ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิธีรู้ใจ

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๒


วิธีรู้ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาเนาะ ใครมีธุระจะกลับก่อน ใครจะขยับยังไงก็ได้นะ เวลาพูดมันไปเรื่อยๆ เวลาเทศน์ตอนเช้า เทศน์ประมาณสักสิบกว่านาที เพราะว่าเขามาแล้วทุกคนเขามีธุระ ถ้าคนมีธุระมันละล้าละลัง ถ้าจิตมันไม่ตั้งใจมันจะไม่ได้มาก แต่เมื่อเขาลงทุนแล้ว เขามาแล้วน่ะ คือว่าคนมาแล้วเหมือนกับคนมาเยี่ยมบ้านเราเห็นไหม คือเราจะไม่ให้เขากลับไปมือเปล่า เราต้องมีของตอบแทนเขา นี่เหมือนกันเขามาวัดมาวา ถ้าไม่ได้เทศน์เลยน่ะ ไปวัดนะ ไปวัดเห็นไหม เดี๋ยวนี้เขาย้ายวัดไปอยู่ในศูนย์การค้า เพราะอะไร เพราะเขาต้องการให้คนเข้าวัด นี่ไงเขาอุตส่าห์มาวัด แล้วเขากลับไป เขามาทำบุญของเขาก็ได้เป็นพิธีเฉยๆ

แต่ถ้าได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ธรรมอันนี้มันสะเทือน คือว่าปลุกความรู้สึกเขาให้ขึ้นมา ปลุกความรู้สึกของคนให้สนใจในศาสนา แต่ถ้ากลับไปแล้วเห็นไหม ถ้ามีเวลามันอธิบายได้เคลียร์ไง อธิบายได้เป็นชั้นๆๆ เข้าไป เพราะว่าเราปฏิบัติเราจะงงทั้งนั้นแหละ เวลาเราปฏิบัติใช่ไหม ทุกคนมาถามหมดนะ เวลาปฏิบัติไป มันเป็นสีลัพพตปรามาสไหม มันผิดพลาดไหม มันจะถูกไหม

น้ำเห็นไหม น้ำอยู่ในขวด เวลาเราหยิบมา เราดื่มได้เลย น้ำอยู่ในขวดเพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันมีใช่ไหม ก็ทำขวด ตอนนี้ทางยุโรปเขาแอนตี้แล้วนะ เขาบอกว่าขวดมันทำลายสภาวะแวดล้อม ตอนนี้ทางยุโรป โลกร้อนเนี่ยเขาแอนตี้ล่ะ เขาไม่ให้ใช้น้ำขวด เขาจะให้ใช้น้ำประปา ให้ใช้น้ำปกติเห็นไหม เวลาเขามาคิดได้ เขามาคิดได้ทีหลัง แต่เพื่อความสะดวกเห็นไหม เหมือนถุงพลาสติกเลย ตอนคิดได้ถุงพลาสติกใหม่ๆนะ โอ้โฮ..เป็นประโยชน์กับโลก เดี๋ยวนี้ก่ายหน้าผากเลย จะทำยังไงเพื่อจะทำลายมัน

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมคือมันไม่มีภาชนะไม่มีสิ่งใดๆ เลย แล้วเราต้องขวนขวาย เราต้องค้นหาของเรากันเอง เพื่อประโยชน์กับเรา แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันเจริญใช่ไหม พอปฏิบัติธรรมก็ เนี่ย..ผมปฏิบัติแล้ว เนี่ย..มันจะเป็นสีลัพพตปรามาสไหม มันผิดพลาดไหม มันผิดหมด

เราพูดได้เลยว่าทุกคนปฏิบัติน่ะผิดทุกคนเลย ไม่มีใครปฏิบัติแล้วถูก ไม่มี ถ้ามี..คนนั้นต้องเป็นพระอรหันต์มาแล้ว คือคนนั้นเขาสะอาดบริสุทธิ์มาแล้ว แล้วคนที่ปฏิบัติมีกิเลสไหม ถ้าปฏิบัติใหม่ๆ เนี่ย กิเลสหนาด้วย แต่พอปฏิบัติแล้วกิเลสจะเริ่มบางไป บางไป นั่นล่ะมันจะเริ่มถูกมากขึ้นๆๆ พอมันถึงที่สุด คนปฏิบัติทั้งหมด..ผิดหมด คนที่ปฏิบัติถูกไม่มี

แม้แต่พระพุทธเจ้าปฏิบัติก็ผิดมาก่อน ฉะนั้นถ้ามันจะมีความผิดพลาด ความผิดพลาดเพราะอย่างเรา เราไม่รู้จักอะไรเลย เราจะทำอะไรให้มันถูกเลย มันเป็นไปได้ยังไง เราก็ต้องฝึกหัดใช่ไหม เราก็ต้องลองใช่ไหม มันจะผิดมันจะถูกบ้าง ความผิดความถูกนั้นนะมันจะฝึกเรา คนเราน่ะ นักกีฬาหรือการฝึกฝน เขาฝึกมาจากนั่น เราเป็นผู้ใหญ่นั่งกันอยู่ เราเป็นเด็ก คลอดออกมา ทุกคนเดินไม่ได้หมดเลย แล้วพ่อแม่ก็ฝึกให้เดิน แล้วเราก็เดินขึ้นมา พ่อแม่ก็ส่งไปโรงเรียนไปศึกษา แล้วเราก็ไปศึกษาโรงเรียนมา แล้วมันมาจากไหน ก็มาจากเราฝึกมาทั้งนั้น มันมาจากการเราฝึกเราค้นคว้ามา

ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ปฏิบัติธรรมเห็นไหม เราพูดบ่อย เพราะเราปฏิบัติ ดูสิ.. ดูอย่างมหายาน เขาไปถามพระอรหันต์ไง พระอรหันต์นี่ดำรงชีวิตยังไง หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ เราก็คิดใช่ไหม เราก็กิน เราก็อาบน้ำ แต่เราไม่ได้คิดถึงวุฒิภาวะของใจเลย หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ หมายถึงว่าเราพัฒนาการจนมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เข้าใจทุกอย่างแล้ว เราดำรงชีวิตของเราโดยธรรมชาติ พระอรหันต์ฝึกจิตมาจน จิตพ้นจากกิเลสแล้ว จะทำยังไงมันก็สุขสบายใช่ไหม

เด็กที่มันยังไม่ได้เติบโตเลย เด็กมันยังแบเบาะอยู่เลย หิวมันกินได้ไหม เด็กแบเบาะหิวมันกินได้ไหม มันก็ขี้อยู่ในเบาะของมันนะ เวลากินมันก็เอามือควักขี้กิน เพราะอะไร ก็เพราะมันไม่รู้จักอะไร เพราะมันเป็นเด็ก นี่ก็เหมือนกันหิวก็กิน เราก็ตีความผิดกันไป เราตีความผิดนะ เวลาคำสอนน่ะเขาสอนถูก เขาบอกหลักการมาถูกหมดล่ะ แต่พวกเรา จิตใจมันยังเป็นโลกอยู่ไง พอเป็นโลกอยู่ พอเราไปศึกษาปั๊บ เราก็เอาความเห็นเราเข้าไปบวก แล้วมาปฏิบัติก็กลัวผิด กลัวผิด เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าผิดหมดเลย พอปฏิบัติไปทุกคนก็จะท้อแท้หมดเลย ทั้งเราด้วยทั้งพุทธเจ้าด้วย เพราะคนเกิดมามันมีอวิชชา

ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อยนะ คนที่เกิดมาทั้งหมด มีอวิชชาทั้งหมด ทุกคนทุกข์หมดเลย คนที่เกิดมาแล้วมีความสุข ไม่มี ไม่มี ทุกดวงใจที่เกิด ทุกดวงใจ ทุกดวงใจ ไม่มียกเว้นเลย ไม่มียกเว้น แต่พอมาปฏิบัติแล้วสิ พอปฏิบัติแล้วน่ะเริ่มทำให้มันสะอาดขึ้น ดีขึ้น สะอาดขึ้น ดีขึ้น ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เออ..นั่นน่ะ หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ คือจิตมันพัฒนามาจนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว นี่คำพูดผู้หลักผู้ใหญ่ โดยธรรมชาติของมนุษย์มันต้องโตเป็นผู้ใหญ่เป็นธรรมดา

แต่จิตไม่เป็นอย่างนั้น จิตมันจะเป็นทารกอย่างนี้ตลอดไป ทั้งๆ ที่มันไม่ตาย มันไปเกิดในนรกอเวจีมันก็ไม่ตาย มันโดนไฟบรรลัยกัลป์เผาขนาดไหน มันก็ไม่ตาย หมดจากภาวะกรรมแล้วมันก็ขึ้นมา ขึ้นมาเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นอะไรต่างๆ จนมาเกิดเป็นมนุษย์ เนี่ย..มันไม่เคยตาย จิตนี้ไม่เคยตายนะ แต่เป็นทารกน้อยอย่างนั้น หมุนไปอยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่าหิวก็กิน ถ้าหิวก็กินนะพวกเราจะคุมใจได้ คือเราจะเป็นคนดีตลอดเลย เราจะทำความดี เราจะไม่ทำความชั่วเลย คุมได้ไหม ความคิดน่ะ ไม่ให้มันคิดไม่ดีเลยได้ไหม เอ้า..ก็รู้อยู่ หิวก็กินไง เอ้า..คิดไม่ดีก็ต้องหยุดมันให้ได้สิ เอ้า..คิดไม่ดีก็อย่าไปคิดมันสิ เหมือนทารก คือมันคุมไม่ได้ มันเหมือนเด็กอ่อนหมุนไปตามธรรมชาติของมัน

แต่พอเรามีศรัทธาความเชื่อแล้ว เราปฏิบัติขึ้นมาจนมีสติ จนมีสมาธิ นั่นล่ะ ควบคุมได้ล่ะ เริ่มดีขึ้นล่ะ เริ่มดีขึ้น ก็ยังไม่รู้ ยังกินไม่เป็นเหมือนกัน เพราะมรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค อาหารของมรรคญาณ ของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค นี่คืออาหารแต่ละชนิด ที่กินจนอิ่มหนำสำราญ พอมันสมุจเฉทขาดเป็นโสดาปัตติผล สกิทาคาผล อนาคาผล อรหัตตผล นั่นน่ะ นั่นคือผลของมัน ถ้าผลของมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว จิตดวงนั้นมันจะไปไหน จิตดวงนั้นน่ะ มันหิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ

ทีนี้ เวลาเราปฏิบัติเห็นไหม มันต้องปฏิบัติขึ้นมา พอปฏิบัติขึ้นมา คนที่เป็นจริง คนที่สิ้นกิเลสนะพูดได้ถูกหมดล่ะ แต่ของเรา เราตีความโดยความเห็นของเรา ถ้าเราตีความเห็นของเราเห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้ว อะไรจะวิปัสสนา อะไรเป็นสัญญา สัญญาทั้งหมด ศึกษาไง สุตมยปัญญา การศึกษาเล่าเรียน ศาสตราจารย์นะ ด็อกเตอร์นะ สิ่งที่ศึกษามานั่น นั่นคือสัญญาทั้งหมดเลย ทั้งๆ ที่เราทำวิจัยนั่นน่ะ วิจัยมันก็ทดสอบของเรา ทดสอบทางโลก นั่นคือสัญญาทั้งหมด สัญญาทั้งหมดเพราะอะไร เพราะสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ทุกอย่างไม่มีความจริงเลย แล้วสัญญาข้อมูลเก็บไว้ในใจ

