เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ ดูสิ ปู่ ย่า ตา ยายของเราเชื่อในพุทธศาสนา ในทางราชการเขาบอกว่า กษัตริย์สมัยโบราณของเราเป็นผู้ฉลาด เลือกนับถือพุทธศาสนา เพราะว่าลัทธิศาสนาต่างๆ ก็มีมากมาย แล้วเวลาอิทธิพล เห็นไหม เวลากองทัพต่างๆ เขาเข้ามา เขาต้องการเผยแผ่ศาสนาของเขา
กษัตริย์ของเราสมัยโบราณเป็นผู้เลือกนับถือพุทธศาสนา พุทธศาสนาพูดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วว่า อจินไตย ๔ พุทธวิสัย ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคำนวณไม่ได้เลย พวกเราจะคำนวณถึงความรู้ความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ หัวแตกเปล่าๆ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วศาสนาของเรา ๕,๐๐๐ ปี นี่ยังอยู่อีก ๕,๐๐๐ ปีแน่นอนอยู่แล้ว
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกและโลกใน
โลกนอกคือโลกที่เราเหยียบย่ำกันอยู่นี้ โลกนอกว่าเป็นอจินไตย โลกนี้เป็นอจินไตย พุทธวิสัยเป็นอจินไตย เรื่องเวรเรื่องกรรมของเราเป็นอจินไตย แล้วก็เรื่องความว่าง เรื่องของฌานเป็นอจินไตย เรื่องเวรเรื่องกรรมของเรานี่มันซับซ้อนนัก แต่เวลากรรมให้ผล ให้ผลตามความเป็นจริง ให้ผลคือทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว
แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญาของเรา เราก็ได้สร้างคุณงามความดีของเรา พอสร้างคุณงามความดีของเรานะ เราก็บอกว่า เราก็สร้างคุณงามความดีขนาดนี้ ทำไมเรามีความทุกข์ความยากขนาดนี้
ความทุกข์ความยาก เวลามันเกิดขึ้นมา เวลามันมีกับเรานี่มีเพราะอะไร เพราะเราไขว่คว้าหาแต่สิ่งที่ว่าพอใจ เราจะเป็นความสุข เป็นความสุขนี่ตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเราพอใจ พอใจไม่ใช่การยอมจำนนนะ เขาบอกลัทธิยอมจำนน เรายอมจำนน ..เราไม่ได้ยอมจำนน เราพอใจกับสถานะของเรา สถานะของความเป็นมนุษย์ สถานะของสิ่งที่มีชีวิต
สิ่งที่มีชีวิตนี้มีคุณค่ามาก หลวงตาท่านบอกว่า
หัวใจของสัตว์โลก ความรู้สึกอันนี้มันสัมผัสธรรม
ความรู้สึกว่ามันเป็นความสุข ความทุกข์ นี่เวลาความสุข เราก็พอใจ เวลาความทุกข์เราก็ผลักไส นี่มันเป็นตัณหา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพอใจ พอใจกับความรู้สึกของเรา พอใจกับชีวิตของเรา ถ้าเราพอใจกับชีวิตของเรา เราถึงได้มาแสวงหาคุณงามความดีของเรา เพราะว่าเวลากรรมมันให้ผลเป็นเรื่องของอจินไตย เวลามันให้ผลขึ้นมา เรามีสติปัญญาเราก็สร้างคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีอย่างนี้ เป็นคุณงามความดีเพื่อความเป็นอยู่ของเรา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา
ถ้าเราจะเอาถึงความดีของเรา เอาให้ถึงที่สุด เพราะเราศึกษาในพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ในอะไร ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ในธรรม เห็นไหม สัจธรรม สัจจะ อริยสัจจะ
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์.. ทุกข์เกิด เหตุให้การดับทุกข์
เวลาทุกข์เกิด ทุกข์เกิดมาจากอะไรล่ะ? นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารู้ที่นี่ต่างหาก เห็นไหม ทุกข์เกิด เพราะมันมีเหตุมันถึงเกิด ทุกข์ดับ เพราะมันต้องมีเหตุของมัน นี่ถ้ามีเหตุของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม
สัจจะ อริยสัจจะนี้มีความสำคัญมาก แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราอยากเป็นผู้วิเศษกัน เราอยากรู้ อยากเห็น อยากมีความเป็นไป ไอ้ความอยากรู้อยากเห็น เห็นในอะไร เราไม่เห็นในทุกข์นี้หรือ ถ้าเห็นในทุกข์ เห็นไหม เหตุที่เกิดทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ล่ะ?
ชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
แล้วถ้าชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เวลาเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นอริยทรัพย์ เห็นไหม ความเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้าเราไม่เกิดเป็นมนุษย์.. จิตหนึ่ง! จิตหนึ่งมันเวียนตายเวียนเกิดไปในวัฏฏะ มันเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมต่างๆ นี่จิตมันเกิด แต่พอเกิดเป็นมนุษย์ เรามีสถานะร่างกายและจิตใจ
ถ้าร่างกาย เห็นไหม ร่างกายมันต้องการอะไร ต้องการอาหาร จิตใจล่ะ จิตใจต้องการธรรมะ แต่ถ้าเวลาคนที่เขาไม่สนใจอะไรเลย จิตใจของเขาก็มีความรู้สึกของเขา เขาก็แสวงหาทางโลกของเขา แต่เพราะเรามีความเชื่อในพุทธศาสนา เราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระธรรมๆ เห็นไหม พระสงฆ์ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก นี่ถ้าเป็นสงฆ์ขึ้นมา ต้องรู้ว่าจิตนี้มาจากไหน รู้ว่ามนุษย์นี้มาจากไหน แล้วมนุษย์ดำรงอยู่เพื่ออะไร แล้วมนุษย์เวลาเราสิ้นชีวิตไป สิ้นอายุขัยไป นี่ไปด้วยคุณงามความดี ไปด้วยบาปอกุศล ไปด้วยสิ่งต่างๆ สิ่งนี้ทำให้เรามีสติปัญญาขึ้นมา
ถ้าเรามีสติปัญญา นี่เวลาโลกมันจะแตก เขาว่ากันนั้นมันเรื่องของเขา แต่ของเราต้องให้กิเลสมันแตก ให้ความรู้สึกนึกคิด ความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจมันหลุดลอยออกไปจากใจของเรา แต่เพราะความยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม วุฒิภาวะของใจสูงส่งแค่ไหน ต่ำต้อยแค่ไหน มันก็ยึดมั่นถือมั่นความรู้สึกของเขา
เวลาคนเถียงกัน เถียงกันด้วยอะไร ก็เถียงกันด้วยทิฐิมานะนี่แหละ เถียงกันด้วยความรู้ความเห็นนี่แหละ ความรู้ลึกซึ้ง ก็ว่าสิ่งนี้มันจะลึกซึ้งกว่านี้ แต่ถ้าคนที่เขาหยาบ เขาว่าสิ่งนี้เป็นความพอใจของเขาอยู่แล้ว โลกมันเถียงกัน เถียงกันตรงนี้ไง เถียงกันด้วยทิฐิ ด้วยความเห็น ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในใจของตัว
แต่ถ้าเราปล่อยวางมาตั้งแต่ต้น เห็นไหม ดูสิ สังเกตหัวใจของเรา เริ่มต้นตั้งแต่เรามาวัด แล้วได้ฟังธรรมบ่อยครั้งเข้าๆ ความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของเขา แล้วเราดูคนมาใหม่สิ ใครมาใหม่ก็ต้องมีความเห็นของเขาทั้งนั้นแหละ มาใหม่ก็ต้องมีทิฐิ มีความเห็นของเขา มีความรู้สึกของเขา นั่นคือคนมาใหม่ของเขา นี่วุฒิภาวะของเขา ทิฐิมานะของเขา แต่เพราะธรรมะนี่ไง ธรรมะนี่มันกล่อมเกลี้ยง
