เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ ส.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนากับความเชื่อ เวลาศาสนากับวัฒนธรรม เพราะมีศาสนาตกผลึกเป็นวัฒนธรรม.. ศาสนากับความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี เห็นไหม เราเห็นคนเขาประพฤติปฏิบัติกัน เห็นที่เขาทำกันมันไม่มีเหตุมีผล เขาทำกันได้อย่างไร? นี่เขาทำได้อย่างไร?

ศาสนากับความเชื่อ ถ้ามีความเชื่อ เห็นไหม ความเชื่อนี่เราเห็นเขาทำ สิ่งนั้นทำไม่มีเหตุมีผล ทำได้อย่างไร? ทำได้อย่างไร? แต่ความเชื่อของเขาเป็นวัฒนธรรมของเขา นั่นเป็นวัฒนธรรมเก่า แต่ความเชื่อล่ะ? เราไม่ได้มองตัวเรานะ เราว่าเรามีการศึกษามาก นี่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์เราเชื่อมากทางทฤษฎี ความเชื่อนั้นใครเป็นคนเชื่อล่ะ?

ความเชื่อนั้นนะ ธรรมะคือเหตุและผลรวมลงแล้วเป็นธรรม.. เหตุกับผล แต่เหตุผลของใครล่ะ? ผลของใคร? เห็นไหม เรามีการศึกษา เรามีทางวิชาการ เราก็เชื่อของเราตามหลักการของนั้น ตามทฤษฎีนั้น แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ? มันจริงหรือเปล่า?

มันจริงมันก็เป็นเรื่องโลกๆ นะ มันเป็นเรื่องโลกๆ ทฤษฎีนั้นมันเป็นอนิจจัง คือกระบวนการของมันจบแล้วก็คือจบ แล้วต่อไปกระบวนการเริ่มต้นใหม่ กระบวนการเริ่มต้นใหม่แล้วก็ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้นแหละ ทฤษฎีก็อยู่อย่างนั้นแหละ นี่แล้วมันจบเอาเมื่อไหร่ล่ะ?

ชีวิตก็เหมือนกัน เกิดตายๆ เกิดตายๆ ก็เหมือนกัน! แล้วเกิดตาย เห็นไหม สิ่งที่เราเชื่อไง เราเชื่อตามที่เรารู้ เราเชื่อที่เรารู้นี่กิเลส แล้วความรู้มันมาจากไหนล่ะ? ความรู้มันมาจากจิต จิตมันมีอะไรครอบงำอยู่ มันมีอวิชชาอยู่ ความรู้นะ บอกเลยถ้าความคิดนี้เป็นกิเลส พระอรหันต์ก็มีความคิด พระอรหันต์มีกิเลสที่ไหน?

นี่ความคิดที่มันกำจัดแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ของมันได้ ถ้าสะอาดบริสุทธิ์ของมันได้ มันไม่เจือออกมาด้วยกิเลส เห็นไหม ถ้าไม่เจือด้วยกิเลสมันก็มีมรรคญาณ มันไม่ใช่ความเชื่อ มันเป็นความจริง ความจริงเป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ความเชื่อของเรา เราจะมีทฤษฎีขนาดไหน เราจะมีความรู้ขนาดไหน เราเชื่อขนาดไหน ผิดทั้งนั้นแหละ ผิดทั้งนั้น ถึงจะเป็นความจริง ความจริงก็เป็นอนิจจัง

นี่ความจริงคือทางวิทยาศาสตร์มันเป็นความจริงของมัน ความจริงของมัน เห็นไหม นี่กระบวนการของมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ วงรอบของมัน มันก็จบกระบวนการของมัน แล้วก็เริ่มต้นใหม่ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ มันจะหมุนของมันไปอย่างนั้น ถ้าหมุนของมันอย่างนั้น นี่ผลของวัฏฏะไง วัฏฏะก็เป็นอย่างนี้ โลกก็เป็นอย่างนี้แหละ นี่เป็นอจินไตย

โลกมันจะมีของมันอยู่อย่างนี้แหละ แล้วมันเป็นอนิจจังด้วย มันแปรสภาพของมันตลอดเวลา แต่มันมีของมัน! สสารคือสสาร มันเปลี่ยนสสารไปเป็นสสารหนึ่ง มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ทีนี้คำว่าอยู่อย่างนั้น นี่เป็นอจินไตยไง เขาบอกว่าโลกแตกๆ โลกแตกไปเชื่อกันได้อย่างไร? อ้าว.. ไม่แตกได้อย่างไร? ดูสิดูแผ่นดินไหวสิ ดูสิน้ำจะท่วมโลกอยู่นี่

