ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลดอาหาร

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๔

 

ลดอาหาร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาของสดก่อน วันนี้ปัญหามันเรียบๆ ปัญหามันไม่ค่อยแรง เอาของสดเนาะ

ถาม : ๑. จะทราบได้อย่างไร ว่าสมาธินั้นอยู่ในขั้นอุปจาระหรืออัปปนาสมาธิ

หลวงพ่อ : เรายังไม่เข้าใจ เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าอยู่ขั้นไหน ฉะนั้น พอเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้ เราก็ไม่รู้อยู่ขั้นไหน แต่ถ้าคนเขามีสตางค์เนี่ยนะ เศรษฐีเขาจะรู้เลยว่าเงินเขาเท่าไร เพราะเขานับเงินเป็น เศรษฐีเขาจะเช็คเงินทุกวันเลยว่าวันหนึ่งเขามีเงินเท่าไร

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้ขั้นนะ เป็นสมาธินี่มันเป็นของมัน เหมือนไมล์รถ เวลาเราขับรถไป ความเร็วรถไมล์ขึ้นเท่าไร ๖๐, ๑๐๐, ๑๒๐ มันรู้ของมัน แต่พอเหยียบเต็มที่ไปแล้วมันเต็มอย่างนั้น นี่พูดถึงอัปปนานะ

อุปจารสมาธิ เราทำใหม่ๆ เราจะไม่รู้ว่าขณิกะคือจิตสงบ ความจริงจิตพวกเรามีความสงบอยู่บ้าง เพราะถ้าไม่มีความสงบนี่เหมือนคนบ้า แต่มีความสงบของปุถุชนไง ฉะนั้น เราทำสมาธิให้จิตมันได้พัก จิตมันได้สลัดอารมณ์ความฟุ้งซ่านออก แล้วมันมีความสุขของมัน มีกำลังของมัน เวลามันใช้ปัญญามันก็เลยจะเข้าศีล สมาธิ ปัญญาครบองค์ของมรรค ๘

แต่ตอนนี้สมาธิเรายังไม่มี เราใช้ไปนี่ผลของมัน.. คนจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ ผลของมันคือปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ปัญญาไป ใคร่ครวญไป ผลของมันก็คือความสงบเท่านั้นแหละ ฉะนั้น พอมันทำไป นั่นล่ะขณิกะ ถ้าอุปจาระนะ อุปจารสมาธิมันอย่างที่ว่าเห็นกายนี่แหละ อุปจารสมาธิหมายความว่า อย่างเช่นเราตาพร่ามัว เราก็เห็นภาพนี้เป็นภาพมัว ถ้าวันไหนตาเราดีเราจะเห็นภาพนั้นชัดเจน

จิต! ถ้าเป็นอุปจาระ เห็นไหม อุปจาระคือโดยรอบของจิต ถ้าโดยรอบของจิต พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นไง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นล่ะอุปจาระ.. อุปจาระหมายถึงว่าจิตมันสงบของมัน แล้วมีวงรอบ คำว่าอุปจาระคือระเบียงไง คือวงรอบของจิต ถ้าวงรอบของจิต มันจะเห็นเป็นกะโหลก มันเห็นแว็บๆ แว็บๆ นั่นล่ะจะเข้าอุปจาระ พออุปจาระ พอจิตมันสงบใช่ไหม มันวงรอบของมัน มันรับรู้ได้ไง

ถ้าจิตเป็นอุปจารสมาธิ เวลาพูดกันก็ได้ยิน นั่งสมาธินี่ ถ้าพวกแม่ครัวทำเสียงดังโมโหน่าดูเลย โมโหมากนะ คนนั่งสมาธิพอเสียงกระทบมันฟิวส์ขาด เพราะจิตเรากำลังจะดี จิตเราจะสงบ แล้วเสียงมากระทบออก ฟิวส์ขาดเลยนะ โกรธเขามากเลยนะ มันคิดน้อยใจ แหม.. เราก็ทำความดีนะ เราก็นั่งสมาธิภาวนาเนาะ เขามาแกล้งเราได้อย่างไร? เรากว่าจะได้มา อู๋ย.. เกือบเป็นเกือบตาย เสียงกระทบปั๊บหมดเลย

นี่เวลาที่ไม่ให้เสียงดัง ไม่ให้อะไรกันเพราะมันกระเทือนกันไง คนเราคนหนึ่งกำลังปฏิบัติเกือบตาย แล้วกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วเสียงมากระทบนี่มันแว็บออกเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสเราควบคุมมันจะให้มันสงบ ทีนี้พอเสียงอะไรมากระทบมันก็ออกทันที นี่คำว่าออก

ฉะนั้น อุปจารสมาธินี่ยังได้ยินเสียง ยังรับรู้ ยังรับรู้ เพราะการได้ยิน การรับรู้นี่แหละมันถึงออกพิจารณาปัญญาได้ เพราะการออกพิจารณาปัญญามันก็ใช้ปัญญาเรานี่แหละ แต่มันออกรับรู้ไง นี่อุปจาระคือจิตสงบ แต่หู ตา จมูก เสียงนี่ จิตยังสงบอยู่แต่รับรู้ได้ ได้ยินได้ มันทำงานได้ แต่พอเข้าอัปปนาสมาธินี่นะดับหมดเลย

ถ้าเข้าถึงระหว่างอุปจาระจะเข้าอัปปนานี่ทำอย่างไร? ก็พุทโธเรื่อยๆ เข้าไป พุทโธเรื่อยๆ เข้าไป.. นี่เป็นอุปจาระ เห็นไหม มันรับรู้ได้ รับรู้เสียงได้ รับรู้สิ่งอื่นได้ มันพุทโธได้ไหม? ได้.. ก็พุทโธต่อไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธเริ่มจางลง จนตกใจนะ มันจะวูบลง มันจะจางลง โอ๋ย.. มันสะเทือนไปหมดเลย

เวลาจะเข้าอุปจาระจริงๆ มันกลัว แต่พอมันสงบเข้าไปพุทโธ พุทโธ จนถึงฐานของมันนะ เพราะพุทโธ พุทโธ มันจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่กลัวมัน พุทโธไปเรื่อยๆ นะ พอมันปล่อยหมดมันเข้าสู่อัปปนาสมาธิ เสียงไม่ได้ยินแล้ว สักแต่ว่าเสียง สักแต่ว่าหมด เสียงต่างๆ เราจะไม่รับรู้เลย ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น จิตนิ่งอยู่ สักแต่ว่ารู้ แต่รู้ตัวอยู่นะ แต่ไม่รู้ อย่างที่ว่าลมพัดมาก็ไม่รับรู้การกระทบ ไม่รับรู้อะไรเลย เพราะจิตมันปล่อยหมด มันปล่อยร่างกายนี้หมด ปล่อยจนมันเป็นตัวของมันเอง ไม่รับรู้อะไรเลย

ถ้ามันจะรับรู้นะ ออกจากอัปปนาถึงรู้ พอมันจะออกจากอัปปนาใช่ไหมมันก็คลายความรู้สึกออกมา พอมันคลายความรู้สึกออกมานี่มันจะรับรู้แล้ว รับรู้ได้เรื่องผิวหนังแล้ว รับรู้ได้ด้วยเสียง ด้วยโสต ด้วยต่างๆ นี่รับรู้ได้ พอรับรู้ได้ จากอัปปนาก็ออกมาอุปจาระไง พออุปจาระนี่เราก็พิจารณาได้ ทีนี้พอพิจารณาเต็มที่แล้ว เราจะพักเราก็พุทโธเข้าไป ไปพักในอัปปนาได้ อัปปนานี้เป็นที่พักเอากำลังเท่านั้น แต่คนเรานะถ้าขาดกำลัง เข้าไปอัปปนาจะได้กำลังมาก

ฉะนั้น ถามว่า “แค่ไหนจะได้รู้ว่าเป็นอัปปนาสมาธิ แค่ไหนอุปจารสมาธิ”

นี่เป็นชื่อไง แล้วในอุปจาระก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในอัปปนาก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เพราะว่าภาวนาแล้วมันอยู่ที่วาสนาของจิต

ฉะนั้น เราบอกว่าพุทโธไป หรือทำสมาธิไป.. นี่เป็นอุปจาระ พอมันพักสงบได้แล้วเราออกใช้ปัญญา หัดใช้ปัญญาแล้วมันจะเข้มแข็ง มันจะขนาดไหนเราก็ใช้ปัญญา เพราะใช้ปัญญาแล้วเวลามันทำสมาธิมันสดชื่น ถ้าไม่ใช้ปัญญามันเหมือนกับเรานี้ไม่มีเหตุผลเลย แล้วก็พุทโธ พุทโธจนเบื่อหน่ายไปหมดเลย ใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาที่ว่า

“เราภาวนาทำไม?”

