เทศน์บนศาลา

การพิจารณาจิต

๑ ต.ค. ๒๕๓๘

 

การพิจารณาจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เกิดมาปรารถนาความสุขทุกคน มนุษย์เกิดมานะปรารถนาอยากมีความสุข แต่ปรารถนากันแต่ภายนอก ภายนอกก็ให้สุขได้แต่ร่างกาย เครื่องบำรุงบำเรอของโลกเขานะให้ความสุขได้แต่ร่างกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กระทบกับผิวหนัง มันก็พอใจ แต่เวลารับรู้จริงๆ มันคือหัวใจนี้

เพราะเราเป็นชาวพุทธ แล้วเราเป็นคนที่มีบุญวาสนา ถึงได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วได้เป็นชาวพุทธที่ว่าถือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ธรรมะมันก็มีอยู่อย่างนี้ แต่ไม่มีใครเห็นนะ แล้วมันก็จะร้อนไป แต่นี่เพราะเรามีวาสนา ถึงได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่เป็นศาสดาของเทวดานะ “สัตถา เทวะมนุสสานัง” เห็นไหม เป็นผู้สอนเทวดา แล้วเทวดาอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ได้อยู่ที่สวรรค์ แล้วพวกผีพวกเปรตอยู่ที่ไหน ก็ไม่ใช่อยู่ที่นรกหรือ

นรกสวรรค์นั้นมันมีจริงอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าไปสอนพวกนั้นนะ ฉะนั้นถึงว่ากิเลสของพวกเราจะไม่เชื่อไง ถ้าเราเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์ เราก็ขยะแขยงในการทำบาป เราก็จะมีความฮึกเหิมในการทำความดี เพราะรู้ว่าทำบาปแล้วมันจะตกนรก ทำความดีแล้วมันจะได้ไปสวรรค์ จะได้ไปนะ แต่นั่นเป็นประโยชน์อนาคต

พระพุทธศาสนาสอนประโยชน์ปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นถ้าจิตนี้เชื่อ เห็นไหม ปัจจุบันนี้เรายังแก้ไม่ได้เลย แต่มันจะหลอกไปถึงอนาคตเลยว่า “สวรรค์ก็ไม่มี นรกก็ไม่มี” สอนกันหลอกๆ แล้วพอถึงปัจจุบันนี้ก็เลยล้มไป เห็นไหม

เพราะปัจจุบันนี้มันหมายไปอนาคต แล้วก็หมายถึงอดีต มันเอาอดีต อนาคต มาผูกมัดขาปัจจุบันด้วย นั่นกิเลสของเรานะ แล้วเราจะเชื่อใครล่ะ เราเชื่อเราไม่ได้นะ เราต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตาสว่างแล้วไง ศาสดานี้เป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสแล้วถึงได้มาสอนพวกเรา ในเมื่อนัยน์ตาเรามืดบอดมันก็ต้องเชื่อคนตาสว่างใช่ไหม ต้องเชื่อคนที่เขาตาไม่บอด คนตาไม่บอดสอนไว้นะ เราตาบอด คนตาบอดเถียงเก่ง เพราะมันไม่เคยเห็น มันจินตนาการเอาแล้วก็เถียงไปเรื่อยเปื่อย แต่ที่พูดถึงนรกสวรรค์นี้ไม่ใช่ว่าพูดเพื่อจะให้หมายไปติดนี่นา ของอย่างนั้นมีอยู่ในวัฏสงสารนี้ มันเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว วัฏวนนี้เป็นที่อยู่ของจิตที่ยังมีกิเลสอยู่

มนุษย์เกิดมาทั้งหมดต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิดหมด ยกเว้นพระอนาคามี เพราะพระอนาคามีนี้จะไปเกิดที่พรหมแล้ว ไม่มาเกิดที่มนุษย์นี่อีกแล้ว กับพระอรหันต์ ถ้ามนุษย์ตายแล้วเกิดหมด พระอรหันต์ก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ใช่ไหม พระอรหันต์เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติใช่ไหม การประพฤติปฏิบัตินี้ใครเป็นคนวางไว้ล่ะ ก็พระพุทธเจ้า

ฉะนั้น วัฏวนนี้เป็นที่อยู่ของผู้ที่มีกิเลส แล้วเราก็เป็นคนที่มีกิเลสในหัวใจคนหนึ่ง กิเลสนี้เป็นเครื่องร้อยรัดใจนะ เราถึงฟังใครไม่ได้ไง จะฟังธรรมะมันก็จะยุแหย่ไม่ยอมให้ฟัง กิเลสมันถือตัว กิเลสมันถือตน มันไม่ฟังใครหรอก มันว่ามันใหญ่ที่สุด มันรู้มากที่สุด มันดีที่สุด มันทั้งนั้น

เราใช้คำว่า “มัน” เพราะว่ามันไม่ใช่เรา กิเลสนี้อาศัยหัวใจเราอยู่ แล้วทำไมเหยียบย่ำหัวใจของเราอีก เราคือจิตของเรา เราคือหัวใจของเรา กิเลสนี้อาศัยอยู่นั่นล่ะ แต่เราไม่สามารถเห็นหน้ามัน เพราะกิเลสนี้สามารถชำระออกจากใจได้นี่

พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วถึงได้มาสอนพวกเรา พวกเรามีกิเลสอยู่ในหัวใจแล้วทำไมเราจะชำระตามศาสดาของเราไม่ได้ มันถึงดับได้ มันถึงสิ้นได้จากหัวใจเรา กิเลสนี้ถึงไม่ใช่เรา ถึงได้ใช้คำว่า “มัน”

แต่มันอาศัยใจเราอยู่นี่ อาศัยใจเราอยู่แล้วยังบีบรัด ยังข่มเหงรังแกอีก เรานี่ไม่สงสารตัวเราเองกันเลย เรามองแต่คนข้างนอกไม่เคยมองเห็นตัวเราเอง ไม่เคยสนใจตัวเราเองเลย ถ้าเราสนใจตัวเราเองเสียหน่อย เราหันกลับมาดูหัวใจของเรา มาดูซิว่าอะไรกันแน่ที่เป็นของจริงจัง

พระพุทธเจ้าสอนว่าอะไร สอนว่าทุกสรรพสิ่งในโลก ในสามโลกธาตุเลย อย่าว่าแต่ในโลกเลย เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นต้องเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา แล้วโลกนี้เป็นอนิจจังไหม...เป็น หัวใจเราก็อนิจจัง เราเลยมัวแต่มองว่าสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังหมด แต่ไม่มองความเกิดดับในใจ ความเกิดดับในใจนี่อนิจจังกว่าทุกอย่างนะ เห็นไหม เกิดๆ ดับๆ ในใจเรานั้นน่ะ แต่เรามองไปข้างนอกนี่นา เห็นไหม เพราะกิเลสมันพาให้มองนี่

ของที่อยู่ในตัวเรา ของอะไรก็แล้วแต่ ของใช้ของสอยเราอยู่กับตัวเรา เราใช้ไปนานๆ เข้าเราจะเบื่อหน่าย ลองของหลุดจากมือเราไปอยู่ที่คนอื่นสิ มันจะสวยทันทีเลย มันจะมีค่าขึ้นมาเลย ของอยู่กับเรานี่ไม่มีค่าเลย มองของคนอื่นนะ มีแต่ของคนนั้นสวย ของคนนี้งาม

อันนี้ก็เหมือนกัน มันมองออกแต่ข้างนอกนะ หัวใจนะ มันไม่มองถึงตัวมันเอง พอมันส่งออกมันก็ฟุ้งซ่าน นั่นจิตเป็นอย่างนั้น.. ธรรมชาติของธาตุรู้เป็นอย่างนี้ มันอาศัยฐานจากใจเรานี่ล่ะ แล้วส่งออกไป พระพุทธเจ้าสอนบอกว่า ก่อนจะทำการใดๆ คนเรานี้ให้เห็นตัวตนของเราก่อน ให้รู้จักว่าเราเป็นใครไง “เรา” มันไม่มี ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แต่สมมุติ.. โลกสมมุติ.. จริงตามสมมุติ.. สมมุติว่าเป็น “เรา” เป็น “เขา”

มนุษย์นี้เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยกันเป็นหมู่คณะ เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด แต่พออยู่ด้วยกันก็มีปัญหา เห็นไหม อยู่คนเดียวก็ไม่ได้ เพราะกลัว เพราะหวาด เพราะระแวง ต้องอาศัยกันอยู่ แต่อาศัยกันอยู่แล้วกิเลสมันก็ฟันกันนะ ความคิดในใจนะ เบียดเบียนกัน ย่ำยีกันด้วยความคิด แล้วก็ออกมาเป็นการกระทำ

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาถึงสอนว่า ให้อยู่ด้วยกันเป็นสุขนะ แต่ก่อนจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข เห็นไหม ต้องแยก ถ้าจะเป็นคนดีนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ภิกษุ ให้นักบวช “ให้เที่ยวไปเหมือนนอแรด ไปหนึ่งเดียว” พอคนแยกออกมาจากหมู่ มันก็จะมีความว้าเหว่ มันจะเห็นตรงนี้ เห็นความว้าเหว่ เห็นความวิเวกความเศร้าซึม แต่ถ้าอยู่ในหมู่คณะนี้จะมองไม่เห็นเรื่องอย่างนี้เลย

พอเริ่มสองคนสามคนขึ้นก็จะคุยกันแต่ทางโลก คุยกันแต่สิ่งที่มันพอใจ แต่ถ้าเราแยกออกมาเราไม่คุยกับใครสิ แยกออก เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น

“ จะหาตัวตนต้องหาด้วยความสงัด หาไม่เจอในที่ฟุ้งซ่าน หาไม่เจอในที่คลุกเคล้า ในที่คลุกคลีกันอยู่ ”

ฉะนั้น ถ้าหาไม่เจออย่างนั้น ทำไมถึงจะให้เป็นที่สงัดล่ะ ก็ต้องทำใจให้สงัดก่อน เห็นไหม ทำใจให้สงัด ใจนี้มันไม่สงัด ใจนี้มันเป็นพายุ ลมนะมันรู้จักตัวมันเองไหมว่ามันเป็นลม มันรู้สึกในตัวมันเองไหม แต่เวลามันพัดออกไป บ้านเรือนนี้พังหมด เวลาพายุพัดนะ ถ้าลมมันนิ่ง ลมมันเอื่อย มันก็ให้ความเย็นแก่เรา เห็นไหม

แต่อารมณ์เรา ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ มันทำให้ข้างในเราปั่นป่วน ปั่นป่วนขึ้นมาเลย พระพุทธเจ้าสอนให้ยับยั้ง ให้ทำอันนี้ให้สงัด สงัดเข้ามา...

