ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลูกดี

๒๑ พ.ค. ๒๕๕๔

 

ลูกดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ข้อ ๔๓๑. เรื่อง “การนั่งสมาธิ” แต่บังเอิญ บังเอิญเขาอีเมล์เข้ามายกเลิก

“ขอยกเลิกคำถามการนั่งสมาธิครับ”

ขอยกเลิกคำถามเลย ถ้าเขายกเลิกแล้ว มันก็ต้องยกเลิกใช่ไหม แต่เราไปเห็นอะไรที่มันเป็นประโยชน์อยู่ ฉะนั้น ข้อ ๔๓๑. เรื่อง “การนั่งสมาธิ” เขายกเลิกแล้วแหละ เพราะเขาว่ามันตัวโยกตัวคลอน แต่เราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ตรงนี้.. อันนี้ปัญหายกเลิกไปแล้ว แต่เราพูดเรื่องส่วนตัวของเรา เป็นการพูดของเราเอง ไม่เกี่ยวกับผู้ถามปัญหา

ถาม : (ขณะที่ขับรถเขานั่งสมาธิไง) ขณะที่ขับรถไป เห็นผู้ชายคนหนึ่งแล้วมันเปลี่ยนเป็นโครงกระดูกทันที เขาบอกเป็นโครงกระดูก แล้วพอนั่งสมาธิต่อไป เนื้อหลุด กระดูกหลุด แล้วไม่หายใจ

หลวงพ่อ : นี่ที่ว่าเขายกเลิกคำถามไปแล้ว แต่ทีนี้กรณีอย่างนี้ มันเป็นแบบว่าปัจจุบัน มันเป็นกรณีประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติ ทีนี้พอเวลากรณีของผู้ที่ปฏิบัติไป มันจะรู้ มันจะเห็น หรือสิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าอย่างนั้นเลย มันจะไปรู้ไปเห็นกับสิ่งที่โลกเขาไม่รู้ไม่เห็นกัน แล้วพอรู้เห็นปั๊บ ด้วยความที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นแบบว่าข้อมูลของเรา

เช่นเราศึกษาปริยัติ เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเวลาเราพูดไป พวกปริยัติเขาไม่เห็นด้วย อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านจบเป็นมหา พอท่านจบเป็นมหา ท่านศึกษาแล้วท่านเป็นมหานะ ท่านอยากไปนิพพาน เผอิญท่านอยากไปนิพพานมันก็สงสัย เห็นไหม ท่านอยากไปนิพพาน พระไตรปิฎก ตำราก็ชี้ไปนิพพานนั่นล่ะ แต่ท่านก็ยังสงสัย พอท่านสงสัยท่านก็บอกว่า

“ถ้ามีอาจารย์ใดองค์หนึ่ง สามารถบอกเราได้ เราจะถวายชีวิตกับอาจารย์องค์นั้นเลย”

ก็ไปหาหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นมีกิตติศัพท์มาก พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพูดกับหลวงตาครั้งแรกเลย

“มหา มหาก็เรียนมาสูง เรียนมาจนได้เป็นมหา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เทิดไว้บนศีรษะ”

คำว่าเทิดไว้บนศีรษะ เห็นไหม ให้เก็บไว้ในลิ้นชัก แล้วล็อกไว้ ใส่กุญแจไว้ อย่าให้ออกมา ให้ปฏิบัติไปก่อน ให้ปฏิบัติไปก่อน แล้วถ้าปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการปฏิบัติของเรา มันจะเป็นอันเดียวกันเลย มันจะรู้อันเดียวกันเลย

แต่ถ้าพูดถึงนะเราไม่เก็บไว้ในลิ้นชักก่อน เวลาปฏิบัติไปมันเป็นการสร้างภาพ เพราะเรารู้ก่อน เรารู้ก่อน แล้วการปฏิบัติไปหลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “มันจะเตะ มันจะถีบกัน” คือความเห็นของเรา เราปฏิบัติไปมันจะขัดแย้งกัน มันจะขัดแย้งกัน แล้วมันจะแบบว่าตกขอบไปตลอด มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา

นี่ไง อันนี้ก็กลับมาตรงนี้ กลับมาตรงที่ว่าเวลาเขาขับรถอยู่แล้วเห็นผู้ชาย พอมองๆ อยู่ ทำไมผู้ชายมันเป็นโครงกระดูกไปได้ล่ะ ทำไมสิ่งนั้นเป็นโครงกระดูกไป เห็นไหม จิตคนนี่ ถ้าพูดอย่างนี้ไปเขาบอกว่ามันเป็นภาพหลอน ถ้าวิทยาศาสตร์ก็บอกมันเป็นภาพหลอน มันเป็นภาพที่เรานึกเอาเอง

ภาพหลอนก็มี ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพหลอน ถ้าเป็นภาพหลอน อย่างเช่นเรานี่ปกติ เห็นไหม เราไปเห็นสิ่งใด เรามีความทุกข์ความยาก มันจะมองไปตามมุมมองของตัว อย่างนั้นถึงเป็นภาพหลอน แต่อันนี้มันเป็นการปฏิบัติ เรานั่งสมาธิ เราปฏิบัติมาบ้าง พอมันเกิดประสบการณ์อย่างนี้แล้ว นี่คือประสบการณ์

ทีนี้พอเกิดประสบการณ์แล้ว ผลมันคืออะไรล่ะ? ผลมันคือกลัวไง เห็นโครงกระดูกก็ต้องกลัว เห็นโครงกระดูกก็ต้องสั่นไหว นี่ไง พอเห็นโครงกระดูกมันสั่นไหว เห็นไหม นี่ที่ว่าอาการของใจๆ ก่อนที่มันเข้าสมาธิ แต่ละจิต แต่ละดวงใจ มันมีอาการแตกต่างกัน ฉะนั้นพอมีอาการแบบนี้ปั๊บมันก็ต้องสั่นไหว มันก็ต้องกลัว มันก็ต้องวูบวาบเป็นธรรมดา วูบวาบนั้น วูบวาบเพื่อไม่ให้เข้าสมาธิไง

