เทศน์บนศาลา

ธรรมะติดคอ

๑๔ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ธรรมะติดคอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราแสวงหาความดีอันประเสริฐ ความดีอันประเสริฐมันเกิดจากที่ไหนล่ะ ความดีอันประเสริฐเห็นไหม ทางโลกเขา เขาก็แสวงหาของเขา เราแสวงหาของเรา ถ้าแสวงหาของเรา ดูสิเขาอยู่กันในแสงสีเสียง ไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข เราอุตส่าห์อยู่ในป่าในเขาเพื่อความสงบระงับ สถานที่วิเวก จิตวิเวก กายวิเวก ถ้ามันวิเวกได้มันก็จะวิเวกได้

ในเมื่อเราจะวิเวก พะรุงพะรังขนกันมา แล้วมันจะวิเวกไหม มันจะไม่วิเวก ธรรมนี้ได้มามันไม่ใช่ของง่ายๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมนะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ย้ำประจำ ย้ำประจำเพราะอะไร เพราะท่านต้องสร้างของท่านมา ทุกคนที่มานั่งอยู่นี้ ถ้าเราไม่มีสติปัญญาของเรา เรามีสติมีปัญญาของเรานะ เขาตื่นโลกกัน เขาพยายามจะขุดทองกัน ขวนขวายพยายามหาความมั่นคงของชีวิตกัน แล้วเวลาตายไปมีอะไรติดไม้ติดมือไปบ้างล่ะ ถ้าไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไป คนที่เขาทำบุญกุศลอยู่เขาก็มีบุญกุศลเป็นที่พึ่งพาไป

แต่ของเราเราคิดกันว่า “อยากจะทำของเราให้มันแจ้งที่นี่เลย” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วเสวยวิมุติสุข มีชีวิตอยู่แล้วก็มีความสุขด้วย นี่เรามีชีวิตอยู่แต่เรามีแต่ความทุกข์ ความทุกข์แสนเข็ญ แต่มันก็ยังคิดว่ามีโอกาส เรายังขวนขวายกันอยู่ คนเรานะ กรรมเห็นไหม กรรมจัดสรร “กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ” มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย คนเรามันมีกรรมบีบคั้นมาแตกต่างกัน

อยู่ในครอบครัวของเราเห็นไหม เกิดในประเทศอันสมควร ในครอบครัวสมควร การทำคุณงามความดีก็ชวนกันมา มาทั้งครอบครัวนะ ปู่ย่าตายายมาทั้งลูกทั้งหลาน เขามากันมีความสุขมีความรื่นเริงของเขา แต่เวลาเราเกิดขึ้นมาเห็นไหม ดูสิ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบันสร้างวัดทั้งวัดเห็นไหม ลูกชายไม่ยอมสนใจเลย จ้างให้ไปวัด กลับมาก็เอาค่าจ้างนะ พอเอาค่าจ้างขึ้นมาเห็นไหม “ต่อไปนี้ให้ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ซักคำสองคำ ยิ่งถ้าจำคำเทศน์มาได้ซักคำสองคำ จะได้ค่าจ้างมากกว่านั้น” ก็ตั้งใจฟังไง เพื่อจะได้เงินมากขึ้น

พอตั้งใจฟังเห็นไหม ธรรมะมันไหลเข้าสู่ใจ เป็นพระโสดาบันขึ้นมา กลับไปเป็นไม่กล้าเอาตังนะ ไม่กล้าเอาตังอายมาก อายมากๆ เวลาคนเรานะ ถ้ามันไม่พลิกใจขึ้นมามันก็ว่านะ “ดูพ่อเราสิ ทุ่มเทขนาดนั้น ดูสิอุตส่าห์เลี้ยงพระอย่างนั้น ใจมันก็ต้องคิดนะ ธรรมดาทุกคนมันก็คิดของมันได้เห็นไหม แต่เวลาจิตใจพออยากได้ตังค์ขึ้นมา ให้จำมาวันละคำ ยิ่งจำมาได้มากยิ่งได้เงินมากกว่านั้น จำธรรมะนะ พอจำมาไหลเข้าสู่ใจเห็นไหม พอกลับมาบ้านพ่อก็รอจะให้ตัง ไม่กล้ารับนะ ไม่กล้ารับ มันละอายใจนะ

ละอายใจมาก เพราะความคิดก่อนหน้านั้น กับความคิดที่เป็นพระโสดาบันมันแตกต่างกัน ความคิดก่อนหน้านั้นคิดว่าเสียเปรียบ อุตส่าห์ทุ่มเทขนาดนั้น พ่อเราทำขนาดนั้นๆ มันคิดแล้วมันก็เสียใจ แต่เวลาเป็นพระโสดาบันขึ้นมา มันเห็นคุณค่า ละอายกับใจ พอละอายกับใจขึ้นมา มันละอายกับใจเพราะเหตุใดล่ะ เพราะสิ่งที่เป็นธรรมะก็เป็นธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งนั้นเป็นธรรม

ชีวิตเราก็เหมือนกัน เราแสวงหากันอยู่นี้เราแสวงหาอะไร ทำบุญกุศลมันเป็นอามิส ดูสิโลกเขาทำกัน เอาหน้าเอาตากัน พยายามทำเอาชื่อเอาเสียงกัน เอาชื่อเอาเสียงกันแล้วมันได้แค่ไหนล่ะ ดูเราทำกันเห็นไหม เราทำกันทิ้งเหว ทำไม่ให้มีใครรู้ ทำเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำเพราะอยากได้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ไง เราทำของเราเอง เรารู้ของเราเอง

ความลับไม่มีในโลก คนใดก็แล้วแต่ทำความดี ความดีนั้นก็ไหลลงสู่ใจดวงนั้น ใจดวงใดทำความชั่วร้าย ทำความผิดพลาด ทำความไม่ดี จะแอบซ่อนที่ไหนใจดวงนั้นมันก็รู้ ใจดวงนั้นมันนำของมันไป

ถ้าใจดวงนั้นมันนำไปเห็นไหม เราทำความดีของเราไป ทำไมต้องเอาชื่อเอาเสียง ทำไมจะต้องให้คนเขารับรู้ด้วยล่ะ พอเขาไม่รับรู้ด้วย ถ้าทำไม่เอาชื่อเอาเสียงนะ มันทำแล้วสบายใจ ทำแล้วมันพอใจ

แต่ทำเอาชื่อเอาเสียง กลัวเขาจะไม่รู้ กลับเขาจะไม่เห็น กลัวเขาจะไม่รับรู้ โฆษณากันเข้าไปใหญ่เลย แล้วมันทุกข์สองชั้นสามชั้นน่ะ เวลาทำบุญก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เราอุตส่าห์แสวงหามา กลัวเขาจะไม่รู้อีกเราก็เป็นทุกข์อีกชั้นหนึ่ง ทำเสร็จแล้วกลัวเขาไม่เข้าใจยังต้องไปออกทีวีนู่นอีกน่ะ

โลกเขาคิดกันอย่างนั้นเห็นไหม เราทำกันเราทิ้งเหว เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราเห็นไหม จิตใจของเราเวลาเราเกิดมา เราเกิดมาเรามีสติปัญญาของเรา เราแสวงหาของเรานะ โลก! เวลามันทุกข์มันร้อน มันทุกข์มันร้อนกัน ใครได้เครื่องบำรุงบำเรอมันก็มีความสุขเห็นไหม คนเราเวลามันมีความสุข มันมีเครื่องบำรุงมันก็มีความสุขของมัน นั่นเขาคิดเขาเห็นเขาเปรียบเทียบกันได้

ในจิตใจของเรา เราเกิดมามีความทุกข์ไหม มันก็มีความทุกข์ทั้งนั้น แต่เพราะเรามีสติปัญญาใช่ไหม เพราะเรามีสติมีปัญญาเราถึงพยายามแสวงหากัน แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันแสวงหาที่ไหนล่ะ ดูสิเวลาพระเราแสวงหาเห็นไหม ออกธุดงค์ ออกเที่ยวป่า ออกเที่ยวป่าเพื่ออะไร เพื่อแสวงหาตัวเอง ออกธุดงค์ไปแสวงหาค้นคว้าตัวเอง เราก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องแสวงหาของเราให้ได้

ถ้าแสวงหาของเรานะ ถ้าเราพบของเราล่ะ มันก็เหมือนกับเราได้อยู่ได้กิน จิตใจมันได้สัมผัสความร่มเย็นเป็นสุข มันก็มีความสุขของมัน โลกนะ เวลาเขาหิวกระหายกัน เขาอยากกินนะ เวลาคนหิวคนกระหาย เขาอยากได้อาหารเพื่อดำรงชีวิตของเขา ทุกข์มาก เวลาคนเราได้กินอาหาร กินเข้าไปแล้วมันก็มีความสุข

แต่เวลาคนนะ เวลากินอาหารเข้าไปด้วยความประมาทพลั้งเผลอ มันติดคอนะ มันติดคอนี่ทุกข์เข้าไปอีกนะ คนเขาทุกข์เขายาก เขาไม่มีจะกินเขาก็ทุกข์ คนที่เขามีความสุขของเขา เขาเสวยของเขา เขากินของเขาโดยความเป็นอยู่ของเขา แล้วถ้ากินเข้าไปแล้วมันคาคอเห็นไหม นี่ธรรมะมันติดคอ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าทางโลกเขา เราว่าเป็นคนไม่สนใจธรรมะ เขาก็ไม่ได้ผลประโยชน์ของเขา เราเป็นคนสนใจ เราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราพยายามศึกษาของเรา แล้วมันคาคอไหมล่ะ คายก็คายไม่ออก กลืนก็กลืนไม่เข้า

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติกัน จิตมันลงไหม ขย่อนให้มันลงสิ ถ้าขย่อนให้มันลง จิตใจมันลงไปเห็นไหม มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา กลืนก็ไม่เข้า! คายก็ไม่ออก! ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ แต่ถ้าเป็นทางโลกเขา เป็นคนที่สวมรอยเห็นไหม เวลาเขาสวมรอยนะ เขาพูดธรรมะเจื้อยแจ้วเลย เวลาพูดธรรมะ ธรรมะคืออะไรล่ะ พูดธรรมะเจื้อยแจ้วแต่ไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้นะ ให้พูดความจริงขึ้นมาก็ไม่กล้าพูดความจริง แต่เวลาอยากจะให้เขาศรัทธา อยากให้เขาเชื่อถือก็พูดธรรมะนะ แจ้วๆๆ เลย เวลาถามขึ้นมาตอบไม่ได้ แล้วตอบไม่ได้มาจากไหน ก็มาจากพระไตรปิฎกไง นี่พุทธพจน์ นี่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันติดคอ

ไอ้จะไม่พูดรึก็อยากพูด ไอ้พูดแล้วจะให้พูดสว่างกระจ่างแจ้งก็พูดไม่ได้ นี่พูดถึงว่าคนที่เขาสวมรอยกันนะ อยากจะอวด อยากจะให้โลกเขานับถือศรัทธา แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ ถ้ามันเป็นความจริง กลืนสิ อาหารน่ะกลืนลงไป อาหารเรากลืนลงไปแล้วมันไปอยู่ในกระเพาะมันจะให้ผลเป็นอย่างไร เวลาเราแสวงหาอาหารมา เวลาเรากินเข้าไป อาหารมันรสชาติเป็นอย่างไร แล้วรสชาติกินเข้าไปมันต้องรู้สิ นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ ว่างๆ โน่นก็ไม่ต้องทำ นี่ก็ไม่ต้องทำ กำหนดอะไรมันป็นทุกข์ไปหมด ถ้าอยู่เฉยๆ มันเป็นธรรมๆ

ถ้าอยู่เฉยๆ เป็นธรรม อากาศมันก็เป็นธรรม ทุกอย่างวัตถุมันเป็นธรรมหมด แล้วมันเป็นธรรมไหม มันไม่เป็นเลย มันเป็นสสาร “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ” ดูหนังให้ดูละครนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โมฆราชถามเห็นไหม “เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วเธอจงกลับมาถอนอัตตานุทิฐิของเธอ” นี่ก็เหมือนกัน เธอจงมองโลกนี้มีความว่าง เราก็มองธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างมันก็เป็นวัตถุ มันก็แปรสภาพของมัน แล้วเป็นธรรมไหมล่ะ

“เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง” เธอจงมองโลกนี้เห็นไหม สสารมันเปลี่ยนแปลงมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วเธอจงกลับมาถอนอัตตานุทิฐิ กลับมาถอนความรู้สึกของเธอ ถ้าเธอกลับมาถอนความรู้สึกของเธอไม่ได้ เธอก็ไม่รู้จริง มันก็คาคอเธออยู่อย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” แล้วเป็นอย่างไรล่ะ ไอ้จะไปก็ไปไม่ได้ ไอ้จะถอยก็ถอยไม่เป็น แล้วพูดแบบนี้ นี่พุทธพจน์ๆ “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ ว่างๆ ว่างๆ นี่เป็นนิพพาน” เวลามันติดคอนะ ติดคอคืออะไร ติดคอคือว่า ไม่มีแก่นสารในความรู้อันนั้นเลย ความจริงในตัวเองไม่มีแก่นสารอะไรเป็นสมบัติของตัวเลย แต่เจื้อยแจ้วนะ สวมรอยไปอย่างนั้นเอง นี่พูดถึงถ้าเขาแสดงธรรมนะ

แต่เราผู้ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม เวลาทุกข์ในชีวิตเรา เราก็ทุกข์ ชีวิตเราเกิดมาเห็นไหม เกิดมาสัจจะเป็นความจริง ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้มันสะเทือน มันเตือนเรา หิวมันเตือนเราให้เราแสวงหาอาหาร เวลามันเศร้าหมอง เวลามันช้ำใจ มันก็ต้องแสวงหาธรรมะเพื่อเจือจานมัน ทุกข์มันเตือนเราอยู่ตลอดเวลาเห็นไหม ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ธรรมะมันแสดงทุกวันๆ มันแสดงตลอดเวลา แล้วเราแสวงหาธรรมๆ สิ่งนี้เรามองมันไม่เห็น มองมันไม่เห็น ศึกษาได้เห็นไหม อย่างนี้มันติดคอ ว่าไม่รู้ก็รู้ ถ้ารู้จะเอาให้จริงก็ทำไม่ได้

ชีวิตมันเป็นทุกข์เห็นไหม เราศึกษาธรรมมาแล้วเรารู้ของเรา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ เราทำของเราเพื่อจะให้มันเกิดความสงบร่มเย็น ถ้าจิตมันมีความสงบร่มเย็นมันสดชื่นขึ้นมา มันควรจะทำงานได้ มันต้องมีสมถะ ถ้ามีสมถะคือความสงบร่มเย็นของใจ ถ้าใจเราไม่สงบร่มเห็นไหม มันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สมาธิก็กลืนลงไปไม่ได้ ถ้ามันกลืนลงไปได้ มันผ่านลำคอลงไปนะ แหม... มีความสุขมีความพอใจ มันเป็นความจริงขึ้นมา แล้วความจริงอธิบายได้นะ เรากินอะไรลงไปล่ะ แล้วกินลงไป ใจมันกินอะไรลงไปล่ะ

ถ้าใจมีสติขึ้นมาเห็นไหม มันมีสติมีสมาธิของมัน มันได้กลืนอะไรของมันไปล่ะ ถ้ามันลงไปสู่ใจแล้วใจมันต้องว่าง ใจมันต้องมีความสงบร่มเย็น ถ้าใจมันว่างมีความสงบร่มเย็น มันก็เป็นความจริงเห็นไหม มันไม่ติดคอ! มันลงสู่ความจริง! ถ้ามันลงสู่ความจริงเห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติกันที่มันค้ำคอเราอยู่นี้เพราะอะไร มันค้ำคอเราอยู่นี้เพราะว่า เราทำแล้วมันไม่เป็นความจริงเห็นไหม ถ้ามันไม่เป็นความจริงเราจะทุกข์เนื้อร้อนใจ ทุกข์เนื้อร้อนใจกลับไปที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เราทำของเรามาขนาดไหน ถ้าเราทำของเรามา เวลาเราทำมา เราย้อนกลับมาที่บุญกุศล อยู่ที่ทาน เวลาทาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละๆ เป็นพระเวสสันดรเสียหมดเลย เสียสละทั้งลูกทั้งเมีย เสียสละทั้งสมบัติ เสียสละทุกอย่างเห็นไหม เขาไล่ออกจากพระราชวังก็เสียสละๆ การเสียสละนั้นจิตใจมันพร้อมของมัน มันอิ่มเต็มของมัน อันนี้ของเรา เราจะเสียสละมามากหรือน้อยเราก็ไม่รู้ แต่ขณะที่ปัจจุบันนี้เรามีความมั่นคงของเรา ถ้ามีความมั่นคงของเรา เราเป็นชาวพุทธโดยเนื้อหา โดยแก่นสาร แก่นสารเพราะอะไร แก่นสารเพราะเราจะค้นคว้าหาความจริงของเราให้ได้

ในการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานั้นเป็นปริยัติ เป็นทฤษฎี เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายเครื่องดำเนิน แต่ความจริงมันไม่มี! ถ้าเราทำความสงบของใจเราขึ้นมาไม่ได้ ความจริงมันไม่มี! ถ้าความจริงมันจะมีขึ้นมา เราต้องกลืนสติกลืนสมาธิลงคอให้ได้ เข้าไปสู่ใจเราให้ได้ ถ้ามันลงสู่ใจเราได้ มันมีพื้นฐานที่จะออกไปค้นคว้าของมัน ถ้ามันออกไปค้นคว้าของมัน มันจะได้ผลประโยชน์เข้ามา มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงของเราขึ้นมา เราถึงต้องมีสติควบคุมตัวเรา

โลกเขาจะกระเพื่อม โลกเขาจะสั่นคลอนขนาดไหน เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ โลกนี้ก็ส่วนโลกนี้ จิตใจเราก็ส่วนจิตใจเรา โลกนี้เหมือนไม่มี ถ้าพุทโธก็พุทโธชัดๆ แต่ด้วยสัญชาตญาณ ด้วยธรรมดาของจิต เริ่มต้นมันจะชัดเจนอยู่พักหนึ่ง เสร็จแล้วมันจะเจือจางของมันไป ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น ถ้าธรรมชาติเป็นแบบนั้นเราฝึกฝนไหม ดูสิ เขาเลี้ยงวัวนะ ลูกวัวอุ้มทุกวันๆ เลย พอวัวมันโตขึ้นมาเขาก็อุ้มได้ เพราะเขาได้อุ้มอยู่ทุกวัน

จิตใจที่มันอ่อนแอมันท้อแท้ มันก็โดยธรรมชาติของกิเลสมันเป็นแบบนั้น เรามีสติปัญญาสู้กับมัน เหมือนเขาอุ้มลูกวัวทุกวันๆ เขาจึงอุ้มลูกวัวนั้นได้ตลอดไป จนวัวมันจะโตขนาดไหนเขาก็อุ้มได้ถ้าเขาได้ฝึกฝนของเขาตลอดไป จิตใจถ้ามันจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน ที่มันจะไม่สู้ขนาดไหน เราก็ตั้งสติของเรา เราจะสู้กับมัน! ถ้าสู้กับมันนะ ถ้าจิตใจคนอ่อนแอ แล้วอุ้มลูกวัวมันเกี่ยวอะไรกับการปฏิบัติล่ะ อุ้มลูกวัวแล้วมันจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาล่ะ

เขาอุ้มลูกวัวเพราะเขาอุ้มแล้วเขามีกำลัง เขามีกำลัง เท้าลอยจากพื้นทุกวันๆ จิตใจถ้าเรามีปัญญารักษาใจของเรา เห็นไหม ใจของเราถ้าเรามีกำลังรักษาของมันนะ มันก็ชัดเจนของมันขึ้นมา มันก็เป็นความจริง อุ้มลูกวัว ลูกวัวต้องลอยขึ้นมาจากพื้น

กำหนดพุทโธๆ จิตมีสมาธิปัญญาเห็นไหม มันไม่ให้จิตออกเสวยอารมณ์เลย ไม่ให้ออกสู่สัญญาอารมณ์ ไม่ให้ออกมาเป็นสองเลย มันรักษาของมันเห็นไหม ถ้าเราเข้มแข็งของเรา เราทำของเรา มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา

นี่ไงมันมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลของมัน มันกลืนลงคอไปแล้วมันรู้เลย โธ่... เวลาก้างมันตำคอนะ เขาไปหาหมอให้เอาออกให้ ยิ่งกินเมล็ดผลไม้เข้าไป มันติดหลอดลม ตายนะ เขาวางยาดึงออกมาจากคอนะ นี่ก็เหมือนกัน สติปัญญามันทำขึ้นมาให้จิตมันลงได้ไหม มันก็คาอยู่อย่างนั้นล่ะ มันติดคออยู่อย่างนั้นล่ะ ไปซ้ายก็ไม่ได้ ไปขวาก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่เป็น มันติดคาอยู่อย่างนั้น แล้วเราจะหาเหตุผลอะไรล่ะ

