ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระสมมุติ

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๔

 

พระสมมุติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๔๑๓. ก็ไม่มีเนาะ อันนี้ข้อ ๔๑๔. คำถามนะ ชื่อมันเป็นอย่างนี้จริงๆ เราไม่ได้พูดเหน็บแนมใครนะ คำถามมันเป็นอย่างนี้

ถาม : ๔๑๔. เรื่อง “หมาของหลวงตา”

ผมได้อ่านธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์เรื่อง “หมาของหลวงตา” แล้วทำให้ผมรู้และพิจารณาอะไรได้มากมายในวงกรรมฐาน ทำให้ผมอนุมานได้ว่า วงกรรมฐานนี้มีหลายรูปแบบ แต่ผมชอบที่หลวงพ่อออกมาชี้แจงตรงไปตรงมา ไม่แอบอยู่หลังผ้าเหลือง แอบแทงข้างหลังเหมือนพระบางองค์ ผมชอบตรงนี้จริงๆ ครับ ธรรมเป็นธรรมจริงๆ หาฟังแบบนี้ที่ไหนไม่ได้ครับ ส่วนมากพระมักประจบโยมหมดเลย เอาใจ พูดเพราะ ผมไม่ชอบเลย ผมจึงตั้งประเด็นกราบนมัสการถามดังนี้ครับ

๑. พระสงฆ์ก็คือลูกชาวบ้าน เมื่อเต็มใจบวชเข้ามาในศาสนา เราจะเริ่มนับว่าจิตใจเป็นธรรมกันตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ คือตอนเป็นฆราวาสอาจจะทำความผิดพลาดในชีวิตมาบ้าง พอมาเป็นพระนี่ เขาหรือเราจะนับว่าจิตเป็นธรรมเมื่อไหร่ครับ เอาอะไรมาวัดได้ครับ และอดีตมันจะมีผลมาตอนที่เป็นพระด้วยหรือเปล่าครับ เช่น ตอนเป็นชาวบ้านอาจจะทำไม่ดี แต่พอมาเป็นพระก็พยายามฝึกฝน อบรมตนตามหลักธรรม ข้อวัตร แบบนี้ถือว่าใช้ได้หรือไม่ครับ หรือว่าถ้าอดีตไม่ดี ก็ไม่สามารถเป็นคนดีได้ครับ

๒. หรือกรณีมาเป็นพระแล้วยังทำไม่ดี จากที่อดีตเป็นคนดี แย่ยิ่งกว่าตอนเป็นชาวบ้านอีก ชอบตีสองหน้า ทำเป็นคนสองบุคลิก คือต่อหน้าญาติโยมแบบหนึ่ง ลับหลังแบบหนึ่ง การกระทำแบบนี้ นี่มันเป็นสิ่งที่พระปฏิบัติต้องปฏิบัติ มันเป็นอริยประเพณี หรือเป็นเพราะว่าเขาเสแสร้งแกล้งทำเอาเองครับ คือความจริงแล้วพระต้องมีหนึ่งหน้าเท่านั้นไม่ใช่หรือครับ

สุดท้าย จากใจจริงของผม ผมชอบหลวงพ่อมาก หลวงพ่อจะว่าผมชมหรือว่าแกล้งชมก็ไม่เป็นไรครับ แต่ผมชอบพระกรรมฐานต้องเป็นแบบหลวงพ่อ ผมเข้ามาอ่านธรรมที่หลวงพ่อเทศน์ตลอด แล้วพยายามโน้มเข้ามาปฏิบัติ ผมขอเป็นกำลังใจอันน้อย ขอให้หลวงพ่อเป็นเสาหลัก พระกรรมฐานที่แท้จริงต่อไปครับ โอกาสใดที่ผมมีโอกาสจะรับใช้พระศาสนา ผมจะเข้ามาช่วยงานหลวงพ่อครับ

หลวงพ่อ : นี่เห็นไหม เขาอ่าน ถ้าใจเป็นธรรม.. เขาชอบความตรงไปตรงมา คำว่าความตรงไปตรงมา มันเป็นธรรมอยู่แล้ว ฉะนั้น ความเป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเพราะว่ามันมีมารยาสาไถย ฉะนั้น เอาที่คำถามเลย

“ข้อ ๑. พระสงฆ์ก็คือลูกชาวบ้าน เมื่อเต็มใจบวชเข้ามาในศาสนา เราจะเริ่มนับว่าจิตเป็นธรรมกันตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ”

ไม่มี ไม่มี.. มันเป็นสมมุติสงฆ์ มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร บวชหรือไม่บวชมันก็คือสมมุติทั้งหมด ไม่มีธรรมหรอก! ธรรมไม่มี บวชมานี่เป็นสมมุติสงฆ์นะ ดูสิหลวงตาท่านบวชมา บวชมาแล้วบอกว่าซัก ๓ พรรษาแล้วจะสึก แล้วพอมาอ่านธรรมะของพระพุทธเจ้า อ่านแล้วนี่ โอ๋ย.. อยากไปสวรรค์ พอถึงพรหม นี่อยากไปพรหม พออ่านถึงนิพพาน อยากไปนิพพาน

พออ่านไปถึงนิพพานแล้วเรียน เห็นไหม อ่านหนังสือ อ่านตำรา แล้วเรียนเป็นมหา แล้วบอกพอเป็นมหาแล้วจะออกปฏิบัติ พอออกปฏิบัติแล้ว นี่อ่านมาเข้าใจธรรมะหมดเลย นิพพานรู้หมดเลย แต่งง นี่ไง หลวงตาท่านตั้งปณิธานไว้ว่า

“ถ้ามีผู้ใดชี้แนวทางให้เราได้ เราจะมอบชีวิตให้กับอาจารย์องค์นั้น”

