เทศน์พระ

ตั้งธง

๑๕ ก.ค. ๒๕๕๔

 

ตั้งธง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม.. ธรรมะ ถ้าผู้ที่มีจิตเป็นธรรม ขนาดใบไม้ไหว ทุกอย่างเป็นสภาวธรรม เป็นธรรมไง เป็นธรรมเมื่อใจเป็นธรรม แต่ของเราน่ะ เราจะเริ่มฝึกหัด ทีนี้การเริ่มฝึกหัด..

พรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษา วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันอุโบสถ แล้วพรุ่งนี้อธิษฐานพรรษา การอธิษฐานพรรษา เราอธิษฐานพรรษาเพื่อความมุ่งมั่น มุมานะ คำว่า “มุมานะ” ออกพรรษาแล้วเที่ยววิเวกไป เวลาเข้าพรรษา พรรษาอยู่ไหน เราต้องเข้าพรรษา การเข้าพรรษาเพื่อเราจะได้จริงจัง เข้มข้น เข้มข้นกับการประพฤติปฏิบัติของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติ ดูสิ คนมีการศึกษา จบจากการศึกษาแล้วก็ต้องฝึกงาน พ่อแม่ที่มีลูก พอลูกจบมาจากนอก เขาจะให้ไปฝึกงานกับบริษัทข้างนอกก่อน ให้มีประสบการณ์ ให้เข้าใจ ให้ยอมรับสัจจะความจริงว่าโลกความเป็นจริงเขาอยู่กันอย่างนั้น เขาไม่ใช่อยู่ในโลกของพ่อแม่ไง โลกในตระกูล เขาต้องปกป้องดูแล จะทำสิ่งใดมันก็กระเทือนกันไปหมด แต่ถ้าโลกตามความเป็นจริงน่ะ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ในเมื่อเราไปฝึกงานกับเขา ถ้าเราทำของเขาไม่ได้ เขาก็ไม่เอาเราทำงานด้วยหรอก เราต้องไปฝึกงานจนกว่าเราจะเป็นงาน ถ้าเราเป็นงาน เรากลับมาในครอบครัวของเรา เราจะมาทำกิจการของเรา เพราะเรามีประสบการณ์ แต่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ เราก็ต้องฝึกจากความไม่เป็นของเรา แต่ฝึกจากวงใน ฝึกจากความเป็นสายโลหิตกัน มันก็มีการเกรงอกเกรงใจกันใช่ไหม

ในทางธรรม เราจะฝึกของเรา ฝึกหัวใจของเรา ถ้าฝึกหัวใจของเรา ในใจของเรา ทุกคนจะบอกว่าตัวเองไม่ผิดเลย ทุกคนจะบอกว่าตัวเองนี่สุดยอดทั้งนั้นเลย สุดยอดเพราะอะไร สุดยอดเพราะมันเป็นความเห็นของเราไง

แต่ถ้าเราบวชแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ นี่เวลาบวช สมัยพุทธกาลนะ เอหิภิกขุ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” ถ้าเป็นผู้พ้นกิเลสแล้ว “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด.. เพื่อความร่มเย็น” ถ้ายังมีกิเลสอยู่นะ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด.. เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์” สุดท้ายแล้วต่อไปก็มาบวชโดยถึงไตรสรณคมน์ ไตรสรณคมน์แล้วก็มาถึงญัตติจตุตถกรรม

นี่การบวชจากธรรมวินัย เราเป็นของเราตามธรรมวินัย เราบวชเป็นพระสมบูรณ์ สมบูรณ์โดยสมมุติสงฆ์ ถ้าเราไม่สมมุติสงฆ์ เราลงสังฆกรรมไม่ได้ เราร่วมในหมู่สงฆ์นั้นไม่ได้ ในเมื่อเราสมบูรณ์ในการเป็นสงฆ์แล้ว สิ่งนี้เราหาอีกทางโลกไม่ได้แล้ว โลกสิ้นสุดกันแค่นี้ ถ้าโลกสิ้นสุดกันแค่นี้น่ะ ในหัวใจของเราล่ะ ในหัวใจของเรา “พระเหมือนพระ แต่พระไม่เหมือนกัน” “คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน” ยิ่งคนนะ ดูสิ เขาคนกาแฟน่ะ ถ้าเขาไม่คนน่ะ น้ำตาลมันอยู่ข้างล่าง รสกาแฟมันอยู่ข้างบน แต่ถ้าคนมันกลมกล่อม มันต้องคนให้ทั่วถึง นี่ก็เหมือนกัน “คนเหมือนคน แต่คนไม่เหมือนกัน” “พระเหมือนพระ พระก็ไม่เหมือนกัน” เราจะเป็นพระอย่างใด? ถ้าเราเป็นพระ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะได้สัจจะความจริง

ถ้าได้สัจจะความจริง ดูสิ เวลาเขาคนกาแฟ เขาต้องคนให้เข้ากัน คนให้ทั่วถึง ในการปฏิบัติของเรา เราต้องเหยียบย่ำให้กิเลสมันแหลกไปเลย! กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะถนอมมันไม่ได้ การถนอมกิเลส การเกรงอกเกรงใจ การลูบหน้าปะจมูกกันนั่นน่ะ มันเกรงใจกิเลสทั้งนั้นน่ะ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ถ้าผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก สิ่งนี้เป็นสัจธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก

ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ธรรมชาติมันมีผลกระทบของมันในตัวของมันเองนะ เวลาฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง ผลกระทบในตัวมันเองก็มี อุณหภูมิกระทบในตัวมันเองอยู่แล้ว นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ จิตใจ ถ้าคนที่เป็นธรรมน่ะ...ใช่ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะจิตใจที่เป็นธรรมนะ เข้าใจสภาวะแบบนั้นได้ สิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป สิ่งใดคลาดเคลื่อนไปไม่หวั่นไหว นี่ธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น ใจที่เป็นธรรมแล้วมันเข้ากันได้.. แหม.. มันสวยงาม อยู่ป่าก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จะอยู่บนทะเลทรายมันก็มีความอบอุ่น ไปอยู่ที่ไหนมันดีไปหมดเลย! แต่ถ้าหัวใจมันมีกิเลส จะอยู่ที่ไหนมันก็ทุกข์ไปทั้งนั้นน่ะ

