เทศน์บนศาลา

ภาษากิเลส

๒๘ ก.พ. ๒๕๔๑

 

ภาษากิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ความเกิด กรรมพาให้เกิด กรรมจำแนกให้สัตว์เกิดต่างกัน สัตว์โลก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเกิด เห็นไหม กรรมดีพาเกิด เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะอยู่เพราะกรรมความดีพาเกิด อยู่ในบุญกุศล เกิดมาแล้วอยู่ในบุญกุศลมีแต่ความสุข มีแต่สิ่งปรนเปรอกามคุณ ๕ พร้อมหมดทุกอย่างเลย ปรนเปรอแล้วควรจะมีความสุข แต่ความเป็นจริง อริยสัจ มีความสุขแต่ร่างกาย แต่หัวใจก็ยังข้องอยู่ มันมีความทุกข์อยู่ในใจนั้น ใจดวงนั้นมีความทุกข์อยู่ สุขแต่เฉพาะร่างกายไง จึงต้องแสวงหาทางออก ขนาดบุญขนาดนั้น

กรรมจำแนกให้สัตว์เกิดต่างกัน มันเวียนไปเหมือนวังน้ำวน น้ำวน เห็นไหม พัดไป เราเป็นสัตว์โลก วัฏวนวนไปอยู่ในวังน้ำนั้นน่ะ น้ำนั้นซัดเราไปไหน ถ้าเป็นกรรมหนักมันก็ลงไปอยู่ก้นบึ้ง มันไม่ไปไหนหรอก อยู่ที่ใต้วังน้ำวนนั้นน่ะ มันไปไม่ได้ แต่เพราะกรรมแล้วแต่ความหมุนไปเวียนมาวนไป จำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน บุญพาเกิดยังเกิดมาขนาดนั้น บุญพาเกิดแล้วออกประพฤติปฏิบัติเพราะว่าอริยสัจความเป็นจริงในหัวใจนั้นมันกระทบอยู่ มันมีความทุกข์อยู่ มันรู้อยู่ แสวงหาโมกขธรรม ทุ่มไปทั้งชีวิตกว่าจะได้โมกขธรรม หาความจริงจากอริยสัจมาน่ะ

นั่นน่ะความเป็นจริงไง ความเป็นจริงสมส่วนสมกับการประพฤติปฏิบัติที่จริง แม้แต่สร้างบุญกุศลมาขนาดนั้น ยังต้องละออก ออกบวช แสวงหาโมกขธรรม ยังผจญกับความขาดแคลน ความขาดแคลน หมายถึงว่า เป็นถึงกษัตริย์นะ ความประณีตของความเป็นอยู่ แต่ออกป่าไปโดยที่ไม่มีศาสนา ต้องสมบุกสมบันขนาดไหน อาหารการกินแบบที่เคยประสบมา เป็นไปไม่ได้ เพราะศาสนายังไม่มี แต่เพราะความเป็นจริง ความมุ่งมั่น ความแสวงหาจะเอาความจริงเกิด เอาความจริงให้ได้ เพราะบุญบารมีสะสมมาขนาดนั้นแล้ว

๖ ปีนะ อดอาหาร อดนอน ทำทุกอย่างที่ในสมัยนั้นเขาทำกัน เขาแสวงหากันมา ทำทุกอย่างที่ว่าในลัทธิต่างๆ เขาสั่งสอนกันมา มันก็ไม่เป็นตามความเป็นจริง มันถึงที่สุดของความเป็นไปได้ ถึงที่สุดของลัทธิต่างๆ ที่สอนกันอยู่ แต่อริยสัจคือความรู้สึก เพราะคนไม่ประมาท ไม่หลงเคลิบเคลิ้มไปกับสิ่งเยินยอของทางโลก จะว่าสิ้นสุดหรือว่าสิ้นคำสั่งสอนของเจ้าลัทธิต่างๆ ก็ไม่สามารถชำระความทุกข์ของเราได้

ไม่นอนใจ เห็นไหม เชื้อในหัวใจนี่ยังมีอยู่ก็ไม่นอนใจ หันกลับมา สุดท้ายต้องมาพึ่งตนเอง เพราะว่าสิ่งที่เขาทำกันมานั้นมันเป็นการสะสมไว้ เอากิเลสซุกไว้ใต้พรม เอากิเลสซุกไว้ในหัวใจ เอาแต่ความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ความสุขในสมาธิ ความสุขในการปล่อยวาง ปล่อยวางแบบโลกเขา ปล่อยวางสิ่งที่มีอยู่ มันลูบๆ คลำๆ กันไปไง

แต่ผู้ที่ไม่ประมาท ผู้ที่พยายามไตร่ตรองตัวเองอยู่ เห็นไหม เพราะบุญญาธิการอันนี้ เพราะบุญที่สะสมมาจะได้มาตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ ถึงว่า ใคร่ครวญสิ่งนี้ เห็นความละเอียดในหัวใจที่เขาไม่เห็นกันว่าอันนี้มันเป็นความทุกข์ มันเป็นความเศร้าหมองในใจ ถึงได้กลับมาทำอานาปานสติ

อานาปานสติ จนกำหนดจิตให้สงบแล้วย้อนกลับไปดูบุพเพนิวาสานุสติญาณ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติใหม่สมัยปัจจุบันนี้ก็ต้องตื่นเต้นมาก ลองรู้อดีตชาติ รู้ความเป็นไปของสัตว์ต่างๆ ใครมันจะไม่ตื่นเต้น ใครจะไม่สำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษ เห็นไหม ขนาดนี้ก็ยังไม่หลงใหล จนขนาดเข้าไปถึงว่าจิตตายแล้วไปเกิดที่ไหน จุตูปปาตญาณ ก็เห็นจิตดับแล้วไปเกิดที่ไหน ต่อไปที่ไหน เห็นอย่างนั้นแล้วก็ไม่ตื่นเต้น เพราะอะไร เพราะว่าความวูบวาบในใจมันมีอยู่ ความดีใจ ความยึดมั่นว่าตัวเองเก่ง เห็นไหม มันอยู่ในใจนั้น ความไม่ประมาทนั้น ความไม่ชิงสุกก่อนห่าม ความไม่คิดว่าตัวเองเป็นไปก่อน นี่อยู่กับปัจจุบันธรรม อยู่กับปัจจุบันจิต อยู่กับการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนั้นน่ะ

จนย้อนกลับมาดูตัวตนของจิต ตัวตนของเรา อาสวักขยญาณ ถึงกำหนดรู้เท่าตามความเป็นจริง ด้วยมรรคอริยสัจจังที่สะสมมาจนเป็นปัจจุบันธรรม เป็นความเป็นไปเข้ามาชำระโดยไม่มีเจ้าของ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จากตัวเองส่งออกไป จุตูปปาตญาณ ก็ตัวเอง จากฐานที่ส่งออกไป จนย้อนกลับมาด้วยความชำนาญ ย้อนกลับมาทำลายฐานตรงนี้ ทำลายตัวภพตัวชาติ ตัวฐานที่ใจ

บุพเพนิวาสานุสติญาณ อันนั้นมันส่งออกไป จุตูปปาตญาณก็ส่งออกไป อาสวักขยญาณ เห็นไหม ไม่ส่งไปไหน ตรงหัวใจนั้นน่ะ ตรงที่ภพของใจ ย้อนกลับมาทำลายระเบิดตรงนั้นด้วยปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ทำลายโดยความเป็นจริง ทำลายออกหมด ทำลายด้วยบุญญาธิการหนึ่ง เพราะตัวเองสะสมมาต้องเป็นไปอย่างนั้นโดยความเป็นจริงอยู่แล้ว สยัมภู รู้ตามความเป็นจริง แต่เพราะว่าด้วยสติปัญญา ปัญญาตามความเป็นจริงนะ ปัญญาตัวนี้ปัญญาตัวเข้ามา ปัญญาด้วยในมรรคอริยสัจจัง ดำริชอบ ความเห็นชอบ ชอบหมดออกมา เพราะทุกข์ยากมามากมายแล้ว เที่ยวศึกษาตามลัทธิต่างๆ ด้วยฝึกฝนตนเอง ด้วยการอดอาหาร ด้วยการอดนอน ด้วยการทุกอย่าง มันทุกข์ยากมาพอแรงแล้ว มันจะไปสุดโต่งขนาดไหนมันก็ไปไม่ได้ จะเอาตัวเองสุขขนาดไหน อยู่ในตามความเชื่อลัทธิต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้

นี่มันวนพอ จิตนี้มันแสวงหามาจนแบบว่าจับผิดจับถูกมามหาศาลแล้ว กลับเข้ามาทำลายตรงฐานที่ว่าวิ่งไปหาเขานั่นล่ะ...ไม่มีเราไง ไม่มีสิ่งที่ส่งไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ความคิดอันนี้มันถึงเป็นธรรมจักร มันถึงเป็นอาสวักขยญาณ ไม่ส่งออกไป ไม่รู้เขารู้เรา รู้ เกิดขึ้นด้วยญาณ อาสวักขยญาณทำลายอวิชชาตัวนี้ดับหมด หมดสิ้น ความหมดสิ้นตัวนี้เป็นความสุขมหาศาล

วิมุตติสุข คำว่า “วิมุตติ” มันพ้นจากโลกทั้งหมด พ้นจากการมั่นหมายทั้งหมด เสวยสุขโดยความเป็นจริง จนวางใจว่าจะไม่สอน ทั้งๆ ที่สร้างบุญญาธิการมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปัญญาพุทธวิสัย ปัญญาแบบอจินไตยที่ว่าคาดหมายไม่ได้ ยังคิดว่าไม่อยากจะสอน ไม่อยากจะแนะนำ เพราะมันลึกซึ้ง ลึกซึ้งจนว่าใครมันจะหยั่งรู้อย่างนี้ได้ จนทอดธุระไปพักหนึ่ง

