พระมหากัสสปะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี
ถาม : ลักษณะการให้ผลของกรรมนั้นเป็นอนิจจังหรือไม่ครับ ถ้าเป็นจะให้ผลอย่างใด
หลวงพ่อ : ไม่เป็นอนิจจังหรอก เพราะคำว่าอนิจจังนะ คำว่าอนิจจังมันเป็นเรื่องของสภาวธรรม สภาวะ ผลของมันที่พระพุทธเจ้าพูดถึงไตรลักษณ์ใช่ไหม พูดถึงว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.. อนิจจังมันเหมือนสภาวะธรรมชาติ มันจะแปรสภาพตลอด
ฉะนั้นคำว่าอนิจจัง ถ้าอย่างนั้นปั๊บ ถ้าเป็นอนิจจังมันก็ให้ผลและไม่ให้ผลน่ะสิ กรรมมันจะแบบว่าเราไม่เชื่อกรรม เพราะกรรมนี้ให้ผลแน่นอน ฉะนั้นถ้าให้ผลแน่นอน การกระทำอย่างเช่นนั่งสมาธินี่ถ้ามันสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นถูกต้อง ทำถูกต้องหมด ผลของมันต้องให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เวลานั่งสมาธิกันแล้วทำไมเราไม่ได้สมาธิกันล่ะ เห็นไหม กรรมเหมือนกัน แล้วมันเป็นอนิจจังไหมล่ะ? มันเป็นอนิจจังเพราะว่าเราสร้างเหตุไม่ถูกต้องต่างหากล่ะ
ฉะนั้นลักษณะการให้ผลของกรรมนี่ มันลึกลับซับซ้อนตรงที่ว่ากรรมนี้เป็นอจินไตย เพราะว่าอจินไตย ๔ ในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเรื่องอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่าง ที่ว่าชาวพุทธถ้าจะคิดให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ให้มันเป็นสูตรสำเร็จที่ต้องให้ผลคงที่นี่เป็นไปไม่ได้ คือว่าคิดแล้วตายเปล่า พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น
คำว่าอจินไตย หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ปัญญาของพระพุทธเจ้า จะดีกว่าพวกเรามหาศาลเลย ดีกว่าเราจนเรานี่เทียบไม่ได้ขี้ฝุ่นเลย แล้วพระพุทธเจ้าท่านวิเคราะห์แล้วไง ท่านวิเคราะห์แล้ว ท่านพยายามจะทำให้เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อจะมาสอนพวกเรา เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้านี่นะเป็นผู้ตรัสรู้เอง
อย่างพวกเราสาวก สาวกะ.. อย่างเช่นพระไตรปิฎก หรือประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นการชี้นำพวกเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีตรงนี้เราทำกันไม่ได้หรอก พูดถึงให้พวกเราดั้นด้นกันเองนะ โทษนะ มันก็เหมือนวัวเหมือนควายนั่นแหละ มันก็ไถนาอยู่นั่นแหละ วนอยู่นั่นแหละมันไปไหนไม่รอดหรอก แต่เพราะเรามีธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พวกเรานี่สาวก สาวกะ เพราะมีธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเรายังมีโอกาส เราถึงจะเป็นไปได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านตรัสรู้แล้วท่านพยายามวางธรรมและวินัย พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้หมด แต่วางธรรมวินัยไม่ได้ แต่สมัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนได้ สอนด้วยความรู้ของท่าน แต่พระพุทธเจ้าจะวางธรรมวินัย การวางธรรมวินัยท่านก็ต้องวิจัย ต้องเข้าใจทั้งหมด แล้วจะเอาธรรมวินัยนี้มาวางเป็นบรรทัดฐานให้พวกเราเดิน
ทีนี้วางเป็นบรรทัดฐานให้พวกเราเดิน ท่านก็วางเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องมรรค ๘ แล้วท่านก็บอกว่าอจินไตย ๔ คือเรื่องกรรม เรื่องความสามารถของพระพุทธเจ้า พุทธวิสัยคือเรื่องความสามารถของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าพวกเอ็งไม่ต้องคิดหรอก คิดจนตายก็ไม่รู้ เพราะไม่มีสิทธิ์รู้
ฉะนั้นเรื่องพุทธวิสัย เรื่องกรรม เรื่องฌาน.. เรื่องฌานคือการทำความสงบของใจมันมีระดับของมัน มันมีความแตกต่างมากที่เราจะมาบอกว่าให้มันเป็นระดับอย่างนั้นๆ ไม่มี แล้วก็เรื่องฌาน เรื่องโลก
ฉะนั้นเรื่องกรรมนี่ พุทธวิสัยบอกมันลึกลับซับซ้อน ซับซ้อนตรงไหน นี่เวลาเราไปดูหมอกัน หรือไม่ดูที่เขาแก้กรรม บางทีเขาแก้กรรม เขานั่งจนตาหลุดเขายังไม่รู้ว่ากรรมนี้มาจากไหน เพราะอะไร เพราะว่าการเกิดและการตาย สมมุติว่า.. ไม่สมมุติหรอก เรื่องจริงเลย อย่างที่ว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย สุดวิสัยของการเกิดที่เรานับไม่ได้เลย แล้วเขาจะตามดูได้ไหม
อย่างหลวงปู่ตื้อพูดประจำ มาถามเราสิ ยิ่งพันชาติ แสนชาติที่แล้ว เราจะตอบให้หมดเลย เพราะหลวงปู่ตื้อท่านตอบแล้วเอ็งจะพิสูจน์อย่างไร ท่านยิ่งตอบได้ใหญ่ หลวงปู่ตื้อท่านบอก ไอ้เรื่องอดีตชาตินี่มาถามเราเลย เราตอบได้หมดแหละ หลวงปู่ตื้อน่ะ แต่ท่านรู้จริงๆ นะ ท่านรู้จริงๆ ของท่านด้วย เพราะรู้จริงมันถึงเห็นระดับของมันว่ามันห่างไกลขนาดไหน
