เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันจะเข้าวันวิสาขบูชา เห็นไหม เขาว่าสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา แล้วว่าเราเป็นชาวพุทธไง เวลาฝรั่งเขาบอก “เราเหมือนกบเฝ้ากอบัว มดแดงเฝ้ามะม่วง” ในพระพุทธศาสนา ทำไมต้องไปส่งเสริมล่ะ? สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา แสดงว่าไม่สนใจศาสนาเลยหรือ?

แต่พวกเรานี่สนใจในศาสนานะ ถ้าเราสนใจในศาสนา เห็นไหม ว่าเราเป็นชาวพุทธๆ พุทธศาสนา จะมีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจของเรา เราอาศัยบุญกุศลเป็นที่พึ่งอาศัย.. ร่างกายเรา การดำรงชีวิตเรา เราอาศัยบ้านเรือนเป็นที่อาศัย แต่ถ้าหัวใจมีพุทธศาสนาเป็นที่อาศัย มันไม่เดือดร้อนนะ

คนเราส่วนมากจะพูดว่า “เราเป็นคนดีแล้ว เรามีหน้าที่การงานสมบูรณ์แล้ว เราเป็นคนดีแล้วไง” แต่ถ้ามีความทุกข์ขึ้นมา หัวใจนี้มันไม่มีพึ่งเลย เหมือนลูกนี่ ดูสิอาศัยพ่อแม่เป็นที่พึ่ง ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกให้โตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันมีพุทธศาสนา มันเป็นจิตใจผู้เสียสละ จิตใจที่เป็นสาธารณะ เห็นไหม เราเห็นนะ เราเห็นคนที่อ่อนด้อย คนที่เขาไม่เข้าใจในศาสนา เห็นแล้วน่าสงสาร แต่ในมุมกลับนะ เขาเองเขามีทิฐิมานะ เขาบอกว่าเขาเป็นคนองอาจกล้าหาญ แต่เขาใช้ชีวิตของเขาสมบุกสมบัน

นี่ความเห็นของเขา เขาภูมิใจในตัวเขา แต่เราเป็นผู้ที่มีหูมีตา เรามองแล้วเราสังเวชไหม เราสังเวชถึงความรู้สึกนึกคิดของเขานะ เขามีความรู้สึกนึกคิดของเขา เขามีความแข็งกระด้างของเขา เขามีความองอาจกล้าหาญในทางที่ผิดมานะ แต่ถ้าเรามีพุทธศาสนาในหัวใจของเรา เห็นไหม เราสังเวชเขา แต่เราจะบอกเขาได้อย่างไร?

เราจะบอกเขาได้ด้วยการดำรงชีวิตของเรา เราก็อยู่ในร่องในรอยของเรา เราอยู่ในผลบุญของเรา เพื่อ! เพื่อให้ชีวิตของเรา หัวใจนี้มันรู้นะ เราทำดีทำชั่วหัวใจมันรู้ เห็นไหม แต่เวลาเขามีทิฐิมานะของเขา เขาก็ทำของเขา แต่เขาคิดว่านรก สวรรค์ไม่มี ทุกอย่างไม่มี นรกนี้เขียนเสือให้วัวกลัว ขู่กันเท่านั้น

แต่ในทางเป็นธรรมของเรา กฎหมายเอาไว้ใช้กับใครล่ะ กฎหมายเอาไว้ใช้กับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย กฎหมายบังคับผู้ที่ถูกกฎหมาย แต่กฎหมายมีอยู่แล้ว เขากลัวกฎหมายไหม เขาก็ไม่กลัวกฎหมาย กฎหมายมีขนาดไหนนะ คนก็ยังทำแต่ทิฐิมานะในหัวใจของตัว

แต่ถ้าในหัวใจเรามีศาสนานะ มันมีความละอาย เห็นไหม ศีลธรรม จริยธรรม ทำให้คนเป็นคนดี มันยิ่งกว่าศาสนานะ เรามีความละอายต่อบาป เรามีหิริโอตตัปปะ นี่หัวใจเรารักษาของเราเอง ศาสนาทำให้เรามีคุณประโยชน์อย่างนี้ ทำให้หัวใจเราพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าหัวใจมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เวลามีคนบุญตายนะ ปุยนุ่นมันจะลอยสู่พื้นที่สูง เวลาคนบาปตายนะ กรวด ก้อนหิน สิ่งที่เป็นวัตถุมันหนักหน่วง มันกดทับจิตใจ