คนนะ ถ้าเมล็ดผลไม้มันติดคอนะ เขาไปหาหมอ ยังไงเขาต้องเอาคีบออกมานะ ไม่เอาออกมาคนนั้นตาย แล้วมันทุรนทุรายขนาดไหนเวลามันจะตาย ตาเหลือกตาถลนเลยนะเวลาไม่มีออกซิเจนเข้าไป ปอดมันสูบออกซิเจนเข้าสู่สมองไม่ได้ ตาเหลือกตาถลนเลย นี่พูดถึงชีวิตมันเสียได้นะ แต่เวลากิเลสมันขวางอยู่ เวลาธรรมะมันติดคอ แล้วทำอย่างไรๆ ไม่เป็นไร.. ไม่เห็นเป็นไรเลย.. เพราะมันเป็นนามธรรม บุคลาธิษฐานเปรียบให้เห็นโทษของมัน ให้เห็นโทษถ้ามันคากันอยู่อย่างนี้ มันปฏิบัติแล้วมันไม่สู่ความจริงอย่างนี้

เรานะ มันอยู่ที่สัจจะ ยู่ที่บารมีนะ เวลาปฏิบัติมาทุกคนจะล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ ครูบาอาจารย์ของเราติดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะรื้อค้นมันไม่มีเลย พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเห็นไหม พระโมคคัลลานะ ๗ วัน พระสารีบุตร ๑๔ วัน ดูสิ ดูยสะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม “ที่นี่เดือดร้อนหนอๆ” ออกมาจากบ้าน มีปราสาท ๓ หลังเหมือนกัน เดือดร้อนมาก ทุกข์ยากมาก ไม่มีอะไรพอใจซักอย่าง มีแต่ความขาดแคลน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่นะ “ที่นี่ไม่เดือดร้อน ยสะที่ไม่เดือดร้อน มานี่ไม่เดือดร้อน” เทศนาให้ฟังเป็นพระโสดาบันเลย เทศน์ซ้ำอีกทีพ่อแม่ตามมา เป็นพระอรหันต์เลย ทำไมเขาสะดวกสบายกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระเสือกกระสน ค้นคว้าอยู่ตั้ง ๖ ปี ทำไมยสะฟังคืนเดียวเป็นพระอรหันต์เลย พระโมคคัลลานะ ๗ วัน พระสารีบุตร ๑๔ วัน

สาวกสาวกะมันก็เหมือนกับครูบาอาจารย์นะ ถ้ามีอาจารย์ขึ้นมา สั่งสอนขึ้นมามันก็ยังมาง่าย และครูบาอาจารย์เป็นครูบาอาจารย์แท้ๆ ไง ไม่ใช่ธรรมะติดคอ เดี๋ยวนี้อุปโลกน์ตัวเองเป็นอาจารย์กัน แต่อยู่ที่คอ พุดก็คลุมๆ เครือๆ พูดชัดก็ชัดไม่ได้ ไอ้พูดไม่ชัดก็อยากเป็นอาจารย์ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น

“ยสะมานี่ ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่วุ่นวาย” แล้วไม่วุ่นวายเพราะอะไรล่ะ ไม่วุ่นวายอย่างไรล่ะ เวลาเทศนาว่าการเห็นไหม ยสะเป็นพระโสดาบันเลย เวลาพระสารีบุตรเห็นไหม ไปฟังเทศน์พระอัสสาชิ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนให้ไปดับที่เหตุนั้น ดับที่เหตุนั้น นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตเราทุกข์ยากนักเราไปดับมันที่ไหนล่ะ เวลาเราดูตำรับตำรามาเห็นไหม เขาทำกันแล้วประสบความสำเร็จ เราก็ฮึกเหิม ฮึกเหิมจะเอาให้ได้ๆ แล้วเราเอามาได้ไหมล่ะ เพราะมันได้หรือไม่ได้ เราฮึกเหิมก็เป็นอำนาจวาสนา เพราะเราศึกษาแล้วจิตใจเราเชื่อ จิตใจเราค้นคว้า จิตใจเราน้อมไปทางที่อยากได้

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ พอมันศึกษาขึ้นไปแล้ว หมดยุคหมดสมัย มันเป็นไปไม่ได้ มันหมดกาลหมดสมัย นี่ถ้ากิเลสมันบังตานะ คนนั้นก็ศึกษามาเหมือนกัน แต่เขาศึกษาแล้วเขาวาง เขาไม่ไขว่คว้าไม่ตั้งใจ ไอ้เราศึกษาแล้วเราเอานะ เราเอา เราจริงจัง ถ้าเราทำของเราได้นะ ดูสิในเมื่อธรรมทั้งหลายมันมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันสมควรมันต้องเป็นไปได้ ถ้าเหตุมันสมควร ฉะนั้นที่เราทำกันอยู่นี้ เรารักษาสภาวะแวดล้อมไว้ เพื่อให้สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าสภาวะแวดล้อมมันสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ เราจริงหรือเปล่าล่ะ เห็นไหมเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติกัน เราก็จะหาที่อันสมควร ที่มันเป็นที่สงัดที่วิเวก ที่เราจะประพฤติปฏิบัติ

แล้วโลกนี้มันจะมีสถานที่อย่างนี้มากน้อยแค่ไหนล่ะ ฉะนั้นใครเป็นหัวหน้าเป็นผู้ดูแล เขาพยายามจะรักษาสภาวะแบบนี้ไว้ให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เรามีวาสนาไหม เรามีโอกาสบ้างไหม ถ้าเรามีอำนาจวาสนา มีโอกาสขึ้นมาแล้ว พอมีอำนาจวาสนา เราก็ว่า ที่นั่นจะเป็นอย่างนั้น ที่นี่จะเป็นอย่างนี้ แล้วใจที่มันติดคออยู่นี้ ศึกษาธรรมะมาเห็นไหม เขาบอกว่าต้องเป็นสัปปายะ ๔ ต้องที่สงบสงัด หมู่คณะต้องดี อาหารต้องเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ต้องชี้นำเราได้

นี่ไม่มีซักอย่าง โอ้โห มันเดือดร้อนไปหมด ไม่ถูกใจซักอย่าง อะไรก็ไม่ดีไปหมดเลยเห็นไหม ถ้ากิเลสมันมอง แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมาท่านมองนะ มันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย มันไปอีกเรื่องหนึ่ง เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาเห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า เหมือนผ้าขี้ริ้ว เหมือนเศษคน ไม่มีคุณค่าอะไรเลย แต่ทำไมมีค่ามากล่ะ มีค่ามากเห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติท่านเห็นค่าของมัน ให้คุณค่าของมัน ความสงบสงัด ความวิเวก แล้วมันตรงข้ามกับกิเลสไง เพราะกิเลสมันแสวงหาของมัน มันต้องการความสะดวกสบายของมัน มันต้องให้ความพอใจของมัน ถ้าปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันตั้งโจทย์แล้วเห็นไหม มันบีบคอหอยแล้ว แล้วจะเกิดธรรมะคาไปหมด ผ่านไม่ได้หรอก... ถ้าผ่านไปไม่ได้ เริ่มต้นก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว

แต่ถ้าเริ่มต้นนะ มีสิ่งใดเราก็ใช้สิ่งนั้น มีเป็นอย่างไร มันเป็นประโยชน์มา เราก็ทำเพื่อเหตุนั้น มันจะดีมันจะร้าย มันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องปฏิบัติของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราจะต่อสู้ของเรา อาหารอ่อนเราก็เคยกิน น้ำเราก็ดื่มได้ อาหารเหลวเราก็กินได้ ของแข็งเราก็เคี้ยวของเรา พอจะกลืนได้เราก็กลืน เราหัดทำของเราเห็นไหม ทั้งเคี้ยวทั้งกลืนของเราไม่ให้มันติดคอ มันย่อยสลายได้ไง มันย่อยลงไปเป็นสมบัติของเราได้ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

การศึกษาการเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ การศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษาเขาไว้ศึกษา ไม่ใช่ศึกษามาแล้วเป็นสมบัติของเรา ศึกษามาแล้วทบทวนอยู่เรื่อย ลืมอยู่เรื่อย ต้องศึกษาอยู่เรื่อย แต่ถ้าเป็นของเราแล้วไม่ต้องคิดเลยนะ อริยสัจที่มันเกิดกับใจแล้วไม่ต้องคิดเลย มันเป็นของมันตลอดเวลา มันอยู่ของมันตลอดเวลา มันขยับมา เสวยอารมณ์ ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์มันมาพร้อมตลอด ถ้าพร้อมคลอดอย่างนั้นมันจะผิดพลาดไหม

แต่คำว่าผิดพลาด มันไม่ผิดพลาดในอริยสัจในสัจจะความจริง แต่ในเรื่องของโลกๆ มันก็เรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดาเห็นไหม ดูสิธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเขาไม่เป็นไข้ ภิกษุแสดงธรรม เขานอนอยู่เรายืนอยู่ เขานั่งอยู่เรายืนอยู่เป็นอาบัติหมดถ้าไม่เป็นไข้ แต่ถ้าเขาเป็นไข้ยกเว้นหมดเลย เขาเป็นไข้ เขาเจ็บไข้ได้ป่วยเราเกื้อกูลเขาได้ ฉะนั้นคำว่าเป็นไข้และไม่เป็นไข้ คนเราเห็นไหม เป็นอนิจจังใช่ไหม เราจะรู้เมื่อไหร่ว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะรู้ได้เมื่อไหร่ว่าร่างกายของเรามันจะทนสภาวะได้แค่ไหน ฉะนั้นเวลามันแก่เฒ่าขึ้นมา มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

วินัยยกเว้นหมดนะ ถ้าภิกษุไข้เห็นไหม ยกเว้น คำว่ายกเว้น เพราะถึงเวลาแล้วร่างกายมันจะคงทนไปอย่างนี้ไม่ได้หรอก แต่ในเมื่อเรายังมีกำลังอยู่ เรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราอยู่ เราต้องแก้ไข เราจะต้องเข้มแข็งของเรา เราทำเพื่อประโยชน์ของเรานะ ถ้าจิตใจเราดี เรามีสติปัญญานะ เราพยายามของเรา ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ามากไปกว่านี้แล้ว เราเกิดมามีชีวิต ชีวิตนี้มีค่ามาก เกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนาในการประพฤติปฏิบัติ เรามีความใฝ่ใจ นี่คืออำนาวาสนานะ

เรามองกลับไปในโลกนะ คนที่ไม่สนใจ คนที่ไม่เข้าใจ แล้วคนที่ต่อต้าน มีมากมายขนาดไหน แล้วเห็นไหม ขนโคกับเขาโค เขาโคมีสองเขา เราเป็นเขาโคมี ๒ เขานั้น เพราะเรามีความตั้งใจ มีความจงใจ เราอยากกระทำของเรา เราก็มีวาสนาแล้ว พอมีวาสนาขึ้นมา พอบริกรรมพุทโธ พอกระทำความจริงขึ้นมา วาสนาทำไมไม่ส่งเสริมล่ะ วาสนาทำไมไม่ส่งเสริม

