เทศน์บนศาลา

ผู้นำเป็นภัย

๑๘ เม.ย. ๒๕๕๔

 

ผู้นำเป็นภัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลาวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคุณค่ามาก จริงๆ มีคุณค่าเพราะเหตุใด มีคุณค่าเพราะว่า ทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แล้วมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนเกิดมามีจิต มีความรู้สึก เพราะความรู้สึกนี้เกิดเป็นตัวทุกข์ เพราะความรู้สึกนี้เป็นผู้รับทุกข์รับสุข “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ละด้วยมรรคญาณ เกิด นิโรธ

อริยสัจคือสัจจะความจริง สัจจะความจริงอันนี้เกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้น เวลาธรรมบอกว่า “ธรรมนี้ไม่เคยเสื่อม สัจธรรมนี้ไม่เคยเสื่อม” แต่จิตใจของคนเสื่อม จิตใจของคนไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ จิตใจของคนเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้ พอที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้ก็บอกว่าจิตใจมันอ่อนแอ จิตใจมันเอาแต่ความสุขความพอใจของมัน มันถึงบอกว่า ศาสนาเสื่อม...

ศาสนาไม่เคยเสื่อม แต่จิตใจของคนต่างหากมันเสื่อม จิตใจของคนไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีอำนาจวาสนาบารมีที่จะเข้าถึงสัจธรรมอันนั้นได้

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะรื้อค้นขึ้นมาได้ พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย กว่าจะเป็นคำว่าอสงไขยๆ คือสร้างบุญญาธิการมาจนมีจิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีสิ่งล่อเยอะมาก สิ่งล่อคือลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็ว่าของเขามีมรรคมีผล

คนที่ประพฤติปฏิบัติมันต้องมีการศึกษาเพื่อหางทางพ้นจากทุกข์ นี่ไง แต่เพราะหัวใจที่มีคุณค่า สิ่งใดที่ไม่ใช่ความจริงสิ่งนั้นก็ปฏิเสธมาตลอด ปฏิเสธสิ่งต่างๆ มา ปฏิเสธจากลัทธิต่างๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม แม้แต่เวลาเข้าสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ กับอาฬารดาบส อุทกกดาบส เขาบอกว่ามีความรู้เหมือนเรา เสมอเหมือนเราแล้วมันมีเหมือนเราจริงๆ นะ

คำว่ามีเหมือนเราหมายถึงว่า เวลาเข้าสมาบัติ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันสิ้นสุด มันเงียบ มีความสุข “สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” แต่ว่าความสงบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสงบจากกิเลสด้วย แต่เวลาเข้าฌานสมาบัติมันสงบโดยฌานสมาบัติ มันก็มีความสุข มันมีความสุขคือว่า มันน่าจะติดได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นมันก็มีความสุขแล้ว ความสุขมีอยู่กับเราแล้ว ทำไมเราต้องไปดิ้นรนอีกล่ะ ไปดิ้นรนให้มันทุกข์ยากอีกทำไม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาสิ่งที่ว่าเป็นสมาบัติ ๘ ไม่เอา ไม่เอาเพราะอะไร เพราะสร้างมา ดูสิดูสายตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันละเอียดลึกซึ้งไง ละเอียดลึกซึ้งคือว่า มันจะใสสะอาดขนาดไหน แต่มันก็ไม่หมด มันยังมีของมัน

ถึงละทิ้งสิ่งต่างๆ มา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุข คำว่าวิมุตติสุข มันความจริง เวลาเสวยวิมุตติสุขแล้วมีความสุขมาก นี่ไงพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มีรัตนะ ๒ คือมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระธรรม

แต่เวลาเสร็จแล้วจะเผยแผ่ธรรม จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ จะไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ไปหาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์บอก “ไม่รับๆ” ไม่รับเพราะอะไร เพราะว่าความเห็นของโลกมันความเห็นของเรา เหมือนเรามีความเห็นอย่างไร เรามีความตั้งใจอย่างไร เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เราก็มีมุมมองของเรา มุมมองของเรากับมุมมองของธรรมะไม่เหมือนกันหรอก มันไม่เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มุมมองของโลกจะเข้าถึงสัจธรรมได้

ปัญจวัคคีย์ก็มีความตั้งใจ มีความปรารถนากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปัฏฐากมาด้วยกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันอาหารของนางสุชาดา “นี่มักมาก ตั้งความหวังไว้มหาศาลเลย แล้วก็สิ้นหวัง” สิ้นหวังเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาจากการทำทุกรกิริยา ความมั่นคงต่างๆ ในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ด้วยความเห็นของโลกกับความเห็นของธรรม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ เขานัดกันแล้วว่าไม่รับ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้สัจจะ “เวลาเรายังไม่รู้ เราก็ไม่เคยบอกกล่าวเพราะเรายังไม่รู้จริงๆ แต่คราวนี้เรารู้แล้ว จงเงี่ยหูลงฟัง” เงี่ยหูคือให้ฟัง ฟังสัจจะนี้มันจะจริงหรือไม่จริง พอฟังสัจจะขึ้นมา เพราะว่าจิตใจของปัญจวัคคีย์ก็ได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ก็ได้ทำความสงบของใจมาพอสมควร

เวลาฟังเข้าไป พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาธรรม นี่ไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยของเราเกิดขึ้น พระสงฆ์องค์แรกคือพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะฉะนั้นเป็นพระสงฆ์ที่ไหน เป็นพระสงฆ์ที่หัวใจนะ ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ที่รูปแบบหรอก แต่ทีนี้รูปแบบนี่เราเกิดมาเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราก็ต้องมีรูปแบบ รูปแบบคือว่าความเป็นอยู่

การบวชต่างๆ บวชสมัยพุทธกาล “เอหิภิกขุ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” แล้วก็บวชโดยถึงรัตนตรัย แล้วก็บวชโดยญัตติจตุตถกรรม เพราะสังคมหมู่ใหญ่ขึ้น นี่พูดถึงเวลาเขาบอกว่า “ธรรมะไม่เคยเสื่อม สัจธรรมไม่เคยเสื่อม” แต่หัวใจที่ละเอียดอ่อนจะเข้าไปสู่สัจธรรมอันนั้น

สัจธรรมมันต้องมีรูปแบบ มีการกระทำขึ้นมาเป็นความจริงขึ้นมา พุทธศาสนานี้มีคุณค่ามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาปัญจวัคคีย์ ได้ยสะ แล้วไปเผยแผ่ธรรม จะเผยแผ่ธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาชฎิล ๓ พี่น้อง ไปหาชฎิล ๓ พี่น้องเพราะว่าเล็งญาณแล้วว่ามีอำนาจวาสนา เพราะเขาเองเขาก็เป็นศาสดาเหมือนกัน เขาก็เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสาร

เรื่องของกิเลสกับเรื่องของธรรมนะ ที่ว่า “ธรรมะไม่เคยเสื่อม” แล้วธรรมะของใครล่ะ ชฎิล ๓ พี่น้องเขาก็ว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาว่าเขารู้ธรรมของเขาเหมือนกัน เขาบูชาไฟของเขา เขามีพญานาคอยู่ในโรงไฟของเขา เขามีฤทธิ์มีเดชนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปทรมาน ไปขอพักกับเขา เขาไม่ให้พัก “ในเมื่อสมณะนักบวช ไม่ให้นักบวชพัก มันจะเป็นไปได้อย่างไร นักบวชต้องจิตใจกว้างขวาง นักบวชต้องจิตใจเป็นธรรมสิ”

แล้วถ้าจิตใจเป็นธรรม สมณะมาขอพัก ควรจะให้พักไง ชฎิล ๓ พี่น้องด้วยเหตุด้วยผลต้องยอมให้พัก นี่ไงถ้าพูดถึงว่า อาจารย์ที่เป็นคุณ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ผู้นำที่เป็นคุณ เวลาหลวงตาท่านพูด “ผู้นำนี้สำคัญมาก.. ผู้นำนี้สำคัญมาก..” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ ถ้าผู้นำที่เป็นคุณจะไปเปิดตาเขา

จะไปรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะไปเปิดตาเขานะ แต่เขาต่อต้าน “ไม่ให้พักๆ” “สมณะไม่ให้สมณะพัก แล้วสมณะไปพักที่ไหนล่ะ” เวลาเขาให้พักแล้วนะ ถ้าเวลาสมณะนี้มาพัก เพราะชฎิล ๓ พี่น้องเป็นอาจารย์ของกษัตริย์ เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสาร กลัวว่าลาภยศ เดี๋ยวใครมาแล้ว ถ้ามาเห็นเข้า เขาจะเคารพรัก ให้ไปพักที่โรงไฟเพราะโรงไฟมีพญานาค คิดว่าอยู่ไม่ได้หรอก อยู่ไม่ได้เพราะเขามีฤทธิ์มีเดชของเขา

นี่ไงฌานโลกีย์ เขามีฤทธิ์มีเดชเขามีอะไรต่างๆ เวลาให้ไปพักอยู่ที่โรงไฟ ไปดูว่าอยู่ไหม.. อยู่ เพราะอะไร ถามว่าพญานาคอยู่ไหน.. “อยู่ในบาตรนี้” “เอ๊ะ สมณะนี้มีความสามารถมาก สมณะนี้เก่งมาก แต่ไม่เท่าเรา” ไม่เท่าเราคือทิฐิมานะไงว่าเรานี้เป็นพระอรหันต์ จนถึงที่สุดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธอไม่ใช่พระอรหันต์ เธอไม่ใช่!” พอเธอไม่ใช่ขึ้นมามันก็สลดใจ เพราะอะไร เพราะเขาก็รู้ว่าเขาไม่ใช่ เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร เขาบูชาไฟ ทำตบะธรรมนี้เป็นพระอรหันต์หรือ บูชาไฟอย่างนี้ ทำตบะอยู่อย่างนี้ นี่ไงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับอุททกดาบส อาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๘ มามันก็ไม่ใช่อยู่แล้ว

พูดถึงว่า ผู้นำที่เป็นคุณทั้งรู้ถึงความจริง เสวยวิมุตติสุขเข้าถึงสัจจะความจริงมาแล้วนะ มันรู้หมด เพราะเราเคยอยู่ในสถานะนี้มาแล้ว เข้าฌานสมาบัติเราก็รู้มาแล้ว ขนาดว่าอาฬารดาบสรับประกัน ยังไม่ยอมรับเลย พอเข้าถึงความจริง ที่ว่า “ธรรมะไม่เสื่อมๆ” มันต่างกันอย่างไรกับสมาบัติ ๘

นั้นสมาบัติ ๘ แล้วนี่ตบะธรรม ตบะธรรมมันจะสูงส่งขนาดไหน “เธอไม่ใช่พระอรหันต์ เธอไม่ใช่!” ตัวเองก็รู้ รู้ก็สลดใจ เพราะบูชาไฟ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อาทิตตปริยายสูตร “รูปเป็นของร้อน ตาเป็นของร้อน หูเป็นของร้อน ทุกอย่างเป็นของร้อน” ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะโทสัคคินา โมหัคคินา ร้อนเพราะไฟ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ

เวลามันแทงเข้าแทงใจนะ พอแทงใจขึ้นมา สำเร็จหมดเลย ชฎิล ๓ พี่น้องก็ลอยบริขารของตัวเองไป เวลาพี่ใหญ่ลอยไป น้องตามมาๆ จนสำเร็จหมด ถึงเวลาที่พระเจ้าพิมพิสารจะมาเยี่ยม สมณะก็นั่งเรียงเป็นแถวเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านอายุน้อยกว่า พระเจ้าพิมพิสารมีความสงสัยนะ “ใครเป็นอาจารย์ของใคร?”