พอการห่างไกลอย่างนั้นปั๊บ ฉะนั้น คำว่าอนิจจังคือมันไม่แน่นอนใช่ไหม มันไม่แน่นอน มันแปรสภาพตลอด แต่กรรมนี้มันแน่นอน คำว่าแน่นอนนะมันต้องให้ผล ถ้าไม่แน่นอนนะ พระโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้า สร้างบุญญาธิการมาเป็นพระพุทธเจ้า มันทำไมแน่นอนแล้วมาเป็นพระพุทธเจ้าล่ะ? พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วนี่กลับไม่ได้ ต้องเป็นพระพุทธเจ้าเด็ดขาด พระพุทธเจ้าพูดคำไหนคำนั้น
กรรมนี่แน่นอน แน่นอนเพราะมันให้ผลจริงๆ ให้ผลทางลบกับเราจริงๆ ถ้าเราทำลบนะ ให้ผลดีเราจริงๆ แต่ให้เมื่อไหร่.. นี่เรื่องกรรม ให้เมื่อไหร่ ตรงนี้แหละ คำว่าให้เมื่อไหร่มันมีระยะของมันไง อย่างเช่นที่เราบอกว่ากรรมที่เขารู้ไม่ได้ มันรู้ไม่ได้ตรงไหน ตรงที่ว่ามันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเป็นแสนๆ ล้านๆ ชาติ ชาติไหนไม่รู้ แล้วเวลามันให้ผลตรงนี้แหละ ฉะนั้นตรงนี้มันเป็นเรื่องของกรรมที่จะให้ผลและไม่ให้ผล แต่ของเราทำของเรา เราเชื่อมั่นของเรา แล้วเราทำของเราไป
ฉะนั้นไม่ใช่อนิจจัง.. ให้ผลแน่นอน เพียงแต่ว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน ที่ว่ากรรมเป็นเรื่องอจินไตยๆ แต่กรรมให้ผลแน่นอน ถ้าไม่ให้ผลแน่นอน มันพิสูจน์ได้ตรงทำสมาธินี่แหละ ถ้านั่งเดี๋ยวนี้ก็ได้เดี๋ยวนี้ ทำถูกต้องแล้วได้หมด
ทีนี้มันไม่ได้ เห็นไหม คำว่าไม่ได้.. เราเป็นคน จะว่าบัญญัติศัพท์เนาะ ว่าพุทโธชัดๆ อะไรชัดๆ คำว่าชัดๆ ของเรา เพราะคนถามเยอะ แล้วเราตอบนี่เราต้องอธิบาย แต่คำว่าชัดๆ นี่นะเหมือนมันพูดกับเด็ก คำว่าชัดๆ ปั๊บ คำว่าชัดๆ มันจะสมบูรณ์ไปด้วยสติ สมบูรณ์ไปด้วยคำบริกรรม ถ้าอานาปานสติ มันสมบูรณ์ไปด้วยสติที่เรารู้ลมมันถึงชัดได้ ถ้ามันไม่ชัดแสดงว่าเผลอแล้ว แสดงว่าลมนี้อ่อนลงแล้ว แสดงว่าจิตเราด้อยค่าแล้ว
ฉะนั้นคำว่าพุทโธชัดๆ มันพร้อมทั้งคำบริกรรม พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งจิตที่มันพร้อมตลอดไป ความสมบูรณ์อย่างนี้ถ้ามันลงมาได้นะสัมมาสมาธิเด็ดขาด ทีนี้พอมันยังไม่ลง ไม่ลงก็ต้องหาเหตุ หาเหตุว่าทำไมถึงไม่ลง.. นักปฏิบัติเราเวลาจะหาเหตุนะ ว่าจิตมันเป็นเพราะเหตุใด แล้วเหตุนี่นะหญ้าปากคอก ครูบาอาจารย์ของเรานะเหตุเพราะอาหาร เหตุเพราะกินอิ่มนอนอุ่น แล้วจะเอาสมาธินี่ไม่มีสิทธิ์ เหตุนะ อู๋ย.. ไขมันเต็มเลย พลังงานเต็มเลย พอนั่งเข้าไปก็มีแต่หลับ
หลวงตาบอก ธาตุขันธ์ทับจิต ความสมบูรณ์พูนสุขของเรา มันจะทับหัวใจ แค่ผ่อนอาหารนี่นะ กินแต่น้อย ศีล ๘ นี่ไม่กินข้าวเย็น ทางการแพทย์ พอกินข้าวเข้าไปนะกระเพาะมันต้องย่อย ๖ ชั่วโมง คิดดูสิกินข้าวเย็น ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม พอกินข้าวเย็นเสร็จ อาบน้ำเสร็จก็ภาวนา โอ้โฮ.. กำลังจะหลับเลยล่ะ แล้วก็ไปหลับกัน
หญ้าปากคอกเลยที่ทำสมาธิไม่ได้กันอยู่นี้ เพราะตามใจลิ้น แล้วก็จะมาภาวนากัน เวลาจะไปผ่อนอาหาร อู๋ย.. ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนเราก็ต้องมีอาหารดำรงชีวิต มีอาหารแต่มันมากเกินความจำเป็น แต่ถ้าเรารู้ ศีล เห็นไหม ศีล ๘ ก็เว้นแล้ว ยิ่งพวกเราธุดงควัตรนี่มื้อเดียว พอมื้อเดียวขึ้นมามันมีความพร้อมมา มันเป็นเครื่องขัดเกลา อันนี้ต่างหาก
ฉะนั้นที่ว่า ลักษณะการให้ผลของกรรมเป็นอนิจจังหรือไม่ครับ
ไม่เป็นอนิจจัง ให้ผลเด็ดขาด เพียงแต่ว่ามันซับซ้อนเรื่องอจินไตยที่ว่าจะให้ผลเมื่อไหร่ ทีนี้เราก็คิดว่าอย่างนี้ก็เป็นอนิจจังเหมือนกันสิ ไม่ใช่เป็นอนิจจัง มันให้ผลเด็ดขาดไง คำว่าอนิจจังนี่นะมันแปรสภาพไปแล้วมันจะให้ผลอะไร อนิจจังคือศัพท์ คือการเปลี่ยนแปลงของวัตถุนั้น มันเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรคงที่ความเป็นอนิจจังของมัน นี่เป็นอนิจจังของมัน
นี้พูดถึงว่ากรรมให้ผลเป็นอนิจจังหรือไม่.. ไม่นะ
ทีนี้จะเข้าตรงนี้แล้ว ข้อ ๔๐๐. พอดีเลยล่ะ อันนี้น่าคิด
ถาม : ๔๐๐. เรื่อง พระมหากัสสปะ
พระมหากัสสปะท่านนิพพานหรือยังครับ ผมเข้าใจมาตลอดว่านิพพานแล้ว แต่สรีระท่านยังอยู่ แต่พอดีพูดถึงหลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดาท่านคุยกัน ก็เลยทำให้สงสัยต้องมาถาม
