เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันพระวันทำบุญ บุญเป็นนามธรรม ว่าทำบุญนะ ว่าทำบุญมีความสุข แต่ถ้าเราทำบุญด้วยทิฏฐิมานะ เวลามาเราต้องให้ได้ดั่งใจเรา...มันไม่ได้ดั่งใจเราหรอก เพราะเวลาใจเราคิด เห็นไหม ความคิด ความคาดหมาย ทิฏฐิความเห็นของเรามันระดับนี้ แต่ทิฏฐิความเห็นของเรามันเป็นโลกนะ

“สัมมาทิฏฐิ” ถ้าสัมมาทิฏฐิมันก็ยังเป็นทิฏฐิอยู่ สัมมาทิฏฐิ เวลาปัญญาชอบ ถ้าปัญญามันละเอียดเข้าไปนะมันจะเห็นความผิดพลาด

คำว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” นี่คนถามบ่อยมาก “มันฆ่าอย่างใด มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ทิฏฐิ ถ้ามันยึดมั่นของมัน มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปไม่ได้ ถ้าละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ความละเอียดลึกซึ้ง...

เขาบอกว่า เวลาทำบุญขึ้นมา เราทำบุญด้วยแรงปรารถนาของเรา ความปรารถนาคือศรัทธานะ ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาทำให้เราแสวงหา การแสวงหานี้เราทำขึ้นมาเพื่อเป็นบุญกุศลของเรา บุญกุศลที่ไหน ?

การเสียสละ ดูสิ แม้แต่เราให้ทางกัน คือเราหลบหลีกให้คนอื่นเขาไปก่อน มันเป็นบุญกุศลแล้ว แต่ถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม ความสะดวกของเราไง ความสะดวกรวดเร็วของเรา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเราหลบหลีกให้คนอื่น สิ่งนั้นมันเป็นผลเสียของเรา นี่พูดถึงทิฏฐิของมัน พูดถึงความยึดมั่นถือมั่นของใจ

แต่ถ้าเราศึกษาของเรา เราเข้าใจของเรา เราให้เขาไปก่อน แล้วเราสมเพชนะ คนเรานี่กระหืดกระหอบมาแล้วผ่านเราไป เราหลบทางให้เขา แล้วเรามองย้อนหลังไปสิ เราเห็นเขาวิ่งเต้น เห็นไหม เขาต้องวิ่งเต้นของเขา เขาต้องมีความขวนขวายของเขา

แต่ของเราล่ะ เราควบคุมใจของเราได้ มีความจำเป็นไหม ชีวิตนี้มีความจำเป็นไหม ? มีความจำเป็นทุกคน ทุกคนมีลมหายใจเท่ากัน มี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน แต่ใครจะใช้เวลานั้นเพื่อประโยชน์กับชีวิตเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราใช้เวลาของเราโดยไม่เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “หายใจทิ้งเปล่า ๆ”

การหายใจของคนมันต้องสืบต่อ อาหารอันละเอียด ออกซิเจนเป็นอาหารอันละเอียดของร่างกาย การหายใจของคนมีทุก ๆ คน แต่หายใจมีสติกับหายใจไม่มีสติ หายใจมีพุทโธและหายใจไม่มีพุทโธ การหายใจไม่ทิ้งเปล่า ๆ มันไม่ทำให้เวลาเราเสียไป นี้พูดถึงถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะเกิดประโยชน์กับเรา เราถึงเข้าใจว่าบุญกุศลมันเป็นแบบใด ถ้าบุญกุศล เห็นไหม มันเป็นบุญกุศลคือมันชอบธรรมของมัน มันชอบธรรมนะ

บุญกุศลของเด็ก ถ้าพูดถึงเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย เด็กที่ไม่อ้อน เด็กที่ไม่กวนพ่อแม่ เป็นเด็กดี พอเด็กมันเติบโตขึ้นมา เราต้องให้มีการศึกษา เขาต้องแสวงหาปัญญาของเขา เขาต้องมีประสบการณ์ของเขา เราก็ว่าเด็กนั้นมันเริ่มซุกซนขึ้นมา เวลาโตขึ้นมา เรามีการศึกษาขึ้นมา จนเรามีปัญญาของเราขึ้นมา เราว่าสิ่งนี้เป็นความชอบธรรม สิ่งนี้เป็นความชอบธรรม เห็นไหม ความชอบธรรม