ชฎิล ๓ พี่น้องมีอายุที่แก่กว่า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอายุที่อ่อนกว่า แล้วตัวเองก็เคยเคารพชฎิล ๓ พี่น้อง แล้วนี่ใครเป็นใคร? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกกับชฎิลว่า “เธอจงแสดงตัว” เหาะขึ้นไปแล้วลงมากราบ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเรา” จนพระเจ้าพิมพิสารยอมรับ

นี่พูดถึงว่า อาจารย์ที่เป็นคุณจะเป็นคุณมาก จะเป็นคุณนะผู้นำที่เป็นคุณ ผู้นำสำคัญ พุทธศาสนา ศาสนาของเรามีผู้นำตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วก็มีครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมา ผู้นำที่เป็นคุณ

ถ้าผู้นำที่เป็นโทษนะ มันทำความเสียหายไปมหาศาล เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านออกมาประพฤติปฏิบัติ พูดถึงถ้าผู้นำที่ดีจะชี้นำทางเรามาตลอด แต่ถ้าผู้นำที่ ไม่เข้าถึงสัจธรรม “ธรรมะนี้ไม่เคยเสื่อม” ธรรมะไม่เคยเสื่อม แต่บุคคลมันเสื่อม

บุคคลมันเสื่อมใช่ไหม เราเกิดมาเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเราต้องแก้ไขของเรา เราต้องประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราถึงจะรู้จริงได้ ถ้าเราไม่มีความรู้จริง เราจะเอาอะไรไปสอนใคร

เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันนะ หลวงปู่เสาร์ท่านไปเอาหลวงปู่มั่นออกมาบวช แล้วก็พาหลวงปู่มั่นออกธุดงค์ เวลาสิ่งใดแก้ไข หลวงปู่เสาร์ท่านแก้หลวงปู่มั่นมาตลอด ถึงที่สุดแล้วหลวงปู่มั่นท่านก็พยายามประพฤติปฏิบัติของท่าน หลวงปู่มั่นมาถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า “เราไม่รู้ ต้องค้นคว้าเองต้องหาเอง” หลวงปู่เสาร์ท่านก็สอนประสาที่ท่านรู้ ท่านทำเป็นตัวอย่าง

หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านไป ถึงที่สุดแล้ว หลวงปู่มั่นท่านผ่านเป็นขั้นเป็นตอนมา ท่านก็มาปรึกษาหลวงปู่เสาร์มาแก้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ก็ฟังท่านเชื่อท่าน

นี่เราจะบอกว่า ถ้าผู้นำที่เป็นคุณ คือจิตใจเขาสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว เขาจะชี้นำเราได้ทั้งนั้นเลย แต่พวกเราเวลาบวชแล้วเป็นนักปฏิบัติมา ผู้นำของเราถ้าเป็นสุภาพบุรุษ ถ้ายังไม่ถึงธรรมนะ เราก็คบกัน ดูแลกันเป็นหมู่เป็นคณะกัน เราเคารพธรรมวินัย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ถามประจำว่า “แล้วจะทำอย่างไรต่อไปๆ” “อานนท์เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งที่เราได้เทศนาว่าการไปแล้ว สิ่งที่เราบัญญัติไว้แล้วจะเป็นศาสดาของเธอ ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสนาของเธอ”

เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ก็ธรรมวินัยนี้แหละ เอาธรรมวินัยนี้เป็นศาสดา ปรึกษากัน ดูแลกัน นี่ไงถ้าเราเป็นสุภาพบุรุษ เราเป็นหมู่เป็นคณะกัน ถ้าจิตใจเราไม่เป็นธรรม เราก็รู้อยู่ว่าไม่เป็นธรรม แต่ในเมื่อเราอยู่ด้วยกัน เราเคารพธรรมวินัย อาวุโส ภันเต เราก็จะเคารพกัน เราปรึกษากันเพื่อประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ

ถ้าจิตใจที่มันเป็นธรรม ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปสงสัยเลย เพราะเราปฏิบัติสิ่งใดไป ท่านจะบอกมา ท่านบอกเราตลอด จิตใจที่สูงกว่ามันดึงจิตใจที่ต่ำกว่า ท่านจะพูดตลอด ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นเป็นอย่างไร ถ้าศีลเราไม่ปกติท่านจะบอกเลย มันมีของมันอยู่แล้ว ถ้าบอกเราก็พยายามของเรา

ถ้าจิตใจที่เป็นคุณธรรม อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นธรรม ท่านชักนำเราไปได้อยู่แล้ว แต่ถ้าวาสนาของคน เวลาเราเกิดมา ครูบาอาจารย์ที่เราไปอาศัยอยู่ด้วย ท่านไม่มีคุณธรรมล่ะ ถ้าท่านไม่มีคุณธรรมแต่ท่านเป็นผู้นำที่ดี ท่านจะชี้นำเราด้วยธรรมและวินัย ถ้าธรรมวินัยนี่มันถูกต้องชอบธรรมนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ถ้าอาจารย์ของเราท่านไม่มีคุณธรรม แต่เราเคารพท่านด้วยธรรมวินัย ท่านจะบอกเราด้วยความจริงนะ แล้วเราจะช่วยกันประพฤติปฏิบัติ ช่วยกันรื้อค้นไปสู่สัจจะความจริง

ถ้าใจเป็นธรรม! เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านปรึกษากัน ท่านพยายามหาทางออกมาด้วยกัน ถึงที่สุดแล้วจะพากันไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ถ้าจิตใจมันเป็นธรรม

แต่ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรม มันไม่ออกมาเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรม มันจะเฉไฉออกไป แล้วเราก็เคารพกันว่าอาวุโส ภันเต ผู้นำที่เป็นภัยมันมีนะ แต่ผู้นำที่เป็นธรรมจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามีธรรมะในหัวใจยิ่งเป็นประโยชน์กับเรามหาศาลเลย ถ้าไม่มีธรรมะในหัวใจ ท่านก็เป็นสุภาพบุรุษ เวลาแก้ไขกันก็เกิดธรรมและวินัย

ธรรมและวินัยคือตำรับตำรา คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ แล้ว เรามาวิเคราะห์วิจัยกันเพื่อจะหาช่องทางนั้นเพื่อจะผ่านไป มันผ่านไปได้ แต่ผู้นำที่เป็นภัย ถ้าไม่มีความจริงในหัวใจ แล้วยกตนขึ้นเป็นผู้นำ มันบิดเบือนนะ ถ้าผู้นำที่เป็นธรรมเวลาเราติดขัดติดข้องของเราขึ้นมา ไปถามท่าน ท่านจะชี้นำ

ถ้าท่านตอบไม่ได้ ท่านไม่ได้รู้จริง ท่านก็ต้องเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเฉลยกับเราใช่ไหม พอเฉลยขึ้นมาเราก็จะค้นหาด้วยความเป็นข้อเท็จจริงนั้น

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรม ท่านเบี่ยงเบนไปว่าเป็นอย่างนั้นๆ อันนี้หนึ่งนะ สอง เวลาเรายกตนว่าเราเป็นอาจารย์ เวลาเขามาถามปัญหาขึ้นมา เราตอบเขาไม่ได้ พอตอบเขาไม่ได้ มันตอบไปโดยความฉ้อฉล ถ้าเราตอบไปโดยการฉ้อฉลด้วยการเบี่ยงเบน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะไปได้จริงไหม?

นี่คือผลเสีย ผลเสียคือว่าเวลาเราถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ แต่ถ้ายกตนขึ้นเป็นอาจารย์แล้วไม่รู้ก็ไม่ยอมบอกว่าไม่รู้ มันก็แสดงออกไปในทางความเห็นของตัว เป็นความเห็นของโลก ความเห็นอะไรต่างๆ แล้วผู้ที่ปฏิบัติใหม่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็ต้องเชื่อไปก่อน

ความเชื่อไปก่อนนั้นทำให้เสียหาย เสียหายเพราะอะไร เสียหายเพราะสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัตินะ ดูสิเรากำหนดทำความสงบของใจ กว่าใจมันจะสงบได้มากน้อยมันก็เป็นความทุกข์ขนาดไหน แล้วเวลามันบอกว่า ครูบาอาจารย์ท่านฉ้อฉลออกไปว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ถ้าบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วกลัวว่าเขาจะมารู้ตับรู้พุงของตัว ก็พาออกนอกลู่นอกทาง นี่ไงมันเสียหายแบบนั้น ถ้าผู้นำที่เป็นภัยนะ ปฏิบัติไปมันจะไม่ได้เป็นความจริง

ฉะนั้นพุทธศาสนานี้ประเสริฐมาก เราเป็นชาวพุทธ เราเคารพธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราหวังกันเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ปฏิบัติเราก็อยากให้มีผู้ที่รู้จริงคอยชักนำเรา แล้วเราจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติได้ พอปฏิบัติเราก็ขวนขวายของเรา ถ้าปฏิบัติของเรานะ

๑.มันเสริมให้เรามีเชาว์ปัญญา เสริมให้เราอยู่ในสังคมด้วยความมั่นคง ความมั่นคงเพราะเหตุใด ความมั่นคงเพราะเรามีสติปัญญาไง ถ้าเรามีสติปัญญานะ ความเป็นมนุษย์เราเห็นคุณค่าของมันแล้ว ใครจะมาฉ้อฉลเอาสิ่งใดมาล่อมาหลอกเราจะมีจุดยืนของเรา คนที่เขาเสียกันไป หรือที่เขาเชื่อกันไป เพราะเขาเห็นสิ่งที่เขามาล่อมาหลอกว่า สิ่งนั้นมันมีคุณค่าแล้วทิ้งความเป็นคนของเรา เพื่อจะหาสิ่งเล็กสิ่งน้อยนั้นเพื่อประโยชน์กับตนเอง มันก็เลยไม่มั่นคงในชีวิต

ฉะนั้นเรามาปฏิบัติถ้ามันถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็ปฏิบัติขึ้นมาให้เรามั่นคงในชีวิตนี้ ให้ชีวิตนี้สืบทอดไป ให้ชีวิตนี้ทั้งชีวิตมีจุดยืนของเรา เราจะอยู่ในพุทธศาสนา ให้ศาสนาเป็นที่พึ่งของเรา ฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติไป ถ้ามันเป็นความจริง สงบมันก็คือความสงบ ถ้ามีความสงบจริง “ศีล สมาธิ ปัญญา” นะ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา เวลาสอนลูกศิษย์ ถ้าจิตใจของลูกศิษย์ยังไม่มีความสงบ ก็พยายามให้อยู่

เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านฝึกพระ ท่านต้องให้พระมาฝึกก่อน ฝึกข้อวัตรปฏิบัติ การฝึกข้อวัตรปฏิบัติเขาเรียกว่า “เครื่องอยู่” ถ้าจิตมันไม่มีเครื่องอยู่ เราจะเอาธรรมะกัน เราปฏิบัติแล้วเราจะเอาให้เป็นพระอรหันต์กัน แล้วเอาอะไรเป็นข้อพิสูจน์ความเป็นพระอรหันต์ เอาอะไรเข้าไปสู่ความสิ้นสุดแห่งทุกข์ล่ะ ก็เอาจินตนาการเอาความรู้ของตัว เหมือนกับเอาสีข้างเข้าถู ถูไปเรื่อย สีข้างเลือดนี่สาดเลย แต่แล้วมันจะเข้าไปสู่ความจริงตรงไหนล่ะ

แต่ถ้ามาฝึก เริ่มต้นจากหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน เวลาเขามาจะเอามาฝึกก่อนให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ ถ้ารู้จักข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา จิตใจมันอาศัยข้อวัตรปฏิบัตินี้ เข้าไปดัดแปลงตน ถ้าอาศัยข้อวัตรปฏิบัติเข้ามาดัดแปลงตน มันมีเครื่องอยู่แล้ว มันก็ไม่เร่ร่อน

ความเร่ร่อนของใจ พอใจเร่ร่อนคิดสิ่งใดก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ อ้างตนยกตนว่าตัวเองมีธรรม แล้วมีธรรม.. มีธรรมที่ไหนล่ะ มีธรรมเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อ้างว่ารู้ไปๆ

อาจารย์ที่เป็นภัย ผู้นำที่เป็นภัยมันจะทำให้เราเสียหาย แต่ถ้าผู้นำที่เป็นคุณนะ จะคอยชี้นำชี้แนะเก็บเล็กผสมน้อย หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านอยู่ที่หนองผือ หลวงตาท่านบอกว่า “หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร? ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเก็บเล็กผสมน้อย ท่านทำตัวของท่านเป็นตัวอย่าง ท่านอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติให้เรามั่นอกมั่นใจว่าผู้นำของเรา”

ผู้นำที่เป็นคุณ ท่านเอาชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างให้เราเดินตาม ผู้นำที่เป็นภัย กลัวเขาจะรู้ถึงพฤติกรรมของตน พยายามชักนำให้เขาออกนอกลู่นอกทาง ข้อวัตรปฏิบัติสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ก็บอกว่า สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ ข้อวัตรปฏิบัติที่ควรเป็นประโยชน์ มันทำให้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ มีที่ยึดมั่นถือมั่น

ถ้าหัวใจไม่มีหลักมีเกณฑ์เลย มันไปอยู่ที่ไหนมันก็เร่ร่อน เพราะผู้นำที่เป็นภัยใจมันเร่ร่อนอยู่แล้ว มันก็ต้องการให้ลูกศิษย์ลูกหาเร่ร่อนไปเหมือนอย่างเขา แต่เวลาสมอ้างว่า สิ่งนี้เป็นธรรมๆ เราก็เชื่อกันว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันสะดวกสบายใช่ไหม ไม่ต้องทำสิ่งใดเลยใช่ไหม เร่ๆ ร่อนๆ ไปแล้วมันก็จะเป็นธรรมๆ อย่างนี้ผู้นำที่เป็นภัย เป็นภัยที่ไหน เป็นภัยเพราะว่าเราไปอาศัยใครอยู่ก็แล้วแต่ เราไม่มีจิตใจ

จิตใจเราไม่ประพฤติปฏิบัติไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราจะรู้จริงกับเขาไม่ได้หรอก เพราะเราปฏิบัติใหม่ เราก็ต้องหาครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งใช่ไหม แล้วด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณยกตนว่าเป็นอาจารย์ เราก็เชื่อกัน เราก็ไปกัน แล้วกิเลสเราก็มีใช่ไหม ใจเรามีกิเลสอยู่แล้ว เราก็มีความหวัง มีเจตนาว่าจะพ้นจากทุกข์ อยากจะประพฤติปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดสิ่งใด ว่าเป็นความเห็นเป็นสิ่งที่จะชักออกนอกลู่นอกทาง มันก็เข้ากับกิเลสเรา เพราะกิเลสเราชอบอยู่แล้ว

กิเลสเรามันชอบความสะดวกสบาย มันชอบจรวดดาวเทียม มันชอบสิ่งอะไรที่มันเวอร์ๆ นะ นั่นนะมันเรื่องของกิเลสมันชอบกัน แล้วถ้าเขาบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย มันจะเกิดเอง สมาธิปัญญามันจะเกิดของมัน เราดูของเรา ดูไป เห็นไป รู้ไป มันจะเป็นของมัน มันก็เชื่อมันก็ทำไปเพราะอะไร เพราะสังคม กลุ่มชน เห็นเขาประพฤติปฏิบัติไปมันก็ตามเขาไป

แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติ ก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นความทุกข์ความยาก ลำบากลำบนไปหมดเลย สิ่งที่เป็นความทุกข์ความยากเพราะ “หวานเป็นลมขมเป็นยา” บอระเพ็ดมันมีความขมนะ แต่ถ้าเอามาฉันมากินของเรานะ มันจะต้านทานโรคได้ มันจะเป็นประโยชน์กับร่างกาย “หวานเป็นลมขมเป็นยา” ทุกๆ คนก็ต้องการของหอมหวาน

สิ่งที่หอมหวานกิเลสมันก็ชอบ สิ่งที่ขม ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นความขม มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย ทำโน่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ผิดไปทั้งหมดเลย ผิดมันผิดตรงไหนล่ะ ผิดเพราะมันไม่พอใจใช่ไหม ผิดเพราะกิเลสมันไม่พอใจ

กิเลสมันไม่ได้แสดงตนของมัน กิเลสมันไม่ได้ออกลวดลายของมัน เราก็ไม่พอใจทั้งนั้น แต่พอเราบังคับขึ้นมา การฝืนจิตของเรา การฝืนความรู้สึกของเรา คือการฝืนกิเลส กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเราทั้งนั้น แล้วเวลาเราฝืนกิเลสด้วยข้อวัตรปฏิบัติ จิตของเรามันก็มีหลักมีเกณฑ์เป็นเครื่องอยู่ พอมีเครื่องอยู่มันก็มีขอบเขตของมันใช่ไหม เพราะมันมีขอบเขตเข้ามา เวลาเราจะมากำหนดพุทโธ เรากำหนดปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เหมือนสัตว์ที่เราผูกมันไว้ สัตว์เลี้ยง ดูสิโคควายเขาเลี้ยงปล่อย ถึงเวลาหมดหน้านาเขาก็ปล่อยเข้าป่าไป เขาต้องคอยตามไปดูนะ เดี๋ยวมันจะเตลิดเปิดเปิงไป

เวลาจะจับมัน ถึงหน้านา เขาต้องไปคัดแยกกันว่าเป็นของใครๆ นี่คือสัตว์ปล่อย หัวใจเราปล่อยเร่ร่อนมาตลอด แล้วพอถึงเวลาแล้วเราจะเอามันมาพุทโธๆๆ แต่ถ้าเราผูกของเราไว้ มันกินหญ้าที่ไหนเราก็เอาเชือกผูกไว้ ตอกหลักไว้ผูกมันไว้ เวลาเราจะใช้มันเราก็ไปจับมันมาเลย ข้อวัตรปฏิบัติมันก็คอยให้ใจเกาะเกี่ยวไว้ เกาะเกี่ยวมีข้อวัตรปฏิบัติมีสติปัญญารักษาใจเราไว้ ถึงเวลาแล้วเราจะกำหนดพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ง่ายขึ้น

นี่ไงครูบาอาจารย์ของเราท่านวางกรอบไว้ให้ เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นคุณ อาจารย์ที่เป็นคุณ ผู้นำที่เป็นคุณ ผู้นำที่ดี ท่านจะเอาชีวิตของท่าน เอาความจริงของท่าน ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา อาฬารดาบสรับประกันขนาดไหนท่านก็ไม่เอา ท่านปฏิบัติของท่านจริง รู้ของท่านจริง แล้วพอรู้จริง ความจริงอันนั้นกับความปลอมมันแตกต่างกัน!

ความจริงคือความจริงที่พิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้โดยปัจจัตตัง สัณทิฏฐิโก จิตมันพิสูจน์เอง ล้มลุกคลุกคลานเราก็ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน แต่ถ้าความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นมา เพราะการกระทำตามความเป็นจริง ผู้นำที่เป็นคุณท่านทำของท่านจริงขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมา พวกเรามันอ่อนแอเกินไป เราต้องการความสะดวกสบายเกินไป เราต้องการความมักง่ายเกินไป

แล้วพอผู้นำที่เป็นภัยมา เขาเอาภัยนั้นมาทำร้ายเรา เรายังไม่รู้ตัว แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีหลักมีเกณฑ์นะ ท่านมีหลักของท่าน ท่านรู้หมด รู้เพราะอะไร รู้เพราะว่า สิ่งนั้นมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นไปได้นะ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้ามีความปกติของใจ ความปกติของใจคือศีล

ถ้ามีศีลขึ้นมาตามความเป็นจริง จะไม่กะล่อน! จะไม่พูดบิดเบือน ถ้าพูดบิดเบือนมันก็ผิดศีลอยู่แล้ว คนที่มีคุณธรรมมันผิดศีลได้อย่างไร มันผิดศีลเพราะมันรู้ตัวไง แต่เวลาหลวงปู่ตื้อ ครูบาอาจารย์ของเรา อันนั้นไม่ใช่ผิดศีล อันนั้นไม่มีเจตนา เป็นกิริยาเฉยๆ กิริยามันแสดงออกอย่างไร มันแสดงออกโดยไม่มีมารยาสาไถย

ถ้าเป็นผู้นำที่เป็นคุณ ไม่มีมารยา มันไร้เดียงสา มันดูสะอาดบริสุทธิ์ไปหมด เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นนิสัย แต่ถ้ามันไม่มีคุณธรรม มันมีมารยาสาไถย ทำไมต้องมีมารยากับลูกศิษย์ล่ะ ทำไมต้องมีมารยากับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติล่ะ ถ้ามันมีมารยากับผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลาหมอเขาให้ยา ยาหมดอายุ ยาที่มันผิด ยาปลอม นี่ไงมารยามันเป็นอย่างนั้น มารยาคือยาคุณภาพต่ำ ยาที่ไม่มีคุณภาพ เวลารักษาแล้วมันกลับไม่เป็นประโยชน์

