ติดความเห็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
จะตอบปัญหานี้ก่อนนะ เขาบอกว่าปัญหานี้เราข้ามมา เราข้ามมาใช่ไหม? อ้อ.. มันยังไม่ถึง มันยังไม่ถึงเนาะ เราจะต้องไปอีก
ถาม : มีญาติธรรมจากต่างจังหวัด ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อที่วัดป่าบ้านตาด ในงานพระราชทานเพลิงศพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ฝากถามว่าเทศน์วันนั้นได้ลงบนเว็บไซต์หรือเปล่าครับ ถ้าลงอยู่ส่วนไหน วันไหนครับ อยากจะดาวน์โหลดเก็บไว้ครับ ขอบพระคุณ
หลวงพ่อ : มันอยู่เทศน์บนศาลา เพราะว่าในเว็บไซต์มันมีหมวดหมู่ของมัน เทศน์บนศาลาหมายถึงว่ามันเป็นกิจจะลักษณะ ถ้าเราเทศน์บนศาลา โทษนะ มันจะไม่มีมึง มีกู มันจะพูดเพราะ มันเทศน์เป็นกิจจะลักษณะ ถ้ามีมึง มีกู เวลาถามปัญหามันถือเป็นส่วนตัว
ฉะนั้น อยู่บนเทศน์บนศาลา ถ้าเทศน์บนศาลา นี่เทศน์อบรมเวลาภาวนา มันจะมีอยู่ในเทศน์บนศาลาทั้งหมด เรื่อง กว่าจะเป็นหลวงตา วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เทศน์งานหลวงตา
เขาถามว่า เทศน์งานหลวงตาอยู่ที่ไหน?
อยู่ในเว็บไซต์นั่นล่ะ แต่มันอยู่บนหมวดหมู่ที่ว่า เทศน์บนศาลา แล้วมันชื่อว่า กว่าจะเป็นหลวงตา เพราะว่าวันนั้นไปพูดจะพูดถึงว่าหลวงตาท่านสมบุกสมบั่นมา ๒ กรณี กรณีหนึ่งคือท่านเอาตัวท่านรอด อีกกรณีหนึ่งคือกรณีช่วยชาติ เราถึงบอกว่ากว่าจะมาเป็นท่านมันแสนทุกข์ แสนยาก แสนลำบากนัก แต่เรามาเจอท่าน เราได้ประโยชน์จากท่าน เราได้คุณประโยชน์เราจะคิดถึงหรือไม่คิดถึงล่ะ?
มันเป็นวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เทศน์บนศาลาเนาะ.. ตอบแล้ว เขาถามมาแล้วเขาย้ำมาอีกทีหนึ่ง เขาไปหาแล้วไม่เจอไง เทศน์บนศาลา
นี่คำถามนี้แล้ว มันยังไม่ถึง ทีนี้ถึงแล้วนะ
ถาม : ๕๒๗. เรื่อง เทวดากับการฟังธรรม
กระผมกราบขอโอกาสถาม เกี่ยวกับในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า มีเทวดา อินทร์ พรหมมาฟังธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก
และเพราะเหตุใด กาฬเทวิล บุคคลที่สามารถระลึกอดีตชาติและอนาคตได้ ที่มีโอกาสได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตนจะต้องเสียชีวิตก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบรรลุธรรม จึงต้องเสียใจที่ตนไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากเมื่อกาฬเทวิลเสียชีวิตไปแล้ว ก็อาจจะเป็นเทวดา อินทร์ พรหมอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อยู่ดี หรือไม่อย่างไรครับ กราบหลวงพ่อตอบด้วย
หลวงพ่อ : นี่เวลาคิดก็คิดอย่างนี้แหละ ถ้าเราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เราคิดเป็นแบบบุคคลที่ ๓ บุคคลที่ ๓ เวลาคิดเรื่องคนอื่นคิดง่ายนะ บุคคลที่ ๓ พอเวลาคิดเรื่องคนอื่นนี่รู้ไปหมดแหละ แต่เรื่องตัวเองไม่รู้ เรื่องตัวเองไม่รู้
นี่ก็เหมือนกัน พอพูดถึงนะเราจะเข้าใจว่า ถ้าเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็คิดต่อไป ก็ทำต่อไปก็ได้ แล้วนี่เห็นไหม ที่ว่าต่อไปเราจะเกิดไปแล้วพบพระศรีอริยเมตไตรย เราทำอะไรของเราไป นี่เราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไปเกิดเป็นคน เราทำดีต่อไปเรื่อยๆ เราก็เป็นพระอรหันต์ไปก็ได้ ทุกคนคิดกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ แต่ไม่คิดถึงว่าผลของวัฏฏะ
ผลของวัฏฏะคือเวรคือกรรม เวรกรรมของคนเวลามันเกิดสถานะหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงได้ ดูสิเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เห็นไหม กรณีนี้ กรณีเรื่องผลของวัฏฏะนี้เรื่องหนึ่ง แต่กรณีของกาฬเทวิลไม่เป็นอย่างนั้น กรณีของกาฬเทวิล เพราะว่าเขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ แล้วนี่ไปอยู่บนพรหมได้ด้วย ไปนอนอยู่บนพรหม
ฉะนั้น พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูตินี่โลกธาตุหวั่นไหว พอโลกธาตุหวั่นไหว เขาอยู่บนพรหมมันสะเทือนไปถึงเขา เขาก็แปลกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอเกิดอะไรขึ้นเขาก็เล็งญาณของเขาไง อ๋อ.. พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว แต่ก็ยังไม่เชื่อความเห็นของตัว นี่เขาลงมาจากพรหม แล้วท่านเป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะด้วย ก็ไปเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อจะพิสูจน์ เพราะเขาเป็นพราหมณ์
เป็นพราหมณ์หมายถึงว่าพุทธลักษณะเขาท่องได้หมดไง ลักษณะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร เขาจะรู้หมด ฉะนั้น เขาก็มาขอดู พอขอดูพระเจ้าสุทโธทนะก็เข็น แหม.. จะว่ารถเข็น สมัยนั้นไม่มีรถเข็นเนาะ (หัวเราะ) สมัย ๒,๕๐๐ ปียังไม่มีรถเข็น
พระเจ้าสุทโธทนะก็เอาเจ้าชายสิทธัตถะมาให้กาฬเทวิลดู ทั้งดีใจ ดีใจว่าพุทธลักษณะรู้หมด เพราะว่าเขาเป็นพราหมณ์ เขาท่องได้หมดแล้ว เขารู้หมดเลยว่าลักษณะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร แล้วมันเพี๊ยะ! โอ๋ย.. พระพุทธเจ้าแน่นอน ดีใจมากพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว แล้วก็เสียใจ เสียใจเพราะเขากำหนดชีวิตของเขาได้ เขารู้ว่าเขาจะหมดอายุขัยไง เขาเสียใจมาก