มันปรับสภาพของมันนะ เห็นไหม นี่มันปรับสภาพของมัน มันปรับสภาพเพราะมันมีเหตุมีปัจจัยของมันไง แล้วเหตุปัจจัยมันต้องเปลี่ยนตลอดเวลา เหตุปัจจัยอะไรคงที่? ไม่มี นิพพานคงที่ ถ้านิพพานคงที่ นิพพานมันอยู่ที่ไหน? นิพพานคงที่มาจากที่ไหน? ดูสิความแปรปรวนของอารมณ์ ความแปรปรวนของเรามันแปรปรวนเต็มที่เลย ดูสิเวลาพายุมันมา เห็นไหม เวลาพายุมันผ่านไปแล้ว ทะเลราบเรียบไปหมดเลย มีแต่ความสงบ

นี่ไงสิ่งที่แปรปรวนไง อารมณ์เราแปรปรวน ความทุกข์ยากมันแปรปรวน ความทุกข์อย่างหยาบมันแปรปรวนของเรา นี่มันแปรปรวน แล้วถ้ามันผ่านไปล่ะ? เห็นไหม นี่กระบวนการของมัน.. พูดถึงความเชื่อ ถ้าความเชื่อของเรา เรายิ่งเชื่อมากขนาดไหน ยึดมั่นขนาดไหน เพราะเราเชื่อ เรายึดมั่นนะ

เพราะว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย พวกฝรั่งมาบวช ส่วนใหญ่แล้ว ส่วนใหญ่! ส่วนใหญ่! เพราะฝรั่งนะเขาก็มีฝรั่งที่สูงและต่ำเหมือนกัน ฝรั่งไม่ใช่ว่าเขาจะมีทฤษฎี เขาจะมีหลักการอะไรของเขา ฝรั่งที่ไม่เอาไหนก็เยอะแยะไป ทีนี้เวลาบวชเข้ามาแล้ว ผู้ที่มีหลักเกณฑ์ของเขา เห็นไหม เขาไม่เชื่อนะ เพราะสังคมของเขาเป็นอย่างนั้น เขาไม่เชื่อ ทำสมาธิได้ก็ปล่อยให้มันเสื่อม ต้องเสื่อมให้หมดก่อนเพื่อพิสูจน์ นี่เสื่อมแล้ว เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็เสื่อม เสื่อมอยู่อย่างนั้นแหละ เขาจะพิสูจน์อยู่อย่างนั้น มันเป็นนามธรรมไง

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เวลาถ้าจิตมันสงบมันพิสูจน์กันได้ มันพิสูจน์กันได้ว่า นี่ถ้าเป็นความสงบ เห็นไหม สมาธิไฟไม่มีนะ มีแต่สมาธิความร่มเย็น ถ้าสมาธิร้อนๆๆ สมาธิไฟไม่มีหรอก สมาธินี่มีแต่กสิณไฟ เช่นกสิณไฟ กสิณต่างๆ เขาเพ่งกสิณของเขา เพ่งกสิณก็เพื่อความสงบ นี่สิ่งนี้ถ้ามันสงบร่มเย็นเข้ามา ความสงบร่มเย็นนี้เป็นอะไร?

นี่ถ้ามีสติ เห็นไหม เวลาอารมณ์ความรู้สึกนะ คนที่มีสตินะ อารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นวัตถุอันหนึ่งเลย.. อารมณ์ความรู้สึก แล้วอารมณ์ความรู้สึกนะ โทสะมันร้อน นี่ถ้าโมหะมันก็เหลวไหล แล้วถ้ามันเป็นธรรมล่ะ? ถ้ามันเป็นธรรม ทำไมความรู้สึก ความนึกคิดอย่างนี้ เวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยล่ะ?