ให้กำหนด ให้มีสติ ให้สติยับยั้งใจไม่ให้ออกไปยุ่งกับโลกภายนอก โลกภายนอกมันให้ประโยชน์ต่อเมื่อเราประกอบเป็นอาชีพ เป็นความเป็นอยู่ของโลกเขา อันนั้นมันเป็นประโยชน์ตาหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนให้ลืมตาสองข้าง ตาหนึ่งคือตาโลก ตาหนึ่งคือตาธรรม ตาโลกเราก็ใช้ประโยชน์ในทางโลก ก็เหมือนกายกับใจนั่นล่ะ

วัตถุสิ่งของหามาก็เพื่อร่างกาย แต่เราได้หาธรรมะให้หัวใจบ้างหรือเปล่า เราต้องรู้จักสิว่า หัวใจนี้กินธรรมะ ร่างกายนี้ใช้วัตถุสิ่งของในโลกก็ใช้ไป ถึงเวลาควรใช้ ถึงเวลาควรจะหาธรรมะให้หัวใจ เราก็ต้องพยายามหาให้สงัดให้ได้ ธรรมะจะเกิดในที่อย่างนั้นล่ะ ในที่สงัด ในที่วิเวก

จิตไม่สงบก็เพราะว่ามันมีความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเกิดจากอะไร เกิดจากกิเลสภายใน อย่าไปว่าเกิดจากภายนอกนะ เกิดจากภายในก่อน ถ้าเราไม่ออกไปรับรู้ ข้างนอกเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น เราจะรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ไอ้นี่เราออกไปรับรู้เขา เราไปมองแต่ว่าสิ่งนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ แต่เราไม่มองว่าหัวใจนี้ ไปรับรู้มาแล้วมันถึงทุกข์

แต่ถ้าทำใจให้สงบแล้วเราชำระกิเลสออกจนสิ้นแล้ว สิ่งที่มาจากภายนอกก็เป็นประโยชน์ทั้งหมด อาหารที่มาจากภายนอก ถ้าภาชนะของเราสะอาดอาหารนั้นก็บริสุทธ์ อาหารจากภายนอกเข้ามา ถ้าภาชนะนี้สกปรก ภาชนะนี้มียาพิษอยู่ พออาหารนั้นมาใส่ในภาชนะนี้อาหารนั้นก็เป็นยาพิษไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราทำใจของเราให้ปกติ สิ่งที่มากระทบอย่างไรมันก็เป็นปกติ ถ้าจิตใจเราไม่ปกติอยู่แล้ว ข้างนอกกระทบมามันก็ต้องยิ่งรุนแรงเข้าไปใหญ่

ฉะนั้น ถึงต้องทำใจให้ปกติก่อนไง ทำใจให้เป็นปกติ ทำใจให้เป็นสมาธิ ทำใจให้ตั้งมั่น สมาธิคือใจตั้งมั่น ทำใจให้สงบ สงบเข้าบ่อยๆ พอใจสงบ ความปล่อยวางนั้นคือความสงบ ความสงบนั้นมีหลายขั้นตอน ความสงบคือความปล่อยวางทั้งหมด จาก รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก ให้มันอยู่เฉยๆ ในตัวมันเอง มันถึงจะไม่ลงถึงฐานนั้น นั่นเป็นปกติของผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ จะทำให้จิตใจนี้ลงถึง “ฐีติจิต” จิตเดิมแท้ จิตผ่องใสในตัวจิตเดิมแท้นั้น มันก็พอเอาเรื่องอยู่ แต่ทำได้ แต่ผู้ปฏิบัติใหม่นี้ แค่ปล่อยวางอันนั้นก็เป็นสมาธิแล้ว แค่ปล่อยวางก็เป็นสมาธิไง แต่ทำบ่อยๆ เข้า อันนี้จะสะสมจนเป็นจิตตั้งมั่น จิตนี้จะไม่วอกแวกคลอนแคลนไปตาม รูป รส กลิ่น เสียงภายนอก

ฝึกเข้า ชำนาญในวสี ชำนาญในการทำให้จิตสงบไง ทำงานทำเข้าทุกวันๆ จิตจะตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ พอจิตตั้งมั่น คนเรานะหิวกระหาย อะไรก็แล้วแต่ขอให้ได้อิ่มท้องไว้ก่อน ถ้าคนเราไม่หิวกระหายนะ มีอยู่มีกินอยู่แล้ว มันก็ต้องเริ่มคัดอาหารล่ะ ว่าอาหารนี้เป็นพิษ อาหารนี้เป็นคุณ เห็นไหม หัวใจตั้งมั่นก็เหมือนกัน

หัวใจนี้กินอารมณ์เป็นอาหาร ไม่มีเลยเวลาที่จะอิ่มพอในหัวใจของตัว ถ้าหิวกระหาย อะไรผ่านมาไม่ได้จะกินหมดเลย จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ขอกินก่อน เพื่อจะให้ได้ประทังความหิวของตัว พอกินเข้าไปก็ทุกข์ร้อน เพราะกินของเป็นพิษเข้าไป แต่มันเลือกไม่เป็น เพราะมันไม่ตั้งมั่น มันไม่อิ่มในตัวมันเอง

เราถึงต้องทำใจให้สงบไง ทำใจให้สงบบ่อยๆ เข้า เห็นไหม เคยสงบหนหนึ่งก็ทำให้เคยลิ้มรสอาหารของการอิ่มขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว สะสมเข้าๆ คือจิตตั้งมั่น อ้อ ! เราเองเราก็ตักน้ำเติมจนเต็มตุ่มได้ พอตุ่มมันเต็ม เราเติมอีกไม่ได้ มันก็เต็มอยู่อย่างนั้น ใช่ไหม

จิตตั้งมั่นก็อย่างนั้นล่ะ อารมณ์ผ่านมาก็คือน้ำในตุ่มเรานี่ล่ะ เราก็จับพิจารณาได้ ก็จะเห็นนะว่าจิตตั้งมั่นอย่างนี้ พอจิตตั้งมั่นอย่างนี้มันก็ยืนเป็นเอกเทศของตัวมันเองได้ รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกนั้นมันเป็นแค่เหยื่อน่ะสิ

ถ้าคนเราพิจารณาเข้าบ่อยๆ คนทำพิจารณาเข้าบ่อยๆ นะ คนปฏิบัติเข้าบ่อยๆ นะ จนชำนาญในวสี ของจะแข็งขนาดไหนก็แล้วแต่ ลองเอาค้อนทุบเข้าสิ ทุบบ่อยๆ เข้า มันก็จะแตก

ความหลง ความไม่เข้าใจจิตของตัว มันถึงได้ไปกว้านเอาความรู้ภายนอกเข้ากับจิตนี้ เป็นดังว่าอันหนึ่งอันเดียวกัน พอจิตสงบเข้า เราเห็นความที่มันจะเข้ามากระทบจิต ให้จิตนี้ฟุ้งซ่าน ให้จิตนี้เสวยอารมณ์อันนั้น เราก็เข้าใจ พอเข้าใจมันก็จะปล่อยใช่ไหม นี่การปล่อยเพราะว่ามันเห็นโทษ เพราะมีการพิจารณา มีการคอยเฝ้าดูอยู่ในเรื่องจิตของตัว เพราะมันตั้งมั่นแล้วนี่ มันก็เป็นหลักที่จะสามารถทำงานเองได้ ถ้าบ่อยเข้านี้ มันจะตัดออกเลย รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก ก็เป็น รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง ภายใน คือ ภายในใจของตัว มันก็แยกออกจากกัน จะปล่อยให้เข้าหากันก็ได้ จะดึงไว้ไม่ให้กระทบกันก็ได้ นี่การตัด รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก นี่ล่ะ “กัลยาณปุถุชน”

จิตนี้ก็เป็นจิตที่เป็นอิสระแก่ตัวเองได้ แต่จิตนี้ก็ยังมีกิเลสล้วนๆ เลย จิตสำนึกธรรมดานี่แหละ จิตที่เป็นจิตสำนึกธรรมดา แต่จิตสำนึกธรรมดาทางศาสนาเราเรียกว่า “กัลยาณปุถุชน” ถึงจะเป็นปุถุชนอยู่ แต่ก็เป็นผู้ที่เลือกอาหารการกินแล้วไง ไม่ใช่ปุถุชนคนที่หนาไปด้วยกิเลส ปุถุชนคนที่หนาไปด้วยกิเลสนี้ เขาไม่เคยเลือกอะไรเลยในโลกนี้ อะไรก็ได้ถ้าเป็นผลประโยชน์ แต่กัลยาณปุถุชนนี้ สิ่งใดดี สิ่งนั้นส่งเสริม สิ่งใดไม่ดี สิ่งนั้นจะไม่ทำ เพราะนี่จะเริ่มเข้าสู่ศรัทธาแท้ไง “อจลสัทธา”