ธรรมะเป็นธรรมชาติ...ใช่ ธรรมชาติมันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป แต่เราแบกหาม เราทุกข์ตายห่าเลย ทำไมธรรมชาติมันทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์ขนาดนี้เพราะใจเรามันมีกิเลสฝังอยู่ไง ถ้ากิเลสมันฝังอยู่ ธรรมและวินัยนี่เป็นธรรม ธรรมวินัยเป็นธรรมสาธารณะ ก็เหมือนธรรมชาติ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่คนตีความไง ใครก็ตีความตามแง่มุมของตัว

ตั้งธงไว้! เอาธงตั้งไว้! แล้วพอตั้งธงแล้ว มองไปที่ไหน ธงนั้นมันขวางไปหมด เพราะเราตั้งธงของเราไว้นะ นี่ทิฏฐิ ถ้าเราตั้งธงไว้แล้ว เราทำสิ่งใดไป มันจะมีการกระทบกระเทือนกัน เราไม่ควรตั้งธงไว้ “ทิฏฐิ” เห็นไหม ทิฏฐิคน.. มี รสนิยมของคน.. มี รสนิยม จริตนิสัย จริตของคน ถ้าถูกจริต ถูกต่างๆ มันเข้ากับจริตของตัว แต่ถ้ามันไม่ถูกจริตของตัว มันกระทบกระเทือนกัน นี่ธงมันไม่มี เป็นไปไม่ได้ มันต้องมีของมัน แต่การมีธง คือมีเป้าหมาย อธิษฐานบารมี ถ้าการมีธงของเรา ธง เราอยากจะไปถึงเป้าหมายนั้น แต่เป้าหมายนี้ เราจะต้องให้อยู่ในตัวของเรา

แล้วเวลาเราอยู่ในสังคม เราอยู่ในหมู่คณะ สิ่งข้างนอก เราเตือนกัน เราดูแลกัน ดูสิ ในทางวิทยาศาสตร์เขาบอกเลย “ใครชี้ความบกพร่องของเราได้ คนนั้นคือชี้ขุมทรัพย์ให้เรา” แต่เราได้ไหม ไม่ต้องชี้หรอก พูดเทียบเคียง พูดต่างๆ เราบวชกันมานะ ถ้าพรรษามาก มีพรรษาขึ้นมา มันจะมีประสบการณ์ การพูด การบอกมันต้องมีเทคนิค บอกกันตรงๆ ไม่ได้หรอก การบอกกันตรงๆ นะ ถ้าทางโลกเขาว่า “ไม่ไว้หน้ากัน” ถ้าคำว่า “ไม่ไว้หน้า” ไม่มีมารยาท ไม่รู้กาลเทศะ นี่พูดถึงทางโลกนะ

แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ ถ้าทางธรรม ขวานผ่าซากมันเป็นธรรม แต่ผ่าลงไปแล้วมันได้ประโยชน์หรือมันได้โทษล่ะ ถ้าผ่าลงไปแล้วมันได้ฟืน ได้สิ่งต่างๆ มาเพื่อประกอบหุงหาอาหาร มันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าผ่าไปแล้วนะ คนๆ นั้นเสียไปล่ะ คนๆ นั้นเสียไปเลย เสียไปเพราะเขาเจ็บช้ำน้ำใจของเขา เขามีความกระทบกระเทือนของเขา ฉะนั้น ผู้นำ ผู้ที่มีวุฒิภาวะ เราจะผ่าแน่นอน ธรรมมันเถรตรงอยู่แล้ว ธรรมมันตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผ่าลงไปแล้วมันเป็นประโยชน์หรือมันเป็นโทษล่ะ ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ เราก็ควรทำ ถ้าเป็นโทษล่ะ เป็นโทษเราก็ต้องเทียบเคียง นี่เขาบอกว่า อ้าว.. ก็ไหนบอกว่าธรรมะมันตรงไปตรงมาไง ทำไมต้องอ้อมค้อมล่ะ เห็นไหม นี้คือประสบการณ์ นี้คือเทคนิคของครูบาอาจารย์ของเราไง

ครูบาอาจารย์ของเรานะ กิเลสมันอ้อยสร้อย กิเลสมันดื้อดึง กิเลสมันแง่งอน กิเลสมัน.. โอ้ย.. ร้อยแปด! กิเลสนี่ มันเจ้าเล่ห์แสนงอน มันฉ้อฉล มันลึกลับซับซ้อนอยู่ในใจของเรา แล้วเราแก้ไขของเรา กว่าเราจะตามทันมัน กว่าเราจะควบคุมมันได้ให้เป็นสัมมาสมาธิ กว่าเราจะจับมันได้ กว่าเราจะพลิกแพลงมันได้...กิเลสมันเจ้าเล่ห์ขนาดนี้!

แล้วกิเลสคนอื่นล่ะ กิเลสคนที่มาฝึกกับเราล่ะ เขาก็มีของเขาใช่ไหม ถ้าเขามีของเขา เราจะผ่าลงไปๆ ผ่าลงไปให้มันเป็นผลตอบสนองเข้ามากระเทือนกันใช่ไหม นี่ไง ครูบาอาจารย์ท่านมีประสบการณ์ของท่าน ถ้าท่านปฏิบัติของท่านมา กิเลสนี้ร้ายกาจนัก นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอก เพราะกว่าเราจะชนะมันมาแต่ละตัวๆ ได้นะ เราต้องชนะมัน ถ้าเราไม่เคยชนะมัน เราจะเอาวิธีการอะไรไปสอนเขา ถ้าเราไม่ชนะมัน มันก็อยู่ในตำราไง อยู่ในตำรานะ หน้าไหน บรรทัดไหน งงตายเลย แต่ถ้าบรรทัดมันเป็นชื่อเว่ย นั่นเป็นชื่อของกิเลส กิเลสจริงๆ มันอยู่ที่หัวใจนี่ กิเลสจริงๆ อยู่ที่เจ้าเล่ห์แสนงอนนี่ กิเลสจริงๆ เพราะเป็นอย่างนี้ปั๊บ สติปัญญาเราถึงไล่ต้อนมันมาไง

