เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เรามาทำบุญกุศล ทำบุญกุศลเพื่อเติมชีวิตนะ เพราะชีวิตนี้ เวลาวันเกิดกัน เห็นไหม วันเกิดเขาทำบุญวันเกิด อะไรพาเกิดล่ะ ถ้าวันเกิด บุญพาเกิด ถ้ามันไม่มีมนุษย์สมบัติ เราจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ไง
ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นคน นี่อริยทรัพย์ ทรัพย์อันนี้ประเสริฐมาก ประเสริฐเพราะอะไร ประเสริฐเพราะเกิดมาแล้วเรามีสมอง เรามีต่างๆ เรามีอิสรภาพ เราจะตักตวงคุณงามความดีในชีวิตนี้มากเท่าใดก็ได้ เราจะทำความชั่ว เราจะทำตามความพอใจของเราทั้งชีวิตเลยก็ได้
ถ้าเราจะตักตวงคุณงามความดี ทาน ศีล ภาวนา จะไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปยิ่งกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานี้ทำให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ นี่การที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ เห็นไหม
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบนะ แล้วจิตที่พ้นจากทุกข์ วิมุตติสุข มันพ้นจากโลกไป พระพุทธเจ้าไม่เอามาพูดหรอก เพราะพูดไปก็ไม่เข้าใจ
แต่ความเข้าใจว่าสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เพราะเวลาเราฟุ้งซ่าน เราทุกข์ยาก หัวใจเราทุกข์ยาก เรารู้ได้ ถ้ามันปล่อยวาง มันมีความสงบสงัดระงับของมัน มันก็มีความสุขของมัน เรารู้ได้ แต่วิมุตติสุขเรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเอาสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ไม่มาบอกเรา แต่ถ้าคนประพฤติปฏิบัติไปถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว รู้เหมือนกันหมดไง
ชีวิตนี้มีค่ามาก เวลาเราทำบุญกุศล เห็นไหม ทำบุญกุศลเพื่อเติมให้ชีวิตเรา เวลาเขาทำบุญวันเกิด ทำบุญกันๆ ทำบุญเพื่อให้เกิด เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว ถ้าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้มข้น เราจะบวชพระกัน บวชพระนี้เป็นนักพรต เป็นผู้ที่สังคมเขาให้โอกาส พอเขาให้โอกาส เห็นไหม เปลี่ยนจากชีวิตของคฤหัสถ์ ชีวิตของฆราวาส ชีวิตของเราที่เราจะทำแต่ตามความพอใจของเรา เข้าไปอยู่ในกฎกติกาของศากยบุตรพุทธชิโนรส ไปบวชเป็นพระ เห็นไหม
นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔
นิสสัย ๔ ต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ต้องเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง จะรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยน้ำดองมูตรเน่า อาศัยไตรจีวร ปัจจัย ๔
อกรณียกิจ ๔ ห้ามทำ อาทิ ปาราชิก ๔ กฎตายตัวเลย แล้วอย่างอื่นตามมา
