ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผลของสติ

๒๖ ก.ย. ๒๕๕๒

 

ผลของสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้คำถามดี แล้วคิดว่าถ้าเว็บไซต์เราเสร็จแล้วคำถามมันจะมาเรื่อย ๆ นี่คำถามในเว็บไซต์มาเลย แล้วฝากกันมาไง อ้าวเนาะ เขาเอาอยู่แล้ว เรายังไม่ทันเอา การพูดธรรมะของเราคือการเข้าเวร มันเป็นหน้าที่

ถาม : โยมที่เคยฝึกดูจิต ฝากมาถาม ที่หลวงตาให้เจริญสติและบริกรรมนั้นสองอย่างนี้เป็นคนละอย่างหรือ สติต้องทำขึ้นมาหรือ

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่คำถามมันฟ้องไง เพราะคำถามว่าเคยดูจิตเห็นไหม

ถาม : แล้วที่หลวงตาให้เจริญสติและบริกรรมสองอย่างนี้เป็นคนละอย่างหรือ คำว่าสติกับคำบริกรรมเป็นคนละอย่างหรือ

หลวงพ่อ : คนละอย่าง เพราะมันคนละอย่างอยู่แล้ว สติคือสติใช่ไหม คำบริกรรมคือคำนึกใช่ไหมคำบริกรรม คำบริกรรมมันเป็นองค์ของสมาธิ องค์ของสมาธิคือองค์ของฌาน องค์ของฌาน ฌาน ๕ นะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ คือจิตที่ตั้งมั่นเป็นองค์ของสมาธิ วิตกวิจาร นึกขึ้นคือวิตก นึกพุทโธ คำบริกรรมนี่นึกขึ้นมา ถ้าเราไม่นึกขึ้นมาเห็นไหม ที่เราใช้คำว่าตัดรากถอนโคน เพราะเขาไม่ได้นึกขึ้นมา เขาไม่ได้นึกขึ้นมา เขาไม่ได้วิตกขึ้นมา

ถ้าเขาไม่ได้วิตกขึ้นมามันไม่เกิดจากจิต มันตัดรากถอนโคนจิตตรงนี้ไง อย่างที่เขาดูความคิด ความคิดเนี่ยมันคิดจบไปแล้วใช่ไหม เพราะเราคิด พอเราคิดอะไร คิดเนี่ยมันมาจากจิตเหมือนกัน แต่เราคิดโดยธรรมชาติ เราคิดโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์มีความคิดเป็นธรรมดา มนุษย์นี่มีความคิดเป็นปกติ แล้วความคิดน่ะมันก็เหมือนกับมันเป็นสัญชาตญาณ นี่พอความคิดเกิดขึ้นมาแล้ว เนี่ยความคิดมันเกิดจากจิต แต่มันเป็นขบวนการที่เสร็จสิ้นขบวนการของจิตแล้ว เป็นความคิดออกไป ความคิดถึงไม่ใช่จิต

ความคิดกับจิต พอนี่มันเป็นความคิดแล้ว เราไปดูที่ความคิดกัน คำว่าดูจิต เขาไม่ได้ดูจิตเขาดูความคิด พอดูความคิดเห็นไหม เราตัดราก ตัดรากคือไม่เข้าถึงจิต เพราะพอความคิดดับเห็นไหม ความคิดมันเหมือนกับบอลลูนนี่เราปล่อยไปแล้ว บอลลูนใครเป็นคนปล่อยขึ้นไป ปล่อยบอลลูน แล้วบอลลูนขึ้นไป แล้วบอลลูนมันตกมามันเกี่ยวอะไรกับคนปล่อย แต่มันเกี่ยวเพราะคนปล่อยเป็นเจ้าของ คนปล่อยต้องดูแลมัน

ความคิดมันปล่อยออกไปจากฐาน นี่ความคิดออกไปจากฐาน นี่ไปดูที่ความคิด ความคิดเกิดดับ แต่เขาบอกดูจิต เพราะเขาจับจิตกันไม่เป็น เขาถึงว่าเขาดูความคิด เขานึกว่าอันนั้นเป็นจิต เราถึงบอกว่ามันตัดราก ตัดรากคือตัดรากขาดจากจิต แต่วิตก ความคิดที่นึกขึ้นจากจิต เรานึกเองใช่ไหม เราต้องนึกขึ้นมา พุทโธเนี่ย วิตก วิจาร พอเรานึกขึ้นมา

คำว่าไม่ตัดรากถอนโคนเพราะมันมีถิ่นที่มา มันที่มาเดียวกัน แต่ที่มาอันหนึ่งมันเป็นที่มาโดยสัญชาตญาณ ที่มาโดยธรรมชาติ ที่มาที่มันเป็นของมันอยู่แล้ว ความคิดของมนุษย์ แต่ที่มาอีกอันหนึ่งเราเป็นคนตั้งใจคิด เราวิตกขึ้นมา เราตั้งใจเราวิตกใช่ไหม วิตก วิจาร เนี่ยคำว่านึกพุทโธ คำว่าบริกรรม บริกรรมคือเรานึกขึ้นมาเห็นไหม เรานึกนี่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร นึกขึ้นมาคือนึก นึกพุทโธ นึกขึ้นมา พอมันแบ่งพุท กับ โธ นี่วิจาร วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกวิจารมันมีที่มาที่ไป เวลาที่มันเกิดขึ้นมาจากจิต เวลามันสุดมันจบที่ไหน มันก็กลับไปสู่ที่จิตเห็นไหม มันถึงไม่ตัดรากถอนโคนไง

ไอ้ที่คำว่าตัดรากถอนโคนนี่มันไม่เข้าถึงจิต มันเลยว่าง ๆ ว่าง ๆ เนี่ย โยมที่เคยฝึกดูจิตมาฝากถามว่า สติก็เกิดจากจิต สติโดยธรรมชาติเนี่ย สติมันมีอยู่แล้วโดยสามัญสำนึกของมนุษย์นี่มีสติอยู่แล้ว ไม่มีคือคนบ้า แต่สติอย่างนี้ มันสติของปุถุชน พอมีสติขึ้นมา สตินี่มันจะไล่ตามเข้าไป สตินี่ต้องตั้งขึ้นมา ต้องฝึกสติ

ถาม : สติกับจิตสองอย่างนี้เป็นคนละอย่างหรือ

หลวงพ่อ : ใช่ เป็นคนละอย่าง เหมือนกับมรรค ๘ มรรค ๘ เห็นไหม ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบเนี่ย เป็นคนละอย่างหรือ ใช่ เพราะมรรคเป็นองค์ ๘ แปดอย่าง แต่ถ้ามันใช้ฝึกฝนจนชำนาญการแล้ว มรรคสามัคคีเนี่ยสิ่งที่เป็นมรรคทั้ง ๘ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกอันเดียวแต่มันมีส่วนผสมหรือสิ่งที่เราแยกออกไปได้ถึง ๘ อย่าง

สติกับคำบริกรรมก็เหมือนกัน ถ้าบอกแยกโดยวิทยาศาสตร์โดยชื่อของมัน ใช่ มันไม่ใช่อันเดียวกัน มันเป็นคนละอัน สติกับคำบริกรรม แต่ถ้าเราฝึกสติเราก็ฝึกด้วยการบริกรรมมันทำพร้อมกัน มันทั้งสติด้วย ทั้งบริกรรมด้วยเห็นไหม มันก็เป็นอันเดียวกันได้ แต่ถ้ามันแยกเป็นสองอันหรือ.. ใช่ แยกอย่างละ สองอัน อย่างที่เราพูดถึงเวลาเขาสอนเห็นไหม บอกว่าสติเป็นอนัตตา สมาธิเป็นอะไร