ในปัจจุบันนี้เวลาแสดงธรรมแสดงเป็นวิทยาศาสตร์ ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เราต้องมีเหตุและผล” แต่เหตุผลนี้เป็นเหตุผลของโลก ถ้าเหตุผลของโลกนะ พอเหตุผลของโลก เราพยายามเอาสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่ความรู้สึกให้มาเป็นโลกทั้งหมด แล้วเราอธิบายได้อย่างไร

ดูสิ เวลาเรามีการศึกษา เห็นไหม ปัญญาไม่ต้องแบกไม่ต้องหาม นี่ความรู้สึกนึกคิดของเรามันไม่ต้องแบกไม่ต้องหาม แต่ถ้ามันเป็นเหตุ เป็นข้อเท็จจริง เป็นเอกสาร นี่มันต้องแบกต้องหาม ถ้ามันต้องแบกต้องหาม มันมีไปหมดน่ะ

จนปัจจุบันนี้ คอมพิวเตอร์ไม่ต้องใช้กระดาษ ไม่ต้องใช้กระดาษ เพราะกระดาษนี่เราต้องโค่นต้นไม้ เราต้องมาทำกระดาษขึ้นมาให้มาเป็นวัตถุไว้ใช้สอย แต่เวลาพอมีคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเขาบอกไม่ต้องมีกระดาษ แต่มันก็ยังต้องใช้อยู่ตลอดไป มันไปปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้หรอก

“รูป” กับ “นาม” รูป เห็นไหม รูปวัตถุ ข้าวของสิ่งของเราจำเป็นต้องใช้ ความรู้สึกนึกคิด แต่สิ่งที่เป็นนามมันมีความสำคัญมากกว่า สำคัญมากกว่าเพราะมันสุขมันทุกข์ ถ้ามันสุขมันทุกข์ขึ้นมานี่เราทำบุญกุศลกันเพื่อเหตุนี้

เหตุขึ้นมา เห็นไหม เรามีความสุขนะ เราทำทุกอย่างพร้อมหมดเลย เวลาคนเราปากกัดตีนถีบ เราต้องหาเพื่อการดำรงชีวิต แต่คนที่มั่งมีศรีสุขนะ เขาสุขสบายของเขา ทุกอย่างเขาพร้อมของเขา แต่เขาก็ทุกข์ใจของเขา เขาจมกองทุกข์อยู่นั่นนะ เงินมองไปนี่มันมีกองเต็มบ้านเต็มเมือง วัตถุข้าวของมีทุกอย่างเลย แต่ทำไมมันไม่มีความสุขล่ะ ทำไมมันทุกข์ล่ะ นี่ไง นี่พูดถึงวัตถุไง

ในเมื่อมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ การดำรงชีวิตต้องมีปัจจัย ๔ วัตถุเราต้องมี แม้แต่ชีวิตเราต้องใช้อาหาร ต้องอาศัยอาหารดำรงชีวิต เห็นไหม สิ่งนี้มันต้องมี แต่มีเพื่อใช้สอย มันเป็นโลก

สิ่งที่เป็นโลกก็คือโลกนะ สิ่งที่เป็นธรรมก็คือธรรม ธรรมมันเหนือโลกทั้งนั้นน่ะ แต่ในเมื่อธรรม เวลาแสดงธรรม ๆ ต้องแสดงออกมาเป็นโลก แสดงออกมาเป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุเป็นผลนี่มรรคหยาบแล้ว เวลาแก้ปัญหาของใครคนหนึ่ง เขาบอกว่าธรรมะเป็นแบบนี้ แล้วเวลาคนอื่นล่ะ คนอื่นจะเป็นแบบนี้ไหม