แล้วพอเราประพฤติจากสุตมยปัญญา จินตมยปัญญาเห็นไหม เราจินตนาการกัน นิพพานเป็นอย่างนั้น ทุกคนอยากปฏิบัติอย่างนั้น อย่างนั้นๆๆ แล้วเป็นตามที่เราคิดไหม เวลาเราภาวนาไปมันว่าง มันเวิ้งว้างขนาดไหน นั่นมันเป็นความจริงไหม เพราะ.. เพราะมันควบคุมไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพตลอด เราจะไม่มีอะไรจับต้องสิ่งใด ยึดมั่นอะไรไว้ได้เลย เพราะไม่มีอะไรคงที่ มันจะหมุนเวียน มันจะเปลี่ยนสภาพของมัน จะว่างขนาดไหน จะดีขนาดไหนนะ ถึงเวลามันกินตัวมันเอง มันจะแปรสภาพตลอด แล้วอะไรเป็นความจริง

แต่พอจิตเรา เราตั้งสติใช่ไหม เราศึกษามา เวลาศึกษาเห็นไหม ดูสิ ดูอย่างกรรมฐานเรา หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเอง ปริยัติเรียนมาแล้ว อุปัชฌาย์สอนให้ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เนี่ย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าแทงทะลุ พระพุทธเจ้าให้อาวุธมาแล้ว ให้โจทย์มาแล้ว ตีให้แตก ถ้าตีโจทย์นี้แตก ถ้าไปศึกษาเห็นไหมไปศึกษา พระพุทธเจ้าเกิดที่ไหน โตมาอย่างไร ออกปฏิบัติที่ไหน นั่นไปเรียนประวัติ ไปศึกษาประวัติ แต่ถ้าเอาข้อเท็จจริง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ทะลุผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เข้าไป เราก็มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่เราก็เห็นทุกวัน มีแต่ไปขัดผิวไง กลัวมันจะไม่สวยไง

แต่ถ้ามันเป็นญาณของใจที่มันมองทะลุนะ ครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่กิมเนี่ย ผมเส้นหนึ่ง เห็นผมเส้นหนึ่งนะ ขยายส่วนมัน จากผมเส้นหนึ่งกลายเป็นท่อนซุง ในท่อนซุงนั้นมันจะมี มันเหมือนท่อน้ำ ในท่อน้ำมันจะมีอาหาร อาหารตั้งแต่รากผมถึงเส้นผม มันขยายส่วน แยกส่วนเห็นไหม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นหน้าที่ของเรานี่ เราศึกษาตรงนี้ ถ้ามันศึกษาตรงนี้ มันศึกษาเข้าไปได้เห็นไหม นี่มันทะลุแล้ว เนี่ย.. กรรมฐานเรา

ปริยัติเรียนมาแล้ว นี้ปฏิบัติสิ ปฏิบัติขึ้นมาจะให้เป็น พอปฏิบัติขึ้นมานี่ ปริยัติเรียนมาแล้ว เนี่ยสัญญา สัญญาเห็นไหม สัญญาคือความจำ สัญญาคือข้อมูล แล้วสัญญาไม่ใช่มีสัญญาเฉพาะชาตินี้ไง สัญญาในชาตินี้ในปัจจุบัน พ่อแม่ก็สอนไว้ โตมาเนี่ยพ่อแม่สอนนะ ลูกทำอย่างนี้ไม่ดี ทำอย่างนี้ดี จำไว้ เวลาทำดีพ่อแม่ตบมือให้ โอ๊ย..ดีใจ เดี๋ยวจะทำอวดแม่เลย ทำอวด เนี่ย..มันได้ข้อมูลว่าทำอย่างนี้ดี เขาทำอย่างนี้แล้ว พ่อแม่ให้รางวัล ทำอย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้ๆไม่ดี สัญญาไง สัญญาจำมาแล้ว สีสันเนี่ยจำมาแล้ว

สมมุติเนี่ยสัญญาทั้งหมดนะ จำมาแล้ว แล้วสัญญามาลบสัญญานะ อย่างภาษาชนชาติ คนละชนชาติ คำพูดนะ มันสิ่งเดียวกันแต่สมมุติต่างกัน เนี่ยสัญญาต่างกัน แต่ถึงเป้าหมายอริยสัจจ์มันจะอันเดียวกันเห็นไหม สัญญา สัญญาคือการจำได้ การจำ ศึกษา ทฤษฏีเราอ่านต่างๆ เราพยายามจำให้ได้เลย แล้วเดี๋ยวก็ลืม ต้องทบทวนนะ เปิดหนังสือแล้ว ลืม ลืม ลืม

แต่ถ้าเป็นอริยสัจจ์เป็นความจริงนะ ความจริงไม่มีวันลืม ความจริงอริยสัจจ์มันฝังอยู่ที่ใจ อริยสัจจ์เป็นความรู้จริง เหมือนรส รสเนี่ยดูสิ หวาน เนี่ยเอ็งเขียนว่าหวาน แต่ลิ้นเราว่าหวานเนี่ย หวานมันยังมี อื้ม..หวานระดับอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ความหวานมันยังมีรสเข้มข้นของ ความหวาน แต่ถ้ามันเขียนว่าหวานก็คือหวานนะ ต้องเติมหวานเข้มข้น หวานปานกลาง แต่ลิ้นเรามันตอบได้หมดนะ

คำว่าสัญญา สัญญามันเป็นความจำข้อมูล ถ้ามันสัญญาเนี่ย ตัวสัญญามันจะทำให้เรายึดมั่น ความยึดมั่นนะ ทีนี้เวลาเราตั้งสติ เวลาเราจะปฏิบัติ ตรงนี้เราต้องลบล้าง สัญญาคือข้อมูล คือแผนที่ แต่เวลาจิตมันสัมผัส จิตสัมผัสนั้นเป็นความจริง นี้ความจริงที่สัมผัสอันนี้ เราอยู่กับปัจจุบันไง ถ้าอยู่กับปัจจุบันอยู่กับความจริงอันนี้เห็นไหม อยู่กับปัจจุบันอันนี้ เนี่ย..จิตมันจะเป็นปัจจุบัน จิตปัจจุบันคือสมาธินี่แหละ

สมาธิคือจิตมันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่ไม่เป็นปัจจุบันคือจิตมันคิด อดีต อนาคตไง นั่งอยู่นี่ ห่วงบ้านยังไม่ได้ปิดไฟเลยนะ เตาแก๊สที่บ้านไม่ได้ปิด โอ้ย….เดี๋ยวที่บ้านไฟไหม้เลยนะ เนี่ย.. นั่งอยู่นี่มันคิดไป เป็นปัจจุบันไหม ปัจจุบันจิตอยู่ที่นี่ แต่จิตมันคิดส่ายแส่ตลอด มันไม่เป็นปัจจุบัน มันก็ไม่เป็นสมาธินะสิ ถ้ามันเป็นปัจจุบัน พลังงาน พลังงานเนื้อๆ พลังงานที่ไม่ผสมด้วยสิ่งใด มันเป็นพลังงานเฉยๆ ไม่ใช่ความคิด

ทีนี้กว่ามันจะเป็นพลังงานที่ไม่ใช่ความคิด มันจะใช้สัญญามาก่อน ใช้สัญญา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เนี่ย พอสอนอย่างนี้เข้ามามันก็สงบเข้ามา แล้วพอออกวิปัสสนา สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา เวลาใช้ภาวนามันเหมือนกับความคิดจินตนาการ มันยังไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นปัจจุบัน แล้วถ้าภาวนามยปัญญา คำว่าภาวนามยปัญญาเนี่ยคนอธิบายไม่ถูกหรอก คนอธิบายไม่ได้ ถ้าคนไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญา

เราไม่เคยเห็นเสือเลย เขาบอกว่าเสือเป็นอย่างไร เราก็คาด เราก็ว่าเสือๆๆ แต่เราไม่เคยเห็นเสือเลย แล้วพอไปเห็นเสือ คนเห็นเสือเห็นไหม เห็นเสือภาพวาด โอ้ เห็นเสือในกรง ไปดูสิเสือในสวนสัตว์นะ เห็นเสือก็เห็นเสือสิ ไปเห็นเสือในป่าสิ เห็นเสือที่หลุดออกมาน่ะ แล้วมันจะตะครุบเราน่ะ ความรู้สึกมันต่างกันยังไง เห็นเสือที่มันหิวนะ ยิ่งเสือเจ็บนะ มันจะหาเหยื่อ แล้วมันเผชิญหน้ากับเราตัวต่อตัว เราจะเป็นอาหารของเสือเนี่ย ความรู้สึกเป็นยังไง กับไปเห็นเสืออยู่ในกรงใช่ไหม โอ้ เสืออยู่ในกรง เสือไม่กัดเราหรอก เห็นเสือก็เห็นเสือ โอ้..เสือสวยดี แต่ไปเห็นเสือในป่านะ ความรู้สึกมันต่างกัน

ปัญญาที่คิด ปัญญาที่เป็น มันหลากหลายมาก มันแตกต่างกันมหาศาล แต่เวลาคนไม่เป็น มันก็ว่ากันไปตามวาระมันนั่นน่ะ ปัญญาเป็นอย่างนั้น ปัญญา นี่คือปัญญาไง แล้วแยกไม่เป็น สุตมยปัญญาเป็นยังไง ฟังอยู่เนี่ยสุตมยปัญญา แล้วเป็นสุตมยปัญญาด้วย เป็นจินตมยปัญญาด้วย แล้วจะเป็นภาวนามยปัญญาด้วย ถ้ามันพลิกเดี๋ยวนี้ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์นะ เวลาเทศน์ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์นะ เทวดา อินทร์ พรหม นั่งฟังนี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันทีเลย

ความว่าเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสนะ มันพัฒนาการเดี๋ยวนั้นไง เนี่ยช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น สว่างโพลงพรึบๆๆ เนี่ย เพราะจิตมันเร็วใช่ไหม จิตมันรวม มันพัฒนาการของมันอยู่แล้ว พอมีคำเทศน์เข้าไปกระตุกมันปั๊บ มันปล่อยพั้บ นี่ไงขณะที่มันปล่อยนะ นี่ปัญญาเห็นไหม

สุตมยปัญญาคือการฟัง ถ้าฟังโดยธรรมดา เนี่ยฟังปฏิบัติใหม่ เออ เราเป็นคนปฏิบัติใหม่เนอะ เราก็ยังไม่เคยปฏิบัติใช่ไหม เราก็ต้องฟังแล้วก็ต้องเอาเนื้อความ เนี่ยๆ สัญญา เนี่ยสุตมยปัญญา ฟังแบบสุตมยปัญญา ฟังแบบเอาข้อมูลฟังแบบจำ จำเอาข้อมูลเห็นไหม จินตมยปัญญาเห็นไหม จิตเรามีพัฒนาการของมันอยู่แล้ว

เวลาครูบาอาจารย์เทศน์มา มันเป็นไปตามนั้น มันเป็นไปเห็นไหม มันเป็นไป มันเปลี่ยนนะ มันเป็นไป มันมีอาการ เห็นไหมดูสิเวลาจิตสงบนะ ตัวขยายขนพองสยองเกล้า สิ่งใดกระทบนะ มันมีอาการ จินตมยปัญญา จินตมยปัญญามันยังไม่ถึงที่สุด พอมันถึงที่สุด พอปัญญามันหมุน พอเทศน์เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์น่ะ จิตเราผ่านมาแล้ว ทำความสงบของใจมาอยู่แล้ว เราภาวนามาอยู่แล้ว เราใช้ปัญญาใคร่ครวญมาบ้างแล้ว เนี่ยบ้างแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่ใจของเราเอง เวลาฟังเทศน์ ผลัวะ ขาดพรั้บ นี่ไงภาวนามยปัญญาเห็นไหม

การฟังเทศน์หนหนึ่ง ถ้ามันเป็นขิปปาภิญญา คือผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ขนาดฟังเทศน์หนเดียว เนี่ย เป็นพระอรหันต์เลยแล้วในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเทศน์ เทวดา อินทร์ พรหม สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นแสน เป็นแสนๆ ถ้าคำว่าพระอรหันต์คือจิต จิตเรา ความขุ่นมัวของใจ ความหมักหมมของใจ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ ความคิดเรายังโต้แย้งเลย ความคิดเรายังไม่ลงตัวเลย เนี่ย..มันโต้แย้ง มันไม่ลงใจเห็นไหม แต่ถ้าจิตมันลง เพราะมันพิจารณาของมันมาแล้วใช่ไหม เพราะคำพูดของครูบาอาจารย์น่ะท่านเป็นธรรม พอเป็นธรรมคือสัจจะความจริง ความจริงที่จะเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น