“เราภาวนาเพื่อพ้นจากทุกข์”

ใช้ปัญญาอย่างนี้มันทำให้จิตใจเข้มแข็ง แล้วพอมาพุทโธมันก็สดชื่น พุทโธสดชื่น ทำอะไรมันชัดเจน มันก็ทำให้ทำสมาธิง่ายขึ้น ไม่ต้องไปหวังว่า แหม.. ใช้ปัญญาแล้วจะฆ่ากิเลส จะทำลายกิเลส ไม่ต้องหรอก แค่ใช้ปัญญาแล้วมันทำให้เราสดชื่น เราทำงานสบายขึ้น เราทำอะไรต่างๆ ดีขึ้น ชัดเจนแจ่มใส อย่างนี้ใช้ปัญญาแบบนี้ แล้วทำให้สมาธิดีขึ้น ปัญญาก็ดีขึ้น เดี๋ยวมันส่งกันไปเอง

มนุษย์มี ๒ เท้า เท้าซ้ายและเท้าขวา ก้าวเดินไปพร้อมกันมันจะถึงเป้าหมาย ระหว่างสมาธิกับปัญญามันจะก้าวเดินไปพร้อมกัน แล้วมันจะถึงเป้าหมาย ฝึกฝนไปอย่างนี้ ไม่ต้องอู้ฮู.. ขนาดนั้นใช้ปัญญาอย่างนั้น

ฝึกไป ผิดก็ผิด ผิดก็ไม่เป็นไร ผิดก็ทำใหม่ ผิดก็ทำใหม่ แต่พอเวลามันถูกนี่ โอ้โฮ! โอ้โฮ! ไอ้โอ้โฮๆ นี่มันจะทำให้เราเข้มแข็ง ถ้าโอ้โฮแล้วนะ นั่นล่ะถูก ถ้ายังเอ๊ะ.. เอ๊ะ.. อยู่นี่มันยังไม่ใช่หรอก เพราะเรายังลังเลอยู่ แต่ถ้าโอ้โฮ! โอ้โฮ! นี่โอ้โฮเข้าไปเรื่อยๆ โอ้โฮนั้นเราก็ตื่นเต้นแล้วใช่ไหม? แต่นั่นแค่จิ่มๆ นะ แค่จิตมันได้เปลี่ยนแปลง แล้วเราทำบ่อยๆ เข้า

ฉะนั้น เราจะพูดบ่อยว่า หลวงตานี่เวลาเราไปถามท่าน ท่านจะบอกว่า “ถูก” ถ้าท่านฟังอย่างนี้ปั๊บท่านบอกว่าถูก เพราะมันมีการกระทำมา แล้วท่านจะเน้นคำนี้เลยนะ

“ซ้ำเข้าไป! ซ้ำเข้าไป!”

ซ้ำเข้าไปก็คือทำแบบเดิมนั่นแหละ เพราะการทำแบบเดิมมันถึงได้ตรงนี้ ฉะนั้นถ้าตรงนี้ถูก จะให้ตรงนี้มั่นคงก็ทำแบบเดิม ซ้ำอย่างเก่านั่นล่ะ ซ้ำที่เคยทำมา ผลก็จะมาเป็นอย่างนี้ แล้วก็ชัดเจนขึ้น ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น มันละเอียดขึ้น

ฉะนั้น “ขั้นไหนเป็นอุปจาระ ขั้นไหนเป็นอัปปนา”

ก็ขอให้มีสตางค์ก่อนเถอะ รู้เองว่าสตางค์เท่าไร ขอให้มีสตางค์ มันนับสตางค์เป็น ไม่ต้องห่วงว่ามีสตางค์แล้วนับสตางค์ไม่เป็นหรอก เดี๋ยวนับให้ ถ้าใครมีสตางค์แล้วนับไม่ถูกนะ เอามานี่เดี๋ยวนับให้หมดเลย ถ้ามีสตางค์ต้องนับเป็น ถ้ามีสมาธิเราจะรู้ของเรา ไม่ต้องไปห่วงว่ามันจะไม่รู้หรอก

ถาม : ๒. วิธีลดการเพ่งจิตต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะเพ่งมากๆ แล้วรู้สึกตึงที่หน้าผาก แต่ถ้าไม่เพ่งสมาธิมันก็ไม่ดี

หลวงพ่อ : การเพ่ง เห็นไหม สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธินี่ไม่เพ่ง ไม่เกร็ง ไม่อ่อนแอ มันเป็นความสมดุล ความสมดุลคือมัชฌิมาปฏิปทา ฉะนั้น ก่อนที่จะสมดุล เห็นไหม อย่างถ้าสมดุล พระเรานี่ต้องเคร่งไว้ก่อน เข้มแข็งไว้ก่อน ธรรมวินัยเราต้องจริงจังก่อน ถ้าบอกว่าไม่เป็นไรๆ มันจะอ่อนแอไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจ เราเพ่งเลยมันก็ถูกอยู่ แต่ถ้าพอมันไม่มัชฌิมามันก็ลงไม่ได้ มัชฌิมาคือเราพุทโธไว้ชัดๆ กับพุทโธ ถ้ามันไม่เพ่ง มันไม่ได้เราก็เพ่งไว้ก่อน เหมือนที่ว่าครูบาอาจารย์บอกให้นึกพุทโธด้วย นึกรูปพระพุทธรูปด้วย แล้วก็พุทโธไปด้วย ก็เพื่อจะให้แบบว่าจิตมันมีที่เกาะ

ฉะนั้น ถ้าเราเพ่ง จิตมันเกาะได้ก็เกาะไป แต่ถ้ามันเครียดมันตึง เราก็ผ่อนเอา นี่เขาเรียกว่ามัชฌิมาไง ความพอดี มันเป็นพอดีของใคร เราก็แก้ไขของเราไป.. นี่พูดถึงการกระทำนะ

ถาม : ๓. (เหมือนข้อที่ ๒) เมื่อนั่งสมาธิแล้วมีอาการเพ่งเกิดขึ้น ให้หยุดทำสมาธิเลย หรือให้ภาวนาต่อไป

หลวงพ่อ : ให้ภาวนาต่อไป ไม่หยุดหรอก พอเพ่งแล้วเกิดอะไรขึ้นเราก็พุทโธไป พุทโธไป สิ่งที่เกิดดับหมดนะ ถ้าเราพุทโธชัดเจน จิตมันเกาะอยู่ที่พุทโธ อะไรที่เกิดขึ้นมันจะปล่อยวาง

แต่นี้เขาเรียกว่า “คนสองใจ” ใจหนึ่งก็พุทโธ ใจหนึ่งก็จะเพ่ง คือละล้าละลังไง คือไม่เอาอันใดอันหนึ่ง เอาให้มันชัดๆ ไม่ต้องห่วง พุทโธไว้ชัดๆ ถ้าลมก็ลมชัดๆ อะไรจะเกิดขึ้นไม่ต้องหยุด ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าตอนมันจะเข้าด้ายเข้าเข็มเราต้องสอนใจเราเลย ผิดถูกนี่พุทโธไปเห็นไปเลย ผ่านวิกฤตินี้ไปเลย พอผ่านเข้าไปได้นะ เฮ้อ..

นี้มันก็เป็นปัจจัตตังไง มันเป็นพยานกับเราไง ที่เราปฏิบัติกันอยู่นี้ เราลังเลสงสัยนี่เพราะเราไม่ได้ประสบไง เราไม่เห็นไง แต่ถ้าเราไปภาวนาแล้วเราประสบ เราเห็น เราผ่านไปแล้วนะ ใครจะบอกเราล่ะ? มันปัจจัตตัง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่มันหยุด หยุดทำไม? อ้าว.. น้ำขุ่นๆ อย่างนี้เราก็เอาสารส้มแกว่งเข้าไป พอมันใสเดี๋ยวก็รู้เองแหละมีอะไรหรือไม่มีอะไร?

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธไปไม่ทิ้ง พุทโธไปไม่ทิ้ง ไม่หยุด ทำไปไม่หยุด ไม่หยุด แล้วตั้งสติของเราไป มันจะผ่านของมันไปได้ ถ้ามันผ่านของมันไปได้ นี่พอผ่านครั้งแรกปั๊บนะ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ จะรู้แล้ว นี้เรายังลังเลอยู่ ลังเลเพราะเรายังไม่เคยประสบไง ไม่เคยพบไม่เคยเห็น มันก็ลังเลเป็นเรื่องธรรมดา มันลังเลเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องเข้มแข็งของเราไว้ แล้วทำของเราไปได้

นี้ข้อ ๑, ๒, ๓ จบ

อันนี้มันข้อ ๔๙๔. ไม่มี

ถาม : ๔๙๕. เรื่อง “การงานกับการปฏิบัติธรรม”

หลวงพ่อ : ฟังนะ อันนี้มันเป็นปัญหาชีวิต ปัญหาทุกคนเจอหมดเลย

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมเรียนถามว่า ชีวิตฆราวาสที่ต้องทำงานจนไม่มีเวลา ไม่มีแม้แต่เวลาจะได้หยุดพักหรือได้อยู่กับตัวเองบ้าง จิตรู้ว่าไม่มีความสุขในการทำงาน โยมก็ต้องพยายามหายใจลึกๆ บางครั้งนึกได้ก็จับลมหายใจ แต่ส่วนใหญ่จะวุ่นวายอยู่กับปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้น จะมีปัญหาต่างๆ เข้ามาในแต่ละวัน จนมีความเครียดค้างอยู่ในจิต ทำงานไม่ทันตามกำหนด ความเครียดเกิดจากจะต้องเสนองานให้เจ้านายและให้ลูกค้า

โยมขอเรียนปรึกษาอาจารย์ว่า จะต้องฝึกจิตอย่างไรให้พ้นความทุกข์ ความเครียด หรือตราบใดที่ต้องอยู่ในวังวนของชีวิตพวกนี้ รู้สึกว่าอยากที่จะนั่งฝึกสมาธิจริงๆ โยมอยากไปฝึกปฏิบัติธรรม แต่วันหยุดก็ไม่สามารถมีเวลาไปหัด หรือจะลองนั่งสมาธิที่บ้านก็รู้ว่าความหงุดหงิด ความกังวลที่ยังทำงานไม่เสร็จมากวนใจอยู่เสมอ ขอคำชี้แนะจากอาจารย์ด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาเราคิด เห็นไหม เวลาเราซักผ้า เสื้อผ้าเราใช้แล้วเราก็ซัก ซักแล้วมันก็สะอาด เสื้อผ้านี่เราใช้แล้วมันก็สกปรก เวลาเราซักแล้วมันก็สะอาด ทีนี้เราก็คิดไง เราก็คิดว่าจิตเรานี่ ทำหน้าที่การงานมันเครียด อู๋ย.. มันทุกข์ อู๋ย.. มันลำบาก อู๋ย.. ทุกอย่างเลย เหมือนผ้าที่เอามาใช้ พอใช้แล้วมันสกปรกใช่ไหม เราก็คิดว่าเราจะเอาไปซักเหมือนผ้า พอซักเสร็จแล้วมันก็จะได้สะอาดไง

