ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จะบวชชี

๑๗ ก.ค. ๒๕๕๔

 

จะบวชชี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหาสดๆ นี้ก่อนเนาะ

ถาม : ผมภาวนาพุทโธจนจิตสงบแล้วพิจารณากายตัวเอง สมมุติว่าเราตายแล้วขึ้นอืด ถูกหนอน นก กาแทะจนเนื้อเหลือแต่กระดูก แล้วกำหนดไฟเผากระดูกจนเป็นเถ้าถ่านละลายหายไปในดิน แล้วกำหนดโครงกระดูกโผล่มาจากดิน แล้วกำหนดให้มีเนื้อหนังเหมือนเดิม ขณะที่กำหนดจะทำให้เน่าหนอนแทะเหมือนเดิม ปรากฏว่าเกิดเวทนาขึ้น ผมอยากทราบว่า ผมควรจะเปลี่ยนมากำหนดเวทนา หรือเปลี่ยนท่านั่งให้เวทนาหายไปแล้วกลับมาพิจารณากายต่อหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : นี่เวลาเราปฏิบัติไป สิ่งที่เราว่ามา เหมือนเราจบการศึกษามา เวลาจะปฏิบัติงาน เห็นไหม เราก็ต้องฝึกงาน ไอ้นี่เรามาปฏิบัติเหมือนเรามาฝึกงาน พอเราฝึกงานคือเราฝึกจิตของเรา เห็นไหม เราก็พยายามทำให้เหมือนทฤษฎีที่เราเรียนมา

นี่ก็เหมือนกัน พอเรากำหนดว่าให้มันละลายลง ให้จิตมันเป็นไป มันเป็นภาพนะ เราไม่ใช่ว่าผิดนะ ถ้ามันไม่มีภาพเลยเราก็ต้องนึกเอา ถ้าจิตสงบแล้วเขาเรียกรำพึง การนึกในธรรมะนี่เขาเรียกรำพึง จิตสงบแล้วรำพึงให้เกิดขึ้น พอรำพึงให้เกิดขึ้นมันเป็นตัวจุดชนวน เป็นตัวกำหนดให้มีสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วเรากำหนดแยกแยะไป รำพึงขึ้นมา แต่ถ้าจิตเราไม่สงบ เราไม่รำพึงขึ้นมา เรานึกถึงเรื่องกายขึ้นมา มันก็เหมือนปัญญาอบรมสมาธิ

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “เวลากำหนดจิตไปตามข้อกระดูก ไปตามโครงสร้างของร่างกาย อยู่เป็นชั่วโมงๆ ท่านบอกนั่นเป็นสมถะ” เห็นไหม สมถะก็คือทำสมาธิไง

นี่ก็เหมือนกัน เรานึกถึงสภาพร่างกายให้เน่า ให้เปื่อย จิตใจเราอยู่ในสภาวะแบบนั้น มันก็เหมือนกับเราอยู่ในกาย ก็เหมือนเอากายมาเป็นพุทโธแทน ฉะนั้น ถ้ามันกำหนดแล้ว มันพิจารณาแล้ว ถ้ามันสบายมันก็ปล่อย ปล่อย การปล่อยนั้นเขาเรียกสมถะ สมถะคือมันปล่อยแล้วมันสบายใจ ถ้ามีสติมันก็จะเข้ามาเป็นสมาธิ ฉะนั้น พอเป็นสมาธินี่ทำอย่างนั้นบ่อยๆ ทำบ่อยๆ แล้วเราก็พิจารณาต่อไป

ทีนี้เพียงแต่ว่าการทำงานมันเหนื่อยมาก แล้วเวลาคนทำงาน ผู้บริหารจะเครียดมาก กรรมกรแบกหามนะมันแบกทั้งวันเลยนะ กลับบ้านมันเล่นกัน ร้องเพลงสนุกสบายของมันนะ ไอ้ผู้อำนวยการองค์กรกลับไปนะ ปวดหัว ผมขาวหมดเลย มันนั่งโต๊ะไง เวลาเขาแบกหามกันมันก็นั่งบนโต๊ะ เขาก็ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ไอ้คนอาบเหงื่อต่างน้ำกลับไปบ้านแล้วมันสบายอกสบายใจ ไอ้คนบริหารกลับไปถึงบ้านแล้วเครียดน่าดูเลย นี่ไงทำงานด้วยความรับผิดชอบ

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาภาวนานี่จิตมันรับผิดชอบ จิตต่างๆ มันเครียดไปหมดเลย ฉะนั้น มันมีสิ่งใดเกิดขึ้นนะ กรรมกรแบกหามเขาสบายอกสบายใจ เพราะความรับผิดชอบเขามีแค่นั้น ถ้าเขาสร้างเนื้อสร้างตัวของเขา เวลาเขามีฐานะของเขา เขาจะตั้งองค์กรของเขาขึ้นมา ตั้งบริษัทของเขาขึ้นมา เขาก็ต้องรับผิดชอบเหมือนเรานี่แหละ เวลาเขารับผิดชอบเหมือนเรา มันก็จะเหมือนเรานี่แหละ มันจะเส้นผมขาวเหมือนเรานี่แหละ

ฉะนั้น เวลาภาวนาไปมันเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันเวทนาเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นนี่เราปล่อยหมดเลย ไม่ใช่ไปอยู่กับเวทนา ปล่อยหมดเลยแล้วกลับมาพุทโธใหม่ กลับมาพุทโธ เห็นไหม พอเราทำไปแล้วมันมีอุปสรรค มันไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันขาดสมาธิ เพราะมันขาดกำลัง กรรมกรแบกหามถ้าไม่มีกำลังเขาก็แบกหามข้าวสารไม่ได้ ผู้บริหารถ้าไม่มีสติปัญญามันก็คิดอะไรไม่ออกเหมือนกัน เห็นไหม

จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนามันก็ต้องมีกำลังของจิตเหมือนกันทั้งนั้นแหละ ทีนี้กำลังของจิต เวลาภาวนาก็กลับมาที่นั่น นี่พูดถึงว่าคนภาวนายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันก็เงอะๆ งะๆ อย่างนี้แหละ หญ้าปากคอก นี่หันซ้ายก็ผิด หันขวาก็ผิด จะตีลังกาก็ผิด แต่ถ้าคนปฏิบัติชำนาญนะ หันซ้ายก็ถูก หันขวาก็ถูก ตีลังกาก็ถูก มุดดินก็ถูก คนทำเป็นนะทำอะไรก็ถูกไปหมดเลย เพราะบริหารจัดการได้ มันดูแลจิตไง

ฉะนั้น อย่าเพิ่งน้อยใจนะ เดี๋ยวจะน้อยใจหมดเลย แล้วไม่ทำอะไรเลย ฝึกไป ฝึกไป มีความชำนาญ นี่ชำนาญในวสี เห็นไหม คนชำนาญในวสีจะเข้าสมาธิ ออกสมาธิได้ง่ายมาก เวลาไปภาวนาจะภาวนาได้ง่ายมาก มันอยู่ที่ความชำนาญ แต่กว่าจะชำนาญก็อย่างนี้ กว่าจะชำนาญก็ต้องอย่างนี้แหละ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ต้องมานะอดทน ต้องขวนขวาย ไม่อย่างนั้นเราจะชำนาญได้อย่างไร?

เวลาเราเดินจงกรมทั้งวันเลย นี่พอสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมงก็ลงสมาธิสักหนหนึ่ง เดี๋ยวมันก็คลายออกมาก็เดินจงกรมต่อไป ถ้าเดินจงกรมต่อไปนะ ถ้ามันลงสมาธิอีก เห็นไหม วันหนึ่งถ้าเดินจงกรมทั้งวันมันลงสมาธิ ๓ รอบ ๔ รอบ คำว่า ๓ รอบ ๔ รอบจิตมันเริ่มชำนาญแล้วนะ

สมาธิครั้งที่ ๑ มันทำได้ยากมาก สมาธิครั้งที่ ๒ ทำได้ง่ายขึ้น สมาธิครั้งที่ ๓ มันไม่ค่อยยอมลงแล้ว เพราะมันรู้ทัน เราก็ทำให้มันลงได้ เห็นไหม ในสมาธิ ๓-๔ หน อุปสรรคแต่ละหนแตกต่างกัน แตกต่างกันว่าหนึ่งรู้ทัน พอกิเลสมันรู้ทันมันก็ตั้งขวากหนามให้มากขึ้น เวลากิเลสมันเผลอก็ลงสมาธิได้ง่าย ถ้ากิเลสมันตื่นนอนขึ้นมานะ ทำอย่างไรก็ไม่ลง สมาธิทำจนตายก็ไม่ลง

นี่ทำสมาธิในวันเดียว ในหนึ่งวันลงสมาธิ ๓ หน ๔ หน ในเหตุปัจจัยก็ไม่เหมือนกัน จะอย่างไรก็ไม่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพราะมันไม่เป็นปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันนี่เหมือนกัน ฉะนั้น เรามีความชำนาญ เห็นไหม เราฝึกฝน ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ ปากกัดตีนถีบอยู่อย่างนี้ แต่พอมันหนที่ ๑ หนที่ ๒ หนที่ ๓ มีความชำนาญการ ประสบการณ์มันฝึกฝนขึ้นไปมันก็ไม่ตื่นเต้นใช่ไหม?