เวลาว่านรก สวรรค์ไม่มี เขาว่าของเขาว่าไม่มี แต่เวลาจิตนี้ออกจากร่างไป ถ้าจิตมันมีบุญกุศลของมัน ดูสิเวลาเรามีความสุขของเรา เรามีความปลอดโปร่งของเรา หัวใจเรามีแต่ความสุข หัวใจเราสบายไหม ถ้าเวลาหัวใจมันมีความทุกข์ความยากขึ้นมา มันกดถ่วงหัวใจเรา หัวใจเราลำบากไหม นี่มันมีคุณค่าอย่างนั้นนะ

พุทธศาสนา ส่งเสริมพุทธศาสนา เขาไปส่งเสริมกันที่ไหน สัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา แล้วก็ส่งเสริมกัน ตั้งเต็นท์กัน พยายามจะบอกว่ามาวิเคราะห์ศาสนา เพราะศาสนานี้มีคุณประโยชน์ขนาดไหน ศาสนามีคุณประโยชน์ขนาดไหน วิเคราะห์เสร็จแล้วก็ต่างคนต่างกลับบ้านไป แล้วว่าเข้าใจในพุทธศาสนา แต่เรานี่จะมาส่งเสริมพุทธศาสนา

“พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน.. ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

นี่เราพยายามส่งเสริมหัวใจของเราไง เห็นไหม เวลาเราส่งเสริมหัวใจของเรา เราต้องการความสงัดใช่ไหม เวลาพระธุดงค์ออกธุดงค์นะ ครูบาอาจารย์บอกว่า “ไปแบบนอแรด” ไปแบบนอแรดมันมีเขาเดียว ถ้าไปแบบนอแรด พอเราเข้าไปนี่เราเผชิญทุกๆ อย่าง ถ้าเราเผชิญทุกอย่าง มันจะเติบโตขึ้นมาได้ไหม เราเป็นเด็กเป็นเล็ก เราต้องมีพี่เลี้ยง เราต้องมีพ่อมีแม่คอยดูแลเรา พอเราโตขึ้นมา เราจะเผชิญภัยของเราด้วยตัวของเราเอง

จิตใจเวลามันออกธุดงค์ เห็นไหม เวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจของเราเหมือนนอแรด มันเป็นตัวของมันเองนะ มันต้องพิสูจน์โดยตัวของมันเอง มันต้องรักษาตัวของมันเอง ถ้ารักษาตัวของมันเอง เราต้องการที่ที่มีความสงบสงัด พอมีความสงบสงัดขึ้นมา นี่โคนไม้ ในเรือนว่าง ในที่ต่างๆ เพื่อเราจะส่งเสริมหัวใจของเรา ถ้านอแรดของเรามันโตขึ้นมา นอแรดมีกำลังของมันขึ้นมา ถ้ามันทำของมันขึ้นมา นี่ศาสนามันเจริญๆ ที่นี่ไง

ศาสนามันเจริญบนหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของสัตว์โลก ถ้ามีศาสนาเจริญในหัวใจของสัตว์โลก เห็นไหม เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ท่านเป็นผู้นำของเรา ครูบาอาจารย์ของเรา เวลามีการศึกษามาขนาดไหน นี่อยากประพฤติปฏิบัติมาก

นี่ก็เหมือนกัน เขาว่าส่งเสริมพุทธศาสนาด้วยการวิเคราะห์ วิจัยศาสนา แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี่ จะปฏิบัติไปในทางใด นี่แล้วส่งเสริมในทางไหนล่ะ?

หลวงตาท่านพูดบ่อย เห็นไหม ธรรมทูตๆ เวลาไปเผยแผ่ธรรม ท่านถามว่า

“เอาอะไรไปเผยแผ่?”

ท่านถามนะ “เอาอะไรไปเผยแผ่” แต่พวกเราภูมิใจนะ พวกเราภูมิใจกันมาก อันนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง โลกๆ เห็นไหม ศีลธรรม จริยธรรม เวลาเผยแผ่ไปแล้ว ก็ไปเผยแผ่ประเพณีวัฒนธรรม ไปเผยแผ่ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีปีใหม่ก็ไปเผยแผ่ แล้วสัจธรรมล่ะ?

