ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่ได้เขียนเสือ

๑๕ พ.ค. ๒๕๕๔

 

ไม่ได้เขียนเสือ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๔๒๑. ทีแรกปัญหานี้ เรามองทีแรกตั้งแต่ปัญหามาแล้วว่าจะไม่ตอบ ทีนี้เพียงแต่ว่าไม่ตอบ เขาก็หาว่า เหมือนกับว่าพวกเราทำอะไร เวลาจำเป็นขึ้นมาก็จะหลบหลีกกันเอง เอาแต่ดีไง เวลาสิ่งอะไรที่เป็นภาระไม่รับผิดชอบ

ถาม : ๔๒๑. เรื่อง “ปาราชิก”

หลวงพ่อ : ข้อ ๑. คนถามนะ “ผมเอาลมหายใจนี้แลกธรรม” ชื่อคนถามนะ “ผมเอาลมหายใจนี้แลกธรรม” แสดงว่าเขาเสียสละเต็มที่ เขาสู้เต็มที่ แต่คำถามนี่ทำไมไปถามเรื่องคนอื่นล่ะ ทำไมไม่ถามเรื่องตัวเองล่ะ แปลกมาก อ้าว.. ถ้าเอาลมหายใจแลกธรรม ก็ต้องถามสิว่าปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไรเนาะ มีขั้นตอนเป็นอย่างไร ผิดถูกเป็นอย่างไร ก็ถามเรามาเนาะ แหม.. เอาลมหายใจนี้แลกธรรมนะ

ถาม : ข้อ ๑. ถามโทษอาบัติปาราชิกของพระที่เสพเมถุน เมื่อสิ้นอายุขัยไปจากโลกมนุษย์ เขาจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : ปาราชิกนี่ ๔ ข้อ ปาราชิกแง่มุมนั้น แง่มุมนี้ ฉะนั้น จะตอบทุกแง่มุม.. มันน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะว่ามันเป็นเรื่องกระทบของสังคมพอสมควร ฉะนั้น เพียงแต่เอามาพูดว่า

“ข้อ ๑. โทษของอาบัติปาราชิกของพระที่เสพเมถุน เมื่อหมดอายุขัยสิ้นไปจากโลกมนุษย์ เขาจะเป็นอย่างไร”

เพราะว่าพระที่เป็นปาราชิก ปาราชิกหมายถึงตาลยอดด้วน เราทำความผิดจนหมดถึงปาราชิกตาลยอดด้วน การประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาเรียก “อาบัติหนัก” อาบัติหนักนะ คำว่าปิดกั้นมรรคผล แต่มันปิดกั้นมรรคผลเฉพาะชาติปัจจุบันเพราะเราทำ แต่ถ้าพอมันตายไปแล้วนะ ตกนรกอเวจีก็ได้ แล้วถ้าเกิดว่าพระเป็นปาราชิก ขึ้นสวรรค์ได้ไหม?

พระเป็นปาราชิกนี่นะส่วนปาราชิก แต่คำว่าเป็นปาราชิกคืออาบัติหนักของเขา เขาทำอาบัติของเขาไว้แล้ว แต่พระถึงเป็นอาบัติปาราชิกแล้วสึกออกไป หรือสึกจากพระออกไป เขาทำบุญกุศลของเขา เขาสร้างคุณงามความดีของเขาได้ การสร้างคุณงามความดีของเขาก็คือคุณงามความดี คนเรานี่ทำบาปก็คือบาป ทำบุญก็คือบุญ บุญกับบาปมันไม่เกี่ยวกัน

บุญก็คือบุญ บาปก็คือบาปนะ ฉะนั้น พระที่เป็นปาราชิก เวลาเขาสำนึกตนของเขา ถ้าเขาทำประโยชน์ของเขา ทำประโยชน์นะคือว่าสร้างบุญกุศล แต่เรื่องมรรค ผล ชาตินี้จบ คำว่าตาลยอดด้วนมันไปไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นสังฆาทิเสส เห็นไหม ดูสิเวลาพวกเราเป็นสังฆาทิเสสกันปั๊บจะรีบหลบไปเลย หลบไปอยู่กรรม

ไปอยู่กรรมนะ เพราะว่าเราอยู่บ้านตาดนะ พอใครเป็นอาบัติหนักปั๊บเขาจะออกจากบ้านตาดไปเลย ส่วนใหญ่แล้วพยายามจะออกจากบ้านตาด เพราะ! เพราะเราเชื่อมั่นกันว่าหลวงตานี่เป็นพระอรหันต์ ถ้าหลวงตาเป็นพระอรหันต์ ในสังคมนั้นมีพระอรหันต์อยู่ บาปกรรมของเรามันรุนแรงนะ มันรุนแรงเพราะสังฆกรรมนั้นมีผู้ที่บริสุทธิ์ไง ถ้าสังฆกรรมนั้นมีผู้ที่บริสุทธิ์นะ เราเป็นอาบัติหรือเราเป็นอะไร เราควรจะออกห่างๆ คือมันจะเป็นผลกับความไม่ดีของเรา

ฉะนั้น เวลาพระที่อยู่ด้วยกัน เราอยู่ที่บ้านตาด ธรรมดาของคนนะมันต้องมีถูกมีผิดเป็นธรรมดา พระบวชมาก็เหมือนกัน มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา พอมีความผิดพลาดปั๊บ พอเป็นอาบัติสังฆาทิเสส พอรู้ตัวปั๊บจะลา ลาเพื่อไปอยู่กรรมในที่สงบสงัด ในที่ที่พระน้อยๆ เพราะมันต้องประจานตัวเองใช่ไหม เวลาพระเข้ามานี่เราต้องประจานตัวเองว่าเราเป็นอาบัติอะไร ฉะนั้น เขาจะหลบไปเพื่อสะดวกกับการออกจากอาบัติของเขา

แล้วอีกอย่างคือเราเชื่อมั่นในคุณธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราเป็นสังคมที่บริสุทธิ์.. สังคมที่บริสุทธิ์ ถ้าเราไม่บริสุทธิ์ เข้าไปในสังคมที่บริสุทธิ์ ความเป็นบาปของเรา ความเป็นอกุศลของเรามันจะมีน้ำหนัก ฉะนั้น เราก็รักษาตัวเรากันเอง เรารักษาตัวเรา เราถึงเอาตัวเราออก ถ้าใครเป็นอาบัติหนักนะ จะเอาตัวออก แล้วไปอยู่กรรม ไปทำอาบัติจบแล้วถึงจะกลับมาอยู่กับท่านอีก มันเป็นเรื่องธรรมดา