หลวงพ่อ : ทีนี้คำพูดนี้เขาพูดถึงว่าหลวงปู่สิมคุยกับหลวงปู่บุดดา อันนี้อยู่ในเทปหรือเปล่าไม่รู้เนาะ ถ้าอยู่ในเทปมันจะเป็นสื่อที่คนจะได้ยินตลอดไป แต่ทีนี้หลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดา เราเชื่อทั้งคู่เลยนะแปลก หลวงปู่สิมเราก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่บุดดาเราก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นคำพูดของพระอรหันต์จะผิดจากสัจธรรมนี่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อว่าพระอรหันต์พูดสัจธรรมนี้ผิด เราไม่เชื่อ ฉะนั้นหลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดานี่เราเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นคำพูดถ้าเป็นเทปนะ ถ้าเป็นเทปที่ท่านคุยกัน อันนี้เรายกไว้เราไม่อ่านด้วย ฉะนั้นเราจะตอบคำถามเฉยๆ
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติม ว่าหลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดาพูดกันนั้นเป็นความจริงหรือไม่ พระมหากัสสปะยังไม่นิพพาน ผมเข้าใจว่า...
หลวงพ่อ : ถูกต้อง เราเข้าใจว่าอย่างนั้น เพราะนี่อยู่ในพระไตรปิฎก หลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดา เราเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่ หลวงปู่บุดดาเราก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นคำว่าพระอรหันต์ เวลาท่านตายไปแล้วคืออนุปาทิเสสนิพพานเด็ดขาด ท่านเป็นอนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว
คำว่าอนุปาทิเสสนิพพาน เพราะพระมหากัสสปะปฏิบัติมาพร้อมกับพระพุทธเจ้า แล้วอายุเท่ากับพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้าเป็นคนพูดเอง
กัสสปะเอย เธออายุปานเรา ทำไมเธอต้องถือธุดงควัตร
เพราะพระกัสสปะนี่เอตทัคคะทางถือธุดงควัตร เพราะท่านบวชเมื่อแก่ พอบวชเมื่อแก่แล้วท่านพยายามเร่งของท่านเต็มที่จนท่านเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คำว่าการสนทนาระหว่างพระกัสสปะกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก คือการรับรองกันไง การรับรองคือการเห็นด้วย
เธอก็อายุปานเรา ทำไมต้องถือธุดงควัตรด้วย เธอถือเพราะเหตุใด
ข้าพเจ้าถือไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติแบบอย่าง
เห็นไหม นี่ความเป็นจิตสาธารณะของพระกัสสปะ พระกัสสปะเป็นผู้ถือธุดงควัตร นี่ถือธุดงควัตรคือว่าถือผ้าบังสุกุลด้วย ฉะนั้นผ้าบังสุกุลจะไม่รับผ้าคฤหบดีจีวร ฉะนั้นจะเก็บผ้าที่เขาพันศพมาตัดเย็บสังฆาฏิ ทีนี้มันก็ตัดเย็บปะเข้าไป ปะเข้าไป เพราะว่าผ้ามันไม่พร้อมกัน ก็ปะจนสังฆาฏินี่หนาถึง ๗ ชั้น
คำว่าหนา ๗ ชั้น เห็นไหม พอเรา ๒ ชั้น บิณฑบาตยังเหงื่อโชก แล้ว ๗ ชั้นพร้อมกับจีวร มันจะหนักขนาดไหน แล้วคนอายุ ๘๐ ใช่ไหม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ขอแลกเอง มีอยู่องค์หนึ่งคือพระกัสสปะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาผ้าสังฆาฏิของท่านขอแลกเปลี่ยนกับพระกัสสปะมา
พระกัสสปะถ้าไม่ใช่พระอรหันต์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกขนาดนี้นะ คือต้องมีทิฐิขึ้นมา ต้องมีความเห็นอะไรต่างๆ ขึ้นมา เหมือนพระฉันนะ เห็นไหม พระฉันนะก็มายึดว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเราๆ แต่พระกัสสปะนี่พระพุทธเจ้ายกขนาดไหนนะ พระกัสสปะอ่อนน้อมถ่อมตน อู้ฮู.. ลาภ ไม่มีอะไรเลย พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์เด็ดขาด! นี่เขาบอกว่ายังไม่ได้เป็นไง ต้องรอพระศรีอาริยเมตไตรยมาถึงจะเป็น
ไม่ใช่ พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์เด็ดขาด แล้วพระอรหันต์กับพระอรหันต์ นี่สภาวะของพระอรหันต์.. เราต่อต้านตลอดนะ ใครบอกสภาวธรรมๆ สภาวธรรมนี่เราไม่เชื่อ เพราะสภาวะคืออนิจจัง สภาวธรรมคืออนิจจัง แต่ธรรมสิไม่อนิจจัง ธรรมเป็นอกุปปธรรม ธรรมแท้ๆ เนี่ย ฉะนั้นพระอรหันต์นี่ถึงธรรมที่สุดแล้ว คนที่ถึงธรรมที่สุดแล้ว จะเข้าใจเรื่องนี้หมดแหละ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก
ฉะนั้นกรณีอย่างนี้เขาบอกว่ามันมีที่ว่ายังไม่นิพพาน เพราะว่ามันมีคนถาม เขาเหมือนกับมาเข้าทรง ว่ามาเข้าทรง มาอะไรนี่ ยิ่งมาเข้าทรงอย่างนี้นะยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย.. สังเกตได้ไหม เวลาคนที่ว่ามีคุณธรรมบอกว่า เขาเข้าทรงอย่างนั้น รับรู้อย่างนั้น ไอ้นี่มันถือมงคลตื่นข่าวแล้วนะ
การเข้าทรง การต่างๆ จิตมันประทับนี่นะ พระกัสสปะจะประทับได้อย่างไร? พระอรหันต์จะมาประทับทรงมันเป็นไปไม่ได้ แต่สังเกตได้ไหม ในการประทับทรงในสังคมไทยจะมีพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย แล้วพระอรหันต์เวลาจะมาประทับทรงนี่ไม่มีทาง! แล้วพระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ต่างๆ ที่มาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น มาอย่างไร?