พอเริ่มเข้าสู่ศรัทธาแท้นี้ มันก็หมายถึงว่า เริ่มเดิน “อริยมรรค” เพราะจิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่นแล้ว พร้อมที่จะส่งเสริมไง ส่งเสริมให้เกิดปัญญา ปัญญาในอะไร ปัญญาจะเกิดได้จากการเริ่มต้นใคร่ครวญ

เริ่มต้นใคร่ครวญนะ สมาธินี้จะทำให้จิตตั้งมั่นแล้วอิ่มในอารมณ์เฉยๆ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา อันนี้ก็เหมือนกัน เราได้สร้างเหตุขึ้นมาให้จิตตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่ก้าวเดินต่อไป มันก็จะสิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน

รู้ ! พอรู้ถ้าเสื่อมไปก็เหมือนกับมันไปรู้อดีต รู้ได้ สิ่งที่เราเคยแตะเคยจับต้องมานี้ เราสามารถรู้ได้ แต่เราทรงไว้ไม่ได้ นี่พระพุทธเจ้าสอนนะ สอนให้เดิน “อริยมรรค”

เพราะผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ก็เหมือนผู้ที่จบปริญญามาแล้ว เห็นไหม ผู้ที่มีการศึกษา จบการศึกษานั้นมา สมควรเข้าทำงานในตำแหน่งที่มีการศึกษานั้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตนี้ตั้งมั่น เพราะเราได้ขวนขวายมาแล้ว มันเป็นสมาธิ มันเป็นมรรคหยาบๆ เกิดขึ้นมาจากการตัด รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก จิตนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว จิตนี้สามารถจะเดินอริยมรรคใช่ไหม เพราะความเพียรชอบ ความดำริชอบ ฟังให้ดีนะ...

คำว่า ความเพียรชอบ ความดำริชอบ การงานชอบ ชอบลงที่ไหน ถ้าตั้งมั่นแล้วยังเอ้อระเหยลอยชายอยู่ มันก็ส่งออกไปนั่นน่ะ ถึงว่านรกมีสวรรค์มีไง มันอยากรู้ตรงนั้น ตรงนั้นมันเป็นผลต่อเมื่อจิตใจของเราดับสิ้นลงในชาตินี้ แล้วมันก็ต้องไปเสวยตรงนั้น ถ้าจิตนี้มันสมควรแก่เหตุ เหตุนี้ทำไว้พอแรงแล้ว ผู้ทำดี ผู้มีกรรมดี ผลก็ต้องเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ ผู้ทำกรรมชั่วก็ต้องตกไปในนรก อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันก็อยากจะรู้อยากจะเห็น เห็นไหม มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่เวลา เวลาในปัจจุบันนี้ต้องทำที่ใจของเรานี่

ปัจจุบันจิตกับปัจจุบันเหตุไง เหตุที่มันเป็นปัจจุบันที่จะแก้ไขกัน แล้วจิตนี้มันก็ติดอยู่ที่กายใช่ไหม จิตนี้หาจิตเจอไหม จิตที่เป็นสมาธิ มันตั้งมั่นแล้ว มันจะหาจิตเจอ ตัวจิตนี้มันต้องแก้ไขตัวจิต หันกลับมาพิจารณาตัวจิตเองนะ

จิตอยู่ไหน เพ่งดูสิ จิตอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึก มันรู้สึกในเรื่องอะไรล่ะ มันรู้สึกในเรื่องที่ว่าเขาเคยติเคยเตียนนะ มันรู้สึกในอารมณ์ รู้สึกในสัญญา ความจำได้หมายรู้อยู่ในใจนั้น เอาอันนี้มาใคร่ครวญ เราต้องย้อนกลับมาดูนะ ดูที่จิตนั่นนะ ดูความรู้สึก ตั้งขึ้นมา.. ตั้งขึ้นมา.. ถ้าหาไม่เจอนะ หาไม่เจอก็ต้องย้อนกลับมาดู ย้อนกลับมาดูต้องเจอ เพราะมีความรู้สึกนี่นา อย่างเวทนายังรู้สึกเลย เวทนาก็พิจารณาเวทนา อันนี้มันอยู่ที่บุคคล

บางคนจับต้องเวทนาแล้วมันจะพิจารณาได้เลย แต่บางคนจับต้องจิต ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก เวลามันเกิดขึ้นมันรุนแรงไหม เราคิดเรื่องอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็แล้วแต่ อารมณ์นี่จะรุนแรงมาก ทำไมเราไม่สามารถยับยั้งได้ เมื่อก่อนจิตเราจะมองไม่เห็นอารมณ์อย่างนี้เลย อารมณ์เกิดขึ้น เพราะอารมณ์นี้เป็นเรา เราจะพอใจอารมณ์ของเราแล้วคิดตามไปเลย พอคิดจบแล้วยังบอก “สะใจ ! เห็นไหมๆ ฉันนี่เก่ง” ทั้งๆ ที่ว่าไอ้กิเลสมันหลอกใช้เรานะ แล้วมันไสเราไปหนึ่งรอบ กลับมาเรายังนึกชมตัวเองเลยว่า “ตัวเองเก่งกล้า”

แต่ผู้ที่จะเอาชนะตนจะต้องหันกลับมาดูตรงนี้ พออารมณ์อันนี้เกิดขึ้นมาก็จับเลย “เขาว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ สิ่งที่เขาว่ามานี้ เขาว่ามาตั้งแต่เมื่อไหร่” มันว่ามาตั้งนานแล้ว แล้วสิ่งนี้มันควรดับไปนานแล้ว ถ้าเกิดขึ้นมาทำไมใจนี่ยังคิดอยู่ล่ะ คิดนี้เกิดมาจากอะไร ย้อนกลับมาดูนะ ความคิดนี้เกิดมาจากอะไร ขณะคิดอยู่นั่นล่ะ ขณะคิดอยู่นี้เหมือนกับเปลวไฟ เปลวเทียน เห็นไหม มันจะติดตลอดเวลา แต่ไฟนะ แสงสว่างของไฟ มันต้องเกิดดับ.. เกิดดับ.. ตลอดเวลา ความคิดนี้ก็เกิดดับ.. เกิดดับ.. ตลอดเวลา ถ้าสติตามเห็นย้อนกลับไประหว่างเกิดดับนั้นนะ ระหว่างความคิดที่เกิดดับว่าตัวไหนเป็นตัวยุแหย่ขึ้นมา มันจะเห็นนะ ความคิดนี้เกิดไม่ได้ลอยๆ นะ

อารมณ์นี้เป็นวัตถุอันหนึ่งนะ อารมณ์เรานี่ อารมณ์นี้ก็เหมือนกับก้อนอิฐก้อนหินก้อนหนึ่ง ถ้าจิตเราเป็นสมาธิแล้ว อย่างที่ว่าไปแล้วเมื่อกี้นี้ที่ว่าเดินอริยมรรค จะจับตรงนี้ได้เหมือนก้อนหินก้อนอิฐก้อนวัตถุเลย ความคิดที่เป็นอารมณ์เกิดขึ้นๆ

มองดูสิว่า ระหว่างที่มันเกิดขึ้นนั้นอะไรเป็นตัวพาเกิด เห็นชัดๆ เลย สัญญามันพาเกิด สัญญาต่างหากมันพาเกิด สัญญาคือความจำได้หมายรู้ คำที่เขาว่า เขาเอ็ด เขาติเตียนมา มันจำขึ้นมาใช่ไหม เวลาจิตมันว่าง มันก็เอาอันนี้มาป้อน

สัญญา ถ้าเราคุมไม่ได้ หรือว่าที่เราปล่อยตามธรรมชาติของมัน เวลามันจะเกิดขึ้นมา สัญญาใดเกิดขึ้นก่อน เห็นไหม บางทีก็คิดดี บางทีก็คิดชั่ว สัญญาเกิด วิญญาณรับรู้ใช่ไหม วิญญาณรับรู้ วิญญาณนี้เป็นตัวสอดตลอด เป็นตัวสมานให้เกิดความรู้สึกตลอด เวทนานี้มันจะแบ่งว่า ดีหรือชั่ว สังขารก็ปรุง นี่ล่ะความคิด พอคิดหนึ่งรอบมันก็เป็นรูปของจิต รูปของอารมณ์ความรู้สึกนั้น ก้อนหินมันก็มีรูปร่างของก้อนหินใช่ไหม อารมณ์หนึ่งก็มีรูปร่างอันหนึ่ง นั่นคือรูปของจิต ขันธ์ ๕ ก็หมุนไปสิ ตัวความรู้สึกนั้นเป็นอารมณ์ แต่ตัวขันธ์ ๕ ที่ว่านี้มันเป็นเครื่องสื่อ

ขันธ์ ๕ นี้มันเป็นธรรมชาติของจิต แต่มันมีตัวกิเลสนั้นมันยุแหย่ ต้องพิจารณา เอามาแยกเอามาแยะว่า “ตัวไหนเป็นตัวโทษ”

พิจารณาเข้าไปสิ แยกออก พอมันหมุนไปเราก็มีอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม ว่าเราพอใจและไม่พอใจ แต่ถ้าสติทันนะ แล้วปัญญาได้พิจารณา “พิจารณาจิต” นี้นะ จะทันช่วงไหนล่ะ จะทันช่วงสัญญาก็ได้ ช่วงเวทนาก็ได้ ช่วงสังขารก็ได้ แยกออก จะแตกออกจากกัน จะหมุนไปเป็นอารมณ์ไม่ได้ พอมันแตก เราก็ชนะ อารมณ์นี้ก็ไม่มี ..ว่างสบาย.. แต่ก็เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็คิดอีก คิดซ้ำคิดซากนะ ก็ต้องจับ แต่จะจับอารมณ์อื่นแล้วนะ อารมณ์ที่พิจารณาครั้งแรกนี้มันก็อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ที่พิจารณาใหม่ก็อีกอารมณ์หนึ่ง

เวลาอยู่ในทางจงกรมหรือนั่งภาวนา นี่คือผู้เดินอริยมรรคแล้วนะ ก็จับจิตนี้พิจารณาอีก แยกออกก็จะเห็นนะ ถ้าทัน ถ้าไม่ทันเราก็แพ้นะ ถ้าสมมุติเราพิจารณาอยู่ แล้วอารมณ์ที่เราคิดนี้มันรุนแรงกว่า มันชนะ มันคิดไปแบบสบายเลย เราแพ้...