สติ สมาธิคนละอันไหม ก็คนละอัน แต่ถ้าไม่มีสติสมาธิเกิดไม่ได้เลย ทุกอย่างสติเป็นตัวพื้นฐาน แล้วสมาธิจะเกิดขึ้นมามันก็เกิดจากสตินั่นแหละ แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว มันละเอียดเข้าไป มันเป็นความรู้สึกอันเดียวกัน มันเป็นหนึ่งได้ไง มันเป็นหนึ่งได้ แต่เวลาแยก แยกไหม แยก แต่ทำจนความชำนาญแล้ว สติกับคำบริกรรมมันจะไปพร้อมกัน

แต่ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นสองไหม มันเป็นสองตั้งแต่ที่หลวงตาท่านพูดแล้ว หลวงตาท่านพูดว่าความคิดเรา อารมณ์ความรู้สึกเรากับจิตมันเป็นสอง เพราะธรรมชาติแล้วความรู้สึกคือจิต ความรู้สึกเราคือจิต ความรู้สึก นี่ความคิดเห็นไหม อารมณ์ความรู้สึก สัญญาอารมณ์นี่เป็นสอง นี่เป็นสอง เราก็พุทโธ ๆ มันเป็นสองเพราะเรานึกพุทโธขึ้นมา เราวิตก วิจารขึ้นมา พุทโธ ๆ ๆ มันเป็นสอง

แต่พอมันพุทโธ ๆ จนละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา จนจิตเป็นหนึ่งได้ จิตเป็นหนึ่งได้เพราะมันนึกไม่ออกเลย เพราะความคิดมันละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามาจนเป็นหนึ่งเห็นไหม มันเป็นหนึ่ง มันเป็นหนึ่งได้ มันว่างได้ มันปล่อยวางได้ แต่ถ้ามันปล่อยวางแบบเรา อย่างที่เขาว่าดูจิตจนว่าง ที่เขาว่างกัน เราคิดให้ว่างก็ว่าง เราคิดสิ ความคิดเราคิดออกมาแล้วหายไปเลยนี่มันว่างไหม มันว่าง มันว่างของใครไง

ที่ว่าความว่าง ความว่าง อย่างนี้เป็นว่างอจินไตย เรื่องฌาน เรื่องโลก เรื่องกรรม พุทธวิสัยเป็นอจินไตย คือไม่มีขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุดขบวนการของมันได้ แล้วนี่ความว่างอย่างนี้ที่ว่าคำว่าว่าง ๆเนี่ย เราคิดว่าว่าง ว่างอย่างนี้ว่างไม่มีสติ ว่างไม่มีเจ้าของ มันเป็นว่างเพื่ออะไร แล้วว่างอย่างนี้มันเป็นประโยชน์ไม่ได้ เจริญสติก็ฝึกสติ สติฝึกกับอะไรก็ได้ ฝึกกับคำบริกรรมก็ได้ ฝึกกับอานาปานสติก็ได้ ฝึกอะไรก็ได้ เพราะมันฝึกสติมันเป็นนามธรรมหมดนะ สตินี่ตั้งขึ้นมาพยายามตั้งใจขึ้นมา นึกถึงสติขึ้นมา

อย่างเช่นเราตั้งใจทำงาน พอตั้งใจทำงานเราจะตั้งใจทำงานทุกอย่างเราทำขึ้นไปใหม่ โอ้โฮ มันจะสติพร้อมหมดเลย พอทำไป ๆ ๆ นะมันก็ต้องจางไป จางไป เราก็ตั้งสติ ตั้งสติ นี่มันมีความชำนาญมันมีอะไรต่าง ๆ สติกับคำบริกรรมเป็นสองไหม สติต้องทำขึ้นมาหรือ เราศึกษา เราเรียน ก ไก่ ก กา เนี่ยใหม่ ๆ เราต้องฝึกไหม พอฝึกขึ้นมาแล้วจนมันชำนาญขึ้นมา สติต้องทำขึ้นมาหรือ แหม ถ้าบอกตรง.. ต้อง! สติต้องทำขึ้นมา แต่คำว่าต้องทำขึ้นมา พอเราคิดว่าต้องทำขึ้นมานี่เราคิดเป็นวัตถุใช่ไหม

เราทำเนี่ย เช่น เราเลื่อยไม้ เราถากไม้ หรือเราปลูกต้นไม้ ต้องทำขึ้นมาหรือต้องทำ แต่การปลูกต้นไม้เนี่ยเราปลูกเสร็จแล้วต้นไม้มันจะโตขึ้นไปไหม สติก็เหมือนกัน ถ้าเราทำเป็น เราชำนาญแล้ว ใหม่ ๆเริ่มต้นเนี่ย เราต้อง ปลูกต้นไม้ รดน้ำพรวนดินมัน เราตั้งสติบ่อย ๆ ตั้งสติบ่อย ๆจนมันชำนาญไง มันชำนาญจนเหมือนกับไม่ต้องทำเลย มันเป็นความชำนาญเลย มันเป็นสติที่เราพร้อมเลย ฝึกได้ ต้องทำขึ้นมา สติต้องทำขึ้นมา ต้อง! ต้องเลย

แต่พอต้องทำปั๊บ มันก็คิดว่าเป็นวัตถุคือมันหยาบตลอดเวลาไง มันละเอียดไม่ได้ใช่ไหม ต้องทำขึ้นมาก็เหมือนวัตถุนี่ เราต้องประกอบขึ้นมามันต้องมีของมันตลอดเวลา ต้องเป็นตลอดเวลา ที่นี้ไอ้นี่มันเป็นวัตถุ แต่ถ้าเป็นสติเนี่ยเราฝึกใหม่ ๆ ฝึกจนมันชำนาญอย่างโบราณเขาว่า ความคิด ปัญญาเนี่ยไม่ต้องใส่ไม่ต้องแบกต้องหาม เราจำของเราได้ สติก็เหมือนกันมันไม่ใช่แบกไม่ใช่หามนะ มันจะมีของมัน มันจะพร้อมของมัน

นี่พอคำว่าต้องทำเราก็คิดว่ามันทำแล้วมันจะหยาบอยู่อย่างนั้น อย่างเช่นคำบริกรรม พุทโธ ๆ เราคิดว่ามันจะหยาบอยู่อย่างนั้น แล้วพอเราอยากจะให้มันละเอียด เราก็ไปปล่อยมันซะให้มันหายไป การดูจิตเนี่ยมันจะหายไปเฉย ๆ พอหายไปแล้วมันว่าง นี่มันว่างแบบสวะ ว่างแบบสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะมันขาดสติ เพราะสิ่งที่เขากำหนดนามรูป กำหนดอะไรต่าง ๆ เวลาเขามาว่างเนี่ย ว่างทีไรของเขาเนี่ยว่างแบบไม่รู้สึกตัว มาถึงก็ว่าง ๆ ว่าง ๆ แล้วทำอย่างไรต่อ แล้วว่าง ๆ อย่างนี้เป็นอย่างไร มันจะพูดอยู่อย่างนั้นล่ะ

แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของ อย่างเงินเราต้องไปถามไหมว่าเงินนี้เงินใคร ไม่ต้อง คนนี้สมาธิบอกว่า อื๊อ อื๊อ อื๊อ มันมีสติมันพร้อม มันพร้อมของมันนะ มันต่างกันมาก ฉะนั้นเคยดูจิตมา ดูจิตมาเนี่ย ถ้าเขาปฏิบัตินะถ้าเจ้าตัวเขามา จะพูดกับเขาอย่างนี้เลย ถ้าดูจิตมานะ เมื่อก่อนว่างอยู่อย่างนี้ใช่ไหม ลองบริกรรมไปเรื่อย ๆ บริกรรมไปเรื่อย ๆ เนี่ย.. มีพระถาม มีคนถามบ่อย เมื่อวานเขาก็มาถามบอกว่า ภาวนาพุทโธมานานแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย แต่เมื่อ ๒ คืนนี้พอภาวนาพุทโธไปมันรู้สึกยุบยับ ยุบยับในหัวใจไง จิตมีอาการเปลี่ยนแปลงไง เราบอกมันเป็นอย่างนี้

เราไปลองคิดอย่างนี้สิ โดยธรรมชาติของมันอุณหภูมิของน้ำ น้ำมันจะเดือด มันต้องเดือดในอุณหภูมิของมัน จิตก็เหมือนกัน โดยธรรมชาติของมัน จิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงเป็นสมาธิมันจะอยู่อย่างนี้หรือ แต่โดยธรรมชาติของพวกเรานี่เวลามันว่าง ๆ เนี่ยนะ มันก็เหมือนปกติ เหมือนคนเราคิดแล้วก็ไม่คิดเนี่ย แล้วมันได้อะไรขึ้นมา คือจิตมันเป็นสามัญสำนึก จิตปกตินี่มันไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย

แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ มันปล่อยไง มือเรานี่กำสิ่งของอยู่ แล้วเราวางสิ่งของ มือที่กำสิ่งของอยู่กับมือที่วางสิ่งของนั้นต่างกันไหม จิตที่มันเคยมั่วอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของมัน แล้วมันวางอารมณ์อันนั้นได้มันต่างกันไหม นี่พอจิตนี้มันเริ่มพุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ไป เขาบอกมันจะมีอาการยุบยับ ยุบยับในใจ อาการสั่นไหวในใจ อาการอย่างนี้มันเหมือนอาการที่เราจะเข้าบ้าน พอเราจะเข้าบ้านเราเปิดประตูนี่อากาศมันจะออก เวลาเปิดประตูนี่จะมีอากาศ จิตมันจะเข้าไปสู่ตัวของมันเอง มันจะมีการเปลี่ยนแปลงของมันนะ โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ โดยธรรมชาติของมัน

แต่เวลาเขาทำกันมันไม่มีอาการอย่างนี้ มันจะเป็นปกติ อย่างเช่นเราเนี่ย เราอึดอัดขัดข้อง แล้วเราก็สบายใจ ว่าง ๆ ของเขาเป็นอย่างนี้ เพราะเราเข้าใจเลยว่าคำว่าว่าง ๆ ของเขาคือว่าว่าง ๆ เฉย ๆ แต่ของเรานี่ว่าง ๆ อย่างนี้ไม่ได้ ใครว่าง ๆ มาหาเรานะให้ทำอย่างไรต่อไป สำคัญมากเลยกำหนดคำบริกรรม คำบริกรรมมันจะมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนมือเรา ถ้าเราไม่แบออก เราไม่คลายออก มือมันกำของอยู่ มันวางสิ่งของนั้นไม่ได้ การที่มือจะแบออก คลายออกเนี่ยมันต้องยืดออกไปใช่ไหม

จิตที่มันจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีคำบริกรรมมาน่ะคือไม่มีการยืดมัน การบริกรรมเนี่ยมันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร มันขาดคำบริกรรม บริกรรมพุทโธ ๆ ๆ แล้วพุทโธอยู่ คนเคลื่อนไหวอยู่ จิตเคลื่อนไหวอยู่ จิตมีการกระทำอยู่จะสงบได้อย่างไร มันสงบ คำว่าสงบของเราเนี่ย เวลาจิตสงบขึ้นมานะ มันเหมือนกับพลังงานที่มันเคลื่อนที่แต่มันนิ่ง แต่เราคิดว่าความสงบของเราคือนอนแช่อยู่ไง เราถึงว่าสงบคือไม่มีอะไรเลย แต่ความจริงสงบมันมีกำลังของมันนะ ถ้ามีกำลังปุ๊บเวลาสงบแล้วนี่ ใครมาบอก ถ้าจิตสงบ จิตจะมีสมาธินะ เราบอกมีกำลังไหม มันมีความรู้สึกอะไรไหม ว่าง ๆ ว่าง ๆ เหมือนไม่ทำอะไร ว่าง ๆ เหมือนไม่มีกำลังเหมือนเราเนี่ยเราไม่ทำอะไรเลย

แต่ถ้าเราออกกำลังกายตอนเช้าเห็นไหม เขาเล่นฟิตเนสกันต่าง ๆน่ะ เขาจะมีกล้ามเนื้อของเขาร่างกายจะแข็งแรงขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเขาได้ออกกำลังของเขา จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามีสมาธิของมัน มันต้องมีกำลังของมัน กำลังของมันนะ พอมันกำหนดดูอะไรเนี่ย มันจะพิจารณาของมัน มันจะแยกแยะ มันจะไปของมันเลย ว่าง ๆ ว่าง ๆ ฉะนั้นคำว่าว่างของเขาเนี่ย แล้วพอมันจะมาบริกรรมปั๊บมันไม่ว่างเพราะมันต้องบริกรรม มันต้องทำงาน มันต้องเหนื่อย มันต้องทุกข์ มันต้องยาก เอ๊า ทำมาหากินยังเหนื่อยขนาดนี้

แล้วเวลาเราจะเอาชนะใจเรา เราไม่ต้องลงทุนลงแรงเลยนี่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก คำบริกรรมทิ้งไม่ได้ ถ้าไม่บริกรรมก็ต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนคำบริกรรม เพราะมันใช้ปัญญาหมุนไง ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญไง ไม่ใช่เพ่งดู เพ่งดูเป็นกสิณ ถ้าเป็นกสิณเนี่ย ถ้ามันเป็นกสิณจริงเนี่ย ถ้ากสิณเป็นสมาธิ กสิณนั้นมันก็จะแยกได้

อย่างเช่นกสิณขาวเนี่ย รูปวงกลม รูปสีขาว พอจิตมันเพ่งสมาธิมันเป็นกสิณปั๊บ จิตเป็นสมาธิปั๊บ มันขยายส่วนให้กสิณนี้กว้างขึ้น ขยายส่วนขึ้น กสิณขาว กสิณแดง กสิณเขียว เนี่ยมันจะขยายส่วน มันมีชีวิตไหม มันมีการเปลี่ยนแปลงไหม มันมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร เพราะจิตนี้มีกำลัง จิตนี้มีฐานของมัน แต่ถ้ามันเพ่งอยู่อย่างนั้น เหมือนเพ่งวงกลมก็วงกลมอยู่อย่างนั้น เพ่งอยู่อย่างนั้น เพ่งแล้วก็เครียดเหงื่อแตกเหงื่อไหลไคลย้อยเลย ทำไมมันไม่เป็น มันไม่เป็นเพราะจิตมันไม่เป็นไง กำลังมันไม่มีไง