ไม่ได้มาประทับทรง หลวงปู่มั่นท่านมีอภิญญา ๖ ใช่ไหม เวลาท่านสั่งสอนเทวดาต่างๆ ท่านคุยกับเทวดาได้ คุยกับต่างๆ ได้ นี่พระอรหันต์ต่างๆ ท่านมาอย่างนี้ แต่ถ้าเรื่องประทับแล้วนี่ มันมีอยู่ที่ว่าอาจารย์ไทที่เขาพุนก มันมีอยู่ พวกญาติโยมเขาก็พาญาติเขามาให้อาจารย์ไทรักษา ก็เนี่ยประทับทรง เทศน์นะ ในการประทับทรงนั้น วิญญาณนั้นบอกว่าเขาเป็นสมเด็จโต เทศน์ธรรมะนี่ถ้าไม่ใช่คนทันนะ อู้ฮู.. มันซาบซึ้งมาก
ทีนี้อาจารย์ไทท่านก็นั่ง เพราะอาจารย์ไทท่านเป็นหลานของหลวงปู่ตื้อ ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ท่านกำหนดจิตดูนะ แล้วพอท่านออกจากสมาธิมาแล้วท่านพูดเลย มึงชื่อไอ้แดง มึงเป็นควาญช้างอยู่สุรินทร์ มึงจะมาอ้างว่าเป็นสมเด็จโตๆ อยู่อย่างนี้ มึงมุสา! อยู่ในทรงนะ ถ้าประทับอย่างนั้นนะพูดออกมาเลย
ถ้าท่านอาจารย์รู้ทันผม ผมก็ไปแล้วล่ะ แต่ก่อนไปผมขอเหล้าขวดหนึ่งกับไก่ตัวหนึ่ง เมื่อกี้ยังเทศน์อยู่เลย ยังเทศน์แจ้วๆ อยู่เลย พอจะไปนะขอเหล้าขวดหนึ่ง ขอไก่ตัวหนึ่ง ญาติเขาก็เอาเหล้าขาวขวดหนึ่งกับไก่ตัวหนึ่งมาให้ เขาว่าอู้ฮู.. หิวกระหาย กินใหญ่เลย แล้วก็ออกไป
กรณีอย่างนี้ เวลาเขาเทศน์นะเขาเทศน์ว่าเขาเป็นสมเด็จโต เขาเทศน์นี่เขาอ้างว่าเป็นสมเด็จโต เทศน์ใหญ่เลย เทศน์ธรรมะนี่ พูดธรรมะไง พอพูดธรรมะทุกคนที่ฟังอยู่ก็ราบกับพื้นเลย เชื่อ ราบเลย อาจารย์ไทกำหนดเลย มึงชื่อไอ้แดง มึงเคยเป็นควาญช้างอยู่สุรินทร์ มึงตายไปแล้วมึงมาทำอย่างนี้มันเป็นการมุสา
นี่พระถ้ามีจุดยืนมีหลัก เรื่องอย่างนี้เขาไม่เชื่อกันหรอก แต่เรื่องการประทับทรงนี่มีไหม มี.. เรื่องจิตวิญญาณมีไหม มี แต่จิตวิญญาณนี่ ดูจิตวิญญาณมีเต็มไปหมด แล้วจิตวิญญาณนั้นจะเป็นคนๆ นั้นจริงหรือเปล่า
นี่ไง ฉะนั้นบอกว่าเรื่องประทับทรงมันแปลกมาก ฉะนั้นกรณีอย่างนี้เราไม่เชื่อเรื่องที่ความเห็นอันนั้น แต่ถ้ามันอยู่ในเทป ว่าเป็นการสนทนากันระหว่างหลวงปู่สิมกับหลวงปู่บุดดา มันก็เป็นมุมมอง เป็นความคิดต่างๆ แต่ความเห็นของพวกเรานี่ถูกต้อง ถูกต้องตรงที่บอกว่า พระกัสสปะท่านถึงอนุปาทิเสสนิพพานเด็ดขาด แต่พระกัสสปะกับพระศรีอริยเมตไตรย ท่านได้สร้างบุญกุศลมาร่วมกัน ท่านมีเวรมีกรรมมาต่อกัน
มีอยู่ชาติหนึ่ง พระศรีอริยเมตไตรยเป็นควาญช้าง แล้วพระกัสสปะนี้เกิดเป็นช้าง พอเกิดเป็นช้างแล้ว ช้างนี่เป็นช้างแสนรู้ ที่มีชื่อเสียงเกียรติศัพท์ เกียรติคุณไปทั่วทวีป ว่าเป็นช้างแสนรู้ ช้างที่ทำอะไรก็ได้ จนกษัตริย์ในสมัยนั้นไม่เชื่อ พอไม่เชื่อก็ให้คนเขาเรียกช้างนั้นกับควาญช้างนั้นเข้าไปราชวัง แล้วก็ไปเอาแท่งเหล็กนี่เผาให้มันแดงทั้งแท่งเลย แล้วก็บอกว่าให้พระศรีอริยเมตไตรยที่เป็นควาญช้าง บอกให้ช้างนั้นเข้าไปกอดแท่งเหล็กแดงๆ นั้น
ทีนี้ช้างเข้าไปกอด ช้างมันก็ต้องรู้ว่ามันตาย นี่ไง เพราะว่ามันมีเกียรติศัพท์ เกียรติคุณร่ำลือไปไงว่าเป็นช้างแสนรู้ แล้วพูดรู้เรื่อง ควาญช้างพูดอย่างไรช้างนี้มันจะทำตามหมด เพราะมันเชื่อเจ้านายมาก แต่ทีนี้ความเชื่อของกษัตริย์เขาไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ไง ถ้าสั่งไปอย่างอื่นมันก็สั่งได้ใช่ไหม สั่งให้ไปตายจะยอมไปตายไหม