ขนาดนี่ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นั่นน่ะมันลึกซึ้งขนาดไหนเพราะมันพ้นจากโลกทั้งหมด มันพูดกับใครไม่ได้ มันเป็นวิมุตติ วิมุตติพ้นออกไปเลยตามความเป็นจริงจากจิตดวงนั้น นิพพานในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยสุขขนาดนั้นน่ะ จนสุดท้ายคิดว่าสิ่งที่เป็นมานี้เป็นไปได้อย่างไร แล้วพรหมมาอาราธนาให้สอนด้วย โลกนี้จะฉิบหายถ้าพระพุทธเจ้าไม่เผยแผ่ธรรม

แต่ตามความเป็นจริงมันต้องเผยแผ่ แต่มันลึกซึ้งไง ลึกซึ้งจนขนาดคิดว่าปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังว่าจะแนะนำให้คนที่รู้ได้นี่เป็นไปได้ยาก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าเหนือความอัศจรรย์ เหนือทุกอย่าง เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือในวัฏฏะ เหนือใน ๓ วนนั้นขึ้นไป

จนย้อนกลับมาดู ย้อนกลับมาว่าผู้ที่จะทำได้ เพราะว่าผู้ที่เข้มแข็งยังมีอยู่ นี่ถึงได้สอน ออกเผยแผ่ธรรม ความตรึกอย่างนี้ออกเผยแผ่ ปัญจวัคคีย์รู้ตามมา จนพระอริสงฆ์ต่างๆ รู้ตามกันมา ตามกันมา สังคมสงฆ์เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนเอง สังคมนั้นมีแต่ความสุข เพราะจิตนั้นสิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีญาณรู้ถึงว่าจิตดวงใดควรจะได้ยาขนานไหน จิตดวงไหนควรจะสอนทางไหน ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้างสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ เต็มไปหมดเลย

สังคมพระใหม่ๆ จะมีความสุขมาก เพราะว่าอะไร เพราะว่าในเมื่อจิตนี้เป็นธรรม จิตนี้ไม่มีอคติ จิตนี้จะมีความสุขขนาดไหน สังคมที่ว่าไม่มีการทุจริต สังคมนั้นมีแต่ความราบรื่น สังคมนั้นมีแต่ความสุข ไม่มีการระแวง ไม่มีการหมองใจกันเลย สังคมนั้นขนาดไหน เห็นไหม เผยแผ่มาเรื่อย สงฆ์มีความสุขมาตลอดเลย

จนพระจุนทะไปเห็น ในสมัยพุทธกาล นิครนถ์บุตรตายไป แล้วลูกศิษย์ลูกหาทะเลาะเบาแว้งกัน เป็นห่วงว่าศาสนาเราถ้าเกิดสังคมพระเรามากขึ้น ถ้าต่อไปมีคนมาบวชมากขึ้น กลัวว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้วศาสนาจะไม่ยั่งยืน ไปขอไง ไปถามพระพุทธเจ้าว่า “เพราะเหตุใดลัทธิต่างๆ พอศาสดาเขาตายไป ทำไมลูกศิษย์ลูกหาเขามีแต่มีปัญหา”

พระพุทธเจ้าบอก “วินัย”

“เหตุใดถึงเป็นอย่างนั้น แล้วจะรักษาศาสนาไว้ด้วยวิธีใด”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ต้องมีธรรมและวินัย วินัยเครื่องบังคับ วินัยทำให้พระอยู่ในร่องรอยเหมือนกัน”

พระจุนทะนี้อาราธนาให้บัญญัติวินัย พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เห็นไหม ไม่บัญญัติเพราะไม่มีเหตุก็ไม่บัญญัติเป็นผลออกมา ให้มีเหตุถึงจะบัญญัติ มีเหตุถึงมีผล ไม่บัญญัตินะ จนพระมีมากขึ้นมา มากขึ้นมาน่ะ พระมีมาก พอผิดขึ้นมา สิ่งที่เป็นวินัยนี้คือพระที่ปฏิบัติผิด ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง พระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติวินัยออกมาเพื่อให้สงฆ์นั้นอยู่เพื่อความเป็นสุข ธรรมและวินัยให้สงฆ์อยู่ด้วยความเป็นสุข แต่พอพระมากเข้าๆ ความผิดพลาด ความผิดออกไป พระที่ว่าปฏิบัติเข้ามา บวชเข้ามาแล้วบวชแต่กาย ไม่ได้บวชหัวใจ บวชยังไม่ได้ นั่นน่ะตัวเป็นปัญหา

พระจุนทะนี่คอยสอดส่อง เป็นภาระของศาสนานะ แม้แต่พระสารีบุตรนิพพาน พระจุนทะนี่แหละเป็นคนไปเผา เป็นคนจัดการเรื่องศพ แล้วเอาพระธาตุมาถวายพระพุทธเจ้าด้วย พระพุทธเจ้าให้ไว้ที่ประตูทางเข้าวัด พระจุนทะนี่แบกนะ คอยดูคอยสอดส่องหมู่คณะ คอยจัดการ ใจผู้ที่มีสุขแล้วมันเป็นสุขไป ใจผู้ที่เป็นธรรม เป็นธรรมด้วยความไม่หวาดระแวงไง สังคมนั้นมีความสุขมาก

สังคมนั้น ดูอย่างเช่นวันมาฆบูชาสิ พระอรหันต์ทั้งหมดพระพุทธเจ้าบวชให้ ๑,๒๕๐ องค์ในสโมสรสันนิบาตนั่งกันเฉย สโมสรสันนิบาติของพระอรหันต์ ฟังสิ นั่งกันสงบ จิตนี้สงบ จิตนี้ไม่มีอคติ จิตนี้เป็นนิพพาน จิตนี้เป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเมืองพอไง รอแต่พระพุทธเจ้า ฟังแต่พระพุทธเจ้าเทศน์ สวดปาฏิโมกข์ “สิ่งใดที่เป็นความเศร้าหมองไม่ควรทำเลย ไม่ทำความชั่วทั้งหลายทั้งหมด ทำแต่ความดีทั้งหมด สุดท้ายทำให้จิตผ่องแผ้ว” โอวาทปาฏิโมกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานกับพระที่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วทั้งหมด มันเข้าใจกันทั้งหมด สังคมพระอรหันต์

แต่พอมากเข้าๆ ผู้ที่เข้ามาบวชวาสนาบารมีคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน พอบวชเข้ามาๆ มีปัญหาบ้าง มีความผิดพลาดบ้าง บัญญัติวินัยขึ้นมา บัญญัติวินัยขึ้นมาเพื่อให้เป็นกรอบ เพื่อให้พระอยู่เป็นกรอบ เพื่อให้เป็นกรอบแล้วดัดไง ดอกไม้ต่างๆ ถ้าได้มีเชือกร้อยเป็นพวงมาลัยมันก็สวยงาม ดอกไม้ต่างๆ แตกออกไปหมด วินัยเหมือนเชือก พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ร้อยไว้ๆ ร้อยไว้ให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน แนวทางเดียวกันนะ นั่นคือวินัย

แต่ธรรมเป็นอย่างนั้นได้ไหม ธรรมไง ธรรม ผู้ที่จะเข้าถึงธรรม พอการศึกษาต่างกัน ความเห็นต่างกัน ภูมิธรรมภูมิหลังต่างกัน นั่นน่ะการสั่งสอนไปถึงเป็นแนวทางที่ต่างๆ ออกไป ต่างๆ ออกไป เห็นไหม การสั่งสอนต่างออกไป ผู้ที่ฟัง อย่างเช่นเราปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน เราปัจจุบันนี้ เราศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราจะเข้าถึงธรรม เราศึกษา

พระพุทธเจ้าสอนให้มีทาน มีศีล มีภาวนา ให้มีทาน ทานเพื่ออะไร? ทานเพื่อให้หัวใจนี้ควรแก่การงาน ใจคนในโลก ใจที่เกิดมา กรรมจำแนกให้สัตว์เกิดต่างกัน สัตว์เกิดต่างๆ กัน จริตนิสัยก็ต่างๆ กัน แล้วพอเกิดมาในโลก โลกคือหมู่สัตว์ หมู่สัตว์ที่เอารัดเอาเปรียบ ใจจะกระด้าง ใจจะอคติ เห็นไหม ความเป็นอคติในหัวใจที่ลึกๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวไง อันนั้นคือกิเลส

เราภูมิอกภูมิใจว่าเราทันคน เราไม่แพ้ใคร สิ่งนี้ถ้าเป็นทางโลกนี่เป็นคุณนะ คุณว่าเราต้องอยู่กับโลกเขา เราต้องทันโลก แต่ธรรมนี้มันเหนือโลก โลกนี้มันขวางไปหมด โลกคือการไม่ยอมแพ้กัน การขีดขวางกันเพื่ออยู่เอาตัวรอด อันนั้นเป็นเรื่องโลก ฉะนั้น จิตใจอย่างนี้ถึงทำให้จิตใจนี้แข็ง จิตใจกระด้าง ความแข็งความกระด้างจะมาควรแก่การงานในการประพฤติปฏิบัติเข้าถึงธรรมได้ยาก ถึงต้องให้มีทาน ทานเพื่อสละความกระด้างของใจ การสละทานมีเมตตา เมตตานี้จะเข้ามาในหัวใจเรื่อยๆ เราสละออกไป สละออกไปให้จิตนี้อ่อน