ทั้งๆ ที่เราตั้งใจทำสมาธินะ เราตั้งใจเพื่อความสงบของใจนะ แต่พอไปเห็นปั๊บจิตใจมันก็กระเพื่อม พอจิตใจกระเพื่อม เห็นไหม นี่ไง จิตใจกระเพื่อมเพราะประสบการณ์ของมัน ฉะนั้น ถ้าเขากำหนดอานาปานสติ เราก็ต้องกำหนดอานาปานสติชัดๆ ไปเรื่อยๆ ชัดๆ ไปเรื่อยๆ มันจะมีปรากฏการณ์ เหมือนกินอาหาร กินอาหารนะเรากินอาหารเพื่ออิ่มท้อง แต่รสของอาหารไง เราไปติดรสของอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ แต่มันก็มีผลกระทบ เรื่องเห็นโครงกระดูก เห็นต่างๆ ฉะนั้นอาการต่อไป.. มันมีหลายอาการ เราถึงอยากพูดไง อาการต่อไปเวลาเรานั่งภาวนาเป็นชั่วโมงๆ แล้วเลิกไง ขณะที่ เพราะเขาบอกว่าหมดเวลา ความเห็นนะ ความเห็นที่ประสบการณ์ของใจนี่เหมือนกระโดดลงน้ำไป จิตนี่เหมือนกระโดดลงน้ำ พอกระโดดลงน้ำ ข้างบนจะกว้างแล้วแคบลง..แคบลง..จนมาบรรจบกัน

นี่กรณีอย่างนี้มันเหมือนเรากระโดดลงน้ำลงไป มันกว้างขวางใช่ไหม แล้วมันเหมือนกับที่เราปฏิบัติกัน เวลาปฏิบัติเราเครียด เห็นไหม เราเครียด เรามีความกดดัน นี่อาการมันจะเป็น เวลาคนเราเป็นอาการแบบนี้ อาการที่เกิดขึ้น ที่เราอยากพูดเพราะว่ามันเป็นประสบการณ์ของการภาวนา มันเป็นอาการอันหนึ่ง

ฉะนั้นเอามาเป็นตัวอย่าง ถ้าใครเห็นแบบนี้ อาการแบบนี้กระเพื่อมขึ้นมา เราก็กำหนดลมหายใจ กำหนดจับลมหายใจ ถ้าใครกำหนดลมหายใจๆ ไว้ ใครพุทโธ เกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธไว้ พอจิตมันมีอาการ มันเหมือน ดูสิ อุณหภูมิเวลาปกติ เวลาเราร้อน เราจะร้อนมาก เวลามันเย็น มันก็จะเย็น เห็นไหม ผิวหนังนี่รับรู้ได้

จิต! จิตจะเข้าสมาธิ จิตที่มันจะละเอียดลง มันมีปฏิกิริยาของมัน แต่! แต่มันเป็นเฉพาะบุคคลไง บางคนก็เป็นแบบนี้ บางคนก็เป็นแบบอื่น บางคนไม่มีอะไรเลย สงบไปเฉยๆ สงบลงๆ มันมีแตกต่างกัน ฉะนั้น เวลาภาวนาไป ความรู้สึกเหมือนกับกระโดดน้ำลงไป ข้างบนกว้าง แล้วก็แคบลง..แคบลง..แคบลง.. แคบลงถ้ามีสติอยู่นะ มันเหมือนกับที่เราดิ่งไง เวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจิตมันวูบลงนี่ คนจะตกใจแล้วกระเพื่อมขึ้น

ถ้ามันมีสตินะ เวลา พุทโธ พุทโธ จิตมันจะวูบลงนะ มันรู้แล้วนี่มันจะลงสมาธิ ลงไปเถอะๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเรามันจะมีปฏิกิริยาดึงขึ้น ด้วยความตกใจ นี่ปฏิกิริยาของใจมันเป็นแบบนี้

เวลาบางครั้งนะหัวใจมันเต้นผิดปกติ เต้นมากจนเครียด จนมันนั่งไม่ได้ ต้องเดินหลายๆ ชั่วโมง อันนี้มันกดดันมาตลอด มันกดดัน มันเหมือนกับแผ่นเสียงตกร่อง พอแผ่นเสียงตกร่อง เห็นไหม เวลาเรากลืนน้ำลายนี่ อึก! อึก! เวลานั่งไปนี่ตัวโยก ตัวคลอน เวลานั่งไปเกิดเหงื่อ เหงื่อจะแตกพลั่กเลย มันเป็นเหมือนกับแผ่นเสียงตกร่อง คือจิตมันฝังใจสภาวะแบบนั้น ถ้ามันฝังใจสภาวะแบบนั้น เราก็ต้องพุทโธ พุทโธจนชำนาญ จนผ่านอาการแบบนี้ไป

แต่ประสบการณ์ของจิต ดูสิ ประสบการณ์ทำงานของคน คนเรานี่ทำงานมา ๒๐ ปี ๓๐ ปี มันก็เกือบจะหมดอายุทำงานของคนๆ หนึ่งแล้วนะ แล้วเวลาเราไปสมัครงาน ผ่านงานมา ๒๐ ปี ผ่านงานมา ๓๐ ปี ชีวิตเราแทบจะหมดแล้วนะ ชีวิตทำงานของคนไม่เกิน ๔๐ ปี ๕๐ ก็จบแล้ว

ฉะนั้น ประสบการณ์ของจิต เวลาจิตมันแผ่นเสียงตกร่อง มันเหมือนกับประสบการณ์การทำงาน ฉะนั้น สิ่งที่ใครทำงานมา ประสบการณ์อย่างไร มันก็จะฝังไป เห็นไหม เราถึงบอกกรณีอย่างนี้มันเป็นพันธุกรรมทางจิต เพราะจิตมันได้พิจารณามา มันได้ดัดแปลงมา มันจะเป็นจริตนิสัยไปข้างหน้า

ถาม : เคยเห็นเป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีรูปเด็กผู้หญิงคล้ายตัวเองตอนเด็กๆ แล้วหน้าก็ออกเขียวๆ คล้ำๆ ไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้มันน่าสนใจ เห็นไหม มันเห็นตัวเองเป็นภาพของตัวเองสมัยเป็นเด็ก แล้วภาพนี่ก็คือภาพใช่ไหม เวลาเราไปดูภาพ เราไปดูศิลปะ เรายิ่งมองเรายิ่งสดชื่นใช่ไหม แต่นี้มองไปทำไมภาพมันเปลี่ยนล่ะ มันเปลี่ยนเป็นเขียว เป็นคล้ำ ทำไมมันเปลี่ยนไปได้ นี่เวลาใจมันเห็นมันแตกต่าง ความเห็นจริงมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ถ้ามันเห็นเหมือนรูปของตัวเอง ตอนที่เป็นเด็กๆ แล้วหน้าเริ่มเขียวลง คล้ำลง เห็นไหม มันก็เหมือนกับเห็นกาย