ฉะนั้น ถ้ามันแสดงออก กิริยาการแสดงออกเขาเรียกว่า “มันมาจากใจ” เขาเรียกว่า “จิตคึกคะนอง” ถ้าจิตคึกคะนองนะ การร้องรำทำเพลง นั่นล่ะ มันขับดันออกมาจากใจ นี่ไง นี่พูดถึงทางโลกเขา เวลาเราภาวนา สิ่งที่เคลื่อนไหวไปมันขับดันออกมาจากใจ นี่พูดถึงความคึกคะนองของมันนะ แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติกัน พรุ่งนี้เราอธิษฐานพรรษากัน ใครจะถือธุดงควัตรข้อไหน เพราะธุดงควัตรมันเป็นการขัดเกลากิเลส จิตมันคึกคะนองออกมาในมุมมองไหน เรามีข้อวัตร เรามีสัจจะ เพื่อจะไปจัดให้มันเข้ารูป ความคึกคะนองอยู่ในกรอบ ถ้าอยู่ในกรอบ พออยู่ในกรอบมันจะดิ้น

เราไม่เคยภาวนานะ ทุกคนมาศึกษาธรรมะ โอ๋ย.. ธรรมะเนาะ แหม.. พ้นทุกข์ อยากจะทำมากเลยนะ ทำแล้วจิตมันจะสงบร่มเย็น มันจะมีความสุขมาก มันจะ.. โฮ้.. เวลาคิด มันจินตนาการนะ พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย พอนั่งสมาธิดูสิ พอเข้าไปนั่งปั๊บ เหมือนเด็กเลย เด็กเราเอามาวัดปล่อยมันเล่นตามสบาย มันคึกคะนอง มันสุขของมัน ลองให้มันนั่งเรียบร้อยสิ.. กลับบ้านดีกว่า ไม่ยอมแล้ว จิต เวลาถ้ามันยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า นิพพานจะคว้าเอา หยิบเอา เอื้อมหยิบเอาถึงทั้งนั้นเลย นิพพาน พระพุทธเจ้า ธรรมวินัยบอกไว้หมดแล้ว จะหยิบเอามาเลย เวลามานั่งภาวนานะ พอเริ่มจะเอาจริงขึ้นมาน่ะ ล้มลุกคลุกคลาน กระเสือกกระสน เอาตัวกันไม่รอด

เวลาเอาจริงขึ้นมาไง เอาจริงขึ้นมา.. มันอยู่ไหน.. มันอยู่ไหน ก็ทำครบหมดกระบวนการหมดแล้ว ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ทำทุกอย่างชอบธรรมหมดเลย...ชอบธรรมก็หุ่นยนต์ไง หุ่นยนต์ในโรงงานมันทำทุกอย่างออกมาเป็นสินค้าชอบธรรมหมดเลย นี่เราไปมองเป็นรูปแบบ แต่กิเลสมันเจ้าเล่ห์แสนงอนนัก! เวลาจะปฏิบัติขึ้นมามันก็เอาพิธีกรรม นี่ก่อนนอนสวดมนต์หรือยัง สวดมนต์แล้ว ทุกอย่างแล้ว จบแล้ว จบอะไร นอนไง สบาย นี่ก็เหมือนกัน กิเลสได้ทำทุกอย่างครบแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป? ทำอย่างไรต่อไป? อย่างดีมันก็แค่ว่างๆ สบายๆ เท่านั้นล่ะ เพราะว่าว่างๆ สบายๆ บอก นี่ไง ทำจบแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว มันก็แค่นี้

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ เราจะทำความเป็นจริงของเรา ถ้าเราทำจริงของเราขึ้นมา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จิตมันรู้มันเห็นของมันนะ ถ้ายิ่งจิตรู้ ยิ่งเห็นนะ กาฬเทวิล แม้แต่เขาเป็นพราหมณ์นะ เขายังทำสมาธิสมาบัติ ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ ระลึกอนาคตได้ ๔๐ ชาติ ไปนอนอยู่บนพรหม เขาไม่ใช่พระเขายังทำของเขาได้ นี่เขาทำของเขาได้นะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ กาฬเทวิลเขาก็ทำของเขาได้ นี่เหมือนกัน เราทำความสงบของใจของเรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เรามีความตั้งใจของเรา เราต้องมีความตั้งใจนะ

พรุ่งนี้จะเป็นวันเข้าพรรษาแล้ว เราจะตั้งใจอย่างไร เราอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ เหมือนกับร่างกายของคนๆ หนึ่ง ร่างกายของคนๆ หนึ่งมีหัว มีแขน มีขา มีลำตัว นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในสังคมๆ หนึ่ง เราอยู่ด้วยกัน เราอธิษฐานพรรษาขึ้นมา เราจะร่วมมือกัน เราจะจริงจังต่อกัน แล้วต้องรู้จักจริตนิสัย พูดเล่นได้ไหม พูดหยอกได้ไหม ถ้าพูดได้ไม่ได้ เรารู้ เราหลบหลีกเอาไง เราจะหลบหลีกเอา

เจ้าเล่ห์แสนงอนในใจมันก็หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว แล้วเรื่องข้างนอกน่ะ เราจะเอามาเป็นภาระเราอีกทำไม ถ้ามันไม่ใช่ภาระ มันไม่ใช่หน้าที่อะไรของเรา มันเป็นหน้าที่ของผู้นำใช่ไหม ครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้นำ ท่านดูแลอยู่แล้ว ควรไม่ควร ได้เวลาไม่ได้เวลา เด็ดผลไม้นะ ถ้าไม่แก่ เด็ดมามันเน่านะ ถ้าผลไม้มันสุกได้ที่มันนะ เก็บมาบ่มนะ มันจะหอม มันจะหวานนะ

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการควบคุมดูแลก็เหมือนกัน นี่มันสมควรไม่สมควร ถ้ามันไม่สมควรนะ กระทบกระเทือนกันไปหมดเลย แล้วกระทบกระเทือนไป เวลาแก้วมันแตก มันร้าวแล้ว ทำอย่างไร พอแก้วมันแตกมันร้าวแล้วก็อยากกินน้ำ อยากกินน้ำก็ต้องมาปะมาชุนเพื่อจะไปใส่น้ำมากิน นี่ก็เหมือนกัน อยากจะปฏิบัติ อยากปฏิบัติมันก็ต้องมีความสงบสงัด พอสงบสงัด เวลากระทบกระเทือนกันไปแล้ว มันสงบสงัดไหมล่ะ