เพราะการทำบุญ การให้ทาน ผู้รับรับด้วยความพอใจ เราให้ให้ด้วยความพอใจ นี่ถึงต้องมีทาน ทานเพื่อให้หัวใจอ่อนลง ให้มีศีล ศีลเพื่อควบคุมใจให้เป็นปกติ ใจเป็นปกติ พระพุทธเจ้าถึงว่าทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ภาวนาเพื่ออะไร? เพื่อให้จิตสงบ

สิ่งนี้เป็นโลก เราเกิดมาในโลก ทุกคน การเกิดเกิดมาในโลก เกิดมาอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด เกิดมามีพ่อมีแม่เหมือนกันทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากพระนางสิริมหา มายา นางพิมพานั้นเป็นคู่ครอง...เกิด ทุกคนมีพ่อมีแม่ แล้วถึงมีเรา นี่กรรมถึงซัดมาให้ต่างๆ กัน การเกิดมาในโลก โลกนี้ถึงเป็นหมู่สัตว์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบารมีมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็สร้างคุณงามความดีมา เพราะเรามาเกิดพบพระพุทธศาสนา นี่มันก็มีบุญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนั้นต้องสร้างบุญมามหาศาล นี่บุญพาเกิด เกิดมาแล้วยังต้องขวนขวายเป็นถึงได้สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสวยสุขตามความเป็นจริง

เราก็สร้างคุณงามความดี เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา พบพระพุทธศาสนาแล้วยังได้อออกมาให้ทาน รักษาศีล แล้วก็มาภาวนานี่ไง มาภาวนาเพื่อให้จิตนี้สงบออกจากโลก อาศัยโลกโดยความไม่เป็นโลก

โลกนี้มีความแข็ง มีความกระด้าง ความกระด้างของโลกเขาต้องให้ทันกัน ใครไม่ทันกันตรงนั้นเป็นเหยื่อไง เป็นเหยื่อของโลกเขา ผู้ที่ฉลาดจะได้ประโยชน์มากจากโลกนี้ ผู้ที่โง่จะต้องเป็นเหยื่อของเขา ชีวิตนี้ต้องเป็นทุกข์ตลอดไป อันนั้นเป็นเรื่องของโลก

แต่เรื่องของธรรม การเกิดมาในโลกพระพุทธเจ้าสอนว่า...บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก “ไม่มีใครเลย ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเครือญาติกันมา ในการเกิดการตายในวัฏฏะนี้” นี่ความเมตตามันเกิดมาแล้ว เห็นไหม ความเมตตาว่าโลกคือหมู่สัตว์นี้เกี่ยวข้องกันไปด้วยธรรม เป็นญาติธรรม ญาติธรรมคือการเกิดและตายเหมือนกัน

การเกิดและการตายนี้คือธรรม คือความเป็นจริง แต่คนเรากลัวในการตาย แต่พอใจในการเกิด การเกิดนั้นคือตายจากโลกอื่นมาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติปฏิบัติ ถึงได้ย้อนกลับมาดูทำให้จิตนี้สงบ สงบจากสิ่งที่เป็นโลก สิ่งที่หลงใหลได้ปลื้มกันอยู่นี่ไง สิ่งที่ยึดว่าสิ่งนี้เป็นของของเรา แต่มันเป็นของเราไม่จริง เป็นของเราเพราะเสวยภพนี้เท่านั้น

นี่ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของความว่าสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งนี้เป็นอนิจจังนะ สิ่งนี้เป็นไตรลักษณ์ ถ้าเรายังยึดอยู่ว่าเป็นเรา เรากับโลกนี้เป็นอันเดียวกันจะไม่พลัดพรากจากกัน เราจะทุกข์ เราจะน้ำตาพราก มันต้องเป็นพลัดพราก สิ่งนี้พลัดพรากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว น้ำตาจะไม่มีที่เก็บ น้ำตาจะนองเป็นเหมือนกับทะเล เพราะว่าเราไปยึดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ตามความเป็นจริง แต่กิเลสมันเสี้ยมให้คิดอย่างนั้นไง นี่เราย้อนกลับมาเพื่อให้ดูตรงนี้

เพราะย้อนกลับมาด้วยธรรม ธรรมนี้จะเป็นยาเพื่อจะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสในหัวใจของเรา ในหัวใจของเราไม่ใช่หัวใจของคนอื่น ไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นคนดีก่อนแล้วฉันจะดีตาม...ไม่ใช่ ในหัวใจของเรา คือในความทุกข์ของเราอันนี้ ทำใจให้สงบให้พ้นจากโลกนี้ แต่ก่อนจะสงบ ก่อนจะขึ้นมาถึงการภาวนา มีทาน มีศีล แล้วมีภาวนา เพราะมันควรแก่การงาน เราต้องเตรียมใจเรามาก่อน เราจะมาถึงนี่เราต้องเตรียมใจ ต้องทำการทำงานให้เรียบร้อยแล้วเราถึงจะเข้าที่ภาวนา เราจะภาวนาเราต้องเตรียมเวล่ำเวลาเพื่อจะภาวนา

ทีนี้จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้มันแข็งกระด้างอยู่อย่างนั้นมันจะควรแก่การงานหรือ ทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้ควรแก่การงานแล้วกำหนดใจให้สงบ มันสงบได้ไหมในเมื่อภาวนาจะให้เสวยวิมุตติสุขเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะ

กำหนดให้จิตนี้เป็นความสงบ จิตนี้ต้องเป็นความสงบก่อน เราจะเกิดเป็นมนุษย์ จะมาจากสวรรค์หรือมาจากนรก มาจากจิตตรงไหนก็แล้วแต่ พอได้เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา เกิดในปฏิสนธิจิต อยู่ในครรภ์ของมารดาจนคลอดออกมาเป็นมนุษย์ นี่เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้วถึงมีโอกาสได้พบสิ่งที่ว่าเราเป็นเรา เราได้ศึกษาการงานถึงได้สมบัติโลกมา

จิตนี้ถ้าให้สงบก็เหมือนกัน ทำจิตให้สงบ ถ้าจิตนี้สงบก็เหมือนกับการเกิด การเกิดเป็นมนุษย์นี่ ขณะจิตที่ไม่สงบเหมือนสัมภเวสี จิตนี้เสวยอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับสัตว์ เหมือนกับเปรตตัวหนึ่ง จิตเรานี่เหมือนเปรตเหมือนผีนะ มันคิดร้อยแปด มันกว้านมาเป็นของมันหมด อารมณ์หนึ่งก็เหมือนกับภพหนึ่งชาติหนึ่ง คิดดีก็เป็นเทวดา คิดชั่วมันก็เป็นเปรต จิตนี้เป็นเปรตเป็นผีอยู่ตลอดเวลา จิตนี้เป็นสัมภเวสีวนอยู่ในวังวนของอารมณ์ วนอยู่ในความคิด มันไม่เป็นอิสระ

พอจิตนี้กำหนดให้สงบตัวลงไป พอจิตนี้สงบ เสวยภพ เอกัคคตารมณ์ มันเป็นตัวของตัวมันเอง มันไม่เป็นขี้ข้า ไม่เป็นทาสของอารมณ์ ไม่เป็นทาสความคิดดีคิดชั่ว คิดดีเป็นเทวดา คิดชั่วเป็นเปรตในหัวใจนั้น นี่ได้เกิดจากเปรตผีเทวดา เกิดมาเป็นมนุษย์อีกทีหนึ่ง แต่มนุษย์ภายใน มนุษย์ในการปฏิบัติ นี่ใจมันเป็นอิสระออกมา นี่คือการทำความสงบ แล้วมันสงบจริงไหม

เกิดเป็นมนุษย์นะ นี่เกิดเป็นจิต จิตที่มันเกิดออกมา พ้นไปอีกที่เป็นธาตุ นี่ทำใจให้สงบ ลองดูให้มันสงบ ทำให้ได้จริงๆ เพราะต้องพ้นออกไปจากโลก จิตนี้เป็นสงบ พอจิตสงบแล้วถึงควรแก่การงานอีกชั้นหนึ่ง ความทำใจให้สงบมันแสนยาก กำหนดไปๆ กำหนดพุทโธหรืออานาปานสติก็แล้วแต่ จนกว่าจิตนี้จะเป็นตามความเป็นจริงนะ จิตนี้สงบเข้าไป สงบเข้าไป

ความสงบของจิต เห็นไหม ความสงบของจิตไม่ใช่ความคาดหมายของจิต ประเทศชาติมันกว้างออกไป ทอดแห เราทอดแหไปแหจะกว้างออกไป ตามแต่แรงเราเหวี่ยงออกไป แล้วเราลากแหเข้ามาสิ ลากแหเข้ามา ลากแหเข้ามา จนอยู่ในกำมือเรา ลากเข้ามาจนรวมกันเป็นเหมือนกับกระจุกเดียว

อารมณ์ของเราก็แผ่ไปทั้งหมดเลย ไม่เคยสงบ แผ่ไปใน ๓ โลกธาตุ กำหนดจิตเข้ามา กำหนดจิตเข้ามาให้มันเป็นหนึ่งเดียว อานาปานสติกำหนดลมหายใจ กำหนดดึงเข้ามา ดึงเข้ามา แหนั้นจะหดตัวเข้ามาเองโดยธรรมชาติ ด้วยการที่เราดึงจอมแหนั้นขึ้นมา แหมันจะรวมตัวเข้ามา เรากำหนดพุทโธก็แล้วแต่ ทำอานาปานสติก็แล้วแต่ เราต้องกำหนดอยู่ตรงนั้น เราไม่คาดหมายว่าจิตนี้จะสงบ จิตนี้จะเป็นอย่างไร