เพียงแต่เราทำถึง เราทำพอดี เราทำเกินเลยไป แล้วเราทำถึง เราทำของเราอยู่เนี่ย มันไม่สมดุลเห็นไหม เราฟังอยู่ เรามีอาการที่เป็นไปอยู่ แล้วที่ธรรมะเข้ามา ถ้าจิตเรามันลงตัวสมดุล มรรคสามัคคีรวมตัวพรั้บ เนี่ย..รวมตัวลงเลย เนี่ย..ภาวนามยปัญญา แต่ถ้ามันไม่รวมตัวเห็นไหม สิ่งที่ครูบาอาจารย์เทศน์มา แต่เราวิปัสสนาเราคิดใช้ปัญญาแล้ว มันปล่อยบ้าง ปล่อยบ้าง แต่มันไม่รวมตัว ไม่รวมตัว คือมรรคสามัคคีไม่รวมตัว คือไม่ใช่มรรคญาณ

มรรคน่ะมันหมุนใช่ไหม ดูสิดูเราฝึกสิ เห็นไหม…เราจะบอกเลย พระไตรปิฎกเป็นตำราทำอาหาร เราซื้อตำราทำอาหาร แล้วเรามาฝึก ฝึกทำอาหาร ตำราทำอาหาร กับการทำอาหารต่างกัน เวลาภาวนาเราทำอาหาร เวลาที่เราทำอาหาร มันจะสุกขึ้นมา เนี่ย..เรารู้ของเรา สิ่งที่เรารู้ของเรา เนี่ยตำราอันหนึ่ง พระไตรปิฎกเนี่ยตำราทำอาหาร แต่เราเนี่ยเราทำอาหาร อาหารที่มันสุกขึ้นมา เนี่ยใจมันหมุนอยู่ ถ้าใจมันหมุนอยู่ มรรคญาณเนี่ยมันหมุนอยู่ เราทำของเราอยู่ มันปล่อยๆ

เหมือนเราฝึกทำอาหาร เราฝึกทำอาหารดูสิ ดูร้านอาหารที่พ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหารเห็นไหม เขาชำนาญของเขามากนะ เพราะเขาทำทุกวัน ทำอย่างนั้น ทำซ้ำทำซาก ทำตลอดเวลา ทำจนชำนาญมาก ชำนาญขนาดไหน เราฝึกของเรามา เราทำของเรามา ปัญญามันพิจารณาของเรามา มันปล่อยของเรามา พอมาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ พั้วะ นี่ไง..ฟังเทศน์ทีเดียวเป็นสุตมยปัญญาก็มี จินตมยปัญญาก็มี ภาวนามยปัญญาก็มี “อยู่ที่ใจ” ถ้าจิตมันสมควรมันสมดุลของมันแล้ว ฟังทีเดียวมันจุดประเด็น มันพั้บเดียวเลยนะ พอพั้บเดียวเลย มันเป็นไป จิตนี่เร็วมาก

นี้พอเราไปคิดเนี่ยเห็นไหม ลัดสั้นๆ ลัดสั้นน่ะกว่ามันจะลัดสั้นน่ะมันต้องมีที่มา แบงก์พันเห็นไหม แบงก์พัน เงินแบงก์พัน แบงก์พันเหมือนกัน คนเราดูสิ บางคนทำงาน แบบว่าเงินเดือนสูงมาก แบงก์พันเนี่ยมันเป็นของเล็กน้อยเลย กรรมกรแบกหาม แบงก์พันมันทำงานหลายวันนะ กว่ามันจะได้เงินพันหนึ่ง แบงก์พันมีเท่ากับแบงก์พัน แต่คนทำงานที่จะได้แบงก์พันเนี่ย มันหลากหลายอาชีพของคนมันหลากหลาย แต่อาชีพที่เขาทำมีผลตอบแทนมาก โอ้ย..แบงก์พันมันของเล็กน้อยมากเลย ทำวันเดียวได้ตั้งหลายใบ ไอ้บางคนทำสิบวันยี่สิบวันไม่ได้ถึงใบ

การภาวนาก็เหมือนกัน จิตที่มีพัฒนาการของมัน เนี่ยวุฒิภาวะของคนเวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ใจคนไม่เหมือนกัน คนเทศน์อันเดียวกันนี่แหละ แต่เวลาฟังขึ้นมา คนรับน่ะรับหลากหลายมากเลย ความหลากหลายอันนี้เห็นไหม ความหลากหลาย มันถึงว่ามันเป็นจริตนิสัย ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคลนี้ พอมันฟังไป มันฟังไปแล้วมันกระทบทีเดียว เนี่ยภาวนามยปัญญา คำว่าภาวนามยปัญญามันเป็นปัญญาที่ละเอียด ที่มันทำลาย ทำลายตัวมันเองเลยนะ

ปัญญาของเรา ปัญญาที่เป็นปัญญาทางโลก มันทำลายตัวเองไม่ได้ มันทำลายตัวเองไม่ได้ เพราะอะไร เพราะตัวจิตคือตัวพลังงาน ตัวจิตคือตัวพลังงาน ตัวนี้เป็นตัวพลังงาน แล้วพลังงานมันสร้างความคิด ความคิดคือปัญญาของโลก แล้วปัญญาของโลก มันเกิดจากพลังงาน พอเป็นปัญญาออกไป ปัญญามันออกไปมันก็สื่อสาร เป็นสื่อสารไปจากข้างนอก มันจะย้อนกลับมาทำลายตัวมันเองไหม มันไปตามกระแสมันจะกลับมาทำลายตัวมันเองได้ไหม

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาเห็นไหม ปัญญาอย่างนี้ มันที่ว่าปัญญาจากสมอง ปัญญาจากโลก ปัญญาจากสมอง ปัญญาเนี่ย ความคิดไม่ใช่จิต มันเกิดจากความคิด มันเกิดจากการใช้สมอง สมองมันสั่งการ สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวไป คำพูดนี่ก็เกิดจากสมอง แต่ปัญญาของจิต ปัญญาเกิดจากพลังงานไง ตัวพลังงานคือตัวจิต พอตัวจิตสงบเข้ามาที่ตัวมันเห็นไหม สงบเข้าที่ตัวมัน แล้วตัวมันออกเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วมันวิปัสสนา วิปัสสนาไป ภาวนามยปัญญานี่.. มันรู้ ภาวนามยปัญญาคือปัญญาถอดถอน ถอดถอนความอึดอัดขัดข้องในใจ ถอดถอนทิฏฐิมานะที่มันหลงผิดในใจ มันหลงผิดโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันหลงผิดมาจากจิตเดิมแท้ จิตใต้สำนึก มันไม่ใช่หลงผิดจากที่เราคิดผิดกันนี่

เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม พระพุทธเจ้าสอน พ่อแม่สอน เราเชื่อพ่อแม่กัน มันเป็นความคิด ประเพณีวัฒนธรรม ความคิดจากสมอง ความคิดจากความเกรงอกเกรงใจ ความคิดจากสังคม สังคมจะติฉินนินทา ประเพณีวัฒนธรรม เราทำผิดประเพณีแล้วประเพณีจะลงโทษ ประเพณีจะขับออกจากสังคม เห็นไหม เรากลัวประเพณีลงโทษ เราก็เลยทำตัวเราเป็นคนดี มันเป็นเรื่องความประพฤตินะ มันไม่เป็นเรื่องการถอนกิเลสหรอก

ความถอนกิเลส จิตมันต้องสงบเข้ามาเป็นตัวมัน พอเป็นตัวมันแล้ว มันจะกลับเข้าไปที่ตัวมัน แล้วมันไปทำลายที่ตัวมัน นี่การทำลายที่ปัญญาจะเกิด เนี่ยภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาคือปัญญาที่ถอดถอนตัวมันเอง ปัญญาที่ถอดถอนน่ะ ดูสิเราทำงานขึ้นมา เราสร้างนั่งร้านขึ้นมา เราทำงานในที่สูง เรากล้าทำลายนั่งร้านเราไหม เราก็ล้ม เราก็ตกลงมาเองนะสิ ถ้าเป็นวัตถุเป็นโลกมันเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นธรรมะ… มันยิ่งทำลายตัวมันเองมันยิ่งสะอาด มันยิ่งทำลายตัวเองมันยิ่งดี ยิ่งทำลาย ยิ่งดี แต่ทางโลกทำลายคือการทำลายกัน ทำลายแล้วไม่ได้ผลตอบแทน ไม่ได้ผลตอบสนอง นั่นมันเป็นเรื่องของวัตถุเห็นไหม เนี่ย.. “ความคิดทางโลกกับความคิดทางธรรม” ฉะนั้นนะภาวนามยปัญญา แล้ววิปัสสนามันซ้อนกันยังไง

ส้มใบหนึ่ง เราจะจับผลส้มนั้น เรารังเกียจเปลือกส้ม เราจะหยิบผลส้มนั้นไปได้ไหม ผลส้มนั้นใบหนึ่ง เราต้องการหยิบผลส้มนั้นเคลื่อนที่ไป แล้วเรารังเกียจเปลือกส้ม คือรังเกียจสัญญา รังเกียจความคิดของโลกียปัญญา รังเกียจความเป็นไปของโลก เราจะเอาปรมัตถธรรม เราจะเอาความสะอาด เราจะเอาเนื้อส้มนั้นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อส้มนั้นอยู่ในเปลือกส้มนั้น

ฉะนั้นความคิดของเรา ความคิดจากกิเลส เพราะเราเกิดมาจากกิเลส กิเลสมันมีโดยธรรมชาติ เรารังเกียจมัน เราไม่รังเกียจมัน มันก็มีอยู่กับเรา มันก็คือเปลือกส้มที่คุมใจเราไว้ มารมันก็ครอบงำใจเราอยู่ แล้วเราจะทำความสะอาด เราก็ต้องทำความสงบ คือเราต้องยอมรับความจริงว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่มันเป็นอย่างนี้ จิตเกิดโดยสมมุติ มันเป็นอย่างนี้ ความคิดเราเป็นอย่างนี้ เรามีกิเลสเป็นอย่างนี้

แล้วเราจะปฏิเสธว่ากิเลสไม่มี ไม่เอาเลย จะเอาวิมุตติสุข จะเอาธรรมะ จะเอาความสะอาด ไม่มี ถึงได้พูดไงว่าคนปฏิบัติทุกคนผิดทุกคน ผิดทั้งนั้น แต่พอจิตมันสงบเข้ามา พอทำความสงบเข้ามา มันเห็นถูก เห็นผิดขึ้นมา แล้วมันพัฒนาการขึ้นมา นั่นล่ะมันจะเข้าไปสู่ที่ถูก แต่เพราะเราศึกษาธรรมพุทธเจ้า มันจะเกิดวิชชา เป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริง แล้วเป็นธรรมะจริงๆ

ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดจากประสบการณ์ของจิต ที่เราฝึกฝนขึ้นมาแล้ว เป็นข้อเท็จจริง เป็นความจริง พอเป็นความจริง เห็นไหม.. เนี่ยสติก็เป็นสมมุติ ปัญญาก็เป็นสมมุติ สมาธิก็เป็นสมมุติ เห็นไหมเป็นสมมุติทั้งนั้นนะ เพราะเราทำขึ้นมา สิ่งที่เป็นสมมุติขึ้นมา ถึงที่สุดแล้ว ปัญญาก็ต้องทิ้ง สติก็ต้องทิ้ง ทุกอย่างต้องทิ้งหมด ถ้าไม่ทิ้งมันเข้าสู่เป้าหมายไม่ได้