สัปปายะ สถานที่ไม่เป็นสัปปายะ หมู่คณะไม่เป็นสัปปายะ อาหารไม่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ไม่สัปปายะ.. ไม่เป็นสัปปายะสักอย่างหนึ่งเลย ไม่อำนวยความสะดวกให้เราเลย นี่ถ้าอำนวยความสะดวกมันต้องเป็นสัปปายะสิ สัปปายะมันต้องนุ่มนวลไปหมดเลยสิ มันนุ่มตามความเป็นจริงไหมล่ะ แต่เราเป็นอย่างไร

นี่พอมันตั้งธงขึ้นมานะ มันเหยียบย่ำทั้งตัวเอง พอเหยียบย่ำตัวเอง เพราะไม่ได้ดั่งใจเลย ไม่ได้ดั่งใจอะไรสักอย่าง แต่กิเลสมันได้หมดแล้ว กิเลสมันได้หมด เพราะว่ากิเลสมันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไง กิเลสมันทำให้เราอยู่ในอำนาจของมันไง เราไม่ได้ดั่งใจเรา แต่กิเลสทำงานมันสมบูรณ์แล้ว กิเลสมันได้เอาใจของเราอยู่ในอำนาจของมันแล้ว แล้วเป็นพระด้วย เป็นนักปฏิบัติด้วย นี่อยู่ในอำนาจของมันหมดเลย เพราะเราไม่เห็นได้อะไรเลย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา ไม่เห็นได้อะไร ไม่ได้อะไร เราจะทำของเรา จะได้อะไร ไม่ได้อะไร เรามีความขยันหมั่นเพียรของเรา พิสูจน์กัน!

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปได้ ทำไมครูบาอาจารย์ของเราท่านทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะเหตุใด ต้องย้อนกลับมาดูเหตุสิ ต้องย้อนกลับมาดูการกระทำของเราสิ ย้อนกลับมาดูการดำรงชีวิตของเราสิ การดำรงชีวิต ดูสิ เวลานักบวช นักพรต ก่อนจะบวชขึ้นมา ชาวบ้านทุกคน เวลาปฏิบัติ ไปวัดจะกินกี่มื้อ อยู่กี่มื้อ นี่วิตกวิจารไปหมดเลย เขาวิตกวิจารตั้งแต่เขาจะมาเข้าวัดแล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่มานะ พอเข้าวัดเข้าวา มันละล้าละลังไปหมดเลย จะทำได้ทำไม่ได้ นี่เหมือนกัน เราเป็นพระก็เหมือนกัน เราเป็นพระ เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ มันละล้าละลังไปหมดเลย จะได้ จะไม่ได้ จะอะไรน่ะ ความละล้าละลังอันนั้นน่ะ มันก็เข้าทางกิเลสทั้งนั้นเลย นี่กิเลสมันตั้งธงไว้แล้ว

พอเราตั้งธงน่ะ แต่เรานำธงนั้นไปไม่ได้ ถ้าเราตั้งธง เรานำธงนั้นไป มันก็เป็นประโยชน์นะ แล้วตั้งธงขึ้นมา กิเลสมันฟันธงหักเลย กิเลสมันฟันธงล้มเลย ไปไม่ได้เลย แต่เวลากิเลสมันตั้งบ้างนะ มันตั้งแง่ขึ้นมา แล้วใครพูดอะไรไม่ถูกใจมัน มันสะเทือนใจมาก กิเลสมันตั้งแง่ขึ้นมาแล้ว พอกิเลสมันตั้งแง่ขึ้นมานะ อะไรกระเทือนไปหมดเลย ถ้ากิเลสมันไม่ตั้งแง่ขึ้นมาล่ะ ใจก็คือใจใช่ไหม ความรับรู้คือความรับรู้ใช่ไหม.. รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร.. มันให้โทษใคร? มันให้โทษใคร? เพราะเราไปตั้งแง่ไว้ไง พอตั้งแง่ พอมันเข้ากระทบเรานะ กระเทือนแล้วๆ.. นี่ใครทำ? ใครทำ? กิเลสมันสร้างไว้ กิเลสสร้างไว้

แต่ถ้าเราไม่ตั้งแง่ไว้เลย ดูสิ ลมพัดก็เย็นดีไง เสียงก็เสียงลม เอ้า.. แล้วมีอะไรล่ะ ยังมีอะไรต่อไป แต่ถ้าตั้งแง่ไว้ ดูสิ เวลาเฮอริเคนมันมา เมืองทั้งเมืองนะราบหมดเลย เพราะเมืองไปสร้างขวางทางมัน ตั้งแง่ขึ้นมา เหมือนกับบ้านเรือนของเรา เวลากิเลสมันพัดมานะ โอ้โฮ.. ต้านลมมันไม่ไหว.. ไม่ไหว เพราะอะไร เพราะเราไม่ดูตัวเรา ถ้าเราหันมาดูตัวเรานะ มันเป็นคุณหรือเป็นโทษล่ะ มันเป็นโทษทั้งนั้น มันเป็นโทษ เป็นโทษเพราะใคร เป็นโทษเพราะเราไม่รู้เท่า เป็นโทษเพราะเราไม่รู้ทันมันเอง

แต่ถ้ามันรู้ทันล่ะ ถ้าเรารู้ทันขึ้นมา เราแก้ไขของเรา นี่ ธรรมะมันอยู่ที่นี่ ธรรมะมันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัตินี่ ถ้าเรารู้ทันของเรา เราแก้ไขของเรา มันก็จบที่เรา ถ้าที่นี่มันจบแล้วนะ มันจะมีอะไรล่ะ เฮอริเคนมันพัดไป ดูสิ ในทะเลมันพัดแล้วพัดอีก เป็นอะไรล่ะ พัดจบแล้วก็กลับมาที่น้ำสงบนิ่งอยู่อย่างเดิมไง เอ้า.. แล้วก่อตัวลูกใหม่ขึ้นมา แล้วก็พัดอีก พัดแล้วได้อะไรขึ้นมาน่ะ มันก็กวาดตัวในทะเลนั่นน่ะ แล้วขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ

ถ้าไม่มีบ้านมีเรือนไปขวางมัน ไม่มีสิ่งใดไปขวางมัน แต่ถ้ามันมีอะไรไปขวางมันล่ะ มันก็ราบน่ะสิ! ราบ! เพราะเราไม่เท่าทันเอง เพราะเราไม่เท่าทันตัวเราเอง ธรรมะมันอยู่ที่นี่นะ

เวลาศึกษาธรรมขึ้นมา นั่นล่ะแผนที่เครื่องดำเนิน พอเราศึกษาแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราก็วิ่งหากัน มีความเข้าใจของพระเยอะมากว่าอยากเห็นทุกข์ๆ แล้วก็ไปแบกก้อนหินวิ่งขึ้นภูเขาลงภูเขา อยากเห็นทุกข์ นี่ไง ด้วยความเข้าใจผิดของเขา โอ้.. ถ้ามันแบกก้อนหินวิ่งขึ้นเขาลงเขา มันจะเห็นทุกข์นะ กรรมกรแบกข้าวอยู่ที่ท่าเรือนะ มันเห็นทุกข์ มันเป็นพระอรหันต์ไปหมดเลย นี่เข้าใจว่าการแบกหามนั้นเป็นความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่เข้าใจว่าการแบกหามนั้นเป็นอาชีพของเขา เขามีความสุขก็ได้ เขามีความทุกข์ก็ได้ นั้นเป็นวิชาชีพ มันไม่เกี่ยวกับอริยสัจเลย!