ฉะนั้น ทำไมเขาถึงเสียใจล่ะ? แล้วคำถาม เห็นไหม เวลาอ่านพระไตรปิฎก ขณะที่กาฬเทวิลพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกมาจากห้อง ออกมาจากบรรทมยังเป็นเด็กน้อยอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ได้เป็น แต่รู้อยู่ว่านี่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ที่ว่าเสียใจ เสียใจตรงนี้ไง
นี่เขาบอกว่า ในเมื่อเขาก็ได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ใช่! เขาได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ เขาไม่ได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ แต่เขารู้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พุทธลักษณะนี่ต่อไปในอนาคตจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน
เราเคยพูดตรงนี้ไว้หลายที บ่อยมากเวลาเทศน์ บนศาลา เพราะให้เห็นประโยชน์ไง ให้เห็นคุณประโยชน์ ขณะที่เขาเห็นนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นเด็กน้อยอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเวลาเขาเองเขาได้ฌานสมาบัติ เขาไปอยู่บนพรหมได้ เขาเป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ถ้าเขาเข้าสมาบัติของเขา เขาไปอยู่กับพรหมได้ เขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคต ๔๐ ชาติ แต่เขาไม่รู้อริยสัจไง
นี่จิตใจเขาละเอียดขนาดนั้นนะ จิตใจนี่เขาระลึกอดีตชาติได้ ระลึกอนาคตก็ได้ เขารู้ขนาดนั้น เขารู้หมดเลย ก็เหมือนกับเรารู้วิทยาศาสตร์ ถ้าประสาเรา กาฬเทวิลก็ไอน์สไตน์ไง นี่ไอน์สไตน์กำหนดได้หมด เข้าใจ เห็นไหม เป็นนักวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ตรวจสอบอะไรได้หมดเลย แต่ไม่เข้าใจชีวิตของตัวนะ นี้ไอน์สไตน์ก็พูดเหมือนกัน ไอน์สไตน์บอกว่า
ถ้าเขามีสิทธิ์นับถือศาสนาได้ เขานับถือศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเป็นเหตุเป็นผล
แต่ไอน์สไตน์เจอพระพุทธเจ้านะ แต่ไอน์สไตน์ก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่กาฬเทวิลเขาเป็นนักวิชาการ เขาเป็นผู้ที่ระลึกอดีตชาติได้ จิตใจเขานี่ แล้วเขาใฝ่ดีด้วย เขาถึงได้เสียใจไง เห็นไหม คนแบบว่ามันหูตาสว่าง แต่มันไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีอริยสัจ มันไปไม่ได้ ถ้ามันไปไม่ได้ เวลาตายไปแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม พระพุทธเจ้าก็ไปเทศน์สอนเอาสิ
สามัญ วิสามัญ
สามัญคือความปกติ สามัญคือการพบเห็นกันนี่สามัญ สามัญคือความเป็นจริงในชีวิต ในภพชาตินี้.. วิสามัญ วิสามัญนี่กรณีพิเศษใช่ไหม? เพราะกรณีที่ว่าทำอะไรไม่ได้ก็วิสามัญ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สอนได้ นี่เขาว่าในเมื่อกาฬเทวิลตายไปแล้ว ต้องเกิดในภพใด ชาติใดชาติหนึ่งเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ก็ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าได้ ถ้าฟังเทศน์พระพุทธเจ้าได้ เขาก็เป็นเทวดา อินทร์ พรหมคนนั้น ไม่ใช่กาฬเทวิลไง ไม่ใช่ เพราะมันคนละภพ คนละชาติ
มันคนละภพ คนละชาติ แล้วบอกว่าถ้าไม่ได้ ไม่ได้แล้วทำไมพระพุทธเจ้าไปเทศน์เอาพระมารดา ทำไมพระพุทธเจ้าขึ้นไปเทศน์เอาแม่ได้ ทำไมพระพุทธเจ้าไปเทศน์เอาได้.. เอาได้สิ เอาได้เพราะสายบุญสายกรรมไง แล้วแบบว่าความระลึกรู้มันมีไง มันไม่ใช่ว่าเราเกิดในสถานะนั้นแล้วเรายังมีความคิดเดิมอยู่นะ แต่! แต่จิตดวงเก่านั่นแหละ แต่บางทีสถานะมันเปลี่ยนแปลงไปได้ มันมีสิ่งต่างๆ ได้
ฉะนั้น ถ้าได้ ถ้าเขามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าได้ ก็เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมคนนั้น ไม่ใช่เป็นกาฬเทวิล ฉะนั้น กาฬเทวิลมันเป็นภพชาตินั้น ฉะนั้น สิ่งที่เสียใจเราจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ขณะที่เป็นกาฬเทวิลนี่เป็นมนุษย์ มันมีความคิด สภาวะแวดล้อม ๒๔ ชั่วโมง เห็นไหม ความเป็นอยู่อย่างนี้ ความทุกข์ ความยากอย่างนี้ แต่ถ้าเราเป็นเทวดานะมันมีความคิดไปอีกอย่างหนึ่งนะ มีความคิดไปอีกอย่างหนึ่งแน่นอน ถ้าเป็นเทวดามันไม่มีร่างกายไง
อย่างเรานี่เวลาเราทุกข์เราคิดเรื่องอะไร? เวลาเราสุขเราคิดเรื่องอะไร? เวลาเราจนเราคิดเรื่องอะไร? เวลาเรารวยเราคิดเรื่องอะไร? นี่พูดถึงสภาวะแวดล้อม เห็นไหม ขนาดคนๆ เดียว สภาวะแวดล้อมเวลาคิดเรายังคิดแตกต่างเลย แล้วนี่สถานะที่มันเปลี่ยนไปหมดเลย ฉะนั้น ขณะที่ว่าเป็นกาฬเทวิลแล้วเสียใจ นี่เพราะสถานะของกาฬเทวิล เพราะอะไร? เพราะตอนนั้นมันไม่มีไง
ถ้าตอนนั้นมันมีนะ อย่างเช่นพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ที่ว่าไปนิพพาน แล้วที่ว่าต้องไปเมืองอะไรนะ ที่ว่า เรามาก็เพื่อพราหมณ์คนนี้คนหนึ่ง นั่นน่ะ เวลาจะไปถามนะทิฐิมันเกิด เห็นไหม เขาว่าเขาเป็นนักปราชญ์ เขาไม่ยอมถามใครเลย ไม่ยอมคุยกับใครเพราะว่าเขามีความปราชญ์มาก เขารู้มาก แต่สุดท้ายแล้วนี่คนมันมีวาสนาไง คืนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานแล้ว ถ้าเราไม่ได้ถามก็หมดโอกาสแล้ว ก็เข้าไปถาม
นี่ในลัทธิศาสนาใดก็ว่าดีหมดเลย เพราะเขาเป็นนักปราชญ์เขารู้หมดแหละ เขารู้ไปหมดนะ อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างนั้น รู้ไปหมดเลย แล้วเขาก็ถามพระพุทธเจ้าว่าแล้วอะไรมันถูกล่ะ? อะไรมันดีล่ะ? นี่ไงคนเรากลัวว่าตัวเองจะไม่ฉลาด อยากจะศึกษาเยอะๆ อยากจะรู้ให้มากๆ แล้วรู้แล้วได้อะไรล่ะ?