“นี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

แล้วรสของธรรมมันเป็นอย่างไรล่ะ? นี่ถ้าอย่างนี้มันไม่เชื่อนะ เวลานิพพานๆ นิพพานนี่ควักออกจากหัวใจมาให้ใครดูล่ะ? มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นนามธรรมที่มันควักออกมาไม่ได้ สมาธิ.. ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดกับใจ ใจมันพิจารณาของมัน มันภาวนาของมัน แล้วถ้ามันรู้ของมัน เห็นไหม เวลาพูดนะพูดออกมาให้เหมือนกับความจริงอันนั้นไม่ได้เลย แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็เล็กน้อยเท่านั้น เล็กน้อยเท่านั้นแหละ

นี่พูดเพื่อสิ่งที่เข้าใจได้ มีพระมากไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเรื่องสวรรค์ เรื่องนรกต่างๆ ท่านบอกว่าไม่เป็นประโยชน์ท่านไม่พูด สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ท่านไม่พยากรณ์ ถ้าท่านพยากรณ์ต้องเป็นประโยชน์ ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องนรก สวรรค์เยอะมากเลย เยอะมากเพราะอะไร? เพราะเวลาคนมันติดมันข้อง เห็นไหม นั่นล่ะท่านจะพูดต่อเมื่อเป็นประโยชน์ไง

แต่ถ้ามันมีทิฐิใช่ไหม? นี่ถ้าไม่พาฉันไปเที่ยวนรก สวรรค์ ฉันไม่อยู่ พระพุทธเจ้าไม่จริง พระพุทธเจ้าไม่แน่ ท่านไม่พูดหรอก ไม่สนด้วย แต่ถ้าใครติดข้องกับมัน แล้วสิ่งนั้นมันทำให้จิตใจนี้เหลวไหล จิตใจนี้มันออกนอกลู่นอกทางท่านจะชี้แจงเลย ชี้แจงว่าสิ่งนี้นี่มันเป็นทิพย์นะ เวลาพระอรหันต์ลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖๑ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นโลก นี่โลกธรรม ๘ นี่ไง มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ อยากร่ำอยากรวย อยากมีศักดิ์ศรี นี่บ่วงที่เป็นโลก.. บ่วงที่เป็นทิพย์ เห็นไหม บนสวรรค์ บนพรหม เป็นทิพย์ เพราะมันเป็นผลจากการกระทำของเรา นี่มันเป็นผลประโยชน์ของเรานะ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราทำบุญกุศลมามหาศาล มันก็ต้องไปเกิดเป็นธรรมดา แล้วพอไปเกิด นี่ไงบ่วงที่เป็นทิพย์ ไปเกิดมันก็รัดคอไง ไปเกิดเป็นพรหมก็ ๘๐,๐๐๐ ปีไง ไปเกิดเป็นเทวดาก็รัดคออยู่นั่นไง

นี่มันเป็นทิพย์ มันเป็นทิพย์ แต่ถ้าเราไม่ไปล่ะ? เราไม่ไป เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์เราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเรา นี่เราพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ นี่ไงถ้าบ่วงที่เป็นทิพย์ แต่เวลาคนภาวนาแล้วมันติดล่ะ? มันไปติดที่มันรู้มันเห็นล่ะ?

นี่ไงความเชื่อของเขาไง ถ้ามันเชื่ออย่างนั้น เขาเชื่อของเขา เห็นไหม ศาสนากับความเชื่อ ความเชื่อนี่นะมีความสำคัญ ถ้าเราไม่มีความเชื่อ คนเรามีหลักการ ความเชื่อของเรานี่อัตตา ถ้าเชื่อแล้วยึดมั่นถือมั่น นี่กอดมันไว้ไง กลัวเราจะผิดพลาด กอดมันไว้แต่ต้องพิจารณา พิสูจน์ ตรวจสอบ ถ้าพิสูจน์ตรวจสอบเห็นไหม เกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากการตรวจสอบนะ

แต่ในปัจจุบันนี้เขาบอกว่า “นิพพานคือความว่าง” มันก็ปล่อยกันหมดเลย แม้แต่กำหนดก็ไม่ได้นะ กำหนดนี่ก็เป็นทุกข์นะ เขาบอกว่าห้ามกำหนด ห้ามทำอะไรเลยนะ อยู่เฉยๆ นี่เข้าถึงนิพพาน ..มันอยู่เฉยๆ เข้าสู่นิพพาน มันก็เหมือนกับน้ำมีตะกอนไง น้ำขุ่น เห็นไหม เวลาอยู่เฉยๆ มันก็นอนก้น ขยับตะกอนมันก็ลอยขึ้นมา อ้าว.. แล้วอยู่เฉยๆ มันจะออกได้อย่างไรล่ะ? ถ้าอยู่เฉยๆ มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆ นะอย่างมากก็ทำสมาธิได้