ถ้าเวลาจะเห็นทุกข์ๆ ทุกข์มันอยู่ที่ไหน ทุกข์มันอยู่บนสมองหรือ สมองมันเป็นก้อนเนื้อนะ ทุกข์มันอยู่ที่ไหน ทุกข์ที่หัวใจหรือ หัวใจมันสูบฉีดเลือดนะ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ไหน เอ้า.. อยากเห็นทุกข์ ไปแบกก้อนหินวิ่งขึ้นภูเขาลงภูเขาเพื่อจะดูทุกข์ คนเราคิดกันอย่างนั้นนะ ทุกคน..

อริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ต้องดับทุกข์ แล้วดับทุกข์ไปดับกันที่ไหน นี่ไง เวลาศึกษาแล้ว เราไม่มีประสบการณ์ เราไม่มีครูบาอาจารย์ เราก็แสวงหาของเรา เราก็คิดของเราไปเอง แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ ทุกข์นะ กว่าที่มันจะรู้ได้ ทุกข์มันอยู่ที่ไหน เวลาทุกข์มันเกิดขึ้นมาแล้วนะ เราได้รับแต่ผลของมัน ได้รับผลแต่ความเจ็บปวดแสบร้อน ได้มีแต่คร่ำครวญร้องไห้ หน้าเศร้าหมอง มันถ่ายเอาไว้ นี่คือผลแล้ว นี่คือวิบากแล้ว

แต่ถ้าเรามีความมุมานะนะ เราทำความสงบของใจ พยายามทำให้จิตใจมันสงบ ถ้าจิตใจมันสงบได้ มีสติยับยั้งได้ จิตใจสงบร่มเย็นเข้ามา พอจิตใจสงบร่มเย็นเข้ามา เวลามันกระเทือนใจ เวลามันฟูขึ้นมา คือมันมีผลกระทบ พอผลกระทบ อันนั้นดี อันนั้นชั่ว มันเกิดจากผลกระทบ คือมันเสวยอารมณ์ ถ้าจิตใจมันรู้ได้มันเห็นได้ นี่เหตุแห่งทุกข์มันจะเกิดแล้ว ถ้าเหตุแห่งทุกข์ นี่คิดไปเดี๋ยวก็ร้องไห้อีกแล้ว คิดไป มันเห็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าเห็นเหตุแห่งทุกข์นะ พอเหตุมันดับ.. ทุกข์มันมาจากไหน แต่นี่มันไม่ใช่ นี่เวลาคร่ำครวญร้องไห้ แล้วก็จะดับทุกข์ๆ

เราจะได้ผลไม้นะ เราต้องขุดดิน เมล็ดพันธุ์น่ะปลูกลงไป รดน้ำที่โคนต้น ผลมันจะออกที่ปลาย นี่จะปลูกทุเรียน จะเอาทุเรียนเป็นลูกๆ แต่ไม่เอาต้น ไม่เอาอะไรเลย เอาทุเรียน เอาเป็นผล มะม่วงก็จะเอาแต่ผลมะม่วง แต่ต้นไม่รู้อยู่ไหน นี่โลกเขาเข้าใจกันอย่างนั้นน่ะ ศึกษาพระไตรปิฎกนะ ทุเรียนมันจะออกมาจากตู้พระไตรปิฎก นี่มรรคผลมันจะออกมาจากตู้พระไตรปิฎก

แต่ครูบาอาจารย์เราบอกว่า มรรคผลมันออกมาจากใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ หาใจของตัวให้เจอ ถ้าหาใจของตัวให้เจอ เราแก้ไขกันที่นั่น ถ้าหาใจของตัว แล้วหาที่ไหน พุทโธๆ สิ พุทธานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิ นั่นน่ะ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาได้ ใจนั้นมันจะเป็นพื้นนา ใจนั้นมันจะเป็นเรือกสวนไร่นาให้เราได้ใช้วิปัสสนาญาณ ได้ปลูก ได้ทำ อริยสัจ สัจธรรมมันจะเกิด การกระทำมันจะเกิด เราขุดดินของเรา เราทำพืชพันธุ์ธัญญาหารของเรา ผลมันจะเกิดตามมานะ นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติ เขาปฏิบัติกันอย่างนี้

เวลาศึกษานั่นมันศึกษาในพระไตรปิฎก ไม่มีหรอก เปิดพระไตรปิฎกมามันก็มีแต่ในหนังสือนั่นน่ะ ทุเรียน มะม่วง เปิดพระไตรปิฎก เอาไปเก็บไว้เน่านะ ทุเรียนก็เหม็นคลุ้งไปหมดน่ะ แต่ถ้าเอาตำรามา เอาวิชาการมานะ.. เราจะขุดดิน เราจะหาเมล็ดพันธุ์ เราจะปลูก เราจะรดน้ำ เราจะดูแลรักษา เดี๋ยวทุเรียนมันจะเป็นผลอ่อนออกมา พอผลอ่อนออกมานะ รักษาให้ดี มันจะแก่มา พอมันแก่มา มันได้ที่ เราเอามาเก็บรักษาบ่มเพาะ เราจะได้ทุเรียนหอมหวาน นี่มันมีกระบวนการของมัน