เวลาสิ่งที่เป็นหยาบๆ นะ คำว่าหยาบๆ ความศรัทธา ความเชื่อมันก็เป็นอริยทรัพย์ของโลก มันมีคุณค่าของทางคฤหัสถ์ฆราวาสเขา เขามีความเชื่อ เราก็มีประโยชน์ของเรา ถ้าเรามีความเชื่อมั่นเราก็ทำของเราได้ สิ่งนี้ก็มีคุณค่าส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ละเอียดกว่านี้ล่ะ ศรัทธาเป็นเรื่องของศรัทธานะ แต่ความจริงเป็นเรื่องของความจริง ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา บริกรรมพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิต้องทำให้ได้ ถ้าจิตมันไม่สงบ ความคิด ความรู้ ความเห็น มันมาจากกิเลสทั้งนั้น โลกียปัญญามันมาจากกิเลสเห็นไหม

แม้แต่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษาไปก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนะ คำว่าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เชื่อถ้าจิตใจเป็นธรรม แต่อีกครึ่งหนึ่งมันลังเลสงสัยแน่นอน มันลังเลสงสัยนี่มันติดแล้ว พอมันติดขึ้นมา ติดมันก็ก้ำกึ่ง แต่เรายังมีวาสนาเพราะเรายังศึกษา เรายังมีความมุ่งมั่น มีความเชื่ออยู่นะ แต่สงสัยไปตลอด มีความสงสัยคาใจไปตลอด เชื่อเราเชื่ออยู่ แต่มันไม่เป็นความจริง แล้วพอเราเชื่ออยู่ ความเชื่อก็เป็นอย่างนี้ใช่ไหม เราตั้งใจทำคุณงามความดีของเรา แต่เวลาเราเวียนตายเวียนเกิดล่ะ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เวลาทำคุณงามความดี เวลาไปเกิดนะ เกิดในสิ่งที่ดี

แล้วคนเราไม่มีทำอะไรผิดพลาดเลยใช่ไหม มันก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นมันก็เวียนตายเวียนเกิดของมันไปอย่างนั้น ถึงศึกษาขนาดไหนมันก็ต้องเป็นแบบนั้น เชื่อ แต่เวลามันมีอะไรสะกิดใจมันก็ไปของมัน แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราล่ะ ถ้าเราไม่เห็น มันจะจับต้องสิ่งใด ถ้าสติเห็นไหม เรามีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าจิตไม่สงบมันรู้ด้วยอะไร มันรู้ออกมามันเป็นมิจฉาหมด มันเป็นมิจฉา มันเป็นภวังค์ มันไม่เป็นความจริงเห็นไหม นี่มันคาอยู่นั้นแหละ มันติดคอ นี่ธรรมะมันติดคอ

ธรรมะนะ คำว่าธรรมะเพราะเราเข้าใจว่ามันเป็นธรรมไง แต่ความจริงมันเป็นอะไร มันเป็นกิเลสใช่ไหม กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสมันก็มีนะ มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เวลาหยาบๆ เห็นไหม คนที่เขาไม่สนใจ เขาว่ากิเลสหยาบๆ เวลาเขาสนใจเข้ามาเห็นไหม ขนาดเราเป็นนักปราชญ์ เราเป็นบัณฑิตกัน เรามาวัดมาวา เรามาประพฤติปฏิบัติกัน เรามีความสนใจ เราเป็นบัณฑิตๆ แล้วบัณฑิตเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ บัณฑิตก็มาทำสักแต่ว่า แล้วมันติดคออยู่นี้ก็น้อยเนื้อต่ำใจ ก็จะถอยแล้วล่ะ

ถ้าเป็นบัณฑิต.. บัณฑิตก็ต้องพิสูจน์สิ พิสูจน์ว่ามันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ล้มลุกคลุกคลานอย่างไรก็ทำ คำว่าล้มลุกคลุกคลานนี่น่าเห็นใจมาก เพราะทุกคนก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน การก้าวเดินไปเห็นไหม การก้าวเดินไปของผู้ที่มีสติสัมปชัญญะขนาดไหน ถ้ามันลื่นล่ะ สิ่งที่ลื่นสิ่งที่อะไรต่างๆ มันก็หกล้มหกลุกได้ แล้วหัวใจล่ะ หัวใจที่มันก้าวเดินไปนะ บริกรรมพุทโธๆ มันย่างก้าวของมันไป ย่างก้าวของมันไปจนกว่ามันจะละเอียดเห็นไหม ละเอียดของมันเห็นไหม พุทโธละเอียดของมัน

ปัญญาอบรมสมาธิมันปล่อยเข้ามาจนจิตใจมันมีความร่มเย็นของมัน มันจะรู้ของมันนะ แล้วร่มเย็นของมัน แล้วถ้ามันจับต้องสิ่งใดได้ มันยิ่งมหัศจรรย์ใหญ่ มันมหัศจรรย์นะ เราศึกษามา เขาบอกว่า “นี่ทองๆๆ” เราไม่เคยมีทองกับเขาเลย แต่ถ้าเรามีทองสักเส้นหนึ่ง “อืม นี่ทองๆๆ ทองแท้ๆ” นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะเขาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เราไม่เคยจับต้องสิ่งใดเลย เห็นไหม แล้วศึกษาก็รู้ เพราะจิตของมนุษย์มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จิตนี้มหัศจรรย์มาก คิดเรื่องดีก็ได้ คิดเรื่องดีๆ ก็ได้ แต่คิดแล้วทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งนะ คิดเรื่องร้ายๆ ก็ได้ คิดให้มันสงสัยก็ได้ คิดให้มันล้มลุกคลุกคลานก็ได้ เห็นไหม

ฉะนั้นบอกว่าทองๆๆ มันก็เชื่อว่าทอง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เชื่อไปอย่างนั้น แต่มันทำของมันไม่ได้ มันทำของมันไม่ได้ ใจคนมันมหัศจรรย์อย่างนี้ มันทำไม่ได้ อยากให้เขานับหน้าถือตา เขาพูดธรรมะ ยิ่งศึกษามาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งพูดมาก พูดมากนะ คลุมเครือๆ ไปตลอดนะ

จิตใจมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากทำความจริงของเรา เรียนมามากขนาดไหนนะ ความรู้ท่วมหัว แล้วเดี๋ยวก็ลืมเดี๋ยวก็จำ เดี๋ยวก็ทบทวน ความรู้อย่างนี้เรียนมาเพื่อให้มีศรัทธา เพื่อให้มีความมั่นคงกับศาสนา แต่มันจะเป็นความรู้จริงไปไม่ได้ ของมันไม่จริงจะทำให้เป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ฉะนั้นถ้าของมันไม่จริงขึ้นมา แต่เราอยากให้มันเป็นจริงเห็นไหม จะว่าไม่ใช่ธรรมก็ธรรมนะ พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบอกว่าเป็นธรรมมันก็ไม่ใช่นะ มันไม่ใช่นะ มันไม่ใช่เพราะเราเคลียร์ปัญหาไม่ได้ เราเคลียร์ปัญหากับกิเลสของเรา เคลียร์ปัญหากับหัวใจของเรา มันสงสัย มันไม่เป็นปัจจัตตัง มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่กระจ่างแจ้ง

เวลาธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ มีญาณ มีวิชา มีความกระจ่างแจ้ง มีความหยั่งรู้ มันเป็นไปอย่างไรล่ะ เราก็หยั่งรู้ไง เพราะโดยทางโลกนะ สัมมาชีวะก็เลี้ยงชีพชอบ ทำงานก็ทำงานดีทั้งนั้น เขาก็ว่าของเขาเป็นมรรคๆ นี่ความคิดของเขา นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าจิตมันเป็นจริง ถ้าจิตมันสงบของมันได้ พอจิตสงบของมันได้ พอมันรู้ของมันได้นะ ความกระจ่างแจ้งจากหัวใจ ถ้าความกระจ่างแจ้งจากหัวใจเกิดขึ้นมาเห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา พูดที่ไหนก็ได้ แล้วใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมาติดข้อง หรือว่าทำไปนะ เวลาเราปฏิบัติเหมือนหญ้าปากคอก

คนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่เห็นไหม จะล้มลุกคลุกคลาน เวลาเราเข้าไปสู่ความจริงนะ จริตของคนมันไม่เหมือนกัน บางคนนะเวลาทำความสงบของใจ ใจสงบเฉยๆ ก็ลังเลสงสัยว่า ทำไมเราไม่รู้ไม่เห็นเหมือนคนอื่น เวลาคนอื่นสงบนะ เห็นนิมิตจนเบื่อหน่าย เห็นนิมิตจนอกสั่นขวัญแขวน ไม่ต้องการให้เจอสิ่งนั้น เขาบอกทำไมเขาไม่มีนิมิต ใครเจอสิ่งใด ก็ว่าสิ่งที่ตนรู้ตนเห็นนั้นเป็นอุปสรรคไปหมด แล้วจริตของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาทำไม่เหมือนกัน เวลาหญ้าปากคอกมันถึงร้อยแปดพันเก้า บ้าห้าร้อยแปดจำพวก จิตมันรู้แตกต่าง มันรู้มันเห็นแตกต่างไปหมด

แต่จริงๆ แล้วนะ ถ้ามันเข้าสู่สมาธิ มันเข้าสู่ใจ มันก็คือสมาธิเหมือนกัน มันก็คือความสงบของใจนี่แหละ แต่ความสงบของใจที่จิตมันจะเข้า มันแตกต่างหลากหลาย แตกต่างหลากหลายมาก ฉะนั้นเรามีสติของเรา เรายึดของเราเห็นไหม พุทโธๆ เห็นไหม เรามีอาหาร เราเริ่มเคี้ยวของเรา บดอาหารของเราให้มันย่อยให้มันละเอียดเพื่อจะกลืนเข้าสู่กระเพาะอาหารของเรา ให้อาหารตกสู่กระเพาะของเรา มันจะได้ย่อยอาหารนี้ เพื่อเป็นสารอาหารให้กับร่างกายนี้ได้แข็งแรง

จิตพุทโธๆ เราพุทโธของเราไปหรือปัญญาอบรมสมาธิของเราไป ถ้าจิตมันเริ่มมีพื้นฐาน หรือมันเริ่มสงบเห็นไหม พอเริ่มสงบขึ้นมา เราก็ฝึกปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตเราสงบแล้วเราก็ฝึกปัญญาของเรา เขาบอกว่าสมาธิมันไม่พอ ถ้ามันสงบ สงบจริงๆ นะ มันมีกำลัง สิ่งที่ว่าสมาธิไม่พอ มันไม่สงบ! มันไม่สงบมันก็ไม่มีกำลัง แต่เราคิดว่าสงบไง จิตใจนะมันไม่เป็นไปหรอก เพราะเราศึกษามาเยอะไง เราศึกษามา ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือเป็นอย่างนั้น สมาธิคือความว่าง นี่ไอ้พวกสวมรอย สมาธิคือความว่างๆ แล้วว่างอย่างไรล่ะ ว่างอย่างไร