ดูสิ เวลาพระเรานี่ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มันขัดเกลาของมัน เห็นไหม เราไม่พอใจหรอก เราพอใจแต่ความปรารถนาของเรา แต่เพราะเป็นศีลในศีล เป็นธุดงควัตร เราถือธุดงควัตร เรามีสัจจะ มันจะขัดเกลาเรา ขัดเกลาให้มันจางลงๆ ไป แต่ความขัดเกลา เห็นไหม ดูสิ เวลาเราภาวนากัน เขาบอกเจริญแล้วเสื่อม แต่ถ้าคนมันไม่เจริญ มันไม่มีมันจะเอาอะไรไปเสื่อม ถ้าคนเจริญแล้วมันเสื่อม
นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราบวชเป็นพระ เพราะเรามีความเห็น เราอยากพ้นจากทุกข์ เราถึงมีสัจจะ เราถึงถือธุดงค์กัน ถือธุดงค์เพื่อขัดเกลา เรามาเพื่อขัดเกลากิเลสของเรา มันเป็นเครื่องขัดเกลา มันเป็นเครื่องช่วยให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงนี่เพราะอะไร เพราะเราพอใจ เรามีการกระทำ
เวลาเราเป็นพระขึ้นมาแล้ว ศีล ๒๒๗ ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อนี้อยู่ที่ความพอใจ ถ้าใครพอใจจะปฏิบัติก็ได้ ใครไม่พอใจไม่ปฏิบัติก็ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บังคับ แต่! แต่เวลาถ้าเราหวังผลล่ะ เราหวังผลจากการพ้นทุกข์ เราหวังผลจากการบรรลุธรรม เราหวังผลการชำระกิเลส ชำระกิเลสเอาอะไรไปชำระมัน
กิเลสก็คือความคิดของเรา กิเลสมันก็อยู่กับเรา กิเลสมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับหัวใจ หัวใจคิดอะไรก็คิดตามมันไปอย่างนั้นแหละ ถ้าเราไม่มีอะไรยับยั้งมันเลย เราจะไปรู้มันได้อย่างไร เราจะไปรู้จัก เราจะไปเห็นหน้ามัน เราจะไปต่อกรกับมันอย่างไร เวลาเราทำขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาขนาดไหน หลวงตาถึงบอกว่า กิเลสมันไม่ถลอกปอกเปิกเลย กิเลสมันไม่ได้สั่นไหวสิ่งใดเลย
แต่ถ้าเราจริงจังของเราล่ะ เราจริงจังของเราก็เป็นความทุกข์ ถ้าสรรพสิ่งเป็นเรา เราทำสิ่งใดไม่ได้เลย นี่มันเป็นการแสวงหา สิ่งที่แสวงหา เราต้องตั้งใจของเรา ถ้าเรามีความจริงใจของเรา มีความตั้งใจของเรา สิ่งนั้นจะเป็นความจริงขึ้นมา.. ธรรมะเป็นความจริงแต่เป็นนามธรรม แล้วเราจะเอาอะไรไปสู่ความจริงนั้นล่ะ?