นี่เหมือนกัน การปฏิบัติ อยากพ้นจากทุกข์ๆ เวลาตั้งธงขึ้นมานะ ตั้งธงผิดๆ แล้วพอตั้งธงผิดๆ เราก็พากันหลงผิด แล้วก็เดินกันไปผิดๆ แล้วก็บอกว่า “ศึกษาธรรมๆ” แต่เราตั้งธง ตั้งธงคืออธิษฐานบารมี ตั้งธงคือเป้าหมาย แล้วในการประพฤติปฏิบัติ ธงนั้นตั้งไว้แล้ว มันเป็นฉันทะคือความพอใจ ทุกคนมีเป้าหมาย มีฉันทะ มีความพอใจ แล้วเก็บไว้ในใจเรา

แล้วเวลาสิ่งใดที่เราประพฤติปฏิบัติไป มันจะกระทบกระเทือน ดูสิ เวลาเราเดินทาง รถ เวลามันแบกอากาศไป มันต้องมีแรงเสียดสีแรงเสียดทานทั้งนั้นน่ะ ชีวิตของเราอยู่ในสังคม มันก็มีแรงเสียดทาน มันต้องมีตลอดไป แม้แต่นักบวชเรานะ เวลาออกธุดงค์ไปอยู่องค์เดียวนะ เราก็ต้องหาอาหาร หาต่างๆ มันก็ยังมีแรงเสียดทานมากน้อยแค่ไหน มันมีของมัน ฉะนั้น ชีวิตของเราจะไม่มีแรงเสียดทานเลย มันจะเป็นชีวิตจริงๆ หรือ ชีวิตมันต้องมีแรงเสียดทานทั้งนั้นน่ะ ถ้าแรงเสียดทาน ในการประพฤติปฏิบัติเรามันก็มีอุปสรรค มีการกระทำ แล้วเราก็รักษาของเราไป ดูแลของเรานะ ดูแลของเรา แล้วมีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์นะ ท่านก็ปกป้องเราให้

ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ เราไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าพรรษาใกล้เคียงกันอยู่ด้วยกัน ทิฏฐิคล้ายๆ กัน.. แตก! แหกพรรษา มันก็ออกพรรษาแล้ว แล้วก็ต่างคนต่างไป แล้วเวลาต่างคนต่างไปก็กูก็จะไม่เหลียวหน้ามามองเลย ทุกคนก็จะไม่เหลียวหน้ามามองเลย นี่เวลามันเป็นอย่างนั้นไป แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ สิ่งที่มันอึดอัดขัดข้องเพราะอะไร

ในปัจจุบันนี้อยู่กันด้วยความปลอดโปร่งมากเลย เพราะพระเราจะเดินทาง จะเคลื่อนไปไหนก็ได้ แต่พออธิษฐานพรรษาแล้วมันไปไม่ได้ ๓ เดือนถึงจะไปได้ เว้นไว้แต่ สัตตหกรณียะ ตั้งแต่พ่อแม่ป่วย ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ป่วย ตั้งแต่หมู่คณะ ตั้งแต่เราจะไปหามาซ่อม มันมีสัตตหะไปได้ ๗ วัน ทีนี้พอมันมีกฎมีกติกาขึ้นมาปั๊บว่าไปไม่ได้ อึดอัดแล้ว ทั้งๆ ที่มันก็เป็นวันคืนเหมือนกันน่ะ นี่ดูกิเลสสิ โดยปกติอยู่นี่สบายใจนะ เพราะมีสิ่งใดเราทำได้ ตอบสนองได้หมด

แต่พอเข้าพรรษาน่ะ มันว่ามันตอบสนองไม่ได้ เหมือนกับคนติดคุก เวลาติดคุก นับแต่ปฏิทินนะ นับแล้ว เปิดไปทุกวันเลย วันไหนออก.. วันไหนออก.. ออกมันก็คนเก่านั่นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาออกพรรษาแล้ว ๓ เดือนแล้วออกพรรษาแล้วก็คนเดิมนั่นน่ะ แต่เวลาอยู่ในพรรษากับนอกพรรษา ทำไมอารมณ์มันแตกต่างกันน่ะ ดูกิเลสสิ กิเลสพอมันมีขอบเขต มีการจำกัดมันน่ะ มันดิ้นแล้ว แล้วเวลานั่งสมาธิต่างๆ มันดิ้นของมันนะ นี่มันดิ้นของมันน่ะ เรามีสติปัญญานะ เราก็ดู เวลามันดิ้น มันดิ้นเพราะอะไร วันคืนก็คือวันคืนน่ะ มันดิ้นเพราะอะไร นี่ถ้ามันดิ้น ดิ้นน่ะ คือมันแสดงตัว

เวลาเราปฏิบัตินะ อยากรู้ใจ อยากเห็นใจ อยากรู้จักสมาธิ อยากมีปัญญา.. สิ่งที่เราเกิดขึ้นมา เขาเรียกเงาทั้งนั้นน่ะ ความว่า “เป็นเงา” เงาคือไม่ใช่ตัวจริง ความคิดเกิดจากจิต ถ้ามันไม่มีจิตนะ มันไม่มีปฏิสนธิจิต ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ จะเกิดเป็นคนมาได้อย่างไร เวลามันเกิดขึ้นมาแล้ว เสวยสถานะของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ การแสดงออกจากธาตุ ๔ และขันธ์ ๕.. ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันต้องมีพลังงานมา มันถึงเป็นพลังงานที่ดำเนินงานต่อไปได้ พลังงานตัวนั้นคือตัวจิต เวลาสิ่งที่เราคิดในปัจจุบันเกิดจากจิต เกิดจากจิตก็เป็นอาการของจิต เป็นเงาทั้งนั้นน่ะ เราอยู่กันที่เงา ในสังคมโลกอยู่กันที่เงา อยู่ที่ความคิด อยู่ที่การสื่อสาร สามัญสำนึก ทีนี้พอเราทำความสงบของใจเข้าไปนะ มันเข้าไปสู่จิต มันปล่อยสามัญสำนึก ปล่อยทุกอย่างเข้ามา เข้าสู่ตัวมัน ถ้าเข้าสู่ตัวมัน..