เขาต้องการความสงบนะ หัวใจคนที่เขาทุกข์ นี่ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องดีงาม แต่ในเมื่อมันคนละวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเขา เขาก็ส่งเสริมวัฒนธรรมของเขา วัฒนธรรมของเรา เราก็ไปส่งเสริมวัฒนธรรมของเรา นี่เราไปเผยแผ่วัฒนธรรม แต่สิ่งที่เป็นความสงบสงัดในหัวใจล่ะ เห็นไหม เขาต้องการตรงนี้ พุทธศาสนา แก่นของพุทธศาสนาคืออริยสัจ คือสัจจะความจริง

สัจจะความจริงมันอยู่ที่ไหน สัจจะความจริงมันอยู่ที่หัวใจเท่านั้นแหละ สัจจะความจริง เวลาทุกข์มันก็ทุกข์ที่นี่ เวลามันสุขมันก็สุขที่นี่ แต่ถ้าวิเคราะห์ วิจัยขึ้นไป วิเคราะห์ วิจัยก็ย้อนกลับมาที่นี่ พระไตรปิฎกทั้งหมดย้อนกลับมาที่ใจของสัตว์โลก ครูบาอาจารย์ทั้งหมดย้อนกลับมาที่เรา เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมเพื่ออะไร? เพื่อความอยู่ร่มเย็นเป็นสุขของสังคม ดูสิประเพณีวัฒนธรรม นี่คนมีวัฒนธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำลายกัน เพราะเขามีวัฒนธรรม

นี่ไง เพื่อความเป็นสุข แล้วมีวัฒนธรรมแล้วมันยังว้าเหว่ไหมล่ะ หัวใจมันยังเร่าร้อนไหมล่ะ มีวัฒนธรรม นี่เวลาอยู่คนเดียวนะคอตก ยิ่งเวลาเราเกิดโรค เห็นไหม ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คนมีโรคมีภัยขึ้นมา มันกดดันหัวใจมาก แล้วพอกดดันหัวใจมาก เราจะแก้ไขอย่างไร

นี้โรคของร่างกาย แล้วโรคของจิตใจล่ะ จิตใจมันลังเลสงสัยนะ นี่ตายแล้วจะไปไหน ตายแล้วตายอย่างใด แล้วมันทุกข์ยากอย่างใด แล้วมานี่มาอย่างใด มันก็สงสัยไปหมดเลย ถ้ามันสงสัย ความลังเลสงสัย นิวรณธรรม มันปั่นป่วนไปหมด แค่สงสัยนี่มันทำให้จิตใจนี้ปั่นป่วนไปหมดเลย จับต้นชนปลายไม่ถูก จับนู่นก็กลัวผิด จับนี่ก็กลัวถูก

เราอยากปฏิบัติกัน ผิดมันก็ต้องผิด คนเราถ้าไม่ผิดมันจะถูกมาได้อย่างใด เราก็ตั้งสติของเราสิ เรามาตั้งสติของเรา พุทโธของเรา เราบริกรรมของเรา จิตมันจะดื้อด้านขนาดไหน ถ้าเราเข้มแข็งของเรา มันจะดื้อด้านขนาดไหนเราก็ต้องบังคับมัน เห็นไหม เวลาจิตมันอ่อนโยน มันไม่ดื้อด้าน มันทำอะไรก็ดีไปหมดแหละ แล้วจิตของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวมันก็อ่อนโยน เดี๋ยวมันก็แข็งกระด้าง เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ เราจะทำอย่างไร เราจะบังคับหัวใจของเราได้อย่างไร

นี่ถ้าเราเชื่อมั่นของเรา เห็นไหม เราก็ตั้งสติของเรา เวลามันดีเราก็ดีด้วย เวลาดี สติเราก็ดูแลให้ดี ดูแลหัวใจเราให้ดี เวลามันร้ายขึ้นมานะ คนที่เวลาเขาขาดสติ เขาทำยิ่งกว่าเราอีก แล้วเราขาดสติมา มันเพื่อเหตุใด นี่เราฟื้นสติขึ้นมา ฟื้นขึ้นมาเพื่อยับยั้งมัน ถ้ายับยั้งมันนะ มันจะทำสิ่งใด..ไม่ไป มันจะดิ้นรนขนาดไหน..บังคับมัน บังคับมันด้วยสติของเรา ถ้าสติของเราเริ่มฟื้นตัวมานะ สิ่งที่มันเลวร้ายมันก็ค่อยสงบตัวลง..สงบตัวลง มันสงบตัวลงได้ พายุมันจะรุนแรงขนาดไหน พายุนี้มันก็ต้องสงบตัวลงเมื่อถึงเวลา