ถ้าอย่างนั้น เราหยุดแล้วกลับมา พุทโธๆๆๆ ต้องเอาจิตให้สงบก่อน สงบเพื่อเอาพลังงานนี้ไปต่อสู้ จะมีแพ้และมีชนะอยู่ตลอดไป เราจะชนะบ้าง ฝ่ายกิเลสจะชนะบ้าง เราจะไม่ชนะเสมอไป เพราะเรามีกำลังไม่พอ ต้องกลับมาที่พุทโธนี่ กลับมาทำใจให้สงบแล้วกลับไปพิจารณา

ถ้าพิจารณาทันก็จะเป็นแบบนี้ พิจารณาขันธ์ ๕ ตัวไหนเป็นตัวสัญญา ตัวสัญญาคือตัวจำได้ ตัวแว็บขึ้นมาน่ะ ตัวเริ่มรู้สึก ตัวเวทนาจะเข้าไปช้อน แบ่งแยกว่าดีหรือชั่ว วิญญาณในเวทนาจะรู้จะเสริมต่อเลย แล้วไอ้ตัวคิดนะ ตัวที่เราเริ่มแว็บๆ คิด นั่นล่ะคือตัวสังขาร หมุนต่อเนื่องกันไปเลย.. หมุนต่อเนื่องกันไปเลย..

ใช้สติ.. ใช้ความรู้สึก.. เข้าไปสอด เข้าไปแยกให้ได้ ให้ล้มไปเลย ให้ความคิดนี้ก้าวเดินไปไม่ได้ ความคิดนี้จะก้าวเดินต่อไป ถ้าสติถ้าปัญญาของเราไม่ทัน ถ้าสติปัญญาของเราทัน จะขัดให้ล้มไปเลย หรือไม่ก็แยกออกจากกัน ก็พิจารณาซ้ำ ชนะ...เราก็เป็นผู้ชนะ สบายโล่ง เราก็ภาวนาซ้ำไป เพราะหน้าที่ของเรา “ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า” หน้าที่ของเราคือหน้าที่ผู้พิจารณา

คิดพิจารณานี่คือวิปัสสนา นี่คือการสะสมปัญญา ขันธ์ ๕ นี้จะเป็นเครื่องลับปัญญาไง

มีดจะต้องลับที่หิน ยิ่งลับยิ่งคม ปัญญาลองได้พิจารณาเรื่องจิต เรื่องกาย เรื่องเวทนา ยิ่งพิจารณายิ่งคมกล้า ตัดขาด ขาด... แต่ยังไม่ถึงกับขาดสูญ ก็ยังต้องขาดสักพัก ก็ชนะแบบชั่วคราว เดี๋ยวก็ขึ้นมาใหม่

ความคิด อารมณ์ ต้องมีขึ้นมาใหม่ ก็ซ้ำเข้าไปอีก ก็จะปล่อยวางได้อีก จะทำอยู่แบบนี้ จนบ่อยครั้งเข้า ต้องหมั่นคราดหมั่นไถในที่นาของเรา ถึงจุดหนึ่งอารมณ์เรามันเคยขาดเข้าบ่อยๆ ก็เหมือนสิ่งที่เหนียวแน่น แต่เราได้ทุบได้ตีจนมันแตกมันร้าว มันเกือบจะสลายออกจากกันแล้ว ซ้ำเข้าไปจนกว่ามันจะสลาย แตกแยกออกจากกันเลย ขันธ์ ๕ เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา มันแยกออกไปเลยเวลามันแตกนะ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ทุกข์ ฟังสิ... แต่ถ้าตามปกติแล้วมันเป็นทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาทันแล้วนะ สักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้ขาดออกไปเลย

สักกายทิฏฐิในกายไง พิจารณาจิตนี่แหละ แต่มันไปแยกที่กาย เพราะจิตนี้มันหมายลงที่กาย ความรู้สึกในกายไง ที่ว่าความรู้สึกในกาย ก็คือ ความรู้สึกภายในจิตนี้มันหมายลงที่กายเรานี้ มันเอากายนี้เป็นสมุฏฐาน ถ้าปกติความรู้สึกนี้จะออกจากผิวหนังเราไป

ฉะนั้น ถ้าเราตัดตัวนี้พั้บ ! กายนี้ไม่ใช่ ความรู้สึกจะออกจากผิวหนังเราไปอีกไหม นี่คือพระโสดาบัน สักกายทิฏฐิ ๒๐ แตกออก ความลังเลสงสัยในธรรมก็ไม่มี สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เรานี้ลังเลสงสัย “ เอ! นรกสวรรค์จะมีไหม ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี้จะมีจริงหรือเปล่า พระอรหันต์ในโลกนี้ยังมีอยู่อีกไหม ” นี่กิเลสมันเสี้ยม

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ พระอานนท์ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถึงเขตถึงกาลเมื่อไร มรรคผลนิพพานนี้จะหมด”

“อานนท์ ! ตถาคตตายไป จะเอาสมบัติของคนอื่นไปด้วยหรือ ตถาคตตายไปก็เอาแต่สมบัติของเราเอง เอานิพพานในใจของพระพุทธเจ้าไปเท่านั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ขาดจากพระอรหันต์เลย”

ฟังดูสิ... พระพุทธเจ้าบอกไว้ขนาดนั้นแล้วนะ แต่กิเลสจะเสี้ยมว่า “ไม่มี”

พอเราแยกส่วนนี้ออก วิจิกิจฉาในเรื่องนี้จะไม่มีเลย เพราะเรามันสัมผัสเองนะ มันแตกออกจากใจไปแล้ว สักกายทิฏฐินี้ มันก็ไม่มีลังเลสงสัยน่ะสิ วิจิกิจฉาก็ต้องหมดไป เห็นไหม สีลัพพตปรามาสก็ต้องไม่มีแล้ว เมื่อก่อนถือศีลด้วยลูบคลำ

“สีลัพพตปรามาส” นี่แปลว่า “ถือศีลด้วยลูบคลำ” คือว่า ไม่จริงจังในศีลไง ถึงจุดนี้นะ ศีลนี้.. โธ่ ! สิ่งที่สัมผัสอยู่ในใจนี้ เกิดจากอะไร เกิดจาก ทาน ศีล ภาวนา แล้วมันจะปล่อยศีลนี้ออกจากมืออีกหรือ เพราะศีลนี้กับเรื่องภาวนานี่ เป็นบันไดให้ก้าวขึ้นมาบนนี้ แล้วยังมีหนทางจะก้าวต่อไป ใครจะกล้าทิ้งทาง ใครจะกล้าทิ้งบันได ใครจะกล้าทิ้งนั่งร้าน นั่น !

ฉะนั้น ศีลก็ต้องเป็นศีลแท้สิ พระโสดาบันถึงไม่ถือมงคลตื่นข่าวไง

นี่ล่ะ อจลสัทธา ศรัทธาอันนี้จะไม่เปลี่ยนเด็ดขาด เข้ากระแสของพระนิพพานแล้ว

นั่นจากจิตปกตินะ จากจิตสำนึกนะ แล้วเริ่มจะเข้าจิตไร้สำนึก แต่มันยังหมายอยู่ที่กายอีกนั่นล่ะ จิตนี้พอมันปล่อย มันก็รู้ เป็นปัจจัตตัง ไม่ต้องถามใครเลย พอแยกออก รู้ภายใน รู้แบบอหังการด้วย ไม่ถามใครจริงๆ ถ้าถามนี่มันสงสัยอยู่นา แต่ข้างหน้านี่งง “เอ..จะทำยังไงต่อ” ก็ต้องตั้งใจ มีครูมีอาจารย์ก็ต้องฟังธรรมไง

พิจารณาจิตนั่นล่ะ พิจารณาซ้ำนะ จิตนี้ปล่อยวางกายแล้วก็จริงอยู่ อารมณ์นี้ อารมณ์จากกายนะ มันจะสุข มันจะสบายอยู่พักหนึ่ง เวลาเราปล่อยวางหมดแล้วนี้ แต่เสร็จแล้วมันก็ยังออกมารับรู้อีกนั่นล่ะ เพราะกิเลสในใจนี้ยังมีอีกมหาศาล

จิตนี้ยังหมายลงที่กาย หมายอยู่นะ มันตัดกายไปแล้วแต่หมายอยู่ อุปาทานในกายยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณาซ้ำเข้าไป ตัวจิตนั้นล่ะ ไหนล่ะตัวจิต อารมณ์ออกมาจากนั้นอยู่ที่ไหน อุปาทานนี่อยู่ที่ไหน อุปาทานที่ต้องดึงออกมา เพราะมันยังขุ่นใจอยู่นั่นล่ะ พิจารณาจิตเลย พิจารณาซ้ำเข้าไปเลย ดูเข้าไปเลยล่ะ ว่าตัวไหนคือตัวจิต

ไอ้ที่ว่า “ไม่มีสักกายทิฏฐิ” อยู่ตรงไหน มันออกมาหมายนี่ จิตนี้มันหมายออกมา จิตนี้เป็นตัวตนนะ ซ้ำเข้าไปเลย เพราะจิตนี้ยังจับต้องได้ จิตจับจิตไง ความรู้สึกยังมีอยู่ ความรู้สึกนี้ยังมีอยู่นะ กระแสของจิตที่มันออกไปข้างนอก กระแสความรู้สึกยังมีอยู่ กระแสความรู้สึกนี้ยังจับต้องได้ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาจับเข้ามานั่นล่ะ