พอสมาธิคือความว่างใช่ไหม เราฟังมาว่าเป็นความว่าง เราก็จินตนาการว่าเป็นความว่าง พอมันคิดให้ว่าง มันก็ว่าว่าง แล้วมาบอกว่าใช้ปัญญาไม่ได้ แล้วเมื่อไหร่จะใช้ปัญญาเสียที มันคาอยู่อย่างนั้น ติดคออยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราย่อยอาหารของเรา เราเคี้ยวอาหารของเรา ถ้าเรากลืนได้นะ กลืนได้ลงคอได้ ลงคอสู่กระเพาะได้ กลืนได้มันมีความสดชื่นขึ้นมาได้ หิวกระหายขนาดไหน แต่ถ้าลองได้กลืนอาหารเข้าไป เดี๋ยวก็สดชื่นขึ้นมา

จิตใจนะ ถ้ากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบเข้ามา มันจะมีความสดชื่นของมัน พอมันมีความสดชื่นของมัน พอมันใช้ปัญญาเห็นไหม ใช้ปัญญาฝึกฝน ใช้ปัญญาพิจารณาในสติปัฏฐาน พิจารณาในการดำรงชีวิตนี่แหละ พิจารณาตรึกในธรรมนี่แหละ แต่เพราะมีสมาธิเป็นพื้นฐานขึ้นมา มันทะลุทะลวงมันปลอดโปร่ง

ปัญญาเวลามันเกิด สิ่งที่มนุษย์เห็นมันแตกต่างมาก ถ้ามันแตกต่างมากเห็นไหม มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา คนที่มีสัจจะมีความจริงเห็นไหม อย่างที่ว่าหญ้าปากคอก ทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะมีมุมมอง มันจะมีอุปสรรคของแต่ละดวงใจ ทุกดวงใจมีอุปสรรคหมด เพราะทุกดวงใจเกิดมาเห็นไหม ทุกดวงจิตที่เกิดเป็นมนุษย์เกิดเป็นสัตว์โลก เกิดในวัฏฏะมีกิเลสทั้งนั้น แล้วกิเลสของคนมันพอกมาสูงต่ำ มันพอกมาหนาบางแตกต่างกัน ถ้าพูดถึงมันพอกมาไม่หนาเห็นไหม ทำไมเขาทำแล้วเขาไม่ต้องทำอะไรเลยมันก็ลงสงบ

แต่ถ้ามันสงบ มันสงบขนาดไหนถ้าเขาใช้ไม่เป็นหรือเขาไม่ขวนขวายของเขา มันก็เท่านั้น คือเราถ้าทำบุญกุศลมา แล้วบุญกุศลนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันจะไม่ดีอย่างนี้ตลอดไปหรอก ดูชีวิตเราสิ เราเกิดมาเราจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปไหม เดี๋ยวก็ชราคร่ำคร่า เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวก็จะตายแล้ว คุณงามความดีของจิตก็เหมือนกัน ดูสิเวลาเขาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม หมดอายุขัยเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราปฏิบัติแล้วมันลงได้ง่าย มันสะดวกสบาย ถ้าไม่ขวนขวาย ถ้าไม่มีความเพียรต่อเติม ไม่มีปัญญาค้นคว้าเดี๋ยวก็หมด!

พอเดี๋ยวก็หมด อยากได้กลับมาก็ล้มลุกคลุกคลาน คนเรานี้แปลกนะ ของอยู่กับเราไม่ค่อยมีค่าหรอก แต่ของนั้นเสื่อมไป ของนั้นสูญสลายไป รู้จักคุณค่าแล้วเสียดายมาก แต่ขณะอยู่กับเราไม่เคยเห็นคุณค่า! ของของเราเราจะไม่เห็นคุณค่าเลย แต่ถ้าได้หลุดจากเราไปนะ แล้วเห็นเขาเอาไปใช้ที่เป็นประโยชน์นะ เสียดายๆ นี่เป็นของเป็นวัตถุนะ แล้วสิ่งที่เป็นนามธรรมล่ะ สติ สมาธิ เวลาที่มันเสื่อมสภาพไปเราทำอย่างไร ถ้าเราทำอย่างไร เราก็ต้องตั้งสติของเรา เราก็ต้องฟื้นฟูของเรา เราต้องพยายามทำของเรา ถ้าทำของเราเห็นไหม สติมันดี จิตมันดีขนาดไหนเพราะเราได้สร้างบุญกุศลมา เราจะต้องมีสติ มีการค้นคว้าของเรา พิจารณาของเรา บ่อยครั้งเข้าๆ

ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลาออกหัดฝึกใช้ปัญญา ปัญญาไม่เกิดเอง ปัญญาถ้าเกิดเอง เรามีเงินนะ เรามีเงินอยู่ในเซฟนะ แล้วให้เงินมันไหลมาเทมา มันเป็นไปไมได้หรอก เงินของเรานะ เราต้องเอาออกมาบริหาร เราจะลงทุนอย่างไร เราทำประโยชน์สิ่งใดขึ้นมา เงินนั้นมันถึงทำประโยชน์ของมันขึ้นมา

สมาธิ มันก็เหมือนเงินอยู่ในตู้เซฟนั่นล่ะ มันจะมีมากมีน้อยมันก็เงิน มีเงินมันก็พอใจใช่ไหม เรามีเงินในตู้เซฟเรา จะกี่หมื่นกี่แสนล้าน เราก็จะนอนสบายใจเลยว่า เรามีเงินมหาศาล มันมีความสุขไง สมาธิ พอจิตเป็นสมาธิมันก็มีความสุขของมัน มันก็เป็นความสุข ทีนี้มีความสุขเห็นไหม นี่ธรรมะติดคอนะ พอมันติดคอ พอเป็นสมาธิเราก็คิดว่ามันเป็นนิพพาน พอเป็นสมาธิ ว่าง.. มีความสุข กอดเงินไว้นั่นแหละ กอดเงินไว้นะ เดี๋ยวเงินมันเฟ้อ พอเงินมันเฟ้อปีละกี่เปอร์เซ็นต์ๆ เดี๋ยวก็หมดนะ มันก็เป็นเศษกระดาษจนได้นะ มันเป็นเศษกระดาษถ้าเราไม่เอามาบริหารจัดการให้มันเกิดประโยชน์เห็นไหม เราทำประโยชน์ของเรามันก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

ถ้าจิตมันสงบเห็นไหม ถ้ามันจะฝึกใช้ปัญญามันจึงจะเกิดได้ ปัญญาเกิดเองไม่มีหรอก ศีล สมาธิ ปัญญา แต่พอสมาธิแล้ว มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ มันถึงจะเป็นธรรม ปัญญาที่เกิดจากกิเลสมันพาใช้ กิเลสมันจูงจมูกเห็นไหม มีความรู้ความเห็น ถ้าธรรมะติดคอมันยังได้เคี้ยวได้กลืนบ้างนะ แต่ถ้ากิเลสมันพาใช้ อาหารมันตกนอกปากเลยล่ะ มันไม่เข้าปากหรอก อาหารมันตกนอกปาก ถ้าพูดถึงกิเลสมันพาใช้ มันใช้ปัญญาไปนะ ตรึกของมันไป วิตกวิจารของมันไป แล้วมันเป็นผลไหม มันไม่เป็นผลกับใจดวงนั้นเลย

แต่ถ้ามีสมาธินะ แล้วสมาธิมันพาใช้ แล้วเราออกฝึกหัดของเรานะ มันจะเป็นโลกุตรปัญญา ถ้าโลกุตรปัญญาเห็นไหม มันจะเป็นโลกุตรธรรม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราโดยสามัญสำนึก มันเป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นธรรมนะมันก็เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่รู้ก็รู้ จะให้พูดความจริงขึ้นมาก็พูดไม่ได้ พูดไม่ได้เพราะอธิบายไม่ได้ อธิบายความจริงไม่ได้ อธิบายความจริงไม่ได้มันก็อธิบายธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดเวลา เอาหลังอิงไว้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น แต่ตัวเองพูดเป็นความจริง ไม่กล้า ไม่กล้า

แต่ถ้าพูดกับคนไม่รู้ เขาจะพูดกับเราเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ถ้ามีผู้รู้ฟังอยู่ รู้ เข้าใจว่าสิ่งนั้นไม่เป็นความจริง ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นความจริงเหมือนคนตาบอด คนตาบอดจะจูงให้คนตาดีไปถึงเป้าหมายเป็นไปได้ไหม? คนตาบอดจะจูงคนตาดีไปถึงเป้าหมายมันเป็นไปไม่ได้หรอก! ไอ้คนตาดีให้คนตาบอดจูง เดินไปมันจะหัวเราะเยาะไอ้คนตาบอดจูงนะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจนเรามีหลักมีเกณฑ์ ครูบาอาจารย์ที่อ้างว่าตาดี แต่ตาบอดจะจูงเรา เราเห็นหมดอ่ะ แล้วเราหัวเราะเยาะด้วย เพียงแต่ว่าเราจะพูดไม่พูดเท่านั้นนะ

นี่พูดถึงว่าถ้าธรรมะมันติดคอมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ากิเลสมันติดคอ แล้วมันเป็นก้างขวางคอด้วย มันยิ่งจะทุกข์ยากมากไปกว่านั้น นี่พูดถึงความคิดความเห็นนะ แล้วเราล่ะ เรานะ ถ้าเราเปรียบเทียบเข้ามาสู่จิตของเรา ถ้าจิตของเราเป็นความจริงนะ มันมีภูมิธรรม ถ้าภูมิธรรมมันเกิดขึ้น “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” การกระทำของเรา ถ้ามันจะทุกข์จะยาก ทุกข์แน่นอน คำว่าทุกข์นะ ทำงานสิ่งใด มันก็ต้องลงทุนลงแรงเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี้เราพยายามจะทำใจของเราให้สิ้นสุดแห่งทุกข์เลย

ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์เห็นไหม ทุกข์มันเหยียบย่ำ ของสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่เข้าไปเผชิญกับมัน มันหลบซ่อนอยู่ มันก็จะไม่เป็นภัยกับเรา แต่ถ้าเราเข้าไปเผชิญกับมันเห็นไหม อย่างเช่นเสือ อย่างเช่นสุนัข ถ้ามันจนตรอก มันจะกระโดดกัดเรานะ อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมันนอนอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าเราผิดพลาด เราหามันไม่เจอ มันจะนอนนิ่งของมัน ดูเสือนะ มันมองตาของนายพราน ถ้าสบตามันกระโดดใส่เลย ถ้าไม่สบตาคือนายพรานไม่เห็นมัน มันยังเอาตัวรอดได้

กิเลส! มันนอนซุ่มอยู่ในหัวใจของเรา มันนอนซุ่มอยู่ในหัวใจของเรามาตลอดเวลา แล้วเราก็พลั้งเผลอ หามันไม่เจอ มีแต่ส่งออก มันก็อยู่ของมันโดยความพอใจของมัน แต่ถ้าเราจะเอาความจริงของเรา เราศึกษามา แล้วเราผิดพลาดมา ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหนแล้ว เราจะเข้าสู่ความจริง เราเข้าไปเผชิญกับมันแล้วเห็นไหม งานทางโลกมันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง งานทางธรรมถ้าพูดถึงผลของการปฏิบัติว่าทุกข์ไหม ทุกข์ แต่ผลที่ได้มาจากการปฏิบัติมันคุ้มค่า! มันคุ้มค่าจากการกระทำของเรา เพราะเราเกิดมาชีวิตนี้เราทำมาหากิน เราทำผลประโยชน์กับเรา จะมากน้อยขนาดไหน ถึงที่สุดแล้ว ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราต้องตายจากไปแน่นอน!