แต่เวลาบวชอุปัชฌาย์จะบอก เราพ้นจากชีวิตของคฤหัสถ์มาเป็นพระ มาเป็นนักพรต มาเป็นนักบวช มาเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เพราะเราบอกว่า เกิดมาทั้งชีวิตนี้อยากจะตักตวงคุณงามความดีให้ได้มากที่สุด ถ้าให้ได้มากที่สุด มันจะมีสิ่งใดที่จะมากเท่ากับเราเป็นนักพรตนักบวชเพื่อจะพ้นจากทุกข์ล่ะ
แต่เวลาบวชไปเพื่อพ้นจากทุกข์ ชีวิตมันเปลี่ยนไป ชีวิตมันเปลี่ยนไป เห็นไหม เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง อยากได้ร้อนก็ได้เย็น อยากได้เย็นก็ได้ร้อน อยากได้อย่างหนึ่งจะได้อย่างหนึ่ง จะไม่สมใจปรารถนาแม้แต่อย่างเดียว
เพราะจิตใจของเรา เห็นไหม ชีวิตของคนมันเกิดมา มันมาบวช ชีวิตของคนไม่เหมือนกัน ความปรารถนาของคนไม่เหมือนกัน จะไม่ได้สมความปรารถนาทั้งนั้นเลย สิ่งที่ไม่สมความปรารถนานั้นเป็นเรื่องอะไร? เพราะตัณหาความทะยานอยาก เพราะจริตนิสัยของใครต้องการสิ่งใด มันต้องการให้สมความปรารถนามัน แต่มันไม่สมความปรารถนาเพราะอะไร
เพราะเราไม่ได้ทำของเราเองไง เราเลี้ยงชีพเนื่องด้วยผู้อื่น ผู้อื่นเขาเป็นผู้แสวงหา เขาอยากได้บุญกุศลของเขา เขาอยากได้เติมบุญกุศลของเขา เพื่อความดีของเขา เขาเสียสละของเขา สิ่งที่เขาหามาเขาเสียสละเพื่อของเขาใช่ไหม
เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราเป็นนักพรตนักบวช เราบิณฑบาตมา เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราจะไม่ได้อย่างใจเราเลย ความว่าไม่ได้ดั่งใจ สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจมันเป็นไปตามเวรตามกรรม
เวลาพระในสมัยพุทธกาลนะ พระสีวลีไปที่ไหนมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ไปหมดเลย เพราะพระสีวลีเป็นหัวหน้าผู้ทำบุญมาตลอด ย้อนอดีตชาติของพระสีวลีไป เป็นผู้นำ ผู้ต่างๆ เป็นผู้เสียสละ เขาสร้างสมของเขามา พระในสมัยพุทธกาลนะ ไปบิณฑบาตข้างหน้าเขาก็มองไม่เห็น ไปอยู่ข้างหลัง อาหารก็หมดแล้ว นี่ลุ่มๆ ดอนๆ ชีวิตคน เพราะการกระทำสิ่งนั้นมา
กรรม กรรมคือการกระทำ บอกว่ากรรมปั๊บ เราบอกว่ากรรมคือสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ยาก สิ่งที่ทำให้เราชั่วร้ายทั้งนั้นเลย แล้วกรรมดีล่ะ เราต้องทำคุณงามความดีมา มันอยู่ที่การกระทำ กรรมอยู่ที่การกระทำ ผลที่เกิดขึ้นเขาเรียกวิบาก วิบากที่เกิดจากการกระทำแล้ว สิ่งที่ในชีวิตนี้ไม่สมความปรารถนาทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรสมความปรารถนาเลย
แต่ถ้าเรารักษาหัวใจของเราแล้วนะ หัวใจนี้เรารักษาของเรา เราดูแลหัวใจของเรา เห็นไหม น้ำบนใบบัว มันไม่ติดกับใบบัว