เหมือนผู้ที่ชำนาญการเขาไม่ตื่นเต้นหรอก อุปสรรคเล็กน้อยก็ยิ้มทำได้ อุปสรรคใหญ่โตขึ้นมา อื้อฮือ.. คราวนี้หนักเว้ย แต่ก็แก้ไขได้ ทุกอย่างต้องแก้ไขได้ เพราะว่ามันเป็นอุปสรรคในใจของเรา มันเป็นเหตุที่เราจะต้องแก้ไข ต้องมุมานะบากบั่นมันไป

ฉะนั้น ถ้าเรายิ่งไปเครียด ไปทึกทักเอากับมัน อุปสรรคนั้นจะเพิ่มเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ใหญ่โตจนเลิกดีกว่า กลับบ้านนอนดีกว่า ทำทำไมให้มันทุกข์มันยาก เห็นไหม นั่นล่ะมันเข้าทางกิเลสหมดเลย แต่คนเรามันก็อย่างนี้ มันอยู่ที่เชาว์ปัญญา อยู่ที่อำนาจวาสนาว่าเราจะแก้ไขอย่างไร? เราจะแยกแยะอย่างไร? ถ้าคนที่มีหลักมีเกณฑ์มันก็แก้ไขหลบเลี่ยงของมันไปได้

นี่พูดถึงว่า เวลาเราภาวนาจิตมันสงบแล้วเราก็นึกกาย นึกต่างๆ ฝึกอย่างนี้ถูกหมดเลย สิ่งที่ทำนี่ถูกแล้ว แต่พอถูกแล้วมันก็เหมือนเด็ก เด็กถ้านั่งเรียบร้อยนี่ดีไหม? ดี แต่เด็กกลับบ้านถูกไหม? เด็กถ้าพ่อแม่ไม่พากลับบ้านมันกลับไม่เป็นนะเนี่ย ถ้าพ่อแม่ไม่พากลับ มันกลับไม่ได้หรอก เด็กเรียบร้อยอย่างนี้ถูกไหม? ถูก แล้วผู้ใหญ่ล่ะ? ผู้ใหญ่เรียบร้อยถูกไหม? ถูก แล้วผู้ใหญ่จะมีความรับผิดชอบต่อเนื่อง ต่อเนื่องกันไป

การภาวนา เห็นไหม จิตสงบแล้วพิจารณากายถูกไหม? ถูก! แล้วจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ถูกแล้วจะอยู่ตรงนี้หรือ? จะเป็นเด็กทั้งชาติไม่โตเลยหรือ? เป็นไปไม่ได้หรอก เป็นเด็กแล้วจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาจะมีครอบครัวขึ้นมา จะอะไรต่างๆ ขึ้นมา ต้องรับผิดชอบขึ้นมา ต้องบริหารจัดการของเราขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตได้พัฒนาการขึ้นไป ใครก็บอกว่าเป็นอุปสรรค มีปัญหา มีปัญหา.. ยัง ปัญหาที่หนักกว่านี้รออยู่ข้างหน้า ยังอีกเยอะนัก ที่พูดนี้ไม่ให้ถอดใจนะ เวลาพูดนี่กลัวจะถอดใจ กลัวจะถอดใจ อย่าถอดใจ ถ้าพูดถึงมันเข้มแข็งขึ้นไปแล้วนะ เห็นไหม อุปสรรคเอาไว้ให้เราแก้ไข ยิ่งมีอุปสรรคมากนะ..

เราสังเกตได้ ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนที่ปฏิบัตินะ อุปสรรควิกฤติมากแล้วผ่านมาได้นะ โอ้โฮ.. เวลาเทศนาว่าการนี่พั่บๆ พั่บๆ เลย เพราะอะไร? เพราะว่าประสบการณ์ใจอันนั้น แต่ถ้าองค์ไหนนะปฏิบัติแล้วเรียบง่าย เวลาเทศนาว่าการนะมันก็บอก อื๊อ อื๊อ.. ยิ่งใครเจอปัญหานะ เอ๊อะ.. เราไม่เคยเจอ เราไม่เคยเห็น แต่ถ้าคนผ่านอุปสรรคมานะ โอ๋ย.. อุปสรรคมึงหรือ โธ่.. ขี้เล็บ ของเรามากกว่านั้น

นี่ถ้าคนผ่านอุปสรรคมา แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านอุปสรรคมามากนะ ส่วนใหญ่นี่ลื่นเลย เพราะอะไร? เพราะใจมันประสบมา ใจมันแก้ไขมา ถ้าใจไม่แก้ไขมา อุปสรรคของแต่ละคนที่มันมา เวลามาพูดให้อาจารย์ฟัง อาจารย์นั่งอ้าปากนะ อ้าปากเลย เฮ๊อะ.. กูไม่เคยเห็น ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้เรื่อง ยิ่งถ้าไม่เป็นนะ ลูกศิษย์มาพูดนี่ตายเลย

ฉะนั้น เราทำของเรา ไอ้ที่ทำมานี้ถูกไหม? ถูก.. แล้วพอมันมีเวทนาเราจะไปที่เวทนานั้นเลยหรือ? เวทนานี่ ถ้าไปที่เวทนา เวทนาเจ็บหลายเท่าเลยล่ะ เพราะจิตมันอ่อนอยู่แล้วใช่ไหม? แต่ถ้าจิตแข็งแรงมันจะไปที่เวทนาก็ได้ ถ้าจะไปที่เวทนา ถ้าจะไม่ไปเราก็สู้นะ ทำมานี่ ถ้าไม่ทำอะไรเลยเราก็ไม่รู้อะไรเลย พอเราทำขึ้นมานะอุปสรรคมันมีอย่างนี้ ทีนี้มีอย่างนี้นะเราค่อยๆ แก้ไป

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมาถูกไหม? ถูก ถูก ถูกทั้งนั้น สิ่งที่ทำมาแล้วนี่ เพราะถูกหมายถึงว่า ถ้าไม่ถูกมันจะไม่มีเหตุมีผลไง ถ้าไม่ถูก อย่างสมมุติว่าเราพิจารณากายจนใจมันปล่อยนี่มันจะไม่มี ถ้าจิตไม่สงบนะมันจะไม่มีอะไรตอบสนองเลย มันก็เหมือนมืดๆ ตื้อๆ อยู่อย่างนี้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะรู้ มันจะเห็น มันจะแยก มันจะแยะเข้าไป มันมีเหตุมีผลของมัน ถูกผิดแล้วเราค่อยแก้ไข ถูกผิดแล้วเราค่อยมีความชำนาญขึ้นไป มันจะดีขึ้นไป

อันนี้ปัญหาหนึ่งนะ เข้าทางแล้วล่ะ

ถาม : ๕๒๔. เรื่อง “ระหว่างการบวชชี และการเป็นโยมไม่โกนผม ถือครองศีล ๘ ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่วัดปฏิบัติธรรม”

ขอเรียนปรึกษาหลวงพ่อค่ะ..

(เรียนปรึกษา มันจะเอาไอ้นั่นน่ะอะไรนะ เอาระเบิดมาโยนใส่ มาขอปรึกษา)

๑. โยมได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมมาพอสมควร จนจิตพัฒนาไประดับหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากได้ฟังธรรมเทศนาของท่านในเว็บไซต์มาตลอด ซึ่งช่วยให้การปฏิบัติภาวนาของโยมเจริญก้าวหน้าไปด้วยดี ทั้งมีความเพียร ความอดทน สติ สมาธิ และปัญญา ด้วยเหตุนี้จึงมักมีคนถามอยู่บ่อยๆ ว่า “เมื่อไหร่จะบวชชี” จึงอยากขอเรียนปรึกษาท่านว่า ระหว่างการบวชชี กับการเป็นโยมปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาวไม่โกนผม ถือพรหมจรรย์ รักษาศีล ๘ บวชใจอยู่วัดปฏิบัติธรรมไปตลอดชีวิต อย่างไหนดีกว่ากัน และให้ผลการภาวนามากกว่ากัน

๒. ที่วัดท่านปัจจุบันมีแม่ชีและนักปฏิบัติธรรมหญิงประจำอยู่หรือไม่ และเคยมีปัญหาในการปกครองนักบวชทั้งสองประเภทนี้บ้างหรือไม่อย่างไร

๓. ระหว่างแม่ชีกับโยมที่ปฏิบัติธรรม ในทัศนคติของเจ้าอาวาสท่านพิจารณาว่าเห็นเป็นอย่างไร (มันเอาระเบิดมาโยนใส่)

๔. เท่าที่ทราบ วัดป่าส่วนมากไม่ค่อยพิจารณารับแม่ชี แต่จะเป็นนักปฏิบัติธรรม จะยอมรับมากกว่าแม่ชีเพราะเหตุใด

๕. เคยฟังเทศน์ของหลวงตามหาบัวว่า ท่านไม่อนุญาตให้แม่ชีอยู่ประจำวัดที่บ้านตาด ต่อมามีแต่แม่ออกนุ่งขาวห่มขาว อยู่ปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก และปฏิบัติธรรมได้ดีเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปปฏิบัติภาวนาที่วัดป่าบ้านตาดมาตลอด แต่ตอนหลัง.. (เขาว่านะ)

๖. อุบาสิกาในความหมายของพุทธบริษัท ๔ หมายถึงหญิงที่นับถือพุทธศาสนา จะถือครองศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ได้ใช่หรือไม่ แม่ชีถือเป็นนักบวชหรืออุบาสิกา

๗. เมื่อฆราวาสปฏิบัติธรรม ทำความเพียรจนบรรลุธรรมถึงขั้นอนาคามิผล หรืออรหัตผล จำเป็นต้องบวชเป็นพระหรือชีหรือไม่

๘. ปัจจุบันฆราวาสที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ต้องบวชเป็นพระเป็นชี มีหรือไม่

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. นี่ขนาดว่าจะบวชชีทีนะ มีความคิดขนาดนี้เลยล่ะ แล้วถ้าไม่บวชคงไม่มีปัญหาเลยเนาะ

ข้อ ๑. โยมเข้าวัดปฏิบัติธรรมแล้ว.. ข้อ ๑. เขาว่าเข้าวัดปฏิบัติธรรมมาพอสมควร จนเขาถามว่า “ควรบวชชี” แล้วบวชชีกับไม่บวชชีมันแตกต่างกันอย่างใด?