นี่ไงศาสนานี้ก็ว่าดี ศาสนานั้นก็ว่าดี ไอ้นั่นก็ว่าถูก ไอ้นี่ก็ว่าถูก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่างไรล่ะ? นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาเนื้อๆ เลย มันไม่มีรอยเท้าบนอากาศ ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ถ้าศาสนาไหนไม่มีเหตุสมควรให้เป็นความจริงได้ ศาสนานั้นไม่มีผล เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เธออย่าถามให้มากไปเลย ให้พระอานนท์บวชเลย แล้วให้พุทโธเข้ามาเลย ถ้าพุทโธเข้ามานะ วันนั้นเขาก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย ดูสิเวลาเป็นพระอรหันต์เป็นที่ไหนล่ะ? ไม่ใช่ว่าศาสนานั้นก็ดี เหมือนนักวิชาการเลย เอาแต่ทางวิชาการมาเทียบกัน นู่นก็เทียบกัน เทียบกันอยู่ข้างนอกไง เวลาเทียบมันก็อยู่ข้างนอก มันไม่เข้ามาข้างใน พอเวลามันเข้าข้างในมันก็จบไง
อันนี้พูดถึงเวลาเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม แต่ถ้าเกิดที่ว่ากาฬเทวิลคิดอย่างไร? สุภัตทะพราหมณ์คิดอย่างไร? คนเรามันมีทิฐิมานะในตัวมันเอง มันก็ว่าคนนั้นก็ว่าแจ๋ว คนนี้ก็ว่าแน่ แต่ถ้าคนมันมีสำนึกอย่างนี้ เห็นไหม เพราะคำว่าดีใจถึงกับร้องไห้ เพราะมันรู้ไง แต่ขณะว่าร้องไห้นะ เวลาไปศึกษานะ ถ้าสอนนะเดี๋ยวทิฐิมันก็เกิด อยากจะเป็นอาจารย์ขึ้นมาอีกล่ะ
ทิฐิของคนนี่โอ้โฮ.. ร้ายกาจนัก แต่ขณะที่คนเรามันจะหมดโอกาสไง เพราะรู้ว่าตัวเองต้องตายก่อน โธ่.. ดูสิเวลาเราไปสอนเด็ก เห็นไหม เด็กมันร้องไห้ มันร้องไห้เรานึกว่ามันสำนึกตัว เวลาสอนมันคิดได้ไหม? ร้องไห้นี่ ประเดี๋ยวพอหายร้องไห้ขึ้นมา โอ๋ย.. คนนู้นไม่รัก คนนี้ไม่รัก มันจะล่อเขาอีกน่ะร้องไห้.. กิเลสร้ายนัก กิเลสร้ายนัก
ฉะนั้น เวลาเราเห็น.. ใช่ความเห็นเป็นอย่างนี้ นี่เขาให้ตอบนะ ให้ตอบเพราะว่าเขาอ่านพระไตรปิฎกมา แล้วความเข้าใจของเรา เห็นไหม ถ้าในเมื่อกาฬเทวิลเสียใจทำไม? เพราะตายไปแล้วก็เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็ปฏิบัติต่อได้.. ก็เราคิดเอาเองไง เราคิดเอาเอง แต่ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม?