คำว่าเห็นกาย เราจะเห็นกายของเรา แล้วเราจะพิจารณาให้เป็นปฏิกูล เป็นของพึงเกลียด เป็นต่างๆ เพื่อให้จิตใจมันถอนความยึดมั่นถือมั่น ถอนสักกายทิฏฐิ แต่นี้พอมันไปเห็นเป็นภาพของตัวเองหน้าเขียว หน้าดำลง ของแบบนี้เป็นของดีทั้งนั้นเลยล่ะ เพียงแต่เราใช้ไม่เป็น เราทำไม่เป็น พอเรารู้ว่าเป็นของดีปั๊บนี่ อยากได้มันก็ไม่ได้อีกแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมา พื้นฐานเพราะเราภาวนา เราทำสมาธิ แล้วมันถึงเห็นภาพ เห็นต่างๆ เวลาเราจิตสงบแล้ว เราต้องการเห็นกาย พอเห็นกายมันก็เหมือนกับเราเห็นมันเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยม มีรูปผู้หญิง นี่มีรูปผู้หญิงมันก็เห็นกายนั่นล่ะ เห็นเขานั่นล่ะ แล้วหน้าเหมือนตัวเอง แล้วเริ่มเขียวลง คล้ำลง.. เขียวลง คล้ำลงเขียวลงคือมันเปลี่ยนแปลงไง มันเป็นไตรลักษณ์ให้เราดูไง นี้เพียงแต่เราใช้ไม่เป็น เราทำไม่เป็น แต่พอจะเป็นขึ้นมานะมันก็ไม่เกิดอีกแล้ว

ของแบบนี้นะ กว่าจะทำได้นี่อำนาจวาสนาของคน เห็นไหม เราทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้วเราจะออกพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ความเห็นอย่างนี้ ถ้าพูดถึงเห็นเป็นกาย เห็นเป็นภาพของเราคือเห็นเป็นกาย ถ้าจะมองให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ให้เห็นเป็นธรรม เห็นไหม นี่ธรรมารมณ์!

อารมณ์ความรู้สึก กระทบกับสิ่งที่เห็น แล้วมันก็สะเทือนหัวใจ ถ้ามันสะเทือนหัวใจ นี่อาการความรู้สึก ทำสมาธิอย่างหนึ่ง อาการที่มันเห็นหรือมันจะเป็นปัญญา การเห็นนี้คือการใช้ปัญญา การเห็นด้วยจิต ปัญญานี้มันจะเข้ามาสำรอกคลายความยึดมั่นถือมั่นของใจ ที่เราปฏิบัติกัน เราปฏิบัติเพื่อเหตุนี้กันต่างหากล่ะ

ฉะนั้น พอมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันเป็นความดีทั้งนั้นล่ะ มันเป็นความดี แต่ถ้าเราค่อยๆ ฝึกหัดให้ทำเป็น ใช้เป็น มันจะเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์กับเราไง

นี่เขาไม่ให้ตอบนะ เขายกเลิกแล้วนะเนี่ย ปัญหานี้ขอยกเลิก นี่ยกเลิกแล้วจบ..

มันเห็นประโยชน์ตรงนี้ไง เห็นประโยชน์ตรงที่เขาไปประสบการณ์ไง เวลาพวกเราภาวนากัน เราก็อยากจะรู้อยากจะเห็น ฉะนั้นประสบการณ์อันนี้มันเป็นความจริง อย่างที่เขายกเลิกไป อันนั้นเขาแก้จบแล้ว ก็คือจบกันไป

ฉะนั้นให้ขยันหมั่นเพียร สิ่งที่ทำมามันติดอยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ อันที่ว่า “มันบีบหัวใจแล้วนั่งไม่ได้”

เราจะต้องหาวิธีแก้ของเรา นี่เขาก็แก้ถูกแล้วแหละ เพราะเขาไปเดินจงกรมแทน เขานั่งไม่ได้ก็ไปเดินจงกรมเป็นหลายๆ ชั่วโมงนะ เขาบอกว่าเขาเดินทีหนึ่ง ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงนะ เพราะนั่งไม่ได้ แล้วเขาก็เลยเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอิริยาบถเดินแทน ถ้าอิริยาบถเดินแทน แล้วพอมันดีขึ้นนะเดี๋ยวมันก็หายเอง ของแบบนี้มันหายเอง

อย่างเช่นเราแพ้อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วพอเราแพ้เราก็หลบหลีกสิ่งอาการแพ้นั้น แล้วพอร่างกายเราสมบูรณ์ใช่ไหม มันแข็งแรงขึ้นมา อาการแพ้นั้นจะหายไป พออาการแพ้นั้นหายไป สิ่งที่เราเคยแพ้ เราก็ไม่แพ้

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันบีบคั้น ถ้าเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ พอจิตใจมันดีขึ้นนะ อาการแบบนี้มันจะหายไป มันเกิดเป็นครั้งเป็นคราวไง แต่ถ้าไปยึดมันก็ไม่เป็นครั้งคราว มันจะตลอดไป

อันนี้เป็นเรื่องธรรมะทั่วไปนะ มันเป็นคิวต้องตอบ

ถาม : ๔๓๒.เรื่อง “ศรัทธาในธรรมะ แต่กลัวเป็นคนอกตัญญู”

เขาเรียนถามเรื่องทางโลก เขาบอกว่าตัวเขาเองอายุ ๓๐ ต้นๆ สนใจในทางธรรม ปฏิบัติจริงจังมา ๓ ปี ตัวเขาเองกับแฟนอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ต้องการใช้ชีวิตครอบครัว แต่พ่อแม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เขาก็พยายามพาพ่อแม่ไปทำบุญให้แบบน้ำไหลซึม แต่ท่านก็ยังปรารภกับลูกเรื่องเดิม ท่านค่อนข้างไม่สบายใจ ยิ่งลูกเข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น ท่านยิ่งมีความกังวล อยากให้ไปเที่ยว ไปดูหนัง อยากให้ลูกใช้ชีวิตชื่นบานตามวัย ไม่อยากให้ทำตัวเป็นคนแก่ เพราะว่าสนใจในธรรมะ

ท่านมองลูกว่าเป็นเหมือนคนอมทุกข์ ซึ่งในทางกลับกัน ลูกกลับรู้สึกสงสารท่านที่ท่านคิดแบบนั้น จะอธิบายให้ท่านเข้าใจอย่างไร ลูกเห็นแล้วปลงใจว่า การใช้ชีวิตคู่มันเป็นทุกข์ในชีวิต คือเขาไม่ต้องการ ตอนนี้กังวลใจเพราะไม่สามารถทำได้อย่างหวัง กลัวเป็นลูกอกตัญญู ขณะเดียวกัน ตอนนี้เขาก็พยายามทำชีวิตของเขาให้มั่นคง ไม่ให้กระทบกับใครให้มากที่สุดในเรื่องการปฏิบัติธรรม

คำถาม..