นี่ก็เหมือนกันถ้าเรามีคำบริกรรม ว่าง ๆ เนี่ยมันต้องมีกำลัง มันมีสติ มันจะมีกำลังของมัน มันมีสมาธิของมัน ถ้าเป็นสมาธิมีกำลังทันทีเลย พอมีกำลังปั๊บนี่ พอเราใช้ปัญญาปั๊บนี่ เราใช้ปัญญาในเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่นะ มันจะแยกแยะด้วยเหตุด้วยผลนะ แล้วมันจะปล่อย จิตมันจะมีเหตุมีผล พวกเราเนี่ย จิตเราไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความติฉินนินทา ความไม่พอใจ ความขัดข้องใจ จิตจะไปติดหมดเลย

พอมีกำลังปั๊บมันจะพิจารณาสิ่งที่ติดทุกเรื่อง จิตติดเรื่องอะไรมันก็ให้ความเครียดกับจิต จิตติดเรื่องอะไรมันก็ให้ความทุกข์กับจิต จิตติดเรื่องอะไรมันให้ความไม่สบายกับจิตหมดเลย พอจิตมีกำลังจิตมีปัญญาปุ๊บ ก็ไปพิจารณาเรื่องที่มันติดน่ะ พอเรื่องที่มันติดปั๊บมันจะปล่อยทันทีเลย มันจะปล่อยความคิดนั้นถึงกลับมาเป็นอิสระของมันเห็นไหม เนี่ยเพราะอะไร เพราะมีกำลัง นี่ถึงบอกว่าต้องฝึกสติไหม ต้อง! ต้องคำบริกรรมไหม ต้อง ทำไป ทำไปแล้วพอมันทำไปเรื่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ อย่าด่วนได้ อย่าคิดว่าจะได้ พอทำไปเสร็จแล้วมันมีเหตุมีผลมีกำลังนะ มันได้ผลกับตัวมันเอง จิตนี้แหละมันจะมีกำลัง แล้วมันจะได้รู้ผลหมดเลย

แต่ที่ทำกันอยู่เนี่ยนะ ธรรมชาติของมันไม่มีใครมีกำลังเลย แต่อ้างตามตำราว่าว่าง อ้างว่าเนี่ยสมาธิคือความว่าง ความว่างนี่เป็นธรรมดา พอธรรมดาปุ๊บก็เคลมว่ามันเหมือนกัน พอเหมือนกับปั๊บก็คิดว่าใช่ คือมันมีแต่ชื่อไง แต่ผลที่มันเกิดขึ้นมาจากจิตมันไม่มี ฉะนั้นถึงบอกว่าใช่ ต้องตั้งสติ แล้วมีคำบริกรรม แล้วพอมีความเปลี่ยนแปลง จิตมีความเปลี่ยนแปลง พอมีความเปลี่ยนแปลงเห็นไหมมันจะเปลี่ยนแปลงนะ

แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งใดเลยมันจะว่างเฉย ๆ ว่างเฉย ๆ ก็มีกำลัง สดชื่น ออกมาเนี่ยไม่เป็นอย่างเราหรอก เรานั่งสมาธิกันทั้งปีทั้งชาติเลย ออกมาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสกัน สบาย สบาย แต่ถ้ามันเป็นองค์สมาธินะ เอ๊อะ แหมวันนี้มัน... ทั้งชีวิตได้มาอย่างนี้เลย มันจะดูดดื่มมาก มันจะดีใจของมันมาก ฉะนั้นถูกต้อง ยืนยันอยู่

ถ้าเขาบอกว่าคำบริกรรมกับสติมันคนละอย่างกันหรือ ถ้าแยกส่วนว่าสติ สติล้วน ๆ สติเพียว ๆ คำบริกรรมเพียว ๆ นี่มันเป็นคนละส่วนกัน เหมือนกับน้ำที่เขานำมา น้ำกับสี ถ้าเอาสีใดเติมในน้ำนั้นก็คือน้ำสีนั้น สติกับคำบริกรรมถ้ามันทำพร้อมกันมันก็เหมือนน้ำ น้ำสีไง สีผสมน้ำแล้วก็คือ น้ำสีแดง น้ำสีเขียว น้ำสีต่าง ๆ แต่ถ้ามันแยกว่าสีคือสี น้ำคือน้ำเห็นไหม ถ้าแยกออกเป็น ๒ อย่าง ใช่ แต่ถ้าทำพร้อมกันมันเป็นอันเดียวกันก็ได้ มันเป็นสิ่งเดียวกันมันทำไปพร้อมกันได้ อันนี้พูดถึงสติกับคำบริกรรมนะ อันนี้สิ

ถาม : ๑. สงสัยและอยากได้คำตอบ ใช้คำบริกรรมพุทโธ แล้วมีความรู้สึกที่หัวใจว่าเหมือนถอนหญ้า หญ้าถูกดึงขึ้นมา รากหญ้าหลุดแต่ละต้นดังซ้อก ๆ นะ ถอนหมดแล้วรู้สึกโปร่งโล่ง

หลวงพ่อ : นี่คำบริกรรมเห็นไหม คำบริกรรมพุทโธ ๆ เนี่ยเหมือนถอนหญ้า ถอนหญ้าออกจากใจ ถูกต้อง คำว่าถูกต้องเนี่ยมันแต่ละบุคคลไง เราพุทโธของเราไปเรื่อย ๆ ก็ได้แต่นี่พุทโธไปแล้วนี่มันเหมือนกับจริตนิสัยอย่างเช่น เรานี่เป็นชาวนา เราจะทำอะไรก็แล้วแต่เราจะเปรียบเทียบเหมือนการทำนา บางคนเป็นชาวสวนจะทำสิ่งใดก็เปรียบเทียบถึงการทำสวน

นี่เหมือนกันเวลาพุทโธ ๆ ไปเนี่ยเปรียบเหมือนถอนหญ้าเห็นไหม เหมือนชาวนาที่ถอนหญ้ามันมีเสียงดังด้วย (หัวเราะ) เสียงดัง เสียงอะไรเกิดขึ้นมามันเป็นผลข้างเคียง แต่ถ้ามันจะมีเสียงสิ่งใดดังขึ้นมาก็แล้วแต่ เราต้องกำหนดพุทโธ ๆ ๆ ของเราตลอดไป จะมีเสียงใดเข้ามาแทรก จะมีเสียงใดเข้ามาเพื่อจะให้เราคลอนแคลน เราก็พุทโธของเราไป เพราะพุทโธคือคำบริกรรม

หลวงตาท่านพูดเอง ท่านบอกเวลาท่านดูจิตอยู่เฉย ๆ แล้วเสื่อมไปปีกับหกเดือนน่ะ แล้วมาพิจารณาของท่านเอง อ้อ... มันคงขาดคำบริกรรม ท่านก็ไปใช้คำบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ๆ ไปเห็นไหม พุทโธ ๆ ๆ ๆ นี่มันจะมีสิ่งใดก็แล้วแต่ไม่สนใจสิ่งนั้นเลยจนจิตท่านสงบได้ จนท่านถึงบอก อ้อ... เพราะเราขาดคำบริกรรม เหมือนจิตเนี่ยมันเป็นพลังงาน มันไม่มีสิ่งใดเป็นที่เกาะยึดเหนี่ยวไว้ พุทโธ ๆเพื่อให้จิตนี้ยึดเหนี่ยวไว้ นี่พอเรายึดเหนี่ยวพุทโธ ๆ ไว้นี่มันมีผลข้างเคียง หมายถึงว่าจิตของคนน่ะ จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน มันจะมีเสียงเหมือนถอนหญ้า เสียงเหมือนสิ่งใด ถ้าเราไม่ทิ้งคำว่าพุทโธนี่ถูกต้อง