เราปฏิบัตินะ เราปฏิบัติสูงส่งเลย เราปฏิบัติจนหลุดพ้นไปแล้วนะ เขาบอกว่า “ต้องเป็นแบบนี้” เราต้องทำตัวเราให้ต่ำต้อยลงมาเป็นขนาดนี้เหรอ เราต้องเอาวัตถุมาเปรียบเทียบเราตลอดไปเหรอ ? มันไม่ใช่ จิตใจเรามันพ้นไปแล้ว มันก็คือพ้นไปแล้ว แล้วพ้นไปนี่พ้นอย่างไรล่ะ พ้นอย่างไร ? ไอ้การพ้นอย่างไรนั่นเห็นไหม มันถึงเอาธรรมอันนี้มาสั่งสอนเราไง

ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือวิธีการทั้งหมด วิธีการนะ วิธีการเข้าสู่เป้าหมาย เวลาเราพุทโธ ๆ เข้าสู่เป้าหมายคือจิตสงบ เวลาเราใช้ปัญญา ๆ ปัญญาก็คือการถอดถอน การชำระล้างกิเลส ปัญญาก็คือปัญญา ปัญญาเพื่อเอามาถากเอามาถาง เอามาชำระกิเลสของเราใช่ไหม เอามาเพื่อความรู้แจ้งใช่ไหม

เวลาเรามีความทุกข์ในหัวใจ เราก็ว่า “ทุกข์มาก ทุกข์มาก” แล้วเวลาเราบอกทุกข์แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติสิ

“โอ้โฮ ! มันทุกข์ขนาดนี้ปฏิบัติอะไรอีกล่ะ โอ้โฮ ! มันทุกข์ขนาดนี้ต้องปฏิบัติอีกหรือ”

ก็การปฏิบัตินั่นล่ะมันแก้ทุกข์ แก้ทุกข์อย่างไร นี่เวลาทุกข์ ทำไมมันถึงทุกข์ล่ะ ? นี่ไงปัญญามันเข้ามาแล้ว ปัญญามันเข้ามาฟาดฟันกับทิฏฐิมานะของเราแล้ว ถ้ามันฟาดฟันทิฏฐิมานะของเรา พอทิฏฐิมานะมันไม่มี จบไปแล้วนะ อะไรมันทุกข์ล่ะ อะไรมันทุกข์

เวลาบอก “โอ๋ย ! ก็มันทุกข์ อู้หู ! ทุกข์ขนาดนี้นะ แหม เวลาก็ไม่มี อู้หู ! ทุกข์ไปหมดเลย แล้วยังจะต้องไปถือศีลอีก ยังต้องไปภาวนาอีก ทุกข์แค่นี้ก็เกือบเป็นเกือบตายอยู่แล้ว จะทุกข์อะไรให้มันมากมายไปกว่านี้อีก”

นี่ไง “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ ทุกข์มันจะดับ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันมีเหตุนะ ทุกข์ดับ วิธีการดับมัน วิธีการที่เราจะไปดับทุกข์

เวลาโลกเขาคุยกัน ในพระไตรปิฎกพูดถึงแต่วิธีการทั้งนั้นน่ะ “วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์” แล้ววิธีการมันคืออะไรล่ะ นี่ไงมันเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว พอเป็นวิทยาศาสตร์ วิธีการต้องเป็นแบบนั้น ต้องมีเหตุมีผล แล้วผลของมันล่ะ เวลาผล วิธีการ แล้วเป้าหมายของมันล่ะ แล้วผลที่เกิดขึ้นมาล่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นวิธีการนี่สำคัญ สำคัญนะ ถ้าเราไม่มีวิธีการเลย เราจะเข้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างใด แต่ถ้าเราไปอยู่ที่วิธีการ ติดที่วิธีการ แล้วจะไปไหนล่ะ นี่ไง เวลาเราไปถึงเป้าหมาย เราต้องทิ้งรถ ทิ้งเรือ ทิ้งพาหนะไว้ทั้งนั้นแหละ แล้วเราเข้าไปสู่เป้าหมายของเรา จิตใจ ถ้ามันเข้าสู่เป้าหมายของเราแล้ว มันจะรู้เลยว่าสิ่งที่เป็นพาหะพามานี่มันคืออะไร