ถ้ามีผู้ใดชี้แนวทาง เห็นไหม คำว่าชี้แนวทาง แสดงว่าตัวเองยังสงสัยใช่ไหม นี่เป็นถึงมหานะ พอจะออกปฏิบัติใหม่ๆ มันก็ลังเลใช่ไหม เพราะเราศึกษามาแล้วว่านิพพานมี ทุกอย่างมี แหม.. มั่นใจมากเลย พอศึกษาเสร็จแล้วเราจะออกปฏิบัติ เวลาจะออกปฏิบัติแล้วมันกล้าไหมล่ะ? เวลาออกปฏิบัติแล้วรวนหมดเลย ไปข้างหน้าก็ไม่กล้า ลับหลัง เออ.. อยากไปข้างหน้า ถอยหลังก็ไม่ได้ ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ แล้วใครจะชี้เรา

นี่ไง เราจะบอกว่า ขนาดหลวงตาท่านจะออกปฏิบัติครั้งแรก ท่านยังลังเลสงสัยมาก แล้วพยายามจะหาว่าใครจะชี้ทางได้ นี่แสดงว่าเป็นธรรมหรือยัง? เป็นธรรมในภาคปริยัติ เห็นไหม ถ้าไม่เป็นธรรมนะ ทำไมเขาได้พัดล่ะ มหาต้องได้พัดนะ จบมหานี่ได้พัดนะ พัดประจำตำแหน่งเป็นมหา อย่างนี้เป็นธรรมหรือยัง?

นี่ไงเขาถามว่า “แล้วเราจะเริ่มนับว่าจิตเป็นธรรมกันตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ”

ไม่มีหรอก ไม่มี.. จิตจะเป็นธรรมต่อเมื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนใจเป็นธรรม พอใจเป็นธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอานาคามี นั่นล่ะเป็นธรรม! เป็นพระโสดาบันนี่เป็นธรรมแล้ว เพราะคุณสมบัติของพระโสดาบัน ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ลูบคลำในศีล จะไม่ถือต่างลัทธิศาสนาเด็ดขาด พระโสดาบัน ให้บังคับจนตายเลยให้ไปถือศาสนาอื่นนะ มันก็ยอมสละชีวิตมัน

นี่เป็นธรรม พระโสดาบันขึ้นไปถึงจะเป็นธรรม! แต่ถ้ามันยังไม่มี นับกันตรงไหนว่าจะเป็นธรรมล่ะ แล้วการนับว่าองค์ไหนเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน เอาอะไรมานับล่ะ คนไม่เป็นจะรู้ได้อย่างไร?

นี่ไง “นกกับปลา” นกมันก็อยู่บนฟ้า ปลาก็อยู่ในน้ำ แล้วนกกับปลามันก็คุยกัน ไอ้ปลามันก็สงสัยบนอากาศว่า เฮ้ย นกมันบินอย่างไร ไอ้นกมันก็สงสัยปลานะ เฮ้ย มันอยู่ใต้น้ำอยู่อย่างไร ไอ้นกกับปลามันก็ต่างสงสัยกันใช่ไหม ไอ้เราเป็นปุถุชนใช่ไหม ไอ้เราไม่รู้ นี่เหมือนนกกับปลามันคุยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนมีธรรม คนไหนไม่มีธรรม

อ้าว.. เราเป็นปลา เราอยู่ในน้ำ แหม.. มีความสุขรื่นเริงมาก อาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ก็สงสัยว่าบนอากาศ นกมันหากินกันอย่างไร นกมันหากินอย่างไร ไอ้นกมันอยู่บนอากาศนะ เวลาแมลงมันออก เห็นไหม มันบินหาอาหารมันนะ มันโฉบไปบนอากาศ มันได้แมลงหมดเลย มันก็สงสัยเว้ย เอ๊ะ.. ในน้ำนี่ปลามันกินอะไรกัน ในน้ำ ปลามันอยู่กันอย่างไร มันก็สงสัย

นี่ไง บอกว่า “เราจะเริ่มต้นนับใจว่าเป็นธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่” ตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ?

แต่ครูบาอาจารย์ท่านรู้ได้ รู้ได้นะ เราไปพูดที่ว่าตอกไข่ เห็นไหม การตอกไข่ ไอ้คนไม่เป็นนี่นะ มันตอกไข่ใส่ถังขยะ มันจะทอดไข่นะมันตอกไข่ใส่ถังขยะ เพราะมันไม่รู้ มันนึกว่าถังขยะนั้น ตอกไปแล้วนะเดี๋ยวไข่มันจะสุก แต่ถ้าคนเขาเป็นนะ เขาต้องมีเตาใช่ไหม เขาต้องมีกระทะ เขาต้องน้ำมัน เขาต้องมีไฟ เวลาตอกไข่ลงไปนะ อู้ฮู.. มันจะสุก มันจะเป็นไข่ขึ้นมาให้เราได้กิน

กระบวนการของมันมี ถ้ากระบวนการของมันไม่มี เขาจะธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง นี่ถ้ามันเป็นธรรมจริง มันต้องเป็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วถ้าตามความเป็นจริง จะเริ่มต้นนับกันตั้งแต่เมื่อไหร่.. เริ่มต้นนับตั้งแต่เอ็งภาวนาเป็น! เอ็งภาวนาเป็นแล้วเอ็งภาวนาได้นั่นล่ะ แล้วภาวนาเป็นเป็นอย่างไร?

นี่ว่า “เป็นธรรมชาติ ดูแลมันเป็นธรรมเพราะมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดามันก็เป็นธรรมะ”

ตอกไข่ใส่ถังขยะไง เพราะถังขยะใช่ไหม เทศบาลมาเก็บเป็นธรรมชาติ เช้าขึ้นมาตั้งไว้ เทศบาลก็มาเก็บ ตอกไข่ใส่ไป เทศบาลมันก็เก็บไป มันก็เลยเป็นธรรม ตัวเองก็เลยไม่ได้กินไข่ไง (หัวเราะ) ไข่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน

เออ.. มันเป็นธรรมชาตินะ เช้าขึ้นมารถเทศบาลมันก็มาเก็บขยะเป็นธรรมดา เออ.. เราก็ตอกไข่ใส่ในถังขยะ เดี๋ยวเทศบาลมันก็เก็บไป ก็เป็นธรรมดา แล้วเอ็งได้ไข่กินบ้างหรือเปล่า แล้วธรรมชาตินะ “มันเป็นธรรมชาติ ดูแลไว้เป็นธรรมดา พอเป็นธรรมดาแล้วมันก็เป็นธรรม” อันนี้มันไม่มี เห็นไหม ใจถึงไม่เป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมนะ ทำสมาธิอย่างไร?