แต่เพราะว่าความเป็นภัย ด้วยความฉ้อฉล ด้วยเล่ห์กลของเขา ด้วยวุฒิภาวะของเราไม่ทัน อาจารย์ที่เป็นภัยจะเป็นภัยกับเรามากนะ เป็นภัยแล้วเวลาทำไปมันก็ไม่มีความจริงสิ่งใดเลย ถ้ามีความจริงนะ เวลาจิตมันสงบเข้ามา คนต้องพูดถึงความสงบถูกต้อง

ความสงบที่เป็นสัมมาสมาธิ บริกรรมพุทโธแล้วจิตมันลงสู่ขณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเข้าอย่างไร คำว่าทำความสงบของใจ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เป็นคุณ แต่ถ้าเป็นสมาธิที่เป็นโทษ เป็นสมาธิมันเป็นมิจฉา เป็นมิจฉาเพราะเหตุใด มิจฉาเพราะว่า เรากำหนดขนาดไหน มีความมั่นคงขนาดไหน แต่เวลามันลงเป็นสมาธิไปแล้วมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตรงไหน ใช้ประโยชน์ตรงที่ว่ามันออกรู้ไม่ได้ไง

สมาธินะ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้าสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยสัจธรรม ด้วยความเป็นจริง แต่ถ้าพอจิตมันสงบแล้ว พอมันเห็นกายขึ้นมา มันพิจารณากายได้จริงหรือเปล่า ถ้ามันพิจารณากายได้จริง มันก็เกิดวิปัสสนา ถ้ามันพิจารณากายไม่จริงมันก็เกิดนิมิต

ความที่เห็นเป็นนิมิต ครูบาอาจารย์ที่เป็นภัยนะ ผู้นำที่เป็นภัย เขาไม่รู้จริงของเขา ความไม่รู้จริงของเขา พื้นฐานมันไม่มี พอพื้นฐานไม่มี สิ่งที่พูดออกมาเอาอะไรมาพูด มันก็สัญญาทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะสังคมกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการตลอด นี่ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นเพชรแท้ เป็นความจริงมันมี

ทีนี้เพชรแท้ความจริงมันมี ก็อาศัยเพชรแท้นั้น อาศัยความจริงนั้น แต่มันเป็นสัญญาขึ้นมาจากใจของเรา ผู้นำที่เป็นภัยอาศัยสัญญานั้นด้วยความสำเร็จรูป สัญญานั้นเป็นความสำเร็จรูปนะ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นสัญญาไหม?.. เป็น!

แต่สัญญาที่มันเป็นสัญญาขึ้นมาก่อน เพราะการที่เราฟังมาเป็นสัญญาขึ้นมาก่อน แต่สัญญานี้ เราเอามาเป็นประเด็น เอามาเป็นสิ่งที่ให้หัวใจเราได้ฝึกฝน การฝึกฝนจากสัญญาขึ้นไป ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป สัญญาทั้งนั้น! ปริยัตินะจำมาจากสัญญาหมดเลย แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เกิดขึ้นมา มันก็เป็นสัญญาเหมือนกัน แต่สัญญาด้วยข้อเท็จจริงที่มันต้องเป็นสัญญาจากการประพฤติปฏิบัติเป็นพื้นฐานไปก่อน

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นภัยมันไม่รู้จักว่าสัญญานี้เป็นสัญญาไง สัญญานี้เพราะทำจากเพชรแท้ ทำจากครูบาอาจารย์ก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงเพราะท่านมีที่มาที่ไปใช่ไหม ท่านรู้จักว่าจิตมันสงบแล้วออกพิจารณาอย่างไร พอพิจารณาแล้วมันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาอย่างไร ท่านซ้ำเข้าไปเพื่อให้มันถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้อย่างไร

มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาตามข้อเท็จจริงนั้น โดยไม่มีมารยาสาไถยจากเพชรแท้ที่เทศนาว่าการมา แต่ผู้นำที่เป็นภัยเพราะตัวเองไม่มีพื้นฐาน ตัวเองไม่มีความเป็นจริงในหัวใจ ก็อาศัยสิ่งนั้นมาแสดงออก แต่! แต่การแสดงออกมันแสดงออกโดยการสำเร็จรูป มันเป็นรูปธรรม สำเร็จรูปด้วยการไม่เป็นธรรม

เป็นรูปธรรมแต่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมเพราะอะไร ไม่เป็นธรรมเพราะว่า การที่เป็นธรรมนั้น ศีล ความปกติของใจ ศีล-อธิศีล สมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว สมาธินี้เป็นสัมมาสมาธิ มีสติมีปัญญาขึ้นมา มันออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

พอออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันมีการแยกแยะ มีการจับต้อง จับจิตจับกาย มันได้กายด้วยความเป็นจริง มันแยกแยะกายออกไป มันปล่อยวางกายด้วยสภาพอย่างไร ถ้ามันจับเวทนา เวทนานี้เป็นเราหรือไม่เป็นเรา ถ้าเวทนาไม่เป็นเรา เราปล่อยเวทนาอย่างไร

แล้วถ้ามันรู้มันจับจิต จิตเศร้าหมองจิตผ่องใส มันรู้ว่าเป็นสภาพของจิตที่มันพัฒนาการ สภาพของจิตที่มันเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน เปลี่ยนแปลงจากโสดาปัตติมรรคเป็นโสดาปัตติผล มันมีการกระทำของมัน กระบวนการของมันเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาธรรมอารมณ์เกิดจากอะไร ธรรมอารมณ์มันมีกระบวนการของมันอย่างไร

นี่! ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ผู้นำที่เป็นธรรมท่านจะคอยบอกเรา คอยอธิบายให้เราฟัง เพราะว่าในการกระทำ ดูสิ เราทำอาหารเราทำขนมนมเนยต่างๆ เราต้องมีการกระทำ ถ้าไม่บอกถึงเคล็ดลับไม่บอกถึงการกระทำ อาหารนั้นมันจะสมดุล อาหารนั้นมันจะอร่อยได้อย่างไร เราทำเราก็ทำเปิดตำราเลย น้ำตาลเท่าไร แป้งเท่าไร ก็ใส่เข้าไป คนๆๆ มันออกมา ถ้าไม่เป็นมันก็คือไม่เป็น

อาจารย์ที่เป็นภัยไม่เป็น พอไม่เป็นการแสดงออกจากเพชรแท้จากครูบาอาจารย์ อ้างอิงสิ่งนั้นมา นี่ความเป็นภัยไง ความเป็นภัย ตัวเองไม่รู้ พอมันจะเป็นความจริง ลูกศิษย์จะทำ ก็อธิบายให้ลูกศิษย์รู้ไม่ได้

ของไม่เคยทำ รู้ไม่ได้!

ถ้ารู้ไม่ได้ จะพูดได้อย่างไร ก็พูดออกมาแล้วมันเป็นสัญญาทั้งนั้น! ก็ที่พูดออกมามันไม่มีความจริงเลย ถ้ามันมีความจริงอยู่ ความจริงกับความจริงมันจะขัดแย้งกันได้อย่างไร ความจริงมันขัดแย้งความจริงไม่ได้หรอก แต่ความจอมปลอมกับความเป็นจริงเขาขัดแย้งได้ เขาตีแผ่ได้ เขาแยกแยะให้เห็นว่าถูกผิดได้

นี่ไงอาจารย์ที่เป็นภัย ผู้นำที่เป็นภัย ไม่บอกว่าตัวเองเป็นภัย จะบอกว่าตัวเองเป็นคุณ แต่ถ้าผู้นำที่เป็นคุณนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นคุณ จะคอยชี้นำ จะคอยให้เราฝึกฝน การเป็นจริงมันอยู่ที่การฝึกฝนของเรา ในเมื่อการฝึกฝนของเรา จิตดวงนั้น มีการฝึกฝนขึ้นมา มันต้องอยู่ในกรอบไง

การฝึกฝน ถ้ามันไม่อยู่ในกรอบจะฝึกฝนอย่างไร ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติจะฝึกฝนอย่างไร แล้วข้อวัตรปฏิบัตินี้ปล่อยมันหละหลวม ปล่อยให้มันเฉไฉให้มันมีอะไรต่างๆ ขึ้นไป มันจะมีการปฏิบัติอย่างไร ดูสิตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นขึ้นมา ดูหลวงตาสิ ท่านเข้มงวดขนาดไหน การเข้มงวดนี่คือการดูแลรักษาจิต แล้วถ้าเราไม่เข้มงวดไม่รักษาจิตของเรา มันจะไปรักษาอะไรล่ะ

สมบัติในโลกนี้มันมีคุณค่าอะไรที่จะให้รักษา มันก็มีจิตของเราที่จะให้รักษา ถ้ามีจิตให้รักษา แล้วรักษาอย่างไร นี่ไงผู้นำที่เป็นคุณ ผู้นำที่เป็นคุณท่านให้เรารักษาให้เราดูแล ดูสิ ทำโน่นก็ผิดทำนี่ก็ผิด พอทำอะไรไปท่านตบมือทิ้งเลย ตบมือเราออกเลย นั่นมันร้อน นั่นมันไฟ นั่นมันไม่ดี

นี่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านพูดจริง แล้วร้อนอย่างไร ไม่ดีเพราะอะไร มันมีเหตุมีผลไง มันรู้จริง ความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ ฉะนั้นเราต้องดูแลเรา เราปฏิบัติไป ถ้าจิตของเรานะ เราจะตรวจสอบผู้นำของเรา เราเอาพื้นฐานของเราถามท่าน ถ้าถามท่านนะ พื้นฐานท่านยังทำไม่ได้เลย จะเป็นผู้นำเราได้อย่างไร

ถ้าเป็นผู้นำเราไม่ได้ ท่านสถาปนาตัวขึ้นมาเป็นผู้นำเราทำไม? นี่มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของโลกๆ ไง ธรรมไม่ควรเป็นอย่างนั้น! ถ้าผู้นำที่ดี ครูบาอาจารย์เราที่ดี ท่านจะนำเราไปสู่ความถูกต้อง ถ้าความถูกต้องนะ ในการประพฤติปฏิบัติ ชีวิตเรามีค่าที่สุด ถ้าเรามารู้ตัวว่า การกระทำของเรามันควรจะไปในทางที่ดีกว่านี้ แต่มีผู้นำที่ชักนำให้เราออกนอกลู่นอกทาง เรามารู้ที่หลังเราจะเสียใจไหม มันเสียใจเพราะเราเสียเวลานะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่เป็นความจริง

๑.เสียเวลา

๒.ทำให้เราเชื่อมั่นในความผิดนั้น

ในความผิดนั้นในความที่ไม่ใช่ธรรมนั้น เรากลับไปเชื่อในสิ่งนั้น เชื่อในสิ่งนั้นเพราะอะไร เชื่อในสิ่งนั้นเพราะมันเป็นหวาน ขนมนมเนย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง มันขมมันเป็นยา ธรรมรส รสของธรรมชนะรสทั้งปวง มันเป็นธรรมาวุธที่จะเข้าไปชำระกิเลส เป็นธรรมาวุธเป็นการชำระกิเลส เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นตามความเป็นจริง

