ มันต้องทำขึ้นมาจากเราเอง จิตที่ขุ่นมัวนี่แหละ จิตที่มันทุกข์ยากนี่แหละ ถ้าขยันหมั่นเพียรมันเป็นไปได้ มันทำได้ ถ้ามันทำได้มันก็ลง เห็นไหม ถ้ามันไม่ลง ไม่ลงเพราะเหตุใด นี่ถ้าไม่ลงเพราะเหตุใด

อ้าว.. วันนี้ไม่ลงใช่ไหม เราก็ทบทวนของเราทำไมถึงไม่ลง

อ๋อ.. ฟังหลวงพ่อด่าคนมากมันเลยไม่ลง

หลวงพ่อก็ด่าคนนู้น ด่าคนนี้ แล้วก็ไปฟุ้งซ่านอยู่ที่กุฏิมันเลยไม่ลง

อ้าว.. หลวงพ่อด่าคนก็วางไว้นั่น หลวงพ่อด่าคนก็เป็นเรื่องของหลวงพ่อ เราไม่เกี่ยว เราใช้ประโยชน์กับเรา เห็นไหม มันเป็นประโยชน์จริงหรือไม่เป็นประโยชน์จริงล่ะ หลวงพ่อว่าก็เป็นเรื่องของหลวงพ่อ หลวงพ่อพูดก็เป็นบาปของหลวงพ่อ เป็นกรรมของหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ทำทั้งนั้น เราไม่เกี่ยว เราก็พิจารณาของเราไป

เราพิจารณาของเราไป เราทำของเราไป ถ้ามันไม่ลงนะ มันได้ยินแล้วมันฟู เห็นไหม ถ้ามันทำของมันล่ะ มันรักษาของมันล่ะ นี่หลวงตาถึงพูดบ่อย

“ให้ดูใจเรา ให้ดูใจเรา มันเรื่องของเขา มันเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา”

มโนกรรมนะ ใครคิดมันก็เกิดกรรมตรงนั้น.. มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม กรรมเกิดจากความคิดนั้น แต่ถ้าใจมันบริสุทธิ์ ความคิดมันเพื่อเหตุเพื่อผล เพื่อปัจจัย เพื่อความดีงาม ความดีงามมันต้องมีการบอกการเตือนกัน ถ้าไม่บอกกันเตือนกัน คนมันเห่อเหิม มันทะเยอทะยาน มันหลงพลาดไปได้ เวลาเราคิดเห่อเหิม ทะเยอทะยานนะ มันจะสอยดาวสอยเดือน มันคิดว่าใครไม่รู้ทันมัน มันคิดว่ามันทำอะไรมันก็ทำได้ แต่ถ้าคนเตือนสติมันนะ มันจะสอยดาวสอยเดือนนะ มันต้องต่อไม้มันให้ถึง มันจะสอยดาวสอยเดือนของมัน

นี่พูดถึงเวลาเรากลับไปแล้วเราคิดไง เราคิดเราดูของเรา ถ้าเราเสียใจ เราเสียใจว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คนนั้นถึงเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์เราทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้นนะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐ ประเสริฐมาก ครูบาอาจารย์ของเราที่สิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วก็เป็นที่ประเสริฐ แล้วเวลามาอาศัยเป็นหมู่คณะกันทำไมไม่ร่วมกัน ทำไมไม่สามัคคีกัน นี่เพราะเราคิดไง

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกเวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นนะเหมือนกับภูเขาทองคำ ภูเขาทอง แล้วพวกเราเป็นอีกาไปเกาะอยู่ พอเกาะแล้วมันเผลอ มันนึกว่าเราเป็นทองไง อีกามันบอกมันเป็นทองนะ อีกามันบอกมันเป็นทอง นี่ภูเขาทองคือครูบาอาจารย์ของเรา ผู้ไปอาศัยนั้นคืออีกา ถ้าอีกามันได้ทำดี ประพฤติปฏิบัติดีขึ้นมา กาก็เป็นกาดีก็ได้

ดี ไม่ดี มันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ดี ไม่ดี มันอยู่ที่การกระทำ คนไม่ใช่ดีที่การเกิด คนไม่มีชาติตระกูล คนดี คนชั่ว อยู่ที่การกระทำ.. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เขาต้องทำดีของเขา เขาถึงเป็นคุณงามความดีของเขา คุณงามความดีมันอยู่ที่นี่ อยู่ที่การกระทำ แล้วมีสติปัญญาขึ้นมามันจะทำสิ่งที่ดีขึ้นมา

ฉะนั้นใครทำสิ่งใดก็สาธุ! สาธุเขา เพราะเขาขาดสติของเขา เขาเห่อเหิมทะเยอทะยานของเขา เราประพฤติปฏิบัติของเรา จิตถ้ามันสงบมันจะเห่อเหิมทะเยอทะยานไม่ได้ ดูหลวงตาเวลาท่านบอก “ท่านเป็นคนโง่ที่สุดในทางโลก” คือท่านเสียสละให้กับโลกไว้ เพื่อประโยชน์กับสังคม ท่านบอกเวลาท่านเสียสละไปเหมือนกับคนโง่ คือไม่รู้จักหาผลประโยชน์ แต่ถ้าทางธรรมท่านบอกว่าท่านสบายใจมาก จิตใจท่านมีเมตตาครอบโลกมาก

ดูหลวงปู่ลีท่านอ่อนน้อมถ่อมตน ธรรมะจริงๆ จะอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เห่อเหิม ไม่ทะเยอทะยาน แต่ทำไมเราด่าคนๆ ล่ะ เราก็ด่าคนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเราถ่อมตน เราถึงเห็นคนที่มันทะเยอทะยานออกไป เราถึงได้เตือนสติ เราเตือนสตินะ เราพูดเพื่อเตือน! เราพูดเพื่อเตือน! เพื่อความดีงามของสังคมของเรา เอวัง