สมาธิสงบแล้ว คนที่ภาวนาเป็นแล้ว มันก็เหมือนที่เราพูด เมื่อวานก็พูด ที่ว่าถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย ตอนนี้นะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของคนตายด้วยโรคติดเชื้อ พอดีแม่เสียปั๊บแล้วเรามาดูข่าว พอดีทางสาธารณสุขเขาออก ตอนนี้นะทางบริษัทยาเขาไม่คิดค้นวิจัยยา ไม่คิดค้นวิจัยยาเพราะว่าถ้าวิจัยมาแล้วอายุของยามันสั้น เพราะโรคภัยไข้เจ็บมันจะดื้อยา มันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เขาเลยไม่ยอมทำวิจัยเรื่องการฆ่าเชื้อ การดื้อยาตัวใหม่ เพราะการวิจัยมาแล้ว อายุมันใช้งานไม่กี่ปี มันไม่คุ้มค่า พอไม่คุ้มค่า ทีนี้การติดเชื้อนี่รุนแรงมาก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ติดเชื้อ นี่ตายเพราะติดเชื้ออยู่ ทั่วโลก เป็นเรื่องที่วิกฤติทีเดียวเลยแหละ

ฉะนั้น มันก็ย้อนกลับมาการภาวนา ถ้าคนมีธรรม ถ้าจิตมันไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา มันออกไปติดเชื้อ เอ็งว่าดีหรือ เอ็งติดเชื้อแล้วเอ็งจะฆ่าเชื้อในหัวใจเอ็งอย่างไร ถ้าเอ็งไม่เคยฆ่าเชื้อในหัวใจ เอ็งจะเป็นธรรมได้อย่างใด คนที่จะเป็นธรรม คือเขาฆ่าเชื้อที่ติดมาในสายเลือดของเขา ติดมาในหัวใจโดยธรรมชาติ ในการเกิดและการตายมีอวิชชามา มันได้ฆ่าเชื้อนี้ออกไปได้อย่างใด?

ถ้ามันมีการฆ่าเชื้อโดยสัจธรรม โดยวิปัสสนาญาณ อันนี้ต่างหากมันถึงเป็นธรรม ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว จิตนี้มันจะไม่กลับไปติดเชื้อเพราะอะไร เพราะมันเป็นอกุปปธรรม มันเป็น อฐานะแล้ว อฐานะที่จะลงไปคลุกคลีกับเรื่องอย่างนั้น เพราะโสดาบัน เห็นไหม ดูสิไม่ลูบคลำในศีล ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่นับถือนอกรัตนตรัย พระโสดาบันถือนอกรัตนตรัยไม่ได้

นอกรัตนตรัยคืออะไร คือพระธรรม! พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยคือพระธรรม พระโสดาบันจะไม่ถือนอกจากสัจธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะไม่แหวกออกนอกสัจจะเลย ฉะนั้น นี่ไงจิตใจอย่างนี้ถึงเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม

“เราจะเริ่มต้นนับว่าเมื่อไหร่จะเป็นธรรม”

เป็นธรรมต่อเมื่อเขาภาวนาเป็น ถ้าเป็นภาวนาเป็น เห็นไหม พฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกนี่เป็นธรรมไหม? พฤติกรรมลูบหน้าปะจมูก วงกรรมฐานมีหลายรูปแบบ ไม่แอบแทงกันข้างหลัง ไม่อยู่เบื้องหลังผ้าเหลือง.. ผ้าเหลืองนี้เป็นธงชัยศาสนานะ เป็นธงชัย! คำว่าธง เห็นไหม ทหารเวลาออกรบมันมีธงชัยเฉลิมพลนะ แล้วทหาร ถ้าวางนโยบายไม่ดี ออกรบไม่ดี ธงก็เป็นธง ทหารตายหมด ธงชัยเฉลิมพลนะ

นี่ก็เหมือนกัน ธงชัยพระอรหันต์นะ เราห่มผ้ากาสาวพัสตร์นี่เป็นธงชัยพระอรหันต์ เห็นไหม ไม่แอบอยู่หลังผ้าเหลือง แล้วผ้าเหลืองมันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ นี่หลวงตาพูดอยู่ ประชาชนเขาไม่กล้าติไม่กล้าเตียนนะ เพราะเขาเคารพผ้าเหลือง เขาเคารพสิ่งนั้น ไอ้พระก็เลยหน้าด้าน! ทำตามแต่ความพอใจของตัว นี่มันหน้าด้านเพราะเป็นพระไง

นี่ไง “ไม่แอบอยู่หลังผ้าเหลือง ไม่แอบแทงข้างหลัง ธรรมต้องเป็นธรรมจริงๆ”

นี่ไง เพราะเขาบอกว่า “แล้วเมื่อไหร่จะเป็นธรรม”

ถ้าเป็นธรรมมันต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็เป็นความจริงใช่ไหม แล้วดูสิ.. ไม่อยากจะพูดนะ ตอนเราปฏิบัติ แล้วมันคลุกคลีกับพระเยอะ แล้วมันฝังใจ มันพูดกับตัวเองนะ “มึง! ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมเท่านั้น” เพราะมันทนไม่ไหวกับมารยาสาไถย ถ้าใครมีมารยานะ เราเก็บของออก เก็บของออก มาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ มาอยู่กับหลวงตา ถ้าเราสัมผัสว่าองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เราจะอยู่กับองค์นั้น ถ้าไม่อยู่กับองค์นั้น เราก็เข้าป่าอยู่ของเราเอง

เราเข้าไปอยู่กับพวกมารยาสาไถยนี่ เราเป็นอย่างนี้มา โดนอย่างนี้มาเยอะ เราสัมผัสมาแล้วเรารับไม่ได้ เพราะว่ามันหน้าไหว้หลังหลอก แล้วธรรมวินัยมันไม่หลอก แล้วมึงทำหน้าไหว้หลังหลอก นี่เหมือนนักการเมืองคุยกับเรา เราต้องยอมรับความดีของนักการเมืองนะ แล้วนักการเมืองก็คุยกับเราอย่างนั้นน่ะ แล้วเรายอมรับได้ไหม?