เราจะให้ทุกคนในสังคมนี้ หรือประชาชนทั้งหมดนี้ หรือมนุษย์ทั้งหมดนี้มีความคิดความเห็นเหมือนเรา ดูสิ เวลาครูเขาสอนนักเรียน เขาต้องการให้นักเรียนเป็นคนเก่ง ต้องการให้นักเรียนเป็นคนดี มันสมความปรารถนาบ้างไหมล่ะ ถ้าเด็กมันมีเชาวน์ปัญญาของมันก็จะสมความปรารถนา ครูก็จะว่าคนนี้ช้างเผือก มันมีโอกาสจะไปเป็นหมอ ไปเรียนต่างๆ แต่เวลาปากกัดตีนถีบนี่เยอะแยะไปหมดเลย นี้เพราะว่า การทำบุญมา
เวลาเราเสียสละ เห็นไหม ดูสิ ใครๆ เขาก็อยากเป็นแบบพระสีวลี ใครๆ เขาก็อยากเป็นแบบพระสีวลี มันคิดเอาไง แต่พระสีวลีไม่ได้คิดเอา พระสีวลีท่านเป็นหัวหน้า ท่านได้เสียสละมาตามความเป็นจริง ท่านได้ทำของท่านมา แต่เราไปดูแบบ เลียนแบบ แล้วอยากจะเลียนแบบ แต่ไม่ได้ทำ
แต่ถ้าเขาทำของเขานะ เวลาทำขึ้นมามันก็ทุกข์ยากแล้ว เราต้องเสียสละ เราต้องทำของเรา เพราะเราเห็นประโยชน์ไง เราไม่ได้เสียสละด้วยความไม่รู้นะ เราไม่ได้เสียสละว่าเราเสียสละแล้ว แต่การเสียสละนั้นเพราะเรารู้ เรารู้ว่าพระพุทธศาสนาสอน
ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราเสียสละความสุขความมั่งคั่งของเราทั้งหมดให้เขา มันเป็นอะไร มันเป็นอะไร เราเสียสละให้เขา เราเสียสละให้เขาแล้วเขาได้ใช้ประโยชน์จากของของเรา มันเป็นอะไรล่ะ นี่ไง เราเห็นผล เราเห็นผล
แต่ด้วยความตระหนี่ ด้วยความต่างๆ ในหัวใจมันมีของมันเป็นธรรมดา เพราะคนเกิดมามันมีกิเลส ฉะนั้น การฝึกฝน การกระทำของเรา เราจะปรับปรุงชีวิตของเรานะ นี่กรรม การกระทำนี้ ถ้าไม่มีกรรมต่อกันนะ เราจะไม่มาเห็นหน้ากัน เราจะไม่มาเชื่อกัน เราจะไม่มาร่วมเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกต่างๆ ด้วยกัน นี่เพราะมีเวรมีกรรมต่อกันมา
กรรมดี เห็นไหม เวลาเราเกิดมา กรรมดีหรือกรรมชั่ว สิ่งใดก็แล้วแต่ แต่เวลาเราเกิดมาแล้ว พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก สิ่งที่มีค่าที่สุดคือมีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตนี้เราได้จากท่านมา สิ่งที่ได้จากท่านมานะ สิ่งอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นสิ่งที่มันคิดได้ แต่มันทำได้ยาก การที่ทำได้ยากเพราะว่ามุมมองโดยวัย
วัยนะ วัยของเด็กก็อย่างหนึ่ง เป็นไปตามวัย คำว่า เป็นไปตามวัย วัย ประสบการณ์ของจิตมันไม่เชื่อ พวกเราจะเบื่อมากเวลาผู้ใหญ่บอกว่า กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง ทุกคนจะเบื่อมาก แต่เวลาเราโตไปแล้วนะ เราก็จะพูดอย่างนั้น แล้วมันพูดกันไม่ได้ เพราะเราจะอธิบายให้เขาได้อย่างไร
วัยไง วัยคือประสบการณ์ วัยคือเรื่องของเด็ก เด็กมันจะว่ามันฉลาดทั้งนั้นแหละ มันเก่ง มันแน่ มันยอดไปทั้งนั้นแหละ แล้วเวลามันฟังกัน เห็นไหม เพราะทุกคน ที่เรานั่งกันอยู่นี่เราก็เป็นวัยรุ่นมาก่อนใช่ไหม เราก็มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้มาก่อนใช่ไหม แล้วพอเราเป็นผู้บริหารจัดการ เขาจะคุมวัยรุ่นให้เล่นกีฬา ให้ใช้พลังงานในตัวมันให้มากๆ เพราะพลังงานมันเหลือใช้ นี่เวลามันคิดอย่างนั้นแหละ ฉะนั้น มันเป็นไปตามวัย สิ่งที่เป็นไปตามวัย