การคาดการหมาย ชิงสุกก่อนห่าม คาดหมายออกไป มันแซงออกไปก่อน แซงความคิด แซงความเป็นจริง แม้แต่ทำใจให้สงบ เราต้องทำโอปนยิโกนะ เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายให้มาดูธรรม โอปนยิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา โอปนยิโก ย้อนกลับมา อันนี้ก็เหมือนกัน โอปนยิโก ต้องเตือนใจตัวเองให้เป็นปัจจุบันนี้ โอปนยิโก อย่าคาดออกไป เราต่างหากสัมผัสธรรมกลางหัวใจ สัมผัสว่าจิตนี้มันจะสงบตามความเป็นจริง ฟังสิ จิตนี้จะสงบตามความเป็นจริง

จิตของเรามันจะสงบต่อเมื่อเราให้อาหาร ม้ามันคึกมันคะนองเขาจะไม่ให้กินหญ้า จิตนี้ก็เหมือนกัน มันจะกินพุทโธๆ หรือกินอานาปานสติ อารมณ์มันเกาะเกี่ยวตามความเป็นจริงนะ มันจะสงบเข้าไปด้วยปัจจุบันธรรม ไม่ใช่คาด ไม่ใช่หมาย ไม่ใช่ชิงสุกก่อนห่าม ไม่หมายออกไปข้างหน้าหรือหมายออกไปข้างหลัง

เราศึกษา เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราได้ยินปริยัติ เราได้เรียนตำรา เราได้คาดหมายมา เราเคยเป็นไป เห็นไหม แม้จิตเคยสงบมันก็ยังคาดหมายไปว่าจะทำให้เหมือนคราวนั้น ทำให้เหมือนนี่มันคาดไปแล้ว มันชิงสุกก่อนห่ามไปแล้ว มันแซงออกไปจากปัจจุบันนี้ มันแซงหน้าแซงหลังออกไปแล้ว นี่มันถึงไม่สงบ มันสงบมันก็เป็นไปได้ยาก แวบๆๆ เห็นไหม ตั้งสติไว้ สติของเราตั้งไว้ให้พร้อม ระลึก สติคือความระลึกรู้ ระลึกขึ้นมา มันจะลืม พุทโธจะหายไป เราก็นึกขึ้นมา ให้มันเป็นตามความเป็นจริง

เกิดอีกทีหนึ่งเกิดเข้าไปในสมาธิ ให้จิตนี้พ้นไปจากอารมณ์ของโลก อารมณ์ของวัฏฏะที่มันหมุนไป หมุนไปเป็นสัมภเวสีที่เสวยอารมณ์อยู่นี่ กำหนดไว้ตามความเป็นจริง นี่คือการทำความสงบ ทำความสงบ พอจิตมันสงบขึ้นมามันได้ผล ๒ อย่าง มันจะแปลกประหลาดในความสงบอันนั้นหนึ่ง ความสุขจะเกิดจากความสงบอีกหนึ่ง ความสุขเกิดขึ้นจากความสงบนั้นนะ ความสุขสิ เพราะมันไม่เคยลิ้มรสอันนี้ ความประหลาด คือมันสงบนี่มันเหมือนกับเป็นเครื่องยืนยันกับเรา เครื่องยืนยันคือจิตที่พอเสวยธรรม มันจะยืนยัน มันจะไม่มีลังเลสงสัย

วิจิกิจฉาในความสงสัย เราจะคาดหมายเลย สมาธิจะเป็นอย่างนั้น ความสงบจะเป็นอย่างนั้น ไอ้ความคาดความหมายอย่างหนึ่ง เราเคยได้ยินคนเล่าคนบอกอย่างหนึ่ง เราได้ยินครูบาอาจารย์อย่างหนึ่ง แต่ถ้าความเป็นจริงเป็นอย่างหนึ่ง นี่ความลังเลสงสัยมันไม่เกิดตรงนี้ เพราะเราไปสัมผัสจริง ถ้าสงบตามความเป็นจริง นี้คือการทำจิตให้สงบ

จิตสงบ เห็นไหม จิตสงบพ้นออกไปจากโลก จิตสงบ พอจิตสงบแล้วต้องยกขึ้น ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาหมายถึงว่าการทำปัญญา ทำจิตให้สงบนี้อย่างหนึ่ง ยกจิตนี้ให้วิปัสสนาเป็นปัญญาการชำระกิเลสอย่างหนึ่ง ถ้าจิตนี้สงบมันก็พ้นจากโลกียะ มันจะเริ่มเดินปัญญาได้ แต่ถ้าจิตไม่สงบ พิจารณาอย่างไร คิดอย่างไร มันก็เป็นโลกียะ แล้วถ้าพิจารณาให้มันสงบด้วยการกำหนดพุทโธให้เป็นสมาธิ การทำใจตั้งสติให้เป็นความสงบ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะจิตมันฟุ้งซ่าน มันเป็นจริตนิสัยที่ว่ากรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

บางคนพยายามจะบังคับให้เป็นความสงบ มันไม่ยอมเป็นไป ทำอย่างไรก็เป็นไม่ได้น่ะ ใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดถึงโลก ความคิดถึงวิชาชีพ ความคิดถึงทุกข์ ความคิดถึงการเกิดและการตาย ความคิดในร่างกายของเรา พิจารณาความเป็นไป ความเป็นอนิจจัง เห็นความเจริญและความเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา นี่คิดออกไป ความคิดอันนี้เพราะคิดให้ใจมันสยดสยอง คิดให้ใจนี้ว่าสิ่งที่คิดออกไปนั้นเป็นของเท็จทั้งหมดเลย

โลกนี้มีการเจริญขึ้นแล้วต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา มันเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว แต่เราก็อยากจะยึดให้มันเป็นความจริง ในครอบครัวของเรา แม้แต่ในตัวของเราตั้งแต่เกิดมาจนปัจจุบันนี้การเกิดมาจนปัจจุบันนี้เซลล์ในร่างกายเรามันได้ตายไปกี่ชุด กี่ชุดแล้ว มันแปรสภาพมาตลอด เราจะยึดวันไหนเป็นของเราไม่ได้ทั้งสิ้น วันปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่ เพราะมันจะเป็นพรุ่งนี้ไปข้างหน้าแน่นอน มันไม่มีสิ่งใดจะยึดได้สักอย่างหนึ่งเลย แต่หัวใจมันก็ยึด นี่ปัญญาใคร่ครวญเข้ามา ปัญญาอันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

สมาธิอบรมปัญญาอย่างหนึ่ง สมาธิทำให้จิตสงบนั้น ในแวดวงขั้นของความสงบ ขั้นของการทำให้จิตเป็นสมาธิ ขั้นของการทำให้ใจนี้อยู่เป็นอิสระของตัวเอง ถ้าเป็นความสงบโดยที่เราพิจารณาอันนั้นอันหนึ่ง ถ้าเป็นได้เป็นสมาธิอบรมปัญญา แต่ถ้ากรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน จิตดวงนั้นทำให้เป็นความสงบด้วยเป็นเรื่องของสมาธิไม่ได้ ก็ต้องใช้ปัญญานี้อบรม ปัญญาอันนี้ไม่ใช่ปัญญาการชำระกิเลส ปัญญาอันนี้เป็นปัญญาทำให้จิตใจนี้สงบเข้ามา ปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นปัญญาเพื่อทำใจให้สงบเท่านั้น ทำใจให้สงบ ทำใจให้เอกเทศ ทำใจให้เกิดจากสัมภเวสีอันนั้น เพราะจิตนี้มันก็เกาะเกี่ยวความคิดอย่างนั้นล่ะ มันก็เสวยอารมณ์อยู่อย่างนั้น แต่ใช้ปัญญาเข้ามา ใช้ปัญญาก็ต้องอาศัยสติ มันจะคิดทุกเรื่องออกไป คิดออกไปเราก็ตามด้วยสติออกไป สติตามออกไป ถึงจุดหนึ่งนั้นปัญญาจะปล่อยเอง ปล่อยเป็นความสงบ

ความสงบอย่างนี้ ปัญญาปล่อยออกมาเป็นสมาธิ สมาธินี้ไม่ลงลึกแต่มันปล่อยหมด แล้วโล่ง ว่าง เป็นอิสระเหมือนกัน ไล่เข้ามา ไล่เข้ามา จนถึงจุดหนึ่งต้องยกขึ้น การฝึกขั้นตอนของปัญญานะ ขั้นตอนของปัญญามันจะกว้างขวางกว่าขั้นตอนของสมาธิ การทำสมาธิ ขนาดนี่ทำสมาธิเรายังทำแสนยากเลย ใครทำมา ประพฤติปฏิบัติมาตั้งกี่ปีๆ มันเคยสงบให้ลิ้มรสสักหนหนึ่งไหม? มันไม่เคยลิ้มรสของความสงบ เห็นไหม มันยังยากขนาดนั้น

พอจิตสงบแล้วมันจะตื่นเต้น จะคาดหมาย มันจะเป็นเอกเทศ มันจะเป็นอิสระ ก็ว่าอันนี้เป็นมรรคเป็นผล นี่มันแซงหน้าแซงหลัง มันชิงสุกก่อนห่าม มันสงบ มันมีความสุข แต่มันเป็นขั้นตอนของความสุข เพราะเราไปชิงสุกก่อนห่าม เราไปคาดหมาย เราอ่านตำราแล้วเราจะด้นเดา เราจะตีค่าให้มันสูงขึ้นไป ฉะนั้น สังคมสงฆ์ถึงได้วุ่นวาย สังคมสงฆ์ที่พระเขาเป็นธรรมแท้ๆ นั่นน่ะ สิ่งที่เป็นธรรมต้องไม่มีอคติ แต่สิ่งนี้เพียงแค่จิตนี้สงบลง จิตนี้เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีก เกิดเป็นสมาธิไง จากจิตนี้เป็นสัมภเวสี จนจิตนี้เป็นเอกเทศของตัวเอง...