แล้วไปคุยกับพระก็เป็นอย่างนั้น เหมือนนักการเมือง พูดจะเอาแต่ดี แล้วเราต้องบอก “ครับ ดีครับ” ทนไหวไหม? เราทนไหวไหม? ถ้าเราทนไม่ไหว เราก็ต้องเก็บของออกไป เราต้องเก็บของออกไป แล้วมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะนะโอ้โฮ.. ดุเดือดเลือดพล่านเลย เขาบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แต่เราบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะไม่มีมารยา หลวงปู่เจี๊ยะตรงไปตรงมา สะอาดบริสุทธิ์ อยู่แล้วสบายใจ

แล้วอย่างเรานี่นะ เราโดนด่านะ หลวงปู่เจี๊ยะนี่ด่า ท่านกำลังกายบริหารอยู่ เหยียบนมสาวอยู่ เพราะมีคนไปฟ้อง พอเราเดินผ่าน ท่านก็เรียกเลย

“หงบมานี่”

เราเข้าไปนั่งนะ ท่านก็ด่าใหญ่เลย เราก็นั่งฟัง ฟังอยู่นั่นน่ะ เพราะเราไม่ได้ทำผิด พอด่าจนบอกว่า

“หงบเอ็งไปเถอะ กูเหนื่อยแล้ว กูด่าจนเหนื่อยเลย กูด่าเต็มที่เลย”

เราก็นั่งฟังท่านด่า ด่าไปสิ ด่าไป สุดท้ายแล้วท่านก็รู้ทีหลัง เห็นไหม พอท่านรู้ทีหลัง ท่านให้เณรมาบอก

“หงบเอ้ย หงบมันต้องให้อภัยเรา เราไม่รู้”

พอท่านรู้ ท่านให้เณรมาบอกว่าไอ้ที่ด่าไปมันด่าผิดตัว ให้เณรมาหา เณรมาบอกเลยบอกให้ไปบอกไอ้หงบมัน บอกว่าเราขออภัย ด่าผิดตัวๆ

นั่งให้ด่า ด่าจนเหนื่อยเลย ก็จะนั่งให้ด่าต่อไง ท่านบอกว่า

“เอ็งไปซะ หงบเอ็งไปซะกูเหนื่อยแล้ว กูไม่มีอะไรจะด่ามึงแล้ว ด่าจนหมดพุงแล้ว”

แล้วเราก็ออกมา แล้วพอไม่กี่วันท่านก็รู้ พอรู้ขึ้นมาท่านก็ให้เณรมาบอก นี่ไง ถ้าคนมีธรรมมันไม่มีมารยา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ตรงไปตรงมา ถึงกิริยาอย่างไรมันก็เป็นกิริยาอย่างนั้น แต่ไอ้ที่มารยาสาไถยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

นี่พูดถึงว่า “เราจะเริ่มต้นนับว่าจิตเป็นธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่”

จิตเป็นธรรมก็คือเป็นธรรม แล้วถ้าเป็นธรรมแล้วสาธุ.. เป็นธรรมนี่เกิดจากอริยสัจ เหนือโลก พอเหนือโลกนะมันจะไม่มีความผิดพลาดให้เราได้เห็นหรอก พระโสดาบันนะยังมีความผิดพลาดได้อยู่ อย่างเช่นนางวิสาขามีลูกตั้ง ๒๐ คน เห็นไหม

ความผิดพลาดนี้ มันผิดพลาดเพราะกิเลสที่มันละเอียดกว่า เรารู้ทันมันไม่ได้หรอก แต่ในเรื่องอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่มันชัดเจน มันชัดเจนว่าเราจะไม่บ่ายเบี่ยง ไม่ออกนอกแนวทางนี้เด็ดขาด แต่ในเมื่อกามราคะ สิ่งต่างๆ เรายังละไม่ได้ อันนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลนะ ส่วนตัวไง เรื่องส่วนตัวที่ไม่ผิด ไม่ทำลายคนอื่น ไม่ผิดพลาด ไม่ผิดพลาด พอเป็นสกิทาคามีแล้วก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นอนาคามีแล้วนะ อนาคามีนี่อยู่โดยที่ว่าเรื่องนี้ไม่มีแล้ว แต่ก็ยังติดตัวเองอยู่ ถึงที่สุดแล้ว นี่ไง ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

แล้วเขาถามว่า “แล้วเมื่อไหร่เป็นธรรม”

คำนี้เราอยากตอบ เราอยากตอบเพราะมันมีคนถามบ่อย “เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม” นี่คนถามถึงเรื่องนี้เยอะมาก เราบอกว่า “ไม่มีทางที่เอ็งจะรู้ได้หรอก” เพราะเวลาพูดธรรมะมา พวกเอ็งก็หูผึ่ง “อู๋ย.. ธรรมะพระพุทธเจ้า โอ๋ย.. ดีมากเลย” มันเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า มึงอย่าเผลอนะ ดีมากนี่ข้างหลังกูดาบ ๒ เล่ม มึงเผลอกูทิ่มทันทีเลยล่ะ

ดีมากมันต้องดูพฤติกรรม ดูเบื้องหลัง แล้วพูดถึงดี นี่เพราะเราไม่รู้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นพระปฏิบัตินะ ถ้าเขาแสดงธรรมปั๊บ ถามเลยว่า “พิจารณากายอย่างไร” ถ้าตอบผิด จบ คือตอกไข่ไม่เป็น ตอกไข่ใส่ถังขยะ จบ