ถ้ามันเป็นจริง ถ้าเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นเขาจริง เพราะเทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นแสนๆ เลย สำเร็จทีหนึ่งเป็นล้านๆ อยู่ในพระไตรปิฎก สำเร็จได้ทั้งนั้นแหละ นี้พูดถึงถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่คนเรานี่นะ ดูสิใครขึ้นไปเป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดีนี่เสียทุกคนแหละ อำนาจทำให้คนเสีย
นี่ก็เหมือนกัน คนนี้ดีๆ ทั้งนั้นแหละ พอมีอำนาจขึ้นไปนี่เสียหมด นี้เวลามันทุกข์มันยากมันก็คิดดีทั้งนั้นแหละ แต่ถึงเวลามันเป็นขึ้นมาเราจะรู้ เราไปคิดแทนเขาไง นี่เห็นไหมว่ากิเลสมันอันตรายแค่ไหน ความรู้สึกนึกคิดเราอันตรายแค่ไหน แต่ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้ เราคิดได้แค่นี้แหละ นี้เวลาปฏิบัติไปนะ เวลาปฏิบัติไป พอมันไปรู้ไปเห็นเข้ามันจะไปเถียงอีกนะ อันนั้นเป็นความจริง อันนี้เป็นความจริง
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันจะมีขั้นตอนของมันอีกนะ มีขั้นตอน มีความเป็นไปที่มันจะต้องเป็นไป มันจะต้องปฏิบัติของมันไป
อันนี้พูดถึงเรื่อง เทวดาฟังธรรม เทวดาฟังธรรมก็มี เทวดาไม่ฟังธรรมก็มี เทวดา อินทร์ พรหมฟังธรรมก็มี ไม่ฟังธรรมก็มี ไม่ฟังธรรมเลย แล้วไม่สนใจด้วย แต่เวลาหมดอายุขัยไปเขาก็เป็นตามจริงของเขา มันมีสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ แต่สถานะนี้ได้มาเพราะบุญกุศล แต่สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
นี่พูดถึงว่าเรื่อง เทวดาฟังธรรม แต่มนุษย์ฟังธรรมนี่สำคัญนะ ตัวเราฟังธรรมแล้วปฏิบัติเอา อันนั้นมันตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ตอนปัจจุบันนี้ตัวเราสำคัญ เราเอาที่นี่ อันนั้นวางไว้ อ่าน ศึกษา แล้วก็ทำให้สงสัย ทำให้นึกคิด แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วเราวางไว้ แล้วเราปฏิบัติของเรา
ถ้าอย่างที่เราอธิบายนี่อธิบายเพื่อให้เคลียร์ เพราะธรรมดานะ นี่เวลาภาวนาเขาเรียกติด เวลาติด ไปรู้ไปเห็นอะไรก็แล้วแต่ แก้นะ บางคนปี ๒ ปี แก้ความคิดนี่ทุกข์ยากมาก แต่ถ้าไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านมีเหตุผลเทียบเคียงให้นะหลุดเลย
นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปศึกษา ไปอ่านเข้า อะไรติดใจนี่ติดใจไปตลอดเลยนะ สลัดออกยากมาก แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นมาเคลียร์แล้ว เออ.. มันเรื่องของกาฬเทวิลกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรา เราก็พุทโธของเรานี่แหละมันก็จบ ถ้าเรื่องกาฬเทวิล เอ๊ะ.. ถ้าเราเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นอย่างนั้น มันก็ไล่เลย เราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทุกข์แทนกาฬเทวิลไปเลย ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วนะ เอาปัจจุบันนี้
ข้อ ๕๒๘. เนาะ
ถาม : ๕๒๘. เรื่อง จิตวูบดิ่งเหมือนตกที่สูงและร่างกายสะดุ้ง
ผมพยายามบริกรรมพุทโธทุกอิริยาบถตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตามองค์หลวงตาท่านสอนให้ได้มากที่สุด เวลานั่งสมาธิจิตจะหดย่นตัวเข้ามาเหมือนรวบแหตกปลา ไม่มีการสะดุดปัญหาอะไร แต่บริกรรมพุทโธ พุทโธในอิริยาบถอื่นๆ เช่นเวลาเดินปัดกวาดบ้าน นั่งหรือนอนฟังเทปธรรมะ บ่อยครั้งร่างกายจะสะดุ้งกระตุก และเสียวแปล๊บตรงหน้าอกหรือท้องน้อย ลักษณะอาการเหมือนคนกำลังจะตกจากที่สูง ลักษณะอาการเช่นนี้เกิดขึ้นใช่ตกภวังค์หรือไม่ ถูกผิดประการใด ควรแก้ไขอย่างไรครับ
หลวงพ่อ : ไม่มีสิ่งใดเป็นความผิดเลย แต่อาการของจิตแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อย่างเช่นมันมีอาการกระตุก อาการสะดุ้ง นี้มันเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค มันกระตุก สะดุ้ง อย่างเช่นพุทโธ พุทโธจิตมันจะอ่อนนุ่ม มันจะนุ่มนวลลงไป แล้วถ้ามันสะดุ้งมันก็กระตุกให้ขึ้น
อันนี้เป็นอุปสรรค นี่อุปสรรคตรงนี้ แต่ถ้าเราพุทโธของเราไป ถ้ามันจะวูบลง เห็นไหม มันมีอาการเหมือนจะวูบลง มันมีอาการต่างๆ มันถูกหรือผิด ถ้ามันจะวูบลง มันมีสิ่งใดเราตั้งสติไว้ แต่ถ้ากระตุก สะดุ้งอะไรต่างๆ มันก็เหมือนกระตุกให้เราแบบว่าจิตมันจะละเอียดขึ้นไป มันก็กระตุกให้มันออกมาหยาบ
ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีของบุคคล กรณีของบุคคลนะ ถ้าเรานั่งบางคนมันก็เกิด บางคนก็ไม่เกิด แล้วบางคนที่เกิด บางคราวก็เกิด บางคราวก็ไม่เกิด ถ้าบางคราวเกิด บางคราวไม่เกิด เห็นไหม วันหนึ่ง อุณหภูมิในหนึ่งวันไม่เท่ากัน
นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติมันอยู่ที่โอกาสของเรา เราก็รักษาของเรา แก้ไขของเราไป แล้วสิ่งนี้พอมันสะดุ้งหรือมันกระตุกทีหนึ่งมันก็ฝังใจไว้ เดี๋ยวมันก็กระตุกอีก กระตุกอีก ถ้ามันกระตุกอีกก็ปล่อยไป นี่ถ้าบริกรรมก็บริกรรมไว้ ถ้าเราพุทโธเราก็พุทโธไว้ พยายามทำสิ่งนี้ให้ร่างกาย.. มันจะกระตุกหรือไม่กระตุก โทษนะนี่เปรียบเทียบ มันเหมือนเวลาเขาทุบหัวปลา หรือเขาเชือดไก่ เห็นไหม นี่พอตายแล้วนะเนื้อมันยังกระตุกๆ อยู่เหมือนกัน
ถ้าเราไปคิดถึงว่าสิ่งที่มันเป็นสัตว์ มันเสียชีวิตไปแล้ว อวัยวะมันยังกระตุกได้ แล้วของเราถ้ามันกระตุกก็บอกว่ามันเป็นแค่เรื่องของร่างกาย ถ้าเราไม่สนใจมันไง เราจะบอกว่ามันจะกระตุกหรือไม่กระตุก มันเป็นเรื่องของกาย ถ้าจิตมันไปสนใจขึ้นไป มันก็จะชัดเจนกับเรา มันก็จะฝังใจเราไป ถ้าเราพุทโธไว้ หรือเราภาวนาของเราไว้ สิ่งนี้มันจะเจือจางไป แล้วมันจะข้ามของมันไป จะข้ามไป ให้เรารักษาไว้
นี่คำถาม เห็นไหม กระผมพยายามบริกรรมพุทโธทุกอิริยาบถตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตามองค์หลวงตาท่านสอนให้ได้มากที่สุด
แหม.. ตรงนี้ถูกใจเนาะ ถ้าทำให้ได้มากที่สุด นี่หลวงตาท่านสอนไว้แล้ว แล้วท่านมีหลักมีเกณฑ์แล้ว เราก็พุทโธไว้ พุทโธไว้ เห็นไหม หลวงตาจะสอนว่า
หนึ่งถ้ามีสติ การปฏิบัตินั้นจะไม่เสีย
มีสติพุทโธไว้ ถ้าเราอยู่กับพุทโธ ไม่เสีย ไม่เสีย.. ฉะนั้น เราก็พุทโธของเราไว้ มีสติกับพุทโธของเราไปเรื่อยๆ แล้วมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมามันเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนบุคคล นี่เรารักษาไว้มันก็จะค่อยๆ จางไป จางไป มันไม่ใช่เหมือนซักผ้า ผ้าสกปรก พอซักสะอาดแล้วมันก็หาย จิตสกปรก จิตที่มันมีอะไรฝังใจอยู่เอาอะไรไปซักมัน
ฉะนั้น เวลามันสะดุ้ง มันก็เหมือนกับสิ่งใดที่มันเป็นจุด เป็นความสกปรกที่ติดอยู่กับผ้า เราก็ค่อยๆ ชำระล้างไป ชำระล้างไป การซักผ้าซักทีเดียวจบ แต่เวลาการแก้ภาวนานี่ จะฟังทีเดียวให้เข้าใจเลย ฟังทีเดียวให้จบเลย มันไม่จบหรอก มันค่อยๆ แก้ไขไป ค่อยๆ ทำไปนะ นี่พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะหายของมันไป มันหายของมัน มันแก้ไขของมันได้
อ้าว.. อันนี้สิ ละสักกายทิฏฐิ แล้วมันละอย่างไรล่ะ? ละสักกายทิฏฐิเลยนะ
ถาม : ๕๒๙. เรื่อง ละสักกายทิฏฐิ
๑. (เขาบอกว่า) ช่วงปีใหม่เขาไปปฏิบัติที่วัดหนึ่ง มีพระรูปหนึ่งท่านบอกให้เอาพุทโธจี้ที่ปวด ผมลองทำตามจนเวทนาขาด อยากรู้ว่าผิดหรือถูกครับ
๒. ปีใหม่ที่ผ่านมาผมกินเหล้า (อันนี้อาละวาดไปหมดเลย)
หลวงพ่อ : เขาบอกว่าเขาจี้เข้าไปที่เวทนา แล้วเวทนามันขาดหมดเลย เขาบอกว่า เหมือนกับเขาละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แหม.. โอ้โฮ
ผู้ที่ปฏิบัตินะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าตัวเองละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ตัวเองจะรู้ว่าตัวเองละสักกายทิฏฐิแล้ว แต่คำว่าละสักกายทิฏฐิมันเป็นสังโยชน์ใช่ไหม? มันเป็นสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี้เป็นสังโยชน์ สังโยชน์ที่ร้อยรัดจิตให้เป็นปุถุชน ถ้าใครละสักกายทิฏฐิได้แล้วจะเป็นพระโสดาบัน
แล้วนี่เขาบอกว่าพิจารณาเวทนาขาดไปแล้ว ละสักกายทิฏฐิเข้าไป.. แล้วทำไมต้องมาบอกเราด้วยล่ะ? ทำไมต้องให้เราบอกว่าละหรือไม่ละล่ะ? ทำไมตัวเองไม่รู้ล่ะ? อ้าว.. ตัวเองเป็นคนจี้เวทนาขาดเอง แล้วเวทนาขาดไปแล้ว แล้วมันละได้ไหมล่ะ? ถ้ามันละมันก็ต้องรู้เพราะมันเป็นปัจจัตตังไง
เราเป็นกรรมฐานนะ พวกเราเป็นกรรมฐาน เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ถ้าวงกรรมฐานเขาจะรู้ว่าวงกรรมฐานปฏิบัติแล้วจริงหรือไม่จริง ถ้าวงกรรมฐานปฏิบัติได้จริง มันเป็นจริงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ นี่เงิน ๑ บาทใครจะบอกค่ามันแค่ ๕๐ สตางค์ ค่ามันไม่ถึงบาท มันเป็นไปไม่ได้หรอก เงิน ๑ บาทมันก็เป็น ๑ บาท เงิน ๑ บาทมีคนจะเพิ่มค่าให้มันเป็นเงิน ๒ บาท ๓ บาท มันก็เป็นไปไม่ได้หรอก มันก็คือเงิน ๑ บาทนั้น
นี้ก็เหมือนกัน ละสักกายทิฏฐิ ถ้ามันละได้จริงมันก็เป็นความจริงของมันอยู่แล้ว ถ้าความจริงของมันอยู่แล้ว ตัวเองละสักกายทิฏฐิก็ละสักกายทิฏฐิไปแล้ว นี้ว่าละสักกายทิฏฐิแล้วมันเป็นความจริงหรือเปล่า? ถ้าเราอธิบายมันก็ไปไกลเลยล่ะ ถ้าเราอธิบายนะ ละสักกายทิฏฐิ มันสักกายทิฏฐิของใครล่ะ?