แต่ถ้ามีเสียงว่าถอนหญ้าแล้วเราก็นะ “อื้อ ถ้าเราถอนหญ้าแล้วที่มันจะโล่งนะ ถ้าเราพุทโธนี่พุทโธเฉย ๆ เนาะเราไปถอนหญ้าดีกว่าแล้วมันจะโล่งนะ” หมดเลยนะ มันจะไปถอนหญ้านี่มันออกข้างทางไง คือมันออกนอกลู่นอกทางไป พุทโธ ๆไว้ตลอด พุทโธไว้ จะมีเสียงใดเกิดขึ้นจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นอันนั้นมันผลข้างเคียง ถอนหมดเห็นไหม จนรู้สึกโล่งโปร่งเห็นไหม รู้สึกว่าโล่งโปร่ง แล้วพุทโธต่อไปอีก พุทโธต่อไปอีก มันโล่งโปร่งแล้วนะพุทโธเรื่อย ๆ ถ้ายังพุทโธได้ พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ไป เนี่ยมันจะโล่งโปร่งขนาดไหนนะ สมาธิมันยังลึกได้กว่านี้อีกไง คือมันจะมีของที่ดีกว่านี้อีก อันนี้มันเป็นผลตอบสนองแล้วว่า ทำแล้วได้ผล ได้ผลคือว่ามันมีการกระทำ

อย่างดูจิตเฉย ๆ นี่ เราพูดเปรียบบ่อยใช่ไหมที่เขาทำกันเฉย ๆ เราบอกว่าเหมือนกับวางยาสลบตัวเอง อยู่ดี ๆ นี่นะเอายาสลบมาแปะจมูก แล้วก็ว่าง ๆ ว่าง ๆ มันไม่มีการกระทำใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พุทโธ ๆเนี่ยมันมีการกระทำ จิตมีการกระทำ จิตมีการเคลื่อนไหว พอจิตมีการกระทำ จิตมันจะมีการเปลี่ยนแปลง นี่เหมือนถอนหญ้า แล้วรู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่งเห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธินี่มันไม่รู้สึกโล่งโปร่ง

ถ้าพุทโธไปเรื่อย ๆ ถ้าอุปจารสมาธินี่จิตละเอียดเข้ามามันออกรู้นะ จากที่มันได้เสียงถอนหญ้าซ้อก ๆ ๆ ๆ เนี่ย ถ้ามันออกรู้ออกเห็น ออกรู้ออกเห็นมันก็เหมือนถอนหญ้านี่ล่ะ ไม่ต้องตื่นเต้น กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่พุทโธ เสียงที่ได้ยินอยู่นี้เพราะมีหู หูเนี่ยโสตประสาทมันได้ยินเนี่ยมันกระทบไปถึงใจ นี่เหมือนกันเพราะมันมีจิตอยู่ มันถึงออกรู้เสียงใช่ไหม แล้วถ้ามันออกรู้สิ่งต่าง ๆ ออกรู้อะไรเนี่ย ถ้าเราดึงจิตเรากลับมาเสียงมันก็หายหมด นี่เหมือนกันถ้ามันออกรู้ ออกรู้สิ่งต่าง ๆ เราตั้งสติดึงกลับมา

แต่ถ้ามันออกเห็นกายเห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี่เราออกใช้ปัญญาได้ อันนั้นใช้ปัญญา ทำต่อไปเรื่อย ๆ ต้องอยู่กับพุทโธไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เสียงเหมือนถอนหญ้านั้นเสียงข้างเคียง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นว่าโปร่งโล่งเนี่ยผลของมัน ผลของมันจะตอบสนอง นี่อย่างนี้เป็นปัจจัตตัง

เราพูดกับลูกศิษย์บ่อยเวลาเขามา วันนั้นลูกศิษย์เขามาบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อเรียนอะไรมา หลวงพ่อนะเหมือนช่างเลย อะไร ๆ ก็ตุ๊กตา ผมก็ช่างเหมือนกันแล้วทำไมต้องมีตุ๊กตาก่อน นี่ก็เหมือนกันนี่ตุ๊กตาเกิดแล้ว จิตที่มันโปร่งมันโล่งนี้คือตุ๊กตา คือสิ่งรับรู้ของจิต ตุ๊กตาหมายถึงว่าเรามีสิ่งใดเอามาเทียบเคียงแล้วเอามาอ้างอิงกัน พวกพระมาบอกว่า หลวงพ่อบอกสิมันจะหลงมันจะผิดเนี่ย ก็บอกมาสิ ก็กลัวผิดน่ะ บอกว่าเอ็งก็ทำมาก่อนสิให้มีตุ๊กตามาก่อน แล้วเราค่อยมาคุยกัน

คือใครทำใครปฏิบัติแล้วมีสติอย่างไร มีสมาธิอย่างไร มีปัญญาอย่างไร แล้วเอาสิ่งนั้นมาตั้ง พอตั้งเสร็จแล้วเราก็บอกว่าสิ่งนี้ควรดำเนินการต่อไปอย่างใด จะแก้ไขดัดแปลงอย่างใด นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีอย่างนี้แล้วเนี่ย มันมีตุ๊กตาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ พอมีตุ๊กตา แล้วพอมีความโปร่งโล่งอันนี้ไง แล้วเราพุทโธไปเรื่อย ๆ มันจะกลับมาตรงนี้อีก กลับมาตรงนี้อีก จนตรงนี้มันเป็นพื้นฐานมันจะดีของมันขึ้นไปเรื่อย ๆนะ สิ่งที่เกิดขึ้นนี่

แล้วเวลาโยมกลุ่มที่ภาวนากันหลายคนนะ การที่ถามมาเนี่ยมันเป็นสิ่งเฉพาะของคนถามนะ คนถามคนเดียวที่มีเสียงดังเหมือนถอนหญ้า แล้วปฏิบัติภาวนาอยู่ ๓-๔ คน แล้วคนอื่นบอกว่าฉันไม่เห็นมีถอนหญ้าเลยแล้วก็จะไปถอนหญ้ากับเขา ไม่ใช่นะ ของเอ็งไม่มีนา ไม่มีหญ้าไม่ต้องไปถอน คนที่เขามีพื้นดินมีหญ้าให้ถอน ถ้าเราอยู่บนน้ำ น้ำไม่มีหญ้า คือมันไม่เหมือนกันนะ พอบอกว่าอันนี้ถอนหญ้าถูก ไอ้คนภาวนาก็จะไปถอนหญ้าบ้าง หาหญ้ามาถอน ไม่มี ไม่มีหญ้าให้ถอน มีหญ้าเฉพาะคนที่เป็น คนที่ไม่เป็นคือไม่จำเป็น กำหนดพุทโธไปอย่างเดียว กำหนดพุทโธไป มันเป็นเฉพาะบุคคล