เวลาปาราชิก ๔ ถ้ามีฌาน เที่ยวอวดอุตริ มีฌาน เข้าฌานสมาบัติได้ พูดก็อวดอุตริแล้ว คำว่า “อวดอุตริ” มันแตกต่างกับสามัญสำนึกของมนุษย์ไง มนุษย์เขาอยู่กันด้วยความคิด อยู่กันด้วยสามัญสำนึก แต่พอจิตสงบเข้ามา มันต่างจากสามัญสำนึก ถ้ามันไม่ต่างจากสามัญสำนึก มันอวดอุตริทำไม อวดอุตริคือธรรมที่เหนือมนุษย์ไง คือสิ่งที่เหนือความเป็นปัจจุบัน

ทีนี้พอจิตมันสงบเข้ามามากน้อยขนาดไหน ถ้ามันสงบเข้ามา มันสงบเพราะอะไร มันสงบเพราะเรามีพุทธานุสติ พุทโธ เราสงบเพราะปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม มันต้องมีเหตุสิ อยู่เฉยๆ แล้วสงบก็เหมือนเรา เวลานอนหลับ เรานอนนะ ถ้าเพลีย นอนก็หลับไป ก็แค่นั้นน่ะ นอนหลับเป็นสมาธิไหม จิตไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็ว่างหมด แล้วมันเป็นสมาธิไหม ว่างแล้วตาใส ว่าง.. ว่าง.. แล้วว่างอะไรของมึง ว่างตาใส แต่ถ้ามันลงสมาธิล่ะ อวดอุตริ คืออวดอุตริมนุสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ ธรรมที่ต่างจากมนุษย์ ธรรมที่ต่างจาก.. ถ้าเป็นธรรมที่ต่างจาก.. แล้วจิตมันเป็นสมาธิ สมาธิเป็นอย่างไร

พอมันเข้าสมาธิขึ้นมา มันก็มีหลักมีเกณฑ์ มันก็ไม่เร่ร่อน จิตเป็นสมาธินะ จิตมีหลักมีเกณฑ์นะ เห็นไหม ธงจะไม่มี ธงมันมีเพราะมันเป็นเงา มันเป็นอาการที่เราตั้งไว้ พอเข้าไปเป็นสมาธิ สมาธิเป็นสากล สากลคือจิตเข้าสมาธิ ทุกลัทธิ ทุกศาสนา ประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้าเข้าสมาธิก็คือสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้วมันก็มีมิจฉากับสัมมา สัมมาสมาธิคือจิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิ จิตที่เข้าตั้งมั่นแล้ว เรามีสติปัญญา เราพาจิตออกวิปัสสนา นี่ไง พระพุทธศาสนาเกิดตรงนี้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเรียนกับอาฬารดาบส นี่ได้สมาบัติมาแล้ว ไปเรียนกับใครก็ได้มาหมดแล้ว ดูสิ “เจ้าชายสิทธัตถะ มีความรู้เหมือนเรา มีความเห็นเหมือนเรา” อาฬารดาบสรับประกันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สน เพราะไม่ได้แก้กิเลส แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากำหนดอานาปานสติ พอกำหนดอานาปานสติ พอจิตมันสงบเข้ามา บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ แล้วพอเข้ามาถึงตัวจิตตัวในแท้ อาสวักขยญาณ ทำลายหมด.. ทำลายหมด.. นี่พอทำลาย ทำลายด้วยอะไร? ด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริง นี่พระพุทธศาสนาเกิดตรงนี้

ทีนี้พอเราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามา ถ้าจิตมันออก จิตมันออกไปใช้ปัญญา ไม่ใช่จิตส่งออก จิตส่งออกมันธรรมชาติของมัน จิตส่งออกมันเหมือนกระแสไฟ ถ้ามันมีสื่อนำไป ไฟมันจะนำสื่อ นำไฟไปปั๊บๆ สื่อนำไฟนั้นไป โดยธรรมชาติของจิต ความคิดมันก็สื่อออกมาจากจิตนั่นน่ะสื่อออกมา แต่เวลาที่มันใช้ปัญญาญาณ มันไม่ใช่สื่อออกมา ไฟมันมีชีวิตไหม ไฟมันไปด้วยเชื้อใช่ไหม เวลาไฟมันไหม้ ไหม้ไปตามเชื้อ เวลาไฟฟ้ามันไปตามสื่อ เวลาจิตที่เราคุมมันล่ะ เราคุมมัน แล้วเราใช้ปัญญา เรามีสติ เป็นมรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ.. งานชอบ ในมรรค ๘ มีงานชอบ ความชอบธรรมไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรลุธรรมโดยชอบ แต่พวกเรามันไม่ชอบ บรรลุธรรมแต่ไม่ชอบ เพราะกูจำมา กูจำมา กูใช้เล่ห์กลมา กูพยายามเทียบเคียงให้เหมือน.. รู้ไหม? รู้! รู้ที่ไหน? รู้ที่สมอง รู้ที่จำมา รู้ที่ขี้โม้

แต่ถ้าความจริงนะ มันมีเหตุมีผลของมัน.. รู้อย่างไร อะไรไปรู้ แล้วรู้ รู้อย่างไร ถ้ารู้แล้วนะ คนที่รู้ตามความเป็นจริง มันจะรู้แล้วซึ้งใจมากว่าสุตมยปัญญา การศึกษาเล่าเรียนเขาเรียก “ปริยัติ” จินตมยปัญญา ขณะที่ปฏิบัติ ถ้าจิตสงบแล้ว จินตนาการมันกว้างไกลไม่มีขอบเขต มันไม่มีหลักมีเหตุมีผล ความชอบธรรมมันไม่สมบูรณ์ของมัน แต่ถ้ามันเป็นมรรค ๘ ตรัสรู้เองโดยชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกรู้ชอบ ความชอบธรรมของมัน แล้วความชอบธรรมของมัน แล้วงานชอบ ชอบธรรมในอะไร ถ้ามันวิปัสสนา มันใกล้เคียงของมัน ความชอบธรรมของมรรคญาณ พอมรรคญาณมันชอบธรรมของมัน นี่ธัมมจักฯ จักรที่เคลื่อน

วันอาสาฬหบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ นี่ธัมมจักฯ สิ่งที่จักรมันเคลื่อนไง ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ.. ความชอบธรรมของมัน ความชอบธรรมของปัญญาญาณ ปัญญาญาณมันเกิดอย่างไร นี่ถ้าภาวนาเป็นเป็นอย่างไร สิ่งที่มันเป็น พอมันเป็นขึ้นมา ปัญญาญาณมันเกิด นี่ธัมมจักฯ จักรเคลื่อนแล้ว พอจักรเคลื่อนไป พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเลยนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศน์ธัมมจักฯ แล้ว! จักรนี้จะไม่มีใครย้อนกลับได้! มันเคลื่อนแล้ว มันไปแล้ว นี่มันไปแล้วไปที่ไหน นี่พูดถึงในตำรานะ