ฉะนั้น โทษฐานของพระที่เสพเมถุนแล้วหมดอายุขัยไปจากโลกนี้ ถ้าเขาเสพเมถุนแล้วเขายังหมกมุ่น เขายังทำความผิดซ้ำซาก นรกอเวจีนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย

ฉะนั้น บอกว่าคำถามนี้มันถามมาตายตัวใช่ไหม แต่ผู้ที่ทำผิดมันมีหลายลักษณะ หลายเหตุผล หลายแง่มุม ฉะนั้น คำตอบนี้มันเฉพาะกรณีๆ ไป กรณีอย่างนี้มันจะให้โทษอย่างนี้ กรณีอย่างนี้จะให้โทษอย่างนี้ กรณีเขาทำผิดแล้ว เขาสำนึกได้ว่าผิด เขาทำคุณงามความดี มันก็ให้โทษอยู่ โทษอันนั้นไม่หายไปไหน แต่เขาได้สำนึกผิด แล้วเขาได้ทำความดีของเขา ความดีของเขานี่หนุนเขาได้ หนุนเขาให้ไปในสถานะใดก่อนได้

ฉะนั้น ว่าเขาจะไปไหน? เขาไปไหนแล้วไปอย่างไรล่ะ? เพราะพูดแค่นี้มันไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าเขาทำอะไรบ้าง ทำมากน้อยแค่ไหน เขาจะไปถึงไหน ถ้ามันมีเหตุผลนะว่าเขามีมากน้อยแค่ไหน เขาไปถึงไหน อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อ ๑. โทษอาบัติปาราชิกของพระที่เสพเมถุน เมื่อหมดอายุขัยแล้วสิ้นไปจากโลกนี้ เขาจะไปเกิดที่ใดครับ

ข้อ ๒. นี่เขาพูดถึงการเป็นปาราชิก มันต้องมีผล ๒ ข้าง ระหว่างผู้ทำกับผู้ที่พาให้พระผิด อันนี้ข้อ ๒. เราผ่าน

ถาม : ข้อ ๓. พระที่อาบัติปาราชิก ห้ามมรรค ผล นิพพานหรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าห้ามมรรค ผล นิพพาน ก็ห้ามมรรค ผล นิพพาน เด็ดขาดในชาติปัจจุบัน แต่พอพ้นภพชาตินี้ไปนะ.. สังเกตได้ไหม เวลาเราไปคุยธรรมะกับคนโดยทั่วๆ ไป บางคนพูดธรรมะให้เขาฟังไม่ได้เลยนะ เขาฉุนเฉียวเลย เขาจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเลย เขารับไม่ได้ แต่บางทีเราไม่ต้องคุยธรรมกับเขา เขาจะดึงเราไปสู่ธรรมะ เห็นไหม

คือจิตใจคนที่สูงกว่าเรา เขาจะดึงพวกเราเข้าไปสู่ธรรม เขาจะให้พวกเราทำคุณงามความดี อย่างนี้ก็มี แต่จิตใจของคนที่มันต่ำทราม เราไปบอกถึงเรื่องธรรมะเขานี่ เขาฉุนเฉียวเลยนะ เขาฉุนเฉียว เขามีอาการตอบสนอง เขาขับไสเลย.. นี่เพราะอย่างนี้ไง เราใช้คำว่า “พันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมทางจิต” จิตมันมีพันธุกรรมของมัน มันมีการกระทำของมันมา

ฉะนั้น ที่ว่า “พระต้องปาราชิกแล้ว ห้ามมรรค ผล นิพพานหรือไม่”

ในชาติปัจจุบันนี้ห้าม แล้วเขาสำนึกหรือเปล่า หลวงตาท่านพูดบ่อย ตอนที่เราเคลื่อนไหวในเรื่อง พ.ร.บ. สงฆ์ ท่านจะบอกว่า “แม้แต่เทวทัตก็ยังสำนึกผิดนะ” แม้แต่เทวทัตยังสำนึกผิด ยังจะมาขอขมาพระพุทธเจ้า แล้วให้เขาพามาหาพระพุทธเจ้า แต่เพียงแต่ว่าเพราะทำกรรมหนักไว้ เวลาก้าวเท้าลงมา จะไปชำระล้างเหงื่อไคลเพื่อจะไปกราบพระพุทธเจ้า ธรณีสูบทันทีเลย

นี่ไง เขาสำนึกนะ แม้แต่เวลาหลวงตาท่านเตือนพวกเรานะ แม้แต่เทวทัตยังสำนึกผิด! แต่คนสำนึกผิด เห็นไหม นี่เทวทัตจะตกนรกอเวจี เพราะได้ทำกรรมหนักไว้ แต่ถ้าเขาพ้นจากกรรมอันนั้นแล้วนะ เขาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

คำว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” คือเขาทำฌานโลกีย์ได้ เขาแปลงตนเป็นงูไปพันหัวพระเจ้าอชาตศัตรู เห็นไหม เขามีฌานโลกีย์ไง เขาก็มีคุณสมบัติความดีของเขา แต่เขาไปติดความดีของเขาไง เขาไปติดว่าเขาก็เป็นพระองค์หนึ่ง นี่เขาแปลงร่างได้ เขาทำอะไรได้ ทำไมเวลานางวิสาขามาไม่เคยถามถึงเทวทัตเลย ทำไมนางวิสาขามาถามหาพระอานนท์ ถามหาพระองค์นั้น ถามหาพระองค์นี้ จนเทวทัตอึดอัดไง เราก็ลูกกษัตริย์เหมือนกัน นี่ไงจนคิดการใหญ่ แต่พอคิดการใหญ่ไปแล้ว พอทำอะไรไปแล้ว เขาก็สำนึกของเขานะ

ฉะนั้น ถ้าเขาสำนึกของเขานี่เขาสำนึกของเขา แต่กรรมที่เขาทำ ลงนรกอเวจีไปก่อน จนหมดเวรหมดกรรมอันนั้น แต่ที่เขาทำดีไว้ เขาสร้างบุญกุศลของเขา เขาจะมาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยตนเองเลย นี่พูดถึงเทวทัตนะ