พิจารณาเลยว่าตัวนี้มันตัวอะไร ความรู้สึกนี้มันจะหมายไปไหน ที่หมายออกมาเป็นความรู้สึกนะ..หมายไปไหน ดูเข้าไป เราดูเข้าไปเลย ดูใจเข้าไปเลย ดูความรู้สึกอันนั้นนะ ด้วยสตินะ ด้วยสมาธินะ ด้วยปัญญา ด้วยอริยมรรคนะ หันกลับเข้าไปดู ทำเข้าๆ นะ..ด้วยความจริงจัง ด้วยความอาจหาญของเรา กิเลสมันจะยอมเราหรือ ความรู้สึกที่มันหลอกเรา มันก็ส่งออกมาใช่ไหม

เราอย่านอนใจ เรานอนใจไม่ได้ ต้องดูกลับเข้าไป ดูความที่มันส่งออกมา ทำอย่างเมื่อกี้นั่นล่ะ ทำอย่างการพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกนั่นล่ะ มันจะแตกออกจากกันนะ แตกออกคราวนี้ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง โลกนี้จะว่างเลย เพราะจิตนี้มันไม่หมายมาที่กายแล้ว พอไม่หมายมาที่กายนี้มันก็จะแยกออกจากกันใช่ไหม จิตเป็นจิต กายเป็นกาย นี่..พระสกิทาคามี

พระสกิทาคามี “กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส” แยกออกเลย ราบเป็นหน้ากลองเลย กายนี้ไม่มี แต่จิตนี้ยังมีอยู่ จิตนี้เป็นกระจกใส เวิ้งว้างเลยนะ เวิ้งว้าง... จิตนี้ลงไปสบายเลยล่ะ ไม่มีตัวตนพักใหญ่ แต่ตัวตนจริงๆ คือมันสงบอยู่ภายใน นี่ตัวนี้ต่างหาก คือ จิตใต้สำนึก จิตตัวนี้มันเป็นตัวกามราคะ เพราะพระสกิทาคามีไม่ได้ชำระสังโยชน์เลย พระสกิทาคามีก็..สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ใช่ไหม แล้ว กามราคะ ปฏิฆะ อ่อนลงเท่านั้น อ่อน..ไม่ได้ขาด ละสังโยชน์ ๓ ตัวได้เท่าพระโสดาบัน

กามราคะ หมายถึง กามไง ปฏิฆะ คือ ความผูกโกรธนะ อ่อนลง คราวนี้ยิ่งมหัศจรรย์นะ จิตนี้จะจับต้องไม่ได้เลย หายไปเลย

เมื่อก่อนนี้ที่เรายังจับต้องจิตได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตนี้มันเนื่องด้วยกาย จับตรงไหนมันก็กระเพื่อมรู้จักกันหมด มันเนื่องกันอยู่ มันมีความรู้สึกนะ ทีนี้ความรู้สึกมันละเอียดเข้าไป จับไม่ได้เลยนะ มันจะมืดตื้อเลยล่ะ กำหนดเข้าไปในตัวจิต จิตกำหนดจิต ทีนี้มันเป็นอัตโนมัติในตัวมันเองใช่ไหม เมื่อก่อนนี้เราใช้ ๒ มือจับกัน มันมีเหตุและมีผล ซ้ายกับขวากระทบกันใช่ไหม ขั้วบวกขั้วลบกระทบกัน ขั้วของจิตกับขั้วของกายกระทบกัน มันก็ง่าย ทีนี้ไฟอะไรมันมีขั้วเดียว หาไม่เจอนะ ตอนนี้ยากหน่อย

จิตนี้มันจะส่งออกไปแล้วนะ มันหาตัวมันเองไม่เจอ ถ้านอนใจก็ไม่ได้ ถ้าคนพิจารณาอยู่ คอยดูอยู่นะ มันจะขยิบๆ ขึ้นมานะ ความรู้สึกน่ะ นี่ความรู้สึกภายใน นี่เพราะมันเป็นจิตใต้สำนึกนี่ มันไม่ใช่จิตสำนึก มันถึงได้จับยาก เวลามันจะรู้มันจะรู้ออกเลย มันส่งออกหมด มันถึงว่าทุกอย่างสำเร็จหมดแล้ว เพราะมันเป็นตัวมันเอง ใช่ไหม ทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว มันจะดูแต่ข้างนอก

ทีนี้จะทำอย่างไรให้ลำแสงนี้กลับเข้ามาหาตัวจิต เพราะมันคือจิตใต้สำนึก แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ไม่นอนใจนะ อ้าว ! นี่มันกระทบเข้ากับกามนะ ทีนี้มันเป็นกามเลย มันเป็นตัวกามอยู่แล้ว จิตนี้เป็นตัวกามนะ จิตนี้ชุ่มอยู่เลย ตัวมันเองชุ่มอยู่เลย มันคิดของมันได้คนเดียว ตัวมันเองก็คิดของมันเองได้

ถ้าจิตนี้ย้อนกลับเข้าไปดูนะ จะตื่นเต้นมาก ขนพองสยองเกล้าเลย ก็เหมือนกับเราเป็นเจ้าหน้าที่ แล้วรู้ว่าเขามีการฉกชิงวิ่งราว มีการประหัตประหารกัน เรารู้อยู่ว่าใครเป็นคนทำ เพราะว่ามีพยานหลักฐานใช่ไหม แต่เราไม่สามารถจับตัวจำเลยได้ เราก็ทำอะไรไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราก็รู้อยู่นะว่าจิตนี้มันยังมีความรู้สึกอยู่ในหัวใจ แต่เราไม่สามารถจับได้ว่าตรงไหน มันเป็นจำเลย

เราหาทางย้อนกลับมาด้วยปัญญาญาณ จิตอันนี้มันรวมอยู่แล้ว จิตขณะนี้เราปฏิบัติมาขนาดนี้นะ มันสามารถจะทำได้ จิตนี้สงบอยู่พอสมควรเพราะมีพื้นฐาน แต่ไม่สามารถเจอจำเลยได้

งานในพระพุทธศาสนาเรานี้มี ๒ แขนงมาตลอดเลย เรื่องสมถกรรมฐานกับเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน วิธีการขุดค้นหากิเลสนั้นก็วิธีการหนึ่ง ขุดค้นหาเจอตัวแล้วยังต้องเอามาชำระล้างกันอีกอย่างหนึ่งนะ วิธีการขุดค้นนั้นก็แสนยาก วิธีการที่จะขุดค้นหาจำเลย หาผู้กระทำผิด เราว่าเราถูกหมด เราดีหมด เรานี้ประเสริฐเลอเลิศเลย แต่เราไม่สามารถหาผู้ที่มีความผิดได้ ความผิดข้างในตัวเรานี้ เราไม่สามารถว่าตัวเราผิดได้

พอเราใช้ปัญญา ใช้การใคร่ครวญเข้าไปจับต้องตัวนี้ได้นี่ ตื่นเต้นมากนะ จะตื่นเต้นมากเลย เมื่อก่อนนี้มันส่งออกนี่ จิตมันส่งออกไง ทีนี้พอปัญญาของเรา วิปัสสนาญาณของเรามันตัดย่นเข้ามา.. ย่นเข้ามา.. มันสั้นเข้าๆ ความไวของมันก็ต้องเร็วเข้า

กระแสน้ำที่ไหลผ่านไปเป็นระยะทางยาว เราก็สามารถจะเห็นได้ แต่ระยะทางสั้นแค่คว่ำขันนี้ เราจะเห็นได้อย่างไร อันนี้มันก็ติดอยู่ภายใน ติดอยู่อย่างนั้น มันคร่อมอยู่บนตัวมันเองนั่นล่ะ เราต้องย้อนกลับเข้ามาดูสิ พอเจอเข้าแล้วจะตื่นเต้น เหมือนกับเราเป็นเจ้าหน้าที่ แล้วเราสามารถไปจับจำเลยได้ เราจะได้ความดีความชอบ เราจะได้คุณงามความดี

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันจับตัวนี้ได้นะ โอ้โฮ ! ขนพองสยองเกล้าเชียวนะ ก็เหมือนกับเราไม่รู้จักตัวเราเองเลย จิตใต้สำนึกนี้มันไม่รู้จักตัวมันเองเลย แล้วมันไปจับตัวมันเองได้ มันจะตื่นเต้น ฟู.. ขึ้นมาเลย ขนาดแค่หาตัวเจอนี้ก็เป็นผลงานอย่างมหาศาลแล้ว ทีนี้ก็จะโดนหลอกล่ะว่าอันนี้เป็นตัวนิพพาน อันนี้เป็นตัวที่ว่าตัวประเสริฐสุด เพราะมันมีความสุข มีความอ้อยอิ่งในตัวมันเองมาก ตัวจิตใต้สำนึกนี่ล่ะ มันจะหลอกเลย แล้วเราจะเคลิบเคลิ้มตามไป มันจะปั้นแต่งอาการบอกว่า “อันนี้เป็นการว่าง อันนี้เป็นที่ๆ มีความสุข” แล้วมันก็จะซ่อน หลอกกินอยู่ในจิตนั่นล่ะ ดูไปสิ มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร ในเมื่อมันยังมีความรู้สึกกระทบอยู่ ยังเป็นราคะอยู่

ถ้าเราสังเกตใจของตัวเองนะ มันจะรู้ซึ้งเลย อันนี้หลอกกัน ! อันนี้หลอกกันนะ ! มันจะกลับหันเข้ามาดูเลย อ้อ... ไอ้ที่ว่าขันธ์ ๕ อย่างที่เราพิจารณากายนั้น มันก็เป็นขันธ์ ๕ ภายนอก ขันธ์ ๕ ที่มันซับอยู่ที่หัวใจนี้ ไอ้จิตใต้สำนึกนี่มันก็เป็นขันธ์ ๕ เพราะมันมีเวทนา มีความรู้สึก มันมีสัญญา ความจำได้หมายรู้เก่า เพราะขันธ์ ๕ ข้างนอกนั้นมันเป็นขันธ์ ๕ ของกาย ไอ้ขันธ์ ๕ ที่ใจ เรื่องกามนี่มันก็ต้องใจคิดใช่ไหม ต้องย้อนกลับมาดู แต่มันละเอียดกว่าเท่านั้นเอง