แต่ในความเป็นจริง มันไปตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นู่นน่ะ ธัมมจักฯ ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมอันนั้นน่ะ มันชำระกิเลสแล้วกลับไม่ได้ เป็นอกุปปธรรม เป็นความคงที่ของมันอยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่แสดงออกมา แสดงออกมากับโลก แสดงออกมาเพื่อความรู้ความเห็น เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามไง เทวดาได้ยินข่าว ส่งต่อๆ กันขึ้นไป

.. แล้วข่าวของเราล่ะ แล้วความจริงของเราล่ะ

เราต้องตั้งธงอย่างนี้ ตั้งธงว่าเราจะเอาจริง เราจะปฏิบัติจริง

วันนี้วันอาสาฬหฯ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ “มารเอย.. เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรา ยังโง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถแก้ไขกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน” จนถึงวันมาฆบูชา เห็นไหม เวลามารมันดลใจน่ะ “มารเอย.. บัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรา..” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ของเรา” แต่คำว่า “ของเรา” เพราะอะไร เพราะ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ตั้งแต่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นที่สิ้นกิเลส นี่สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ นี่สมณะ “ผู้ใดเห็นสมณะ เป็นมงคลในชีวิต”

“บัดนี้บริษัทของเรา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน” เห็นไหม คำว่า “ของเรา” เพราะมันเข้าถึง มันได้รับรู้น่ะ พอสิ่งที่เข้าถึง สิ่งที่รับรู้ได้ มันไม่รู้ได้อย่างไร ใครจะเฉไฉออกนอกแนวทางไป นั่นมันเรื่องของเขา เรื่องของเขา มันไม่ใช่สายบุญสายกรรม พูดไปน่ะไม่มีสนใจหรอก แต่ถ้าเป็นสายบุญสายกรรมนะ เห็นไหม เดี๋ยวนี้มีมากเลย เล่นอินเตอร์เน็ตกัน อยู่คนละโลกเลย แต่ก็เป็นเพื่อนกันโดยไม่เคยเห็นตัวกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นสายบุญสายกรรมนะ เวลามันฟังไง มันฟัง มันได้เห็น มันถึงใจ แต่ถ้ามันไม่ใช่สายบุญสายกรรมนะ มันฟังแล้วมันคัดค้านในหัวใจ มันขวางหัวใจ หัวใจมันรับไม่ได้ แต่ถ้ามันรับได้นะ รับได้แล้ว เราไม่ใช่รับได้แล้วจะเป็นของเรา เรารับได้ มันก็เป็นธงชัยนะ ดูสิ เราห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นธงชัยของพระอรหันต์

ถ้าเราฟังธรรม ธรรมนั้นชี้นำเรา ธรรมนั้นจะชักจูงเราเข้าไปสู่ที่ดี เราฟัง แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราพยายามปลูกทุเรียนกันให้ได้ เราพยายามปลูกพืชผลของเราขึ้นมา แล้วเราปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันจะตอบสนอง มีผลของเราขึ้นมา แต่ถ้าทางตำรามันก็เป็นหนังสือ มันให้ผลไม้มาไม่ได้หรอก ทางตำราเขาก็ชี้นำมาให้ปลูกทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาเราจะปลูกขึ้นมาก็ละล้าละลัง อำนาจวาสนาก็ไม่มี กึ่งพุทธกาลแล้ว อริยบุคคลก็ไม่มี นี่กิเลสมันท่วมหัวนั้นมันก็ไม่เห็น สรรพสิ่งคุณงามความดีไม่มีสักอย่าง แต่ถ้าตัดทอนกำลังของตัว ตัดทอนคุณงามความดีของตัว.. มีทั้งนั้น แต่จะทำความดี.. หายาก ไม่มีสักอย่างหนึ่ง

เรื่องของคนอื่นเป็นของคนอื่นนะ ถ้าความคิดอย่างนี้มันเกิดกับจิตใจของเรา มันจะตามใจของเราให้ทัน แล้วเราจะมีพื้นที่ เราจะมีสัมมาสมาธิ ภวาสวะ-ภพ เพื่อปลูก เพื่อทำกิจกรรมของเรา กิจกรรมคือออกวิปัสสนาญาณ กิจกรรมจะเกิดที่นั่น กิเลสอยู่ที่จิต กิเลสอยู่ที่ปฏิสนธิจิต กิเลสมันอยู่ที่ปฏิสนธิวิญญาณที่พาเกิดพาตายในวัฏฏะ สิ่งที่เราศึกษากันอยู่นี้มันเรื่องของสมอง มันก็เหมือนกับเงินทอง หามาแล้วเป็นสมบัติสาธารณะ ใครมีมรดกเท่าไร มันก็มีแต่ชื่อว่าเป็นของเรา ถ้าตายก็ทิ้งไว้นี่ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าประพฤติปฏิบัติ บุญก็คือบุญ ก็อยู่ในวัฏฏะนี่แหละ บุญทำดีก็ไปเกิดสวรรค์ ทำชั่วก็เกิดนรก มันก็เป็นผลของวัฏฏะ แต่ถ้าเราทำถึงใจ ใจมันเป็นจริงน่ะ นี่ผลของมัน แล้วมันจะได้ของมัน มันจะเป็นประโยชน์กับมันนะ

นี้เราเป็นชาวพุทธ แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสาร มาบวชเป็นพระ แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ

วันนี้วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันพรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษา วันอธิษฐานพรรษา เราเป็นนักรบ เราจะต้องมีหนักมีเบา ก่อนจะเข้าพรรษาก็ตั้งใจว่าจะเอาอะไรกัน จะทำอย่างไรกัน แล้วเราก็ดูว่ากำลังเราพอแค่ไหน แล้วเราก็อธิษฐาน “สัจจะ” ตั้งแล้วพยายามทำให้ได้ แล้วถ้าทำได้แล้ว ผลไง ผลจากการกระทำมันจะเป็นผลของเรา

ชีวิตนี้ได้ประสบ ได้พบเห็น ได้การกระทำ เกิดมาไม่เสียชาติเกิด

เกิดเป็นคน! พบพระพุทธศาสนา! ได้ออกบวช! เป็นนักรบ! ต่อสู้กับกิเลส!

แล้วได้ผลไม่ได้ผล ออกพรรษาแล้วเรามาคุยกัน เอวัง