นี้เขาบอกว่า “พระที่เป็นอาบัติปาราชิก ห้ามมรรค ผล นิพพานหรือไม่”

ในชาติปัจจุบันนี้ห้าม แต่เทวทัตเวลาพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมาแล้ว เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย นี่ความดีของเขา มันห้ามเฉพาะภพชาติปัจจุบันนี้ แต่ถ้าภพชาติต่อไปมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อ ๔. ข้อนี้ก็ตอบไม่ได้ ฮึ.. ตอบได้ เราตอบได้นะ แต่ตอนนี้เหตุการณ์ของเรากำลังวิกฤติกันอยู่ ถ้าตอบไปเดี๋ยวจะหาว่าเรานี่ แหม.. เขาชงลูกมาให้ ตบใหญ่เลย ผ่านๆ แหม.. ใครชงลูกมาให้ หลวงพ่อนี่เอาใหญ่เลยนะ

ข้อ ๔. นี้เขาพูดถึงผู้ที่ทำให้เป็นปาราชิก

ข้อ ๕. ก็เหมือนกัน

ถาม : ข้อ ๕. ทำอย่างไร พระที่ต้องปาราชิก จะข้ามพ้นบ่วงกรรมของการเป็นอาบัติปาราชิกได้อย่างไร

หลวงพ่อ : เพราะอาบัติหนัก เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วว่า

“ถ้าทำสิ่งใด แล้วรู้ภายหลังแล้วเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ฉะนั้น ครุกาบัติ อาบัติหนัก อาบัติเบา.. อาบัติเบานะมันพอแก้ไขได้ แต่ถ้าอาบัติหนัก อาบัติหนักมีสังฆาทิเสสกับปาราชิก แต่สังฆาทิเสสยังแก้ไขได้ คือต้องอยู่กรรมแล้วให้สงฆ์ยกเข้าหมู่

เวลาเราบวชพระนี่นะ พระอันดับนี่ ๑๐ องค์ คือสภา ๑๐ องค์ ครบองค์ของสงฆ์ แล้วยกขึ้นมาเป็นพระได้ แต่ถ้าเป็นสังฆาทิเสสนะ เวลาอยู่กรรมแล้ว อยู่มนัสแล้ว ควรแก่การอัพภาน คือควรแก่ยกเข้าหมู่ ต้องพระ ๒๐ องค์ ต้องพระ ๒๐ องค์นะถึงจะยกเข้าหมู่ได้ ยกเข้าหมู่คือกลับมาเป็นพระอย่างเดิม นี่สังฆาทิเสส

แต่ถ้าปาราชิกแล้วจบเลย ปาราชิกแล้วแก้ไขไม่ได้ ปาราชิกแล้วเราก็ทำความดีไป ถ้าเป็นปาราชิกแล้วนะ เราก็ตักบาตร ทำบุญ สร้างคุณงามความดีไป แต่เรื่องมรรค ผล ภาวนาไปก็ภาวนาเป็นฌานโลกีย์ มันปิดกั้น

คำว่าปิดกั้นนะ เรามีเพื่อนพระนี่นะ เวลาเราจะทำความสงบ เวลาทำความสงบไป พอถึงจุดหนึ่งมันเด้งปึ๊ง! ออกเลย พอทำความสงบมา มันเด้งปึ๊ง! ออกเลย เขาก็ทุกข์นะ เขาทุกข์มาก จนเขาต้องไปบวชใหม่อะไรใหม่ เขาพยายามทำของเขา

นี่พูดถึงไอ้เราบอกว่าปิดกั้น อ้าว.. นั่งสมาธิ ผมก็นั่งสมาธิ คุณก็นั่งสมาธิ มันจะแตกต่างกันอย่างไร คุณทำได้ผมก็ต้องทำได้ เออ.. ทำได้เอ็งลองทำดู มันเป็นผลภายในไง นั่งด้วยกันนี่ ๕ ชั่วโมงได้เท่ากัน ไอ้ ๕ ชั่วโมงนั้นมันลง ไอ้ ๕ ชั่วโมงเราทุกข์น่าดูเลย ยิ่งนั่งยิ่งลำบาก

ฉะนั้น ที่ว่าทำอย่างไร ทำอย่างไรคือว่าเราขาดสติ แล้วเราได้ทำสิ่งนั้นไปแล้วนะ เราก็ต้องยอมรับแล้ว กรรมไง เห็นไหม เชื่อกรรม เราทำแล้วนี่ เราทำแล้วก็ต้องจบกันไป แล้วเราก็สร้างคุณงามความดีไป ถ้าพูดถึงผู้ที่ทำแล้วนะ ให้สร้างคุณงามความดี คุณงามความดีในภพในชาติ คุณงามความดีก็ต้องให้ผลอยู่แล้ว ไปสวรรค์ ไปพรหม ไปอินทร์ แต่ถ้าเรื่องอาบัติก็ส่วนอาบัติ เรื่องของเราก็เรื่องของเรานะ

ข้อ ๖. เขาว่าฆราวาสที่ทำให้พระเป็นปาราชิกจะได้ผลอย่างใด.. อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๗. เมื่อเขาสำนึกผิด และหวังพระนิพพานในชาตินี้ จากเหตุดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่

หลวงพ่อ : เห็นไหม ถ้าเขาสำนึก.. พอเขาสำนึกแล้ว ตอนนี้มันก็ผิดไปแล้วไง ฉะนั้น พอผิดไปแล้ว ตาลยอดด้วนหมดสิทธิ์ หมดสิทธิ์ แล้วมันมีนะมันมีแบบว่าวงใน พระเป็นปาราชิกกันนี่ แล้วมันก็ต้องห้ามบวชใช่ไหม พระเป็นปาราชิกมันขาดอยู่แล้ว มันขาดโดยอัตโนมัติ จะห่มผ้าเหลืองอยู่มันก็ไม่ใช่พระ แล้วบางทีเขาก็สึกไปแล้วมาบวชกันใหม่ อะไรก็มี

ฉะนั้น บวชกันใหม่แล้ว มันก็ยังมาทำผิดซ้ำผิดซากกันอยู่ ในวงของพระเขารู้กันนะ ว่าใครเป็นอะไรกันอยู่ เขามี ฉะนั้น มีอย่างนั้นปั๊บ แล้วคนยังฮือฮา ยังตื่นเต้นอยู่ อันนี้ก็กรรมของสัตว์นะ

“ถ้าเขาสำนึกผิดแล้ว แล้วหวังนิพพานในชาตินี้ จากเหตุดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่ครับ” ไม่ได้!