มึงจะตอกไข่ใส่กระทะอย่างไร? แล้วพอไข่ลงกระทะแล้วมึงจะพลิกอย่างไร? มึงจะทำอย่างไรให้ไข่มันสุก? ถามปั๊บ ถ้าตอบไม่ได้นะ จบ! ถ้ามึงตอกไข่ใส่ถังขยะ แล้วบอกเป็นธรรมดาให้เทศบาลมาเก็บไป เออ.. มึงไม่ได้กินไข่หรอก ฉะนั้น ธรรมะมึงไม่มี ไม่มีเด็ดขาด

ฉะนั้น “ถ้าตอนเป็นฆราวาส เขาทำความผิดพลาดในชีวิตบ้าง พอมาเป็นพระนี้ เขากับเราจะนับว่าจิตเป็นธรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ เอาอะไรไปวัดครับ”

นี่พูดถึงเอาอะไรวัด วัดอย่างนี้ไง วัดอย่างที่เราอธิบายแล้ว

“แล้วถ้าอดีต มันจะมีผลตามมาตอนที่เป็นพระด้วยหรือเปล่าครับ”

อดีตนี่มันมีตามมา อย่างเช่นหลวงปู่ลี วัดอโศฯ วัดอโศการามนะอยู่ชายทะเล แล้วหลวงปู่ลีท่านไปนั่งที่ชายทะเล ยุงทะเลมานี่ลูกขนาดไหน ท่านนั่งนะให้ยุ่งกัด เราทนไหวไหม? ท่านบอกว่าท่านใช้กรรมไง ท่านบอกว่าท่านหลับตานะ ยุงทะเลมาเป็นลูกๆ เลยแล้วกัดท่าน ท่านนั่งเฉย จนท่านออกจากสมาธิมานะ ท่านมองมาที่จีวร เลือดแดงไปหมดเลย เราทนไหวไหม?

นี่พูดถึงเวลาบอกว่า ถ้าเราทำอะไรไม่ดีไว้ เวลาเป็นพระมันจะมีผลไหม.. มี การปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยาก อย่างเช่นพาหิยะที่เขาคุยกันอยู่นี้ ว่าฟังเทศน์พระพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ๆ เบื้องหลังนี่สละชีวิตมาหลายชาติ นี่ไง สิ่งที่ทำมามันจะให้ผลอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาคนเรามีบุญมีกรรม เห็นไหม เวลากรรมมา ดูอย่างพระโมคคัลลานะสิ พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์ด้วย เหาะหนีถึง ๓ หน เหาะหนี ๒ หน หนที่ ๓ เชื่อกรรม ถึงจะเป็นพระอรหันต์นั่นแหละให้เขาทุบจนตายเลย

นี่ไง ถ้ามันให้ผล มันให้ผลแบบนั้น ให้ผลว่าภาวนายาก ภาวนาง่าย ให้ผลว่าเราจะรวนเรไหม ให้ผลว่าเราจะมั่นคงไหม ถ้าให้ผลนะ นี่คือมันให้ผลในเรื่องของกรรม แต่ในการปฏิบัติของเรา มันจะให้ผลขนาดไหนใช่ไหม เราก็ต้องพยายามของเรา เพราะเป็นปัจจุบันนี้ไง

อย่างเช่นเรานี่ เราปฏิเสธเรื่องที่ผ่านมาแล้วไม่ได้ สิ่งที่ผ่านมาแล้วเรายอมรับ สิ่งที่ผ่านมาแล้ว มันจะให้ผลกับเรานี่เรายอมรับ แล้วปัจจุบันนี้ล่ะ ปัจจุบันนี้เราจะหักด่านกิเลสไป เราจะเข้มแข็งไหม ถ้าเราเข้มแข็งปั๊บ แล้วนี่เวลานักปฏิบัติคุยกัน เห็นไหม ทำไมคนนั้นทำได้ คนนี้ทำได้ แล้วก็จะไปก็อบปี้เขามา กรรมมันคนละอันกันนะ นิสัยก็ไม่เหมือนกัน เหมือนกับเรากินอาหาร นี่อาหารก็คนละรสชาติกับเรา มันพื้นถิ่นต่างกัน เขากินอาหารอย่างนั้น เราเห็นเขากินอร่อยก็อยากจะกินบ้าง ไปกินเข้าแล้วไม่เห็นอร่อยเลย

นี่ก็เหมือนกัน เห็นเขาปฏิบัติง่ายๆ เราไปปฏิบัติไม่ได้หรอก ปฏิบัติตามเรานี่แหละ ปฏิบัติสิ่งที่ว่ามันฟุ้งซ่านนี่แหละ ปฏิบัติตามหัวใจเรานี่แหละ แล้วควบคุมใจเรานี่แหละ แล้วทำให้มันเป็นจริงขึ้นมานี่แหละ นี่ที่ว่าเป็นกรรมๆ ฉะนั้น คำว่าเป็นกรรม พวกเรานี่นะชอบก็อบปี้กัน เห็นใครง่ายล่ะเอาแล้ว อะไรง่าย ชอบคุยกันไง “ป่ะ ทางลัดกัน ไปทางลัดกัน” มันจะพากันไปทางลัด ลัดไปไหน ลัดไปนั่งหลับ ลัดไปสัปหงก

เขาทำก็เรื่องของเขา เราพิสูจน์ตรวจสอบก่อน เราปฏิบัติมานะ อย่างเช่นที่ว่าหลวงปู่หลุย เช่นหลวงปู่ชอบ เวลาท่านทำอะไรนี่ เราศึกษาแล้วเราทดสอบนะ เรามาทดสอบ จะทำอะไรนี่ สิ่งที่เราพูดส่วนใหญ่เราทดสอบแล้ว เราได้ทำแล้ว เราได้มาทดสอบว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า ที่เราพูดว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น! ต้องเป็นอย่างนั้น!” เพราะเราทดสอบแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น การทดสอบนี่มันต้องทดสอบ ถ้าไม่ทดสอบ ปัญญาเราไม่มีหรอก เราไม่ทดสอบ เราไม่รู้หรอกว่าการทำอย่างนั้นมันมีผลอย่างไร มีผลอย่างไร ทีนี้พอมีผลอย่างไร มันมีผลเพราะเราทำจริงไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “สิ่งที่ทำมาแล้ว มันจะมีผลกับเราไหม แล้วการฝึกต่างๆ การฝึกฝนอบรมตนตามหลักธรรมข้อวัตร แบบนี้ถือว่าใช้ได้หรือไม่ครับ หรือว่าถ้าอดีตไม่ดี ก็จะไม่สามารถเป็นคนดีได้เลย”