ด้วยความเห็นของกษัตริย์ก็เลยให้เข้ามา แล้วก็บอกว่าให้สั่งช้างนั้นเข้าไปกอดแท่งเหล็กแดงๆ นั้น ฉะนั้นถ้าช้างไม่เข้าไปกอด ก็แสดงว่าควาญช้างนั้นสั่งช้างไม่ได้ ก็โกหก ด้วยกษัตริย์ใช่ไหมก็สั่งตัดหัวไง เพราะว่าเกียรติศัพท์เกียรติคุณมันร่ำลือไปทั่วใช่ไหม กษัตริย์เขาต้องการการปกครองใช่ไหม ต้องการให้ทุกคนยอมรับเขา แล้วถ้าใครมีเกียรติศัพท์เกียรติคุณขึ้นมา เรื่องอำนาจเขาระแวงกันมาตลอด
ฉะนั้นเขาบอกว่าถ้าควาญช้างสั่งให้ช้างเข้าไปกอดแท่งเหล็กนั้นได้ นั่นก็คือเป็นความจริง ถ้าควาญช้างสั่งให้ช้างเข้าไปกอดแท่งเหล็กแล้วช้างไม่ไปกอด ควาญช้างนั้นต้องโดนตัดหัว ก็ต้องตัดหัวเพราะว่ามันเป็นเสี้ยนหนาม เพื่อไม่ให้ประชาชนเชื่อถือสิ่งใด ฉะนั้นพอกษัตริย์สั่งขึ้นมาแล้ว ควาญช้างก็รู้ ควาญช้างก็สำนึกตน ควาญช้างเดินเข้าไปหาช้าง
วันนี้เป็นวันสิ้นไประหว่างช้างกับควาญช้าง คนหนึ่งจะต้องตาย ถ้าสั่งแล้วช้างเข้าไปกอด ก็เป็นความเห็นของช้าง ถ้าสั่งแล้วช้างไม่เข้าไปกอด ให้ช้างเดินออกไปเลย ก็ให้ช้างทำตามนั้นไป
นี่กรรม เห็นไหม กรรมเป็นอจินไตยๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวใช่ไหม ก็ต้องสั่งช้างเข้าไปกอดเลย พอช้างตายแล้วเราจะได้รอดไง แต่นี้ควาญช้างนั้นเป็นธรรมนะ เข้าไปหาช้างแล้วพูดกับช้าง ถ้ากษัตริย์เขาให้สั่ง เขาก็ต้องสั่งให้ช้างเข้าไปกอดเหล็ก กอดแท่งไฟนั้น ถ้าช้างจะเข้าไปกอด ช้างก็ต้องตาย ช้างก็ต้องรู้ แต่ถ้าเราสั่งแล้วช้างไม่เข้าไปกอด ก็ไม่เป็นไรให้ช้างเดินออกไปเลย เพราะควาญช้างก็โดนตัดหัว ควาญช้างก็จะให้กษัตริย์ตัดหัว
คือวันนี้ต้องเสียสละคนหนึ่ง คือว่าช้างกับควาญช้างต้องตายคนหนึ่ง นี่ควาญช้างก็ไปพูดกับช้าง ให้ช้างเลือกเอง คือไม่บังคับ ใจเป็นธรรมไงไม่บังคับ ถ้าเป็นเรานะบอกให้ช้างกอดเลย ช้างกอดเลยฉันจะวิ่งหนี แต่นี่ไปพูดกับช้างเลยนะ บอกว่า
ถ้าช้างเข้าไปกอดก็คือช้างต้องตาย ถ้าช้างจะไม่ไปกอดก็ให้ช้างกลับไป เราก็โดนตัดหัว ก็เท่านั้นเอง
มาพูดกับช้างก่อนไง มาตกลงกัน แล้วพอกษัตริย์สั่งก็ทำตามกษัตริย์ พอกษัตริย์สั่งบอกว่าให้ควาญช้างสั่งให้ช้างเข้าไปกอดแท่งไฟนี้ ควาญช้างก็ต้องสั่งตามนั้น เพราะเกียรติศัพท์มันร่ำลือไปอย่างนั้น ถึงเวลาก็สั่งเลยบอกว่าให้ช้างเข้าไปกอดแท่งไฟนั้น ช้างมันเข้าไปกอดเลย! ช้างมันเข้าไปกอดเลย! แล้วมันก็ตาย
กษัตริย์นั้นตกนรกอเวจีหลายภพหลายชาติ กษัตริย์นั้นต้องหมุนไป เพราะมันรู้ๆ อยู่ เราเป็นคนใช่ไหม เราทำอย่างนั้นได้อย่างไร แต่การทำอย่างนั้นมันมีเบื้องหลังมาอีกเยอะแยะเลย แต่พอทำอย่างนั้นปั๊บ ชาตินั้นพระกัสสปะเป็นช้าง พระศรีอริยเมตไตรยเป็นควาญช้าง การเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏฏะ แล้วสุดท้ายพระกัสสปะก็สร้างบุญกุศลมา มาเกิดเป็นพระกัสสปะแล้วสิ้นกิเลสไป
ฉะนั้น กรณีศพของพระกัสสปะยังไม่ได้เผา อยู่ในเขาหิมาลัยนี่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรา เรื่องอย่างนี้พวกเราพยายามศึกษากันไง เรายังไม่อยากจะพูดออกมา เพราะเดี๋ยวมันออกนี่ไป หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ตื้อ ครูบาอาจารย์เราท่านรู้แล้ว หลวงปู่สิม...