ข้อ ๘. ข้อนี้ตอบไม่ได้เลย

ถาม : ข้อ ๙. โทษทัณฑ์ของเขาและเธอ ที่เป็นเหตุและผลของอาบัติปาราชิกนั้น จะต้องนับเนื่องไปกี่ภพกี่ชาติ ขอขอบคุณหลวงพ่ออย่างสูงครับ

หลวงพ่อ : ถ้าขอบคุณอย่างสูง มันไม่ควรเอาคำถามนี้มาถามหรอก ถามให้ออกไปนอกเรื่อง อันนี้เขาพูดถึงเรื่องปาราชิก ทีแรกเราเห็นแล้วเราจะไม่ตอบ ปัญหานี้นะเรากะยกออกเลย แต่ทีนี้มันแบบว่า เราพูดแค่นี้แหละ พูด ๑ ใน ๔ ให้เข้าใจว่า ในเมื่อถามว่าเป็นปาราชิก เป็นโทษของพระ แล้วพระนี่ถ้าไม่กล้าตอบโทษของพระ แสดงว่าพระองค์นั้นไม่จริง เราถึงตอบไง

ที่เราตอบนี่ เราตอบให้คนถามหายความคลางแคลงใจ แหม.. ถามทุกเรื่อง ตอบทุกเรื่องเลย พอถามปาราชิกนี่ไม่กล้าตอบ (หัวเราะ) เอ๊ะ.. มีอะไรหรือเปล่า ฉะนั้น ตอบให้แค่นี้นะ ตอบว่านี่เขาถามเรื่องปาราชิก

ผมเอาลมหายใจแลกธรรมเลยแหละ! แล้วก็ปาราชิก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ถามมา ๙ ข้อ ตอบเท่านี้พอ เรื่องของปาราชิกเนาะ

ข้อ ๔๒๒. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๔๒๓. เรื่อง “ความฝันหรือนิมิต”

เมื่อประมาณวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔ โยมโดยสารรถตู้เพื่อเดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างนั่งอยู่บนรถก็บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ หลับไปตอนไหนไม่ทราบ ฝันเห็นตนเองยืนอยู่ในห้องๆ หนึ่ง เวลาผ่านไปประมาณ ๑ นาที แผ่นดินไหวเกิดการสั่นสะเทือนอย่างมาก ฝาผนังห้องเกิดร้าวแตกอย่างรวดเร็ว สังเกตจิตของตนเองรู้สึกกลัวมาก จิตบอกว่าให้หนีขึ้นไปข้างบน แล้วโยมก็รู้สึกสะดุ้งตื่น รู้สึกว่าเหมือนเหตุการณ์จริงมากๆ แต่ก็ได้ข้อคิดดีๆ เยอะว่าอย่าประมาทในชีวิต แถมรู้ตัวเองว่ากลัวตายเหมือนกัน

โยมมีคำถามกราบหลวงพ่อดังนี้

๑. เวลาที่บริกรรมพุทโธแล้วหลับไป สิ่งนี้เป็นความฝันหรือนิมิต

๒. นิมิตกับความฝัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เวลาพุทโธ พุทโธแล้วหลับไป สิ่งนั้นเป็นความฝันหรือเป็นนิมิต

หลวงพ่อ : มันไม่ต้องบอกเลยล่ะ มันเป็นความฝัน เพราะเขาเขียนมาบอกว่ามันหลับไป หลับไป คนหลับฝันมันจะเป็นนิมิตได้อย่างไรล่ะ

นิมิตคือคนตื่นอยู่ นั่งอยู่นี่แล้วจิตมันลงแล้วเห็น เพราะมีสติปัญญาพร้อมแล้วมันเป็นนิมิต แต่เวลาฝันนะ เวลาหลับไปนี่มันฝัน แต่การฝันของคนเขาเรียกว่าธรรมะนะ เวลาเราฝันนะ เวลาเราฝันเรื่องร้าย ฝันแล้วตื่นมาตกใจกลัวมาก แต่การฝันอย่างนี้นะมันเป็นการฝันเตือนตัวเอง อย่างนี้เขาเรียกว่าธรรมเกิดได้ คำว่าธรรมคือคติธรรมไง

คติธรรม เวลาเราฝัน ฝันให้เตือนเราว่าเราอย่าประมาทในชีวิต เราต้องตาย แล้วนี่พุทโธ พุทโธแล้วหลับไป หลวงตาท่านบอกเลย “ให้พุทโธ พุทโธจนหลับไป” คนเรานี่นะ แม้แต่ทุกคนจะว่าตัวเองไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติ เวลาก่อนนอนเราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธจนหลับไป

เวลาคนเราคิดเรื่องอย่างอื่นมันนอนไม่หลับหรอก พุทโธนี้เป็นยานอนหลับ พอพุทโธ พุทโธแล้วมันจะหลับ พอพุทโธ พุทโธหลับไปแล้วนะ ถ้าหลับไปนี่เวลามันฝัน มันฝันในสิ่งที่ดีๆ ไง เพราะเราหลับไปพุทธานุสติ เราหลับไปกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราหลับไปนี่ เวลาฝันนะฝันเป็นคติธรรม ฝันถึงว่าเราไปเจอในเหตุการณ์ที่แผ่นดินไหว เราจะต้องเป็นต้องตาย ทำให้เราสั่นสะเทือน แล้วเวลาต้องตายขึ้นมาแล้ว นี่สมมุติตัวเองสิว่าอีก ๗ วันเราต้องตาย ๗ วันนี้เราจะทำอะไรล่ะ

ทีนี้คำว่าสมมุติตัวเองว่า ๗ วันต้องตายนะ แต่คนเวลามีโรคร้าย หมอกำหนดเลยอีกกี่เดือนตาย โอ้โฮ.. ชีวิตนี้เศร้าแล้ว ชีวิตนี้มันจะทำคุณงามความดี หยิบอะไรไม่ถูกเลย แต่ถ้าเราสมมุติตัวเองว่าพรุ่งนี้ต้องตาย นี่วันนี้จนถึงพรุ่งนี้เราจะทำอะไร พรุ่งนี้ต้องตายแล้ว โอ๋ย.. ต้องตาย ต้องตายก็รีบไปเก็บเงินเก็บทอง เที่ยวไปเบิกธนาคาร มันว่าไปนู่นเลยนะ กลัวเงินจะตกอยู่ในนั้น