๑. ลูกควรทำอย่างไรดีคะ ที่จะไม่เป็นคนอกตัญญู นอกจากค่อยๆ พาท่านทั้ง ๒ ไปทำบุญ ปฏิบัติธรรมแบบน้ำไหลซึม

๒. ลูกไม่ได้เก็บเงิน การที่ลูกบวชจะไม่สามารถส่งเสียท่านได้ ลูกจะบาปไหมคะ ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าบาปมาก แต่ก็เห็นทุกข์ในชีวิตแบบฆราวาสค่ะ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณีแบบว่า “งูกินหาง” เป็นกรณีงูกินหางนะ เพราะอย่างพวกเราเกิดมานี่ต้องมีพ่อแม่ทั้งนั้นแหละ แล้วเรื่องความรักของพ่อแม่ พ่อแม่ไม่รักลูก ลูกไม่รักพ่อแม่นี่ไม่มี มันเป็นความรัก เป็นความผูกพัน เหมือนงูกินหางไง

เพราะเวลาเกิดขึ้นมา นี่พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะเราได้ชีวิตนี้มา แต่พอได้ชีวิตมา เวลาเรามาศึกษาธรรมะแล้วเราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ ทีนี้พอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราอยากได้ผลเต็มที่ เห็นไหม ดูสิ เวลาเราปฏิบัติกันลุ่มๆ ดอนๆ เราก็เสียสละมาปฏิบัติจริงจัง พอปฏิบัติจริงจัง พ่อแม่ก็ห่วงชีวิตเรา ก็อยากให้เป็นฝั่งเป็นฝา ก็อยากให้มีครอบครัว ถ้ามีครอบครัวแล้วก็เป็นสุข นี่คือความเห็นไง

ทีนี้ถ้าความเห็นแบบนี้ แล้วเวลามีครอบครัวขึ้นมา แล้วถ้าเกิดมันไม่เป็นความสุขจริงล่ะ ถ้าไม่เป็นความสุขจริงขึ้นมา ก็ถือว่ามีครอบครัวแล้ว มันก็เป็นกรรมของสัตว์ นี่คือว่าความเห็นของพ่อแม่มันยังฟันธงไม่ได้ ว่ามีครอบครัวไปแล้วมันจะสมความปรารถนา การมีครอบครัวไปแล้วนี่สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้

ฉะนั้นสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ มันเป็นอนิจจัง มันยังไม่เที่ยง แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เพราะธรรมะนี่พระพุทธเจ้าการันตีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ารับรองอยู่แล้ว แล้วครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา มันเป็นไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า! เพียงแต่ว่าเราจะทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าเราทำไม่ได้จริงนะ เราทำไปครึ่งๆ กลางๆ พอชีวิตเราอายุมากขึ้นมา เราก็ว่านี่เราเสียเวลามา..

มันมีคนปฏิบัติไปแล้วไม่ถึงที่สุดนะ มันมีปัญหาอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น มันก็เป็นสิทธิของเราที่เราจะเลือก ถ้าเราจะเลือก เห็นไหม เพราะมันเป็นไปได้หมดไง มันเป็นไปได้ตามพ่อแม่คิดก็ได้ มันเป็นไปได้ตามที่เราทำจริงก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นอย่างตามความเป็นจริงของเราที่เราคิด เราจะเอาความจริงของเรา แล้วที่ว่า “มันเป็นความอกตัญญูไหม”

ถ้ามันเป็นความอกตัญญูนะ คำว่าอกตัญญู ถ้าเราไปทำผิดสิ เราเป็นลูกที่เกเร เราไปสร้างปัญหาให้กับพ่อแม่ เราไปทำให้พ่อแม่เดือดร้อนไปหมดเลย หลวงตาบอก “ลูกลากพ่อลากแม่เข้าตะราง” ทำผิดแล้วไปติดตะราง พ่อแม่ก็ต้องไปเยี่ยมที่ตะราง ลูกลาก ลูกล้าง ลูกผลาญ เห็นไหม ท่านพูดหมด แต่เวลาลูกทำความดีล่ะ เวลาเราจะทำความดีมันจะเป็นอกตัญญูที่ไหน?

ถ้ามันเป็นอกตัญญู ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนีออกบวชเหมือนกันนะ พอหนีออกบวช เห็นไหม ดูสิ พระเจ้าสุทโธทนะฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา พอหนีออกไปแล้ว พอไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา แล้วก็กลับมา

เหมือนปัจจุบันนี้เลย เราส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก นี่เราส่งไปไหน เราส่งไปอเมริกา ๕ ขวบ ๑๐ ขวบส่งไปแล้ว เวลาไปน้ำตาท่วมสนามบิน ไอ้ลูกก็ร้องไห้ ไอ้แม่ก็ร้องไห้ ทำไมล่ะ ก็เราต้องการให้ลูกเราเข้มแข็ง ให้ลูกเอาวิชาการมา ให้ลูกมันยืนได้ ทำไมทำได้ล่ะ? อันนี้ทางโลกนะ

แต่นี้ทางธรรม ทางธรรมเห็นไหม ดูสิ ถ้าลูกเรามีคุณธรรมในหัวใจ ทรัพย์สมบัติทางโลก ทรัพย์สมบัติทางธรรมมันเป็นอริยทรัพย์ โดยจิตใต้สำนึกพ่อแม่ก็เข้าใจได้ แต่ด้วยความคิดของพ่อแม่ ด้วยความคิดของโลก เขาไม่ไว้ใจว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จไง นี่ถึงว่ามันเป็นไปได้ทุกแง่มุมเลย

ฉะนั้น มันอยู่ที่ว่าความเข้มแข็งของเรา ความจริงจังของเราว่าเราจะจริงจังแค่ไหน คำว่าถ้าเราจริงจังแล้วเรารับผิดชอบชีวิตเราได้ นี่ถ้าเรารับผิดชอบชีวิตเราได้นะ ไม่เป็นอกตัญญู! ไม่เป็นอกตัญญู!