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลามันเครียดไง เราก็จะซักความเครียดให้มันหลุดไป นี่มันเป็นความเครียด งานยังไม่เสร็จมันเครียดมาก เราจะทำอย่างไร? นี่เราจะเปรียบเทียบเหมือนการซักผ้า การซักผ้า ถ้าผ้ามันสกปรก เราซักแล้วมันก็สะอาด นี่พวกเราก็คิดว่าปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้นแหละ ถ้ามันทุกข์ มันเครียด ปฏิบัติธรรมมันก็จะหาย ยิ่งปฏิบัติธรรมนี่เครียดสองเท่า

มันติดหน้าที่การงานนี่เครียดอยู่แล้วนะ พอมาปฏิบัติธรรมนะเครียดสองเท่า อยู่บ้านก็เครียด มาปฏิบัติธรรม มาเข้าทางจงกรมนะ โอ้โฮ.. งานก็ยังไม่ได้ทำ อะไรก็ยังไม่ได้ทำ คิดว่าจะมาดับความเครียดนะ มันเครียดสองเท่า สามเท่า

นี่ไงคนเรามันคิดไง คนเราเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเข้าโรงพยาบาล ทุกคนไปเข้าโรงพยาบาลนะถามว่า “หมอ หายไหม? หมอ หายไหม?” แต่เวลาเข้าโรงพยาบาลนี่หมอเขาดูอาการนะ อ้าว.. คนป่วยคนนี้เป็นอย่างไร? รักษาอย่างไร?

ถามว่า “หมอ หายไหม?”

หมอก็บอก “เออ.. ๕ วันหาย ๑๐ วันหาย”

คำว่า ๕ วันหาย ๑๐ วันหาย เห็นไหม นี่เขาก็รักษาตามอาการใช่ไหม เจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็รักษาตามอาการของเขา อาการนี้ถ้าให้ยาแล้ว ทุกอย่างแล้วมันก็ดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้นเพราะด้วยผลของยาใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเครียดนี่เราก็อยู่กับเครียด แล้วยามันคืออะไรล่ะ? ยามันคืออะไร? ไปหาหมอมาหรือยัง? ไม่ต้องหาหมอก็หาพระไตรปิฎกไง พระพุทธเจ้าก็ฝากธรรมวินัยไว้แล้วไง นี่ตั้งสติสิ! ตั้งสติขึ้นมา เห็นไหม ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ เราก็ให้ยากับใจเราเอง ไอ้นี่เวลามันเครียด อ้าว.. เครียดก็คือเครียด ปฏิบัติธรรมก็คือปฏิบัติธรรม คิดว่าจะซักผ้า คิดว่าจะซักความเครียดออกไป แล้วมันออกไหมล่ะ? เราไปคิดกันอย่างนั้นนะ นี่พูดถึงเวลาคนมันเครียดนะ

ย้อนกลับ! ย้อนกลับไปดูคนที่เขาหลงระเริงกับทางโลกสิ เขาบอกว่าเขามีความสุข เขาไม่ไปหรอกวัด วัดไปทำไม? โอ๋ย.. ไปวัดมีแต่เสีย นี่หลงระเริง ทำงานได้เงินได้ทอง อู๋ย.. อยู่กับโลก อู๋ย.. มีความสุขมาก ไอ้พวกไปวัดไอ้พวกอกหัก ไอ้พวกรักคุด ไม่มีคนรักก็ไปวัดกัน ไอ้พวกนี้ไม่มีปัญญา โอ๋ย.. มันฉลาดของมัน นี่มันรัก เห็นไหม เวลาคนมีสติปัญญา อยากทำความดีมันก็เครียด มันก็ทุกข์ทนเข็ญใจ ไอ้เวลาคนมันหลงระเริง กิเลสมันขี่คออยู่ มันมีความสุขของมัน

นั่นน่ะ หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านเปรียบหัวใจของคนเหมือนผ้า ท่านบอกผ้าขี้ริ้ว ไอ้พวกหลงระเริงนี่จิตใจเหมือนผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วนะ ดูสิมันวางอยู่ที่หน้าบ้านใช่ไหม เราเข้าบ้านเราก็เช็ดเท้า ออกจากบ้านก็เช็ดเท้า จะเข้าบ้านก็เช็ดเท้า แขกที่ไหนมาก็เช็ดเท้า เช็ดที่ผ้าขี้ริ้วนั่นแหละ ผ้าขี้ริ้วมันไม่เห็นบ่นเลย มันมีความเพลิดเพลินของมัน

จิตใจที่ไม่มีสติ จิตใจที่หลงระเริงกับทางโลกเหมือนผ้าขี้ริ้ว มันไม่รู้ถูกรู้ผิด มันไม่รู้ว่าอะไรสกปรกหรือไม่สกปรก มันก็หลงระเริงของมัน ไอ้เราก็เป็นชาวพุทธใช่ไหม? เราก็เป็นนักปฏิบัติใช่ไหม? ทำไมเราทุกข์ล่ะ? พวกเขาทำไมมันมีความสุขล่ะ? ทำไมเขามีความรื่นเริงล่ะ? ไอ้นั่นมันพวกผ้าขี้ริ้ว นี้พวกเราเป็นผ้าขาว เห็นไหม ผ้าขาวนี่เวลามันสกปรกมันก็เห็นง่าย

จิตใจของเรานี่นะ ถ้าใฝ่ธรรม ใฝ่ดี พอมันมีสิ่งใดสกปรกมันก็เห็นว่าสกปรก นี้พอมันสกปรก เราก็ติดขาวใช่ไหมเราก็ทุกข์แล้ว พอมันสกปรกเราก็อึดอัดแล้ว เราก็อึดอัดๆๆ มันก็เครียดไง นี้ความเครียดเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่น เราตั้งสติสิ! เราตั้งสติ

นี่เขาบอกว่าอยากฝึก เห็นไหม อยากฝึกนี่ลมหายใจลึกๆ เราตั้งสติ โยมต้องพยายามหายใจลึกๆ พอหายใจลึกๆ นี่ความระลึกรู้

“สติคือความระลึกรู้”

ถ้าเราระลึกรู้อยู่กับหน้าที่ เห็นไหม คนอื่นก็ทำงานเหมือนเรา เราทำงานอยู่นี่ไม่มีเพื่อนทำงานด้วยหรือ? เราก็มีเพื่อนทำงาน อยู่ในบริษัท อยู่ในที่ไหนก็แล้วแต่เราก็มีเพื่อนทำงานด้วยกัน อ้าว.. เขาก็ทำงานได้ เราก็ทำงานได้ เขาก็ทำงานได้ ทำไมเขาทำใจของเขาได้ล่ะ?

ถ้าเราตั้งสติ เห็นไหม เราตั้งสติ คนเรานี่นะ เวลามันทุกข์มันจะบอกว่าเรานี่ทุกข์ที่สุดในโลกเลย ไม่มีใครทุกข์เท่าเราเลยนะ นี่กิเลสมันก็เหยียบย่ำ ถ้าเราบอกว่า อ้าว.. คนอื่นทุกข์กว่าเราก็เยอะแยะไป ดูสิเราทำหน้าที่การงานเราเครียดมากเลย แล้วไอ้คนตกงาน มันไม่มีจะกิน มันเครียดกว่าเราไหมล่ะ? อ้าว.. มันเครียดไหม?

เรามีหน้าที่การงานก็ดีแล้วไง เราก็ทำงานไง อ้าว.. ทำงานก็ทำงาน อ้าว.. งานจบแล้วก็จบ ไม่จบเราก็ทำให้มันจบ ถ้ามันจบแล้วมันก็วางไว้ นี่ถ้ามีสติ เห็นไหม เรามีสติ หายใจลึกๆ นี่ถูกต้อง หายใจลึกๆ คือตั้งสติ ถ้าเราเครียดแล้วเรามีสติขึ้นมา นี่คือการปฏิบัติธรรมแล้วนะ

โอ๋ย.. ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแล้วโอ้โฮ.. ต้องไปวัดนะ แหม.. นุ่งขาวห่มขาวนะ แหม.. แล้วได้ปฏิบัติธรรม นกกระยางมันสีขาว มันก็ยืนนิ่งเลยนะ พอปลามามันก็หมับ! ปลามามันก็หมับ! นั่นนกกระยาง เห็นไหม นี่ว่าปฏิบัติธรรมต้องไปวัด ต้องนุ่งขาวห่มขาว.. อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดกับชาวกรุงเทพฯ เมื่อก่อนที่ท่านมากรุงเทพฯ บ่อยๆ เขาบอกว่า

“ไม่มีเวลา”

ท่านบอกว่า “มีลมหายใจไหม? ถ้ามีลมหายใจ มีสติพร้อมกับลมหายใจ นั่นล่ะคือการปฏิบัติธรรมแล้ว”

นี่ก็เหมือนกัน เราหายใจลึกๆ นี่ถูกต้องแล้ว แล้วเราก็หายใจลึกๆ ตั้งสติไว้ นั่นก็คือปฏิบัติธรรมแล้ว ทำงานด้วย มีสติด้วย จบแค่ไหนก็จบแค่นั้น เราทำหน้าที่การงาน ถ้าโดยที่ว่าทำดี เห็นไหม ดูสิเวลาการทำบุญนี่ เสียสละทานด้วยบุญกุศล ไม่สนใจ ในการเสียสละนี่พระพุทธเจ้าสอนว่า “ให้ทิ้งเหว” ทิ้งเหวคือว่าไม่หวังผลไง ไม่หวังผลมันจะได้ผล