จิต วุฒิภาวะของจิต เราจะใช้คำว่าวุฒิภาวะของจิตบ่อย วุฒิ วุฒิภาวะของจิตมันก็พัฒนาของมันเหมือนกับชีวิตเรานี่แหละ ถ้าวุฒิภาวะมันพัฒนาขึ้น มันจะรู้มันจะเห็นของมัน มันจะพัฒนาของมัน ถ้ามันพัฒนาของมัน แล้วมองย้อนกลับไปนะ เรารู้เลยว่าเราเคยเป็นอย่างนั้นมา เราเคยเป็นอย่างนั้นมา แล้วเป็นอย่างนั้นมันมีความรู้อย่างนั้น มีความคิดอย่างนั้น แล้วมันสละของมันไม่ได้ มันยึดของมัน
แต่เวลาคนโดยวัย พอมันแก่มันเฒ่าไป ดูเวลาเด็กๆ มันเล่นกัน มันวิ่งกันสิ มันกระโดดโลดเต้นขนาดไหน ยิ่งล้มลุกคลุกคลานมันยิ่งแข็งแรง ไอ้เราเดินยังกลัวหกล้มเลย แล้วถ้าหกล้มไปนะ กระดูกเปราะ มันหักหมดนะ
นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันพัฒนาขึ้นมาแล้วมันจะรู้ของมัน เวลามันเป็นวัยรุ่นของมัน เห็นไหม วุฒิภาวะระดับหนึ่ง แต่พัฒนาขึ้นไปแล้วเขาจะวางของเขา เห็นไหม เวลาเราไปวัดนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ วัดนี้เขาจะรักษาใจเขา เขาจะไม่ให้สิ่งใดไปกระทบกระเทือนมาก
วัวผูกไว้ มันกินหญ้าโดยเชือกของมัน เวลาเราจะใช้งานมันเราก็ไปปลดเชือกนั้นมาใช้ วัวปล่อยนะ มันอยู่ในป่าในเขานะ มันปล่อยกินอาหารกินหญ้าตามประสามันนะ เราจะใช้มันทีเราต้องวิ่งไปหามัน กว่าจะจับมันได้ ทั้งเหนื่อยหอบ
จิตใจ เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขารักษาจิตเขาไว้ เขาผูกไว้ด้วยสติ เอาสติผูกใจเขาไว้ไม่ให้มันไปไกลเกินกว่าเหตุ เวลาเขาจะใช้งานมัน พุทโธๆ เขาก็ปลดเชือกมันมา แล้วเอามาใช้งานได้
ใจของเราเหมือนวัวตัวนั้น เราปล่อยของเราตามสะดวกสบายนะ เสรีภาพ อิสรภาพ สิทธิมนุษยชน ใครบังคับไม่ได้ เพราะมันโง่ไง มันปล่อยใจมันไปเลื่อนลอยไง แต่ถ้าเรามีสติ เห็นไหม เราผูกใจเราไว้ สิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเรารักษาแล้วมันไม่มีอันตราย มันเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งนั้นแหละ
สิทธิเสรีภาพ เอามาหนุนกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วบอกว่าอย่างนี้เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่เวลามันมีสติปัญญาขึ้นมาควบคุมมันแล้วนะ อย่างนี้ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ มันลำบาก มันยากมันเย็น มันลำบากนะ เวลาเราหาเงินหาทองมาลำบากมาก เวลาเราใช้จ่ายมันง่ายมาก เวลาเราจะสร้างสติสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อเป็นของเรานะ มันยากมาก มีสติยับยั้งจิต ไอ้ตัวเห่อเหิม ไอ้ตัวผยองพองขน เอาให้มันลงยากมาก แต่ถ้าเรารักษามันได้แล้ว เห็นไหม มันเรียบร้อย มันดีงาม