ฉะนั้น เวลามันเกิดขึ้นมา มันสะเทือนให้เรากลัวนี่นะ เราจะบอกว่ามันเป็นคติธรรม.. มันเป็นความฝัน แต่ความฝันอย่างนี้นะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านพูดนะ เวลาครูบาอาจารย์เราที่อ่อนน้อมถ่อมตน เวลาท่านฝันหรือท่านเป็นนิมิตนี่นะ ท่านจะบอกว่าฝัน

อย่างเช่นหลวงตาท่านจะพูดบ่อย “เมื่อคืนฝันว่ะ” หลวงปู่มั่นนะ “ฝันว่าอย่างนั้น ฝันว่าอย่างนี้” แต่ความจริงนั่นคือนิมิตนะ แต่พอบอกว่านิมิตปั๊บ พวกเราก็เห็นว่านิมิตมันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ มันเป็นเรื่องที่สูงส่งใช่ไหม เราก็ต้องเอาเรื่องนั้นมา ที่ว่าเราจะลบหลู่หรือว่าเราจะคิดต่างไม่ได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าฝัน ฝัน

ความฝันของพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่ไม่มีกิเลส ถ้ามีกิเลสอยู่เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ฉะนั้น พระอรหันต์ไม่มีกิเลส พอเวลามันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ความกระทบคือเสวยอารมณ์นี่มันเกิดสังขาร ขันธ์ ๕ สังขารเป็นภาระ แล้วจิตมันรับรู้ เวลามันฝัน มันอะไรต่างๆ นั่นล่ะของจริงนะ แต่เวลาท่านพูด ท่านพูดว่าฝันๆๆ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่ว่า ครูบาอาจารย์ของเราองค์ไหนเป็นของจริง แล้วอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ไม่อหังการ สิ่งที่เกิดขึ้น ท่านจะพูดไว้ให้มันเป็นธรรมไง ให้มันเป็นต่ำๆ ไว้ เฮ้ย.. ฝันว่ะ ฝันว่าอย่างนั้นๆ แต่ความจริงเป็นนิมิต

แต่นี้ถ้าของเรามันไม่เป็นนิมิต เราฝันแล้วเราบอกว่าเป็นนิมิต แล้วพอเวลาเป็นนิมิต เราบอกว่าฝัน ถ้าพุทโธ พุทโธแล้วมันหลับไป หรือมันตกภวังค์โดยที่ไม่มีสติสิ เวลาเห็นอะไรขึ้นมานี่มันเลือนราง แต่นี้ที่มันชัดเจน มันหลับไปขนาดไหนก็แล้วแต่แล้วออกมานี่ อันนี้เป็นความฝันแน่นอน

ฉะนั้น “ข้อ ๒. นิมิตกับความฝัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร”

นิมิตนะ ถ้าชัดๆ เลย นิมิต เห็นไหม เรานั่งพุทโธ พุทโธ หรือเราปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ เวลาจิตมันสงบลงไป เรารู้สึกตัวไหม? เรารู้สึกตัว.. สติเราสมบูรณ์ สมาธิเราสมบูรณ์แล้วเกิดภาพขึ้น นี่สติเราสมบูรณ์ ทุกอย่างเราสมบูรณ์ แล้วเราเห็นภาพนั้นชัดเจนไหม? ชัดเจน พอชัดเจนแล้วมันเคลื่อนไหว บางทีภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เวลาเห็นนิมิตนะ เห็นนิมิตเป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นเรื่องเลย เป็นเรื่องเลย

นี่นิมิตมันยังปลอมได้เลย เป็นเรื่องเลยนะ อ้าว.. มีคนปฏิบัติมาก บอกว่าก่อนที่เขาจะไปไหน เขานั่งสมาธิแล้วเห็นทุกอย่างเป็นภาพเคลื่อนไหว แล้วเวลาเขาไปนะเป็นอย่างนั้นเปรี๊ยะเลย เขามาถามแล้ว “อย่างนั้นจริงหรือเปล่า”

นี่เวลาเขาไปดูนะ กรณีอย่างนี้ “จริงหรือไม่จริง” มันเป็นคุณสมบัติ คุณสมบัติคือว่า จิตหรือคุณสมบัติของจิตที่มันมีคุณสมบัติของมัน แล้วมันมีสมาธิของมัน มันรู้ของมัน แล้วประสาเรา รู้แล้วได้อะไร? รู้สิ่งนั้นแล้วได้อะไรขึ้นมา นี่ถ้ามันได้แล้วนะมันเกิดความอหังการ เกิดความอหังการขึ้นมาว่าเรารู้ เราเก่ง เขาเรียกผู้วิเศษ ไม่ใช่อริยสัจ ผู้วิเศษนะ เรารู้ล่วงหน้า เรารู้อนาคต แล้วเรารู้แล้วอนิจจังหรือเปล่า เรารู้แล้วมันจริงตลอดไปหรือเปล่า.. มันไม่จริง มันไม่ตลอดไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นนิมิต เวลาเป็นนิมิตจิตมันสงบนะ แล้วมันเห็นภาพของมัน ฉะนั้น สิ่งที่เห็นนี้จริงไหม เห็นนิมิตจริงๆ เลย แต่นิมิตจริงหรือไม่จริง มันอยู่ที่คุณสมบัติหนึ่ง อยู่ที่เวรที่กรรมหนึ่ง นี่เวรกรรมของคนนะ ถ้าเวรกรรมของคนมันจะให้ผลของมัน

ฉะนั้น เห็นนิมิตจริงหรือไม่จริง.. เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เพราะเรายังมีกิเลส เพราะเรายังมีตัณหา เรายังมีความต้องการ มีเป้าหมาย คืออยากให้เป็นอย่างที่ใจหวัง เห็นไหม เห็นอย่างนั้น มันมีตัวโน้มไง

ฉะนั้น “นิมิตกับฝัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร”

ถ้าฝัน ถ้าจิตใจคนดี เห็นไหม นานๆ ฝันที แต่ฝันแม่นเลย บางคนฝันทีไรนะ ถูกลอตเตอรี่ทุกทีเลย ไอ้ฝันอย่างนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

“นิมิตกับความฝัน แตกต่างและเหมือนกันอย่างไร”