นี่ก็เหมือนกัน “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา” เราก็มอง เห็นไหม พายุนั้นเกิดเป็นธรรมดา พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกเป็นธรรมดา แต่เวลาที่มันโง่นี่มันไม่ธรรมดาสิ เวลามันโง่มันยึดอารมณ์ มันไปหมดแล้ว.. แล้วถ้ามันเป็นธรรมดา นี่สิ่งใดเป็นธรรมดาล่ะ

คำว่าธรรมดามันต้องมีปัญญานะ ปัญญามันวิเคราะห์วิจัยแล้ว มันถึงว่าเป็นธรรมดา ธรรมดาเราก็ไม่ติดมันไง ธรรมดาเราก็ไม่ยึดมันไง แต่นี่มันไม่ธรรมดา มันมีอารมณ์ มันมีความรู้สึกรุนแรง มันธรรมดาที่ไหนล่ะ? ไปฆ่าเขาแล้ว กลับมาค่อยบอกว่าเป็นธรรมดา ธรรมดาต่อเมื่อฆ่าเขาตายมาแล้วถึงเป็นธรรมดาสิ

มันจะธรรมดาต่อเมื่ออารมณ์มันเริ่มเกิดสิ อย่าไปยึดติดสิ อย่าไปทำลายเขาสิ มันถึงจะเป็นธรรมดา อันนี้ฆ่าเขาตายแล้ว กลับมานอน เออ.. เป็นธรรมดา มันตายไปแล้วเป็นธรรมดา พอใจ สะใจ เห็นไหม

นี่ไง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา”

มันดับเป็นธรรมดาต่อเมื่อมันไม่ให้ผลกับใจนั้น แต่นี้มันให้ผลกับใจนั้น ใจนั้นมันทุกข์ร้อนขนาดไหน ไปฆ่าเขากลับมาแล้วก็ค่อยธรรมดา นี่มันไร้สาระนะ มันจะธรรมดาต่อเมื่อมันเกิด เห็นไหม โกรธก็เป็นธรรมดา นี่อ่อนโยน นุ่มนวลก็เป็นธรรมดา มันธรรมดาเพราะอะไรล่ะ?

มันธรรมดาเพราะหัวใจมันให้ค่า ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูด

“ก้อนหินกิโลหนึ่ง กับทองคำกิโลหนึ่งมีค่าเท่ากัน”

แล้วอย่างพวกเรามีค่าเท่ากันไหมล่ะ ทองคำกิโลหนึ่ง กับก้อนหินกิโลหนึ่ง ใครก็เอาทองคำทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครเอาก้อนหินหรอก แต่ใจที่เป็นธรรมดา เขาเห็นก้อนหินกับทองคำมีค่าเท่ากัน มันธรรมดา มันเท่ากันเพราะมันมีปัญญา เห็นไหม แร่ธาตุเหมือนกัน แต่แร่ธาตุในโลกนี้เขามีประโยชน์ของเขา เขาก็หาประโยชน์ของเขา

นี่มันจะเป็นธรรมดาต่อเมื่อมีสติปัญญา “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” เกิดมาแล้วก็ไม่หวั่นไหวในหัวใจ ตั้งอยู่ก็ไม่หวั่นไหวในหัวใจ ดับไปแล้วก็สาธุ มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันเป็นสภาวธรรมอย่างนั้น เห็นไหม จะเป็นธรรมดาต่อเมื่อมีสติ มีปัญญานะ แต่ถ้าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เวลามันเกิดขึ้นมา ทองคำก็ว่าเป็นธรรมดา พอก้อนหินก็ปฏิเสธมัน.. มันมีการปฏิเสธ มันมีการต่อต้าน มันเกิดแล้วแหละ

“ตัณหา วิภวตัณหา”

ตัณหาความทะยานอยาก พยายามผลักไสสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้มันเกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่ไม่ดีไม่งามก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเราตลอดไป เวลาจิตใจมันแข็งกระด้างขึ้นมา จะไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ เวลาจิตใจมันนุ่มนวล เห็นไหม นี่เดี๋ยวความดีก็เกิด เดี๋ยวความร้ายก็เกิด แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ภารา หะเว ปัญจักขันธา