เราไปเพื่อดีไง เราไปเพื่อดีมันจะเป็นอกตัญญูที่ไหน? เพียงแต่ว่ามันเป็นความผูกพัน มันเป็นความห่วงของพ่อแม่ทั้งนั้นแหละ พ่อแม่ต้องเป็นห่วงเป็นธรรมดา แล้วดูสิ เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลานักปฏิบัติอยู่ในวงปฏิบัติเขาจะรู้กัน มันเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนล่ะ ถ้าเป็นนักปฏิบัติจริง แล้วมุ่งสู่การปฏิบัติจริง ปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นเรื่องอันดับรอง จะไม่มาแย่งมาชิงกัน มาอะไรนี่ไม่มี ทำด้วยความสบายมากเลย ทำด้วยความจริงจัง

ฉะนั้นทำด้วยความจริงจังนะ เพราะเราปรารถนาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านี้ เราปรารถนาสิ่งที่มีคุณค่ากว่าในปัจจัยเครื่องอาศัย เราปรารถนาสิ่งที่มีคุณค่าในการยอมรับในสังคม ที่ใครจะมองหน้าหรือไม่มองหน้า ไม่สนเลย เพราะเราต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน เพราะสิ่งที่จะเอาตัวรอดได้หรือไม่ได้ มันเป็นที่หัวใจเรานี้ เราเป็นคนรู้ก่อน แล้วถ้าเราได้สมาธิ เราจะรู้ว่าเราได้สมาธิ เราได้ปัญญา เราจะรู้ว่าเราได้ปัญญา ถ้าเราไม่ได้อะไรเลย เราก็ยังสงสัยในความเห็นของเราเลย แล้วจะให้คนอื่นเขายอมรับๆ มันเป็นไปได้อย่างไร

แต่พอเราเองก็ยังสงสัย เราเองก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ แต่เวลาคุยกันจะข่มกัน จะเอาชนะคะคานกัน นี่ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง มันก็เลยกลายเป็นธรรมะหมากัดกัน เถียงกันไปเถียงกันมา นี่พูดถึงในวงปฏิบัตินะ อย่างนี้ในวงปฏิบัติเราก็รู้กันได้

ฉะนั้นเพียงแต่ว่ากลัวเป็นลูกอกตัญญู เราไม่เห็นด้วย เราว่าไม่เป็นอกตัญญู แต่เราทำคุณงามความดีมากกว่า เพียงแต่ว่าถ้าอกตัญญู เห็นไหม นี่กตัญญูกตเวที เราทำคุณงามความดีนี่กตัญญู แล้วกตัญญู นี่พระยาสามอะไรที่ว่าหาบพ่อหาบแม่ไปตลอดเวลา ให้ขี่ข้างซ้าย ข้างขวา กับถ้าเราเปิดตาพ่อแม่ได้

เราเปิดตาคือว่าเอาพ่อแม่เข้ามาในศาสนา เอาพ่อแม่มาเปิดตาได้นะ มันมีคุณประโยชน์มากกว่านี้หลายเท่านัก เพียงแต่โลกเขาจะเห็นกันหรือไม่เห็นกัน นี่มันพูดกันยาก ด้วยมุมมองของโลกนะ ถ้าวันไหนจิตใจมันยังเป็นโลกอยู่ มันก็บอกว่าโลกดีกว่าธรรมแน่นอน แต่ถ้าวันไหนหัวใจมันเปิดขึ้นมานะ มันสะเทือนใจ น้ำตาไหลพรากๆ เลย ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้

ทีนี้กรณีอย่างนั้น เราจะเอาอะไรไปการันตีว่าเราจะไปเปิดตาของชาวโลกได้ทั้งหมด ชาวโลกก็เป็นชาวโลก นี่มันเป็นคุณสมบัติของเรา ในเมื่อใจของเรามั่นคง ใจของเรานี่ศรัทธา ใจของเรามีการกระทำ ของสิ่งนี้มันจะไปหาที่ไหน เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม เวลาท่านเทศน์เอาใจคน ให้ใจคนสนใจเข้ามา ถ้าสนใจแล้วให้ปฏิบัติ นี่ท่านจะพูดเล่นพูดหัวก็แล้วแต่นะ เดี๋ยวหมอนแตก เดี๋ยวอะไร ท่านพูดแหย่พวกเราตลอดเวลา ให้พวกเราตื่นตัวตลอดเวลา

นี่ไงถ้ามันตื่นตัวขึ้นมา ถ้ามันทำแล้วมันเข้าไปรู้ไปเห็นขึ้นมา นั่นล่ะประสบการณ์ของเขา ถ้าอันนั้นเป็นความจริง อันนี้ถึงจะเป็นผลของธรรม ฉะนั้น ถ้าเป็นอกตัญญูๆ เราจะบอกว่าทำอะไรก็จะเป็นอกตัญญูไปหมด.. มันไม่ใช่ อภิชาตบุตรนะ เพียงแต่ว่าเรื่องทางโลก ทางโลกเป็นแบบนั้น เพราะนี่คำถามที่ ๒ เรื่องของทางโลก

ถาม : ข้อ ๒. ลูกไม่มีเงินเก็บ การที่ลูกบวช และไม่สามารถส่งเสียท่านได้ ลูกจะบาปไหมคะ ใจหนึ่งก็รู้สึกบาปมาก แต่ก็เห็นทุกข์ของในชีวิต

หลวงพ่อ : มันจะบาปไปไหน เพราะมันเป็นความจริงนะ ความจริงนี่.. มันมีสมัยพุทธกาล มันมีเศรษฐีนะ ตระกูลเศรษฐี แล้วลูกนี่ออกบวช พอออกบวชไปนะภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง ๑๖ ปีนะ ภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง ก็ห่วงพ่อแม่เหมือนกัน เวลาอยากออกบวช อยากออกบวชมาก เป็นเศรษฐีเลยนะก็สละบวชไป

ทีนี้พ่อกับแม่มีลูกคนเดียว.. เราจำชื่อไม่ได้ อยู่ในพระไตรปิฎก พอลูกออกบวช พ่อแม่อยู่กับคนใช้ไง คนใช้มันโกงหมดเลยนะ พอเวลาแก่เฒ่า มันหยิบมันซ่อนสมบัตินี้หมดเลย พอสมบัติหมดเลย พ่อแม่ ๒ คนนี้กลายเป็นขอทาน ทีนี้พอเป็นขอทาน ข่าวมันไปถึงลูกชาย ลูกชายนี่ธุดงค์อยู่ พอทีนี้ลูกชายก็กลับมา กลับมาถึงทาง ๒ แพร่ง แยกหนึ่งจะไปราชคฤห์ไปหาพระพุทธเจ้า อีกแยกหนึ่งก็จะแยกไปหาพ่อแม่ จะไปทางไหนก่อน จะไปเยี่ยมพ่อแม่ก่อน หรือจะไปหาพระพุทธเจ้าก่อน