ถ้าไม่บวชชีใช่ไหม เราก็มีหน้าที่ของเรา การเป็นนักบวชนี่มันพ้นจากภาระทางโลก คำว่าภาระทางโลก เห็นไหม ภาระทางโลกคือเราต้องทำมาหากิน เราต้องดำรงชีวิตของเราในทางโลก แต่ถ้าเราเป็นนักบวช เราเป็นนักบวชนี่เราอาศัยอยู่ได้ ถ้าเราเจอหมู่คณะ เจอครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะดูแลเรานะ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่ดี หรือครูบาอาจารย์ที่ไม่.. นี่เราบวชชี

ส่วนใหญ่พวกในวงการของแม่ชี เขาบอกเลย “บวชชีนี่ไปเป็นขี้ข้าให้พระ เพราะบวชชีแล้วต้องไปทำสวนทำไร่ ไปทำครัวให้พระกินข้าวไง”

เขาพูดกันอย่างนั้นนะ โลกเขาพูดกันอย่างนั้นเราก็พูดตามโลกเขา เราไม่ได้ว่า โลกเขาว่า เขาบอกผู้หญิงบวชชีนี่ไปเป็นขี้ข้าพระ คำว่าขี้ข้าพระเพราะเขาดูทางโลกไง ทางโลก เห็นไหม ดูสิคนไปทำงานเขาก็ยังมีผลตอบแทนใช่ไหม? ไอ้นี่ไปอยู่วัดอยู่วาไม่มีผลตอบแทน ไปเป็นขี้ข้าพระ แต่ถ้าพูดถึงคนศรัทธาล่ะ? คนที่เขาหวังบุญกุศลล่ะ?

ถ้าเขาหวังบุญกุศลใช่ไหม เขาไปอุปัฏฐากพระ เห็นไหม ดูสิอย่างเช่นครูบาอาจารย์ นี่เขาแย่งกันนะ แย่งกันเข้าไปอุปัฏฐากเพื่อเขาจะเอาบุญของเขา แต่เรามองผลประโยชน์ในทางวัตถุไง เรามองผลประโยชน์ในผลตอบแทนทางโลกใช่ไหม? แต่เราไม่มองผลตอบแทนทางธรรม ถ้าผลตอบแทนทางธรรม เห็นไหม ไปเป็นขี้ข้าพระหรือ? แล้วถ้าเกิดจิตใจเขาเป็นธรรมล่ะ? เขาไปอุปัฏฐากพระ เขาแสวงหาบุญกุศลของเขา เขาพอใจของเขา อันนั้นเป็นขี้ข้าหรือเปล่า? เป็นขี้ข้าทำไมเขาวิ่งแสวงหากันล่ะ?

กรณีอย่างนี้ มันเหมือนกรณีที่ว่าเวลาหลวงตาท่านพูดอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดไง เวลาทำงาน เห็นไหม ทำข้อวัตร พระนี่หายหัวไปหมดเลย แต่เวลาฉันน้ำร้อน สุมหัวกันเต็มไปหมดเลย แล้วท่านก็บอกว่า “ภัตกิจ เวลาฉันอาหารก็เป็นกิจ”

กิจคืองาน ถ้าใจเราเป็นธรรมนะ ทำงานก็คืองาน การกินอยู่นั่นก็คืองาน แต่เราบอกว่า การกินอยู่นั่นไม่ใช่งาน มันสุข มันอร่อย แต่เวลาการหาบของหนักมันเป็นงาน แล้วกินไม่เป็นงาน เพราะจิตใจเราแบ่งแยกไง จิตใจเราเลือกไง แต่ถ้าคนจิตใจเขาเป็นธรรมเขาไม่มองอย่างนั้น ภัตกิจนะ ทำภัตกิจ พระกำลังทำภัตกิจอยู่ พระไม่ได้ฉันอาหารอยู่ ทำกิจกรรมรักษาร่างกายนี้อยู่ เห็นไหม คนถ้าจิตใจที่เป็นธรรม

ฉะนั้น บวชเป็นชี กับเป็นนักปฏิบัติ.. เพียงแต่เราว่าเราเห็นการปฏิบัติเป็นหลักใช่ไหม? ถ้าบวชเป็นชี คำว่าบวชชีเราต้องบอกว่าต้องไปเจอหมู่คณะ เจอครูบาอาจารย์ เจอสำนักที่ดีนะ ถ้าเจอสำนัก นี่เราบอกเลยแม่ชีกับภิกษุณี เขาจะเถียงเรื่องนี้กันมากว่า “บวชภิกษุณีแล้วมันจะดีกว่าแม่ชี เพราะมีกฎหมายรองรับ เพราะเป็นบริษัท ๔”

พอบวชเป็นแม่ชี เห็นไหม เขาถือว่าเป็นอุบาสิกา มันไม่มีกฎหมายรองรับ อันนี้เป็นรูปแบบนะ เราบอกว่าชามข้าวมันควรจะมีข้าว เราไม่ได้เถียงกันที่ชามข้าว เราเถียงกันที่ข้าว ถ้าเราไม่มีชามข้าวเรามีแต่ใบตอง แต่เรามีข้าวทุกมื้อเลย กูว่าใบตองดีกว่าชามเว้ย เพราะชามมันชามเปล่าๆ มึงกินชามไปสิ

นี่ก็เหมือนกัน รูปแบบ รูปแบบคือว่าภิกษุณีหรือแม่ชีไง มันก็เป็นรูปแบบ มันก็แค่ภาชนะ แล้วในภาชนะนั้นมันมีอาหารหรือเปล่าล่ะ? มีไหม? ฉะนั้น เราเป็นแม่ชี เป็นนักบวชหรือเป็นอะไร ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมานะ จะเป็นใบตอง จะเป็นกะลา แต่โอ้โฮ.. ข้าวเต็มทุกวันเลย กูเอาน่ะ!

คือเราควรปฏิบัติเอามรรค เอาผลของเราดีกว่า เราควรจะทำความจริงของเราขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา ให้เกิดความเป็นจริงขึ้นมาอันนี้สำคัญกว่า ฉะนั้น เราไม่ไปมองที่รูปแบบ ฉะนั้น ว่าเป็นแม่ชีกับนักปฏิบัติธรรม เพียงแต่เราพิจารณามีอยู่ประเด็นเดียว ประเด็นหนึ่ง แม่ชีถ้าเป็นวัดที่เขาให้เราปฏิบัติ เป็นนักบวชมันได้ปฏิบัติตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นฆราวาสเราได้ปฏิบัติเป็นครั้งเป็นคราว เพราะเราต้องมีหน้าที่การงานในการดำรงชีวิต เห็นไหม

ในพระไตรปิฎกบอกว่า “ทางของภิกษุนี้กว้างขวางมาก” เพราะทางของภิกษุในการประพฤติปฏิบัติได้ ๒๔ ชั่วโมง พระเราฉันเสร็จนี่ไปแล้ว แล้วเดินจงกรมจนบ่ายโมงมาฉันน้ำร้อน ตกเย็นมาทำข้อวัตร แล้วก็อยู่อย่างนี้ คืนนี้ทั้งคืน นี่วัตรปฏิบัติของเราทั้งวันเลย พระอยู่ที่นี่ปั๊บเราเป็นหัวหน้า เรารับผิดชอบหมดเลย ใครจะมานี่อยู่ที่เรารับผิดชอบ ใครจะเข้าจะออกเรารับผิดชอบคนเดียว แล้วก็มีเวรมาเข้าเป็นครั้งๆ แต่พระนี่ไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง

นี่ทางของภิกษุกว้างขวาง กว้างขวางเพราะได้ปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะทำงาน เห็นไหม เช้าก็ไปทำงาน เย็นขึ้นมาก็กว่าจะทำวัตรนั่งสมาธิ นั่งสมาธิตอนหัวค่ำ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะทำงานก็รีบนอน นอนตื่นขึ้นมาตี ๔ ก็นั่งอีกนิดหนึ่ง เช้าก็รีบไปทำงาน คับแคบแค่นี้ไง ได้ตอนหัวค่ำกับตอนเช้า ตอนกลางวันทำงานทั้งวัน คับแคบเพราะหน้าที่การงานมันแบ่งไปถึงกับ ๓ ใน ๔

แต่ถ้าเป็นนักบวช แต่เราต้องบอกว่าต้องเจอวัดดีนะ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ถ้าไม่เจอครูบาอาจารย์ที่ดี นี่เราถึงพูดเรื่องพระบ่อย พอคุยกับพระนะ หงส์ในฝูงกา หรือกาในฝูงหงส์ เวลาบวชใหม่เหมือนหงส์นะ พระภิกษุบวชใหม่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนหงส์ แต่เข้าไปอยู่ในฝูงกา ฝูงกาคือพระทุศีล พระภิกษุองค์นั้นลำบากมาก

นี่หงส์ในฝูงกา แต่ถ้าเราไปเจอกาในฝูงหงส์นะ เราบวชใหม่ก็จริงอยู่ เราเหมือนกับหงส์ แต่ถ้าบวชใหม่โดยกิเลส กิเลสนี้เป็นกิเลสมันครอบคลุมอยู่ นี่เหมือนกา แต่ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดีเหมือนหงส์ ถ้ากาในฝูงหงส์ กามันจะพัฒนาตัวมัน มันจะพยายามฝึกฝนตัวมันให้เป็นหงส์ แต่ถ้าเราเจอภิกษุทุศีล เราเป็นหงส์นะบวชใหม่ๆ นี่สะอาดบริสุทธิ์มากเลย แต่เขาทำกัน เขาพากันไปแหลกเหลวนะ หงส์นั้นกลายเป็นกา หงส์ที่สะอาดบริสุทธิ์นั้นเสื่อมหมดเลย ทุศีลไปกับเขาได้ ถ้ากาในฝูงหงส์นะ แต่ถ้าหงส์ในฝูงกาล่ะ?