เราใช้ชีวิตเราทำงานโดยไม่หวังผลไง แต่หวังความถูกต้องดีงาม เราไม่หวังผล ทำจบแล้วเจ้านายจะชม จะติ ถ้าติ ถ้าผิดก็แก้ ถ้าชมก็เรื่องของท่าน แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของใจนะ แต่ถ้าเราไปเครียดกับมันว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ให้เราทำดีที่สุดแหละ

นี่พูดถึงความเครียดนะ ฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นความเครียด.. ชีวิตแบบนี้ เรามีสติปัญญาอย่างนี้เราดีอยู่แล้ว เรารู้ไงว่าชีวิตก็เป็นแบบนี้ วังวนชีวิตก็เป็นแบบนี้ รู้สึกว่ายาก อยากจะฝึกหัดทำสมาธิ อยากจะปฏิบัติธรรม แต่วันหยุดก็ไม่มีเวลา แต่เวลาบ่นเขียนมานี่มีเวลา เวลาเขียนมาบ่นว่าทุกข์นี่เวลาเยอะแยะเลย แต่เวลาปฏิบัติ เวลามันไม่มี

นี่ไง มันก็ไปบอกแล้วเนาะ เวลาทุกข์ เวลาเครียดบอกว่าไม่มีเวลา เวลาเขียนมาระบายทุกข์นี่เวลาเยอะเลย เหมือนเราบ่นความทุกข์ให้ฟัง บ่นได้ทั้งวันเลย แต่ใครมาบ่นความทุกข์ให้เราฟัง เราไม่อยากฟังนะ เห็นไหม นี่ส่งออก พระพุทธเจ้าถึงให้ทวนกระแสกลับ ทวนกระแสกลับมา เขาก็เหมือนเรา เราก็เหมือนเขา

ใช่ ใจนี้เป็นจุดศูนย์กลาง จุดศูนย์กลางของจักรวาล หัวใจเนี่ย ถ้าชำระหัวใจจบแล้วนี่พ้นจากวัฏฏะ จิตใจนี่ถ้าเราเข้าไปเห็นแล้ว.. โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะจิตของเราเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เพราะจิตของเราชำระกิเลส สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ ถ้าจิตของเรายังมีกิเลสอยู่ ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ นี่มันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ศูนย์กลางของวัฏฏะ แต่เวลามันมีทุกข์นะ นี่มันเหยียบย่ำเรา มันเหยียบย่ำเรามันก็เอาตัวตนของเราเป็นใหญ่ไง

เพราะมีเรา มีตัว มีตน มีตัวตนมันถึงมีอัตตา พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา ไม่มีเรา ไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย ทำไมถึงไม่มีล่ะ? นี่เราก็ต้องกลับไปปฏิบัติ.. ทำไมไม่มีเรา? แล้วเราไปอยู่ที่ไหน? ไม่มีเราเลยแต่ทุกข์น่าดูเลย เพราะข้างนอกก็บอกไม่มีเราไง แล้วก็ไปยึดอยู่ข้างหลังไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงแล้วนี่ ไม่มีเราเพราะอะไร?

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้วนี่บอกว่าไม่ให้ยึดตัวตนจนเกินไป แต่ในการปฏิบัติก็ตัวตนนี่แหละเป็นผู้รู้.. อันนี้พูดถึงความเครียดไง เขาถามว่า “ขอคำชี้แจงด้วยค่ะ”

ชี้แจงแล้วเนาะ เรื่อง “การทำงานกับการปฏิบัติธรรม” เราตั้งสติของเรา ถ้ามีสติ ทุกอย่างมันเป็นความดีหมดเลย

ข้อ ๔๙๗. นี้ยกเลิกเหรอ? ใช่ ข้อ ๔๙๗. ยกเลิก

ข้อ ๔๙๘. อันนี้เขาฟังเว็บไซต์เราแล้วเขาถามกลับมา

ถาม : ๔๙๘. เรื่อง “การพิจารณาอาหาร ปฏิกูลสัญญา”

ขอน้อมกราบหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง โยมเคยได้ฟังที่หลวงพ่อมีเมตตาตอบปัญหาทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ เกี่ยวกับเรื่องการแก้อาการตกภวังค์ในสมาธิโดยที่ไม่รู้ตัวของหลวงพ่อ ด้วยการพิจารณาขบฉันอาหารเพียงข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ ตลอดพรรษา (อันนี้พูดบ่อย)

โยมขอน้อมกราบนมัสการขอโอกาสกราบเรียนถามถึงอุบายธรรมะ ในการที่จะพิจารณาอาหารปฏิกูลสัญญาของหลวงพ่อ โดยโปรดเมตตาชี้แนะหนทางวิธีการเพื่อน้อมนำไปปฏิบัติ และฝึกหัดขัดเกลากิเลสภายในจิตใจที่ยังติดอยู่ในรสชาติของอาหาร มากกว่าการกินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในชีวิตประจำวัน และยังมีโลภะในการเลือกที่จะรับประทานบางชนิดที่ตนเองชื่นชอบและติดใจในรสชาติอยู่

ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่โยมถามมานี้เป็นมารตัวใหญ่ เป็นกิเลสตัวใหญ่ที่ยังคอยรบกวนจิตใจเป็นอย่างมากสำหรับโยม ในฐานะที่เป็นฆราวาส ซึ่งยังจะต้องทำงานประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่มีศรัทธาในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการที่จะรับประทานอาหารครบทั้ง ๓ มื้อเหมือนกับคนปกติโดยทั่วๆ ไป ย่อมจะเป็นภาระที่หนักต่อการทำงานของร่างกาย การกินอิ่ม หรือการได้กินอาหารสมกับที่ตนเองอยากจะกิน กลับเป็นโทษและเป็นอุปสรรคต่อการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่งเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงมุมมองไง มุมมองของโลก มุมมองทางวิทยาศาสตร์ มีนะพระเราเวลาบวชนี่ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ อุปัชฌาย์ต้องบอกเลย เพราะนิสสัย ๔ เห็นไหม ปาราชิก ๔ กับการดำรงชีวิตของพระ นี่พระต้องรู้ แล้วการดำรงชีวิตคือปัจจัย ๔ ไง คือการดำรงชีวิตอยู่ที่ปัจจัย ๔ บาตร อาหาร ที่อยู่ แล้วก็ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

พอบอกยาดองด้วยมูตรเน่า เห็นไหม นี่เวลาพระกรรมฐานเราดองสมอ ดองอะไร ก็ดองด้วยน้ำปัสสาวะ ทีนี้พอน้ำปัสสาวะปั๊บ พอเป็นทางการแพทย์นี่ อู้ฮู.. เขาแอนตี้นะ เขาพูดมา เพราะลูกศิษย์กรรมฐานเขามีเพื่อนเป็นหมอไง หมอเขาบอกว่า “เฮ้ย ของเสียที่ขับถ่ายทิ้งไป เอ็งเอามากินได้อย่างไรวะ”

นี่พูดถึงมุมมองทางโลกไง แต่ทำไมพวกน้ำดองมูตรเน่ามันเป็นปัจจัย ๔ ล่ะ มันเป็นกิจของสงฆ์ไง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสสัยคือการดำรงชีวิตด้วยน้ำดองมูตรเน่า นี่นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นี่ห้ามทำเด็ดขาด ปาราชิก ๔ อุปัชฌาย์บอกทันทีเลยนะ เวลาบวชต้องบอกเลย ถ้าไม่บอกแล้วเดี๋ยวพระมันทำไม่ถูกขึ้นมา เพราะเดี๋ยวมันขาดไงขาดจากพระ

ฉะนั้น พูดถึงพระพุทธเจ้าบอก นี่เป็นหัวใจเลยนะ หัวใจของพระเลย “นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔” เริ่มแรกจากการบวชเลย แต่ในมุมมองของโลก เห็นไหม ของขับถ่าย ของทิ้งไง ปัสสาวะคือของเสีย เขาพูดอย่างนี้นะ เขาบอกว่า “ของเสียจากร่างกาย เฮ้ย.. แล้วพวกมึงกินได้อย่างไรวะ?” แต่พูดถึงนี่เกลือจิ้มเกลือไง เกลือจิ้มเกลือนะ นี่ทางวิทยาศาสตร์ตอนนี้เขาพยายามคิดอยู่นะ เขาพยายามจะกลั่นจากน้ำปัสสาวะ กลั่นมาเป็นยาสมุนไพรไง ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์เขาโต้แย้งมา

นี้เราจะย้อนกลับมา เห็นไหม มุมมองของโลกกับมุมมองของธรรมไง ถ้ามุมมองของโลก โอ้โฮ.. เช้าขึ้นมานะ มีกุ้ง มีปลา มีหมู มีเป็ด มีไก่ อู้ฮู.. นี่อาหารประเสริฐใช่ไหม? อาหารที่ดีของโลกเขา แต่ในทางธรรมนะ มึงนั่งสัปหงกแน่นอน มึงฉันเสร็จนะมึงนั่งสัปหงกแน่นอน เพราะหมูนี่ไขมันทั้งนั้นเลย

นี่โลกเขามองอย่างนั้นไง โลกเขามองกันอย่างนั้น ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธไง เราถึงบอกว่าเราเกิดมานี่มีวาสนามาก มีวาสนามากเพราะว่าศาสนานี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่มาเบรกไง มายับยั้งไง มาเบรกกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มาเบรกว่าดับไฟโลกไง เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระอานนท์ร้องไห้นะ

“ดวงตาของโลกดับแล้ว”

ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เป็นดวงตาของโลกเลย โลกนี้มืดบอด นี่โลกมืดบอด เห็นไหม พวกเราก็กินกันอยู่กันตามประสาโลก โลกนี้มืดบอด ธรรมะนี่มาส่องสว่างให้พวกเรา ทีนี้ส่องสว่างอย่างไรล่ะ? นี่ส่องสว่าง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