ตัดสินใจไปหาพระพุทธเจ้าก่อน พอไปหาพระพุทธเจ้าก่อน ก็เหมือนลูกนี่แหละว่าจะมาสึก เพราะมาบวชนี่แหละ เพราะพ่อแม่เป็นเศรษฐี เพราะมาบวชนี่แหละทำให้คนใช้มันโกงพ่อแม่ กลายเป็นขอทานไปเลย สำนึกผิด จะมาขอพระพุทธเจ้าสึกเพื่อจะไปเลี้ยงพ่อแม่

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่ต้องสึกๆ พระก็เลี้ยงพ่อแม่ได้ พระก็เลี้ยงพ่อแม่ได้”

พระองค์นี้ก็เลยไม่สึก ไม่สึกก็ธุดงค์กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ โอ้โฮ.. ต่างคนต่างร้องไห้กันโฮๆ เลยล่ะ เพราะว่ากิเลสยังท่วมหัวกันอยู่ เอาพ่อเอาแม่มาอยู่วัดนะ แล้วบิณฑบาตเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เห็นไหม เพราะเขาตั้งใจจริง เวลาออกบวชจะเป็นพระอรหันต์ให้ได้ แต่ไปปฏิบัติอยู่ ๑๖ ปียังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แล้วพอได้ข่าวว่าพ่อแม่นี่ จากเศรษฐีจนกลายเป็นทุคตะเข็ญใจ ก็เอาพ่อแม่มาแล้วเลี้ยงดูพ่อแม่ บิณฑบาตมาเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย แล้วดูแลรักษาพ่อแม่ด้วย สุดท้ายจนพ่อแม่สิ้นชีวิตไป แล้วพระองค์นี้ปฏิบัติไปจนถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์ด้วย ไม่เห็นผิดเลย

ทีนี้เพียงแต่ประเพณีของเราใช่ไหม พระไปเกี่ยวข้องกับโยม มันเป็นที่น่ารังเกียจอะไรต่างๆ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะบวช ลูกอยากบวช ลูกอยากจะอยู่วัด เราก็ดูแลพ่อแม่ได้ เราดูพ่อแม่ได้ ถ้าพูดถึงวัดที่เป็นธรรมเสียหน่อยหนึ่ง ถ้าวัดไม่เป็นธรรม ถ้ามานี่มีผลประโยชน์ให้เขา เขาก็ให้อยู่ ไม่มีผลประโยชน์ให้เขา เขาก็ไม่สนใจ ถ้าวัดที่เป็นธรรมนะ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของธรรม

ฉะนั้นที่ว่าไม่มีเงินเก็บ จะบวชแล้วไม่มีใครส่งเสียพ่อแม่ เวลาไปเที่ยวเล่น ไปขี้เหล้าเมายานี่ไม่คิดถึงพ่อแม่เลยเนาะ เวลาจะทำดี แหม.. ห่วงพ่อห่วงแม่ไปหมดเลย เวลาเพื่อนมันพาไปเที่ยว โอ๋ย.. เพื่อนมันไป เวลาโลกมันเป็นแบบนั้น เห็นไหม

เราจะบอกว่า คนเราก็แค่กินอิ่ม คนเราก็แค่อยู่ นี่เราดูแลได้นะ เราดูแลกันได้ ดูแลพ่อแม่ เราว่าถ้าดูแลโดยปัจจัย ๔ เราว่าดูแลได้ แต่เราคิดกันไปเลยเถิดไง เวลาความคิด อย่างเช่นพระจะสึกนี่นะ มันจะคิดเลยว่าสึกออกไปจะเป็นเศรษฐีใหญ่ จะทำอะไรจะประสบความสำเร็จทุกอย่างเลย จะไปทำอะไรนี่เงินทองจะไหลมาเทมาทั้งนั้นเลย เวลามันสึกไปแล้วนะ มันทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จซักอย่าง

ความคิดคนมันร้ายกาจขนาดนี้ นี่เวลาพระจะสึกนะ ออกไปนี่ ประกอบอาชีพอะไรเงินทองจะไหลมาเทมาทุกอย่างเลย มันคิดได้ทั้งนั้นแหละ ในมุมกลับ นี่แค่เราจะมาบวชใช่ไหม เราจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เรายังวิตกกังวล.. ใช่ มันเป็นกระแสสังคม มันเป็นเรื่องสังคมเขามองอยู่ใช่ไหม เราอยู่กับสังคมเราก็ต้องฟังเขา แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรานะ แล้วนี่มันมีคติธรรมที่จะมาแก้ไขตรงนี้ได้

อย่างนี้นะเราต้องคบเพื่อนที่ดี คบบัณฑิตไง แล้วบัณฑิตพยายามจะดึงกันไปให้เรามีหลักมั่นคงของเรา ถ้าเราอยู่กับบัณฑิตนะ บัณฑิตจะเป็นที่ปรึกษา จะชักนำ เหมือนกับเวลาเราคลอนแคลน เราอับเฉา ก็จะมีคนคอยเตือนเรา คอยกระทุ้งเรา ให้เรามั่นคงขึ้นมา

นี่ความคิดที่ดีๆ เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม ต้องการให้ชาวพุทธเรา ต้องการให้คนทั่วไปศรัทธาให้มั่นคงในศาสนา ถ้าเรามีความมั่นคง มีความศรัทธา เราเองจะได้ประโยชน์ เพราะความศรัทธานั้นจะทำให้หัวใจนี้มาพิสูจน์ พิสูจน์เรื่องจริงทุกอย่างในชีวิต ฉะนั้นถ้าเราไม่ศรัทธา เราก็ว่ามันเรื่องอะไรกัน มันคุยกันคนละเรื่องไง ไม่เข้าใจเลย ถ้าหัวใจยังไม่ศรัทธา มันไม่เปิดของมัน

ถ้าหัวใจมันศรัทธานะ มันก็เริ่มค้นคว้า เริ่มสนใจ พอเริ่มสนใจ พอมันค้นคว้าไปมันก็จะอย่างที่พูดเริ่มต้น เห็นไหม มันจะมีประสบการณ์ มันจะมีอาการ มันจะรู้ มันจะเห็น มันจะเป็นไป.. แล้วรู้เห็นที่ไหนล่ะ รู้เห็นคนเดียว รู้เห็นโดยปัจจัตตัง รู้เห็นโดยจิตของเรา จะไม่มีใครรู้ใครเห็นไปกับเรา แต่ถ้าจะรู้จะเห็นกับเรา คนที่ปฏิบัติด้วยกันถึงจะรู้เหมือนกัน