...นั่นล่ะ แต่การชิงสุกก่อนห่าม การแซงหน้าแซงหลังแซงออกไป คาดหมายไปว่ามันเป็นธรรมเหมือนกับที่ว่าสังคมที่เป็นธรรมแล้ว เพราะอย่างนั้นแล้วกิเลสมัน...พอความสงบนี้ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพไป ความแปรสภาพออกไปนี่ก็กิเลสล้วนๆ ขึ้นมา พอกิเลสออกมามันก็เลยต้องทำตามกิเลสที่มันมีอำนาจเหนือไง สังคมมันปั่นป่วนอย่างนั้น

แต่ถ้าผู้ที่มีสติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ยอมเชื่อ ขนาดได้จิตนี้รวมลงขนาดที่ว่าเป็นสมาบัติ ๘ มันก็ต้องละเอียดอ่อนขนาดนั้น มันน่าจะเคลิบเคลิ้ม ทำไมมันไม่เคลิบเคลิ้มล่ะ? ถูกต้อง เพราะท่านสร้างสมบารมีมาจะตรัสรู้ เป็นสยัมภู รู้ธรรมตามความเป็นจริง ถึงว่าไม่หลงใหล แต่เอามาเป็นพยานได้ว่าท่านก็เคยผ่าน ท่านก็เคยทำมาแล้ว อย่างนั้นถึงย้อนกลับมาดู

นี่เรา เราแค่จิตนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้เป็นสมาธิเฉยๆ ความสุขเฉยๆ เอง มันยังไม่ยกขึ้นเป็นปัญญาเลย ความเป็นปัญญา การใคร่ครวญของปัญญา ปัญญามันกว้าง กว้างเพราอะไร ขนาดสมาธินี่ การตะล่อมเข้ามาให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ มันยังต้อง...จริตนิสัยยังไม่เหมือนกัน ยังต่างกัน

เรื่องของทาน เรื่องของอจินไตยอย่างหนึ่งเหมือนกัน อจินไตยในพุทธวิสัย อจินไตยในเรื่องของฌาน การทำสมาธิ อจินไตยมันกว้างขวางขนาดไหน แค่ทำความสงบนะ ยกขึ้นวิปัสสนานี่สิ ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาด้วยปัญญา ปัญญาในอะไร? ในอริยมรรค ไม่ใช่ปัญญาของโลก

ถ้าปัญญาของโลก ปัญญาของโลก เรากำหนดสิ ถ้าจิตนี้ยังไม่สงบพอ จิตนี้เป็นโลกนะ เริ่มดูพิจารณารูป พิจารณาตา ตากระทบรูป กระทบรูปก็ตามไป ตามไป พิจารณาไป รูปนั้นเป็นอนิจจัง รูปนั้นเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รูป ก็คิดไป มีอะไร? มีเจตนาตัวนี้ มีเจตนาตัวนี้ตามไป รูปนั้นดับ ทุกอย่างดับหมด เพราะอะไร เพราะมีการเจาะจง มีการใคร่ครวญไป มีเจตนาลงไป มันจะดับตามเจตนานั้นดับนี้เป็นอะไร? ดับนี้เป็นโลกียะ ดับนี้เป็นโลกียะเพราะอะไร เพราะมีเจตนาตัวตามไป

เปรียบเหมือนเขาเล่นหนังเล่นละคร เขาต้องเขียนบทขึ้นมาใช่ไหม แล้วก็ให้คนเล่นคนแสดง คนเล่นคนแสดงตามบทนั้นกับเจ้าตัวเขาคือชีวิตของเรา ชีวิตตามความเป็นจริงเรา เราเป็นคนคนหนึ่ง เราจะยึดอิสระของเรา แต่ถ้าเราเข้าไปแสดงหนังแสดงละคร เราต้องแสดงตามบทนั้น บทที่เราแสดงนั้นกับเราเป็นคนเดียวกันไหม? ไม่ใช่ สิ่งที่แสดงนั้นแสดงแล้วเป็นฟิล์มหนัง เสร็จแล้วก็เป็นฟิล์มฉายออกไปอย่างไรมันก็เป็นบทที่แสดงออกมาแล้วจับภาพนั้นไว้

แต่ชีวิตตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เปรียบเหมือนกับการวิปัสสนานี่ไง การที่ว่าจิตถ้าเป็นโลก เป็นโลกียะ มันพิจารณาไปอย่างนั้นน่ะ พิจารณาไปด้วยเจตนา มันดับภาพนั้นได้ ความดับภาพอันนั้นได้ ความเห็นแปรสภาพภาพอันนั้นได้ เราก็เข้าใจว่าอันนี้เป็นวิปัสสนา แต่มันเป็นโลก มันดับส่วนหนึ่ง ดับส่วนหนึ่งด้วยใจมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ด้วยความเห็นที่ว่าจิตนี้มันกลมกล่อมไปตามความเป็นจริงนะ แต่ตามความเป็นจริงของโลก มันดับ แล้วเราก็เชื่อ การเชื่อนี้ชิงสุกก่อนห่าม ไม่ตรวจสอบ นี่มันไม่ใช่เป็นอริยมรรค

ถ้าเป็นอริยมรรค เป็นภาวนามยปัญญา ความเจตนานี้เจตนาในพื้นฐาน เจตนาในชีวิตของเรา เจตนาในความทุกข์สุขที่มันกระเพื่อมในหัวใจนี้ วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป มันก็จะดับอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะมันต้องดับอย่างที่ว่าเจตนานั้นล่ะ เพราะอันนี้ก็เป็นเจตนาอันหนึ่ง แต่เจตนาอันนี้ไม่ใช่เจตนาเพื่อจะดับเฉพาะรูปภาพนั้น ไม่ใช่เจตนาจะดับเพื่อสิ่งนั้น แต่เจตนาจะดับที่ต้นขั้ว ต้นขั้วคือเรา ต้นขั้วคือหัวใจ

ทีนี้มันวนออกไปไม่มีเจตนา เพราะตัวเจตนานี้คือตัวหลอกชั้นหนึ่ง ตัวเจตนานี้ไม่ใช่ตัวจิต ตัวเจตนานี้เป็นตัวที่เราเริ่มคิด มันเป็นตัวกรอบไง ตัวเหมือนกับว่าเราเขียนบทให้เล่น มันเป็นเป้าเป้าหมายหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับเราส่องไฟฉายออกไป ไฟฉายเกิดจากวงเทียนของไฟฉายจากไฟใช่ไหม มันพุ่งออกไปเป็นลำแสง เราไปที่เป้าหมายที่ปลายลำแสงนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตรงนั้นเข้ามา จะเข้าไปดับตรงนั้นไม่ได้ ไฟฉายนี่เราเอามือป้องสิ จะให้ตรงไหนดับล่ะ จะให้ส่วนไหนเว้าออกไป เราเอามือป้องสิ เห็นไหม ส่วนที่ปลายนั้นก็ต้องดับแล้ว

การวิปัสสนาด้วยเจตนาก็อย่างนั้นน่ะ เอามือป้องส่วนใดส่วนหนึ่งมันก็ดับไปส่วนนั้น มันไม่ใช่ดับที่ตรงหัวเทียนนั้น ไม่ใช่ดับตรงความที่ว่าภวาสวะ มันไม่ดับตรงกลางหัวใจไง วิปัสสนาตามความเป็นจริงมันต้องวิปัสสนาอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้นถึงเป็นปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามปัญญาที่เขาคิดกันอย่างนี้ไง

นี่เราเท่าทันอารมณ์ตลอด ที่การวิปัสสนาอย่างทางโลก เราทันความคิด เราทัน...ทันสิ เพราะอะไร เพราะมีเจตนาคุมอยู่ มันถึงไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันเป็นปัญญาของโลกอย่างหนึ่ง เป็นปัญญาวิธีวิปัสสนาที่เราคิดว่าเป็นวิปัสสนา เห็นไหม นี่คือปัญญา มันไปคาดไปหมายเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ชิงสุกก่อนห่ามหมายถึงว่า มันดับ เราเอามือป้องตัวใดตัวหนึ่ง เราว่าส่วนนั้นใช่ ส่วนนั้นใช่ พอเราเอามือป้องไฟฉายทั้งหมดมันก็มืดหมด เราป้องไว้ แต่เราไม่ได้ดับตรงดวงไฟที่พุ่งออกไป เราเอามือป้องไว้ต่างหาก เราไม่ใช่ว่าเราดับไฟนี่นา