ฉะนั้น ถ้าเจอวัดที่ดีนะ ถ้าเจอวัดที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี เราบอกเป็นแม่ชีดีกว่าคฤหัสถ์แน่นอน ต้องเจอวัดที่ดีนะ ถ้าเจอไม่ดีนี่โอ้โฮ.. พอบวชเข้าไปเชื่อหลวงพ่อ บวชเข้าไปแล้วถ้าเชื่อหลวงพ่อนะ เพราะหลวงพ่อเคยเป็นอย่างนี้มาก่อน หลวงพ่อบวชเป็นพระครั้งแรก มั่นใจมากว่าพระต้องดีมากๆ เลย

ด้วยแบบว่าตั้งสัจจะไว้ บ้าบิ่นมาก บวชเข้าไปนี่ถือเนสัชชิกเลย ถือธุดงค์ ๑๓ เลย โอ้โฮ.. ก็คิดว่าเข้าไปทำดีต้องได้ดีไง พอเกือบๆ ออกพรรษาสังเกตดู เอ๊ะ.. ทำไมเราโดนเขาอย่างนี้ สุดท้าย อ๋อ.. ทำดีต้องมีกาลเทศะ.. กาล สถานที่ บุคคล ทำดีเนี่ย ถ้าทำดีไม่ดูกาล สถานที่ บุคคล ไอ้คนทำดีนี่แหลก แหลกเหลวเลย

ฉะนั้น เราถึงพูดตรงนี้ แต่ต้องเจอวัดที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี เราว่าบวชชีดีกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เราเป็นนักปฏิบัติธรรมไปก่อนแล้วดูให้แน่ใจ ถ้าแน่ใจแล้วค่อยว่ากัน นี่ข้อที่ ๑. โอ้โฮ.. นี่ข้อเดียวนะเนี่ย

ถาม : ข้อ ๒. ที่วัดท่านปัจจุบันมีแม่ชีและนักปฏิบัติธรรมหญิงประจำอยู่หรือไม่ และเคยมีปัญหาในการปกครองนักบวชทั้งสองประเภทนี้บ้างหรือไม่

หลวงพ่อ : คนๆ เดียวมันยังทะเลาะกันเลย อย่าว่าแต่สองคน คนเดียวนี่ วันนี้ตอนเช้าๆ แหม.. เดี๋ยวฉันข้าวเสร็จจะภาวนาทั้งวันเลยนะ พอไปเดินจงกรม ๒ นาที นอนก่อนดีกว่า บอกว่าคืนนี้จะเนสัชชิกนะ บอกว่าคืนนี้ไม่นอนเลยนะ พอเดินไป ๒ ทีมันเข้ามุ้งนอนแล้ว

คนเดียวมันยังทะเลาะกันเลยอย่าว่าแต่สองคน แล้วถ้าสองคนขึ้นไปมันจะไปเหลืออะไร คนเดียวแท้ๆ ตั้งสัจจะไว้เต็มที่เลยว่าจะทำ แล้วมันมุดลงนอนทุกทีเลย ไม่เห็นมันไปรอดสักที แหม.. ในวัดท่านนักบวช ๒ ประเภทนี้ปกครองอันไหนยากที่สุด ปกครองตัวเองยากที่สุด ปกครองตัวเองนี่แหละ พยายามให้ตัวเองภาวนานี่ยากที่สุด เพราะตั้งสัจจะขนาดไหนมันก็แถ มันแถทั้งนั้นเลย มันไม่ยอมปฏิบัติจริงตามที่มันตั้งสัจจะสักที เห็นไหม

“ในปัจจุบันที่วัดท่านมีทั้งแม่ชีและนักปฏิบัติ มีปัญหาหรือไม่”

มีปัญหาจะต้องจับขังคุก นี่พูดถึงปัญหามันมีทุกที่แหละ มีมาก มีน้อย มีแล้วนี่ถ้าคนเป็นธรรมนะ ถ้าคนเป็นธรรมแล้วมันต้องแก้ไข แล้วคนเป็นธรรมมันก็มีเวรมีกรรมนะ นี่มันมีอยู่ พระในสมัยพุทธกาลองค์หนึ่ง แปลกนะ ไปนั่งอยู่ที่ไหนนะคนจะมองว่ามีผู้หญิงอยู่กับท่าน มีผู้หญิงอยู่กับท่าน จนร่ำลือไปหมดเลย พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แปลกใจสงสัย แอบซุ่มไปดู

พระเจ้าปเสนทิโกศลแอบซุ่มไปดูนะ เอ๊ะ.. เห็นพระองค์นี้นั่งอยู่ แล้วนั่งอยู่กับผู้หญิง เดินย่องเข้าไปพิสูจน์ เข้าไปถึงไม่มี อยู่องค์เดียว ถอยหลังออกมานะ อ้าว.. มีอีกแล้ว จนพระเจ้าปเสนทิโกศล นี่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไง แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนี้ พอทำอย่างนี้ปั๊บนะ พระพุทธเจ้าบอกว่ากรรมเก่าของเขาตั้งแต่อดีตชาติไง

มีอยู่ชาติหนึ่งสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ไปกล่าวตู่เรื่องนี้กับพระไง ไปใส่ร้าย ไปใส่ร้าย พอมันเป็นอย่างนั้น พอใส่ร้ายนี่มันไม่จริงใช่ไหม ก็เห็นสภาวะแบบนั้น พอสภาวะแบบนั้นปั๊บนี่คนเป็นธรรม เราถึงบอกว่า คำว่าคนเป็นธรรมๆ นะ ท่านบอกว่าถ้าวางไว้อย่างนี้ พระองค์นี้จะทุกข์ไปตลอดชีวิตเลย เพราะจะโดนคนใส่ความไปทั้งชาติ เพราะมันมีภาพอย่างนี้จริงๆ แต่เข้าไปแล้วมันไม่มี มันเหมือนมีเงา เหมือนผู้หญิงอยู่ข้างหลัง

อยู่ในพระไตรปิฎก พระเจ้าปเสนทิโกศลไง ฉะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงสร้างกุฏิไว้ในราชวังเลย แล้วนิมนต์ท่านไปอยู่ที่นั่น คือตัดปัญหาไง ตัดปัญหาว่าถ้าอยู่ในสังคมนะตาย โดนเพ่งโทษทั้งชาติมึงตายแน่ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลเลยสร้างกุฏิไว้แล้วให้พระองค์นี้มาอยู่ เพราะว่าถ้าใครพูดอย่างไรก็เรื่องของเขาใช่ไหม เพราะท่านรู้

พระเจ้าปเสนทิโกศลไปปรึกษาพระพุทธเจ้าแล้ว ถามพระพุทธเจ้าว่าสิ่งนี้มันเกิดเพราะอะไร? เหตุที่เกิดกับพระองค์นี้มันเป็นเพราะอะไร? แล้วมันเป็นมาอย่างนี้มันเป็นเพราะเหตุใด? แล้วที่มาอย่างนี้มันมาอย่างใด? แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เลยไปสร้างกุฏิไว้ อยู่ในพระไตรปิฎก

นี่ถ้าอย่างนี้แก้อย่างไร? ไอ้พวกเราก็จับสึกเท่านั้นแหละ มึงอยู่กับผู้หญิงใช่ไหม สึก สึกอย่างเดียว นี่เพราะเราแก้ปัญหาปัจจุบันไง เราไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้เรื่องเวรเรื่องกรรม มันมีเวรมีกรรมอะไรกันมา ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้มันเป็นอย่างนี้..