ถ้าพูดอย่างนี้ถูก ว่าสรีระท่านยังไม่ได้เผา แล้วพระพุทธเจ้าเราพยากรณ์ไว้ว่า พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป แล้วพระศรีอริยเมตไตรยจะเอาซากกระดูกของพระกัสสปะมาฌาปนกิจบนฝ่ามือของพระศรีอริยเมตไตรย เพราะว่าพระกัสสปะยอมสละชีวิตให้พระศรีอริยเมตไตรย เวลาพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้แล้ว จะเอากระดูกของพระกัสสปะที่นิพพานไปแล้วมาอยู่บนฝ่ามือนี้ แล้วจะมาฌาปนกิจบนฝ่ามือของพระศรีอริยเมตไตรย เห็นไหม
นี่อนิจจังไหม? ไม่อนิจจังใช่ไหม เพราะมันมีผลแน่นอน มันข้ามภพข้ามชาติขนาดนี้ นี่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ในพระไตรปิฎกนะ คำว่าพระกัสสปะนั้นเคยเป็นช้างใช่ไหม ได้เสียสละให้กับควาญช้างเข้าไปกอดแท่งไฟแล้วตายไป นี่ผลบุญผลกรรมมันติดพันกันมา ฉะนั้นผลบุญผลกรรมอันนี้ ควาญช้างตอนนี่รอมาจะตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตไตรยแล้ว
เพราะเรื่องนี้มันนานนมกาเล อดีตชาติมันนานนมกาเลเลยล่ะ ปัจจุบันนี้พระศรีอริยเมตไตรยจะมารอตรัสรู้แล้ว พอพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่ซากศพของพระกัสสปะที่ยังไม่ได้เผา ก็จะมาเผาฌาปนกิจอยู่บนฝ่ามือของพระศรีอริยเมตไตรย อจินไตยไหม? ไม่อจินไตยใช่ไหม เพราะมันต้องแน่นอน กรรมนี่เราบอกว่าไม่เป็นอจินไตย กรรมนี้แน่นอน เพียงแต่ว่ามันจะให้ผลเมื่อไหร่ มันซับซ้อนไกลมากไง มันจะให้ผลเมื่อไหร่ แต่ให้ผลเด็ดขาด
นี้พูดถึงคำถาม เราจะบอกว่าผู้ถามนี่นะเห็นถูกต้องแล้ว เพียงแต่ว่าผู้ถามไปได้ข้อมูลนี้มา บอกว่าพระกัสสปะมาประทับทรง แล้วมาในร่างทรง อะไรเนี่ย โอ้โฮ.. อันนี้ยิ่งไปใหญ่เลย อันนี้เราไม่เชื่อ เพราะเราเชื่อทั้งพระกัสสปะด้วย เราเชื่อทั้งหลวงปู่สิมด้วย เราเชื่อทั้งหลวงปู่บุดดาด้วย หลวงปู่บุดดาเราเชื่อนะ หลวงปู่บุดดานี่ เพราะหลวงตาท่านบอกว่าเวลาหลวงตาไปกราบ หลวงปู่บุดดาท่านเมตตาหลวงตามาก แล้วเราฟังเทศน์ท่านเราลงใจ
ฉะนั้นหลวงปู่บุดดาเราก็เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่สิมเราก็เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ พระมหากัสสปะเราก็เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วมาพูดบอกเข้าร่างทรง ประทับทรงอะไรนี่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อตรงนี้ เราไม่เชื่อที่ว่าข้อมูล ฉะนั้นเราเชื่อแบบที่ผู้ถามถามว่าเขาเห็นเหมือนกัน ในพระไตรปิฎกบอกไว้ชัดเจน เห็นไหม
พระกัสสปะนิพพานไปแล้ว แต่สรีระของท่านยังอยู่ นี่ความเชื่อของผู้ถาม แล้วพอไปเจอข้อมูลนี้มันก็เลยกลับมาให้เป็นภาระเราเลย เราก็เคลียร์ปัญหานี้นะ จบ!
ขออีกอันหนึ่ง ข้อ ๔๐๑. ไม่มี
ถาม : เรื่อง ๔๐๒. เราควรเคารพรูปเหมือนของกวนอิมหรือไม่ครับ
ชาวพุทธแบบเถรวาท ควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อรูปเหมือนของพระโพธิสัตว์แบบมหายานครับ
หลวงพ่อ : ถ้าเป็นชาวพุทธโดยเข้มข้น ชาวพุทธเถรวาทเรานี่โดยคำสอน โดยธรรมและวินัย เพราะหน่วยราชการ เมื่อก่อนสมัยชวนเป็นนายกหรืออย่างไร เขาออกระเบียบเป็นกฎกระทรวงมา บอกวัดนี่ห้ามสร้างรูปเคารพที่ไม่ใช่ในพุทธศาสนานะ
ความจริงเรื่องนี้มันมีนะ เพราะว่าถ้าเราเอาทางวิชาการกัน เถรวาทให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เว้นจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือว่าเป็นมงคลตื่นข่าว แม้แต่ว่าสามเณรเวลาจะบวชต้องถือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ถือพระรัตนตรัย แล้วรูปเคารพอย่างอื่นนี้ ถ้าไปเคารพแล้วนี่มันขาดจากพุทธมามกะเลยล่ะ ทีนี้เพียงแต่ว่าเราจะทำตัวอย่างไร ชาวพุทธเถรวาทจะปฏิบัติตัวอย่างไร
คำว่าปฏิบัติตัว เดี๋ยวนี้โลกมันแคบ การศึกษามันไวมาก ฉะนั้น อย่างเช่นความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ มหายาน เรื่องเจ้าแม่กวนอิม มันเป็นความเชื่อของชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ทีนี้ชาวจีนนี่ ๑,๐๐๐ กว่าล้าน ๑,๐๐๐ กว่าล้านใช่ไหม แล้วอย่างของเรา เถรวาทเรานะมันก็มีเมืองไทย ๖๐ กว่าล้าน มีพม่ากี่ ๑๐ ล้านไม่รู้ แล้วก็เขมร ลาว นอกนั้น อย่างเวียดนามไปมันก็กึ่งมหายาน ฉะนั้นประชากรมีเท่าไหร่?