เราทำตามความเป็นจริงใช่ไหม พอจิตมันสงบ แล้วถ้าจิตไม่สงบเราจะทำอย่างไร จิตไม่สงบเราอาศัยข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ ให้จิตนี้มันอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้มันมีข้อวัตรให้มันมีจุดยืนของมัน แล้วพยายามทำความสงบของใจเข้าไป ถ้าใจมันสงบแล้ว ข้อวัตรนั้นถนอมรักษามาก เพราะข้อวัตรนั้นทำให้จิตเราไม่ออกนอกลู่นอกทาง แต่ถ้าจิตมันไม่สงบ ข้อวัตรนั้นเป็นยาขม เป็นสิ่งที่มันพะอืดพะอม

แต่ถ้าพอจิตมันดีขึ้น มันเห็นคุณไง พอความเห็นคุณอันนั้น ความเป็นอยู่ในชีวิตของเรา มันจะร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นการคายออกของทิฐิมานะทั้งนั้น เพื่อจะเข้าไปสู่ความนุ่มนวล ความสมควรที่จิตมันเป็นจิตตั้งมั่น จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา

นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาสอนถึงพุทธะ สอนถึงความรู้ สอนถึงหัวใจของเรา ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา มันเห็นประโยชน์ในการกระทำ จับต้องสิ่งใดมันมีแต่ความสุข มันมีแต่ความพอใจ จับต้องสิ่งใดมันมีแต่ความขยะแขยง มันมีแต่ความเร่าร้อน มันแตกต่างกันไหม

แล้วมันจับต้องสิ่งใดมันถึงมีแต่ความสุขล่ะ ความสุขเพราะมันใช้ปัญญาแยกแยะไงว่า สิ่งนี้เป็นคุณกับหัวใจของเรา สิ่งนี้เป็นคุณ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ พอสิ่งนี้เป็นคุณเป็นประโยชน์มันก็พอใจ มันก็มีความสุข พอมีความสุขเราก็ใช้ปัญญาได้

เมื่อไรจิตเราสงบเราถึงใช้ปัญญา ปัญญานี้ฝึกฝนใช้ได้ตลอด แต่การใช้ปัญญานี้คือปัญญาอบรมสมาธิ การอบรมให้หัวใจเราตั้งมั่น การอบรมหัวใจเราให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าหัวใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา มันมีความพอใจมีความสุขมีการกระทำ พอมันตั้งมั่นขึ้นมาเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เวลาทุกข์ก็หัวใจเรานี้ทุกข์ ผู้นำเราก็อาศัยเท่านั้นเอง

เวลาเราไปอาศัยหลวงตา พ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งครูบาอาจารย์ เพราะผู้นำที่ถูกต้อง ผู้นำที่เรามั่นใจได้

แต่ถ้าผู้นำที่มั่นใจไม่ได้ เราไปอาศัยท่านมันเป็นภัยกับเราเอง ไปอาศัยแล้ว มันทำให้จิตนี้ดื้อด้าน ดื้อด้านเพราะอะไร ดื้อด้านเพราะมันติดสุขไง มันมีความสุขมันมีความสงบ มันมีแต่เรื่องโลกๆ นะ โลกๆ ทำให้มันออกนอกลู่นอกทาง เพราะเราจิตใจมันด้าน จิตใจมันไม่มีความละอายแล้ว มันจะทำอะไรต่อไป เพราะจิตมันดื้อมันด้านแล้ว เราจะเอามาลงมาสู่ความสงบได้อย่างไร

นี่ไงผู้นำที่เป็นภัยเป็นอย่างนั้น ทำให้พวกเรานักรบ ศากยบุตรพุทธชิโนรสมันจะดื้อด้าน หลวงตาท่านใช้คำว่า “ดื้อด้านหาญธรรม” เวลาธรรมะมันกล้าหาญที่จะลบล้างนะ แต่เวลากิเลสลื่นไปเลย ไปทางเดียวกันเลย “ดื้อด้านหาญธรรม!”

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี จิตใจของเราจะนุ่มนวลลงมา จิตใจของเราจะสงบร่มเย็นมา แล้วมันพอใจจะอยู่โคนไม้ พอใจในข้อวัตรปฏิบัติ มันมีความพอใจมันจะกระทำ แต่ถ้าผู้นำที่เป็นภัย มันเอาแต่ความสะดวกสบาย เอาแต่สิ่งโลกๆ มาปรนเปรอกัน แล้วมันก็หน้าไหว้หลังหลอกไง

พอหน้าไหว้หลังหลอกทำให้เราเสียหาย ผู้นำที่เป็นภัย เป็นภัยกับเรานะ แต่ถ้าในตัวของผู้นำที่พยายามจะยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้นำนั้นก็เรื่องของเขา กรรมใครกรรมมัน แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะเอาความจริงของเรา เรามีครูบาอาจารย์เปรียบเทียบได้ แต่พอเราเปรียบเทียบกิเลสมันก็บอกว่า มันลำบากมันทุกข์มันยาก มันอยากจะไปสบายมัน ไอ้นี่มันก็เข้ากันโดยธาตุ

ถ้าธาตุมันเป็นมาแบบนี้ นี่คืออำนาจวาสนานะ อำนาจวาสนาของคน แต่ถ้าเราจะเอาความจริงของเรา ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ชีวิตนี้เกิดมา หายใจก็เป็นทุกข์ ลองคนถ้าเข้มแข็งขึ้นมา เราหายใจก็หายใจโดยสะดวก คนเป็นหวัดเป็นไอ เวลาหายใจก็หายใจลำบากแล้ว หายใจมันก็เป็นทุกข์

ถ้าพูดถึงว่า เราจะวิจัยกันว่าทุกข์มันคืออะไร “ชีวิตนี้ทุกข์เป็นสัจจะทุกข์เป็นความจริง” เราจะประพฤติปฏิบัติเราเป็นชาวพุทธศาสนา ศาสนาที่มีคุณค่ามาก แต่มีคุณค่าตามข้อเท็จจริง ตามความเป็นจริงของมัน ไม่ใช่มีคุณค่าขึ้นมาโดยการเสกสรรปั้นยอ

ความเสกสรรปั้นยอ ให้ผู้นำที่เป็นภัยมาเสกสรร พลิกแพลง ตลบตะแลง เอาธรรมะนี้ไปตามกิเลสของตัวที่ว่ามันเป็น มันไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร ไม่เป็นเพราะอริยสัจมีหนึ่งเดียว ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติจริงมี คนที่ประพฤติปฏิบัติจริงเขารู้ของเขา ดูสิ สิ่งที่เป็นพิษแล้วบอกให้มันเป็นคุณมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นพิษเราก็รู้อยู่ว่าเป็นพิษ กิเลสของเรามีในหัวใจใช่ไหม ทุกคนก็อยากสะดวกสบายทั้งนั้น ทุกคนก็ต้องการเอาลัดเอาสั้น ที่ว่าลัดสั้นแล้วจะเข้าสู่ธรรมะ ทุกคนก็หวังอย่างนั้น

แต่เรามีสติว่า มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันเป็นไปได้จริงเราก็อยากจะเป็นเหมือนกันนะ แต่มันเป็นไปไม่ได้จริงหรอก ขิปปาภิญญานี้คือการกระทำของเขา คือสิ่งที่เขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา ไอ้เราเวไนยสัตว์ดูสิ เวลาศึกษาเรื่องศาสนา มันจะเชื่อไม่เชื่อมันยังก้ำกึ่ง ๕๐:๕๐ มาตลอด จริงไม่จริง ดีไม่ดี มันโลเลมาตลอด แล้วอย่างนี้หรือขิปปาภิญญา ขิปปาภิญญาเขาฟังทีเดียวเขาเชื่อนะ เขาทำด้วยความมั่นคงของเขานะ เขาทำจริงทำจังของเขา เพราะว่าเขามีพื้นฐานของเขา เขาจริงจังเขาก็ไปได้

มันเป็นเอกภาพ ความรู้สึกความนึกคิดมันเป็นเอกภาพมันไปกับเรา แต่นี่ความคิดของเรามันไม่เป็นเอกภาพ เดี๋ยวซ้ายทีขวาที เดี๋ยวก็แยกขึ้นบนลงล่าง มันไปของมันมันไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นเอกภาพก็มาพุทโธซะ ปัญญาอบรมสมาธิซะ ทำให้มันมั่นคงขึ้นมา ให้มันเป็นเอกภาพ พอเป็นเอกภาพ เพราะเราสร้างบุญมาอย่างนี้ เราพิจารณาของเราไป เราทำของเราไป เพราะเราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนานะ

เราเป็นชาวพุทธ เราเลือกนับถือพระพุทธศาสนา เรามีครูบาอาจารย์ เรามีหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น มีครูบาอาจารย์ของเราที่ทำตามความเป็นจริงมา แล้วครูบาอาจารย์เราสอนอย่างนั้นหรือ ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านกระเหม็ดกระแหม่ ท่านเก็บหอมรอมริบทำจริงทำจังขึ้นมา ทำความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้วนะ เราออกหัดฝึกใช้ปัญญาปัญญาไม่หัดฝึกฝนไม่มี! ถ้าเป็นสมาธิ จิตมีความสงบแล้วจะเกิดปัญญาเอง ไม่มี!

แต่ที่เราใช้ปัญญากันอยู่นี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาของโลกไง มันเป็นปัญญาของมนุษย์ มันเป็นปัญญาที่เราฝึกฝน มันเป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของจิตมันออกรู้ ความออกรู้นี้ ออกรู้มาโดยอวิชชา ออกรู้มาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่เพราะเรามีสติ มีศักยภาพ มีบุญญาธิการ เราถึงได้เชื่อในพุทธศาสนา เราศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิเราก็มีแล้ว สติเราก็มีแล้ว ปัญญาเราก็มีแล้ว.. นี่เราคิดของเราเอง แล้วถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นภัยยุยงส่งเสริม “นี่ไงๆ นี่ธรรมเกิดแล้ว โอ้โห สัจธรรมเกิดแล้ว” จินตนาการมันเลยกลายเป็นธรรมะด้นเดาไปหมดเลย ไม่เป็นความจริงสักอย่าง

ผลสรุปมาถึงว่าเป็นมรรคเป็นผล “เป็นแล้วเหรอ? อ้าวทำไมหนูไม่รู้เรื่องเลย”

“ไอ้ไม่รู้นั่นล่ะคือธรรม ถ้ารู้มันเป็นกิเลส”

เราก็ยังเชื่อ นี่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร เพราะผู้นำเป็นภัย เป็นภัยที่ไหน เป็นภัยที่ในใจของเขา ในใจของผู้นำเราเป็นภัย เป็นภัยเพราะเขาไม่รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง เขาก็บอกเราด้วยความถูกต้องชอบธรรมไม่ได้

ถ้าจะแสดงกันด้วยการรักษาหน้า ก็อาศัยสัญญาจากธรรมของครูบาอาจารย์มาพูด มันก็เลยพูดให้ผู้ที่รู้จริงเขาเห็นว่า สิ่งนั้นมันเป็นสัญญารูปแบบของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ความจริงของตัว ถ้าเป็นความจริงของตัว มันจะเกิดจากขั้นตอนจากการทำ

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน เวลากัลยาณปุถุชนจิตมันลงสมาธิแล้ว สมาธิออกรู้อย่างไร สมาธิเห็น ที่บอกว่า เห็นกายๆ เห็นกายอย่างไร ถ้าเห็นกายแล้วมันสะเทือนถึงหัวใจจริงไหม เห็นกายๆ หนังสารคดีมันก็เห็นกาย นักศึกษาแพทย์มันผ่าทุกวัน มันก็เห็นกายเหมือนกัน เห็นกายอย่างไร? ถ้าเห็นกายมันสะเทือนหัวใจไหม?

เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นอย่างไร? เห็นแล้วมันแยกแยะอย่างไร? มันทำกระบวนการของมันต่อเนื่องไปอย่างไร? ถ้าทำกระบวนการของมันต่อเนื่อง นี่ไงคืออริยสัจ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำตรงนี้ไง ถ้าจิตมันสงบแล้ว ออกฝึก ออกฝน ออกค้น ออกหา หลวงตาท่านพูดประจำ “ในการขุดคุ้ยหากิเลสนี้เป็นงานอันหนึ่ง”

ทำความสงบของใจแล้ว กิเลสมันจะวิ่งมาชนเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก พอเราทำความสงบของใจ กิเลสมันสงบกว่านั้น กิเลสมันอยู่ที่ฐีติจิต กิเลสมันอยู่ใต้ความสงบนั้น กิเลสมันไม่โผล่มาให้เห็นหน้าหรอก แต่ถ้าเวลามันฟุ้งซ่านนะ กิเลสมันยุมันแหย่นะ โอ้โห มันออกฟุ้งกระจายไปทั่วโลกเลย แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามา กิเลสมันก็หลบด้วย ไม่มีทางเห็นมัน ไม่มีทางหรอก เพราะอวิชชา ความไม่รู้ของจิตมันอยู่ใต้อย่างนั้น

ฉะนั้นการขุดคุ้ยหา ถ้าเราขุดคุ้ยหาไม่เป็นเราก็รำพึงขึ้นมา ถ้าใครมีอำนาจวาสนามันก็จะเห็นกาย เห็นกายโดยบุญนะ ไม่ใช่เห็นกายโดยอริยสัจ ถ้าเห็นโดยอริยสัจ พอจิตมันจับได้ มันแยกแยะได้ มันมีกระบวนการของมันต่อไป ถ้ากระบวนการมันเกิดขึ้น มันแยกแยะของมัน เวลามันปล่อยวาง มันปล่อยวางด้วยอะไร

นี่ไงการปล่อยวาง การที่มันฟุ้งซ่าน แล้วมันปล่อยความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นสมาธิ นี้อันหนึ่ง นั่นมันเป็นความสุขในขั้นของสมถะ ในขั้นของปัญญาอบรมสมาธิ ในกระบวนการของการปฏิบัติทั้งหมด แม้แต่คนที่ไม่ปฏิบัติ เวลาเขาคิดทบทวนถึงที่สุดแล้ว เขาก็ปล่อยเหมือนกัน เขาปล่อยขึ้นมา มันก็สบายใจไปพักหนึ่ง กระบวนการของมัน กระบวนการในการปฏิบัติทั้งหมด ผลของมันคือสมถะทั้งนั้น แต่เพราะผู้นำเป็นภัย เพราะผู้นำไม่รู้ การปล่อยวางนั้นก็เข้าใจว่าคือมรรคผลนิพพาน

ถ้าการปล่อยวางเป็นมรรคผลนิพพานนะ ไม่ต้องทำอะไร คนเป็นลมมันก็เป็นมรรคผลนิพพาน! เพราะเป็นลมพอมันฟื้นขึ้นมา “หนูไปไหนมา หนูไม่รู้เรื่อง” นี่ไง แล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางแบบคนเป็นลมเหรอ? มันก็ไม่ใช่ มันต้องปล่อยวางตามข้อเท็จจริง มันจะปล่อยวางโดยหัวใจ หัวใจมันมีอวิชชามีความรู้ในตัวมันเอง

การปล่อยวางแต่ละขั้นแต่ละตอนคือตทังคปหาน คือการฝึกหัด การฝึกหัดก็เหมือนเราทำอาหาร การฝึกหัดก็เหมือนกับเราฝึกงาน การฝึกงานฝึกให้เราเป็นงานใช่ไหม จิตใจถ้ามันฝึกหัด ฝึกหัดในอะไร ฝึกหัดในสัจธรรม ฝึกหัดในอริยสัจ เพราะจิตเกิดมามีคุณค่า จิตเกิดมาแล้วตัวจิตมันเป็นตัวสัมผัสธรรม ตัวทุกข์ เวลาทุกข์ จิตมันเป็นทุกข์ เวลาตัวมีความสุขก็ความสุขชั่วคราว ความสุขความทุกข์มันก็เปลี่ยนแปลงเกิดดับในหัวใจ

แต่เวลาเราจะพ้นจากทุกข์ จิตต้องทำให้ตัวมัน ฐิติจิต ตัวจิตเดิมแท้ ให้สัมมาสมาธิมันออกมารื้อค้น การขุดคุ้ยหาเพื่อจะรื้อค้นมัน ถ้ามันเห็นกาย ถ้ามีสมาธิมีหลักมีเกณฑ์ กายนั้นมันจะให้เราได้พิจารณา

แต่ถ้าเราเห็นกายแว็บ เห็นกายโดยอำนาจวาสนาบารมี มันตั้งไม่ได้เพราะอะไร มันตั้งไม่ได้เพราะพื้นฐานของสัมมาสมาธิ เพราะพื้นฐานของจิตไม่มั่นคง ถ้าพื้นฐานของจิตไม่มั่นคง เราก็กลับมาทำความสงบของใจ ให้พื้นฐานมั่นคง แล้วกลับไปดูที่กาย ถ้าเห็นกายอีก นั่นกระบวนการจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เห็นกายอีก ก็ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม เพราะมันจะเป็นปัจจุบัน

ปัจจุบันมันจะเกิดขึ้นมา ดูสิเราหิวข้าว เราต้องการอาหาร ไปถึงแล้วอาหารประเภทนั้นไม่มี มีอาหารอยู่ประเภทหนึ่ง เราไม่ยอมกิน เราจะกินอาหารประเภทเดิมของเรา เราเป็นคนโง่หรือคนฉลาด นี่ไงถ้ามันพิจารณากาย เห็นกายเราก็พิจารณากาย ถ้ามันเป็นปัจจุบันเห็นจิต เห็นเวทนา เราก็พิจารณาอย่างนั้น

อาหารสิ่งใดที่เป็นอาหาร ที่พอจะดำรงชีวิตได้ ขณะเราหิวอาหาร สิ่งใดที่มันดำรงชีวิตได้ เราก็กินอาหารแบบนั้น จิตถ้ามันพิจารณาของมัน ในสติปัฏฐาน ๔ มันเจอสิ่งใดในปัจจุบัน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจิตมันสงบมันตั้งมั่น มันเห็นชัดเจนสิ่งเดียว แต่กระบวนการของมันโดยความไม่เข้าใจของเรา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราก็คิดว่าต่อเนื่อง กินอาหารชนิดนี้แล้วเราจะกินอาหารชนิดอื่นต่อไป ท้องแตกตายนะ

ท้องมันจะแตกเพราะกินมากเกินไป นี่ก็เหมือนกัน กินอย่างเดียว กินอาหารชนิดเดียว ให้ดำรงชีวิตพอ นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอย่างเดียว พิจารณาให้เข้าใจ ให้จิตมันสำรอกคายสักกายทิฐิ คายความเห็นผิด การคาย คายด้วยอะไร การคายด้วยมรรคญาณ การคายด้วยความเป็นจริงของมัน เวลามันคายออกมามันเป็นตทังคปหานมันปล่อยวางชั่วคราว

มันปล่อยวางชั่วคราว แม้แต่ทำความสงบของใจ ใจมันสงบของมันด้วยสมถะ ยังว่านั่นเป็นมรรคผลนิพพาน แต่ถ้าว่าจิตใจมันพิจารณาของมัน มันปล่อยวาง นี่ก็คิดว่ามันเป็นมรรคผลนิพพานอีก.. ไม่ใช่!

นี่คือกระบวนการของการฝึกฝน นี่คือกระบวนการของการฝึกหัดการพิจารณา มันมีการพิจารณาของมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ ตั้งแต่ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยข้อเท็จจริงมันจะเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคเพราะอะไร โสดาปัตติมรรค มรรคญาณไง เป็นโสดาปัตติมรรคออกใช้ปัญญาโดยโลกุตตรปัญญา ออกใช้ปัญญาโดยการถอดถอน โดยการสำรอกกิเลสออก

สำรอกกิเลสออก.. กิเลสมันติดอยู่ในอะไร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วตัวกิเลสไปติดทำไม กาย เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ๆ กันอยู่ ไปติดทำไม กิเลสเราก็รู้กันอยู่ กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา กิเลสไปติดทำไม กิเลสมันเป็นอวิชชา กิเลสมันเป็นนามธรรม มันเป็นจิตใต้สำนึกที่มันโดยสัญชาตญาณ โดยทิฐิของมัน มันเป็นโดยข้อเท็จจริงของมัน

แต่ความรู้ของเรามันเป็นความรู้จากขันธ์ ๕ พลังงาน จิตกับขันธ์ จิตคือตัวพลังงาน ตัวขันธ์คือความรู้สึกนึกคิด ฉะนั้นสิ่งที่เราศึกษาโดยโลก เราศึกษาโดยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยธรรมชาติของความคิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ถ้าเราเอาขันธ์ ๕ ไปรับรู้ไปศึกษา แต่ตัวจิตมันอยู่ที่ตัวจิต ตัวกิเลสมันมันอยู่ที่จิต มันไม่ใช่อยู่ที่ขันธ์ แต่อาศัยขันธ์นั้นออกหากิน อาศัยขันธ์นั้นออกสร้างความสุขความทุกข์ให้ตัว ฉะนั้นพอจิตมันสงบเข้ามา พอเราพิจารณาเข้ามา พิจารณาฝึกหัดเข้ามา ฝึกหัดที่ไหน พอฝึกหัดขึ้นมาก็สังขารปรุงแต่ง สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง

แต่สังขารมันมีสัมมาสมาธิ สังขารนั้นมันก็เลยเป็นปัญญา แต่ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมา มันมีตัวตนของเราขึ้นมา สังขารนั้นสังขารกับจิตเป็นเนื้อเดียวกัน พอสังขารพิจารณา ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด ความคิดมีความสุขความทุกข์มันก็สะเทือนถึงหัวใจ