นี่พูดถึงว่าวัดท่านมีปัญหาไหม? มี มีเยอะแยะเลย เดินตัวเองยังล้มเลย ก้อนหินในวัดยังเป็นอุปสรรคเลย พอเดินไปสะดุดล้ม อย่าว่าแต่คน ก้อนหินนี่กูเดินไปยังสะดุดล้มเลย.. มีทุกที่ พอมีทุกที่นี่มีมาก มีน้อย แล้วมีแล้วนี่ หลวงตานะ ถ้าเวลาเราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่า

“พยายามให้ดูใจตัว พยายามให้ดูใจตัว ไม่ใช่หน้าที่ มีอะไรให้บอกท่าน”

เมื่อก่อนอยู่กับพระเยอะๆ นะ ท่านบอกว่า “หมู่คณะให้สอนกัน” แต่สอนไปสอนมามันก็ไม่ไหว เพราะว่าคนที่มันไม่เป็นธรรม คนไม่เป็นธรรมมันมีปัญหานะ ถ้าคนเป็นธรรมนี่ใจเขาใจเรา โดยธรรมชาตินะ เราไม่ชอบสิ่งใด คนอื่นก็ไม่ชอบสิ่งนั้นเหมือนกัน ทุกคนนะเราเกลียดทุกข์ อยากได้มีความสุขเหมือนกัน ถ้าอย่างใดก็แล้วแต่ที่เราไม่ชอบ เราก็อย่าไปทำคนอื่นเท่านั้นแหละ

ใจเขาใจเราไง เราไม่ชอบอะไรคนอื่นก็ไม่ชอบอย่างนั้นแหละ เราชอบอะไรคนอื่นก็ชอบอย่างนั้นแหละ ถ้าเราชอบอะไรนะให้เขาสิ อะไรอร่อยให้คนอื่นเลย อะไรดีให้คนอื่นก่อน เราชอบอย่างไรคนอื่นก็ชอบอย่างนั้นแหละ ถ้าเราไม่ชอบอย่างไร คนอื่นก็ไม่ชอบอย่างนั้นแหละ ฉะนั้น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งใดเราอย่าไปทำคนอื่น นี่สุดยอดเลย คือรักษาใจตัวให้ได้

ถาม : ข้อ ๓. ระหว่างแม่ชีกับโยมที่ปฏิบัติธรรม ในทัศนคติของเจ้าอาวาสท่านพิจารณาเห็นเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : ในทัศนคติของเจ้าอาวาสนะ มันก็อยู่ที่เจ้าอาวาสนั้นเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมอีกแหละ ถ้าเจ้าอาวาสนั้นเป็นธรรมนะ ท่านเห็นแม่ชีทุกๆ คนว่ามีศักดิ์ศรีเท่ากับแม่ชี แต่ถ้าเจ้าอาวาสนั้นไม่เป็นธรรมนะ ถ้าแม่ชีไหนมีฐานะ แม่ชีนั้นจะมีสิทธิพิเศษ (หัวเราะ) ถ้าแม่ชีคนไหนทุกข์ทนเข็ญใจ แม่ชีนี้ต้องทำงานเยอะๆ

ในทัศนคติของท่าน ทัศนคติของเจ้าอาวาสจะเห็นเป็นอย่างไร? ถ้าเจ้าอาวาสท่านเป็นธรรมนะ ถ้าเจ้าอาวาสท่านเป็นธรรม เพราะฝ่ายการปกครอง เราอยู่กับหลวงตานะ เราจะยกหลวงตาประจำเพราะเราเป็นพระเด็กๆ เราอยู่กับหลวงตา ถ้าคนไหนภาวนาดี ภาวนาเป็น หลวงตาท่านจะกันออกไป

อย่างพวกเรานี่นะ เวลาคนไหนภาวนา แล้วถ้าได้คุยกับเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสรู้ว่าคนๆ นี้ หรือนักบวชคนนี้เขาภาวนาอยู่ แล้วเขากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม คนที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เราจะปกครอง ปกป้องคนนั้นอย่างใด?

แล้วคนที่ภาวนาไม่เป็น ภาวนาแล้วยังคลุกคลีกัน ระดับนี้ถ้ามีปัญหากระทบมันไม่เป็นไร แต่ถ้ากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เวลากระทบแล้วมันหลุดเลยไง นี่ด้ายจะร้อยเข็มอยู่ พอกระทบนี่เข้าด้ายเข้าเข็มมันจะร้อยอยู่ มันจะเป็นอย่างไร? มันก็เคลื่อนเลย แล้วจะปกครองอย่างไร?

กรณีอย่างนี้ เราอยู่บ้านตาด เพราะบ้านตาดนี่นักบวชเยอะ แล้วนักบวชมันเข้มข้น เราเจอปัญหานี้เยอะ นี่แล้วเราอยู่กับท่าน พอปัญหามันเกิดขึ้นมามันได้ประสบการณ์ไง ว่าอย่างนี้ท่านจะปกครองอย่างไร? ท่านจะกันอย่างไร? อย่างเรานี่เวลาเราไปคุยกับท่าน ท่านต้องรู้อะไรอยู่ อย่างเรานี่ด่าอย่างเดียว สอนเรา ปกครองเรานี่เช้าก็ด่า กลางวันก็ด่า เย็นก็ด่า กลางคืนยังตามไปด่าถึงกุฏิอีก (หัวเราะ)

ปกครองเรานี่เช้าก็ด่า เย็นก็ด่า กลางคืนก็ด่า ยังตามไปด่าที่กุฏิ ฝันยังฝันว่าโดนด่า แล้วปกครองอย่างไรล่ะ จะปกครองอย่างไร? กันไว้ไง ทีนี้มันมีคนรู้กับคนไม่รู้ เวลาคนรู้มันยังแซว เวลาตอนเช้าแจกอาหาร ให้พรนี่โดนด่าอยู่ พอเช็ดบาตรเสร็จพระมันยังแซว แหม.. วันนี้ยังได้กินข้าว นึกว่าไม่ได้กินข้าวแล้ว เพราะเอาตัวไม่รอดไง

แต่บางคนก็สงสัย สงสัยแต่เขาไม่รู้กับเราด้วยหรอก มันจะรู้ก็รู้แต่ผู้ที่โดนสอนนั้นกับผู้สอน ผู้สอนนั้นเป็นอย่างไร? แต่ความเข้าใจของเราว่าท่านกันเราไว้เลย กันเอาไว้ต่างหากเลย คือว่าไม่ให้มายุ่งกับใคร ด่าอย่างเดียว ด่าอย่างเดียว ไอ้คนก็ไม่กล้าเข้าใกล้เลยนะ ไอ้ตัวนี้อสรพิษ มันคงร้ายนัก มันโดนด่าเช้า กลางวัน เย็น มันโดนด่าทั้งวันเลย

นี้พูดถึงเจ้าอาวาส ถ้าเจ้าอาวาสเป็นธรรมนะ พอเราเข้าใจว่าความเป็นธรรมปั๊บมันก็ทำให้เราจิตใจเข้มแข็งนะ ถ้าทำให้เราไม่เป็นธรรมเราเสียใจนะ บางทีเราก็มี เราก็กิเลสเต็มตัว เราจะคนดีมาจากไหน? เวลาท่านด่ามากๆ น้อยใจนะ น้อยใจนี่ก้มเลย โฮ้.. โดนด่าน่าดูเลย โดนด่าประจานจนอายเขาทั่วบ้านทั่วเมือง ท่านหันมาเลยนะ

“อ้าว.. ก็ลูกศิษย์เรา เราไม่สอนลูกศิษย์เราจะไปสอนใครล่ะ?”

โอ้โฮ.. ใจมันพอง พอง พองขึ้นมา อู้ฮู.. พองใหญ่เลยนะ ทั้งๆ ที่ใจมันเสียใจจนนั่งคอตกแล้ว เวลาท่านด่าเสร็จท่านก็พูด “อ้าว.. ก็ลูกศิษย์เรา เราไม่สอนลูกศิษย์เรา เราจะไปสอนใคร”

แค่ลูกศิษย์เรานะ ใจมันก็อย่างนี้ อู้ฮู.. ใหญ่ใหญ่เลย นี่เขาเรียกว่าอย่างไร? หลวงตาท่านสอนว่าอย่างนี้ ท่านสอนว่า “เวลามีปัญหาเราก็ตีใช่ไหม เวลาห่างท่านก็ดึงไว้” เห็นไหม อย่างเราสอนลูก มันจะมีระยะห่างไง ถ้ามันเข้ามาเราก็ตีซะ พอมันน้อยใจมันจะไปก็ดึงไว้ซะ ไม่อย่างนั้นมันหนีออกจากบ้านนะ เดี๋ยวมันไม่อยู่บ้าน ก็ดึงไว้ซะ

นี่พูดถึงเวลาโลกใช่ไหม? แต่เราโดนกับตัวเรา โอ๋ย.. โดนเยอะมาก เราโดนเยอะมาก เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เราเข้าใจ เพราะเราเข้าใจว่าเราอยากศึกษาใฝ่รู้มาก พอใฝ่รู้ใช่ไหม พวกเราเป็นปุถุชนใช่ไหม คนใฝ่รู้เราว่าคนนั้นดีนะ แต่หลวงตาท่านไม่ใช่ ยิ่งใฝ่รู้ท่านยัดให้เต็มที่เลยไง ใฝ่รู้ใช่ไหม? ใฝ่รู้ก็สิบล้อดั้มพ์เลย โอ้โฮ.. รับไม่ไหว ปัญญาไม่เท่ากัน ปัญญาของคนไม่เท่ากัน ประสบการณ์ของคนไม่เท่ากัน วุฒิภาวะของคนไม่เท่ากัน

นี่พูดถึงทัศนคติของเจ้าอาวาสนะ ถ้าเราไปเจอเจ้าอาวาสดีนะ ท่านจะเห็นคนเท่ากับคน ถ้าเจ้าอาวาสจิตใจยังบกพร่องอยู่ก็จะลำเอียง ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะกลัวว่าเขาไม่ให้ นี่ทัศนคติของเจ้าอาวาส