ถ้าเราตายจากไปแน่นอนเห็นไหม สิ่งที่เราทำไว้มันก็เป็นสมบัติของโลก สมบัติของวงศ์ตระกูล แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรารู้จริงเห็นจริง เราจะให้ใครได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์เศร้าใจมาก เพราะพระอานนท์อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่สอนต่อไป “อานนท์ เราเอาสมบัติของใครไป เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไปเลย เราเอาสมบัติของเราไปเอง” ถ้าพูดถึงในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า ถ้ามีภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม

สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไปก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วถ้าผู้ที่ปฏิบัติต่อไปภายภาคหน้า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย “เธอก็เหมือนกัน เรานิพพานไปแล้ว ๓ เดือนข้างหน้า เขาจะมีสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์เมื่อวันนั้น” นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้หมดทุกอย่าง รู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พูดถึงปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง พุทธวิสัย รู้มาก รู้ทุกอย่าง แต่จะพูดไม่พูดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าพูดออกไปแล้วมันเป็นโทษเป็นภัยกับคนฟัง บอกว่าคนนั้นจะเป็นอย่างนั้น ดูอย่างพระอานนท์เห็นไหม “วันที่สังคายนาเธอจะได้เป็นพระอรหันต์” แล้วก็จะเป็นๆๆ จนทอดอาลัยนะ ขอพักก่อนเถอะ พอปล่อยเท่านั้นนะ ปล่อยคำที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์เห็นไหม มันก็เป็นความจริงของพระอานนท์ เพราะอานนท์เป็นพระโสดาบัน แล้วพิจารณามาทั้งวันๆ แล้ว พรุ่งนี้เขาจะสังคายนาแล้ว จะเข้าไปเป็นพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ แล้วคาคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม

ถ้าเป็นโทษจะไม่พยากรณ์ แต่นี่เพราะพระอานนท์เศร้า เศร้าใจมาก อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดไปเห็นไหม “เธอไม่ต้องเสียใจหรอกอานนท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใดก็แล้วแต่ ผู้ที่อุปัฏฐากจะไม่มีใครอุปัฏฐากไปดีกว่าพระอานนท์อีกแล้ว” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไปก็มีผู้อุปัฏฐากเหมือนกัน ผู้อุปัฏฐากก็เหมือนพระอานนท์ ทำคุณงามความดีทำทางโลก ทางวัตถุ ทางสสาร ทางร่างกาย มันทำได้แค่นี้แหละ ดีที่สุดแล้วๆ “เธอได้ทำประโยชน์ไว้มหาศาล เธอได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดไว้แล้ว นี่เป็นบุญกุศลของเธอ เธอไม่ต้องตกใจ เธอต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์เห็นไหม ถึงที่สุดแล้ว พระอานนท์ “เราจะเป็นๆๆ” มันก็เป็นกังวลเห็นไหม นี่ธรรมะมันติดคอ มันกลืนไม่ลง กลืนไม่เข้า ปล่อยเลยนะ ปล่อยทั้งหมดเลย พอปล่อยทั้งหมดมันก็บริหารเองเห็นไหม อาหารได้เคี้ยวแล้ว ทุกอย่างได้เคี้ยวแล้ว ทุกอย่างพร้อมแล้ว พอปล่อยระหว่างที่จะนอนเป็นพระอรหันต์เลย

ถ้าความจริงมันเป็นนะ แล้วเข้าใจได้ ความเข้าใจได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธวิสัยกว้างขวางมาก ฉะนั้นสิ่งที่กว้างขวางแล้ววางอริยสัจ สัจจะความจริงไว้ให้เรา เราก็ได้รับมรดกตกทอดกันมา แล้วมรดกตกทอดมันเป็นมรดกตกทอดด้วยการศึกษา ด้วยการค้นคว้า แต่เราจะทำมรดกของเราขึ้นมาเดี๋ยวนี้ไง จากมรดกตกทอดจะให้มันเป็นทรัพย์ในปัจจุบัน ถ้าทรัพย์ในปัจจุบันเราถึงขวนขวาย เราถึงมีการกระทำ ถ้ามันเหนื่อยมันยากนักเราก็พักของเรา เราก็จะหาทางออกของเรา

นั้นเรื่องของกิเลสนะ มันจะจูงไปทางอื่นจนหมด เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวยาก ทำไม่ได้ ทำให้น้อยเนื้อต่ำใจนะ พอน้อยเนื้อต่ำใจหงุดหงิด พอหงุดหงิดนะ ล้มแล้ว พอหงุดหงิดทุกอย่างนะ สิ่งที่ตั้งไว้ สติก็ตั้งไว้เห็นไหม ตั้งหัวใจไว้อย่างดีเลย พอหงุดหงิด เฉา เศร้า เหงาหงอย ล้มแล้ว ถ้าเราสะบัดหน้า แล้วตั้งสติใหม่ สู้เลย สู้อย่างเดียว เพราะเขาสู้กันมาถึงมีหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ถึงมีครูบาอาจารย์ของเราเพราะสู้ แต่ถ้าน้อยเนื้อต่ำใจแล้วถอยหลังนะ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านว่าเห็นไหม ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลบถึง ๓ หน หลวงปู่มั่นท่านบอกท่านก็สลบ ๓ หน ท่านป่วยไข้นะ แล้วท่านพยายามขวนขวายของท่านจนสลบไปถึง ๓ หน เพราะท่านเข้มแข็ง แล้วท่านต่อสู้ของท่าน แล้วท่านค้นคว้าของท่านมา แล้วท่านก็วางเป็นข้อวัตรปฏิบัติ คำว่าข้อวัตรปฏิบัติคือการฝึกจิต เพราะจิตมันถึงวาระ เราต้องทำกิจของเรา ต้องทำตามกติกาของเรา หัวใจมันได้ผ่อนคลาย ได้ออกบริหารเห็นไหม

การบริหารเวลาของใจ ถ้าบริหารเวลาของใจเห็นไหม ถึงเวลาเราทำข้อวัตร เรามาตีตาด การกวาดเศษใบไม้ต่างๆ ให้หัวใจมันผ่อนคลาย เราได้ขนน้ำ เราได้เข็นน้ำ เราได้เอาน้ำเข้าห้องน้ำ เราได้เอาน้ำไว้เพื่อเขียงเท้า ไว้ใช้ล้างบาตร มันได้ผ่อนคลายของมัน พอผ่อนคลายเสร็จแล้ว เราก็กลับไปภาวนาของเราต่อเห็นไหม

ธรรมวินัยมันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว แต่เวลาทำไปแล้วพวกเราเห็นว่ามันเป็นงานของคนใช้ มันเป็นงานของคนที่ไม่มีศักยภาพ เราเป็นคนที่มีศักยภาพ เราเป็นคนที่มีอำนาจวาสนา งานอย่างนี้เราทำทำไม แต่งานอย่างนี้เขาทำเพื่อหัวใจของเขา หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านนะ เวลาอยู่ป่าอยู่เขานะ อยู่บนเขาอยากได้น้ำใช้ต้องเดินมาตีนเขา เอาไม้กระบอกตัด แล้วเอาน้ำนั้นใส่ สรงน้ำเสร็จแล้วแบกน้ำนั้นขึ้นไปอยู่บนเขาด้วย อยู่ในป่าในเขา เขาทำกันมา ทำเพื่ออะไรล่ะ บริหารข้อวัตรปฏิบัติ บริหารเพื่อให้หัวใจมันไม่เฉา ไม่หงุดหงิด ไม่น้อยเนื้อ ไม่ต่ำใจ

สิ่งที่ทำเห็นไหม สัตว์อาชาไนย! ดูสิเวลาสัตว์ที่มันมีไหวพริบของมันเห็นไหม มันเป็นหัวหน้าสัตว์ มันดูแลฝูงของมัน มันเป็นผู้นำของมัน แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น เป็นสัตว์อาชาไนย เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ที่ได้นำประพฤติปฏิบัติมา เวลานำประพฤติปฏิบัติมาทำเพื่ออะไร บริหารใจ บริหารในหัวใจมันไม่หงุดหงิด ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ มันทำด้วยความภูมิใจ ทำด้วยศากยบุตรพุทธชิโนรส ทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วมีใครฟื้นฟู มีใครกระทำขึ้นมาให้มันเป็นความจริงขึ้นมา หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านมาทำของท่านเป็นความจริงของท่านขึ้นมา แล้วท่านอธิบายได้หมด!