ถ้าพูดถึงการพิจารณาข้างนอกนี้ เขาเรียกว่า “สติปัญญา” ถ้าพิจารณาตรงนี้เขาจะเรียกว่า “มหาสติ-มหาปัญญา” แล้ว เพราะความไวของมัน เป็นความไวนะ เริ่มคิดออกไปสิ มันหลอก มันซุ่มกินอยู่ที่หัวใจของเรานั่น กิเลสมันอยู่ตรงนี้ ซุ่มกันอยู่ตรงนี้

นี่การพิจารณาจิตนะ แต่ผู้ที่พิจารณามาถึงตรงนี้เขาเรียกว่า “พิจารณาอสุภะ” พิจารณาดูจิตสิ ตัวนั้นเป็นตัวความรู้สึก มันน่าขยะแขยงไหม…มันน่าขยะแขยงนะ แต่ทีนี้พอเป็นนักปฏิบัติ “เพราะอะไร ทำไมขยะแขยง”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งนี้มันเป็นของชุ่ม ชุ่มด้วยกาม” แล้วเราปฏิบัติกันเพื่ออะไร เพื่อพรหมจรรย์ เพื่อความสะอาด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สกปรก ใจนี้มันอยากออกไปกินของข้างนอก เรามองสิ่งนี้เป็นของแบบว่า เหมือนตัวหนอนนะ ตัวหนอน เห็นไหม มันต้องอยู่ในสิ่งที่สกปรก ถ้าหัวใจนี้มันยังคิดถึงแต่เรื่องสกปรก แล้วมันจะสะอาดได้อย่างไร เราต้องการความสะอาด เห็นไหม นี่คือปัญญานะ ปัญญาแล้วแต่จะใคร่ครวญนะ

นี่พูดถึงการพิจารณาจิต พิจารณาธรรม ธรรมารมณ์ในใจ จะแก้กามด้วยวิธีการพิจารณาจิต ใจเราจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นโทษนะ “โอ๊ย ! ไอ้ตัวหลอก ไอ้ตัวซุ่มกิน ตัวนอนกินอยู่ในใจตัวนี้เองเหรอ” เมื่อก่อนเราก็ไปมองว่า รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกมันเป็นทุกข์ไง มันเป็นตัวที่เราต้องไปแสวงหา ไอ้นี่ไม่ต้องเลย นั่งอยู่ นอนอยู่ที่ตัวเองนี้ มันก็ครุ่นคิดขึ้นมาในใจ ไอ้ตัวนี้มันเป็นตัวโทษนี่นา ที่ว่า “กาม” นี้มันอยู่ที่ใจนี่นา มันก็คิดไปสิ

พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก นั่นนะ เดี๋ยวก็แพ้ เดี๋ยวก็ชนะ อย่างเก่านั่นนะ อยู่ที่ไหน อยู่ในการนั่งสมาธิและพิจารณาอยู่ในทางจงกรม เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำมืดดึกดื่น ไม่สน...

ผู้ที่พิจารณาแบบนี้ ผู้ที่จะทำแบบนี้นะจะอยู่กับใครไม่ได้เลย การพิจารณาเรื่องกามราคะนี้มันจะรุนแรงมาก ทั้งภายนอกและภายใน พิจารณาภายนอกก็ได้ หมายถึงว่ามันออกมาหาเหยื่อข้างนอกแล้วพิจารณาย้อนกลับเข้าไป หรือมันซุ่มอยู่ในหัวใจ มันก็รุนแรงเหมือนกัน เพราะมันเป็นจังหวะเดียวแล้ว มันเป็นตัวของมันแล้ว มันจะเป็นการต่อสู้ เหมือนเราต่อสู้ตอนกองทัพกำลังได้เสียกันนั่น จะทุบหม้อข้าวแล้ว ทุบหม้อข้าวว่าแพ้หรือชนะเท่านั้น จะไม่ยอมเรื่องอริยมรรคของพระพุทธเจ้า เพราะมันต้องการถือพื้นที่ในหัวใจของเราเป็นที่อาศัยอยู่ต่อไป มันจะไม่ยอมแพ้เราหรอก

หัวใจของเรา เราต้องการพัฒนาขึ้นมา หัวใจของเราเป็นผู้ที่จะทำให้พ้นเป็นอิสระได้ แพ้ก็ต้องพักไว้ก่อน มาเพิ่มพลังด้วยกลับมาภาวนา กลับมาหาความสงบ แล้วก็กลับไปต่อสู้กันใหม่ เพราะรู้ว่าอันนี้เป็นโทษนี่ ก็เหมือนรู้ว่าอันนี้เป็นเอดส์ อันนี้เป็นมะเร็งอยู่ในใจ แล้วเราทำไมจะไม่ทำลายมันออกไป เราต้องทำลายอยู่แล้ว เพราะอันนี้มันทำให้ทุกข์ อันนี้มันทำให้ใจเราอยู่ไม่เป็นสุข อันนี้ทำให้เรานี่เป็นขี้เรื้อนในใจเลย ว่างั้นเลยนะ มันดิ้น มันคัน มันเกา แล้วเราก็เห็นโทษ “อ้อ ! มันเกิดจากตรงนี้” เราเห็นโทษแล้วทำไมเราไม่สามารถเอาชนะมันให้ได้ล่ะ มันก็ต้องมีความมุมานะ มีความหมั่น มีความกล้า โถมทั้งตัวเลยนะ

การงานอะไรเราก็ทำมาแล้วนี่ ส่วนนี่งานจะเอาชนะกองกิเลส ก็ใส่เข้าไปเลย ทีนี้ความคิดของกิเลสมันก็รุนแรงนะ พอคิดขึ้นมา คิดดูสิ อารมณ์ความคิดนะ

เมื่อก่อน คนที่ภาวนาตรงนี้นะ โลกเขาเสพกามกัน เขาต้องอาศัยของคู่ แต่ถ้าจิตตรงนี้มันไม่ต้องอาศัยอะไรเลย มันสามารถจะเสวยอารมณ์ของมันเองได้ มันถึงเสวย มันถึงกินอยู่อย่างนั้น แล้วเราไปเห็นว่า โอ้โฮ ! เวลามันคิดขึ้นมามันถึงรุนแรง เวลาคิดขึ้นมามันมีความรู้สึก

ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ถึงสอนว่า “อย่าเสียดายอารมณ์ของตัวเอง” มันเสียดายอารมณ์นะ เวลาคิดขึ้นมา มันก็มีความรู้สึกเห็นไหม ในเมื่อใจมันเสพของมันเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าอย่าเสียดายอารมณ์ในใจของตัว ต้องประหารมันให้ได้ ครูบาอาจารย์ต้องตอกต้องย้ำ

แล้วเราเองถ้าเห็นโทษแล้วเราก็อยากจะทำอยู่ แต่มันยังอ้อยอิ่งนะ เพราะมันกำลังจะได้เสีย บางทีเราก็ชนะ บางทีเราก็แพ้ แต่ถ้าเราสู้เราดันทีเดียวเลย เต็มที่เลยนะ ขาด ! ขันธ์ ๕ ในใจนี้จะขาดออกจากใจ ขาดอันนี้นะโลกธาตุไหวหมดเลย ครืน ! โลกธาตุนี้หวั่นไหว หัวใจนี้สะท้านหมดเลย เพราะกามราคะนี้ ฟังสิ...

กามราคะนี้มันเข้ากับกามภพไง ถ้าอันนี้มันสะท้อนจากใจแล้ว เราจะไม่เกิดอีกในชาติของมนุษย์ ในชาติของเทวดา มันจะเป็นพรหมอย่างเดียว เพราะขันธ์ ๕ ในใจขาดแล้ว ขันธ์ ๕ ในใจขาดก็เหลือแต่ขันธ์ ๑ นี่คือ พระอนาคามี

เห็นไหม จิตใต้สำนึกยังต้องพินาศ แล้วไอ้ตอของจิตน่ะ มันอะไร พอขาดออกไปแล้ว เห็นไหม พระอนาคามีนี้ มีถึง ๕ ประเภท พระอนาคามีนี้เหมือนกับผลไม้ที่สุกแล้ว จิตนะ ดวงจิตนี้เหมือนกับผลไม้ที่สุกแล้ว ไม่มีวันเน่า จะสำเร็จไปข้างหน้าเด็ดขาด

ถ้าเป็นพระอนาคามีแล้วมันนอนใจ มันไม่สามารถกลับมาหาตัวจิต ไอ้ตัวตอนั่นนะ พอตรงนี้นะ บางคนก็จะเคลิ้มไปเลย

ทีนี้พิจารณาซ้ำนะ เพราะมันจะเทียบกับมานะทิฏฐิ ทิฏฐิมานะในใจของตัว สังโยชน์เบื้องบนไง พระอนาคามีตัด กามราคะ ปฏิฆะ ขาดไป แต่สังโยชน์เบื้องบนยังมี รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ตัวมานะในใจนั่น เราเสมอเขาสำคัญว่าเสมอเขา มันเทียบไง มันเทียบว่าเสมอคนนู้น เสมอคนนี้ จะดีกว่าคนนู้น จะดีกว่าคนนี้ เห็นไหม

ตัวนี้คือตัวที่จับมาใคร่ครวญได้ ดูใจของตัวนั่น มันเกิดมานะ เกิดความอหังการ เดี๋ยวว่าดีกว่าคนนู้น ดีกว่าคนนี้ แล้วมันมีความรู้สึกว่า “ตัวเองนะได้สิ้น สิ้นจากกามนะ” มันจะลองของไง