ตรงนี้เราสงสารมากนะ นี่ไงถ้าพูดถึงตรงนี้ปั๊บหลวงตาท่านพูดบ่อยมากว่า “ผู้นำหายาก ผู้นำหายาก” สร้างผู้นำคนหนึ่งนี่หายาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียว เป็นครูสอนสามโลกธาตุตั้งแต่พรหมลงมาเลย ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นองค์เดียวสอนมาทั้งหมดเลย ฉะนั้น เจ้าอาวาสที่ว่าจริง เป็นเจ้าอาวาสจริงๆ นี่หาได้ยากมาก ส่วนใหญ่แล้วเราเจอแต่อาละวาด ถ้าเจ้าอาละวาดนี่วัดพัง มันอาละวาดทั้งวัดเลย เพราะมันได้สิทธิ์แล้ว

เรายังไม่เป็นเจ้าอาวาสเราเรียบร้อยมากเลยนะ พอเขาตั้งเป็นเจ้าอาวาสเท่านั้นแหละ หลวงตาท่านบอกไง ท่านไปได้ด็อกเตอร์ที่ขอนแก่น ท่านบอกว่าท่านกลับวัดไม่ได้แล้วเพราะท่านได้ด็อกเตอร์ พอออกไปนี่พังหมดเลยเพราะได้ด็อกเตอร์ไง พอมันได้แต่งตั้งแล้วมันลืมตัว ฟิวส์ขาด บ้าบอคอแตก

นี่พูดถึงทัศนคติเจ้าอาวาส พวกเราถึงได้ทุกข์กันอยู่นี่ไง พวกเราถึงหาที่พึ่งอาศัยกันได้ยาก ถ้าพวกเราหาที่พึ่งอาศัยกัน เราทุกข์กันอยู่ตรงนี้ไง เราทุกข์เพราะว่าเราสร้างบุญมาขนาดไหน? เราจะหาผู้นำที่ดีได้ที่ไหน?

นี่พูดถึงทัศนคติของเรานะ เรื่อง “ทัศนคติของเจ้าอาวาส” ในทัศนคติของเจ้าอาวาสก็ดูเจ้าอาวาสนั้น

ข้อ ๔. โอ้โฮ.. ไปใหญ่แล้ว

ถาม : ข้อ ๔. เท่าที่ทราบ วัดป่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับแม่ชี แต่เป็นนักปฏิบัติธรรมจะยอมรับมากกว่าแม่ชีเพราะเหตุใด

หลวงพ่อ : ก็เพราะเหตุนี้แหละ เพราะเป็นแม่ชีแล้วนี่ ความจริงมันหัวอกเดียวกันไง หัวอกนักบวชนี่ตัดหางปล่อยวัดแล้ว เขาตัดหางปล่อยวัดแล้ว ไม่มีทางไปแล้ว แล้วจะไล่ไปไหน? ไล่ออกจากวัดไปไปอยู่กับใคร? แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมใช่ไหม ถึงเขาทำผิดก็ให้ออกไป เขาก็ยังมีที่ไปของเขา เห็นไหม แต่ถ้าเป็นแม่ชีจะไล่ไปไหนล่ะ? จะไล่ไปไหน?

นี่มันแบบว่าถ้าใจเป็นธรรมเขากันไว้ จะบอกว่า เขาบอกว่าวัดป่าส่วนใหญ่ไม่มีแม่ชี แต่เราฟังพระพูดนะ เขาบอกวัดไหนมีแม่ชีวัดนั้นคือวัดป่านะ วัดป่านี่มีแม่ชี วัดบ้านไม่ค่อยมีแม่ชี มีแต่วัดป่าที่มีแม่ชี แล้วเขาบอกว่าวัดป่าไม่ค่อยรับแม่ชี

มันอยู่ที่ผู้นำ อยู่ที่ครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นไปดูที่หนองผือสิ หนองผือมันเป็นวัดของหลวงปู่มั่น แล้วแยกออกไปอีกอยู่ตรงข้าม นั่นล่ะวัดแม่ชี ท่านให้แม่ชีอยู่อีกส่วนหนึ่งของแม่ชีเลย ท่านให้แยกออกไปเลย ที่วัดป่าหนองผือ เห็นไหม วัดหลวงปู่มั่นอยู่ที่หนึ่ง แล้วแม่ชีห่างออกไปอีกประมาณเกือบกิโลหนึ่ง เป็นของแม่ชี แต่ท่านดูแลปกครองอยู่นะ แต่ให้มันห่างไว้อย่างนั้นเลย

นี่ถ้าใจเป็นธรรมนะ แล้วอย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านเอาแม่ของท่านมาอยู่พักหนึ่ง เห็นไหม แล้วก็เอาไปส่งคืน เพราะมันปกครองดูแล มันปกครองพอสมควร แต่นี้มันก็อย่างที่ว่า เวลาคนเขาอยากจะมาพัก อยากอาศัย ในทัศนคติว่าระหว่างแม่ชีกับนักปฏิบัติ.. นี่พูดถึงน้ำใจก่อนไง น้ำใจหมายถึงว่าความรู้สึก คนที่จะตัดสินเขามันต้องความรู้สึกเราก่อนว่าถ้าเป็นเขาเป็นเราล่ะ? ถ้าเป็นแม่ชีล่ะ? ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมล่ะ? เห็นไหม เวลาตัดสินมันตัดสินได้ง่ายกว่า

แล้วอย่างพระนี่ อ้าว.. พระผิดหรือ? ไล่ออกๆ ไล่ออกเลย ถ้าไล่ออกไปแล้ว.. นี่ก่อนเข้าพรรษามีโทรมาหลายองค์ โทรมาว่าจะมา ไม่ให้มา ไม่ให้มา ให้เขาไปอยู่วัดอื่นไง ถ้าพระมันเลวนัก ไม่มีวัดอยู่เลย แสดงว่ามึงเลวเกินไป ถ้าเป็นพระที่ดีมันต้องมีวัดอยู่บ้าง

ฉะนั้น นี่พูดถึงนักบวช ถ้าแม่ชี พูดถึงแม่ชีนะ พูดถึงดูสิผู้หญิงนี่น้อยใจทุกทีแหละ โอ้โฮ.. เกิดเป็นผู้ชายได้บวชเนาะ เกิดเป็นแม่ชีไม่ได้บวชพระนะ แล้วเกิดเป็นผู้ชายถ้ามันเป็นโจรล่ะ? ทำไมไม่อิจฉาผู้ชายที่เป็นโจรบ้างล่ะ? ผู้ชายที่มันไม่สนใจล่ะ?

มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เพราะว่าเวลาถึงที่สุดแล้ว มันเป็นแบบว่าสถานะของหญิงกับชาย มีพุทธศาสนานี่ยอดเยี่ยมที่สุดนะ ตั้งแต่สมัย ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ให้หญิงกับชายเท่ากัน คือให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้นี่ไม่มีหรอก เพราะสมัยโบราณ เรื่องหญิงกับชาย โอ้โฮ.. ช้างเท้าหน้า เท้าหลังอยู่ตลอดนะ พระพุทธเจ้าให้โอกาสมา ให้โอกาสเลยผู้หญิงบวชได้ตั้งแต่สมัย ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วนี่ ที่ไหนมี?

ทีนี้พอบวชมาแล้ว การปกครองดูแลใช่ไหม? แล้วพอมาสังคมไทย ในมหายาน เห็นไหม ในมหายานทั่วไปเขามีภิกษุณีเพราะเขาบวชกัน เพราะเขาถือเอาตามอาจริยวาท คือลงมติเห็นชอบว่าเอาเลย แต่เถรวาทเรามันขาดมาแล้ว พอขาดมาแล้ว พอภิกษุณีขาดไปแล้วนี่มันเหมือนกับไม่มีพ่อไม่มีแม่ มันจะมีลูกได้อย่างไร?

แต่พระมันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลใช่ไหม? พอไม่มีพ่อไม่มีแม่ มันจะเกิดลูกได้อย่างไร? อ้าว.. แล้วถ้ามันเกิดลูกไม่ได้ เกิดลูกไม่ได้ก็เกิดแม่ชีไง เรากลับชมนะ ชมว่าในเถรวาทเรา ครูบาอาจารย์ท่านยังมีปัญญา คือไม่ทิ้งผู้หญิงนะ ถึงบวชภิกษุณีไม่ได้ก็เอามึงมาบวชชีไง อ้าว.. มึงไม่คิดมุมนี้บ้างล่ะ?

เราบอกว่านักปราชญ์ไทยนี่สุดยอดเลย ในเมื่อภิกษุณีมันไม่มีใช่ไหม? ไม่มีอุปัชฌาย์ เพราะมันต้องบวชภิกษุณี แล้วมาบวชเป็นภิกษุ บวชในสงฆ์ ๒ ฝ่าย แล้วต้องสงฆ์ ๒ ฝ่ายรวมกันถึงบวชเป็นภิกษุณีขึ้นมาได้ ต้องบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วก็มาบวชในภิกษุสงฆ์ แล้วเอาภิกษุสงฆ์กับภิกษุณีสงฆ์รวมกัน แล้วญัตติขึ้นมาเป็นภิกษุณี.. แล้วนี่มันไม่มี ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ภิกษุณีสงฆ์มันไม่มี มีแต่ภิกษุสงฆ์ แล้วมึงจะบวชกันอย่างไร?