ศีล ๕ กินได้ ๓ มื้อ ศีล ๘ กินได้ ๒ มื้อ มื้อเย็นไม่กิน พอศีล ๒๒๗ นะก็ยัง ๒ มื้อ แต่ถ้าถือธุดงควัตรก็มื้อเดียว ถ้ามื้อเดียวนี่พอปฏิบัติแล้วมันยังมากเกินไป นี้พูดถึงโดยธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แต่พวกเรายังไม่รู้ไง พวกเรายังไม่รู้ เวลาไปนั่ง เห็นไหม อย่างที่ว่าในพรรษา นี่อาหารปฏิกูลสัญญา ทำไมหลวงพ่อบอกว่าตอนนั้นมันตกภวังค์

เราตกภวังค์พรรษา ๒ พรรษา ๑ มันตกภวังค์ แต่มันโชคดีนะ เวลาเราคิดตรงนี้เราจะพูดว่าเราโชคดีมากๆ เวลาตกภวังค์ เวลานั่งไปแล้ว ๗ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงเลย เก่ง ออกจากสมาธิมานี่โอ้โฮ.. เก่ง แหม.. ทิฐิมาเลย เพิ่งปฏิบัติพรรษา ๑ ไง ใครๆ ก็ว่าตัวเองเก่งสุดยอดๆ เพราะนั่งได้ ทำทุกอย่างได้ตามกติกา ตั้งสัจจะแล้วทำได้ครบทุกอย่างเลย อู้ฮู.. เก่งน่าดูเลย

ถ้าพูดถึงนะ ถ้าหลงระเริงไปนะมันก็จบไง มันก็ย่ำอยู่กับที่แล้วไม่ไปไหนหรอก แต่มันมีอยู่วันหนึ่ง เห็นไหม ที่ว่าพอนั่งไปนี่ ออกจากนั่งสมาธิแล้ว เรานั่งอยู่อย่างนี้มันไม่มีสิ่งใดเข้ามาได้ไง แต่พอออกมาแล้วมันมีความเปียกตรงที่จีวร เอ๊ะ.. นี่มันเปียกอะไร? ก็เอาขึ้นมาดม น้ำลาย หลับจนน้ำลายไหล น้ำลายไหลลงสู่จีวร เอามาดม อืม..

ธรรมดานี่หลับหรือไม่หลับนะ เรานั่งสมาธิ เห็นไหม ขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิยังถามเลย เรานั่งสมาธิเราก็ต้องไปถามอาจารย์ใช่ไหม? เราได้สมาธิขั้นไหนนะ อาจารย์ก็บอกว่าเอ็งไม่ได้สมาธินะ เถียงท่านตายเลย ไม่ได้สมาธิได้อย่างไร? นั่งทีหนึ่ง ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงอยู่นี่ เก่งขนาดนี้ไม่ได้สมาธิได้อย่างไร?

เถียงหัวชนฝาแล้วกันแหละ แต่พอตัวเองจับจีวรขึ้นมาดม นี่น้ำลายไม่ต้องเถียงใครเลย เห็นไหม รู้ด้วยตัวเองไงนั่งหลับ นั่งหลับ พอนั่งหลับมันก็เลยเข้าทางจงกรม สลดใจนะ เหมือนหมาหางตกเลยล่ะ หมามันกลัวเจ้านาย หมามันกลัวหมาตัวใหญ่กว่า หางมันตกเลยนะ

นี่พอรู้ว่าเป็นน้ำลาย กิเลสมันหางตกเลย เข้าทางจงกรมคอตกเลย เสียใจ เสียใจมากเสียใจ แต่เสียใจอย่างนี้มันเสียใจแบบดีไง เสียใจแบบรู้ว่าตัวเองผิดไง รู้ว่าตัวเองผิด ตัวเองใช้ไม่ได้ แต่ก่อนหน้านั้นโอ้โฮ.. เกิดความเหิมเกริมมากว่าเรานี่เป็นคนเก่ง ตั้งสัจจะอะไรแล้วทำได้ทุกอย่างสมบูรณ์หมด

อู้ฮู.. เป็นคนดี คนเก่ง คนเรียบร้อย แต่พอมาจับถึงความบกพร่องของตัวได้นี่คอตกเลย มันเสียใจ พอเสียใจแล้วมันก็จะพลิกกลับ จะแก้ไขตัวเอง จะแก้ไขอย่างไรมันก็ทำไม่ได้ จะแก้ไขอย่างไร? แก้แบบในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ “ให้ตรึกในธรรม ให้เอาน้ำลูบหน้า” แก้แล้วแก้อีกไม่ตก ไม่ตกหรอก ก็เลยมานี่

นี้เขาถามว่า “ให้บอกอุบายไง”

อุบายหมายถึงว่าแก้อย่างไรก็ไม่ตก เพราะมันมีทิฐิมานะ คำว่าทิฐิมานะคือความคิดวิทยาศาสตร์ ความคิดแบบโลก ความคิดแบบโลก ความคิดชอบธรรม ว่าข้อ ๑. เราเป็นพระ ๒. บิณฑบาตมาถูกต้องชอบธรรม แล้วฉันข้าวมื้อเดียวมันผิดกฎหมายตรงไหน? มันไม่ผิดวินัยอะไรเลย มันถูกต้องหมดเลย ปฏิบัติอะไรถูกต้องตามกฎกติกา ดีไปหมดเลย พอดีไปหมดแล้ว แล้วมันยังอ้างอีกนะ ตอนนั้นอยู่ในป่า

“เอ็งอยู่ในป่านี่ เอ็งไม่ฉันข้าวตอนเช้า เดี๋ยวตอนสายๆ เอ็งหิวเอ็งจะลำบากนะ เดี๋ยวตอนเย็นเอ็งยิ่งหิว เอ็งยิ่งยุ่งใหญ่นะ”

ฉะนั้น มันก็ฉันตามสิทธิ์ พอฉันตามสิทธิ์ปั๊บ นี่ข้ออ้างของกิเลสไง ทีนี้พอเดินจงกรมแล้วมันได้ประโยชน์อะไร? นี่จะย้อนกลับมาที่อุบายไง “มันจะได้ประโยชน์อะไรล่ะ? ก็เราไม่ได้บวชมาเป็นหมูนี่จะได้ฉันข้าวๆๆ กูไม่ใช่หมู กูอยากจะเป็นคนดี”

มันก็คิดแล้วคิดอีก ย้ำอยู่อย่างนั้นแหละ ย้ำตัวเอง ย้ำตัวเอง

“เอาอย่างนี้นะ พรุ่งนี้เช้าบิณฑบาตมาแล้ว ๑ มื้อ บิณฑบาตมาแล้ว ได้มาแล้วนี่สันโดษ ได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรมแล้ว มักน้อยหน่อยหนึ่ง ลดอาหาร”

มันก็ลดไม่ได้นะ ใจมันบอกกูจะลดนะ แต่ของมามันจับทันทีเลย มันจับใส่บาตรไว้ก่อนเลย มันกลัวบาตรมันพร่อง แล้วมันก็ฉันเสร็จ พอฉันเสร็จ พอล้างบาตรเสร็จคอตกแล้ว ตอนฉันสติไม่ทันนะ ตอนฉันอยู่ยังไม่รู้ตัวนะ แต่พอล้างบาตรเสร็จ สะพายบาตรกลับกุฏิ เพราะกลับกุฏิไปเดินจงกรมไง

สมัยเราบวชใหม่ๆ นะ เช้าขึ้นมาวันหนึ่งเดินจงกรม ๘ ชั่วโมง ทีนี้พอฉันเสร็จปั๊บ พอล้างบาตรเสร็จ เช็ดบาตรเสร็จ ทำข้อวัตรเสร็จก็กลับกุฏิ พอกลับกุฏิไปจะนั่งสัปหงกไง พอจะไปนั่งสัปหงกนี่มันรู้ทันแล้ว พอรู้ทันก็คอตกไง “โอ้โฮ.. ทำไมเอ็งเผลอได้ขนาดนี้วะ ทำไมเอ็งเลวได้ขนาดนี้วะ” เข้าทางจงกรมอีก ๓ วัน ๔ วันนะ พอเข้าทางจงกรม เดินจงกรมนี่เพ่งโทษตัวเองนะ

อย่างที่หลวงตาพูด “มึงกับกูในหัวใจ”

นี่ก็เหมือนกัน ด่าตัวเองนะ ไอ้เลวชาติ ชาติชั่ว ไหนว่ามึงทำได้ อู๋ย.. ด่าตัวเอง ด่าวันหนึ่งก็แล้ว ๒ วันก็แล้ว วันที่ ๓ พอวันที่ ๓ พอมันโดนควบคุม จิตมันโดนควบคุมบ่อยๆ ครั้งเข้า สติมันทันไง เพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไปมองแบบวิทยาศาสตร์ไง เราไปมองที่อาหารไง เราไปมองที่อาหารว่าเราจะกินอย่างนั้น เราจะกินอย่างนี้ เวลาสติมันทันนะมันบอกเลย เราไปมองที่อาหารใช่ไหม? เราก็บอกว่า

“ถ้าเรามีสติ อาหารนี้เราก็ต้องเห็นโทษว่ามันไม่ดีสิ อาหารนี้เราต้องไม่เอามันใช่ไหม? อาหารนี้มันไม่ดี”

มันไม่ใช่ อาหารนั้นมันก็คืออาหาร แต่มันเกิดเพราะความอยากได้ มันเกิดเพราะตัณหาต่างหากล่ะ ทีนี้พอมาเดินจงกรมวันที่ ๓ มันปิ๊งขึ้นมา คือปัญญามันเร็วไง พอปัญญามันเร็วมันขึ้นเลยนะ

“อาหารนี่จะให้มันจืดไม่ได้หรอก อาหารอร่อยก็คืออร่อยนั่นแหละ ทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้นแหละ มันโดยธาตุ เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก มันเปลี่ยนแปลงที่ตัณหาความทะยานอยากต่างหากล่ะ มันเปลี่ยนแปลงที่ใจมึง! มันไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงที่อาหาร!”