ทีนี้ถ้าเราดับไฟ การดับไฟ การดับไฟดับทั้งหมด มือนี้ไม่ต้องป้อง เจตนาไม่มี ภาวนามยปัญญาหมายถึงว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เจตนา ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเรา เราเข้าไปอันนั้น เราเข้าไปให้ปัญญานี้เป็นการบังคับ มันไม่ชำระกิเลส เพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้เป็นนามธรรมนะ แล้วความคิดนี้ก็เป็นนามธรรม มันต้องสิ่งที่คู่ควรต่อกัน พระพุทธเจ้าถึงว่าตรัสรู้ด้วยอันนี้ไง ตรัสรู้ด้วยมรรคอริยสัจจัง ต้องเป็นมรรคอย่างนั้นมันถึงจะเป็นมรรคจริง ถึงเป็นขั้นตอนของปัญญา นี้แค่แขนงเดียวนะ แค่แขนงว่าปัญญาที่วิ่งกลับมาชำระกิเลส

มันถึงว่า ขั้นของปัญญา ขั้นของสมาธิอย่างหนึ่ง ขั้นของปัญญานี้ไปอีกอย่างหนึ่ง นี่เหมือนกัน วิปัสสนาไป กายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้เป็นฐาน ใจต่างหากอาศัยกายอยู่ นี่พิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความจริงด้วยปัญญา ไม่ใช่เห็นตามความเป็นจริงว่าสัญญานะ

เราเห็นตามความเป็นจริงกันอยู่นี้มันเป็นสัญญา ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา คนเกิดมาต้องตายทั้งหมด เด็กก็ตาย ผู้ใหญ่ก็ตาย การตายอันนั้นมันตายไปด้วยหมดกรรมหมดวาระ เห็นไหม เราเห็นความเห็นอันนี้มันซับมาอยู่ที่หัวใจ ซับมาๆ ก็คิดว่าตัวเองรู้แล้ว รู้อย่างนี้รู้ด้วยสัญญา เวลาจิตมันสงบขึ้นไปมันจะปรุงแต่งขึ้นมาทันที

เพราะจิตมันสงบลงไป สงบเข้าไป แล้วจะยกขึ้นวิปัสสนา กิเลสที่อยู่ในหัวใจมันจะเสี้ยม มันจะสอน คำว่า “เสี้ยม” หมายถึงว่าสิ่งใดมันก็รู้แล้ว สิ่งใดมันก็รู้แล้ว รู้ด้วยสัญญา นี่ปัญญามันหลอก ก็ชิงสุกก่อนห่ามว่าเป็นไปๆ แล้ววิปัสสนามันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยนะ นี่คือกิเลสที่มันหลบ มันหลอก มันหลง มันหลอก มันเสี้ยมอยู่ในวงวิปัสสนา อยู่ในวงที่ว่าเรากำลังสร้างปัญญาไง นี่สร้างปัญญา เราจะสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อจะชำระกิเลส กิเลสมันก็จะหลอกเข้ามาในหลังว่าเราคิดว่าเราสร้างปัญญานั้นน่ะ

หลอกมาเพื่ออะไร? หลอกมาเพื่อให้เราล้มกลิ้งไง ล้มกลิ้งล้มหงายไป ชิงสุกก่อนห่ามไปก่อน คาดหมายไปก่อน คาดไป คาดไป พอคาดไปมันทำลาย ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ ทำลายถึงความเป็นไปไง ทำลายถึงว่า เราสะสมเงินทองมาจนมีสมบัติจนมีต้นทุนขึ้นมา ทำลายขนาดนั้น ทำจิตใจให้คลายจากความสงบ คลายจากความสงบ จิตนี้สงบ จิตนี้เป็นฐาน จิตนี้ควรแก่การงาน จิตนี้ตั้งมั่น ยกขึ้นวิปัสสนา เห็นไหม พอมันถึงจุดนั้นแล้ว ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมแล้ว พอเป็นธรรม เข้าใจว่าเป็น เห็นไหม ชิงสุกก่อนห่าม ไม่ใช่ตรวจสอบ มีแต่ความประมาท ไม่มีความตั้งใจจริงให้เห็นว่าให้มันเป็นไปตามความเป็นจริงไง

ล้ม ล้มก็หมดเลย นี่คือการเสื่อมไง จิตเสื่อมจากการภาวนา พอจิตเสื่อม จิตถอย เราก็ต้องตกไปสิ ทั้งๆ ที่ว่าเราจะพ้นจากสัมภเวสีขึ้นมานะ มันจะกลับไปอยู่ตรงนั้นแล้วมีความคิดที่พิลึกพิลั่น นั่นเป็นความทุกข์ออกไป แล้วทำให้ตัวเองเสียหายหนึ่ง ทำให้หมู่คณะเสียหายอีกหนึ่ง ทำลายไปหมดเลย เพราะตัวองทำไม่ได้ เห็นคนอื่นทำได้มันก็ขวางหูขวางตา เห็นคนอื่นขวางหูขวางตา ตัวเองก็กิเลสขวางหัวใจนี้ไม่รู้สึกตัว กิเลสทำให้ตัวเองหงุดหงิด ตัวเองหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา แล้วยังทำลายคนอื่นให้เหมือนเป็นเรา นี่สังคมสงฆ์ สังคมปฏิบัติมันปั่นป่วนเพราะเหตุนี้ เหตุเพราะการชิงสุกก่อนห่าม เหตุเพราะการแซงหน้าแซงหลังในหัวใจของตัวไง แซงหน้าในอารมณ์นั้น

มันไม่เป็นตามความเป็นจริงไปอย่างนั้น นี่ขนาดพิจารณาอย่างนั้นนะ พิจารณากาย พิจารณาธาตุขันธ์ ให้ธาตุเป็นธาตุ จิตเป็นจิตให้มันถอนออกมา นี่ขั้นของปัญญา มันยกขึ้นไป ยกขึ้นไปเป็นชั้นๆ นะ ขนาดว่าถ้าพิจารณาจนกายนี้มันปล่อยวางตามความเป็นจริงนะ คำว่า “ปล่อยวางตามความเป็นจริง” เห็นไหม พิจารณาไปจิตนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้มันเป็นหลักมันเป็นฐานอยู่แล้ว มันเป็นอันหนึ่งในสัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิต้องให้มีความดำริชอบ ความดำริชอบ ดำริชอบที่ตรงไหน ดำริชอบให้หันกลับมาที่จิตนี้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง เวทนาก็ไม่ใช่เรา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนานี้มันก็เหมือนตอไม้ เหมือนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไม่ให้คุณค่า คือเวทนาก็เป็นเครื่องหมายหนึ่งเท่านั้นเอง มันสักแต่ว่าเป็นเวทนา แต่สุขและทุกข์ พอใจและไม่พอใจนี้เป็นเพราะเราให้ค่าไง จิตนี้ให้ค่า จิตนี้มีความหมาย จิตนี้ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

ถ้าจิตนี้ครุ่นคิดในเรื่องอะไร การวิตก จริตแล้วแต่จริตมันจะคิดเป็นไป มันจะให้คุณค่าอันนั้นมาก ให้คุณค่ากับภาพนั้นมาก เวทนามันจะหนักไปทางนั้น หนักไปตามแต่ว่าเบื้องหลังของจิตที่มันสะสมมาตัวนั้น ฉะนั้น เวทนาถึงไม่เหมือนกัน การให้ค่าต่างกัน บางคนนั่งสว่าง นั่งตลอดรุ่ง ทนได้ แต่บางคนไม่ได้เลย แม้แต่นั่งหน่อยเดียวก็ปวดก็ทุกข์

นั่นเวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่เวทนา หันกลับมาพิจารณาเวทนา กาย เวทนา จิต ธรรม เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตนี้พ้นออกจากเวทนา เวทนาเกิดดับ เกิดดับ ถ้าเราพิจารณาเวทนาอยู่ เวทนานี้เป็นขันธ์ ๕ ใช่ไหม ขันธ์ ๕ อยู่ที่จิตเหมือนกับกรอบอันนั้น กรอบรูปกับตัวรูป กรอบของใจ ถ้ามันทิ้ง จิตนี้พิจารณาจนเห็นตามความเป็นจริง กรอบรูป รูปก็คือคนละส่วนกัน เวทนากับใจนี้คนละส่วนกัน เวทนาไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่เวทนา จิตนี้ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์นี้ไม่ใช่จิต แยกออกจากกัน แยกตามความเป็นจริงนะ สักกายทิฏฐิต้องหลุดออกไปตามความเป็นจริง นี่คือปัญญาที่ใคร่ครวญตามความเป็นจริง มรรคอริยสัจจังไง

อริยสัจนี้ อริยสัจนี้เป็นเราหรือเปล่า? อริยสัจนี้ก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่อริยสัจ อริยสัจนี้เป็นการเคลื่อนไปของใจ ผ่านไปอริยสัจ อริยสัจคือมรรคอริยสัจจัง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเรา เราไปติดส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่ตรงนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่อริยสัจ แต่เราทำใจของเราขึ้นมาด้วยความสงบของใจ ด้วยปัญญาการพิจารณาขั้นของปัญญา ให้หมุนไปตามความเป็นจริงเป็น หมุนไปตามความเป็นจริงเป็นภาวนามยปัญญา วงรอบไง

จิตนี้ควรกำหนด ได้กำหนดแล้ว ทุกข์นี้ควรกำหนด ได้กำหนดแล้ว การใช้ปัญญาใคร่ครวญ เราได้ใคร่ครวญแล้ว มันจะพ้นออกไป จิตนี้พ้นออกมา พ้นออกมาจากอริยสัจ มันเหมือนกับภาพถ่าย เห็นไหม ภาพถ่าย เราถ่ายภาพกับศิลปินที่เขาวาดภาพ ศิลปินที่เขาวาดภาพ เขาวาดภาพออกมา ศิลปินที่วาดภาพนี่วาดได้ทั้งหมด จิตนี้พ้นจากอริยสัจออกมาเหมือนศิลปินไง วาดภาพใดๆ ก็ได้ เพราะพ้นจากอริยสัจออกมา นี่คือธรรมที่ตามความเป็นจริง ธรรมตามความเป็นจริง ธรรมเป็นอกาลิโก ธรรมที่เป็นกับใจเป็นดวงเดียวกัน กับการแซงหน้าแซงหลัง กับการชิงสุกก่อนห่าม เห็นไหม