ไม่ใช่ อดีตจะไม่ดีอย่างไรก็แล้วแต่ จะดีหรือไม่ดี เราเป็นคนดีได้ในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าบอก เห็นไหม สมัยพระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมอยู่นี่ พวกพราหมณ์มีเยอะมาก เวลาเขาไหว้ทิศกัน พระพุทธเจ้าก็พยายามพลิกเขาจากที่เขาเห็นผิด ในพุทธศาสนาก็กราบทิศเหมือนกัน แล้วกราบอย่างไรล่ะ อ๋อ.. กราบครูบาอาจารย์อยู่บนศีรษะ กราบพ่อแม่ มีเพื่อน หมู่คณะ สมัยมีทาส บ่าวทาสอยู่ฝ่าเท้า บริหารให้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งหมด

นี่การกราบทิศของพุทธศาสนา เขากราบทิศอยู่นะ เขากราบของเขาทุกวัน เช้าก็กราบทิศ พระพุทธเจ้าก็บอก พระพุทธศาสนาก็กราบทิศเหมือนกัน แต่ไม่ได้กราบแบบนั้น กราบอีกแบบหนึ่ง เราจะบอกว่า อดีตเขาคิดอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าก็ยังพลิกมา แล้วพอพระพุทธเจ้าบอกด้วย เวลาพระพุทธเจ้าบอกว่า

“คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิด ไม่ใช่ดีเพราะสิ่งที่เป็นอดีตมา ดีที่ปัจจุบัน ดีที่การกระทำ”

ฉะนั้น สามารถเป็นคนดีได้ เพียงแต่ว่าถ้าอดีตเราทำกรรมไว้หนักหนา การปฏิบัติของเรามันก็ต้องถูลู่ถูกังกันเต็มที่ ขิปปาภิญญาที่เขาปฏิบัติได้ง่าย เพราะเขาทำมาดี พอทำมาดีเขาก็ส่งมาดี พอส่งมาดีเขาก็ปฏิบัติง่าย แล้วต้นทุนไม่เหมือนกัน ต้นทุนเราไม่มี ต้นทุนเขาเงินเต็มเลย เงินเขาเยอะเขาก็สะดวกของเขา ไอ้ต้นทุนเรามานี่แดงมาเลยนะ กูยังต้องใช้หนี้อยู่ด้วย แล้วก็จะเอาเหมือนเขา มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น อดีตมีผลไหม? มีผลกับเรื่องเวรเรื่องกรรม แต่เรื่องการปฏิบัติ ปัจจุบันนี้มันเป็นไปได้หมด นี่ข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อ ๒. แล้วกรณีมาเป็นพระแล้วยังทำไม่ดี จากที่อดีตเป็นคนดี ยิ่งแย่กว่าตอนเป็นชาวบ้านอีก ชอบตี ๒ หน้า ทำเป็นคน ๒ บุคลิก

หลวงพ่อ : อันนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันทนกับกิเลสตัวเองไม่ไหว ถ้าทนกับกิเลสตัวเองได้ เห็นไหม ในการปฏิบัตินะครูบาอาจารย์เราเน้นย้ำตลอด ถ้าเรามั่นคง ปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี

ฉะนั้น ถ้าตี ๒ หน้า ๒ บุคลิกนี่เราหลอกตัวเองไหม ถ้าเราหลอกอย่างนี้ปั๊บ มันจะเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม การปฏิบัติของเรา ถ้าเราซื่อสัตย์กับเรานะ แล้วเราทำเสมอต้นเสมอปลาย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี อย่างน้อยเลยนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราจะเอาเหตุเอาผลกัน เราทนกิเลสเราไม่ไหว เพราะคำว่า ๒ หน้ามันก็หลอกตัวเองอยู่แล้ว ๒ บุคลิกเราก็หลอกตัวเองอยู่แล้ว หน้าฉากก็ว่าอย่างหนึ่ง หลังฉากก็ทำอีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้มันก็เท่ากับหลอกตัวเอง

นี่เราฟังของหลวงปู่หล้ามา หลวงปู่หล้าท่านบอกว่า “เราตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดรุ่ง แล้วเราทำไม่ได้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์” ท่านพูดนะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เราก็งงเลย อาบัติปาจิตตีย์มันไม่มีหรอก แต่ท่านพูดนี่เป็นธรรมไง

อาบัติปาจิตตีย์คือหลอกตัวเอง ตัวเองได้ตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดรุ่ง หมายถึงว่าตัวเองพูดแล้วไม่ทำตาม เหมือนโกหก เหมือนพูดปดไง ถ้าพูดปดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พระนี่ถ้าโกหกเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พูดปดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้น เราก็ตั้งใจใช่ไหม ตั้งใจว่านั่ง ๕ ชั่วโมง แล้วนั่งได้ ๒ ชั่วโมง เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะสู้ตัวเองไม่ได้ โกหกตัวเอง

เรามานั่งฟัง เออ.. ถูกของหลวงปู่หล้า ท่านพูดอย่างนี้นะ ว่าตั้งใจแล้วไม่ทำเป็นอาบัติปาจิตตีย์ โยมยังไม่เป็นนะ เป็นแต่พระ เป็นแต่พระ เดี๋ยวโยมว่าตั้งใจแล้วไม่ได้ทำนี่ ปาจิตตีย์วันหนึ่งร้อยกว่าตัว นี้พูดถึงพระไง ตั้งใจแล้วไม่ทำ เป็นอาบัติปาจิตตีย์.. นี่ท่านพูดอย่างนี้นะ แล้วพอเป็นมหายาน เราไปดูมหายานนะ เราศึกษามาทั่ว มหายานบอกว่า “ปาราชิก ๕”