โอ้โฮ.. มันปิ๊งขึ้นมาอย่างนั้นนะ โอ้โฮ.. มันสะเทือนใจมากนะ ทีนี้มันจะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่ใจเราใช่ไหม? พออยู่ที่ใจเรา พอมันทันใจเราปั๊บ เราควบคุมใจเราได้นะ พอรุ่งขึ้นบิณฑบาตมานะมันทันหมด เราดูใจเราไว้ อาหารอยู่ข้างนอก ใหม่ๆ ไม่ได้หรอก ไอ้ที่ว่าวันละคำ มันบอกวันละคำ มันตักทีหนึ่ง ๓ ทัพพีวันละคำ มันตักใส่บาตรไว้ก่อน พออย่างนั้นมันก็ฉันแล้ว เพราะมันไม่ผิดวินัยไง

เราจะรู้ตัวเอง แต่เราจะบอกว่าที่จะทำได้นี่มันต้องมีสติก่อน สติแล้วก็ดูแลใจ ฉะนั้น สิ่งที่โยมทำกัน พวกเราทำกันนี้เราใช้ปัญญาทางโลก เราใช้ปัญญาวิทยาศาสตร์ ปัญญาเหตุผลมารองรับ ไม่ใช่ธรรมที่เกิดจากใจ พอเอาปัญญาข้างนอกมารองรับ เห็นไหม ดูสิผู้หญิงนี่กินมากไม่ได้นะเดี๋ยวเสียเชฟ ต้องเข้าฟิตเนส ต้องไปออกกำลังกาย นี่พอมันคิดอย่างนี้ปั๊บมันก็ไม่อยากกิน มันกลัวเสียสตางค์ เพราะไปเข้าฟิตเนสมันเสียสตางค์ใช่ไหม มันก็ไม่อยากกิน

นี่เหตุผลจากโลกไง เหตุผลจากข้างนอก ถ้าเหตุผลจากข้างนอกมันก็มาถ่วงกัน เหตุผลมันไกลเกินไปไง แต่ถ้ามันเกิดเป็นธรรมนี่เหตุผลมันเกิดจากจิต ถ้าเหตุผลมันเกิดจากจิต ธรรมมันเกิดที่นี่ มันทันหมดไง เราจะบอกว่า ทันหรือไม่ทันมันอยู่ที่ข้างนอกหรือข้างใน ถ้ามันเกิดจากข้างในนี่มันทันหมดเลย ถ้าเกิดจากข้างนอก.. เพราะเราเกิดจากข้างนอกมาก่อน กว่าจะขยับให้เหตุผลนี้เข้ามาไว้ในใจเราได้นี่เกือบตาย

เหตุผลมันอยู่ในตำราใช่ไหม? เหตุผลมันเป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? เหตุผลมันเป็นข้อมูลใช่ไหม? เราก็เอาข้อมูลเหตุผลมาถ่วงน้ำหนักกันว่าใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน คิดจากข้างนอกไง แต่หัวใจมันยิ้มเลยนะ

“โอ้โง่! กูแอบซ่อนอยู่นี่ มึงเอาเหตุผลมาเถียงกันอยู่นั่น กูกำลังจะหลอกมึงอยู่นี่”

แต่พอเราชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ มันก็ละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงใจไง พอถึงใจนี่มันผลัวะที่นี่ “อ๋อ.. อยากหรือไม่อยากมันอยู่ที่นี่” พอมันที่นี่จบปั๊บนะ โธ่.. วันละคำนี่นะ ตอนที่เราทำเพราะว่าเราอยู่ในสังคม ในหมู่คณะ พออยู่ในสังคมก็ต้องทำกับเขา ก็เลยฉันวันละคำๆ ทั้งพรรษาเลย เราจะทำได้เพราะเหตุนี้.. นี่พูดถึงนะ

นี่เวลาโยมก็รู้ตัวเองว่าเวลากินอาหารตามความต้องการของตัว เห็นไหม “กินแล้วกลับเป็นโทษ กลับเป็นอุปสรรคต่อการนั่งสมาธิ” เป็นอุปสรรคจริงๆ

หลวงตาบอกว่า “ธาตุขันธ์ทับจิต”

ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันทับหัวใจของเรา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันทับจิตนะ พอมันทับจิตก็เป็นอย่างนี้ มันลำบากลำบนไปอย่างนี้ เราอยากได้ดี อยากปรารถนาดี แล้วทำดีขึ้นมา ทำไมไม่สมฐานะล่ะ? ทำดีแล้วทำไมความดีมันไม่ตอบสนองล่ะ? ทำดีแล้วทำไมไม่เห็นได้ดีล่ะ? อ้าว.. ก็เราทำดีประสาโลกๆ ลูบๆ คลำๆ ไง เราไม่ได้ทำดีจริงๆ ไง แต่ถ้าทำดีจริงๆ แล้วมันต้องได้ดีแน่นอน

ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้เป็นโทษแน่นอน เป็นโทษขนาดที่ว่าเวลาใครมาถามปัญหานะ นั่งสมาธิไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้.. เราบอกว่าทุกคนอยากได้สมาธิ แต่ทุกคนไม่มองเหตุของการเกิดสมาธิ สมาธิมันได้มาเพราะอะไร? สมาธิมันได้มาเพราะเหตุใช่ไหม? เราภาวนาใช่ไหม? เรามีคำบริกรรมใช่ไหม? เหตุอันนั้นเราต้องรักษาเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนว่า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ไอ้เราอยากได้แต่วิบากไง เห็นไหม อยากได้ผล ผลเป็นอย่างนั้น ผลเป็นอย่างนี้.. ผลนั่นคือผล เราทำงานเงินเดือนก็ออก เขาเห็นคนนั้นรับเงินเดือนหมื่นหนึ่ง ไอ้เราก็จะเอาหมื่นหนึ่งกับเขา แล้วไม่ทำงานจะเอาหมื่นหนึ่งกับเขาได้อย่างไร? เออ.. เขาหมื่นหนึ่ง เขาทำงานครบเดือนเขาได้หมื่นหนึ่ง เราทำงานกับเขาได้เดือนหนึ่งเราก็ได้หมื่นหนึ่ง ไอ้เขาทำงานหมื่นหนึ่ง ไอ้เราไม่ได้ทำเราจะเอาหมื่นหนึ่ง

การทำนั่นคือเหตุไง การทำนั่นคือเหตุ เขาทำงานของเขา เขาได้รับเงินของเขาตามสมฐานะของเขา ไอ้เราไม่ได้ทำ แล้วจะไปเอาเงินแบบเขานี่ได้อย่างไร? มันไม่ได้หรอก

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราอยากจะได้สมาธิ อยากจะได้สมาธิ แล้วเหตุมันล่ะ? เหตุมันก็ปฏิบัติแล้วไง เหตุก็นั่งแล้วไง นั่งแล้วมันไม่ได้ไง นี่นั่งไม่ได้ก็ธาตุขันธ์มีกำลังมากกว่าไง เราก็ต้องพยายามลดกำลังของธาตุของขันธ์ คือผ่อนมัน ไม่ตายหรอก.. เขาบอกว่าอดอาหารไม่ตาย ถ้าอดน้ำนี่ตาย

พระอดน้ำไม่ได้ พระจะมีธมกรกตลอดเลย ต้องมีน้ำติดตัว น้ำนี่อดไม่ได้ เวลาอดอาหารก็ดื่มน้ำ ฉันน้ำประทังชีวิตไป ถ้าเราฉันน้ำดำรงชีวิตไป เห็นไหม อาหารมันไม่มาทับธาตุขันธ์ พอไม่ทับธาตุขันธ์ เพราะเราไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต สิ่งที่เราภาวนากันไม่ได้ เราภาวนาไม่ได้กันอยู่นี่ ธาตุขันธ์ทับจิต.. ธาตุคือร่างกาย อาหาร ขันธ์คือความคิด

ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ไง ความคิด ความเครียด ความฟุ้งซ่านนี่ทับ กับธาตุขันธ์มันทับ พอมันทับ จิตนี้มันเป็นพลังงาน มันเสวยอารมณ์ ทีนี้พอมันทับขึ้นมามันแบนแต๋ดแต๋ แต่เวลาเราเริ่มผ่อนอาหารนี่ธาตุขันธ์มันเริ่มเบา หิวน่าดูเลย ท้องร้องจ๊อก จ๊อก โอ้โฮ.. โทษนะ ถ้าจะพูดนะโคตรหิวเลย หิวน่าดูเลย แต่มันไม่ง่วง

เวลาหลวงตาพูดมันถึงซึ้งใจไง หลวงตาท่านผ่อนอาหารใช่ไหม ภาวนานี่ถ้า ๓ วันไปแล้วนะ นั่งเป็นตัวตอเลย แต่คนเราไม่กินมันก็ตาย ฉะนั้นต้องกิน ฉะนั้น เวลาจะกินขึ้นมามันเถียงกัน ไอ้ร่างกายก็อยากจะกิน อยากจะแข็งแรง อยากจะมีอาหาร ไอ้ธรรมะก็ไม่อยากกิน เพราะกินแล้วมันภาวนายาก หลวงตาท่านเลยใช้ปัญญา เห็นไหม

“อย่างนั้นพบกันครึ่งทาง กินบ้าง อดบ้างกำลังดี”

ฉะนั้น ถ้าวันไหนพออดอาหาร ถ้าหมดแรงก็คำนวณว่าบิณฑบาตไหว ก็ไปบิณฑบาตมาฉันสักวันหนึ่ง ๒ วัน แล้วก็อดอาหารต่อไป เห็นไหม นี่เราใช้ปัญญาของเรา ธาตุขันธ์มันก็ต้องกินอาหารของมัน แต่ธรรมะในหัวใจ ถ้ามันได้แล้วนะมันก็อยากจะอด

ฉะนั้น เวลาพวกพระกรรมฐาน ลูกศิษย์หลวงตานี่ท่านอดอาหารของท่าน เพราะท่านทำแล้วท่านได้ผล ถ้าไม่อดอาหาร นั่งนะอู้ฮู.. หัวทิ่มบ่อ หัวทิ่มบ่อ ถ้าอดอาหารนี่หิวไหม? หิว.. หิวจนโคตรหิวเลยแหละ แต่ถ้ามันหิว เห็นไหม เวลาภาวนาไปนะ

“หิว!”