นี่ไงถึงบอกว่าพระไตรปิฎกเป็นตำราทำอาหาร นี่ไงทำอาหารเอาอะไรทำ สติปัญญาน่ะ มรรค ๘ ก็เหมือนเครื่องมือในครัว ในครัวต้องใช้เครื่องมืออะไรทำครัวบ้าง นี่ไง สติ สมาธิ ปัญญาก็เครื่องมือ เครื่องมือมรรค ๘ ไง เครื่องมือที่จะทำอาหาร แล้วอาหารเสร็จแล้ว เราจะเอาพวกนี้เอามากินได้ไหม เครื่องมือทำอาหารไม่ใช่อาหารนะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นสมมุติ มันเป็นเครื่องมือ ต้องอาศัย ต้องทำ แต่ถึงที่สุดแล้วนะ มันทิ้งหมดเลย มันเป็นสมมุติทั้งหมด แต่จริงตามสมมุติ ตัวมันเองน่ะ มันเป็นทางอันเอก มัคโค

ทางอันเอกเห็นไหมเข้าสู่ใจใช่ไหม เรามากันนั่งอยู่นี่เรามาด้วยอะไร รถทั้งนั้นนะ รถเป็นเราไหม เป็นสิ ไม่เป็นจะซื้อมันมาหรือ มันซื้อมาเป็นชั่วคราว เนี่ย..สมมุติไง รถเป็นของสมมุติ เราซื้อมันมา แต่ตัวเราสำคัญกว่า แม้แต่ร่างกายก็สมมุติ ร่างมันยังเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วจิตใจเราล่ะ จิตใจเป็นเรานะ จิตใจเรายังเป็นเราไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตใจเราก็ป่วย ป่วยด้วยโรคกิเลส โรคกิเลสตัณหาทะยานอยากมันอยู่ในหัวใจ ถ้าเราชำระล้างกิเลสตัณหาทะยานอยากออกจากใจทั้งหมด เราหายป่วย ใสสะอาดเป็นความจริงทั้งหมดเลย

นี่ไงจากสมมุตินี่แหละ พัฒนาการของมันขึ้นมาจนมันเป็นวิมุตติ วิมุตติหลุดพ้นเลย มันมาจากสมมุติทั้งนั้น แต่สมมุติตามความเป็นจริง ไม่ใช่บอกสมมุติแล้ว โอ๊ะ.. กูจะทิ้งนะ สมมุติกูรังเกียจนะ.. ในท้องเรานะมันมีของเสีย ในท้องเราน่ะ ถ้าเรารังเกียจนะผ่าท้องทิ้งเลย เรามีกระเพาะปัสสาวะ เรามีของเสียในร่างกายเรานะ เรากินเข้าไปนะของดีทั้งนั้น แล้วไปอยู่ในร่างกาย กระเพาะเรานะมีแต่ของเสีย นี่ก็เหมือนกัน จิตเรานะมันมีของมันอยู่อย่างนั้น เราก็ต้องแก้ไขไปตามความเป็นจริง

แล้วถึงที่สุด ดูสิ..พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไป นั่นล่ะจิตมันออกไปนะ ไม่มีของสกปรกเลย ทิ้งซาก ทิ้งซากกระเพาะก็ไม่มี ร่างกายก็ไม่มี มันจะมีของเสียไหม เพราะถ้าจิตมันพ้นจากกิเลสแล้ว มันจะมีของเสียไหม ของเสียคือป่วยทางจิตนะ ป่วยทางจิตคือป่วยทางอวิชชา คือมันมีสิ่งที่เป็นอวิชชาหมักหมมในใจ สิ่งนั้นโดนทำลายแล้ว มันจะมีเหลืออะไร ในใจก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าเหลือคือภพ แต่ต้องอาศัยตัวมันก่อนทำลาย ทำลายอย่างอื่นมา

เนี่ย..พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ถึงบอกว่า ไม่ต้องไปกลัวว่าจะผิดจะถูกหรอก ทำไปซึ่งๆ หน้า เราฝึกงานไป เราจะตั้งบริษัทตั้งองค์กรของเรา พอเราทำสิ่งใดมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะตั้งแล้วเราจะทำของเราดีขึ้นเรื่อยๆ เห็นไหม เราทำขึ้นไป บริษัทของเราจะมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เราจะบริหารจัดการของเราขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจไปหมดเลย นี้พอเห็นอะไรรู้หมดเลย แต่ถ้าเราอ่านตำรามาไง คนเขาจะรวยเขาจะทำอย่างนั้นๆ แล้วก็คิดว่ากูรวยนะ คิดเอาเองไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ ต้องฝึกฝน คิดเอาเองแก้กิเลสไม่ได้ เราคิดได้กิเลสมันก็หัวเราะเยาะ หัวเราะเยาะนะ

นักปราชญ์เนี่ย.. หลวงตาท่านบอกเลย ปราศจาก ปราชญ์จนไม่มีเหลือไง นักปราชญ์มันต้องมีความจริงสิ ถ้ามีความจริงนะ คนรู้จริงมีอะไรบ้างที่มันจะหวั่นไหว แต่เพราะเราไม่รู้จริงใช่ไหม เราถึงได้หวั่นไหว ถึงได้โยกคลอนอยู่เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้จริง ข้อมูลความจริงของเรามันไม่มี ถ้าข้อมูลความจริงของเรามีนะ รู้หมด มันมาจากไหนมันมายังไง ถ้ามันไม่รู้ว่ามันมาจากไหน มันมายังไง มันจะชำระความลังเลสงสัยของเราได้ยังไง ความลังเลสงสัยในหัวใจ ทุกคนปฏิบัติใหม่ๆ อยากรู้เรื่องภพเรื่องชาติ อยากรู้อดีตชาติ เนี่ย..ความคิดหยาบๆ นะ เวลาปฏิบัติไปนะ ไม่เอาละ

คนปฏิบัตินะ ผู้ที่ปฏิบัติ ดูสิ หลวงตานะท่านไปที่บ้านผือ แล้วท่านไปอยู่ที่นั่น ธุดงค์ไปไง แล้วคนก็เจ็บไข้ได้ป่วยมากใช่ไหม ท่านไปสวดมนต์ เสร็จแล้วท่านก็ติดเชื้อ แล้วมันแทงอกน่ะ เนี่ย.. ท่าน มันจะตายไง ท่านบอกท่านไม่อยากตาย ไม่อยากตายเพราะอะไร ไม่อยากตายเพราะว่าท่านยังไม่จบสิ้น ถ้าตายตอนนั้นท่านจะไปเกิดเป็นพรหม ท่านไม่อยากตาย พอไม่อยากตาย ท่านก็กลับมาพิจารณาธรรมะโอสถจนท่านหายนะ พอมาพิจารณา พอถึงที่สุดแล้ว สิ้นกิเลสแล้วเนี่ย.. เอ้า..ตายเมื่อไหร่ก็ได้

เราถึงเวลาจริงๆ ขึ้นมา เราไม่อยากตาย นี่พูดถึงเวลาภาวนานะ มันไม่อยากตาย มันรู้ว่าตัวเองจะเกิดเป็นพรหม ถ้าเรายังสงสัย สงสัยนะ อย่างเราจะตายจะเกิด เวลายังปฏิบัติขึ้นไป ถ้าเราจะตายไป เกิดเป็นพรหม เพราะอะไร เพราะมันต้องเป็นหมื่นๆ ปี แล้วชีวิตเรามันกี่ปี เวลาคนปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมาแล้ว ไม่อยากไปเทวดา ไม่อยากไปไหนทั้งสิ้นเลย อยากปฏิบัติให้สิ้นไป

เพราะอะไร เพราะเวลาเรารู้เวลาของเรา เรารู้เวลานะ เหมือนตลาดน่ะ เขาปิดแล้วเขาเลิกขายแล้ว เราทะเล่อทะล่าหอบเงินจะมาซื้อของ จะไปซื้ออะไร ก็ไปซื้ออากาศไง มันไม่มีตลาดให้มึงซื้อแล้วนะ นี่ก็เหมือนกันชีวิตเรามีอยู่ ทำไมถึงไม่ต้องการ ไม่อยากจะไปที่อื่น ไม่อยากจะไปเกิดสถานะไหนทั้งสิ้น เพราะสถานะน่ะ มันรู้นะ มันรู้ว่ากาลเวลามันเท่าไหร่

สถานะมันอยู่ปัจจุบันนี้ ปัจจุบันพยายามภาวนาของเรา ตั้งสติของเรา แก้ไขของเรา เอาเราให้ได้เลย ไม่ต้องไปที่อื่น ไปที่อื่นมันต้องพักที่อื่น แล้วมันต้องไปรู้เห็นของมัน ถ้าไม่รู้เห็นมันจะเข้าใจได้ยังไงว่า เนี่ยเวลาเราไปนะ ไอ้การย้อนอดีตชาติน่ะ มันย้อนไปได้ พระพุทธเจ้ายังย้อนไปได้เลย สิ่งนี้มันมี ถ้าสิ่งนี้ย้อนไม่ได้นะ มันจะมาเป็นเราไม่ได้ มันจะมาเป็นจริตนิสัยเราไม่ได้

แล้วเวลาคนปฏิบัตินะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงเห็นไหม ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นท่านสมัยอยู่หนองผือนะ พระองค์ไหนภาวนาดี ภาวนาเข้มข้นนะ ท่านจะจี้เลย แต่พระองค์ไหนภาวนาแล้วนะ มันภาวนาไม่ได้ไง ภาวนาไม่ได้ ถึงว่ามันตั้งใจ จงใจ ตั้งใจจงใจทำมากเลยนะ แต่มันเป็นได้แค่นั้น เช่นเหมือนผลไม้ ผลไม้มันอ่อนฉะนั้นมันตกจากต้น มันเป็นยังไงผลไม้อ่อน มันก็เน่าเสีย ถ้าผลไม้มันแก่ มันหลุดจากขั้วมา มันสุกแน่ๆ

จิตของเราก็เหมือนกัน เหมือนผลไม้ ดูสิ เห็นไหม..ดูเกสรออกมา เวลาลมพัดมัน มันปลิวหลุดจากขั้วมันนะ มันจะเป็นผลได้ไหม ใจของคนมันสร้างมานะ มันอ่อนแอ มันไม่มีหลัก มันขยันหมั่นเพียรจริงอยู่ เหมือนปัจจุบัน มันเข้มแข็งของมัน แต่พื้นฐานน่ะ พื้นฐานน่ะมันไม่ได้ เนี่ยปฏิบัติ ครูบาอาจารย์บางทีท่านรู้นะ นี้พอปฏิบัติไปเห็นไหม พอปฏิบัติไป..มันก็ได้แค่นั้นน่ะ

คือการปฏิบัติสร้างบารมีไง ปฏิบัติสร้างคุณงามความดีเพื่อความดี คือขณะนั้นมันเป็นการพัฒนาจิตให้มันเข้มแข็ง ให้จิตนี้มันมีวุฒิภาวะ ให้มันพัฒนามันขึ้นไป แต่ถ้าเป็นผลไม้มันแก่นะ อย่างมะม่วง มันแก่จนเหลืองเลย หลุดจากขั้วเลย วางไว้เฉยๆ มันสุกแน่นอน มันสุกเด็ดขาด เพราะมันแก่มันถึงได้ที่มันเลย ใจของเราที่สร้างมา ที่เรามาสร้างกันอยู่เนี่ย มันสร้างมาเพื่อเหตุนี้ สร้างมาเพื่อให้สิ่งนี้มันเข้มแข็ง มันควรแก่การงาน

แล้วคนควรแก่การงานนะ มันมองเหตุผลมองอะไร มันมองด้วยสายตา ไม่เหมือนโลกทั่วไป โลกทั่วไปน่ะ มองก็อย่างว่าผลประโยชน์ มองเพราะเกรงใจ มองอะไร แต่ถ้าเป็นธรรมนะ จิตนี่มันเป็นธรรมนะ สิ่งนี้เป็นความดี โลกเขาจะมาว่าผิด ว่าไม่ดีก็แล้วแต่ เราก็ว่าเป็นความดีของเรา เพราะว่าขนโคกับเขาโค คนที่หัวใจเป็นอย่างนั้นมันมีมากกว่า