แต่เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้พุทโธๆ จนจิตมันสงบเข้ามา จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเสวยขันธ์ จิตเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด จิตเห็นกาย พอจิตเห็นกาย มันพิจารณาของมัน มันปล่อยวางของมัน ก็เป็นตทังคปหาน ตทังคปหานเพราะอะไร ตทังคปหานเพราะว่ามันฝึกจิตไง เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก

จิตใต้สำนึกมันซับสิ่งใดอยู่ มันพิจารณาของมัน มันก็เป็นการฝึกฝน ให้เห็นตามความเป็นจริง มันก็ปล่อย ปล่อยนี้เป็นตทังคปหาน ปล่อยนี้กิเลสมันยังไม่สิ้นสุดกระบวนการของมัน ถ้าไม่สิ้นสุดกระบวนการของมัน ไปถามครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง ท่านบอกให้ซ้ำ ซ้ำคือทำแบบนี้ แต่ถ้าผู้นำที่เป็นภัยมันบอก “ปล่อยอีกทีก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์” โดยที่ยังไม่มีอะไรเลยนะ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จะบอกให้ซ้ำๆๆ ซ้ำอย่างไรล่ะ? ก็มันเป็นแล้วทำไมต้องไปซ้ำมันอีกล่ะ? ซ้ำมันเพราะอะไร เพราะความกิเลสมันผูกมัด ความดื้อด้านของกิเลสในหัวใจ มันลึกลับซับซ้อนมาก ฉะนั้นพิจารณามันทีหนึ่งมันปล่อยวางหนหนึ่ง ด้วยมรรคญาณนะ

ถ้าพิจารณาโดยสัญญา สัญญาก็ทำได้มันก็สร้างภาพได้ ความสร้างภาพนี่ไง ครูบาอาจารย์ที่เป็นภัย ไม่รู้ถึงว่ามันสร้างภาพไม่สร้างภาพ แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณ ท่านจะรู้เลยว่าถ้ามันสร้างภาพของมัน มันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร การสร้างภาพมันจะไม่มีผลอะไรขึ้นมาจากหัวใจเลย ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีการคายไม่มีอะไรต่างๆ เพราะมันสร้างภาพโดยกิเลสบังเงา การสร้างภาพขึ้นมาให้มันเป็นตามความเป็นจริง

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงขึ้นมา พอมันสร้างภาพ สร้างภาพก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจ สร้างภาพเพราะว่ากิเลสมันมีกำลังของมันขึ้นมา เราจะต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น เพื่อชำระให้กิเลสมันเบาบางลง แล้วเราออกมาพิจารณาโดยความเป็นจริง พอมันออกพิจารณาแล้วมันปล่อย มันมีความสุข ความสุขความระงับระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานมันแตกต่างกัน

เวลาพิจารณาโดยสมถกรรมฐานความสุขความสงบเกิดขึ้นมา มีความสงบมาก แล้วถ้าวุฒิภาวะไม่พอ ก็ว่านี้เป็นมรรคผลนิพพาน มันก็ว่ากันไป แต่ความจริงสงบก็คือสงบ ติดสมาธิมันจะเป็นมรรคผลนิพพานได้อย่างไร กิเลสยังท่วมหัวอยู่ ไม่ทำอะไรเลย ปุถุชนเหมือนเดิมนี่แหละ

แต่เพราะปุถุชน แต่มันใช้ปัญญาออกไปพิจารณา พอพิจารณาของมัน มันก้าวเดินของมัน ปัญญาก้าวเดินของมัน ก้าวเดินโดยสัมมาสมาธิ พอมันปล่อยไปวิปัสสนา วิปัสสนามันปล่อยขึ้นมา มันมีความสุข ความสุขเพราะอะไร ความสุขเพราะมันคายออกๆ กิเลสมันโดยคายออกไปด้วย

สมถะมันสงบเฉยๆ “หินทับหญ้า! หินทับหญ้า!” ถ้าหินทับหญ้าก็ขอให้มันทับเถอะ หินมันจะทับหญ้าขนาดไหนขอให้มันมีหิน ให้มันมีหญ้า ขอให้มันทับเถอะ หินทับหญ้ามันเป็นระหว่าง มันเป็นการก้าวเดิน มันเป็นการพัฒนาไปของจิต จิตถ้าไม่มีการพัฒนาการของมันเลย เราก็เป็นมนุษย์ดิบๆ อยู่อย่างนี้ไง เราก็เป็นปุถุชน เราก็เป็นคนหนาโดยกิเลส เราก็มีแต่ความทุกข์ แล้วเราก็บอกว่า เราพิจารณาๆ พิจารณาจากเรานี่แหละ พิจารณาจากไอ้ขี้ทุกข์ขี้ยากนี่แหละ

หินทับหญ้าก็ขอให้มันมีหิน มีหญ้า มันจะได้เกิดวิปัสสนาขึ้นมา ไม่มีหิน ไม่มีหญ้า ไม่มีใครพิจารณาเลย ไม่มีสัมมาสมาธิเลย แล้วก็พิจารณากันไป มันก็เป็นการสร้างภาพ มันก็เลยเป็นผู้นำที่เป็นภัยไง

เป็นภัยทำก็พากันหลงทางกันไป เวลาจะทำความเป็นจริงขึ้นมาก็หักห้าม “มันเป็นหินทับหญ้า มันไม่มีประโยชน์” ไอ้ผู้นำที่เป็นภัยมันเป็นภัยไปหมดเลย เริ่มต้นที่จะเป็นประโยชน์เป็นคุณกับเรานะ มันก็ทำให้เสียหายไปหมด แต่ผู้นำที่เป็นคุณ เพราะคำว่าคุณมันเกิดจากคุณธรรม เกิดจากความเป็นจริง เกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากการล้มลุกคลุกคลาน เกิดจากต่อสู้ เกิดจากประสบการณ์ของใจ

ถ้าประสบการณ์ของใจมันมีขึ้นมา ท่านผ่านไปแล้ว ทำไมท่านจะมาสอนเราไม่ได้ ท่านผ่านไปแล้ว ท่านรู้จริงของท่านแล้ว ท่านจะเอามาแยกแยะให้เราไม่รู้ได้อย่างไร ไอ้เราสิไม่รู้ ดิบๆ เลย กำปั้นทุบดินเลย แล้วบอกเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าจะไม่ยอมรับมันจะต่อสู้ด้วยนะ

กิเลสมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้นถ้าเราเจอผู้นำที่เป็นภัย ชักนำให้เราหลงทางทั้งนั้นเลย แต่ถ้าผู้นำที่เป็นคุณนะ ดูสิ ทางวิชาการ สิ่งใดที่เป็นโทษ สิ่งใดที่ทำให้จิตใจนี้มันดื้อด้าน ท่านพยายามจะดูแลเรานะ เวลาดูแลเราเหมือนพ่อแม่เลย ลูกจับอะไรก็ผิดไปหมดล่ะ ไม่ดีสักอย่าง แต่ความจริงก็คือฝึกขึ้นมาให้เป็นผู้ใหญ่ไง ฝึกขึ้นมาให้รู้จักรับผิดชอบ ฝึกขึ้นมาให้หัวใจมันดีงามขึ้นมา

ถ้าหัวใจมันดีงาม นั่นล่ะ ผู้นำที่เป็นคุณ ผู้นำที่เป็นคุณจะทำให้เรามั่นคง ผู้นำที่เป็นคุณจะทำให้เราประพฤติปฏิบัติ แล้วพอประพฤติปฏิบัติไป เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ เวลามันตทังคปหานมันปล่อย ปล่อยอย่างไรก็แล้วแต่ วางใจไม่ได้ เพราะการกระทำใช่ไหม พอจิตมันสงบเข้ามา เหมือนเราถ้าเราอิ่มหนำสำราญ เราก็สดชื่นทั้งนั้น ถ้าเราหิวกระหายล่ะ เวลาเราหิวกระหาย เวลาจิตใจเราอ่อนแอ มันเป็นอย่างไร เทียบสองอารมณ์นี้สิ ถ้าอารมณ์ของเราเข้มแข็ง อารมณ์ของเรามีความสุข เราจะมีความรื่นเริงในหัวใจนะ

แต่ถ้าเราเครียด จิตใจเราอ่อนแอ เราจะมีแต่ความทุกข์ เวลาเราพิจารณาของเราขึ้นไป ถ้าจิตใจเราดี ปัญญาเราดี มันจะมีความสุข ถ้ามันยังไม่ถึงที่สุดของมัน มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ขณะที่เราทำนั้นมันมีการเจริญงอกงามขึ้นมา จิตใจของเราเจริญงอกงามขึ้นมา แต่มันไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ มันไม่ถึงสมุจเฉทปหาน ถ้ามันถึงสมุจเฉทปหาน กระบวนการของมันจะสิ้นสุด

มันรู้ขึ้นมาในหัวใจ คนคนนั้นต้องรู้ว่าเป็นโสดาบัน มันรู้ชัดเจนมาก มันกังวานขึ้นมาในหัวใจเลยว่าอย่างนี้ใช่ พออย่างนี้ใช่ ถ้าใช่แล้วเรามีครูบาอาจารย์นะ เราจะเอาคุณธรรม เอาผลที่เราประพฤติปฏิบัติไปเสนอครูบาอาจารย์ให้ครูบาอาจารย์ของเราได้ชื่นชม

ครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณนะ ท่านจะชื่นชม ท่านจะมีความปลื้มใจว่ามันจะเกิดศาสนทายาท มันจะเกิดจากผู้รู้จริงได้ดำรงคุณธรรมไว้ในหัวใจ เพื่อต่อไปให้เป็นผู้นำที่เป็นคุณ ไม่ใช่ผู้นำที่เป็นภัย ถ้าเรารู้จริงขึ้นมา จะไม่ให้ใครมาบอกว่า เราเป็นโสดาบันโดยเขาให้คะแนนนั้น.. เป็นไปไม่ได้!

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทำให้ใครเป็นอริยบุคคลไม่ได้เลย!

ไม่มีใครทำให้ใครเป็นพระอริยบุคคลได้ แล้วถ้าใครเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา เป็นโสดาบันขึ้นมา ก็ไม่มีใครทำให้มันเสื่อมได้ ไม่มีใครทำให้โสดาบันของใครบุบสลายเปลี่ยนแปลงไม่เป็นโสดาบันได้ ไม่มีทาง เพราะมันเป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัตินี้เป็นกุปปธรรม

“กุปปธรรม-อกุปปธรรม” กุปธรรม คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะที่เป็นอนัตตา สภาวะที่แปรปรวน “สภาวะ” เราถึงบอกว่ามันเป็นสภาวะที่ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ถ้าเป็นธรรมแล้ว มันไม่เป็นสภาวะ มันเป็นธรรม!