ต้องคิด ต้องตรวจสอบ อาหารที่เรากินแล้ว เห็นไหม เรากินอิ่มแล้ว เราเหลือเก็บเอาไว้กินวันพรุ่งนี้อีก อันนี้ก็เหมือนกัน มันสามารถตัดกามภพได้แล้วนะ แต่พรหมก็ยังมีชั้น ชั้นต่ำชั้นสูง ๕ ชั้น

ที่อยู่ของพระอนาคามี อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ๕ ชั้น พระอนาคามี ไม่เท่ากัน เห็นไหม นี่ความอ่อนไง สิ่งที่เรากินแล้ว สมมุติเรากินข้าวไปแล้ว เรานึกภาพข้าวสิ เราก็ยังมีอารมณ์อีก เห็นไหม

กามราคะนี้ตัดออกไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ยังมีเศษส่วน พิจารณาจิตนั่นล่ะ ดูสิมันจะมี จะละเอียดยังไงก็มี แยกเลย แยกดูเศษส่วนของใจนั่น ความนอนใจ ความอ้อยอิ่งอยู่ที่ใจนั้น กำหนดดูนะ มันจะหลุดอีกนะ มันจะรวมใหญ่อีกทีหนึ่ง เห็นไหม พอรวมใหญ่ทีหนึ่ง ไอ้เศษอาหารที่เหลือ ไอ้เศษส่วนในใจที่เหลือนั่นนะ ทีนี้มันจะเป็นตอของจิตสิ ทีนี้จิตไม่มีล่ะ ว่างเวิ้งว้างเลย นี่คือว่างใน ว่างอย่างนี้อันหนึ่ง กับว่างในจิตเดิมแท้นั้นอีกอันหนึ่ง

จิตเดิมแท้นั้นว่างด้วยความมีกิเลสล้วนๆ เลย แต่ความว่างอันนี้ เป็นความว่างของพระอนาคามี นะ จะไม่มีทางเห็นตอของจิตเลย

ไอ้ที่ว่าเป็นมหาสติ-มหาปัญญานั้นอีกเรื่องแล้ว นี่มันเป็นอัตโนมัติเลย จะจับอะไรไม่ได้ เป็นว่างหมดเลย ว่าโลกนี้ว่างหมด แต่มีเราคนอยู่ในบ้านนั้น มันจะว่างได้อย่างไร ไอ้คนๆ นั้นทั้งคนขวางอยู่นั่นน่ะ มันจะไม่สามารถเข้ามาดูตัวของมันเองนะ มันจะดูแต่ภายนอกหมด นั่นล่ะคือตัวตอ พอมาถึงตรงนี้แล้ว เดิมทีจะบอกว่าความว่างเป็นของดีของประเสริฐ แต่ถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้ว ความว่างตรงนี้เป็นโทษนะ ก็ว่างที่ว่าไม่มีตัวกูของกูไง ว่าง... ว่างหมด ไอ้คนที่ว่าว่างๆ นั่นมันใคร ความว่างนี้มันต้องมีคนไปหมายมันใช่ไหม มันถึงว่าว่าง ความว่างนี้มันจะรู้จักตัวมันเองหรือ ไม่มีทางรู้จักตัวมันเองได้ แต่เราว่าว่างๆ อยู่นะ ไอ้คนพูดนี่ใคร คนพูดว่า “ว่าง” นี่ใคร

มันต้องคิดอย่างนี้นะ ต้องมีความเอะใจ ต้องมีความสะกิดใจ พอมันสะกิดใจนี้มันจะย้อนกลับมาดู ถ้าเราคิดว่าเราว่าง ว่างนี่มันก็ว่าสิ้น เราว่าหมดแล้ว นี่คือ “ติด”

การติดอยู่ คนจะติดอยู่ตรงนี้ ผู้ปฏิบัติจะติดอยู่ตรงนี้กันหมดเลย ติดว่าตัวเองสิ้นแล้ว พอสิ้น มันก็เหมือนกับ เราไม่เป็นหนี้ใคร เราก็ไม่ยอมใช้ใคร แต่ถ้าเรายังเป็นหนี้อยู่ มันเป็นจริงๆ โดยธรรมชาติ แต่เราปฏิเสธความเป็นหนี้อันนี้ มันเลยไม่เห็นตอของจิต จนกว่าว่า “เอ๊ !” สงสัยอยู่นะ จะเริ่มลังเลสงสัย จะย้อนกลับจิตนี้มาดู

ถ้าใครมาเจอตอของจิตนี่จะงง เพราะมันเป็นธาตุนะ ตัวสสารมันจับตัวสสารได้ มันมหัศจรรย์นะ ผู้ปฏิบัติจะเห็นความมหัศจรรย์ตรงนี้มากเลย ตัวของสสารที่มันไม่รู้จักตัวมันเองแล้วมารู้ ธาตุรู้นี้มันจะรู้เพราะว่ามันส่งออก แล้วตัวธาตุรู้มันก็จับตัวมันเอง แล้วมันก็รู้จักตัวมันเองนะ มหัศจรรย์ขนาดไหน จะงงเป็นไก่ตาแตก จะเซ่อไปเลย เหมือนกับน้ำมารู้จักตัวมันเอง น้ำพูดได้นะ เสา...ต้นเสาพูดได้นะ

อันนี้ตัวธาตุรู้มันจับตัวธาตุรู้ ถึงบอกว่า โอ๊ย ! มันละเอียดอ้อยสร้อยมากนะ มันละเอียดอ่อนมากอยู่ในหัวใจนะ นี่คือตัวอวิชชา

อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เราว่ามันเป็นสายยาวยืด แต่ตัวอวิชชาแท้ๆ นี้ไม่มีทาง มันเกิดดับตั้งแต่ตัวอวิชชากับตัวภพนี้ เกิดพร้อมกันแล้วดับพร้อมกัน มันไวมากเลย ก็นี่คือตัวอวิชชาน่ะ

ตัวอวิชชา คือ ตัวตอ ตัวตอนะมันเป็นตัวไม้ ไม้มันฟาดไปทีเดียว มันก็ฟาดไปทั้งลำใช่ไหม ตัวอวิชชา ตัวปฏิจจสมุปบาท มันเกิดทีเดียว ปุบปับๆๆ ไม่มีการที่ว่าเป็นปัจจยา..ปัจจยา..

“ปัจจยา” นี่เป็นพระพุทธวิสัย เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า สาวกวิสัย พวกเดินตามนี่ยาก แต่สามารถพูดเป็นวิชาการอย่างที่เขาอธิบายกัน อันนั้นเป็นปริยัติ

ปริยัติ คือปริยัติ ปฏิบัติ คือปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่จะมาเห็นตรงนี้สิ มันมหัศจรรย์นะ พอสสารนี้มันจับตัวสสารได้ ตัวธาตุรู้นี้มันจับตัวธาตุรู้ได้ มันก็จะคอยเฝ้าดูสิ การเฝ้าดูนี้มันต้องเข้าใจนะ ส่วนใหญ่พอจับตัวนี้ได้แล้วมันจะวิ่งเลยล่ะ ก็เมื่อก่อนนะเราใช้ปัญญา ใช้ความรู้สึกจับตัวกิเลส จับตัวความรู้สึก มันมีการตอบสนองกัน แต่คราวนี้ คิดดูสิว่า ตัวน้ำนะ แล้วมันรู้จักตัวมันเอง แล้วมันยังจับตัวมันเองพลิกคว่ำ นี้คือเรือนยอดของกิเลส นี้คือเจ้าวัฏจักร แล้วพอจับได้ว่าคว่ำเจ้าวัฏจักรนะ ตัว อวิชชา ปัจจยา สังขารา สิ้นลงที่หัวใจ นี่คือพระอรหันต์ เกิดที่หัวใจ ชำระหัวใจจนเกลี้ยง นี่คือเจ้าวัฏจักร นี่คือตัวกิเลส ตัวปู่ตัวย่าตัวโคตรเหง้าเหล่ากอของกิเลสได้สิ้นลงจากใจแล้ว จะเกิดอีกไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้ารู้ตรงนี้ไง ถึงได้เยาะเย้ยมารเลย “มารเอย เราเห็นแล้ว เธอเกิดจากความดำริของเรา” เห็นไหม ดำริตรงนี้ นี่คือตัวต้นขั้วจากความคิดเลย ต้นขั้วก่อนจะมาเป็นจิตใต้สำนึกซะอีกด้วย

พระพุทธเจ้าชำระล้างถึงตรงนั้น ถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ไม่มีใครบอก ท่านรู้ของท่านเอง เป็นสัพพัญญู รู้ด้วยตนเอง ถึงได้ประกาศไง พอเป็นทีแรกแล้วปล่อยวางเลยนะ “โอ้... มนุษย์ในโลกนี้ใครมันจะรู้ได้” เห็นไหม พระพุทธเจ้าจะไม่สอนนะ พอรู้แล้วไม่อยากจะสอนใคร มันลึกลับซับซ้อนจนแทบจะสอนใครไม่ได้เลย จนต้องให้ท้าวมหาพรหมมาทูลนิมนต์นะ

ถ้าไม่นิมนต์นะโลกนี้จะฉิบหาย โลกนี้จะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วจะไม่ยอมเผยแผ่ธรรม จนพรหมต้องทูลนิมนต์ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงเล็งญาณดู “อ้อ ! สัตว์โลกที่กิเลสเบาบางพอมีอยู่ พอที่จะรู้เรื่องได้ยังมี” มันสุดวิสัยของคนที่จะรู้จริงๆ นะ นี่นักปฏิบัติ นี่ปฏิเวธของพระพุทธเจ้า แล้วทรงวางไว้