ฉะนั้น เวลาบอกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย ถ้าทำแล้วมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันเข้าไปสู่หาความทุกข์ เมื่อก่อนยุโรปเขาจะบอกว่าศาสนาพุทธเป็นทุกข์นิยม อะไรก็เป็นทุกข์.. ไม่ใช่ เป็นสัจจะนิยม สัจจะความจริง นี่นอนอยู่เฉยๆ วันหนึ่งก็ไม่ไหวแล้ว นอนโดยไม่ขยับ จับมัดไว้ นอนวันหนึ่งก็ไม่ได้แล้ว

นี่เขาบอกนอนมีความสุข เห็นไหม นั่งมีความสุข ทุกอย่างมีความสุข มันจริงหรือเปล่าล่ะ? นี่มันไม่มี มันไม่มีหรอก ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง แต่เราไม่กล้าเข้าไปเผชิญกับมัน ถ้าเราเผชิญกับมันแล้วเราแก้ไขไง

นี่เพราะโดยสัญชาตญาณ เห็นไหม โดยสัญชาตญาณของเรา เวลาเจอสิ่งใด โดยสัญชาตญาณของมัน มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันแก้ไขของมันไปตลอดเวลา นั่งขบเมื่อยก็เปลี่ยนท่า นอนเมื่อยก็พลิก เห็นไหม ทำสิ่งใดมีความสุขความพอใจ มันพลิกของมันไปเรื่อยๆ

นี่ทุกข์มันเป็นความจริง แต่เราหลบมัน เราไม่กล้าสู้มัน เราไม่เผชิญความจริงกับมัน แล้วเวลาพุทธศาสนาสอน เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ แต่นี้ทุกข์ไม่ได้กำหนด ทุกข์มันขี่คอ เวลาเศร้านะ เศร้าสร้อยเสียใจ ทุกข์อยู่นั่นล่ะ นี่หลวงตาบอกว่า

“กิเลสนะมันอยู่บนหัวใจเรา แล้วมันก็ขับถ่ายทิ้งไว้ แล้วมันก็ไปแล้ว แล้วเรามีแต่ขี้ของมันไง ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงไง แล้วก็คร่ำครวญ คร่ำครวญไง แล้วก็บอกว่าทุกข์! ทุกข์! ทุกข์!” เห็นไหม มันมองไม่เห็นไง ไม่เห็นทุกข์

ถ้าเราเห็นทุกข์ล่ะ? เห็นทุกข์ เห็นไหม จิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วนะทุกข์เกิดจากอะไร? ทุกข์เกิดจากอะไร? ทุกข์เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์เกิดจากความคลาดเคลื่อน ไม่เป็นปัจจุบัน เห็นไหม เป็นอดีต อนาคตไง นี่ความคาดหมาย

ถ้าทุกข์เกิดจากอะไร? ทุกข์ควรกำหนด.. ถ้ามันกำหนด เห็นไหม กำหนดมันก็คือการรื้อค้น ถ้ามีการรื้อค้นมันก็จะเจอจำเลย ถ้าเราไม่รื้อค้น เราไม่ทำสิ่งใดเลย เราจะเอาจำเลยที่ไหนมาไต่สวน แล้วกิเลสนี่นะ มันนอนเนื่องเป็นอนุสัยนอนมากับใจ คือมันเหมือนกับจะเป็นอันเดียวกันเลย แต่ไม่ใช่ ถ้ามันเป็นอันเดียวกันนะเราจะละมันได้อย่างไร? เวลาเราทำลายมันหมดแล้ว ทำลายกิเลสหมดแล้ว มันเหลือธรรมธาตุมันเหลือได้อย่างไร?