วัว ถ้าเขาได้ฝึกฝนแล้วราคามันจะสูงนะ เพราะมันใช้งานได้ วัวฝูงราคามันต่ำมาก วัวเหมือนกัน รูปร่างสวยงามมาก แต่ใช้งานไม่ได้ ไม่มีราคา วัวตัวไหนมันใช้งานได้ มันเทียมเกวียนได้ มันไถนาได้ มันมีราคานะ เวลาเขาไปซื้อวัวเขาจะดูลักษณะของมัน วัวลักษณะมันก็บอกของมันว่ามันดื้อของมัน มันฝึกยาก วัวเขามีลักษณะนะ วัวตัวไหนฝึกง่าย ลักษณะฝึกง่าย เขาพยายามจะซื้อตัวนั้น
จิตใจของเราไง เราไม่โทษใครนะ ถ้าเราไปโทษคนอื่น เราไปแก้ที่อื่น มันไม่ใช่แก้ธรรม ธรรมะจะแก้ที่หัวใจของเรา ถ้าเราไปแก้ที่อื่น เราไปแก้ มันเป็นผลประโยชน์ไง เว้นไว้แต่สร้างบารมี เห็นไหม พระโพธิสัตว์สร้างบารมี เวลาเป็นหัวหน้าเราสร้างบารมี เรามีบริษัทบริวาร แต่บริษัทบริวาร เวลาปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียวนะ เวลาใครประพฤติปฏิบัติ เราจะรักษาใจเรา มันต้องรักษาที่หัวใจของเรานะ ถ้าเรารักษาที่หัวใจของเรา หัวใจเราดีแล้วนะ ทุกอย่างประเสริฐหมด
ฉะนั้น คนเกิดมามันมีเวรมีกรรม มันจะไม่ได้อย่างที่ปรารถนาหรอก ฉะนั้น สิ่งที่ไม่ได้ดั่งปรารถนา ก็เราสร้างกรรมมาแบบนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ คนที่เกิดมาไม่เคยมีเวรมีกรรมต่อกัน ไม่มี เพราะการเกิดการตาย วัฏฏะนี้ยาวไกลนัก เราเคยเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง ต้องเป็นมาชาติใดชาติหนึ่งเด็ดขาด
พอเราเป็นมา ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้มันยิ่งใกล้ชิด ถ้าเราเป็นพี่น้องกันมันยิ่งใกล้ชิดเข้าไปใหญ่ ทีนี้ความใกล้ชิด เวลาคนใกล้ชิด เห็นไหม คนที่เวลาเขารักกัน เวลาคนอื่นนี่เกรงใจเขาไปหมดเลยนะ เวลาคนรักกันทำอะไรก็ได้ตามสบาย แต่ไอ้คนข้างๆ มันสะเทือนนะ นี่ว่าคนใกล้ชิด คนใกล้ชิดทำอะไรไม่ระมัดระวัง แต่ถ้าคนนอกไกลๆ ไม่ได้นะ ทำอะไรก็กลัวเสียมารยาท เสียมารยาท เพราะคนใกล้ชิดเรายิ่งต้องให้เกรงใจเขา เรายิ่งต้องคิดไง
นี่ความคุ้นเคย พระเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก วางข้อวัตรไว้นะ ไม่ให้สุงสิงกัน ไม่ให้คุยกัน ไม่ให้เล่นกัน ไม่ให้หยอกกัน เวลาหยอกกัน เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านบอก หมา หมาเริ่มต้นมันก็หยอกกัน แล้วเดี๋ยวมันก็กัดกัน พอกัดกันเสร็จแล้วมันก็กลับมาหยอกกัน หยอกกันแล้วก็มากัดกัน
ทีนี้เวลาเป็นพระท่านถึงไม่ให้คลุกคลี ถ้าคลุกคลีแล้วมันหยอกกัน พอหยอกกันแล้วเดี๋ยวมันก็กัดกัน กัดกันแล้วมันก็มีแผล มีแผลแล้วมันก็ฝังใจ ฉะนั้น พอเราไปคิดทางโลกไง โอ้โฮ! พระไม่ถูกกัน พระไม่พูดกัน