นี่พูดถึงถ้าคนมันเคารพธรรมวินัยใช่ไหม แต่ท่านก็ยังให้โอกาส ยังให้พวกเราบวชชีกัน ให้เป็นนักบวชเหมือนกัน แต่กฎหมายรองรับหรือไม่รองรับ นั่นมันเป็นเรื่องของเขา กูไม่เถียงกันเรื่องชามข้าว กูจะเถียงแต่ข้าว กูจะเอาแต่มรรคผล แต่กติกานี่ เพราะเราซื่อตรงกับตรงนั้นดีกว่า

นี่พูดถึงว่าระหว่างความเห็นของเราไง ระหว่างที่ว่าพระป่าเขารับแม่ชีหรือไม่รับแม่ชี กรณีอย่างนี้มันก็เป็นยุคเป็นคราว อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ในการมีผู้นำที่ดี ในการแสวงหาผู้นำที่ดี ถ้าเรามีผู้นำที่ดีนะ ปัญหาอย่างนี้ไม่เกิดเลย ถ้าผู้นำเราดีนะ ปัญหาที่เถียงกันนี้ไม่มี สิ่งที่เราเถียงกันอยู่นี้เพราะอะไร? เพราะประสบการณ์ไปเจอผู้นำที่มันขูดรีดพวกเราไง ทำให้พวกเราเจ็บช้ำน้ำใจกัน แล้วก็จะหาสิ่งที่ดีๆ กันอยู่นี่ เพราะประสบการณ์ของเรามันเป็นอย่างนั้นไง

ถาม : ข้อ ๕. เคยฟังเทศน์ของหลวงตามหาบัวว่า ท่านไม่อนุญาตให้แม่ชีอยู่ประจำวัดที่วัดป่าบ้านตาด ต่อมามีแต่แม่ออกนุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก และปฏิบัติธรรมได้ดีเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปปฏิบัติที่วัดป่าบ้านตาดมาตลอด แต่ตอนหลัง.. (ไม่เอา)

หลวงพ่อ : เห็นไหม มีนุ่งขาวห่มขาวไปปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก แล้วมันได้ผลด้วย ได้ผลด้วย คนหลั่งไหลไปปฏิบัติเยอะแยะเลย แล้วแม่ชีกับผู้ที่ปฏิบัติธรรมแตกต่างกันตรงไหนล่ะ?

ไอ้ตรงนี้เราพูดไปเพื่อสิทธิของผู้ปฏิบัตินะ เราพูดถึงสิทธิของผู้ปฏิบัติ เราพูดถึงหัวใจของผู้ปฏิบัติ ไอ้กรณีสังคมโลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด สังคม ปัญหาสังคมมันไม่จบหรอก นี้ปัญหาสังคมเป็นส่วนปัญหาสังคม เราเกิดเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอยู่กับสังคมนั้นอย่างใด? ถ้าเราจะอยู่กับสังคมนั้น ชีวิตเราจะมีค่ากว่าทุกอย่าง เราต้องเลือกของเราเพื่อประโยชน์กับเราเองนะ

ฉะนั้น ที่วัดป่าบ้านตาด ที่ปฏิบัติได้ดีมาก แล้วผู้ปฏิบัติได้ผลมากเพราะอะไร? เพราะผู้นำดีจริงๆ ไง ผู้นำดีจริงๆ เห็นไหม ดูสิเวลาหมอเขาตรวจไข้ เขาจะบอกเลยว่าเป็นไข้นั้น เป็นไข้นั้น เป็นไข้นั้น แล้วเรารักษาตามไข้ได้ตามความเป็นจริง มันก็ปฏิบัติแล้วได้ผลไง แต่ถ้าไปหาหมอนะ ปวดท้องมันก็จะผ่าสมอง ปวดสมองมันก็จะเจาะเท้า อย่างนี้มันภาวนาตายแน่ๆ เลย เขาปวดท้องมันจะผ่าตัดสมอง พอบอกว่าเส้นเลือดแตกมันบอกจะเจาะเท้าหาย มึงภาวนาไปเถอะ มึงภาวนาไปแล้วโรคมันจะหาย

แต่เพราะที่บ้านตาดท่านภาวนาแล้วมีผู้ปฏิบัติได้จำนวนมากเลย มันอยู่ที่ครูบาอาจารย์นะ ถ้าไม่วิกฤติ ไม่วิกฤติจนเสียหาย ท่านจะไม่พูดให้เสีย เออ.. ใช้ได้ ทำไปก่อน ทำไปก่อน แต่ถ้าวิกฤติมันจะเสียหายนี่ท่านใส่เลย เพราะการที่เราจะปฏิบัติเหมือนเด็ก เด็กมันเดินไปมันมีผิดบ้างเป็นธรรมดา คนภาวนาจะไม่ผิดเลยนี่ไม่มีหรอก จะผิดมากผิดน้อยมันมีทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น พอผิดก็ประสบการณ์ของเขาไง พอผิดไปแล้วจะมาถูก ไหนว่าถูก ตอนผิดไหนว่าถูกล่ะ? อ้าว.. ก็ให้เราประสบการณ์ได้ก่อนไง ถ้าพูดถึงครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ เหมือนสอนเด็กเลย เด็กต้องเดินอย่างนี้นะ เหมือนหุ่นยนต์เลย บังคับเด็กตายตัวเลย เด็กมันจะไปได้ไหม? เด็กไม่ใช่หุ่นยนต์ เด็กมันเป็นเด็กของมัน มันมีการเคลื่อนไหวของมัน มันมีความผิดพลาดของมัน

จิต! จิตเวลาปฏิบัติของมัน มันมีเหตุมีผลของมัน มันปฏิบัติของมัน ทฤษฎี ทฤษฎีคือกรอบ คือหุ่นยนต์ไง นี่ครูบาอาจารย์ก็เอากรอบมาใส่ ถึงเวลาปฏิบัตินะเหมือนหุ่นยนต์เลย เวลาเดินไปไหนนะเอาไม้ดามไว้เลย ตาย มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นี้พูดถึงอาจารย์ที่ไม่เป็น ครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนี่เหมือนกรอบ เวลาบังคับก็บังคับแบบเป็นกรอบเลย พอถอดกรอบออกเด็กมันยืนไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ จะสอนตามข้อเท็จจริงไง นี่เพราะครูบาอาจารย์ที่ดี มันถึงประพฤติปฏิบัติเต็มไปหมดเลย แต่ตอนหลังทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? เป็นอย่างนั้นเพราะสังคมมันใหญ่เกินไปไง สังคมมันใหญ่เกินไป ดูแลไม่ทั่วถึง สังคมมันเยอะเกินไป

จากการปฏิบัติ โธ่.. ตอนหนุ่มๆ นะ ท่านหนุ่มๆ ลองเข้าไปสิกระเด็นหมดแหละ แต่ตอนหลังมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือสังคมมันใหญ่ขึ้นมา เราต้องพูดถึงก่อนว่าก่อนหน้านั้นท่านทำความดีมาขนาดไหน ก่อนหน้านั้นท่านสร้างบุคลากรในศาสนามามากพอสมควรแล้ว แต่ท่านจะสร้างตลอดไปได้อย่างไรในเมื่อท่านชราภาพแล้ว อะไรแล้ว มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๖. อุบาสิกาในความหมายของพุทธบริษัท ๔ หมายถึงหญิงที่นับถือพุทธศาสนา จะถือครองศีล ๕ ศีล ๘ ก็ได้ใช่หรือไม่ และแม่ชีถือเป็นนักบวชหรืออุบาสิกา

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงนี่ ตอนที่พวกสิทธิมนุษยชนเขาเถียงกันตรงนี้แหละ ระหว่างนักบวชกับอุบาสิกา ถ้าอุบาสิกาเขาถือว่าผู้จำศีล ถ้าเป็นนักบวช พอเป็นนักบวชปั๊บเขาต้องมีกฎหมายรองรับ แต่ทีนี้พอกฎหมายรองรับขึ้นมา กฎหมาย พรบ.สงฆ์ ทีนี้เรื่อง พรบ.สงฆ์ มันเป็น พรบ.สงฆ์ แต่ถ้าเวลาพูดถึงธรรมวินัยล่ะ?

ถ้าบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นทั้งอุบาสิกา เป็นทั้งนักบวชด้วย เป็นอุบาสิกาด้วย ถ้าเป็นอุบาสิกามันก็เป็นบริษัท ๔ อยู่แล้ว บริษัท ๔ หมายถึงว่าเป็นเจ้าของศาสนา คือว่ามีโอกาสปฏิบัติถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ถ้าเป็นอุบาสิกา มันจะเสียหายตรงไหนล่ะ? แต่เราไปติดกันที่ว่าเราอยากมีสถานภาพเป็นนักบวชไง ถ้าสถานภาพเป็นนักบวชก็ไอ้แค่สมมุติ เราไปติดอะไรมันล่ะ?