ภาระ! ดูสิสิ่งที่เป็นภาระ มันเป็นภาระ พอคำว่าเป็นภาระนี่มันไม่ใช่มาร คำว่ามารนะ ขันธมาร.. ขันธมารกับขันธ์ที่เป็นภาระ ขันธ์ที่เป็นภาระคือว่ามันเป็นธรรมดา แต่ขันธ์ที่มันเป็นมาร มันไม่ธรรมดา ขันธ์ที่เป็นมาร มันกดขี่ข่มเหง มันฉุดกระชากลากใจจนจบสิ้นไปแล้ว แล้วก็บอกว่าเป็นธรรมดา มันธรรมดากันตรงไหนล่ะ?

คำว่าธรรมดานี่นะ ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว ท่านมองสภาวะเป็นธรรมหมด สิ่งใดสะเทือนใจไปหมด ถ้าสะเทือนใจไปหมด นั่นล่ะสิ่งที่ว่าเป็นธรรมดา แต่เป็นธรรมดาต่อเมื่อถากถางทำลายแล้วกระบวนการจบสิ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นธรรมดาๆ ธรรมดาของใคร แต่ถ้าเวลาเป็นธรรมแล้ว คำว่าธรรมดาเพราะจิตใจท่านเป็นธรรม มันถึงว่าธรรมดา แต่จิตใจท่านเหนือนะ ท่านเหนือโลกมาก ธรรมะเหนือโลก!

ธรรมะอยู่ในโลก เห็นไหม ที่ว่าธรรมะอยู่ในโลก อย่างเช่นปัญหามันเกิดขึ้น ถ้าเราไปอยู่ในปัญหานั้น เราก็เป็นปัญหาไปด้วย ถ้าปัญหามันเกิดขึ้น เราแก้ไขปัญหานั้น นี่เราแก้ไขปัญหานั้น เราไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้าเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราก็เป็นปัญหาไปด้วย

นี่ก็เหมือนกัน คำว่าเป็นธรรมดาๆ นี่สภาวธรรมมันเป็นธรรมดา ถ้ามีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยากอยู่ในการนั้น มันก็มีส่วนในปัญหานั้น ถ้าเรามีส่วนในปัญหานั้น ถ้าปัญหานั้นเกิดจากเรา แล้วเราแก้ไขปัญหานั้นไม่ได้ มันก็หมุนไปในปัญหานั้น แต่ถ้าเราแก้ไขปัญหานั้น โดยที่ว่าเราอยู่นอกปัญหานั้น แก้ปัญหานั้นจนจบสิ้นไป แล้วเรากับปัญหานั้นคนละอันหรือเปล่าล่ะ เห็นไหม มันอยู่คนละส่วนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันเกิด เรามีจิตของเรา เราพิจารณาของเรา แล้วมันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมานี่ มันรู้ของมัน มันพัฒนาของมัน เห็นไหม

จะส่งเสริมพุทธศาสนา เราจะมาส่งเสริมหัวใจของเรา เวลาภาพใหญ่คือภาพของสังคม สังคมเขาปากกัดตีนถีบกันอยู่ แล้วเราส่งเสริมพุทธศาสนา เราจะมาพุทโธ พุทโธ นั่งโคนไม้ เขาก็หาว่าเราเห็นแก่ตัว ส่งเสริมพุทธศาสนา เราก็ต้องไปช่วยกันแบกหามสิ ให้ศาสนามันเจริญรุ่งเรือง อันนั้นมันเป็นโลก เห็นไหม แต่ถ้าส่งเสริมพุทธศาสนา ถ้าธรรมมันเกิดขึ้นมา ศาสนทายาท เกิดทายาททางศาสนาเลย

เราทำหัวใจเราให้สงบ เราได้สัมผัส มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรารู้ เราเห็นของเรา นี่ศาสนามันจะเจริญ เจริญในหัวใจเรานี้ หลวงตาท่านพูดบ่อย

“ไม่มีสิ่งใดสัมผัสศาสนาได้ ไม่มีภาชนะใดตักตวงศาสนาได้ เว้นไว้แต่หัวใจของสัตว์โลก”

เรามีใจ เรามีความรู้สึก เรามีการพัฒนา เราจะส่งเสริมพุทธศาสนาในหัวใจของเรา เอวัง