“อะไรหิว?”

“กระเพาะหิว ลำไส้หิว ปากหิว ท้องหิว.. ใครหิว?”

พอมันไล่ไปนะ “ใครหิว! ใครหิว” พอถ้าปัญญามันทันปั๊บนะ ลงวับ! สุขมาก หิวไม่มี แต่พอมันถอนออกจากสมาธิมานะ หิวอีกแล้ว หิวอีกแล้วเพราะมันมาเจอสภาพเดิมไง กระเพาะไม่มีอาหาร อู้ฮู.. ออกมาก็หิวๆ หิวก็คือหิว แต่ถ้าไล่กันนะ ไล่เลย ไล่เลย

“กระดูกหิว เนื้อหิว กระเพาะหิว ลิ้นหิว น้ำลายหิว เออ.. ใครหิว?”

พอไล่ไปๆ ถ้าสติมันดีนะ พอปัญญามันสมดุลปั๊บมันก็ลงวาบ! ลงสู่ความสงบ พอสงบแล้วมันก็ทิ้งร่างกายหมด สุขมาก หิวๆ นี่ไม่รู้หายไปไหนมีแต่ความสุข ความสุขนี้เกิดมาเพราะอะไร? ความสุขเกิดเพราะการผ่อนอาหารให้ธาตุขันธ์มันเบาลง แล้วมันรวมลงสู่สมาธิ พอมันคลายออกมานะ ก็หิวอย่างเดิม หิวก็ทนเอา เอาน้ำหล่อเลี้ยงมัน ทนเอาเพราะอยากได้ของดีไง

นี่พูดถึงเวลาที่ปฏิบัติมามันเป็นแบบนี้ ปฏิบัติมานะ แล้วพอปฏิบัติไป คนเรานี่หลวงตาท่านว่า “ในเมื่อมันมีข้อมูล มันมีเหตุผลตอบรับ มันมีผลตอบรับนี่ แล้วเราจะขวนขวายไหมล่ะ?” แต่พวกเรานี่ผลตอบรับมันยังไม่เห็น ฟังเขาบอก อดอาหารดี อดอาหารดี ก็อดบ้างนะ อดเสร็จแล้วพรุ่งนี้จะมาบอกหลวงพ่อเลย

“หลวงพ่อ หิวน่าดูเลย ไม่เห็นได้อะไรเลย”

ไม่ได้! ไม่ได้หรอก ไม่ได้เพราะอะไร? ไม่ได้เพราะตัณหาซ้อนตัณหา เห็นเขาทำว่าดี แล้วอยากจะเอาดีแบบเขา แต่ทำดีไม่ได้เหมือนเขา มันก็เลยไม่ได้ดี.. เขาจะได้ดีนี่เขาทำดีของเขาด้วยเหตุด้วยผล จนเหตุผลของเขาสมดุลกับเขา จิตเขาถึงลงแบบเขา เราฟังเขาว่าดี แล้วเราก็จะทำให้เหมือนเขา ทำให้เหมือนเขา ให้เหมือนแต่ไม่ใช่

เขาอดอาหารเพื่อพุทโธ อดอาหารเพื่อเข้ามากำหนดจิตของเขา เราอดอาหารว่าได้อดอาหารแล้วนะ ทำเหมือนทุกอย่างแล้วนะ จะเอาให้เป็นแบบเขานะ อย่างนี้ทำการบ้านส่งให้อาจารย์ อาจารย์ก็ให้ศูนย์ เพราะมันไม่มีเนื้อหาสาระในตัวของมัน แต่ถ้าอดแล้วนะเราก็ต้องสู้กับเรา สู้กับเรา ดูของเรา ทำของเรา เป็นของเรา ถ้ามันสมดุลของเรา เห็นไหม สัจจญาณ กิจจญาณ

เวลาพระพุทธเจ้าไปเทศน์ธรรมจักรกับปัญจวัคคีย์ บอกว่า “เมื่อก่อนไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้ ตอนนี้ว่าได้แล้วก็บอกว่าได้แล้วนะ” เมื่อก่อนไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้ เดี๋ยวนี้ได้แล้ว ได้เพราะอะไร? เพราะสัจจะมันมี กิจจญาณมันมี สัจจะมันมีอยู่แล้ว แต่กิจจะคือการกระทำให้มันสมสัจจะนั้นยังไม่เกิด

นี่เดี๋ยวนี้ได้ทำแล้ว สัจจญาณ กิจจญาณ แล้วผลของมันเป็นอริยสัจขึ้นมา เห็นไหม นี่วงรอบของกิจกรรมของจิต ที่เป็นกระบวนการของมันที่ได้ทำแล้ว

“เดี๋ยวนี้ได้ทำแล้ว จบกระบวนการแล้ว รู้จริงแล้ว เงี่ยหูลงฟัง ฟัง! ฟัง! ฟัง!”

แล้วพอเทศน์ธรรมจักรไป พระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรม นี่ถ้าเราทำสมดุลอย่างนั้นมันก็เป็นความสมดุลอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังทำไม่สมดุล เวลาฟังนะ อู๋ย.. อดอาหารดีนะ ถ้าอดอาหารดีนะ แอฟริกาเป็นพระอรหันต์หมดเลย ทวีปแอฟริกานี่อดจนผอม อดจนขาดสารอาหารหมดทั้งทวีปเลย พระอรหันต์ทั้งทวีปนะนั่น

อันนั้นเขาอดอยากขาดแคลน เขาไม่ได้อดอาหาร แต่เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหารของเขาไม่มีจะกิน จิตใจนี่ถ้ามันไม่มีจะกินมันยิ่งทุกข์ยากเข้าไป ทุกข์ยาก เกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียด มันเป็นธรรมที่ไหน? มันไม่เป็นธรรม มันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก แต่พระเรา เห็นไหม พวกเราอยู่ในประเทศอันสมควร เช้าขึ้นมาพระบิณฑบาตมานี่ล้นบาตร ถ่ายบาตรแล้วล้นมาอีก อาหารมันกองท่วมหัว มันมีกินแต่เพราะเห็นโทษของมัน

ถ้าการดำรงชีวิต เราก็ต้องฉันอาหารเป็นการดำรงชีวิตใช่ไหม? ชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยอาหารใช่ไหม? เราก็เอาอาหารเจือจานมันพอดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าบอกว่า “พระเรานี่ฉันอาหารให้เหมือนกับหยอดล้อเกวียน ว่าเกวียนมันหมุนไปนี่ไม่เสียงดังออดแอดก็พอแล้ว”

นี่พระพุทธเจ้าเตือนขนาดนั้น อาหารเรามีเยอะแยะไปหมด จิตใจเราไม่ได้ทุกข์ เราไม่ได้ว้าเหว่แบบเขา เขาทนทุกข์เพราะเขาไม่มีเขาถึงทุกข์ แล้วเขาเกิดความทุกข์กังวล เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ไอ้ของเราอาหารนี่บิณฑบาตมาล้นฝั่งเลย จะกินอะไรก็ได้ จะหาอะไรก็ได้ แต่เห็นโทษของมัน จิตใจนี้มันชื่นบาน ชื่นบานเพราะว่าเราอยากได้มรรค ได้ผล

นี่เรื่องของโลก เรื่องของเขาอดอาหารด้วยความวิตกกังวล มันเป็นเรื่องของโลกๆ วิตกกังวล ไอ้เราโลกๆ เรามี เห็นไหม เราไม่วิตกกังวล นี่เรื่องของโลกๆ หมดเลย แต่เพราะเราเห็นโทษของมันใช่ไหม? เพราะเราศึกษาธรรมใช่ไหม?

เราเกิดในประเทศอันสมควร อาหารก็มหาศาลเลย แต่เราอยากได้คุณธรรม อยากได้สัจธรรม สิ่งที่เป็นคุณงามความดีที่มากกว่าวัตถุ จิตใจเราสูงส่งขนาดไหน เราถึงเอาสิ่งนี้วางไว้ไง ของเรามีแล้ววางไว้ สันโดษเอาแค่นี้พอ ที่เหลือเอาไว้ทำประโยชน์

นี่จิตใจมันไม่เหมือนกันไง พอทำประโยชน์ จิตใจเพราะมันทำคุณงามความดีมันมีมาอย่างนี้ เห็นไหม แล้วมีมาอย่างนี้เป็นสมาธิหรือยัง? ยังนะ นี่ขนาดทำมาดีแล้วยังไม่เป็นสมาธินะ ต้องไปพุทโธอีก ต้องไปพยายามสมบุกสมบันให้จิตใจเหมือนกับที่เราคิดกับอาหารนี้ เพราะเวลาความเครียด อารมณ์ ความรู้สึกมามันก็เหมือนอาหาร เพราะวิญญาณาหาร

วิญญาณนี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นนามธรรม แล้วจิตมันก็เสวย มันกินทุกวันเลย มันก็กินของมันอยู่ มันเสวยอารมณ์ มันยึดมั่นถือมั่นของมัน เราจะต้องพุทโธ พุทโธ มันก็เหมือนอาหารข้างนอกเนี่ย อาหารข้างนอกเราเห็นโทษของมัน นี่เราเห็นมีเยอะแยะเลยแล้วเราวางไว้ เราใช้ประโยชน์ สันโดษพอดำรงชีวิต