สติก็เป็นนามธรรม สมาธิก็เป็นนามธรรม ความรู้สึกก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม มันคงที่มากกว่ารูปธรรมอีก ดูสิ วัตถุธาตุต่างๆ มันต้องสึกกร่อนไปเป็นธรรมดา แต่ความรู้สึกของเรา ความสุข ความทุกข์ของเรา เวลามันทุกข์ขึ้นมา มันสึกกร่อนไปไหม มันไม่เห็นสึกกร่อนไปเลย
ความรู้สึกนึกคิด นี่สิ่งที่เป็นนามธรรมๆ มันก็ต้องเป็นนามธรรม ดูสิ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความรู้สึกนึกคิดเกิดดับๆๆ แล้วมันก็เกิดอีกตลอดไป มันเกิดอยู่ตลอดเวลา ความสุข ความทุกข์มันจะเกิดดับเกิดดับของมันตลอดไป สิ่งที่เป็นนามธรรมนะ แต่ถ้าเราไปรู้ไปเห็นเข้า เราจัดการของเราได้ ถ้าเราจัดการของเราได้ นี่ไงที่ว่าที่ไหนมันเจริญแล้วเสื่อม มันเป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องหัวใจของเรา เวลาเจริญขึ้นมาแล้วมันเสื่อมไป..มันเสื่อมไป.. เราก็มีความมุมานะขึ้นมา
สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพของมันตลอดเวลา แต่เราพยายามทำคุณงามความดีขึ้นมา ถึงแปรก็แปรในสิ่งที่ดี แปรในสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดดี มันจะอัตคัดขัดสน มันจะทุกข์ยากขนาดไหน เรากัดฟันทน เวลานั่งสมาธิ ภาวนา เห็นไหม เวลาเวทนามันเกิดนี่เจ็บปวดมาก เวลาเจ็บปวดมาก ถ้าเราอยากให้หายปวด มันปวด ๒ เท่า ๓ เท่า แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พยายามดึงความรู้สึกของเรามาอยู่ที่พุทธานุสติ เวทนานั้นมันก็จะจางไป เพราะจิตเราไม่ไปรับรู้
นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรานี่เจ็บปวดมาก ความเจ็บปวด ความต่างๆ มันเป็นกรรมเก่า กรรมใหม่ทั้งนั้นนะ เวลากรรมเก่า ดูสิ เวลาเราปล่อยวางนะ เฮ้อ.. จบ! แต่ถ้าเราไม่ปล่อยวางนะ เจ็บแสบในหัวใจทั้งนั้นแหละ หัวใจมันมีแต่ความเจ็บแสบ แต่เราใช้ปัญญาไตร่ตรองสิ เวลาคนอื่นล่ะ จิตอื่นล่ะ มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาจิตอื่น สิ่งที่เป็นความรู้สึกต่างๆ เราไม่ยึดมั่นถือมั่นล่ะ ทำไมเป็นจิตเรา เป็นความรู้สึกของเรา ทำไมเรายึดมั่นล่ะ
มันก็ความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน มันก็เป็นจิตเหมือนกัน มันเป็นเพราะตัณหาความทะยานอยากของเราไง แต่ถ้าเป็นคนอื่นเขาไม่รับรู้ไม่เห็นเหมือนกับเรา เขาไม่มีความรู้สึกเหมือนกับเราว่าเราต้องการสิ่งใด เราปรารถนาสิ่งใด แต่เพราะเรารู้ของเราว่าเราต้องการสิ่งใด เราปรารถนาสิ่งใด.. อนุสัย กิเลสมันจรมา มันก็ยึดมั่นถือมั่นของมัน พอยึดมั่นถือมั่นของมัน มันไม่ได้ดั่งใจมันก็มีการกระทบกระเทือนกับหัวใจของเรา
นี่ไง เราตั้งสติของเรา สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่มันฝึก เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นนามธรรม มันก็ต้องเป็นนามธรรม.. นามธรรม เห็นไหม มรรคญาณ เวลาเป็นอริยสัจ ความคิดชอบ ดำริชอบ ความเพียรชอบ มันชอบอย่างไร ถ้ามันชอบขึ้นมามันก็สมควรแก่ธรรม.. สัจจะ อริยสัจจะ ถ้าอริยสัจจะมันเกิด อริยสัจจะมันเป็นความจริงนะ เราจะมหัศจรรย์กับความเป็นไปของเรานะ