เวลาแตกต่างนี่นะ มันก็เหมือนคนทำดี เห็นไหม คนทำดี ทำอะไรมันก็ดีไปหมดเลย คนทำไม่ดีนะ ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมดเลย

จิต! จิตที่มันอย่างที่ว่าข้อเมื่อกี้ ที่ว่าปาราชิก หรือว่ามีกรรมหนักมา อะไรมา เวลารู้ เวลาฝัน มันจะลากใจนี้ให้เดือดร้อน แล้วไปทำอะไรก็ผิดพลาดตลอด เพราะอะไร เพราะเรามีกรรมของเรามา เราสร้างกรรมหนักมามาก เวลามันมีอะไรนะ มันก็จะถูจะไถไป ฉะนั้น ระหว่างคนกรรมหนัก กับคนที่มีบุญนี่ฝันเหมือนกันไหม เวลาฝันก็ฝันเหมือนกัน นิมิตก็เป็นนิมิตเหมือนกัน แต่มันค่าแตกต่างกัน มันให้ค่าไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เราบอกว่า “นิมิตกับฝัน แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร”

โดยวิทยาศาสตร์ โดยพลังงาน นี่อันเดียวกัน แต่ผลนี้แตกต่างกัน แล้วให้ค่าหรือตีความแตกต่างกันไป มันถึงไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันนี่ มันไม่เหมือนกันเพราะว่าคุณสมบัติ.. พอย้อนกลับมา มันต้องย้อนกลับมาที่บุญกุศล เวลาว่าทำบุญแล้วได้บุญ เราทำบุญแล้วไม่เห็นได้บุญอะไรเลย ทำอะไรก็ไม่เห็นได้อะไร

ทุกคนจะพูดมาก แล้วน้อยใจมากนะ ว่าตักบาตรทุกวันเลย ทำไมชีวิตมันทุกข์ยากขนาดนี้ คนข้างๆ บ้าน เขาไม่เห็นทำอะไรเลย ทำไมเขามีความสุขสบาย ไอ้ความสุขสบายของเขา เรามองว่าเขาสุขสบาย แต่ความจริงมันสุขสบายจริงไหมล่ะ แต่เวลาเราตักบาตร คือทำบุญกุศลทุกวันเลย ทำไมเราทุกข์ล่ะ เราทุกข์เหมือนคนตื่นไง

เราทุกข์เพราะอะไร? เราทุกข์เพราะว่าเรารู้เราเห็นว่าอะไรเป็นความจริง ดูสิเด็กนี่นะมันไม่รับรู้กับเรา ชีวิตมันสบายมากนะ มันวิ่งเล่นได้ทั้งวันเลย พ่อแม่นี่เครียดนะ โอ้โฮ.. ไอ้เด็กมันยังสนุกมันนะ แต่พ่อแม่นี่รับผิดชอบ พ่อแม่นี่เครียด เราตักบาตรมันเหมือนผู้ใหญ่ใช่ไหม เรารู้ถึงอริยสัจ รู้ถึงสัจจะ รู้ถึงความเป็นจริง มันก็ต้องมีความรับรู้ นี่อันนี้มันทำให้เราแสวงหาทางออก

แต่ที่ว่าเขาไม่เห็นทำอะไรเลย ถ้าเขามีความสุข ไอ้ความสุขอย่างนั้นก็ความสุขเหมือนเด็กๆ นี่ไง เด็กๆ มันไม่รับผิดชอบอะไร มันทำอะไรมันก็ทำของมันได้ มันทำอะไรก็ได้ มันจะเล่นของมันก็ได้ มันจะอยู่ของมันก็ได้

ฉะนั้น เราไปมองอย่างนั้นว่าคนเขาไม่ทำบุญกุศลเลย เขามีความสุข ไอ้เราทำเกือบเป็นเกือบตาย มีแต่ความทุกข์ นี่คิดผิดนะ.. เราทำเกือบเป็นเกือบตายแต่มันทุกข์ ทุกข์เพราะอะไรล่ะ ทุกข์เพราะเราต้องมีระยะทาง เราต้องเดินไป เราต้องพัฒนาตัวเราขึ้นไป นี่มันทุกข์

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่าเวลาปฏิบัติใหม่ๆ ใช่ไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วนึกว่ามันจะสบายขึ้นๆ ไง ท่านบอกเลยนะ เออ.. ถ้าปฏิบัติไป มีมรรค มีผลแล้วมันจะสะดวกสบายขึ้น แล้วเวลาท่านปฏิบัติไปบอกว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นเลย ยิ่งปฏิบัติไป กิเลสยิ่งละเอียดขึ้นไป กิเลสยิ่งละเอียดมันยิ่งหลอกละเอียด

ไอ้หยาบๆ ก็ทุกข์หยาบๆ พอฆ่ากิเลสหยาบๆ บอก เออ.. ได้สุขสบายเสียที พอไปเจอกิเลสละเอียด มันล่อซะหัวปั่นอีกแล้ว หมุนอยู่นั่นแหละ พอมันผ่านไป เออ.. นึกว่ามันจะสบายซะที ท่านบอกไม่เคยสบายเลย มีแต่ทุกข์กับทุกข์ ทุกข์จนถึงที่สุดนะ พอมันฆ่าอวิชชาจบนะ เออ.. พอกันที ถ้าอย่างนั้นน่ะจบ

นี่เราจะย้อนกลับมาที่นี่ เพราะเราได้ยินเสียงบ่นบ่อย แล้วชาวพุทธเราจะน้อยใจทุกคน “ทำดีขนาดนี้ทุกข์ ทำดีขนาดนี้ทุกข์ คนเขาไม่ทำอะไรกันเลย ทำไมเขามีความสุข” คนที่เขาไม่ทำอะไรกันเลย เพราะเขาไม่รู้ถึงความจริงอันนี้ไง เขาปฏิเสธนะ ถ้าเขาปฏิเสธสิ่งนี้ เราไปคุยกับเขาเรื่องมรรค ผล เขาก็ไม่รับรู้อะไรกับเราหรอก

ฉะนั้น ถ้าเรารับรู้มรรค ผล.. นิมิตหรือความฝัน มันแตกต่างหรือมันเหมือนนี่มันมีอยู่ตรงนี้ด้วยไง อยู่ตรงที่วุฒิภาวะของใจสูงหรือต่ำ ถ้าวุฒิภาวะของใจที่มันสูง มันดีขึ้นมา บางคนนะจิตใจสูงส่งมาก แล้วไปรู้ ไปเห็น ไปฝันอะไร ไม่เชื่อด้วยนะ ไม่เชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ไม่เชื่อ

แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นคติธรรม เป็นสิ่งที่เตือนเราให้เราทำคุณงามความดีขึ้นมา สิ่งนั้นดีหมดแหละ มันจะเตือนเรานะ เตือนเราให้เรามีสติ ให้เราไม่ทำสิ่งใดที่ผิดแล้วมาเสียใจภายหลัง นี่ไม่ดีเลย แล้วพอเสียใจภายหลังจะไปแก้อะไรล่ะ มันเป็นอดีต อนาคตไปแล้ว มันก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีขึ้น

แต่ของกรณีอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า หรือในคติธรรมนะ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยตกนรกอเวจีมาเหมือนกัน ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรารถนาพุทธภูมิ จนพระพุทธเจ้าพยากรณ์ ก็ยังทำความผิดพลาดมาเป็นธรรมดา จิตทุกดวงมันสูงๆ ต่ำๆ มันลงต่ำขึ้นสูงมาทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่มันผิดพลาด การกระทำอย่างนั้นที่มันผิดพลาด มันสุดวิสัย มันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ เราต้องแก้ไขของเรา เราต้องทำของเรา เป็นประโยชน์กับเรา

นี่เขาบอกว่า “เป็นความฝันหรือเป็นนิมิตครับ” แต่สิ่งที่เป็นมาแล้ว เห็นไหม เพราะว่าเวลามันวูบไป แล้วเห็นตัวเราเองอยู่ในบ้าน แล้วมันสั่นไหวเหมือนแผ่นดินไหว แล้วเรากลัวตาย เขาบอกเลยนะมันได้ข้อคิดดีๆ เยอะมาก

“แต่ได้ข้อคิดดีๆ ว่าอย่าประมาทในชีวิต” นี่มันมีคุณค่ามากนะ มีคุณค่ามาก เพราะว่ามันเป็นธรรมะ.. เวลาธรรมเกิด เราเห็นธรรม เห็นความเป็นไป เห็นร่างกายมันแปรสภาพ นี่ธรรมเกิด

แต่คำว่าธรรมเกิดกับวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไร เวลาธรรมเกิดมันเกิดมาโดยสำเร็จรูป มันมาสำเร็จรูป มันมาอย่างนั้นเลย ให้เห็นเลย แต่มันไม่ได้มาด้วยการกระทำ

แต่ถ้าเป็นอริยสัจนะ อริยสัจนี่มันต้องเกิดจากการกระทำ เกิดจากจิตสงบ เกิดจากจิตมีสติ แล้วจิตนี้ออกค้นคว้า พอออกค้นคว้านี่เพราะอะไร เพราะพลังงานเกิดจากจิต เวลาค้นคว้าสิ่งใดมันจะมาถอดถอนกันที่จิต แต่ถ้าธรรมเกิดนี่ ธรรมเกิดคือว่ามันสำเร็จรูปมา เหมือนกับฝัน เหมือนกับที่ให้เราเห็น แต่เป็นคติเตือนเรา

ฉะนั้น ธรรมเกิดกับอริยสัจแตกต่างกันนะ.. ถ้าธรรมเกิด เห็นนู่น เห็นนี่ นี่ธรรมเกิด พอธรรมมันเกิดขึ้นมามันจะเตือนเรา เตือนนะ มันจะเตือนสติเราเลยว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนั้นถูก สิ่งนั้นดีหรือไม่ดี นี่ธรรมเกิด

ฉะนั้น ถ้าธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ เพราะธรรมเกิดเราไม่ได้ควบคุม เราไม่ได้ทำ เราไม่มีการกระทำเกิดจากจิต แต่มันเป็นบุญกุศล มันสำเร็จรูปมา นี่เขาเรียกว่าธรรมเกิด! ธรรมเกิดมาเตือนเรา แล้วเราจะไปเบรก เราจะไม่ต้องให้สิ่งนั้นให้มาหรือไม่มาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอริยสัจนะ อริยสัจมันเกิดจากการกระทำของเรา เราจะทำของเรา เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา

อันนี้พูดถึงปัญหาที่ว่า ความฝันหรือนิมิตเนาะ.. เบา จบแล้ว

ถาม : ข้อ ๔๒๘. ถามเรื่องปฏิปทาพระฤๅษี มีชื่อด้วยนะ..

หลวงพ่อ : อันนี้เรายกไว้ไม่ตอบ เพราะเขาบอกว่าเป็นฤๅษี ปรารถนาพุทธภูมิ แล้วมาเกี่ยวพันกับหลวงตาเราอีกแล้วไง เราถึงไม่ตอบเนาะ อันนี้ไม่ตอบ เพราะถ้าเราเป็นชาวพุทธเราก็รู้อยู่แล้ว ฤๅษีชีไพร ฤๅษีถือศีล ๘ แล้วเขาปรารถนาพุทธภูมิมันก็ได้ แม้แต่ฆราวาสเขาก็ปรารถนาพุทธภูมิกันก็เยอะ ทีนี้ปรารถนาพุทธภูมิก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม ฉะนั้น เราเลือกได้ไง เราเลือกได้

เพราะว่าฤๅษี เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธนะ ถ้าเป็นชาวพุทธ พุทธมามกะ ต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องถือรัตนตรัย ฉะนั้น เขาเป็นฤๅษีก็เป็นฤๅษีของเขา นี่เราไปตื่นเต้นกันเอง ฉะนั้น พอเป็นฤๅษีแล้วนี่มันไม่มีวินัยบังคับ อย่างพระเรานี่ ๒๒๗ ข้อ มันมีปาราชิก มีสังฆาทิเสส ถ้าอย่างนั้นปั๊บมันจะให้ผล

มันเหมือนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่นะมีสิทธิ หน้าที่ ได้ผลประโยชน์ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิด เจ้าหน้าที่ต้องได้รับโทษมากกว่า พระ! พระนี่พอเวลาบวชขึ้นมา เป็นสมมุติสงฆ์ อุปัชฌาย์อาจารย์ยกเข้าหมู่แล้ว ฉะนั้น เวลาผิดมันก็ผิด มีโทษอย่างที่ว่าปาราชิกนั่นแหละ มีโทษอย่างสังฆาทิเสส แต่ถ้าเป็นฤๅษี ฤๅษีนี่เขาไม่มี ฤๅษีนี่ถือศีล ๘ ฤๅษีทำอะไรก็ได้ ฉะนั้น ฤๅษีทำอะไรก็ได้ มันก็แบบว่าเราจะเชื่อถือแค่ไหน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น เขาถามเรื่องฤๅษีมานี่ ไม่ตอบ