ฉะนั้น มันนอนเนื่องมากับใจ เหมือนกับจะเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าเหมือนเนื้อเดียวกันนะ ถ้าจิตเราสงบใช่ไหม เราเอาสิ่งนี้มาตรวจสอบ เอาสิ่งนี้มาแก้ไข เห็นไหม นี่ความเชื่อเป็นอันหนึ่งนะ นิพพานเป็นความว่าง ทุกอย่างเป็นความว่าง เราก็เชื่อว่าว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ ก็ไม่ทำอะไรเลยมันก็ว่าง นี่มันเชื่อของมัน

มีศรัทธามีความเชื่อนี่ มีการตรวจสอบ มีการแก้ไข ความเชื่อนี้มีความสำคัญอันหนึ่งนะ ศาสนากับวัฒนธรรมก็อีกอย่างหนึ่ง ศาสนากับความเชื่อก็อย่างหนึ่ง แล้วเราก็เชื่อว่านิพพานๆ คือความว่าง เราก็ปล่อยให้ว่างเลย กำหนดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย นี่แล้วพอเวลาทำขึ้นไป เห็นไหม มันจะเข้าแต่กับเขาไง เข้ากับที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาทุกข์นิยมๆ

มันเป็นสัจจะนิยม คนขยันหมั่นเพียรนี่นะ ทำสิ่งใดไม่ใช่ความทุกข์หรอก มันเป็นความวิริยะ อุตสาหะ.. ความวิริยะ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เห็นไหม เป็นมรรคองค์หนึ่ง ความเพียรชอบ คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร คนเราจะมั่งมีศรีสุข คนเราจะมีความสุขเพราะความขยันหมั่นเพียร ถ้าใครมีความขยันหมั่นเพียร ขยันขันแข็ง คนๆ นั้นทำสิ่งใดจะประสบความสำเร็จ

ฉะนั้นสิ่งนี้เห็นไหม ถ้าเราขยันหมั่นเพียร แล้วเราเห็นผลของมัน มันเป็นความทุกข์ไหม? เหมือนคนทำธุรกิจการค้า เขาทำของเขา เขามีความสุขของเขา เขาทำด้วยความดีใจของเขา ไอ้เราก็ดูเขาเนาะ อู้ฮู.. จับกองนั้นไปไว้กองนี้ จับกองนี้ไปไว้กองนั้น

ในพระไตรปิฎกมีไง มันมีเปรตเฝ้าที่ศาลาอยู่ แล้วก็มีคนมานอน ศาลามีคนมานอนบ่อย เขาจะเฝ้าอยู่นั่นนะ เวลาเขานอนก็ดูว่าหัวตรงกันไหม? เขาก็ดึงหัวให้ตรงกัน เสร็จแล้วนะเขาก็จะดูทางเท้า ทางเท้าก็ไม่ตรงกันนะ เขาก็ดึงให้เท้าตรงกัน แล้วเขาก็กลับไปตรงหัวอีก หัวก็ไม่ตรงกัน มันจะไปจับหัวให้ตรงกัน มันทำอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีวันจบหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ดูเรามองเขาทำสิ จับนั่นไปไว้นี่ จับนี่ไปไว้นั่น บริหารจัดการไง อู้ฮู.. สนุกครึกครื้นนะ เราก็มองมันย้ายกองนี้ไปไว้กองนั้น ย้ายกองนั้นมาไว้กองนี้เหมือนเปรตเลย แต่เขาก็มีความสุขของเขา เขาก็ทำของเขา ถ้าปัญญามันละเอียดมันเห็นนะ มันเห็น มันเข้าใจ แต่ถ้าปัญญาศรัทธาความเชื่อ มีความเชื่อแล้วเรามั่นคงของเรา เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรานะ นี่ความเชื่อ มันจะไปแก้ไขปมความเชื่อนั่นแหละ

พอไปเจอเข้าจริงๆ นี่เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! พอเอ๊อะ! นั่นล่ะ เอ๊ะ.. เราเชื่ออย่างนี้มาตลอด แล้วพอมันเข้าไปเจอความจริงมันเอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! นะ พอมันเอ๊อะนะ นั่นล่ะความจริงมันเกิด นี่ความจริงมันเกิดมันก็ปล่อยได้ ปล่อยได้ ปล่อยได้ แล้วมันขยันหมั่นเพียรของมันมาเรื่อย เพราะเราขยันหมั่นเพียร สิ่งที่เอ๊อะนี้มันมาจากอะไรล่ะ?