เวลาหลวงตาท่านชมหลวงปู่มั่นตลอดว่า “หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์นะ ท่านเก็บเล็กผสมน้อย สิ่งใดที่ผิดพลาด สิ่งใดที่มันผิดไป ท่านจะไม่ทำเลย” ไม่ทำเพราะเหตุใด ไม่ทำเพราะว่าท่านต้องเป็นตัวอย่าง แบบอย่าง

“หนึ่งตัวอย่าง ดีกว่าร้อยคำสั่ง” สั่งสอนเขา บอกเขา ให้เขาทำแต่สิ่งที่ดี ๆ แต่เราทำไมทำแต่ตามใจตัวเราล่ะ แล้วเวลาธรรมะต้องนุ่มนวลอ่อนหวาน แต่เวลาแสดงธรรมทำไมมันกระโชกโฮกฮาก ทำไมมันใช้อารมณ์ขนาดนั้นน่ะ นี่สิ่งที่มันถึงใจนะ

ถ้าจะนิ่มนวล หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านนิ่มนวลมาก นิ่มนวลมาก ๆ หลวงปู่ฝั้นนะ เวลาท่านบอกว่า “พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว พุทโธมีความสุข” โอ๋ย ! คนฟังแล้วชื่นใจ ไม่ต้องมีเหตุผลประกอบอะไรเลยนะ “พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว พุทโธเป็นผู้รู้” โอ้โฮ ! คนฟังทั้งแผ่นดินนะ เขามีความสุขทั้งแผ่นดินเลย แต่เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะ ท่านยกเหตุยกผล ยกสิ่งประกอบ ยกที่มาที่ไป โอ๋ย ! ยิ่งเป็นน้ำไหลไฟดับเลย นี่นิสัยคนมันไม่เหมือนกัน

ความละเอียดอ่อน ความนุ่มนวล มันก็เป็นสิ่งที่สร้างมา สิ่งที่สร้างมานุ่มนวลละเอียดอ่อนอย่างนั้น ท่านออกมาจากความเป็นจริง ออกจากหัวใจที่เป็นความชุ่มชื่น ออกจากหัวใจที่เป็นธรรม ฟังแล้วมันชื่นใจนะ แต่ถ้าออกจากหัวใจที่ไม่เป็นธรรม ออกจากหัวใจที่มีกิเลสนะ มันพูดอะไรออกมานี่มันมีลับลมคมใน มันมีสิ่งใด มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันฟังแล้วมันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าใจที่มันเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ ออกมาอย่างไรมันก็ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะนุ่มนวลอ่อนหวานขนาดไหน จะเป็นฟืนเป็นไฟ มันจะเป็นปรมาณู จะเผาใครก็แล้วแต่นะ มันมีเหตุมีผลของมัน ธรรมก็คือธรรม เห็นไหม ธรรมกับโลกมันแตกต่างกัน ทีนี้ธรรมกับโลกแตกต่างกัน แต่ธรรมก็ต้องอยู่ในโลกนี้แหละ

เวลาคนเกิดมาก็เกิดมาในโลกนี้แหละ เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เราเกิดมาจากอวิชชา คนเกิดมามีอวิชชาทั้งนั้น คนเกิดมามีความไม่รู้ในหัวใจมาทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่ไม่รู้ในหัวใจขับดันให้เรามาเกิดกันอยู่นี่ มันมีสิ่งที่ความไม่รู้มา แล้วที่เรามาศึกษากัน เราก็ศึกษาเพื่อให้รู้นี่แหละ ให้รู้ถึงตัวเอง ให้รู้ถึงความเป็นไป