ไอ้เราฉลาดหลักแหลมขนาดไหน เหตุผลเราอธิบายไปเขาไม่เข้าใจหรอก เพราะว่ามันเป็นวุฒิภาวะของเขา เขาไม่เข้าใจ แล้วถ้าเราไปอธิบายเขา มันยิ่งยุ่ง อันนี้พูดถึงการภาวนาว่าอะไรมันเป็น ภาวนามยปัญญา อะไรเป็นสัญญา สัญญาทั้งหมด ภาวนามยปัญญา เกิดขึ้นมาต่อเมื่อเราทำจิตเราสงบ แล้วมันออกได้ใช้ของมัน แล้วขณะที่เราใช้นะ ไม่ต้องว่าจิตต้องสงบ เป็นสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือว่าเป็นอุปจารสมาธิ แล้วค่อยมาใช้ปัญญา ปัญญานี้ฝึกได้ตลอดเวลา

อย่างปัจจุบันเห็นไหม ดูสิ บางสำนักเขาสอนนะ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เขาใช้เป็นคำบริกรรมแทนนะ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจเนี่ย ขันธ์ ๕ เนี่ย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาใช้เป็นคำบริกรรม เขาใช้เป็นคำบริกรรม คือเหมือนกับเราใช้พุทโธ เขาใช้ท่องอย่างนั้น การที่จิตมันสงบจิตนี้มันมีหลักมีเกณฑ์ ใช้ความคิด เราออกตรึก ออกใช้ความคิด ปัญญามันต้องฝึกไง เราทำสมาธิด้วย แล้วเราฝึกปัญญาด้วย ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันจะไล่ต้อน ไล่ต้อนให้การกระทำเรามันง่ายขึ้น มันสะดวกขึ้น เหมือนเราฝึกแล้วมันชำนาญขึ้น มันชำนาญขึ้นมันก็แข็งแรงขึ้น

คำว่าแข็งแรงคือสมาธินะ คนเราฝึกฝน คนเราออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายจะแข็งแรงมาก พอจิตมันเริ่มฝึกของมันนะ จิตมันจะเข้มแข็งขึ้นมา พอจิตที่เข้มแข็งเหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มันจะวินิจฉัยสิ่งใดได้ถูกต้องหมด เด็กมันจะไม่รู้อะไรเลย จิตที่มันอ่อนแอเหมือนเด็กๆ พออะไรมันกระทบขึ้นมา มันเข้าใจหรือ มันแยกแยะอารมณ์มันไม่ถูก แต่ถ้ามันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันแยกแยะอารมณ์ แยกแยะความคิดได้ถูกต้องเห็นไหม การใช้ปัญญามันมีประโยชน์อย่างนี้ ประโยชน์ที่มันแยกแยะ มันใช้ปัญญาของมันเป็น

มันใช้ปัญญาเป็น แล้วมันแยกแยะเป็นว่าอะไรผิด อะไรถูก แล้วมันจะพัฒนาเข้าไปเป็นสมถะ มันจะเข้มแข็งขึ้น เข้มแข็งขึ้น จนถึงที่สุด ถึงที่สุดนะ ถ้ามันออกเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม โดยจิตมันรู้ มันรู้เลย มันจะรู้ของมัน แต่ถ้าเราไม่พัฒนา เราจะรอ รอ รออยู่ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ผลน่ะ ฉะนั้นปัญญาถึงใช้ได้ เพราะปัญญาที่ใช้คือใช้ปัญญาฝึกฝน ฝึกให้มันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะเป็นสมถะ จะเป็นอะไรให้มันเป็นไป รู้เอง ตัวเองรู้เอง

แต่เป็นครูบาอาจารย์ เวลาท่านสอน ท่านสอนในระดับตั้งแต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นไป ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปใช่ไหม ก็แบ่งมาเป็นเหมือนทางวิชาการ ต้องเป็นอย่างนั้นๆ กินข้าวนะต้องทำอย่างนั้น โห.. เวลาจำเป็นนะ เรากินด้วยช้อนก็ได้ ถ้าช้อนไม่มีมือก็ได้ ถ้ามือด้วนก้มลงกินก็ได้ เวลาข้อเท็จจริงนะ มันเป็นอุบายที่เราจะพัฒนาการของเรา ไม่ใช่ถือตายตัว ใช้ปัญญาเนี่ย มันฝึกคนขึ้นมา มันจะดีขึ้นมา ใช้ไป ใช้ไปเลย ผิดถูกมันรู้ของเรา มันไม่ฝึกเลย ก็จะไม่รู้อะไรผิด อะไรถูก

เวลาปฏิบัติก็กลัวผิดทั้งนั้นเลย ไม่ทำอะไรเลยนะ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นนะ แล้วจะให้มันดีมันก็ไม่ได้ ปฏิบัติไปเลย ผิดถูกแก้ไขได้ เพราะมันปฏิบัติผิดหมด ถ้าปฏิบัติถูกปั๊ปคนนั่งภาวนา ดูสิ ชาวพุทธเห็นไหม สำนักปฏิบัติเยอะแยะเลย นั่งภาวนานี่เป็นหมื่นเป็นแสน ไม่เห็นมีรอดมาสักคน ไม่มีเลย ไม่มี แต่ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ป่าอยู่เขา ต่างคนต่างประพฤติปฏิบัติตามแต่ข้อเท็จจริง อยู่กับเสือ อยู่กับช้าง อยู่กับผี อยู่กับอะไรต่างๆ ให้ความกลัว ให้กิเลสตัณหามันออกมาให้หมด อยู่คนเดียว ปฏิบัติคนเดียว ปฏิบัติโคนไม้ เนี่ยสำเร็จ!

ไอ้ปฏิบัติเป็นอุตสาหกรรมนะ ไม่เคยเห็นมาสักตัวหนึ่ง ไม่เห็นหลุดรอดมาเลยสักตัวเดียว เขาจะหมักเป็นน้ำปลาไง เอาปลาไปหมักอยู่ในสระนั่นนะ แล้วออกมาเป็นน้ำปลา กลั่นแต่เอาน้ำมันออกมา มันไม่มีอะไรเหลือมาเลย อุตสาหกรรม เพราะเขาไม่เข้าใจถึงพันธุกรรมทางจิต จิตของคนมันหลากหลาย ความคิดความเห็นของคน คนเป็นโรคที่เป็นโรคแตกต่างกันมหาศาลเลย รักษาสูตรเดียวกันหมดเลย มันจะเป็นได้ยังไง เชื้อโรคมันก็คลุกคลี เชื้อโรคมันก็ติดกันไปหมด แล้วมันบอกมันจะหาย

แล้วดูสิ เวลาแม่ครัว เวลาที่ว่าพระไตรปิฎกคือตำราทำอาหาร ตำราทำอาหาร มันก็เหมือนกับเครื่องมือแพทย์ ถ้าเครื่องมือแพทย์มันติดเชื้อ ดูสิไปผ่าตัดนะ ปรารถนาดีมากจะช่วยเหลือมึง เอาเครื่องมือติดเชื้อมาผ่าเข้าไป เละกันไปหมดเลย พอทำสมาธิจะเอาเครื่องมือมาฆ่าเชื้อ มันบอกว่าเสียเวลา เอ้า.. ความคิดของคนนะ เครื่องมือมันติดเชื้อ มันก็ต้องฆ่าเชื้อ พอฆ่าเชื้อ จะทำสมถะ จะทำสมาธิ มันบอกเสียเวลา แล้วพอเครื่องมือมีติดเชื้อจะไปผ่าตัด มันบอกว่ามันจะหาย มันว่ามันจะหาย แล้วเวลาเป็นโรคขึ้นมามันรู้ไหมว่าจะเป็น

ปฏิบัติไปปฏิบัติไปเห็นไหม พอปฏิบัติไป โอ้โฮ..มีชื่อมีเสียงขึ้นมานะ โมฆบุรุษตายเพราะลาภ เขาเอาลาภมาให้ติดเชื้อ เอาลาภมาให้ โลกมันไหวแล้ว คลอนไปกับเขาแล้ว พูดเอาอกเอาใจ พูดเพื่อผลประโยชน์ไง มันติดเชื้อน่ะ พอเชื้อมันติดเข้าไปแล้วเดี๋ยวมันก็ตาย เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่เคยประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะเป็นประโยชน์ นี่พูดถึงปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปห่วงไปใย จะผิดจะถูกปฏิบัติไปจะรู้ ยิ่งมีครูบาอาจารย์ยิ่งรู้ได้ง่ายขึ้นเลย

ถาม : ตามดูจิต รักษาจิตต้องทำอย่างไรคะ

ตอบ : ตามดูจิตเนี่ยโดยธรรมชาตินะ โดยธรรมชาติ เวลาแดดออกขึ้นมา เวลาพระอาทิตย์ขึ้น แดดมันมีความร้อนไหม แน่นอนโดยธรรมชาติเวลามีความคิดออกไป ความคิดของคนพลังงานมันมี เวลาเราอยู่เฉยๆ พลังงานไม่ใช้นะ ความคิดไม่มีแต่พลังงานยังมีอยู่นะ

อย่างพระอาทิตย์ขึ้น ดูเมฆบังสิ เมฆบังสิ่งอะไรบังอยู่แสงมาไม่ได้ ความคิดของคนก็เหมือนกัน ความคิดบางทีเราสบายใจ ความคิดมันก็ไม่เห็น นี่ความคิดไง ตามดูจิต ทีนี้ตามดูจิต สิ่งนี้มันธรรมชาติอยู่แล้ว ความคิดเรามีอยู่แล้วนะ ทุกอย่างมีอยู่แล้ว มีอยู่ในหัวอยู่แล้ว แต่นี้โดยสัญชาตญาณของคน โดยสัญชาตญาณมันมีอยู่ มันก็มีอยู่เราก็คิดว่าเป็นธรรมดา ธรรมชาติไง

แต่เวลามาศึกษาธรรมะพุทธเจ้า ปัญญาวิมุตติมันชำระจิตด้วยทางปัญญา ปัญญามันใช้ปัญญา ปัญญาคือความคิดไง ที่ว่าปัญญาเป็นสมมุติ ปัญญาเป็นสมมุติ เนี่ยโลกียปัญญา ปัญญาเป็นความคิด ถ้ามีสติปัญญามันเริ่มเอะใจตัวมันเองเห็นไหม นี้การดูความคิด มันสำคัญตรงนี้ “สำคัญตรงที่มีสติ” คือว่า ความคิดกับเราเป็นอันเดียวกัน มันไม่เห็นหรอก เพราะว่าเวลาเราคิด มันไปกับความคิดหมดใช่ไหม พอมีสติปั๊บ ความคิดเป็นความคิด สติเป็นสติ พอมันทันกันปั๊บมันหยุด

เหมือนไฟ ถ้ามีสายไฟมันไปได้ตลอดเห็นไหม แล้วเรากดสวิตช์ เรากดคัทเอาท์ ไฟมันต้องเดินผ่านไปใช่ไหม ถ้าเรายกคัทเอาท์ออก ไฟมันจะไปได้ไหม สติของเรามันตัด ความคิดมันจะไปไม่ได้ ถ้าความคิดไปไม่ได้ ไฟเราเห็นนี่ ไฟมันมาเห็นไหม พอไฟมันมาปั๊บ แสงสว่างมันจะเกิดใช่ไหม แต่ถ้าความคิดมามันหยุดเราไม่รู้ ถ้าความคิดเป็นเรา เหมือนเป็นคัทเอาท์ คัทเอาท์ใครต้องไปโยกมัน ถ้าเซฟทีคัทมันจะดีดเอง แต่ถ้ามันเป็นธรรมชาติของเรา เราต้องยกคัทเอาท์ เราต้องดึงออก ดึงออก ความคิดจะหยุด