โอ้โฮ.. ตั้งสติเกือบตาย ทำสมาธินะพอสงบแล้วก็พิจารณา นี่พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันปล่อยบ้างไม่ปล่อยบ้าง แล้วพอมันเอ๊อะนี่นะ มันเอ๊อะมาจากไหนล่ะ? มาจากความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ตั้งสมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรม เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เวลามันแก้ไขนะ มันขาดนะ นี่ขาดโดยความชอบธรรม

เวลาเกิดเป็นธรรมะนี่ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ถ้ามันมีศรัทธานะ มันตรัสรู้โดยกิเลสไงเพราะมันจำของพระพุทธเจ้ามา รู้ทุกอย่างเลย รู้หมดเลย เชื่อหมด เข้าใจหมด รู้หมดเลย แต่ไม่ชอบ ไม่ชอบ เห็นไหม ความเชื่อ ความศรัทธา แต่ความจริงมันเป็นอีกอันหนึ่งนะ ถ้าอีกอันหนึ่ง แล้วคนพูดกับผู้ฟัง แล้วอันไหนจะเป็นความจริงล่ะ? ต้องพิสูจน์ไง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

ของสิ่งนี้ เห็นไหม กาลามสูตร พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่อแม้แต่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อว่าคำพูดหรือสิ่งนี้มันอนุมานได้กับความรู้สึกของเรา มันอนุมานได้ เราเคยทำได้ เห็นไหม กาลามสูตร พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อปัจจัตตัง ให้เชื่อสันทิฏฐิโก ให้เชื่อการกระทำ ถ้าอันนั้นเกิดขึ้นมานั่นล่ะคือความจริง

ศาสนากับความเชื่อนะ เชื่อนี่คือศรัทธา ศรัทธานี่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ “ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์ของมนุษย์” ถ้ามนุษย์ไม่มีศรัทธา จะไม่เข้าไปรื้อค้น ไม่ค้นคว้า ไม่พิสูจน์ ไม่ตรวจสอบ

ศาสนาก็อยู่ในตู้พระไตรปิฎก ไอ้เราก็ว่าเราเป็นคนดี มันก็อยู่ในตัวของเรา แต่ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราจะเปิดตู้พระไตรปิฎกค้นคว้า เทียบเคียง แล้วมาทำให้เกิดขึ้น ทำความสงบของใจให้เกิดขึ้น เห็นไหม เกิดจากความเชื่อ ความเชื่อจะเข้าไปสู่ความจริง เข้าไปสู่ความจริง เอาไปพิสูจน์กันได้ ถ้าความจริงเกิดขึ้นมานะ นี่เราจะได้อริยทรัพย์ เราจะได้ความจริง

เขาแสวงหาทรัพย์กันมาเป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง นักบวชเรา พระเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเรา เห็นไหม ศีลธรรมเป็นสมบัติของผู้ปฏิบัตินะ ศีลธรรม ยิ่งมรรคยิ่งผลขึ้นมานี่จะเป็นผลของเรา ถ้าเราทำสิ่งนั้นได้ เราทำของเราขึ้นมา.. จิตใจของคน เวลาคนทำธุรกิจการค้า คนที่ประสบความสำเร็จมันมีส่วนน้อย คนที่เป็นฐานขึ้นมามันก็มีของมัน

การประพฤติปฏิบัติมันวัดกันที่วุฒิภาวะของใจ ถ้าใจเข้าถึงนะ ไม่ใช่ดูกันที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ดูกันที่ผิวพรรณจากข้างนอก มันดูจากหัวใจ ถ้าหัวใจมันเป็นนะ พูดออกมา แสดงออกมานี่มันมีธรรมะออกมา มันเข้าใจได้ มันรู้ได้ คนนี่รู้ได้ สิ่งนี้เป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความเชื่อ มันเชื่อตามๆ กันมานี่มันรู้ไม่ได้

ฉะนั้นเราจะต้องมีสติ แล้วในเมื่ออยู่ทางโลกก็เป็นโลกอย่างหนึ่ง แต่เราประพฤติปฏิบัติมันต้องเป็นความจริง ต้องขยัน ต้องหมั่นเพียร แล้วทำสิ่งใดมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์เราคัดเลือก เห็นไหม สิ่งใดผิดแล้วก็วางไว้ นี่สิ่งใดผิด สิ่งใดที่กีดขวางวางไว้ แล้วพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อเข้าสู่เป้าหมายของเรา เอวัง