เขาถูกกัน เขารักกัน เห็นไหม รักยาวให้ตัด รักสั้นให้ต่อไง เขารักยาว เขาก็เลยต้องห่างกันไว้เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกัน รักสั้นไง ให้หยอกกัน ให้เล่นกัน เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็มีปัญหากัน นี่โลกกับธรรมมันมองแตกต่างกัน โลกเขามองแต่ความอบอุ่น ความคลุกคลีกัน
ธรรม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สติในตำรากับสติในหัวใจเราก็แตกต่างกัน สมาธิในตำรากับสมาธิในความจริงก็แตกต่างกัน ปัญญาที่จะแก้ไขกิเลสมันเป็นปัญญาภายใน ภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เราว่าฉลาดๆ โง่น่าดูเลย เพราะเป็นปัญญาของกิเลสไง โลกียปัญญานะ รู้ไปหมด ไอ้นู่นก็ผิด ไอ้นี่ก็ผิด ตัวเองโง่ไม่ดู เอ็งไปชี้อะไรผิด ทำไมเอ็งไม่ชี้ว่าเอ็งพูดนั่นล่ะมันผิด เอ็งพูดออกมานั่นล่ะมันผิด มันผิดเพราะอะไร มันผิด เพราะเราต้องใช้อุบายบอกเขา เราจะสอนคน เราจะทำให้คนเข้าใจได้อย่างไร นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด
มึงแหละผิด! ถ้าเราจะบอกว่าเขาผิด มึงจะใช้วิชาการ จะใช้อะไรอธิบายให้เขารู้ล่ะ นี่ไง เพราะทุกคนมีกิเลสทั้งนั้นแหละ ไปบอกว่าเขาผิด ไปโรงพยาบาลบ้านะ...มึงแหละบ้า เราไปเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านะ เขาบอกว่าคนเข้าไปบ้า เราก็ว่าเขาบ้า เขาก็ว่าเราบ้า นี่ก็เหมือนกัน มึงผิด กูผิด แต่ทำไมไม่ดูใจตัว
หลวงตาท่านสอนให้รักษาใจนะ ถ้ารักษาใจแล้ว เรื่องนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ เราเกิดมามีเวรมีกรรมต่อกัน แล้วถ้าเรารักษาได้ ขันติธรรม อดทน อดทนไปก่อน แล้วพอเราอดทนจนมันมีปัญญาขึ้นมา มันแก้ไขได้ แล้วคนเขาเห็นว่าเราทำได้ เห็นไหม
คนทำถูกทำผิด ความลับไม่มีในโลกนะ ไอ้คนทำมันรู้ แต่ด้วยศักดิ์ศรี ด้วยกิเลส มันไม่ยอมรับหรอก แต่ถ้าเราอดทนนะ เวลาผ่านไป เขาทำผิดเขารู้นะ พอเขารู้ว่าเขาทำผิดกับเรา แต่ทำไมเราไม่มีปฏิกิริยา เขาจะได้คิด เขาจะเสียใจ แล้วเขาจะแก้ไข
เขาเสียใจนะ ใครทำผิดบ้าง แล้วระลึกรู้แล้วไม่เสียใจ เว้นไว้แต่คนทำผิดแล้วมันไม่รู้ ยิ่งทำผิดแล้วกูยิ่งเก่ง ยิ่งศักดิ์ศรีนะ มันยิ่งทำผิดซ้ำซาก แต่ถ้าใครทำผิดนะ แล้วมีสติปัญญารู้ว่าผิด มันเสียใจนะ ถ้าใครทำผิดแล้วรู้ตัวว่าผิด เสียใจ แต่ถ้าทำผิดแล้วมีศักดิ์ศรีนะ มันบอกว่ามันไม่ผิด มันจะขี่คอคนอื่นนะ นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก
แต่ถ้ามันทำผิดแล้วมันได้คิดของมันนะ เห็นไหม เขาเสียใจของเขา ทุกคนเสียใจทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมเวลาทำมันไม่มีสติล่ะ เวลาเราทำ ทำไมมันคิดไม่ได้ล่ะ เห็นไหม จริตนิสัยของคนขาดสติ ขาดต่างๆ เราฝึกฝนตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ถ้าทุกคนมีตรงนี้นะ เขาบอกว่าถ้าชาวพุทธเรามีศีล ๕ กฎหมายนี้ไม่ต้องใช้เลย