ถึงว่าศาสนาพุทธของเรานี้ยอด ! ยอดมาก... ไม่มีศาสนาใดๆ เทียบได้ ถ้าพูดถึงเรื่องของการหลุดพ้นนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีเด็ดขาด ไม่มีหรอก มีแต่ปากพูด ก็ก่อนที่จะมีพระพุทธเจ้าก็มีศาสดาองค์อื่นๆ มีเจ้าลัทธิต่างๆ ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ไปเรียนมาจนหมดแล้ว... อาฬารดาบส อุทกดาบส ก็ไปศึกษามาหมดแล้ว ศึกษามาขนาดไหนจะได้สมาบัติอะไรก็แล้วแต่ แต่มันก็ไม่สามารถชำระกิเลสได้เลย

มันไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันนะ แต่เดิมก็เคยมีปฏิญาณตนว่าเป็นมากันแล้วทั้งนั้น แล้วก็ไม่เป็นจริง จนมีพระพุทธเจ้าเรามาพูด แต่ก่อนไม่มีผู้ที่รู้จริงใช่ไหม ก็ไม่สามารถจับได้ หรือเปรียบเทียบได้

นี่ถึงได้ว่า การเกิดเป็นชาวพุทธนี้ประเสริฐนัก แต่นี่กลับหลงทางกัน จะไปไหนกัน ของเราดีๆ กลับมองข้ามกันไป แล้วจะเรียกตัวเราว่าเป็นชาวอะไรดี ก็ขอให้คิดกันเองก็แล้วกัน

ตั้งแต่มีพระพุทธเจ้าเราตรัสรู้แล้ว ในเมื่อของจริงมีแล้ว ก็ต้องสามารถไปพิสูจน์กับของเทียมได้สิ ไปพิสูจน์กับสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงได้ สามารถโต้แย้งได้ สามารถเปิดออกให้ดูได้ว่าของนั้นเป็นของเทียม

ฉะนั้น ศาสนาพุทธของเรานี้ประเสริฐมาก ทำไมต้องดึงศาสนาพุทธเราให้มันต่ำล่ะ ศาสนาทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี แน่นอน นั่นไม่ได้โต้เถียง แต่โต้เถียงตรงที่ว่าถึงจุดสูงสุดอันนี้ อันอื่นมันไม่มีจริงๆ ก็ต้องว่าไม่มีสิ เราเป็นนักเหตุผล เราเป็นผู้ที่ว่าไม่พูดปด เราเป็นผู้ที่พูดตามความเป็นจริง ตามพระพุทธเจ้าใช่ไหม

ถ้าของมีก็ต้องว่ามี ของถูกก็ต้องว่าถูก ของผิดก็ต้องว่าผิด แต่ถ้าไม่มีว่ามี ถ้ามีก็บอกว่าดึงให้ต่ำไว้ อันนั้นไม่ใช่ ถึงว่าเราชาวพุทธมันประเสริฐตรงนี้ไง เราเจอของที่ประเสริฐเลอเลิศเลย แต่เราพยายามดึงกันให้ต่ำไว้ ของสูงไง ..ดึงฟ้าต่ำ.. ของสูงขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราทำไม่ถึงเราก็ต้องให้มันสูงต้องเชิดชูไว้ ก็เป็น พระรัตนตรัย ของเรา เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย

ถ้าไม่สำเร็จในชาตินี้ เราก็จะมุ่งหน้าต่อไป ในชาติต่อไป เรื่องภพชาติไม่มีใครปฏิเสธนี่นา แต่จะถึงหรือไม่ถึงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไปบอกว่าแผนที่นั้นผิด หรือว่าเข็มทิศชี้ทางนี้ แล้วเราไปเดินตามแผนที่ที่ผิด หรือจุดหมายที่ผิด แล้วเราจะได้อะไร สี่สลึงเป็นหนึ่งบาท แต่เราก็ว่าสองสลึงเป็นหนึ่งบาท แล้วเราก็มีแต่สองสลึงเราไม่หาอีก..เป็นหนึ่งบาท เราผิดหรือเราถูก

ไอ้ตัวเงินบาทมันผิดหรือว่าความรู้สึกเราผิด ของนั้น ๔ สลึง เป็น ๑ บาท เราไม่มีสักสลึงหนึ่ง เราก็ต้องหา จาก ๑ จาก ๒ จาก ๓ จาก ๔ เป็น ๑ บาท แต่มีคนมาบอกว่า ๑ สลึงก็เป็น ๑ บาท เราก็เชื่อเขา เราจะเสียโอกาส ๓ สลึงนั้นไปทันที ในเมื่อ ๔ สลึง เป็น ๑ บาท ก็ต้องให้ ๔ สลึงเป็น ๑ บาท อยู่อย่างนั้น เราจะมีสลึงเดียวหรือไม่มีเลย ก็ต้อง ๔ สลึง เป็น ๑ บาทสิ

โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค อรหันตผล ก็เป็น ๔ ก็เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา เราต้องเชิดชูไว้

ของคนอื่น เราก็ไม่ปฏิเสธว่าสิ่งนั้นไม่ดี เรารับหมด ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว พระพุทธเจ้าสอนแล้วว่าทำดีได้ดี มันอยู่ที่การกระทำของพวกเราต่างหาก แต่ที่พูดนี้เพราะต้องการให้เห็นว่า ให้มันเป็นจริงนะ จริงตามความจริงในอริยสัจ จริงในเนื้อของธรรมนั้น ต้องยุติธรรม เราต้องยุติธรรมกับทุกๆ อย่าง มันถึงจะเป็นมัชฌิมาไง ความถูกต้อง เราไม่เอียงเป้าหมายนะ

ถึงว่าเรานี้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วได้พบกับพระพุทธศาสนานี้ โอ้โฮ ! ต้องมีบุญนะ มันมีน้อยในโลกนี้ มีส่วนน้อยแล้ว ต่อไปจะจางลงๆ คำว่า “จางลง” ก็เพราะเหตุนี้ล่ะ เหตุที่ว่า ๒ สลึงก็เป็นบาทหนึ่ง อีกหน่อยก็เหลือสลึงเป็นหนึ่งบาท แล้วก็จะหมดไปๆ ไง อีกหน่อยก็ว่าไม่มีตังค์เลยก็บาทหนึ่ง จะเป็นอย่างนั้นนะ ก็ไม่มีอะไรในหัวใจเลยก็ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ จะว่าอย่างนั้นหรอก

มันเป็น สัทธรรมปฏิรูป ธรรมค้นคิดกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว เป็น ปัจจัตตัง เป็น อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา

แต่ถ้าเราไปเชื่อแบบนั้นแล้ว มันก็ตัดทอนใจของเราเลยนะ หมดเขตหมดสมัยไง หมดเขตหมดสมัยแล้ว แบบว่าระยะทาง ๑ กิโลเมตรนี่นะ เราก็ตัดให้เหลือแค่ครึ่งกิโลเมตร ระยะทางก้าวเดินนะถ้าเราเชื่อว่า แค่นี้สุดเราก็ไม่เดินอีกแล้ว ประโยชน์เราก็เสียไปแล้วครึ่งกิโลเมตร แล้วถ้าแค่เมตรหนึ่งก็ว่ากิโลหนึ่ง เห็นไหม เราเสียอีก ๙๙๙ เมตร เราได้แค่ระยะทาง ๑ เมตรเอง เราว่าเป็น ๑ กิโลเมตร เพราะใจมันเชื่อแล้วมันไม่เดินนะ หรือมันไม่พยายามขวนขวาย มันนอนใจ

หัวใจนี้แปลกประหลาด มันพุ่งไปคิดไกลก็คิดไปได้ มันพุ่งคิดใกล้ๆ ก็ได้ ศาสนาของเรานี้มุ่งไปจนกว่าจะสิ้นกิเลส แล้วทำไมเราจะเชื่อแต่ว่าไอ้แค่เมตรเดียวนี้สิ้นกิเลสล่ะ นี่..อยู่ตรงนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปย่ำยีใคร ไม่ใช่ศาสนานี้ประเสริฐจนต้องไปรบราฆ่าฟันกัน ไม่ใช่ๆ ก็ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีไง ถึงว่า แหม ! เลยนะ ดูได้หลายๆ อย่าง

ก็ดูซี ดูชาวพุทธ แล้วก็ชาวพุทธปฏิบัติ เป็นชาวพุทธ พุทธยังไงเวลาทำนะ เวลาพระปฏิบัติดีปฏิบัติงามนะก็ไม่ชอบ เพราะมีระเบียบคำว่า “พระ” ฟังสิ ต้องมีวินัย มีข้อวัตร วัดไม่ร้าง คนร้างก็เหมือนคนบ้าไม่มีสติ พระจะดีต้องมีพระธรรมวินัย เครื่องบังคับ แล้วพอมีเครื่องบังคับก็ว่าพระองค์นั้นไม่ดียุ่งยาก ลำบาก เขาก็เลยรู้ว่าตรงนี้เป็นช่องว่างของกิเลส เขาก็เลยจัดระเบียบให้ง่ายให้สะดวก จะมาจะไปต้องเอารถไปรับ พอมาถึงก็ต้องรับรองกันอย่างดี

ทางนั้นก็พอใจ กิเลสก็พอใจ ก็ควักเงินให้เขา พระได้มาด้วยความคิดของตัวนะ มันได้มาง่ายได้มามาก พอเงินเข้าไปได้มาก ความอุดมสมบูรณ์มากมันก็จะแถออกไปนอกเรื่องล่ะ เนี่ย กิเลสเข้ากับกิเลสไง นั่นล่ะมันจะเป็นรูปนั้นออกไปล่ะ

นั่นถึงว่าให้เทียบเข้ามาในเรื่องศาสนาไง ถ้าเทียบอย่างนั้นปั๊บจะเห็นความดีของเราเลย เห็นวาสนาของเราเลย หนึ่งในร้อย หนึ่งในล้าน หนึ่งพันล้านเลยนะ เพราะจิตนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์ “สามโลกธาตุ” ฟังสิ... ถึงจะเทียบเป็น “หนึ่งในพันพันล้าน”

ฉะนั้น เราทั้งหลายควรภูมิใจที่เกิดมาในพระพุทธศาสนา เอวัง...