การปฏิบัตินี่เป็นเฉพาะบุคคลของใครของมัน ถ้าเฉพาะบุคคลที่เป็น แล้วเขามีของเขาถูกต้องของเขา นี่คือความถูกต้องของเขา เราพุทโธ ๆ ของเราไปเนี่ย เราจะนิ่มนวล ลงโดยการนิ่มนวลโดยไม่มีสิ่งใดรบกวนเลยมันก็ลงได้ ลงโดยเรียบไปเรื่อย ๆ เรียบ ๆ ๆ ๆ จนมันว่างเลย แต่สติมันพร้อม จะอย่างไรสติมันพร้อมรู้สึกตัวตลอดเวลา รู้สึกตัวเหมือนเรานั่งมองอยู่ อะไรกระทบมาเนี่ย ดูสิคนจะเอาก้อนหินโยนใส่เรา คนจะเขวี้ยงเราเนี่ย เราเห็นหมดเลยนะ เห็นทุกคนเลยที่โยนเข้ามา เพราะเราลืมตาอยู่ จิตก็เหมือนกัน มันจะลงนิ่มนวลขนาดไหน มันรู้ชัดเจนนะ สมาธิเนี่ย มีสติเนี่ยรู้ชัดเจนมาก แต่ที่เขาพูดกันนี้มันขาดสติ คำว่าว่าง ๆ เนี่ยมันเป็นสูตรสำเร็จ

คำว่าว่างเนี่ยสูตรสำเร็จ เราประชดประชันบ่อยในโอ่งในไหมันไม่มีน้ำมันก็ว่าง แต่มันไม่มีชีวิตไง คำว่าสูตรสำเร็จแล้วมันเข้าข้างตัวเอง เวลาเราทำความดีกัน เราก็บอกว่าว่างคือความดี แล้วบอกเราว่างแล้ว เป็นความดีแล้ว คือมันชิงสุกก่อนห่าม มันไปชิงสุกก่อนห่าม ถ้ามันเป็นจริงเนี่ยมันเป็นเนื้อหาสาระ มีการกระทำมันว่างของมัน คำว่าว่างเหมือนกันใช่ไหม แต่ว่างเพราะจิตมันว่าง ไม่ใช่ว่างเพราะคิดว่าว่าง คิดเป็นสัญญาอารมณ์

ถาม : ๒. บางครั้งแน่นหน้าอกมาก เหมือนจะขาดใจ เมื่อนึกพุทโธขึ้นมาแล้วค่อย ๆ หายไป

หลวงพ่อ : นี่ ถ้ามันเหมือนจะขาดใจเห็นไหม คำว่าบางครั้งแน่นหน้าอกมาก บางครั้งเหมือนจะขาดใจ สิ่งที่เรากินอาหารเข้าไปเนี่ย อาหารผ่านลำคอมันมีความรู้สึก เรากินน้ำเข้าไปรสของน้ำผ่านลิ้นเข้าไปมันจะมีความรู้สึก จิตมันกินพุทโธเพราะเราบังคับให้มันนึกพุทโธ ๆ มันถึงอึดอัดขัดข้อง มันมีความแน่นหน้าอกเนี่ย ถ้ามันแน่นหน้าอก เราก็ให้ความสมดุลตั้งสติ ถ้าแน่นหน้าอกน่ะ ถ้ามันไม่มีปัญหามันพอทนได้ เพราะเราเห็นผลแล้วเนี่ย เราพยายามฝืนกับมัน

เพราะกิเลสเนี่ยสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรานะ มันจะต่อต้าน พอมันจะต่อต้านเนี่ยมันจะอ้างเหตุผล มันจะเอาเหตุผลของกิเลสนะมาหลอกเรา เนี่ยนั่งสมาธิไปแล้วนะ นั่งทำเกินกว่าเหตุไปแล้วนะ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บนะ พรุ่งนี้เช้างานจะทำจะลุกขึ้นไม่ไหวนะ เนี่ย มีคำนี้ คำนี้สำคัญมาก ถ้าเรามานั่งภาวนาไปเนี่ย ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปโลกเขาจะติเตียนนะ

เดี๋ยวคนโน้นเขาจะติ.. ว่าเรานี่ทำความดี… เนี่ยเป็นห่วงใยศาสนา… กลัวศาสนาจะเศร้าหมอง… ไม่ใช่ กิเลสมันจะหลอกมึง กิเลสมันจะหลอกให้เลิกไง แต่มันจะคิดดีนะ ไม่ได้นะทำไปเนี่ยเดี๋ยวศาสนาจะเศร้าหมองนะ เนี่ยมาปฏิบัติแล้วเนี่ยพิกลพิการขึ้นมา เขาจะโทษศาสนานะ ยังงั้นเลิกเหอะ เนี่ยเวลามันอึดอัดขัดข้อง มันอึดอัดใจเนี่ยเหมือนใจจะขาด เราต้อง..

หลวงตาใช้คำนี้ เวลาพระที่วัดป่าบ้านตาดอดอาหาร ถ้าใครอดอาหารเกินกว่าเหตุท่านเอ็ดเลย ท่านบอกว่าทำไมไม่คำนวณถึงกำลังของตัว ทำไมไม่คำนวณว่าเรานี้มีกำลังแค่ไหน เราจะรับความเพียร รับความอุกฤษฏ์ของการกระทำนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ทำไมไม่ใช้ปัญญาเราคำนวณ ทำไมทำจนเกิดกว่าเหตุ ทำไมทำจนเราเจ็บไข้ได้ป่วยขนาดนี้ ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าเราจะทรมานตนเราก็คำนวณว่าเราเนี่ยจะมีกำลังมากน้อยได้ขนาดไหน อดอาหารได้กี่วัน

เราทำความเพียรเนี่ยจะได้มากได้น้อยขนาดไหน เราต้องคำนวณด้วย ทีนี้ไอ้นี่อึดอัดขัดข้องมันจะขาดใจ ถ้ามันจะขาดใจเห็นไหมจะบอกว่าขาดใจเลิกเลย... มันก็เข้าทางกิเลสหมดใช่ไหม แต่ว่าจะขาดใจเนี่ย อื้อ ก็ยังหายใจอยู่ไม่เห็นขาดเลย บางทีกิเลสมันต่อรองตลอดนะ กิเลสเราเนี่ยเวลาประพฤติปฏิบัติไม่มีใครเข้าใจว่าเราปฏิบัติแล้วนะ กิเลสจะบอกว่าเชิญครับ จะเปิดทางให้เลย จะปฏิบัติครับ ไม่มี มันหลอก มันล่อ มันทำให้เราหัวปั่น มันทำให้เราติดขัดไปหมด

ฉะนั้นเราจะบอกว่าถ้ามันยังทนได้ ถ้าเราคำนวณดูแล้วว่ามันไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเราผ่านอันนี้ไปนะ พอผ่านจากการเหมือนจะขาดใจเนี่ย พอมันผ่านไปได้นะ โล่งเลย พอผ่านวิกฤตนี้ไปปั๊บปล่อยหมดเลย แต่พอมันจะขาดใจนะ เอ้อ เลิกเหอะ ก็กลับไปที่เก่าเริ่มต้นจุดสตาร์ทไง ไปนับหนึ่งกันใหม่ สู้อยู่อย่างนี้ นี้คือกลมายาของกิเลส สิ่งที่เกิดขึ้นเวลามันแน่นหน้าอก มันจะขาดใจไง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเมื่อพุทโธขึ้นมาแล้ว มันก็ค่อย ๆ หายไป มันก็ค่อย ๆ หายไป เพราะเราไม่เชื่อมัน แต่ถ้าเราเชื่อมันนะ มีความวิตกกังวลนะ โอ้โฮ จะขาดใจเลยนี่ มันจะขาดใจเพิ่มเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า กิเลสมันจะซ้ำ เราจะใจอ่อนไม่ได้