ทีนี้พอเราปฏิบัติไป เราทำของเราไป มันจะมีประสบการณ์ของมัน มันจะมีประโยชน์ในใจ เป็นสันทิฏฐิโก อันนี้มันจะเป็นความจริงของมันไป นี่ถึงบอกว่าถ้ามีบัณฑิต มีเพื่อนนะ คอยดึงกันไว้ เพราะว่าศรัทธานี้สร้างยากแต่เสื่อมง่าย ไม่ศรัทธาง่ายมากเลย แต่ศรัทธาให้มั่นคงนี่ยาก เห็นไหม เขาถึงบอกว่าอจลศรัทธา

เวลามันเป็นอจลศรัทธา ศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ถ้าศรัทธามันยังคลอนแคลนอยู่นะ เวลาเราปฏิบัติไป เราทำของเราไป มันเป็นอจลศรัทธา ฉะนั้นถ้าตรงนั้นมันเกิดขึ้นมา เราก็จะมั่นคง เรื่องกรณีอย่างนี้นะมันเหมือนกับมาร มารในใจของเรา เห็นไหม นู่นก็ยังไม่ได้ทำ เงินก็ยังไม่ได้เก็บ ก็จะต้องตั้งปณิธาน จะเก็บเงินก้อนหนึ่งไว้ให้พ่อแม่อยู่สุขสบาย เราก็ต้องขวนขวายการทำงาน พอขวนขวายการทำงานใช่ไหม พอจิตมันไปทำงานจิตมันก็เสื่อม พอเสื่อม ทำงานไปๆ มันก็เลยอยู่กับงาน มันก็เลยไม่กลับมาเลย

มันมีความผูกมัด กิเลสนี่ มารนี่นะมันจะมีเทคนิค เห็นไหม เราจะมาประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องว่า “เดี๋ยวจะเป็นคนอกตัญญู เราจะปฏิบัติแล้วเราก็จะไม่เคารพกับพ่อแม่” ทั้งๆ ที่มันเคารพอยู่ มันก็เคารพอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในเมื่อความจริงมันเป็นแบบนี้ เราจะเอาความจริงให้ได้ก่อน พอได้ความจริงก่อน เดี๋ยวเราจะมาสอนพ่อสอนแม่นะ เราจะมาช่วยดูแลพ่อแม่ทีหลังก็ได้ ถ้ามันยังมีบุญต่อกัน เพราะชีวิตคนมันไม่แน่นอนไง

ฉะนั้น สิ่งนี้ “ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าบาปมาก แต่ก็ทนเห็นทุกข์ของชีวิต” นี่เพราะเห็นพ่อแม่หน้าเศร้าไง ใจหนึ่งก็รู้สึกบาป มันสะเทือนใจ เราเห็นความเศร้าหมอง ถ้าเห็นพ่อแม่มีความสุข มีความครึกครื้นเราก็ดีใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องโลกไป พอเห็นพ่อแม่เศร้าหมอง อมทุกข์กับเรา อมทุกข์เพราะเป้าหมายมันไม่เหมือนกัน เพราะพ่อแม่เขาต้องคิดว่าเรามีเงินมีทอง มีสถานะแล้วเราจะมีความสุข ไอ้เราก็จะคิดปฏิบัติใช่ไหม เราก็จะเสียสละใช่ไหม เราก็จะอยู่ของเราใช่ไหม

นี่มันต้องไปแก้กันที่ฐีติจิต มันต้องไปแก้กันที่มุมมอง ถ้าเขามุมมองว่า “เออ.. ลูกเราไปปฏิบัติธรรม ลูกเราเป็นคนดีขึ้นมา ลูกเราจะมีความสุข” ถ้าเขาคิดอย่างนี้ปั๊บเขาก็ดีใจกับเรา แต่นี้เขาไม่ได้คิดแบบนี้

อันนี้เขาบอกว่า “มันจะเป็นอกตัญญูไหม” กลัวจะเป็นอกตัญญู ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บนะจบเลย เพราะว่าเริ่มต้นก็คิดผิดไง ตั้งเป้าผิดแล้วนะ ความคิดเราจะผิดไปหมดเลย แต่ถ้าเราตั้งเป้าถูกนะ ไม่ใช่อกตัญญู ไม่ใช่อกตัญญู กตัญญูต่างหาก โลกเขาหาทรัพย์สมบัติทางโลกกัน เราจะหาทรัพย์สมบัติในทางธรรม เพื่อครอบครัวของเรา มันจะไปอกตัญญูที่ไหน ถ้าเราทำของเราได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา.. อันนี้คำถามนี้เนาะ

ข้อ ๔๓๓. ไม่มี

ถาม : ๔๓๔. เรื่อง “กราบนมัสการขอบคุณหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง”

จากคำตอบของหลวงพ่อวันที่ ๕ ทำให้ผมมีความมั่นใจในการปฏิบัติที่กำลังทำอยู่ และผมก็หมั่นฝึกฝนไปตามที่ผมได้กราบเรียนหลวงพ่ออย่างไม่ท้อถอยครับ ขอกราบนมัสการขอบคุณหลวงพ่อได้ด้วยความเคารพอย่างสูง

หลวงพ่อ : ถ้าเขาได้ประโยชน์ เราก็โอเคเนาะ เพราะว่าเวลาถามมานะ ถ้ามันเป็นปัญหาที่เราตอบได้เราก็ตอบ ถ้าปัญหาบางอย่างตอบไม่ได้.. ทีนี้การตอบปัญหาเรื่องการปฏิบัติ

เรื่องการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าจะต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์ ถ้าไม่มีประสบการณ์ อย่างที่พูด เห็นไหม ตอบโดยสูตร ต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นๆ ต่อไป นี่ต่างคนต่างงงนะ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ คนที่เทคนิคคือว่ามีประสบการณ์ในใจ ท่านจะรู้เลยว่า นี่ถ้ามาอย่างนี้ จิตใจมันจะต่อไปอย่างไร

ถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้ว เป็นสมาธิก็คือสมาธิ แล้วพอเป็นสมาธิ เวลาเกิดปัญญานี่ความรับรู้มันแตกต่างกัน แต่เวลาคนปฏิบัติมันงง มันงงนะ เออ.. เป็นสมาธิมันก็มีความสุข แล้วพอเป็นปัญญานี่ อืม.. มันชักกวนใจแล้ว เอ๊ะ.. มันทำให้เราชักแบบว่าเนือยนาย เหนื่อยหน่าย อืดอาด เอ๊ะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะสมาธิมันเริ่มใช้งานไป พอใช้ปัญญาไป พอปัญญาไปเห็นครั้งแรก