ดูสิเรานั่งอยู่นี่มันมีเด็ก เห็นไหม นี่สักกายทิฏฐิได้แล้ว มันกรนเลย นอนหลับสบาย ละสักกายทิฏฐิ อู๋ย.. สบายเลย สักกายทิฏฐิของใคร? ถ้าเป็นของผู้ใหญ่มันไม่ใช่ มันไม่ใช่หรอก แต่ถ้าเป็นของเด็ก ของเด็กน้อย ของผู้ที่ฟังเขามา ไร้สาระ
เพราะอะไร? การละสักกายทิฏฐิจิตมันต้องสงบ มันต้องพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แล้วพิจารณาอย่างไร? นี่จี้เข้าไป จี้เข้าไปขาด กดไว้ก็ได้ เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านบอกบ่อย บอกว่า
อย่าให้เขาสะกดจิตนะ ถ้าเขาสะกดจิตนั่นมันไม่ใช่การภาวนา
นี่ก็เหมือนกัน เป็นการสะกดจิตไว้ เป็นการครอบไว้ มันก็ปล่อยหมดเหมือนกัน แต่มันปล่อยหมดแบบอะไรล่ะ? หลวงปู่ชาท่านสอน เห็นไหม ท่านไปสอนพระนะ พระเขาบอกว่าเวลาเขาอยู่กุฏิมันเป็นมุงจากไง แล้วพอมันรั่วเขาก็ไม่ซ่อม แล้วหลวงปู่ชาท่านเดินผ่านไป ท่านบอกว่า
ทำไมไม่ซ่อมหลังคาล่ะ?
อ้าว.. ก็ผมปล่อยวางไง
ท่านบอก เออ.. ปล่อยวางแบบควายไง แบบควาย ควายมันปล่อยวางแบบนี้ มันแช่ตามปลัก
การปล่อยวางมันปล่อยวางที่ใจ มันไม่ได้ปล่อยวางที่หลังคานั้นน่ะ หลังคามันรั่วก็ซ่อมหลังคา หลังคามันรั่วก็เอาหญ้ามามุง เปลี่ยนหญ้ามันก็ซ่อมหลังคาเพื่อความที่อยู่อาศัย ก็ผมปล่อยวาง ผมปล่อยวางหมดเลย เวลาจะซ่อมที่อยู่อาศัยมันบอกมันปล่อยวางนะ เวลามันโกรธขึ้นมามันไม่ปล่อยหรอก เวลามันโมโหขึ้นมามันจะล่อเขาเลย ทำไมมันไม่ปล่อยวางบ้างล่ะ?
นี่ไง ความเข้าใจของเด็ก ความเข้าใจของใคร? สักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิของใคร? นี่ไงเอาแต่ชื่อมันมาพูด นี่ถ้าพูดถึง เพราะเขาถามมา จะไม่ตอบรึมันก็ไม่ใช่ ตอบรึเราก็ซื่อบื้อไปกับคนถามเหมือนกัน ถ้าตอบนะ เออ.. ถ้าละสักกายทิฏฐิได้นะ อิฐ หิน ปูน ทรายมันก็ละสักกายทิฏฐิได้ ถ้าอิฐ หิน ปูน ทรายมันละได้ เพราะอิฐ หิน ปูน ทรายมันก็ไม่เจ็บไม่ปวดกับใคร
ยิ่งรถ เห็นไหม รถมันก็วิ่งไปวิ่งมาได้ด้วย ถ้ามันละสักกายทิฏฐิได้รถก็เป็นพระอรหันต์ กูจะกราบรถ เพราะรถมันพาไปเที่ยวไหนก็ได้ มันไม่เจ็บไม่ปวด มันไม่ร้องทุกข์ร้องยากกับใคร ยิ่งไปนั่งมันนะ ขับไปแรงๆ อู้ฮู.. ลมมันพัดมา อู๋ย.. ยิ่งมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ
สักกายทิฏฐิมันเกิดที่จิต มันไม่ได้เกิดที่ความรู้สึกนึกคิดข้างนอก มันไม่ได้เกิดสิ่งต่างๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น การละสักกายทิฏฐิอย่างนี้ มันละสักกายทิฏฐิจริงหรือเปล่า? นี่เราเศร้าใจนะ พูดอย่างนี้แล้วเราเศร้าใจ เศร้าใจที่ไหน? เศร้าใจที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ
ธรรมะมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด
นี้อย่างหยาบๆ เราปฏิบัติกันหยาบๆ แล้วเราเข้าใจกันไปตามประสาพวกเรา แล้วเรายังไม่ทำอะไรกันเลยนะ เพียงแต่ตรึกเอา ทำความรู้สึกเอา แล้วพอเข้าใจธรรมก็ว่าได้ละสักกายทิฏฐิได้ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามีกันด้วยความตรึกในธรรม แล้วพอตรึกในธรรมนี่มันตีโจทย์แตก มันมีปัญหาขึ้นมาแล้วมันเข้าใจ มันก็ว่ามันบรรลุธรรมกัน
เดี๋ยวนี้มันเศร้าใจตรงนี้ไง นี่ไงสักกายทิฏฐิ นี่จี้เวทนาจนขาด จี้เวทนาจนขาด ขาดแล้วมันมีอะไร? เอาอะไรไปจี้ ถ้าขาดแล้วจิตมันสงบแค่ไหน? พอมันปล่อยวางอะไรเข้ามามันจะเป็นจริงไหม? ถ้าเป็นจริงมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นจริงขึ้นมามันก็แค่ปล่อยวาง ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน
การเดินทางของจิตมันยังไปอีกมหาศาลนะ จิตเราจะต้องเดินทาง จะต้องแก้ไขของเราไป เราจะต้องแก้ไข ต้องพยายามทำของเราเพื่อให้ความเจริญรุ่งเรืองของเรานะ แล้วพอมันทำได้มันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันไม่ใช่ทำเป็นเด็กเล่นขายของ นี่มันเด็กเล่นขายของเพราะอะไรล่ะ? เพราะว่าผู้นำเล่นขายของ ผู้ตามก็เล่นขายของตาม ทำอะไรก็ทำสักแต่ว่าทำกันไป แล้วมันมีจริงมีปลอมแค่ไหน?