สติ เนี่ยตามดูความคิด คือของมีอยู่ทั้งนั้นเลย มันเป็นนามธรรม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติใหม่ เราจะไม่เห็น เราจะไม่รู้ไม่เห็นมันไง ของมีอยู่แต่เราไม่เห็น เนี่ยของมีอยู่ ดูสิ ร่างกายเรามีอยู่ ความคิดเราก็มีอยู่ ธรรมะก็มีอยู่แต่เราใช้ไม่เป็น พุทธะอยู่ที่ไหน พุทโธอยู่ที่ ไหน พุทโธก็อยู่ พลังงานคือตัวใจเรานี่แหละ แต่เราไม่เห็น เราไม่รู้ แต่ถ้าไปเห็น เห็นพุทธะให้ฆ่าพุทธะก่อนที่ว่าเนี่ย แล้วบอกพุทธะเป็นยังไง เห็นพุทธะเป็นยังไง ก็มองบนอากาศสิ อากาศเป็นยังไง มึงเห็นไหม ไม่เห็นหรอก

แต่ถ้าสติปัญญาทันเห็นหมด สติปัญญา มหาสติมหาปัญญา สติปัญญาอัตโนมัติ สติ ปัญญามันทันความคิดหยาบๆ มหาสติมหาปัญญา มันทันความคิดในหัวใจ ความคิดที่ละเอียดกว่านี้นะ ความคิดมีหลายชั้นนะ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างหยาบๆ ความคิดเด็กๆ ความคิดสามัญสำนึก แล้วความคิดละเอียดเห็นไหม ดูสิ..เราคิด เราวางแผน เราจะจัดการจะบริหารจัดการเต็มที่เลย แต่เพราะเรามีบุคลากรมาก เรากลัวบุคลากรมันจะปกครองไม่ได้ เราคิดในหัวนะ แต่เราทำเฉยๆ ทำยิ้มๆ เนี่ย ไม่ทันเราหรอก

ความคิดมีหลายชั้น ความคิดจากข้างนอก ขันธ์อย่างหยาบ เปลือกส้ม เนื้อส้ม เวลาปฏิบัติไปเห็นไหม เปรียบเหมือนผลมะพร้าว ผลมะพร้าวนะ มะพร้าวมันมีเปลือก ถ้าเราสามารถปอกเปลือก ทำลายเปลือกนะ เนี่ยความคิดเปลือก ความคิดจากข้างนอก เนี่ยเป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันเพราะอะไร ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ คือไม่มีเราในทุกข์ ไม่มีเราในความคิด ไม่มีเราในความรู้สึก ความรู้สึกก็ไม่มีเรา เราก็ไม่มีในความรู้สึกนั้น เนี่ย..เปลือกมะพร้าวโดนปอกออก

เนี่ย..ความคิดหยาบๆ กะลามะพร้าว จากเปลือกมะพร้าวเห็นไหม มันจะมีกะลามะพร้าว จิตหนึ่ง จิตหนึ่งเปรียบเหมือนมะพร้าวลูกหนึ่ง ถ้าเราได้ปอกเปลือกมะพร้าวออกไป คือเราทำลายความคิด คือเปลือกออกไปแล้ว เป็นพระโสดาบัน ถ้าเราได้ทำลายกะลามะพร้าว กะลามะพร้าวเป็นความคิดเหมือนกัน ความคิดที่ละเอียดขึ้นมา ถ้าทำลายกะลามะพร้าวออกได้ เวลาพิจารณาไป ขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ ถอนอุปาทานหมด กะลาโดนลอกออกหมด เนี่ยพระสกิทาคามี

ความคิดอีกความคิดหนึ่ง เนื้อมะพร้าว เนื้อมะพร้าวมันเป็นสิ่งที่.. มะพร้าวทั้งลูกนะ เนื้อมะพร้าวมีประโยชน์ที่สุด เพราะมันใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือตัวเนื้อมะพร้าวนี้ กามราคะ ขันธ์อย่างละเอียดเกิดจากกามราคะ กามราคะ เห็นไหม ดูสิ กามคุณน่ะ โลกการสืบพันธุ์กัน การดำรงเผาพันธุ์ เกิดจากตัวนี้หมดเลย กามราคะ ดูสิ ดูระหว่างข้อมูล ดูความพอใจของเรื่องเพศเนี่ย มันอยู่ที่ความพอใจของใจดวงนั้น

ถ้าใจดวงนั้นมันรังเกียจ มันไม่พอใจจะไม่มีกามราคะ กามราคะเพราะใจมันมีข้อมูลของมัน กามราคะ ปฏิฆะ เนี่ยกามราคะ ปฏิฆะ เนี่ยมันจะถึงให้เกิดความผูกโกรธ ถ้าทำลายตัวเนี้ยทำลายเนื้อ เนื้อเนี่ยเป็นสิ่งที่ทำลายยากที่สุด ถ้าทำลายเนื้อมะพร้าวออกหมดเห็นไหม มันเหลือแต่น้ำมะพร้าวหรือใจมะพร้าว จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความคิดอันเนี้ย ความคิดในเนื้อมะพร้าวในน้ำมะพร้าว มันเป็นความคิดแบบอาลัยอาวรณ์น่ะ น้ำมะพร้าวเห็นไหม น้ำมะพร้าวถ้ามันทำลายหมด ผลของมะพร้าวทั้งลูกเหมือนใจทั้งดวง ใจทั้งดวงที่ได้ลอก ได้ทำลายออกไป มันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ถึงบอกว่าดูความคิด จะดูความคิดยังไง ดูความคิดก็คือตั้งสติ เพราะความคิดน่ะมันมีหลากหลาย มันมีหยาบ มีละเอียด ลูกศิษย์ปฏิบัติใหม่ๆ มาหาเยอะมาก โอ้โฮย..ความคิดมันละเอียด โหย..ใจมันละเอียด เออมึงปฏิบัติไปเถอะ.. ไอ้นี่คือว่าเหมือนเด็กๆ น่ะ มันได้อะไร แม่ๆ เนี่ยโอ้โฮ..หนูได้ไอ้นี่มา โอ๊ย..ไอ้นี่เขาให้ มันยังไม่ทำมาหากินเลยนะ ของเขาให้เป็นรางวัล ผู้ใหญ่ให้มันถือมาอวด มันยังไม่ได้ทำกินเลยน่ะ ถ้ามันลงไปทำกินนะ ทำธุรกิจน่ะมันยากขนาดไหน คนลงไปทำกินนะ มันต้องทำต้องกิน ต้องหาต้องอยู่ ต้องซื้อต้องขาย มันยังต้องลงไปทำกินอีกเยอะนัก ฉะนั้นว่าจิตละเอียดไหม เดี๋ยวมึงรู้.. เดี๋ยวมึงรู้.. เพราะทุกคนเห็นใหม่ๆ นะ อื้อหือๆ ทั้งนั้นเลยนะ… แต่ต่อไปมันจะละเอียดๆไปเรื่อยๆ

การดูจิต การรักษาจิต การรักษาจิตนะ แม้แต่เราโดนกระทบ การรักษาจิต พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าสอนว่า เรานะ ถ้าพูดถึงคนเสมอเรา ทำร้ายเรา ติเตียนเราได้ เราทนได้เป็นขันติอย่างกลางใช่ไหม คนที่อำนาจเหนือเราข่มขี่เรา ติฉินนินทาเรา เรามีความอดทนได้อันนั้นขันติอย่างหยาบ คนที่ด้อยกว่าเรา คนที่ด้อยกว่าเรา เหมือนลูกน้องเรา หรือคนใช้ในบ้านเรา เขาติเตียนเราได้ เราได้ยินแล้ว แล้วเรามีความทนได้ อันนี้เป็นขันติอย่างดีมาก ขันติเห็นไหม ผู้ด้อยกว่า ผู้เสมอเรา ผู้ที่สูงกว่าเรา นี่ไงการรักษาจิต

เราก็ดูจิตเรา สิ่งที่กระทบเรา เรารักษาจิตเราได้ไหม แล้วใช้ธรรมะมาเตือนเรา เตือนเราว่า..เราว่าเราเป็นคนดีไง เราว่าเราเป็นคนดี คนที่ต่ำต้อย คนที่เขาไม่มีคุณค่าเลย เขาติฉินนินทา เขากล่าวร้ายเราเราทนได้ไหม นี่แค่การรักษานะ การรักษาคือว่าการรักษาการกระทบไง ใจมันกระทบสิ่งใด ใจคิดสิ่งใด เรารักษาใจเราได้ไหม ถ้ารักษาใจได้ รักษาจากหยาบๆ เข้าไป มันจะรักษาจากละเอียดเข้าไป รักษาจากละเอียดตั้งสติไว้ ถ้ามีสตินะ เพราะไม่มีอะไรกระทบ เราอยู่ของเราคนเดียว ไม่มีอะไรกระทบแล้ว ถ้าไม่มีอะไรกระทบแล้ว เราอยู่กับเรา เรามีสติทันความคิดเราไหม ถ้ามีสติมันจะทำได้

การรักษาจิต การรักษาจิตเอาจิตออกหาผลประโยชน์นะ เอาจิตออกใช้นะ รักษาจิต ถ้าไม่ใช้จิต ถ้าจิตมันสงบแล้วเราไม่ได้ใช้มัน มันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสมมุติ จิต อารมณ์ของจิตก็เป็นสมมุติ อารมณ์นะ แต่ตัวจิตมีจริงๆ ความรู้สึกเห็นไหมมันเป็นสมมุติ แล้วถ้าเรารักษามัน เราทำตัวให้ดีขึ้นมา มันจะดีขึ้นมาได้ ดีขึ้นมา ประสาเราเนี่ย เราต้องเห็นเนื้องานก่อน ตอนนี้เราจะไม่เห็นเนื้องาน เราจับเนื้องานคือจับตัวจิตไม่ได้ เห็นไหม.. “ดูจิต จนจิตเห็นอาการของจิต” ดูจิต ดูจิต ดูจิต จนเป็นตัวจิต จิตมีกำลังแล้ว เนื้อของงานคือเราเห็นอาการของจิต ตัวจิตเห็นอาการของจิต

ตัวเนื้อส้มกับเปลือกส้ม ส้มมันอยู่ด้วยกัน มันไม่มีชีวิต มันไม่รับรู้อะไรกันเลย แต่ความรู้สึกมันมี ตัวพลังงานมีความรู้สึกอยู่แล้ว ความคิดก็เป็นอันหนึ่ง เวลาส้มกับเปลือกส้มอยู่ด้วยกัน คือเราคิดมันเป็นอารมณ์หนึ่ง, เราทันความคิด เพราะส้มกับเปลือกส้มมันแยกออกจากกัน เราปอกส้มทิ้ง ความคิดที่มันคิดผ่านไปแล้ว กับตัวของเราเห็นไหม เราทันความคิด นี่ไง ดูจิตจนจิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังคือเนื้อส้มเนี่ย…

เนื้อส้มมันมีชีวิตมันรับรู้ พอเนื้อส้มมันรับรู้ มันมีเปลือกเพราะเปลือกมันห่อหุ้มเราอยู่ แล้วเปลือกเห็นไหม ถ้าเปลือก เปลือกมันเน่า เปลือกมันเสีย เปลือกมีหนอนไช แล้วเปลือกต้องอยู่กับเรานะ น่าสะอิดสะเอียน… ความคิดอยู่กับจิตไง จิตเวลามันคิดไม่ดีนะ โอ้โฮ… คิดได้ยังไงวะ แต่ถ้ามันเป็นส้มด้วยกันนะ มันไม่รับรู้หรอก เอ้า.. ส้มมันก็ต้องมีเปลือกสิ ถ้าหนอนมันเจาะเข้ามา มันก็เจาะกูด้วยสิ ก็เจาะเนื้อด้วย แต่ถ้ามันทันนะ มันรู้นะ ความคิดที่น่าเกลียดน่ากลัว แล้วมันอยู่กับเราทำไม มึงคิดทำไม นี่ไง…ถ้าปัญญามันทันเห็นไหม ถ้าปัญญามันทันมันมีกำลังของมันนะ