หลวงปู่มั่นท่านอธิบายได้หมดทำเพื่ออะไร ข้อวัตรของเราท่านทำเพื่อตัวท่าน แล้วพระที่ปฏิบัติ พระที่อยากพ้นจากทุกข์ พระที่ต้องการกระทำท่านก็บอกเห็นไหม ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ติดหัวไง ติดหัวคือว่าเหมือนกับนักกีฬา เวลาถึงเวลาของเขา เขาต้องซ้อมของเขา เขาต้องดูแลทักษะของเขา เขาจะต้องบริหารของเขาเพื่อเป็นอาชีพของเขา อันนี้เป็นพระนะ เรามีข้อวัตรปฏิบัติของเรา มีข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นสากลของกรรมฐาน พระกรรมฐานเขาจะมีข้อวัตร เขาจะรู้ของเขา เป็นธรรมเนียมเป็นประเพณี เป็นอริยประเพณีของกรรมฐาน

กรรมฐานเห็นไหมดูสิ เวลาธุดงควัตร เขาไม่ถือก็ไม่เป็นอาบัติ เวลาพระอยู่ในศีลในธรรม ศีลเห็นไหม แต่เวลาธุดงควัตรแล้วถ้าไม่ทำธุดงควัตรก็ไม่เป็นอาบัติ แต่พระกรรมฐานถือ ถือธุดงค์เห็นไหม เพราะมันเป็นเครื่องขัดเกลาเห็นไหม ขัดเกลาข้อวัตรปฏิบัติ ขัดเกลาไม่ให้หงุดหงิด ไม่ให้หัวใจมันจนตรอก ให้มันเปิดโล่งของมัน แล้วเรามาฝึกหัด เรามาฝึกหัดเห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นอาวุธ มันเป็นเครื่องมือที่ต่อสู้กับกิเลส แต่โลกเขามองว่า งานอย่างนี้เป็นงานของคนที่ไม่มีศักยภาพ พระเราทำทั้งนั้น พระเราทำสิ่งนี้เพราะพระเราต้องการบริหารหัวใจ ไม่ได้บริหารงานที่เป็นศักยภาพหรือไม่เป็นศักยภาพของสังคมโลก

สังคมโลกทำอะไรล่ะ บริหารจัดการ จัดการเรื่องอะไร จัดการเรื่องอะไรกิเลสเต็มหัวอยู่อย่างนั้นจัดการเรื่องอะไร ยิ่งจัดการยิ่งเศร้าหมองยิ่งเครียด ยิ่งจัดการยิ่งมีแต่ความทุกข์ ไอ้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราก็จัดการของเรา จัดการเรื่องของจิตใจของเรานะ แต่เรามีข้อวัตรปฏิบัติไว้เพื่อผ่อนคลาย การผ่อนคลายความหงุดหงิดต่างๆ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่านะ ท่านยังตีตาดเลย ไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่บริเวณนั้น มันเป็นประเพณีเห็นไหม เทวดาเขารู้เขาเห็นว่าทำถูกทำผิด ถ้าทำถูกทำดีเห็นไหม เขาก็ส่งเสริมเขาก็อนุโมทนา แต่ถ้าทำผิด ไม่ทำ เขาไม่มองหรอก ไม่มองและไม่สนใจ เพราะธรรมดาของสังคมโลกเห็นไหม

ฉะนั้นถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ เราขยายหลอดลม เราขยายลำคอของเรา เราขยายต่างๆ เห็นไหม แล้วธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านพยายามฟื้นฟูให้วงกรรมฐาน ศากยบุตรพุทธชิโนรสให้เข้มแข็ง พอเข็มแข็งขึ้นมาจิตใจปลอดโปร่งเห็นไหม จิตใจเข้มแข็งเราก็ประพฤติปฏิบัติของเรา พอประพฤติปฏิบัติของเราจิตใจมันเริ่มสงบลงเห็นไหม จิตใจเริ่มสงบลงเริ่มมีกำลังขึ้นมา เราออกรู้ออกพิจารณาของเรา

การกระทำมันเป็นงานของใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีทั้งร่ายกายและจิตใจ เวลาเรามีร่างกายเห็นไหม จิตใจเรามีศรัทธามีความเชื่อ เราถึงมาบวชเป็นพระเป็นนักรบ แต่เราก็มีร่างกาย เพราะร่างกายมันต้องใช้ปัจจัย ๔ ต้องปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต เราจะรักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเกิดปัญญา จิตสงบขึ้นมาเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ทางโลก บริหารจัดการๆ บริหารจัดการเห็นไหม ผู้บริหารจัดการ เขาจะมี

เขาจะมีวิชาการเสริมบ่อยๆ เขาจะต้องเรียนต่อตลอด เพราะทางวิชาการมันจะมีเทคนิคของมันเจริญก้าวหน้าตลอด เราจะต้องทันโลกตลอดเห็นไหม แต่ถ้าอริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ มันมีหนึ่งเดียว มันสิ้นสุดกระบวนการของมันแล้วคือจบ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ามรรคญาณเข้ามา มรรคญาณมันเกิดจากสัจธรรม สัจธรรมพอจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเกิดสัจจะเกิดความจริง ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างกระจ่างแจ้งของใจ

ถ้าความสว่างกระจ่างแจ้งของใจ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ เกิดญาณทัศนะ เกิดความรู้ความเห็น ถ้าความรู้ความเห็นมันเกิดอย่างไร สิ่งที่ทำขึ้นมาจากพื้นฐานจากการกระทำ เราจะต้องมีที่มาที่ไปไง ว่าเราจะไม่รู้จักอะไรเลย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่รู้จัก ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำมาเราก็ไม่เคยผ่านอะไรมาเลย เราก็เลยไม่เห็นคุณค่าอะไรเลยเห็นไหม คนที่เขาเป็นพ่อครัวแม่ครัวที่ดีนะ เขารู้จักหาอาหารที่สดที่ใหม่ เขารู้จักการถนอมอาหาร เขารู้สึกว่าอะไรมีคุณค่าอะไรไม่มีคุณค่า

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรายังล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ เราก็จะไม่รู้จักอะไร ว่ามีค่าหรือไม่มีค่าเลย ถ้าเราไม่รู้จักอะไรว่ามีค่าหรือไม่มีค่าเลย เราจะกลืนลงคอเข้าไป เรารู้ว่ามันมีพิษหรือไม่มีพิษล่ะ เรารู้ไหมว่ากลืนไปแล้วมันตายหรือไม่ตาย แต่นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมาหมดแล้ว ท่านเห็นเลยว่าสิ่งใดที่มันเป็นพิษ กลืนเข้าไปแล้วมันตายนะ “หวานเป็นลมขมเป็นยา” สิ่งใดที่มันหวานหอม มันเป็นสิ่งที่ชวนให้กินนั่นน่ะ ยาพิษทั้งนั้น! สิ่งใดที่มันขม สิ่งใดที่มันลำบาก สิ่งใดที่มันทุกข์มันยาก นี่ขมมันเป็นยา เห็นไหม ผู้ที่มักง่าย มันจะทุกข์ยากไปตลอด ผู้ที่ลำบากบากบั่นเห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเราท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ลูกหา ท่านจะดูว่าลูกศิษย์ลูกหาเข้มแข็งไหม มีหลักมีเกณฑ์ไหม ถ้าเข้มแข็งมีหลักมีเกณฑ์ ทุกข์ไหม เราอยู่กับกระแสโลก แล้วโลกดูสิ ดูกระแสโลกสิ เทคโนโลยีมันโถมมาๆ เราจะยืนอยู่อย่างไร ถ้าเรายืนอยู่ของเรา เรารักษาของเรา มันเข้มแข็งขึ้นมา นี่ขมมันเป็นยา เป็นยาที่ไหนล่ะ มันเป็นยารักษาใจเราไง มันเป็นยาให้พวกเราประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ไง

ถ้าขมเป็นยา เรามีข้อวัตรปฏิบัติ เรามีการบริหารจัดการ เราดูแลหัวใจของเรา มันไม่ติดคอนะ มันไม่ติดคอหรอก มันจะลงสู่ใจ ถ้าลงสู่ใจได้เห็นไหม เราใช้ปัญญาของเรา เรามีความเข้มแข็งของเรา มันทำได้แล้ว พอมันทำได้แล้วมันออกรื้อค้นนะ แล้วใจมันเทียบเคียง สิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์ ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ ตาใสแป๋ว มันรู้มันเห็นของมัน ถ้าจิตมันสงบ มันก็สงบด้วยความร่มเย็น ถ้ามันคิดจะใช้ปัญญาแล้วมันปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมามันฝังใจนะ

ถึงความสงบ ถ้าใจผู้ใดมีความสงบ หลวงตาท่านบอกว่าพออยู่พอกิน คือทำให้หัวใจไม่เฉา ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่หงอยเหงาเห็นไหม มันพออยู่พอกิน ถ้าคำว่าพออยู่พอกิน นี่ขนาดสงบนะ แล้วถ้ามันใช้ปัญญาออกไปแยกแยะ ตทังคปหาน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เวลาโลกเขาพูดกันว่าสิ่งนั้นมันก็เป็นอนิจจังๆ นั่นนะมันคาคอหมด ถ้าเป็นอนิจจังๆ แล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ เป็นอนิจจังๆ เห็นตายเปล่าทั้งนั้น เห็นเป็นอนิจจังก็ไปส่งกันอยู่ที่เชิงตะกอน พอไปเชิงตะกอนแล้วพูดธรรมะกันปากเปียกปากแฉะ เวลานิมนต์พระไปเทศน์ให้ฟัง มันก็เทศน์แข่งกับพระ มันรู้ดีกว่าพระด้วย

แต่หัวใจมืดบอด หัวใจมืดบอดเพราะกาลเทศะนะ สิ่งที่เป็นกาลเทศะเราก็ต้องรู้ได้ เราต้องเข้าใจได้อยู่แล้ว ถ้าคนมีคุณธรรมนะ เห็นไหมดูสิ วินัยของพระ ปัจฉาสมณะห้ามพูด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ถือบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป นี่ปัจฉาสมณะนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรม ครูบาอาจารย์ท่านทำอะไรของท่าน ปัจฉาสมณะ เราดูแลของเรา หน้าที่ของเรา กาลเทศะเขารู้กัน เขาทำของเขากัน นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเราเป็นชาวพุทธ เวลาพระเทศน์คุยกันเล่นกัน ปากเปียกปากแฉะ แต่รู้ธรรมะนะ รู้ธรรมะแล้วมันมีอะไรเป็นความจริงขึ้นมาบ้างล่ะ

แต่นี่พอเราประพฤติปฏิบัติ เรากรรมฐาน พอเรากรรมฐานเขาบอกว่า “พุทโธนี่ไม่มีปัญญา แล้วพุทโธไม่รู้อะไรเลย ไม่ศึกษาแล้วจะรู้อะไร”

ศึกษาแล้ว! ศึกษาแล้ววางไว้แล้วเราถึงมาพุทโธ!

ศึกษาจากใคร? ศึกษาจากอุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์ต้องบอก เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ให้ย้อนหน้าย้อนหลัง ศึกษากับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้นำของเรา ศึกษาจนมั่นใจแล้ว แล้วประพฤติปฏิบัติ ถ้าผิดพลาดครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ไขด้วย เพราะครูบาอาจารย์ท่านรู้ของท่าน เว้นไว้แต่พวกบังเงา พวกสวมรอย ถ้าสวมรอยพูดธรรมะมันก็อยู่ที่เรานะ เราฟังเราเข้าใจได้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจิตใจของเรามันมีหลักมีเกณฑ์ แล้วไปปรึกษาครูบาอาจารย์ เพื่อให้ครูบาอาจารย์ต่อยอดให้ แล้วท่านต่อยอดให้เราไม่ได้ หนึ่ง แล้วท่านพยายามจะเฉไฉทำให้จิตใจของเราวกออกไป หวานเป็นลม จะออกไปสู่ความหวาน จะออกไปสู่สังคม จะออกไปสู่ทางโลก ผิดทั้งนั้น! ผิดทั้งนั้น!