ทีนี้คำว่าประชากรมีเท่าไหร่นี่ความเชื่อไง ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม ในเมื่อมันเป็นสังคมส่วนใหญ่ใช่ไหมเขาถือกันอย่างนั้น เราเป็นเถรวาท นี่พูดถึงว่าการปฏิบัติตัวในสังคมโลกนะ แต่ถ้าเราจะแบบว่ากระแสวัฒนธรรม ถ้ากระแสวัฒนธรรมมันท่วมท้นมา เราจะมีรูปแบบอย่างไรป้องกันกระแสวัฒนธรรมของเราให้มันสะอาดบริสุทธิ์ล่ะ กระแสวัฒนธรรมของเถรวาทเราถืออย่างไร เถรวาทเรามันขาดเลยล่ะ มันขาดจากไตรสรณคมน์ มันขาดจากพุทธมามกะ
ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมตามวัดมีรูปเคารพอย่างนี้เต็มไปหมดเลย รูปเคารพนี้เพราะอะไร เพราะมันอยู่ที่ภูมิปัญญาของผู้นำไง ถ้าภูมิปัญญาของผู้นำนี่เห็นประโยชน์กับอะไร ถ้าเห็นประโยชน์กับความรู้สึก เห็นประโยชน์กับหัวใจ เห็นประโยชน์ของธรรมนี่ เขาทำอย่างนี้ไหมล่ะ แต่ถ้าภูมิปัญญาของผู้นำเขาเห็นว่า ถ้ามีรูปเคารพอย่างนี้แล้วคนเข้าวัดมาก ยิ่งมีรูปเคารพอย่างนี้แล้วมันยิ่งเฮี้ยน โอ้โฮ.. ยิ่งทำอะไรได้ทุกอย่างเลย นี้เราเห็นโลกเป็นใหญ่แล้วนะ
ถ้าเป็นคำสอนของเถรวาท คำว่าโลกเป็นใหญ่คือว่าเราเห็นวัตถุ เห็นประโยชน์ข้างนอกเป็นใหญ่ ไม่ได้เห็นคุณธรรมเป็นใหญ่ เราหวังอะไรกัน นี่เถรวาทเราหวังอะไร เถรวาทเราหวังนิพพาน ถ้าเราหวังนิพพาน แล้วเขาหวังอะไร?
เมื่อก่อนเราก็งงนะ เพราะเราดูรูป ว่าทิเบตทำไมเขาไหว้กันอย่างนั้น เวลาทิเบตเขาไหว้พระ เห็นไหม เขานอนไปทั้งตัวเลย สุดท้ายแล้วนะมันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาตอนพระพุทธเจ้าเรา พระพุทธเจ้าจะพยากรณ์ สมณโคดมนี่ พระพุทธเจ้าจะพยากรณ์ เขาสร้างทางไว้เพื่อจะให้พระพุทธเจ้าเดินมา แล้วมันยังไม่เสร็จ มันอยู่ช่วงสร้างพอดี
ทีนี้สร้างไม่ทันพระพุทธเจ้ามาแล้ว นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี่นะนอนเลย นอนให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินเหยียบร่างมา พอเดินเหยียบร่างผ่านมา.. อยู่ในพระไตรปิฎกนะ พอเดินเหยียบร่างพระพุทธเจ้าผ่านไปเลย พอผ่านไปก็หันกลับมาพยากรณ์เลย
ต่อไปในอนาคตกาล เธอจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า มีชื่อว่าพระสมณโคดม
นี่ไง เพราะว่าเสียสละร่างกายนอนต่อจากทางลาดมา ฉะนั้นทิเบตเวลาเขาไหว้ เห็นไหม
๑. ทิเบตไหว้
๒. ประเพณีของพวกกะเหรี่ยง การทำบุญของเขาที่ได้บุญที่สุดคือเขานอนนะ เขานอนให้พระเหยียบ ไอ้เราก็ไม่กล้าเหยียบคนเนาะ เราจะไปเหยียบเขาอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ความเชื่อของเขาว่าเขาได้บุญมากไง เพราะมันมีที่มาว่านี่คือวัฒนธรรม
ทีนี้ชาวทิเบตเวลาเขาไหว้ เขานอนไปเลย แล้วรูปเขียนเขามีเยอะมาก รูปเขียนเขานี่เขาจะนอนไปให้พระพุทธเจ้าดำเนินไป เพราะอย่างนี้ถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเวลาฝ่ายมหายาน เห็นไหม ดูสิเขาว่านิพพาน เขายังมีนิพพานในสุขาวดี ยังไปของเขาอีกนะ
ฉะนั้นมหายานนี้ถือว่าอาจริยวาท อาจารย์พูดอย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น ถ้าอาจารย์เป็นอาจารย์ที่เป็นความจริง แล้วลูกศิษย์ไปอยู่กับอาจารย์องค์นั้น ลูกศิษย์ก็โชคดีไป แต่ถ้าพูดถึงอาจารย์องค์ใดยังไม่เข้าใจจริง หรือเข้าใจโดยทิฐิความเห็นของตัว ก็สอนกันมาเป็นอย่างนั้น แล้วพอเข้าไปสู่อำนาจรัฐ เวลาจักรพรรดิในเมืองจีนเชื่อสิ่งใด มันก็เป็นความเชื่อของสังคมหมู่ใหญ่เป็นพันๆ ล้าน ประเพณีวัฒนธรรมไง
นี่พูดถึงว่า เราควรจะเคารพรูปเหมือนกวนอิมอย่างใด
เออ.. เราไม่เคารพ แล้วเวลาเราไม่เคารพนะ เราพูดขึ้นมานี่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องโลก แต่เรื่องโลกไม่ใช่ธรรมนะ อย่างเช่นพระพุทธรูปเราก็ประกอบด้วยอิฐ หิน ดิน ทรายเหมือนกัน รูปเคารพเจ้าแม่กวนอิมก็ได้สร้างขึ้นมาจากอิฐ หิน ดิน ทรายเหมือนกัน แล้วทำไมอิฐ หิน ดิน ทรายเราเคารพไม่ได้ ทำไมอิฐ หิน ดิน ทรายของเราเคารพได้ เออ.. (หัวเราะ)
อิฐ หิน ดิน ทรายของเรา เราสมมุติว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้นอย่างพวกเรามันไม่มีที่เคารพใช่ไหม เราก็สร้างรูปขึ้นมา สมมุติขึ้นมาว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะอย่างไรก็แล้วแต่เราก็ยังนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่นี่อิฐ หิน ดิน ทราย ปูนเหมือนกัน แต่เราทำเป็นรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม..