ปาราชิก ๔ นี่เรามีอยู่แล้ว ปาราชิก ๕ คือการฆ่าเวลาให้เสียเปล่า กาลเวลาที่มันผ่านไป นั่นคือเป็นปาราชิกเลยนะ เพราะเป็นการฆ่าเวลาให้เสียเปล่า โอ้โฮ.. อันนี้มันเป็นอาจริยวาท คือการเชื่อตามๆ กันมา

เดี๋ยวจะหาว่ากล่าวตู่อีก ไม่ได้กล่าวตู่ นี่เป็นคำสอนของมหายาน เราบอกแล้วว่าเป็นมหายาน มหายานเขาเรียก “อาจริยวาท” อาจารย์ว่าอย่างไร ลูกศิษย์ก็เชื่อตามอาจารย์ไปเรื่อย อาจารย์เป็นผู้นำ แล้วอาจารย์เป็นผู้บัญญัติ นี่คือมหายาน ฉะนั้นมหายานทำสิ่งใด ถ้าอาจารย์ที่ดี เขาก็ทำแล้วได้ประโยชน์ของเขา ถ้าอาจารย์ของเขา ภูมิปัญญามันด้อย ถ้าเราตามไปเราก็เสียหาย

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ปาราชิก ๕” การฆ่าเวลาให้เสียเปล่า ถือว่าเป็นปาราชิก แต่ถ้าในมุมวิกฤติ ในมุมอุกฤษฏ์ในการปฏิบัติ ถ้าเราเอาอย่างนั้นมากระตุ้นตัวเราเอง เราก็ว่ามันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ว่า ถ้าเราทำเวลาให้ล่วงไปโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์ นี่ปาราชิกนะ ปาราชิก เราก็ต้องขวนขวาย ไม่ได้เดี๋ยวปาราชิก ต้องเอาเต็มที่ไง

นี่พูดถึง ถ้าเรามีสัจจะ เราทำสิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ทีนี้คำว่า ๒ บุคลิก เห็นไหม ถ้าตอนเป็นพระมาดี.. นี่เราถึงบอกว่าถ้าเป็นพระมาดี โยมหรือพระก็มีกิเลสทั้งนั้น เพราะเกิดมาในวัฏฏะ มันมีกิเลสอวิชชาพาให้เกิด ทีนี้พอกิเลสมันอยู่กับเราใช่ไหม อย่างเช่นเรานี่ เราไม่มีศักยภาพอะไรเลย กิเลสของเรามันก็เผาเราอยู่คนเดียวเท่านั้นแหละ แต่ถ้าวันไหนเราบวชพระขึ้นมา แล้วเรามีครูบาอาจารย์ด้วย เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ขึ้นมา เห็นไหม กิเลสของเรามันขี่เสือแล้ว มันขี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว โอ๋ย.. กิเลสมันจะบิน

ถ้ากิเลสมันบินนะ นี่ไง “ถ้ามาเป็นพระแล้วยังทำไม่ดี จากที่อดีตเป็นคนดี แต่แย่ยิ่งกว่าชาวบ้านอีก ชอบตี ๒ หน้า”

พอกิเลสมันได้ขี่เสือ โอ้โฮ.. กิเลสติดปีก พอกิเลสติดปีก มันเป็นกรรมของคนๆ นั้นนะ ถ้าพูดถึงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับครูบาอาจารย์สมัยโบราณ ส่วนใหญ่แล้ว พระเขาจะบอกว่าให้กรรมมันให้ผล ให้กรรมมันสนองผู้ที่ทำผิดนั้นเอง ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์เราท่านจะบอกว่า กรรมมันจะสนองมันเอง ฉะนั้น อันนี้อันหนึ่ง

แต่! แต่เวลาเราอยู่กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่อยู่กับหลวงปู่มั่น เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ศึกษามาตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น เห็นไหม กรรมฐานนี่เขาจะถึงกัน กรรมฐานนี่ ถ้าใครมีปัญหาเขาจะแก้ไขกัน เขาจะคอยดูแลกัน คอยดูแลกันจนมันมั่นคงขึ้นมา แล้วที่หลวงปู่ฝั้นบอก ที่ว่าคารวะ ๖ เขาบอกไม่ใช่ เป็นอปริหานิยธรรม ๗ อะไรที่เขาว่านั่นน่ะนั่นแหละ การหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ มันมีอะไรมันจะแก้ไขกัน คือมันเหมือนกับว่าเพื่อนตายไง คือจะบอกกัน จะชี้นำกัน จะชักนำกัน เพื่อนตาย มันเป็นเพื่อนตาย เป็นเพื่อนแท้ ไม่ใช่มิตรเทียม ฉะนั้น กรณีอย่างนั้นมันถึงจะมั่นคงมา

ทีนี้พอมั่นคงมา หลวงตาท่านบอกว่า “ครอบครัวกรรมฐาน” ครอบครัวกรรมฐานเป็นครอบครัวใหญ่ ทีนี้ครอบครัวใหญ่ ความผิดถูกในครอบครัวนี่มันรู้กันอยู่แล้วแหละ ฉะนั้น สิ่งที่เราอยู่วงนอก เราเข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้หรอก ยิ่งในการประพฤติปฏิบัติด้วย

“การกระทำแบบนี้ เป็นสิ่งที่พระปฏิบัติต้องปฏิบัติตามประเพณี เพราะถือว่าเป็นการเสแสร้ง เป็นการเอาใจ ความจริงแล้วพระต้องมีหนึ่งหน้าใช่ไหม” นี่เขาว่านะ..