หลวงปู่เสาร์หลวงปูมั่นหลวงตานะ พระองค์ไหนภาวนาเป็นท่านผลักเข้าป่าหมด ท่านไม่ให้ออกมาอยู่สังคมเลย ท่านบอกเลยนะว่า “การบรรลุธรรมในเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ ไม่มีหรอก! ไม่มี! การบรรลุธรรมอยู่ในป่าทั้งนั้นน่ะ” ในป่าในเขามันสงบวิเวกนะ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เชียงใหม่เห็นไหม อยู่โคนต้นไม้ อยู่องค์เดียว เวลาสมุจเฉทปหานขณะจิตที่มันเป็นนะ มันถอดถอนหมด ท่านรื่นเริงของท่าน ท่านรื่นเริงของท่านเห็นไหม

ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าเราจะเอาความจริงของเรา เราเทียบเคียงได้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นความจริงไหม แล้วเราทำอะไรกันอยู่ เราหาความจริง ถ้าเราหาความจริงเห็นไหม เราต้องย่อยกิเลส ย่อยสิ่งที่มันกีดมันขวาง สิ่งที่เป็นธรรม ธรรมะไม่เคยทำลายใคร ธรรมะให้แต่ประโยชน์เกื้อกูลแต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีแต่ทำให้ผิดพลาด มีแต่ทำให้เฉไฉ มีแต่ทำให้ทุกข์ยาก สิ่งนั้นเป็นกิเลสทั้งนั้น

ถ้ากิเลสเห็นไหม เพราะกิเลสมันอ้างว่าเป็นธรรม มันถึงได้ตำคอไว้ ติดคอเราไว้ ขวางเราไว้ให้ไม่เป็นสมบัติ ให้ไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่ให้เป็นตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเราศึกษาเราเข้าใจแล้วเราก็วาง วางเพราะว่าวุฒิภาวะของคนมันแตกต่างหลากหลาย ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเราตามความเป็นจริงก็มี! ครูบาอาจารย์ที่สวมรอยที่ฉ้อฉลก็มี! ฉะนั้นถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราแยกแยะได้ แล้วเราคัดเลือกของเราเอง แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนาหรือเป็นสายบุญสายกรรม เราก็จะเชื่อสิ่งนั้น

ถ้าเชื่อสิ่งนั้นไปนะ มันพิสูจน์จากใจ ใจมันเป็นจริงไหมล่ะ ถ้าใจไม่เป็นจริงนะ ธรรมะนะ มันก็ติดคออยู่อย่างนั้น พูดกึ่งๆ พูดวนไปวนมา ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยกล้ายืนในที่สว่าง มีสำนักปฏิบัติเยอะมาก บอกว่าห้ามคุยกัน ต้องคุยกับเจ้าอาวาสองค์เดียว แล้วต้องคุยกับเจ้าอาวาสเท่านั้น ต้องคุยกับหัวหน้าเท่านั้น แล้วหัวหน้าเป็นผู้บงการเท่านั้น แล้วถ้าหัวหน้าตายลง แล้วถ้าเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้จะปฏิบัติกับใคร

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มักน้อยสันโดษ ธรรมถ้าเป็นการมักมากอยากใหญ่นั้นเป็นมิจฉาทิฐิทั้งหมด ธรรมสิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นการมักมาก เป็นการคลุกคลี เป็นการแสวงหา ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรม

ธรรมใดเพื่อความมักน้อย เพื่อความสันโดษ เพื่อความสงบระงับ เพื่อคุณงามความดี ธรรมนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎกหมดนะ ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม เราจะศึกษาแล้วเทียบเคียง ถ้าสงบระงับเราก็ไม่ชอบเห็นไหม ขมเป็นยา ถ้าสงบระงับมันก็จะอยู่โคนไม้ มันก็จะไม่มีอะไรอำนวยความสะดวกเลย สิ่งนี้เป็นความจริงนะ แสงสีเสียงนี้มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกนี้มนุษย์สร้างขึ้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ เป็นสัจธรรม ที่บอกว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ” ธรรมะเป็นธรรมชาติเห็นไหม เป็นสัจธรรม

แล้วของที่เป็นสัจธรรม มันเป็นสัจจะ มันเป็นจริง มันเกิดขึ้นเอง ป่าเขาลำเนาไพรมันมีของมันอยู่แล้ว ความที่สงบระงับมันเป็นความจริงของมันอยู่แล้ว แสงสีเสียง เครื่องอำนวยความสะดวกมนุษย์สร้างขึ้น ใช้เทคโนโลยีสร้างขึ้นมา แล้วเทคโนโลยีมันมีชีวิตไหม มันจะทำให้เกิดสัจธรรมขึ้นมาในหัวใจได้ไหม

ธรรมชาติมันเป็นสิ่งมีชีวิตนะ ต้นไม้ภูเขาเลากาเห็นไหม มันเปลี่ยนแปลงของมัน มันเป็นธรรม คำว่าเป็นธรรมเพราะมันเป็นอนิจจัง มันเป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งต่างๆ นี้ไม่คงที่ ดูต้นไม้สิ สิ่งที่มีชีวิตมันเจริญเติบโตของมันสิ ดูแหล่งน้ำสิ ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเห็นไหม ถ้ามีสติปัญญา เราอยู่สภาวะแบบนั้น เราปรับตัวเราเข้ากับสภาวะแบบนั้น สิ่งนั้นมันมีของมัน ไม่ได้แสวงหา ไม่ได้ต้องการ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น แล้วเราอาศัยสิ่งนั้นเพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติเห็นไหม

ธรรมมันจะเข้าสู่สัจธรรม มันเข้ากับธรรมชาติ เพราะมันละเอียดอ่อน มันลึกซึ้ง ธรรมไม่เข้ากับวัตถุที่แข็งกระด้าง ที่เป็นวัตถุที่มันหยาบ ที่มันเป็นการที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเห็นไหม ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ศาสนพิธี ศาสนบุคคล แล้วเราเป็นบุคคล เราเป็นการกระทำ เราทำเพื่อใคร ถ้าหัวใจของเราเป็นธรรมนะ มันรู้ของมัน แต่เพราะหัวใจเราไม่เป็นธรรม มันเป็นกิเลส หมามันคลุมด้วยหนังเสือ มันพยายามจะบันลือสีหนาทแบบเสือ แต่เวลามันบันลือออกมาก็เป็นเสียงเห่าเสียงหอน มันถึงบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม”

ถ้าที่ควรจะเป็นนะ แบบว่าศาสนามันต้องมีถาวรวัตถุไว้เป็นเครื่องเคารพบูชานั้น เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นจุด เป็นที่ เป็นการยืนยันสัจธรรมในศาสนา แต่ตัวจริงๆ คือตัวใจ ตัวจริงๆ คือความรู้สึก ครูบาอาจารย์ของเราถ้ามีชีวิตอยู่ ท่านบอกเรา ท่านชี้แนะเรา แล้วสิ่งนั้นเป็นนามธรรมที่รู้สึกกันได้ เช่น ตามองตา ตาของครูบาอาจารย์กับสายตาของเรา เวลามันสบตากัน สบตากันด้วยความอาลัยอาวรณ์ ความห่วง ความพิไรรำพัน ความเมตตา ความปรารถนาดี ความต้องการให้เราเดินไปถูกทาง ถูกช่องทางที่ถูกต้อง

ดูสายตาของครูบาอาจารย์เราสิ ท่านมองเราด้วยความเป็นห่วงเป็นใยนะ แต่เวลาท่านแสดงออกมา ท่านจะต้องกระตุ้นเราตลอดเวลา ถ้าไม่กระตุ้นเรา เราก็จะโดนกิเลสครอบงำ เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา ความห่วง ความอาลัยอาวรณ์ ความปรารถนาดีนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่การกระทำให้ไปสู่ความจริงนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความจริงคือตัวธรรม ตัวธรรมคือความรู้สึกที่ส่งถึงกัน ความรู้สึกที่ส่งถึงกัน ศาสนาจริงๆ มันอยู่ที่นี่ ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าจิตใจมันเห็นธรรมนะ มันจะซาบซึ้งเลย พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อันเดียวกัน ฉะนั้นหลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม” แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ข้างหน้านะ ท่านพูดอย่างนี้เวลาท่านเทศน์ ท่านพูดอย่างนี้ให้พวกเรา พวกที่เดินตาม ให้มั่นคง ให้มั่นใจ ถ้ามั่นคงเห็นไหม เวลาเราไม่มั่นใจ เราฟังเทศน์ หรือเราคิดของเราขึ้นมา แล้วเราก็พยายามจะไปเปิดในพระไตรปิฎก เราพยายามเปิดตำรา แล้วเปิดตำราข้อที่พอใจ ข้อที่ไม่พอใจ เราพยายามไม่ดู เราพยายามปิดไว้

เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนใคร สอนถึงคราวใด สอนถึงปุถุชน สอนถึงพระโสดาบัน สอนพระสกิทาคา สอนพระอนาคา สอนผู้ที่ต้องการจะพ้นจากกิเลส เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นขั้นเป็นตอน ดูอย่างอาทิตตฯ อานัตตฯ สิ ดูอย่างธรรมจักรสิ ท่านสอนใคร ท่านสอนปัญจวัคคีย์ แล้วพระไตรปิฎกท่านสอนคฤหัสถ์เห็นไหม อนุปุพพิกถา สอนเรื่องทาน สอนเรื่องความเมตตา คุยกันนักคุยกันหนา แต่เวลาสอน สอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องการพ้นทุกข์ ไม่ค่อยพูดนะ พูดแล้วพูดก็ไม่รู้เรื่อง เพราะอะไร เพราะธรรมะมันติดคอ มันคาอยู่ที่คอเนี่ย เวลาจะพูดก็จะพูดแต่สิ่งที่พอใจ

นี่พูดถึงว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะพ้นจากทุกข์ ฉะนั้นเราปฏิบัติแล้ว เราจะต้องเลือก เราจะต้องพิจารณาว่าสิ่งใดเห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเจนมาก สิ่งใดปฏิบัติไปแล้วเพื่อความมักน้อย เพื่อความสันโดษ เพื่อความวิเวก สิ่งนั้นคือธรรม สิ่งใดเพื่อความมักมาก เพื่อความอยากใหญ่ เพื่ออยากให้เขารู้จัก กิเลสทั้งนั้น! กิเลสทั้งนั้น! พอกิเลสเป็นธรรมใช่ไหม มันก็ติดคอไง แต่ถ้าเป็นธรรมนะ มันย่อยสลาย ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น

สิ่งที่ทำนี้เป็นหน้าที่ คนเราเกิดมาตายหมดนะ นี่ก็จะตาย รอเวลาตายแล้วล่ะ แล้วอยากตายด้วย เอวัง