หลวงตาพูดประจำ ถ้าอ่อนแอนะกิเลสกระทืบซ้ำเลย ถ้าบอกว่า โอ๊ย ไม่ไหวแล้วนะ โอ๊ย จะแย่แล้วนะ ใช่ ไม่ไหวจริง ๆ ลุกเหอะ ตายแล้ว ตายเดี๋ยวนี้ จะตายเดี๋ยวนี้ นอนตายเดี๋ยวนี้เลย แต่ถ้า อื้อ ยังสู้กันไป ยังสู้กันไป ผลมันตอบมาแล้วนะ เพราะผลมันตอบแล้วว่า แล้วมันก็ค่อยหายไป พอมันค่อย ๆหายไปเหมือนเราเวทนาเกิด พิจารณาไปเรื่อย ๆ หรือใช้ปัญญาไปเรื่อย ๆ เนี่ย เวทนามันจะจางไป มันจะเบาของมันไป มันจะจางของมันไป ถ้าเราต่อสู้นะ เว้นไว้แต่เราไม่สู้ เว้นไว้แต่เราท้อถอย

นี้คือกลมายาของกิเลสที่เอามาต่อรองกับเรา นี่ไงเราว่าเราเป็นเจ้าของใจเรา เราเป็นเจ้าของชีวิตเรา เวลาเราปฏิบัติทำไมมันมีข้อโต้แย้งอย่างนี้ล่ะ แล้วสิ่งที่โต้แย้งเนี่ยเราก็รู้แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง เราถึงบอกว่าเรานี้นะมันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ กิเลสนี่เป็นนามธรรม มันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับจิต มันนอนเนื่องมากับจิตใจของเรานี่แหละ แล้วถ้ากิเลสมันเป็นเราจริง กิเลสมันจะชำระเราไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ กิเลสมันเป็นสิ่งที่นอนเนื่อง มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องมากับใจ แต่แก้ไขได้ ชำระได้ พลิกศพกิเลสได้ ฆ่ามันได้

พอฆ่ากิเลสเห็นไหม ในพระไตรปิฎกนะ ในพุทธศาสนาเราเนี่ยการเบียดเบียนกัน การทำร้ายกันพระพุทธเจ้าห้ามหมดเลย เว้นไว้อย่างเดียว การฆ่ากิเลสเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด การฆ่ากิเลสพระพุทธเจ้ายกย่อง แต่เรื่องการทำร้ายกัน การเบียดเบียนกัน การฆ่ากัน พระพุทธเจ้าห้ามเด็ดขาด ผิดหมดเลย เว้นไว้แต่ฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสพระพุทธเจ้ายกย่องมาก แล้วเห็นไหมกิเลสมันอยู่ที่ใคร

ดูสิ ว่าตัดป่าแต่เหลือต้นไม้ไว้ ตัดป่าหมดเลย ต้นไม้เต็มป่าเลย ฆ่ากิเลสเห็นไหมกิเลสตายไปไม่มีอะไรบุบสลายไปจากจิตเราเลย ไม่มีอะไรบุบสลาย เป็นคนดีขึ้นมา เป็นอริยบุคคลขึ้นมา เป็นสิ่งที่ประเสริฐขึ้นมาทันทีเลย เห็นไหมการฆ่ากิเลส แล้วเห็นชัดเจนเพราะมันเป็นสมุจเฉทปหาน มันปหานอย่างจริง ปหานอย่างแท้ ปหานให้มันเห็นให้มันตายต่อหน้า มันตายต่อหน้าพลิกศพมาเลย ยถาภูตัง กิเลสขาด เกิดญาณทัสสนะรู้ว่ากิเลสขาด พลิกศพกิเลสเลย เห็นชัดเจนมากเลย มันถึงเป็นสันทิฏฐิโก มันถึงเป็นความจริงในหัวใจนะ

โอ้... เนี่ยมาอยู่วัดแล้วเห็นไหมได้ผล ผลอันนี้เห็นไหมมันอยู่ในหัวใจ อันนี้ถูกต้องแล้ว พอถูกต้องแล้วเนี่ยนะ ตอนนี้ผลถูกต้องแล้ว ต้องทำกับใจมา ต้องกลับมาที่หัวใจเราทำให้เป็นปกติ อย่าไปว่าถูกต้องแล้วนะ กิเลสเนี่ยมันร้ายนักนะ พอถูกต้องแล้วเนี่ยจะเอาอีกมันจะไม่ได้ พอถูกต้องแล้วจะเอาให้เต็มที่เลยนะ กิเลสมันก็หลอกหัวปั่นอีก กลับมาที่เป็นปกติของเรา ไม่ต้องไปดีใจเสียใจสิ่งนั้นมันผ่านไปแล้ว สิ่งที่ปฏิบัติมาเนี่ยมันก็ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งนี้มันเหมือนกินข้าวเนี่ย เมื่อวานเราก็ได้กินข้าวมามื้อหนึ่งแล้ว วันนี้ก็กินมื้อวันนี้ พรุ่งนี้จะกินมื้อใหม่

ในการปฏิบัติของเรานี่มันจะต้องใหม่อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว เพียงแต่ว่าเราเคยได้ เราเคยรู้ เราเคยเห็น เหมือนกับนักกีฬาที่ออกซ้อมออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายเขาจะแข็งแรงขึ้นมา เพราะเขาได้ลงทุนลงแรงโดยการฝึกซ้อมของเขา กำหนดพุทโธ ๆ คำบริกรรมของเราเนี่ย ๒๔ ชั่วโมง ทำอยู่ตลอดเวลาเหมือนนักกีฬาเนี่ย มันจะฝึกซ้อมมันอยู่ตลอดเวลา แล้วผลของมันคือจิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้นมา ถูกต้องดีงาม เห็นไหม เวลาทำเนี่ยทำจริงจะได้จริง แล้วทำจริงได้จริงเนี่ย ทำแบบนี้ทำแบบไม่รู้เรื่อง คือทำแบบว่าเราไม่ได้คาดการณ์ ไม่ได้คาดหมาย การคาดหมายคือตัณหาซ้อนตัณหา

โดยธรรมชาติของคนนะ อยากดี อยากเป็นคนดีตลอด นี่คือตัณหา แล้วถ้าเราซ้อนมันคือเราไปทำต้องการผลน่ะไปซ้อนมัน เราอยากดีอยู่แล้ว เราวางไว้ แล้วพยายามสร้างด้วยเหตุ เหตุและผลเห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าให้ไปแก้ไขที่เหตุนั้น ที่เหตุนั้นไง เหตุนั้นคือการกระทำนั้น นี่เรากำหนดพุทโธ ๆ ทำไปเรื่อย ๆ มันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ นะ ถ้ามันจะขาดใจ มันจะเป็นอย่างไรเนี่ย ถ้าต่อสู้มาได้ผ่านมาแล้วเนี่ยเยาะเย้ยมันได้เลยนะ ถากถางมันได้เลยนะ เนี่ยเวลามันจะขึ้นมานะ เอ๊ย เราชนะมาแล้วเอ็งอย่ามาหลอก เถียงมันได้เลยแหละ เนี่ยเวลาเถียงกิเลส