ถาม : ข้อ ๔๒๙. อันนี้เราจะตอบเขาเรื่องเทคนิค เขาบอกเทคนิคมันมีความเสียหาย

หลวงพ่อ : เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขแล้ว อันนี้เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วเนาะ

ถาม : ข้อ ๔๓๐. เรื่อง “ขออุบายชี้แจงวิธีปฏิบัติครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ เนื่องจากมีเพื่อนร่วมงานแจกหนังสือที่มีลับลม เขาอยากให้ผมไปแจกด้วย แล้วผมจะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : ถ้าเราหูตาสว่างแล้ว เหมือนกับคนเขาชวนเราไปทำผิด ถ้าเราทำร่วมกับเขา เราก็มีความผิด แม้แต่พระเรานะ พระ เห็นไหม เวลาพระนี่อุโบสถสังฆกรรม ในอุโบสถสังฆกรรมนั้น ถ้าเขาทำผิดกันอยู่ เราจำเป็นจะลงอุโบสถสังฆกรรมร่วมกันนั้น เราจะทำอย่างไร ถ้าเราได้คุยกันแล้ว เราได้บอกว่าถูกหรือผิด ถ้าสังคมเขาใหญ่กว่า คือจำนวนเวลาบวชเสียงเขามากกว่า เขาจะทำอย่างนั้น

ในพระไตรปิฎกสอนไว้ ให้ค้านไว้ในใจ คือเราว่าไม่เห็นด้วย แต่เราต้องลงอุโบสถ เราต้องร่วมด้วยกัน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอุโบสถสังฆกรรม นี่สงฆ์เป็นวรรค คือแบ่งแยกไม่ได้ พระพุทธเจ้าบังคับไว้ให้สงฆ์นี้สามัคคีกัน ฉะนั้น สงฆ์เป็นวรรค หรือมีพระองค์ใดองค์หนึ่งไม่ได้มาลงอุโบสถ อุโบสถนั้นทำไม่ได้ ถ้าใครลงอุโบสถโดยขาดสงฆ์ที่ลงมาไม่ครบนะ ปรับอาบัติปาจิตตีย์หมดเลย

ฉะนั้น ถ้าจะลงอุโบสถ ในวัดนั้นต้องมาหมด ถ้ามาไม่ได้ ป่วยไข้มาไม่ได้ ต้องมอบฉันทะมา คือต้องมอบให้พระองค์ใดองค์หนึ่งมาบอกว่าเจ็บไข้ได้ป่วย มาไม่ได้อย่างไร พอมาไม่ได้แล้วให้ลงอุโบสถไป พอลงอุโบสถเสร็จแล้วนะ ให้พระ ๔ องค์ไปหาพระองค์นั้น ให้พระองค์นั้นบอกบริสุทธิ์ นี่พูดถึงนะ

ฉะนั้น ถ้าเขาทำนี่เขาเรียกว่าสังฆกรรม ถ้าพูดถึงในสังฆกรรมนั้นทำผิดพลาด สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ถ้าสังฆกรรมนั้นมีพระที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์ หรือว่ามีพระที่นานาสังวาส คือพระที่ถือวินัยแตกต่างกัน เข้ามาลงสังฆกรรมนั้น สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ เป็นโมฆะเลย คือสังฆกรรมนั้นไม่มีผล

ฉะนั้น เวลาที่ว่าเขาจะชักชวนกันไป มันก็เหมือนอุโบสถสังฆกรรม เราจะทำกับเขาไหมล่ะ? เวลาด้วยความจำเป็น เราค้านไว้ในใจ เพราะเราเที่ยวธุดงค์มา บางแห่ง บางที่ มันทำอะไรแล้วเห็นชัดๆ ว่ามันผิด แล้วพูดอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง เพราะเขาเคยทำกันมาอย่างนั้น มันเกี่ยวกับอย่างนั้น เราก็เลยค้านไว้ในใจ

บังเอิญเราอ่านพระไตรปิฎกมาแล้วไง เราค้านไว้ในใจ โทษนะ ลงอุโบสถนี่เราก็ลงกับเขา แต่เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าค้านไว้ในใจ ค้านไว้ ฉะนั้นพอค้านปั๊บมันจะมีผลในเรื่องเวรเรื่องกรรม อย่างเรื่องปาราชิกที่ว่า มันจะมีเวรมีกรรมกับจิตดวงนั้น การกระทำอะไรก็แล้วแต่ ผิดถูกมันจะมีเวรมีกรรมกับสังคมหมู่นั้น ใครทำอย่างใดได้อย่างนั้น

เหมือนกับที่ว่านี่เขาจะชวนเราไป ถ้าเขาชวนเราไปทำผิด เขาชวนเราไปปล้นไปจี้ เวลาเขาจับได้เราก็มีส่วนร่วม เพราะเราร่วมขบวนการไปกับเขา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา ในเมื่อสังคมเพื่อนกัน ความสนิทคุ้นเคยกัน เราก็ต้องใช้อุบาย “ไม่ว่าง ไม่มีเวลา หนังสือเราก็มีแจกแล้ว” มันก็ต้องหาทางออก หาทางออกให้นุ่มนวล ถ้าพูดถึงเราจะรักษาน้ำใจเพื่อน ถ้าไม่รักษาน้ำใจเพื่อนก็บอกว่า “กูไม่เกี่ยว” ก็จบ

ถ้าไม่รักษาน้ำใจกัน มึงก็มึง กูก็กู มันคนละคนอยู่แล้ว อ้าว.. มึงก็คือมึง กูก็คือกู กรรมของมึง ในเมื่อมึงเห็นอย่างนั้น มึงต้องการอย่างนั้น มันก็เรื่องของมึง แต่เรื่องของกู กูไม่เห็นด้วย กูก็รักษาตัวกู เพราะกูก็รู้ว่า.. นี่ถ้าจะเอาให้ชัดเจนนะ แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมใช่ไหม

“ขออุบายวิธีชี้แจงด้วยครับ”

ตอบแล้วครับ! เอวัง