จิตมันเป็นพลังงานอยู่แล้วใช่ไหม? นี่มันมีพลังงานของมันอยู่แล้วใช่ไหม? มันเสวยความคิดตลอดเวลา เห็นไหม มีสติยับยั้งมัน ยับยั้งมัน ยับยั้งมันนี่เพราะข้างนอกก็เห็นโทษแล้ว พอเห็นโทษข้างในอีกนะ โอ้โฮ.. มันชัดเจนแจ่มใสนะ พอเห็นโทษของมันนะ มันว่า “มึงนี่โง่ คิดก็มึงคิด ทุกข์ก็มึงทุกข์ ทุกอย่างเกิดจากมึงหมดเลย แล้วมึงมันโง่เองไง” พอมันรู้ทันมันก็ปล่อย ปล่อย เห็นไหม

นี่เห็นโทษจากข้างนอกแล้วจะเห็นโทษจากข้างใน พอเห็นโทษข้างใน นี่มันปฏิบัติมาอย่างนี้ มันถึงจะปฏิบัติขึ้นมาแล้วโตขึ้นมา พวกเราจะโตขึ้นมา จะเห็นคุณของมัน ถ้าไม่เห็นคุณนี่ว่าไปอดอาหารทำไม? การอดอาหารนี่นะมันเป็นวัตถุที่เห็นได้ ทีนี้พระพุทธเจ้านี่นะ.. หลวงตาท่านสอนว่าพระพุทธเจ้านี่เราศึกษาในพระไตรปิฎกถึงว่าพระพุทธเจ้านี้สุดยอด พระพุทธเจ้าอดอาหารมา ๔๙ วัน จนรากขนเน่าหมดเลย แล้วอย่างนั้นปั๊บพระพุทธเจ้าก็อดเฉยๆ ไง

สาธุ! ไม่ได้ติเตียน พระพุทธเจ้าอดแบบนี้ก็อดแบบแอฟริกา คืออดเฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้ปัญญา เพราะตอนนั้นยังไม่มีปัญญา เห็นไหม พระพุทธเจ้าอดอย่างนั้นปั๊บช็อกถึง ๓ หนเกือบตาย ฉะนั้น พอพระพุทธเจ้ามาฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วพระพุทธเจ้ามาใช้ปัญญาจากภายใน พอปัญญาจากภายในเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วนะ ถึงได้บัญญัติไว้ว่า

“ภิกษุห้ามอดอาหาร ใครอดอาหารเพื่ออวด เพื่อแอ็ค เพื่ออยากให้เขานับถือ เป็นอาบัติทุกกฎ ทุกกิริยาที่เคลื่อนไหว แต่! แต่ถ้าใครอดเพื่อเป็นอุบายวิธีการประพฤติปฏิบัติ เราตถาคตอนุญาต”

อันนี้นะ ถ้าบอกว่าอดอาหารแล้วมันจะบรรลุเป็นพระอรหันต์นะ ซากศพในเมืองไทยจะกองพะเนินเทินทึกเลย เพราะทุกคนก็อยากได้เป็นพระอรหันต์ ทุกคนก็จะอดอาหารกันแบบเถรตรง แบบโลกเขาอดกัน อดอาหารเหมือนไม่มีจะกิน แล้วมันจะเป็นพระอรหันต์ได้ไหม? ไม่ได้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าใครอดเพื่อจะอวดนี่ปรับอาบัติตลอด แต่ถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นอุบาย อุบายที่เห็นโทษนี่ไง นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ภาวนาก็ไม่ได้

“ถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นอุบาย เราตถาคตอนุญาต”

นี่ไง มันเป็นเหมือนกับมันมีคุณในตัวมันเอง เหรียญมีสองด้าน มีคุณด้วยก็มีโทษด้วย มีทั้งคุณและมีทั้งโทษในเหตุการณ์นี้ แต่เวลาจะใช้ประโยชน์ ต้องให้คนที่มีปัญญาเอามาใช้มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าผู้ที่ไม่มีปัญญาเอามาใช้ มันจะเป็นโทษ ทีนี้พระพุทธเจ้าเห็นว่าพวกเรามันพวกซื่อบื้อ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าห้ามไว้ก่อนเลย ห้าม! ห้ามอดอาหาร!

ทีนี้พอห้ามอดอาหารปั๊บชาวพุทธก็เลยบอกว่า “พระพุทธเจ้าห้ามอดอาหาร พระพุทธเจ้าห้ามอดอาหาร” กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย กิเลสมันยิ้มเลยนะ “เออ.. พระพุทธเจ้าห้ามอดอาหารนะ พวกเอ็งกินเยอะๆ นะ กินเสร็จแล้วเอ็งก็นอนกันเป็นหมูไปเลยนะ”

โอ้โฮ.. กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย แต่ถ้าเรามีอุบาย เรามีสติปัญญา เราทำของเราขึ้นมา พอทำของเรามันจะเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานี่มันรู้ของมัน พอเป็นความจริงขึ้นมามันมีเหตุมีผลตอบรับ พอมีเหตุมีผลตอบรับนี่มันอยากทำ ไอ้คนที่ทำนี่ทุกข์ไหม? ทุกข์! อดอาหารแล้วไม่หิวนี่อย่ามาบอก

อดอาหารนี่หิว! หิว! หิวน่าดูเลย แต่ทำไมทำ? ทำเพราะอยากได้สมาธิ อยากได้ปัญญา อยากได้มรรค อยากได้เหตุได้ผลมาฆ่ากิเลส หิวไหม? หิว ทุกข์ไหม? ทุกข์ แต่เราไม่ใช่อดเพื่อทุกข์ยากนะ เราอดเพื่อประโยชน์ไง ฉะนั้นมันต้องแลกมาไง

ฉะนั้น หิวมาก อดอาหารนี่หิวไหม? หิว หิวน่าดูเลย ต้องมีความเข้มแข็ง มีความอดทน ฉะนั้น ถ้าไม่หิวเลยเราก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้เลยล่ะ แล้วถ้าหิวนี่ขนาดไล่ไปมันก็จบไง

นี่พูดถึงว่า “ปฏิกูลสัญญา” อันนี้คือปัญญานะ ถ้าอาหารเป็นปฏิกูลสัญญา เราอดเพื่อเรา นี่คืออุบาย เขาถามมาเรื่องอุบายของเขา มันก็เป็นประโยชน์นะ อันนี้เป็นอุบาย อุบายในการอดอาหาร เพียงแต่ว่าที่เราพูดนี่มันเป็นสูตรสำเร็จ แล้วถ้าเอาอย่างนี้ไปใช้มันไม่ทันหรอก มันต้องเอาของเราเป็นอุบาย แล้วต้องคิดขึ้นมาเองว่าเห็นโทษอย่างไร? ประโยชน์อย่างไร? แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร?

แล้วพอเราเริ่มผ่อนอาหาร แล้วเรานั่งสมาธิบ้าง อะไรบ้างนี่มันไม่โงกง่วง มันไม่ต่างๆ เราจะเห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของอาหารปั๊บเราก็จะเบาลง พอเบาลงแล้วนี่ หนึ่งมันดีทุกๆ อย่างเลย ทรัพย์ก็ประหยัด ร่างกายก็แข็งแรง ร่างกายแข็งแรงจริงๆ นะ พวกเราเป็นโรคเป็นภัยกันเพราะการกินการอยู่นี่แหละ แต่ถ้าเราอยู่กินกันโดยพอประมาณนะ ร่างกายนี่แข็งแรงมาก จะไม่ต้องเสียเงินค่าหมอรักษา

เดี๋ยวบอกไม่ต้องเสียหรอก บัตรทอง ๓๐ บาท ไม่ต้องเสียกินเข้าไป แต่ถ้าเงินก็ประหยัด ร่างกายก็แข็งแรง โอ๋ย.. สมาธิก็จะได้ ปัญญาก็จะมา นี่ถ้าเราทำของเราได้ เรามีปัญญานะมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงการอดอาหารนะ ฉะนั้น ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดเพื่อยกยอปอปั้นหมู่คณะกันเอง พูดเพื่อเป็นสัจจะ เพราะเราได้ปฏิบัติมาเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าใครทำแล้วเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ยกยอปอปั้นนะ ยกยอว่าพวกเราทำก็คือว่าดี คนอื่นเขาไม่ทำก็ว่าเขาไม่ดี ถ้าเขาทำดังวิธีการใดก็แล้วแต่ ถ้าได้ผลก็คือดี เขาเรียก “จริตนิสัย” ถ้าจริตนิสัยแล้วต้องวัดกำลังด้วย กำลังเรานี่แข็งแรงพอไหม?

หลวงตาท่านสอนนะ เวลาพระบางองค์อดจนช็อกเลยนี่ท่านเอ็ดนะ ท่านบอก “ทำไมไม่วัดกำลังของตัว? ทำอะไรก็ต้องรู้จักพอดีสิ” จะอดอาหารก็รู้จักพอดีกี่วัน ไม่ใช่อดตะบี้ตะบัน ไม่มีปัญญาเลย อย่างนี้จะฆ่ากิเลสได้อย่างไร? เขาต้องใช้ปัญญาฆ่ากิเลส อันนี้มาอดเอาเฉยๆ อดเอาวันเอาคืนมาอวดกัน อู๋ย.. เวลาท่านฟันลูกศิษย์ท่านฟันเต็มที่นะ

ฉะนั้น เราต้องมีปัญญาของเรานะ เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่พูดเพื่อยกยอปอปั้นพวกเดียวกันเอง สิ่งใดทำแล้วเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ อันนั้นจบนะ

ข้อ ๔๙๙. เขาก็ยกเลิกนะ ข้อ ๔๙๙. ยกเลิก จบ เอวัง