หลวงตาพูดว่าหัวใจเราเนี่ยเปรียบเหมือนเก้าอี้ดนตรี เดี๋ยวก็กิเลสนั่ง เดี๋ยวก็ธรรมะนั่ง นี่ก็เหมือนกัน เวลามันอึดอัดขัดข้องเนี่ยกิเลสนั่ง แต่เวลามันโล่งโปร่งเนี่ยธรรมะนั่ง เก้าอี้ดนตรีเนี่ยมันอยู่ที่เรา ความคิด กิเลสกับธรรมนี่มันต่อสู้กันกลางหัวใจของเรา นี่เวลาต่อสู้กลางหัวใจของเรา การต่อสู้เราก็เห็นว่ามีการต่อสู้กับการกระทำใช่ไหม แต่เวลาภาวนาเนี่ยใครเห็นกับมัน เรารู้เองไง เรารู้เองว่าในหัวใจเนี่ยมันขัดข้องแค่ไหน ในหัวใจเนี่ยมันดีงามแค่ไหน

เนี่ยถ้ามันเป็นการทำสมาธิ มันเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนข้อหนึ่ง คำถามอันแรกเนี่ยเห็นไหม อันแรกเนี่ยเพราะเขาสงสัย เรารู้ เพราะเคยดูจิตมา เคยดูจิตมาคือเคยฝึกอย่างนั้นมา แล้วพอจะมาทำพุทโธ ๆ นี่ หนึ่ง มันเหนื่อย โธ่ ท่องพุทโธ ๆ เหนื่อยนะ นึกขึ้นมาเนี่ยพุทโธ ๆ ๆ ๆ เนี่ย ตั้งสตินี่เหนื่อย เหนื่อยมากกับการที่คนเคยปล่อยว่าง ๆ โดยไม่ต้องทำ มันไม่เคยเหนื่อย มันสบายอยู่แล้วไง พอมาพุทโธ พอพุทโธ ๆ สักพักเนี่ย พอทำแล้ว แล้วแบบว่าเราทำแล้วไม่ค่อยได้ผล มันจะย้อนกลับว่าเราเคยสบาย เอ่อ กลับไปดูจิตดีกว่าว่ะ ไม่ทุกข์ไม่ยากนะ แล้วก็สบาย ๆ อย่างนั้น สบาย ๆ อย่างนั้นมันจะได้ผลอะไร เราฝึกเราทำกันอยู่เนี่ยเราต้องการผล

เวลาประพฤติปฏิบัติเห็นไหมดูที่เขาประพฤติปฏิบัติกันพวกนามรูปมาเนี่ย เราจะถามเขาเลยว่าโยมมาปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าเป็นการปฏิบัตินะ ก็ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าบอกอยากได้มรรคผล ผิดหมด เพราะเป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิ ว่าง ๆ เนี่ย เป็นมิจฉาสมาธิเพราะมันว่าง ๆ มันขาดสติ สติมันไม่สมบูรณ์ คำว่ามิจฉาเริ่มต้นมิจฉามันก็มิจฉาตลอดไป มิจฉาคือความผิด สัมมาคือความถูกต้อง เงินน่ะเงินถูกต้องมันใช้ได้ผล มันใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายมันมีค่าตามตัวเลขของเงินนั้น แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่มิจฉาเนี่ย มันไม่มีค่า มันใช้หนี้ตามกฎหมายไม่ได้ มันก็เป็นเศษกระดาษอันหนึ่ง ว่าง ๆว่าง ๆ เนี่ย มันเป็นเศษกระดาษ มันเป็นมิจฉา มันไม่มีผล ไม่มีค่า แต่มันได้มาด้วยความสบายไง ดูสิ สิ่งที่มีค่าตามกฎหมาย เราต้องแลกเปลี่ยนมาด้วยข้อเท็จจริง ด้วยสิ่งที่ได้เงินได้ทองนั้นมา เราต้องลงทุนลงแรงมา พุทโธ ๆ ตั้งสมาธิ ตั้งสติ มันต้องลงทุนลงแรง มันเหนื่อย แต่พอมันจะเอาเศษกระดาษมาสมมุติว่าเป็นเงินใช่ไหม มันก็ตัวเลขเงินปลอมเนี่ยใครก็เอามาก็ได้ กรอกเลขเท่าไร่ก็ได้ เงินแบงค์หมื่นเลยแบงค์แสนเลย มันใช้ได้ไหม แบบว่าง ๆ ว่าง ๆอย่างนั้น มันสบายไง

เราจะบอกว่าคำว่าสบายมันมีผลไหม สบายน่ะมันมีผลมีค่าตามกฎหมายไหม นี่เหมือนกันทำสมาธิขึ้นมา ถ้าจิตมันมีกำลังขึ้นมามันมีค่าตามธรรมนั้น ตามธรรมนั้นมันมีค่ากับหัวใจของเรา หัวใจของเรามีค่ามาก ชีวิตนี้มีค่ามาก แล้วมันมีค่าของมันแล้วเนี่ยเราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับมันเนี่ย จะเหนื่อยจะทุกข์จะยากก็ต้องทำนะ ไม่มีอะไรได้มาด้วยความสะดวกสบาย ไม่มีหรอก ต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้นล่ะ หน้าที่การงานเราก็ต้องลงทุนลงแรง ชีวิตเราก็ต้องลงทุนลงแรง ทำ...ตั้งใจทำ ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค ไม่ใช่กระทำด้วยลำบากเปล่า จะทรมานกิเลส กิเลสที่มันอยู่ในใจเราเนี่ยทรมานมัน จะสู้กับมัน แล้วผลของมัน โอ้....ว่าง โอ๊ย... สุขมาก เห็นไหม

เวลาชนะกิเลสขึ้นมาแต่ละรอบ แต่ละรอบนะผลของมันนะเห็นไหม เนี่ยมีค่าตามกฎหมาย มีค่ามีผลนะ สิ่งที่มีผลกับเรา เราต้องทำ จะบอกว่าให้สู้ไง ถ้ามันสบาย ๆ เนี่ย เพราะเขาใช้คำว่าสบายทุกอย่างสบายแล้วเนี่ย พอกำหนดพุทโธแล้วลำบาก คนเนี่ยหลงมาทั้งชีวิตแล้วเนี่ยจะหลงกัน แต่ผลของมันต่างกันมาก แล้วถ้าว่าง ๆ นะไม่มีผลอย่างนี้ ว่าง ๆ ไม่มีความปลอดโปร่งอย่างนี้ ว่าง ๆ คือว่าง ๆ อันนี้มันปลอดโปร่งโล่งใจ มันดีใจ มันถูกต้องเลย

เพียงแต่ว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว จะเอาอีกทำอีกก็ต้องเกิดกับปัจจุบัน แล้วทำจนชำนาญนะ พอชำนาญปั๊บเนี่ยอยู่กับเราตลอดเลย เพราะเรารักษาเหตุได้ตลอด เหมือนมีอาหารตั้งไว้ กินทุกวัน ๆ ท้องไม่มีหิว นี่เหมือนกันถ้าเรากำหนดพุทโธ เราตั้งสติไว้ มันจะโปร่งจะโล่งจะมีกำลัง แล้วจะดีกับเราตลอดไปนะ มีอะไรอีกไหม ไม่มีจะจบแค่นี้นะ เอวัง