เหมือนประสบการณ์ที่ว่านั่นล่ะ มันจะเห็นเป็นรูป เห็นไหม จากรูปเราแก่เฒ่า จะเขียวจะช้ำ มันจะเป็นเปลี่ยนสภาพมัน ถ้าจิตมันมีกำลังนะ ถ้าจิตไม่มีกำลังมันจะเห็นเฉยๆ นี่ถ้าเห็นเฉยๆ มันรู้เลยมันถดถอยแล้ว ถ้าถดถอยก็ต้องกลับมาทำสมาธิ ทำสมาธิไปแล้วต้องใช้ปัญญาต่อเนื่องกันไป

นี่ความต่อเนื่อง หัดต่อเนื่องไปๆ ขยันหมั่นเพียรไป พอขยันหมั่นเพียรไป มันเป็นประสบการณ์ เห็นไหม ประสบการณ์ชีวิตๆ หนึ่ง ประสบการณ์จิตของขั้นๆ หนึ่งนะ ประสบการณ์ของขั้นโสดาบัน ประสบการณ์ของสกิทาคามี ประสบการณ์ของอนาคามี ประสบการณ์แต่ละประสบการณ์

แล้วประสบการณ์นี่ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือมีประสบการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ คือไม่สมุจเฉท แต่ถ้ามีประสบการณ์นะ มันมีประสบการณ์ของมัน แล้วมันสมุจเฉทเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ไอ้ตรงสมุจเฉทนั่นแหละมันบอกคนอื่นได้ บอกคนอื่นตรงไหน บอกคนอื่นที่ว่ามันสรุปไง มันจบ กระบวนการมันจบสิ้น มันสมุจเฉทปหาน มันก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี

ถ้าใครไม่เคยมีประสบการณ์ตรงนี้ มันพูดเป็นสูตรไง พูดเป็นสูตรว่าฉันรู้นะ มันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี แต่ความจริงล่ะ? เพราะมันพูดไม่ถูก ฉะนั้น นี่พูดถึงผู้ที่สั่งสอน ผู้ที่ชี้นำ ถ้ามีประสบการณ์จริง มันก็เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันลังเล เพราะเรารู้เราเห็นไง เรารู้เราเห็น แต่รู้แล้วไม่รู้.. รู้เห็นคือรู้การปฏิบัติ รู้แล้วไม่รู้ ไม่รู้เพราะรู้อะไรล่ะ รู้แล้วงงไง เออ.. รู้เห็นแล้วมันต้องฉลาดเนาะ เออ.. รู้แล้วไม่รู้อะไรเลย พอรู้แล้วยิ่งงง ยิ่งรู้แล้วนะ

“หลวงพ่อนี่อะไรครับ หลวงพ่อนี่อะไรครับ”

อ้าว.. ก็เอ็งไปรู้ไปเห็น ทำไมเอ็งไม่รู้ล่ะ.. ไม่รู้เพราะว่าเรารู้เห็นระหว่างการปฏิบัติ มันรู้ในระหว่าง มันยังไม่จบสิ้น แต่ถ้าวันไหนจบสิ้นนะ ผลัวะ! มันจบแล้ว ไม่ต้องบอก

สังเกตได้ไหม หลวงตา หรือหลวงปู่มั่นท่านบอกเลย

“แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ถาม ไม่ถาม ถ้าถามก็คือไม่รู้”

นี่ไง ถ้ามันรู้ แล้วรู้จริงก็จบ ไอ้รู้แล้วไม่รู้นี่ มันก็เป็นอย่างนี้โดยข้อเท็จจริง.. รู้ไปเรื่อย แต่ก็สงสัยไปเรื่อย แล้วเราก็ปฏิบัติซ้ำไปเรื่อย แต่ถ้ารู้แล้วไม่เข้มแข็งนะ รู้แล้วถดถอยนะ มันก็ทำให้เราเสื่อมไป แล้วพอจะปฏิบัติก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องทำอย่างนี้ใหม่ แต่ถ้ารู้แล้วขยันหมั่นเพียรจนถึงที่สุด รู้แล้วจบ! รู้แล้วจบเป็นขั้นเป็นตอนเลย อันนั้นเป็นอันคงที่ แต่ในระหว่างที่ทำมันจะล้มลุกคลุกคลาน รู้แล้วก็ยังต้องต่อสู้ไปเรื่อย ไม่ใช่รู้แล้วมันจะจบเลย

รู้ ตทังคปหาน ตทังคปหานคืออนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เห็นไหม เป็นไตรลักษณ์ ถ้ารู้นะ รู้โดยอนิจจัง ยังไม่คงที่ มันยังเป็นอนิจจัง มันยังแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา นี่ความรู้อย่างนี้ มันเป็นรู้ระหว่างการปฏิบัติ ถ้าเราทำถึงที่สุดแล้วมันจะประสบความสำเร็จ

ฉะนั้น ถ้าเขาได้ฟังแล้ว เขาได้ชื่นใจ เขาได้มั่นคง เราก็ดีใจ.. ดีใจหมายถึงว่า คนปฏิบัตินี่ ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมังนะ แต่มันก็เป็นสายบุญสายกรรม ถ้าพูดถึงคนปฏิบัติแล้วมีครูมีอาจารย์มันทำให้มั่นคง มั่นคงคือใจเป็นเอกภาพ พอใจเป็นเอกภาพ ทำอะไรแล้วจริงจังแล้วได้ผล แต่ถ้าเราไม่มั่นคง ละล้าละลัง ทำด้วยความลังเลสงสัย

มันอยากทำ อยากทำจริงๆ แต่ก็ลังเล ลังเลก็คือนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันต้องค่อยๆ แก้ไป ค่อยๆ แก้ไป จนไม่มีความลังเล ทุ่มกันเต็มที่เลย ผิดก็คือผิด ผิดเดี๋ยวแก้ไข แต่ถ้าถูกก็ดีมาก ผิดก็คือผิด ไม่ต้องไปกังวล ผิดก็คือผิด แต่ทำให้จริงจัง ผิดปั๊บเดี๋ยวเรารู้เลยว่าผิด แล้วแก้ไขของเราไป เห็นไหม มันจะไม่เกิดความลังเล จะไม่เกิดนิวรณธรรมเนาะ สาธุเนาะ เอวัง