เนี่ย.. “จิตเห็นอาการของจิต” อาการของจิตคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ครอบงำจิตไว้ ทำสมาธิ พุทโธๆๆ เนี่ย มันทะลุจากขันธ์ ๕ เข้าไป พุทโธๆ คือสัญญา เราคิดไง พุทโธเห็นไหม เราคิด สัญญาว่ามีใช่ไหม นึกพุทโธๆ เห็นไหม มันเป็นสังขาร สังขารนะ พอมันคิดเป็นพุทโธเป็นรูป เห็นไหม เป็นรูปเห็นไหม เวทนาเรารู้ว่า พุทกับโธ มันต่างกันในเวทนา วิญญาณรับรู้ รับรู้เนี่ย เนี่ยคือขันธ์ ๕ พุทโธๆๆๆ จนพุทโธ จนขันธ์ ๕ มันเข้าไปถึงตัวเนื้อของส้ม เปลือกส้มมันทิ้งไป “นี่คือสมาธิ”

สมาธิคือตัวพลังงานเฉยๆ คือตัวจิต พุทโธๆ เนี่ยก็เปลือกส้ม ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ปอกเปลือกส้ม ถ้าปอกเปลือก ปอกขันธ์ ๕ ได้ เข้าถึงตัวพลังงานคือ ตัวสมาธิ เนี่ยดูจิต.. ดูจิต เขาดูจิตเพื่อให้เป็นสมาธิ เพื่อให้ถึงตัวเนื้อของส้ม แล้วเนื้อของส้มเนี่ย.. มันอยู่กับเปลือกส้มเนี่ย… มันต้องรับรู้กันว่า เนื้อของส้มกับเปลือกส้ม ไม่ใช่อันเดียวกัน ความคิด ความคิดกับพลังงาน มันคนละอันกัน.. ความคิดกับจิตน่ะ จิตไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ใช่จิต มันอยู่ด้วยกันแต่ไม่ใช่อันเดียวกัน มันอยู่ด้วยกันมันสัมผัสกันมันรู้กัน

พอมันสัมผัสมันรู้กันนะ สัมผัสรู้กัน สัมผัสรู้กันเนี่ยสัญชาตญาณ มันก็อยู่ด้วยกันโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่เราสร้างขึ้นมา สมาธิ จิตเห็นอาการของจิต ส้มสัมผัสกับเปลือกส้ม มันก็เปลือกส้มเป็นของไม่ดี เปลือกส้มเป็นของที่ไม่มีรสชาติ เปลือกส้มเป็นของที่ไม่มีคุณค่า ทิ้งมันไป ทิ้งมันไป ทิ้งมันไป ทิ้งไปถึงที่สุดมันขาด นี่ไง..โสดาบัน โสดาบันเหมือนกัน เนี่ย..การรักษาจิต จิต.. (หัวเราะ) พูดทุกวันเลยล่ะ แต่คนก็ยังงงนะ ถามทุกวันเหมือนกัน

ต้องทำอย่างไร การดูจิตการรักษาจิต ทำอย่างที่พูดเนี่ย ต้องทำอย่างไร ต้องทำอย่างไรก็ต้องตั้งสติ สำคัญคือสตินะ สำคัญคือสติ มันก็มีอีกอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งที่เราพูด เราพูดแบบพระป่า เราพูดแบบพระกรรมฐาน พระกรรมฐานเราเป็นพระปฏิบัติ พระปฏิบัติเราลงคลุกกับพื้นที่ คือลงคลุกกับตัวจิตเอง คือสติ สมาธิ ปัญญา เกิดจากจิต ความสมมุติคือเกิดจากจิต มันอยู่ที่จิตเรา จิตเนี่ยพลังงานเฉยๆ จะสร้างอะไรก็ได้ สร้างเป็นอาชีพ สร้างเป็นความคิดทางโลกก็ได้

สร้างเป็นธรรมะ สร้างเพื่อความเป็นสมาธิ สร้างเพื่อกำลังขึ้นมา มันก็สร้างได้ สิ่งที่สร้างก็เป็นสมมุติสร้างขึ้นมา สร้างเป็นธรรมะ สัจธรรม อริยสัจจ์ แต่เวลาจิตมันสำเร็จ มันกลั่นออกมาจากอริยสัจจ์ มันกลั่นออกจากความคิด ออกจากสิ่งที่เป็นสมมุติ แต่เราต้องทำขึ้นมา ทีนี้ถ้าเราทำขึ้นมา มันเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ถึงผู้ที่เห็นจริงรู้จริง จะพูดได้ตามความเป็นจริง เห็นจริงไปหมดเลย ถึงต้องทำยังไง ต้องทำต้องฝึกต้องฝน ต้องฝึกต้องฝนนะ ฝึกฝนเราขึ้นมา

เนี่ยพูดแบบพระป่า พระป่าคือทำตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราศึกษามาทางวิชาการ อย่างที่ว่าเนี่ย.. มันจะเอาวิชาการมาขึงไว้ แล้วมันก็ขึงให้ตัวเราอยู่กับทางวิชาการ กลัวผิด กลัวพลาด ประสาเราเนี่ยทำสักแต่ว่า ไม่กล้าทำเต็มไม้เต็มมือ เพราะว่าทำแล้วก็กลัวผิดไง กลัวผิดธรรมพระพุทธเจ้า กลัวผิดๆๆ เพราะกลัวอยู่อย่างนั้นไง ผลมันก็เลยได้แต่ความกลัวมาไง แต่ถ้ามันจะผิดจะพลาด อ้าว.. คนที่ทำงานไม่เคยผิดเลยไม่มี พระพุทธเจ้าผิดมา ๖ ปี หลวงปู่มั่นท่านก็ผิดมาตั้งเยอะ ท่านแก้ไขตัวท่านมา เห็นไหม..ครูบาอาจารย์ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็แก้มาตลอด

เราเองพูดถึงความผิด เราก็ผิดมาเยอะมาก เมื่อวานก็พูดถึงซากศพเห็นไหม อาจารย์บอกว่าผิด เรายังงงอยู่เลยผิดได้ยังไง ท่านบอกเรา.. เรายังเถียงในใจนะ ก็เวลาภาวนาไป ก็ผิดจริงๆ นะ แต่ขณะที่เราเห็นน่ะ ขณะที่จิตเรายังเป็นเด็กน้อยอยู่นะมันก็.. ดูสิ เด็กมันน้อย มันก็ร้องไห้งอแง งอแง มันอยากเอาของมันอย่างเดียวนะ

จิตที่มันอ่อนแออยู่ มันก็ตีโพยตีพาย เรียกร้องแต่ผลประโยชนอย่างเดียว ปฏิบัติแล้วจะให้คะแนนเลย นั่ง ๒ นาทีบอกเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ท่าน พระพุทธเจ้าปฏิบัติ ๖ ปีนะ เรานั่ง ๒ นาทีนะ จะเอาพระอรหันต์ให้ได้เลย ไม่ได้ก็ร้องไห้แล้ว ผิดงอแงๆ เห็นไหมจิตเราอ่อนแอ แต่ถ้าเอาจริงเอาจังเราจะสู้ได้ เราจะทำได้ แพ้กิเลสบ่อย นั่งก็ปวดขา เดินจงกรมก็ปวด ท้อบ่อย ถ้าจะเอาชนะนะ

ดูสิ เวลาพระพุทธเจ้านะ เป็นพระโพธิสัตว์ สมัยที่พระพุทธเจ้ามาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ สร้างบุญญาธิการมามาก แต่ขณะที่เป็นเตมีย์ใบ้ เนี่ย..ขันติบารมี พระพุทธเจ้านะ ชาติหนึ่งจะสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้าด้วยขันติบารมี บอกว่าคนเนี่ย..เป็นคนที่อดทนมาก ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ร้องกับสิ่งใด กษัตริย์ไม่เชื่อ กษัตริย์ที่เป็นนักปกครองไม่เชื่อ ทดสอบ ทดสอบเลย เอาดาบมานะ จับหูเนี่ยตัดหูเลย เจ็บไหม เฉย จมูกเนี่ยตัดจมูกเลยเจ็บไหม คือจะให้พูดไง เตมีย์ใบ้ถือขันติบารมี

มีอยู่ชาติหนึ่งนะ พระพุทธเจ้าเนี่ย คือว่าถือขันติบารมี แต่ก็มีเทวทัตเกิดเป็นกษัตริย์ไง เทวทัตนั้นก็ทดสอบ ตัด ตัด ตัดทีละชิ้นๆ เลย กว่าจะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเนี่ยสร้างนะ เวลาเสียสละทานเห็นไหม มีใครบ้าง ถ้าเรามีครอบครัวนะ ลูกเมียทุกคนจะรักมากที่สุดเลย ถ้าเขาขอลูกเมียเรา ทำไมไม่ขอเราล่ะ เขาไม่ขอเขาขอลูกขอเมีย ถ้าเมียก็เหมือนกัน เขาขอสามีขอลูก เราให้เขาไหม ขอเพราะอะไร เพราะมันสะเทือนหัวใจ

พระเวสสันดรให้หมด ขอสมบัติก็ให้ ขอพระราชวังก็ให้ ขอช้างศึกก็ให้ ขอเมียก็ให้ ขอลูกก็ให้ เจ็บปวดไหม สิ่งที่จะได้มามันต้องสร้างมา ถ้าไม่ได้สร้างมา มันไม่เป็นปฏิภาณไหวพริบ มันเป็นวุฒิภาวะของจิต พันธุกรรมทางจิตมันสร้างมาอย่างนี้ แต่ละชาติเสียสละมาสร้างมา สร้างมาก็ได้ผลตอบแทนมา จิตนั้นได้พัฒนาการมา เนี่ย…บุพเพนิวาสานุสติญาณ พระพุทธเจ้าพัฒนาการมาตลอด

ในปัจจุบันนี้ชาวพุทธเราถึงจะเสียสละกัน เสียสละเพื่อเราจะสร้างหัวใจของเรา เราก็สร้างหัวใจของเรา เพราะถ้ามันปฏิบัติชาตินี้ ได้ชาตินี้ ก็เอาชาตินี้ ถ้าชาตินี้ไม่ได้ขึ้นไป มันจะพัฒนาจิตนี้มีคุณภาพมากขึ้น มีคุณภาพมีวุฒิภาวะที่เข้มแข็งขึ้น ถ้าปฏิบัติมันจะดีขึ้นๆ เนี่ยการเสียสละของเรา นี่การเสียสละเห็นไหม

จะถามว่า.. แล้วจะเอาชนะยังไง ท้อแท้บ่อย ก็ต้องคิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ดูสิ..ตัวอย่างมีพระพุทธเจ้ามี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมี ท่านทุกข์ยากมาก หลวงตาเมื่อ ๒ วันนี้ เขาไปแจกหนังสือที่วัดเห็นไหม ใครจะลำบากไปยิ่งกว่าหลวงปู่มั่น ไม่มี ขนาดหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่เจี๊ยะเนี่ย วันไหนบิณฑบาตมาได้อาหารดีๆ นะ ร้องไห้เลย เราก็ถามทำไม…

สมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ได้ปลาสิวตัวเดียว.. มันเหมือนกับได้กุ้งใหญ่เบ้อเร่อเลย แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นลูกเศรษฐี อาหารถ้าปลาไม่สดอยู่ที่บ้านนะ ท่านเล่าให้ฟัง เด็กๆ ท่านอยู่ริมทะเล อาหารถ้าไม่สด พ่อแม่ทำให้กินนะ นี่ท่านพูดเองนะ ท่านปัสสาวะใส่เลย ไม่นั้นก็เอาตัวเองกลิ้งทับเลย พ่อแม่ต้องทำอาหารอย่างดี อาหารต้องทำสดๆ นะ