แล้วถ้าชาวพุทธเราปฏิบัติเป็น มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เห็นไหม เราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เราจะเห็นใจกัน แล้วจะสงสารนะ เขาก็อยากปฏิบัตินะ คนนั้นเดินจงกรมทั้งวันๆ เลย เหงื่อไหลไคลย้อยไม่สงบสักที เราก็สงสารเขา คนนั้นปฏิบัติเต็มที่เลย ยังไม่สงบ เราก็สงสารเขา นี่มันมีแต่ความสงสาร มีแต่ความเมตตา โลกนี้จะมีแต่ความสงบร่มเย็น ถ้าเรามีสติมีปัญญารักษาใจเรา
ผลของวัฏฏะนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีชีวิตนี้ศึกษาธรรมะ นี้มีค่าที่สุด แต่คนเกิดมามีปากมีท้องก็ต้องทำมาหากิน ก็ต้องมีหน้าที่การงาน อันนั้นเป็นหน้าที่การงานทางโลก เราต้องทันโลก แต่เราต้องมีสติปัญญาทันหัวใจเราด้วย แล้วเรามีสติปัญญา เราจะเข้าใจ แล้วเราจะซึ้ง
เวลาหลวงตาท่านตรัสรู้ขึ้นมา เห็นไหม ท่านกราบแล้วกราบเล่า ท่านบอกนะ กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ้งใจมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้อย่างใด รู้ได้อย่างใด กราบแล้วกราบเล่า มันซึ้งบุญคุณไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราเป็นชาวพุทธแล้ว เราจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมนี้ให้เรามาทำบุญกุศลกันเพื่อจะได้ฟังธรรม เพื่อจะได้เตือนสติเรา เพื่อให้เราได้ฝึกหัด เพื่อให้มีคุณธรรมในหัวใจ แล้วธรรมะ เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต มันจะเป็นธรรมในหัวใจของเรา
ขยันหมั่นเพียร ทรัพย์สมบัติภายนอกนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ขยันหมั่นเพียรให้เกิดอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ของใจ ทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์มันจะทำให้หัวใจนี้ไม่พร่อง เพราะหัวใจนี้พร่องมันถึงต้องเวียนตายเวียนเกิด หัวใจนี้สงบร่มเย็น เต็มอิ่มในหัวใจของมัน เราจะเห็นคุณค่าของศาสนา
เกิดจากความโง่ๆ นี่แหละ เกิดจากความไม่รู้นี่แหละ แต่ขยันหมั่นเพียร ตั้งสติ เราบอกเกิดมาเสียใจ เราไม่มีปัญญา เราขาดสติ
ก็เกิดจากโง่ๆ นี่แหละ แต่มันมีภวาสวะ มีจิต มีผู้รู้ มันแก้ไขดัดแปลงตรงนี้ จิต นามธรรมนี้เป็นผู้สัมผัสธรรมะ นามธรรมนี้จะเป็นธรรม อย่างอื่นเป็นธรรมไม่ได้ อย่างอื่นเป็นธรรมไม่ได้
หัวใจ ความรู้สึกนี้มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากขับเคลื่อนอยู่ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติไปมันจะเป็นสัจธรรม มันจะเป็นวิมุตติสุข มันจะพ้นไปจากทุกข์ มันจะพ้นจากวัฏฏะ เอวัง