ดูสิชีวิตของเรา เห็นไหม เราเกิดมา เวลาเรารักพ่อ รักแม่ เรามีความรู้สึกกตัญญู เราก็รักพ่อ รักแม่ มันสะเทือนใจนะ แต่เวลาจิต พอมรรคญาณมันเกิด มันเกิดในหัวใจของเรา มันสะเทือนรากเหง้าฐีติจิต สะเทือนถึงฐานของจิต สะเทือนถึงความรู้สึกนึกคิดอันนี้ มันมหัศจรรย์นะ
ชีวิตเรามาจากไหน? เรามาจากพ่อจากแม่ เราเคารพพ่อแม่เราไหม เรารักพ่อแม่เราไหม เรากตัญญูกับพ่อแม่เราไหม เราก็กตัญญูกับพ่อแม่เรา.. เวลาธรรมมันเกิด เรากตัญญูกับธรรมไหม เรากตัญญูกับสัจจะไหม สัจจะที่มันเกิดขึ้นมาในใจนี่ แล้วมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียรของเรา หน้าที่การงานของเรานะ เราก็อาบเหงื่อต่างน้ำนะ เราก็พยายามทำเต็มที่ของเรา เลี้ยงปาก เลี้ยงปากนะ
ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ เพราะเราต้องทำมาหากิน เวลาจะมาปฏิบัติเวลามันก็น้อยใช่ไหม ทางของภิกษุ ทางของนักบวชเป็นทางที่กว้างขวาง เห็นไหม เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตมานี่ดำรงชีวิตไว้ แล้วเวลาอีก ๒๔ ชั่วโมงเราจะปฏิบัติได้ตลอดเวลา
นี่ไง ทางของภิกษุ ทางของนักบวชเรา นี่ทางกว้างขวาง กว้างขวางให้เวลาเราได้เผชิญกับความจริงในหัวใจของเรา แต่เวลาทางของฆราวาสนี่คับแคบ คับแคบเพราะเวลาเราน้อย คับแคบเพราะว่าเราต้องทำมาหากิน คับแคบเพราะเราต้องมีความรับผิดชอบ เห็นไหม เขาว่าคับแคบ คับแคบตรงนั้น
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าคับแคบหรือกว้างขวางนี้มันเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้น แต่ถ้าเอาความจริงของเรานะ ถ้าจิตใจเราเปิดขึ้นมา จิตใจเราทำของเรามานะ นี่ถ้าจิตใจเราเปิด เวลานั้นมีคุณค่ามากนะ ถ้าจิตใจเขาไม่เปิด เขาฆ่าเวลานั้นเสียไป.. อายุที่ได้มาคือเวลาที่เสียไปนะ อายุที่ได้มานี่ เห็นไหม เราจะชราคร่ำคร่าไปข้างหน้า ฉะนั้นเราต้องถนอมเวลา ฉะนั้นถ้ามีเวลาแล้วต้องจริงจัง ต้องทำให้ได้
พระเราก็เหมือนกัน อย่านอนใจ เราจะต้องเข้มแข็ง เราจะต้องค้นคว้าของเรา นี่ลมหายใจเท่ากันนะ ฆราวาสเขาก็หายใจเหมือนกัน พระก็หายใจเหมือนกัน ทุกคนก็มีหายใจเข้า และหายใจออกเหมือนกัน แต่มันสำคัญที่สติ ที่ปัญญา ที่หัวใจ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
คนที่มีสติ คนที่ค้นคว้า ดีกว่าคนที่เขาปล่อยชีวิตเขาเป็น ๑๐๐ ปีนะ
ถ้าเรามีสติ แม้แต่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแม้แต่วินาทีเดียว ดีกว่าคนที่ปล่อยชีวิตนี้เร่ร่อนไปเท่ากับ ๑๐๐ ปี นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เราทำของเรา แล้วเรามีสติปัญญาของเรา เราจะไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. นี่พุทธมามกะ ถ้าเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นชาวพุทธ ถ้าเชื่ออย่างอื่นขาดจากเป็นพุทธมามกะ
ถ้าเราเชื่อของเรา เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่มีสติกับความรู้สึกของเรา โลกมันจะแตกหรือไม่แตก มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไร ชีวิตเรามีอยู่ เราตั้งสติของเรา เราแก้ไขได้หมดแหละ มันจะแตกเราก็แก้ไขมัน มันจะไม่แตก เราก็ดำรงชีวิตของเรา เพื่อสติปัญญาของเรา เอวัง