เราพูดไปนี่เดี๋ยวมันเหมือนกับว่า หลวงพ่อ ถามปัญหานะไม่ใช่ให้เทศน์ แหม.. เทศน์สอนใหญ่เลย ถามปัญหาก็ตอบปัญหามาสิ แหม.. ถามปัญหาแล้วเทศน์ไปใหญ่เลย.. มันเทศน์ไปใหญ่เพราะว่ามันเศร้าใจไง มันเศร้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เศร้าใจสิ่งที่เป็นไป โลกมันหยาบไปเรื่อยๆ เพราะมันหยาบไปเรื่อยๆ
มีเวลาเนาะ ถ้ามีเวลานะ ข้อ ๕๓๐. นะ
ถาม : ๕๓๐. เรื่อง การพิจารณาสติสัมโพชฌงค์กับสติปัฏฐาน ๔
การพิจารณา จำเป็นต้องมีศีลที่บริบูรณ์ก่อนหรือเปล่าครับ ถ้าเราไม่มีศีล แต่ใจยังนึกรักษาศีลอยู่ แต่เราอยู่ในสังคมที่มันหลอกลวง อย่างนี้เราจะพยายามหลีกเลี่ยงที่ไม่ทำผิดศีล กระผมกราบเรียนหลวงปู่ว่า ในใจลึกๆ ของผมนั้นนึกตลอดเวลาว่าจะพยายามรักษาศีลให้ได้ แต่มารมันเข้ามาแทรกในการดำรงชีวิตตลอด คือความอ่อนไหวของใจผมเองครับ ขอกราบเรียนถามว่า จะระลึกถึงคุณ สติสัมโพชฌงค์กับสติปัฏฐานได้หรือไม่ครับ เพราะถ้าระลึกแล้วศีลไม่บริบูรณ์ผมกลัวว่าจะตกนรกครับ
ตอนนี้ผมจะฟังเทศน์ของพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ถ้าท่านเตือนให้รักษาศีลให้บริบูรณ์ ควรทำเพราะกลัวจะเพี้ยนไม่ได้เป็นการยกย่อง แต่ผมทุกข์ใจมากครับ เลยอยากไปให้พ้นๆ แต่ก็พยายามทำตามท่านพระอาจารย์สอนอยู่ตลอด ตอนนี้รู้สึกว่ามันเบาขึ้นเยอะที่หลวงปู่บอกว่า ให้จิตเห็นความคิด เห็นอารมณ์ตอนนี้เบาขึ้นมากครับ หลวงปู่บอกว่า ให้มีสติระลึก ตอนนี้ก็มองเห็นแล้วครับ
หลวงพ่อ : ถ้าใจอ่อนไหวนะ นี่พูดถึงว่าใจอ่อนไหว ใจคนนี่ถ้าความอ่อนไหวมันก็ต้องฝึกของเราไป มันต้องตั้งขึ้นมาไง
สติสัมโพชฌงค์ กับสติปัฏฐาน ๔
เขาบอกว่าถ้าระลึกสติสัมโพชฌงค์ หรือสติปัฏฐาน ๔ แล้ว เหมือนกับเรารักษาศีลแล้วผิดศีล หรือขาดจากศีลเราจะบาปหรือเปล่า? เราตั้งสติสัมโพชฌงค์ สติปัฏฐาน ๔ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราตั้งใจทำ แต่ถ้ามันขาดใช่ไหม มันขาด มันไม่สมบูรณ์.. มันขาด มันไม่สมบูรณ์ก็เพราะเราเป็นปุถุชน เห็นไหม
เหมือนพระเรานี่ พระเวลาเราผิดพลาดขึ้นมาพระก็ปลงอาบัติ พระเรานะเวลามันมีความผิดขึ้นมา ความผิดโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ภิกษุสงสัยธรรมเป็นอาบัติ ภิกษุไม่รู้ธรรมเป็นอาบัติ ภิกษุไม่รู้ไม่เห็น ขาดสติธรรมก็เป็นอาบัติ
การเป็นอาบัติของพระคือความผิด บางทีเราไม่ได้เจตนา เราผิดไปเพราะความพลั้งเผลอ เราผิดไปเพราะเราขาดสติ การผิดอย่างนี้เราก็ปลงอาบัติ พระเขายังผิดเลย แล้วบอกว่าโยมนี่ไม่ให้ผิดเลย จะให้ถูกตลอดไป ไม่ใช่บอกว่า เออ.. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ผิดก็เป็นผิดไปอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่
แต่ถ้ามันผิดแล้ว คนเรานะเหมือนกับว่าเราให้อภัยคนอื่นได้ เราก็ต้องให้อภัยเราได้ พูดถึงคนที่จะให้อภัยนะ แต่สำหรับเรานี่เราตั้งสัจจะ เวลาเราผิดเราก็ให้ทำโทษตัวเองประจำ เราทำโทษตัวเองเลยนะ ผิดอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ ผิดอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ ผิดแล้วให้ทำใหม่ขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา มันก็พัฒนาขึ้นมา ทีนี้การพัฒนานี่เราก็ไม่ซีเรียสว่าผิดแล้วต้องฆ่าตัวตาย ผิดแล้วต้องเอาปืนยิงหิวเลยนี่ก็ไม่ใช่ มันก็เกินไปใช่ไหม?