ถ้าเป็นโสดาบัน คนที่ประพฤติปฏิบัติต้องรู้ตัวก่อน ถ้าผู้นำที่เป็นภัยนี้ไม่ใช่ จะเอาโสดาบันไปยัดเยียดให้คนโน้น โสดาบันยัดเยียดให้คนนั้น ไอ้คนที่รับบอกว่า “หนูไม่รู้เรื่องนะ” “ไม่รู้เรื่องนั่นแหละเป็นโสดาบัน”

นี่ไงผู้นำที่เป็นภัย เพราะคนที่เป็นโสดาบัน มันไม่รู้จักโสดาบัน มันเป็นไปได้อย่างไร คนจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ เขาต้องรู้ตัว มีแต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้คะแนนตัวเองก่อนว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ด้วย มันให้คะแนนตัวมันเตลิดเปิดเปิงไปเลย

แต่ความจริงนะ เดี๋ยวมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ จิตดวงนั้นจะรู้ตัวตลอดเวลา จิตเวลามันเสื่อมแล้ว มันรู้ได้ คนเราหลงทางมันรู้ตัวมันเอง รู้ตัว.. ช้าหรือเร็วเท่านั้น ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในวงกรรมฐานเรา เวลาถึงที่สุดนะ ขั้นอนาคาติดอยู่ มันก็เอ๊ะๆ อยู่ตลอด มันไม่จบหรอก มันมีอะไรเป็นตะกอนอยู่ในใจ แต่ด้วยกิเลส ด้วยความเข้าข้างตัวเอง พยายามจะอ้างว่า “นิพพานก็เป็นอย่างนี้แหละ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันครบกระบวนการนี่แหละ” มันจะอ้างอย่างนั้นตลอดเวลา กิเลสมันอ้าง แต่ก็สงสัย

นี่พูดถึงพระอนาคานะ แต่ผู้ที่เป็นปุถุชนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ผู้นำที่เป็นภัยมันจะเป็นภัยในใจของมันก่อน เพราะใจที่เป็นภัยมันถึงแสดงพฤติกรรมที่เป็นภัยออกมา แต่ถ้ามันเป็นคุณมันจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นภัยได้อย่างไร สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์นะ มันแสดงมามันต้องเป็นประโยชน์

ดูสิ ดูคุณธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านบอกท่านมีความเมตตาครอบโลกธาตุ ใจของท่านเป็นธรรม ท่านมีความเมตตาครอบโลกธาตุ ต้องการให้สัตว์โลก ต้องการให้สรรพสิ่ง มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะอะไร เพราะท่านทุกข์มา ท่านพยายามต่อต้าน พยายามรื้อค้นในใจของท่านมา จิตใจของท่านเป็นคุณ ท่านมีแรงปรารถนา มีความจริงใจที่จะให้พวกเราเข้าไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข เข้าไปสู่สัจจะความจริง แต่!

แต่ความเป็นจริงมันต้องลงทุนลงแรงไง เพราะความเป็นจริงมันต้องลงทุนด้วยน้ำพักน้ำแรง มันไม่มีใครทำให้ใครได้ แต่เพราะเรามีชีวิตอยู่ เรายังมีลมหายใจอยู่มันมีโอกาสกระทำ เราเห็นคนที่มีโอกาสเราอยากให้เขาทำไหม แต่คนที่มีโอกาส เขาไม่รู้สึกสำนึกตัวของเขา เขาต้องการแต่ความสะดวกสบาย เขาต้องการแต่ความมักง่าย เขาถึงโดนอาจารย์ที่เป็นภัยนั้นหลอกลวงไง

หลอกลวงว่าสิ่งนั้นจะเป็นธรรมๆ หลอกหลวงเพราะอะไร หลอกลวงเพราะมันมีครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นความเป็นจริงอยู่นี้เป็นตัวอย่าง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นจริง ไม่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ไม่มีครูบาอาจารย์ของเราทำเป็นตัวอย่าง เขาจะเอาอะไรไปหลอกลวง ผู้นำที่เป็นภัยมันหลอกลวงเพราะมันมีเพชรน้ำหนึ่ง มันมีความเป็นจริงยึดเป็นตัวอย่างให้คนอื่นแอบอ้างได้ ผู้นำที่เป็นภัยมันเป็นภัยอย่างนั้น

แต่ผู้นำที่เป็นคุณ สิ่งที่เป็นความจริงในหัวใจ มันตะเกียกตะกาย มันสอยเดือนสอยดาวมาจากไหน การสอยเดือนสอยดาวมาจากบนฟ้ามันตะเกียกตะกายมันจะต่อไม้ยาวขึ้นไปแค่ไหน ถึงจะสอยเดือนสอยดาวมาไว้ในหัวใจเราได้ มันต้องทำขนาดไหน การทำอย่างนี้ แล้วจะเอาคุณงามความดี ความจริงอย่างนี้ ออกมาให้เขาทำความเป็นจริงมันทำได้ยากไง ด้วยความเป็นจริง เวลาปฏิบัติมากว่าจะได้มา มันล้มลุกคลุกคลาน มันทำตามความเป็นจริงขึ้นมาโดยมหาศาล

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นจริงอันนี้ มันจะเป็นคุณประโยชน์กับเรานะ โลกนี้มี เราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นจริงมีมหาศาล ฉะนั้นความที่เป็นจริงอันนั้น เราอย่าพึ่งให้ความมั่นใจกับสิ่งนั้น

กาลามสูตร ให้พิจารณาก่อน ถ้าการพิจารณามันดูได้ง่าย ด้วยความเป็นมารยาสาไถยหรือไม่เป็นมารยาสาไถยโดยความจริงจิตเรารู้นะ ถ้าเป็นมารยาสาไถยเรารู้ได้เลยว่ามันเป็นมารยาสาไถย แต่ถ้าไม่เป็นมารยาสาไถนะ ครูบาอาจารย์ของเราจะไม่เป็นมารยาสาไถยถ้าจะแรงก็แรงด้วยคุณธรรม แต่ถ้าจะมีความเมตตา อันนั้นก็มีเป็นอำนาจวาสนาของเรา สิ่งนี้เราพิสูจน์ได้

นี่พูดถึงหลัก หลักในการพิสูจน์ ให้หัวใจเรามันมีคุณธรรม ให้หัวใจเราอิงกับธรรม อย่าอิงกับโลก โลกเป็นเรื่องมารยาสาไถย เรื่องหน้าเรื่องตาเรื่องสิ่งต่างๆ ยังจะต้องยกยอปอปั้นกันไป แต่มันเข้ากิเลสนะ ถ้าไม่เข้ากิเลสคนไม่หลงทางได้ขนาดนั้น ถ้าคนหลงทางได้ขนาดนั้น มันเข้ากับกิเลสไง กิเลสเรามีอยู่แล้ว พอมันโดนเชื้อเข้าไปมันก็ฟุ้งกระจายไปหมดเลย แต่คุณธรรมกว่าจะหาได้

คุณธรรมนะ ดูเราสิ เรากระเสือกกระสนกันมาขนาดไหน ที่เรากระเสือกกระสนมาเราต้องการการฟังธรรม การฟังธรรมสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ ตอกย้ำๆ มันแก้ความลังเลสงสัย เรามีความลังเลสงสัย มีความขุ่นข้องหมองใจ เสียงนี้มันจะเข้าไปกระเทือนอันนั้น เพราะถ้าแสดงธรรมโดยพระป่า มันจะออกมาจากใจ

ถ้าออกมาจากใจเพราะใจดวงนั้นมันต้องเศร้าหมองมาก่อน มันเคยเศร้าหมองมันเคยทนทุกข์ระทมในหัวใจ แล้วมันพยายามประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความสงบอย่างไร พอสงบแล้วมันใช้ปัญญาอย่างไร มันก้าวเดินอย่างไร

บุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ จิตดวงนั้นต้องผ่านกระบวนการของมันทั้งหมด ผ่านกระบวนการ เป็นโสดาบันพิจารณากายแล้ว เวลามันสมุจเฉทปหาน เป็นอกุปปธรรมแล้ว มันจะพิจารณาขั้นต่อไปเป็นสกิทาอย่างไร

นี่ไง ถ้าพูดถึงผู้นำที่เป็นภัย แม้แต่โสดาบันเขาก็ไม่รู้แล้ว เวลาเราพูดในวงกรรมฐานเรา เวลาเราพูดถึงธรรมะ จะถามคำแรกเลย ผ่านกายพิจารณากายอย่างไร ถ้าตอบผิดก็คือผิด

เรามีเยอะมากที่ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาบอกว่าที่มีธรรมๆ หลวงตาท่านถามคำเดียว “กิเลสมันอยู่ที่ไหน?” ตอบผิดหมด พอตอบผิดนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณนะ ท่านเก็บไว้ในหัวใจ ท่านไม่พูดหรอก ท่านรู้เอง ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด แต่ถูกหรือผิดแล้วท่านจะให้อุบายไง ให้อุบายผู้ที่ผิดนั้นไปพยายามปฏิบัติให้ถูก

แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติผิด ยังถือมั่นของตัว นั่นไงถือมั่นของตัวมันก็จะหลงผิดไปอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติที่ผิดนะ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ให้อุบาย เราต้องพยายามของเรา เพราะเรายังมีชีวิตอยู่นะ ถ้าตายแล้วเราเสวยภพชาติไป พอเสวยภพชาติไปมันจะมาเชื่อสิ่งนี้อีกไหม

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณมาก ท่านมีคุณมากนะ สิ่งที่เป็นโสดาบัน เป็นอย่างไร โสดาบันยังไม่รู้ ผ่านขั้นตอนแรกฟังแล้วรู้หมด มันยังไม่มี ถ้ายังไม่มี มันจะไปถึงที่สุดได้อย่างไร

“จิตนะมันเข้าไป เข้าไปๆๆ ไปถึงที่สุดแล้วนะมันจะเป็นเองๆ”

มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ แล้วเรานึกเอาว่าเราจะเป็นเศรษฐี.. เศรษฐีธรรมด้วยนะ เราจะเป็นเศรษฐีธรรม มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามันเป็นไปนะ กระบวนการของมันเกิด ลงสมาธิอย่างไร สมาธิออกวิปัสสนาอย่างไร มันต้องรู้จริงของมันสิ แล้วขณะที่ออกแล้วมันจบกระบวนการอย่างไรอีกนะ ถ้าไม่จบกระบวนการ ไม่มีมรรคผล ไม่มี.. มันเป็นไปทางตทังคปหาน มันเจริญแล้วเสื่อม ชั่วคราวๆ มันไม่มีมรรคผล

ถ้ามีมรรคผล นี่ไง กรรมฐานที่เขาคุยกัน เขาคุยกันตรงนี้ คุยกันที่ว่ามันสิ้นสุดกระบวนการอย่างไร โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ มันเป็นอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้รู้ไม่ได้ มันเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นภัย

ผู้นำที่เป็นภัยจะเอาความเป็นภัย เอาความหลงผิดมาเป็นพื้นฐาน แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณ จะทำให้เราเก็บเล็กผสมน้อย จะมีความมาก มีความวิริยะอุตสาหะ มันจะมีความบากบั่น เพื่อหัวใจของเรา เพื่อความจริงของเรา เพื่อเกิดมาแล้วให้ได้มรรคได้ผลตามความเป็นจริง เอวัง