เพียงแต่มันเหมือนกับว่าเป็นผู้นำไง ถ้าผู้นำเขาบอกว่าเขาต้องเบิกทางให้ผู้ปฏิบัติตาม ให้มีสิทธิตามกฎหมายอย่างนั้นๆ อย่างนั้นมันก็ไปเข้าทางกับ ส.ส.ไง ไปเข้าทางกับพวกออกกฎหมายมันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราต้องการให้ปัญหาสังคมมันดีขึ้นนะ เป็นนักบวชด้วยความสมัครใจ เป็นนักบวชเพราะเราต้องมีอุปัชฌาย์ แต่มันไม่ได้เป็นโดยกฎหมาย เพราะกฎหมายเขาไม่ยอมรับไง ในกฎหมายเขาบอกว่ามันไม่ใช่ภิกษุณีใช่ไหม? ถ้าเป็นสามเณรเขาก็มีไอ้นั่นอยู่

ฉะนั้น เป็นอุบาสกหรืออุบาสิกา โอ้โฮ.. เราก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาด้วย คือมันเป็นปัญหากฎหมายทางโลก มันเป็นปัญหากฎหมายที่ว่าทางโลกเขาออกมา แล้วเราจะไปก้าวก่ายกฎหมายเขาได้อย่างไรล่ะ? แต่ถ้าในความเชื่อของเราล่ะ? ในความเชื่อของเรา อ้าว.. ก็มีอุปัชฌาย์ ก็มีนักบวชเหมือนกัน มันก็เป็นนักบวชได้ แต่ทางกฎหมายมันยังไม่ยอมรับ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

อันนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย คำว่าเป็นกฎหมายนี้เป็นกฎหมาย พรบ.สงฆ์นะ แต่ถ้าเป็นธรรมวินัย วินัยก็คือกฎหมายของพระ ถ้ากฎหมายของพระ ที่หลวงตาบอก เห็นไหม อาวุโส ภันเต นี่เป็นกฎหมายของพระ สมณศักดิ์ที่เขาเขียนกันนั่นเป็น พรบ.สงฆ์

คำว่ากฎหมายคือกฎหมายโลกนะ แต่เราไม่สงสัยกฎหมายธรรมเลย กฎหมายธรรมหมายถึงว่า เราเป็นนักบวช เราเป็นแม่ชี แต่ถ้าพอเอาสถานะทางสังคมมันไม่มีกฎหมายรองรับ ทางฝ่ายผู้ปฏิบัติกับเราเขาก็ปฏิบัติตามนั้น แล้วมาถามเรา แล้วให้เราตอบ เราจะทำอย่างไรล่ะ? เราก็เลยตอบเป็นกลางๆ

ถาม : ข้อ ๗. เมื่อฆราวาสปฏิบัติ ทำความเพียรจนบรรลุธรรมถึงขั้นอนาคามิผล หรืออรหัตผล จำเป็นต้องบวชเป็นพระหรือเป็นชีหรือไม่

หลวงพ่อ : ตอนนี้นะมันเป็นปัญหาว่าเราปฏิบัติไม่ถึงอนาคามี และไม่ถึงอรหันต์ซะที ก็เลยไม่รู้ว่าต้องบวชหรือไม่ แต่ถ้าเราปฏิบัติถึงอนาคามี หรือถึงพระอรหันต์ปั๊บ เราจะรู้ทันทีเลยว่าต้องบวชหรือไม่ ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่ามันยังปฏิบัติไม่ถึงนี่แหละ แล้วให้ทำอย่างไรล่ะ? มันก็ยังไม่รู้ว่าใครจะต้องบวชหรือไม่ต้องบวช ปฏิบัติถึงมันจะรู้เองไง

เราจะบอกว่า เราไปวิตก วิจารกันเอง นี่เวลาอยากจะบวชชียังละล้าละลังขนาดนี้ แล้วเอ็งคิดดู บวชเสร็จแล้วจะได้อนาคามีด้วย จะได้อรหันต์ด้วย จะต้องบวชหรือไม่ต้องบวช.. เราบวชก่อน เป็นแค่โสดาบันก็สาธุแล้ว ถ้าปฏิบัติแล้วได้ผลขึ้นมา ฉะนั้น เราไปวิตก วิจารไง เป็นอนาคามี แล้วเป็นอรหันต์ต้องบวชหรือเปล่า

ทีนี้มันก็เลยเป็นมุมกลับ มุมกลับที่ว่าถ้าใครเป็นอนาคามีต้องบวช ถ้าไม่บวชแล้วจะตาย มันเป็นมุมกลับว่ามรรค ผล นี่หลวงตาท่านค้านตรงนี้มากนะ มันฟังแล้วมันสะเทือนใจไง ว่าอนาคามิผล อรหัตผลฆ่าคน อนาคามิผล อรหัตผลฆ่าชีวิตคน ตัดชีวิตคน ตัดรอนคน มันเป็นไปไม่ได้ไง

หลวงตาท่านพูดประเด็นนี้นะ ประเด็นที่ว่าอนาคามีจะฆ่าคน หรือพระอรหันต์จะฆ่าคน ธรรมฆ่าคนมันเป็นไปไม่ได้หรอก ท่านไม่เชื่อ หลวงตาก็ไม่เชื่อ เราก็ไม่เชื่อ พอไม่เชื่อ นี่พูดถึงตามข้อเท็จจริงก่อนนะ ทีนี้ถ้าพูดถึงความเจ้าเล่ห์ล่ะ? อย่างเรานี่เจ้าเล่ห์ เราเจ้าเล่ห์เลยนะ บอกว่าถ้าเป็นพระอรหันต์นี่ไม่บวชไม่ได้นะ ไม่บวชตาย แล้วเราก็รีบๆ บวชเลย นี่บวชแล้ว (หัวเราะ)

มันคนเจ้าเล่ห์ไง เจ้าเล่ห์ไปบอก เห็นไหม มีพระบอกว่าเขาบวชแล้วเขาจะปฏิบัติให้ได้เลย ก่อนบวชเขาเกือบเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วพอเขาบวชไปพรรษาหนึ่ง แล้วเขาบอกว่าเขาบวชแล้วเขาก็เป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วคนก็เชื่อกัน คนก็เชื่อ โอ๋ย.. อย่างนั้นปีหนึ่งบวช ๔ แสนองค์ ๔ แสนองค์ นี่พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย

ถ้ามันเป็นธรรม.. มรรคผลจะฆ่าคน มรรคผลมีแต่ส่งเสริม มรรคผลจะฆ่าคนมันไม่มี แต่เพียงแต่ว่า กาล สถานที่ใช่ไหม? ถ้าเราคิดว่าเรามีคุณธรรมในใจ แล้วเราอยู่เป็นฆราวาส แล้วไปไหนมันก็เสียดสีกับสังคม แล้วในสังคมมันมีบาปมีกรรม เราควรจะบวชไหมล่ะ? ถ้าเราบวชเป็นพระปั๊บเราก็แยกสังคมใช่ไหม เพราะสังคมเขายกพระไว้อยู่ส่วนหนึ่ง กฎหมายก็ให้สิทธิใช่ไหม เราก็ไม่ไปกระทบกระเทือนพระ คนๆ นั้นเขาก็ไม่มีบาปมีกรรมของเขา

มันอยู่ที่ใจดวงนั้นคิดอย่างไรไง คิดว่าเราจะถนอมเขาไว้ไหม? จิตใจของเขา ศักดิ์ศรีของเขา บุญกุศลของเขา ไม่ควรจะให้เขามาแปดเปื้อน ไม่ควรให้เขาได้รับกรรมจากเรา เราก็บวชของเราซะ บวชไปอยู่ในเพศของพระ พอเป็นพระปั๊บเขาก็สาธุ เขาก็ไม่มายุ่งกับเรา แต่ถ้าเรายังอยู่ในเพศของฆราวาสอยู่เนี่ย

อ้าว.. คนเท่าคนนะ คนมันจะยอมคนไหม? อ้าว.. สมมุติคนนี้เป็นพระอรหันต์นะ แล้วเราเดินมาชนกันนี่กูยิงทิ้งเลย ยิงพระอรหันต์ทิ้งเลย เพราะคนเท่าคน เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าเขาบวช.. นี่พูดถึงถ้าอย่างนี้เราเห็นด้วยนะ แต่เราบอกว่าพระอรหันต์ต้องบวชๆ เราไม่เชื่อ

นี่พูดถึง ฉะนั้น พวกเราไม่เป็นอนาคามี และไม่เป็นอรหัตผลก็เลยตอบไม่ได้ ก็เลยตอบไม่ได้ ก็ต้องบวชก่อน บวชก่อนแล้วปฏิบัติก่อน แล้วจะเป็นอนาคามี เป็นอรหัตผลแล้วจะรู้เลย แล้วบอกเราด้วย ถ้ารู้แล้วช่วยบอกหน่อยจะได้รู้จริงสักที มันรู้ไม่จริงสักที อยากให้ผู้ปฏิบัติแล้วตอบหน่อย

ถาม : ข้อ ๘. ปัจจุบันฆราวาสที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ต้องบวชเป็นพระเป็นชี มีหรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าบรรลุพระอรหันต์นะ ถ้าในสมัยพุทธกาลก็มี ในสมัยปัจจุบันนี้มีฆราวาสที่บรรลุธรรม ที่เราเห็นนี่หลายคน ถ้าเป็นฆราวาสแล้วบรรลุธรรม ในปัจจุบันนี้มีแน่นอน! มีแน่นอน! แต่ถึงอรหัตผลหรือไม่ อันนี้เพราะว่าฆราวาสกับเราไม่ได้พูดกัน ไม่ได้คุยกัน มันก็ไม่แน่ใจ แล้วเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่าเราจะมีอะไรไปวัดเขา

ฉะนั้น อันนี้ที่ว่า “ในปัจจุบันนี้มีฆราวาสบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์โดยที่ไม่ต้องบวชเป็นพระเป็นชี มีหรือไม่”

เราออกตัวว่าถ้าฆราวาสบรรลุธรรมมี ถ้าเป็นอรหัตผลหรือไม่ อันนี้ไม่รับรอง และอันนี้ไม่พูดถึง อันนี้ขอแขวนไว้ก่อน อันนี้ขอแขวนไว้ ถ้าพูดไปแล้วมันเป็นดาบสองคมเนาะ

“ขอครูบาอาจารย์โปรดให้คำชี้แนะและขยายความเพื่อให้เกิดความรู้ความกระจ่าง และเป็นข้อมูลในการพิจารณาปฏิบัติให้สมควรต่อไปด้วยค่ะ” สาธุ เอวัง