กรณีอย่างนี้เป็นกรณีเรื่องของโลกนะ แต่เราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยกับการเคารพรูปอย่างนี้ ขนาดกรรมฐานเรา หลวงตาเวลาพระในวัดยังให้มีพระพุทธรูปองค์เดียว หนึ่งเดียวไง
หนึ่งเดียวเป็นเอกภาพ เวลาทำสมาธิก็หนึ่งเดียว เวลาเกิดปัญญาขึ้นเอาเป็นความจริง พอเราเป็นเอกภาพ ความรู้สึกเราเป็นเอกภาพ ทำสิ่งใดมันมีความตั้งใจ จงใจ มันจะเป็นความจริงขึ้นมา แต่เวลาความรู้สึกของเราไม่เป็นเอกภาพ ความรู้สึกเราแตกไป คิดนู่น คิดนี่ คิดไปร้อยแปดเลย นี่เดี๋ยวก็คิดถึงกวนอิม เดี๋ยวก็จะคิดถึงพระพุทธรูป เดี๋ยวก็จะคิดนู่น คิดนี่ แล้วจะคิดอะไร นี่ความรู้สึกเราก็แตกออกไป
ฉะนั้นเวลาหลวงตาท่านมานะ ในวัดก็ให้มีหนึ่งเดียว มีพระพุทธรูปองค์เดียวก็พอ มีมากเกินไปก็ไม่จำเป็นใช่ไหม สิ่งที่ในพระพุทธรูปนี่ เรามีไว้เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาไว้กราบ เอาไว้ไหว้ นี่อย่าคนฉลาดนะที่ไหนเขาก็กราบได้ อย่างเด็กๆ นะ ให้กราบพระๆ ให้มันกราบอากาศมันไม่ยอมกราบหรอก แต่เอาพระพุทธรูปมาตั้งซักองค์หนึ่งนะ มันกราบได้สบายใจเลย นี่มันเป็นวัฒนธรรม
ฉะนั้นจะปฏิบัติตัวอย่างไรนี่มันพูดยาก มันพูดยากแบบว่าอยู่ที่ความเข้มข้น ความเข้มข้นของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธที่เข้มข้นนะ อ้าว.. ชาวจีนเขาก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน เขาก็เข้มข้นของเขาเหมือนกัน นี่ไงเขาถึงบอกว่าให้เกิดศาสนสัมพันธ์เนาะ ศาสนาสัมพันธ์กัน ศาสนาอย่าโต้แย้งกัน ศาสนาอย่าปะทะกัน
อันนี้เวลาเขาพูด เขาพูดกันอย่างนั้น แต่นี้ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ เราจะรู้เลยว่าศีล สมาธิ ปัญญาเป็นอย่างไร มรรคญาณเป็นอย่างไร เวลาแก้กิเลส กิเลสเป็นอย่างไร อันนี้มันเป็นสภาวะ แก่น กระพี้ เปลือก เห็นไหม เปลือกไม้มันรักษาแก่นไว้ ถ้าเราจะเข้าถึงแก่น พอเราถึงแก่นแล้วนะพวกนี้จะไม่มีความหมายเลย แต่เราก็เห็นด้วยกับคำพูดนี้
เราแปลกนะ เวลาโยมก็คือโยมใช่ไหม เวลาปฏิบัติก็อยากจะเข้าถึงธรรม เวลาพระนี่ประกาศตนเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสแล้ว เป็นผู้นำเขาแล้ว เจ้าแม่กวนอิมๆ นี่มันควรจะเข้าใจได้ เพราะในวินัยมันก็ชัดเจน เหมือนกฎหมายมีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำตามกฎหมายเราก็ผิดใช่ไหม
เถรวาทนี่วินัยมันชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าเราซื่อสัตย์กับธรรมวินัยนะมันชัดเจนอยู่แล้วไง ไม่ต้องไปถามใครเลย แล้วพระ เห็นไหม ดูสิเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ยังมี ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคดันไปสร้างเจ้าแม่กวนอิม อย่างนี้มันก็เหมือนกับเจ้าหน้าที่รัฐฯ ทำความผิดซะเอง
พระ! เป็นผู้นำสังคม แล้วทำผิดเสียเอง น่าเศร้า น่าเศร้า..
ฉะนั้นพอพระทำผิดเสียเอง ผู้ตาม โยมเขาจะทำอย่างไรกัน รูปเคารพนี่ทำอย่างไรกัน ในเมื่อผู้นำก็ควรจะนำให้มันถูกต้อง แล้วผู้นำนี่นำไม่ถูกต้อง แล้วจะพากันเดินไปอย่างไร ต้องตั้งให้เราเป็นนายก เราจะรื้อให้หมดเลยประเทศไทย แต่นี่เราไม่ได้เป็นนายก ก็แล้วแต่เราจะคิดเราจะหาเอาเนาะ
เรื่องอย่างนี้มันเป็นความเชื่อไง ยิ่งตอนนี้นะความเชื่อนี่ เห็นไหม รัฐธรรมนูญต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ต้องไม่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ ความเชื่อของคน ทีนี้ความเชื่อมันก็จะไปเรื่อยล่ะ ฉะนั้นถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์นะ กรณีนี้เห็นมานาน ยิ่งบางวัดเขาสร้างช้าง โอ้โฮ.. ใหญ่โตเนาะ เศร้าใจ เพราะว่าเราสร้างพระพุทธรูปกันมาจนเราเคยชิน มันก็เลยไม่มีอะไรเป็นจุดขายใช่ไหม ถ้าสร้างพระพุทธรูปมันก็เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม โอ้โฮ.. ถ้าสร้างช้างเอราวัณขึ้นมานี่ โอ้โฮ.. คนตื่นเต้น สาธุ.. จบดีกว่า