ถ้าหนึ่งหน้าก็คือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลมันเป็นทุศีล สมาธิมันก็เป็นมิจฉา ยิ่งปัญญาก็เป็นปัญญาหลอกลวงตน แต่ถ้ามีหน้าเดียว มีสัจจะ มีความจริง เห็นไหม เวลาจิตมันสงบ ถ้าเรามีศีลนี่นะ ศีลนี้เป็นพื้นฐาน ถ้ามีศีล เวลาเป็นสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ แล้วเกิดปัญญาขึ้นมาตามขั้นตอนของมัน

แต่ถ้าเป็นมิจฉา เห็นไหม มิจฉานะไม่มีศีล ทำสมาธิได้ไหม.. ได้ เพราะอะไร พวกทำคุณไสยมนต์ดำ เขาใช้ของเขา ทำเพื่ออาชีพของเขา มันก็ต้องมีสมาธิเหมือนกัน แต่มันมีหลายหน้าไง มันเลยเพื่อประโยชน์กับเขา แต่ถ้าเรามีหน้าเดียวนะเราจะเป็นประโยชน์กับเรา ตั้งใจทำเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันก็จะเป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น สุดท้ายนะ สุดท้ายเขาชมมามาก แล้วว่าขอให้หลวงพ่อเป็นอะไร.. คนเรานี่ จะพูดว่าอย่างมากก็อายุ ๑๐๐ ปี จะเป็นหลักชัยให้ใครมันก็แค่ ๑๐๐ ปี ความสำคัญ มันต้องเป็นหลักชัยให้ใจของตัวเองก่อนไง ถ้าใจของตัวเองเป็นความจริงนะ นี่ถ้าเป็นหลักจริงในหัวใจของตัวนะ มันจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าหัวใจของตัวยังไม่เป็นหลัก คำพูดนี่ เราไปเจอพระนะ เวลาเขาพูดผิด เวลาเราแย้งไปเขาสะดุ้งเลยนะ แล้วรีบพลิกเลย.. เจอบ่อย

แต่ถ้าเรามีหลักของเรานะ เราอยากรู้ว่าใครจะชี้ว่าสงบพูดผิดบ้าง อยากรู้นัก เราอยากรู้ว่า ใครจะชี้ว่าสงบพูดผิด แล้วเราอยากพูดกับคนนั้นว่ามันผิดตรงไหน คือว่ามันไม่สะดุ้งไง ไอ้เรื่องจะให้เราสะดุ้งนะว่าไอ้หงบพูดผิด พูดผิด ไม่มีทางหรอก เราอยากจะรู้ว่าใครจะชี้ แต่เราไปเจอมา พอเราแอะหน่อยเดียวเท่านั้นแหละ สะดุ้งตายเลย ไม่ได้พูดนะ ไม่ได้พูด บิดไปบิดมาทันทีเลย เพราะอะไร เพราะเขาไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง เขาไม่มีหลักในหัวใจของตัวเอง ถ้าเขามีหลักในหัวใจของตัวเองนะ ใครจะชี้ผิดล่ะ?

ในธรรมที่เราพูดออกไป มันมีอยู่กรณีเดียวที่คนไม่เข้าใจ

๑. พื้นฐาน การวางพื้นฐานของตัว

๒. เริ่มต้นกระบวนการของการก้าวเดิน

๓. แล้วพอก้าวเดินแล้ว ก้าวเดินให้มันสูงขึ้น “มรรคหยาบ มรรคละเอียดไง”

นี่คนไม่เข้าใจ เพราะคำพูด เห็นไหม คำพูดสมมุติคือสมมุติ พอสมมุติว่าพูดคำไหน มันก็เหมือนคำนั้นใช่ไหม แต่! แต่ความจริง เวลาเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เราเข้าไปในชั้นแรก เราใช้เงินอย่างนี้ เวลาเข้าชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ ล่ะ เราก็ใช้เงินเหมือนกัน แต่มันคนละชั้น

ทีนี้พอคนละชั้น คนละสถานที่ ถ้าคนเข้าใจไม่ได้ เขาจะบอกเลยว่านี่พูดผิดแล้ว มันไม่เหมือนกัน มันไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้าเป็นธรรมอย่างหยาบ เป็นธรรมอย่างละเอียด ถ้าคนเข้าใจได้นะมันจะมีความเข้าใจสิ่งนี้ได้ ถ้าคนเข้าใจไม่ได้ก็คือเข้าใจไม่ได้ เข้าใจไม่ได้นะเพราะอะไร

มันก็เหมือนวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เราบอกสูตรสำเร็จวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์พูดนี่เป็นทฤษฎีต้องตายตัวเลย ทีนี้วิทยาศาสตร์มันเป็นโลกไง แต่กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันปลิ้นปล้อนได้

ฉะนั้น บอกว่าสิ่งที่ศึกษามาทางวิชาการนี่คือวิทยาศาสตร์ คือโลก วิทยาศาสตร์ฆ่ากิเลสไม่ได้! เพียงแต่วิทยาศาสตร์เป็นการให้ธรรมะแสดงออกด้วยความชัดเจน แต่วิทยาศาสตร์ฆ่ากิเลสไม่ได้ ถ้าฆ่ากิเลสได้มันต้องเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม มันถึงเหนือไง เหนือวิทยาศาสตร์ เหนือหลักการทั้งหมด หลักการคือหลักการชี้เข้ามาที่ใจเท่านั้นเอง

ฉะนั้น ความถูกต้องของเขา นี่คือความเห็นของเขานะ ขออ่านอีกทีหนึ่ง

“ผมอ่านธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์เรื่อง “หมาของหลวงตา” แล้วทำให้ผมรู้และพิจารณาอะไรได้มากมายในวงกรรมฐาน ทำให้ผมอนุมานได้ว่า วงกรรมฐานมีหลายรูปแบบ แต่ผมชอบที่หลวงพ่อออกมาชี้แจงตรงไปตรงมา ไม่แอบอยู่หลังผ้าเหลือง แอบแทงข้างหลังเหมือนบางองค์ ชอบตรงนี้จริงๆ ครับ ธรรมเป็นธรรมจริงๆ หาฟังแบบนี้ที่ไหนไม่มีครับ ส่วนมากพระประจบโยมหมดเลย เอาใจ พูดเพราะ ผมไม่ชอบเลย” เอวัง