หลวงปู่เจี๊ยะ แล้วพอท่านจะออกธุดงค์ พ่อแม่ร้องไห้ ลูกเอ๊ย ลูกก็กินยากแสนยาก ก็เลี้ยงลูกมาทำไมจะไม่รู้ว่าลูกจะอยู่ได้ไม่ได้ แต่จะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น จะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านไปพ่อแม่ก็เป็นทุกข์เป็นยากมาก พี่สาวทุกข์มากเลยเพราะเลี้ยงน้องมา แล้วรู้ว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนกินอยู่ยังไง แล้วจะต้องไปอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดกับเรา.. “ไอ้หงบกูจะบอกมึง ความลับห้ามบอกใครนะ เวลาไปอยู่กับหลวงปู่มั่น กินข้าวกับกล้วย” กล้วยหอมเนี่ย.. ท่านกินไม่ได้ อาหารที่เขาใส่มากินไม่ได้ ท่านกินข้าวเหนียวน่ะ ไปอยู่ทางเหนือน่ะ กินข้าวกับกล้วย คือกินอะไรไม่ได้เลย แต่อยากปฏิบัติ

เวลาท่านบิณฑบาตมา ท่านได้อยู่กับหลวงปู่มั่น ชาวเขานะ เราอยู่กับพวกกะเหรี่ยง เวลากะเหรี่ยงนะ เขาเพ้อ เขาแบบว่า.. เขามีเป้าหมายน่ะ เขาบอกว่าถ้าเขารวยนะ เขาจะกินปลาทูกับน้ำผึ้งทุกวันเลย เพราะกะเหรี่ยงนะอยู่ในป่า น้ำผึ้งเนี่ยสุดยอดอาหารของเขากับปลาทู เพราะปลาทูเนี่ยมันอยู่ทะเลใช่ไหม กว่ามันจะเข้าไปถึงในป่า มันไปยากมาก อยู่ในป่าในเขานะ อาหารสุดยอดของเขาคือน้ำผึ้งกับปลาทู ถ้าผมรวยนะผมจะกินน้ำผึ้งกับปลาทูทุกวันเลย เวลากะเหรี่ยงมันเพ้อ มันมีเป้าหมายชีวิตนะ ถ้าผมมีตังค์นะ ผมจะกินปลาทูกับน้ำผึ้งทุกวันเลย เนี่ย..คนที่มันอยู่ในภูมิประเทศอย่างนั้น

แต่นี้พอหลวงปู่มั่นท่านอยู่อย่างนั้นน่ะ มันทุกข์ยากอย่างนั้นนะ มันทุกข์ยากเพราะอะไร เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ เราอยู่อย่างนั้น แต่นี้เวลาพวกเรา เวลาพระเราไปธุดงค์เห็นไหม พอไปในป่าในเขาก็อยากจะไปพัฒนาๆ ในหลวงท่านถึงบอกไง มันต้องพัฒนาจากตรงนั้นน่ะ คือภูมิประเทศ ทรัพยากรเขาเป็นอย่างนั้น เราจะพัฒนาให้เขามาเป็นแบบสาธารณูปโภค มีทุกอย่างพร้อมไม่ได้ เขาต้องใช้ของเขาอย่างนั้น เราต้องพัฒนาให้เขาอยู่ของเขาให้ได้อย่างนั้น

ฉะนั้นไอ้ความที่ว่าจะรักษายังไง จะท้อแท้.. เราธุดงค์มาเยอะนะ แล้วเราอยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะ หลวงปู่มั่นเราไม่ทัน แต่หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านจะเล่าเรื่องให้ฟังมาก ฉะนั้นเวลาเมื่อก่อนเราปฏิบัตินะ เราจะเอาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นแบบอย่าง คือเวลาเราปฏิบัติ เวลามันท้อถอยนะ ความเพียรมึงน่ะไม่ได้ขี้เล็บของหลวงปู่มั่นเลย เราจะเตือนตัวเองตลอด เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธินะ ความขยันหมั่นเพียรเรา ไม่ได้ขี้เล็บครูบาอาจารย์เลย พอนั้นปั๊บ…มันก็ฮึดขึ้นมาน่ะ

บางทีภาวนาไปทั้งวันทั้งคืน เราอดอาหาร อดนอนนะ อดอาหารด้วย ไม่นอนด้วย ถือเนสัชชิกด้วย แล้วเดินจงกรมทั้งวัน ทั้งคืนตลอดเวลา ทั้งเพลียทั้งเหนื่อย อดอาหารเนี่ย กระเพาะมันไม่มีอาหาร เดินจงกรมไปมันเพลียไหม แล้วแดดเปรี้ยงๆ เปรี้ยงๆ นะ อีสานหน้าร้อนมันร้อนขนาดไหน พอมันหิวขึ้นมามันกระหายขึ้นมา น้ำเนี่ยน้ำประปา น้ำดื่มเนี่ยดื่มเข้าไป ให้มันมีกำลังขึ้นมาแล้วเดินจงกรมต่อ เพื่ออะไร เพื่อจะพ้นจากทุกข์ เบื่อหน่ายเต็มที มุมานะขยันหมั่นเพียร ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเราสร้างเหตุดีสิ่งนั้นมันก็ต้องดี

เวลามันท้อถอย เราเอาอย่างนี้มาปลุกเร้าเรา เราจะปลุกเร้าเราด้วยประวัติพระพุทธเจ้า ด้วยประวัติของครูบาอาจารย์ แล้วการปฏิบัติของเราจะให้มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะการปฏิบัติเรามันจะมีความผิด ความถูกในใจเราตลอด ความเพียรความเข้มแข็งขนาดนี้นะ ไม่ใช่จะถูกหมด เพราะความเพียรความขยันหมั่นเพียรเนี่ย..มันเป็นสิ่งแวดล้อม ใจมันเป็นหรือไม่เป็น นั่งสมาธิเพื่อต้องการใจให้เป็นสมาธิ ความขยันหมั่นเพียรมันเป็นกิริยาภายนอก ใจมันจะลงไม่ลง

ถ้ากิริยาภายนอกเข้มแข็งขนาดไหน ถ้าใจมันไม่ลงมันก็คือไม่ลง ถ้ากิริยาความเพียรภายนอกมันเข้มแข็ง ถ้าใจมันลงมันก็ดี บางทีปฏิบัติพอสมควรใจมันลง ใจมันพัฒนาใช้ปัญญา มันลงก็ดี มันเป็นโอกาสไง เป็นบางเที่ยว บางเที่ยวเนี่ยเข้มแข็งมาก ภาวนามากมันก็ลง บางเที่ยวภาวนามันก็ไม่ลง ไม่ลงก็คือไม่ลง ไม่ลงก็ภาวนาไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราสร้างเหตุ มันจะได้ไม่ได้ สร้างเหตุให้ดีขึ้นมา มันต้องเป็นไปได้ มันต้องทำของมันได้ มันธรรมดานะ มันแพ้บ่อยเพราะกิเลสเป็นเรา ถ้ากิเลสเป็นเราทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ากิเลสไม่ใช่เรา

ที่ว่าเนี่ย ที่เรามาทำอยู่ เราทรมานกิเลส ที่เราแพ้ก็คือแพ้กิเลส ถ้าเราทรมานมัน เพราะตอนนี้เราจับกิเลสเข้าจนมุมแล้ว คือว่าเรามาปฏิบัติ เราไม่ไปไหน เราเดินอยู่ในทางจงกรม เอ้า.. กิเลสอยู่กับกู กูไม่ไปกิเลสก็ไปไม่ได้ เออ.. กิเลสให้ไปกูก็ไม่ไป กิเลสมันจนมุมนะ ทีนี้มันก็ดิ้นนะสิ พอดิ้น.. (หัวเราะ) มันจะสบายๆ จะกินดีๆ นอนดีๆ กิเลสก็ตัวอ้วนๆไง ไอ้เราก็ตัวผอมๆไง กิเลสมันก็ขี่หัวไง ตอนนี้จับกิเลสมันมาขึงพืด แต่มันทุกข์ไหม ทุกข์ กิเลสมันทุกข์ไม่ใช่เราทุกข์ต้องพูดอย่างนี้ บอกกิเลสมึงทุกข์ เพราะอยู่ที่สุขสบายแล้วไม่เห็นเอ็งเลย ไม่เห็นกิเลสเลย ตอนนี้กิเลสมันดิ้นแล้ว เพราะจับกิเลสมันมาขึงพืด ใช่ไหม กิเลสมันต้องตากแดด กิเลสต้องเดินจงกรม

ถ้าพูดประสาเรานะ มันก็อยู่ที่พูดถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเทียบบ่อยนะ องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาไปเที่ยวสวนเห็นไหม เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านสะเทือนใจมาก เอ้ มีคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายด้วยเหรอ ถ้าอย่างนั้นมันต้องมีฝ่ายตรงข้าม คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ท่านคิดของท่านเอง ท่านถึงได้ออกราชวังไปหาการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

โดยสัจธรรมนะ เวลาพวกเราตายไป ถ้าคนเรากึ่งสิบกึ่งดี คือทำดีก็ทำ ทำชั่วก็ทำ ถ้าคนทำดีมากๆ นะ ไปสวรรค์เลย คนทำชั่วมาก เทวทัตตกนรกเลยไม่ต้องผ่านยมบาล พอไปผ่าน ยมบาลจะถามบ่อยเคยเห็นธรรมะไหม ทุกคนจะตอบว่าไม่เคยเห็น ท่านจะถามกลับ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม เห็น นั่นคือธรรม เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันก็ต้องไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เนี่ย..การเห็นอันนั้นน่ะ ถ้ามันสะเทือนใจ ทีนี้ถ้ามันสะเทือนใจ “มันต้องคนที่มีวุฒิภาวะ” คือคนที่มีบุญในใจไง คือคนที่ทำมาดี มันเห็นอะไรเนี่ยมันจะคิด

แต่ถ้าคนมันหยาบ เราสร้างบุญมาน้อยนะ มันเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันจะไปเอาทองไง มันจะไปทำงาน คนแก่ก็แก่ไปสิกูไม่เกี่ยว กูจะไปเอาแก้ว แหวน เงิน ทองกูนู่นน่ะ มันไม่คิดหรอก เนี่ยมันหยาบต่างกันเห็นไหม อยู่ที่การสร้าง อยู่ที่เราทำมา ฉะนั้นถ้าเรามีสติตอนนี้ปั๊บ เราก็มาสร้างปัจจุบันเรานี้ให้ดีที่สุด ปัจจุบันทำปัจจุบันเราให้ดี ให้ดีคือดีในศีลในธรรม ไม่ใช่ดีเรานะ ถ้าดีเราก็ดีกิเลส ถ้าดีเรานะมันก็อยู่สุขสบายไง ความดีของเรา เราก็ใช้ความคิดของเรา ความดีของเราไม่ใช่ความดีของธรรมะ

ความดีของธรรมะคือการเสียสละ นักเสียสละคือนักปฏิบัติ เสียสละจากข้างนอก แล้วก็เสียสละความคิด เสียสละกิเลสตัณหาออกไป เสียสละได้ไหม ความคิดความหมักหมมใจเอาออกจากใจได้ไหม เพราะเราเสียสละไม่เป็น เราถึงเอาออกจากใจไม่ได้ แต่ถ้าเราทำจากข้างนอก เราฝึกมา เราเสียสละมาจากข้างนอก เราเสียสละทาน เราเสียสละสิ่งความสะดวกของเราให้คนอื่น เราเปิดทางให้คนอื่น เราทำดีทั้งหมดเลยเสียสละจากข้างนอกเข้ามา มันฝึกเข้ามา แล้วมันจะมาเสียสละจากที่นี่ได้ เพราะมันฝึกมาจากข้างนอก มันจะเข้ามาข้างใน

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ นี่ไงความดี ความดีของเราต้องดีในศีลในธรรม ไม่ใช่ดีแบบกิเลส ดีกิเลสมันจะอยู่แบบโลก ดูสิโลกเขาแข่งขันกันด้วยเฟอร์นิเจอร์ แข่งขันกันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ โลกธรรม ๘ โมฆบุรุษ เห็นไหม โมฆบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะสักการะ ตายเพราะลาภ ยศ สรรเสริญ ตายหมดเลย เอวัง