เราศึกษาอริยสัจมา เราศึกษาทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอาจิตนี้เข้าไปในทุกข์ ในสมุทัย นิโรธ มรรค เราได้กำหนดตามนั้นแล้ว เราจะให้เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับเราถ่ายภาพ ภาพถ่าย เราถ่ายภาพ เห็นไหม ภาพถ่าย ถ่ายด้วยอะไร? ถ่ายด้วยกล้อง ภาพนั้นออกมาเสมอกันเพราะมันเป็นภาพถ่าย แต่ศิลปินวาดภาพ จะเปลี่ยนภาพไหนก็ได้ แล้วสีไม่เท่ากัน เพราะสีจะให้สีเข้มสีอ่อนเพื่อออกมาเป็นภาพนั้นไง ต่างกันตรงนี้ เห็นไหม ถ้าเราคาดเราหมายมันจะเหมือนภาพถ่ายนั้นน่ะ

อริยสัจ เป็นอริยสัจ รู้อริยสัจ รู้ตามความเป็นจริง เหมือนกับภาพถ่าย ภาพถ่ายนั้นมันถ่ายด้วยกล้อง คนใช้กล้องคือเรา มันถึงเข้าไม่ถึงหัวใจ เข้าไม่ถึงเรา ศิลปินการวาดก็ต้องวาดออกจากความคิดของเรา หัวใจมันเริ่มคิดเริ่มวาด ศิลปินคือหัวใจ หัวใจนั้นคือตัวภวาสวะ คือตัวกิเลสที่มันอยู่ตรงหัวใจนั้น ถ้าดับที่หัวใจนั้นภาพวาดไม่มี เพราะเราว่างหมด เราเห็นภาพเป็นอากาศธาตุ วาดไปในอากาศไม่มีภาพออกมา แต่เราถ่ายรูปไปแล้วเราจะไปถ่ายที่ไหนล่ะ ต้องเป็นอันหนึ่ง ภาพนั้นออกมาแล้ว ต่างกันไหม นี่อริยสัจถึงไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อริยสัจ

รู้อริยสัจตามความเป็นจริง ฝึกฝนหัวใจขึ้นมาเหมือนศิลปิน ศิลปินการวาดภาพ ศิลปินเขาทำอะไรแล้วแต่ รู้ชำนาญขึ้นมา ยอดเยี่ยมขึ้นมา เห็นไหม รู้ตามความเป็นจริง รู้จนถึงที่สุดแล้ว สูงสุดของยอดไม้เอนลงต่ำไง สูงสุดคืนสามัญ สูงสุดแล้วหัวใจนี้ชำนาญจนหลับตาวาด มือนี้ตวัดไปเป็นภาพออกมาเลย แล้วแต่จะออกมาเป็นภาพใด เห็นไหม สูงสุดน้อมสู่สามัญ จิตที่พ้นจากกิเลสด้วยปัญญา มันไม่ติดข้องในสิ่งใด มันเป็นตรงนั้น แต่ต้องมาฝึกฝน ทนฝึกฝนขึ้นมาจนเป็นศิลปิน ฝึกฝนขึ้นมาน่ะต้องมีอารมณ์ร่วม มีความคิดขนาดไหน

อันนี้ก็เหมือนกัน ยกขึ้นด้วยปัญญาญาณ ปัญญา ภาวนามยปัญญา มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ มันไม่ใช่เจตนาที่เราคิด มันถึงว่าเป็นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงของปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรม นี่ขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญาที่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะให้พ้นออกไปตามความเป็นจริงนั่นน่ะ ไม่ใช่ว่าชิงสุกก่อนห่าม

ชิงสุกก่อนห่ามนี่คาดไง คาดหมาย พอคาดหมายไป คาดหมายแล้วไม่ได้ตามความคิดของตัวหนึ่ง ก็ทุกข์ การคาดการหมายก็เหมือนภาพถ่ายนั้นน่ะ มันเห็นภาพถ่ายนั้นแล้วมันก็จะเอาไว้อย่างนั้น คาดหมายไว้ไม่สมกับความคิดก็ทุกข์ ไม่สมหรอก เพราะภาพนั้นเป็นเหตุการณ์ตรงนั้น แต่วันเวลาเคลื่อนไปตลอด วันเวลากับภาพนั้น ภาพนั้นถ่ายแล้วอีก ๑๐๐ ปีเป็นภาพอดีตไปแล้ว ภาพอนาคต อนาคตที่ผ่านมานี่เราถ่ายไม่ทัน

แต่อริยสัจนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น การดับทุกข์ ทุกข์ที่ไหน การดับทุกข์ที่นั่น ทุกข์เกิดมา ทุกข์เกิดเพราะยึด เพราะมีสมุทัย สมุทัยคือไม่รู้ตามความเป็นจริงของทุกข์นั้น แยกนี่ ความพอใจก็อยากดึงไว้นานๆ อยากให้อยู่กับเรานานๆ คนเราเกิดมาแล้วก็ไม่อยากแก่ คนเราเกิดมาแล้วก็ไม่อยากตาย นี่สมุทัยนี่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

“ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ละด้วยอริยมรรค ด้วยตามความเป็นจริง นี่รู้หมด ถ้ามันผ่านอริยสัจออกไปแล้วมันรู้ตามความเป็นจริงหมด ไม่มีความตื่นเต้นนะ นิโรธ นิโรธะ ดับหมด เห็นไหม “ทุกข์ควรกำหนด” พอมันคิดถึงเรื่องอะไรจิตมันรู้ทันหมดแล้ว กำหนดหมด สมุทัยควรละ รู้เท่ามันจะไปติดตรงไหน รู้เท่าหมด ก็นิโรธดับหมด นี่วงรอบของอริยสัจ แต่ใจอยู่ไหน

ใจที่เป็นธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมพอใจมันเป็นธรรมขึ้นมาให้ตามความเป็นจริง แล้วจะไม่ทำให้หมู่สงฆ์ ทำให้พระที่อยู่ด้วยกันนั้น จะด้วยความเป็นทุกข์ไม่มีเลย เพราะรู้เท่า สิ่งนั้นคือกรรม บางอย่างสุดวิสัยนะ สุดวิสัยที่เราจะควบคุมให้มันเป็นไปตามความพอใจของเรา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เห็นไหม กรรม แล้วสัตว์ที่เกิดมามันวนมาขนาดไหนถึงได้ต้องมาอยู่ร่วมกัน ดูสิ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา พระอานนท์ พระนันทะ ทั้งหมดเลย หลายองค์ เยอะมากนึกไม่ออก นี่เกิดมาสหชาติ พระสารีบุตรพี่น้อง ๙ คน บวชแล้วเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย องค์สุดท้ายพระเรวตะ

นั่นสังคมแบบนั้น การเกิดมาแล้วกรรมจำแนกสัตว์ ให้เป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดถึง ๙ คน พี่น้องพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย พระพุทธเจ้า อย่างพระเทวทัตนี่ก็เป็นญาติ เป็นญาตินะ เป็นลูกพี่ลูกน้องแล้วบวชออกมาแล้ว ทำไมออกมาแล้วมาเป็นศัตรูกันล่ะ แล้วพระพุทธเจ้าสามารถแก้พระเทวทัตได้ไหม เพราะกรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันมา อันนี้เป็นปัจจุบันกรรม แล้วย้อนกลับไปที่อดีตสิ ชูชกกับพระเวสสันดร ย้อนอดีตไปๆ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วมาพบในชาติที่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นเพราะกรรม

แต่ต่อไปข้างหน้า เพราะตอนที่พระเทวทัตจะโดนแผ่นดินสูบ จะมาขอขมา จิตนี้เริ่มเปิด จิตนี้รู้แล้วว่าสิ่งนี้เป็นความผิด แล้วเคยประพฤติปฏิบัติมา อันนี้ถึงว่าเป็นกรรม กรรมอันนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราเห็นกรรมอันนี้ เรากลัว กลัวเรื่องของกรรม หรือการกระทบทั่งแล้วให้อภัย ให้อภัย เพราะว่าสิ่งนี้ผู้ที่ต่ำกว่า ผู้ที่เสวยกรรมนั้นอยู่ เขาไม่สามารถยับยั้งกิเลสตัวนี้ได้ กิเลสมันร้ายกาจขนาดนี้ ฟังสิ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีบุญมีกุศลอยู่ในหัวใจพอสมควรนะ แต่กิเลสนี้ก็ผลักไสให้เป็นเจ้าของความคิด เจ้าบงการให้ทำความผิดเพื่อจะให้ไปทางต่ำ แต่พระเทวทัตถึงจะทำขนาดนั้นก็ยังได้คิด ยังมาขอขมานะ

แต่สิ่งที่ทำไปแล้ว ตั้งแต่เริ่มคิดทำสังฆเภทแล้ว ตั้งแต่แยกสงฆ์จะเป็นใหญ่ ตั้งแต่นั้นมาสิ่งที่เป็นคุณงามความดีในหัวใจหมดเลย เคยเหาะได้ก็เหาะไม่ได้ เคยทำได้ ตัวนี้ตัวที่เหาะได้ เคยศึกษาธรรมะ ตัวนี้เป็นพื้นฐานไง เป็นพื้นฐานของใจที่ว่าเป็นกรรมดีไง กรรมชั่วก็ทำ กรรมดีก็ทำ ฉะนั้น กรรมชั่วอันนี้ทำมาแล้วต้องลงไปเสวยในนรก ในตำรานะบอกว่าพระเทวทัตพ้นจากนั้นขึ้นมาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นเป็นเทวทัตนะ