แล้วความรู้มันจะมาจากไหนล่ะ ? มันก็ต้องหยิบยืมมา ดูสิ นักศึกษา นักเรียนทุกคน มันต้องมีตำรับตำรา มันต้องมีครูบาอาจารย์สอนมาทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์มาสอนเรา เราก็ต้องมาดั้นด้นค้นคว้าเอง ค้นคว้าเองจะไปไหนล่ะ

เขาภาวนากัน เห็นไหม ดูสิ เวลาเขาภาวนากัน แต่ไอ้พวกที่มันไปยิงนกตกปลาบอก “เออ ! ไอ้พวกไปภาวนานี่มันดี มันไม่ต้องมาแย่งนกแย่งปลาเราไง”

ถ้าเราค้นคว้าเองมันอยู่ที่ความพอใจไง คนยิงนกตกปลามันก็จะไปยิงนกตกปลาของมัน ว่านั่นเป็นปฏิบัติธรรม ไอ้คนที่ไปปฏิบัติธรรมมันก็ไปปฏิบัติธรรมของมัน ว่าสิ่งนั้นเป็นปฏิบัติธรรม ไอ้คนที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ บอกว่า เออ ! ดิบ ๆ สุก ๆ นี่ก็เป็นปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าเรามีตำรา เห็นไหม เรามีธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นี่ไง เป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นเครื่องชี้นำ เราก็ยึดหลักอันนี้ แต่ไปยึดอันนี้ก็เอาอันนี้มาฟันกัน เอาหลักพระพุทธเจ้ามาฟันกันว่าใครถูกใครผิด ยังไม่ได้ปฏิบัติเลยนะ เอ็งถูก ข้าผิด ข้าผิด เอ็งถูก ยังไม่ได้ทำเลย

ทำไปแล้วสิ ทำไปแล้ว...แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ มันถูกมันผิดแล้วค่อยมาว่ากัน ใครทำอย่างไร มันถูกมันผิดอย่างไร มันมีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างไร มันแก้ไขของมันอย่างไร ถ้ามันแก้ไข มันปล่อยวางได้ มันเป็นความจริง

แล้วปล่อยวางขึ้นมาแล้ว ปล่อยวางของใคร ? เป็นมิจฉาก็ได้ ความปล่อยวางเป็นมิจฉา “ว่าง ๆ ว่าง ๆ” นี่มิจฉาทั้งนั้นน่ะ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ปล่อยวางด้วยความเห็นผิด แล้วไปไหนต่อล่ะ ? ปล่อยวางด้วยความเห็นผิดนะ ประเดี๋ยวมันก็เสื่อม ประเดี๋ยวมันก็จะคืนกลับมา

เวลาเราชำระกิเลสโดยชอบ เป็นสมาธิโดยชอบ ปัญญาโดยชอบ มรรคสามัคคีโดยชอบ แล้วโดยไม่ชอบล่ะ ? อ้าว ! เราก็สร้างภาพได้ เราก็ทำได้ทั้งนั้น พอมันมีของจริงก็มีของเทียมทั้งนั้น ถ้ามีของจริงก็มีของปลอมขึ้นมา ถ้าไม่มีของจริง เอาของปลอมมาจากไหน ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายมา เป็นความจริงขึ้นมา เราก็ทำได้ทั้งนั้นน่ะ เห็นไหม มันชอบหรือไม่ชอบล่ะ

ถ้ามันชอบธรรมแล้ว ชอบมันคือชอบ มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าชอบแล้ว มันชอบธรรมแล้วมันคืนไม่ได้ นี่ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรลุธรรมโดยชอบ เป็นสมาธิโดยชอบ ความชอบธรรมมันจะกลับมาเป็นมิจฉาได้อย่างไร ความชอบธรรมมันจะกลับมาเป็นความไม่ชอบธรรมได้อย่างใด ความชอบธรรมมันต้องเป็นความชอบธรรมวันยังค่ำ แต่ความชอบธรรมอันนั้นมันเป็นความชอบธรรม แล้วความไม่ชอบธรรมล่ะ ความไม่ชอบธรรม ถ้ามันทำไปมันจะเข้าสู่ความชอบธรรมได้อย่างไร