นี่พูดถึงอย่าวิตกกังวลขนาดนั้น ถ้าผิดแล้วเราก็แก้ไข มีแต่เราพูดเล่นน่ะ ยิงมันซะ ฆ่ามันซะ เวลาอย่างนี้เราพูดเล่น เราไม่ได้พูดจริงๆ แต่ถ้ามันผิดเราก็แก้ไขของเราไป นี่เดี๋ยวพูดหลังไมค์เนาะ เขาวิตก วิจาร เพราะว่าไปถามคนอื่นมาแล้วมันยุ่งไง
ถาม : ๒. การที่ผมศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์อีกรูปหนึ่ง เป็นการเหมาะสมหรือไม่ เพราะผมก็เคารพศรัทธาท่านทั้งสองมาก นี้จากใจจริงๆ ครับ เพราะการศึกษาพระธรรมคำสอนที่ท่านเอามาสอนให้กับเหล่าสัตว์ผู้ด้อยปัญญาทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น กระผมปัญญาน้อย
หลวงพ่อ : เราปฏิบัติแล้วเรามีความสมดุลแค่ไหน เราปฏิบัติแล้วเราเลือกเอาไง เราเลือกเอาความสมจริง ถ้ามันเป็นความจริง เราก็เป็นความจริงได้นะ ถ้าเป็นความจริงไม่ได้เราก็ปล่อยวางไว้ เพราะอย่างนี้เขาเรียกว่าจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยตรงกัน เข้ากันมันก็ดี จริตนิสัยไม่ตรงกัน ไม่เข้ากันมันก็ไม่ได้
สมัยพระพุทธเจ้านะ เวลาพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็นไหม นี่เวลาคนไปอยู่กับพระพุทธเจ้าสึกก็เยอะ พระสมัยพุทธกาลก็สึก สมัยหลวงปู่มั่นนะ คนที่ไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นแล้วบอกว่ามันเกินไป มันรับไม่ได้ เขาออกจากหลวงปู่มั่นไปก็เยอะ
ฉะนั้น นี้ภาษาเรา นี่พูดถึงว่าเราไปหาครูบาอาจารย์ใช่ไหม? เราก็เลือกเอา ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์สอนเรามันก็เหมือนกัน ถ้าจริตนิสัยมันตรงกัน มันเข้ากันมันก็ได้ อันนี้ถ้ามันตรงกัน เข้ากันมันก็ได้ ฉะนั้น ที่ว่านับถือครูบาอาจารย์องค์ใด
นี่ครูบาอาจารย์เรานับถือได้ ความนับถือนะอย่างเช่นพวกศิษย์ เห็นไหม เขาบอกว่ามีครูบาอาจารย์มาแล้ว แล้วตอนนี้พอพัฒนาขึ้นมาแล้วเห็นว่าครูบาอาจารย์ทำผิด เราบอกว่าทำผิดก็ส่วนทำผิด แต่ขณะที่ท่านให้ประโยชน์กับเรา นี่เขาเรียกว่ามีความกตัญญูไง
เราเข้ามาศาสนาเพราะอะไร? แต่ในปัจจุบันนี้เราเห็นว่าท่านทำผิด ท่านทำผิดชัดๆ เลย ท่านทำไม่เข้าตาเลย แล้วท่านทำผิด ไม่ถูกเลย แต่เราเคยเข้ามาศาสนาก็เพราะท่าน เราเอาตรงนั้นเป็นประเด็นไง ตรงที่เราก็ยังกตัญญูอยู่ แต่เราจะตามท่านนี่ไม่ตาม เพราะเราเห็นอยู่ว่าผิดชัดๆ เราจะตามทำไม ก็เห็นอยู่ว่าผิดชัดๆ เห็นชัดๆ เลยว่าผิด ผิดๆๆ ผิดแน่ๆ แล้วจะไปตามคนผิด ไม่รู้ว่าใครโง่กว่าใครเนาะ
แต่คนผิดคนนี้ท่านเคยบอกเรา ท่านเคยชี้นำเรา เราถึงเห็นคุณท่านตรงนี้ แต่ความผิดนี้เราไม่เห็นด้วย เราไม่เอา นี้เราก็แยกของเราไป เราไม่ตามใคร.. นี้พูดถึงความเห็นเรานะ ยิ่งขณะที่ว่าคนผิดนะ แล้วเขาเป็นอาจารย์ด้วย จะไปบอกเขานี่เขาไม่ฟังเราหรอก ถ้าพูดไปนะเขาก็บอกว่าเราดังแล้วแยกวง (หัวเราะ) เวลาเข้ามาศาสนาเราเข้ามาเพราะท่าน พอมีความรู้ ความเห็น แหม.. ทำจะแยกวง
ฉะนั้น เราปฏิบัติของเรา ถ้าเราแก้ได้ เราบอกได้ หรือถ้าเราปฏิบัติได้ เขาฟังนะ ถ้าเขารู้เขาฟังของเขา เขาเปิดใจของเขา โอเค ถ้าใจเขาเปิดนะ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะเป็นประโยชน์ ถ้าใจเขาไม่เปิด แล้วเราพยายามยัดเยียดเข้าไป ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้น เราทำตัวเราให้ดีที่สุดก่อน เราทำตัวเราให้ได้ก่อน ถ้าเราทำตัวเราดี เราทำตัวเราได้นะ เดี๋ยวท่านหันมามองเอง
เอ๊ะ.. เด็กคนนี้เราสอนมาแท้ๆ เลย ทำไมมันพูดอะไรที่เราไม่รู้เลย มันพูดอะไรที่เราไม่เข้าใจเลย นี่เขาแปลกใจนะ เอ๊ะ.. เอ๊ะ.. เด็กคนนี้เราก็สอนมา แต่ตอนนี้ทำไมคำพูดของเขานี่เราไม่เข้าใจเลย มีคำพูดที่เรารู้ไม่ได้เลย เขาก็ต้อง เอ๊ะ เอ๊ะ.. นั่นล่ะเขาเริ่มสนใจ เขาจะเริ่มเปิดใจเขา
นี่พูดถึงครูบาอาจารย์นะ เขาถามว่า ถ้าเขามีครูบาอาจารย์หลายองค์จะเป็นบาปไหม? ครูบาอาจารย์สอนไม่เหมือนกันจะเป็นบาปไหม?
ต้องเอาครูบาอาจารย์มาเอ็กซเรย์แล้ว จับครูบาอาจารย์มาตั้งแล้วก็เอ็กซเรย์ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง คนเรานี่ไม่ได้หรอก เพราะว่าบารมีของท่าน กรรมของท่าน ประสบการณ์ของท่าน แล้วของเราล่ะ? จริตนิสัยของเรากับจริตนิสัยของท่าน ถ้าเราทำของเราให้ได้แล้วนะ การแก้อาจารย์แก้ยากมาก แต่ถ้าการที่เรารู้ถูก รู้ผิดแล้ว เรายังตามอาจารย์ที่ผิดอยู่ เราก็ไม่เมตตาชีวิตเราเองแล้วกันแหละ
เพราะการปฏิบัติจะถึงที่สุดแห่งทุกข์นี้แสนยากมาก ขอให้เราถึงที่สุดแห่งทุกข์ก่อน แล้วถ้าเราแก้ได้ เราบอกได้ก็โอเค ถ้าเราบอกไม่ได้ เราแก้ไม่ได้ มันก็กรรมของสัตว์ แต่ถ้าเราไม่แก้ไขเราเลย เราไม่ปฏิบัติของเราเลย เราจะเดินไปบนเชื้อนะ
เดี๋ยวนี้โรคติดเชื้อกำลังมาแรง ถ้าเราอย่างนี้เราจะติดเชื้อ เราจะเอาเชื้อป้ายเข้าตัวเรา เราจะเอาเชื้อติดในเลือดเราแล้วว่าเราถูกต้อง อย่างนั้นก็ไม่ถูกนะ เราต้องมีโอกาส ต้องเอาตัวรอด นี้เพื่อผลประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติเนาะ เอวัง