เราก็ย้อนกลับมาที่เราสิ ย้อนกลับมาดู ถ้ากิเลสเวลามันขึ้น เวลากิเลสที่ว่าเราแซงหน้าแซงหลัง เราชิงสุกก่อนห่าม การที่ชิงสุกก่อนห่ามแล้วการวิปัสสนาไป แล้วพอถึงตรงนั้นเราก็ต้องหลงตัวเองไป คำว่า “หลงตัวเอง” คือมันเสวยอารมณ์ สัตว์หัวใจเราคือสัตว์จิตของเรา มันกลับมาเป็นสัมภเวสี แล้วมันเสวยอารมณ์อย่างนั้นไป แล้วกิเลสมันร้อยรัด มันทำให้ใจดวงนั้นคิดอย่างนั้นน่ะ ร้อยรัดคือว่ามันเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะทำความไม่ดี มันน่ากลัวไหมว่า กิเลสนี้เราประพฤติปฏิบัติมาเพื่อจะให้พ้นจากกิเลส เราประพฤติปฏิบัติกัน ปฏิบัติธรรมกันให้ใจนี้เป็นธรรมล้วนๆ ให้เป็นความสุขล้วนๆ ให้เป็นสังคมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้นตั้งแต่เผยแผ่ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีพระมาก มีความสุข จนมีพระมาก มีพระเทวทัต จนทำให้สังคมสงฆ์นั้นต้องมีธรรมและวินัยนี้ครอบไว้เพื่อจะไม่ให้สังคมนั้นปั่นป่วน

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติมาเพื่อให้เป็นธรรม แต่ทำไมมันเป็นกิเลสล่ะ ทำไมมันไม่เป็นตามความเป็นจริงล่ะ ทำไมประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองรู้ดีล่ะ ทำไมตัวเองยึดมั่นว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษล่ะ แล้วคนอื่นทำความผิดไปหมด แล้วทำลายเขาไปหมด เห็นไหม เพราะอะไร เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส มันเป็นการประพฤติปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างกิเลส สั่งสมกิเลส ว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษไง

“ฉันเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมแล้วรู้ธรรม ฉันเป็นพระอริยเจ้า ฉันเป็นผู้เหนือกิเลส” แต่ไม่รู้สึกตัวเลยว่าตอนที่คิดอยู่นั้น ตอนที่ทำอยู่นั้นกิเลสมันบัญชาการให้ทำ ถึงทำให้สังคมสงฆ์นั้นปั่นป่วน สังคมที่ความเป็นไปของสิ่งที่อยู่ด้วยกัน คนอื่นก็หนักอกหนักใจ เราว่าเราเป็นคนดี เราว่าเราเป็นเหนือคน เรายอดคน นั่งบนหัวคน คนหรือพระปฏิบัติต้องมาอยู่ในอำนาจของเรา เห็นไหม พระที่อยู่ด้วยก็มีแต่ความทุกข์มีแต่ความเร่าร้อน แต่ก็อยู่ไปเพราะมันเป็นกรรม กรรมที่มาประสบกัน กรรมที่มาร่วมจำพรรษา กรรมที่ว่ายังไม่ถึงเวลาจะพัดไปได้ตามความพอใจของตัว

จนถึงเวลาออกพรรษา การที่ออกพรรษาแล้วผู้ที่จะหลีกเร้นออกไปหาที่พักพิง หลีกเร้นออกจากความทุกข์เพื่อไปแบบนอแรด ไปธุดงค์ ไปเพื่อไปหาความสงบของตัว เห็นไหม นี่มันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติเพื่อจะให้พ้นจากกิเลส แต่เพราะการชิงสุกก่อนห่าม แต่เพราะการแซงหน้าแซงหลังให้กิเลสมันหลอกแม้แต่ในการประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติเข้าไปถึงจุดที่ว่ามันถอยหลังลงมาไง

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไป ที่เราจะเข้าไปเสวยธรรมนั้น แต่กิเลสมันหลอกใช้มาตลอด เวลามันถอยลงมา ความยึดมั่นถือมั่นของกิเลสมันเพิ่มเข้ามาอีก ๒ ชั้น ๓ ชั้น เพราะการประพฤติปฏิบัติที่ว่าเราเป็นธรรมอันนั้นมันเข้าไปเสี้ยม เข้าไปยึดมั่นว่าเราผ่านจากสนามรบมา เราผ่านจากสงครามมา เราเป็นทหารผ่านศึก เราเป็นผู้ที่ผ่านสงคราม เราเป็นผู้ที่เกรียงไกร แต่มันไม่รู้เลยไอ้ที่พูดๆ นั้นเป็นภาพถ่าย มันไม่ใช่ศิลปินแท้ ภาพถ่ายที่ก็อปปี้ออกมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตัว แล้วมันก็ไม่เป็นตามความเป็นจริง กิเลสมันก็หลอกใช้ กิเลสมันก็เสี้ยมเข้าไปตรงนั้น มันก็เลยทำให้ปั่นป่วนไปหมด ความปั่นป่วนของในสังคมนั้น ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้เป็นที่เอือมระอาของหมู่คณะ เป็นที่ต้องทำให้คนอื่นหนักอกหนักใจ ตัวเองไม่เห็นโทษของตัวเองเลยไง

ถ้าใจเป็นธรรมจริง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจริง ธรรมนั้นเป็นภาวนามยปัญญาที่ชำระกิเลสจริง ไม่มีเจตนา ไม่มีการจงใจ เพราะมันเป็นธรรมจักร จักรนี้ ธรรมนี้ มรรคอริยสัจจังนี้ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของบุคคล เป็นธรรมแท้ๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มาใน ๕,๐๐๐ ปีนี้ แล้วก็จะเป็นธรรมแท้ๆ ของพระศรีอริยเมตไตรย จะเป็นธรรมแท้ๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ ไป ที่จะมาตรัสรู้ธรรมแล้วเผยแผ่ธรรม

พระอริยสาวกทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติมาจะต้องเข้าทางนี้ทั้งหมด จะเข้าภาวนามยปัญญา อาสวักขยญาณ ญาณที่ชำระอาสวะ ญาณธรรมจักร อันนี้เท่านั้น จะผ่านตรงนี้ ไม่ใช่ของบุคคล มันถึงไม่เป็นธรรมจักร เป็นกลางไง เป็นตามความเป็นจริงตัวนี้ ถ้าผ่านตรงนี้ได้ตามความเป็นจริง จะไม่สามารถไปทำลายคนอื่นได้เลย เพราะจะเข้าใจเรื่องของกรรม เข้าใจเรื่องของการพึ่งพาอาศัย เห็นไหม เข้าใจ ความเข้าใจ ก็อย่างที่ว่าเข้าใจทุกอย่าง

สติพร้อมเป็นอัตโนมัติอยู่ในหัวใจนั้น ธรรมล้วนๆ สุขล้วนๆ วิมุตติล้วนๆ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้วเป็นธรรมตามความเป็นจริง ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ไม่แซงหน้าแซงหลัง มันจะถึงเป้าหมายสุดยอดของธรรมของศาสนาพุทธเรา แล้วก็ไม่มาสร้างความปั่นป่วนให้กับบุคคลอื่น ไม่สร้างความปั่นป่วนแน่นอน เป็นที่ยึดที่เหนี่ยว เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไว้วางใจ เป็นที่พึ่งอาศัยของหมู่คณะ ของสังคมสงฆ์ เป็นผู้ชี้แนวทาง ทำการแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบครูบาอาจารย์ที่ทำอยู่นี่ ทำการแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะธรรมเหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์สมัยพุทธกาล พระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ที่สิ้นแล้วก็เป็นพระอรหันต์ สมควรแก่ธรรม เป็นประโยชน์ไหม? เป็นประโยชน์มากเลย ปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นธรรม อันนั้นก็เป็นธรรมจริง

นี้ธรรมปฏิบัติธรรมด้วยกิเลสหลอก ด้วยกิเลสมันเสริมเข้าไป ให้กิเลสมันเข้มแข็งขึ้นไปอีก ให้กิเลสมันแก่กล้าขึ้นไปอีก แล้วกลับมาทำลายธรรม กลับมาทำลายหมู่คณะ กลับมาทำลายผู้ประพฤติปฏิบัติด้วยกันเอง

ฉะนั้น เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราต้องเอาตัวนี้มาคิดเป็นคติเตือนใจ เราจะเป็นใคร เราจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมให้เป็นธรรมจริง เป็นธรรมจักรแท้ๆ กับเราจะปฏิบัติให้กิเลสมันหลอกตั้งแต่ว่า อันนี้เป็นภาวนานะ อันนี้เป็นเจตนาดับทุกข์นะ แล้วก็ดับได้ตามความเป็นจริง กิเลสมันหลอกไง เจตนาเป็นเราๆๆ แล้วดับได้หมด ดับได้ชั่วคราว แล้วก็ถอยๆ ลงมาจนสร้างความปั่นป่วน อย่างนั้นมันต้องระวังตรงนี้ไง เราถึงว่า เราจะเป็นแบบไหน จะเป็นธรรมแท้ๆ หรือจะเป็นธรรมชิงสุกก่อนห่าม เอวัง