ถ้าความไม่ชอบธรรม มันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันเสื่อมแน่นอน แล้วคำว่า “เจริญแล้วเสื่อม” อะไรเจริญล่ะ ? กิเลสเจริญไง ความหลงผิดเจริญไง ความรู้ผิด ความเห็นผิดมันเจริญ เจริญขึ้นมา เจริญแล้วปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะอิงธรรมะไง เวลามันถึงที่สุดแล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ มันก็กลับมาสู่ที่เก่าของมัน เพราะอะไร เพราะมันปฏิบัติธรรมขึ้นไปเป็นธรรมใช่ไหม พอเรากลับมาสู่ความไม่รู้อย่างเดิม สู่อวิชชา สู่กิเลสอย่างเดิม นี่พูดถึงเราปฏิบัติธรรมนะ

เราปฏิบัติธรรม เห็นไหม ธรรมะ ธรรมกับโลกมันอยู่ด้วยกัน ทีนี้ธรรมกับโลกอยู่ด้วยกัน กายกับใจอยู่ด้วยกัน เวลากิเลส อนุสัย มันอยู่ในใจทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเราปฏิบัติเราต้องเข้มแข็ง เราต้องต่อสู้กับมันนะ เห็นไหม รบทัพจับศึกเขาต้องเตรียมทัพเตรียมศึกกว่าจะได้รบกันนะ แต่เรานี่ธรรมาวุธ อาวุธเป็นธรรม สัจธรรมเราต้องสร้าง สติปัญญาถ้าเราสร้างขึ้นมา นี่รบทัพจับศึกในหัวใจของเรา ถ้าเรารบทัพจับศึกในหัวใจของเรานะ เวลาร่มเย็นขึ้นมา เห็นไหม อริยทรัพย์

อริยทรัพย์นะ เวลาเขามีเงินมีทองขึ้นมา เขาจะต้องซื้อของ ต้องซื้อปัจจัยมาเพื่อความสุขไง เขาต้องอาศัยเงินทองเป็นอามิส สิ่งใดที่เป็นความสุขของเขาเกิดจากอามิส แต่ถ้ารบทัพจับศึกของเรา ความสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสุขใดเท่ากับหัวใจที่มันเป็นจริงนี้ไม่มี แล้วหัวใจมันก็มีอยู่กับเรา เราปล่อยมัน เราไม่ดูแลรักษามัน เราไปมองแต่ความพอใจของมัน

สิ่งพอใจคือสิ่งที่เกิดจากใจ ความรู้สึกนึกคิดไง แล้วก็วิ่งตามมันไป แต่เราเข้าไม่ถึงตัวมันนะ ถ้าเราเข้าถึงตัวมัน เห็นไหม วันนี้วันพระ เราตั้งใจมาทำบุญกุศลกัน เราตั้งใจทำบุญกุศล มีสติปัญญาให้หัวใจเราร่มเย็น แต่มันร้อน ร้อนเพราะอะไร ? ร้อนเพราะแดดเผา ร้อนเพราะโทสัคคินา โมหัคคินา เราจะร้อน ร้อนเพราะว่าเราอยู่กับโลก เราต้องเคลื่อนไหว เราต้องทันโลกไง

เราอยู่กับโลก ถ้าออกมาเป็นโลกนี่มันร้อน แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ ร้อนก็ต้องอยู่กับมัน แล้วความร้อนนั้นมันจะไม่มีในหัวใจของเรา เพราะเรารู้อยู่ว่าจิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์

แล้วมีหลักมีเกณฑ์นะ เราจะอยู่จนกว่าสิ้นอายุขัย ถ้าคนสิ้นอายุขัยนะ มันก็ต้องจบสิ้นชีวิตนี้ไป แต่ถ้าเราอยู่ด้วยความเป็นจริงของเรา เรารู้ตามความเป็นจริงแล้ว เราอยู่เพื่อสิ้นอายุขัยคือเรารักษาใจของเรา มันไม่ติด ไม่หมุนเวียนไปกับเขา แต่เราต้องอยู่กับเขาจนสิ้นอายุขัย เอวัง